Tag Archives: เองเกิลส์

สมานฉันท์กับคนข้ามเพศ(Transgender)

ในสังคมอนุรักษ์นิยมกระแสความคิดหลักมักเสนอว่า คนรักเพศเดียวกัน หรือคนข้ามเพศ  เป็นคนที่ผิดจากมนุษย์ธรรมดา และคนข้ามเพศจะได้รับการยอมรับต่อเมื่อทำตัวเป็นตัวตลกเท่านั้น แต่สำหรับนักสังคมนิยม เราตั้งคำถามว่า “เกย์  ทอม ดี้ กะเทย” เป็นมนุษย์เพี้ยน หรือ ระบบมันเพี้ยน? และเราตอบเองว่าปัญหาอยู่ที่ระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น เพราะระบบปัจจุบันเน้นครอบครัวจารีตแบบผัวเมียพ่อแม่ ซึ่งแนวคิดนี้กีดกันสิทธิทางเพศของคนรักเพศเดียวกัน ของคนข้ามเพศ และของสตรี

ผู้มีอำนาจในระบบทุนนิยม และผู้นำศาสนา มักพยายามสร้างภาพว่าในสังคมมีเพียงสองเพศเท่านั้น  เพศอื่น ๆ ที่ดำรงอยู่  ถูกมองว่าเป็นเรื่องผิดปกติเป็นเรื่องแปลกประหลาด  ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดเลย  สังคมไทยและสังคมเอเชียแถบนี้มีคน “เพศที่สาม” มาพันๆ ปี สังคมตะวันตกก็เช่นกัน

ในทางวิทยาศาสตร์มนุษย์ในภาพรวมไม่ได้มีแค่สองเพศ ทั้งในฐานะทางกาย เช่นอวัยวะเพศหรือดีเอ็นเอ หรือในฐานะเพศภาวะที่เกี่ยวข้องกับจิตใจความรู้สึก ดังนั้นมนุษย์มีความหลากหลายทางเพศตามธรรมชาติ

เหตุผลที่มีแนวคิดครอบครัวจารีตคือ มันเกี่ยวข้องกับการผลิตมนุษย์รุ่นต่อไป  มันเกี่ยวกับความต้องการแรงงานรุ่นต่อไปแบบราคาถูก คือยกให้เป็นเรื่องภาระปัจเจกในการเลี้ยงเด็กของสังคม โดยผู้หญิงต้องรับภาระนี้เป็นหลัก การเอ่ยถึงวิธีอื่นในการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่ไม่ใช่ครอบครัวจารีตเป็นการท้าทายระบบ

แต่เมื่อทุนนิยมพัฒนามากขึ้นและดึงผู้หญิงเข้าไปในสถานที่ทำงานมากขึ้น เพราะขาดแคลนกำลังงาน ผู้หญิงเหล่านั้นมั่นใจที่จะพึ่งตนเอง และมั่นใจมากขึ้นที่จะรวมตัวกับผู้หญิงคนอื่นในการเรียกร้องสิทธิ การเรียกร้องสิทธิของมวลชนในรูปแบบนี้ให้กำลังใจกับ คนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ คนผิวดำ และคนที่ถูกกดขี่อื่นๆ เพื่อที่จะลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิของตนเองด้วย

นี่คือสาเหตุที่ชนชั้นปกครองเริ่มยอมในเรื่องสิทธิทางเพศบางส่วน แต่พยายามปกป้องครอบครัวจารีตในเวลาเดียวกัน มันแสดงถึงความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในสังคมทุนนิยม

บ่อยครั้งการต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจะขึ้นๆ ลงๆ ตามกระแสสากล เมื่ออยู่ในยุคขาลง ก่อนที่การต่อสู้จะก่อตัวขึ้นมาอีก คนที่เคยก้าวหน้าหลายคนจะถอยหลังลงคลองและหันมารับแนวคิดปฏิกิริยา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเฟมมินิสต์บางคนในตะวันตก ที่ออกมาโจมตีสิทธิของคนข้ามเพศ โดยอ้างว่าคนข้ามเพศที่เลือกจะเป็นผู้หญิง เป็น “ผู้หญิงจอมปลอม” และ “ใช้อภิสิทธิ์ของการที่เดิมเป็นชาย” มาเรียกร้องสิทธิของคนข้ามเพศ แถมมีการกล่าวหาเท็จว่าคนข้ามเพศแบบนี้แค่ต้องการเข้าไปในห้องน้ำสตรี เพื่อไปละเมิดร่างกายผู้หญิง ทั้งๆ ที่ไม่มีตัวอย่างเลย และในความเป็นจริงคนข้ามเพศมักจะเป็นเหยื่อของความรุนแรงในสังคม

จุดยืนปฏิกิริยาอันนี้ของเฟมมินิสต์บางคน มาจากการที่เขาถอยหลังรับแนวคิดอนุรักษ์นิยมที่มองว่าคนข้ามเพศ “ผิดปกติ” แต่พยายามกลบปกปิดความปฏิกิริยาของตนเองด้วยหน้ากากเท็จของแนวเฟมมินิสต์จอมปลอม

สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือพรรคการเมืองที่ปลุกระดมคนในสังคมเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมจะอธิบายว่าทำไมเราต้องสู้เพื่อสิทธิต่างๆ พร้อมจะอธิบายว่าจะสู้อย่างไร และพร้อมจะเถียงกับคนที่เห็นต่างเสมอ ไม่ว่าการต่อสู้จะอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง

การกดขี่ทางเพศมาจากสังคมชนชั้น

แนวเฟมมินิสต์มองว่า  ระบบปัจจุบันเป็นระบบพ่อเป็นใหญ่ (patriarchy) ซึ่งหมายถึงการกดขี่ที่เพศชายกระทำต่อเพศหญิงทั้งภายในครอบครัวและในสถาบันสังคมอื่น ๆ  แนวความคิดนี้มองว่าแอกที่ทับอยู่บนบ่าของสตรีคือ  “ วัฒนธรรม”  ดังนั้นต้องต่อสู้และยกเลิกวัฒนธรรมที่ส่งเสริมอำนาจของผู้ชาย  แต่คำอธิบายว่าวัฒนธรรมถูกกำหนดจากอะไรไม่มีนอกจากจะอ้างชีววิทยา   คือผู้หญิงต้องให้นมลูกและให้กำเนิดลูก  แล้วความแตกต่างทางเพศนี้ก่อให้เกิดการจัดระเบียบสังคมที่มีชายเป็นใหญ่

ในทางรูปธรรมนั้น  แนวนี้สนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทในทางโครงสร้างของสังคมในส่วนต่าง ๆ โดยละเลยประเด็นทางชนชั้น  เช่น  สนับสนุนผู้หญิงที่มีตำแหน่งสูง ๆ ในบริษัท โดยที่หญิงเหล่านั้นจะมีอำนาจให้คุณให้โทษกับลูกจ้างหญิงและชาย  หรือ  สนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น โดยไม่พิจารณาจุดยืนของหญิงเหล่านั้น

กรอบสำคัญของแนวนี้อยู่ที่เพศ และที่สำคัญแนวความคิดนี้มองว่าปัญหามาจาก “ธรรมชาติถาวร” ของผู้ชาย ซึ่งถ้าเป็นจริงก็คงไม่มีวันแก้ไขได้เลย แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์พิสูจน์ว่าก่อนที่จะมีการกำเนิดสังคมชนชั้น ชายกับหญิงมีสถานะเท่าเทียมกัน

แนวความคิดมาร์คซิสต์ มองว่าวัฒนธรรมต่างๆ  ค่านิยม  แนวความคิดและโครงสร้างทางสังคม  จะถูกกำหนดโดยลักษณะการเลี้ยงชีพของมนุษย์ในยุคต่างๆ ดังนั้นสถานภาพที่สตรีถูกกดขี่  จะต้องมีปัจจัยตัวอื่นมากำหนดที่ไม่ใช่ชาติพันธ์  หรือสรีระวิทยา  สภาพทางสังคมในปัจจุบันไม่ใช่สิ่งที่มีมาโดยธรรมชาติ  แต่เป็นผลมาจากการพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมาในแต่ละยุคสมัย 

ในหนังสือ  “กำเนิดครอบครอบครัว ทรัพย์สินส่วนตัว และรัฐ”  ของ เองเกิลส์  ซึ่งอาศัยการค้นคว้าข้อมูลจากการศึกษาของนักมนุษวิทยา เองเกิลส์ เสนอว่าฐานะของสตรีนั้นมีจุดตั้งต้นและคลี่คลายออกมาจากระบบการผลิตและฐานะทางครอบครัว  ในยุคแรกๆ มนุษย์อยู่กันเป็นเผ่าพันธุ์ ไม่มีทรัพย์สินส่วนตัวและไม่มีคู่สมรสถาวรแบบผัวเดียวเมียเดียว หญิงกับชายมีฐานะเท่าเทียมกัน แต่เมื่อมนุษย์พัฒนาการเลี้ยงชีพจนเกิด “ส่วนเกิน” จากความต้องการวันต่อวัน ทรัพย์สินส่วนตัวก็เกิดขึ้นได้ และการที่ชายถืออาวุธในการล่าสัตว์อยู่ในมือ มีกำลังทางกายเหนือหญิง และมีบทบาทในการรวบรวมส่วนเกินมากกว่าหญิง (โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์ในยุคแรกๆ) ทำให้ชายได้เปรียบหญิง การสืบทอดมรดกผ่านชายจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชายอาวุโสที่เริ่มแย่งอำนาจ การสร้างครอบครัวใหม่แบบหญิงมีผัวเดียวเพื่อให้ชายอาวุโสรู้ว่าลูกของตนคือใครจึงเกิดขึ้น และหญิงก็ตกเป็นพลเมืองชั้นสองถ้าเทียบกับชาย ในเวลาเดียวกันชายที่เข้มแข็งที่สุดสามารถตั้งตัวเป็นใหญ่และบังคับให้มนุษย์คนอื่น ทั้งชายและหญิง ตกเป็นทาสของตนเอง สังคมชนชั้นจึงเกิดขึ้นพร้อมๆ กับส่วนเกิน ทรัพย์สินส่วนตัว และครอบครัวรูปแบบใหม่ดังกล่าว

เราพอจะสรุปหลักการณ์ใหญ่ๆ ของแนวมาร์คซิสต์ได้ดังนี้

1)       การกดขี่ทางเพศไม่ใช่เรื่องธรรมชาติที่มาจากสรีระ เราจึงยกเลิกได้และควรยกเลิก

2)       การกดขี่ทางเพศเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการแบ่งมนุษย์ทั้งชายและหญิงออกเป็นชนชั้น

3)       ครอบครัวคือสถาบันสำคัญในการกำหนดและกล่อมเกลาความคิดแบบกดขี่ทางเพศที่เกิดขึ้นในสังคม แต่รูปแบบครอบครัวปัจจุบันไม่ใช่รูปแบบที่มาจากธรรมชาติ รูปแบบครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงเสมอตามยุคของระบบการผลิต

4)       วิธีแก้ปัญหาการกดขี่ทางเพศในระยะยาวต้องประกอบไปด้วยการจัดการเปลี่ยนสังคม ล้มระบบทุนนิยม สร้างระบบสังคมนิยมที่ไม่มีชนชั้น และเปลี่ยนรูปแบบของครอบครัวจากที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไปเป็นการอยู่กันในลักษณะหลากหลายที่ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน

ก่อนที่เราจะล้มระบบทุนนิยมได้ เราต้องรณรงค์และต่อสู้กับการกดขี่ทุกรูปแบบและสนับสนุนการปฏิรูปสังคมเท่าที่จะทำได้อย่างต่อเนื่อง

เราชาวสังคมนิยมมองว่า ไม่ว่ามนุษย์ในสังคมจะเลือกเป็นเพศอะไร หรือเลือกที่จะรักเพศอะไร อย่างไร นับเป็นสิทธิที่ชอบธรรมอันดับแรกที่ควรเลือกได้  และพวกเราที่ต้องการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมจะต้องสนับสนุนสิทธิดังกล่าวอย่างไม่มีเงื่อนไข ตราบใดที่คนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ หรือสตรี ไม่มีสิทธิเต็มตัว สังคมเราไม่มีวันมีประชาธิปไตยและเสรีภาพสมบูรณ์ นี่คืออีกสาเหตุหนึ่งที่เราควรมีพรรคสังคมนิยมที่รณรงค์เรื่องนี้ในสังคมได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทำไมนักมาร์คซิสต์ต้องสร้างพรรค?

“นักปรัชญาเพียงแต่วิเคราะห์โลกในแง่ต่าง ๆ แต่ประเด็นหลักคือการเปลี่ยนแปลงโลก”

-คารล์ มาร์คซ์

ข้อความของ มาร์คซ์ ข้างบน ชี้ให้เราเห็นว่านักมาร์คซิสต์ต้องเน้นทั้งทฤษฏีและการปฏิบัติพร้อมกัน ถ้าใครไม่ลงมื้อสร้างพรรค หรือ “เตรียมพรรค” เพื่อเปลี่ยนสังคมอย่างเป็นรูปธรรม คนนั้นไม่ใช่นักมาร์คซิสต์

กรรมาชีพ

เมืองไทยมีลักษณะของทุนนิยมที่ทันสมัยที่สุดดำรงอยู่เคียงข้างความล้าสมัยและด้อยพัฒนาแบบดั้งเดิม แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดและมีพลังมากที่สุดในการเปลี่ยนแปลงสังคมปัจจุบันเป็นส่วนที่ทันสมัยที่สุด สังคมเมืองและชนชั้นกรรมาชีพนั้นเอง

ชนชั้นกรรมาชีพไทยเป็นชนชั้นสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในสังคมไทย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ชนชั้นกรรมาชีพกำลังทำงานในใจกลางระบบการผลิตแบบสมัยใหม่ และการทำงานของกรรมาชีพเป็นที่มาของการสร้างมูลค่าและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอีกด้วย ดังนั้นชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นมหาศาล ซึ่งถ้าเลือกที่จะใช้ภายใต้จิตสำนึกทางการเมืองแบบชนชั้น จะสามารถแปรสภาพสังคมไทยได้อย่างถอนรากถอนโคน

กรรมาชีพไม่ใช่แค่คนทำงานในโรงงาน แต่รวมถึงลูกจ้างทุกคน ไม่ว่าจะทำงานในออฟฟิส ทำงานในโรงพยาบาล ทำงานในโรงเรียน ทำงานในระบบขนส่ง หรือทำงานในห้างร้าน

นักศึกษา ถือว่าเป็น “เตรียมกรรมาชีพ” และมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนักเคลื่อนไหวที่เป็นนักศึกษามักจะไฟแรง มีเวลาศึกษาอ่านทฤษฏี และไม่ยึดติดกับแนวความคิดเก่าๆ ที่ล้าหลัง

จิตสำนึกทางชนชั้นมันไม่เคยเกิดเองโดยอัตโนมัติ เพราะในทุกสังคมมีแนวความคิดหลากหลายดำรงอยู่ ซึ่งมีผลกับสมาชิกของสังคมตลอดเวลา การผลักดันให้กรรมาชีพมีจิตสำนึกทางชนชั้นตนเองล้วนๆ ต้องมาจากพรรคสังคมนิยมพร้อมกับประสบการณ์ที่มาจากการต่อสู้

สำหรับนักมาร์คซิสต์อย่าง เลนิน รูปแบบการสร้างพรรคไม่ได้ก่อกำเนิดจากสมองอันใหญ่โตของ เลนิน ตรงกันข้ามมันมาจากลักษณะการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพในโลกจริง ปัญหาหลักคือการต่อสู้ของกรรมาชีพจะมีลักษณะต่างระดับและหลากหลายเสมอ เช่นจะมีบางกลุ่มที่ออกมาสู้อย่างดุเดือดเพื่อล้มระบบ ในขณะที่กลุ่มอื่นออกมาสู้แค่เพื่อเรื่องปากท้องเท่านั้น หรือบางกลุ่มอาจไม่สู้เลย และในมิติเวลาที่ต่างกัน กลุ่มที่กล้าสู้หรือก้าวหน้าที่สุดในยุคหนึ่งอาจจะเป็นกลุ่มที่ล้าหลังในยุคต่อไป ดังนั้นปัญหาของชาวมาร์คซิสต์คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้มีการรักษาประสบการณ์ความรู้ในการต่อสู้ของกรรมาชีพส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดเพื่อถ่ายทอดสู่คนรุ่นต่อไป

เองเกิลส์ เคยยกตัวอย่างทหารในสนามรบว่า ภายใต้การกดดันของการต่อ สู้ทหารบางหน่วยจะค้นพบวิธีการต่อสู้ที่ก้าวหน้าที่สุด และบทบาทสำคัญของผู้บังคับบัญชาที่ดี คือการนำบทเรียนที่ก้าวหน้าอันนั้นไปเผยแพร่กับกองทหารทั้งกองทัพ นี่คือที่มาของแนวคิด “กองหน้า” ในการสร้างพรรคของ เลนิน เพราะหลักการสำคัญคือพรรคต้องเป็นตัวแทนของส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดของกรรมาชีพ ไม่ใช่ตัวแทนของกรรมาชีพทั้งชนชั้นที่มีจิตสำนึกต่างระดับกัน และพรรคต้องแยกตัวออกจากความคิดล้าหลังของชนชั้นทั้งชนชั้นเพื่ออัดฉีดความคิดก้าวหน้าที่สุดกลับเข้าไปในขบวนการกรรมาชีพ ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็จะไม่เกิดการพัฒนาการต่อสู้และจิตสำนึกเลย

ลีออน ตรอทสกี เสนอว่าในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สังคมนิยมต้องอาศัยพลังของมวลชนกรรมาชีพ โดยที่สมาชิกพรรคทำการเปลี่ยนแปลงแทนมวลชนกรรมาชีพไม่ได้ แต่พลังกรรมาชีพที่ไร้เป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนจะเสมือนพลังไอน้ำที่ไม่มีลูกสูบ มันจะสำแดงพลังแล้วสูญสลายไปกับตา

พรรคสังคมนิยมของชนชั้นกรรมาชีพมีหน้าตาอย่างไร?

พรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพไม่เหมือนพรรคแบบนายทุนที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ในสามแง่คือ

ในแง่ที่หนึ่ง พรรคกรรมาชีพต้องยึดถือผลประโยชน์ชนชั้นกรรมาชีพและคนจนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นกรรมาชีพภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม หรือพนักงานปกคอขาว และไม่ว่าจะเป็นคนจนที่เป็นชาวนา ลูกจ้างภาคเกษตร ชนกลุ่มน้อย หรือคนจนในเมือง พรรคต้องเป็นปากเสียงของผู้ถูกกดขี่ทุกคนโดยไม่คำนึงถึงเพศ เชื้อชาติ ศาสนา และวิถีชีวิต พรรคต้องไม่เสนอให้มีการสร้างแนวร่วมระหว่างกรรมาชีพและคนจนกับศัตรูของเรา เช่นนายทุนเป็นอันขาด และที่สำคัญเราต้องไม่หลงคล้อยตามกระแส “เพื่อชาติ” ซึ่งในรูปธรรมแปลว่า “เพื่อนายทุนและการรักษาระบบเดิม”

ในแง่ที่สอง พรรคจะต้องมีประชาธิปไตยภายใน ไม่ใช่เป็นพรรคของ “ผู้ใหญ่” คนใดคนหนึ่ง ดังนั้นต้องมีโครงสร้างและระเบียบที่ชัดเจนเพื่อให้สมาชิกธรรมดาเป็นผู้ควบคุมนโยบาย ผู้นำ และผู้แทนของพรรคตลอดเวลา ตรงนี้นอกจากจะต่างกับพรรคนายทุนแล้วจะต่างกับพรรคเผด็จการ สตาลิน-เหมา แบบ พ.ค.ท. อีกด้วย

ในแง่สุดท้าย พรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพต้องอาศัยเงินทุนที่เก็บจากสมาชิกในอัตราก้าวหน้าเป็นหลัก คือสมาชิกที่มีเงินเดือนสูงจ่ายมากและคนที่มีรายได้น้อยจ่ายน้อย แต่ทุกคนต้องจ่ายค่าสมาชิกเพื่อให้พรรคเป็นพรรคแท้ของกรรมาชีพและคนจน ไม่ใช่ไปพึ่งเงินทุนจากที่อื่นและตกเป็นเครื่องมือของคนอื่น และถึงแม้ว่าพรรคจะมีทุนน้อย แต่สิ่งที่ทำให้ได้เปรียบพรรคนายทุนทุกพรรคคือการเป็นพรรคของมวลชนจริง การดึงคนมาสนับสนุนพรรคจึงทำภายใต้นโยบายที่ชัดเจน และผู้สนับสนุนพรรคจะไม่เข้ามาร่วมภายใต้นโยบายของพรรคเท่านั้น แต่จะได้รับการส่งเสริมให้นำตนเอง และมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายด้วยสิทธิเท่าเทียมกัน

เน้นการต่อสู้นอกรัฐสภาไปก่อน ไม่ต้องรีบจดทะเบียน

พรรคสังคมนิยมกรรมาชีพไม่ใช่พรรคประเภทบนลงล่าง “คุณเลือกเราเป็น ส.ส. แล้วเราจะทำให้ทุกอย่าง” พรรคต้องไม่ตั้งเป้าหลักที่การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา เพราะรัฐสภาไม่ใช่ศูนย์กลางอำนาจแท้ในระบบประชาธิปไตยครึ่งใบของนายทุน ทั้งนี้เนื่องจากอำนาจแท้ของ “เผด็จการเงียบของนายทุน” ในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม อยู่ที่การควบคุมการผลิตมูลค่าทั้งปวงในสังคม และในระบบ “เผด็จการรัฐสภา” ของประยุทธ์ รัฐสภายิ่งไม่มีความสำคัญในการเป็นเวทีประชาธิปไตย

ต้องอาศัยพลังมวลชน ไม่ใช่บารมีผู้นำ

เลนิน อธิบายว่าสมาชิกพรรคไม่ควรตั้งตัวขึ้นมาเป็นศาสดาองค์ใหญ่ที่สอนกรรมาชีพ เพราะพรรคต้องเรียนรู้จากการต่อสู้ของกรรมาชีพพื้นฐานตลอด ทั้งในยุคนี้และยุคอดีต ดังนั้นพรรคต้องเป็นคลังรวบรวมประสบการณ์การต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกเพื่อนำเสนอประสบการณ์ดังกล่าวกลับเข้าไปสู่ชนชั้นกรรมาชีพในขณะที่กำลังต่อสู้อยู่

อันโตนีโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติสังคมนิยมชาวอิตาลี่ เคยเตือนว่าพรรคไม่สามารถ “ป้อนความรู้” ใส่สมองกรรมาชีพเหมือนพี่เลี้ยงป้อนอาหารให้เด็ก แต่พรรคต้องเสนอประสบการณ์จากอดีตกับคนที่กำลังเปิดกว้างเพื่อแสวงหาทางออกเนื่องจากเขาอยู่ในสถานการณ์การต่อสู้ ดังนั้นสมาชิกพรรคต้องร่วมในการต่อสู้พื้นฐานของกรรมาชีพ เพื่อเสนอความคิดและแนวทางในการต่อสู้ที่ท้าทายความคิดกระแสหลักของทุนนิยมเสมอ ไม่ใช่นั่งอยู่แต่ในห้องประชุม

สื่อของพรรคคือนั่งร้านในการสร้างพรรค

วิธีหนึ่งที่สำคัญในการสื่อแนวคิดเพื่อสร้างพรรคคือการใช้สื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งตีพิมพ์ หรือโซเชียลมีเดีย

สื่อของพรรคผลิตออกมาเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและแหล่งทฤษฏีให้กับสมาชิกพรรคเอง อาจมองได้ว่าเป็นอาวุธทางปัญญาในการขยายงานของพรรค นอกจากนี้สื่อของพรรคเป็นคำประกาศจุดยืนต่อสาธารณะอย่างชัดเจน การที่สมาชิกต้องขายสิ่งตีพิมพ์ให้คนภายนอกพรรคเป็นวิธีการในการสร้างความสามัคคีทางความคิดภายในพรรค เพราะเวลาสมาชิกขายสิ่งตีพิมพ์ให้คนอื่น สมาชิกต้องถกเถียงเพื่อปกป้องแนวคิดของพรรคเสมอ ดังนั้นสมาชิกต้องอ่านและทำความเข้าใจกับสื่อของพรรค

ประชาธิปไตยรวมศูนย์ไม่ใช่เผด็จการรวมศูนย์

ในอดีตพรรคคอมมิวนิสต์สาย สตาลิน-เหมา ทั้งหลาย เช่น พ.ค.ท. มักใช้คำว่า “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” เพื่อเป็นข้ออ้างว่าทำไมสมาชิกพรรคต้อง “เชื่อฟัง” คำสั่งและนโยบายของ “จัดตั้ง” หรือผู้นำระดับบน แต่จริงๆ แล้วความหมายของประชาธิปไตยรวมศูนย์ตามที่ เลนิน หรือ ตรอทสกี ตีความ คือการมีเสรีภาพในการถกเถียงนโยบายเต็มที่ภายในพรรคในขณะที่พรรคต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ดังนั้นพอถึงเวลาปฏิบัติต้องมีการลงคะแนนเสียงเพื่อกำหนดนโยบายที่ชัดเจนโดยที่เสียงข้างมากต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายที่ทุกคนต้องทำตาม แน่นอน การเป็นสมาชิกพรรคไม่เสรีเท่ากับการเป็นปัจเจกชน แต่เสรีภาพของปัจเจกชนไม่มีอำนาจใดๆ ในสังคม ถ้าไม่รวมตัวกับคนอื่น ระบบประชาธิปไตยรวมศูนย์จึงเป็นวิธีการทำงานที่พยายามรวมสองสิ่งที่ขัดแย้งกัน (เสรีภาพในการคิด กับ การมีนโยบายที่ชัดเจน) มาทำพร้อมกัน และที่สำคัญคือต้องไม่ลืมทั้งสองส่วน คือต้องไม่ลืมการรวมศูนย์ และต้องไม่ลืมประชาธิปไตย

เสรีภาพในการถกเถียงภายในพรรค ไม่ใช่แค่เรื่องอุดมการณ์ ถ้าพรรคไม่มีการถกเถียงนโยบายอย่างเสรีและเปิดเผย สมาชิกพรรคไม่สามารถจะนำปัญหาของโลกจริงมาทดสอบแนวของพรรคได้ในรูปธรรม และพรรคไม่สามารถสะท้อนความคิดของแนวหน้าของชนชั้นกรรมาชีพได้จริง

ความสำคัญของการประชุมเป็นระบบ

หลายคนสงสัยว่าทำไมสมาชิกพรรคต้องประชุมทุกสัปดาห์อย่างเป็นระบบ บางคนมองว่าเป็นการเสียเวลาและเป็นการมัวแต่นั่งคุยกันโดยไม่ออกไปต่อสู้ในโลกจริง คำตอบคือ

(1) การประชุมเป็นประจำและเป็นระบบ เป็นวิธีสำคัญในการรักษารูปแบบขององค์กร การประชุมเป็นโอกาสที่จะแลกเปลี่ยน ฝึกฝนการพูด วิเคราะห์สถานการณ์ทั่วโลก และพัฒนาความคิดและความสามารถทางด้านทฤษฎีของสมาชิก ในขณะที่การอ่านหนังสือคนเดียวไม่มีวันให้ประโยชน์เพียงพอ  

(2) การประชุมเป็นประจำ เป็นวิธีเดียวที่จะประสานการต่อสู้ประจำวันของสมาชิกเพื่อนำประสบการณ์เข้ามาในพรรคและเพื่อพัฒนาการต่อสู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

(3) การประชุมเป็นประจำ เป็นวิธีเดียวที่สมาชิกสามารถควบคุมนโยบายและผู้นำของพรรคได้

ควรมีการฝึกความคิดทางการเมืองในเรื่อง ชนชั้น ปัญหาสตรี ปัญหาสิ่งแวดล้อม วิธีการจัดตั้งพรรค ประวัติศาสตร์การต่อสู้ การทำความเข้าใจกับเศรษฐศาสตร์หรือปรัชญา หรือการวิเคราะห์สถานการณ์ต่างประเทศ ฯลฯ แต่ทุกครั้งต้องมีการเชื่อมโยงประเด็นระหว่างทฤษฎีการเมือง กับปัญหาในระดับสากล และปัญหาในสังคมไทยอย่างเป็นรูปธรรม และยิ่งกว่านั้นต้องมีการเสนอทางออก

ทุกคนที่เป็นสมาชิกพรรคมาร์คซิสต์ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงานที่ไม่จบการศึกษาสูง หรือพนักงานปกคอขาวที่จบมหาวิทยาลัย ควรแม่นทฤษฎี การแม่นทฤษฎีที่พูดถึงนี้ ไม่ใช่การนำหนังสือที่ตนเคยอ่านมาอวดความฉลาดกับคนอื่น หรือการท่องหนังสือเหมือนคัมภีร์ แต่สิ่งที่เราต้องสร้างคือ “ปัญญาชนของชนชั้นกรรมาชีพ” แน่นอนบางคนที่ไม่คุ้นเคยกับการอ่านหรือคนที่ทำงานทั้งวันจนเหนื่อย ย่อมมีอุปสรรคในการพัฒนาตนเองมากกว่าคนที่ถูกฝึกฝนเรื่องนี้ในมหาวิทยาลัย แต่เราต้องหาทางฝ่าอุปสรรคแบบนี้ให้ได้

อันโตนิโอ กรัมชี่ นักปฏิวัติจากอิตาลี่เคยเสนอว่าทุกชนชั้นต้องมีปัญญาชนของตนเอง ชนชั้นนายทุนมีทรัพยากรมหาศาล เขามีปัญญาชนและสถาบันศึกษาของเขาแน่นอน แต่ถ้ากรรมาชีพไม่มีปัญญาชนของตัวเองที่จะอธิบายโลกจากมุมมองทฤษฎีของกรรมาชีพเอง ผลที่ได้คือขบวนการกรรมาชีพจะเคลื่อนไหวภายใต้ชุดความคิดของนายทุนตลอดไป พูดง่ายๆ เราจะติดอยู่ในคุกแห่งความคิดของฝ่ายศัตรู

ใจ อึ๊งภากรณ์

รัฐกับการปฏิวัติ ทำไมเราต้องปฏิวัติ

รัฐ คืออะไร? ใครคุมอำนาจรัฐในระบบเผด็จการ? ใครคุมอำนาจรัฐในระบบประชาธิปไตย? นี่คือประเด็นที่นักมาร์คซิสต์ต้องเข้าใจ

ถ้าเราศึกษาหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของ เลนิน และ “สงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส” ของ มาร์คซ์ เราจะเข้าใจว่า ในทุกสังคมภายใต้ทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรปตะวันตก หรือไทย มีพวกชนชั้นปกครองดำรงอยู่ ซึ่งดูเหมือนขัดกับรัฐธรรมนูญหรือหลักประชาธิปไตย และการกำจัดพวกนี้จะอาศัยแค่การเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นไม่พอ เพราะ “รัฐ” มันมากกว่าแค่รัฐบาล

ในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติเลนิน กล่าวถึงงานของ มาร์คซ์ และ เองเกิลส์ ซึ่งเป็นนักมาร์คซิสต์ “รุ่นครู”    เลนิน ชี้ให้เห็นว่า “รัฐ” มันมากกว่าแค่ “รัฐบาล” และรัฐทุนนิยมมีไว้เพื่อกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกร โดยยึดผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนเป็นหลัก ตรงนี้เราไม่ควรสับสนว่า “ชนชั้นนายทุน” คือคนอย่างทักษิณหรือหัวหน้า CPเท่านั้น เพราะในไทยชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นชนชั้นปกครองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๕ ประกอบไปด้วยนายทหารชั้นสูง ข้าราชการชั้นสูง กษัตริย์ นักการเมืองผู้ใหญ่ และนายทุนเอกชน

สำหรับนักมาร์คซิสต์ เราเชื่อกันว่า “รัฐ” เป็นสิ่งที่เกิดมากับสังคมชนชั้น มันไม่ใช่สิ่งธรรมชาติที่ตกจากฟ้า รัฐเป็นเครื่องมือที่คนกลุ่มน้อยในสังคมปัจจุบันใช้เพื่อควบคุมคนส่วนมากที่ถูกปกครอง ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการทหาร

สังคมทุนนิยมในปัจจุบัน และสังคมศักดินาในอดีต ล้วนแต่เป็นสังคมชนชั้น คือคนส่วนน้อยปกครองและขูดรีดคนส่วนใหญ่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างชนชั้น ที่อาจเปิดเผยหรือซ่อนเร้นก็ได้ ในการสร้างสังคมนิยมอันเป็นประชาธิปไตยแท้ เราจึงต้องปฏิวัติล้มรัฐเก่าและสร้างรัฐใหม่ชั่วคราวขึ้นมา เพื่อเป็นอำนาจในการเปลี่ยนสังคม แต่เป้าหมายระยะยาวคือการยกเลิกรัฐ หรือที่ เลนิน เรียกว่าเป็นการ “สิ้นสุดของการปกครอง” เพื่อให้มนุษย์กำหนดอนาคตตนเองในชุมชนต่างๆ อย่างเสรี

“อำนาจพิเศษสาธารณะ” ของรัฐ อาศัยวิธีควบคุมสังคมสองวิธีคือ (๑) อาศัยกองกำลังและการปราบปรามอย่างรุนแรง ซึ่ง เองเกิลส์ และ เลนิน เรียกว่า “องค์กรพิเศษของคนติดอาวุธ” นั้นคือ ทหาร ตำรวจ ศาล และคุก กับ(๒) อาศัยการสร้างระเบียบและความชอบธรรมกับการปกครองของรัฐ เพื่อให้ผู้ถูกปกครองยอมรับอำนาจรัฐ และวิธีที่สำคัญคือการวางตัวของรัฐให้ห่างเหินแปลกแยกจากสังคม เพื่อให้ดูเหมือน “ลอยอยู่เหนือสังคมและเป็นกลาง” ในขณะที่คุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบ เพราะถ้ารัฐไม่สร้างภาพแบบนี้มาปิดบังความจริงที่รัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองฝ่ายเดียว ประชาชนจะไม่ให้ความจงรักภัคดี การควบคุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบ กระทำผ่านการพยายามผูกขาดแนวคิดในโรงเรียน ศาสนา และสื่อ จนเราอาจไม่รู้ตัวว่าเราถูกควบคุมกล่อมเกลาทางความคิด

เองเกิลส์ อธิบายว่ารัฐไหนสร้างภาพหลอกลวงว่าเป็นกลางได้ดีที่สุด รัฐนั้นสามารถควบคุมประชาชนได้อย่างแนบเนียนที่สุด นี่คือสาเหตุที่นักวิชาการที่รับใช้ชนชั้นปกครองมักเสนอตลอดว่า “รัฐเป็นกลาง” ไม่เข้าข้างใคร และด่าแนวมาร์คซิสต์ว่า “ตกยุค”

ในยุคนี้รัฐไทยเผยธาตุแท้ว่าเป็นรัฐเผด็จการและเป็นศัตรูของประชาชน จึงครองใจพลเมืองยากขึ้น แต่ในอนาคตเขาจะพยายามสร้างภาพว่าเป็นกลางอีกครั้ง

ทุกวันนี้เราต้องสู้ทางความคิดเพื่อทำลายความชอบธรรมของชนชั้นปกครอง ตรงนี้เราจะได้เปรียบในแง่หนึ่ง เพราะการหาความชอบธรรมของชนชั้นปกครองย่อมอยู่บนพื้นฐานการโกหกหลอกลวงเสมอ เข้าใจได้ง่าย เพราะชนชั้นปกครองมีผลประโยชน์ตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ที่ถูกปกครอง ดังนั้นข้อสรุปสำคัญคือ เราต้องทำสงครามความคิดอย่างถึงที่สุด ไม่ใช่ไปประนีประนอมกับความคิดชนชั้นปกครองโดยกลัวว่าคนส่วนใหญ่ “ยังไม่พร้อม” จะรับความคิดใหม่ นี่คือ “สงครามจุดยืน” ที่ อันโตนิโอ กรัมชี่ นักมาร์คซิสต์อิตาลี่เคยพูดถึง สำหรับกรัมชี่มันมีสงครามสองชนิดที่เราต้องทำคือ “สงครามจุดยืน” และ “สงครามขับเคลื่อน” –การเผชิญหน้า ปฏิวัติ และล้มรัฐเก่านั้นเอง

ถ้าเราจะทำสงครามจุดยืน มันแปลว่า เราทุกคนที่อยากร่วมในการต่อสู้ ต้องสร้างตัวขึ้นมาเป็น “อาจารย์” หรือสิ่งที่ กรัมชี่ เรียกว่า “ปัญญาชนอินทรีย์” คือนักคิดติดดินที่เลือกข้างประชาชนคนจน และกรรมาชีพนั้นเอง ถ้าใครคิดว่าจะพัฒนาตนเองเป็นอาจารย์ไม่ได้ ก็ลองดูพวกอาจารย์ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ตามมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน พวกนี้มีอคติกับคนจนที่รักประชาธิปไตย และเขาพร้อมจะโกหกบิดเบือนทฤษฏีต่างๆ เพื่อปกป้องคนรวยและอภิสิทธิ์ชน  การกระทำของเขาไม่ใช่การใช้ปัญญาอะไรหรอก มันเป็นการเอาผลประโยชน์ชนชั้นตนเองมานำทุกอย่าง

ถ้าเราเข้าใจ “รัฐกับการปฏิวัติ” เราจะเข้าใจว่าชนชั้นปกครองในทุกสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ รวมถึงไทยและที่อื่น เป็นส่วนหนึ่งของ “อำนาจพิเศษสาธารณะ” นี่คือสาเหตุที่ในประเทศตะวันตกที่มีประชาธิปไตย บ่อยครั้งรัฐบาลพรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยม ที่มาจากการเลือกตั้ง อาจต้องยอมอ่อนน้อมต่อนายทุนใหญ่หรือข้าราชการในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ

การทำลายอำนาจชนชั้นปกครองจึงไม่ใช่แค่การผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการยอมรับผลของการเลือกตั้งเท่านั้น การกำจัดชนชั้นปกครองต้องอาศัยการปฏิวัติล้มรัฐเก่าในทุกแง่ เพื่อสร้างรัฐใหม่ของประชาชนผู้ทำงาน หรือที่เรียกว่า “รัฐกรรมาชีพ” ซึ่ง มาร์คซ์ เคยอธิบายว่าองค์ประกอบของรัฐเก่านั้นมันไม่หายไปง่ายๆ เพราะมันเป็น “งูเหลือมที่รัดสังคมไว้อย่างแน่นแฟ้น” ต้องใช้ “ไม้กวาดแห่งการปฏิวัติ” ถึงจะแกะมันออกได้ และต้องสร้างรัฐใหม่ที่มีองค์ประกอบใหม่ขึ้นมาแทน เช่นรัฐสภาคนทำงาน กองกำลังของประชาชน หรือผู้พิพากษาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นต้น ต้องรื้อกฎหมายเก่าๆ ทิ้งให้หมด และสร้างระเบียบใหม่ของสังคม โดยที่คนส่วนใหญ่ คนจน คนทำงาน… เป็นใหญ่ในแผ่นดิน เพราะประชาธิปไตยแท้ต้องไม่มีอภิสิทธิ์ชน และต้องไม่มีนายทุนที่เป็นเผด็จการทางเศรษฐกิจในสถานที่ทำงานและระบบการผลิตอีกด้วย

ในระยะยาวการที่เราต้องปฏิวัติ ไม่ได้แปลว่าเราไม่สนใจการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ประจำวันในสังคม หรือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรัฐสภาในระบบทุนนิยม การต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยในสังคมทุนนิยม เป็นสิ่งที่นักมาร์คซิสต์เช่น โรซา ลัคแซมเบอร์ค มองว่าสำคัญและจำเป็น มันเป็นการต่อสู้ประจำวันที่ให้สิทธิเสรีภาพมากขึ้น มันช่วยให้เรามีสหภาพแรงงานที่มีอำนาจต่อรอง มันช่วยให้เราประท้วงหรือเดินขบวนได้ มันช่วยให้เรามีสื่อและสิทธิในการแสดงออก และที่สำคัญ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยภายในระบบทุนนิยม จะผลักดันชนชั้นปกครองจนเขาไม่กล้ามาก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพมากเกินไป มันทำให้ชนชั้นปกครองลำบากมากขึ้นในการใช้อำนาจเพราะต้องหลบไปในมุมมืดและแอบใช้อำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจของเครือข่ายอภิสิทธิ์ชนลับหลัง ซึ่งเป็นสภาพสังคมที่เห็นในยุโรปตะวันตกหรือสหรัฐ

โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยอธิบาย…ในหนังสือ “ปฏิรูปหรือปฏิวัติ” ว่าการต่อสู้ประจำวันเป็นการฝึกฝนมวลชนให้พร้อมเพื่อการปฏิวัติที่จะล้มและทำลายรัฐเก่าลงอย่างสิ้นเชิงในอนาคต แต่สำหรับคนที่เสนอให้ “ค่อยเป็นค่อยไป” นั้น เธออธิบายว่าพวกนี้จะเป็นคนที่ต้องการประนีประนอมกับรัฐเก่าเสมอ

รัฐทุนนิยมปกป้องการขูดรีด

รัฐทุนนิยมจะปกป้องกฎหมายและระบบศาลที่ให้ประโยชน์กับนายทุนในการขูดรีด การ “ขูดรีด” หมายถึงการที่นายทุนไม่กี่คน สามารถยึดมูลค่าทั้งหมดที่คนงานทั้งหลายสร้างขึ้นมาจากการทำงาน มันเป็นระบบการขูดรีดแบบแอบแฝง ไม่เหมือนสมัยก่อนทุนนิยมที่ขุนนางส่งทหารมาบังคับให้เราทำงาน หรือบังคับให้เราส่งภาษี มันดูเหมือนว่าไม่มีใครบังคับเรา แต่ในความเป็นจริง คนที่ทำงานในระบบทุนนิยมไม่มีทางเลือกอะไร เพราะถ้าไม่ทำงานก็อดตาย ที่สำคัญคือ…..

การเปลี่ยนรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม ไม่สามารถกำจัดระบบขูดรีดของนายทุนได้

ความมั่นใจในตนเอง

การต่อสู้ของมวลชนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยสร้างความมั่นใจกับทุกคนว่าเราสามารถเปลี่ยนสังคมได้ มาร์คซ์ เคยอธิบายว่าในระบบทุนนิยม เราจะถูกสอนให้คิดว่าเราด้อยกว่าชนชั้นปกครอง “เราไม่มีความสามารถ และเราต้องจงรักภักดีต่อเขาเสมอ” ชนชั้นปกครองใช้สื่อ โรงเรียน และศาสนาในการกล่อมเกลาเราเรื่องนี้ แต่ มาร์คซ์ และนักมาร์คซิสต์ชาวฮังการี่ชื่อ จอร์ช ลูคักส์ อธิบายว่าถ้าจะแก้ไขสภาพเช่นนี้ เราต้องเคลื่อนไหวต่อสู้ ต้องเสริมความมั่นใจซึ่งกันและกัน และท่ามกลางการต่อสู้เราจะตาสว่างถึงคำหลอกลวงของชนชั้นปกครอง อย่างไรก็ตามถ้าจะให้การต่อสู้มีพลัง นอกจากจะต้องมีมวลชนแล้ว ยังต้องจัดระบบความคิดและจัดตั้งมวลชนผ่านการสร้างพรรคปฏิวัติ

การวิเคราะห์สังคมแบบมาร์คซิสต์คืออะไร

เวลามีคนเอ่ยถึงลัทธิมาร์คซ์คนส่วนใหญ่มักนึกถึงพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ท่านประธานเหมาเจ๋อตุง หรือระบบการปกครองในจีน ก่อนอื่นต้องอธิบายว่าลัทธิมาร์คซ์ในที่นี้ต่างกับแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เหมาเจ๋อตุง และสตาลิน

แนวความคิดลัทธิมาร์คซ์ตามความคิดของมาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน หรือตรอทสกี ซึ่งเป็นแนวคิดปฏิวัติสังคมนิยมสำหรับยุคสมัยใหม่มีองค์ประกอบดังนี้คือ

1. แนวคิดวิทยาศาสตร์ที่อิงเหตุผลและพร้อมที่จะถูกทดสอบในโลกจริงเสมอ สำนักคิดของเราไม่ใช่สำนักคัมภีร์นิยมที่ท่องจำสูตรของผู้นำผู้เป็นพระเจ้า ถ้าในอนาคตสิ่งที่เราเสนอถูกทดสอบกับโลกแห่งความจริงแล้วล้มเหลว เราพร้อมที่จะปรับความคิดเสมอ

2. เป็นวิธีการมองโลกเพื่อประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพในการเปลี่ยนโลกให้เป็นสังคมนิยม สังคมนิยมเป็นสิ่งที่กรรมาชีพต้องสร้างขึ้นเอง จากล่างสู่บน ไม่มีอัศวินม้าขาวที่ไหนที่จะมาสร้างให้แทนได้ ดังนั้นการวิเคราะห์ต้องวิเคราะห์เพื่อเปลี่ยนสังคม ไม่ใช่วิเคราะห์เพื่อให้รู้อย่างเดียว คาร์ล มาร์คซ์ จึงตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ในอดีตนักปรัชญาเพียงแต่วิเคราะห์โลก แต่จุดมุ่งหมายหลักคือการเปลี่ยนโลก” ดังนั้นนักมาร์คซิสต์จะต้องลงมือทำงานในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และลงมือสร้างพรรคสังคมนิยมเพื่อเปลี่ยนโลกในรูปธรรม

3. การวิเคราะห์แบบมาร์คซิสต์ อาศัยหลักความคิดที่ค้นพบและถูกนำมาใช้โดย มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ตรอทสกี ลัคแซมเบอร์ค และ กรัมชี่ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญดังนี้คือ

     (ก) มองว่ามนุษย์ธรรมดาเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ท่ามกลางการต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ และเราจำเป็นต้องเข้าใจประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจโลกปัจจุบัน

     (ข) มองว่าถึงแม้ว่ามนุษย์สามัญเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ แต่เขาไม่มีอำนาจที่จะเลือกสถานการณ์ภายนอกที่ดำรงอยู่ได้ เพราะสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต และสภาพความเป็นจริงในโลกแห่งวัตถุ ดังนั้นการเปลี่ยนสังคมขึ้นอยู่กับทั้งอัตวิสัย และภววิสัยเสมอ

     (ค) มองว่าลักษณะการเลี้ยงชีพของมนุษย์ในยุคใดยุคหนึ่ง หรือที่เรียกว่า “ความสัมพันธ์ทางการผลิต และพลังการผลิต” เป็นสิ่งหลักที่กำหนดความเป็นอยู่ของมนุษย์เช่นระบบการปกครองหรือระบบสังคม และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นอีกเป็นสิ่งที่กำหนดลักษณะความคิดในสมองมนุษย์ด้วย การให้ความสำคัญกับสิ่งของที่แตะต้องได้ หรือวัตถุ ในการกำหนดความคิดของมนุษย์ เรียกว่าแนวคิดแบบ “วัตถุนิยม” ซึ่งต่างจากแนวคิด “จิตนิยม” ที่มองว่าความคิดมนุษย์ โดยเฉพาะ “คนเก่ง” เป็นสิ่งที่กำหนดรูปแบบของโลกแต่แรก

     (ฆ) มองว่าถ้าเราจะเข้าใจโลกเราได้เราต้องมองโลกด้วย “วิภาษวิธี” (หรือไดอาเลคทิค) คือต้องมองภาพรวมของโลก ต้องหาความขัดแย้งในภาพรวมดังกล่าว และเมื่อหาความขัดแย้งดังกล่าวได้ จะค้นพบสิ่งที่ผลักดันให้สังคมเปลี่ยนแปลงเสมอ นักมาร์คซิสต์จึงมองว่าสังคมไม่เคยหยุดนิ่ง และสภาพการเปลี่ยนแปลงคือเรื่องปกติ

     ในรูปธรรมแนวคิดมาร์คซิสต์มองว่า “วัฒนธรรม ความเชื่อ และประเพณีดั้งเดิม” เป็นเรื่องรองที่เปลี่ยนตามยุคสมัย ไม่ใช่เรื่องหลักที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สิ่งหลักที่กำหนดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมคือความขัดแย้งที่เติบโตจากลักษณะระบบการผลิต และบทบาทของสามัญชนในการต่อสู้ทางชนชั้น

     สรุปแล้วแนวความคิดมาร์คซิสต์อาศัยหลักของ “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ และวิภาษวิธี” ซึ่งตรงข้ามกับแนวความคิดของฝ่ายกระแสหลักที่มีรูปแบบ “บูชาปัจเจกคนเก่งที่เป็นชนชั้นนำ”   หรือแนวคิดสำนัก “วัฒนธรรมนิยม” ที่มองว่าการเมืองและสังคมไทยมีลักษณะพิเศษที่มาจากวัฒนธรรมของคนไทย นอกจากนี้แนวมาร์คซิสต์จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนว “กลไก” ของพวกสตาลิน-เหมาที่มักอ้างวิภาษวิธีหรือวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ในทางที่บิดเบือน

ใจ อึ๊งภากรณ์

แนวคิดมาร์คซิสต์เรื่องการต่อสู้กับการกดขี่ทางเพศ

ใจ อึ๊งภากรณ์

 [เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

เราไม่สามารถสร้างสังคมใหม่แห่งสังคมนิยมได้ ถ้ากรรมาชีพชายและหญิงไม่สามัคคีกัน  และถ้าจะเกิดความสามัคคีดังกล่าว ทั้งชายและหญิง แต่โดยเฉพาะผู้ชาย ต้องสลัดความคิดกดขี่หรือดูถูกผู้หญิงออกจากหัว ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องความดีความชั่วของปัจเจก แต่เป็นเรื่องโครงสร้างสังคม และการต่อสู้ทางชนชั้น

 

มันไม่ใช่เรื่อง “ธรรมชาติ” ที่มนุษย์จะมากดขี่กัน แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์บางคนสร้างขึ้นมาภายใต้เงื่อนไขสังคมชนชั้นในอดีต เพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครอง

 

นักมาร์คซิสต์คนสำคัญ ชื่อ เฟรดเดอริค เองเกิลส์ เป็นคนที่ริเริ่มการศึกษาปัญหาการกดขี่ทางเพศอย่างเป็นระบบ ในหนังสือ “กำเนิดครอบครัว ทรัพย์สินเอกชน และรัฐ”  เองเกิลส์ อธิบายว่าแรกเริ่มมนุษย์บุพกาลไม่มีชนชั้น ไม่มีรัฐ และไม่มีครอบครัว คือหญิงชายมีความสัมพันธ์อย่างเสรีตามรสนิยมของแต่ละคน ไม่มีคู่ถาวร ตอนนั้นมนุษย์ไม่มีครอบครัวแต่มีเผ่า และลูกที่เกิดมาจะทราบว่าใครเป็นแม่ แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นพ่อ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่สำคัญเพราะเด็กๆ ทุกคนถือว่าเป็นลูกของชุมชน และทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของส่วนรวม แบ่งกันอย่างเสมอภาคเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ในยุคบุพกาลจะมีการเก็บของป่าและล่าสัตว์ สังคมไม่มีส่วนเกินหรือคลังอาหารใหญ่โต วันไหนได้อะไรก็มาแบ่งกันกิน แต่เมื่อมนุษย์รู้จักการเกษตรและเริ่มมีส่วนเกินมากขึ้น จะมีผู้ชายคนหนึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่หรือตั้งตัวเป็น “พระ” และจ้างอันธพาลติดอาวุธมาเป็นลูกน้องของตน ประชาชนที่เหลือจะตกเป็นทาสและถูกบังคับให้ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เพื่อส่งส่วยให้ผู้ปกครอง คือมีการยึดการผลิตส่วนมาเป็นของหัวหน้า แต่ในขณะเดียวกัน การจัดระเบียบสังคมใหม่แบบนี้ ให้ประโยชน์กับคนธรรมดาบ้าง เพราะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากสมัยบุพกาลเดิม และทำให้มีความมั่นคงมากขึ้นภายใต้การกดขี่

 

ภายใต้ระบบการปกครองทางชนชั้น ทรัพย์สินทั้งหมดของชุมชนที่เคยเป็นของส่วนรวม ถูกแบ่งเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ซึ่งส่วนใหญ่ตกในมือของผู้ปกครอง ผู้หญิงถูกบังคับให้อยู่ในระบบครอบครัวที่ชัดเจน เพื่อให้ชายผู้เป็นเจ้าสามารถให้มรดกกับลูกตนเองเท่านั้น จะเห็นว่าเริ่มมีการสร้างระเบียบครอบครัวที่ระบุว่าหญิงต้องเลี้ยงลูกเป็นหลักในขณะที่ชายมีบทบาทสาธารณะ และชนชั้นปกครองมักกล่อมเกลาให้ทั้งชายและหญิงยอมรับว่าผู้ชายสำคัญกว่าผู้หญิง และผู้หญิงต้องไม่นอกใจผู้ชาย

 

ระเบียบครอบครัวนี้กลายเป็นส่วนสำคัญของแนวคิดหรือลัทธิกระแสหลักในสังคม

 

นี่คือที่มาของการกดขี่สตรีในสังคมชนชั้นปัจจุบัน ซึ่งเกิดพร้อมกับระบบการปกครอง กองกำลังอันธพาล และกฎระเบียบหรือกฎหมายที่ใช้รองรับการสร้างอำนาจ “รัฐ”

 

มันแปลว่าถ้าเราจะจัดการกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ เราต้องจัดการกับสังคมชนชั้น และรัฐทุนนิยมปัจจุบัน แต่นั้นไม่ได้แปลว่าว่าเราต้องนิ่งเฉยและรอวันปฏิวัติ นักมาร์คซิสต์ต้องต่อสู้เพื่อการปฏิรูปเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันตลอด ซึ่งแปลว่าเราต้องรณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพทางเพศ

 

ในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน ชนชั้นนายทุนเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการที่สังคมมองว่า หญิงเสมือนเท้าหลังที่มีหน้าที่หลักคือการเลี้ยงดูลูกและทำงานบ้าน เพราะหญิงจะได้เป็นผู้ผลิตแรงงานรุ่นต่อไปเพื่อป้อนเข้าโรงงานและสถานที่ทำงานอื่นๆ โดยที่นายทุนไม่ต้องลงทุนอะไรเลย นี่คือเงื่อนไขที่ผลิตซ้ำแนวคิดเกี่ยวกับ “ครอบครัวจารีต”

 

แต่ในขณะเดียวกันทุกสังคมไม่เคยหยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ระบบทุนนิยมมีความต้องการที่จะขยายกิจการและจ้างงานเพิ่มตลอดเวลา จึงมีการดึงแรงงานหญิงออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้หญิงเริ่มมีความอิสระและเรียกร้องสิทธิมากขึ้น นอกจากนี้ในสังคมไทยและที่อื่น ค่าจ้างของชายหนึ่งคน ถูกนายทุนกดไว้เพื่อเพิ่มกำไร  จึงย่อมไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้

 

ผู้หญิงได้รับการศึกษามากขึ้น และมีความมั่นใจซึ่งมาจากการที่ออกไปทำงาน มีรายได้ของตนเอง และไม่ต้องพึ่งผู้ชาย เทคโนโลจีสมัยใหม่ก็ช่วยให้งานบ้านง่ายขึ้น และมีโรงเรียนในระดับต่างๆ ที่จะช่วยในการเลี้ยงดูเด็ก

1-116-752x440

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลในการพัฒนาความคิดของสตรีเพื่อต่อสู้กับการกดขี่ทางเพศ ดังนั้นระบบทุนนิยมได้สร้างเงื่อนไขให้สตรีออกมาสู้เพื่อปลดแอกตนเองด้วย แต่รัฐและนายจ้างพยายามปฏิเสธการรับผิดชอบในการจัดสถานที่เลี้ยงเด็กฟรี โดยใช้แนวคิด “หญิงเป็นเท้าหลัง” และ “บทบาทธรรมชาติของสตรี” พร้อมกันนั้นมักมีการเน้นหรือเสริมคุณค่าของ “ครอบครัวจารีต” เพื่อให้ชายกับหญิงสามัคคีกันยาก และเพื่อบังคับให้งานบ้าน และงานเลี้ยงลูกหรือคนชรา ตกอยู่กับผู้หญิง แทนที่จะเป็นภาระของส่วนรวม สรุปแล้วมันเป็นวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายของรัฐนายทุน และลดภาษีที่เก็บจากกลุ่มทุน เพื่อเพิ่มกำไร

 

จะเห็นว่าทุนนิยมเป็นระบบที่ขัดแย้งในตัวเกี่ยวกับสภาพสตรี คือทั้งกดขี่และสร้างเงื่อนไขในการต่อสู้พร้อมกัน

 

ชาวมาร์คซิสต์จะต้องอาศัยการเพิ่มขึ้นของความมั่นใจในหมู่สตรี เพื่อช่วยกันผลักดันการต่อสู้ทางชนชั้น องค์กรจัดตั้งหรือพรรคสังคมนิยม จะต้องขยันต่อสู้ทางความคิดกับลัทธิศีลธรรมจารีตแบบคับแคบเสมอ เราต้องรณรงค์ให้กรรมาชีพเข้าใจลักษณะการกดขี่ทางเพศ และให้หญิงกับชายสามัคคีกัน พร้อมกันนั้นเราจะต้องต่อสู้เพื่อชัยชนะเล็กๆ น้อยๆ เช่นสิทธิในการทำแท้งเสรี สิทธิที่จะได้เงินเดือนเท่าเทียมกันระหว่างเพศ หรือสิทธิลาคลอด ฯลฯ ซึ่งแยกไม่ออกจากการต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ แต่ในระยะยาวเราต้องการสลายสถาบันครอบครัวที่กดขี่ผู้หญิง เราต้องการสลายระบบชนชั้น และเราต้องการล้มรัฐนายทุน  มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเพศใด จะได้มีเสรีภาพที่จะเลือกวิถีชีวิตตามรสนิยม มีเสรีภาพที่จะรักเพื่อนมนุษย์คนใดก็ได้ตามรสนิยม และมีเสรีภาพที่จะรักและดูแลเด็กๆ ของสังคมทุกคนอย่างอบอุ่น

 

2000px-Woman-power_emblem.svg

สองแนวคิดเรื่องสิทธิสตรี

 

ผู้รักความเป็นธรรมทุกคนต้องยอมรับว่าในสังคมนี้ สตรีด้อยโอกาสกว่าชาย ตัวอย่างเช่น ค่าจ้างโดยเฉลี่ยของหญิงมักต่ำกว่าชาย หญิงมักมีบทบาทเป็นผู้นำของสังคมน้อยกว่าชาย และสังคมมักจะมีค่านิยมที่ให้โอกาสกับชายมากกว่าหญิงในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศเป็นต้น

 

ในการอธิบายปัญหาของสตรีและทางออกในการแก้ปัญหาดังกล่าว เราจะพบว่ามีสองสำนักความคิดหลักคือ

  1. สำนักความคิด สตรีนิยม หรือแฟมินิสต์ (Feminist)
  2. สำนักความคิดแบบ สังคมนิยมลัทธิมาร์คซ์ หรือมาร์คซิสต์

 

สำนักความคิดสตรีนิยมจะเสนอว่าปัญหาของหญิงมาจากชาย คือผู้ชายทุกคนรวมหัวกันกดขี่หญิง ชายทุกคนไม่ว่าจะกรรมาชีพหรือนายทุนได้ประโยชน์จากการกดขี่หญิง ดังนั้นชายเป็นผู้กำหนดกฎกติกาทั้งหลายในสังคมที่เอาเปรียบผู้หญิง ชายบังคับให้หญิงอ่อนน้อมต่อตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานบ้าน การตัดสินใจ หรือการมีความสัมพันธ์ทางเพศ  ทฤษฎีนี้มีชื่อว่า “ทฤษฎีพ่อเป็นใหญ่” หรือ “ชายเป็นใหญ่” ฉนั้นทางออกของแนวนี้คือผู้หญิงจากทุกชนชั้นจะต้องสร้างแนวร่วมต่อต้านผู้ชาย คือหญิงไม่ว่าจะ ชั้นสูง ราชวงศ์ นายจ้าง หรือกรรมาชีพ ต้องสามัคคีกัน และพวกสำนักความคิดสตรีนิยมนี้มักเสนอว่าควรมีผู้บริหารที่เป็นสตรีมากขึ้น และเสนอว่าเราควรมี ส.ว. หรือ ส.ส. หญิงเพิ่มขึ้น โดยไม่คำนึงถึงแนวทางการเมืองของหญิงเหล่านั้น

 

สิ่งที่ฝ่ายสตรีนิยมเสนอ ถ้าดูแบบผิวเผินอาจมีความจริง แต่เมื่อเราพิจารณาลึกกว่านั้นจะมีข้อบกพร่อง เช่น แนวคิดนี้ไม่สามารถอธิบายว่าการกดขี่ทางเพศเริ่มเมื่อไรในประวัติศาสตร์มนุษย์ และไม่สามารถอธิบายได้ว่าชายที่เป็นกรรมาชีพจะได้อะไรจากการที่เมียของเขากินค่าแรงต่ำเป็นต้น นอกจากนี้แนวคิดสตรีนิยมจะทำให้ชายกับหญิงสามัคคีกันยากขึ้น ซึ่งแปลว่ากรรมาชีพผู้ทำงานหรือคนยากจนจะต่อสู้เพื่อปลดแอกตนเองจากการที่ถูกกดขี่ขูดรีดทางชนชั้นยาก

 

ในเมื่อฝ่ายสตรีนิยมเสนอเหมือนกับว่าการกดขี่ทางเพศเป็น “ธรรมชาติของชาย” หนทางที่จะแก้ไขคงเต็มไปด้วยอุปสรรคในทุกยุคทุกสมัย เพราะเราจะต้องฝืนธรรมชาติ แต่นักคิดแนวมาร์คซิสต์เช่น เองเกิลส์ อธิบายว่าการกดขี่ทางเพศไม่มีในสมัยบรรพกาล และเริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีสังคมชนชั้น พูดง่ายๆ การกดขี่ทางเพศเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง และไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ ดังนั้นมันถูกรื้อทิ้งได้

egypt_women

นักมาร์คซิสต์เชื่อว่ากรรมาชีพหญิงไม่ควรจับมือกับรัฐมนตรีชนชั้นนายทุนที่เป็น“ท่านผู้หญิง” และไม่ควรเลือก ส.ส. หรือ ส.ว. หญิงจากพวกนายทุน เพราะการกดขี่ทางเพศมาจากสังคมชนชั้น  ในระยะสั้นกรรมาชีพหญิงและชายต้องต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี เช่นสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย โดยเฉพาะสิทธิทำแท้ง เพราะการกดขี่หญิงสร้างความแตกแยกในขบวนการแรงงาน และไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยกับกรรมาชีพชาย

 

การเน้นครอบครัวจารีตในสังคมชนชั้น เป็นที่มาของการดูหมิ่นและเลือกปฏิบัติต่อ ชายรักชาย หญิงรักหญิง และกะเทย ดังนั้นเราควรปกป้องสิทธิของคนเหล่านี้ที่จะมีความสัมพันธ์อย่างเสรีตามรสนิยมส่วนตัว ในยุคนี้ในแวดวงนักสิทธิสตรีมีการถกเถียงโต้แย้งกันว่า “กะเทย” ที่เป็นหญิงในร่างชาย ไม่ควรถูกมองว่าเป็น “หญิงแท้” การถกเถียงเรื่องนี้เพิ่มขึ้นในประเทศตะวันตก เพราะมีการเปลี่ยนกฏหมายให้พลเมืองเลือกว่าอยากเป็นเพศอะไรในเอกสารทางการและในชีวิตประจำวัน มันเกี่ยวข้องกับเรื่องการแยกห้องน้ำระหว่างเพศในสถานที่สาธารณะ และเรื่องการจำคุกว่ากะเทยควรจะอยู่ในคุกของนักโทษเพศอะไรด้วย

 

นักมาร์คซิสต์มองว่าเราต้องปกป้องสิทธิของเพื่อนมนุษย์ทุกคนที่จะเลือกเพศของตนเอง และกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง เราต้องปกป้องความหลากหลายที่มีจริงในโลก และต้องปฏิเสธการนิยามว่าใครเป็นหญิงหรือชาย “แท้”

“รัฐ” กับกองกำลังติดอาวุธของชนชั้นปกครอง

ใจอึ๊งภากรณ์

ถ้าเราจะสร้างประชาธิปไตย และสร้างสังคมนิยมในไทย เราต้องโค่นระบบเก่าที่เป็นเผด็จการ ต้องจัดการกับกองทัพ และสถาบันกษัตริย์ที่เป็นเครื่องมือของกองทัพและส่วนอื่นของชนชั้นปกครอง แต่ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่าง “รัฐ” กับ กองทัพ และเราต้องเข้าใจเนื้อแท้ของ “รัฐ”

ถ้าเราศึกษาหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของ เลนิน เราจะเข้าใจว่า ในทุกสังคมของทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการทหาร และไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรปตะวันตก หรือไทย มันมีชนชั้นปกครองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งดำรงอยู่ ซึ่งดูเหมือนขัดกับรัฐธรรมนูญหรือหลักประชาธิปไตย ดังนั้นแค่การเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น หรือการเลือกพรรคสังคมนิยมเข้ามาคุมรัฐสภา จะไม่นำไปสู่สังคมใหม่แห่งเสรีภาพแต่อย่างใด

ในหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” เลนิน กล่าวถึงงานของ มาร์คซ์ และ เองเกิลส์ ซึ่งเป็นนักมาร์คซิสต์ “รุ่นครู”   ทั้งเลนิน และ เองเกิลส์ ชี้ให้เห็นว่า “รัฐ” มันมากกว่าแค่ “รัฐบาล” เพราะรัฐประกอบไปด้วย “อำนาจพิเศษสาธารณะ”

รัฐทุนนิยมมีไว้เพื่อกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกร โดยยึดผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนเป็นหลัก ตรงนี้เราไม่ควรสับสนว่า “ชนชั้นนายทุน” คือคนอย่างทักษิณหรือนักธุรกิจเท่านั้น เพราะในไทยชนชั้นนายทุนซึ่งเป็นชนชั้นปกครองมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๕ ประกอบไปด้วยนายทหารชั้นสูง ข้าราชการชั้นสูง กษัตริย์ และนายทุนเอกชน เขาคือชนชั้นปกครอง และ “รัฐ” เป็นเครื่องมือของเขา ไม่ว่าเราจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่

สำหรับนักมาร์คซิสต์ เราเชื่อกันว่า “รัฐ” เป็นสิ่งที่เกิดมากับสังคมชนชั้น มันไม่ใช่สิ่งธรรมชาติที่ตกจากฟ้า รัฐเป็นเครื่องมือที่คนกลุ่มน้อยในสังคมปัจจุบันใช้เพื่อควบคุมคนส่วนมากที่ถูกปกครอง ในการสร้างสังคมนิยมอันเป็นประชาธิปไตยแท้ เราต้องปฏิวัติรัฐเก่าและสร้างรัฐใหม่ชั่วคราวขึ้นมา เพื่อเป็นอำนาจในการเปลี่ยนสังคม แต่เป้าหมายระยะยาวคือการยกเลิกรัฐไปเลย หรือที่ เลนิน เรียกว่า “การสิ้นสุดของการปกครอง” เพื่อให้มนุษย์ทุกคนกำหนดอนาคตตนเอง

“อำนาจพิเศษสาธารณะ” ของรัฐที่เราพูดถึง อาศัยวิธีควบคุมสังคมสองวิธีคือ

(๑) ใช้อำนาจดิบของความรุนแรง คืออาศัยกองกำลังและการปราบปราม ซึ่ง เองเกิลส์และเลนิน เรียกว่า “องค์กรพิเศษของคนติดอาวุธ” นั้นคือ ทหาร ตำรวจ ศาล และคุก

(๒) การสร้างระเบียบและความชอบธรรมกับการปกครองของรัฐนายทุน ให้ผู้ถูกปกครองยอมรับอำนาจรัฐ และวิธีที่สำคัญคือการวางตัวของรัฐให้ห่างเหินแปลกแยกจากสังคม เพื่อให้ดูเหมือนว่า “ลอยอยู่เหนือสังคมและเป็นกลาง” ในขณะที่คุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบ เพราะถ้ารัฐไม่สร้างภาพแบบนี้มาปิดบังความจริงที่รัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองฝ่ายเดียว ประชาชนจะไม่ให้ความจงรักภัคดี การควบคุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบ ทำผ่านการพยายามผูกขาดแนวคิดในโรงเรียน หรือผ่านศาสนา และสื่อ จนเราอาจไม่รู้ตัวว่าเราถูกควบคุมทางความคิด

ด้วยเหตุนี้เราจะต้องสู้กับรัฐด้วยสองวิธีหรือสองแนวรบเช่นกันคือ

(๑) การใช้ “กำลัง” ซึ่งกำลังหรืออำนาจที่เรามีและฝ่ายชนชั้นปกครองไม่มี คืออำนาจที่มาจากการรวมตัวกันของกรรมาชีพผู้ทำงานในสถานที่ทำงานชนิดต่างๆ ทั่วประเทศ เราต้องชุมนุมบนท้องถนนแน่นอน แต่เมื่อเขานำกองกำลังติดอาวุธมาปราบเรา เราต้องโต้ตอบด้วยการนัดหยุดงานทั่วไป

(๒) การปลุกระดมทางการเมือง เพื่อคานแนวคิดของชนชั้นปกครอง และเพื่อคานคนที่เสนอว่าเราต้องประนีประนอมกับสภาพสังคมปัจจุบันและอำนาจที่ปกครองเราอยู่ เราต้องทำสงครามความคิดอย่างถึงที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราแค่เสนอให้ “ปฏิรูปกฎหมาย 112” แทนการยกเลิกกฎหมายนี้ไปเลย เราก็จะยังยอมจำนนต่อความคิดชนชั้นปกครอง และไม่ปลดแอกความคิดของเราเอง

ทั้งสองแนวรบนี้อาศัยการจัดตั้งมวลชนในพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย เราต้องเลือกสมรภูมิในการรบกับความรุนแรงของรัฐให้ดี ไม่ออกรบเวลาเราอ่อนแอและไม่พร้อม แต่เมื่อเราพร้อมแล้ว ก็ออกมาเผชิญหน้ากับรัฐบนท้องถนนและในสถานที่ทำงานอย่างเต็มที่ ถ้าไม่ประสานกัน และไม่เข้าใจธาตุแท้ของสังคม เราคงทำไม่ได้

ถ้าเราเข้าใจ “รัฐกับการปฏิวัติ” เราจะเข้าใจว่า “อำนาจพิเศษสาธารณะ” ซึ่งประกอบไปด้วย ทหาร ตำรวจ ศาล คุก ระบบราชการ รัฐบาล สถาบันกษัตริย์ และสถาบันต่างๆ ที่กล่อมเกลาความคิด มันต้องถูกโค่นแบบถอนรากถอนโคน เพื่อสร้างรัฐใหม่ของคนส่วนใหญ่ เราใช้รัฐเก่า หรือกองทัพและตำรวจเก่าเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ไม่ได้

แต่เมื่อพูดถึงกองกำลังติดอาวุธของชนชั้นปกครอง เราต้องเข้าใจด้วยว่ามันประกอบไปด้วยนายทหารชั้นล่าง ซึ่งเป็นคนธรรมดา ในสถานการณ์ปฏิวัติ ที่กระแสปฏิวัติมาแรงเพราะคนส่วนใหญ่ไม่พอใจที่จะอยู่ต่อแบบเดิม และชนชั้นปกครองอยู่ในสภาวะวิกฤต เราสามารถดึงทหารระดับล่างมาเข้าข้างเราได้ แต่นั้นแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการดึง “นายพลก้าวหน้า” มาอยู่ข้างเรา ซึ่งเคยเป็นความฝันเปียกๆ ของแกนนำ นปช.

มาร์คซ์เคยอธิบายว่า การสร้างรัฐใหม่ต้องอาศัยการปฏิวัติรัฐเก่าในทุกแง่ เพราะองค์ประกอบของรัฐเก่านั้นมันไม่หายไปง่ายๆ มันเป็น “งูเหลือมที่รัดสังคมไว้อย่างแน่นแฟ้น” ต้องใช้ “ไม้กวาดแห่งการปฏิวัติ” ถึงจะแกะมันออกได้ และต้องสร้างรัฐใหม่กับองค์ประกอบใหม่ขึ้นมาแทน เช่นรัฐสภาคนทำงาน กองกำลังของประชาชน หรือผู้พิพากษาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นต้น ต้องรื้อกฎหมายเก่าๆ ทิ้งให้หมด และสร้างระเบียบใหม่ของสังคม โดยที่คนส่วนใหญ่ คนจน คนทำงานทุกคน ขึ้นมาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน นั้นคือวิธีการสร้างสังคมนิยม ซึ่งเป็นประชาธิปไตยขั้นสูงสุด

ในช่วงที่เรายังปฏิวัติสังคมไม่ได้ การต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยในทุกรูปแบบ เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น มันเป็นการต่อสู้ประจำวันที่ให้สิทธิเสรีภาพมากขึ้น มันช่วยให้เรามีสหภาพแรงงานที่มีอำนาจต่อรอง มันช่วยให้เราประท้วงหรือเดินขบวนได้ และมันช่วยให้เรามีสื่อเสรีและสิทธิในการแสดงออก นอกจากนี้การต่อสู้เพื่อเปิดพื้นที่ประชาธิปไตย เป็นการทำให้สภาพความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นในระยะสั้น ดังนั้นเป็นเรื่องดีและจำเป็น แต่ยิ่งกว่านั้น  อย่างที่ โรซา ลัคแซมเบอร์ค นักมาร์คซิสต์สตรีเคยอธิบาย…มันจะเป็นการฝึกฝนมวลชนให้พร้อมในการที่จะล้มชนชั้นปกครองและทำลายรัฐเก่าลงอย่างสิ้นเชิงในอนาคต