Tag Archives: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เข้าใจการเมืองและประวัติศาสตร์พม่า

หนังสือ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อถกเถียงทางการเมือง” เป็นหนังสือเกี่ยวกับการเมืองในภูมิภาคนี้ แต่จะไม่สำรวจสภาพสังคมการเมืองของแต่ละประเทศอย่างแยกส่วน เหมือนกับหนังสือภาษาไทยอื่นๆ เพราะผู้เขียนมองว่าการเปรียบเทียบประเด็นการเมือง และข้อถกเถียงระหว่างนักวิชาการหรือนักเคลื่อนไหวจากสำนักต่างๆ เป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากหนังสือวิชาการไทย และเป็นสิ่งที่จำเป็นถ้าเราจะสร้างความเข้าใจรอบด้านเกี่ยวกับการเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

     ในทุกบท จะมีการตั้งคำถามเพื่อชวนให้ผู้อ่านคิดต่อไป และทั้งๆ ที่ผู้เขียนมีจุดยืนมาร์คซิสต์ที่แสดงออกมาอย่างชัดเจนในงานเขียน แต่มีความพยายามที่จะรายงานความคิดเห็นของทุกฝ่ายมา เพื่อประกอบการถกเถียง ไม่ใช่มองข้ามหรือละเลยสำนักคิดที่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยแต่อย่างใด ในที่สุดผู้อ่านจะต้องตัดสินใจเองว่าจะมีจุดยืนอย่างไร

     หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นในยุคก่อนทุนนิยมและอาณานิคม หลังจากนั้นก็มีการพิจารณาขบวนการชาตินิยมและขบวนการคอมมิวนิสต์ มีการพิจารณาข้อถกเถียงใหญ่ๆ เกี่ยวกับเชื้อชาติและชนชั้น เกี่ยวกับลัทธิการเมืองที่แข่งกัน เกี่ยวกับรัฐหรือตลาดในนโยบายเศรษฐกิจ และเกี่ยวกับกระบวนการสร้างประชาธิปไตย นอกจากนี้มีการสำรวจการเมืองเพศ และการเมืองภาคประชาชนซึ่งรวมถึงขบวนการแรงงานอีกด้วย

     เล่มนี้เขียนขึ้นในปี ๒๕๕๒ เพื่อเป็นตำราสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีและโทในมหาวิทยาลัย แต่ผู้เขียนพยายามใช้ภาษาและการอธิบายง่ายๆ ดังนั้นมีความหวังว่าผู้ที่ไม่ได้เรียนในระดับมหาวิทยาลัยน่าจะอ่านและเข้าใจได้ดี

บทที่ 1 ทุนนิยมและการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่

บทที่ 2   การท้าทายอำนาจตะวันตกด้วยขบวนการชาตินิยม

บทที่ 3 เชื้อชาติและชนชั้นสำคัญขนาดไหน?

บทที่ 4  พรรคคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทที่ 5 สงครามเวียดนาม

บทที่ 6 ลัทธิการเมืองของชนชั้นปกครอง

บทที่ 7 รัฐหรือตลาด?

บทที่ 8 การเมืองเพศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทที่ 9 แรงงานกับทุน และขบวนการภาคประชาชน

บทที่ 10 เงื่อนไขและกระบวนการในการสร้างประชาธิปไตย

ใจ อึ๊งภากรณ์

เชิญอ่าน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้อถกเถียงทางการเมือง https://bit.ly/1sH06zu

คนไทยอาจเสี่ยงภัยจากความยากจนมากกว่าจากโควิด19?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ผมไม่อยากจะรีบสรุปอะไรเร็วเกินไปเรื่องการระบาดของไวรัสโควิดในขณะที่วิกฤตมันยังไม่จบ แต่ถ้าดูตัวเลขจากไทยจะเห็นว่าค่อนข้างจะต่ำถ้าเทียบกัยยุโรป หรือ สหรัฐอเมริกา

total-covid-deaths-per-million

สาเหตุที่ตัวเลขโควิดไทยค่อนข้างจะต่ำในขณะนี้ (และหวังว่าคงไม่พุ่งสูงในอนาคต ซึ่งเป็นไปได้) ไม่ใช่เพราะประสิทธิภาพของรัฐบาลเผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์แต่อย่างใด ไม่ใช่เพราะอะไรที่ดีเลิศเกี่ยวกับสังคมไทย และไม่ใช่เพราะไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรืออะไรอยู่เบื้องสูงเลย เพราะตัวเลขโควิดไทยไม่ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านเท่าไร และตัวเลขของเวียดนามดีกว่าไทยอีก

total-deaths-covid-19

ถ้าเราดูตัวเลขการเสียชีวิตจากโควิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปรเป็นสัดส่วนต่อประชากรหนึ่งล้านคน จะเห็นว่าฟิลิปปินส์สูงสุดคือ 6 รองลงมาก็คืออินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ 3 และไทยอยู่ที่ 0.8 ซึ่งพอๆกับบังคลาเทศในเอเชียใต้ แต่ต่ำสุดคือเวียดนาม ถ้าเทียบกับตัวเลขอังกฤษที่สูงถึง 598 ดูเหมือนอยู่คนละโลกกัน [ดู https://bit.ly/2KWTPdV ]

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคุณภาพในสหรัฐกับอังกฤษได้รายงานว่าการระบาดของโควิดไม่ได้ลดลงเมื่อมีอากาศร้อนเหมือนไข้หวัดใหญ่ธรรมดา ในออสเตรเลียมีการระบาดมากพอสมควรทั้งๆ ที่อากาศร้อนแห้ง แต่ตัวเลขจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำให้เราต้องสงสัยว่าอากาศร้อนกับชื้น บวกกับชีวิตที่ใช้นอกบ้าน และการที่แสงแดดแรงและมีรังสี UV มันช่วยลดการระบาดของโควิดหรือไม่? ตัวเลขการระบาดหรือตายในอัฟริกาอาจเหมือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สถานการณ์อาจเปลี่ยนในอนาคต

สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือมาตรการเด็ดขาดในการปิดเมือง การตรวจโรค และการติดตามดูว่าผู้ป่วยสัมผัสกับใคร อย่างที่เวียดนามทำ มีผลสำคัญในการลดอัตราการตาย ดังนั้นการยกเลิกมาตรการแบบนี้ไม่ใช่คำตอบในการปกป้องพลเมือง

อีกสิ่งหนึ่งที่อาจเป็นประเด็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือสัดส่วนคนชราในประชากร ซึ่งต่ำกว่ายุโรปหรือสหรัฐ แต่ในขณะเดียวกันสัดส่วนคนจนที่มีสุขภาพไม่ดีน่าจะสูงกว่าประเทศตะวันตก อย่างไรก็ตามในอีกแง่หนึ่งการที่คนในเอเชียอยู่กับเชื้อโรคมากกว่าคนในตะวันตกมีผลทำให้มีภูมิต้านทานหรือวิถีชีวิตที่เน้นการล้างมือหรือไม่?

นอกจากนี้เราต้องระวังตัวเลขจากรัฐบาลต่างๆ ที่อยากจะปกปิดความจริงและไม่ย่อมตรวจเชื้อในหมู่ประชากรทั่วไปด้วย

ไม่ว่าการระบาดของโควิดจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เห็นชัดในกรณีไทยคือ มาตรการในการเยียวยาคนจนหรือกรรมาชีพที่ตกงานที่เดือดร้อนอันเนื่องมาจากการสั่งปิดสถานที่ทำงานต่างๆ ของรัฐบาลประยุทธ์ ไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง เพราะไม่เพียงพอและไม่แก้ปัญหา ดูได้จากภาพคนจนที่เสี่ยงติดเชื้อจากการเข้าคิวรับอาหารหรือเงินจากเอกชนและมูลนิธิต่างๆ

Screen-Shot-2020-04-17-at-7.22.58-AM

UPDATE_TEMPLATE-20202-3-1

ในขณะนี้มันดูเหมือนภัยหลักสำหรับคนธรรมดาในไทยคือความยากจนและการตกงาน ซึ่งอาจเป็นภัยร้ายแรงกว่าโควิดเสียอีก

วิกฤตโควิดเหมือนแสงไฟที่ส่องให้เห็นลักษณะสังคมและปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน ความเหลื่อมล้ำในไทยมาจากการที่เราไม่มีรัฐสวัสดิการ และสหภาพแรงงานของเราอ่อนแอเกินไปที่จะพัฒนาผลประโยชน์ของคนทำงาน และปัญหานี้ร้ายแรงมากขึ้นเพราะเราขาดประชาธิปไตย

ในสภาพเช่นนี้เราเห็นคนรวยและอภิสิทธิ์ชนเสพสุขในขณะที่คนส่วนใหญ่เดือดร้อน ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชน ทหารเผด็จการยังหน้าด้านคิดจะซื้ออาวุธ และบางคนสั่งอาหารทางอากาศมากินที่ยุโรปหรือบินไปบินมาอย่างสบาย

อย่าลืมว่าตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา 14 ปีที่แล้ว ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ชนชั้นกลางและทหาร ได้ร่วมกันทำลายประชาธิปไตยในประเทศเรา เพราะไม่พอใจกับรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลทักษิณมีข้อเสียหลายอย่างและได้ก่ออาชญากรรมในปาตานีและสงครามยาเสพติด แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลนี้กำลังเดินหน้าเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนธรรมดา ผ่านนโยบายระบบสุขภาพถ้วนหน้า นโยบายสร้างงาน นโยบายลดหนี้ นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ และนโยบายพัฒนาระบบการศึกษา ซึ่งแนวร่วมระหว่างรัฐบาลทักษิณกับกรรมาชีพและชาวนานี้สร้างความไม่พอใจกับพวกปฏิกิริยาเป็นอย่างมาก นี่คือสาเหตุที่เราจมอยู่ภายใต้เผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์ในปัจจุบัน

ในอนาคตอันใกล้ ทั่วโลกจะประสบวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรงพอๆ กับวิกฤตเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และไทยจะหลีกเลี่ยงผลไม่ได้ ดังนั้นถ้าเราไม่รวมตัวกันสู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อโค่นเผด็จการ คนไทยธรรมดาจะเดือดร้อนมากขึ้นอีกหลายเท่า

มาเลเซียเปลี่ยนรัฐบาลแต่ทุกอย่างเหมือนเดิม

ใจ อึ๊งภากรณ์

ชัยชนะของพรรคฝ่ายค้านในมาเลเซียคือชัยชนะจอมปลอม เพราะถึงแม้ว่าพรรค U.M.N.O. ที่เคยปกครองประเทศมาตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษเป็นฝ่ายแพ้ แต่มหาธีร์คนที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของพรรค U.M.N.O. ระหว่างปี 1981 ถึง 2003

รัฐบาลของนาจิบ ราซัค แพ้การเลือกตั้งเพราะมีเรื่องอื้อฉาวคอร์รับชั่น แต่ในสมัยที่มหาธีร์เป็นนายกก่อนหน้านี้รัฐบาลก็มีเรื่องอื้อฉาวและมีการแจกผลประโยชน์ให้พรรคพวกเช่นกัน นอกจากนี้มหาธีร์มีประวัติในการปกครองแบบกึ่งเผด็จการโดยจับนักการเมืองฝ่ายค้านเข้าคุกหลายครั้ง

รัฐบาลใหม่ของพรรคแนวร่วม Pakatan Harapan มีข้อตกลงว่ามหาธีร์จะเป็นนายกสองปี หลังจากนั้น อันวาร์ อิบราฮิม จะขึ้นมาสู่ตำแหน่งแทน อันวาร์ เป็นอดีตนักการเมืองคนโปรดของมหาธีร์ในพรรค U.M.N.O. ก่อนที่จะทะเลาะกับมหาธีร์และถูกจำคุกภายใต้ข้อหาเท็จเรื่องการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย

สรุปแล้วผลการเลือกตั้งมาเลเซียเป็นแค่ละครเปลี่ยนเก้าอี้ของนักการเมืองกระแสหลักที่เคยผูกพันกับพรรค U.M.N.O. ส่วนพรรคอื่นๆ ในแนวร่วมก็ผลัดกันกิน

สำหรับสหายเราในพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย P.S.M. ปรากฏว่าพรรคไม่ได้ที่นั่งในรัฐสภาเลย ในอดีตพรรคเคยมีข้อตกลงกับฝ่ายค้านเลยชนะที่นั่งบ้าง ปีนี้พรรคไม่ยอมทำข้อตกลงกับฝ่ายค้านเพราะนำโดยคนอย่างมหาธีร์

มหาเลเซียไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ เพราะมีการออกแบบระบบการเลือกตั้งตามเชื้อชาติ และมีการใช้กฏหมายความมั่นคงภายในเพื่อข่มขู่นักการเมืองฝ่ายค้านเสมอ

นโยบายการเมืองเชื้อชาติมีวัตถุประสงค์ในการระงับการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของคนชั้นล่าง รัฐบาลมาเลเซียใช้ประเด็นเชื้อชาติเป็น “หน้ากากบังหน้า” เพื่อให้ความชอบธรรมกับตนเอง โดยอ้างว่ารัฐบาลผสมของแนวร่วมชาติเป็นตัวแทนของทุกเชื้อชาติ ขณะที่ในความเป็นจริงมันเป็นแนวร่วมระหว่างนายทุนเอกชน (นายทุนจีนและอินเดีย) กับนายทุนข้าราชการ (นายทุนมาเลย์) และการเมืองชนชั้นถูกปราบปรามตั้งแต่ยุคอาณานิคมจนถึงปัจจุบัน

ความคิดเรื่องการเมืองเชื้อชาติเป็นเครื่องมือที่รัฐต่างๆ ใช้เพื่อแก้ปัญหาความไม่พอใจหรือปัญหาข้อกังวลของประชาชนที่มาจากโครงสร้างสังคมแบบชนชั้น

การจลาจลปี ค.ศ. 1969 ถูกอ้างเสมอเพื่อให้ความชอบธรรมกับนโยบายการเมืองแบบเชื้อชาติ แต่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าการจลาจลครั้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เพราะก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ มีการเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนั้นคะแนนเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลเช่น U.M.N.O. กับพรรคนายทุนจีน M.C.A. ลดลง พรรคที่ได้คะแนนเพิ่มเป็นพรรคที่มีความเกี่ยวข้องกับคนชั้นล่าง ทั้งๆที่บางพรรคยังอาจอยู่ในกรอบเชื้อชาติเป็นส่วนใหญ่ ในสถานการณ์แบบนี้องค์กรเยาวชนของ U.M.N.O. เป็นผู้ก่อความรุนแรงก่อน โดยเข้าไปโจมตีชาวจีนเพื่อปลุกกระแสความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างของรัฐที่จะประกาศภาวะฉุกเฉินและปราบปรามพรรคฝ่ายค้าน

ตั้งแต่ปี 1969 ชนชั้นปกครองมาเลเซียใช้นโยบายชาตินิยม-เชื้อชาติเพื่อสร้างฐานสนับสนุนในหมู่ชาวนาและกรรมาชีพเชื้อสายมาเลย์ โดยพยายามสร้างภาพปลอมว่าคัดค้านนายทุนจีนและนายทุนต่างชาติ และในขณะเดียวกันมีการปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สังกัดชนชั้น

หลังการเลือกตั้งทั่วไปรอบปัจจุบันไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานอะไรว่าพรรคแนวร่วม Pakatan Harapan จะเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มีประชาธิปไตยเต็มใบแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเรื่องการเมืองมาเลเซีย