Tag Archives: เอ็นจีโอ

แกนนำโดน 112 แล้วจะยังเล่นสนุกกันต่อหรือ?

การเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์และสวยงามมีความสำคัญระดับหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เป็ดพลาสติก หรือการเต้นรำร้องเพลงตามลำพัง ไม่มีพลังเพียงพอที่จะเอาชนะทหารเผด็จการได้ และสำหรับปัญหาเฉพาะหน้าที่เร่งด่วน มันไม่สามารถกดดันให้รัฐยกเลิกคดีการเมืองต่างๆ รวมถึง 112 ที่แกนนำของเรากำลังโดนอยู่ทุกวันนี้

เป็ดยางหรือเป็ดพลาสติกไม่มีพลังที่จะล้มเผด็จการได้

อย่าลืมว่ารัฐบาลเผด็จการของประยุทธ์ ประกอบไปด้วยคนมือเบื้อนเลือดที่เคยสั่งให้มีการยิงเสื้อแดงที่ไร้อาวุธตายกลางกรุงเทพฯ ประกอบไปด้วยคนที่ส่งทหารไปอุ้มฆ่าผู้เห็นต่างในประเทศเพื่อนบ้าน และประกอบไปด้วยคนที่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไปหลังรัฐประหาร มันไม่ใช่เกมเด็กเล่น

แกนนำของขบวนการประชาธิปไตยปัจจุบันกำลังเผชิญหน้ากับหลากหลายข้อหาจากรัฐ แต่ละคดีจะใช้เวลานานหลายๆ เดือน หลายคนโดนขังมาแล้ว รัฐบาลประยุทธ์ก็เพิ่มข้อหาตลอดเวลาและหนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะเผด็จการต้องการให้เรากลัวมันและกลัวที่จะรักษาเพดานข้อเรียกร้อง หรือกลัวที่จะวิจารณ์กษัตริย์

ถ้าเราไม่ยกระดับการต่อสู้ของขบวนการ ในที่สุดการออกมาประท้วงบนท้องถนนจะอ่อนตัวลง และนอกจากเราจะไม่ประสพความสำเร็จในข้อเรียกร้องหลักสามข้อแล้ว จะมีการทอดทิ้งแกนนำที่ต้องขึ้นศาลหลายๆ ครั้งในเดือนปีข้างหน้าอีกด้วย

อย่าไปนึกว่าศาลเตี้ยใต้ตีนเผด็จการจะมีจิตสำนึกประชาธิปไตยพอที่จะยกเลิกคดีต่างๆ อย่าไปฝันว่าฝ่ายรัฐบาลจะยอมประนีประนอมถ้าไม่ถูกกดดันด้วยพลังประชาชนที่เข้มข้นกว่านี้ และอย่าไปฝันว่าพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทยจะออกมาปกป้องคนที่โดน 112 หรือกดดันให้ทหารยอมรับสามข้อเรียกร้องเลย ทั้งหมดนั้นเป็นความฝันที่ไร้สาระทั้งสิ้น

อย่าไปหวังพึ่งคนอย่าง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือหวังว่าองค์กรหรือรัฐบาลต่างประเทศจะมาช่วย มันเป็นความฝันเช่นกัน และอย่าไปคิดว่าคนที่ชอบวิจารณ์ด่ากษัตริย์เพื่อความสนุกสนานแต่ไม่มีข้อเสนออะไรเป็นรูปธรรมเพื่อชัยชนะจะมีประโยชน์

แต่เราต้องไม่ลืมว่าคนไทยเองมีพลังพอที่จะล้มเผด็จการได้ และเคยล้มในอดีต ประเด็นคือจะใช้วิธีการอะไร

ถ้าเราทอดทิ้งแกนนำที่มีความกล้าหาญในการยกเพดานข้อเรียกร้องแบบนี้ ในอนาคตใครจะกล้าออกมา?

ผู้เขียนได้แต่หวังว่าแกนนำของขบวนการในหลายๆ ส่วน จะนั่งคุยกันอย่างจริงจังว่าจะยกระดับการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างไร

ขบวนการคนหนุ่มสาวปัจจุบันอาจเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากการต่อสู้ที่ฮ่องกง อย่างเช่นการจัดตั้งม็อบหรือการใช้เป็ดพลาสติก แต่มันมีบทเรียนอื่นที่ไม่ได้นำมาใช้ โดยเฉพาะการนัดหยุดงานและการเคลื่อนไหวในสหภาพแรงงาน ที่อ่องกงมีการนัดหยุดงานของพนักงานสายการบินที่ปิดประเทศ มีการนัดหยุดงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และมีการพยายามสร้างสหภาพแรงงานใหม่เป็นต้น ที่ประเทศเบลารุสมีการนัดหยุดงานของพนักงานโรงงานต่างๆ ที่ประเทศซูดานมีการนัดหยุดงานที่กดดันเผด็จการทหาร และล่าสุดที่อินเดียมีการนัดหยุดงานของคนงาน 250 ล้านคนเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่พึ่งผ่านมา

นัดหยุดงานที่อินเดีย

การนัดหยุดงานของคนงานในออฟฟิศ ในธนาคาร ในระบบขนส่ง ในโรงพยาบาล และในโรงงาน จะมีพลังเพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลเผด็จการบริหารประเทศไม่ได้และต้องยอมมาเจรจา แต่อย่าไปหวังว่าปีกแรงงานของพรรคก้าวไกล หรือพวก “อดีต” ที่อ้างว่าเป็น “ภาคประชาชน” หรือพวกเอ็นจีโอที่หากินกับแรงงาน หรือผู้นำแรงงานหมูอ้วน จะลงมือสร้างความเป็นไปได้ของการนัดหยุดงาน เพราะแต่ละฝ่ายคงจะเอาข้ออ้างต่างๆ นาๆ ออกมาเพื่อที่จะได้ไม่ต้องทำอะไร

มันจึงตกอยู่กับนักเคลื่อนไหวรากหญ้าของคณะราษฏร์ นักศึกษา คนหนุ่มสาว และนักต่อสู้รากหญ้ารุ่นใหม่ของสหภาพแรงงาน ที่จะลงพื้นที่ต่างๆ ถกเถียงแลกเปลี่ยน และอธิบายว่าทำไมถึงเวลาแล้วที่จะมีการนัดหยุดงานเพื่อประชาธิปไตย เรื่องมันจะได้จบที่คนรุ่นนี้สักที

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถึงเวลานานแล้วที่นักเคลื่อนไหวแรงงานต้องสร้าง “ขบวนการแรงงาน”

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในรอบสองสามเดือนที่ผ่านมามีข่าวการเลิกจ้างแรงงานโดยที่หลายบริษัทไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย หรือมีการจงใจเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงานเพื่อหวังล้มสหภาพ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอะไหล่รถยนต์ การตัดเย็บเสื้อผ้า หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ

แต่ในทุกกรณีสหภาพแรงงานและคนงานขาดการต่อสู้ และขาดการหนุนช่วยข้ามรั้วสถานประกอบการจากแรงงานอื่น จนคนงานกลายเป็นเหยื่อที่ต้องไปร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล “เผด็จการรัฐสภา”หรือองค์กรอื่นๆ ของรัฐ หรือจากพรรคการเมืองของฝ่ายทุนอย่างพรรคอนาคตใหม่

สภาพเช่นนี้ในไทยแสดงให้เห็นว่าในประเทศของเราเกือบจะพูดได้ว่าเราไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ขบวนการแรงงาน”

ขบวนการแรงงานที่เข้มแข็งจะเน้นการต่อสู้และความสมานฉันท์ระหว่างสหภาพแรงงานต่างๆ จะพยายามจัดการนัดหยุดงานพร้อมๆ กันหลายที่ และตัวอย่างที่ดีคือการนัดหยุดงานทั่วไปที่พึ่งเกิดขึ้นที่อินเดีย ที่มีกรรมาชีพออกมาหยุดงานกัน 250 ล้านคน

ที่มาของสภาพย่ำแย่นี้ในไทย ไม่ใช่ “ลักษณะพิเศษของสังคมไทย” หรือนิยายเรื่องไทยไม่มีระบบชนชั้น หรือเรื่อง “แนวคิดศักดินาที่ฝังลึกอยู่ในสมองคนธรรมดา”

ในอดีต ในสมัยที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)รุ่งเรือง เรามีสิ่งที่เรียกว่า “ขบวนการแรงงาน” เพราะมีนักเคลื่อนไหวของพรรคตั้งเป้าในการทำงานการเมืองภายในสถานที่ทำงานต่างๆ และมีการสร้างสหภาพแรงงานที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกัน ถ้าใครสนใจเรื่องนี้ก็ควรจะไปอ่านหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ

20191220_194854

     ในช่วงก่อนและหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ นักศึกษาที่เคลื่อนไหวเพื่อสังคมก็มีบทบาทในการปลุกระดม และประสานงานร่วมกับขบวนการแรงงาน และหลายคนได้รับอิทธิพลมาจาก พคท. ทั้งโดยตรงและทางอ้อม

ทุกวันนี้มรดกของ พคท. ในขบวนการแรงงานยังหลงเหลืออยู่บ้างในรูปแบบ เครือข่ายสหภาพแรงงาน “กลุ่มย่าน” แต่อยู่ในลักษณะอ่อนแอลงเป็นอย่างมาก

แง่สำคัญของการจัดตั้งกรรมาชีพในสหภาพแรงงานของ พคท. คือการที่พยายามเชื่อมคนงานในโรงงานและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ข้ามรั้วโรงงานและระหว่างสหภาพแรงงานที่แตกต่างกัน เพื่อให้มีการต่อสู้ร่วมกัน เช่นการนัดหยุดงานพร้อมกัน และที่สำคัญคือการพยายามสร้างการต่อสู้สมานฉันท์ที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นี่คือความสำคัญของการสร้างองค์กรสหภาพแรงงานกลุ่มย่านต่างๆ โดย พคท.

แต่หลังจากที่ พคท. เริ่มล่มสลาย และนักกิจกรรมต่างๆ หันไปทำงานในองค์กรเอ็นจีโอ นอกจากจะมีการเน้นชาวบ้านในชนบทแล้ว คนที่ยังทำงานในสายแรงงาน กลายพันธุ์ไปเป็นคนที่ทำงานในรูปแบบการกุศล คือเน้นการช่วยเหลือผู้ที่ตกยากหรือผู้ที่เป็นเหยื่อ มากกว่าที่จะปลุกระดมให้มีสหภาพแรงงานที่เน้นการต่อสู้ทางชนชั้น ในที่สุดองค์กรเอ็นจีโอสายแรงงานกลายเป็นองค์กรคล้ายๆ ธุรกิจขนาดเล็ก ที่ขอทุนจากรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือคนจน มันแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากสมัย พคท. และที่แย่สุดคือไม่มีการเน้นหรือพูดถึงการนัดหยุดงาน ไม่มีการพูดถึงการเมืองหรือเรื่องชนชั้น และไม่เน้นการต่อสู้ของสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งเลย

เราจะเห็นได้ว่าความอ่อนแอของขวนการแรงงานไทยในยุคนี้ จนเรียกได้ว่าไม่มีขบวนการ มาจากเรื่องการเมืองล้วนๆ

ขบวนการแรงงาน

     นักต่อสู้สหภาพแรงงานในไทยยังไม่หมดสิ้น ยังมีคนดีๆ ที่ต้องการต่อสู้ไม่น้อย เป้าหมายของคนเหล่านี้ควรจะเป็นการสร้างขบวนการแรงงานที่มีพลัง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีวันเกิดถ้ามัวแต่ไปเน้นการสัมมนาในโรงแรมเรื่อง “สิทธิแรงงาน” ที่จัดขึ้นด้วยงบจากเอ็นจีโอหรือหน่วยงานของรัฐ

การประชุมและการศึกษาที่จะนำไปสู่การสร้างขบวนการแรงงานที่แท้จริง ต้องเป็นการศึกษาทางการเมืองในเรื่องวิธีการปลุกระดมคนในสหภาพแรงงาน เรื่องการนัดหยุดงาน และเรื่องความสำคัญของการเคลื่อนไหวแสดงความสมานฉันท์ข้ามรั้วสถานประกอบการ และการเมืองที่ควรศึกษามากกว่านี้คือการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพในมิติสากล ซึ่งต้องประกอบไปด้วยเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง พรรคการเมืองของกรรมาชีพ และขบวนการฝ่ายซ้ายสากลในอดีตกับปัจจุบัน

ในอดีตเราเคยทำได้ ดังนั้นทุกวันนี้เราก็เริ่มทำได้เช่นกัน

Dxcc29yW0AQEpBn

อ่านเพิ่ม: กรรมาชีพไทยกับการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อสังคมใหม่ หน้าที่ของนักสังคมนิยมในยุคปัจจุบัน  https://bit.ly/2MBfQzc

จุดอ่อนพรรคสามัญชนคือแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบเอ็นจีโอ – การแก้ปัญหาโลกร้อนจะไม่ทำให้คนตกงาน

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ แกนนำพรรคสามัญชน เขียนบทความที่เสนอว่าการพัฒนาที่พยายามปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อต้านปัญหาโลกร้อน จะทำให้แรงงานจำนวนมากว่างงานหรือมีรายได้น้อยลง [ดู https://bit.ly/2BUMtUj ] แต่ข้อเสนอนี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด จะขออธิบายรายละเอียดต่อข้างล่าง

นอกจากนี้มีการเขียนว่าขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศส ออกมาต้าน “นโยบายแก้ปัญหาโลกร้อน” ของรัฐบาลฝรั่งเศส แต่ในความเป็นจริงรัฐบาลฝ่ายขวาของฝรั่งเศสพยายามขึ้นภาษีน้ำมัน เพื่อรีดไถเงินจากคนธรรมดาในขณะที่ไม่มีมาตรการการแก้ปัญหาโลกร้อนที่แท้จริง และรัฐบาลยังลดภาษีให้คนรวยและบริษัทใหญ่อีกด้วย [ดูบทความของผมเกี่ยวกับเสื้อกั๊กเหลือง https://bit.ly/2XyuNab]

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ยังเสนอต่อไปว่าเราไม่ควรให้ความสำคัญกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและตัวเลข GDP หรือ “ผลิตผลมวลรวม” เพราะการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลายมักหนุนเสริม GDP และพร้อมกันนั้นเขาวิจารณ์สหภาพแรงงานไทยที่ไม่ค่อยแสดงความเห็นในเรื่องแบบนี้อีกด้วย นี่คือแนวเอ็นจีโอชัดๆ และมาจากกลุ่มคนที่ไม่ลงไปปลุกระดมให้การศึกษาทางการเมืองกับขบวนการแรงงานอีกด้วย

Small-Is-Beautiful-Cover
จิ๋วแต่แจ๋ว

ความเห็นของ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ สะท้อนแนวคิดของพรรคสามัญชนที่ยังจมอยู่ในแนวคิด “เศรษฐกิจชุมชน” และ “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ตามวิธีคิดเอ็นจีโอ มันเป็นแนวคิดที่มีมุมมองคับแคบ ไม่ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองของฝ่ายซ้ายหรือมาร์คซิสต์ที่วิจารณ์ทุนนิยมจากจุดยืนกรรมาชีพคนทำงาน และไม่สนใจพลเมืองส่วนใหญ่ที่ทำงานในเมืองอีกด้วย แนวคิดพรรคสามัญชนสอดคล้องกับแนวเศรษฐศาสตร์จิ๋วแต่แจ๋ว ที่เป็นแนวกรีนฝ่ายขวาที่เกลียดคนธรรมดาเพราะมองว่ามนุษย์ทุกคนทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะอยู่ชนชั้นใด

GreenJobs2

ในเรื่องมาตรการที่จะแก้ปัญหาโลกร้อน โดยการลดการเผาเชื้อเพลิงคอร์บอนนั้น แทนที่มันจะทำลายงานและทำให้กรรมาชีพมีรายได้น้อยลง มันสามารถที่จะสร้างงานคุณภาพให้ประชาชนเป็นล้านๆ ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าผู้บริหารสังคมยึดถื่อผลประโยชน์ของกรรมาชีพและคนจนหรือไม่ ประเด็นใหญ่คืออำนาจในการควบคุมเศรษฐกิจจะอยู่ในมือชนชั้นใด ถ้าอยู่ในมือของนายทุนใหญ่และคนอย่าง ดอนัลด์ ทรัมป์ โลกเราคงฉิบหายแน่

GettyImages-613835366-1280x720
ทรัมป์ไม่เชื่อเรื่องปัญหาโลกร้อน

มาตรการสำคัญในการแก้ปัญหาโลกร้อนมีหลายอย่าง เช่น การสร้างวิธีผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดและลม โดยผลิตอุปกรณ์เองภายในประเทศ การสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงที่ใช้ไฟฟ้าจากลมและแสงแดด แทนการใช้เครื่องบินระหว่างเมืองต่างๆ การสร้างระบบขนส่งมวลชนในเมืองที่ใช้ไฟฟ้าและไม่เก็บค่าบริการจากประชาชน การสร้างโรงเรียนและโรงพยาบาลชั้นดีเพื่อบริการประชาชนในทุกชุมชน เพื่อลดระยะทางที่ต้องผู้คนต้องเดินทาง การสร้างตึกที่ไม่อมความร้อนมากเกินไปโดยมีโครงสร้างที่กันแสงแดดและเปิดให้อากาศถ่ายเท เพื่อประหยัดพลังงานที่ใช้กับเครื่องปรับอากาศ และการพัฒนาบ้านเรือนและตึกสถานที่ทำงานที่มีอยู่แล้วให้มีสภาพแบบนี้อีกด้วย ฯลฯ

climatejobscover

โครงการแบบนี้ล้วนแต่จะสร้างงานที่มีคุณภาพและความหมายให้กับประชาชนจำนวนมาก และมีการเสนอนโยบายอย่างละเอียดและเป็นรูปธรรมโดยสหภาพแรงงานในอังกฤษและที่อื่น [ดู https://bit.ly/2DMkGrq ] ซึ่งดูเหมือนคนของพรรคสามัญชนไม่ติดตามข่าวหรือข้อมูลสากลจากสื่อก้าวหน้าเลย อันนี้ก็เป็นนิสัยของนักกิจกรรมเอ็นจีโอมานาน

52461564_327215004590008_7594824578283601920_n

ในเรื่องความสำคัญของ GDP หรือ “ผลิตผลมวลรวม” มันสำคัญเพราะมันเป็นเครื่องชี้วัดการขยายตัวของเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจหดตัวคนธรรมดาจะตกงานและเดือดร้อน แต่แน่นอนเราไม่สามารถดูแค่เรื่อง GDP อย่างเดียวโดยไม่ให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้หรือความเหลื่อมล้ำ เรื่องนี้ก็กลับมาสู่เรื่องอำนาจในการควบคุมระบบทุนนิยมอีก เพราะถ้าปล่อยให้เศรษฐกิจอยู่ในมือนายทุนมันต้องมีความเหลื่อมล้ำเป็นธรรมดา ดังนั้นเราต้องเพิ่มพลังของกรรมาชีพคนทำงานเพื่อต่อรองกับนายทุน และในที่สุดยึดอำนาจการควบคุมเศรษฐกิจมาอยู่ในมือประชาชนธรรมดา เราต้องเดินหน้าสร้างระบบสังคมนิยมแทนทุนนิยม แต่พรรคสามัญชนไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนี้เลย

jobsjusticeclimate

แทนที่จะพูดถึงเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจจิ๋วแต่แจ๋ว หรือเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งล้วนแต่มีจุดร่วม เราต้องเข้าใจว่าประชาชนไทยจำนวนมากมีความยากจนและมีความไม่เพียงพอ ประเด็นคือเราจะใช้อำนาจอะไรเพื่อกำกับการขยายตัวของเศรษฐกิจให้ลดความเหลื่อมล้ำและปกป้องสิ่งแวดล้อม

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การวิจารณ์พรรคสามัญชนในบทความนี้ ไม่ควรถูกตีความว่าเราควรสนับสนุนพรรคทหารหรือพรรคที่อวยทหารแต่อย่างใด ผู้เขียนเสนอว่าในวันเลือกตั้งประชาชนที่รักประชาธิปไตยควรเลือกพรรคในเครือข่ายพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคสามัญชน

 

ทหารกับองค์กร ‘ภาคประชาชน’ ไทยไม่สามารถสร้างสันติภาพในปาตานีได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

หลังข่าวการสังหารพระในวัดรัตนานุภาพนราธิวาส เราเห็นภาพของประชาชนหลายส่วนในสังคมไทยที่ออกมาประณามและแสดงความไม่พอใจ จริงอยู่การฆ่าคนไม่ใช่เรื่องดี แต่คนเหล่านี้มักจะรับแนวคิดชาตินิยมจากรัฐไทยมาเต็มตัว โดยไม่ลองคิดลึกๆ ว่าปัญหาในปาตานีมันเกิดจากอะไร

patanipeace

แน่นอนทหารก็ออกมาพูดก้าวร้าวเหมือนเดิม โดยไม่ค่อยมีใครวิจารณ์ทหาร แต่ทหารไทยคือส่วนสำคัญของปัญหา ทหารไทยคือ “โจรใต้” ตัวจริง และเป็นโจรที่ปล้นประชาธิปไตยจากพลเมืองไทยอีกด้วย

041026_thai_riots_hmed_6a.grid-6x2
อาชญากรรมรัฐไทยที่ตากใบ

ในหลายปีที่ผ่านมา ปาตานี ซึ่งเคยถูกยึดและแบ่งระหว่างรัฐไทยกับอังกฤษ กลายเป็นสมรภูมิสงครามระหว่างรัฐไทยหรือกองกำลังทหารไทย กับขบวนการที่ต้องการปลดแอกปาตานี สงครามและความรุนแรงที่เกิดขึ้นมันมีประวัติ มันมีที่มาที่ไป

rtxxz90-1-960x576

ที่มาที่ไปสำคัญคือพฤติกรรมของรัฐไทยในการครอบครองพื้นที่เหมือนเป็นเมืองขึ้น และการปราบปรามอิสรภาพกับวัฒนธรรมของชาวมาเลย์มุสลิม คนมาเลย์มุสลิมอาศัยอยู่ในปาตานีมาก่อนกำเนิดของประเทศไทยอีก [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2b5aCYI]

พูดง่ายๆ สงครามและความรุนแรงในปาตานีมาจากการที่รัฐไทยไม่ให้ความยุติธรรมกับชาวมาเลย์มุสลิม และการที่รัฐไทยพร้อมจะใช้ความรุนแรงในการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง และกีดกันเสรีภาพของประชาชน

ยิ่งกว่านั้น หลังจากที่ทหารก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐในไทย การเจรจาสันติภาพไม่มีความคืบหน้าเลย สาเหตุสำคัญคือทหารต้องการให้ฝ่ายตรงข้ามยอมจำนนอย่างเดียว และไม่สนใจความไม่พอใจของชาวมาเลย์มุสลิมที่มีมานาน ทหารไม่มีความต้องการที่จะสร้างสันติภาพหรือแก้ปัญหา ต้องการแต่จะปราบหรือเอาชนะอย่างเดียว นี่คือปัญหาใหญ่ของการใช้วิธี “ทหารนำการเมือง” ในปัจจุบัน

เวลาพิจารณาเหตุการณ์ที่วัดรัตนานุภาพ สิ่งหนึ่งที่แย่สุดคือจุดยืนขององค์กรที่อ้างว่าเป็น “ภาคประชาชนไทย” เพราะมีการออกแถลงการณ์ที่เรียกร้องให้ “รัฐไทยดำเนินการกับผู้ที่มีส่วนในการสังหารพระสงฆ์” แถลงการณ์นี้ออกมาในนามของหลายองค์กรและบุคคล เช่น เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ เป็นต้น

ในเมื่อสงครามในปาตานีมันเกิดจากความชั่วร้ายของรัฐไทย การเรียกร้องให้รัฐไทยและทหารไทย “ดำเนินการ” กับผู้ก่อการ เท่ากับเป็นการเลือกข้างสนับสนุนรัฐไทยและทหารไทยอย่างชัดเจน และมันจะส่งสัญญาณถึงผู้ที่ต่อต้านการกดขี่ของรัฐไทยว่า “ภาคประชาชนไทย” คือศัตรูที่ต่อต้านเสรีภาพสำหรับชาวมาเลย์มุสลิม นั้นคือเจตนาขององค์กรดังกล่าวหรือไม่ผู้เขียนไม่ทราบ แต่อย่าลืมว่าในอดีตองค์กรเอ็นจีโอไทยหลายองค์กรเคยร่วมในการโบกมือเรียกให้ทหารทำรัฐประหารล้มรัฐบาลประชาธิปไตย

ลองนึกภาพดูก็ได้ คนมาเลย์มุสลิมเสียชีวิตจากมือของรัฐไทยจำนวนมาก เช่นในกรณีตากใบ ถ้าเกิดมีองค์กรออกแถลงการณ์ว่ากองกำลังที่ต้านรัฐไทยควร “ดำเนินการกับทหาร ตำรวจ และนักการเมืองที่มีส่วนในการฆ่าคน” กระแสสังคมจะว่ายังไง? ถ้าคนรับคำพูดแบบนี้ไม่ได้ แต่รับถ้อยคำของเอ็นจีโอได้ ก็แสดงว่ารัฐไทยกับทหารไทยน่าไว้ใจกว่าฝ่ายตรงข้าม?

คนที่ศึกษาปัญหาปาตานีหลายคนพยายามอธิบายว่าการโจมตีวัดของฝ่ายต้านรัฐไทย อาจเป็นการโต้ตอบการที่โต๊ะอิหม่ามสามคนถูกสังหารในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และในเดือนมกราคมมีความพยายามที่จะลอบสังหารโต๊ะอิหม่ามอีกหนึ่งครั้ง นอกจากนี้มีข่าวว่ารัฐไทยใช้การฆาตกรรมวิสามัญผู้นำองค์กรบีอาร์เอ็นที่นราธิวาสเมื่อไม่นานมานี้ เราทราบดีว่าทหารไทยใช้กองกำลังลับในการฆ่าวิสามัญโต๊ะอิหม่ามหรือนักเคลื่อนไหวที่ขัดแย้งกับทหารแต่พิสูจน์ไม่ได้ว่าทำอะไรผิด

ท่ามกลางความโง่เขลาและการเลือกข้างฝ่ายทหารขององค์กร “ภาคประชาชน” เราโชคดีที่มีนักเขียนสองคนออกมาอธิบายว่าเรื่องการฆ่าพระสงฆ์ มันซับซ้อนกว่าการฆ่าผู้บริสุทธิ์ อย่างป่าเถื่อนอย่างที่พวกคลั่งชาติกับคลั่งศาสนาพุทธพยายามเสนอ ทั้งๆ ที่ตัวบุคคลที่โดนฆ่าอาจถือว่า “บริสุทธิ์” ได้

image

สุรพศ ทวีศักดิ์ อธิบายว่าการที่ศาสนาพุทธผูกพันกับรัฐไทยมาตลอดในปาตานี เช่นการจัดโครงการ  “พระสงฆ์นำชัยคุ้มภัยใต้” ซึ่งมีทหารติดอาวุธเข้าไปบวชในวัด หรือการที่ทหารไทยจัดกองกำลังในวัดและเดินไปกับพระในขณะที่บิณฑบาต สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าสถาบันของศาสนาพุทธ และพระสงฆ์ส่วนใหญ่ ใกล้ชิดกับรัฐไทยจนอาจถือได้ว่าเป็นพวกเดียวกัน สุรพศ ทวีศักดิ์ เสนอมานานแล้วว่าศาสนาพุทธควรจะแยกออกจากรัฐ และเตือนว่าการนำศาสนามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องที่อันตรายมาก [ดู https://bit.ly/2RRkMG3 ]

gettyimages-80314673-612x612

ชาญณรงค์ บุญหนุน ตั้งข้อสังเกตว่าคนที่ชอบถามว่า “ฆ่าพระทำไม” มักจะไม่สนใจคำตอบ แต่สนใจที่จะโกรธเคืองจนอาจเสียสติได้ ชาญณรงค์ อธิบายว่าคณะสงฆ์ไทยในแง่ของสถาบัน ไม่เคยแยกตัวออกจากผู้มีอำนาจรัฐ ไม่เคยออกมาวิจารณ์พฤติกรรมเลวๆ ของรัฐ และมีความใกล้ชิดกับทหารในพื้นที่ปาตานี [ดู https://bit.ly/2WryRIX ]

5057316a-ddc1-4424-bd35-417362d7a1ff

หลังเหตุการณ์ที่วัดรัตนานุภาพไม่กี่วัน กองกำลังไทยได้ถือโอกาสบุกเข้าไปในโรงเรียนปอเนาะในปาตานี และจับคุมเยาวชนจำนวนหนึ่งด้วยวิธีการป่าเถื่อน เช่นการใช้ตาข่ายพันตัวในลักษณะที่ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยที่ทางทหารอ้างว่าคนที่โดนจับเป็นคนเขมรที่เข้ามาในไทยผิดกฏหมายและกำลังฝึกฝนเพื่อสู้รบกับรัฐไทย แต่คนในพื้นที่ไม่เชื่อคำอธิบายของทหาร และมองว่าพวกเยาวชนที่ถูกจับ ซึ่งดูเหมือนจะอายุน้อย เพียงแต่ออกกำลังกายหลังเรียนมาทั้งวัน การที่ทหารไทยปล่อยเยาวชนส่วนใหญ่หลังถูกจับ และแค่คุมคนที่เป็นพลเมืองกัมพูชาในเรื่องการเข้าเมืองผิดกฏหมายเพื่อส่งกลับ แสดงว่าไม่มีหลักฐานะอะไรเกี่ยวกับการฝึกสู้รบแต่อย่างใด [ดู https://bit.ly/2GkLTCb ]

เราควรรู้ว่าคนสัญชาติเขมรที่เข้ามาในแหลมมาลายูมักจะเป็นคนเชื้อสาย “จาม” ที่เคยก่อตั้งอาณาจักร “จามปา” ในเขตรเขมรกับเวียดนามยุคโบราณ ในประวัติศาสตร์เราทราบว่าคนจามเดินทางไปมาติดต่อกับคนในปาตานี มาเลเซีย กับอินโดนีเซียมานาน เพราะเขาพูดภาษามาเลย์และนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งสื่อไทยไม่ได้อธิบายตรงนี้เลย และเราต้องไม่ลืมอีกว่าทหารไทยมีประวัติในการบุกเข้าไปข่มขู่คนที่โรงเรียนปอเนาะอย่างต่อเนื่อง และ “คนเขมร” เป็นแพะรับบาปของพวกชาตินิยมไทยมานานอีกด้วย

50860310_2260274137519799_281745503815729152_n

50832950_2260274160853130_672270138258489344_n

ถ้าเราสนใจที่จะสร้างสันติภาพจริงๆ ในปาตานี เราต้องสร้างความยุติธรรมให้กับชาวมาเลย์มุสลิมก่อน เราต้องเปิดใจยอมรับว่าประชาชนในพื้นที่ควรมีเสรีภาพที่จะร่วมกันกำหนดอนาคตของตนเอง โดยไม่มีการแทรกแซงจากรัฐไทย และการเลือกที่จะแยกตัวออกจากประเทศไทยก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่เขามีสิทธิ์จะเลือก แต่ถ้าจะเกิดสิ่งเหล่านี้ได้ ต้องมีการแยกศาสนาออกจากรัฐ ถอนทหารและกองกำลังอื่นๆ ของรัฐไทยออกจากปาตานี และต้องแก้ปัญหาโดยการเมืองที่ไม่มีททหารเข้ามาเกี่ยวข้องเลย

มีพรรคการเมืองไหนบ้างที่สนใจการสร้างสันติภาพในปาตานีแบบนี้?

 

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2zEwG9k  https://bit.ly/2UsUeaL  https://bit.ly/1Ue789J

12 ปีรัฐประหาร ๑๙ กันยา

ใจ อึ๊งภากรณ์

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา ประกอบไปด้วย ทหาร ข้าราชการชั้นสูง องค์มนตรี นักการเมืองฝ่ายค้าน (เช่นจากพรรคประชาธิปัตย์) พวกเจ้าพ่อทางการเมือง และพวกนายทุนใหญ่อย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล และนายธนาคารต่างๆ นอกจากนี้การทำรัฐประหารครั้งนี้ได้รับการประทับตราเห็นชอบจากกษัตริย์ภูมิพล โดยที่นายภูมิพลไม่ใช่ผู้บงการ [ดู https://bit.ly/2MLmrFm ]

 

สิ่งที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมนี้ไม่พอใจคือ การขึ้นมาเป็นรัฐบาลของไทยรักไทย ได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมือง โดยที่ไทยรักไทยทำสัญญาทางสังคมกับประชาชนว่าจะมีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นรูปธรรม เช่นนโยบาย “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” นโยบาย “กองทุนหมู่บ้าน” และนโยบายที่พักหนี้เกษตรกร ซึ่งรัฐบาลไทยรักไทยนำมาทำจริงๆ หลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง เป้าหมายของไทยรักไทยคือการพัฒนาเศรษฐกิจกับสังคมไทย เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ และรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่มองว่าคนจนควรจะเป็น “ผู้ร่วมพัฒนา” โดยไม่มองว่าคนจนเป็น “ภาระ” หรือเป็น “คนโง่” สรุปแล้ว ไทยรักไทย สามารถทำแนวร่วมประชาธิปไตยกับประชาชนส่วนใหญ่ และครองใจประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน ผ่านนโยบายที่จับต้องได้ อย่างไรก็ตาม พรรคไทยรักไทย ไม่ใช่พรรคสังคมนิยม เพราะเป็นพรรคของนายทุนใหญ่ และเป็นพรรคที่มองว่าทุนนิยมไทยจะได้ประโยชน์จากการดึงประชาชนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทางเศรษฐกิจ

 

นโยบายเศรษฐกิจของ ไทยรักไทย คือนโยบาย “คู่ขนาน” (Dual Track) ที่ใช้เศรษฐศาสตร์แนวเคนส์ (Keynesianism) ในระดับรากหญ้า คือใช้งบประมาณของรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานในระดับหมู่บ้านหรือชุมชน และใช้นโยบายตลาดเสรี (Neo-liberalism) ในระดับชาติ เช่นการเซ็นสัญญาค้าเสรีและการพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ถึงแม้ว่าแนวเศรษฐกิจแบบนี้เคยมีการใช้ในประเทศอื่นในยุคต่างๆ และไม่ใช่อะไรที่ประดิษฐ์ใหม่ และเป็นนโยบายที่พยายามแก้ปัญหาจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวและธนาคารต่างๆ ไม่ยอมปล่อยกู้ นักวิชาการอนุรักษ์นิยมของไทยจำนวนมากไม่เข้าใจหรือจงใจไม่เข้าใจ และประกาศว่ารัฐบาลใช้แนวเศรษฐกิจ “ระบอบทักษิณ” (Taksinomics) เหมือนกับว่านายกทักษิณเป็นคนบ้าที่เสนอนโยบายเพ้อฝันแบบแปลกๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน

 

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เคยชินมานานกับการมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผ่านเครือข่าย “ผู้มีอิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญ” เช่นทหาร องค์มนตรี เจ้าพ่อ และนายทุนใหญ่ หรือผ่านระบบการเลือกตั้งที่ใช้เงินซื้อเสียงอย่างเดียว โดยไม่มีการเสนอนโยบายอะไรเป็นรูปธรรม และไม่มีการให้ความสนใจกับคนจนแต่อย่างใด เช่นกรณีนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคชาติไทย เป็นต้น พวกนี้ไม่พอใจที่ทักษิณและไทยรักไทยมีอำนาจทางการเมืองผ่านสัญญาทางสังคมกับประชาชนส่วนใหญ่ เขาไม่พอใจที่รัฐบาลมีการนำกิจการใต้ดินหลายอย่างมาทำให้ถูกกฎหมาย เขาไม่พอใจที่มีการใช้งบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ประชาชน แทนที่จะทุ่มเทงบประมาณเพื่อทหาร พระราชวัง และคนชั้นสูงอย่างเดียว ดังนั้นเขาและนักวิชาการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนเขา มักจะวิจารณ์นโยบายรัฐบาลว่า “ขาดวินัยทางการคลัง” ตามนิยามของพวกกลไกตลาดเสรีที่เกลียดชังสวัสดิการรัฐ แต่ในขณะเดียวกันเวลาพวกนี้มีอำนาจก่อนและหลังรัฐบาลทักษิณ เขาไม่เคยมองว่าการขึ้นงบประมาณทหาร “ขาดวินัยทางการคลัง” แต่อย่างใด

 

วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชั้นปกครองไทย คือ “วัฒนธรรมคอกหมู” ที่มีการร่วมกันหรือพลัดกันกินผลประโยชน์ที่มาจากการขยันทำงานของประชาชนชั้นล่างล้านๆ คน พวกอำมาตย์อนุรักษ์นิยมเคยชินกับระบบนี้ เขาเคยชินกับรัฐบาลพรรคผสมที่อ่อนแอและมีการพลัดเปลี่ยนรัฐมนตรีเพื่อพลัดกันกิน พวกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เคยชินกับการใช้อิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญในการร่วมกินด้วย เพราะรัฐบาลอ่อนแอ เขาจึงไม่พอใจและเกรงกลัวเวลานายทุนใหญ่ที่เป็นนักการเมืองอย่าง ทักษิณ ชินวัตร สามารถครองใจประชาชนและเริ่มมีอำนาจสูงกว่าอภิสิทธิ์ชนคนอื่นๆ โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตย ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่า เวลาอำมาตย์ คนชั้นกลาง หรือพันธมิตรฯ พูดถึง “การคอร์รับชั่น”  “การผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์” “การมีผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “การใช้อำนาจเกินหน้าที่” ของทักษิณ เขาไม่ได้พูดถึงการเอารัดเอาเปรียบประชาชนธรรมดาที่มีมานาน หรือการที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมเท่าที่ควร หรือการโกงกินของนักการเมืองทุกพรรค หรือของทหารและคนในวัง เขาหมายถึงปัญหาเฉพาะหน้าของพวกอภิสิทธิ์ชนที่เริ่มถูกเขี่ยออกจากผลประโยชน์ในคอกหมูมากกว่า นี่คือสาเหตุที่เขาทำรัฐประหาร แล้วแก้รัฐธรรมนูญจากที่เคยเป็น เพื่อลดอำนาจของรัฐบาลและพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมาก เขาอยากหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุค “ประชาธิปไตยคอกหมู” ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๓๙ นั้นเอง

 

ความไม่พอใจของแนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม ที่ก่อตัวขึ้นมาเพื่อทำลายรัฐบาลไทยรักไทย ไม่สามารถนำไปสู่การคัดค้าน ไทยรักไทย ด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นสำเร็จ พวกนี้จะต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาที่เสนอประโยชน์กับคนจนมากกว่าที่ ไทยรักไทย เคยเสนออีก คือต้องเสนอให้เพิ่มสวัสดิการและเร่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ ด้วยการเพิ่มงบประมาณรัฐและการเก็บภาษีจากคนรวย นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เกลียดชังอย่างถึงที่สุด ดังนั้นเขาจึงหันมาเกลียดชังอำนาจการลงคะแนนเสียงของพลเมืองส่วนใหญ่ และตัดสินใจว่ามีทางเดียวเท่านั้นที่จะจัดการกับรัฐบาล ไทยรักไทย คือต้องทำรัฐประหาร

 

แต่รัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่ทหารจะทำได้ง่ายๆ เพราะสังคมไทยพัฒนาไปไกลและมีกลุ่มต่างๆ ที่ตื่นตัวและมีพลังในสังคมมากมาย การทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา จะต้องอาศัยการทำแนวร่วมกับคนชั้นกลาง นักวิชาการ“เสรีนิยมรถถัง” และพวกเอ็นจีโอ ที่อ้างว่าเป็น “ภาคประชาชน” นี่คือสาเหตุสำคัญที่การทำรัฐประหาร ๑๙ กันยาต้องอาศัยการร่วมมือกับขบวนการฝ่ายขวา “ฟาสซิสต์” ที่เรียกตัวเองว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ซึ่งประกอบไปด้วยนักธุรกิจสื่อคลั่งเจ้า นักเคลื่อนไหวพุทธแบบขวาตกขอบ ผู้นำแรงงาน และนักเอ็นจีโอ คือ สนธิ ลิ้มทองกุล, จำลอง ศรีเมือง, สมศักดิ์ โกศัยสุข, พิภพ ธงไชย และ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

 

รัฐบาล ไทยรักไทย และนายกทักษิณไม่ได้เป็นเทวดา รัฐบาลนี้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในสงครามปราบยาเสพติด ที่คาดว่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ยังไม่ได้ขึ้นศาล ถูกเจ้าหน้าที่รัฐฆ่าตายเกือบสามพันคน  นอกจากนี้การฆ่าประชาชนมือเปล่าที่ตากใบ และ กรือแซะ ในภาคใต้ เป็นการก่ออาชญากรรมต่อประชาชนเช่นกัน

 

นอกจากนี้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดของไทยรักไทย เช่นการเซ็นสัญญาค้าเสรีที่เพิ่มราคายาสำหรับประชาชน เป็นการทำลายประโยชน์ของระบบสามสิบบาทรักษาทุกโรค และเพิ่มภาระให้รัฐเพื่อผลประโยชน์บริษัทยาข้ามชาติ และการขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน เป็นนโยบายที่ขัดกับประโยชน์คนจน เพราะทำให้ประชาชนตกงาน คุณภาพการทำงานแย่ลง และเปลี่ยนรัฐวิสาหกิจไปเป็นบริษัทเอกชนที่สนใจแต่กำไรแทนการบริการและพัฒนาสังคม

19 กย

     อย่างไรก็ตาม ในระบบประชาธิปไตย ถ้าเรามีรัฐบาลที่เราไม่เห็นด้วย เราจะต้องใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการคัดค้าน ผู้เขียนไม่เคยลงคะแนนเสียงให้ ไทยรักไทย (หรือพรรคฝ่ายค้าน) และผู้เขียนเคยประท้วงและคัดค้านรัฐบาลทักษิณในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้กลไกตลาดเสรี แต่การเปลี่ยนรัฐบาลตามกติกาประชาธิปไตยต้องไม่อาศัยรัฐประหารโดยกลุ่มคนที่ไม่เคารพประชาธิปไตย ไม่เคยสนใจสิทธิมนุษยชน และไม่เคยสนใจผลประโยชน์ของคนจน

Ji

 

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/24tv63k

BookCover1

มวลชน เครือข่าย และการเมืองภาพรวม กับการประท้วง

ใจ อึ๊งภากรณ์

สัปดาห์นี้เราเห็นการประท้วงรัฐบาลเผด็จการโดยคนสองกลุ่ม ซึ่งแน่นอนเป็นเรื่องดีน่าชื่นชม

ดังนั้น เพื่อการเคลื่อนไหวในอนาคต หลังจากการประเมินผลของการประท้วง เราควรจะมีข้อสรุปอะไรบ้าง?

กลุ่มแรกที่อยากจะพูดถึงคือ “กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย” ซึ่งประกอบไปด้วยแกนนำคนหนุ่มสาวที่มีประวัติในการค้านเผด็จการด้วยความกล้าหาญในรอบสองสามปีที่ผ่านมา จากภาพต่างๆ ของการประท้วงเมื่อวันเสาร์ก็จะเห็นว่ามีคนออกมาร่วมประมาณร้อยกว่าคน ถ้าไม่นับนักข่าว ซึ่งเป็นเรื่องดี

ผมมีข้อเสนอที่อยากจะฝากคนหนุ่มสาวเหล่านี้ และคนอื่น สำหรับการจัดกิจกรรมในอนาคต คือการเคลื่อนไหวที่จะมีพลัง ไม่สามารถจัดได้ ถ้าเราเพียงแต่ประกาศชวนเชิญประชาชนมาร่วมผ่านสื่อมวลชนหรือโซเชียลมีเดีย ถ้าในอนาคตจะมีการจัดให้มีพลังมากขึ้น คือมีคนมาร่วมจำนวนมาก ควรจะมีการจงใจสร้างเครือข่ายและแนวร่วมอย่างจริงจังกับกลุ่มคนที่มีความคิดคล้ายๆ กัน เพื่อการขับไล่เผด็จการ พูดง่ายๆ ต้องมีการใช้เวลาเพื่อไปคุยกับคนที่มีประวัติในการค้านเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นอดีตคนเสื้อแดง กลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน หรือกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันที่หลากหลาย และควรมีการนัดคุยกันหลายรอบ เพื่อร่วมกันตกลงว่าจะเคลื่อนไหวด้วยกันอย่างไร และเมื่อไร นอกจากนี้ตัวแทนของทุกกลุ่มที่ร่วมกันควรจะถือว่าเป็นแกนนำของแนวร่วมใหม่อันนี้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “การจัดตั้ง”

แน่นอนการทำงานแนวร่วมแบบนี้ต้องมีการประนีประนอมกันในการวางแผนแนวปฏิบัติ แต่นั้นไม่ได้แปลว่าจะมีมุมมองในหลายแง่ของการเมืองที่ต่างกันไม่ได้ จริงๆ แล้วการมีหลากหลายมุมมองทางการเมืองเป็นเรื่องดี เพราะจะนำไปสู่การถกเถียงเรื่องการเมืองภาพกว้าง ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการเมืองแบบนี้และช่วยให้ทุกคนมีความคิดที่ชัดเจนมากขึ้น ตัวอย่างอันหนึ่งคือเรื่องการเลือกตั้ง การเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่ไม่ถูกเลื่อนออกไปเป็นเรื่องดี แต่เราต้องพูดกันอีกว่าเราต้องการการเลือกตั้งแบบไหน? เราต้องการ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ของทหารหรือไม่? ฯลฯ

เราไม่ควรลืมว่าประชาธิปไตย ควรจะรวมไปถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธที่จะมีค่าแรงที่เลี้ยงชีพได้ สิทธิของทุกเพศรวมถึงเกย์ ทอม ดี้ กะเทย ฯลฯ สิทธิของชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิในการนับถือศาสนาตามที่ปัจเจกเลือกที่จะนับถือ หรือสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลและการศึกษาคุณภาพดีอย่างถ้วนหน้า

ฝังอยู่ในข้อเสนอของการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของผม คือความสำคัญของการสร้างพรรคของคนชั้นล่าง ซึ่งผมเขียนเรื่องนี้บ่อย หาอ่านได้ที่นี่ http://bit.ly/2nfpcVA

แต่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่เราควรจะมี จะต้องไม่จำกัดไว้ในแวดวงคนที่อยากสร้างพรรคเท่านั้น ต้องกว้างกว่านั้นอีกมาก

กลุ่มเคลือ่นไหวที่สองที่ผมอยากจะพูดถึงคือ กลุ่ม “เดินมิตรภาพ” ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอ

คำถามแรกที่อยากจะถามคือ ทำไม“กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย” กับกลุ่ม “เดินมิตรภาพ” ไม่ออกมาร่วมกันในวันเดียวกัน มันยากนักหรือ?

หลายคนที่ต้องการประชาธิปไตยอาจแค้นจุดยืนของเอ็นจีโอในอดีตที่โบกมือเรียกทหาร แต่ถ้าเราจะเอาความแค้นแบบนี้นำการทำงานทางการเมือง มันจะกลายเป็นเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวก ที่ผมพูดแบบนี้ไม่ใช่ว่าผมจะเสนอให้เสื้อแดงกับเสื้อเหลืองจับมือกัน อย่างที่นักวิชาการบางคนเสนอ ไม่ใช่เลย ผมมองว่าคนที่รักประชาธิปไตยร่วมมือกับคนที่ทำลายประชาธิปไตยไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าคนกลุ่มหลังไม่เปลี่ยนใจและสำนึกความผิด ที่สำคัญคือ “สลิ่ม”ชนชั้นกลาง กับเอ็นจีโอไม่เหมือนกัน

แน่นอนในอดีต คนอย่าง นิมิตร์ เทียนอุดม จากเครือข่ายเอดส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่ม “เดินมิตรภาพ” ได้เคยขึ้นเวทีพันธมิตรฯ และนิมิตร์ ได้พูดจากเวทีนี้ในทำนองดูถูกคนจนว่า ผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลทักษิณ “ขาดข้อมูล”  ซึ่งเป็นทัศนะที่ให้ความชอบธรรมกับรัฐประหาร ที่แย่มากๆ คือ มีผู้นำ เอ็นจีโอ หลายคนเคยเสนอชื่อตนเองให้ทหาร หลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา เพื่อหวังว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว.  ตัวอย่างเช่น เรวดี ประเสริฐเจริญสุข, นิมิตร์ เทียนอุดม, บรรจง นะแส (เครือข่ายประมงพื้นบ้าน) วิฑูรย์ เพิ่ม พงศาเจริญ (สิ่งแวดล้อม) หรือ ศยามล ไกยูรวงศ์ (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) เป็นต้น

แต่การที่เอ็นจีโอในช่วงนี้ออกมาค้านการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ ก็น่าจะเป็นโอกาสที่เขาจะทบทวนจุดยืนในอดีต ทั้งๆ ที่ยังไม่มีใครออกมาพูดในที่สาธารณะอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม วิธีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “เดินมิตรภาพ” มีประเด็นที่ชวนให้เราตั้งคำถามได้คือ

  1. รูปแบบการเดินไกลที่ใช้เวลาหลายวันเหมาะกับการที่คนธรรมดา ที่ต้องไปทำงาน จะมาร่วมได้ไหม? คือถ้าเราจะสร้างมวลชนที่จะออกมาเคลื่อนไหวจำนวนมาก เราต้องมีรูปแบบกิจกรรมอื่น และคำถามที่สำคัญคือพวก “เดินมิตรภาพ” มีความตั้งใจจะสร้างขบวนการมวลชนหรือไม่? หรืออยากจะเคลื่อนไหวแบบเดิมๆ ต่อไป
  2. พวกเอ็นจีโอชอบพูดถึง “ชาวบ้าน” และการเดินยาวครั้งนี้อ้างว่าจัดเพื่อคุยกับชาวบ้าน แต่ชาวบ้านคือใคร? เขาเป็นชาวบ้านที่ลงคะแนนให้พรรคของทักษิณด้วยปัญญาและเหตุผลหรือไม่? นอกจากนี้เส้นทางเดินมิตรภาพ ผ่านย่านอุตสาหกรรมที่มีคนงานกรรมาชีพมากมาย ทำไมไม่มีการนัดคุยกับมวลชนสหภาพแรงงานตามเส้นทางอย่างจริงจัง?
  3. ทำไมการเดินมิตรภาพ ไม่กล้าพูดตรงๆ เรื่องการค้านเผด็จการทหาร เพราะตราบใดที่เราไม่สามารถล้มเผด็จการและกำจัดมรดกของเผด็จการ เช่นรัฐธรรมนูญทหาร หรือยุทธศาสตร์แห่งชาติ เราไม่มีวันได้สิทธิเสรีภาพอื่นๆ นอกจากนี้มีการพูดถึงกฏหมาย 112 ที่ปิดปากประชาชนหรือไม่? หรือในที่สุดมีแต่การปฏิเสธการเมืองภาพกว้างตามแนวเดิมๆ ?

สรุปแล้วผมขอเสนอว่านักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพ ควรพิจารณาเรื่องการสร้างมวลชน การขยายเครือข่ายการทำงานไปสู่กลุ่มอื่นๆ ที่เราไม่เคยร่วมด้วยในอดีต และการขยายประเด็นการเมืองไปสู่การเมืองภาพกว้าง

ทำไมคนที่เคลื่อนไหวในประเด็นเดียวไม่มีวันปลดแอกสังคมได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

สังคมไทยเต็มไปด้วยกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวแบบประเด็นเดียวมาตั้งแต่ยุคเอ็นจีโอ มีคนที่เคลื่อนไหวเรียกร้องผลประโยชน์ของแรงงาน มีกลุ่มที่รณรงค์เรื่องสิทธิสตรี มีกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนหรือคัดค้านความก้าวร้าวของกลุ่มทุนใหญ่ในพื้นที่ชนบท และมีคนที่เคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย ฯลฯ….

การรณรงค์ในประเด็นที่เอ่ยถึงนี้มีประโยชน์และก้าวหน้าทั้งนั้น แต่มีผลจำกัดมากในการแก้ปัญหาระยะยาว และไม่มีผลเลยในการปลดแอกคนส่วนใหญ่ในสังคมจากการกดขี่ของชนชั้นปกครอง

สาเหตุสำคัญคือ

  1. ประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เราต้องแก้ไข และมีคนพยายามรณรงค์แก้ไข มีต้นกำเนิดจากจุดเดียวกันคือระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น การเคลื่อนไหวแบบแยกส่วนจึงเป็นการเน้นอาการของระบบ แทนที่จะพุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนระบบ ปัญหาต่างๆ จึงเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง
  2. การเคลื่อนไหวแบบแยกประเด็นเป็นการเคลื่อนไหวที่อ่อนแอ และไม่สามารถรวมพลังของคนที่ถูกกดขี่หรือเดือดร้อนทั้งหมดได้
  3. ไม่มีการวิเคราะห์ว่าพลังในการเปลี่ยนสังคมกระจุกอยู่ตรงไหน

ในหลายกรณี คนที่เคลื่อนไหว เช่นพวกเอ็นจีโอ ไม่อยากเปลี่ยนสังคมแต่แรก แค่อยากวิงวอนคนข้างบนที่มีอำนาจ ให้แก้ไขปัญหาเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เช่นพวกที่ไปเรียกร้องอะไรจากรัฐบาลเผด็จการ โดยไม่วิจารณ์รัฐบาลว่าขาดความชอบธรรมเนื่องจากการทำรัฐประหารแต่แรก

ในหลายกรณี คนที่เคลื่อนไหวในประเด็นหนึ่ง อาจไม่อยากสมานฉันท์กับคนที่เคลื่อนไหวในประเด็นอื่น และไม่สนใจหรือไม่เห็นใจคนที่ถูกกดขี่อื่นๆ อีกด้วย ตัวอย่างเช่นคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกันเกลียดเกย์ (อย่างที่อาจารย์ปวินเล่าให้เราฟังเรื่องเสื้อแดงคนหนึ่งที่ออสเตรเลีย) หรือเสื้อแดงบางคนที่เชียงใหม่ หรือการที่เสื้อแดงบางคนในสหรัฐที่สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมพ์ซึ่งเกลียดชังคนผิวดำ คนมุสลิม และสตรี หรือกรณีเอ็นจีโอต่างๆ ที่เคยโบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหารเป็นต้น

หนังสือ “จะทำอะไรดี” ของเลนิน เขียนไว้ในปี 1901 เพื่อวิจารณ์พวกฝ่ายซ้ายที่เน้นแต่ประเด็นปากท้องของชนชั้นกรรมาชีพอย่างคับแคบ เลนินฟันธงว่านักสังคมนิยมจะต้องคัดค้านและเปิดโปงการกดขี่ทุกรูปแบบโดยชนชั้นปกครอง เขาตั้งคำถามว่าการศึกษาทางการเมืองของพรรคสังคมนิยมควรจะเป็นอย่างไร และตอบเองว่าต้องยกตัวอย่างการกดขี่ทุกรูปแบบจากโลกจริงมาพิจารณา และเขาฟันธงอีกว่าจิตสำนึกทางการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพจะไม่เป็นจิตสำนึกทางการเมืองที่แท้จริง ถ้าไม่มีคำตอบต่อการกดขี่ทุกรูปแบบ ไม่ว่าการกดขี่นั้นจะมีผลกับชนชั้นใด

ตัวอย่างรูปธรรมของแนวคิดเลนิน คือท่าทีต่อพลเมืองมุสลิมในรัสเซียซึ่งมีจำนวนไม่น้อย พรรคบอลเชวิคของเลนิน ออกคำประกาศในเดือนพฤศจิกายน 1917 หลังการปฏิวัติสำเร็จ ว่า “ชาวมุสลิมในรัสเซีย ซึ่งมัสยิดและประเพณีต่างๆ ของท่านเคยถูกรัฐทำลาย ตอนนี้ท่านมีสิทธิเสรีภาพทางศาสนาเต็มที่ซึ่งจะถูกละมิดไม่ได้… จงเข้าใจว่าการปฏิวัติกรรมาชีพอันยิ่งใหญ่จะปกป้องสิทธิของท่านเสมอ”

และในเรื่องสิทธิเสรีภาพของชาติเล็กที่เคยถูกรัฐบาลรัสเซียกดขี่ เลนินประกาศว่าเขาพร้อมจะทำ “สงคราม” กับแนวคิดชาตินิยมที่กดขี่คนอื่นตลอด

สาเหตุที่เลนินเสนอว่านักสังคมนิยมจะต้องสนับสนุนและมีส่วนร่วมโดยตรงในการต่อสู้ของผู้ที่ถูกกดขี่ในทุกรูปแบบคือ

  1. มันเป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยพื้นฐาน และการกดขี่ในทุกรูปแบบมีจุดกำเนิดจากระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น และถูกผลิตซ้ำโดยระบบนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้าไม่กำจัดระบบนี้ในที่สุด มนุษย์จะมีเสรีภาพอย่างมั่นคงไม่ได้
  2. พรรคของชนชั้นกรรมาชีพจะต้องคอยรณรงค์ให้กรรมาชีพทั้งหลายมีจุดยืนที่ก้าวหน้าที่สุด เพื่อให้กรรมาชีพมีส่วนสำคัญในการนำการผลักดันให้เกิดการปลดแอกมนุษย์ในทุกรูปแบบ ทั้งนี้เพราะชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นทางเศรษฐกิจที่จะล้มระบบที่เป็นรากฐานการกดขี่ทั้งหลายได้
  3. การที่พรรคสังคมนิยมจะชูประเด็นการกดขี่ หรือประเด็นปัญหาหลากหลายของคนในสังคม เป็นสิ่งที่จะสร้างความสามัคคีในการต่อสู้ระหว่างคนที่มีปัญหาที่แตกต่างกัน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันการปฏิวัติเพื่อปลดแอกมวลมนุษย์

สำหรับประเทศไทย มันแปลว่าเราต้องสร้างพรรคที่สนับสนุนและร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเพื่อสิทธิเสรีภาพของชาวปาตานี ของสตรี ของเกย์เลสเบี้ยนหรือกะเทย ของคนพิการ ของคนยากจนในชนบท ของกรรมาชีพในสหภาพแรงงาน และของชนกลุ่มน้อย ฯลฯ

[บางส่วนของบทความนี้คัดจากหนังสือของ John Molyneux (2017) “Lenin for Today”, Bookmarks]

บัตรทองกับประชาธิปไตยและกลไกตลาด

ใจ อึ๊งภากรณ์

การที่เครือข่ายเพื่อปกป้องบัตรทองและหลักประกันสุขภาพ ออกมาคัดค้านวิธีการปรับแก้กฏหมายว่าด้วยบัตรทองนั้น เป็นเรื่องดี เพราะเราต้องช่วยกันปกป้องหลักประกันสุขภาพจากการที่จะถูกทำลายโดยเผด็จการทหาร แต่มันมีเรื่องที่เราควรเข้าใจมากกว่านั้น

ประเด็นใหญ่คือรัฐบาลและสภาโจรที่มาจากการทำรัฐประหาร ไม่มีสิทธิ์และความชอบธรรมที่จะแก้ไขกฏหมายอะไรเลย รวมถึงกฏหมายที่เกี่ยวกับสุขภาพของพลเมือง นอกจากนี้พลเมืองทุกคนควรจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ในการกำหนดอนาคตของหลักประกันสุขภาพ และในการร่วมบริหารระบบสาธารณสุขอีกด้วย

ส่วนการที่ไอ้ไก่อู ปากหมาของเผด็จการ ออกมาพูดว่า “มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง” นั้น ก็แน่นอนละ เรื่องสาธารณสุขมันเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ และในกรณีนี้เป็นเรื่องการเมืองทหารเผด็จการ ที่เผชิญหน้ากับการเมืองประชาธิปไตยของพลเมือง

แต่บางครั้งกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องหลักประกันสุขภาพ จะ “ลืม” ว่าเรามีรัฐบาลเผด็จการ ยิ่งกว่านั้นบางกลุ่มเคยสนับสนุนการทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกด้วย แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ในยุคนี้ ไม่มีความชอบธรรมแต่อย่างใด เพียงแต่ว่าการเลือกสนใจประเด็นการเมืองแบบแยกส่วน ทำให้การปกป้องหลักประกันสุขภาพทำได้ยากขึ้น พูดง่ายๆ ถ้าเราจะปกป้องระบบบัตรทอง และทำให้มันดีขึ้น เราต้องร่วมกันขับไล่เผด็จการทหารด้วย ซึ่งรวมไปถึงการวิจารณ์ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบที่ทหารออกแบบมาในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

การที่องค์กรเอ็นจีโอและองค์กรที่เรียกตัวเองว่า “ภาคประชาชน” มองปัญหาแยกส่วนมาตลอด ทำให้เขาไม่สนใจกระบวนการประชาธิปไตยเท่าที่ควร เพราะเขาอ้างตัวว่าเป็น “ภาคประชาชน” แต่ไม่มีการเลือกตั้งภายในองค์กรแต่อย่างใด และไม่มีการพยายามสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่จะเป็น “ตัวแทน” ของพลเมืองจำนวนมากอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ไม่มีคนอื่นเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ การที่เขาออกมาก็ดีกว่าไม่ทำอะไร

แต่การไม่สนใจระบบ “ประชาธิปไตยแบบผู้แทน” ของพวกนี้ แปลว่าเขาจะมองข้ามวิธีที่จะบริหารการบริการสังคมที่มีการมีส่วนร่วมจริงๆ เพราะถ้าระบบสาธารณสุข หรือระบบการศึกษาจะมีการบริหารแบบประชาธิปไตย นอกจากเราจะต้องมีรัฐบาลและรัฐมนตรีสาธารณสุขและการศึกษาที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรีแล้ว ในระดับจังหวัดและชุมชน พลเมืองจะต้องมีสิทธิ์เลือกผู้แทนเข้าไปบริหารโรงพยาบาลและโรงเรียนอีกด้วย ที่สำคัญคือกระบวนการประชาธิปไตยแบบนี้ที่เน้นการเลือกตั้ง ต่างโดยสิ้นเชิงกับการที่องค์กร “ภาคประชาชน” จะเสนอตัวเองเข้าไปมีส่วนในการบริหารโดยไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง

การที่องค์กรเอ็นจีโอและ “ภาคประชาชน” มองปัญหาแบบแยกส่วนและภูมิใจที่จะไม่สนใจทฤษฏีเศรษฐกิจหรือการเมืองแต่อย่างใด แปลว่ามีการรับแนวคิดการบริหารระบบสาธารณสุขของนายทุนมาเต็มๆ แนวคิดนี้ที่เรียกว่าแนวคิด “กลไกตลาดเสรี” จะพยายามนำระบบตลาดเข้ามาในการบริการสาธารณะ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการเสนอว่า “ต้อง” มีการแยกฝ่ายที่รับบริการออกจากฝ่ายที่ให้การบริการ ซึ่งในภาษาเศรษฐกิจเรียกว่าการแยกผู้ซื้อบริการออกจากผู้ขายบริการ (Purchaser-Provider Separation) พูดง่ายๆ แนวคิดนี้มองว่ากระทรวงสาธารณสุขและสาขาย่อยในท้องถิ่นต่างๆ ของกระทรวง ไม่ควรคุมทั้งโรงพยาบาลและระบบบัตรทอง

ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือคำพูดของ ธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ป่วย ที่เสนอว่าเอกชนควรมีส่วนร่วมในการบริการสาธารณสุข [ดู http://bit.ly/2sE0FxA ] อันนี้เป็นความคิดแปรรูป Privatisation ซึ่งนักการเมืองและนักวิชาการฝ่ายขวาทั่วโลกนิยมกัน มันตรงข้ามกับผลประโยชน์คนจนหรือคนธรรมดา มันเข้ากับแนวคิดพวกสลิ่มที่เกลียดชังการบริการประชาชนโดยรัฐ มันสนับสนุนให้กลุ่มทุนเข้ามาได้ประโยชน์จากคนไข้ ผ่านเงินภาษีที่รัฐเก็บจากประชาชน โดยที่เอกชนจะเลือกให้บริการที่สร้างกำไรเท่านั้น และปล่อยให้รัฐแบกภาระกับการบริการอื่นๆ

ระบบสาธารณสุขไม่ควรจะเป็นเรื่องซื้อขาย ไม่ควรจะเป็นแหล่งกำไรให้กลุ่มทุน มันควรจะเป็นสิทธิถ้วนหน้าของพลเมือง

ตั้งแต่ระบบ ๓๐ บาทรักษาทุกโรคถูกนำมาใช้ในสมัยรัฐบาลไทยรักไทย มันเป็นระบบที่มี “ตลาดภายใน” มาตั้งแต่แรก คือกองทุนบัตรทองจะ “ซื้อ” บริการจากโรงพยาบาลต่างๆ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนที่แสวงหากำไร แทนที่จะนำโรงพยาบาลทุกแห่งมาเป็นของรัฐ  แนวคิดนี้ลอกแบบมาจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองฝ่ายขวาในตะวันตก หรือที่เรียกกันว่าแนวคิดเสรีนิยมกลไกตลาด มันเอื้อกับการที่บริษัทเอกชนจะเข้ามามีบทบาทในระบบสาธารณสุขเพื่อหวังกำไร มันเอื้อกับการนำเข้าระบบคิดค่ารักษาพยาบาล ที่เขาเรียกกันว่าระบบ “ร่วมจ่าย” เพื่อให้ดูดี แต่มันเป็นระบบที่หมุนนาฬิกากลับจากการบริการถ้วนหน้าอย่างเท่าเทียมที่อาศัยงบประมาณจากการเก็บภาษีเท่านั้น มันเอื้อกับการสร้างระบบสาธารณสุขที่มีความแตกต่างกันสำหรับคนจนและคนรวย

แต่ในไทยผู้ที่อ้างว่าเป็น “ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ” จะไม่กล้าบอกตรงๆว่าเขาสังกัดแนวคิดแบบกลไกตลาดเสรีนิยม หรือแนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย มันมีการสร้างภาพโกหกว่าแนวคิดเศรษฐศาสตร์มีแนวเดียว คือแนวของฝ่ายขวา

ระบบสาธารณสุขที่ไม่มีตลาดภายใน เป็นระบบตามแนวสังคมนิยมประชาธิปไตย อย่างเช่นระบบสาธารณสุขของรัฐสวัสดิการอังกฤษตอนเริ่มแรก ก่อนที่รัฐบาลแทชเชอร์จะทำลายมัน ผู้บริหารโรงพยาบาล และหมอประจำครอบครัว จะคาดการว่าถ้าจะบริการประชาชนในพื้นที่ได้เต็มที่ จะต้องมีงบประมาณเท่าไร และจะมีการปรับตามความเป็นจริงเสมอ โรงพยาบาลต่างๆ และหมอประจำครอบครัว จะอยู่ภายใต้กรรมการสาธารณสุขท้องถิ่นที่มีผู้แทนจากการเลือกตั้ง และผู้แทนจากรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขจะคำนวนงบประมาณที่ส่วนต่างๆ ควรจะได้ทั่วประเทศ มันไม่มีการซื้อขายบริการแต่อย่างใด มีแต่การเน้นความต้องการของประชาชนเท่านั้น

การนำกลไกตลาดเข้ามา มีผลในการจ้างนักบัญชีและผู้บริหารจำนวนมาก แทนที่จะใช้เงินตรงนั้นเพื่อจ้างหมอและพยาบาลหรือซื้อยาที่จำเป็น มันมีผลทำให้บริษัทเอกชนเข้ามาแสวงหากำไร และมันมีผลในการชู “เงิน” และ “ตลาด” เหนือความต้องการแท้จริงของประชาชนทุกคนไม่ว่าจะจนหรือรวย และพวกที่สนับสนุนแนวคิดฝ่ายขวาแบนี้มักจะดูถูกประชาชนว่าไปหาหมอหรือเข้าโรงพยาบาลมากเกินความจำเป็น

มันเป็นเรื่องดีที่องค์กรภาคประชาชนคัดค้านระบบร่วมจ่าย แต่เขาควรจะไปไกลกว่านั้น เพื่อรณรงค์ให้มีประชาธิปไตยและการบริการที่ไม่อิงกลไกตลาด ในระบบสาธารณสุขไทย

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2rOzlLy (โดยเฉพาะหน้า 18)

ทำไมฝ่ายซ้ายไทยถึงได้กลายเป็นพวกขวา?

ใจ อึ๊งภากรณ์

“ทำไมฝ่ายซ้ายไทยถึงได้กลายเป็นพวกขวา?” เป็นคำถามที่บางคนตั้งขึ้นมาในยุคนี้ แต่ก่อนที่จะขอตอบ ต้องอธิบายว่ามันเป็นเพียงบางคนเท่านั้น เพราะอดีตฝ่ายซ้ายไทยจำนวนมากเคยเข้าร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเสื้อแดง ไม่ได้เป็นฝ่ายขวา

“พวกขวา” ในที่นี้ ผู้เขียนจะขอนิยามว่าหมายถึงพวกที่โบกมือเรียกทหารให้ทำรัฐประหารเพื่อทำลายประชาธิปไตย

ในประการแรก คนที่ตั้งคำถามแบบนี้มักจะตกอกตกใจด้วยความซื่อบื้อเมื่อเห็นคนเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นมาร์คซิสต์หรือพุทธ คุณควรจะรู้ว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะ “ต้อง” เปลี่ยนเสมอ แต่การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ ในมุมกลับมีบางคนที่ซื่อบื้อคิดว่าถ้าในวัยหนุ่มสาวเป็นซ้าย พออายุมากขึ้นต้องเป็นขวา แต่ไม่พูดว่าถ้าในวัยหนุ่มสาวเป็นขวาจะต้องเป็นซ้ายเวลาอายุมากขึ้น!! สำหรับผู้เขียนคนนี้และเพื่อนมิตรสหายในไทยและต่างประเทศที่อายุพอๆ กัน คือย่างเข้าหกสิบกว่า ขอยืนยันว่าเป็นซ้ายมาตั้งแต่ ๖ ตุลา และทุกวันนี้ยังซ้ายอยู่ด้วยความภูมิใจ

มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง

คาร์ล มาร์คซ์ ในวัยหนุ่มเป็นแค่เสรีชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย แต่พออายุมากขึ้นก็จะเอียงไปทางซ้ายมากขึ้นจนถึงวันตาย มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง เริ่มต้นเป็นผู้เรียกร้องความเท่าเทียมให้กับคนผิวดำในสหรัฐ แต่พออายุมากขึ้น ก่อนที่จะถูกยิงตาย เริ่มพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสำหรับทุกคน และเริ่มพูดถึงจักรวรรดินิยม คือขยับไปทางซ้ายนั้นเอง

ในประการที่สอง อดีตฝ่ายซ้ายไทย หรือพวกที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทสไทย (พคท.) เป็นคนที่เคยคิดว่าลัทธิ “สตาลิน-เหมา” ของพคท. คือ “มาร์คซิสต์” หรือ”สังคมนิยม” แต่ลัทธิ “สตาลิน-เหมา” เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการปลดแอกมนุษย์ของนักมาร์คซิสต์ เพราะสำหรับชาวมาร์คซิสต์ การปลดแอกมนุษย์ต้องมาจากการกระทำของพลเมืองธรรมดาเองในระดับรากหญ้า โดยเฉพาะกรรมาชีพ ไม่ใช่ทำโดยคนกลุ่มน้อย แต่พคท. และพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก หลังจากที่สตาลินทำลายการปฏิวัติรัสเซียและขึ้นมามีอำนาจ กลายเป็นพรรคที่เป็นเผด็จการเหนือชนชั้นกรรมาชีพ และทุกวันนี้เราก็ยังเห็นพรรคเผด็จการเหล่านี้ปกครองประเทศจีน เวียดนาม และลาว

ดังนั้นการที่อดีตฝ่ายซ้ายไทยจะไม่เกลียดชังเผด็จการมากนัก หรือเชียร์เผด็จการทหาร ก็อาจไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงใหญ่เกินไปสำหรับบางคน

แต่เราต้องอธิบายเพิ่ม เพราะแค่นี้ไม่พอ

ในประการที่สาม อดีตฝ่ายซ้ายไทยจำนวนมากมีอาการ “อกหัก” เมื่อ พคท. และระบบเผด็จการ “คอมมิวนิสต์” ทั่วโลกล่มสลายเมื่อสามสิบปีก่อน ความผิดหวังนี้ย่อมเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนทบทวนความคิด และเลือกเดินในเส้นทางใหม่ที่แตกต่างกันไป

บางคนไปปลื้มกับไทยรักไทยและทักษิณ เพราะมองว่านักการเมืองทุนนิยมที่มีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน และลงสมัครรับเลือกตั้ง คือทางออกที่ดีกว่าการจับอาวุธเข้าป่า

บางคนคิดจะหันหลังให้กับรัฐ ปฏิเสธการพึ่งพารัฐ หรือการโค่นรัฐ และพวกนี้ก็แปรตัวไปเป็นเอ็นจีโอ เมื่อเวลาผ่านไปก็กินเงินเดือนสูงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นคนชั้นกลาง ภายในเอ็นจีโอก็ไม่มีประชาธิปไตย มีระบบอาวุโส ไม่ต่างจาก พคท. และไปๆ มาๆ พวกนี้เริ่มมีนิสัยแบบพี่เลี้ยง คือสอนชาวบ้านจากจุดยืนชนชั้นกลางของเขา และทุกกลุ่มหันมาพึ่งพาทุนจากรัฐเพื่อทำกิจกรรม เช่นจาก “สสส” เป็นต้น ต่อมาเอ็นจีโอ ไทยจำนวนมากก็เกิดความไม่พอใจกับรัฐบาลทักษิณ เพราะนโยบายของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากกว่ากิจกรรมของเอ็นจีโอในการพัฒนาคนจน และรัฐบาลทักษิณชอบข่มขู่เอ็นจีโออีกด้วย เอ็นจีโอจึงกลัวว่าเขาจะไม่มีอนาคตในการทำกิจกรรม สภาพแบบนั้นทำให้เขาเปลี่ยนความคิดอีก คือหันไปดูถูกคนจนว่า “เข้าไม่ถึงข้อมูล” หรือ “โง่” เพราะไป “หลงเชื่อ” ทักษิณ ในขณะที่ข้อมูลในโลกจริงพิสูจน์ว่าคนที่เลือกพรรคไทยรักไทยไม่เคยโง่ และไม่เคยขาดข้อมูลแต่อย่างใด ในที่สุดพวกนี้ก็กลายเป็นสลิ่ม

ในประการที่สี่ อดีตฝ่ายซ้ายบางคนได้ดิบได้ดี กลายเป็นนักวิชาการหรือมีอาชีพแบบชนชั้นกลาง และหันหลังให้กับความฝันว่าจะเปลี่ยนสังคมให้มีความยุติธรรมมากขึ้น พวกนี้เริ่มสบายในการเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกลางและเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ในที่สุดก็เริ่มมีทัศนคติที่ดูถูกคนจน และคิดว่าคนจนควรจะเจียมตัว จริงๆ แล้วเขาอาจมีทัศนคติแบบนี้มาตั้งแต่อยู่กับ พคท. ก็ได้ เพราะ พคท. เน้นการ “สอน” ชาวบ้านและนักศึกษาในลักษณะ “บนลงล่าง” และเมื่อใครเถียงด้วยก็จะด่าว่า “ไม่เข้าใจวิภาษวิธี” หรืออะไรแบบนั้น เพราะพรรคและ “กองทัพประชาชน” จะปลดแอกพลเมือง ไม่ใช่ว่าพลเมืองจะปลดแอกตนเอง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ฝ่ายซ้ายไทย หรืออดีตฝ่ายซ้ายไทย จำนวนมาก ก็ยังเป็นซ้าย หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้เป็นขวา

โรคเรื้อรังแห่งการมองประเด็นปัญหาเดียวแบบแยกส่วน

ใจ อึ๊งภากรณ์

การมองประเด็นปัญหาเดียวแบบแยกส่วน โดยสนใจแต่สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และละเลยภาพรวม เป็นโรคเรื้อรังของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “ภาคประชาชน” ในสังคมไทยมานาน มันนำไปสู่การไม่เข้าใจต้นเหตุของปัญหาและวิธีการที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย ต้องถือว่าเป็นแนวคิดที่นำไปสู่ความ “ปัญญาอ่อนทางการเมือง”[1]

วิธีคิดแบบนี้มีผลทำให้ เอ็นจีโอ และหลายองค์กรณ์ที่ใกล้ชิดกับเอ็นจีโอ ไม่เข้าใจว่าการสนับสนุนหรืออย่างน้อยการยอมรับรัฐประหาร นำไปสู่การเพิ่มปัญหาโดยรวมในสังคม

ตัวอย่างอันหนึ่งคือจุดยืนของบางกลุ่มที่เคยออกมาต่อต้านร่าง “รัฐธรรมนูญ” ของทหารโจร โดยเน้นแต่ปัญหาที่เชื่อว่าใกล้ตัวเองเท่านั้น

ในวันกรรมาชีพสากลปีที่แล้ว องค์กรที่เรียกตัวเองว่า “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ออกมาเสนอ 8 เหตุผลที่กรรมาชีพควรคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ โดยเน้นแต่เรื่องปากท้องสำหรับกรรมาชีพ และที่แย่กว่านั้นคือไม่ได้เสนอเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปากท้องทั้งหมดด้วย มันเป็นการบิดเบือนความจริงในภาพรวม ดูถูกกรรมาชีพ ว่าโง่เขลาไม่สนใจปัญหาภาพกว้างในสังคม และเป็นการมองว่ากรรมาชีพไม่มีวุฒิภาวะที่จะเข้าใจการเมืองภาพกว้างได้

ในวันแรงงานสากล “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ควรจะเสนอเหตุผลในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยผสมเรื่องปากท้องและปัญหาโดยรวมสำหรับพลเมืองทุกคนในสังคม เช่นควรจะเน้นเรื่องการต่ออายุยืดเวลาของเผด็จการ การทำลายอำนาจประชาชนในการเลือกรัฐบาล การที่เผด็จการคัดค้านการใช้งบประมาณเพื่อประโยชน์คนจน แล้วหลังจากนั้นควรลงมาพูดรายละเอียดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ สิทธิในการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน และการทำลายระบบบัตรทองกับการศึกษาฟรี นอกกจากนี้ควรพูดถึงผลกระทบของร่างรัฐธรรมนูญต่อศาสนา และเรื่องอื่นๆ อีกด้วย เช่นปัญหาที่ทหารก่อขึ้นมาในปาตานี เพราะการเสนอแบบนั้นเป็นการเสนอที่จะนำไปสู่การพัฒนาความเข้าใจทางการเมือง โดยการโยงภาพกว้างกับรายละเอียดประเด็นปัญหาปากท้อง

Untitled

ในขบวนการกรรมาชีพไทย มีหลายกลุ่มที่เข้าใจประเด็นปัญหาภาพรวมของสังคม และพยายามให้การศึกษาทางการเมืองกับเพื่อนๆ กรรมาชีพในเรื่องการเมืองภาพกว้าง กลุ่มเหล่านี้คัดค้านเผด็จการมานาน และมีส่วนร่วมในขบวนการประชาธิปไตย

แต่แถลงการณ์ของ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ละเลยกลุ่มแรงงานที่ก้าวหน้ามากเกินไป เพื่อวางตัวเสมอกับจุดยืนของพวกที่ล้าหลัง เช่นพวกนักสหภาพแรงงานที่จงใจไม่สนใจการเมือง โดยใช้สูตร “ปัญหาประเด็นเดียว” เดิมๆ เก่าๆ ที่ล้มเหลวจากคนที่เรียกตัวเองว่า “ภาคประชาชน” มันไม่นำไปสู่การขยับความคิด พูดง่ายๆ ในเรื่องนี้เขาควรจะเรียกตัวเองว่า “ขบวนการประชาธิปไตยเก่า” มันเป็นสูตรที่ เอ็นจีโอ ใช้มานาน คือมองว่าคนจนเป็นเหยื่อ และไปเน้นทำงานกับเหยื่อ แทนที่จะมองว่าคนจนปลดแอกตนเองได้และเน้นทำงานกับคนที่พร้อมจะสู้

ตัวอย่างอื่นๆ ของโรคเรื้อรังแห่งการมองประเด็นปัญหาเดียวแบบแยกส่วน เห็นได้จากแถลงการณ์ต่างๆ ของ คนที่สนใจปัญหาสุขภาพ ที่พูดถึงแต่การตัดสิทธิในการใช้บัตรทองแต่ไม่กล่าวถึงปัญหาการทำลายประชาธิปไตย หรือคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือผังเมือง ที่เอ่ยถึงปัญหาของตนเอง แต่ละเลยภาพกว้างของการที่เผด็จการครองเมือง

building_0224

ในแวดวงวิชาการก็มีแนวคิดคล้ายๆ กัน ดูได้จากการสัมมนาหรือการเขียนบทความ ที่แยกส่วนอ้างว่าพูดหรือเขียนจากมุมมองนักรัฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ หรือนักกฏหมาย แต่การแยกแบบนี้เป็นแนวคิด “อวิชชา”

การนำแต่ละประเด็นมาเรียงเข้าด้วยกัน เหมือนบัญชีหางว่าว ก็ยังไม่พอ และไม่ได้แก้ไขปัญหา เพราะต้องมีการอธิบายว่าแต่ละปัญหาเกี่ยวข้องกันอย่างไร และเกี่ยวข้องกับภาพกว้างของระบบเศรษฐศาสตร์การเมืองและสังคมอย่างไรอีกด้วย

ปัญหาเรื่องนี้ผมและสหายฝ่ายซ้ายอื่นๆ ในไทย พยายามแก้ไขโดยการถกเถียงกับ เอ็นจีโอ โดยเฉพาะในงานสมัชชาสังคมไทยที่จัดที่ธรรมศาสตร์ในปี ๒๕๔๙ แต่ เอ็นจีโอ ส่วนใหญ่ไม่สนใจ ต้องการพูดคุยแต่ในประเด็นเดียวของตนเองต่อไป สาเหตุหนึ่งก็เพราะองค์กรเหล่านั้นเน้นการขอทุนภายใต้ปัญหาประเด็นเดียว

ต้นกำเนิดของแนวคิดแบบมองประเด็นปัญหาเดียวแบบแยกส่วน มาจากยุครุ่งเรืองของ เอ็นจีโอ และวิธีคิด “อนาธิปไตย” กับ “หลังสมัยใหม่” หรือ “โพสธโมเดิน” ซึ่งเกิดขึ้นหลังการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แนวสตาลินทั่วโลก เพราะนักเคลื่อนไหวหันหลังให้กับทฤษฏีที่พยายามอธิบายปัญหาภาพรวมของสังคม ที่เขาเรียกว่า “มหาวาทกรรม” พวกนี้หันหลังให้กับความพยายามที่จะล้มรัฐเผด็จการอีกด้วย และเขาเปลี่ยนไปเป็นนักเคลื่อนไหวประเด็นเดียวที่รับทุนมาเคลื่อนไหว และพร้อมจะล็อบบี้หรือเข้าไปคุยกับผู้มีอำนาจ ไม่ว่าผู้มีอำนาจนั้นจะดำรงตำแหน่งจากการเลือกตั้งหรือจากการทำรัฐประหาร ไม่สนใจแนวการเมืองของผู้มีอำนาจด้วย มันเป็นการปฏิเสธการเมืองและทฤษฏีการเมืองทั้งหมดไปเลย และมันเป็นแนวการทำงานที่อ่อนแอ

สรุปแล้วมันเป็นแนวคิดที่เชิดชูความโง่เขลาปัญญาอ่อนทางการเมือง เพราะจงใจไม่สนใจที่จะเข้าใจทฤษฏีการเมืองเลย แต่ที่สำคัญพอๆ กันคือ มันทำให้เราสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่จะล้มเผด็จการยากขึ้น

ผลที่เห็นชัดในรอบสิบปีที่ผ่านมาคือ เอ็นจีโอ ส่วนใหญ่ไปจับมือกับพวกเสื้อเหลือง คือกลุ่มคนที่ล้าหลังที่สุดในสังคมและพวกที่ต้องการปกป้องอภิสิทธิ์ของคนรวย เพื่อไล่ทักษิณ หลายกลุ่มสนับสนุนการทำรัฐประหารและยังมีบางกลุ่มที่สนับสนุนม็อบสุเทพอีกด้วย

ล่าสุดเอ็นจีโอบางส่วนก็ไปจับมือกับจอมเผด็จการประยุทธ์ เพื่อจัดกิจกรรมเรื่อง “ประชาสังคม และประชาธิปไตย” ฟังแล้วไม่รู้จะหัวเราะห์หรือร้องไห้

แกนนำนักเคลื่อนไหวแรงงานล้าหลัง จากสหภาพแรงงานรถไฟ ก็เคยไปจับมือกับทหารเผด็จการ แต่ตอนนี้โดนกัดจากทหารโดยนโยบายแปรรูปรถไฟให้เป็นเอกชน เอ็นจีโอหลายกลุ่มก็ผิดหวังอกหักในเรื่องการปฏิรูปการเมืองของทหารด้วย แต่ถ้าเขาสนใจศึกษาการเมืองมาแต่แรก เขาจะไม่อกหักแบบนี้

นักมาร์คซิสต์ใช้แนวคิด “วิภาษวิธี” ที่เริ่มจากจุดยืนที่มองว่า “ความจริงในโลกเข้าใจได้ต่อเมื่อเราดูภาพรวม” คือดูภาพรวมในมิติต่างๆ ของสังคม ภาพรวมในมิติสากลทั่วโลก และภาพรวมในเชิงประวัติศาสตร์อีกด้วย

และสำหรับนักมาร์คซิสต์ การสร้างพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพ ที่รวมคนหนุ่มสาวและนักศึกษาเข้าไปด้วย มีความสำคัญเพราะเป็นการรวมตัวกันของคนที่มีความคิดก้าวหน้าที่สุดในสังคม เพื่อชักชวนให้มวลชนเริ่มมองภาพรวมของปัญหาที่มาจากระบบทุนนิยมและสังคมชนชั้น พูดง่ายๆ พรรคมีหน้าที่ในการสร้างสะพานระหว่างจิตสำนึกแบบ “ปากท้อง” ไปสู่จิตสำนึกในเรื่องภาพรวมทางชนชั้น นั้นคือการเมือง “ใหม่” ในโลกปัจจุบันที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ถ้าเราจะแก้ไขโรคเรื้อรังแห่งการมองประเด็นปัญหาเดียวแบบแยกส่วน และเดินหน้าเพื่อล้มเผด็จการ เราต้องให้ความสำคัญกับการสร้างพรรคการเมือง และการพัฒนาทฤษฏีทางการเมืองที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายเรา

[1] อ่านเพิ่มเรื่องนี้ที่ http://bit.ly/24tv63k หรือในหนังสือ “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย” http://bit.ly/1SGzRiw (อาจต้องเข้าสู่ระบบผ่านเฟสบุ๊คของท่าน)

อ่านเพิ่มเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม http://bit.ly/2cvlmCk