Tag Archives: แนวสตาลิน-เหมา

พคท. ไม่เคยเป็นพรรคมาร์คซิสต์

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นพรรคมวลชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อคนชั้นล่าง ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับพรรคการเมืองในรัฐสภาที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ และยิ่งกว่านั้นนักต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่าเขาสู้เพื่อสังคมใหม่ที่ดีกว่าสังคมที่ดำรงอยู่ เราจึงต้องให้ความเคารพกับเขาในฐานะฝ่ายซ้ายรุ่นพี่ อย่างไรก็ตาม พคท. ไม่เคยเป็นพรรคมาร์คซิสต์ เพราะเป็นพรรคแนวเผด็จการสตาลิน-เหมา จะขออธิบายรายละเอียด

พคท. ต้านการปฏิวัติ ๒๔๗๕

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในไทยเกิดขึ้นในยุคที่สตาลินเคยเรียกว่า “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” การเสนอว่าโลกอยู่ใน “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” แปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ทุกแห่งต้องไม่รวมมือกับใครที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ มีสามวัตถุประสงค์คือ (1) เป็นการปกปิดหรือแก้ตัวจากความผิดพลาดของสตาลินที่เคยเสนอให้คอมมิวนิสต์ไว้ใจ เชียงไกเชค ในจีน หรือพวกผู้นำแรงงานข้าราชการในอังกฤษ (2) เป็นการสร้างบรรยากาศ “ปฏิวัติ” เพื่อรณรงค์ให้คนงานในรัสเซียทำงานเร็วขึ้นด้วยความรักชาติ และ (3) เป็นการตรวจสอบพิสูจน์ว่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนไหนในต่างประเทศพร้อมจะ “หันซ้ายหันขวา” ตามคำสั่งของ สตาลิน เพื่อให้มีการกำจัดคนที่ไม่เชื่อฟัง และในที่สุด สตาลิน สามารถสร้างขบวนการคอมมิวนิสต์สากลให้เป็นเครื่องมือของรัสเซียได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ดังนั้นผู้ปฏิบัติการของ พคท. ได้ผลิตและแจกใบปลิวโจมตีคณะราษฎรว่าเป็น “คณะราษฎรปลอม” ที่ ”ร่วมมือกับรัชกาลที่ ๗” ทั้งๆ ที่ ปรีดี พนมยงค์ เป็นฝ่ายสังคมนิยมปฏิรูปที่ต่อต้านระบบกษัตริย์ (ดูหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ)

คำวิจารณ์ของ พคท. ไม่ต่างจากการวิจารณ์พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมันว่าเป็น “ฟาสซิสต์แดง” ผลคือมันทำให้คอมมิวนิสต์ในไทยโดดเดี่ยวตนเองจากคนก้าวหน้าในคณะราษฎรไประยะหนึ่ง และในเยอรมันมันนำไปสู่ชัยชนะของฮิตเลอร์

ต่อมาในปี ๒๔๘๐ มีการยกเลิกนโยบายซ้ายสุดขั้วของสตาลิน เพื่อหันขวาไปสู่การสร้างแนวร่วมกับรัฐบาลและพรรคนายทุนที่พอจะดูเป็นมิตร โดยไม่เลือกหน้าเลย การหันขวาแบบนี้ก็สอดคล้องกับการที่สตาลินเริ่มกลัวอำนาจของเยอรมันภายใต้ฮิตเลอร์ ดังนั้นในปี ๒๔๘๔ คอมมิวนิสต์ในไทยจึงลงมือสร้างแนวร่วมกับ “นายทุนชาติ”

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนนี้กลายเป็นนโยบายหลัก และมีการให้เหตุผลว่าไทยเป็นสังคม “กึ่งศักดินากึ่งเมืองขึ้น” ที่ไม่อาจปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมได้ทันที เพราะต้องผ่านขั้นตอนปฏิวัติกู้ชาติเพื่อสร้างทุนนิยม ซึ่งเป็นสูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน แนวนี้เคยมีการเสนอในไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๓ สองปีก่อนที่จะหันซ้ายสู่“ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” คือหันขวา หันซ้าย และกลับมาหันขวาอีกครั้ง

สูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการปฏิวัติรัสเซียภายใต้การนำของ เลนินและทรอตสกี้ ในปี 1917 เพราะมีการกระโดดข้ามจากสังคมภายใต้ระบบฟิวเดิลไปสู่สังคมนิยม และตรงกับแนวคิด “ปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้และ คาร์ล มาร์คซ์

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในยุคที่สฤษดิ์กำลังแย่งอำนาจกับจอมพลป. ในปี ๒๕๐๐ วารสาร “ปิตุภูมิ” ของพรรคคอมมิวนิสต์เสนอว่า “สฤษดิ์เป็นขุนพลที่รักชาติและมีแนวโน้มไปทางประชาธิปไตย” และในปีนั้นผู้ปฏิบัติการของพรรคเข้าร่วมกับพรรคชาติสังคมของสฤษดิ์

เพียงหนึ่งปีหลังจากนั้น เมื่อสฤษดิ์ทำรัฐประหารรอบสอง พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเปลี่ยนการวิเคราะห์จอมพลสฤษดิ์ไปเป็นการมองว่า สฤษดิ์เป็น “ฟาสซิสต์ของฝ่ายศักดินา” โดยไม่มีคำอธิบายแต่อย่างใด แต่ที่แน่นอนคือสฤษดิ์ได้ลงมือปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อย่างหนัก

“ว่าด้วยทุน” ของคาร์ล มาร์คซ์ ที่ พคท. ไม่สนใจแปลเป็นไทย

พคท. ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อเกือบ 100 ปีก่อนหน้านี้ แต่ตลอดเวลาที่พรรคมีบทบาทสำคัญในการนำการต่อสู้กับเผด็จการ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ หนังสือสำคัญของ คาร์ล มาร์คซ์ ที่วิเคราะห์ระบบทุนนิยมอย่างละเอียด ไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเลย เราต้องรอจนถึงปี ๒๕๔๒ หลังจากที่ พคท. ล่มสลายไป

สาเหตุสำคัญที่อธิบายปรากฏการณ์นี้คือ ตลอดเวลาที่ พคท. ยังดำรงอยู่ พรรคใช้แนว “สตาลิน-เหมา” ที่ตรงข้ามกับทฤษฎีมาร์คซิสต์ พวกแนว “สตาลิน-เหมา” ทั่วโลกใช้ศัพท์ของฝ่ายซ้ายมาร์คซิสต์อย่างต่อเนื่อง แต่เนื้อหาและความหมายของคำพูดและคำเขียนของพรรค กลับหัวหลับหางกับความหมายเดิมทั้งสิ้น

“สังคมนิยม” หรือ ระบบ “คอมมิวนิสติ์” ในความหมายมาร์คซิสต์คือระบบที่มาจากการปลดแอกตนเองของชนชั้นกรรมาชีพ ในระบบนี้ในที่สุดการแบ่งแยกทางชนชั้นจะหายไป รัฐจะสลายไป และแม้แต่การปกครองก็หายไป ทั้งนี้เพราะกรรมาชีพทุกคนในสังคมจะร่วมกันกำหนดอนาคตในทุกแง่ และจะร่วมกันกำหนดว่าเราต้องผลิตอะไรเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ระบบของนายทุน การกดขี่ขูดรีด และการแสวงหากำไรจะสิ้นสุดลง อย่าลืมว่าระบบทุนนิยม และแม้แต่การแบ่งแยกทางชนชั้น เป็นสิ่งใหม่ ไม่ได้มีตลอดเวลาในประวัติศาสตร์มนุษย์

สตาลินทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับแนวมาร์คซิสต์หลังจากที่เขายึดอำนาจในทศวรรษ1930 และทำลายการปฏิวัติปี 1917 ของพรรคบอลเชวิค และหลังจากที่เขาเข่นฆ่าผู้นำบอลเชวิคทั้งหมด สตาลินหันมาสร้างระบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์เหนือชนชั้นกรรมาชีพ รัฐถูกทำให้เข้มแข็งขึ้น ระบบทุนนิยมถูกนำมาใช้ในรูปแบบ “ทุนนิยมรวมศูนย์โดยรัฐ” และกรรมาชีพรัสเซียถูกขูดรีดมูลค่าส่วนเกินอย่างโหดร้าย เพื่อผลิตอาวุธแข่งกับตะวันตก การอ่านและโดยเฉพาะการเข้าใจหนังสือ “ว่าด้วยทุน” จึงเป็นเรื่องอันตรายเพราะกรรมาชีพจะเข้าใจว่าตนถูกขูดรีดในระบบชนชั้น ไม่ต่างจากกรรมาชีพในตะวันตกเลย

เหมาเจ๋อตุง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ สตาลิน เมื่อเดินหน้ายึดอำนาจทางการเมืองในจีน ก็ยิ่งเสริมการบิดเบือนแนวคิดมาร์คซิสต์เพิ่มขึ้น โดยเสนอว่ากรรมาชีพไม่ใช่พลังหลักในการสร้างสังคมนิยม เหมา เสนอว่าชัยชนะของพรรคจะต้องมาจากกองทัพชาวนาที่นำโดยปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ และเหมา อธิบายเพิ่มว่าขั้นตอนแรกของการต่อสู้จะต้องเป็นการสถาปนารัฐชาติในระบบทุนนิยมโดยรัฐ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นขั้นตอน “ประชาชาติประชาธิปไตย” แต่มันเป็นเผด็จการแท้ๆ  ส่วนสังคมนิยมเป็นเรื่องของอนาคตอันห่างไกล

ในไทย พคท. ลอกแบบแนวคิดของเหมามาหมด และสร้างนิยายชาตินิยมว่าไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นของสหรัฐและกึ่งศักดินาของชนชั้นปกครองไทย ดังนั้น พคท. เน้นการ “ปลดแอกประเทศ” และการสร้าง “ประชาชาติประชาธิปไตย” ผ่านการสามัคคีระหว่างทุกชนชั้น รวมถึงการสามัคคีชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ ทั้งๆ ที่สองชนชั้นนี้เป็นศัตรูกัน ในความเป็นจริงไทยเป็นทุนนิยมมาตั้งแต่การปฏิวัติล้มระบบศักดินาของรัชกาลที่ ๕ และไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐแต่อย่างใด อำนาจของสหรัฐในภูมิภาคนี้มีลักษณะของ “จักรวรรดินิยม” ซึ่งดำรงอยู่ในระบบโลกจนถึงปัจจุบัน แต่มันไม่ใช่อำนาจของประเทศที่ล่าอาณานิคมแบบที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสเคยทำ

แนวคิด “เหมา” ของ พคท. มีลักษณะที่ต่อต้านการเป็นปัญญาชน ไม่เหมือนกับแนวมาร์คซิสต์ที่สนับสนุนให้กรรมาชีพพัฒนาตนเองเป็น “ปัญญาชนอินทรีย์” ตามที่ กรัมชี เคยพูดถึง ในค่ายป่าของ พคท. สหายต่างๆ มีโอกาสอ่านแต่สรรนิพนธ์ของ “ประธานเหมา”

ซัง ตะวันออก อดีตนักศึกษาที่เข้าป่า เล่าว่า “หนังสือในห้องสมุดมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นบทแปล และหนังสือภาพ (ไชน่าพิคทอเรียล-แปลอังกฤษเป็นไทยเฉพาะคำบรรยาย) หนังสือการ์ตูนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่น “ปู่โง่ย้ายภูเขา” “ศึกษาแบบอย่างหมอเบธูน” “ศึกษาจิตใจจางซือเต๋อ” “วีรสตรีหลิวหูหลาน” ฯลฯ หนังสือทฤษฎีลัทธิมาร์คซ์แทบจะไม่มีเลย

วันวา วันวิไล ในหนังสือ “ตะวันตกที่ตะนาวศรี” เล่าว่า “ห้องสมุดเป็นเพียงเพิงเล็กๆ … ส่วนมากเป็นสรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตุง …. ด้วยเหตุนี้พวกเราทุกคนจึงมีปัญญาเล็กๆ …รู้แต่เรื่องปฏิวัติ เรื่องอื่นไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การปกครอง กฎหมาย เรื่องราวของต่างประเทศ เศรษฐกิจ การศึกษา และสังคม”

อย่างไรก็ตาม ก่อนช่วง ๖ ตุลา ปัญญาชนไทยบางคน ที่ไม่ได้สังกัด พคท. ได้เคยอ่าน “ว่าด้วยทุน” จากฉบับภาษาอังกฤษ สุภา ศิริมานนท์ เป็นตัวอย่างที่ดี

กำเนิดลัทธิสตาลิน

ลัทธิสตาลินมีต้นกำเนิดจากความล้มเหลวของการปฏิวัติรัสเซียซึ่งเริ่มเห็นชัดเจนประมาณปี ค.ศ. 1928 ก่อนหน้านั้นผู้นำการปฏิวัติรัสเซียในยุคแรกๆ สมัยปี ค.ศ. 1917 เช่น เลนิน กับ ทรอตสกี ทราบดีว่าการปฏิวัติในประเทศด้อยพัฒนาอย่างรัสเซีย ต้องอาศัยการขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศพัฒนาในยุโรปตะวันตก เพื่อที่จะนำพลังการผลิตที่ก้าวหน้ากว่ามาสร้างสังคมนิยมในรัสเซีย การสร้างสังคมนิยมในความเห็นของนักมาร์คซิสต์ จึงไม่ใช่การสร้างระบบใหม่ภายในขอบเขตของชาติเดียวในระยะยาว แต่เป็นการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกกับระบบทุนนิยมโลกทั้งระบบ ซึ่งแปลว่าต้องใช้แนวสากลนิยมแทนชาตินิยม

ความล้มเหลวของการปฏิวัติในเยอรมันในยุคเลนิน เป็นเหตุให้สังคมนิยมในรัสเซียเกิดวิกฤติการณ์ระหว่างปี ค.ศ. 1921-1922   โดยที่ เลนิน ได้ให้ข้อสังเกตว่า “สงครามโลกและสงครามกลางเมืองรวมทั้งความยากจนต่างๆนาๆทำให้ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศเราหายไป” และเลนินยังยอมรับอีกว่า “รัฐของเราเป็นรัฐชนชั้นกรรมาชีพที่ถูกแปรรูปเพี้ยนไปเป็นรัฐราชการ” สรุปแล้วถ้าพลังกรรมาชีพอ่อนแอลง จะไม่สามารถสร้างสังคมนิยมได้ ในขณะที่จำนวนกรรมาชีพในรัสเซียลดลงถึง 43% อิทธิพลของกลุ่มข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ที่อยู่ภายใต้การนำของ สตาลิน ก็เพิ่มขึ้นมาแทนที่

การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญที่สุดของสตาลินคือเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการสร้าง “สังคมนิยมในประเทศเดียว” ซึ่งประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1924 เนื่องจากนโยบายชาตินิยมที่ใช้พัฒนารัสเซียของสตาลินหันหลังให้การต่อสู้ของกรรมาชีพในประเทศอื่น นโยบายต่างประเทศของสตาลินก็เปลี่ยนไปด้วย แทนที่จะพยายามปลุกระดมให้กรรมาชีพในประเทศอื่นปฏิวัติ  สตาลินกลับหันมาเน้นนโยบายการทูตแบบกระแสหลักเดิมที่แสวงหาแนวร่วมและมิตรกับรัสเซียโดยไม่คำนึงถึงประเด็นชนชั้นเลย มีการเสนอว่ากรรมาชีพและชาวนาควรสร้างแนวร่วมสามัคคีกับนายทุนเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมและระบบขุนนางหรือศักดินา  ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับแนวมาร์คซิสต์จะเห็นว่าขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง

กำเนิดของลัทธิเหมา

ในประเทศจีนพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อนยุคสตาลินเคยเล็งเห็นว่าชนชั้นกรรมาชีพเป็นชนชั้นหลักในการปฏิวัติ โดยที่เหมาเจ๋อตุงเป็นผู้นำคนหนึ่งของพรรคที่เคยทำงานในหมู่กรรมกร สมัยนั้นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เกือบทั้งหมดเป็นกรรมกรในเมืองสำคัญๆที่ ติดทะเลของจีน อย่างไรก็ตามหลังจากที่สตาลินขึ้นมามีบทบาทในขบวนการคอมมิวนิสต์สากล มีการเสนอว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนควรสร้างแนวร่วมถาวรกับขบวนการกู้ชาติของนายทุนจีนที่มีชื่อว่าพรรคก๊กมินตั๋ง โดยมีคำสั่งให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เข้าไปสมัครเป็นสมาชิกก๊กมินตั๋ง และยกรายชื่อสมาชิกพรรคทั้งหมดให้ผู้นำก๊กมินตั๋ง

แต่หลักจากที่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนสลายตัวเข้าไปในพรรคก๊กมินตั๋ง ปรากฏว่าผู้นำฝ่ายขวาของก๊กมินตั๋ง โดยเฉพาะเชียงไกเชค ลงมือจัดการกวาดล้างปราบปรามไล่ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์ในเมืองต่างๆ จนเกือบไม่เหลือใคร เหมาเจ๋อตุงซึ่งไม่เคยคัดค้านแนวของสตาลินและใช้นโยบายแบบสตาลินในยุคหลังๆตลอด จึงต้องหนีไปทำการสู้รบในชนบท  หลังจากนั้นเหมาเจ๋อตุง จึงสร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นมารองรับการปฏิบัติงานในชนบทที่เกิดขึ้นไปแล้ว  กล่าวคือใช้การอ้างว่าการสู้รบในชนบทโดยใช้ชาวนาเป็นหลัก เหมาะกับสภาพสังคมจีนที่มีชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่ ซึ่งสิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับข้ออ้างอันนี้ของเหมาก็คือ ที่รัสเซียในปี ค.ศ. 1917 สังคมมีชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่เช่นกัน แต่เลนินและพรรคบอลเชวิคก็ยังคงเน้นความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพตามแนวมาร์คซิสต์ตลอด

แนวการต่อสู้แบบ “ชนบทล้อมเมือง” ของเหมาจึงถูกนำมาใช้ในไทย ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไทยเกิดขึ้นในเมืองเสมอ และในข้อเขียนต่างๆของเหมาเจ๋อตุง เราจะพบอิทธิพลของสายความคิดสตาลินตลอด เช่นในเรื่องการเน้นลัทธิชาตินิยมเหนือความขัดแย้งทางชนชั้น

เสื้อแดงเสื้อเหลือง

แนวความคิดสตาลินเหมาเป็นรากกำเนิดของการที่ “สหายเก่า” จาก พคท. แตกแยกระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง ประเด็นหลักคือความคิดที่เสนอว่าทำแนวร่วมกับใครก็ได้ และการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมต้องรอไปถึงชาติหน้า พวกที่เป็นเสื้อเหลืองหลอกตัวเองว่าการทำแนวร่วมกับพวกเชียร์เจ้าและทหารเป็นนโยบายรักชาติที่ต่อต้านเผด็จการนายทุนอย่างทักษิณ พวกที่เป็นเสื้อแดงก็มองว่าต้องทำแนวร่วมกับนายทุน “ชาติ” อย่างทักษิณ เหมือนที่เคยทำแนวร่วมกับสฤษดิ์

มาร์คซิสต์ปัจจุบัน

พวกเราใน “สังคมนิยมแรงงาน” จะเคารพความพยายามและความเสียสละของสหายเก่าในสมัยที่ พคท. ยังอยู่ แต่เราจะไม่มีวันปกป้องแนวคิด สตาลิน-เหมา ของ พคท. เราจะขยันในการรื้อฟื้นแนวมาร์คซิสต์ในโลกสมัยใหม่ เพิ่มการต่อสู้ทางชนชั้น และสร้างพรรคปฏิวัติ โดยอาศัยองค์ความรู้ของ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ทรอตสกกี้ โรซา ลักแซมเบอร์ค กับ กรัมชี่

ใจ อึ๊งภากรณ์

จิตร ภูมิศักดิ์ กับ “โฉมหน้าศักดินาไทย” ทำไมเขาถึงวิเคราะห์ผิด

หนังสือ “โฉมหน้าศักดินาไทย” ของจิตรภูมิศักดิ์ เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ปลุกใจการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในยุคหลัง ๑๔ ตุลา เพราะเป็นหนังสือที่กล้าประณามความป่าเถื่อน การกดขี่ และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยที่ไม่ติดกรอบนิยายรักผู้นำชั้นสูงของชนชั้นปกครอง นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามของจิตรที่จะวิเคราะห์ประวัติศาสตร์สังคมไทยอย่างเป็นระบบจากมุมมองของผู้ถูกกดขี่ขูดรีด ก่อนหน้านั้นหนังสือประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่เป็นแนวของชนชั้นปกครอง ในขณะที่ฝ่ายซ้ายไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือปัญญาชนไม่สังกัดพรรค อย่างเช่นสุภา ศิริมานนท์ สมัคร บุราวาศ หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ไทยจากมุมมองมาร์คซิสต์แต่อย่างใด ดังนั้นงานของจิตรชิ้นนี้และชิ้นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภูมิภาคนี้เป็นงานบุกเบิกที่สำคัญอย่างยิ่ง

     อย่างไรก็ตาม เราต้องกล้าฟันธงไปว่า ด้วยเหตุที่จิตรมีข้อจำกัดหลายประการ หนังสือ “โฉมหน้าศักดินาไทย” เป็นหนังสือที่วิเคราะห์ระบบศักดินาไทยอย่างผิดพลาด และไม่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาความเข้าใจของเราในยุคนี้ได้

     จิตร ภูมิศักดิ์ วิเคราะห์ระบบศักดินาไทย หรือระบบก่อนทุนนิยมในไทย ว่าเป็นระบบ “อำนาจในการครอบครองที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิต” (จิตร ๒๕๓๙; 362) จิตรมองว่าระบบศักดินาเริ่มจากระบบกระจายอำนาจทางการเมืองและลงเอยด้วยการรวบอำนาจ (จิตร ๒๕๓๙; 371)  โดยที่พระเจ้าแผ่นดินกลายเป็นเจ้าของที่ดินทั้งปวงและปกครองในลักษณะ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” (จิตร ๒๕๓๙; 369)

     ในความเป็นจริง ระบบศักดินาไทยเป็นระบบที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเลย เพราะการครอบครองที่ดินไม่มีความหมายสำหรับการควบคุมปัจจัยการผลิต ในเมื่อเมืองสยามมีที่ดินล้นฟ้า ถ้าดูตัวเลขความหนาแน่นของประชากรแล้วจะเข้าใจ  เพราะในค.ศ. 1904 คาดว่ามีประชาชนแค่ 11 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตรในไทย ซึ่งเทียบกับ 73 คนในอินเดีย และ 21 คนในอินโดนีเซีย (ฉัตรทิพย์ ๒๕๒๘; 28) การเกณฑ์แรงงานบังคับในลักษณะทาสและไพร่และการทำสงครามเพื่อกวาดต้อนเชลยศึกจึงเป็นวิธีการหลักในการควบคุมปัจจัยการผลิตแทนการถือครองที่ดิน (แล ๒๕๒๒, คึกฤทธิ์ ๒๕๑๖, ศุภรัตน์ ๒๕๒๗, ชัยอนันต์ ๒๕๑๙, ฉัตรทิพย์ ๒๕๒๘, ใจ ๒๕๔๓; 13) นอกจากนี้กฏหมายเกี่ยวกับการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่เคยมีในสมัยศักดินา และรัชกาลที่ ๕ ต้องร่างกฏหมายนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อยกเลิกระบบไพร่และระบบทาส (Rajchagool 1994)  ดังนั้นการที่พระเจ้าแผ่นดินประกาศว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดในยุคศักดินาไม่มีความหมายมากนัก เพราะไม่สามารถใช้การครอบครองที่ดินเพื่อสร้างผลประโยชน์ได้ เช่นขายให้คนอื่น หรือกู้เงินโดยเอาที่ดินเป็นหลักประกัน และยศศักดิ์ในระบบศักดินา ที่กำหนดขั้นของบุคคลในสังคมตามการถือครองที่ดิน (จิตร ๒๕๓๙; 423) น่าจะไม่มีความหมายที่เกี่ยวกับที่ดินโดยตรง เพราะแม้แต่ขอทานและทาสก็มียศที่ดิน ๕ ไร่ตามยศศักดิ์ และคนที่มีที่ดิน ๕ ไร่ ไม่น่าจะเป็นขอทานหรือทาส

     ระบบศักดินาไม่ใช่ระบบเดียวกับระบบฟิวเดอล และไม่ใช่ระบบเดียวกับระบบทาสของยุโรปด้วย แต่เป็นระบบก่อนทุนนิยมในสังคมส่วนหนึ่งของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สาระสำคัญคือมีการปกครองแบบกระจายอำนาจ มีการควบคุมแรงงานบังคับ และมีการใช้ทาส (ใจ ๒๕๔๓; 13) นอกจากนี้ศักดินาไม่ใช่ระบบเดียวกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่๕ (Rajchagool 1994)  และเป็นระบบการปกครองรวมศูนย์ภายในกรอบรัฐชาติ ที่ใช้แรงงานรับจ้าง เพื่อตอบสนองการสะสมทุน (ใจ ๒๕๔๓; 29) พูดง่ายๆ สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นรูปแบบรัฐทุนนิยมรูปแบบแรกของไทย

     รากฐานของปัญหาในการวิเคราะห์ระบบศักดินาของจิตรคือ เขานำขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ก่อนทุนนิยมที่มาร์คซ์เคยเสนอสำหรับยุโรปตะวันตก มาสวมกระบวนการประวัติศาสตร์ของไทยในลักษณะกฏเหล็กอย่างกลไก ดังนั้นสำหรับจิตร ระบบศักดินาคือระบบเดียวกันกับระบบฟิวเดอล์ในยุโรป และเป็นระบบที่วิวัฒนาการมาจาก “ยุคทาส”  (จิตร ๒๕๓๙; 381, 396) แต่ มาร์คซ์ ไม่เคยเสนอเลยว่าขั้นตอนของประวัติศาสตร์ก่อนทุนนิยมจะเหมือนกันทั่วโลก เพราะระบบทุนนิยมเป็นระบบแรกที่มีการสร้างมาตรฐานร่วมแบบโลกาภิวัฒน์ คือเป็นระบบแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์ที่ทำให้ทุกส่วนของโลกคล้ายคลึงกันไปหมดในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม

ความพยายามที่จะฝ่าความกลไก

สุภา ศิริมานนท์ เป็นปัญญาชนมาร์คซิสต์ของไทยที่อิสระจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และอาจเป็นคนไทยคนแรกที่ศึกษางานของมาร์คซ์และเองเกิลส์จากภาษาอังกฤษโดยตรงอย่างเป็นระบบ (Kasian Tejapira 2001; 9) ดังนั้นถ้าเราไปดูงานของ สุภา เราจะค้นพบความละเอียดอ่อนแบบวิภาษวิธีมาร์คซิสต์ในการอธิบายประวัติศาสตร์ เช่นในงาน      “มาร์กซจงใจพิสูจน์อะไรฯ” ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกในปี ๒๕๑๘ มีการอธิบายว่ามนุษย์เราสร้างประวัติศาสตร์ของเราเอง แต่ในขณะเดียวกันมิได้สร้างประวัติศาสตร์ในภาวะแวดล้อมที่ตนเองเป็นผู้เลือก (สุภา ๒๕๓๐; 13) สุภา อธิบายต่อไปว่าเราต้องสร้างสังคมใหม่ที่ดีงามทั้งๆ ที่เรายังยืนอยู่บนความโสโครกของสังคมเก่า และมนุษย์ผู้ที่จะต้องสร้างสังคมใหม่นี้ ไม่ใช่ว่าจะขาวสะอาดจากความโสโครกปัจจุบัน ดังนั้นการปรับตัวของมนุษย์ย่อมเกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ ซึ่งมุมมองนี้แสดงให้เห็นว่านักต่อสู้มาร์คซิสต์ไม่ได้หวังจะเป็นนักบวช แต่หวังจะทำในสิ่งที่ดีที่สุดท่ามกลางโลกแห่งความเป็นจริงเท่านั้น

     ในเรื่องของการนำทฤษฎีมาใช้ สุภาอธิบายว่านักมาร์คซิสต์มองสองด้านตลอดเวลา แบบวิภาษวิธี (สุภา ๒๕๓๐; 30) แต่การมองสองด้านที่พูดถึงนี้ไม่ได้แปลว่าควรประนีประนอมกับแนวคิดนายทุน การมองสองด้านคือวิธีการวิเคราะห์สถานการณ์ที่มีความขัดแย้งสลับสับซ้อนในตัวโดยมองภาพองค์รวม   และความสำคัญของการใช้วิภาษวิธีไม่ใช่เพื่อสร้างการวิเคราะห์แบบละเอียดอ่อนในมิติเดียวเท่านั้น แต่การที่วิภาษวิธีมองว่า “การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ” (ดู ก.ป.ร. ๒๕๔๔; 25, สุภา ๒๕๔๐; 89) มีผลทำให้แนวคิดมาร์คซิสต์ยากที่จะล้าสมัยได้ เพราะจุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์คือการถือว่าโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

     อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของสุภาเมื่อเทียบกับจิตร คือไม่มีความพยายามในการนำแนวมาร์คซิสต์มาวิเคราะห์สังคมไทย ดังนั้นการประสานทฤษฎีกับการปฏิบัติจึงไม่เกิด

     ในเรื่องความทันสมัยของแนวคิดมาร์คซ์ สุรพงษ์ ชัยนาม (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 89) อธิบายว่าการนิยามชนชั้นของแนวมาร์คซิสต์ไม่ใช่สิ่งตายตัวที่ไม่พิจารณาการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงของทุนนิยม เพราะชนชั้นสะท้อนการพัฒนาของระบบทุนนิยมเสมอ ดังนั้นคำกล่าวหาของพวกอดีตมาร์คซิสต์ไทยยุคนี้ ที่เสนอว่า “ชนชั้นในสมัยมาร์คซ์ไม่เหมือนรูปแบบชนชั้นในยุคปัจจุบัน” จึงไร้สาระและขาดน้ำหนักในการวิจารณ์แนวมาร์คซิสต์ ไม่มีมาร์คซิสต์ที่ไหนที่เสนอว่าชนชั้นกรรมาชีพในยุคมาร์คซ์เหมือนชนชั้นกรรมาชีพในปัจจุบันทุกประการ แต่สาระสำคัญคือ กรรมาชีพยังถูกแยกออกจากการคุมปัจจัยการผลิต และกรรมาชีพมีพลังมากขึ้นที่จะเปลี่ยนสังคมทุนนิยมในสมัยนี้ เพราะมีการเพิ่มจำนวนและฝีมือความสามารถของกรรมาชีพทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง

     สุรพงษ์ ชัยนาม เป็นนักคิดฝ่ายซ้ายรุ่นใหม่ ถ้าเทียบกับสุภา แต่มีจุดร่วมกับสุภา ตรงที่ศึกษาอ่านงานของนักมาร์คซิสต์ตะวันตกโดยตรง ไม่ได้อาศัยงานชั้นสอง โดยเฉพาะงานที่ปรากฏออกมาใหม่ๆ ในยุคหลัง เช่นงานของ อันโตนิโอ กรัมชี่ สุรพงษ์ ถึงกับพูดว่า กรัมชี่ เป็นศาสดาของเขา (สัมภาษณ์ สุรพงษ์ ๒๕๔๕) ในยุคทศวรรษที่ 70 สุรพงษ์ ได้รับอิทธิพลจากขบวนการ “ซ้ายใหม่” ต่อต้านเผด็จการสตาลิน ที่เกิดขึ้นท่ามกลางการกบฏในยุโรปยุค 1968 งานของสุรพงษ์จึงมีการนำเสนอที่เน้นเสรีภาพ และความละเอียดอ่อน แทนความคับแคบและกลไกของแนวสตาลิน

     ในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างฐานการผลิตแบบวัตถุ (Base) กับโครงสร้างส่วนบน (Superstructure) เช่นในเรื่องของการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนสังคมที่กระทำภายใต้เงื่อนไขต่างๆ สุรพงษ์ อธิบายว่านักมาร์คซิสต์ต้องเข้าใจว่ามันมีสองปัจจัยหลักที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง นั้นคือปัจจัยด้านวัตถุ (สภาพสังคมและระบบการผลิต) และบทบาทของมนุษย์ (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 83) สุรพงษ์ พยายามเน้นความสำคัญของมนุษย์เพื่อเป็นการคัดค้านแนวกลไกของสตาลินที่มองว่าการวิวัฒนาการของสังคมเป็นไปอย่างอัตโนมัติแบบที่ “หลีกเลี่ยงไม่ได้” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “ซ้ายใหม่” จากยุโรป  สุรพงษ์ เสนอว่า “มนุษย์ย่อมสำคัญกว่าสิ่งไม่มีชีวิต” และทฤษฎีต่างๆ กลายเป็นพลังทางวัตถุในการเปลี่ยนโลกจริงได้ก็ต่อเมื่อมีการยึดเหนี่ยวทฤษฎีโดยมวลชนที่มีชีวิต ซึ่งแน่นอนขึ้นอยู่กับภาวะวัตถุวิสัย (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 83)  การนำเสนอแนวคิดในรูปแบบนี้ นอกจากจะชี้แจงความสำคัญของบทบาทมนุษย์แล้ว ยังเป็นการคัดค้านแนวคิดประเภท “ผลกำหนดล่วงหน้าตายตัว” ของพวกจิตนิยมที่เชื่อเรื่อง “กรรม” และพวกวัตถุนิยมประวัติศาสตร์แบบกลไกที่เชื่อเรื่อง “กฏเหล็ก”

     ตัวอย่างของแนว “ผลกำหนดล่วงน่าตายตัว” ในไทยมีอะไรบ้าง? ถ้าพิจารณาศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นแนวคิดจิตนิยม ก็จะมีการพูดถึงสภาพปัจจุบันที่มาจากการก่อกรรมในอดีต และในกรณีแนวคิดกลไกวัตถุนิยมแบบ สตาลิน ของ พ.ค.ท. ก็จะมีการนำเสนอว่าสังคมทุกประเทศย่อมก้าวสู่สังคมนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งในรูปธรรมหมายความว่าเราไม่ต้องไปทุ่มเทหรือกังวลกับการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมเท่าไร  อย่างที่อธิบายไปแล้ว ดังนั้นการคัดค้านแนว “ผลกำหนดล่วงหน้า” เป็นการย้ำว่าแนวมาร์คซิสต์มองว่าไม่มีหลักประกันว่าการปฏิวัติจะได้รับชัยชนะ (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 103) ซึ่งในรูปธรรมหมายความว่าเราต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาและการถกเถียงในประเด็นต่างๆ เช่นวิธีการต่อสู้ วิธีการจัดตั้งพรรค และสภาพทางวัตถุในโลกจริงโดยการยอมรับความจริง

     อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่างานของสุรพงษ์จะปราศจากการวิเคราะห์แบบกลไกทั้งหมด ในการนำเสนอเรื่องการวิวัฒนาการของสังคมไทย มีการลอกแม่แบบที่ พ.ค.ท. จิตร และสายสตาลิน-เหมาใช้ โดยนำเสนอว่าระบบศักดินาไทยเป็นระบบเดียวกันกับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และยังเป็นระบบเดียวกันกับระบบการผลิตแบบเอเซีย(Asiatic Mode of Production) ของมาร์คซ์ด้วย! (สุรพงษ์ ๒๕๑๗; 55, สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 219) ซึ่งเป็นการพยายามนำกรอบของการวิวัฒนาการสังคมยุโรปตะวันตกมายัดใส่ประวัติศาสตร์ไทย หรือการนำข้อเสนอบางอย่างของมาร์คซ์มาใช้โดยไม่มีการวิเคราะห์ลึก (ดู ใจและคณะ ๒๕๔๓; 13) การที่ สุรพงษ์ ได้รับอิทธิพลจาก พ.ค.ท. ในเรื่องการวิเคราะห์ขั้นตอนต่างๆ ของสังคมไทย ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเพราะ  พ.ค.ท. มีการจัดตั้งเพื่อถ่ายทอดแนวคิดไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ซึ่งต่างจากนักคิดนักเขียนฝ่ายซ้ายอิสระในไทย (Somsak Jeamteerasakul 1991; 15)

     นอกจากนี้การวิเคราะห์สังคมไทยแบบนี้ของสุรพงษ์มีปัญหาหลายประการเมื่อขยายต่อไปสู่การอธิบายสังคมปัจจุบันเช่น

1)       มีการเสนอว่าระบบศักดินาและการเข้ามาของเจ้าอณานิคมตะวันตกเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทุนนิยมในไทย โดยมองว่าทุนนิยมต้องก่อกำเนิดจากภายใน คือจากชนชั้นชาวเมืองเสรีในลักษณะเดียวกับอังกฤษเสมอ (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 218) แต่ในความเป็นจริงหลังจากที่มีการสถาปนาทุนนิยมในประเทศสำคัญๆ หลายประเทศ ระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์จะเป็นแรงผลักดันหลักที่ก่อให้เกิดการปรับตัวไปสู่ทุนนิยมในประเทศด้อยพัฒนา นอกจากนี้ในเรื่องความล้าหลังของระบบไทย ที่นำมาอธิบายว่าทำไมไทยไม่พัฒนาทุนนิยม Chris Harman นักมาร์คซิสต์อังกฤษ อธิบายว่าความล้าหลังและความอ่อนแอของระบบการปกครองในยุโรปตะวันตกอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่เอื้ออำนวยให้ชนชั้นนายทุนก่อตัวขึ้นมาได้เร็ว ดังนั้นสังคมก้าวหน้าและเข้มแข็งของจีนหรืออินเดียในยุคต่างๆ เมื่อเทียบกับยุโรปตะวันตก อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการห้ามปรามและทำลายการวิวัฒนาการของชนชั้นนายทุนในเอเซีย (Harman 1999; 113) พูดง่ายๆ บ่อยครั้งระบบที่ทันสมัยที่สุดจะกำเนิดขึ้นในส่วนของโลกที่ล้าหลังที่สุดได้

รัชกาลที่๕ ผู้นำการปฏิวัติทุนนิยมไทยที่ทำลายระบบศักดินา

2)       มีการมองข้ามพลวัตการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมไทยเองที่นำไปสู่ความทันสมัย พลวัตนี้มาจากความขัดแย้งทางชนชั้นหลายระดับ แต่สุรพงษ์มีการสรุปในงานที่เขียนก่อนหน้าการลุกฮือ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ประมาณสองสามเดือน ตามอย่าง Fred Riggs (1966)ว่า คนชั้นล่างในไทยไม่เคยมีบทบาทในการเปลี่ยนสังคมไทย (สุรพงษ์ ๒๕๑๗; 58) และมีการมองว่า การปฏิวัติ ๒๔๗๕ เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในระดับบนที่ไม่มีส่วนร่วมจากมวลชน (สุรพงษ์ ๒๕๑๗; 104) ซึ่งมุมมองดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิด พ.ค.ท. ที่ลดความสำคัญของ ๒๔๗๕ ด้วย(Kasian Tejapira 2001; 35) อย่างไรก็ตามความคิดที่ลดบทบาทของผู้น้อยในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ถูกแย้งในปัจจุบันจากงานของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (๒๕๔๐)

     อีกปัญหาหนึ่งของงานสุรพงษ์คือความสับสนในการวิเคราะห์ระบบสตาลินหรือเหมา   สำหรับสุรพงษ์ประเทศ “สังคมนิยม” คือ “ทางผ่านไปสู่สังคมนิยม”  และการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนที่ทำลายศีลปะแบบเก่าๆ ด้วยความคิดคับแคบคือการปฏิวัติแบบ”มาร์คซิสต์”  และสุรพงษ์มองว่าการปฏิวัติจีนเป็นแนวมาร์คซิสต์ เพราะใช้ “อุดมการณ์กรรมาชีพ” (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 5 และ 115) ทั้งๆ ที่ชนชั้นกรรมาชีพไม่มีส่วนในการปฏิวัติจีนแต่อย่างใด (Harris 1978, Hore 1991) นอกจากนี้สุรพงษ์มองเหมือน “ซ้ายใหม่” จากยุโรปหลายคนว่า การทำงานแบบเลนินนำไปสู่เด็จการของสตาลิน (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 169) อย่างไรก็ตามสุรพงษ์ยอมรับว่าเลนินเคยวิจารณ์สตาลิน โดยที่เลนินเตือนให้ระวังการเข้ามาของระบบราชการในรัสเซียแทนอำนาจของชนชั้นกรรมาชีพ (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 177) ในส่วนนี้สุรพงษ์เพิ่มเติมว่ารัสเซียเป็น “เผด็จการเหนือกรรมาชีพ” ไม่ใช่เผด็จการของกรรมาชีพ (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 142) และยิ่งกว่านั้นมีการเสนอว่าลัทธิสตาลินทำลายสังคมนิยม โดยการนำเผด็จการไปยัดเยียดให้ยุโรปตะวันออก (สุรพงษ์ ๒๕๒๔; 176)

หนังสืออ้างอิง

กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน (กปร.) “วิธีสร้างพรรคกรรมาชีพของเลนิน” 

กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน (๒๕๔๔) “สังคมนิยมจากล่างสู่บน”

คึกฤทธิ์ ปราโมช (๒๕๑๖) “สังคมสมัยอยุธยา” ประวัติศาสตร์และการเมือง สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จิตร ภูมิศักดิ์ หรือ สมสมัย ศรีศูทรพรรณ (๒๕๓๙) “โฉมหน้าศักดินาไทย” สำนักพิมพ์นกฮูก

ใจ  อึ้งภากรณ์  (๒๕๔๐)  “สังคมนิยมและทุนนิยมในโลกปัจจุบัน”  ชมรมหนังสือ  ประชาธิปไตยแรงาน  กรุงเทพฯ

ใจ  อึ้งภากรณ์  (๒๕๔๒)  บรรณาธิการ  “อะไรนะลัทธิมาร์คซ์” เล่ม๑ ชมรมหนังสือ ประชาธิปไตยแรงงาน กรุงเทพฯ

ใจ อึ๊งภากรณ์ และคณะ (๒๕๔๓) “การเมืองไทยในทัศนะลัทธิมาร์คซ์” ชมรมหนังสือประชาธิปไตยแรงงาน กรุงเทพฯ

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (๒๕๒๘) “เศรษฐศาสตร์หมู่บ้านไทยในอดีต” สำนักพิมพ์สร้างสรรค์

ชัยอนันต์ สมุทวณิช (๒๕๑๙) “ศักดินากับการพัฒนาการของสังคมไทย” นำอักษรการพิมพ์

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (๒๕๔๐) “การปฏิวัติสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕” สำนักพิมพ์อมรินทร์วิชาการ

แล ดิลกวิทยรัตน์ (๒๕๒๒) วิถีการผลิตแบบเอเซียกับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์แห่งความด้อยพัฒนาของสังคมไทย วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ ๙ (๑), ๘๗-๙๘

ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล (๒๕๒๗) ระบบศักดินา ใน “ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔” 

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา กับ สมภพ มานะรังสรรค์ (บรรณาธิการ) สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์

สัญชัย สุวังบุตร (๒๕๔๕) “ประวัติศาสตร์โซเวียตสมัยเลนิน 1917-1924” ศักดิโสภาการพิมพ์

สุภา ศิริมานนท์ (๒๕๓๐) “มาร์กซจงใจจะพิสูจน์อะไร อย่างไร?” สำนักพิมพ์ชาวอักษร

สุรพงษ์ ชัยนาม (๒๕๑๗) “ใครเป็นซ้าย?” กลุ่มหนังสือสัจจะ

สุรพงษ์ ชัยนาม (๒๕๒๔) “มาร์กซ์และสังคมนิยม” ปาจารยสาร-เคล็ตไทย

Carr, E. H. (1990) What is History?  Penguin Books, U.K.

Harman, C. (1998) Marxism and History. Bookmarks, London, U.K.

Harman, C. (1999) A people’s history of the world. Bookmarks, London, U.K.

Harris, Nigel (1978) The Mandate of Heaven. Marx and Mao in Modern China. Quartet Books, London.

Hore, C. (1991) The road to Tiananmen Square. Bookmarks, London.

Jeamteerasakul, Somsak (1991) The Communist Movement in Thailand. PhD Thesis, Department of Politics, Monash University.

Marx, K. (1970) Preface to a Contribution to the Critique of Political Economy. Progress Books, Moscow. Molynevx, J. (1998) The Legitimacy of modern art.. International Socialism Journal # 80 (SWP-UK), pp71-101.

Rajchagool, Chaiyan (1994) The rise and fall of the absolute monarchy. White Lotus, Bangkok.

Riggs, F. (1966) Thailand. The modernisation of a bureaucratic polity. East West Press, U.S.A.

Tejapira, Kasian (2001) Commodifying Marxism. The formulation of modern Thai radical culture 1927-1958. Kyoto University Press and Trans Pacific Press.

ใจ อึ๊งภากรณ์

บทความนี้มาจากหนังสือ “รื้อฟื้นการต่อสู้ ซ้ายเก่าสู่ซ้ายใหม่ไทย” ใจ อึ๊งภากรณ์ และ นุ่มนวล ยัพราช บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน 2547

อ่านเพิ่ม

มาร์คซิสต์วิเคราะห์ปัญหาสังคมไทยhttps://bit.ly/3112djA

ทำไมคอมมิวนิสต์ไทยต้านการปฏิวัติ ๒๔๗๕

ใจ อึ๊งภากรณ์

หนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก ธง แจ่มศรี เต็มไปด้วยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เช่นการที่ผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายเวียดนาม “เวียดเกียว” ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึง ธง แจ่มศรี บวกกับคนเชื้อสายจีนในกรุงเทพฯ

แต่ปัญหาใหญ่ของหนังสือเล่มนี้คือขาดการวิเคราะห์ในบริบทของขบวนการคอมมิวนิสต์สากล โดยเฉพาะการวิเคราะห์แนวลัทธิสตาลิน และไม่มีการประเมินข้อดีข้อเสียของพรรคอีกด้วย มันเป็นแค่หนังสือ “บอกเล่า”

CPT Stalin

พรรคคอมมิวนิสต์ในไทยกำเนิดขึ้นราวๆ ปี ๒๔๗๓ (1930) ในยุคที่สตาลินขึ้นมาปกครองรัสเซียอย่างเบ็ดเสร็จ ดังนั้นพรรคไทยจึงทำตามคำสั่งของขบวนการคอมมิวนิสต์สากลภายใต้สตาลินตลอด

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในไทยเกิดขึ้นใน“ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” ที่สตาลินเสนอ ดังนั้นผู้ปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ผลิตและแจกใบปลิวโจมตีคณะราษฏรว่าเป็น “คณะราษฏรปลอม” ที่ ”ร่วมมือกับรัชกาลที่ ๗” ทั้งๆ ที่ ปรีดี พนมยงค์ เป็นฝ่ายสังคมนิยมปฏิรูปที่ต่อต้านระบบกษัตริย์ (ใต้ธงปฏิวัติหน้า188) คำวิจารณ์ของคอมมิวนิสต์ไทย ไม่ต่างจากการวิจารณ์พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมันว่าเป็น “ฟาสซิสต์แดง” ผลคือมันทำให้คอมมิวนิสต์ในไทยโดดเดี่ยวตนเองจากคนก้าวหน้าในคณะราษฎรไประยะหนึ่ง และในเยอรมันมันนำไปสู่ชัยชนะของฮิตเลอร์

การเสนอว่าโลกอยู่ใน “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” และการมองว่าพรรคคอมมิวนิสต์ทุกแห่งต้องโดดเดี่ยวตนเอง ไม่รวมมือกับฝ่ายปฏิรูป มีสามวัตถุประสงค์คือ (1) เป็นการปกปิดหรือแก้ตัวจากความผิดพลาดที่เคยเสนอให้คอมมิวนิสต์ไว้ใจ เชียงไกเชค หรือพวกผู้นำแรงงานข้าราชการในอังกฤษ (2) เป็นการสร้างบรรยากาศ “ปฏิวัติ” เพื่อรณรงค์ให้คนงานในรัสเซียทำงานเร็วขึ้นด้วยความรักชาติ และ (3) เป็นการตรวจสอบพิสูจน์ว่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนไหนในต่างประเทศพร้อมจะ “หันซ้ายหันขวา” ตามคำสั่งของ สตาลิน เพื่อให้มีการกำจัดคนที่ไม่เชื่อฟัง และในที่สุด สตาลิน สามารถสร้างขบวนการคอมมิวนิสต์สากลให้เป็นเครื่องมือของรัสเซียได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ในยุคนั้นคอมมิวนิสต์ในไทยพยายามสร้าง “สหภาพแรงงานแดง” ภายใต้คอมมิวนิสต์ แทนที่จะสร้างสหภาพแรงงานที่รวมคนงานทุกคนเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวแบบ “แดงเอียงซ้าย” ตามแนว “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” ที่สตาลินเสนอ

ต่อมาในปี ๒๔๘๐ (1935) มีการยกเลิกนโยบาย “แดงเอียงซ้าย” เพื่อหันขวาอีกครั้งไปสู่การสร้างแนวร่วมกับรัฐบาลและพรรคนายทุนที่พอจะดูเป็นมิตร โดยไม่เลือกหน้าเลย การหันขวาแบบนี้ก็สอดคล้องกับนโยบายของสตาลินเช่นกัน เพราะสตาลินเริ่มกลัวอำนาจของเยอรมันภายใต้ฮิตเลอร์ ดังนั้นในปี ๒๔๘๔ (1941) คอมมิวนิสต์ในไทยจึงลงมือสร้างแนวร่วมกับ “นายทุนชาติ”

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนนี้กลายเป็นนโยบายหลัก และมีการให้เหตุผลว่าไทยเป็นสังคม “ศักดินากึ่งเมืองขึ้น” ที่ไม่อาจปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมได้ทันที เพราะต้องผ่านขั้นตอนปฏิวัติกู้ชาติเพื่อสร้างทุนนิยม ซึ่งเป็นสูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน จริงๆ แนวนี้เริ่มมีการเสนอในไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๓

สูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการปฏิวัติรัสเซียภายใต้การนำของ เลนินและตรอทสกี้ ในปี 1917 เพราะมีการกระโดดข้ามจากสังคมภายใต้ระบบฟิวเดิลไปสู่สังคมนิยม และตรงกับแนวคิด “ปฏิวัติถาวร” ของตรอดสกี้และมาร์คซ์

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในยุคที่สฤษดิ์กำลังแย่งอำนาจกับจอมพลป. ในปี ๒๕๐๐ (1957) วารสาร “ปิตุภูมิ” ของพรรคคอมมิวนิสต์เสนอว่า “สฤษดิ์เป็นขุนพลที่รักชาติและมีแนวโน้มไปทางประชาธิปไตย” และในปีนั้นผู้ปฏิบัติการของพรรคเข้าร่วมกับพรรคชาติสังคมของสฤษดิ์ (ใต้ธงปฏิวัติหน้า358)

เพียงหนึ่งปีหลังจากนั้น เมื่อสฤษดิ์ทำรัฐประหารรอบสอง พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเปลี่ยนการวิเคราะห์จอมพลสฤษดิ์ไปเป็นว่า สฤษดิ์เป็น “ฟาสซิสต์ของฝ่ายศักดินา” โดยไม่มีคำอธิบายแต่อย่างใด แต่ที่แน่นอนคือสฤษดิ์ได้ลงมือปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อย่างหนัก

การฝากความหวังไว้กับแนวร่วมข้ามชนชั้นกับนายทุนแบบนี้ ตามด้วยการถูกปราบอย่างหนัก เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินในช่วงนั้นในตะวันออกกลาง ในอินโดนีเซีย และเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นในปี 1926 เมื่อคอมมิวนิสต์จีนทำแนวร่วมกับ เชียง ไกเชก จากพรรคก๊กมินตั๋งแล้วโดนฆ่าทิ้งเกือบหมด

สำหรับไทยมันกลายเป็นหนึ่งข้ออ้างในการหันไปใช้ยุทธศาสตร์ชนบทล้อมเมือง เหมือนกับข้ออ้างของเหมาเจ๋อตุงในจีน โดยที่พรรคไทยไม่มีการทบทวนสรุปข้อบกพร่องของนโยบายพรรคแต่อย่างใด

นโยบายชนบทล้อมเมืองของพรรคไทยเริ่มมีการพูดถึงตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ (1950) แต่ลงมือทำกันอย่างจริงจังในปี ๒๕๐๔ (1961) ในยุคนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนกลายเป็นผู้ปกป้องแนวลัทธิสตาลินหลังจากที่สตาลินตายและผู้นำรัสเซียเริ่มตั้งคำถามกับเผด็จการสตาลิน

นโยบาย “ชนบทล้อมเมือง” นำไปสู่การที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยละเลยหน้าที่ที่จะนำการต่อสู้กับเผด็จการทหารในกรุงเทพฯ ในการลุกฮือ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ และนำไปสู่การละเลยที่จะปกป้องนักศึกษากับกรรมกรในเหตุการณ์ ๖ ตุลา สามปีหลังจากนั้น ส่วนการสู้รบในชนบทนำไปสู่ความพ่ายแพ้ในที่สุดเนื่องจากละเลยการต่อสู้ในเมือง ความเป็นเผด็จการภายในพรรค และการพึ่งพาแนวสตาลิน-เหมาของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ข้อเสียของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย คือการเดินตามแนวสตาลินโดยไม่ใช้แนวมาร์คซิสต์ และไม่ศึกษาข้อเขียนของเลนินกับตรอทสกี้หรือนักมาร์คซิสต์อื่นๆ เช่นกรัมชี่ หรือโรซา ลัคแซมเบอร์ค ข้อเสียนี้รวมถึงปัญหาแนว เหมาเจ๋อตุง ในเรื่องชนบทล้อมเมือง และปัญหาแนวร่วมข้ามชนชั้นกับนายทุน

ข้อดีของพรรค ซึ่งนักกิจกรรมในยุคปัจจุบันควรนำไปศึกษาคือ มีการเน้นการจัดตั้งในช่วงแรกในหมู่กรรมาชีพและนักศึกษา มีการให้ความสำคัญกับการตั้งกลุ่มศึกษาและห้องสมุด มีการใช้การต่อสู้ในรัฐสภาและนอกรัฐสภาพร้อมกัน และมีการให้ความสำคัญกับการผลิตหนังสือพิมพ์เพื่อนำมาขาย โดยมีเป้าหมายในการขยายสมาชิกพรรค

ดังนั้นผมจึงแนะนำให้นักเคลื่อนไหวในยุคนี้ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ไปหาอ่านหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ

20191220_194854

 

อ่านเพิ่ม

ประวัติศาสตร์โลกในมุมมองมาร์คซิสต์ ฉบับสังเขป Chris Harman แปลและเรียบเรียงโดย ใจ อึ๊งภากรณ์  https://bit.ly/2i294Cn

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้อถกเถียงทางการเมือง โดย ใจ อึ๊งภากรณ์ https://bit.ly/1sH06zu

ปัญหาของลัทธิสตาลินในขบวนการคอมมิวนิสต์สากลและผลกระทบต่อพรรคไทย https://bit.ly/2Mj3bSy

ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (๒๕๕๗) โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก ธง แจ่มศรี (๒๕๖๒)

 

การปฏิวัติชาตินิยมของเหมาเจ๋อตุง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ผู้นำจีนเคยอ้างเสมอว่าการปฏิวัติของ เหมาเจ๋อตุง ในปี 1949 เป็นการปฏิวัติ “สังคมนิยม” และพรรคคอมมิวนิสต์ของไทยเราก็เคยเชื่อทำนองนี้เหมือนกัน แต่ในการปฏิวัติของ เหมาเจ๋อตุง ชนชั้นกรรมาชีพจีนไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใดเลย

แท้จริงแล้วการปฏิวัติจีน เป็นการปฏิวัติชาตินิยม ที่อาศัยกองกำลังชาวนาแต่นำโดยปัญญาชนที่เป็นแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์

mao-zedong-1

ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนมักอ้างว่าสาเหตุที่การปฏิวัติจีนอาศัยกองทัพของชาวนา ก็เพราะจีนแตกต่างจากประเทศในยุโรปตรงที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวนา แต่เหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้น

ในรัสเซียสมัยปฏิวัติสังคมนิยมที่นำโดยชนชั้นกรรมาชีพในปี 1917 รัสเซียเป็นประเทศด้อยพัฒนา มีชาวนาถึง 160 ล้านคน และกรรมาชีพเพียง 3 ล้านคน (จีนในปี 1918 มีกรรมาชีพถึง 11 ล้านคน) แต่ เลนิน เข้าใจดีว่าชาวนาสร้างสังคมนิยมไม่ได้  เพราะชาวนาเสมือนผู้ประกอบการรายย่อยแบบปัจเจกชน ที่ไม่ต้องการรวมพลังการผลิตของทุนนิยมสมัยใหม่ไว้ภายใต้การควบคุมของส่วนรวม

e473d155df92683097a487b44f77dc23_w479_h293

นอกจากนี้การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนหันมาใช้กองทัพของชาวนาก็เพราะความผิดพลาดของพรรคเอง ที่ไปรวมตัวเข้ากับพรรค ก๊กมินตั๋ง ของนายทุนจีน ซึ่งจบลงด้วยการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างโหดร้ายป่าเถื่อนในปี 1927 ความผิดพลาดนี้มาจากนโยบายการสร้างแนวร่วมกับนายทุนของสตาลินในรัสเซียที่เสนอต่อพรรคคอมมิวนิสต์ในต่างประเทศ

หลังจากที่ถูกปราบ พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้เหมาจึงตัดสินใจหนีออกจากเมืองไปหาชาวนา ถ้าเปรียบเทียบกับพรรค บอลเชอร์วิค ของเลนิน  จะเห็นได้ว่า เลนินปฏิเสธแนวร่วมกับนายทุนตลอด    และเมื่อพรรคของเลนินถูกปราบปราม จะไม่หนีออกไปหาชาวนา แต่จะหลบซ่อนอยู่กับกรรมาชีพตามเมืองหรือบางครั้งหนีออกนอกประเทศ

ในวันที่ 11 มกราคม 1949 เพียง 9 เดือนก่อนชัยชนะ ของเหมาในจีน พรรคจีนมีคำสั่งกับกรรมาชีพดังนี้

“เราหวังว่ากรรมกรและพนักงานต่างๆ คงจะทำงานต่อไปอย่างปกติ เจ้าหน้าที่ของพรรคก๊กมินตั๋งในทุกระดับและตำรวจ จะต้องทำหน้าที่ต่อไปและเชื่อฟังคำสั่งจากกองทัพปลดแอก…”

maozedong1949.xinhua

ข้อสรุปคือ การปฏิวัติจีนในปี 1949 เป็นการปฏิวัติแบบ “ชาตินิยมกู้ชาติ” ไม่ใช่การปฏิวัติสังคมนิยม และหลังการปฏิวัติ ผู้ครองอำนาจจริงคือผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะชนชั้นกรรมาชีพและชาวนาไม่มีส่วนในการปกครองตนเองเลย ที่เห็นได้ชัดคือ หลังการปฏิวัติจีนไม่มีการตั้ง “สภาคนงาน” หรือแม้แต่ “สภาชาวนา”  กลไกในการปกครองตนเองจึงไม่มี ลักษณะแท้ของรัฐจีนคือ เผด็จการของพรรคข้าราชการเหนือประชาชน

การปฏิวัติยึดอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สำเร็จได้เพราะพรรคนายทุนจีนในพรรคก๊กมินตั๋ง หมดสภาพ และญี่ปุ่นพึ่งแพ้สงคราม

ชัยชนะของ เหมาเจ๋อตุง นำไปสู่การปลดแอกจีนจากมหาอำนาจจักรวรรดินิยม ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกาเกรงกลัวว่า “คอมมิวนิสต์” จะยึดโลก     และที่สำคัญคือชัยชนะของ เหมาเจ๋อตุง เปิดประตูให้มีการพัฒนาประเทศภายใต้ระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ซึ่งในที่สุดทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจอย่างที่เห็นทุกวันนี้

แต่สำหรับกรรมาชีพและเกษตรกรจีน การกดขี่ขูดรีดยังไม่สิ้นสุด

ทุนนิยมโดยรัฐในจีน

หลังการปฏิวัติ การบริโภคของประชาชนผู้ยากจน มีความสำคัญน้อยกว่าการผลิตเพื่อสะสมทุนโดยรัฐ ซึ่งเห็นได้จากข้อมูลสัดส่วนของรายได้ชาติที่นำไปลงทุนในอุตสาหกรรม ในปี 1952 การลงทุนใช้รายได้ของชาติประมาณ 15.7% และปี 1956 ใช้ ถึง 22.8 %  และการลงทุนในการผลิตอาวุธใช้ 18.1% ของรายได้ชาติในปี 1952 และในปี 1955 เพิ่มถึง 16.2% ในเมื่อจีนมีภาระในการลงทุนทางอุตสาหกรรมและการลงทุนทางทหารสูง แน่นอนรายได้ของกรรมาชีพย่อมเพิ่มช้ากว่าอัตราการผลิต ซึ่งถือว่าการขูดรีดแรงงานในยุคนี้ค่อนข้างสูง

ถ้าเราตรวจดูข้อมูลที่เปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานของกรรมาชีพกับรายได้ของคนงาน จะเห็นว่าอัตราการขูดรีดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 1953, 1954 และ 1955 ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น 13%, 15% และ 10% แต่ค่าแรงเพิ่มแค่ 5%, 2.6% และ 0.6% ตามลำดับ

การขูดรีดชาวนายิ่งหนักกว่าการขูดรีดแรงงานอุตสาหกรรมอีก  ระหว่างกรกฎาคม 1954 ถึง มิถุนายน 1955 รัฐได้เก็บภาษีในรูปแบบข้าวสารและผลิตผลอื่นๆ 52 ล้านต้น หรือ 30% ของผลิตผลเกษตรทั้งหมดของชาติ

ในระบบทุนนิยมโดยรัฐ รัฐข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมและการผลิตอาวุธ เพื่อสร้างจีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ ในขณะที่กรรมาชีพและเกษตรกรถูกขูดรีดอย่างหนักเพื่อการสะสมทุนดังกล่าว ระบบนี้ไม่ใช่สังคมนิยม แต่เป็นรูปแบบหนึ่งของทุนนิยม

ความผิดพลาดของ เหมา หลังการปฏิวัติ

เหมาเจ๋อตุง อาจนำการปฏิวัติชาตินิยมจีนถึงจุดสำเร็จ แต่ในการบริหารประเทศภายหลัง เหมาไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง ในปี 1958 เหมาเสนอให้แก้ปัญหาความด้อยพัฒนาของจีนด้วยวิธีทาง “จิตใจ” เหมาเสนอให้มีการ “ก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่” เพื่อให้จีนทันตะวันตกภายใน5-7ปี!! ไม่มีการคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจจีนแต่อย่างใด วิธีการที่เหมาใช้คือการรณรงค์ให้คนงานทำงานวันละ 18 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด ยกเลิกการพักกินข้าว บังคับให้ชาวนาทำนาร่วม และสร้างเตาหลอมเหล็กในทุกหมู่บ้าน ผลของการ “ก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่” คือเศรษฐกิจจีนพัง คนอดตาย 20 ล้านคน และในที่สุดผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์พยายามกีดกันไม่ให้เหมามีบทบาทในการนำอีก

แต่เหมาไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ในปี 1966 เหมาจึงหันมาปลุกระดมคนหนุ่มสาวไฟแรงที่ไม่พอใจกับเจ้าหน้าที่คอมมิวนิสต์ซึ่งเริ่มมีลักษณะแบบขุนนาง มีการตั้งกองกำลังแดง และมีการเชิดชูเหมาเหมือนพระเจ้า ผลของ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสงครามภายในพรรคคอมมิวนิสต์ คือเกิดสงครามกลางเมืองทั่วประเทศ เศรษฐกิจยิ่งทดถอย และในที่สุดผู้นำจีนต้องใช้กองทัพในการปราบปรามกองกำลังแดงและคนหนุ่มสาว คาดว่าตายเป็นหมื่นและคนหนุ่มสาว 17 ล้านคนถูกส่งไป “อบรมใหม่” ในชนบท เรื่องราวของยุคสมัยนั้นหาอ่านได้ในหนังสือหลายเล่มเช่นเรื่อง หงษ์ป่า

chinese-red-guards

เหมาอาจชนะการปฏิวัติวัฒนธรรมชั่วคราว แต่เมื่อเหมาตายในปี 1976 พรรคพวกของเขา ที่เรียกกันภายหลังว่า “แก๊งสี่คน” ก็ถูกกำจัดไปและ เติ้ง เสี่ยว ผิง ก็ขึ้นมามีอำนาจ สองปีต่อมามีการประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ คือหันหน้าเข้าสู่กลไกตลาดเสรีนั้นเอง

ปัจจุบันจีนเป็นประเทศทุนนิยมตลาดเสรีภายใต้เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์

tiananmen-square

ในปี 1989 หลังกำแพงมืองเบอร์ลินถูกพังทลาย สงครามเย็นก็สิ้นสุดลงท่ามกลางการล่มสลายของเผด็จการคอมมิวนิสต์แนวสตาลินในรัสเซียและยุโรปตะวันออก นักศึกษาและกรรมาชีพจีนที่ไม่พอใจกับสภาพความเป็นอยู่มานานจึงได้กำลังใจและออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน  มีการร้องเพลง “แองเตอร์นาซิอองนาล” ของฝ่ายสังคมนิยม ซึ่งสะท้อนว่านักศึกษาส่วนหนึ่งผิดหวังกับรัฐบาลจีนที่ไม่สร้างสังคมนิยมจริงๆ ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน แต่เผด็จการพรรคคอมิวนิสต์ใช้กำลังทหารปราบปรามนักศึกษาและกรรมาชีพอย่างรุนแรง

image

กรรมาชีพจีนในสมัยนี้

ระหว่างปี 1978 และ 2015 คนรวยที่สุด10% ในจีน เพิ่มการครองสัดส่วนของรายได้ชาติ จาก 27% เป็น41% ในขณะที่คนธรรมดาที่จนที่สุด 50% ของประเทศ ครองสัดส่วนของรายได้ชาติลดลง จาก 27% เหลือเพียง 15% ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่าทุนนิยมกลไกตลาดเสรีในจีนมีผลในการเพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างถึงที่สุด

ในยุคปัจจุบัน กรรมาชีพจีนมีประมาณ 800 ล้านคน ซึ่งกระจุกอยู่ตามเมืองสำคัญๆ เขตอ่าวแม่น้ำไข่มุก มีประชากร 69 ล้านคน เขตนี้เป็นศูนย์กลางการผลิตของบริษัทไอที และการประกอบรถยนต์ โดยที่เชื่อมโยงกับระบบไฟแนนส์และท่าเรือของฮ่องกง เศรษฐกิจในเขตนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนโตกว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย และมีการดึงเกษตรกรจากชนบทมาเป็นกรรมาชีพเป็นล้านๆ คน

China-Inequality

อย่างไรก็ตามทั้งๆ ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ความเหลื่อมล้ำในถูมิภาคนี้สูงมาก และคนงานใหม่ที่อพยพเข้ามาจากชนบท 63.8% ต้องทำงาน 7 วันโดยไม่มีวันหยุด โดยชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์เฉลี่ยประมาณ 56 ชั่วโมง

สภาพเช่นนี้นำไปสู่การฆ่าตัวตายในโรงงาน Foxconn แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือนำไปสู่การต่อสู้ของกรรมาชีพ ในหนึ่งปีที่ผ่านมามีการนัดหยุดงานเกิดขึ้น 1,100 ครั้ง เกือบครึ่งหนึ่งในภาคก่อสร้าง และนักศึกษาจีนจาก 20 มหาวิทยาลัยก็มาสนับสนุนช่วยคนงานทั้งๆ ที่มักโดนปราบปรามจากรัฐ

headley_chinaprotests_rtr2uqft

อนาคตของการสร้างเสรีภาพ ความเท่าเทียม และประชาธิปไตยในจีน อยู่ในมือของกรรมาชีพและนักศึกษา

สหายธง แจ่มศรี และการเมืองแนวลัทธิ “สตาลิน -เหมา” ของ พคท.

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในปลายปี ๒๕๕๒ ทั้งๆ ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สิ้นสภาพการเป็นพรรคนานแล้วตั้งแต่ “ป่าแตก” แต่ได้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่เรียกตัวเองว่าสมาชิก พคท. ซึ่งความขัดแย้งนี้สะท้อนความแตกแยกในสังคมไทยโดยทั่วไประหว่าง “เหลือง” กับ “แดง”

ส่วนหนึ่งของคนที่เรียกตัวเองว่าสมาชิก พคท. ไปเข้าข้างเสื้อเหลือง ชูเจ้า และต้านทักษิณ และอีกส่วน ซึ่งรวมถึง สหายธง แจ่มศรี ออกมาคัดค้านและสนับสนุนเสื้อแดงกับทักษิณ

จุดยืนของ สหายธง แจ่มศรีตรงนี้ ถือว่าก้าวหน้ากว่าอีกซีก เพราะเข้าข้างประชาธิปไตย และมวลชนคนธรรมดาจำนวนมาก โดยเฉพาะคนจน แทนที่จะกอดคอกับทหารเผด็จการและพวกอวยเจ้า

อย่างไรก็ตามจุดยืนของสหายธง แจ่มศรี ไม่ได้มาจากเงื่อนไขการเข้าข้างประชาธิปไตย และมวลชนคนธรรมดาจำนวนมากเป็นหลัก แต่มาจากมุมมองที่แสวงหาแนวร่วมกับนายทุน ตามสูตร “ปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย” ของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมาทั่วโลก ซึ่งรวมถึงไทยด้วย

ในความเป็นจริงจุดยืนของ พคท. สายเสื้อเหลืองก็เริ่มจากจุดยืนนี้เหมือนกัน แต่มีการทำให้การแสวงหาแนวร่วมกับชนชั้นนายทุน แปรเปลี่ยนผิดเพี้ยนไปยิ่งขึ้น เพื่อเป็นข้ออ้างในการไปจับมือกับพวกเสื้อเหลือง ปรากฏการณ์นี้ไม่แตกต่างจากพวกสายเอ็นจีโอที่ไปเข้ากับเสื้อเหลืองด้วย

การวิเคราะห์สังคมไทยตามแนว เหมาเจ๋อตุง และ สตาลิน ของ พคท. ที่เคยเสนอว่าไทยยังเป็นสังคม “กึ่งศักดินา” ที่มีความขัดแย้งระหว่างศักดินากับนายทุนดำรงอยู่ พร้อมกับการมีลักษณะ “กึ่งเมืองขึ้น” ของสหรัฐอเมริกา นำไปสู่ข้อเสนอของ พคท. ว่าการปฏิวัติไทยในขั้นตอนแรกยังไม่ควรนำไปสู่สังคมนิยม แต่ควรเป็นการปฏิวัติชาตินิยมเพื่อสร้างประชาธิปไตยทุนนิยม ในรูปธรรมมันแปลว่า พคท. พร้อมจะทำแนวร่วมข้ามชนชั้นกับชนชั้นนายทุนไทย เพื่อต้านสิ่งที่เขาเรียกว่าพวกขุนศึกและศักดินา มันมีต้นกำเนิดจากลัทธิสตาลินในรัสเซีย ที่ต้องการให้พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกทำแนวร่วมกับนายทุน เพื่อปกป้องเสถียรภาพของรัสเซียด้วยการลดศัตรู มันกลายเป็นแนวกู้ชาติ และมันเป็นข้อเสนอที่ขัดแย้งกับจุดยืนหลักของนักมาร์คซิสต์ อย่างมาร์คซ์ เลนิน หรือตรอทสกี้ เพราะมีการเสนอให้กรรมาชีพและชาวนาร่วมมือกับนายทุนผู้เป็นศัตรู และชะลอการต่อสู้เพื่อสังคมนิยม [ดู “สังคมนิยมจากล่างสู่บน” https://bit.ly/2vbhXCO  เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้อถกเถียงทางการเมือง(บทเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์) https://bit.ly/1sH06zu   และ “แนวของตรอทสกี้”  https://bit.ly/2zCPB5h ]

yai1

การปฏิวัติในจีน ลาว เวียดนาม และที่อื่นที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศด้อยพัฒนา จึงมีลักษณะชาตินิยมเป็นหลัก เป้าหมายกลายเป็นการสร้างระบบทุนนิยม และไม่ใช่การปฏิวัติที่นำโดยชนชั้นกรรมาชีพหรือแม้แต่ชาวนาแต่อย่างใด ในรูปธรรมสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ในเรื่องความอ่อนแอของทุนชาติในประเทศเหล่านั้น แปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ต้องเข้ามาเป็น “นายทุนรัฐ” เสียเอง จึงเกิดระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ”ซึ่งในปัจจุบันแปรธาตุไปเป็นทุนนิยมตลาดเสรีภายใต้เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ในจีน ลาว หรือเวียดนาม

การวิเคราะห์สังคมไทยโดย พคท. ในยุคหลัง ๖ ตุลา มีปัญหามาก เพราะระบบศักดินา ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ สิ้นไปจากสังคมไทยในยุครัชกาลที่ ๕ และประเทศไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐแต่อย่างใด ในความจริงรัฐไทยเป็นรัฐทุนนิยมที่เอื้อกับระบบทุนนิยมไทยในโลกที่มีอำนาจจักรวรรดินิยมดำรงอยู่ คือประเทศใหญ่มีอำนาจมากกว่าประเทศเล็กโดยไม่ต้องนำมาเป็นเมืองขึ้น [ดู “การเปลี่ยนแปลงจากศักดินาสู่ทุนนิยมในไทย” https://bit.ly/2ry7BvZ   และ “การเมืองไทย” https://bit.ly/2t6CapR ]

แต่ปัญหาใหญ่สุดของแนว พคท. คือการที่ไม่นำการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมโดยมีชนชั้นกรรมาชีพเป็นศูนย์กลางการต่อสู้ แต่กลับไปเน้นการสร้างชาติโดยจับมือกับนายทุน

ฝ่ายซ้ายในวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา ต้องสนับสนุนคนชั้นล่างในการต่อสู้กับเผด็จการ เพื่อสร้างประชาธิปไตย โดยเน้นผลประโยชน์ของกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจนเป็นหลัก และต้องพยายามสร้างพรรคของคนชั้นล่าง ไม่ใช่ไปอวยนักการเมืองนายทุนอย่างทักษิณที่หักหลังการต่อสู้ของเสื้อแดงด้วยการเสนอนิรโทษกรรมเหมาเข่ง หรือการยุติบทบาทของเสื้อแดงเพื่อหวังประนีประนอมกับทหาร และในปัจจุบันมันแปลว่าต้องไม่สร้างความหวังในพรรคนายทุนอย่างพรรคอนาคตใหม่ หรือสร้างความหวังในระบบรัฐสภาภายใต้เผด็จการประยุทธ์ คือต้องเน้นการเคลื่อนไหวของมวลชนนอกสภาเป็นหลัก [ดู “มาร์คซิสต์วิเคราะห์ปัญหาสังคมไทย” https://bit.ly/3112djA ]

20190714-img_9312

สำหรับสหายธง แจ่มศรี เขาไม่เคยทิ้งจุดยืนสามัคคีข้ามชนชั้นแบบสตาลิน-เหมา ทั้งๆ ที่มีการปรับในภายหลังว่าไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอีกแล้วตั้งแต่มีการถอนทหารออกไปในปี ๒๕๑๙

สหายธง แจ่มศรี เคยเขียนในปี๒๕๕๒ ว่า “ผมเห็นว่าปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมทุนนิยมแล้วในด้านเศรษฐกิจ แต่ภาคการเมืองการปกครอง วัฒนธรรมและความคิดของผู้คนในสังคมยังไม่เป็นระบอบประชาธิปไตย…..  หลังเหตุการณ์ ๑๔  ตุลา  ๒๕๑๖  เป็นต้นมา  ศักดินามีบทบาทนำสูงสุดในการบงการรูปแบบการเมืองการปกครองของไทย เช่นรูปแบบการเลือกตั้ง การรัฐประหาร ประชาธิปไตยครึ่งใบเหล่านี้เป็นต้น….. ดังนั้นขณะนี้สังคมไทยถูกปกครองโดย “ราชาธิปไตย” หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราช(ใหม่)”  เพราะได้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าสถาบันนี้อยู่เหนือรัฐ กลไกรัฐไม่สามารถควบคุมได้ (ไม่มีความเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย) ซึ่งกลุ่มนี้ได้พัฒนาตนเองเป็น “ทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ”

สหายธง แจ่มศรี เสนออีกว่า “ทักษิณ ชินวัตร มีแนวคิดทุนนิยมเสรีใหม่ และเป็นกลุ่มทุนผูกขาดกลุ่มใหม่ที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ”

ในความเป็นจริงเราไม่ได้อยู่ในสังคมที่เป็น “ราชาธิปไตย” หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราช(ใหม่)”  แต่เราอยู่ในสังคมที่ถูกครอบงำโดยเผด็จการทหารที่จับมือกับนายทุนและพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยม [ดู “อำนาจกษัตริย์” https://bit.ly/2GcCnzj ] นอกจากนี้ ทั้งๆ ที่ สหายธงเสนอว่า “ทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ” มีความสัมพันธ์กับทุนโลกาภิวัตน์ แต่เขาวิเคราะห์ทักษิณว่าเป็น “นายทุนเสรีนิยมใหม่” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสับสนเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง เพราะฝ่ายเหลือง ประชาธิปัตย์ และทหารเผด็จการคลั่งกลไกตลาดเสรีมากกว่าทักษิณ ทักษิณใช้กลไกตลาดผสมเศรษฐกิจนำโดยรัฐ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนจน สิ่งที่ไทยรักไทยเรียกว่าเศรษฐกิจคู่ขนาน

D_FxFoOUwAE8FgZ

ข้อดีของ พคท. และจุดยืนของ สหายธง แจ่มศรี ไม่ใช่เนื้อหาการวิเคราะห์สังคมไทยที่ผิดพลาด หรือการเสนอแนวร่วมกับนายทุน แต่เป็นเรื่องการให้ความสำคัญกับการสร้างพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่ไม่จำเป็นต้องสนใจรัฐสภาเป็นหลัก และการที่เขาพยายามเสนอแนวทางในการต่อสู้ผ่านการศึกษาและพัฒนาทฤษฏี เรายังรอวันที่จะมีการสร้างพรรคแบบนั้นขึ้นมาใหม่ในไทย