Tag Archives: แรงงาน

แรงงานไม่ควรหลงเลือกนายใหม่ในรูปแบบพรรคอนาคตใหม่

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

มันเป็นเรื่องดีมากๆ ที่พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคที่ออกมาวิจารณ์เผด็จการทหารปัจจุบันอย่างเป็นระบบ และเสนอว่าจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่ใช่ของทหาร พร้อมกับรื้อถอนข้อบังคับต่างๆ ของเผด็จการประยุทธ์ที่จำกัดพื้นที่ประชาธิปไตย และเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทยหรือพรรคสามัญชน พรรคอนาคตใหม่พูดชัดเจนกว่าในเรื่องนี้

แต่เราก็ต้องตั้งคำถามว่าจะทำได้อย่างไร เพราะการมีเสียงส่วนใหญ่ในสภา ถ้าเกิดมีจริงในอนาคต จะไม่ทำให้ข้อเสนอเหล่านี้มีพลัง การรื้อถอนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี การรื้อถอนวุฒิสภาที่ทหารแต่งตั้ง และการรื้อถอนตุลาการที่อยู่ฝ่ายเผด็จการ ต้องอาศัยพลังมวลชนนอกรัฐสภา ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ลงมือสร้างแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการสังกัดหรือสนับสนุนพรรคไหน กรรมาชีพในขบวนการแรงงานควรพิจารณาเรื่องอื่นอีกด้วย เรื่องสำคัญคือเรื่องจุดยืนทางชนชั้น

แรงงาน 011

ผมเคยเขียนเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานของหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่คือ ในรายการสดของ The Standard http://bit.ly/2DI5maR  ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พูดชัดเจนว่าในอดีตเมื่อสหภาพแรงงานในโรงงานไทยซัมมิทเรียกร้องโบนัสเท่าเทียมกับสำนักงานใหญ่ ธนาธร และบริษัทซัมมิทตัดสินใจปิดโรงงานและไล่คนงานทุกคนออก เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการนัดหยุดงาน

นอกจากนี้เราทราบจากข่าว “ประชาไท” ว่าบริษัทไทยซัมมิทอีสเทิร์น ซีบอร์ด ออโต้พาร์ท อินดัสตรี ได้สั่งเลิกจ้างคนงาน 50 คนในวันที่ 26 ธันวาคม 2549 เพราะได้ไปสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้าประเทศไทย และทางบริษัทเกรงว่าจะทำให้ลูกจ้างมีอำนาจต่อรองกับบริษัทมากขึ้นหากมีสหภาพแรงงานแบบนี้

57-5

ในรายการโทรทัศน์หลายครั้ง ธนาธร ออกมาสั่งสอนนักสหภาพแรงงานเหมือนเป็นครูใหญ่และพูดว่าธุรกิจ “ต้อง” ได้กำไรเพิ่มก่อนที่จะเพิ่มค่าจ้างหรือปรับสวัสดิการให้ดีขึ้น พูดง่ายๆ ผลประโยชน์ของนายทุน 1% ของประชากร สำคัญกว่าผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ 99% และเมื่อนายทุนกินอิ่มแล้ว เศษอาหารที่เหลือบนโต้จะเป็นของแรงงาน นอกจากนี้เมื่อไม่นานมานี้ ธนาธร พูดว่าจะ “ปกป้องทุนนิยม” และอ้างว่าทำเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ แต่ในรูปธรรมระบบทุนนิยมให้ประโยชน์กับนายทุนเป็นหลัก และระบบกลไกตลาดเสรีทำให้มีการกดค่าแรงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันเสมอ และการแข่งขันดังกล่าวนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจเป็นประจำอีกด้วย

ถ้าคนส่วนใหญ่ถือครองปัจจัยการผลิต โดยไม่มีนายทุน มันไม่จำเป็นต้องมีกำไรที่ตกอยู่ในมือนายทุน แต่ส่วนเกินจากการผลิตจะนำมาลงทุนเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ โดยคนส่วนใหญ่ในสถานประกอบการและคนในสังคมจะร่วมกันตัดสินใจว่าจะลงทุนในอะไร นั้นคือตัวอย่างของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ แต่นั้นไม่ใช่เป้าหมายของพรรคอนาคตใหม่

ธนาธร และพรรคอนาคตใหม่พูดว่าอยากจะ “ให้โอกาส” กับทุกคน แต่การให้โอกาสกับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมจะเกิดได้ต่อเมื่อทุกคนมีรายได้และทรัพย์สินเท่ากัน ซึ่งไม่ใช่ข้อเสนอของพรรค มีการเสนอแนวคิด Negative Income Tax หรือเงินคืนภาษีให้คนรายได้น้อยกว่า 100,000บาทต่อปี เพื่อ “แก้ปัญหาความยากจน” แต่การให้เงินคนจนแบบนี้เป็นข้อเสนอของนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายขวา เพราะเงินที่จะให้คนจนมาจากงบประมาณของรัฐ ซึ่งแปลว่ากลุ่มทุนหรือธุรกิจไม่ต้องเพิ่มค่าจ้าง และเงินนี้จะได้จากการเก็บภาษีจากคนทำงานที่รายได้มากกว่าหมื่นบาทต่อเดือน หรือจากภาษีมูลค่าเพิ่ม พูดง่ายๆ มันเป็นการสร้างภาพว่าช่วยคนจนโดยที่กลุ่มทุนไม่ต้องเสียผลประโยชน์เลย นอกจากนี้ในสังคมไทยคนที่จนที่สุดไม่มีงานประจำถาวรและไม่ได้เสียภาษี คำถามคือจะให้เงินกับคนเหล่านี้ได้อย่างไร

2 Capitalist

ในขณะเดียวกันพรรคอนาคตใหม่ไม่มีข้อเสนอให้รื้อถอนกฏหมายแรงงานที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน และร่างกฏหมายแรงงานใหม่ที่ให้อำนาจกับสหภาพ ไม่มีข้อเสนอให้เก็บภาษีในอัตราสูงจากเศรษฐีหรือกลุ่มทุน ไม่มีข้อเสนอเป็นรูปธรรมว่าจะสร้างรัฐสวัสดิการ และไม่มีการรับข้อเสนอเรื่องการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในระดับเดียวกันกับคำเรียกร้องของสหภาพต่างๆ

นอกจากนี้ในปัญหาของสังคม พรรคอนาคตใหม่ไม่เสนอให้ยกเลิก 112 ไม่เสนอให้สตรีมีสิทธิทำแท้งเสรี และไม่เสนอให้ชาวปาตานีสามารถกำหนดอนาคตตนเองโดยไม่ต้องพิจารณาความมั่นคงของชาติ

ในแวดวงนักสหภาพแรงงานมักจะมีการตั้งคำถามกันว่า “จะอยู่อย่างเป็นทาส หรือจะร่วมกันต่อสู้?” การที่แรงงานไม่สร้างพรรคของกรรมาชีพเอง และคอยเดินตามก้นพรรคนายทุน ไม่ว่าจะเป็นพรรคนายทุนหน้าเก่าอย่างเพื่อไทย หรือพรรคนายทุนหน้าใหม่อย่างอนาคตใหม่ แปลว่ากรรมาชีพจะอยู่อย่างเป็นทาสและเป็นแค่ “กบเลือกนาย” แรงงานต้องมีศักดิ์ศรีมากกว่านั้น

frog_mini

ท่าทีสหภาพแรงงานก้าวหน้าต่อรัฐประหาร

ท่าทีสหภาพแรงงานก้าวหน้าต่อรัฐประหาร

protest-at-moratuwa

ในช่วงวิกฤตการเมืองที่นำไปสู่การทำรัฐประหารรอบล่าสุด เรามักได้ยินข่าวเกี่ยวกับสหภาพแรงงานบางองค์กรจากรัฐวิสาหกิจ เช่นการบินไทย กฟผ. หรือรถไฟ ที่ปฏิกิริยา สนับสนุนม็อบสุเทพ และเลียก้นทหาร แต่พวกนั้นเป็นเพียงนักสหภาพข้าราชการที่มาจากบางส่วนของรัฐวิสาหกิจเท่านั้น เราจึงไม่ควรเหมารวมว่าแรงงานในภาคส่วนอื่นๆ หรือแม้แต่คนทำงานธรรมดาในรัฐวิสาหกิจไม่ตื่นตัวและรักประชาธิปไตย

“เลี้ยวซ้าย” สัมภาษณ์แกนนำคนหนึ่งของ “กลุ่มคนงานต้านรัฐประหาร” จากย่านโรงงานแถวๆ กรุงเทพฯ

 

รัฐประหารครั้งนี้มีผลกระทบกับสหภาพแรงงานอย่างไร?

“มีผลกระทบแน่นอน กิจกรรมของสหภาพ ต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะบางสหภาพแรงงาน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจาโบนัสกลางปี ปกติเคยนำคนงานมาชุมนุมกดดันนายจ้างเพื่อให้ได้โบนัสตามที่ สร.เสนอ แต่เมื่อมีรัฐประหาร สหภาพแรงงานกลัว ไม่กล้าออกมากดดันให้ข้อเรียกร้องตนบรรลุเป้าหมาย”

 

นักสหภาพแรงงานฝ่ายประชาธิปไตยมีแผนรับมือกับสถานการณ์ภายใต้เผด็จการทหารอย่างไร?

“แผนรับมือ คือเราก็พยายามต่อต้านกันทุกรูปแบบ ตั้งแต่วันแรกงัดเอาเสื้อต้านรัฐประหารมาใส่กัน กระจายข่าวในเฟส และเตรียมตัวออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการณ์ แต่เราต้องทำแบบหลบๆซ่อนๆ จึงล่าช้า เราแอบแจกแถลงการณ์ในโรงงาน แอบวางตามห้องน้ำในห้างต่างๆ ย่านชานเมืองที่คนงานและคนทั่วไปไช้ และในต่างจังหวัดด้วย

เราไม่อยากถูกจับ เราไม่ต่างจากคนอื่น แต่สถานการณ์บ้านเราก็ต้องเดินหน้าแบบนี้ ไม่มีทางเลือกอื่น มัวกลัวก็คงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้”

 

ภาระข้างหน้าของสหภาพแรงงานควรจะเป็นอย่างไร? เพื่อร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยโดยรวม

“ถึงที่สุดในภายภาคหน้าเราคงต้องเข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยกับส่วนกลาง เพื่อให้เป็นพลังมากยิ่งขึ้น และคงต้องพยายามติดต่อ สร.ในเครือข่ายที่อยู่ ต่างประเทศให้ช่วยกดดันให้ทหารกลับที่เดิม และให้มีเลือกตั้ง ข้อเรียกร้องเราอยู่ในแถลงการณ์ที่แนบมา”

 

คนงานรากหญ้า สมาชิกทั่วไปในสหภาพ แคร์เรื่องรัฐประหารหรือไม่?

คนงานรากหญ้าทั่วไป เข้าใจเรื่องรัฐประหารค่อนข้างดีกว่าผู้นำด้วยซ้ำ เพราะมีบาง สร.ผู้นำเอาข้าวเอาน้ำไปให้ทหาร สมาชิกสหภาพแรงงานออกมาด่า ว่าจะไม่จ่ายเงินค่าสมาชิก และจะไม่ให้ความร่วมมือกับ สร.นั้นอีก หากกรรมการสร.ยังคงมีจุดยืนเช่นนี้ และคนงานหลายคนแจ้งมายังกรรมการบางคนว่าให้ช่วยนำเค้าออกไปเคลื่อนไหวต้านรัฐประหาร

 

กลุ่มคนงานต้านรัฐประหาร

กลุ่มคนงานต้านรัฐประหารจากย่านอุตสาหกรรมใกล้เคียงกรุงเทพฯ ออกแถลงการณ์ “ไม่เอารัฐประหาร” โดยประกาศจุดยืนว่าการทำรัฐประหารครั้งนี้ เป็นการกระทำที่เหยียบย่ำหัวใจผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั้งชาติ เป็นการกระทำที่ทำลายประชาธิปไตย ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และปิดกั้นการรวมตัวของประชาชน ซึ่งรวมถึงเสรีภาพของสหภาพแรงงานที่ในภาวะปกติถูกขัดขวางโดยนายจ้างอยู่แล้ว

กลุ่มคนงานต้านรัฐประหาร ยืนยันว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาขบวนการแรงงานมีส่วนสำคัญในการต่อต้านรัฐประหารและระบบเผด็จการ และหลังรัฐประหารหลายครั้งมีการออกกฎหมายที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพของชนชั้นผู้ทำงาน

กลุ่มคนงานต้านรัฐประหารอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก เมื่อเห็นแรงงานซีกหนึ่งไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มมอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ และ การโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

กลุ่มคนงานต้านรัฐประหารมีจุดยืนห้าข้อดังนี้คือ

  1. เรียกร้องให้ ยกเลิกกฎอัยการศึกทันที
  2. คัดค้านการทำรัฐประหาร
  3. เรียกร้องให้คืนอำนาจให้ประชาชนทันที
  4. เรียกร้องให้ปล่อยตัวประชาชนที่ถูกจับ
  5. คัดค้านการที่ทหารจะนิรโทษกรรมตัวเอง

เชิญอ่านรายละเอียดของแถลงการณ์ที่แนบมาเป็นภาพ….

WDeclaration