ใจ อึ๊งภากรณ์
เมื่อไม่นานมานี้นักข่าวหนังสือพิมพ์ Financial Times ซึ่งเป็นปากเสียงของนายทุนอังกฤษ ได้เสนอว่าการปฏิวัติในประเทศซูดานมีบรรยากาศคล้ายกับการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ในยุคเลนิน ประโยคแบบนี้ทำให้เรารู้ว่าการปฏิวัติในซูดานมีความสำคัญยิ่ง และทำให้เราเข้าใจว่าการปฏิวัติในแอลจีเรีย ที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับซูดาน มีความสำคัญพอๆ กัน
สำหรับนักมาร์คซิสต์สังคมนิยม การต่อสู้ในทั้งสองประเทศ ต้องขยับจากการลุกฮือเพื่อประชาธิปไตยทุนนิยม ไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยม สาเหตุที่เรามีมุมมองแบบนี้ก็เพราะภายใต้ระบบทุนนิยมปัจจุบัน ข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาของประชาชนจะประสบความล้มเหลวถ้าไม่ปฏิวัติต่อไป ซึ่งจะอธิบายเหตุผลในท้ายบทความนี้
เรื่องนีเกี่ยวข้องโดยตรงกับทฤษฏี “การปฏิวัติถาวร” ของ ลีออน ตรอทสกี้ [ดู https://bit.ly/2zCPB5h ]
การลุกฮือของชาวซูดาน เพื่อโค่นล้มระบบเผด็จการของประธานาธิบดี อัล บาเชียร์ ระเบิดขึ้นเนื่องจากนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลภายใต้คำแนะนำของไอเอ็มเอฟ ประชาชนธรรมดาเดือดร้อนมากเพราะราคาข้าวของเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นราคาขนมปัง ที่เพิ่มขึ้นสามเท่าตัว
อัล บาร์เชียร์ เป็นทหารที่ขึ้นสู่อำนาจผ่านการทำรัฐประหารที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองอิสลามสุดขั้วในปี 1989 หลังจากนั้นก็มีการจัดการเลือกตั้งปลอมเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป พร้อมกันนั้นมีการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างหนัก

ในการต่อสู้ครั้งนี้มีมวลชนหลายแสนออกมาประท้วง จนนายทหารคนอื่นในชนชั้นปกครองซูดานมองว่ารัฐบาลคงไปต่อไม่ไหว ทหารจึงเขี่ย อัล บาเชียร์ ออกจากตำแหน่งและตั้งคณะทหารมาปกครองประเทศเพื่อเอาตัวรอด วิธีแบบนี้เคยถูกใช้ในการปฏิวัติอียิปต์ ในช่วง “อาหรับสปริง” และประชาชนไม่น้อยถูกหลอกให้ไว้ใจทหาร แต่คราวนี้ในซูดาน มวลชนไม่พอใจและชุมนุมต่อไป โดยเฉพาะหลังจากที่คณะทหารแจ้งว่าจะปกครองประเทศต่ออีกสองปี การต่อสู้ของมวลชนบังคับให้หัวหน้าคณะทหารคนแรกต้องลาออกหลังดำรงตำแหน่งได้เพียงหนึ่งวัน (ภาพข้างล่าง)
แต่มวลชนยังต้องต่อสู้ต่อไปกับคณะทหาร โดยชุมนุมต่อเนื่องหน้ากองบัญชาการทหาร
ที่น่าทึ่งคือ พลังมวลชนในซูดานมาจากบทบาทของการนัดหยุดงานและเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานคอปกขาว พวกนี้เป็นแกนนำของแนวร่วมที่มีชื่อว่า “พลังเพื่อประกาศอิสรภาพและการเปลี่ยนแปลง” นอกจากนี้อีกเรื่องหนึ่งที่น่าทึ่งคือบทบาทสำคัญของสตรีในการนำม็อบ
นอกจากกรรมาชีพคอปกขาวแล้ว คนงานในองค์กรไฟฟ้า องค์กรโทรคมนาคม ท่าเรือ และโรงสี ก็นัดหยุดงานด้วย
ภายในม็อบมีการจัดการอะไรเองหลายอย่าง เช่นความปลอดภัย การทำอาหารเลี้ยงผู้ชุมนุมและเด็กยากจนที่ไร้ที่อยู่อาศัย การบันเทิงซึ่งประกอบไปด้วยการร้องเพลงและการจัดจอโทรทัศน์เพื่อดูฟุตบอล์ นอกจากนี้มีศูนย์พยาบาลอีกด้วย ภายในที่ชุมนุมมีความสามัคคีระหว่างคนต่างศาสนาต่างเชื้อชาติ มันสะท้อนหน่ออ่อนของสังคมใหม่ที่อาจเป็นไปได้ถ้าประชาชนมีอำนาจในการปกครองตนเอง
ข้อเรียกร้องหลักของขบวนการผู้ชุมนุมคือ ทหารต้องออกจากการเมือง พลเรือนต้องตั้งรัฐบาลชั่วคราว ซึ่งต้องประกอบไปด้วยสตรีเกือบครึ่งหนึ่งและคนจากหลากหลายศาสนาเชื้อชาติ แน่นอนมันมีการถกเถียงกันระหว่างคนที่อยากประนีประนอมกับอำนาจรัฐ และคนที่อยากปฏิวัติโค่นรัฐเก่า แต่ทุกคนเข้าใจว่าการนัดหยุดงานและการชุมนุมเป็นหลักประกันสำคัญของชัยชนะ
อย่างไรก็ตามการต่อสู้ของชาวซูดานถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะคณะทหารทำเหมือนจะตกลงกับแกนนำ “พลังเพื่อประกาศอิสรภาพและการเปลี่ยนแปลง” เสร็จแล้วก็พยายามใช้ความรุนแรงในการปราบปรามม็อบ แต่ยังไม่สำเร็จ ข้อตกลงกับทหารครั้งนี้เป็นแผนซื้อเวลาของทหาร และอันตรายอย่างยิ่งกับฝ่ายปฏิวัติ เพราะไม่มีความชัดเจนว่าทหารจะลงจากอำนาจในคณะปกครองประเทศชั่วคราว และมีการยืดเวลากำหนดเลือกตั้งออกไปสามปี

ล่าสุดมีการประกาศนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อกดดันทหาร
การลุกฮือในแอลจีเรีย มาจากการต่อสู้เพื่อกีดกันการสืบทอดอำนาจของผู้นำประเทศที่หมดสภาพเพราะความชราที่ชื่อ บูเตฟลิกา ผู้นำคนนี้ประกาศว่าอยากอยู่ต่ออีก 4 ปีทั้งๆ ที่ครองอำนาจมาเกือบยี่สิบปีผ่านการใช้อำนาจกึ่งเผด็จการ บูเตฟลิกา ขึ้นมามีอำนาจหลังจากสงครามกลางเมืองอันโหดร้ายทารุณระหว่างกองทัพกับพรรคอิสลามที่เคยชนะการเลือกตั้ง “ยุคสิบปีแห่งความมืด” นี้เกิดขึ้นระหว่าง 1992-2002 และก่อนที่จะมีการลุกฮือปีนี้มันมีกฏหมายห้ามการชุมนุมที่ตกค้างจากยุคมืดเผด็จการ

รัฐบาลของบูเตฟลิกา ใช้งบประมาณจากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เพื่อพยุงความเป็นอยู่ของประชาชน แต่พอราคาทรัพยากรเหล่านี้ตกต่ำในตลาดทุนนิยมโลก การว่างงานก็เพิ่มขึ้น
หลังจากมวลชนออกมาประท้วงและมีการนัดหยุดงานทั่วไปของกรรมาชีพ โดยเฉพาะกรรมาชีพในภาครัฐ ซึ่งรวมอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ชนชั้นปกครองแอลจีเรียก็ใช้วิธีการเดียวกับที่ซูดาน คือเขี่ยผู้นำที่ประชาชนเกลียดชังออกจากตำแหน่งเพื่อเอาตัวรอด หลังจากนั้นก็สัญญาว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่ขบวนการประท้วงไม่ยอมหยุด มีการยึดมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งโดยนักศึกษาและอาจารย์
ประเด็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในแอลจีเรียไม่ต่างจากซูดานคือ มวลชนคนธรรมดาต้องกำหนดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้แกนนำรัฐเก่ากำหนด
นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์จากประเทศอียิปต์ ได้ตั้งข้อสังเกตเรื่อง ซูดานและแอลจีเรีย ไว้ 5 ข้อคือ
- เหตุการณ์ในสองประเทศแสดงให้เห็นว่าการปฏิวัติยังเป็นไปได้ในโลกสมัยใหม่ และอาหรับสปริงยังไม่ตาย ทั้งๆ ที่มีชัยชนะตามด้วยความพ่ายแพ้ การปฏิวัติล้มรัฐเก่าและทุนนิยมเป็นเรื่องจำเป็นถ้าจะแก้ไขความทุกข์ยากของประชาชนที่เกิดจากนโยบายเสรีนิยมและระบบตลาดโลก
- เราเห็นประกายไฟที่ก่อให้เกิดการลุกฮือสองรูปแบบคือ ประเด็นเศรษฐกิจในซูดาน กับประเด็นการเมืองในแอลจีเรีย แต่อย่างที่โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยเสนอในหนังสือ “การนัดหยุดงานทั่วไป” การต่อสู้ทางเศรษฐกิจ กับการต่อสู้ทางการเมือง มันย่อมเชื่อมโยงกัน เศรษฐกิจนำไปสู่การเมือง การเมืองนำไปสู่เศรษฐกิจ นักสังคมนิยมมีหน้าที่เชื่อมการต่อสู้สองซีกนี้ให้เป็นเนื้อเดียวกัน [ดู https://bit.ly/2DtwQWo ]
- มวลชนต้องไม่หลงเชื่อทหารหรือสมาชิกเก่าของชนชั้นปกครองที่ต้องการสลายการชุมนุมด้วยการยอมเขี่ยผู้นำเก่าออกจากตำแหน่ง บทเรียนจากอียิปต์สอนให้เรารู้ว่าการประนีประนอมของฝ่ายเราจะนำไปสู่การถูกปราบปรามในอนาคตและการกลับมาของเผด็จการ นอกจากนี้จะมีการหันหลังกับการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน
- การลุกฮือเกิดขึ้นหลังจากที่มีการปูพื้นจัดตั้งการต่อสู้หลายปี โดยเฉพาะในชนชั้นกรรมาชีพการลุกฮือและการนัดหยุดงานเกิดขึ้นหลายครั้งในแอลจีเรียแต่พึ่งมาก่อตัวเป็นการปฏิวัติในรอบนี้ ในซูดานก็มีการต่อสู้กับรัฐบาลโดยหลายกลุ่มก่อนหน้านี้
- บทบาทการนัดหยุดงานและการประท้วงของสหภาพแรงงานร่วมกับมวลชนอื่นๆ เป็นเรื่องชี้ขาด เพราะกรรมาชีพมีพลังทางเศรษฐกิจสูง
แนวคิดปฏิวัติถาวร ของลีออน ตรอทสกี มีความสำคัญในการเสนอว่ากรรมาชีพต้องมีบทบาทนำในการปฏิวัติเพื่อปลดแอกชีวิตของคนธรรมดา การหยุดอยู่แค่การเลือกตั้งภายใต้ระบบและรัฐเก่าย่อมแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในระยะยาวไม่ได้ และการปล่อยให้ชนชั้นปกครองเก่าถืออำนาจต่อไปภายใต้บุคคลหน้าใหม่จะนำไปสู่การถูกปราบปราม นอกจากนี้การปฏิวัติที่จะได้รับชัยชนะต้องขยายไปในระดับสากล ตอนนี้มีการลุกฮือในหลายประเทศของอัฟริกาเหนือและตะวันออกกลางนอกเหนือจาก ซูดานและแอจีเรีย คือที่ตูนิเซีย โมรอคโค เลบานอน และจอร์แดน ถ้าการปฏิวัติในซูดาน หรือแอจีเรีย ได้รับชัยชนะ การปฏิวัติจะลามไปสู่ประเทศอื่นและจะเสริมพลังของการปฏิวัติให้แรงขึ้น
กระบวนการปฏิวัติที่ยังไม่จบที่ ซูดาน และ แอลจีเรีย ทำให้เราเห็นว่า “รัฐ” ไม่ใช่อะไรที่เป็นกลาง เราต้องโค่นมันเพื่อให้ประชาชนมีอำนาจ หน่ออ่อนของสังคมใหม่ย่อมเกิดขึ้นท่ามกลางการชุมนุมใหญ่ และชนชั้นกรรมาชีพและพรรคปฏิวัติของกรรมาชีพมีความสำคัญในการนำการปฏิวัติไปสู่จุดหมายแทนที่จะประนีประนอม การศึกษาการปฏิวัติรัสเซีย 1917 ที่มีการขยับจากการลุกฮือเพื่อประชาธิปไตยทุนนิยม ไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยมยังมีความสำคัญในยุคปัจจุบัน
ข่าวล่าสุด 7 มิย. 2019
การปฎิวัติในซูดานถึงหัวเลี้ยวหัวต่อ หลังการปราบปรามการชุมนุมโดยกองทัพ มีการนัดหยุดงานที่กดดันให้ผู้นำกองทัพเสนอให้รื้อฟื้นการเขรจากับฝ่ายประท้วง ถ้าประชาชนจะชนะจะต้องขยายการนัดหยุดงานและกดดันให้ทหารรากหญ้าที่สนับสนุนการประท้วงกบฏต่อผู้บังคับบัญชา