Tag Archives: โรฮิงญา

ต้นกำเนิดทัศนะแย่ๆ ของ อองซานซูจี ต่อชาวโรฮิงญา

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในรอบหกสิบปีที่ผ่านมา เผด็จการทหารพม่ากดขี่พลเมืองทั้งในเรื่องประชาธิปไตยและในเรื่องสิทธิเสรีภาพทางเชื้อชาติพร้อมๆกัน และทุกวันนี้ แม้ว่ามีการเลือกตั้งจอมปลอมและ อองซานซูจี ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศภายใต้อำนาจทหาร สถานการณ์ก็ไม่เปลี่ยนแปลง ล่าสุดรัฐบาลพม่าได้ก่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา โดยที่ อองซานซูจี แก้ตัวแทนผู้ก่ออาชญากรรมครั้งนี้

หลายคนที่เคยบูชา อองซานซูจี จะสลดใจและผิดหวัง แต่ถ้าเราศึกษาแนวการเมืองของเขา บวกกับประวัติศาสตร์พม่า เราไม่ควรจะแปลกใจในทัศนะและพฤติกรรมแย่ๆ ของ อองซานซูจี แต่อย่างใด

ดินแดนที่เรียกว่าพม่า มีความขัดแย้งทางเชื้อชาติมาตั้งแต่สมัยที่อังกฤษเข้ามาล่าอณานิคม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ชื่อ Martin Smith  อธิบายว่าปัญหาทางเชื้อชาติในพม่า รุนแรงขึ้นเมื่อมีการพยายามรวมศูนย์รัฐชาติในยุคหลังเอกราช ในสภาพดั้งเดิมชุมชนต่างๆ มีลักษณะกระจัดกระจายและหลากหลายทางเชื้อชาติ แม้แต่ในยุคท้ายของการปกครองของอังกฤษก็ยังไม่มีการรวมศูนย์อำนาจในพม่าตอนเหนืออย่างสมบูรณ์ และแน่นอนอังกฤษใช้ระบบ “แบ่งแยกเพื่อปกครอง” ซึ่งสร้างความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติต่างๆ อีกด้วย

เมื่อคนงานท่าเรือพม่านัดหยุดงาน อังกฤษนำคนงานเชื้อสายอินเดียเข้ามาทำงานแทน ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างอันหนึ่งของพวกนักชาตินิยมพม่า ในการเหยียดคนเชื้อสายอินเดีย นอกจากนี้ขบวนการชาตินิยมพม่ามักเหมารวมคนเชื้อสายอินเดียว่าเป็นพวกปล่อยกู้หน้าเลือด ทั้งๆ ที่ชาวพม่าจำนวนไม่น้อยก็ปล่อยกู้และเก็บดอกเบี้ยในอัตราสูงเช่นกัน

สถิติเกี่ยวกับสถานภาพเชื้อชาติต่างๆ ในพม่าไม่ชัดเจน  แต่ที่สำคัญคือในครึ่งหนึ่งของพื้นที่ประเทศ มีผู้คนอาศัยอยู่ที่ไม่ใช่เชื้อชาติ “พม่า” ซึ่งอาจมีจำนวน 35-50% ของประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศพม่ามีชาติพันธุ์ที่หลากหลายมานาน ไม่ได้แปลว่ามีความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติโดย “ธรรมชาติ” เพราะมีประวัติอันยาวนานของการดำรงอยู่ด้วยกันอย่างสันติ ยิ่งกว่านั้น Smith มองว่าวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของแต่ละเชื้อชาติไม่ได้ถูกอนุรักษ์แช่แข็งอยู่กับที่ แต่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการปรับตัวระหว่างเชื้อชาติต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่นผ่านการค้าขายและการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย

การที่ผู้นำขบวนการชาตินิยมพม่าอย่าง อองซาน (บิดาของ อองซานซูจี) พยายามสร้างรัฐรวมศูนย์ที่คนชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาว “พม่า” มองว่าตนเองจะถูกควบคุมโดยชาว “พม่า” เป็นปัญหาแต่แรก อองซานไม่ยอมรับว่าประชาชนเชื้อชาติต่างๆ นอกจากชาว “พม่า” และชาวฉาน (ไทใหญ่) มีความเป็นชาติจริง และกองทัพกู้เอกราชของอองซาน ถูกกล่าวหาว่าฆ่าเด็กและสตรีกะเหรี่ยงกว่า 1,800 คนในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง  สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมขบวนการเชื้อชาติ คะฉิ่น กะเหรี่ยง คะเรนนี่ มอญ ว้า และอะระกัน ไม่ยอมมาร่วมประชุม ปางโหลง (Panglong) ในปี ค.ศ. 1947 เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศ และไม่ไว้ใจผู้นำพม่าอย่าง อองซาน และอูนุ แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์พม่าก็ยังไม่มีความอ่อนไหวต่อประเด็นเชื้อชาติเท่าที่ควร

อูนุ ซึ่งขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากที่ อองซาน ถูกยิงตาย มีนโยบายระหว่างปี ค.ศ. 1954-1956 ที่จะส่งเสริมศาสนาพุทธให้เป็นศาสนาประจำชาติ และประกาศว่าพม่าใช้การปกครองที่อิง “พุทธสังคมนิยม” ซึ่งนโยบายดังกล่าวสร้างความแตกแยกและความไม่พอใจในหมู่ชนชาติอื่นๆ ที่ ไม่นับถือพุทธ  ยิ่งกว่านั้นเมื่อนายพลเนวินทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐในปี ค.ศ. 1962 มีการใช้กำลังในการบังคับรวมศูนย์ประเทศมากขึ้น เพราะกองทัพพม่าไม่ยอมพิจารณาสิทธิใดๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ในการปกครองตนเองเลย

การเน้นศาสนาพุทธแบบสุดขั้วบวกกับการเหยียดหยามคนเชื้อสายอินเดีย นำไปสู่การสร้างกระแสเกลียดชังชาวมุสลิม โดยเฉพาะชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นคนที่มีเชื้อสายเดียวกับชาวบังคลาเทศ แต่อาศัยอยู่ในดินแดนที่ปัจจุบันเรียกว่าพม่ามาตลอด

ในยุคปัจจุบันขบวนการเชื้อชาติต่างๆ ไม่ค่อยไว้ใจ นางอองซานซูจี เพราะเขามีจุดยืนเกี่ยวกับเชื้อชาติที่เน้นแต่ความเป็นใหญ่ของชาว “พม่า” ไม่ต่างจากจุดยืนของพ่อ ในอดีตในหนังสือของ อองซานซูจี มีการเอ่ยถึงความสามารถของชนชาติอิ่นๆ ในการ “ร้องรำทำเพลง” หรือในการ “เป็นพี่เลี้ยงเด็ก” มากกว่าที่จะเคารพว่าปกครองตนเองได้  และที่สำคัญคือพรรค National League for Democracy (N.L.D.) ของ อองซานซูจี มีนโยบายที่กีดกันคนมุสลิม

จุดยืนล่าสุดของ อองซานซูจี ที่ปล่อยให้มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิง และคำพูดโกหกของเขาว่าพวกโรฮิงญาไม่ใช่พลเมืองของประเทศพม่า หรือคำโกหกว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากการ “ก่อการร้าย” ของชาวโรฮิงญา แสดงธาตุแท้ของแนวคิด “พม่านิยม” สุดขั้วของ อองซานซูจี จุดยืนแย่ๆ ของเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่เขาให้ความสำคัญกับการเอาใจทหารเพื่อขึ้นมามีตำแหน่ง และการเอาใจแม้แต่พระสงฆ์ฟาสซิสต์อย่างวีระธู โดยมีวัตถุประสงค์ในการปลุกทัศนะเหยียดคนมุสลิมเพื่อรักษาฐานเสียงของตนเองในหมู่ชาวพุทธอีกด้วย สรุปแล้วจุดยืนของ อองซานซูจี ไม่มีความก้าวหน้าแต่อย่างใด และจะไม่นำไปสู่เสรีภาพของพลเมืองประเทศพม่า ไม่ว่าจะชนชาติใด

[ อ่านเพิ่ม http://bit.ly/1sH06zu

และอ่านประกอบเรื่องทัศนะสังคมไทยต่อผู้ลี้ภัย http://bit.ly/1TUGqhz ]

คนที่ปกป้อง “พระ” อภิชาติ เป็นคนที่ไร้จิตสำนึกประชาธิปไตย

ใจ อึ๊งภากรณ์

การที่ “พระ” ที่ชื่อ อภิชาติ ถูกทหารจับสึก สร้างความไม่พอใจในหมู่คนไทยจำนวนหนึ่งที่มีทัศนะแย่ๆ ต่อชาวมุสลิม พวกคนเหล่านี้ลึกๆ แล้ว เกลียดชังชาวมาเลย์มุสลิมในภาคใต้ หรือชาวโรฮิงญาในพม่า เขาเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติและศาสนา และการที่มีคนเสื้อแดงหลายคนรวมอยู่ในกลุ่มนี้ก็เป็นเรื่องน่าอับอายขายหน้า แต่สำหรับหลายคนมันยังไม่สายเกินไปที่จะทบทวนตนเองและยกเลิกอคติที่ตนมีต่อเชื้อชาติหรือศาสนาของคนอื่น อย่างไรก็ตามสำหรับคนอีกส่วนหนึ่งคงไม่มีปัญญาจะทบทวนตนเองได้

“เอาน้ำมันหมูกรอกปากโต๊ะอิหม่ามเลยครับ” คือตัวอย่างของคำหยาบคายที่คนแบบนี้ใช้ในโซเชียลมีเดีย

อภิชาติเป็นคนที่อ้างตัวเป็น “พระสงฆ์” แล้วปลุกระดมให้คนเกลียดชังชาวมุสลิม และไปใช้ความรุนแรงกับชุมชนมุสลิมอีกด้วย สองปีก่อนอภิชาติพูดว่า “หมดเวลาแล้วที่ชาวพุทธจะใช้คำว่า เมตตาปรานี ถ้าพระใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกระเบิดหรือถูกยิงตาย 1 รูป ต้องแลกกับการไปเผามัสยิดทิ้งไป 1 มัสยิด โดยเริ่มจากภาคเหนือลงมาเรื่อยๆ”  “ถ้ากลัวก็ไปกราบเท้าแขกและยกประเทศให้” นอกจากนี้อภิชาติก็พูดทำนองว่า “แขกอิสลามบ่อนทำลายพุทธศาสนามาตลอด”

จะสังเกตเห็นว่าเขามักจะใช้คำหยาบคายและเหยียดหยามคนเชื้อสายมาเลย์หรือคนเอเชียใต้ด้วยคำว่า “แขก” เสมอ ซึ่งคนไทยจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับอภิชาติ ก็ใช้คำว่า “แขก” เช่นกัน ปรากฏการณ์แบบนี้ชี้ให้เห็นว่ากระแสเหยียดหยามทางเชื้อชาติแพร่กระจายไปทั่วสังคมไทย มันถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการเตือนสติกัน

อภิชาติเป็นพวกที่ใช้ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ลัทธิฝ่ายขวาสุดขั้ว ที่คอยปลุกระดมให้คนเกลียดมุสลิม เขาไม่ต่างจากพวกฟาสซิสต์ในยุโรป หรือพระฟาสซิสต์ในพม่าที่ชื่อวิระทู ซึ่งเป็นพระเอกของอภิชาติ วิระทูชอบปลุกระดมให้ม็อบอันธพาลชาวพุทธไปทำร้ายชาวมุสลิม โดยที่เขามีเส้นสายภายในหมู่ทหารเผด็จการพม่าอีกด้วย อภิชาติก็ชมวิระทูว่า “พูดถูก” ที่วิระทูพูดว่า ชาวโรฮิงญา “ใช้ชีวิตบนผืนแผ่นดินเราแต่ไม่สำนึกในบุญคุณของเรา”

คำพูดของ อภิชาติ และวิระทู เป็นคำพูดป่าเถื่อน แต่ยิ่งกว่านั้นเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ เพื่อให้ความชอบธรรมกับลัทธิขวาตกขอบของเขา ในความเป็นจริงทั้งชาวมาเลย์มุสลิม และชาวโรฮิงญาอาศัยในพื้นที่ที่เป็นของเขามานาน ก่อนที่รัฐบาลไทย อังกฤษ หรือพม่า จะทำการสร้างประเทศและยึดพื้นที่ของเขามาปกครอง

ในกรณีภาคใต้ รัฐบาลไทยกดขี่คนมาเลย์มุสลิมมานาน พร้อมกับใช้ความรุนแรงในการพยายามปกครอง ตั้งแต่ปี ๒๔๖๔  รัฐบาลไทยมีนโยบายบังคับให้ชาวมาเลย์มุสลิมเปลี่ยนเป็น “ไทย” ผ่านระบบการศึกษา โดยมีการห้ามใช้ภาษาของตนเองในโรงเรียนเป็นต้น ในปี ๒๔๙๑  ผู้นำสำคัญของชาวมาเลย์ชื่อ ฮัจญีสุหลง ถูกจับคุมโดยรัฐบาลไทยและในที่สุดโดนฆ่าวิสามัญ ในปีเดียวกันตำรวจไทยก่อเหตุนองเลือด ฆ่าชาวบ้านที่ บ.ตุซงญอ อ.ระแงะ จ. นราธิวาส สภาพแบบนี้ดำรงอยู่มาจนทุกวันนี้ ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ กองทหารและตำรวจไทยจงใจฆ่าชายมุสลิมบริสุทธิ์แปดสิบกว่าคนในเหตุการณ์ที่ตากใบ

พฤติกรรมของรัฐไทยคือต้นกำเนิดของการลุกชึ้นจับอาวุธของชาวมาเลย์มุสลิมบางคน เขาไม่ใช่โจร เขาเป็นคนที่ต้องการเสรีภาพ โจรที่แท้จริงคือเจ้าหน้าที่รัฐไทย โดยเฉพาะทหาร ซึ่งโจรรัฐไทยก็เคยฆ่าคนเชื้อชาติไทยกลางกรุงเทพฯ หลายครั้ง และใช้กำลังอาวุธในการทำรัฐประหารอีกด้วย

การที่พลเมืองไทย รวมถึงพระสงฆ์ ไม่ออกมาประท้วงต่อต้าน อภิชาติ เปิดทางให้เขาสามารถสร้างภาพการเป็นเหยื่อเมื่อทหารเผด็จการจับสึกและนำไปขัง การกระทำของทหารครั้งนี้ไม่ได้ทำเพราะมีอุดมการณ์ดีๆ อะไรเลย แต่ทำไปเพราะกลัวว่า อภิชาติ จะเพิ่มความขัดแย้งในสังคมที่ทหารจะคุมยากขึ้น และการที่ทหารจับ อภิชาติ ไม่ได้แปลว่าทหารจะไม่มีแนวคิดคล้ายๆ เขา

ประเด็นการกระทำของทหารต่อ อภิชาติ ไม่ใช่ประเด็นหลัก ในระยะยาวแนวคิดเหยียดเชื้อชาติ และแนวชาตินิยมของ อภิชาติ ช่วยปกป้องอำนาจของรัฐไทย โดยเฉพาะฝ่ายที่นิยมเผด็จการ เพราะทำให้พลเมืองไทยตาบอดถึงอาชญากรรมของรัฐไทยในภาคใต้ มันทำให้คนธรรมดาขัดแย้งกันเอง แทนที่จะมีการสร้างความสามัคคีในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมของทุกคน ลัทธิเหยียดเชื้อชาติเป็นอาวุธสำคัญในการแบ่งแยกและปกครอง และในการเบี่ยงเบนประเด็นความเดือดร้อนของประชาชนเพื่อไม่ให้ไปโทษชนชั้นปกครอง ในหลายแง่ ถ้าดูจากมุมมองชนชั้น คนอย่างอภิชาติไม่ต่างจาก “พระฟาสซิสต์” ที่ชื่อ อิสระ ซึ่งเป็นพระโปรดของประยุทธ์มือเปื้อนเลือด ทั้งสองใช้ลัทธิที่เอื้อกับการใช้อำนาจของเผด็จการ

สิ่งที่สำคัญเกี่ยวกับสังคมไทยคือ คนไทยจำนวนมากใช้คำว่า “แขก” ในบริบทคล้ายๆ กับ อภิชาติ ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นอาจไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของ อภิชาติ และนอกจากนี้มีคนที่ปกติอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตยที่มีทัศนะแย่ๆ เกี่ยวกับโรฮิงญาหรือคนมาเลย์มุสลิม ในกรณีภาคใต้คนเหล้านี้จะด่า “โจรใต้” โดยไม่เอาใจใส่ในการศึกษาประวัติศาสตร์ และไม่มีการวิจารณ์ฝ่ายทหารที่ก่ออาชญากรรมแต่แรก นอกจากนี้มีคนไทยจำนวนมากที่นิยมลัทธิชาตินิยม ซึ่งในบริบทสังคมไทย เป็นลัทธิที่ปกป้องอำนาจของชนชั้นปกครองอย่างเดียว

ปรากฏการณ์แบบนี้แสดงให้เห็นว่ากระแสเหยียดเชื้อชาติในไทยมีอิทธิพลลสูง และเส้นแบ่งระหว่างคนอย่าง  อภิชาติ กับคนทั่วไปที่ใช้คำว่า “แขก” ไม่ชัดเจน สาเหตุหลักคือไม่มีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่รณรงค์อย่างเป็นระบบที่จะต่อต้านกระแสเหยียดเชื้อชาติในไทย และไม่มีการรณรงค์ประท้วงพฤติกรรมแย่ๆ ของ อภิชาติ ด้วย เหตุผลที่ไม่มีขบวนการมวลชนที่ต่อต้านทัศนะเหยียดเชื้อชาติในไทยก็เพราะไทยขาดพรรคฝ่ายซ้ายที่พอจะมีอิทธิพลได้ ตรงนี้เราเห็นชัดว่าไทยแตกต่างจากประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศในยุโรป ด้วยเหตุนี้ในเรื่องสิทธิเสรีภาพทั่วๆ ไป ไทยจะล้าหลังมาก เช่นเรื่องสิทธิในการทำแท้งเสรี ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องเพศ ความเท่าเทียมของพลเมืองโดยไม่มีการมอบคลาน หรือในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจฯลฯ นอกจากนี้เราไม่มีขบวนการมวลชนของพลเมืองไทยที่ออกมาเรียกร้องให้มีการรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญา หรือให้มีการถอนทหารตำรวจออกจากพื้นที่สามจังหวัดเพื่อสร้างสันติภาพเป็นต้น

ดังนั้นเราจำเป็นต้องคิดหาวิธีสร้างขบวนการมวลชนที่ต่อต้านทัศนะเหยียดเชื้อชาติ เพื่อชักชวนคนส่วนใหญ่ให้เลิกเหยียดเชื้อชาติหรือเลิกใช้คำอย่างเช่น “แขก” หรือ “ไอ้มืด” ฯลฯ คนเหล่านี้ไม่เคยถูกท้าทายเรื่องทัศนคติ แต่ผู้เขียนมั่นใจว่าเขาเปลี่ยนทัศนคติได้ เพราะเขาไม่ได้เป็นคนที่เห็นด้วยกับคนอย่าง อภิชาติ ยิ่งกว่านั้นเราทราบดีว่ามีคนจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มต่างๆ เช่น “กลุ่มเพื่อนเพื่อมนุษยธรรม” ที่ไม่เห็นด้วยกับการเหยียดเชื้อชาติ แต่ไม่มีการจัดเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน เขาจึงมีอิทธิพลจำกัด

ขบวนการมวลชนที่ต่อต้านทัศนะเหยียดเชื้อชาติ จะต้องให้การศึกษากับคนธรรมดาให้เข้าใจต้นกำเนิดของความรุนแรงในภาคใต้ และต้องจับมือร่วมกับนักประชาธิปไตยในการต่อต้านเผด็จการทหารอีกด้วย

ถ้าเราไม่มีองค์กรมวลชนที่ทวนกระแสเหยียดเชื้อชาติในสังคม คนอย่าง อภิชาติ จะสามารถดึงคนธรรมดามาคิดเหมือนเขาได้ และสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตยจะไม่มีวันเกิด

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2b5aCYI

ต้นกำเนิดปัญหาการค้ามนุษย์อยู่ที่นโยบายรัฐไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

เราควรเข้าใจว่าคดีการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาที่พึ่งมีการตัดสินลงโทษคนจำนวนหนึ่ง เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่การกระทำของทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมืองมาเฟียเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นเพราะมีต้นกำเนิดจากนโยบายของรัฐไทย

ภาพจากเนชั่นทีวี

ในรายละเอียดเกี่ยวกับคดีนี้ การที่พล.ท.มนัส คงแป้น ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ผู้ทรงคุณวุฒิของหน่วยทหารพิเศษภายใต้ กอ.รมน. เป็นจำเลยสำคัญ ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่ามีนายทหารและนายตำรวจระดับสูงอีกกี่คนที่เกี่ยวข้องหรืออย่างน้อยรับรู้เรื่องนี้ มีคนภายในรัฐบาลเผด็จการกี่คนที่เกี่ยวข้องและรับรู้แต่ไม่ทำอะไร? และอย่าลืมว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าชุดสอบสวนในคดีนี้ ต้องหลบหนีไปขอหลี้ภัยในออสเตรเลีย เพราะถูกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลขู่ฆ่า

ตลอดเวลาที่คดีดำเนินอยู่ พยานต่างๆ ถูกข่มขู่ โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ปกป้องใคร โดยเฉพาะพยานชาวโรฮิงญา และการให้การของพล.ท.มนัส เป็นการให้การลับ ที่อ้าง “ความมั่นคง” เป็นสาเหตุ ประเด็นคือเจ้าหน้าที่รัฐกับศาลต้องการปกปิดอะไร?

ในภาพรวมเรื่องต้นกำเนิดของการค้ามนุษย์ ในประการแรกเราต้องดูบทบาทของ กอ.รมน. ที่รับผิดชอบในการปฏิบัติการ “ผลักดันและส่งต่อ” ผู้หลี้ภัยชาวโรฮิงญา เพื่อส่งเพื่อนมนุษย์หลายพันชีวิตไปตายหรือเป็นเหยื่อกลางทะเล นี่คือนโยบายโหดร้ายที่สุดที่ไร้ความเมตตา หรือความเคารพต่อเพื่อมนุษย์โดยสิ้นเชิง

แนน่อนนโยบายชาตินิยมแย่ๆ ของรัฐบาลพม่า ภายใต้การนำของอองซานซูจี ที่กอดคอกับอำนาจเผด็จการทหารพม่า มีส่วนสำคัญในการขับไล่ชาวโรฮิงญาออกจากพม่า แต่นั้นไม่ควรเป็นข้อแก้ตัวสำหรับคนไทย

สิ่งที่อยู่เบื้องหลังนโยบาย “ผลักดันและส่งต่อ”  คือการที่รัฐไทยไม่เคยยอมรับสภาพผู้หลี้ภัยของคนจากประเทศอื่นเลย รัฐบาลไทยไม่ยอมเซ็นสัญญาระหว่างประเทศของสหประชาชาติปีค.ศ. 1951 ที่ว่าด้วยสถานภาพผู้หลี้ภัย และรัฐบาลไทยไม่มีกฏหมายเพื่อคุ้มครองเพื่อนมนุษย์ที่หนีเข้ามาในไทยเพราะถูกรังแกและข่มขู่ ดังนั้นผู้ลี้ภัยจำนวนมาก ถ้าไม่ถูดผลักออกไปตาย ก็จะถูกกักไว้ในค่าย โดยไม่มีสิทธิในการเลี้ยงชีพ และไม่มีโอกาสที่จะอยู่ในไทยอย่างถาวรหรือโอนสัญชาติเป็นพลเมืองไทยได้เลย

สภาพเช่นนี้เป็นโอกาสทองสำหรับอาชญากรที่ต้องการหากำไรจากการค้ามนุษย์ หรือการรีดไถเงินจากคนที่โชคร้ายจนต้องหนีออกจากประเทศของตนเอง

มันเป็นเรื่องที่พลเมืองไทยทุกคนที่รักความเป็นธรรม มองว่าตนเองมีศีลธรรม หรือเป็นชาวพุทธ จะต้องอับอายขายหน้าในท่าทีของรัฐไทย

และอย่าลืมว่ามีคนไทยผู้รักประชาธิปไตยจำนวนหนึ่ง ที่อาศัยสัญญาระหว่างประเทศของสหประชาชาติปีค.ศ. 1951 เพื่อลี้ภัยจากเผด็จการ เพื่อไปอยู่อย่างปลอดภัยในต่างประเทศ และในที่สุดก็ได้สัญชาติของประเทศเหล่านั้นด้วย

แต่ในภาพรวมเรื่องมันยังโยงไปถึงภาพกว้างของลัทธิการเมืองชาตินิยมด้วย การที่ชนชั้นปกครองไทยโดยเฉพาะทหารเผด็จการ แต่รวมถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วย คอยพยายามล้างสมองพลเมืองไทยให้ “รักชาติ” ตลอดเวลา มีผลในการสร้างบรรยากาศของการเหยียดเชื้อชาติอื่น มันเป็นลัทธิที่ชวนให้เรารักชาติของชนชั้นปกครอง แทนที่เราจะรักเพื่อนมนุษย์ที่เป็นทั้งคนไทยและคนเชื้อชาติอื่นๆ

อย่างไรก็ตามการ “ล้างสมอง” ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ชนชั้นปกครองทำได้ เพราะพลเมืองธรรมดาไม่โง่ และที่สำคัญคือ ถ้ามีกลุ่มคนที่กล้าเถียงกับหรือคัดค้านแนวคิดกระแสหลักของชนชั้นปกครอง พลเมืองธรรมดาจจะต้องคิดต่อและเลือกข้าง ปัญหาคือในไทย กลุ่มการเมือง ขบวนการเคลื่อนไหว หรือสหภาพแรงงาน ไม่ค่อยมีการให้ความสำคัญกับการต้านลัทธิชาตินิยมเท่าที่ควร

ปัญหานี้ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้หลี้ภัยด้วย มันมีผลต่อการปฏิบัติของรัฐไทยต่อแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน คือรัฐไทยใช้นโยบายข่มขู่ ดูถูก ปราบ และออกนโยบายในการขึ้นทะเบียนแรงงานจากประเทศอื่น เพื่อให้เขาอยู่ในสภาพที่ไร้ความมั่นคงเสมอ เป้าหมายคือให้แรงงานเหล่านั้นถูกขูดรีดเอารัดเอาเปรียบง่ายขึ้น เราเห็นตัวอย่างล่าสุดดจากกฏหมายแรงงานข้ามชาติของเผด็จการทหาร

ประเด็นสำคัญที่พลเมืองไทยควรเข้าใจคือ ตราบใดที่คนส่วนใหญ่ในประเทศ ไม่คัดค้านการเหยียดเชื้อชาติ หรือการไม่เคารพสิทธิของผู้ลี้ภัย คนไทยจะยังเป็นทาสของชนชั้นปกครองต่อไป และไม่สามารถสู้เพื่อปลดแอกตนเองได้ เพราะยังงมงายอยู่ในลัทธิชาตินิยมล้าหลัง ที่สอนให้เราจงรักภักดีต่อชนชั้นปกครอง

 

จุดยืนนักสังคมนิยมต่อผู้ลี้ภัย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทุกวันนี้เราอยู่ในยุควิกฤตแห่งการลี้ภัย การลี้ภัยไม่ใช่เรื่องง่ายและสบาย ตรงกันข้าม การทิ้งบ้าน ทิ้งเพื่อน ทิ้งอาชีพ เป็นเรื่องใหญ่และสะท้อนความเดือดร้อนอย่างหนักของผู้ที่ต้องจากบ้านเกิดไป วิกฤตทุกวันนี้ในตะวันออกกลาง มีรากฐานต้นกำเนิดมาจากการก่อสงครามของตะวันตก เพราะถ้าไม่มีการโจมตีประเทศอีรักและอัฟกานิสถานโดยสหรัฐและอังกฤษ พร้อมกับพันธมิตรในนาโต้ และไม่มีการจงใจออกแบบระบบที่แบ่งแยกเชื้อชาติศาสนาต่างๆ จนเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนในประเทศเหล่านั้น อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ประเทศเหล่านั้นจะไม่อยู่ในสภาพความปั่นป่วนที่เห็นอยู่

องค์กร “ไอซิล” ซึ่งตอนนี้ทำสงครามในอีรักและซิเรีย เป็นองค์กรป่าเถื่อนล้าหลัง แต่มหาอำนาจตะวันตกก็มีประวัติป่าเถื่อนในการทำสงครามและล่าอาณานิคมเช่นกัน และที่สำคัญคือมหาอำนาจตะวันตกมีส่วนในการสร้างสถานการณ์ที่ก่อให้เกิด “ไอซิล” ขึ้นมาแต่แรกในอิรัก เพราะการที่สหรัฐสนับสนุนรัฐบาลของกลุ่ม ชีอะฮ์ ที่กดขี่และปราบปราม กลุ่มซุนนี ทำให้หลายฝ่าย รวมถึงอดีตทหารของรัฐบาล ซัดดัม ฮุสเซน เข้ามาร่วมกับ “ไอซิล” ด้วย การแบ่งแยกเพื่อปกครองโดยตะวันตกนี้กระทำไปเพื่อให้ขบวนการกู้เอกราชที่ต่อต้านตะวันตกอ่อนแอ

การผลักดันให้การลุกฮือของประชาชนในลิบเบียและซิเรีย กลายเป็นสงครามกลางเมืองทางทหาร แทนการลุกฮือของมวลชน มีส่วนสำคัญในการทำลายสภาพสังคมในประเทศเหล่านั้น และมหาอำนาจตะวันตก รัสเซีย จีน กลุ่มประเทศอาหรับในอ่าว และตุรกี มีส่วนในการสร้างภาวะสงครามป่าเถื่อนแบบนี้

ในอัฟริกา การแทรกแซงของตะวันตกเรื่อยมา มีส่วนในการก่อสงครามใน ซุดาน และอีธิโอเปีย และนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดเสรีของรัฐบาลตะวันตก กลุ่มทุนใหญ่ กับไอเอ็มเอฟ เป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ทวีคูณมาในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาด้วย ทั้งหมดนี้คือเงื่อนไขที่สร้างวิกฤตของผู้ลี้ภัยในยุโรปและตะวันออกกลาง

ในพม่า รัฐบาลเผด็จการทหาร ใช้การปลุกปั่นความรังเกียจชาวมุสลิมโรฮิงญา เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และในการกระทำของเผด็จการทหารพม่านี้ นางอองซานซูจีก็มีส่วนในการสนับสนุน นอกจากนี้บรรยากาศการกล่าวหาโจมตีชาวมุสลิมทั่วโลก ที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัฐบาลตะวันตก ก็ช่วยปกปิดความชั่วร้ายของรัฐบาลพม่าด้วย

การที่คนชั้นกลางไทยจับมือกับอำมาตย์ในการล้มประชาธิปไตย ทำให้รัฐบาลไทยกลายเป็นเพื่อนรักของเผด็จการพม่า ซึ่งมีส่วนในการให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในพม่า กระแสชาตินิยมสุดขั้วในไทย ซึ่งมีมาในยุคต่างๆ และถูกสนับสนุนโดยฝ่ายทหาร พวกคลั่งเจ้า และคนอย่างอดีตนายกทักษิณ ก็มีส่วนในการชักชวนประชาชนไทยให้รังเกียจคนมุสลิมและใช้วาจาเหยียดสีผิวหรือเชื้อชาติ ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้

การที่สังคมเรามีบรรยากาศเหยียดแรงงานพม่าหรือแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ พร้อมกับการพยายามใช้เพื่อนมนุษย์เหล่านี้เป็นแพะรับบาป เป็นสิ่งที่ถูกปลุกปั่นมาจากกระแสคลั่งชาตินี้เอง และผลในรูปธรรมคือการแบ่งแยกขบวนการแรงงานระหว่าง “คนไทย” กับ “แรงงานต่างด้าว” ซึ่งทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอ แยกไม่ออกว่าใครเป็นเพื่อน ใครเป็นศัตรู และไร้พลังในการเพิ่มฐานะทางเศรษฐกิจให้กับคนส่วนใหญ่

ความเชื่อว่าการมีลำดับชนชั้นในสังคมไทย เป็น “ธรรมชาติ” และการกราบไหว้หมอบคลานต่อคนข้างบน ทำให้คนไทยจำนวนมาก ไม่สามารถตั้งคำถามกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมหาศาลที่เรามีอยู่ คนจึงชอบพูดว่า “ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศร่ำรวย” เพื่อพยายามหาความชอบธรรมในการกีดกันและไม่ต้อนรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญา คนเหล่านี้จะไม่กล้าเสนอว่าจริงๆ แล้ว ถ้าเราตัดงบประมาณทหารและงบประมาณพระราชวังแบบถอนรากถอนโคน และเก็บภาษีก้าวหน้าจากพวกเศรษฐีต่างๆ เราสามารถจะพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของพลเมืองไทย แรงงานจากเพื่อนบ้าน และผู้ลี้ภัยโรฮิงญาพร้อมๆ กันได้

ในยุโรป ซึ่งตอนนี้เป็นเป้าหมายการเดินทางของมนุษย์ที่เกือบจะสิ้นหวังในชีวิต จากซิเรีย อัฟกานิสถาน หรือที่อื่น เราเห็นรัฐบาลต่างๆ พร้อมกับองค์กรของกลุ่มทุนใหญ่ในอียู ผลักดันให้ประชาชนผู้ทำงาน คนยากจน เด็ก หรือคนพิการ ต้องถูกกดลงด้วยการตัดสวัสดิการและการบริการต่างๆ ของรัฐ การที่กระแสหลักช่วยสนับสนุนการกระทำอันเลวร้ายนี้ โดยการอ้างว่าเป็น “มาตรการจำเป็น” ทำให้หลายคนไม่กล้าตั้งคำถามว่า “ทำไมคนธรรมดาต้องมาแบกรับปัญหาเศรษฐกิจที่นายทุนใหญ่สร้างขึ้นมาแต่แรก” และทุกวันนี้กลุ่มทุนและเศรษฐีในยุโรปกำลังเพิ่มความร่ำรวยกับตนเอง ในขณะที่พลเมืองธรรมดาจนลง

แน่นอนพวกพรรคการเมืองฟาสซิสต์ขวาจัดในยุโรป จะฉวยโอกาสมองว่าผู้ลี้ภัยหรือคนผิวดำกับคนมุสลิมเป็น “ปัญหา” และพรรคการเมืองกระแสหลักก็ยินดีคล้อยตาม เพราะมันเบี่ยงเบนประเด็นจากความเหลื่อมล้ำมหาศาลในสังคมยุโรป

11221761_951593058239474_2715486491516648489_n

นักสังคมนิยม ไม่ว่าจะในไทยหรือในประเทศอื่นของโลก ยึดถือผลประโยชน์ของกรรมาชีพคนทำงาน และคนส่วนใหญ่ที่ยากจนเป็นหลัก เราจะไม่คล้อยตามกระแสชาตินิยมที่เป็นเชื้อโรคซึ่งนำไปสู่ความตาบอดที่ทำให้เราหมอบคลานต่อเบื้องบน เราจะมีจุดยืนสมานฉันท์ประชาชนชั้นล่างโดยไม่เลือกปฏิบัติตามเชื้อชาติ สีผิวหรือศาสนา และเราจะประกาศเสมอว่าควรเปิดประเทศรับผู้ลี้ภัยและคนจนอื่นๆ ที่อยากย้ายบ้านเข้ามาเพื่อเลี้ยงชีพตนเอง เราจะเข้าใจดีว่าทรัพยากรของสังคมเราที่ดูเหมือนมีจำกัด ไม่ได้มีจำกัดแต่อย่างใด แต่มันไปกระจุกอยู่ในมือของคนที่กดขี่ขูดรีดพวกเราต่างหาก และเราจะเข้าใจว่าผู้ลี้ภัย หรือแรงงานข้ามชาติ จะเป็นมิตรที่ดีของเรา ที่ร่วมกับเราในการทำงานสร้างและพัฒนาสังคมในอนาคต

ตราบใดที่คนไทยไม่ปฏิเสธการเหยียดเชื้อชาติ ก็คงยังเป็นทาสต่อไป

ใจ อึ๊งภากรณ์

คาร์ล มาร์คซ์ เคยตั้งข้อสังเกตว่าถ้ากรรมาชีพอังกฤษไม่เลิกดูถูกคนจากไอร์แลนด์ที่เข้ามาทำงานก่อสร้างในอังกฤษ เขาจะไม่มีวันปลดแอกตนเองได้

หลังจากที่มีการเปิดโปงและเผยแพร่ข่าวทารุณกรรมที่คนไทยก่อกับชาวโรฮิงญา ในบทความและวิดีโอของ นสพ. “การ์เดี้ยน” เราอาจพูดได้ว่า ตราบใดที่คนไทยจำนวนมากยังเหยียดเชื้อชาติอื่นๆ คนไทยก็ย่อมเป็นทาสต่อไป และไม่มีวันปลดแอกตนเองกับสร้างเสรีภาพในสังคมได้

ในกรณีชาวโรฮิงญาที่หนีความรุนแรงที่รัฐบาลทหารพม่าปลุกปั่นให้ชาวพุทธคลั่งชาติก่อต่อเขา เราจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจระดับสูงของไทยได้แสวงหาผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ผู้โชคร้ายเหล่านั้น มีการกักตัวในค่ายกลางป่า มีการกักตัวบนเรือกลางทะเล มีการทุบตีคนที่ไม่ทำตามคำสั่ง มีการข่มขืนเด็กและผู้หญิงอย่างเป็นระบบ และเจ้าของเรือประมงก็ได้ประโยชน์ทั้งจากการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมอาหารทะเล และการขนส่งค้าขายมนุษย์อีกด้วย

แน่นอนมีคนไทยจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว มีชาวบ้านธรรมดาที่ออกไปช่วยชาวโรฮิงญา และเราจะไม่วิจารณ์ผู้ที่มีน้ำใจแบบนี้

แต่ที่น่าสลดใจคือ ถ้าพิจารณาสังคมไทยโดยรวมแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่แคร์ ไม่มีการสร้างขบวนการประท้วงต่อต้านพฤติกรรมเลวทรามของพวกค้ามนุษย์ และไม่มีการรณรงค์ให้รับผู้ลี้ภัยเข้ามาอาศัยในประเทศไทยเพื่อเป็นเพื่อนร่วมสังคมกับเรา

ในเรื่องการคัดค้านการค้ามนุษย์และทารุณกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ถ้าถามคนไทยส่วนใหญ่ว่าเขาคิดอย่างไร เขาคงคัดค้าน ถึงแม้ว่าคงไม่พร้อมจะทำอะไร แต่เมื่อถามว่าควรรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศหรือไม่ เขาจะมองว่าไม่ควรรับ นอกจากนี้คนไทยจำนวนมากยังไม่เลิกใช้คำเหยียดหยามกับคนเชื้อชาติอื่น มีการใช้คำว่า “แขก” “ญวน” “ต่างด้าว” “ฝรั่ง” “ไอ้มืด” เหมือนเป็นสันดาน และมีการดูถูกแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านโดยไร้จิตสำนึก

ประเด็นปัญหาสำหรับคนที่อยากปลดแอกตนเอง อยากเห็นประชาธิปไตยและเสรีภาพคือ มันมีสองขั้วความคิดในทุกสังคมทั่วโลก

ขั้วความคิดแรกเป็นแนวคิดที่มาจากชนชั้นปกครองและชวนให้เราจงรักภักดีต่อเขาภายใต้ลัทธิชาตินิยม ซึ่งในไทยรวมถึงลัทธิราชานิยมด้วย แนวคิดนี้ชวนให้เราหมอบคลานต่อเบื้องบน ไม่ว่าจะเป็น กษัตริย์ นายพลมือเปื้อนเลือด หรือ “ท่านผู้ใหญ่” คนใด และมันชวนให้เรามองว่าเรามีผลประโยชน์ร่วมกับผู้ที่กดขี่ขูดรีดเรา “เพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน” นี่คือที่มาของความคิดที่เหยียดเชื้อชาติอื่น มันเป็นแอกเพื่อควบคุมให้คนส่วนใหญ่เป็นไพร่

ขั้วความคิดที่สองเป็นแนวคิดที่เกิดจากจิตสำนึกทางชนชั้นของชนชั้นกรรมาชีพและคนชั้นล่างทั่วไป มันไม่ได้เกิดโดยอัตโนมัติ มันอาศัยอยู่ในสังคมได้เพราะมีนักสังคมนิยมและนักสิทธิมนุษยชนที่ทวนกระแสความคิดกระแสหลัก และเสนอแนวคิดประเภท “สามัคคีชนชั้นล่างข้ามเชื้อชาติ” ความคิดขั้วนี้จะปฏิเสธการรักชาติ แต่จะรักเพื่อนประชาชนแทน จะเสนอให้คนไทยธรรมดาสมานฉันท์กับคนเชื้อชาติอื่น และต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับอำนาจเผด็จการของชนชั้นปกครอง เพื่อให้เราร่วมกันปลดแอกตนเองและสังคม

ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะเห็นว่าตราบใดที่เรายังรักชาติของชนชั้นปกครอง และตราบใดที่เรามองว่าเราอยู่ข้างเดียวกับคนที่เหยียบหัวเรา เราไม่มีวันต่อสู้เพื่อเสรีภาพได้

ในยุโรปกระแสชาตินิยมเหยียดเชื้อชาติอื่น ถูกปลุกขึ้นมาโดยฝ่ายนายทุนในวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบันและในอดีต คนที่ยอมรับแนวนี้ไม่สามารถต่อสู้กับชนชั้นปกครองที่กำลังบังคับให้คนธรรมดารัดเข็มขัดเพื่อประโยชน์กลุ่มทุนได้ มีแต่ฝ่ายที่เน้นผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพ และสมานฉันท์ข้ามพรมแดน ที่จะสามารถต่อสู้เพื่อปกป้องรัฐสวัสดิการและมาตรฐานชีวิตของคนส่วนใหญ่ได้

ในไทยตราบใดที่เราไม่ต่อสู้อย่างถึงที่สุดเพื่อกำจัดพวกค้าและทรมาณชาวโรฮิงญา ตราบใดที่เราไม่สลัดความคิดที่มองว่าเรารับผู้ลี้ภัยเข้ามาอยู่กับเราไม่ได้ ตราบใดที่เราไม่เลิกใช้คำเหยียดหยามเชื้อชาติอื่น และตราบใดที่เรายังยืนเคารพธงชาติของชนชั้นปกครอง เราจะไม่มีวันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์และความเท่าเทียมได้เลย