Tag Archives: ไซรีซา

การหักหลังประชาชนกรีซของพรรค “ไซรีซา”

ใจ อึ๊งภากรณ์

 

ในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่กรีซ พรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” แพ้การเลือกตั้งหลังจากที่เป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2015

 

0914e64d80be42c19bea83482cac7c3b_18
พรรคนายทุนชนะการเลือกตั้ง

การกลับมาของพรรคนายทุนไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับผู้ที่ติดตามการเมืองกรีซแต่อย่างใด เพราะ “ไซรีซา” เคยชนะการเลือกตั้งโดยสัญญากับประชาชนว่าจะต่อสู้กับนโยบายรัดเข็มขัดและเสรีนิยมกลไกตลาดที่ทำลายชีวิตกรรมาชีพกรีซ แต่ไปๆมาๆ “ไซรีซา” กลับยอมจำนนต่อคำสั่งของสหภาพยุโรปทุกประการ ซึ่งนำไปสู่การตัดสวัสดิการและงบประมาณรัฐมากกว่าเดิม ถือว่าเป็นการหักหลังประชาชนกรีซอย่างร้ายแรง

 

SW-SUPPORT-GREECE-1067x600

 

การหักหลังประชาชนเริ่มเมื่อต้นเดือนกรกฏาคมปี 2015 เพียง 7 เดือนหลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง รัฐบาล “ไซรีซา” ได้จัดประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าจะรับเงื่อนไขที่สหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟอยากจะบังคับใช้กับกรีซหรือไม่ ปรากฏว่าประชาชนเกิน 60% ลงคะแนนไม่รับ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ของอียูและไอเอ็มเอฟ เป็นการตัดสวัสดิการมหาศาลและการขึ้นภาษีให้กับคนจน และมีผลกระทบร้ายแรงกับประชาชนจำนวนมากที่เดือดร้อนอยู่แล้ว แต่ประชาชนยังไม่ทันลงคะแนนเสร็จในประชามติ รัฐบาล “ไซรีซา” ก็คลานเข้าไปหาอียูและไอเอ็มเอฟ เพื่อรับเงื่อนไขที่แย่กว่าเดิม

 

a-yanis-17-tsipras-merkel

 

ทำไมพรรคไซรีซาถึงยอมจำนนต่อกลุ่มทุนง่ายๆ แบบนี้? มีสองสาเหตุหลักคือ

 

1. พรรคไซรีซาเป็นพรรคที่หลงเชื่อว่าสหภาพยุโรป(อียู)เป็นสิ่งที่ “ก้าวหน้า” แทนที่จะเข้าใจว่ามันเป็น “สมาคมกลุ่มทุนใหญ่” ที่ยึดถือผลประโยชน์ทุนเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ “ไซรีซา” จึงคิดผิดว่าฝ่ายรัฐบาลและอำนาจทุนในยุโรปจะฟังเหตุผลและพยายามช่วยกรีซ แต่กลุ่มทุนในอียูประกาศตบหน้าประชาชนกรีซว่าเขาไม่สนใจผลการลงคะแนนเสียงในประชามติแต่อย่างใด มันเป็นเผด็จการทุนเหนือประชาธิปไตยกรีซ ที่สำคัญที่สุดคือ “ไซรีซา” ทำทุกอย่างที่จะอยู่ต่อในสกุลเงินยูโร แต่การยึดติดกับสกุลเงินยูโรเป็นการมอบอำนาจทางเศรษฐกิจให้ธนาคารกลางของยุโรปและยอมจำนนต่อเงื่อนไขรัดเข็มขัด ในรอบหลายเดือนรัฐบาล “ไซรีซา” พยายามประนีประนอมกับอียูและไอเอ็มเอฟ และการจัดประชามติก็ทำไปเพื่อต่อรองเท่านั้น แต่มันไม่เคยเพียงพอสำหรับพวกตัวแทนนายทุนเหล่านั้น ความคิดของไซรีซาจึงมีความขัดแย้งในตัวสูง และมันเป็นการตั้งความหวังกับโครงสร้างรัฐกับทุนที่ตนเองหลงคิดว่าก้าวหน้า แทนที่จะฝากความหวังไว้กับกรรมาชีพกรีซและกรรมาชีพในประเทศอื่นๆ ของยุโรป

 

2. พรรคไซรีซาเป็นพรรคที่พัฒนามาจากบางส่วนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่รับแนวปฏิรูปในอดีต นอกจากนี้มีนักเคลื่อนไหวในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและฝ่ายซ้ายปฏิวัติบางกลุ่มเข้ามาร่วม ก่อนที่จะชนะการเลือกตั้ง “ไซรีซา” จะมีจุดยืนไม่ชัดเจนระหว่างการปฏิวัติล้มทุนนิยม กับการปฏิรูปประนีประนอมกับทุน คือคลุมเครือเรื่องปฏิวัติกับปฏิรูป ทั้งในประเด็นระบบเศรษฐกิจและระบบรัฐ เพราะมองว่าสภาพโลกปัจจุบันมัน “ข้ามพ้นปัญหาแบบนี้ไปแล้ว” จุดยืนนี้พา “ไซรีซา” ไปให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งและรัฐสภามากเกินไป และละเลยความสำคัญของการเชื่อมโยงกับพลังกรรมาชีพและขบวนการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภา ดังนั้น “ไซรีซา” พยายามใช้ผลของประชามติในการเจรจากับอียูเท่านั้น แทนที่จะปลุกระดมและใช้พลังการนัดหยุดงาน หรือการประท้วงนอกสภา เพื่อการจัดระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจและการเมือง และที่สำคัญด้วยคือ สส.ซีกซ้ายภายใน “ไซรีซา” หมดสภาพในการค้านแกนนำพรรคจนหดหู่ และทั้งๆ ที่พวกนี้โดนแกนนำเขี่ยออกจากตำแหน่งใน ครม. แต่ก็ยังเน้นแต่การปกป้องรักษาพรรค หลงคิดว่าจะเปลี่ยนนโยบายพรรคได้จากภายใน และที่สำคัญที่สุดคือละเลยการปลุกระดมขบวนการนอกรัฐสภา มันเป็นบทเรียนสำคัญว่าฝ่ายซ้ายต้านทุนนิยม หรือฝ่ายซ้ายปฏิวัตินั้นเอง จะต้องรักษาองค์กรของตนเองและอิสระจากแนกนำในแนวร่วมใหญ่ ในขณะที่ร่วมสู้กับคนที่อยู่ในแนวร่วมกว้างที่ต้องการต้านนโยบายรัดเข็มขัดหรือเผด็จการของกลุ่มทุน

 

ต้นกำเนิดของวิกฤตกรีซ

วิกฤตหนี้กรีซเกิดจากการปล่อยกู้ให้ประเทศในยุโรปใต้โดยธนาคารเยอรมันและสถาบันการเงินในยุโรปเหนือ มีการปล่อยกู้ให้ธนาคารเอกชนในกรีซ ซึ่งปล่อยกู้ต่อให้ภาคเอกชนอีกที จากมุมมองเยอรมันการปล่อยกู้ก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในยุโรปใต้ซื้อสินค้าจากเยอรมัน ซึ่งมีผลในการกระต้นเศรษฐกิจเยอรมัน ในขณะเดียวกันรัฐบาลเยอรมันก็กดค่าแรงกรรมาชีพเยอรมันและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อประโยชน์กลุ่มทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแบบนี้ของเยอรมันทำให้กรีซและประเทศในยุโรปใต้แข่งขันกับเยอรมันไม่ได้ ส่งออกให้ยุโรปเหนือยากขึ้น ขาดดุลการค้า การเป็นหนี้แบบนี้อาจเป็นเรื่องปกติและมีการพัฒนาวิถีชีวิตของชาวกรีซจากสภาพเดิมที่ยากจนพอสมควร แต่มันกลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ระเบิดขึ้นในขั้นตอนแรกที่สหรัฐเมื่อปี 2008

วิกฤตเศรษฐกิจโลกนี้มาจากการลดลงของอัตรากำไร และการพยายามปั่นหุ้นและหากำไรในภาคไฟแนนส์กับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการปล่อยกู้ให้คนจนซื้อบ้าน มันเป็นการพนันเพื่อหากำไรแทนที่จะลงทุนในภาคการผลิต

เมื่อเกิดวิกฤตโลก ธนาคารกรีซใกล้ล้มละลาย และรัฐก็เข้ามาอุ้มหนี้ คือแปลงหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะ และที่เลวร้ายกว่านั้นคือบริษัทซื้อขายหุ้นก็ขายหนี้กรีซให้ “บริษัทอีแร้ง” ที่หากำไรจากการเก็บหนี้ มีการกดดันให้ดอกเบี้ยเพิ่มทวีคูณไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้หนี้กรีซสูงขึ้นถึงขั้นไม่มีวันจ่ายคืนได้

ในที่สุด ไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางอียู และฝ่ายบริหารอียู ก็บังคับให้รัฐบาลชุดก่อนๆ ของกรีซจ่ายหนี้คืนผ่านการตัดสวัสดิการและการทำลายมาตรฐานชีวิตประชาชน คนตกงานจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันไม่มีการเก็บภาษีหรือทวงหนี้จากคนรวยหรือกลุ่มทุนกรีซ แม้แต่บริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ของเยอรมันที่สร้างและเคยเป็นเจ้าของสนามบินที่กรีซ ก็ไม่ได้จ่ายภาษีเลยแม้แต่นิดเดียว นอกจากนี้บริษัทกรีซหลายแห่งถูกซื้อโดยกลุ่มทุนจากยุโรปเหนือ และบริษัทเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการกู้เงินในอดีตอีกด้วย

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา “เงินช่วยเหลือ” ที่ธนาคารอียูและไอเอ็มเอฟส่งให้กรีซ ไม่เคยถึงมือประชาชนที่ยากลำบากเลย เพราะ 90% ถูกส่งกลับให้ธนาคารในยุโรปเพื่อจ่ายหนี้ต่างหาก และหนี้สินกรีซก็ทวีคูณอย่างต่อเนื่องเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ นับว่า “ยารักษาโรค” ของกลุ่มอำนาจอียูที่ยิ่งทำให้คนไข้อาการหนักขึ้นบนพื้นฐานการยึดผลประโยชน์กลุ่มทุนและความเดือดร้อนของประชาชนธรรมดา มันเป็นเรื่องชนชั้นชัดๆ มันไม่เกี่ยวกับรัฐชาติ

 

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Joseph Stiglitz และ Paul Krugman เคยวิจารณ์ว่ามาตรการแบบนี้จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงและคนเดือดร้อนยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ และทั้งสองคนเคยมองว่าประชาชนกรีซควรจะ “โหวตไม่รับ” เงื่อนไขในประชามติ

 

ฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภากรีซ สมาชิกพรรค “ไซรีซา” เอง และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังสองคนนี้ เคยเสนอว่าศูนย์อำนาจในสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟต้องการที่จะล้มรัฐบาลกรีซที่มาจากการเลือกตั้งหรืออย่างน้อยทำให้หมดสภาพ เพื่อไม่ให้ประชาชนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสเปน อิตาลี่ ไอร์แลนด์ หรือปอร์ตุเกส ได้กำลังใจในการออกมาต้านนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการของพวกเสรีนิยม มันเป็นการต่อสู้ทางการเมือง

 

เราจะเห็นได้ชัดว่าอำนาจเผด็จการไปได้สวยกับการบังคับใช้มาตรการกลไกตลาดเสรี

 

athensbudget1
พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมกรีซ

 

สำหรับพรรคกรรมาชีพสังคมนิยม ฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภาในกรีซ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วม “แอนตาซียา”เคยมีการเสนอว่าต้องออกจากสกุลเงินยุโรป ชักดาบไม่ยอมจ่ายหนี้ให้ไอเอ็มเอฟ และยึดธนาคารต่างๆ มาเป็นของรัฐ ที่สำคัญคือต้องใช้พลังกรรมาชีพในสหภาพแรงงาน และพลังมวลชนบนท้องถนน ในการเข้ามาควบคุมและบริหารเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชน ในระยะสั้นต้องมีการจัดตั้งเตรียมตัวนัดหยุดงานและร่วมสู้กับการรัดเข็มขัด แต่น่าเสียดายที่พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมกรีซเล็กเกินไปที่จะสร้างกระแสการต่อสู้ที่มีพลังเพียงพอ

 

ในช่วงแรกที่ “ไซรีซา” เป็นรัฐบาล มีกลุ่มฝ่ายซ้ายในบางประเทศ เช่นในออสเตรเลีย ที่ฝากความหวังไว้กับ “ไซรีซา” โดยไม่วิเคราะห์สถานการณ์อย่างละเอียด

 

บทเรียนสำคัญจากกรีซคือ การเน้นการเมืองในรัฐสภาอย่างเดียว และการพยายาม “ทำงานในระบบ” มักนำไปสู่การยอมจำนนและหักหลังความฝันของกรรมาชีพผู้ทำงานเสมอ

 

201229195147950734_20

 

ความหวังแท้ของกรรมาชีพกรีซตอนนี้คือการลุกขึ้นสู้ผ่านการนัดหยุดงาน ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว พร้อมกับการสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมนอกรัฐสภาให้เข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่

 

การทดลองราคาแพงของฝ่ายซ้ายสเปน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในขณะที่พรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” ในกรีซ หักหลังประชาชนและยอมจำนนต่อกลุ่มทุนใหญ่ของสหภาพยุโรป โดยการยอมรับนโยบายเสรีนิยมรัดเข็มขัดสำหรับคนจนและกรรมาชีพ เราก็เห็นพรรค “โพเดมอส” (Podemos) ในสเปนขยับไปทางขวาภายในไม่กี่เดือนของการตั้งพรรค และล่าสุดก็ออกมาสนับสนุนจุดยืนแย่ๆ ของแกนนำ “ไซรีซา”

สาเหตุที่นักเคลื่อนไหวในไทยและรอบโลก ควรสนใจเรื่องราวเหล่านี้ ก็เพราะมันเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับประเด็นการสร้างพรรคสังคมนิยม ประเด็นเรื่องการลงสมัครรับเลือกตั้งในสภา และการเข้าใจว่ามีอุปสรรคอะไรบ้างในความฝันว่าจะปฏิรูประบบทุนนิยมได้

เราต้องย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของการพยายามทดลองสร้างพรรคซ้ายใหม่ในยุโรปและที่อื่นๆ ในยุคนี้ ความพยายามดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อพรรคกระแสหลักทางซ้าย คือพรรคสังคมนิยมสายปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็น “พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย” หรือ “พรรคแรงงาน” ในทุกประเทศของยุโรป หันไปรับนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดและการรัดเข็มขัดที่ให้ประโยชน์กับกลุ่มทุน นอกจากนี้มีการหันหลังให้กับการปฏิรูประบบหรือการปกป้องรัฐสวัสดิการ เรื่องมันแหลมคมยิ่งขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 และทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากซ้ายหรือขวา ก็ยอมรับนโยบายที่ทำลายมาตรฐานชีวิตของกรรมาชีพ เพื่อพยุงและเพิ่มกำไรของกลุ่มทุนและธนาคารต่างๆ ผลคือการเพิ่มอัตราว่างงาน และการตัดสวัสดิการ แต่ในขณะเดียวกันมีการเพิ่มรายได้และทรัพย์สินให้กับคนรวย นี่คือสาเหตุที่เกิด “สูญญากาศในการเมืองฝ่ายซ้าย”

ในขณะเดียวกันความไม่พอใจของชนชั้นกลางและนายทุนน้อยต่อสภาพเศรษฐกิจ ทำให้คะแนนนิยมพรรคกระแสหลักทางขวาลดลงด้วย ซึ่งเกิด “สูญญากาศในการเมืองฝ่ายขวา” ประกอบไปด้วย มันเป็นสภาพอันตรายเพราะพวกฟาสซิสต์เข้ามาฉวยโอกาสได้ง่ายขึ้น

ในสเปนวิกฤตเศรษฐกิจเกิดเมื่อฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์แตก ซึ่งในไม่ช้าอัตราว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาวพุ่งขึ้นถึง 60% และงานที่มีให้ทำก็เป็นงานแย่ๆ ที่จ่ายค่าจ้างต่ำ ปรากฏการณ์แบบนี้นำไปสู่การลุกฮือยึดพื้นที่กลางเมืองใหญ่ๆ เพื่อคัดค้านการรัดเข็มขัดของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมและของพรรคสังคมนิยมที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแทนที่ในภายหลัง

การยึดพื้นที่กลางเมืองของพวกคนหนุ่มสาว “อินดิกนาดอส” (Indignados) ซึ่งแปลว่า “พวกที่โกรธเคือง” เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความหวังให้กับคนที่อยากต้านแนวเสรีนิยม แต่ความคิดทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังขบวนการนี้จะเป็นแนวอนาธิปไตย คือคัดค้านพรรคการเมือง ปฏิเสธระบบ และเลือกใช้ประชาธิปไตยทางตรงของรากหญ้าผ่านการมีส่วนร่วมในจตุรัสต่างๆ หรือพื้นที่กลางเมือง อย่างไรก็ตามการมีส่วนร่วมแบบนี้ยากลำบากสำหรับคนที่ต้องไปทำงานทุกวัน

อย่างไรก็ตามเนื่องจาก “อินดิกนาดอส” เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ไร้การจัดตั้งในรูปแบบพรรค มันย่อมมีขาขึ้นและขาลงเป็นปกติ ต่อจากนั้นนักเคลื่อนไหวที่เป็นอดีต “อินดิกนาดอส” ก็เข้าไปต่อสู้ในสหภาพแรงงาน ขบวนการปกป้องรัฐสวัสดิการ และขบวนการที่คัดค้านการที่คนธรรมดาถูกธนาคารยึดบ้านเพราะติดหนี้

ในปลายปี 2014 กลุ่มนักวิชาการที่นำโดย พาบโล อิกเลซีอัส (Pablo Iglesias) ได้ตัดสินใจก่อตั้งพรรค “โพเดมอส” โดยอาศัยสมาชิกคนหนุ่มสาวที่เคยร่วมในขบวนการ “อินดิกนาดอส” มีการเรียนบทเรียนสำคัญจากการลุกฮือแบบกระจัดกระจายตามแนวอนาธิปไตยว่ามันไม่มีเสถียรภาพในการต่อสู้ เขาจึงร่วมกันสรุปว่า “ขบวนการต้องมีพรรค” ต่อมาในการเลือกตั้งยุโรปและเลือกตั้งท้องถิ่นของสเปน พรรคนี้ได้สส.ในสภายุโรปกับผู้แทนในสภาท้องถิ่นมาหลายคน

ถึงแม้ว่าการตั้งพรรคใหม่นี้เป็นพัฒนาการทางการเมืองที่ดี แต่มันมีปัญหาที่ตามมาเนื่องจากการปฏิเสธแนวสังคมนิยมมาร์คซิสต์ แกนนำของพรรค “โพเดมอส” มองว่าเขา “ก้าวพ้นการแบ่งแยกระหว่างซ้ายกับขวา” ไปแล้ว ซึ่งในรูปธรรมแนวความคิดโพสธ์โมเดอร์นอันนี้แปลว่าพรรคพยายามปกปิดความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างนายทุนกับกรรมาชีพ ที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกวันท่ามกลางวิกฤตและนโยบายรัดเข็มขัด คำว่า “ฝ่ายซ้าย” หมายถึงกลุ่มคนที่ยืนเคียงข้างกรรมาชีพและคนจน และคำว่า “ฝ่ายขวา” หมายถึงกลุ่มคนที่ยึดนโยบายที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มทุนและคนรวย สรุปแล้วพรรค “โพเดมอส” มีจุดยืนที่ไม่ชัดเจนว่าสนับสนุนผลประโยชน์กรรมาชีพกับคนจน หรือสนับสนุนกลุ่มทุนและคนรวย คือพรรคพยายามเอาใจคนชั้นกลางและกรรมาชีพคนจนพร้อมกัน แต่ไม่สนใจนำการต่อสู้ของกรรมาชีพในรูปธรรมเลย และมีการดึงนักธุรกิจมาร่วมอีกด้วย

อีกปัญหาหนึ่งของพรรค “โพเดมอส” คือการขาดประชาธิปไตยภายในในรูปธรรม เพราะในนามธรรมพรรคประกาศว่าอาศัยประชาธิปไตยทางตรง แต่เวลาลงคะแนนเสียงอาศัยการกดรับหรือไม่รับผ่านอินเตอร์เน็ดและโซเชียล์มีเดีย ผลในรูปธรรมคือไม่มีความชัดเจนว่าใครเป็นสมาชิกพรรค และคนชื่อดังที่สามารถออกความเห็นในสื่อต่างๆ ได้ดี มักจะได้ประโยชน์ มันเป็นการมีส่วนร่วมจอมปลอมที่ทำให้พรรคใช้นโยบายนำ “จากบนลงล่าง” มากขึ้น

สรุปแล้วภายในไม่กี่เดือนพรรค “โพเดมอส” มีการแปรธาตุไปเป็นพรรคซ้ายปฏิรูปที่ยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มทุนมากขึ้น ถ้าเทียบกับ “ไซรีซา” แล้ว มันมีจุดยืนแย่กว่าตั้งแต่ต้น และขาดประวัติการจัดตั้งมายาวนานของ “ไซรีซา” อีกด้วย และเราก็เห็นว่า“ไซรีซา” ก็ยังหักหลังประชาชนและยอมจำนนต่อกลุ่มทุนใหญ่ในที่สุด

ทุกวันนี้พวกนักฉวยโอกาสทางการเมือง ที่อยากเข้าไปในรัฐสภา แห่กันเข้ามาในพรรค “โพเดมอส” มากขึ้น

ทั้ง “ไซรีซา”  กับ “โพเดมอส” มีจุดร่วมคือ คลุมเครือว่าต้องการปฏิวัติหรือปฏิรูประบบทุนนิยม และคลุมเครือว่าเข้าไปในรัฐสภาเพื่ออะไร คือไม่ชัดเจนว่าหลงคิดว่ายึดอำนาจรัฐผ่านรัฐสภาได้ หรือเข้าไปในรัฐสภาเพื่อเปิดโปงความแย่ของระบบและนำการต่อสู้โดยขบวนการแรงงานและประชาชนนอกรัฐสภาแทน

ดังนั้นการสร้างพรรคฝ่ายซ้านต้านทุนนิยม ที่อิสระจากพวกปฏิรูปเหล้านี้ และเน้นการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาเป็นเรื่องสำคัญ ในช่วงนี้นอกจากการนำการต่อสู้แล้ว ภาระสำคัญของพรรคซ้านต้านทุนนิยมในกรีซและสเปน จะต้องเป็นการดึงนักเคลื่อนไหวดีๆ ของ “ไซรีซา”  กับ “โพเดมอส” ที่ผิดหวังและโกรธแค้นแกนนำ มาเป็นแนวร่วม

ในช่วงหลังนี้ที่สเปน มีการตั้งพรรค “คิวดาเดนอส” (Ciudadanos) หรือ “พรรคพลเมือง” เพื่อเป็น “พรรคใหม่ทางเลือก” ของฝ่ายขวา มีการดึงคะแนนของคนชั้นกลางและแข่งกับ “โพเดมอส” โดยเน้นเรื่องการต้านการคอร์รับชั่นในระบบการเมืองกระแสหลักเป็นนโยบายสำคัญ พรรคนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีเงิน และความไม่ชัดเจนทางการเมืองของ “โพดามอส” ทำให้ “โพดามอส” เสียคะแนนนิยมไป 10-15% ของคนชั้นกลางที่เคยสนับสนุนพรรค

บทเรียนสำคัญสำหรับเราจากสเปนและกรีซคือ

  1. การเคลื่อนไหวแบบกระจัดกระจายตามแนวอนาธิปไตยไม่มีความมั่นคงในการต่อสู้ระยะยาว ซึ่งเราก็เห็นในกรณีการต้านเผด็จการในไทยด้วย คือต้องมีการจัดตั้งสร้างพรรค
  2. การมีพรรคที่เน้นแต่การชนะการเลือกตั้งในรัฐสภา และคลุมเครือเรื่องปัญหาของระบบทุนนิยม และประเด็นชนชั้นมันไม่พอ ต้องมีการเชื่อมโยงกับการต่อสู้ของขบวนการแรงงานและกลุ่มอื่นๆ นอกรัฐสภาเสมอ และต้องไม่พยายามเอาใจคนชั้นกลางที่ไม่เคยสนับสนุนผลประโยชน์ของกรรมาชีพหรือคนจน และไม่เคยสนับสนุนประชาธิปไตยและการสร้างสังคมที่เท่าเทียมอย่างแท้จริง

มาทำความเข้าใจกับการต่อสู้ที่กรีซ

ใจ อึ๊งภากรณ์

 

วิกฤตหนี้กรีซเกิดจากการปล่อยกู้ให้ประเทศในยุโรปใต้โดยธนาคารเยอรมันและสถาบันการเงินในยุโรปเหนือ มีการปล่อยกู้ให้ธนาคารเอกชนในกรีซ ซึ่งปล่อยกู้ต่อให้ภาคเอกชนอีกที จากมุมมองเยอรมันการปล่อยกู้ก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในยุโรปใต้ซื้อสินค้าจากเยอรมัน ซึ่งมีผลในการกระต้นเศรษฐกิจเยอรมัน ในขณะเดียวกันรัฐบาลเยอรมันก็กดค่าแรงกรรมาชีพเยอรมันและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อประโยชน์กลุ่มทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแบบนี้ของเยอรมันทำให้กรีซและประเทศในยุโรปใต้แข่งขันกับเยอรมันไม่ได้ ส่งออกให้ยุโรปเหนือยากขึ้น ขาดดุลการค้า การเป็นหนี้แบบนี้อาจเป็นเรื่องปกติและมีการพัฒนาวิถีชีวิตของชาวกรีซจากสภาพเดิมที่ยากจนพอสมควร แต่มันกลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ระเบิดขึ้นในขั้นตอนแรกที่สหรัฐเมื่อปี 2008

วิกฤตเศรษฐกิจโลกนี้มาจากการลดลงของอัตรากำไร และการพยายามปั่นหุ้นและหากำไรในภาคไฟแนนส์กับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการปล่อยกู้ให้คนจนซื้อบ้าน มันเป็นการพนันเพื่อหากำไรแทนที่จะลงทุนในภาคการผลิต

เมื่อเกิดวิกฤตโลก ธนาคารกรีซใกล้ล้มละลาย และรัฐก็เข้ามาอุ้มหนี้ แปลงหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะ และที่เลวร้ายกว่านั้นคือบริษัทซื้อขายหุ้นก็ขายหนี้กรีซให้ “บริษัทอีแร้ง” ที่หากำไรจากการเก็บหนี้ มีการกดดันให้ดอเบี้ยเพิ่มทวีคูณไปเรื่อยๆ

ในที่สุด ไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางอียู และฝ่ายบริหารอียู ก็บังคับให้รัฐบาลชุดก่อนๆ ของกรีซจ่ายหนี้คืนผ่านการตัดสวัสดิการและการทำลายมาตรฐานชีวิตประชาชน คนตกงานจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันไม่มีการเก็บภาษีหรือทวงหนี้จากคนรวยหรือกลุ่มทุนกรีซ

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา “เงินช่วยเหลือ” ที่ธนาคารอียูและไอเอ็มเอฟส่งให้กรีซ ไม่เคยถึงมือประชาชนที่ยากลำบากเลย เพราะ 90% ถูกส่งกลับให้ธนาคารในยุโรปเพื่อจ่ายหนี้ต่างหาก และหนี้สินกรีซก็ทวีคูณอย่างต่อเนื่องเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ นับว่า “ยารักษาโรค” ของกลุ่มอำนาจอียูยิ่งทำให้คนไข้อาการหนักขึ้นบนพื้นฐานการยึดผลประโยชน์กลุ่มทุนและความเดือดร้อนของประชาชนธรรมดา

 

ในวันอาทิตย์นี้รัฐบาลฝ่ายซ้าย พรรค “ไซรีซา” ของกรีซ ซึ่งพึ่งชนะการเลือกตั้งเมื่อไม่นานมานี้ จัดประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าจะรับเงื่อนไขที่สหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟอยากจะบังคับใช้กับกรีซหรือไม่ ซึ่งมาตรการเหล่านี้รวมถึงการตัดสวัสดิการมหาศาลและการขึ้นภาษีให้กับคนจน จะมีผลกระทบร้ายแรงกับประชาชนจำนวนมากที่เดือดร้อนอยู่แล้ว รัฐบาลนี้ได้รับการเลือกด้วยคะแนนเสียงข้างมากภายใต้คำมั่นสัญญาว่าจะต้านการตัดสวัสดิการและต้านการทำลายมาตรฐานชีวิตประชาชน แต่ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมารัฐบาล “ไซรีซา” พยายามประนีประนอมกับสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟ แต่มันไม่เคยเพียงพอสำหรับพวกตัวแทนนายทุนเหล่านั้น

 

การบังคับใช้มาตรการแบบนี้โดยสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟ ตามแนวคลั่งกลไกตลาดเสรี จะไม่แก้ปัญหาเศรษฐกิจของกรีซที่มาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกแต่อย่างใด นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Joseph Stiglitz และ Paul Krugman วิจารณ์ว่ามาตรการแบบนี้จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงและคนเดือดร้อนยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ และทั้งสองคนมองว่าประชาชนกรีซควรจะ “โหวตไม่รับ” ในประชามติ

 

ทั้งรัฐบาลฝ่ายซ้ายกรีซ ฝ่ายซ้ายนอกรัฐบาล และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังสองคนนี้ เสนอว่าประชาชนควรจะปฏิเสธมาตรการของสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟในประชามติ และทุกคนอธิบายว่านอกจากมันจะทำลายชีวิตประชาชนกรีซแล้ว มันเป็นความพยายามของศูนย์อำนาจในสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟที่จะล้มรัฐบาลกรีซที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ประชาชนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสเปน อิตาลี่ ไอร์แลนด์ หรือปอร์ตุเกส ได้กำลังใจในการออกมาต้านนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการของพวกเสรีนิยม

 

เราจะเห็นได้ชัดว่าอำนาจเผด็จการไปได้สวยกับการบังคับใช้มาตรการกลไกตลาดเสรี ซึ่งในไทยเราเห็นรัฐบาลเผด็จการทหารใช้มาตรการแบบนี้ เช่นการโจมตี “30บาทรักษาทุกโรค” อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือการโจมตีการที่รัฐช่วยเหลือคนจน

 

อย่างไรก็ตามผู้นำรัฐบาล “ไซรีซา” พยายามบิดไปบิดมา หลอกตัวเองและประชาชน และสร้างความสับสนพอสมควร เพราะในการเจรจากับอียูมีการยอมจำนนในหลายเรื่องที่ไม่ควรยอม และมีการพยายามอยู่ต่อในสกุลเงินยูโร ซึ่งแปลว่าต้องยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มทุนอียู แนวทางของ “ไซรีซา” ดูเหมือนไม่มียุทธ์ศาสตร์ระยะยาวที่ชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน และเน้นการตัดสินใจเฉพาะหน้าตลอด “ไซรีซา” เป็นพรรคสังคมนิยมแนวปฏิรูปที่กลัวการเผชิญหน้ากับระบบทุนนิยม

 11667509_10206432657907955_3918985612875712957_n

ส่วนพรรคกรรมาชีพสังคมนิยม ฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภาในกรีซ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วม “แอนตาซียา”เสนอว่าต้องออกจากสกุลเงินยุโรป ชักดาบไม่ยอมจ่ายหนี้ให้ไอเอ็มเอฟ และยึดธนาคารต่างๆมาเป็นของรัฐ ที่สำคัญคือต้องใช้พลังกรรมาชีพในสหภาพแรงงาน และพลังมวลชนบนท้องถนน ในการเข้ามาควบคุมและบริหารเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชน คนหนุ่มสาวต้านทุนนิยมในแนวร่วม “แอนตาซียา” ร่วมรณรงค์ให้พลเมืองโหวต “OXI” (ไม่) ในวันอาทิตย์นี้

 

เราต้องเข้าใจว่า ไม่ว่าประชาชนจะโหวตรับหรือไม่รับเงื่อนไขของอียูและไอเอ็มเอฟ เรื่องมันไม่ได้พึ่งเริ่ม และเรื่องมันจะไม่จบภายในวันเดียว ถ้าประชาชนโหวตรับเงื่อนไขอียู กลุ่มทุนใหญ่จะได้ใจและรัฐบาลอาจต้องลาออก ถ้าประชาชนโหวตไม่รับเงื่อนไข แกนนำ “ไซรีซา” ก็แค่นำคำตัดสินใจของประชาชนอันนี้เพื่อไปเจรจาต่อและคงจะประนีประนอมต่อ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภาและโดยเฉพาะขบวนการแรงงานจะต้องเคลื่อนไหวต่อสู้ต่อไปอย่างดุเดือดเพื่อปกป้องชีวิตประชาชน กรีซมีการนัดหยุดงานทั่วไปหลายๆ ครั้งในรอบสิบปีที่ผ่านมา และการที่ “แอนตาซียา” รักษาความอิสระจากรัฐบาล “ไซรีซา” ทำให้สามารถปลุกระดมคนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคนที่เคยสนับสนุน “ไซรีซา” และเริ่มผิดหวังไม่พอใจ

 

อย่างน้อยการจัดประชามติมีประโยชน์ในการทำให้ประชาชนกรีซตื่นตัวมากขึ้น

กรีซกับไทย บทเรียนในความล้มเหลวของยิ่งลักษณ์

ใจ อึ๊งภากรณ์

สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันในประเทศกรีซ มีบทเรียนสำหรับประเทศไทย เพราะมันชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยของยิ่งลักษณ์ พลาดโอกาสสำคัญในการทำลายอำนาจของฝ่ายเผด็จการ หลังการเลือกตั้งปี ๒๕๕๔

หลังจากชัยชนะของพรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” ในการเลือกตั้งกรีซ มีการตั้งรัฐบาลและรุกสู้กับกลุ่มทุนใหญ่ของ “อียู” ทันที รัฐมนตรีการคลัง ยานิส วารูฟาคิส เปิดประเด็นในการโต้กับอียู โดยประกาศว่า “ไตรภาคีเสรีนิยม” หมดความสำคัญไป ไตรภาคีของนายทุนอันนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยธนาคารกลางอียู ไอเอ็มเอฟ และกรรมการบริหารอียู เป็นตัวหลักในการสั่งการให้รัฐบาลกรีซในอดีตต้องตัดงบประมาณ และทำลายชีวิตประชาชน ทั้งนี้เพื่อจ่ายเงินคืนให้ธนาคารและกลุ่มทุนใหญ่โดยเฉพาะในเยอรมัน นอกจากนี้รัฐบาลพรรคไซรีซาก็ประกาศว่าจะรับคนที่เคยถูกปลดออกจากงานกลับเข้าทำงาน และจะแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเร่งด่วน

แน่นอนเราไม่สามารถเพ้อฝันไปได้ว่ารัฐบาลไซรีซาในกรีซจะปฏิวัติยกเลิกทุนนิยมเพื่อสร้างสังคมนิยม และเราต้องเข้าใจว่า ยานิส วารูฟาคิส, อาเลกซิส ซีพรัส และทีมพรรคไซรีซา คงจะประนีประนอมบ้างกับกลุ่มทุนใหญ่ในอียู แต่ที่สำคัญคือในขณะที่ไซรีซาเปิดศึกกับกลุ่มทุนอียูและนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด  ที่เป็นพิษภัยกับประชาชนคนทำงาน มีมวลชนจำนวนมากออกมาชุมนุมกลางเมืองอาเทนส์ เพื่อสนับสนุนจุดยืนรัฐบาล และหลายส่วนของมวลชนคงต้องการกดดันให้รัฐบาลทำตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ในช่วงหาเสียงอีกด้วย นอกจากนี้เราก็ควรใช้สติ ระแวงว่าพรรคไซรีซาอาจพยายามลดการเคลื่อนไหวของมวลชนในอนาคต แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดและยังไม่มีการประนีประนอม

ประเด็นสำคัญสำหรับเรา ในการพิจารณาการพลาดโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ของรัฐบาลเพื่อไทยคือ รัฐบาลไซรีซามีความชอบธรรมที่กลุ่มทุนใหญ่ไม่สามารถจะปฏิเสธได้ เขาได้รับการเลือกตั้งจากเสียงประชาชนส่วนใหญ่จำนวนมาก มันเป็นการเปล่งเสียงโดยประชาชนว่าเขาไม่ต้องการที่จะอยู่ภายใต้เผด็จการของไตรภาคีทุนอียูอีกต่อไป และมีการหนุนในรูปธรรมโดยการชุมนุมอีกด้วย รัฐบาลไซรีซาจึงสามารถเจรจาจากจุดยืนที่มีความเข้มแข็งได้

ถ้าเราพิจารณาท่าทีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์หลังชนะการเลือกตั้งแบบขาดลอย เราจะเห็นว่าต่างจากท่าทีไซรีซาโดยสิ้นเชิง เพราะไม่มีการประกาศรุกสู้ทันที ไม่มีการปลดประยุทธ์ทั้งๆ ที่นายทหารคนนี้แทรกแซงการเลือกตั้งในลักษณะที่ผิดหน้าที่ นอกจากนี้ไม่มีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญเผด็จการทันที และไม่มีการนำอภิสิทธิ์ สุเทพ ประยุทธ์ และอนุพงษ์มาขึ้นศาลในข้อหาฆ่าประชาชน คือไม่มีการใช้โอกาสของความชอบธรรมมหาศาลที่มาจากการชนะการเลือกตั้ง และที่สำคัญไม่มีการเปิดไฟเขียวให้เสื้อแดงออกมาชุมนุมเพื่อหนุนรัฐบาล ตรงกันข้ามมีแต่การเปิดไฟแดงเพื่อแช่แข็งขบวนการเสื้อแดง พร้อมกันนั้นก็มีแต่การหมอบคลานต่อคนอย่างเปรมและประยุทธ์

อาจมีบางคนที่พูดว่าพรรคเพื่อไทยสู้กับเผด็จการไม่ได้ “เพราะนายภูมิพลสั่งการทหารและมีอำนาจล้นฟ้า” แต่ความเชื่อนี้ไม่ตรงกับความจริง กษัตริย์ภูมิพลไม่เคยมีอำนาจหรือแม้แต่ความกล้าหาญที่จะนำอะไร เขาเป็นเพียง “ธง” ที่ทหารและอำมาตย์ส่วนอื่นใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการทำลายประชาธิปไตยเท่านั้น เขาเป็นหุ่นเชิดของทหาร

แม้แต่ในเรื่องเล็กๆ พรรคเพื่อไทยก็ไม่ทำเหมือนพรรคไซรีซา เพราะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังกรีซไม่ยอมผูกเนคไท เหมือนนักการเมืองกระแสหลัก และในวันแรกของการทำงาน ยานิส วารูฟาคิส ขับรถมอร์เตอร์ไซค์เข้ากระทรวง ส่วนนักการเมืองเพื่อไทยทั้งหลายก็แต่งตัวและปฏิบัติเหมือนนักการเมืองกระแสหลักมาตลอด

พฤติกรรมของพรรคเพื่อไทยไม่น่าแปลก เพราะมันเป็นพรรคของนายทุนใหญ่ที่ไม่ต้องการโค่นล้มระบบอำมาตย์ และไม่ต้องการให้มวลชนสู้อย่างถึงที่สุดเพื่อสร้างประชาธิปไตย ท้ายสุดฝ่ายเผด็จการก็ได้โอกาส ทุกอย่างจบลงด้วยรัฐประหารรอบสอง และกระบวนการปฏิกูลการเมืองที่หมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคก่อน ๑๔ ตุลา

ข้อสรุปที่เราควรจะนำไปคิดต่อคือ เราสามารถเผชิญหน้ากับฝ่ายกลุ่มทุนใหญ่ หรือฝ่ายเผด็จการทหาร ที่ดูเหมือนมีอำนาจล้นฟ้า แต่เราต้องอาศัยการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และเราต้องพร้อมจะระดมมวลชนนอกรัฐสภาเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามเราทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถ้านักประชาธิปไตยไทยยังยึดติดกับพรรคการเมืองของทักษิณ หรือการเคลื่อนไหวกระจัดกระจายของกลุ่มอิสระที่ไม่ยอมสร้างพรรคมวลชนของคนชั้นล่าง

พรรคซ้าย “ไซรีซา” ชนะการเลือกตั้งในกรีซ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในการเลือกตั้งที่ประเทศกรีซ พรรคแนวร่วมซ้าย “ไซรีซา” (Syriza) ซึ่งมีรากฐานจาก กลุ่มสังคมนิยมหลากหลาย เช่นกลุ่มตรอทสกี้ กลุ่มเหมาอิสต์ กลุ่มเฟมินิสต์ และกลุ่มรักสิ่งแวดล้อม ได้รับชนะในการเลือกตั้งแบบขาดลอย นับว่าเป็นชัยชนะของพรรคซ้ายในยุโรปที่สำคัญเป็นประวัติศาสตร์ มันเป็นการตบหน้าพวกนายทุนใหญ่และนักการเมืองเสรีนิยมกลไกตลาดทั่วยุโรป

นอกจากนี้ชัยชนะของ ไซรีซา เป็นสิ่งสำคัญที่หยุดยั้งการขึ้นมาของพรรคฟาสซิสต์ ที่ชอบฉวยโอกาสโทษคนผิวดำหรือคนมุสลิม เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

ชัยชนะของไซรีซา เป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ และ “ยาพิษ” ขององค์กรคลั่งตลาดเสรี ที่กดดันให้รัฐบาลกรีซตัดงบประมาณ จนคนตกงานทั่วประเทศและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนย่ำแย่ ไซรีซา สัญญาว่าจะเพิ่มงบประมาณรัฐเพื่อสร้างงานและรื้อฟื้นสวัสดิการ โดยเลิกจ่ายหนี้ให้ธนาคารของยุโรป

วิกฤตนี้เกิดแต่แรก จากการที่ธนาคารเยอรมันปล่อยกู้ให้ประเทศเล็กๆ ในสหภาพยุโรป (อียู) เช่นกรีซ ปอร์ตุเกส อิตาลี่ หรือสเปน เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นซื้อสินค้าจากเยอรมัน พร้อมกันนั้นมีการสร้างฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคอื่นๆ และในที่สุดการปล่อยกู้กลายเป็นหนี้เสียเพราะผู้กู้จ่ายคืนไม่ได้ พอธนาคารสำคัญๆในสหรัฐและยุโรปเริ่มพังจากหนี้เสียแบบนี้ ก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ทั่วโลกตะวันตกในปี 2008

หลังจากนั้นรัฐบาลต่างๆ ก็ก้าวเข้ามาอุ้มธนาคารด้วยเงินภาษีของประชาชนและด้วยการกู้เงินจากภาคเอกชน มีการกระตุ้นเศรษฐกิจบ้างด้วยการลงทุนของรัฐ แต่ในไม่ช้าทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะในสหรัฐหรือยุโรป ก็กลับลำภายใต้คำสั่งของกลุ่มทุนใหญ่และการกดดันจากผู้คุมตลาดการเงิน เพื่อให้ใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด นโยบายดังกล่าวระบุว่าหนี้ของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นและมาจากการกู้ธนาคารเอกชนแต่แรก ต้องถูกลดด้วยการตัดสวัสดิการและงบประมาณรัฐ ผลคือการทำลายมาตรฐานการจ้างงาน ทำลายรัฐสวัสดิการหลายส่วน  และคนก็ตกงานเป็นล้านๆ สรุปแล้วประชาชนยากจนต้องอุ้มกลุ่มทุนใหญ่

ในสหภาพยุโรป กล่มทุนใหญ่ใช้องค์กร “ไตรภาคี” (Troika) ที่ประกอบไปด้วย ไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางยุโรป และสภาบริหารอียู เพื่อบังคับให้ประชาชนในกรีซ ยอมรับเผด็จการภายใต้นายกรัฐมนตรีที่เป็นนายธนาคาร รัฐบาลใหม่ลงนามในข้อตกลงที่จะตัดสวัสดิการและมาตรฐานการทำงานของประชาชนส่วนใหญ่ เพื่อจ่ายหนีคืนให้กลุ่มทุนใหญ่ในเยอรมันและที่อื่น ไตรภาคีเผด็จการนี้ได้รับการสนับสนุนจากพรรคฝ่ายขวาและพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสองพรรคกระแสหลักของกรีซ ต่อมาสองพรรคนี้ก็ตั้งรัฐบาลใหม่เอง และต่อยอดนโยบายกลไกตลาดเสรีที่สร้างความทุกข์ให้ประชาชน

การที่พรรคการเมืองกระแสหลักในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือพรรคของฝ่ายขวา สนับสนุนนโยบายที่ทำลายชีวิตประชาชนเพื่ออุ้มกลุ่มทุนและนายธนาคาร ทำให้เราเริ่มเห็นกระแสความไม่พอใจเกิดขึ้น เกือบทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคใดต้องออกไป เพราะประชาชนหมดความศรัทธา แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์ไม่ใช่พรรคซ้ายเสมอ ในฝรั่งเศสและหลายประเทศในยุโรปตะวันออก พวกฟาสซิสต์กำลังเพิ่มคะแนนเสียง

เรื่องชี้ขาดที่ทำให้พรรคแนวร่วมซ้ายก้าวหน้าในกรีซ ได้คะแนนเสียงส่วนใหญา คือการต่อสู้นอกรัฐสภาของนักสหภาพแรงงานและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ตั้งแต่ปี 2009 มีการนัดหยุดงานทั่วไปในกรีซหลายสิบครั้ง มีการยึดสถานที่ทำงานที่นายจ้างประกาศจะปิด และมีการออกมาต่อต้านพวกนาซีบนท้องถนนอีกด้วย

ทั้งๆ ที่เราควรดีใจกับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่เราต้องเข้าใจว่า ฝ่ายซ้ายทางเลือกอื่น ที่ซ้ายกว่า พรรคไซรีซา เช่นองค์กร “แอนตาซียา ต้านทุนนิยม” และสหภาพแรงงานต่างๆ จะต้องเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างถึงที่สุดเพื่อห้ามไม่ให้ ไซรีซา ประนีประนอมขายตัวยอมจำนนต่อกลุ่มทุน

ปัญหาจากการยอมประนีประนอมของ ไซรีซา ต่อไตรภาคีกลุ่มทุน เป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะแกนนำ ไซรีซา กำลังเหยียบเรือสองแคม คือพยายามเอาใจประชาชนและตามกระแสความไม่พอใจ แต่ในขณะเดียวกันพยายามเอาใจกลุ่มทุนและสัญญาว่าจะตามกติกาของเขาเพื่ออยู่ต่อในสกุลเงินยูโร นอกจากนี้ ไซรีซา ไม่เคยยอมประกาศตัวว่าเป็นพรรคปฏิวัติเพื่อล้มทุนนิยม เพราะมีการผสมแนวคิดปฏิวัติและแนวคิดปฏิรูปเป็น “ยำใหญ่” ทั้งๆ ที่สื่อต่างประเทศชอบนิยาม ไซรีซา ว่าเป็น “ซ้ายสุดขั้ว” แต่ประชาชนกรีซเองมองว่าพรรคนี้เป็น “พรรคซ้ายธรรมดา”

ชัยชนะของประชาชนกรีซรอบนี้ ต้องพัฒนาผลักไปข้างหน้าด้วยการเคลื่อนไหวและนัดหยุดงานนอกรัฐสภา