Tag Archives: ไรเดอร์

กรรมาชีพในอาชีพใหม่ๆของศตวรรษนี้รวมตัวกันสู้ได้หรือไม่?

[แนะนำหนังสือ “Nothing to lose but our chains.” โดย เจน ฮาร์ดี้]

ในยุคนี้เรามักจะได้ยินคำพูดของคนที่มองว่า “ชนชั้นกรรมาชีพกำลังหายไป” หรือ “พลังการต่อสู้ของกรรมาชีพอ่อนตัวลง” หรือ “สภาพการทำงานที่มั่นคงกำลังสูญหายไป” คำพูดเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางการพัฒนาของเทคโนโลจีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลจีดิจิตอล หรือท่ามกลางการขยายตัวของวิธีการทำงานแบบใหม่อย่างเช่น “แรงงานแพลตฟอร์ม”

ในหนังสือ “ไม่มีอะไรจะเสียนอกจากโซ่ตรวนของเรา” เจน ฮาร์ดี้ ได้รายงานผลการวิจัยเรื่องสภาพการทำงานในอังกฤษในยุคปัจจุบัน พร้อมกับฉายภาพวิธีการต่อสู้ของแรงงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาหลายประเด็นปัญหา และความเชื้อเท็จเรื่องการทำงานในศตวรรษที่21

ประเด็นหนึ่งที่เจน ฮาร์ดี้ พิจารณาคือเรื่องสภาพการทำงานที่ไร้ความมั่นคง และเต็มไปด้วยความยืดหยุ่น ซึ่งมีการอ้างกันว่าเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหายในระบบทุนนิยมสมัยใหม่ โดยเฉพาะภายใต้ “เสรีนิยมใหม่” แต่เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์การทำงานแล้ว จะพบว่าการทำงานที่ไร้ความมั่นคงมีมาตลอด ตั้งแต่กำเนิดของทุนนิยม และสัดส่วนการทำงานที่มั่นคงเมื่อเทียบกับการทำงานที่ไร้ความมั่นคง มักขึ้นลง โดยถูกกำหนดจากระดับการต่อสู้ของสหภาพแรงงาน ความต้องการของนายจ้างที่จะลงทุนในการจ้างงานที่มีประสิทธิภาพ และกระแสทางการเมือง ข้อสรุปคือไม่มีข้อมูลที่รองรับความเชื่อว่าทุนนิยมสมัยใหม่สร้างงานที่ไร้ความมั่นคงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และไม่มีข้อมูลใดๆ ที่สนับสนุนความเชื่อว่าชนชั้นกรรมาชีพกำลังลดลงแต่อย่างใด

ในอังกฤษจำนวนกรรมาชีพเพิ่มขึ้นจาก 26 ล้านในปี 1997 เป็น 33 ล้านในปี 2020 ทั่วโลกก็เป็นในลักษณะแบบนี้หมดด้วย

นอกจากนี้การทำงานแบบไร้ความมั่นคงอาจเกิดขึ้น ทั้งๆที่มีสัญญาการจ้างงานที่ชัดเจน คือความไม่มั่นคงอาจมาจากระดับค่าแรงที่ต่ำเกินไปที่จะเลี้ยงชีพเป็นต้น ซึ่งประเด็นนี้มีมานาน

คนงานสร้างเกม

บ่อยครั้งความเชื่อที่ไม่ตรงกับความจริง มักเกิดจากความเข้าใจผิดว่า “มูลค่าส่วนเกิน” เกิดจากการทำงานของกรรมาชีพในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ซึ่งนักมาร์คซิสต์ไม่เคยเสนอว่าเป็นอย่างนั้น ในความเป็นจริงมูลค่าส่วนเกินเกิดขึ้นในทุกภาคของเศรษฐกิจ และเราจะเห็นชัดเมื่อเราพิจารณาภาพรวมของระบบทุนนิยม คือเกิดจากการผลิต การขนส่ง การค้า ระบบธนาคาร การพัฒนาการศึกษา และจากระบบสาธารณสุขด้วย ไม่ได้เกิดณจุดเดียว และยิ่งกว่านั้นมาร์คซิสต์ไม่เคยแยกการทำงานด้วยกล้ามเนื้อออกจากการทำงานด้วยสมอง การทำงานทั้งสองอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันและคู่ขนานกันเสมอ และข้อเสนอของบางคน รวมถึงพวกอนาธิปไตยในอิตาลี่ ว่าระบบเศรษฐกิจที่ “ไร้น้ำหนัก” (คืออาศัยการทำงานแบบความคิดเป็นหลัก) กำลังเข้ามาแทนที่ระบบการผลิตสินค้านั้น เป็นความเข้าใจผิด เพราะแม้แต่คนงานไอที ที่ผลิตโปรแกรมหรือแอพหรือเกม ก็ผลิตสินค้าที่จับต้องได้

ในไทยนักวิชาการสายแรงงานบางคนเชื้อผิดๆ ว่า “การขูดรีด” เกิดขึ้นแค่ในกรณีที่มีการจ้างงานแบบไม่เป็นธรรมเท่านั้น แต่ในความจริง “การขูดรีด” เกิดจากการขโมยมูลค่าส่วนเกินจากการทำงานของกรรมาชีพโดยนายจ้างหรือรัฐ มันเกิดขึ้นในทุกที่และเป็นกำเนิดของ “กำไร” ซึ่งมาร์คซ์อธิบายไว้ใน “ทฤษฏีมูลค่าแรงงาน”

แน่นอนระบบทุนนิยมเป็นระบบที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำงานในภาคหนึ่งอาจหายไปหรือลดลง เช่นในภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่การทำงานในภาคใหม่หรือในรูปแบบใหม่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ในอังกฤษยุคสมัยนี้คนงานในภาคการศึกษาและภาคสวัสดิการของรัฐ เพิ่มขึ้นมาก แต่อุตสาหกรรมก็ยังมีอยู่ ระบบสาธารณสุขของรัฐ (NHS) มีลูกจ้างทั้งหมด 1.5 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่มีลูกจ้างมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก มันสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

ส่วนเรื่องหุ่นยนต์ในระบบการผลิตนั้น ไม่มีข้อมูลว่าทำให้การจ้างงานในภาพรวมลดลง มันอาจลดลงในกิจการหนึ่ง แต่ไปเพิ่มที่อื่น เช่นการเพิ่มขึ้นของแรงงานในคลังสินค้ายักษ์ของบริษัทอเมซอนเป็นต้น นอกจากนี้ในการผลิตรถยนต์ บางบริษัทเริ่มลดจำนวนหุ่นยนต์ลง เพราะไม่ยืดหยุ่นและฉลาดเท่าแรงงานมนุษย์

การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของการทำงานในระบบทุนนิยมไม่ได้ทำลายโอกาสที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อสู้กับนายจ้างแต่อย่างใด มันแค่เปลี่ยนรูปแบบของสหภาพแรงงาน หรือเปลี่ยนกองหน้าของขบวนการแรงงานเท่านั้น

และสิ่งที่ เจน ฮาร์ดี้ เน้นในหนังสือเล่มนี้คือ “ไม่มีที่ไหนที่จัดตั้งสหภาพแรงงานไม่ได้” มันขึ้นอยู่กับว่านักปฏิบัติการสายแรงงานพร้อมจะลงมือจัดตั้งหรือไม่

สิ่งนี้ถูกพิสูจน์จากประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานสากล และจากกรณีศึกษาของ เจน ฮาร์ดี้ เอง คือเขาเข้าไปสำรวจการจัดตั้งสหภาพแรงงานและการต่อสู้กับนายจ้างในกิจการต่างๆ เช่น กลุ่มพนักงานทำความสะอาดที่ทำงานให้กับบริษัทเอาท์ซอร์สหรือรับเหมาช่วง กลุ่มคนงานหญิงรายได้ต่ำ แรงงานแพลตฟอร์ม แรงงานที่เขียนโปรแกรมสำหรับเกมคอมพิวเตอร์ ครูบาอาจารย์ หรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในคลังสินค้า และ ฮาร์ดี้ พบว่าในทุกสถานที่ทำงานเหล่านี้ มีความพยายามที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง บางแห่งอาจประสบความสำเร็จมาก บางแห่งอาจน้อย แต่ไม่มีที่ไหนที่จัดตั้งไม่ได้ และไม่มีที่ไหนที่คนไม่พยายามออกมาต่อสู้

แม้แต่ในไทยเรายังเห็นการจัดตั้งสหภาพแรงงานในคนงานไรเดอร์ ที่ถือว่าเป็นคนงานแพลตฟอร์ม เช่นกรณี “สหภาพไรเดอร์” ที่พึ่งต่อรองเรื่องสภาพการจ้างงานกับบริษัท ลาลามูฟ อีซี่แวน คนงานประเภทนี้ทั่วโลกกำลังเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนามาตรฐานการจ้างงาน โดยที่บริษัทต่างๆ อ้างว่าคนงานแพลตฟอร์มเป็น “ผู้ประกอบการเอง” หรือเป็น “ผู้มีหุ้นส่วนในบริษัท” ทั้งๆ ที่เป็นลูกจ้างชัดๆ ข้ออ้างของบริษัทกระทำไปเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายสวัสดิการใดๆ และเพื่อผลักภาระจากการทำงานที่ไม่มีความมั่นคงไปสู่ลูกจ้าง

ภาพจากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

ในอังกฤษสหภาพแรงงานของคนทำงานแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ทำการประท้วง หยุดงาน และใช้กระบวนการศาลเพื่อบังคับให้บริษัทต้องยอมรับว่าเป็นลูกจ้าง ที่สหรัฐและอังกฤษสหภาพแรงงานทำอาหารในร้านฟาสท ฟูดอย่างเช่นแมคโดนัลด์ หรือในบาร์ ก็กำลังจัดตั้งสหภาพแรงงานเช่นกัน

ในกรณีที่รัฐกับนายจ้างจับมือกันและใช้กฎหมายเพื่อทำให้การนัดหยุดงานยากขึ้น การต่อสู้ก็ยังทำได้ในหลายระดับตั้งแต่การนัดหยุดงานถูกกฎหมาย การนัดหยุดงานผิดกฎหมาย การขู่ว่าจะหยุดงาน การลงคะแนนเสียงเรื่องว่าจะหยุดงานหรือไม่ หรือการประชุมกลางแจ้งเพื่อกดดันนายจ้างเป็นต้น

สำหรับวิธีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เจน ฮาร์ดี้ กล่าวถึง “รูปแบบการจัดตั้ง” (Organising Model) ที่นำเข้ามาในอังกฤษจากขบวนการแรงงานสหรัฐ เพื่อเปลี่ยนทิศทางสหภาพแรงงานจากแค่การบริการสมาชิก มาเป็นการจัดตั้งเพื่อเพิ่มพลังต่อรอง รูปแบบนี้อาศัยหลักการ 3 ประการคือ 1.แสวงหาผู้นำระดับรากหญ้าธรรมชาติ 2.เชื่อมโยงคนทำงานกับชุมชน และ 3.ทดสอบว่าผู้นำรากหญ้าสามารถทำให้คนส่วนใหญ่สนับสนุนการต่อสู้ได้หรือไม่ ผ่านการล่ารายชื่อเป็นต้น ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นเรื่องสามัญสำนึก แต่ถ้าใช้ในลักษณะที่ตามสูตรแบบกลไกอาจมีปัญหา เพราะผู้นำรากหญ้าบ่อยครั้งเกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ เราไม่สามรถกำหนดล่วงหน้าได้ และเราอาจไม่จำเป็นต้องรอให้คนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานถึงขั้นพร้อมจะสู้ เพราะการออกมาสู้ของของกลุ่มหนึ่งแผนกหนึ่ง อาจกระตุ้นให้คนอื่นออกมาสู้ได้

เจน ฮาร์ดี้ สรุปว่าการจัดตั้งสหภาพแรงงานและการนัดหยุดงานหรือการประท้วงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เกิดขึ้นผ่านแกนนำที่เชื่อมโยงกับคนงานรากหญ้าอย่างใกล้ชิดและมีโครงสร้างสหภาพที่อำนวยให้คนงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ตลอดเวลา และบ่อยครั้งการมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในสหภาพ ช่วยทำให้การต่อสู้เข้มแข็งมากขึ้น

ฮาร์ดี้ เสนอต่อว่าในสถานการณ์สังคมที่การต่อสู้ทางการเมืองเกิดขึ้น เช่นการต่อสู้กับการเหยียดสีผิวของขบวนการ Black Lives Matter และการประท้วงเรื่องโลกร้อน หรือถ้าจะยกตัวอย่างจากไทยก็คือการต่อสู้กับเผด็จการ บทบาทของนักสังคมนิยมที่เป็นสมาชิกพรรค และเป็นนักเคลื่อนไหวในสถานที่ทำงาน สามารถเชื่อมโยงโลกภายนอกรั้วสถานประกอบการ กับการต่อสู้ภายในได้ และสามารถนำกระแสอันมีพลังของการต่อสู้ทางการเมือง เข้ามาสร้างเป็นพลังการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานได้อีกด้วย พูดง่ายๆ การนำการเมืองภาพกว้างเข้ามาในสหภาพแรงงานและสถานที่ทำงาน ช่วยเสริมพลังการต่อสู้ของกรรมาชีพได้ ซึ่งข้อสรุปอันนี้ของ ฮาร์ดี้ ตรงกับสิ่งที่ โรซา ลัดคแซมเบอร์ค เคยเสนอในหนังสือ “การนัดหยุดงานทั่วไป”

ตัวอย่างของการจัดตั้งกรรมาชีพในภาคการทำงานใหม่ๆ หรือในสถานที่ทำงานที่ไม่เคยมีสหภาพแรงงานมาก่อน ไม่ได้อาศัยการพยายามสร้าง “สหภาพแรงงานแดง” หรือ “สหภาพแรงงานปฏิวัติ” อย่างที่พวกลัทธิสหภาพอนาธิปไตยเสนอแต่อย่างใด เพราะการสร้างสหภาพแรงงานแบบนั้นจะไม่สามารถจัดตั้งคนส่วนใหญ่ได้เลย เพราะคนทำงานในสถานที่ต่างๆ มักจะมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่การจัดตั้งสหภาพแรงงานและการนำการต่อสู้ในภาคการทำงานใหม่ๆ ถ้าจะมีพลังจริงๆ จะต้องอาศัยนักปฏิวัติสังคมนิยมที่จัดตั้งในพรรค และพร้อมจะปลุกระดมเพื่อนร่วมงานต่างหาก

[ Jane Hardy (2021) “Nothing to lose but our chains.” Pluto Press]

ใจ อึ๊งภากรณ์