[ท่านใดที่อ่านผ่าน Facebook อาจอ่านได้ง่ายขึ้นถ้าเข้าไปอ่านในบล็อก ]
ใจ อึ๊งภากรณ์
ข่าวที่น่าตื่นเต้นจากประเทศไอร์แลนด์เมื่อไม่นานมานี้ คือการที่พลเมืองไอร์แลนด์ลงประชามติให้ยกเลิกกฏหมายที่ห้ามสตรีทำแท้ง ซึ่งเป็นการปูทางไปสู่การร่างกฏหมายทำแท้งเสรีอย่างที่มีในประเทศอื่นของยุโรปตะวันตก
เมื่อไอร์แลนด์ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปีค.ศ. 1922 หลังจากสู้รบกันมานาน เอกราชที่ได้รับเป็นเอกราชครึ่งใบ เพราะอังกฤษแบ่งเกาะไอร์แลนด์เป็นสองส่วนคือ ไอร์แลนด์ใต้ กับไอร์แลนด์เหนือ
ไอร์แลนด์เหนือยังปกครองภายใต้อังกฤษและนักการเมืองที่มีอำนาจในพื้นที่นี้เป็นพวกโปรเตสแตนต์สุดขั้วล้าหลังที่คอยกดขี่เลือกปฏิบัติต่อชาวคาทอลิก พวกนี้จงรักภักดีต่อชนชั้นปกครองอังกฤษและกษัตริย์
ไอร์แลนด์ใต้กลายเป็นสาธารณรัฐภายใต้นักการเมืองอนุรักษ์นิยมที่ชื่นชมนิกายคาทอลิก
อังกฤษแบ่งเกาะไอร์แลนด์ตอนนั้นเพราะต้องการรักษาฐานทัพและเมืองอุตสาหกรรมทางเหนือ แต่มันมีเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การให้สิทธิพิเศษกับประชาชนโปรเตสแตนต์ในไอร์แลนด์เหนือ เป็นเครื่องมือสำคัญในการแบ่งแยกชนชั้นกรรมาชีพระหว่างพวกโปรเตสแตนต์กับคาทอลิก
แทนที่การต่อสู้ทางชนชั้นจะเป็นประเด็นสำคัญ อย่างที่เคยเป็น ประชาชนไอร์แลนด์ถูกชักชวนให้มองว่าความขัดแย้งหลักเป็นเรื่องของศาสนา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครองในทั้งสองประเทศ
นักสังคมนิยมคนสำคัญของไอร์แลนด์ชื่อ เจมส์ คอนนอลี่ เคยเตือนไว้ก่อนหน้านั้นว่า ถ้ามีการแบ่งประเทศ อย่างที่อังกฤษทำ จะเกิด “เทศกาลแห่งความปฏิกิริยาล้าหลัง” ในทั้งไอร์แลนด์เหนือกับไอร์แลนด์ใต้

ในไอร์แลนด์ใต้รัฐบาลชวนให้องค์กรศาสนาคาทอลิกเข้ามาครอบงำทุกส่วนของสังคม ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา วัฒนธรรม หรือการร่างกฏหมาย พวกพระล้าหลังเหล่านี้ กดขี่สิทธิสตรีอย่างรุนแรง เน้นความเป็น “แม่” ห้ามการหย่า ห้ามการคุมกำเนิด ห้ามทำแท้ง และมีการละเมิดสิทธิสาวๆที่ท้องโดยไม่แต่งงาน โดยนำไปขังไว้ในสถาบันศาสนาเหมือนทาสตลอดชีวิต
ในไอร์แลนด์เหนือพวกพระโปรเตสแตนต์เล่นการเมืองและกีดกันสิทธิสตรีเช่นกัน เมื่ออังกฤษผ่านกฏหมายเพื่อให้สตรีเลือกทำแท้งอย่างเสรีได้ในปี 1967 นักการเมืองปฏิกิริยาเหล่านี้ไม่ยอมให้ใช้กฏหมายนี้ในไอร์แลนด์เหนือ นอกจากนี้การที่ชนชั้นกรรมาชีพถูกแบ่งแยกระหว่างโปรเตสแตนต์กับคาทอลิก ทำให้ค่าจ้างและสภาพการจ้างของกรรมาชีพไอร์แลนด์เหนือแย่กว่าในเกาะอังกฤษ
อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป คนรุ่นใหม่เติบโตขึ้น และในไอร์แลนด์ใต้มีการลงทุนในการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการมากขึ้น ซึ่งทำให้กรรมาชีพในเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว ความงมงายในศาสนาคาทอลิกค่อยๆ ลดลง พร้อมกันนั้นมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับพระคาทอลิกทั่วโลกรวมถึงไอร์แลนด์ ว่ามีการละเมิดทางเพศเด็กๆ จำนวนมาก
ในปี 1993 ในไอร์แลนด์ใต้มีการยกเลิกการลงโทษคนรักเพศเดียวกัน ต่อมาในปี 1995 มีการยกเลิกการห้ามหย่า และในปี 2015 มีประชามติที่สนับสนุนการแต่งงานกันระหว่างคนเพศเดียวกัน ประชามติที่ปูทางไปสู่สิทธิในการทำแท้งจึงเป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการทำลายสิ่งที่ เจมส์ คอนนอลี่ เคยเรียกว่า “เทศกาลแห่งความปฏิกิริยาล้าหลัง”
แต่ในไอร์แลนด์เหนือ ยังไม่มีการยกเลิกกฏหมายห้ามทำแท้งหรือร่างกฏหมายที่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ นักการเมืองล้าหลังโปรเตสแตนต์ยังไม่ถูกเขี่ยลงจากเวทีสักที แต่คนก้าวหน้ากำลังลุ้นว่าในไม่ช้าพวกนี้จะไม่สามารถต้านกระแสการปลดแอกทางเพศได้
ส่วนในประเทศไทย สตรียังต้องรอวันที่จะมีการออกกฏหมายเลือกทำแท้งเสรี โดยที่ให้เป็นสิทธิปกติในระบบสาธารณสุขที่ปลอดภัยและไม่ต้องจ่ายเงิน คนก้าวหน้าในไทยจึงควรเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่กำลังเสนอตัวกันตอนนี้ ออกมาประกาศว่าจะสนับสนุนสิทธิทำแท้งเสรี