Tag Archives: ๑๔ ตุลา

ระวังพวกที่จะพาเราหลงทางจากเป้าหมายข้อเรียกร้อง 3+10

ใจ อึ๊งภากรณ์

นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทยควรระมัดระวังอย่างยิ่ง เพื่อไม่ให้พวกประนีประนอมพาเราไปหลงทาง เบี่ยงเบน ไปจากเป้าหมายข้อเรียกร้อง “3+10”

อันนี้เป็นปัญหาปกติในกระบวนการต่อสู้ เราเคยเจอในกรณีการล้มเผด็จการทหารช่วง ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ที่ฝ่ายชนชั้นปกครองเชิญนายภูมิพลออกมาเพื่อแต่งตั้ง สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตประธานศาลฎีกา เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และนำไปสู่การตั้ง “สภาสนามม้า” [ดู https://bit.ly/3ggYMLW ] มันเป็นวิธีที่ชนชั้นปกครองไทยสามารถกู้สถานการณ์ไม่ให้ลามไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างแท้จริงตามที่คนจำนวนมากต้องการ โดยเฉพาะนักศึกษา กรรมาชีพ และพลเมืองที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในที่สุดมันเปิดโอกาสให้ชนชั้นปกครองฝ่ายอนุรักษ์นิยมตั้งตัวใหม่และกลับมาในช่วง ๖ ตุลา ๒๕๑๙

a3_0

ทั้งในสถานการณ์สากลและไทย เมื่อมีการลุกฮือล้มเผด็จการ มักจะมีกลุ่มคนที่เสนอให้ประนีประนอม พวกนี้ส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกชนชั้นปกครองเก่า อีกส่วนเป็นพวกนักการเมืองและนักวิชาการกระแสหลักที่ต้องการแค่ปฏิรูประบบ เป้าหมายของสองกลุ่มนี้คือเพื่อปกป้องโครงสร้างอำนาจเดิม

เรื่องแบบนี้มันเกิดที่ ซูดาน เลบานอน อียิปต์ ฮ่องกง และที่อื่นๆ มันเป็นความขัดแย้งระหว่างพวกที่อยากเปลี่ยนระบบให้น้อยที่สุดพร้อมปกป้องอำนาจเดิม กับพวกที่ต้องการเปลี่ยนสังคมอย่างถอนรากถอนโคน

ข้อเรียก 3 ข้อของ “คณะประชาชนปลดแอก” เป็นข้อเรียกร้องที่ต้องการล้มเผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์ ล้มรัฐธรรมนูญทหาร และยุติการคุกคามประชาชนโดยทหาร มันจะไม่ประสบความสำเร็จจนกว่าประยุทธ์กับคณะทหารออกไปจากการเมืองไทย

ดังนั้นเราควรระมัดระวังคนที่เสนอให้แค่ “แก้” รัฐธรรมนูญทหาร เพราะมันจะเป็นการเสนอกระบวนการที่ใช้เวลานาน และเปิดช่องให้เผด็จการของประยุทธ์อยู่ต่อไป ถ้าเผด็จการประยุทธ์อยู่ต่อได้แบบนี้ ฝ่ายประนีประนอมหวังว่ากระแสการลุกฮือจะลดลง และนี่คืออันตรายสำหรับฝ่ายเรา

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังที่หยุดนิ่ง อยู่กับที่ มักจะถอยหลังในไม่ช้า

เราต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่ไปแก้รัฐธรรมนูญเผด็จการ

ข้อเรียกร้อง 10 ข้อให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็เช่นกัน ถ้าปล่อยให้พวกประนีประนอมเดินเรื่อง โดยเฉพาะพรรคการเมืองอย่าง “เพื่อไทย” กับ “ก้าวไกล” รับรองมันจะถูกผลักออกไปจากวาระทางการเมืองอย่างแน่นอน

FB_IMG_1597581301917

ในความเป็นจริงข้อเรียกร้อง 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จะไม่ประสบความสำเร็จตราบใดที่เผด็จการประยุทธ์หรือเผด็จการทหารอื่นๆ ยังคุมอำนาจอยู่ เพราะทหารคือผู้ที่มีอำนาจในสังคมไทย และเป็นผู้ที่ใช้กษัตริย์เป็นเครื่องมือของเขาเองเสมอ

ดังนั้นเราต้องคงไว้เป้าหมายข้อเรียกร้อง “3+10” ทั้งหมดพร้อมๆ กัน

ในความเห็นผม จริงๆ แล้วประเทศไทยควรเป็นสาธารณรัฐ คือยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไปเลย เพราะสถาบันกษัตริย์ไทยมันปฏิรูปให้ดีขึ้นไม่ได้ และลัทธิกษัตริย์นิยมเป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมมาตลอด

[อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2Qf5yHB  https://bit.ly/2Qk0eCS  https://bit.ly/2QfI2dh และ หนังสือ “ระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ที่เขียนหลังรัฐประหาร๑๙กันยา๒๕๔๙ https://bit.ly/3gStOLd ]

เราจะคงไว้เป้าหมาย “3+10” อย่างไร?

  1. อย่าไปฝากความหวังอะไรทั้งสิ้นกับ “ผู้ใหญ่” ในวงวิชาการ หรือนักการเมืองจากพรรคกระแสหลัก อย่าให้เขาออกแบบวิธีปฏิรูปสังคมไทย
  2. พวกเรา โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวหนุ่มสาว จะต้องรีบคุยกันเพื่อหาจุดร่วมว่าต้องการเห็นสังคมไทยแบบไหน ต้องการรัฐธรรมนูญแบบไหน และต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์หรือไม่ พูดง่ายๆ ควรมีสมัชชาใหญ่ของคณะปลดแอกประชาชนและพันธมิตรอื่นๆ เพื่อเอา “เนื้อ” มาใส่โครงกระดูกของข้อเรียกร้อง “3+10” และคุยกันว่าจะเดินหน้าอย่างไร
  3. ไม่ควรหยุดการเคลื่อนไหวเพื่อส่งต่อเรื่องให้คนอื่น และควรมีความพยายามที่จะขยายมวลชนไปสู่นักสหภาพแรงงาน เกษตรกร และคนธรรมดากลุ่มอื่นๆ ควรมีการคุยกันว่าคนที่อยู่ในสถานที่ทำงานสามารถประท้วงได้อย่างไร เช่นการนัดหยุดงาน
  4. เราต้องเรียกร้องให้ยุติคดีของเพื่อนเราทุกคนที่ถูกหมายเรียกหมายจับทันที

อย่ายอมประนีประนอมเพื่อรักษาระบบที่ทำลายสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม!!

การจัดการกับอาชญกรรมรัฐไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในวันที่ ๑๔ ตุลาคมปีนี้ พรรคสามัญชน แถลงว่า “ต้องมีการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐที่ผ่านมาทั้งหมด” โดยมีการเสนอว่า

  1. สนับสนุนกระบวนการค้นหาความจริงอย่างรอบด้าน
  2. จัดทำโครงการรำลึกและการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐอย่างเป็นระบบ
  3. ชดเชยผู้เสียหายจากความรุนแรง
  4. ต้องไม่มีการลอยนวลพ้นผิด จะต้องมีการสอบสวน ลงโทษ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยรัฐ อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

43950273_1942694965809987_568145699913334784_n

ทั้งๆ ที่ผมสนับสนุนทั้งสี่ข้อนี้ มันมีเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ ในเกือบทุกเรื่องตอนนี้ มันมีการค้นหาความจริงโดยขบวนการประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว เช่นกรณีเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เป็นต้น [ดู https://bit.ly/2cSml2g ] และผู้ก่อความรุนแรงรายใหญ่ตายไปหมดแล้ว ส่วนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖, พฤษภาคม ๒๕๓๕, การเข่นฆ่าประชาชนมาเลย์มุสลิมที่ตากใบ, การฆ่าวิสามัญในสงครามยาเสพติด และการเข่นฆ่าเสื้อแดง เราล้วนแต่ทราบข้อมูลว่าใครสั่งการและใครควรรับผิดชอบ มันไม่มีอะไรลึกลับ มันไม่มีประวัติศาสตร์ที่ต้องชำระ

col01210959p1

สำหรับ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ผู้นำเผด็จการที่สั่งฆ่าประชาชนตายไปแล้วสองคน แต่ ณรงค์ กิตติขจร ทรราชคนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบกับการฆ่าประชาชน ยังมีชีวิตอยู่ เขาควรจะถูกนำมาขึ้นศาล

200px-ณรงค์_กิตติขจร

ณรงค์-กิตติขจร-1
ณรงค์ กิตติขจร

นอกจาก ณรงค์ กิตติขจร แล้ว สุจินดา คราประยูร ผู้สั่งการในการฆ่าประชาชนในพฤษภา ๓๕ ก็ควรจะกลายเป็นผู้ต้องหาด้วย ในกรณีการเข่นฆ่าประชาชนมาเลย์มุสลิมที่ตากใบ และการฆ่าวิสามัญในสงครามยาเสพติด ทักษิณ ชินวัตร จะต้องถูกนำมาขึ้นศาล

hqdefault
สุจินดา คราประยูร
A-0208
ทักษิณ ชินวัตร

และล่าสุดในคดีเข่นฆ่าประชาชนเสื้อแดง อนุพงษ์ เผ่าจินดา, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ควรจะถูกนำมาขึ้นศาลเช่นกัน

ฆาตกร

แล้วทำไมไม่กล้าพูดกันตรงๆ ? แน่นอนมันคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ แต่อย่างน้อยต้องมีการเปิดประเด็นเรื่องนี้ให้ชัดเจนเพื่อเป็นเป้าหมาย

ปัญหาคือการพูดถึงการ “ชำระประวัติศาสตร์” สามารถถูกใช้เป็นคำพูดที่ดูดี อยู่เคียงข้างความยุติธรรมและประชาธิปไตย แต่ในรูปธรรมกลายเป็นข้ออ้างในการชะลอการลงมือจัดการกับอาชญากร

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับพรรรคสามัญชน มันเกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่ด้วย เพราะถ้าจะลบผลพวงของรัฐประหารและเผด็จการทหาร สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการนำผู้กระทำความผิดมาขึ้นศาล ซึ่งคงต้องรวมไปถึงคนที่ก่อรัฐประหารด้วย ดังนั้นคงต้องเพิ่มชื่อ สนธิ บุญยรัตกลิน เข้าไปอีกหนึ่งคน

และประเด็นที่ตามมาคือจะนำอำนาจอะไรมาทำ? จะใช้อำนาจอะไรยกเลิกรัฐธรรมนูญทหารและยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี? มันมีอำนาจเดียวที่ชี้ขาดในเรื่องนี้ คืออำนาจของขบวนการมวลชนนอกรัฐสภา

เรื่องแบบนี้พรรคการเมืองที่พูดในลักษณะก้าวหน้าควรจะอธิบายให้ชัดเจนในเรื่อง “อำนาจ” และควรจะพูดว่าพร้อมจะสร้างขบวนการมวลชนหรือไม่ และถ้าไม่พร้อมจะสร้างขบวนการมวลชน คิดว่ายังทำในสิ่งที่ต้องการทำได้หรือไม่ ไม่ใช่พูดว่าจะใช้รัฐสภาจัดการกับผลพวงของเผด็จการโดยไม่คุยเรื่องอุปสรรค์ เพราะถ้าไม่พูดให้ชัดเจน หรือถ้าแอบอยู่หลังคำประกาศว่าจะชำระประวัติศาสตร์ นโยบายต่างๆ ที่ฟังดูดี ก็แค่เป็นคำพูดที่ดูสวยงามแต่ไร้รูปธรรมโดยสิ้นเชิง

 

คลื่นการต่อสู้สากลยุค 1968 และความสำคัญของมวลชน

ใจ อึ๊งภากรณ์

[ท่านใดที่อ่านผ่าน Facebook อาจอ่านได้ง่ายขึ้นถ้าเข้าไปอ่านในบล็อก ]

ในบทความก่อนหน้านี้ผมเขียนถึงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 1968 ที่เริ่มต้นในฝรั่งเศส และการหักหลังการต่อสู้โดยพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคสังคมนิยม และสภาแรงงาน ในบทความนี้ผมอยากจะเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับคลื่นการต่อสู้สากลที่เกิดขึ้น และความสำคัญของการสามัคคีมวลชนนักศึกษากับกรรมาชีพ

ช่วงนี้เป็นช่วงครบรอบ 50 ปี แห่งคลื่นการต่อสู้อันยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนโลกเรา ส่วนหนึ่งของคลื่นนี้คือการล้มเผด็จการทหารไทยในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

      นักปฏิวัติมารคซิสต์หญิงจากเยอรมันชื่อ โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยเสนอว่า “การปฏิวัติครั้งก่อน มักกำหนดกรอบการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปยุคต่อไป”

ถ้าเราย้อนกลับไปคิดถึงคลื่นการปฏิวัติสมัยปฏิวัติรัสเซีย 1917 เราจะเห็นว่ามันเปิดประเด็นการปฏิรูปเรื่อง รัฐสวัสดิการ และการปฏิรูปสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย ผ่านการยกเลิกระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือผ่านการปลดแอกประเทศจากการเป็นอาณานิคม และที่สำคัญคือมันนำไปสู่การสร้างขบวนการคอมมิวนิสต์ทั่วโลก

ในกรณีคลื่นปฏิวัติ 1968 มันนำไปสู่การต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศและสิทธิเชื้อชาติสีผิว เช่นสิทธิทำแท้งเสรี สิทธิคนรักเพศเดียวกัน สิทธิในการแต่งกายและเพศสัมพันธ์ของเยาวชน และสิทธิของคนเพื่อที่จะไม่ได้รับการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานสีผิวหรือชาติพันธ์ นอกจากนี้มันเปิดประเด็นการต่อสู้กับเผด็จการทหารในรัฐสมัยใหม่ และการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมยุคใหม่ที่ไม่ใช่ระบบอาณานิคม และที่น่าตื่นเต้นอีกคือการต่อสู้ที่เกิดขึ้นกับระบบอาวุโสที่ผู้ใหญ่ควบคุมค่านิยมและกติกาของสังคม

1968 สำคัญเพราะ เป็นการกบฏของคนชั้นล่างและคนหนุ่มสาวในโลกตะวันตกและในโลกคอมมิวนิสต์พร้อมกัน เป็นการเปิดโปงพิสูจน์ธาตุแท้ของการประนีประนอม ทรยศ หักหลังของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน ซึ่งนำไปสู่การสร้างซ้ายใหม่ตามแนวตรอทสกี เหมา และอนาธิปไตยในหลายประเทศ

ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิด “1968” คือ

  1. การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว การขยายจำนวนนักศึกษาภายใต้สถานการณ์ที่คนรุ่นใหม่ไม่พอใจกับการควบคุมสังคมแบบเดิม และชนชั้นกรรมาชีพไม่พอใจที่จะเสียสละต่อไป  พวกเขาต้องการส่วนแบ่งเพิ่มอย่างเป็นธรรม  ในไทยการต่อสู้ของกรรมกรเพื่อขึ้นค่าแรงหลังจากที่แช่แข็งไว้สิบกว่าปี ช่วยให้เกิด ๑๔ ตุลา ในฝรั่งเศสประเด็นแบบนี้ทำให้นักศึกษาและกรรมาชีพเป็นแนวร่วมที่มีพลัง
  2. การต่อต้านการทำสงครามของสหรัฐในเวียดนาม โดยที่นักศึกษาไม่พอใจความป่าเถื่อนของสหรัฐ และเคารพความกล้าหาญของนักรบเวียดนาม
  3. สงครามเวียดนาม และภาระการสร้างอาวุธในสงครามเย็น เริ่มทำลายเศรษฐกิจสหรัฐ และนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ ซึ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชน

ในประเทศ เชคโกสโลวาเกีย นักศึกษาและปัญญาชน เป็นหัวหอกในการประท้วงระบบการปกครองเผด็จการแนว “สตาลิน” ของพรรคคอมมิวนิสต์ มีการบังคับให้เปลี่ยนผู้นำประเทศ โดยเอา “Dubcek”  ขึ้นมาแทนผู้นำเก่า มีการขยายสิทธิเสรีภาพ   แต่ก่อนที่ขบวนการจะสุกงอม รัสเซียส่งกองทัพและรถถังเข้ามาปราบปราม

ใน โปแลนด์ นักศึกษาประท้วงการเซนเซอร์สื่อ  มีการปิดทุกมหาวิทยาลัยโดยนักศึกษา และร้องเพลงอินเตอร์เนเชนัล พร้อมกับตะโกนว่า “เชคโกสโลวาเกีย จงเจริญ!!!”  นักศึกษาต้องรบกับตำรวจ  ในที่สุดสามารถกดดันให้รัฐบาลต้องปฏิรูปบ้าง และในระยะยาวนำไปสู่การต่อสู้ของกรรมกรในปี 1970 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดสหภาพแรงงานอิสระ Solidarity

ในญี่ปุ่น  นักศึกษาเป็นแสนประท้วงทั่วประเทศหลายเดือน  คนหนุ่มสาวไม่พอใจกับความคับแคบ และระบบอาวุโสในสังคมญี่ปุ่น  หลายคนตื่นเต้นกับ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ในจีน  มีการจับฝ่ายบริหารในมหาวิทยาลัยมาขังหลายวันเพื่อ “สอบสวน”  มีการใช้ไม้กระบองและท่อเหล็กตีกับตำรวจ  และนักศึกษาแพทย์เรียกร้องให้ตัวเองมีสิทธิ์ในการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอน

JapStud1

     ในมหาวิทยาลัย Berkeley ที่สหรัฐ นักศึกษาเสนอหลักสูตรใหม่ที่ไม่มีการสอบ เพราะอยากเรียนเพื่อรู้ ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบ

ในประเทศจีน คนหนุ่มสาวตื่นตัว ไม่พอใจกับการคอร์รัปชั่นของผู้ใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ถูก “เหมาเจ๋อตุง” หลอกใช้ในการต่อสู้กับคู่แข่งของเขาในระดับสูงของพรรค จึงเกิด “การปฏิวัติวัฒนธรรม”

ในเยอรมัน นักศึกษาจาก “สันนิบาตินักศึกษาสังคมนิยม” SDS ขยายสมาชิกผ่านการจัดกลุ่มศึกษามาร์คซิสต์เพื่อวิจารณ์พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (SPD) ที่ทำแนวร่วมกับพรรคอนุรักษ์นิยม (CDU) จนประชาชนหมดทางเลือกทางการเมือง มีการเคลื่อนไหวต้านสงครามเวียดนาม และผู้นำสำคัญของนักศึกษายุคนั้นคือ “Rudi Dutschke”

ในอิตาลี่นักศึกษาก็ตื่นตัวไม่น้อย พรรคคอมมิวนิสต์ PCI ซึ่งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันตก พยายามควบคุมนักศึกษาเพื่อไม่ให้ไฟของการต่อสู้ลามไปสู่ขบวนการแรงงาน ทั้งนี้เพราะพรรค PCI ต้องการพิสูจน์ “ความรับผิดชอบ” ต่อชนชั้นนายทุน เพื่อหวังทำแนวร่วมกับพรรคนายทุนในรัฐสภา

ในสเปนซึ่งตอนนั้นปกครองโดยเผด็จการนายพลฟรังโก มีการปิดทุกมหาวิทยาลัยท่ามกลางกระแสประท้วงต้านฐานทัพสหรัฐ ในไทยก็มีการประท้วงฐานทัพสหรัฐเช่นกัน

ในเม็กซิโกนักศึกษา  3 แสนคนพร้อมประชาชน เดินขบวนประท้วงเผด็จการของ “พรรคสถาบันปฏิวัติ” ที่ครองอำนาจมาตั้งแต่การปฏิวัติปี 1910  ตอนนั้นเม็กซิโกกำลังจะจัดงานแข่งกีฬาโอลิมปิค  ในที่สุดนักศึกษาถูกรัฐบาลปราบปรามอย่างหนัก ตายหลายร้อย และถูกจับเป็นพัน แต่ในการแข่งกีฬาครั้งนั้น นักวิ่งเหรียญทองและเหรียญเงินผิวดำจากอเมริกาสองคน ยืนขึ้นชูกำปั้นถุงมือดำ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังคนผิวดำ (Black Power) ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งในกรรมการกิฬาโอลิมปิค

10318769_10152419982244925_2015312474_n

     ในกรีช หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ในไทย นักศึกษากรีชออกมาชุมนุมไล่เผด็จการทหาร โดยตะโกนคำว่า “Thailand Thailand!!!”

ในเวียดนามในช่วงตรุสเวียดนามปี 1968 กองกำลังแนวร่วมปลดแอกชาติ หรือที่เรียกกันว่า “เวียดกง” ยึดสถานทูตอเมริกากลางเมืองไซ่ง่อนในเวียดนามใต้ และยิงปืนออกมา เหตุการณ์นี้ถ่ายทอดสดออกไปทั่วโลก ทำให้ชนชั้นปกครองอเมริการู้ตัวว่าไม่สามารถชนะสงครามได้ และให้กำลังใจกับนักศึกษาสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย ที่ชุมนุมต่อต้านสงคราม ในไม่ช้าคนผิวดำอย่างนักมวยชื่อ “โมหัมหมัด อาลี” ก็ออกมาฝืนกฎหมาย ปฏิเสธการถูกเกณฑ์เป็นทหาร โดยอธิบายว่า ‘คนเวียดนามไม่เคยเรียกผมว่า “ไอ้มืด” ผมจะไม่ไปรบในสงครามคนผิวขาว’ และทุกฐานทัพของอเมริกาทั่วโลกมีกลุ่มทหารกบฏที่ไม่พอใจกับสงครามพร้อมกับกลุ่มศึกษาทางการเมืองและหนังสือพิมพ์ของตนเอง

ขบวนการกบฏต่อชนชั้นปกครองในสหรัฐอเมริกามีสองซีกคือ นักศึกษาที่ต่อต้านสงครามเวียดนาม และคนผิวดำที่ต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติ ในที่สุดมีการตั้งพรรคเสือดำ (Black Panther Party) เพื่อจับอาวุธสู้กับรัฐเหยียดผิว นอกจากนี้มีการสร้างขบวนการรักเพศเดียวกัน แต่ปัญหาใหญ่ในสหรัฐ คือการไม่ทำแนวร่วมกับขบวนการแรงงาน จึงขาดพลัง

ในอังกฤษและไอร์แลนด์มีการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของชาวแคทอลิคในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งส่งผลให้สตรีวัยสาวฝ่ายซ้ายได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส. ในอังกฤษเองมีการผลักดันสิทธิทำแท้งเสรี และพัฒนาขบวนการสิทธิสตรีผ่านแนวร่วมกับสหภาพแรงงาน

เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ในไทย ชนชั้นปกครองและนักวิชาการกระแสหลัก จะบิดเบือนประวัติศาสตร์จนไม่มีการเชื่อมโยงกับกระแสการต่อสู้สากลเลย มีแต่การสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ที่เน้นบทบาทคนชั้นบน และลดบทบาทกรรมกรและนักศึกษา การต่อสู้ในช่วงนั้นเป็นสิ่งที่กำหนดกรอบการต่อสู้เพื่อปฏิรูปการเมืองปัจจุบัน  เช่นข้อเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วม และความเป็นธรรมทางสังคมโดยการสร้างรัฐสวัสดิการ  และ ๑๔ ตุลา เป็นต้นกำเนิดของการรื้อฟื้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และการตั้งคำถามกับบทบาทสถาบันกษัตริย์

ความพ่ายแพ้ในไทยช่วง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และช่วงป่าแตก มาจากข้อผิดพลาดของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ไม่สนับสนุนการต่อสู้ในเมืองเป็นหลัก แล้วพานักศึกษาหลงทางภายใต้การควบคุมของพรรคจนกระทั้งป่าแตกและพรรคล่มสลาย

บทเรียนสำคัญจากคลื่น 1968 คือความสำคัญของมวลชนนักศึกษาในการเป็นหัวหอกการต่อสู้ แต่หัวหอกอย่างเดียวไม่พอ เพราะถ้าไม่มีการทำแนวร่วมกับมวลชนของขบวนการแรงงานกระแสการต่อสู้จะอ่อนแอ และถ้าไปฝากความหวังกับผู้นำ หรือพรรค ที่พาเราไปประนีประนอมกับชนชั้นปกครอง การกบฏจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง นี่บทสรุปสำคัญจากการแช่แข็งการต่อสู้ของเสื้อแดงโดยพรรคเพื่อไทยและทักษิณ มีหลายคนที่ไม่เข้าใจประเด็นเหล่านี้และหันไปเน้นการประท้วงเชิงสัญญลักษณ์ของคนกลุ่มเล็กๆ แต่ถ้าเราจะเปลี่ยนสังคมเราต้องสร้างขบวนการที่ใหญ่โตพอที่จะท้าทายอำนาจรัฐ

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2i294Cn

และ https://bit.ly/2IeFt9a

การให้กำลังใจนักกิจกรรมที่โดนรังแก ไม่เพียงพอ

ใจ อึ๊งภากรณ์

การเชียร์หรือให้กำลังใจนักกิจกรรม “เดินมิตรภาพ” และ “MBK 39” หรือผู้ถูกกล่าวหา 39 คนจากการร่วมกิจกรรม “นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้งฯ” เป็นเรื่องดี แต่ไม่เพียงพอ…

ก่อนอื่นผมต้องออกตัวว่าในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศ การที่ผมเขียนเรื่องนี้แบบนี้ มันง่ายมาก เพราะผมไม่สามารถทำอะไรอย่างเป็นรูปธรรมภายในประเทศไทยได้เลย และผมเข้าใจดีว่าการจัดตั้งมวลชนและการไปร่วมเคลื่อนไหวไล่เผด็จการมันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผมเคยพยายามเริ่มทำในอดีต

อย่างไรก็ตาม ผมเป็นห่วงเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในสองประเด็นใหญ่คือ

ในประการแรก เราเห็นนักกิจกรรมดีๆ ในอดีต เช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข หรือไผ่ดาวดิน และคนอื่นๆ อีกมากมาย ที่โดนเผด็จการทหารจับเข้าคุก โดยที่ขาดพลังมวลชนที่จะออกมากดดันให้เขาถูกปล่อยตัว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่คนหลายหมื่นคน อาจมากกว่านั้นด้วยซ้ำ อยากจะเห็นการปล่อยนักโทษการเมืองทันที ประเด็นไม่ใช่ว่าไม่มีใครสนใจหรือแคร์ ประเด็นคือเรายังไม่สร้างเครื่องมือในการกดดันเผด็จการด้วยพลังอย่างแท้จริง

ในประการที่สอง ผมเป็นห่วงว่าการวนซ้ำในวิธีการเคลื่อนไหวที่เน้นแต่ตัวแทนไม่กี่คนที่ออกมาเคลื่อนไหว อย่างที่เราเห็นหลังจากที่เสื้อแดงหมดสภาพ จะไม่สามารถไล่เผด็จการประยุทธ์ และไม่สามารถทำลายมรดกการเมืองประชาธิปไตยครึ่งใบที่เผด็จการตั้งใจให้อยู่นานเป็นสิบๆ ปี

การที่ “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา ออกมาพูดว่าพร้อมจะเข้าคุกถ้าตำรวจยกเลิกข้อกล่าวหากับคนอื่นที่ถูกหมายเรียกจากตำรวจ อาจเป็นเจตนาส่วนตัวที่ดี แต่มันเป็นยุทธวิธีที่หันหลังให้มวลชนและการร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของมวลชน มันเป็นการนำทุกอย่างมาผูกกับตัวเองในลักษณะวีรชนปัจเจก

แนวทางแบบนี้ไม่มีวันประสบความสำเร็จในการล้มเผด็จการ และผู้หญิงที่เคยกล้าหาญคนหนึ่งในพม่า ชื่อ อองซานซูจี ก็เคยใช้วิธีนี้เช่นกัน มันจบลงด้วยการสลายพลังมวลชน และในที่สุดอองซานซูจีก็ตัดสินใจแทนประชาชนพม่าและประนีประนอมกับทหารเผด็จการ และที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือเขามีส่วนในการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวโรฮิงญาอีกด้วย

40078893482_d345d539d6_b

ผมเห็นคนโพสต์ภาพนักเคลื่อนไหว 13 คนที่เคยโดนจับในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ เพราะแจกใบปลิวเรียกร้องประชาธิปไตย จนการกระทำของทหารนำไปสู่การลุกฮือไล่เผด็จการครั้งยิ่งใหญ่ในวันที่ ๑๔ เดือนเดียวกัน

คนที่โพสต์ภาพนี้ พยายามเปรียบเทียบเหตุการณ์ในปี ๒๕๑๖ กับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยหวังว่าจะมีการลุกฮือไล่เผด็จการประยุทธ์ในไม่ช้า ผมเข้าใจความรู้สึกแบบนี้ และถ้าใช้อารมณ์คิด ผมก็มีความหวังเดียวกัน แต่พอใช้ปัญญาคิดมันไม่ง่ายแบบนั้น

ประเด็นที่สำคัญคือ ในปี ๒๕๑๖ มีการจัดตั้งขบวนการนักศึกษาและขบวนการแรงงานอย่างเป็นระบบโดยนักกิจกรรมฝ่ายซ้าย สิ่งนี้ทำให้มีการปลุกระดมมวลชนให้ออกมา 5 แสนคนกลางกรุงเทพฯ ซึ่งถ้าเทียบกับปัจจุบันก็คงเท่ากับมวลชนเป็นล้านๆ ในสมัยนี้

27798264_353664365041999_7619343842983816625_o

การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและน่าชื่นชม แต่ในยุคนี้เรายังไม่มีการจัดตั้งนักศึกษาหรือกรรมาชีพคนทำงาน ตามสถานที่ทำงาน อย่างเป็นระบบ แถมนักกิจกรรมหลายคนจงใจหันหลังให้กับการจัดตั้งมวลชนด้วย

รังสิมันต์ โรม พูดถูกเวลาเขาบอกว่าการใช้อินเตอร์เน็ดติดตามการเคลื่อนไหวไม่พอ ต้องออกมาชุมนุมจริงๆ ประเด็นที่ท้าทายเราทุกคนคือ เราจะจัดตั้งอย่างไรถึงจะเป็นจริงได้?

ถ้าไม่มีการจัดตั้งมวลชน เพื่อให้มีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีพลัง เราไม่สามารถทำอะไรได้อย่างจริงจัง ภาระของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเรียกร้องการเลือกตั้ง หรือการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในลักษณะนามธรรมเท่านั้น เพราะก่อนที่เราจะร่วมกันปลดแอกสังคมจากเงามืดของเผด็จการ ต้องมีการไล่คณะเผด็จการ ยกเลิกรัฐธรรมนูญทหาร ยกเลิก “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ”ที่จะจำกัดเสรีภาพในการเลือกตั้ง และยกเลิกผลพวงทั้งหมดของพวกที่ก่อรัฐประหารสองครั้ง

ในประเทศอื่น การกดดันเผด็จการให้ปล่อยนักโทษการเมือง ก็ไม่ต่างจากไทย ในอียิปต์การเคลื่อนไหวและการนัดหยุดงานทำให้เผด็จการเกรงกลัวจนมีการปล่อยนักโทษการเมืองบางคนเมื่อเดือนที่แล้ว ตัวอย่างจากประเทศอื่นมีอีกมากมาย

บางคนอาจสงสัยว่า ถ้ามวลชนมีพลังจริง ทำไมเสื้อแดงไม่สามารถล้มเผด็จการได้ ซึ่งเป็นคำถามสำคัญที่เราต้องช่วยกันตอบ สำหรับผม ผมจะอธิบายว่าการมีมวลชนสร้างพลังก็จริง แต่ถ้าพลังนั้นไม่ถูกนำไปใช้ในทิศทางที่จะทำให้เกิดผล มันก็ล้มเหลวได้ เสื้อแดงล้มเหลวเพราะเน้นการชุมนุมยืดเยื้อ ไม่มีการเชื่อมโยงกับขบวนการแรงงานและคนหนุ่มสาวอย่างจริงจัง ไม่มีการนัดหยุดงานเพื่อเพิ่มพลัง และในที่สุดขบวนการเสื้อแดงก็ถูกพรรคพวกของทักษิณแช่แข็งจนหมดสภาพ ซึ่งสะท้อนว่าไม่มีการนำตนเองที่อิสระจากนักการเมืองอย่างทักษิณอย่างเพียงพอ สรุปแล้วการเมืองของการนำเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

ในอดีตการเมืองของนักเคลื่อนไหวยุค ๑๔ ตุลา อิสระจากนักการเมืองกระแสหลัก แต่พอเข้าสู่วิกฤต ๖ ตุลา สามปีหลังจากนั้น การเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ใช้ในการนำนักเคลื่อนไหวในยุคนั้น ถูกพิสูจน์ว่าบกพร่อง เพราะไม่คิดจะสู้กับเผด็จการในเมืองและไม่มีการวางแผนจะให้มีการนัดหยุดงานทั่วไป ทั้งๆ ที่ขบวนการแรงงานและขบวนการนักศึกษาในสมัยนั้นอยู่ในสภาพที่จะสามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ เราต้องขยันในการศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้

สรุปแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับเผด็จการยุคนี้คือ การสร้างพลังมวลชน และการให้ความสำคัญกับการเมืองที่จะนำการต่อสู้ได้

อ่านเพิ่มเรื่องการจัดตั้ง http://bit.ly/2C8wzD5

โจทย์ที่ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ตั้งกับสังคมและตัวเอง

ใจ อึ๊งภากรณ์

การเคลื่อนไหวด้วยความกล้าหาญของนักศึกษาและคนหนุ่มสาวใน “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” และ “กลุ่มดาวดิน” เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยิ่ง และเป็นการปกป้องเจตนารมณ์ของขบวนการประชาธิปไตยท่ามกลางยุคมืดแห่งเผด็จการ

11659226_912475245476486_7949400743049647958_n

ในการเคลื่อนไหวล่าสุดมีการเรียกร้องต่อพลเมืองผู้รักประชาธิปไตยว่า “เราเข้าใจดีว่าท่านอาจจะยังไม่มีความพร้อมที่จะออกมาต่อสู้อย่างเปิดเผย เราเข้าใจดีว่าท่านอาจมีความกลัวอยู่ภายในจิตใจ เราทั้งหลายต่างก็มี แต่ท่านจะเพิกเฉยอีกต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะการที่พวกท่านเพิกเฉยต่ออำนาจที่มิชอบของรัฐบาลเผด็จการก็เท่ากับท่านได้ให้ความชอบธรรมแก่พวกมันไปโดยปริยาย การต่อสู้ของพวกเราในวันนี้จะไม่มีความหมาย หากพวกท่านยังคงเพิกเฉยต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น พวกท่านอาจจะไม่รู้สึกถึงความเดือดร้อนใดๆ ในเวลานี้ แต่เราต่างก็รู้ว่ามันจะไม่เป็นเช่นนั้นตลอดไป จงอย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลยผ่านจนทุกอย่างสายเกิน จนอาจไม่เหลือใครที่พร้อมจะต่อสู้ได้อีก”

นี่คือโจทย์สำคัญสำหรับประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทุกคน โดยเฉพาะคนเสื้อแดง นักสหภาพแรงงาน และกลุ่มอื่นๆ ที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ

บทเรียนสำคัญต้องมาจากการลุกฮือของประชาชนในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เพราะการลุกฮือครั้งนั้นมาจากการที่นักเคลื่อนไหวถูกเผด็จการทหารจับคุม ซึ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่คนหนุ่มสาว นักศึกษา คนทำงาน และประชาชนทั่วไป จนนำไปสู่การโค่นเผด็จการ ความไม่พอใจกับเผด็จการครั้งนั้นผสมกับความไม่พอใจที่สะสมมานานในเรื่องปัญหาปากท้อง เช่นค่าแรงที่ต่ำเกินไป และความอึดอัดกับสภาพสังคมที่แช่แข็งภายใต้วิถีชีวิตอนุรักษ์นิยมที่กดทับคนรุ่นใหม่

มันแปลว่าเราต้องเข้าใจสองประเด็นสำคัญคือ

  1. การลุกฮือที่เกิดขึ้นในช่วง ๑๔ ตุลา เกิดขึ้นได้เพราะผู้ที่ออกมาเป็นแสนท่ามกลางกรุงเทพฯ มีองค์กรและเครือข่ายที่มีชีวิตชีวาและมวลชนจริง โดยเฉพาะองค์กรนิสิตนักศึกษา และองค์กรแรงงาน และในสังคมทั่วไปเริ่มมีการจัดตั้งใหม่ทางความคิดภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ (ทั้งๆ ที่ พคท. ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา)

ประเด็นนี้แปลว่าถ้าเราจะร่วมกันสร้างกระแสการลุกฮือล้มเผด็จการแบบ ๑๔ ตุลา ซึ่งเป็นภาระจำเป็นและเร่งด่วนในปัจจุบัน แค่การเรียกร้องให้ประชาชนออกมามันไม่พอ แค่การเขียนบทความนี้ที่ท่านกำลังอ่านอยู่ก็ไม่พอเช่นกัน ขบวนการประชาธิปไตยต้องขยายมวลชน ขยายองค์กร และขยายเครือข่าย ถ้าไม่ทำเช่นนั้น การต้านเผด็จการประยุทธ์จะเป็นแค่สัญญลักษณ์ และการต่อสู้เชิงสัญญลักษณ์จะไร้พลังตราบใดที่ไม่นำเป็นสู่การจุดไฟการเคลื่อนไหวของมวลชนจำนวนมาก

เมื่อพวกนายทหารเผด็จการมือเปื้อนเลือดที่ครองอำนาจเถื่อนอยู่ในปัจจุบัน เช่นประยุทธ์หรืออุดมเดช ลั่นออกมาว่า “นักศึกษาที่เคลื่อนไหวในปัจจุบันมีกลุ่มการเมืองหนุนหลัง” เรารู้ว่ามันโกหกเป็นสันดาน แต่ในขณะเดียวกันเราอดหวังว่าเป็นจริงไม่ได้ อย่างไรก็ตามเราต้องเตือนตัวเองว่าน่าเสียดายที่ไม่เป็นจริง

11000042_10204022511474294_596474156593617300_n

  1. การเคลื่อนไหวแบบแยกส่วนประเด็นปัญหาเดียว ซึ่งเป็นจุดที่สร้างความอ่อนแอกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทยมานาน จะไม่นำไปสู่การล้มเผด็จการแต่อย่างใด ในหมู่องค์กรเอ็นจีโอไทยและคนที่เคยเรียกตนเองว่า “ภาคประชาชน” หรือ “ภาคประชาสังคม” คงจะมีคนจำนวนมากที่ไม่อยากล้มเผด็จการ บางส่วนต้อนรับรัฐประหารด้วยซ้ำ แต่มันต้องมีการก้าวข้ามการเคลื่อนไหวประเด็นเดียวสักที กลุ่ม “ดาวดิน” เข้าใจตรงนี้ จึงเคลื่อนไหวในเรื่องประชาธิปไตยและปัญหาชาวบ้านพร้อมกัน แต่องค์กรอย่าง “คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย” ซึ่งเคลื่อนไหวเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ไม่ต่อต้านเผด็จการประยุทธ์อย่างชัดเจน เป็นตัวอย่างของปัญหาที่ยังสร้างอุปสรรค์ให้กับการสร้างประชาธิปไตย

โจทย์ที่ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ตั้งกับเราทุกคน และตัวเขาเอง คือเราจะทำอย่างไรเพื่อสร้างองค์กรและเครือข่ายมวลชนที่มีพลังเพื่อล้มเผด็จการปัจจุบัน คนหนุ่มสาวเขาเริ่มแล้ว พวกเราจะเข้ามาเสริมไหม?

ความสำคัญของกรรมาชีพคนทำงานในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา

การต่อสู้ของมวลชนชาวไทยในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างชัดเจนถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนชั้นล่าง เนื่องจากคนไทยนับเป็นแสนออกมาประท้วงและล้มเผด็จการทหารจนสำเร็จ ปรากฏการณ์อันนี้ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับมุมมองที่ดูถูกประชาชนว่า “ไม่เข้าใจประชาธิปไตย”

เวลามีการพูดถึงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ แนวความคิดที่ปฏิเสธบทบาทสำคัญของมวลชนในการพัฒนาสังคมไทย มักจะให้ความสำคัญกับความแตกแยกในหมู่ชนชั้นปกครองมากกว่าการกระทำของมวลชน ซึ่งไม่แตกต่างจากคนที่มัวแต่มองเบื้องบนทุกวันนี้

นอกจากนี้เขาจะเน้นรายละเอียดของสิ่งต่างๆที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงในวันนั้น เหมือนกับว่าเป็น “แผนลับ” ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในแวดวงกลุ่มชั้นนำไทย หรืออาจเสนอว่าความรุนแรงเกิดจาก “ความเข้าใจผิดที่นำไปสู่อุบัติเหตุทางการเมือง” แต่ในความเป็นจริงความรุนแรงของฝ่ายเผด็จการทหารในวันที่ ๑๔ ตุลาคม มาจากการที่เขาไม่พร้อมที่จะสละอำนาจเผด็จการอย่างง่ายๆ ในขณะที่มวลชนส่วนหนึ่งไม่พร้อมที่จะทนอยู่ต่อไปภายใต้การปกครองเผด็จการ

ดังนั้นเราจะพบว่าถึงแม้ว่ามีการตกลงกันว่าจะปล่อยนักโทษทางการเมืองที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญ และมีการสัญญาว่าจะร่างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยภายใน 6 เดือนจนผู้นำการประท้วงส่วนใหญ่เสนอให้สลายม็อบ แต่มวลชนส่วนหนึ่งยังไม่พร้อมที่จะสลายตัวจนกว่าจอมเผด็จการทั้งสามจะลาออกจากตำแหน่ง  ความรุนแรงจากฝ่ายทหารจึงเกิดขึ้น

เราต้องมองว่ากระแสการต่อสู้ที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม เป็นกระแสที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาพลังการผลิตแบบทุนนิยมภายใต้เผด็จการทหาร การพัฒนาพลังการผลิตดังกล่าวมีผลทำให้ชนชั้นกรรมาชีพไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะมีการดึงชาวนาจากชนบทมาเป็นแรงงานในเมือง นอกจากนี้การพัฒนาของระบบทุนนิยมยังมีผลให้ระบบการศึกษาขยายตัวด้วย จำนวนนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยได้เพิ่มขึ้นจาก 15,000 คน ไปเป็น 50,000 คนภายในเวลาแค่ 9 ปี และที่สำคัญคือสัดส่วนนักศึกษาที่เป็นลูกกรรมาชีพเพิ่มขึ้นเป็น 46% การสร้างมหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี ๒๕๑๒ คงจะมีผลตรงนี้

นอกจากเงื่อนไขของพลังการผลิตแล้ว อีกเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญ คือความขัดแย้งทางชนชั้นที่เกิดขึ้นในยุควิกฤตเศรษฐกิจโลกภายหลัง“ยุคทอง”ที่ตามหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง การเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจของระบบโลกปลายทศวรรษ 1960 มีผลทำให้เกิดการกบฏครั้งยิ่งใหญ่ทั่วโลก ในฝรั่งเศสนักศึกษาจุดประกายที่นำไปสู่การนัดหยุดงานครั้งใหญ่ที่สุดในโลกในปี 1968 ในสหรัฐคนผิวดำลุกขึ้นสู้เพื่อปลดปล่อยตนเอง และผู้ที่ต่อต้านสงครามเวียดนามสร้างแนวร่วมกับกองทัพปลดแอกเวียดนามจนสหรัฐต้องยอมแพ้ สิ่งเหล่านี้สร้างกระแสการปลดปล่อยทางการเมืองที่มีผลกระทบกับความคิดของคนหนุ่มสาวในไทยเป็นอย่างมาก และภาวะทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายของกรรมาชีพ ที่ต้องทนค่าจ้างขั้นต่ำในระดับประมาณ 10 บาทต่อวันมาเกือบ 20 ปี มีผลในการสร้างกระแสการต่อสู้ที่นำไปสู่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

คนงานกรรมาชีพมีส่วนสำคัญในการสร้างกระแสการต่อสู้ ในยุคเผด็จการทหารการนัดหยุดงานเป็นเรื่องผิดกฏหมาย แต่ปรากฏว่าระหว่างปี ๒๕๐๘ ถึง ๒๕๑๔ มีการนัดหยุดงาน 113 ครั้ง และในช่วงเดือนมกราคมถึงตุลาคมปี ๒๕๑๖ ก่อนเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม มีการนัดหยุดงานเพิ่มขึ้นถึง ๔๐ ครั้ง กรณีหนึ่งที่โรงงานผลิตเหล็กกล้ามีการหยุดงานยาวนานถึงหนึ่งเดือนจนได้รับชัยชนะ สาเหตุสำคัญที่ทำให้การต่อสู้เมื่อ ๑๔ ตุลาคมได้รับชัยชนะในการล้มเผด็จการถนอม-ประภาส-ณรงค์ ก็เพราะประชาชนกรรมาชีพในเมืองออกมาช่วยนักศึกษาเป็นหมื่นเป็นแสน

นักวิชาการสำนัก “ประชาสังคม” ที่ปฏิเสธเรื่องความขัดแย้งทางชนชั้น มักจะเสนอว่านักศึกษาหรือคนชั้นกลางเป็นผู้เคลื่อนไหวในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ซึ่งมีผลในการเปิดโอกาสให้คนชั้นล่างที่ไม่รู้จักสู้เองได้มีสิทธิเสรีภาพมากขึ้นในช่วงหลังจากนั้น ทั้งนี้เพราะสำนักแนวความคิดนี้ไม่เชื่อว่าคนชั้นล่างทำอะไรเพื่อตัวเองได้ และมักมองข้ามการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพและชาวนาเสมอ แต่สำนักมาร์คซิสต์มองว่าชนชั้นล่างมีส่วนสำคัญในการปลดแอกตนเองจากเผด็จการทหาร และเรามักจะมองว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยภายใต้ระบบทุนนิยม แยกออกจาการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อผลประโยชน์ปากท้องไม่ได้

วัฏจักรความขัดแย้งทางชนชั้น

วัฏจักรความขัดแย้งทางชนชั้น

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถ้ามองวิกฤตการเมืองปัจจุบัน เราต้องมองภาพรวมของการต่อสู้ระหว่างพลเมืองกับชนชั้นปกครองเผด็จการ ตั้งแต่การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ผ่านการลุกฮือ ๑๔ ตุลา ผ่านการปราบปรามนองเลือด ๖ ตุลา ผ่านการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์ ผ่านการล้มเผด็จการในเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ จนถึงปัจจุบัน

Anti-government protester from the Red Sunday group gestures during a rally at a park in Bangkok

     ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ท่ามกลางการต่อสู้ของนักศึกษา กรรมกร ชาวนา และประชาชนทั่วไป เผด็จการทหารของ ถนอม กิตติขจร ประภาส จารุเสถียร และณรงค์ กิตติขจร ถูกโค่นล้มไป สามทรราชนี้ต้องหนีออกนอกประเทศ เพราะมีส่วนในการสั่งฆ่าประชาชนผู้ไร้อาวุธท่ามกลางกรุงเทพฯ

รัฐบาลเผด็จการทหารของ ถนอม-ประภาส-ณรงค์ เป็นรัฐบาลอำมาตย์ที่รับมรดกอำนาจจากจอมเผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์

สฤษดิ์ เป็นนายทหารที่มีบทบาทสำคัญในการรื้อฟื้นสถานภาพของสถาบันกษัตริย์หลัง ๒๔๗๕ นอกจากถนอม-ประภาส-ณรงค์ จะรับมรดกอำนาจเผด็จการจาก สฤษดิ์ แล้ว ยังรับมรดกวิธีโกงกินชาติบ้านเมืองจากครูใหญ่คนนั้นอีกด้วย เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่ทหารเข้ามากินบ้านกินเมืองยกใหญ่

ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เวลานักศึกษานำขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย ออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่ถนนราชดำเนิน มีนักศึกษาถือรูปกษัตริย์และราชินีนำหน้า ซึ่งแสดงว่านักศึกษาพวกนี้ยังต้องการพิสูจน์ความจงรักภักดี แต่นั้นก็ไม่สามารถป้องกันเขาจากกระสุนของทหารได้

ในการวิเคราะห์สถานการณ์ ในช่วง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เราควรปฏิเสธนิยาย 2 ข้อคือ

  1. นิยายที่เสนอว่าประชาชน “ถูกหลอกมาเดินขบวน” เพื่อรับใช้ผู้ใหญ่ที่ขัดแย้งกันเอง ซึ่งนอกจากจะดูถูกวุฒิภาวะของนักศึกษาและประชาชนแล้ว ยังเป็นนิยายที่เหมือนกับคำพูดของเสื้อเหลือง หรือเอ็นจีโอ ที่มองว่าคนเสื้อแดงโง่และถูกทักษิณหลอกมาตายที่ราชประสงค์ ความคิดแบบนี้ชวนให้เราเลิกสู้ มันเป็นนิยายที่หวังทำลายขบวนการประชาชน
  2. นิยายที่เสนอว่าเผด็จการทหารถูกล้มเพราะนายทหารชั้นสูงขัดกันเองเท่านั้น ซึ่งพยายามมองแต่บทบาทของผู้ใหญ่และตาบอดถึงบทบาทหลักของประชาชนหรือมวลชนในการเปลี่ยนสังคม มันเป็นมุมมองที่เชียร์อภิสิทธิ์ชน และไม่มองภาพรวม

ข้อผิดพลาดของฝ่ายขบวนการนักศึกษาและประชาชนในช่วง ๑๔ ตุลา เป็นความผิดพลาดที่เราควรยกโทษให้ เพราะขบวนการนี้กำลังเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ท่ามกลางการต่อสู้ อย่างไรก็ตาม เราสามารถมองย้อนกลับไปสรุปได้ว่าขบวนการประชาชนในยุคนั้นควรจะเตรียมตัวยึดอำนาจรัฐเอง หลังจากที่โค่นเผด็จการ ไม่ใช่นิ่งเฉยท่ามกลางความสับสน หรือไปมอบอำนาจหรือความชอบธรรมให้อำมาตย์ วิธีหนึ่งที่ขบวนการประชาชนจะเตรียมตัวยึดอำนาจรัฐ คือการสร้างพรรคมวลชนในเมืองที่เชื่อมกับกรรมาชีพ

ในยุคนั้น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พยายามสร้างพรรคมวลชน เพื่อยึดอำนาจรัฐผ่านการสร้างกองกำลังติดอาวุธ ตามแบบของ เหมา เจ๋อ ตุง ในจีน  พคท. เชื่อว่าจะต้องยึดชนบทก่อนแล้วค่อยล้อมเมือง ดังนั้นพรรคไม่ได้เข้าไปจัดตั้งและให้ความสนใจกับการต่อสู้ในกรุงเทพฯ ที่ได้รับชัยชนะในวันที่ ๑๔ ตุลาเลย ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดมหาศาล

เราจะเห็นว่าพลังมวลชนเป็นสิ่งที่ชี้ขาดว่าเราจะล้มเผด็จการได้หรือไม่ แต่ถ้าเราไม่มีการจัดตั้งเป็นพรรค พลังมวลชนจะกระจายหายไป ไม่สามารถปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ และอำมาตย์ก็สามารถฟื้นตัวเพื่ออยู่ต่อในรูปแบบใหม่ได้เสมอ แต่การมีพรรคก็ไม่ใช่หลักประกันอะไร ถ้าพรรคเสนอแนวทางที่ผิดพลาด และไม่เปิดโอกาสให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนเรื่องแนวทาง

ทั้งๆ ที่ พคท. เข้ามามีอิทธิพลมากมายในขบวนการนักศึกษาและประชาชนหลัง ๑๔ ตุลา แต่ พคท. ก็ไม่ได้สนใจที่จะสู้กับอำมาตย์ในเมือง ปล่อยให้ขบวนการถูกปราบไปในเหตุการณ์นองเลือดวันที่ ๖ ตุลา ๒๕๑๙  และเมื่อนักศึกษาและประชาชนเข้าป่าไปร่วมกับพคท. ก็ไม่มีการสนับสนุนให้นำตนเอง ใช้วิธีเผด็จการของพรรคปิดกั้นไม่ให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับแนวทาง และไม่มีการสนับสนุนการศึกษาทางการเมืองนอกจากการท่องหนังสือของ เหมา เจ๋อ ตุง ซึ่งทำให้สมาชิกพรรคหดหู่ไม่เข้าใจเมื่อรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์หันมาจับมือกับอำมาตย์ไทย นอกจากนี้ไม่มีการวางแผนเพื่อสู้ในเมืองเลย ซึ่งทั้งหมดนี้เปิดโอกาสให้อำมาตย์ไทย ภายใต้แนวคิดของ เปรม ติณสูลานนท์ สามารถใช้การเมืองนำทหารดึงนักศึกษาออกจากป่าได้ จนพรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลาย

ความสำเร็จของ เปรม ในการปรองดองหลัง ๖ ตุลา มาจากสองสาเหตุหลักคือ การล่มสลายของ พคท. และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจไทยหลายปี ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่พึงพอใจกับชีวิตตนเอง

สภาพสันติภาพในสังคมไทย อยู่ได้ไม่นาน เพราะเมื่อทหารเผด็จการ สุจินดา คราประยูร ก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี ๒๕๓๔ เนื่องจากกังวลว่าทหารกำลังเสียอำนาจต่อพรรคการเมืองพลเรือน ก็เกิดความไม่พอใจในสังคม ในที่สุดมีการลุกฮือของพลเมืองเพื่อฝ่ากระสุนทหาร และล้มเผด็จการสุจินดา แกนนำรากหญ้าในการต่อสู้ครั้งนี้ มาจากอดีตนักกิจกรรมช่วง ๑๔ ตุลา และ ๖ ตุลา แต่แกนนำคนรุ่นใหม่ก็มี ซึ่งพวกนี้ก็พัฒนาตนเองไปเป็นแกนนำเสื้อแดงในอนาคต หรือถอยหลังไปเป็นฟาสซิสต์ที่เข้าร่วมกับพันธมิตรฯเสื้อเหลือง

ข้อแตกต่างระหว่างการลุกฮือในช่วงพฤษภาคม ๓๕ กับการต่อสู้ช่วง ๑๔ ตุลา คือการที่ประชาชนขาดพรรคมวลชน พรรคการเมืองกระแสหลัก และพวกปัญญาชนอนุรักษ์นิยม จึงสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากการล้มทหารในปี ๒๕๓๕ โดยไม่มีกระแสความคิดที่เน้นประโยชน์กรรมาชีพคนทำงาน เกษตรกรรายย่อย และคนจนแต่อย่างใด

เพียงสี่ปีหลังจากนั้น เศรษฐกิจไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ก็เข้าสู่วิกฤตหนัก ซึ่งในที่สุดเปิดโอกาสให้พรรคไทยรักไทยเสนอนโยบายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ และดึงพลเมืองส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วม นั้นคือเงื่อนไขใหม่ในการสร้างความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยมกับประชาชน