Tag Archives: Brexit

ทำไมพรรคแรงงานอังกฤษแพ้การเลือกตั้ง

ใจ อึ๊งภากรณ์

คำอธิบายเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งที่อังกฤษของพวกกระแสหลักหรือบุคคลที่ขี้เกียจวิเคราะห์การเมืองอย่างเป็นระบบ จะไม่อธิบายความจริงเกี่ยวกับสังคมอังกฤษเลย การพูดว่าประชาชนยังชื่นชมกับแนวการเมืองอนุรักษ์นิยม หรือการเสนอว่ากรรมาชีพงมงาย หรือการเสนอว่าพรรคแรงงานกับ เจเรมี คอร์บิน “ซ้ายเกินไป” เป็นการวิเคราะห์ผิวเผินที่ไม่ตรงกับโลกจริงแต่อย่างใด

นโยบายที่พรรคแรงงานเสนอภายใต้ ‎เจเรมี คอร์บิน เป็นนโยบายที่ก้าวหน้าที่สุดในรอบสี่สิบปี มีการเสนอว่าต้องลงทุนเพิ่มในระบบรักษาพยาบาล หลังจากที่ถูกตัดภายใต้นโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม มีการเสนอให้ตัดค่าโดยสารรถไฟ แก้ปัญหาคนไร้บ้าน แก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม มีการเสนอให้นำสาธารณูปโภคกลับมาเป็นของรัฐเพื่อลดค่าน้ำค่าไฟและเพื่อควบคุมปัญหาโลกร้อน มีการเสนอให้สร้างงานในขณะที่ลดการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน มีการเสนอให้เก็บภาษีเพิ่มจากคนส่วนน้อยที่เป็นคนรวย และนโยบายดังกล่าวโดยรวมแล้วเป็นที่ถูกใจของประชาชนเพราะเป็นนโยบายที่สร้างประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่

เราทราบว่านโยบายดังกล่าวเป็นที่นิยมของคนจำนวนมากเพราะพรรคแรงงานได้คะแนนเสียงทั้งหมด 10.3 ล้านเสียง และเขตเลือกตั้งส่วนใหญ่ตามเมืองใหญ่ๆ ที่มีกรรมาชีพมากมาย เช่น London, Liverpool, Manchester, Birmingham และ Bristol ล้วนแต่เป็น “เขตแดง” ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม อย่างที่เราทราบกัน พรรคอนุรักษ์นิยมได้คะแนนทั้งหมด 13.9 ล้านเสียง และได้ที่นั่งมากขึ้นจนได้เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา

ทำไมพรรคแรงงานแพ้?

ในการเลือกตั้งอังกฤษปีนี้พรรคแรงงานแพ้เพราะถ้าเปรียบเทียบกับปี 2017 พรรคแรงงานไม่ยอมเคารพผลของประชามติเรื่องการออกจากอียูและเอียงไปในทางอยู่ต่อในอียู ยิ่งกว่านั้นพรรคหันมาเสนอว่าต้องมีประชามติรอบใหม่ ซึ่งเป็นการเอนไปทางขวาเพื่อเอาใจชนชั้นกลาง

uk-divide-2

คนที่อยู่ในเขตทางเหนือและตะวันออกของอิงแลนด์ ที่อาศัยในชุมชนกรรมาชีพที่อุตสาหกรรมโดนทำลาย รู้สึกโดนทอดทิ้งโดยอียูและรัฐบาลกลางของอังกฤษมานาน ในปี 2016 เขาจึงทุ่มเทคะแนนเพื่อออกจากอียู

ในการเลือกตั้งปี 2017 เขายังเชื่อว่านโยบายซ้ายของ คอร์บิน จะปรับปรุงชีวิตของเขาได้ เพราะพรรคแรงงานยืนยันว่าจะเคารพผลประชามติที่จะออกจากอียู แต่เมื่อพรรคแรงงานในการเลือกตั้งปีนี้ไม่ยอมเคารพความไม่พอใจของเขากับอียู และดูเหมือนจะเอาใจคนชั้นกลางทางใต้มากกว่าที่จะฟังปัญหาของเขาในการเลือกตั้งรอบนี้ เขาเริ่มหมดความเชื่อมั่นในนโยบายของพรรคแรงงาน และคนจำนวนหนึ่ง คือประมาณ 10% ของคนที่เคยลงให้พรรคแรงงาน จึงผิดหวังอย่างหนักและหันไปลงคะแนนให้พรรค Brexit กับพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งคนที่เปลี่ยนข้างในเขตต่างๆ ทางเหนือและตะวันออกมีจำนวนเพียงพอที่จะทำให้พรรคอนุรักษ์นิยมชนะ แต่เราควรเข้าใจด้วยว่าพวกนี้ให้จอห์นสัน”ยืม”เสียงของเขาชั่วคราวเท่านั้นเพื่อให้อังกฤษออกจากอียู

อีกปัญหาหนึ่งของพรรคแรงงาน ถ้าเทียบกับปี 2017 คือวิธีหาเสียงของคอร์บิน เพราะในปี 2017 มีการชุมนุมใหญ่ตามเมืองต่างๆ และคอร์บินก็มาปราศัยให้คนจำนวนมาก มันสร้างกระแสและความตื่นเต้น แต่ปีนี้พรรคตัดสินใจที่จะหาเสียงในกรอบกระแสหลักแทน

Jeremy-Corbyn-12.12.2019

การที่ฝ่ายขวาในพรรคแรงงานเอง โจมตีคอร์บินอย่างต่อเนื่องโดยไม่แคร์ว่าพรรคจะแพ้หรือชนะการเลือกตั้ง ก็เป็นประเด็น การกล่าวหาเท็จว่าคอร์บินเกลียดยิวเพราะสนับสนุนชาวปาเลสไตน์เป็นตัวอย่างที่ดี และการที่ทีมของคอร์บินไม่ยอมรุกสู้ตีคำกล่าวหากลับไปก็เป็นปัญหา

แน่นอนสื่อกระแสหลักก็รุมโจมตีพรรคแรงงาน แต่นั้นเป็นเรื่องปกติและเกิดในปี 2017 มันจึงไม่อธิบายอะไรมากนัก ในแง่หนึ่งการที่คนจะเชื่อสื่อของนายทุนหรือไม่ขึ้นอยู่กับความมั่นใจในตนเอง และความมั่นใจนั้นมีความสัมพันธ์กับระดับการต่อสู้และการนัดหยุดงานในสังคม ปัญหาคือระดับการนัดหยุดงานในอังกฤษช่วงนี้ค่อนข้างต่ำ

มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สื่อกระแสหลักแห่งหนึ่งตั้งข้อสงสัยว่า บอริส จอห์นสัน อาจเป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายของสหราชอาณาจักร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองสกอตแลนด์ ต่างจากอิงแลนด์มากพอสมควร

สกอตแลนด์เป็นประเทศเล็กในส่วนเหนือของสหราชอาณาจักร มีประชากรแค่ 5.4 ล้านคน เมือเทียบกับ 66.4 ล้านคนทั่วอังกฤษ และในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ในสกอตแลนด์ไม่ได้สนับสนุนพรรคอนุรักษ์นิยม แต่บ่อยครั้งถูกบังคับให้อยู่ในประเทศที่มีรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม หลังจากที่มีการกระจายอำนาจบางส่วนไปสู่รัฐสภาสกอตแลนด์เราจะเห็นนโยบายทางสังคมที่เน้นความยุติธรรมเท่าเทียมมากกว่าในอิงแลนด์ แต่อำนาจของรัฐสภาสกอตแนด์มีจำกัด จึงเกิดกระแสให้มีประชามติให้แยกดินแดนขึ้นในปี 2014 ฝ่ายที่อยากแยกดินแดนแพ้ 44.7% ต่อ 55.3% ซึ่งถือว่าสูสีกัน

การที่อิงแลนด์ลงคะแนนส่วนใหญ่ที่จะออกจากอียูในขณะที่สกอตแลนด์ลงคะแนนให้อยู่ต่อ บวกกับการที่รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมตั้งรัฐบาลมาอีกหลายรอบ ทำให้พรรคชาตินิยมกอตแลนด์ (SNP) ชนะเกือบทุกที่นั่งในสกอตแลนด์ในการเลือกตั้งรอบนี้ และผลการเลือกตั้งให้ความชอบธรรมกับการเรียกร้องให้จัดประชาตืรอบที่สอง เพื่อแยกประเทศ แต่ทั้งพรรคอนุรักษ์นิยมกับพรรคแรงงานสกอตแลนด์คัดค้านการแยกดินแดน

ถ้าประชาชนสกอตแลนด์สามารถแยกประเทศได้ มันจะเป็นเรื่องดี เพราะมันจะทำให้สหราชอาณาจักรในฐานะจักรวรรดินิยมเก่า ที่เกาะติดสหรัฐอเมริกาและร่วมก่อสงครามกับสหรัฐ หมดพลังไป และในการเลือกตั้งปีนี้พรรคในไอร์แลนด์เหนือที่ต้องการออกจากสหราชอาณาจักรและรวมประเทศกับไอร์แลนด์ใต้ได้ที่นั่งมากที่สุดเป็นครั้งแรก

การพังทลายของสหราชอาณาจักร ถ้าเกิดขึ้นจริง จะสร้างวิกฤตให้ชนชั้นปกครองอังกฤษและรัฐบาลจอห์นสันเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะเกิดอีกรอบในอนาคต และการที่พรรคอนุรักษ์นิยมไม่สามารถให้อะไรที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ สร้างวิกฤตให้กับรัฐบาลจอห์นสันได้ แต่มันมีเงื่อนไขสำคัญคือต้องมีการยกระดับการต่อสู้นอกรัฐสภา โดยเฉพาะการนัดหยุดงานและการลงถนนของคนที่ประท้วงปัญหาโลกร้อน สิ่งเหล่านี้เราเห็นในฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆ

ในภาพรวมเราจะเห็นว่าอังกฤษอยู่ในสภาพวิกฤตการเมืองมาตั้งแต่ปี 2010 เพราะผลของนโยบายรัดเข็มขัดที่ตามหลังวิกฤตเศรษฐกิจ มันทำลายเสถียรภาพของระบบการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง และวิกฤตการเมืองนี้มีลักษณะเดียวกับวิกฤตการเมืองที่ทำให้คนลุกฮือสู้ในหลายประเทศของโลก เพียงแต่มันออกมาในลักษณะที่แตกต่างกันเท่านั้น

(อ่านเพิ่มเรื่องการลุกฮือของมวลชนทั่วโลก 2019 https://bit.ly/2OxpmVr )