ชนชั้น

ชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นมหาศาล เพราะเป็นผู้ทำงานในใจกลางระบบทุนนิยม การนัดหยุดงานหรือการยึดสถานที่ทำงานโดยชนชั้นกรรมาชีพโดยประสานกันทั้งประเทศ อาจนำไปสู่การล้มอำนาจนายทุนและการสร้างสังคมใหม่ได้

โดย ลั่นทมขาว

นักมาร์คซิสต์จำแนกชนชั้นตามความสำพันธ์กับระบบการผลิตเพราะระบบการผลิตเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ทุกคนดำรงชีวิตในโลกได้ และความสัมพันธ์กับระบบนี้ที่แตกต่างกัน นำไปสู่อำนาจที่แตกต่างกันของมนุษย์ในสังคมเสมอ ไม่ว่าจะยุคใดก็ตาม

อำนาจของชนชั้นปกครอง(หรือชนชั้นนายทุน)ในสมัยนี้มาจากอำนาจที่จะควบคุมทรัพยากรและมูลค่าต่างๆที่คนธรรมดาผลิตในวันทำงาน มันเป็นอำนาจในการคุมระบบการผลิตกับชีวิตงาน และมันเลยไปถึงอำนาจในการคุมกองทัพและสื่อ และที่สำคัญคือนำไปสู่การควบคุมอำนาจรัฐอีกด้วย ส่วนคนทำงานธรรมดา ไม่ว่าจะในภาคเกษตรหรือภาคอุตสาหกรรมและการบริการ ได้แต่เป็นลูกจ้างของผู้มีอำนาจ หรือเป็นผู้ประกอบการรายย่อย

ความสัมพันธ์กับระบบการผลิตที่ต่างกันนี้ นำไปสู่ผลประโยชน์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่นนายจ้างต้องการกำไรมากที่สุด แต่ลูกจ้างต้องการเพิ่มค่าจ้างเพื่อชีวิตที่ดีเป็นต้น

ระบบทุนนิยมมีกลุ่มชนชั้นหลักสามกลุ่มดังนี้คือ

1.นายทุน ผู้ควบคุมหรือเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เช่นโรงงาน บริษัท หรือรัฐวิสาหกิจ ในโลกสมัยใหม่อำนาจในการควบคุมปัจจัยการผลิตเป็นเรื่องหลัก เพราะนายทุนไม่จำเป็นต้องเป็น “เจ้าของ” ของทั้งบริษัทก็ได้ แค่ถือหุ้นส่วนใหญ่ก็พอ หรือในกรณีรัฐวิสาหกิจ “นายทุน” คือข้าราชการชั้นสูงและทหาร ที่ถือตำแหน่งในกรรมการบริหารของรัฐวิสาหกิจ โดยที่ไม่ได้เป็นเจ้าของเลย

นายทุนทั้งชนชั้นมีอำนาจมาก เพราะควบคุมเศรษฐกิจ และทุกอย่างที่ทำให้เราดำรงชีพได้ โดยไม่มีประชาธิปไตยหรือการเลือกตั้งแต่อย่างใด เขาสามารถตัดสินใจเรื่องการลงทุน การถอนทุน การจ้างงาน หรือการเลิกจ้างได้เสมอ นอกจากนี้ชนชั้นนายทุนคุมอำนาจรัฐในส่วนที่ไม่มีการเลือกตั้งอีกด้วย เช่นกองทัพ ตำรวจ สื่อ หรือศาล และใช้สถาบันเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของตนตลอด แต่ชนชั้นนายทุนเป็นคนส่วนน้อยของสังคมและไม่ใช่คนที่ทำงาน และทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจเลือกรัฐบาลได้ในวันเลือกตั้ง แต่การตั้งรัฐบาลไม่ใช่เรื่องเดียวกับการควบคุม “รัฐ” แต่อย่างใด

2.กรรมาชีพ ผู้ที่เป็นลูกจ้าง ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรในโรงงาน พนักงานในออฟฟิศ ข้าราชการชั้นผู้น้อย แรงงานรับจ้างในภาคเกษตร พยาบาล ครู อาจารย์ และรวมทั้งทนายหรือหมอที่เป็นลูกจ้างอีกด้วย กรรมาชีพคือลูกจ้าง ไม่ว่าจะหน้าดำหน้าขาวหรือแต่งตัวอย่างไร และไม่ว่าจะมีระดับการศึกษาใดหรือรสนิยมแบบไหนชนชั้นกรรมาชีพอาจไม่มีอำนาจในการคุมปัจจัยการผลิต บริษัทหรือรัฐวิสาหกิจ แต่มีพลังต่อรองสูงถ้ารวมตัวกันตั้งสหภาพแรงงาน คือสามารถทวงคืนมูลค่าที่ตนเองผลิตจากนายทุนได้ในระดับต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับอำนาจต่อรองและการจัดตั้งเราจึงเห็นการนัดหยุดงานเพื่อเพิ่มค่าจ้าง

ชนชั้นกรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นมหาศาล เพราะเป็นผู้ทำงานในใจกลางระบบทุนนิยม การนัดหยุดงานหรือการยึดสถานที่ทำงานโดยชนชั้นกรรมาชีพโดยประสานกันทั้งประเทศ อาจนำไปสู่การล้มอำนาจนายทุนและการสร้างสังคมใหม่ได้ แต่กรรมาชีพต้องพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองและมีพรรคเป็นองค์กรจัดตั้งของตนเอง ถึงจะล้มนายทุนได้ ที่สำคัญคือในสังคมไทยทุกวันนี้ชนชั้นกรรมาชีพเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม

3. ชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางในสังคมสมัยใหม่ เป็น “กลุ่มชนชั้น” มีความหลากหลายและกระจัดกระจาย เป็นคนที่ไม่ใช่นายทุน และไม่ใช่ลูกจ้างระดับธรรมดา เช่นเกษตรกรผู้ผลิตเองรายย่อย พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ผู้ประกอบการเองที่มีลูกจ้างสองสามคน หรืออาจเป็นหัวหน้างานและผู้บริหารที่เป็นทั้งลูกจ้างของนายทุนแต่มีอำนาจให้คุณให้โทษแทนนายทุน ชนชั้นกลางเป็นกลุ่มชนชั้นที่ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ บางส่วนขยายจำนวน บางส่วนเริ่มมีน้อยลงเพราะล้มละลาย และชนชั้นนี้มีปัญหาในการรวมตัวกันเสมอ เพราะไม่เป็นปึกเป็นแผ่น มีผลประโยชน์ต่างกัน และอาจเป็นคู่แข่งกันด้วย

ดังนั้นบ่อยครั้งชนชั้นกลางต้องไปเกาะติดกับชนชั้นที่มีอำนาจมากกว่า เช่นชนชั้นนายทุน หรือบางครั้งอาจเกาะติดกับชนชั้นกรรมาชีพเมื่อมีการต่อสู้ จุดยืนทางการเมืองของชนชั้นกลางจึงไม่คงที่ ชนชั้นกลางมีจำนวนน้อยกว่ากรรมาชีพในสังคมไทยปัจจุบัน เพราะเกษตรกรรายย่อยกำลังล้มละลาย และคนส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง

นักมาร์คซิสต์ให้ความสำคัญกับกรรมาชีพเป็นพิเศษเนื่องจากมีอำนาจซ่อนเร้นทางเศรษฐกิจ และการต่อสู้ของกรรมาชีพจะเน้นการรวมตัวกันเพื่อประโยชน์ของคนจำนวนมาก เพราะกรรมาชีพในสถานที่ทำงานถูกบังคับโดยสถานการณ์ให้ต่อสู้แบบรวมหมู่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ถ้าสู้แบบปัจเจกจะต่อรองกับนายจ้างไม่ได้ แต่กรรมาชีพไทยในเมืองยังต้องจับมือสร้างแนวร่วมกับคนจนในชนบทอีกด้วย เช่นลูกจ้างภาคเกษตรและเกษตรกรรายย่อย เพราะคนเหล่านี้มีจำนวนมากพอสมควร

คนเสื้อแดงส่วนใหญ่เป็นกรรมาชีพหรือเป็นเกษตรกรรายย่อยถึงระดับกลาง ประเด็นที่น่าสนใจคือคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ชื่นชมนายทุนอย่างทักษิณและพรรคเพื่อไทยซึ่งทำให้ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์คนส่วนใหญ่ในลักษณะอิสระไม่ได้ จึงต้องจำยอมเดินตามก้นรัฐบาลเพื่อไทยที่จับมือกับทหาร นี่คือสาเหตุที่นักมาร์คซิสต์พยายามจัดตั้งพรรคของคนทำงาน ที่พยายามเสนอแนวคิดที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่อย่างอิสระ

การพัฒนาของญี่ปุ่น

ท้ายทศวรรษ 1860 มีการล้ม โชกุน และตั้งรัฐบาลใหม่ในนามของจักรพรรดิ แต่การ “ปฏิวัติเมจิ” เป็นการปฏิวัติจากเบื้องบน

โดย C. H.

ญี่ปุ่นเป็นกรณีพิเศษในโลกนอกเหนือจากยุโรป เพราะเป็นที่เดียวที่สามารถเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมได้ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นมีลักษณะสังคมคล้ายๆ กับระบบฟิวเดิลในยุโรป และได้รับอิทธิพลของเทคโนโลจี ศาสนา และภาษาเขียนจากจีน ในระบบนี้จะมีจักรพรรดิที่อ่อนแอ อำนาจจริงอยู่ในมือขุนนางที่ยึดครองพื้นที่ต่างๆ และอาศัยทหารอภิสิทธิ์ชน “ซามูไร” พวก ซามูไร นี้จะเป็นพวกที่ขูดรีดเกษตรกรโดยตรงและรบกับ ซามูไร ของขุนนางอื่น
   
ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ขุนนางตระกูล โทกุกาวา สามารถรบชนะขุนนางอื่นและตั้งตัวเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดที่เรียกว่า “โชกุน” โดยที่ให้จักรพรรดิอยู่ต่อ แต่ไม่มีอำนาจ มีการปิดประเทศไม่ยอมให้ต่างชาติมาค้าขายยกเว้นเรือจีนและฮอลแลนด์ที่อนุญาตให้เข้ามาในท่าเรือที่เดียว มีการห้ามใช้อาวุธปืน เพื่อสร้างสันติภาพและความเจริญ โชกุน อาจคุมอำนาจได้ แต่ไม่สามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงที่มาจากความเจริญของระบบค้าขาย พวกพ่อค้าที่เคยมีตำแหน่งทางสังคมต่ำ เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น ในปี 1853 เรือรบของอเมริกา 4 ลำภายใต้การบัญชาการของพลเรือเอก เพรี่ มาขู่และเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดประเทศสู่ระบบการค้าเสรี

รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าใจดีว่าถ้าไม่ประนีประนอมสถานการณ์จะจบลงไม่ดีแบบจีน ซึ่งถูกมหาอำนาจตะวันตกครอบงำ แต่ซีกหนึ่งของชนชั้นปกครองไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงเลย ในขณะเดียวกันกลุ่ม ซามูไร ชั้นล่างได้ตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อเชิดชูจักรพรรดิและเพื่อต่อต้านพวก “ต่างชาติป่าเถื่อน” ในด้านหนึ่งองค์กรนี้เน้นอุดมการณ์โบราณ แต่ ซามูไร จำนวนหนึ่งในองค์กรเข้าใจดีว่าถ้าจะต่อต้านพวก “ต่างชาติป่าเถื่อน” จะต้องเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ และกองกำลังของญี่ปุ่น และพวกนี้ได้โอกาสในการ “ปฏิวัติเมจิ”

ในท้ายทศวรรษ 1860 มีการล้ม โชกุน และตั้งรัฐบาลใหม่ในนามของจักรพรรดิ แต่การ “ปฏิวัติเมจิ” เป็นการปฏิวัติจากเบื้องบน โดยกลุ่มคนที่มาจากชนชั้นปกครองเก่า เขาต้องการผลักสังคมไปข้างหน้าและเปิดทางให้กับการพัฒนาของระบบทุนนิยม มีการสร้างรัฐรวมศูนย์ที่เข้มแข็ง และยกเลิกระบบฟิวเดิลเก่า ซึ่งพิสูจน์ว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อเข้าสู่ยุคทุนนิยมในประเทศล้าหลัง ทำได้โดยชนชั้นปกครองเก่าที่อาศัยอำนาจและการลงทุนของรัฐได้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยการปฏิวัติของนายทุนอีกต่อไป

ทำไมคนถึงนับถือศาสนา?

ในประเทศไทย คนส่วนใหญ่อาจพูดว่าเป็น “พุทธ” แต่อาจไม่ร่วมพิธีกรรมทางศาสนาบ่อยนัก ศาสนาเริ่มมีความสำคัญในชีวิตคนธรรมดาน้อยลง แต่ยังไม่ลดลงเหมือนประเทศพัฒนาที่มีรัฐสวัสดิการ

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

ถ้าเรานำสถิติของการนับถือศาสนาในโลกปัจจุบันมาพิจารณา เราจะเห็นแนวโน้มอันหนึ่งที่สำคัญ นั้นคือการลดลงของสัดส่วนประชาชนที่นับถือศาสนาตามระดับการพัฒนาของประเทศ ดังนั้นประเทศพัฒนาเช่นในยุโรปตะวันตก หรือญี่ปุ่น มีผู้นับถือศาสนาน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด กรณีอังกฤษ ปัจจุบันเกือบจะไม่มีใครเข้าโบสถ์เลย ในขณะที่ระดับการนับถือศาสนาในประเทศยากจนของอัฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา มีมาก บางทีถึง 99% ของประชากร
   
แน่นอนการวัดระดับการนับถือศาสนาเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน เพราะแค่ถามว่า “คุณนับถือศาสนาหรือไม่” หรือ “คุณนับถือศาสนาอะไร” อาจได้คำตอบว่าคนนั้นคนนี้นับถือศาสนา แต่จะไม่บอกว่าเขาใช้คำสอนหรือปรัชญาศาสนาในชีวิตประจำวันแค่ไหน และจะไม่บ่งบอกว่าคนคนนั้นร่วมพิธีกรรมทางศาสนามากน้อยแค่ไหนอีกด้วย ถ้าเราเข้าใจตรงนี้เราประเมินได้ว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศพัฒนา อาจไม่ร่วมพิธีกรรมทางศาสนาเลย
   
ทำไมคนในประเทศยากจนถึงนับถือศาสนา? คำตอบไม่ใช่เรื่องการศึกษาหรือ “ความโง่เขลา” หรือเรื่องการเข้าใจวิทยาศาสตร์มากน้อยแค่ไหน คาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายว่า “ศาสนาคือหัวใจในโลกที่ไร้หัวใจ” แต่เป็น “ฝิ่นของประชาชน” ซึ่งหมายความว่ามนุษย์ที่อาศัยในสภาพสังคมที่ไร้หัวใจ มีเหตุผลในการพึ่งพาความอบอุ่นจากศาสนา ทั้งๆ ที่ปรัชญาและคำสอนของศาสนาไม่สามารถอธิบายโลกได้

ใครที่ทราบสภาพชีวิตของคนในประเทศยากจน ที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก และไร้เสถียรภาพ ไร้มาตรฐานชีวิตที่ดี จะเข้าใจเรื่องนี้ทันที เพราะคนที่ไม่มีความหวังว่าชีวิตจะดีขึ้นได้ง่ายๆ จะรู้สึกว่าตนเองอ่อนแอจนไม่สามารถกำหนดอนาคตตนเองได้ เขามักหันมาพึ่งพิงความวิเศษและความอบอุ่นจากศาสนา
   
ศาสนาพุทธในไทยเป็นศาสนาที่นับถือกันในรูปธรรมด้วยหลายรูปแบบ เช่นมีการผสมศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือผสมการนับถือผีสางนางไม้ หรืออาจมีนิกายแปลกๆ ของคนชั้นกลางเป็นต้น อย่างไรก็ตามหัวใจสำคัญของปรัชญาศาสนาพุทธคือการพยายาม “ดับทุกข์” และการ “ทำบุญ” ให้ตนเองหรือคนในครอบครัวในลักษณะปัจเจก คือเป็นวิธีการทนอยู่กับโลกที่เต็มไปด้วยทุกข์และความไม่มั่นคงของชีวิต แต่มันไม่ได้เป็นวิธีที่จะเปลี่ยนสังคมอันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์สำหรับคนส่วนใหญ่
   
ในมุมกลับ ประชาชนในประเทศที่พัฒนา โดยเฉพาะในยุโรป มีเสถียรภาพของชีวิต เพราะประเทศเหล่านั้นมีรัฐสวัสดิการที่ดูแลพลเมือง “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ในระบบถ้วนหน้าที่ครบวงจร และเมื่อประชาชนในประเทศแบบนี้มีความมั่นคงในชีวิต เขาจะรู้สึกว่าเขาคุมอนาคตของตนเองได้มากพอสมควร จึงไม่ต้องพึ่งพาความงมงายหรือ “อำนาจจากสวรรค์” ยิ่งกว่านั้นรัฐสวัสดิการที่มีอยู่มาจากการต่อสู้ของมวลชนจำนวนมากในสหภาพแรงงานและพรรคฝ่ายซ้าย มันทำให้เขารู้สึกว่าคนตัวเล็กๆ สามารถเปลี่ยนสังคมได้
   
อย่างไรก็ตาม มีประเทศหนึ่งในหมู่ประเทศที่พัฒนา ที่เป็นกรณีพิเศษ ประเทศนั้นคือสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนผู้นับถือศาสนาสูงพอๆ กับประเทศยากจนอย่างอินเดีย หรือบราซิล เราจะอธิบายได้อย่างไร?
   
นักสังคมศาสตร์หลายคนเสนอคำอธิบายว่า การนับถือศาสนาคริสต์ในอเมริกาสูงเพราะคนผิวขาวในสหรัฐอพยพมาจากหลากหลายประเทศในยุโรป การนับถือศาสนาคริสต์ตามนิกายของครอบครัวตนเอง เป็นวิธีรักษาอัตลักษณ์และวัฒนธรรมเฉพาะของเขาท่ามกลางความหลากหลายของเชื้อชาติในประเทศใหม่ และยิ่งกว่านั้นสหรัฐอเมริกาเป็นสังคมที่ปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว เร็วกว่าหลายประเทศในยุโรป และนี่คือสิ่งที่อาจทำให้เกิดสภาพที่ไร้ความมั่นคงในช่วงนั้น เวลาเราดูการนับถือศาสนาคริสต์ในอเมริกา เราจะพบหลายๆ นิกายที่แตกต่างกัน ซึ่งสะท้อยสภาพที่กล่าวถึงไปแล้ว และการที่ประชาชนจำนวนมากหนี้การกดขี่ทางศาสนาของรัฐบาลที่มีต่อคน “นอกรีต” ในประเทศต่างๆ ของยุโรปอีกด้วย
   
อย่างไรก็ตามมันมีอีกสองคำอธิบายที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวในหมู่ประเทศพัฒนา ที่ไม่มีรัฐสวัสดิการ ซึ่งสร้างความไม่มั่นคงในชีวิตกับคนจำนวนมาก และในช่วงสงครามเย็น ที่มีการ “ล่าแม่มด” จับผิดคนที่เป็นคอมมิวนิสต์ หรือคนที่มีความคิดฝ่ายซ้าย โดยวุฒิสมาชิกฝ่ายขวา โจ แมคาร์ที้ เป็นแกนนำ การไม่นับถือศาสนากลายเป็น “บาป” ที่พิสูจน์ว่าคนนั้นเป็น “คอมมิวนิสต์” ที่ “ไม่รักชาติ”
   
แมคาร์ที้ เคยพูดว่า “เรากำลังทำสงครามอันยิ่งใหญ่ระหว่างพวกคอมมิวนิสต์ที่ไม่นับถือศาสนา กับวัฒนธรรมคริสต์เตียนของอเมริกา”
   
นอกจากกรณีสหรัฐอเมริกาแล้ว เราต้องอธิบายอีกสองปรากฏการณ์เกี่ยวกับการนับถือศาสนาในโลกปัจจุบันที่น่าสนใจ คือการขยายตัวของความศรัทธาในศาสนาอิสลามในตะวันออกกลาง จนกลายเป็นกระแส “การเมืองอิสลาม” และผลของการมีรัฐบาลคอมมิวนิสต์ต่อการนับถือศาสนา เช่นในประเทศโปแลนด์ และเวียดนาม

กระแสอิสลามในตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ อัฟกานิสถาน มาลี ลิบเบีย หรือปาเลสไตน์ ไม่ใช่สภาพที่ดำรงอยู่มาตลอดกาล อย่างที่พวกฝ่ายขวาในอเมริกาเสนอ พวกนี้ชอบพูดทำนองว่ามี “การปะทะชนกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกกับตะวันออก” โดยที่มีการอ้างว่าวัฒนธรรมอิสลามของตะวันออกต่อต้านความทันสมัยและประชาธิปไตย แต่นักวิชาการฝ่ายขวาอเมริกาชื่อแซมูล ฮันทิงตัน ที่เสนอทฤษฎีนี้เคยให้ความเห็นว่าในยุคการลุกฮือสมัย 1968 “สหรัฐมีประชาธิปไตยมากเกินไป” คือเขาเองไม่เคารพประชาธิปไตยและแน่นอนผู้นำสหรัฐที่ทำสงครามในตะวันออกกลางไม่เคยสนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศอื่นๆ เลยเพราะสหรัฐเคยสนับสนุนเผด็จการมูบารัก และเบนอาลีในขณะที่การปฏิวัติล้มเผด็จการในอียิปต์ ตูนีเซีย ลิบเบีย และการต่อสู้กับเผด็จการทั่วตะวันออกกลางทุกวันนี้ พิสูจน์ว่าคนมุสลิมในภูมิภาคนี้ต้องการประชาธิปไตยและพร้อมจะลุกขึ้นสู้เพื่อเป้าหมายดังกล่าว
   
กระแสอิสลามที่ผูกพันกับการเมืองที่เราเห็นในตะวันออกกลาง เป็นกระแสการเมืองที่ต้านจักรวรรดินิยมตะวันตกที่เข้ามาครอบครอง หรือแทรกแซงการเมืองมาตลอด ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเรื่อยมา เช่นยึดครองพื้นที่ที่เคยเป็นอาณาจักรออตตามัน การแบ่งแยกดินแดน การสนับสนุนเผด็จการกษัตริย์ชาร์ในอิหร่าน การสนับสนุนอิสราเอล และการสนับสนุนเผด็จการมูบารัก เป็นต้น มันเป็นกระแสที่ต่อต้านการทำสงครามกับคนในพื้นที่ด้วย เช่นสงครามอีรัก และอัฟกานิสถาน

เป้าหมายของจักรวรรดินิยมคือการพยายามคุมแหล่งน้ำมันของตะวันออกกลาง ในสถานการณ์แบบนี้ ในอดีตคนที่ต้องการต่อสู้เพื่อเอกราชและความเป็นธรรม มักจะหันไปสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย และแนวสังคมนิยมที่เคยเป็นกระแสหลักในอิหร่าน อียิปต์ และที่อื่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตามพรรคฝ่ายซ้าย เช่นพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ หรือผู้นำประเทศที่ประกาศว่าตนเองเป็น “สังคมนิยม” เช่น นะซาในอียิปต์ ค่อยๆ ทำให้ประชาชนผิดหวังและเสื่อมศรัทธา เพราะไม่สร้างสังคมนิยมจริง และจบลงด้วยการเป็นเผด็จการท่ามกลางความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ผลคือในยุคต่อมาคนจำนวนมากเริ่มหันไปถือธงการเมืองอิสลามในการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมและเผด็จการ เราเห็นชัดในกรณีอิหร่าน ตุรกี ตูนีเซีย ลิบเบีย และอียิปต์
   
ในกรณีอัฟกานิสถาน การส่งทหารไปรุกรานประเทศนั้นโดยรัสเซีย นำไปสู่การสร้างองค์กร “ทาลิบัน” ในกลุ่มนักศึกษา และแน่นอนจะไม่มีใครศรัทธาใน “สังคมนิยม” ในเมื่อเขาถูกกดขี่รุกรานโดยกองทัพรัสเซียที่ใช้ธงแดง แล้วพอรัสเซียแพ้สงครามและถอนทหารออกไป สหรัฐและอังกฤษก็เข้ามาทำสงครามจนประเทศพังทลายอย่างที่เห็นทุกวันนี้ เราคงไม่แปลกใจว่าอิสลามเป็นธงนำการต่อสู้เพื่อเอกราช
   
อย่างไรก็ตาม หลังการปฏิวัติในอียิปต์และตูนีเซียที่พึ่งผ่านมาเมื่อไม่นานมานี้ พรรคมุสลิมถูกตรวจสอบในรูปธรรมเพราะเข้ามาเป็นรัฐบาล และเมื่อพรรคมุสลิมจับมือกับองค์กรอย่าง ไอเอ็มเอฟ ในการใช้นโยบายเสรีนิยม และประนีประนอมกับอำนาจเก่า เช่นทหาร ประชาชนจำนวนมากก็เริ่มไม่พอใจและเป็นโอกาสทองในการฟื้นกระแสสังคมนิยม

สำหรับประเทศที่มีประสบการณ์ของรัฐบาลที่เรียกตัวเองว่า “คอมมิวนิสต์” เมื่อเราเปรียบเทียบประเทศโปแลนด์ ที่มีคนนับถือศาสนาคริสต์จำนวนมากในยุคปัจจุบัน กับประเทศเวียดนามที่สัดส่วนการนับถือศาสนาต่ำ เราต้องศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองเช่นกัน

ในทั้งสองประเทศเราอาจไม่แปลกใจที่กลุ่มคนหรือองค์กรต่างๆ ที่ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการคอมมิวนิสต์ หันมาถือธงศาสนาในการต่อสู้ และสิ่งนี้ก็เกิดในกรณีโปแลนด์ โดยที่แกนนำสหภาพแรงงาน “โซลิแดริที้” ที่มีส่วนสำคัญในการล้มเผด็จการชื่นชมในศาสนาคริสต์ แต่มันมากกว่านั้นเพราะรัฐบาลคอมมิวนืสต์โปแลนด์เดิมมีต้นกำเนิดจากชัยชนะของกองทัพรัสเซียในสงครามโลกครั้งที่สอง และกองทัพรัสเซียเป็นเครื่องมือของสตาลินในการแต่งตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในโปแลนด์และประเทศอื่นในยุโรปตะวันออก แถมรัสเซียมักส่งรถถังไปปราบปรามประชาชนเวลาลุกขึ้นสู้กับเผด็จการในประเทศของตนเองเสมอ ดังนั้นศาสนาคริสต์ในโปแลนด์กลายเป็นสัญญาลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเอกราช ทั้งๆ ที่พวกพระที่คุมสถาบันศาสนา ไม่เคยออกมาต่อสู้อย่างจริงจัง
   
ในประเทศเวียดนาม ศาสนาคริสต์เป็นสิ่งนำเข้าโดยอดีตเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส จึงไม่สามารถเป็นธงนำการต่อสู้เพื่อเอกราชได้ และพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามขึ้นมามีอำนาจโดยการต่อสู้ของคนพื้นเมืองกับจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสและอเมริกา ต่างโดยสิ้นเชิงกับโปแลนด์ อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปและประชาชนเริ่มไม่พอใจกับเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างเช่นที่เราเห็นในหมู่กรรมกรโรงงานเวียดนาม ที่กำลังสร้างสหภาพแรงงานอิสระจากรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฏหมาย เขาจะไม่หันมาใช้ธงของศาสนาพุทธ หรือศาสนาเต๋า ซึ่งเป็นสองศาสนาหลักนอกจากศาสนาคริสต์ เพราะมันไม่ใช่อะไรที่รวมศูนย์การต่อสู้ได้ นี่คือสาเหตุที่การนับถือศาสนาในเวียดนามค่อยๆ ลดลงในสังคมสมัยใหม่
   
ในประเทศไทย คนส่วนใหญ่อาจพูดว่าเป็น “พุทธ” แต่อาจไม่ร่วมพิธีกรรมทางศาสนาบ่อยนัก ศาสนาเริ่มมีความสำคัญในชีวิตคนธรรมดาน้อยลง แต่ยังไม่ลดลงเหมือนประเทศพัฒนาที่มีรัฐสวัสดิการ แน่นอนคนจำนวนมากยัง “ทำบุญ” หรือไหว้พระ ไหว้ผีสางนางไม้ หรือไหว้อะไรที่มองว่า “ศักดิ์สิทธิ์” เป้าหมายคือเป็นการพยายามปกป้องตัวเองจากความโชคร้าย เหมือนการซื้อประกัน และศาสนาพุทธไม่ได้เป็นธงนำในการต่อสู้กับเผด็จการปัจจุบัน เพราะชนชั้นปกครองไทยพยายามผูกขาดการใช้ศาสนาพุทธเพื่อให้ความชอบธรรมกับตนเอง กระแสหลักของศาสนาพุทธจึงเชื่อว่าศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว
   
สรุปแล้วแนวโน้มโดยทั่วไปในโลก คือการลดลงของการนับถือศาสนาเมื่อมีการพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างหลักประกันในชีวิตในรูปแบบรัฐสวัสดิการ ในสถานการณ์แบบนี้ประชาชนจำนวนมากมองว่าวิทยาศาสตร์สมัยใหม่อธิบายโลกรอบตัวเราได้ดีกว่าศาสนา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าประชาชนในประเทศยากจนไม่รู้เรื่องวิทยาศาสตร์ เพียงแต่ว่าวิทยาศาสตร์ให้ความอบอุ่นไม่ได้ถ้าสถาพชีวิตเราแย่กว่าจะทนได้ ในขณะเดียวกันประวัติศาสตร์การเมืองในประเทศต่างๆ มีผลต่อการนับถือศาสนาอีกด้วย ซึ่งเพียงแต่พิสูจน์ว่าศาสนากับการเมืองและโลกจริงแห่งวัตถุแยกออกจากกันไม่ได้

ศาสนาไม่เคยสอนให้คนเป็น “คนดี” ผู้นับถือศาสนาที่เป็นคนดีก็มี แต่ผู้ที่เข่นฆ่ากดขี่ขูดรีดประชาชนที่อ้างว่านับถือศาสนาก็มีมากมายเช่นกัน และ “คนดี” ที่ไม่นับถือศาสนาที่ต้องการเห็นสังคมที่เป็นธรรมและสันติภาพทั่วโลกก็มีอีกด้วย
   
ศาสนาอาจเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองเลว ที่ใช้ศาสนากล่อมเกลาประชาชนไม่ให้ลุกขึ้นสู้ หรืออาจเป็นธงนำการต่อสู้ของผู้รักความเป็นธรรมได้ แต่ธงนำอื่นก็มี และสำหรับผู้เขียนธงนำ “สังคมนิยม” เป็นธงนำที่มีประสิทธิภาพมากกว่าศาสนาในการปลดแอกมนุษย์ เพราะสังคมนิยมเน้น “ความสมานฉันท์”ระหว่างเพื่อนมนุษย์ท่ามกลางการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนสังคม มันเน้นการพึ่งตนเองและการพึ่งพาเพื่อนร่วมโลก แทนการพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในฝันหรือวีรชนคนใดคนหนึ่ง
   
เมื่อเราสถาปนาสังคมนิยมทั่วโลก และเรามีหลักประกันความมั่นคงในชีวิตสำหรับทุกคน เราจะไม่ต้องงมงายในสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป เราสามารถค้นพบความงดงามของวิทยาศาสตร์และเพื่อมนุษย์ได้