อ. ปิยบุตร ไม่ต้องขอโทษหรือถอยเรื่อง 112

ใจ อึ๊งภากรณ์

กฏหมาย 112 เป็นกฏหมายที่ทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยสิ้นเชิง และสังคมใดที่พลเมืองไม่สามารถพูดอะไรบางอย่างได้เกี่ยวกับการเมือง หรือบุคคลสาธารณะ ไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย

ดังนั้นการที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล มองว่าต้องปฏิรูปกฏหมาย 112 เป็นเรื่องที่ดีและเป็นการพยายามทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ทุกคนที่รักประชาธิปไตยควรจะปกป้องและสนับสนุนเขาในเรื่องนี้

จริงๆ แล้ว ผมมองว่ากฏหมาย 112 มันแก้ไขไม่ได้ มันต้องถูกยกเลิก การแก้กฏหมาย 112 เช่นให้สำนักงานหนึ่งเป็นผู้ฟ้องแต่ฝ่ายเดียว ควบคู่กับการลดโทษ ไม่สามารถแก้ปัญหาว่า 112 เป็นกฏหมายที่ปิดปากประชาชน และทำให้การพูดความจริงเป็นสิ่งที่ผิดได้ หรือไม่สามารถแก้การที่มีกระบวนการลับในศาล

การยกเลิกกฏหมาย 112 นั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะเปิดโอกาสให้ใครด่าใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นอย่างเสรี เพราะมีกฏหมายหมิ่นประมาทธรรมดาที่ปกป้องไม่ให้มีการให้ข้อมูลเท็จอยู่แล้ว ส่วนกฏหมาย112 ไม่ใช่การปกป้องไม่ให้คนกล่าวเท็จ แต่เป็นกฏหมาย “การเมือง” ที่มีวัตถุประสงค์ในการปิดปากพลเมือง

นอกจากนี้สังคมใดที่ฆาตกรมือเปื้อนเลือดอย่างประยุทธ์ ทำรัฐประหารตั้งตัวเป็นนายกรัฐมนตรีเถื่อน แล้วลอยนวลเหมือนฆาตกรรัฐของไทยคนอื่นๆ แล้วมาจำคุกคนที่เห็นต่างด้วยกฏหมาย 112 นั้น ต้องถือว่าเป็นสังคมทรามที่ขาดความยุติธรรมพื้นฐาน

พวกที่ปกป้องกฏหมาย 112 เป็นพวกที่ต่อต้านและทำลายประชาธิปไตย

crownandfont

ความ “ใหม่” ของไทยรักไทยกับพรรคอนาคตใหม่

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในเมื่อมีการพูดกันด้วยความตื่นเต้นในเรื่อง “ความใหม่” และ พรรค “อนาคตใหม่” ผมจะขอเชิญชวนให้ผู้อ่านทบทวนและเปรียบเทียบความหวังของคนจำนวนมากในยุคนี้ กับความหวังที่คนเคยมีกับพรรคไทยรักไทยในอดีต เพราะในยุคปัจจุบันพรรคของ ทักษิณ ไม่น่าจะเป็นที่พึ่งของคนที่รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมได้แต่อย่างใด

14552694321455269471l

พรรคไทยรักไทยก่อตั้งขึ้นมาในปี ๒๕๔๑ โดยทักษิณ ชินวัตร หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง คำขวัญสำคัญของพรรคคือ “คิดใหม่ทำใหม่” และเป้าหมายคือการทำให้ประเทศไทยทันสมัย

สรุปแล้วพรรคอนาคตใหม่กับพรรคไทยรักไทยมีจุดร่วมในการเน้น “ความใหม่” กับ “ความทันสมัย” และทักษิณก็เคยเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ด้วย

ก่อนอื่นเราต้องให้ความเป็นธรรมกับพรรคของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เพราะเผด็จการทหารชุดปัจจุบันห้ามไม่ให้พรรคการเมืองประกาศนโยบายในช่วงนี้ การห้ามแบบนี้ด้วยสาเหตุอะไรก็ไม่มีการอธิบาย แต่อาจเป็นเพราะต้องการตีกรอบล่วงหน้า ตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ว่านโยบายแบบไหนจะมีได้ และแบบไหนมีไม่ได้

อย่างไรก็ตามทั้ง ธนาธร ปิยบุตร และคนอื่นได้ให้ความเห็นบางประการผ่านสื่อซึ่งเราสามารถนำมาพิจารณาได้ ที่ชัดเจนมากคือพรรคอนาคตใหม่ฟันธงว่าต่อต้านเผด็จการทหาร การทำรัฐประหาร และการสืบทอดอำนาจของทหาร

yingluck-and-prayuth-together-inspecting-flood-damage

ถ้าเปรียบเทียบกับพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ซึ่งก็คือพรรคไทยรักไทยที่แปลงร่างนั้นเอง จุดยืนของ ธนาธร กับ ปิยบุตร มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากกว่าอย่างชัดเจน เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นพรรคพวกของ ทักษิณ คอยประนีประนอมกับทหารเผด็จการเรื่อยมา ในช่วงที่ ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทยได้เสียงข้างมากอย่างชัดเจน ไม่มีการพยายามลงโทษประยุทธ์เลย และไม่มีการสกัดกั้นไม่ให้แทรกแซงการเมืองด้วย ต่อมาหลังจากที่ประยุทธ์ทำรัฐประหาร ก็ไม่มีการส่งเสริมการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการแต่อย่างใด

hqdefault

กรณีข้อยกเว้นที่ดีของอดีตสส.พรรคเพื่อไทยคือ วัฒนา เมืองสุข และ จาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งสองคนนี้ไม่ยอมก้มหัวให้ทหารมาตลอด

bibfbecb7f9kb5cjefejh

แน่นอน เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองที่มีจุดมุ่งหมายในการนำทหารออกจากการเมืองแบบที่ ธนาธร กับ ปิยบุตร เสนอ แต่มันมีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาด้วยคือ จะเอาอำนาจที่ไหนมาลดบทบาททหาร? จริงๆ แล้วมันมีอำนาจเดียวที่ทำตรงนี้ได้คือ อำนาจของมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ตรงนี้เราจะเห็นว่าพรรคของ ทักษิณ มีประวัติในการสร้างขบวนการเสื้อแดงขึ้นมา ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย แต่แล้ว ทักษิณ กับ นปช. ก็ไปแช่แข็งขบวนการนี้และปล่อยให้ตายอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ นี่คือบาปกรรมอันเลวร้ายของพรรคเพื่อไทย

คำถามคือ ธนาธร กับ ปิยบุตร มีแผนจะสร้างขบวนการมวลชนหรือไม่ ยังไม่มีการพูดถึง ซึ่งแตกต่างจากจุดยืนของ “พรรคสามัญชน” ที่ประกาศว่าเชื่อมโยงกับมวลชนรากหญ้า

ปิยบุตร พูดถึงตัวอย่างพรรคซ้ายใหม่ในยุโรป แต่ตามด้วยการเสนอว่าความขัดแย้งระหว่างซ้ายกับขวาไม่มีความสำคัญในไทย พูดง่ายๆ เขามองว่าไทยไม่มีความขัดแย้งทางชนชั้น และไม่มีการพูดถึงความสำคัญของขบวนการแรงงานเลย

การที่ผู้นำแรงงานหนึ่งคน คือสุรินทร์ คำสุข จากสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ มาร่วมเปิดตัวพรรค ไม่ใช่สิ่งเดียวกับการที่พรรคจะมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับขบวนการสหภาพแรงงาน เหมือนที่พรรคฝ่ายซ้ายในหลายประเทศมี พรรคไทยรักไทยเคยมี สถาพร มณีรัตน์ จากสหภาพแรงงาน กฝผ เป็นสมาชิกและต่อมาเป็นรัฐมนตรีอีกด้วย แต่นั้นไม่ได้ทำให้พรรคของทักษิณเป็นพรรคของกรรมาชีพแต่อย่างใด

ธนาธร เปิดเผยไปแล้วว่าเขาเห็นชอบกับการกดขี่สิทธิแรงงาน 

ปิยบุตรเอ่ยถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบสวัสดิการที่สร้างหลักประกันถ้วนหน้าให้คนทุกคนตั้งแต่เกิด ในยามแก่ ในยามเจ็บ และยามตาย ซึ่งคำพูดแบบนี้นักการเมืองพรรคเก่า เช่นทักษิณ ก็เคยพูด ถ้าพรรคอนาคตใหม่จะจริงจังในการสร้างรัฐสวัสดิการ ซึ่งจะเป็นสิ่งใหม่ ต้องพูดกันให้ชัด และต้องพูดว่าจะเก็บภาษีก้าวหน้าเพื่อสร้างกองทุน

ผมจะขอเดาว่าจริงๆ แล้ว ปิยบุตร ต้องการสร้างฐานเสียงของพรรคในหมู่คนหนุ่มสาวชนชั้นกลางเป็นหลัก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคไทยรักไทย หรือพรรคเพื่อไทยแล้ว ทักษิณ เคยประกาศว่ามีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน ไม่ใช่แค่คนรวยหรือคนชั้นกลางเท่านั้น และเขาก็ทำจริงตามคำประกาศ

สมาชิกของพรรคอนาคตใหม่มีการพูดถึงความคิดใหม่เรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้งในปาตานี ตรงนี้ต่างจากไทยรักไทย แต่พรรคอนาคตใหม่จะจริงจังแค่ไหนคงต้องรอดู 

บางคนพูดว่าการที่มีนายทุนอย่าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่พร้อมจะลงมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเคียงข้างประชาชนน่าจะเป็นเรื่องดี แต่ที่แน่นอนคือมันไม่ใหม่เลย นายทุนใหญ่หน้าใหม่อย่าง ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยลงมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเคียงข้างประชาชนเช่นกัน

ธนาธร ยังไม่ได้กล่าวถึงนโยบายอะไรมากนอกจากการลดบทบาททหาร และการกระจายอำนาจในการเก็บภาษีเพื่อสร้างโรงเรียนหรือโรงพยาบาลไปสู่แต่ละจังหวัด นโยบายการกระจายอำนาจแบบนี้เป็นนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดชัดๆ เพราะปฏิเสธบทบาทรัฐบาลกลางในการเก็บภาษีแล้วกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นที่ยากจน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นในขณะที่ ธนาธร พูดเหมือนกับว่าจะปล่อยให้จังหวัดที่ยากจนจนต่อไป ทักษิณ เคยเน้นบทบาทรัฐบาลกลางในการพัฒนาฐานะของคนจนในชนบท นอกจากนี้รัฐบาลไทยรักไทยมีผลงานในการสร้างระบบรักษาพยาบาลถ้วนหน้าขึ้นมาเป็นครั้งแรก และนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจนอีกหลายนโยบาย

35325500736_f90767b2d5_o

ก่อนที่พรรคไทยรักไทยจะชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก มีการส่งทีมงานลงไปในชุมชนต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนกับประชาชนว่าเขาต้องการนโยบายอะไรแบบไหน ตรงนี้ไทยรักไทยทำอย่างเป็นระบบ ถ้าพรรคของ ธนาธร กับ ปิยบุตร จะมีผลงานจริงกับคนรากหญ้า มันมีงานอีกมากมายที่ต้องทำ โดยเฉพาะการต่อสายไปสู่ขบวนการแรงงานกับเกษตรกรยากจน แต่ถ้าเขาไม่สนใจทำ พรรคของเขาก็คงเป็นแค่พรรคฝ่ายขวาธรรมดาของชนชั้นกลาง ที่ต่อต้านทหาร

เราคงต้องติดตามข่าวต่อไปครับ

ธนาธร เผยจุดยืนนายทุนที่กดขี่สิทธิแรงงาน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในรายการสดของ The Standard http://bit.ly/2DI5maR ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พูดชัดเจนเลยว่าเขาเห็นด้วยกับ “สิทธิ” นายทุนในการกดขี่สิทธิแรงงาน มันเป็นครั้งแรกที่เราได้รับความชัดเจนตรงนี้

เขาเล่าว่าในอดีตเมื่อสหภาพแรงงานในโรงงานไทยซัมมิทเรียกร้องโบนัสเท่าเทียมกับสำนักงานใหญ่ ธนาธร และบริษัทซัมมิทตัดสินใจปิดโรงงานและไล่คนงานทุกคนออก เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการนัดหยุดงาน พร้อมกันนั้น ธนาธร อ้างว่าได้ “ทำตามกฏหมายแรงงาน” และแก้ตัวว่าเขาปฏิบัติ “อย่างเป็นธรรม” ต่อสหภาพแรงงาน

นอกจากนี้เราทราบจากข่าว “ประชาไท” ว่าบริษัทไทยซัมมิทอีสเทิร์น ซีบอร์ด ออโต้พาร์ท อินดัสตรี ได้สั่งเลิกจ้างงานคนงาน 50 คนในวันที่ 26 ธันวาคม 2549 เพราะได้ไปสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้า ประเทศไทย และทางบริษัทเกรงว่าจะทำให้ลูกจ้างมีอำนาจต่อรองกับบริษัทมากขึ้นหากมีสหภาพแรงงานแบบนี้

ส่วนปัญหาที่ผมเคยพูดว่าเกิดกับลูกจ้างบริษัท “ซัมมิท” ธนาธร อธิบายว่าไม่เกี่ยวกับบริษัท “ไทยซัมมิท” ของเขา

ในแวดวงนักสิทธิมนุษยชนและนักสหภาพแรงงานสากล การปิดโรงงานที่กำลังจะนัดหยุดงาน ไล่คนงานออกหมด แล้วรับคนกลับมาทำงานเฉพาะในส่วนที่ยอมจำนนต่อบริษัท หรือการเลิกจ้างคนงานด้วยเหตุที่ต้องการสร้างสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งมากขึ้น ถือว่าเป็นพฤติกรรมหน้าเลือดของนายทุนที่ต่อต้านสิทธิแรงงานอย่างชัดเจน มันเป็นนโยบายของพรรคการเมืองฝ่ายขวาทั่วโลกที่จะให้ความชอบธรรมกับพฤติกรรมแบบนี้

การอ้างของ ธนาธร ว่าเขาให้ความเป็นธรรม เพราะทำตามกฏหมายแรงงานไทย เป็นเรื่องที่ฟังไม่ขึ้น เพราะกฏหมายแรงงานไทยในปัจจุบันมันละเมิดสิทธิแรงงานไปในตัว ไม่เคยให้เสรีภาพเต็มที่ในการเคลื่อนไหว ก่อตั้งสหภาพ หรือเสรีภาพเต็มที่ในการนัดหยุดงานเลย กฏหมายนี้เป็นมรดกตกทอดจากยุคเผด็จการไทยในหลายสิบปี ที่ผ่านมาตั้งแต่ยุค สฤษดิ์ ธนะรัชต์

ธนาธร คงอยากแช่แข็งกฏหมายแรงงานให้อยู่ต่อแบบนี้

การอ้างว่า “ต้องปิดโรงงาน” เพื่อปกป้องกำไรของบริษัทตนเอง แสดงว่า ธนาธร ยืนอยู่เคียงข้างผลประโยชน์นายทุนและตรงข้ามกับผลประโยชน์ของคนทำงานธรรมดา นี่คือเรื่องชนชั้นอย่างชัดเจน

คำพูดแก้ตัวและพฤติกรรมของ ธนาธร พิสูจน์อย่างชัดเจนว่า “พรรคอนาคตใหม่” คงไม่ต้องการสร้างอนาคตใหม่ให้กับกรรมาชีพผู้ทำงาน อนาคตใหม่ของพวกนักการเมืองหน้าใหม่แบบนี้ จะไม่รวมถึงการเพิ่มสิทธิเสรีภาพให้กับคนส่วนใหญ่ จะไม่รวมถึงการลบผลพวงของเผด็จการทหารออกไปจากระบบแรงงานสัมพันธ์ และจะไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเองของแรงงานจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนรุ่นใหม่อีกด้วย

ธนาธร มองว่าการเรียกร้องโบนัสของสหภาพแรงงานในโรงงานไทยซัมมิทในครั้งนั้นมัน “มากเกินไป” แต่เขาไม่ตรวจสอบตนเองและตั้งคำถามว่าเงินเดือนสูงของเขาเองมาจากการทำงานของใคร และทำไมเขาจะมี “สิทธิ์” ที่จะรับเงินเดือนสูงกว่าคนธรรมดาทั่วประเทศ

มันชวนให้ตีความได้ว่าพรรคอนาคตใหม่จะไม่สนับสนุนการเพิ่มอัตราค่าแรงทั่วประเทศให้คนทำงานสามารถมีชีวิตที่ดีได้เท่ากับพวกชนชั้นกลาง เพราะทุกอย่างต้องขึ้นกับเงื่อนไขการเพิ่มกำไรของกลุ่มทุน มันชวนให้ตีความได้อีกว่าพรรคนี้คงจะไม่สนับสนุนการเก็บภาษีในอัตราสูงจากเศรษฐีและกลุ่มทุนใหญ่ เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการอีกด้วย

สรุปแล้วสำหรับ พรรคอนาคตใหม่ ของธนาธร มันเป็นไปไม่ได้เลยว่าจะเป็นความหวังสำหรับคนส่วนใหญ่ที่เป็นกรรมาชีพผู้ทำงาน

fight2

ธนาธรไม่ต้องขอโทษใครเรื่องข้อเสนอแยกศาสนาออกจากรัฐ และเรื่องปาตานี

ใจ อึ๊งภากรณ์

การที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พูดว่าควรแยกศาสนาออกจากรัฐ และให้รัฐเลิกอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ เป็นข้อเสนอที่ก้าวหน้าและจะเพิ่มสิทธิเสรีภาพกับพลเมืองทุกคนไม่จะว่านับถือศาสนาใดหรือไม่นับถือศาสนาอะไรเลย ดังนั้น ธนาธร ไม่ควรขอโทษใครในเรื่องนี้ และเราควรสนับสนุนเต็มที่

สิ่งที่ ธนาธร พูดเป็นข้อเสนอที่มีประโยชน์ต่อชาวพุทธ เพราะจะนำไปสู่เสรีภาพในการนับถือพุทธในลักษณะหลากหลายที่แต่ละคนเลือกจะนับถือ รัฐจะเข้ามาปราบคนที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็น “พุทธนอกรีต” หรือพวกธรรมกายไม่ได้ และสตรีที่ต้องการบวชเป็นพระสงฆ์ก็ย่อมทำได้ ศาสนาจะกลายเป็นสิทธิส่วนตัวของพลเมืองอย่างแท้จริง ดังนั้นพวกที่โวยวายเรื่องนี้เป็นพวกล้าหลังที่คัดค้านเสรีภาพและความหลากหลาย

แต่ในแง่หนึ่ง ทั้งๆ ที่ข้อเสนอของ ธนาธร จะเพิ่มเสรีภาพให้ชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี มันไม่พอที่จะแก้ปัญหาสงครามได้ เพราะมันไม่ใช่สงครามระหว่างชาวพุทธกับชาวมุสลิม มันเป็นการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของคนที่ถูกรัฐไทยกดขี่ต่างหาก

เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ข้อเสนอของ เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ที่จะรื้อฟื้นข้อเสนอในการปกครองตนเองของชาวปาตานี ที่หะยีสุหลง เคยยื่นต่อรัฐบาลไทยในปี 2490 ก่อนที่เขาจะถูกเผด็จการทหารไทยฆ่าทิ้ง เป็นสิ่งที่ก้าวหน้ากว่านโยบายพรรคการเมืองกระแสหลักทุกพรรค

บางคนที่มีอคติกับศาสนาอิสลาม จะโวยวายว่ามันจะนำไปสู่การ “เฆี่ยนเกย์” และขัดแย้งกับสิ่งที่ ธนาธร พูดเรื่องการแยกศาสนาออกจากรัฐ ผมขอฟันธงว่าไม่จริงเลย และจะขออธิบายต่อ

ศาสนาอิสลามเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพลเมืองชาวมาเลย์มุสลิมส่วนใหญ่ในปาตานี แต่วัฒนธรรมนี้ถูกรัฐไทยกดขี่มานาน ดังนั้นการเพิ่มเสรีภาพในการนับถือศาสนาที่เคยโดนกดขี่จากรัฐไทย เป็นข้อเสนอก้าวหน้า และจะมาเปรียบเทียบกับสิทธิชาวพุทธกระแสหลักไม่ได้

หะยีสุหลง

ลองมาดูข้อเสนอเดิมของ หะยีสุหลง ซึ่งเคยได้รับการยอมรับจากอ.ปรีดี พนมยงค์

  1. “สิทธิในการปกครองตนเองของชาวปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ด้วยผู้นำที่เป็นคนจากพื้นที่และมาจากการเลือกตั้งจากคนในพื้นที่” ข้อเสนอนี้จะเพิ่มเสรีภาพอย่างชัดเจนเพราะลดบทบาทรัฐจักรวรรดินิยมไทย ถ้ากรุงเทพฯเลือกผู้ว่าได้ ทำไมปาตานีเลือกไม่ได้?
  2. “ข้าราชการในพื้นที่อย่างน้อย 80 % ต้องเป็นมุสลิม” ตรงนี้เราอาจดัดแปลงให้ทันสมัยขึ้นโดยเสนอว่า ประมาณ 80% ต้องเป็นคนเชื้อสายมาเลย์จากพื้นที่ แต่ควรดัดแปลงสัดส่วนให้เท่ากับสัดส่วนจริงของพลเมืองเชื้อชาติต่างๆ ในพื้นที่ มันจะแก้ไขความรู้สึกของคนในปาตานี ที่รู้สึกว่าถูกยึดครองจากกรุงเทพฯ
  3. “ให้ใช้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการ” ข้อเสนอแบบนี้เป็นที่ยอมรับในหลายประเทศทั่วโลก เช่นสวิสแลนด์ คานาดา สวีเดน และอังกฤษ มีแต่พวกไดโนเสาร์อย่างพลเอกเปรมที่เคยคัดค้าน
  4. “ให้ภาษามลายูเป็นภาษากลางของการสอนในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา” ซึ่งควรตีความว่าหมายถึงโรงเรียนในชุมชนที่เขาพูดภาษามลายูที่บ้าน แต่สำหรับครอบครัวที่พูดภาษาไทยที่บ้าน ก็ควรมีโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาไทยเพื่อเป็นทางเลือก จะไปคัดค้านทำไม? และมันไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนที่ใช้ภาษามลายูจะไม่สอนให้เด็กรู้จักภาษาไทย อย่าลืมว่าเรื่องภาษากลางเป็นเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพและทำลายวัฒนธรรมหลากหลายมานาน รวมถึงคนเชื้อชาติลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  5. “ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลศาสนา แยกออกไปจากศาลจังหวัด” ตรงนี้พวกคนที่มีอคติกับศาสนาอิสลาม จะโวยวายว่ามันจะนำไปสู่การ “เฆี่ยนเกย์”!! ไม่เลยครับ มันหมายความว่าพลเมืองทุกคนสามารถเลือกได้ว่าอยากขึ้นกับศาลแบบไหนต่างหาก มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านเราอยู่แล้ว นอกจากนี้การลงโทษในศาสนาอิสลามตีความได้หลากหลาย ชาวอิสลามก้าวหน้าควรจะรณรงค์ไม่ให้มีการตีความแบบล้าหลัง และประเทศสิงคโปร์ที่ใช้การเฆี่ยนเป็นการลงโทษไม่ใช่รัฐอิสลามอีกด้วย
  6.  “ภาษีที่เก็บได้ในพื้นที่ให้ใช้ในพื้นที่เท่านั้น” ก็เป็นข้อเสนอที่ดี แต่ในเมื่อปาตานีเป็นพื้นที่ยากจน ควรมีงบประมาณสมานฉันท์จากพื้นที่อื่นเข้ามา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
  7. “ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีเอกสิทธิ์ออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติการศาสนาอิสลาม” อันนี้ก็เป็นข้อเสนอที่จะให้เสรีภาพกับการนับถือศาสนาอิสลาม แต่ในโลกสมัยใหม่ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดควรมาจากการเลือกตั้ง และคนอิสลามควรมีสิทธิที่จะไม่ทำตามระเบียบนั้นได้ คือระเบียบที่ว่านี้ควรจะเป็นแค่ข้อเสนอแนะเท่านั้น

แต่คำพูดหนึ่งของ เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ น่าจะสร้างความกังวลนิดหน่อย คือเวลามีการถามว่าจะทำได้แค่ไหน เขาตอบว่า “อะไรก็ได้ที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญไทย” แต่รัฐธรรมนูญไทยตอนนี้เขียนว่ารัฐไทยเป็นสิ่งที่แบ่งแยกไม่ได้ ซึ่งเป็นอุปสรรค์สำคัญในการที่คนในพื้นที่จะพูดคุยพิจารณารูปแบบต่างๆ ของการปกครองตนเอง รวมถึงสิทธิที่จะแยกประเทศด้วย

%e0%b8%95%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b9%83%e0%b8%9a-2

ปัญหาความรุนแรงในปาตานี มาจากการกดขี่ของรัฐไทย ผ่านการกระทำของกำลังทหารและตำรวจที่ยึดครองพื้นที่เหมือนเป็นอาณานิคม ดังนั้นพรรคอนาคตใหม่ควรเสนอให้ถอนทหารและตำรวจส่วนใหญ่ออกจากพื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกันอย่างสันติ และควรเสนอให้ลดบทบาททหารในการเจรจาสันติภาพอีกด้วย

ข้อดีอีกอันหนึ่งของพรรคอนาคตใหม่คือ มีแผนจะลงไปพบปะกับนักเคลื่อนไหว และภาคประชาสังคมในปาตานี เพื่อจัดทำนโยบายการกระจายอำนาจและนโยบายด้านพหุวัฒนธรรม ผมหวังว่าคนของพรรคจะกล้าพอที่จะต่อสายและคุยกับคนที่กบฏต่อรัฐไทย หรือคนที่อยากแบ่งแยกดินแดนด้วย

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ผมกังวลอันหนึ่งคือ พอพวกอนุรักษ์นิยมวิจารณ์สิ่งที่เขาพูดนิดเดียว ก็จะเริ่มเห็นเขาถอยและเปลี่ยนใจ ทำไมต้องขาดความมั่นใจในการทำสิ่งที่ถูกถึงขนาดนั้น? เราคงต้องดูต่อไป

 

ทำไมสตรีไทยต้องมีสิทธิทำแท้งเสรี

ใจ อึ๊งภากรณ์

เนื่องในวันสตรีสากลปีนี้ กรมอนามัย เปิดเผยว่าแต่ละปีทั่วโลกมีการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยประมาณ 20 ล้านคน ส่งผลให้ผู้หญิงกว่า 70,000 คน เสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ปัญหานี้สำคัญมากสำหรับสตรีไทย โดยเฉพาะกรรมาชีพและคนจนในชนบท

shutterstock_216264961

ทั้งๆ ที่กฎหมายไทยอนุญาตให้ผู้หญิงยุติการตั้งครรภ์ได้ในบางกรณี เช่นที่ผู้หญิงตั้งครรภ์มีปัญหาสุขภาพกาย หรือปัญหาสุขภาพจิต หรือตั้งครรภ์เนื่องจากการถูกข่มขืนเป็นต้น แต่การที่คนจนจะเข้าถึงบริการการทำแท้งที่ปลอดภัยมีข้อจำกัดมาก เพราะแพทย์กับพยาบาลอาจมีอคติส่วนตัวที่นำมาตัดสินการตัดสินใจของคนผู้หญิงที่ตั้งท้อง นอกจากนี้โรงพยาบาลที่ให้บริการการทำแท้งฟรีเกือบจะไม่มี

สำหรับสตรีชนชั้นกลางหรือคนชั้นสูงที่มีเงิน การทำแท้งเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่ากรรมาชีพและคนจน ดังนั้นเราจะเข้าใจได้ว่าทำไมขบวนการแรงงานในภาคสิ่งทอของไทย มีข้อเรียกร้องให้สตรีทุกคนมีสิทธิ์ทำแท้งเสรีโดยไม่ต้องจ่ายเงิน

ถ้าพิจารณาประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะพบว่ามีแค่สองประเทศเท่านั้นที่ยอมให้ผู้หญิงมีสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของตนเองโดยยอมให้มีสิทธิทำแท้งเสรี สองประเทศนั้นคือสิงคโปร์ และเวียดนาม

ในเวียดนามนอกจากผู้หญิงจะมีสิทธิ์ทำแท้งแล้ว ในช่วงแรกหลังการรวมประเทศในปี 1975 มีการพัฒนาการบริการของรัฐในเรื่องสุขภาพอนามัยสำหรับสตรี ซึ่งรวมถึงการบริการในด้านการคุมกำเนิดอีกด้วย และกฎหมายคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชนปี 1989 เน้นว่าผู้หญิงมีสิทธิที่จะเลือกทำแท้ง และได้รับการบริการในทุกด้านที่เกี่ยวกับสุขภาพสตรี ต่อมาในปี 1991 มีการออกกฎระเบียบให้ผู้หญิงลางานเพื่อทำแท้ง ซึ่งเป็นประเด็นที่มักถูกมองข้าม

กรณีเวียดนาม ที่มีเสรีภาพในการทำแท้ง เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เพราะเวียดนามเป็นประเทศที่ค่อนข้างจะยากจนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สถานภาพของผู้หญิงในเรื่องสุขภาพเจริญพันธ์ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับประเทศไทยสตรีไทยยังเสี่ยงภัยมากกว่าสตรีเวียดนามเพราะไม่มีสิทธิทำแท้งเสรี

ในประเทศที่มีสิทธิทำแท้งเสรี อัตราการทำแท้งไม่ได้สูงไปกว่าประเทศที่จำกัดการทำแท้งตามกฏหมายหรือตามค่านิยม เพราะในประเทศที่ไม่มีสิทธิทำแท้งเสรี ผู้หญิงส่วนใหญ่จำเป็นต้องแอบไปทำแท้งที่อันตราย และไม่ใช่ว่าในประเทศที่เสรีกว่าผู้หญิงจะ “สําส่อน” หรือ ไม่พยายามคุมกำเนิดแต่อย่างใด จริงๆ แล้วคำว่า “สำส่อน” เป็นคำที่ใช้ดูถูกผู้หญิงโดยพวกอนุรักษ์นิยมประเภทมือถือสากปากถือศีล

สิทธิของสตรีที่จะควบคุมร่างกายตนเอง โดยไม่มีนักการเมือง พระ ผู้พิพากษา หรือพวกอนุรักษ์นิยมหัวไดโนเสาร์ มาควบคุม เป็นสิทธิพลเมืองพื้นฐาน “สิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย” นี้ หมายถึงสิทธิที่จะตั้งท้องหรือไม่ และสิทธิที่จะยุติการตั้งท้องถ้าไม่พร้อม สิทธิในการทำแท้งอย่างปลอดภัยนั้นเอง

พวกที่อ้าง “ศีลธรรม” เพื่อนำความคิดของตนเอง มาบังคับใช้กับคนอื่น โดยสนับสนุนกฎหมายที่จำกัดการทำแท้งอย่างที่มีอยู่ในไทยในปัจจุบัน เป็นพวกที่ใช้เผด็จการเพื่อกดขี่คนอื่น เพราะถ้าคุณเป็นสตรีที่ไม่เห็นด้วยกับการทำแท้งคุณก็ไม่ต้องทำ แต่คุณไม่มีสิทธิ์เหนือร่างกายผู้หญิงคนอื่นที่คิดต่าง ถ้าคุณเป็นผู้ชายคุณมีสิทธิ์พูดและคิด แต่ไม่มีสิทธิ์อะไรทั้งสิ้นในบังคับผู้หญิงไม่ให้ทำแท้ง คนที่อยากเผด็จการกับร่างกายสตรี เป็นพวกที่นิยมระบบทาส เพราะการใช้อำนาจเหนือร่างกายผู้อื่นคือระบบทาส

นอกจากนี้พวกที่อ้าง “ศีลธรรม” ในการห้ามทำแท้ง เป็นพวกสองมาตรฐาน เพราะเน้นสิทธิจอมปลอมของทารกที่ยังไม่เกิดเหนือสิทธิแม่ แต่ยิ่งกว่านั้นพวกนี้เป็นคนที่ให้ความชอบทำกับการมีกองทัพเพื่อฆ่าคน และมักจะให้ความชอบธรรมกับการฆ่าผู้รักประชาธิปไตยโดยทหาร นอกจากนี้พวกที่คัดค้านการทำแท้งมักจะสนับสนุนโทษประหารชีวิตอีกด้วย

คาดว่าในประวัติศาสตร์ของประชาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย ในยุคก่อนที่จะมีการค้นพบวิธีคุมกำเนิด การทำแท้งเป็นวิธีการปกติของผู้หญิงในการจำกัดจำนวนบุตร

ในอดีตมีความพยายามหลายครั้งที่จะเปลี่ยนกฏหมายทำแท้งของไทย เช่นหลัง ๑๔ ตุลา หรือในช่วงรัฐบาลเปรม หัวหอกในการจำกัดสิทธิสตรีไทยในการทำแท้งในยุคนั้นคือ จำลอง ศรีเมือง ที่เป็นแกนนำแก๊งเสื้อเหลือง จำลอง คนนี้เคยเป็นทหารรับจ้างเพื่อฆ่าคนในลาว เป็นคนที่มีส่วนในเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา และเป็นคนที่เคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

การที่เราเคยมีนายกรัฐมนตรีสตรี ไม่ทำให้สิทธิสตรีคืบหน้าแต่อย่างใดในไทย ยิ่งลักษณ์ไม่เคยออกมาสนับสนุนสิทธิทำแท้ง หรือวิจารณ์พวกที่ใช้วาจาเหยียดเพศ ดังนั้นมันเป็นเรื่องจุดยืนทางการเมือง และเรื่องชนชั้นเป็นหลัก เพราะในขณะที่คนจนหรือกรรมาชีพในโรงงานต้องเสี่ยงกับการทำแท้งอย่างไม่ปลอดภัยในสถานที่เถื่อน หรือเสี่ยงกับการติดหนี้มหาศาลเพื่อไปทำแท้งในคลินิก คนรวยและลูกสาวของครอบครัวชั้นสูง สามารถใช้เงินซื้อการทำแท้งปลอดภัยในไทยหรือในต่างประเทศ และเขาทำเป็นประจำ

นอกจากเรื่องชนชั้นแล้ว สิทธิการทำแท้งเสรีเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสตรีคนรุ่นใหม่อีกด้วย เพราะเขาอยู่ในกลุ่มที่มักจะเสี่ยงกับการตั้งท้อง

นี่คือสาเหตุที่เราต้องสนับสนุนการรณรงค์ของสหภาพแรงงานไทยเพื่อสิทธิทำแท้งเสรี ขบวนการแรงงานไทยเคยพัฒนาสิทธิสตรีอย่างเป็นรูปธรรมในอีดต เช่นสิทธิลาคลอด ในยุคที่มีการตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ และพูดกันถึงคนรุ่นใหม่ การที่พรรคจะมีหรือไม่มีนโยบายเรื่องนี้จะเป็นเครื่องชี้วัดความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

คำถามคาใจกับการก่อตั้งพรรคคนรุ่นใหม่ของปิยบุตรกับธนาธร

ใจ อึ๊งภากรณ์

การที่ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศตั้งพรรคแนวทางใหม่ของคนรุ่นใหม่ ที่ชูแนวคิดพรรคซ้ายใหม่ในยุโรป เป็นการเริ่มต้นที่ดี และคนจำนวนมากก็คงตั้งความหวังไว้กับการสร้างพรรคนี้

อย่างไรก็ตามผมมีคำถามคาใจหลายประเด็น ที่ผมอยากจะถาม เพื่อให้พวกเราที่รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมร่วมกันพิจารณา

การที่ อ.ปิยบุตร เอ่ยถึงพรรคซีรีซา(Syriza)ของกรีซ พรรคโพเดมอส(Podemos)ของสเปน และพรรคห้าดาวของอิตาลี่ ในแง่หนึ่งก็ดีเพราะกล้าพูดถึงฝ่ายซ้ายหรือพรรคทางเลือกใหม่อย่างเปิดเผย

แต่พรรคที่ อ.ปิยบุตร เลือกมานี้ล้วนแต่มีปัญหาที่ชวนให้เราตั้งคำถามต่อไป

พรรคซีรีซาชนะการเลือกตั้งและสร้างความหวังกับประชาชนธรรมดาในกรีซจำนวนมาก แต่ในไม่กี่เดือนก็หักหลังประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่ยกเลิกนโยบายรัดเข็มขัดตามแนวเสรีนิยม(Neoliberal) ซึ่งนโยบายดังกล่าวองค์กรระหว่างประเทศในอียูบังคับให้ทำ ตอนนี้รัฐบาลซีรีซาตัดสวัสดิการคนชรา ตัดการบริการของรัฐ และกดค่าแรงหรือปลดคนงานออกในระดับที่รุนแรงกว่าพรรคอนุรักษฺนิยมในอดีต ประเด็นคือถ้า อ.ปิยบุตร เสนอว่าจะต้านนโยบายเสรีนิยม ซึ่งเป็นเรื่องดี พรรคคนรุ่นใหม่ของไทยจะคัดค้านนโยบาย “การรักษาวินัยทางการคลัง” ที่รัฐบาลทหารและรัฐบาลประชาธิปัตย์ใช้มาตลอดอย่างไร? นโยบายดังกล่าวถูกบรรจุในยุทธศาสตร์แห่งชาติของเผด็จการด้วย พรรคคนรุ่นใหม่จะเสนอให้มีการเพิ่มบทบาทและงบประมาณรัฐในการพัฒนาระดับความเป็นอยู่ของประชาชนผู้ทำงานหรือไม่? จะเสนอให้สร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าแบบยุโรปหรือไม่? และจะมีการเพิ่มรายได้รัฐผ่านการเก็บภาษีจากคนรวยและบริษัทใหญ่ในอัตราก้าวหน้าหรือไม่? เพราะการต่อต้านแนวเสรีนิยมต้องมีองค์ประกอบดังกล่าว [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ]

แล้วการที่รองประธานบริษัทซัมมิท ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแกนนำสำคัญของพรรค จะทำให้พรรคไม่เสนอนโยบายการเก็บภาษีก้าวหน้าหรือไม่?

พรรคซิรีซา และพรรคซ้ายอื่นๆ ในยุโรปมีความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ กับขบวนการสหภาพแรงงาน ผมหวังว่าพรรคคนรุ่นใหม่ในไทยจะขยันในการสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพแรงงาน เรื่องนี้สำคัญเพราะพรรคกระแสหลักเก่าๆ ของไทยล้วนแต่เป็นพรรคของชนชั้นนายทุนทั้งสิ้น สหภาพแรงงานเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีความสำคัญ และเป็นการจัดตั้งของคนชั้นล่าง ผมหวังว่าการที่ อ.ปิยบุตร เคยพูดว่า “ชนชั้นไม่ใช่ประเด็นในไทย” ไม่ได้เป็นการจงใจปิดหูปิดตาถึงความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งทางชนชั้นที่ดำรงอยู่ เพื่อสร้างแนวร่วมกับนายทุนบริษัทซัมมิท

IMG_6341

ในปี ๒๕๔๙ พนักงานบริษัทไทยซัมมิท อีสเทิร์น ซีบอร์ด ออโต้พาร์ท อินดัสตรี จำกัด จำนวน 260 คน ถูกเลิกจ้างงานเพราะได้ไปสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้าประเทศไทย

ในรายการ The Standard http://bit.ly/2DI5maR ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เล่าว่าในอดีตเมื่อสหภาพแรงงานในโรงงานไทยซัมมิทเรียกร้องโบนัสเท่าเทียมกับสำนักงานใหญ่ ธนาธร และบริษัทซัมมิทตัดสินใจปิดโรงงานและไล่คนงานทุกคนออก เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีการนัดหยุดงาน

สรุปแล้วบริษัทซัมมิทของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มีประวัติการปราบปรามสหภาพแรงงาน และละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในการรวมตัวกันของลูกจ้าง สิ่งเหล่านี้จะขัดแย้งกับนโยบายของพรรคคนรุ่นใหม่ที่ประกาศว่าจะพาคนไทยออกจากยุคเผด็จการหรือไม่? หรือพรรคจะไม่สนใจประชาธิปไตยในสถานที่ทำงาน? นอกจากนี้พรรคจะมีนโยบายที่ดีกว่ารัฐบาลอื่นๆ ในเรื่องการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่? จะมีนโยบายในการลดชั่วโมงการทำงานของคนทำงานเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตหรือไม่?

พรรคโพเดมอสของสเปนเป็นพรรคที่อ้างว่ามีประชาธิปไตยภายในระดับสูงและในรูปแบบใหม่ๆที่อาศัยอินเตอร์เน็ท แต่การที่พยายามปฏิเสธโครงสร้างรวมศูนย์ที่มีผู้แทนพรรคในระดับต่างๆ และการเลือกตั้งภายในจากการประชุมพรรค ทำให้แกนนำที่ปรากฏหน้าบ่อยๆในสื่อ และมี “บารมี” กลายเป็นแกนนำที่ถูกตรวจสอบยากและมีแนวโน้มตัดสินใจทุกอย่างแทนสมาชิก

การที่ อ.ปิยบุตร เสนอว่าพรรคคนรุ่นใหม่จะเน้นการกระจายอำนาจ ไม่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง กระจายงานภารกิจไปให้กลุ่มต่างๆ พื้นที่ต่างๆ จังหวัดต่างๆ จะทำให้สมาชิกธรรมดาสามารถควบคุมตรวจสอบผู้นำพรรคในระดับประเทศได้หรือไม่? หรือจะกลายเป็นว่าคนที่มีความมั่นใจสูงและมีชื่อเสียงจะมีอิทธิพลสูงไปโดบปริยาย? โครงสร้างแบบนี้จะทำให้สมาชิกธรรมดากำหนดนโยบายระดับชาติได้ง่ายหรือยาก?

พรรคโพเดมอสใช้ความคิดชาตินิยมจนมีบทบาทในการสนับสนุนการปกป้องรัฐสเปนจากการแบ่งแยกที่อาจเกิดขึ้นจากขบวนการอิสรภาพของคาตาโลเนีย ดังนั้นเราต้องถามว่าในกรณีสังคมเรา พรรคคนรุ่นใหม่จะมีท่าทีอย่างไรต่อความต้องการที่จะปกครองตนเองของชาวปาตานี?

พรรคห้าดาวของอิตาลี่ เป็นพรรคที่เกือบจะไม่มีนโยบายอะไรนอกจากการประกาศว่าพรรคไม่เหมือนพวกนักการเมืองรุ่นเก่า ในอดีตประเทศไทยก็เคยมี “พรรคพลังใหม่” หลังการลุกฮือ ๑๔ ตุลา พรรคนี้ก็เกือบจะไม่มีนโยบายอะไรที่จับต้องได้นอกจากการพูดว่าเป็นพรรคเอียงซ้ายของคนรุ่นใหม่ พรรคของปิยบุตรกับธนาธรจะออกมาในรูปแบบคล้ายกันหรือไม่ ผมหวังว่าคงไม่ แต่ไม่แน่ใจ

แต่ในแง่หนึ่งพรรคห้าดาวของอิตาลี่มีนโยบายแย่มากคือต่อต้านผู้ลี้ภัยและคนที่พยายามย้ายถิ่นมาอยู่ในยุโรป ซึ่งเป็นนโยบายเหยียดสีผิวกับเชื้อชาติ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพรรคคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะตั้งขึ้น จะส่งเสริมสิทธิของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในไทยและสิทธิของคนที่เกิดในไทยแต่ยังไม่มีสัญชาติ

การพาสังคมไทยออกจากเผด็จการมีอีกหลายประเด็นที่สำคัญที่ต้องพูดถึง เช่นการยกเลิกกฏหมาย112 การปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน การลดบทบาทและงบประมาณทหาร การส่งเสริมพลังงานทางเลือกเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม และในการยกเลิกเผด็จการของพวกหัวอนุรักษ์นิยมต่อสิทธิเสรีภาพของสตรี ต้องมีการพูดถึงสิทธิที่จะทำแท้งซึ่งเป็นสิทธิเหนือร่างกายตัวเอง

แน่นอนพรรคใหม่นี้คงไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้หลังการเลือกตั้งครั้งแรกเพราะคงใช้เวลาที่จะได้รับการนิยมในสังคม และ อ.ปิยบุตร ได้เสนอว่าพรรคมุ่งหมายทำงานระยะยาวและต้องเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ประเด็นคือจะมีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางสังคมในเรื่องสำคัญๆ โดยไม่เน้นรัฐสภาอย่างเดียวหรือไม่

[หมายเหตุ บทความนี้เดิมเคยเอ่ยถึงบริษัทซัมมิท แต่ธนาธร อธิบายว่าไม่เกี่ยวกับบริษัท “ไทยซัมมิท” ของเขา เพราะเป็นคนละบริษัท]