สหภาพแรงงานสร้างขึ้นมาเพื่อแทนที่การสร้างพรรคสังคมนิยมไม่ได้

“สหภาพคนทำงาน” ที่ครอบคลุมคนทำงานทุกส่วน ถ้าสร้างได้โดยไม่ไปแย่งสมาชิกจากสหภาพแรงงานที่มีอยู่แล้ว ก็คงเป็นเรื่องดี แต่ทั้งๆ ที่มีการเสนอว่าในอนาคต “สหภาพคนทำงาน” จะลงมือสร้างพรรคของชนชั้นกรรมาชีพ แต่ปัญหาใหญ่คือในรูปธรรมจะมีการสร้างสหภาพนี้ขึ้นมาเพื่อแทนที่การสร้างพรรคสังคมนิยม และการเสนอ “สหภาพคนทำงาน” สะท้อนแนวคิด “ลัทธิสหภาพ” ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแนวอนาธิปไตยที่ไม่สนใจการสร้างพรรค

ปัญหาลัทธิสหภาพในขบวนการแรงงานไทย

ในประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานสากล แนว “ลัทธิสหภาพ” (Syndicalism) จะเน้นการเคลื่อนไหวผ่านองค์กรสหภาพแรงงานอย่างเดียว แนวนี้มีรูปแบบหลากหลายที่ซับซ้อน พวกที่มองว่าควรเคลื่อนไหวในเรื่องปากท้องอย่างเดียวและไม่กล่าวถึงการเมือง คือพวกลัทธิสหภาพฝ่ายขวา ซึ่งในไทยได้รับอิทธิพลพอสมควรจากการปกครองของเผด็จการทหาร ที่พยายามห้ามไม่ให้สหภาพแรงงานสนใจเรื่องการเมือง

แต่ในขณะเดียวกันมีลัทธิสหภาพฝ่ายซ้าย ซึ่งอาจเป็นฝ่ายซ้ายปฏิวัติด้วย พวกนี้มองว่าการเมืองกับเศรษฐกิจปากท้องแยกออกจากกันไม่ได้ และเขาอาจต้องการปฏิวัติล้มทุนนิยมอีกด้วย อย่างไรก็ตามเขาจะต่างจากแนวมาร์คซิสต์ของ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ตรอดสกี้ โรซา ลัคแซมเบอร์ค และกรัมชี่ ตรงที่เขาไม่เห็นด้วยกับการสร้างพรรคปฏิวัติ หรือไม่ชัดเจนเรื่องการสร้างพรรคปฏิวัติในขณะนี้ ดังนั้นแทนที่จะลงมือสร้างพรรค เขามองว่าสหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมได้ นี่คือการเมืองของนักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานฝ่ายซ้ายในไทยส่วนใหญ่

ขบวนการแรงงานไทยขาดนักเคลื่อนไหวสังคมนิยมที่จะทำงานเป็นระบบ ในบางแห่งมีนักต่อสู้ที่อยากเห็นแรงงานสู้จริง แต่นักสู้แรงงานเหล่านี้เลือกใช้ “ลัทธิสหภาพฝ่ายซ้ายปฏิวัติ” เขาจะส่งเสริมการนัดหยุดงาน การจัดตั้งกลุ่มย่านข้ามรั้วโรงงาน หรือสหภาพที่ครอบคลุมคนทำงานหลายประเภท แต่บ่อยครั้งมักจะไม่เห็นด้วยกับการนำ “การเมืองภาพกว้าง” ที่ “ไม่เกี่ยวกับแรงงาน” เข้าสู่ขบวนการแรงงาน เช่นเรื่องสิทธิสตรี สิทธิคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศ ปัญหาภาคใต้ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาในระบบการศึกษา หรือประเด็นการเมืองสากลปัจจุบัน หรือแม้แต่วิธีการตั้งพรรคการเมืองที่อิสระจากนายทุนเป็นต้น

ประสบการณ์จากขบวนการแรงงานและขบวนการสังคมนิยมทั่วโลกในอดีตและปัจจุบัน สอนให้เราเข้าใจปัญหาของการใช้สหภาพแรงงานเป็นองค์กรต่อสู้อย่างเดียว โดยไม่สร้างพรรคสังคมนิยมตั้งแต่แรก คือในประการแรกเขาไม่สามารถจัดตั้งกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนงาน เช่นนักศึกษา คนกลุ่มน้อย หรือคนที่อยากรณรงค์เรื่อง 112 เป็นต้น มันนำไปสู่การเน้นประเด็นการเมืองปากท้องอย่างเดียวด้วย ทั้งๆ ที่ในนามธรรมอาจกล่าวถึง “เลนิน” หรือโจมตีระบบทุนนิยม

ในประการที่สององค์กรสหภาพแรงงานต้องการรับทุกคนในสถานที่ทำงานเข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งแน่นอนรวมถึงคนที่มีความคิดฝ่ายขวาตามชนชั้นปกครองและคนที่ยังขี้เกียจคิดอีกด้วย และแกนนำของสหภาพจะต้องปกป้องความสามัคคีภายในสหภาพระดับหนึ่ง เพราะกลัวว่าจะแพ้การเลือกตั้งและหลุดจากตำแหน่งในสหภาพ จึงไม่สามารถถกเถียงแนวคิดอย่างตรงไปตรงมาได้ตลอดเวลา ไม่เหมือนพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่ทำงานภายในสหภาพ

ในประการที่สาม ถ้านักลัทธิสหภาพแบบนี้แพ้การเลือกตั้ง หรือถูกเลิกจ้างเขาอาจจะไม่มีองค์กรเหลือเลย ประเด็นนี้เป็นปัญหาด้วยเวลาคนงานไม่มีความมั่นใจในการต่อสู้ หรือไม่ยอมนัดหยุดงานในช่วงหนึ่ง ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางการเมืองลดลง ไม่เหมือนพรรคปฏิวัติที่ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องได้ โดยเฉพาะการจัดกลุ่มศึกษาและการรณรงค์ในเรื่องต่างๆ

ในประการสุดท้ายสหภาพแรงงานไม่สามารถยึดอำนาจรัฐได้ เพราะเป็นองค์กรที่สร้างขึ้นมาเพื่อต่อรองกับนายจ้างในระบบทุนนิยม ไม่สามารถประสานการทำงานระหว่างทุกซีกทุกส่วนของสังคมที่ก้าวหน้าเพื่อยึดอำนาจรัฐ

ปัญหาการพึ่งพรรคนายทุนของพวกลัทธิสหภาพ

ผลสำคัญอันหนึ่งของการใช้ลัทธิสหภาพแทนการสร้างพรรคในไทย คือการไปพึ่งพรรคนายทุนอย่างพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคไทยรักไทยในอดีต แต่แรงงานไม่ควรหลงเลือก “นายใหม่” แบบนี้

แนวสังคมนิยมมาร์คซิสต์กับขบวนการแรงงานไทย

นักสังคมนิยมต้องสร้างพรรคหรือ “เตรียมพรรค” ก่อนอื่น สมาชิกพรรคจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการกรรมาชีพและสหภาพแรงงานที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าแกนนำของสหภาพแรงงานเหล่านั้นมีการเมืองแบบขวาๆ หรือไม่ เราควรทำงานในสถานที่ทำงานต่างๆ และปลุกระดมแนวคิดสังคมนิยมจากภายในและภายนอก

การสร้างสหภาพแรงงานแบบ “ซ้ายๆ” ขึ้นมาเมื่อเราไม่พอใจการเมืองของแกนนำสหภาพที่มีอยู่ เสี่ยงกับการโดดเดี่ยวตัวเองจากมวลชนในขบวนการแรงงาน

ในทุกสหภาพแรงงานจะมีคนสามกลุ่มใหญ่ๆ ถ้าแบ่งตามแนวความคิด กลุ่มแรกเป็นพวกที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมและหมอบคลานต่อนายทุนกับผู้มีอำนาจ กลุ่มที่สองเป็นพวกที่มีความคิดกบฏอยากต่อสู้กับนายจ้างและความไม่เป็นธรรม อาจมีความคิดสังคมนิยม หรืออย่างน้อยต้องการประชาธิปไตยแท้ และกลุ่มที่สาม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ จะมีความคิดที่ผสมแนวจากทั้งสองขั้วหรืออาจยังไม่มีโอกาสที่จะคิดอะไรมาก หน้าที่ของนักสังคมนิยมคือการพยายามดึงกลุ่มตรงกลางที่ประกอบไปด้วยคนส่วนใหญ่ ให้เปลี่ยนความคิดมาเป็นฝ่ายซ้าย ถ้าเราไม่มีพรรคเราทำไม่ได้

ถ้าจะชักชวนและดึงกรรมาชีพส่วนใหญ่ให้เห็นด้วยกับฝ่ายซ้าย มันต้องมีการจัดตั้งในองค์กรทางการเมือง … พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมนั้นเอง

นักปฏิวัติมาร์คซิสต์อิตาลี่ชื่อ อันโตนิโอ กรัมชี่ เคยอธิบายว่านักปฏิบัติการของพรรคสังคมนิยมไม่สามารถชักชวนให้คนงานมาเป็นฝ่ายซ้าย ถ้ามัวแต่ป้อนทฤษฏีและแนวคิดเหมือนการป้อนอาหารให้เด็ก มันต้องมีการเคลื่อนไหวคนถึงจะเริ่มตาสว่าง ดังนั้นนักสังคมนิยมจะต้องร่วมต่อสู้เคลื่อนไหว และพูดถึงทฤษฏีทางการเมืองที่ช่วยอธิยายแนวทางในการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรมเสมอ

พรรคกรรมาชีพที่ควรจะถูกสร้างขึ่นในไทยตอนนี้ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ในประการแรกมันควรจะเป็นพรรคสังคมนิยมที่ให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานในชนชั้นกรรมาชีพ แต่ในขณะเดียวกันบ่อยครั้งต้องอาศัยคนหนุ่มสาวที่เป็นนักศึกษาไฟแรง หรือ “เตรียมกรรมาชีพ” นั้นเอง เพราะคนหนุ่มสาวแบบนี้มีเวลาที่จะศึกษาและอ่าน และไม่เหนื่อยเกินไปจากการทำงานหนัก ควรมีปัญญาชนเข้าร่วมด้วย แต่ที่สำคัญคือต้องมีการสร้างกรรมาชีพให้นำตนเอง ที่คิดเอง เป็นปัญญาชนกรรมาชีพ และช่วยสอนคนอื่นได้ และสมาชิกส่วนใหญ่ควรจะเป็นคนทำงานที่เคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานของตนเอง

แน่นอนพรรคจะต้องอิสระจากอิทธิพลของชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นจะต้องอิสระจากนายทุนและมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของคนชั้นกรรมาชีพ พรรคจึงก็ต้องมีจุดยืนต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด นโยบายที่นำไปสู่การกดค่าแรง หรือแนวคิดชาตินิยมที่มองว่าเราต้องสามัคคีกับนายทุนและทหารเป็นต้น

ความชัดเจนของจุดยืนพรรค ไม่ได้มีไว้เพื่ออวดความบริสุทธิ์ แต่มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายความคิดและปลุกระดมในหมู่มวลชนภายนอกพรรค จุดยืนของพรรคต้องมาจากการถกเถียงกันอย่างเสรีภายในพรรค

พรรคจะต้องผสมผสานสองยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันคือ ต้องร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องปากท้อง เข้ากับเรื่องการเมืองภาพกว้างเสมอ

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2MBfQzc

มาร์คซิสต์กับ “ความรุนแรง”

เมื่อพูดถึง “ความรุนแรง” สิ่งแรกที่นักมาร์คซิสต์ต้องย้ำเสมอคือ ความรุนแรงของพวกที่กดขี่เรา (เช่น รัฐ ทหาร ตำรวจ ศาล) ไม่เหมือนความรุนแรงของคนที่ถูกกดขี่ปราบปราม ในเรื่องนี้พวก “สันติวิธี” แบบหอคอยงาช้างมักจะละเลยเสมอด้วยคำพูดในเชิง “ขอให้ทุกฝ่ายปฏิเสธความรุนแรง”

คำพูดแบบนั้นเรามักได้ยินในเรื่องความขัดแย้งในปาตานี หรือการชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย สิ่งที่พวกสันติวิธีแบบหอคอยงาช้างมองข้ามเสมอคือ ฝ่ายรัฐมีกองกำลังติดอาวุธและพร้อมที่จะใช้อาวุธเหล่านั้นเสมอ ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต การที่เขาถืออาวุธไว้ปราบประชาชนเป็นการประกาศตั้งแต่แรกว่ารัฐพร้อมจะใช้ความรุนแรงเสมอ ดังนั้นข้อเรียกร้องว่า “ขอให้ทุกฝ่ายปฏิเสธความรุนแรง” ไม่มีผลกับรัฐ แต่กลับกลายเป็นคำวิจารณ์คนที่ถูกกดขี่ปราบปรามที่พยายามป้องกันตัวเท่านั้น

คนที่อยู่ในไทยที่นั่งอยู่บ้านไม่ทำอะไร แต่วิจารณ์ผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย หรือประกาศว่า “เป็นห่วงน้องๆ” ที่ออกมาชุมนุม เป็นพวกมือถือสากปากถือศีล เพราะถ้าเขาไม่อยากเห็นความรุนแรงเขาจะต้องมาร่วมชุมนุม ในหลายๆ กรณีมวลชนยิ่งมากเท่าไร รัฐยิ่งไม่กล้าปราบ

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์การกดขี่ชาวมาเลย์มุสลิมที่ปาตานี เราจะเห็นว่าขบวนการติดอาวุธสู้กับรัฐไทย เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐไทยใช้ความรุนแรงเสมอ เช่นหลังจากที่หะยีสุหลงถูกรัฐไทยอุ้มฆ่าในปี ๒๔๙๗  โดยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ หรือหลังจากการลงมือฆ่าชาวมาเลย์มุสลิมไร้อาวุธที่ตากใบในปี ๒๕๔๗ โดยรัฐบาลทักษิณ

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์การจับอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เราจะเข้าใจว่าการจับอาวุธเป็นปฏิกิริยาต่อการที่รัฐไทยเข้ามาปราบปรามด้วยความรุนแรง เช่นการจับขังหรือการฆ่าเป็นต้น

ในปัจจุบัน เมื่อเราพิจารณาการเคลื่อนไหวของ กลุ่มเยาวชนปลดแอก คณะราษฏร์ หรือ REDEM ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ไร้อาวุธ เราจะเห็นว่ากลุ่มคนที่เตรียมอาวุธมาทำร้ายคนอื่นคือตำรวจกับทหาร และอันธพาลของฝ่ายคลั่งเจ้า การที่ตำรวจและทหารสลายการชุมนุมของผู้ที่ต้องการประชาธิปไตยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นด้วยการฉีดน้ำใส่สารเคมี การใช้ก๊าซน้ำตา การใช้กระสุนยาง หรือการใช้กระสุนจริง (อันหลังนี้โดยเฉพาะในกรณีเสื้อแดง) ถือว่าเป็นการจงใจใช้ความรุนแรงของฝ่ายรัฐ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ฝ่ายรัฐปกครองด้วยอำนาจเผด็จการที่มาจากการใช้ความรุนแรงในการทำรัฐประหารแต่แรก

การที่แกนนำผู้ชุมนุมหลายๆ คนถูกรัฐจับกุมและขังในคุกด้วยกฏหมายเถื่อน112 ถือว่าเป็นการใช้ความรุนแรงโดยรัฐเพื่อปิดปากประชาชนและห้ามไม่ให้มีการแสดงออกอย่างเสรี อย่าลืมว่าคนที่กำลังโดน 112 แค่ใช้คำพูดในการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความชอบธรรมสูงตามหลักประชาธิปไตย เขาไม่ได้ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด ไม่เหมือนนายกรัฐมนตรีมือเปื้อนเลือดประยุทธ์ที่เคยสั่งฆ่าเสื้อแดง และต้องรับผิดชอบกับการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่างในยุคนี้

ดังนั้นถ้าฝ่ายผู้ชุมนุมที่เรียกร้องประชาธิปไตยพยายามป้องกันตัวหรือโกรธแค้นขึ้นมา และใช้ความรุนแรงโต้ตอบตำรวจหรือทหารมันเป็นเรื่องที่ไม่ผิด เข้าใจได้ และมาร์คซิสต์จะไม่มีวันวิจารณ์ เราจะพุ่งเป้าการวิจารณ์ไปที่รัฐบาลเผด็จการกับตำรวจทหาร

ในกรณีที่ผู้ชุมนุมชาวอเมริกันลุกขึ้นมาประท้วงในขบวนการ “Black Lives Matter” และไปเผาโรงพักที่ส่งตำรวจออกไปฆ่าคนผิวดำ เราจะไม่มีวันวิจารณ์

แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าภายในขบวนการเคลื่อนไหว มวลชนจะไม่มีการถกเถียงกันเรื่องความฉลาดในการใช้ความรุนแรงหรือวิธีการที่จะไม่ทำให้การเคลื่อนไหวเสียการเมือง

ในเรื่องการใช้ความรุนแรงเราพูดแค่นี้ไม่ได้ มีอีกสองประเด็นสำคัญที่เราต้องพิจารณา

ประเด็นแรกคือยุทธวิธีการจับอาวุธ ที่เคยใช้โดยพรรคคอมมิวนิสต์ หรือที่ BRN ใช้ในปาตานีตอนนี้ ไม่สามารถเอาชนะรัฐไทยได้ เพราะกองกำลังของรัฐไทยมีอาวุธและจำนวนคนมากกว่า ยิ่งกว่านั้นการใช้แนวจับอาวุธมีผลทำให้มวลชนคนธรรมดาไม่มีบทบาทอะไรเลย และไม่มีส่วนในการกำหนดแนวทางต่อสู้เคลื่อนไหว เพราะพวกจับอาวุธย่อมปิดลับเสมอ มาร์คซิสต์มองว่าถ้าเราจะล้มเผด็จการหรือเปลี่ยนสังคม เราต้องอาศัยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชน ซึ่งไม่ได้แปลว่าเมื่อใกล้ชนะแล้วมวลชนจะไม่ติดอาวุธเพื่อป้องกันตัวจากฝ่ายรัฐเก่าที่พร้อมจะฆ่าคนจำนวนมากในการรักษาอำนาจอันไม่ชอบธรรม แต่ในกรณีนั้นแนวทางจะเน้นมวลชนเหนือการจับอาวุธ

ถ้าจะเปรียบเทียบแนวจับอาวุธกับแนวมวลชน เรามีบทเรียนสำคัญจาก Arab Spring เพราะในกรณีอียิปต์ หรือตูนิเซีย มีการเคลื่อนไหวของมวลชนที่ล้มผู้นำเผด็จการได้ แต่ในกรณีซิเรีย การใช้แนวจับอาวุธนำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ล้มผู้นำเผด็จการไม่ได้ และแถมเปิดช่องให้ประเทศอื่นๆ เข้ามาร่วมในสงคราม จนสังคมซิเรียพังทะลาย

ประเด็นที่สองคือเรื่องการปก้องกันตัวจากความรุนแรงของฝ่ายรัฐ มาร์คซิสต์จะมองว่าถ้าเราสู้ด้วยอาวุธชนิดเดียวกับที่ผู้กดขี่เราใช้ จะไม่ได้ผลเท่าไร แต่ถ้าเราใช้พลังของมวลชนในการนัดหยุดงาน มันเป็นอาวุธที่ฝ่ายรัฐมีความลำบากมากในการปราบหรือโต้ตอบ เพราะกรรมาชีพผู้ทำงานมีความสำคัญอย่างยิ่งกับเศรษฐกิจ การนัดหยุดงานจึงเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจที่มีพลัง และสามารถใช้ล้มเผด็จการได้

อ่านเพิ่ม

ถ้าจะไล่เผด็จการทหารต้องปลุกระดมการนัดหยุดงาน http://bit.ly/2Oh1mJz

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ https://bit.ly/2JBhqDU

มาร์คซิสต์ กับการต่อสู้ในยุคคนหนุ่มสาว http://bit.ly/3iBPzAO

แนวคิดมาร์คซิสต์คืออะไร https://bit.ly/3s5eu42

ใจ อึ๊งภากรณ์

วันต่อต้านการเหยียดสีผิวเชื้อชาติสากล

วันที่ 20 มีนาคมปีนี้เป็นวันต่อต้านการเหยียดสีผิวเชื้อชาติขององค์กรสหประชาชาติ และในหลายๆประเทศทั่วโลกมีการจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ต่อต้านการเหยียดสีผิวเชื้อชาติ แต่ในไทย พลเมืองส่วนใหญ่ยังขาดจิตสำนึกในเรื่องนี้ เพราะพรรคการเมืองสังคมนิยมที่ชูประเด็นเรื่องแบบนี้ยังไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมา

เราไม่ควรนิ่งนอนใจคิดว่าปัญหานี้เป็นปัญหาของคนในประเทศอื่นๆ เท่านั้น เพราะเมื่อเกิดปัญหาทางสังคม ก็มีคนไม่น้อยที่ออกมาโทษคนมุสลิมหรือแรงงานข้ามชาติ พลเมืองจำนวนมากในไทยไม่แคร์เรื่องชาวโรฮิงญา เวลาทหารฆ่าคนจากชนเผ่าก็มีการมองว่าพวกนี้ “ไม่ใช่คนไทย” และเป็นพวกค้ายาเสพติด “ทุกคน” และเวลาเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่ปาตานี พลเมืองจำนวนมากก็จะพูดถึง “โจรใต้” แทนที่จะมองว่าทหารไทยระดับนายพลคือโจรตัวจริง แต่อย่าลืมว่ามีพลเมืองชาวมุสลิมจำนวนมาก ที่ต่อต้านและเกลียดชังเผด็จการทหารที่ครองอำนาจอยู่ในสังคมเราทุกวันนี้

คาร์ล มาร์คซ์ เคยตั้งข้อสังเกตว่าถ้ากรรมาชีพในประเทศหนึ่งไม่เลิกดูถูกคนจากประเทศอื่น เขาจะไม่มีวันปลดแอกตนเองได้ และเราอาจพูดได้ว่า ตราบใดที่คนไทยจำนวนมากยังเหยียดเชื้อชาติอื่นๆ คนไทยก็ย่อมเป็นทาสของเผด็จการและชนชั้นปกครองต่อไป และไม่มีวันปลดแอกตนเองกับสร้างเสรีภาพในสังคมได้

คนไทยจำนวนมากยังไม่เลิกใช้คำเหยียดหยามกับคนเชื้อชาติอื่น มีการใช้คำว่า “แรงงานเถื่อน” “แรงงานต่างด้าว” “แขก” “ญวน” “ฝรั่ง” “ไอ้มืด” เกือบจะเป็นสันดาน

เมื่อสามปีก่อนองค์การนิรโทษกรรมสากล ได้รายงานว่ารัฐบาลเผด็จการไทยมีการละเมิดสิทธิของผู้ลี้ภัยอย่างต่อเนื่อง เช่นการจับคุมผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามและเขมร โดยที่หลายคนถือบัตรผู้ลี้ภัยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ทุกวันนี้สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง

ปัญหาใหญ่มาจากการที่รัฐบาลไทย ทุกรัฐบาล ไม่ยอมเซ็นรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951และพิธีสารปี 1967 ดังนั้นผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในไทยถูกปฏิบัติเหมือนกับว่าเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฏหมาย เหมือนเป็นอาชญากร และมีหลายกรณีที่รัฐบาลไทยส่งกลับผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปสู่คุกและการถูกทำร้ายในประเทศเดิม เช่นตุรกี เขมร และจีน

ส่วนผู้ลี้ภัยจากสงครามและความรุนแรงของทหารพม่าส่งผลให้คนเป็นแสนเดินข้ามพรมแดนเข้ามาในไทย แต่คนที่อยู่ต่อได้ถูกรัฐบาลไทยกักไว้ในค่ายผู้ลี้ภัยแถบชายแดน โดยที่ไม่มีสิทธิที่จะออกจากค่าย รัฐบาลไม่มีการบริการสาธารณสุข ไม่มีการให้การศึกษากับเด็ก และมีการห้ามไม่ให้ทำงานเลี้ยงชีพ คนที่แอบไปทำงานก็โดนนายจ้างและตำรวจเอาเปรียบเพราะเป็นแรงงาน “ผิดกฏหมาย”

แต่ชาวสังคมนิยมถือว่าผู้ลี้ภัยทุกคนเป็นมนุษย์ เราปฏิเสธคำจำกัดความที่ตราหน้าเพื่อนมนุษย์ว่าผิดกฏหมาย และเราจะไม่ยอมให้พวกชนชั้นปกครองชาตินิยมแบ่งแยกคนธรรมดาตามสีผิวหรือเชื้อชาติ การพูดว่าผู้ลี้ภัยเป็น “ภาระ” กับประเทศไม่เป็นความจริง เพราะถ้าเขาสามารถทำงาน เขาจะร่วมพัฒนาสังคมของเรา การพูดว่าเขาจะมา “แย่งงานคนไทย” ก็ไม่จริงอีกเพราะเขาพร้อมจะทำงานที่คนไทยไม่อยากทำ และเมื่ออายุของประชากรเพิ่มขึ้นสังคมเราก็จะขาดแรงงาน คำพูดแบบนี้ล้วนแต่เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นปัญหาของระบบทุนนิยม โดยชนชั้นปกครอง เพื่อให้เรามองไม่เห็นการเอารัดเอาเปรียบและการกอบโกยกำไรของชนชั้นนายทุน สังคมเราไม่ได้ขาดแคลนทรัพยากร เพียงแต่ว่ามันไปกระจุกอยู่ในมือของคนชั้นสูง 5% ของสังคม และถูกใช้ในทางที่ผิด เช่นใช้ซื้ออาวุธให้ทหารที่ฆ่าประชาชนและทำลายประชาธิปไตย หรือถูกใช้เพื่อให้คนชั้นสูงเสพสุขมหาศาลเป็นต้น

ประเด็นปัญหาสำหรับคนที่อยากปลดแอกตนเอง อยากเห็นประชาธิปไตยและเสรีภาพคือ มันมีสองขั้วความคิดในทุกสังคมทั่วโลก

ขั้วความคิดแรกเป็นแนวคิดที่มาจากชนชั้นปกครองและชวนให้เราจงรักภักดีต่อเขาภายใต้ลัทธิชาตินิยม ซึ่งในไทยรวมถึงลัทธิราชานิยมด้วย แนวคิดนี้ชวนให้เราหมอบคลานต่อเบื้องบน ไม่ว่าจะเป็น กษัตริย์ นายพลมือเปื้อนเลือด หรือ “ท่านผู้ใหญ่” และมันชวนให้เรามองว่าเรามีผลประโยชน์ร่วมกับผู้ที่กดขี่ขูดรีดเรา “เพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน” นี่คือที่มาของความคิดที่เหยียดเชื้อชาติอื่น มันเป็นแอกเพื่อควบคุมให้คนส่วนใหญ่เป็นไพร่

ขั้วความคิดที่สองเป็นแนวคิดที่เกิดจากจิตสำนึกทางชนชั้นของชนชั้นกรรมาชีพและคนชั้นล่างทั่วไป มันไม่ได้เกิดโดยอัตโนมัติ มันอาศัยอยู่ในสังคมได้เพราะมีการต่อสู้ และนักสังคมนิยมและนักสิทธิมนุษยชนมักจะทวนกระแสความคิดกระแสหลัก และเสนอแนวคิดประเภท “สามัคคีชนชั้นล่างข้ามเชื้อชาติ” ความคิดขั้วนี้จะปฏิเสธการรักชาติ แต่จะรักเพื่อนประชาชนแทน จะเสนอให้คนไทยธรรมดาสมานฉันท์กับคนเชื้อชาติอื่น และต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับอำนาจเผด็จการของชนชั้นปกครอง เพื่อให้เราร่วมกันปลดแอกตนเองและสังคม

ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ เราจะเห็นว่าตราบใดที่เรายังรักชาติของชนชั้นปกครอง และตราบใดที่เรามองว่าเราอยู่ข้างเดียวกับคนที่เหยียบหัวเรา เราไม่มีวันต่อสู้เพื่อเสรีภาพได้

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถ้าจะไล่เผด็จการต้องปลุกระดมการนัดหยุดงาน

หลายคนคงหงุดหงิดกับการที่ตำรวจใช้ความรุนแรงในการปราบม็อบ วิธีโต้ตอบความรุนแรงของรัฐที่มีพลังจริงๆ และไม่ใช่แค่สะใจชั่วคราว คือการนัดหยุดงาน

การนัดหยุดงานเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจที่สามารถล้มเผด็จการทหารได้

หลายคนจะบ่นว่ากรรมาชีพไทย “จะเอาตัวรอดไม่ได้อยู่แล้ว จะหวังให้ออกมานัดหยุดงานได้อย่างไร?” หรือบางคนพูดว่า “ขบวนการแรงงานไทยอ่อนแอเกินไป” ที่จะเป็นหัวหอกในการต่อสู้

คำพุดเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคำแก้ตัวของนักสหภาพแรงงานหรือนักเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่จะไม่จัดตั้งกรรมาชีพไทยในทางการเมือง ก็เลยสดวกสบายที่จะทำอะไรเดิมๆ เช่นการสอนให้คนงานแค่รู้จักกฏหมายแรงงานและรัฐสวัสดิการ แทนที่จะปลุกระดมทางการเมือง หรือบางคนอาจแค่พึงพอใจที่จะให้ “ผู้แทน” ของสหภาพแรงงานปราศรัยกับม็อบคนหนุ่มสาว โดยไม่สนใจที่จะมีการตั้งวงเพื่อร่วมกันคิดว่าจะสร้างกระแสนัดหยุดงานอย่างไร

กรรมาชีพพม่าไม่ได้สะดวกสบายกว่าที่ไทย แต่เขานัดหยุดงานได้เพราะเขาเข้าใจความสำคัญ

การปลุกระดมและเตรียมตัวนัดหยุดงาน

การที่จะลงมือเตรียมวางแผนการนัดหยุดงานไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันทำได้ ต้องเน้นการพูดคุยกับคนทำงานจำนวนมาก คนหนุ่มสาวไฟแรงที่นำการประท้วงควรจะจัดทีมเพื่อไปพูดคุยกับคนทำงาน อาจในสถานที่ทำงาน หรือในทางเข้าออกจากที่ทำงาน และต้องพยายามสร้างเครือข่ายโดยเฉพาะกับแกนนำสหภาพแรงงานถ้าเขาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย

ต้องมีการถกเถียงกับคนที่ยังไม่พร้อม หรือคนที่มีข้อกังวลมากมาย ข้อกังวลเป็นเรื่องจริงที่เราต้องเคารพ คือคนจะกังวลว่าจะถูกเลิกจ้างหรือไม่ กังวลว่าถ้าเขาออกมาคนอื่นจะออกมาด้วยหรือไม่ กังวลว่าถ้าสถานที่ทำงานเขาหยุดงานที่อื่นจะหยุดด้วยหรือไม่ หรือกังวลว่ามันผิดกฏหมาย ฯลฯ

การโต้ข้อกังวลต้องอาศัยความรู้สึกว่าเราไม่โดดเดี่ยว เรามีเพื่อนร่วมงานที่พร้องจะร่วมมือกันจับมือกันและแสดงความสมานฉันท์ในการต่อสู้ การเน้นความปัจเจกย่อมทำให้การต่อสู้ล้มเหลว

แน่นอนการนัดหยุดงานเพื่อข้อเรียกร้องทางการเมืองย่อมผิดกฏหมาย แต่การชุมนุมไล่ประยุทธ์ และเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็ผิดกฏหมายเผด็จการอยู่แล้ว แต่คนเป็นหมื่นเป็นแสนพร้อมจะฝ่าฝืนกฏหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ถ้าจะมีการนัดหยุดงานเพื่อไล่ประยุทธ์กับคณะเผด็จการ เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต้องมีการคุยเรื่องเหตุผลทางการเมืองเป็นหลัก และขณะนี้เป็นโอกาสทองที่จะทำ เพราะกระแสกำลังขึ้นสูงและประชาชนก็เคารพชื่นชมในสิ่งที่คนหนุ่มสาวทำ

ถ้าเพื่อนๆ ของเราในพม่านัดหยุดงานทั่วไปได้ เราก็ทำได้ ประเด็นคือพวกเราจะทุ่มเทอย่างจริงจังเพื่อให้มันเกิดหรือไม่

ใจ อึ๊งภากรณ์

ข้อเสนอสำหรับการต่อสู้ http://bit.ly/2Y37gQ5

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ https://bit.ly/2JBhqDU