รัฐสภาคือกับดัก มวลชนนอกสภาคือคำตอบ

ในช่วงนี้มีคนตั้งคำถามว่า “เลือกตั้งไปทำไม?” หลังจากที่เห็น สว. กีดกันมติประชาชน คำตอบสั้นๆ คือเผด็จการทหารหลังก่อรัฐประหารในปี ๒๕๕๗ จำเป็นต้องสร้างภาพว่าประเทศมีประชาธิปไตยเพื่อลดการต่อต้านจากประชาชน แต่เขาออกแบบระบบดังกล่าวเพื่อจำกัดเสียงประชาชนมาตั้งแต่แรก

องค์กร iLaw (ไอ ลอว์) อธิบายว่า “ตลอดระยะเวลามากกว่าสามปีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ามาบริหารประเทศ (หลังรัฐประหาร) คสช.ได้สร้างกลไกทางการเมืองต่างๆ เพื่อเข้ามาทำหน้าที่วางแผนขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่คสช.เห็นว่าจะไม่ทำให้ประเทศไทยกลับไปล้มเหลวแบบเดิม” โดยที่ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” ประกอบไปด้วยทหารที่ร่วมก่อรัฐประหาร พวกนี้อ้างว่าอยากจะ “ปรองดอง” แต่แท้จริงคืออยากจะนำแนวคิดของทหารอนุรักษ์นิยมมาครอบสังคมไทย นอกจากนี้ คสช. พูดถึง “ความล้มเหลวแบบเดิม” แต่นั้นก็เป็นแค่การให้ความชอบธรรมกับตนเองในการทำลายระบบประชาธิปไตยผ่านรัฐประหาร ผลพวงสำคัญที่เราเห็นทุกวันนี้คือระบบสว.แต่งตั้งที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีและออกเสียงในเรื่องอื่นๆ กับรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างเอง

มันไม่มีอะไรลึกลับ ไม่มีอะไรที่พูดถึงไม่ได้ ใครที่สนใจการเมืองจริงๆ และไม่แกล้งลืมอดีตเพื่อตั้งความหวังลมๆ แล้งๆ กับการเลือกตั้งที่ผ่านมา จะเห็นว่าทหารคือศัตรูหลักของประชาธิปไตย

สำหรับฝ่ายเรา การที่มวลชนคนหนุ่มสาวฝากความหวังไว้กับพรรคอนาคตใหม่แทนที่จะขยายพลังมวลชนนอกรัฐสภา ถูกพิสูจน์โดยประวัติศาสตร์ไปแล้วว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาด ที่ผู้เขียนฟันธงแบบนี้ ไม่ได้เป็นการดูถูกปัญญาของมวลชน และไม่ได้เป็นการโอ้อวดว่าผู้เขียนไม่เคยตัดสินใจผิด ทุกคนต้องพัฒนาตนเองผ่านการลองผิดลองถูก แต่ที่สำคัญคือเราเรียนบทเรียนจากความผิดพลาดของขบวนการทั้งในไทยและในต่างประเทศหรือไม่

ย้อนกลับไปดูการต่อสู้ของมวลชนคนหนุ่มสาวที่มีจุดสูงสุดในปี ๒๕๖๓ เราคงจำได้ว่ามีมวลชนออกมาต่อต้านเผด็จการทหารในกรุงเทพฯและเมืองอื่นเป็นแสน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่กระแสมวลชนนี้อ่อนตัวลงและถูกเบี่ยงเบนไปสู่การตั้งความหวังกับพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยในระบบรัฐสภา ทั้งๆ ที่ทหารเผด็จการเป็นผู้ออกแบบระบบรัฐสภาปัจจุบันเพื่อไม่ให้เรามีประชาธิปไตยเสรี

แน่นอนการออกมาสู้บนท้องถนนซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยไม่มียุทธศาสตร์ในการขยายและเพิ่มพลัง นำไปสู่ความหดหู่และการเสียกำลังใจของนักต่อสู้ไม่น้อย ตอนแรกมีความพยายามที่จะใช้รูปแบบการชุมนุมที่สร้างสรรค์ เช่นการใช้เป็ดพลาสติกเป็นต้น แต่มันไม่ได้เพิ่มพลังของการประท้วง ความท้อแท้ก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีการจับแกนนำและยัดข้อหา 112  ต่อมามีการประท้วงแบบปัจเจกที่เกิดจากการที่คนมองทางออกในการต่อสู้ไม่ออก ดังนั้นการหันไปพึ่งพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยในรัฐสภาเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่เราต้องวิจารณ์ด้วยจิตใจสมานฉันท์

การที่นักเคลื่อนไหวหันไปพึ่งพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล เป็นอาการที่มาจากความอ่อนแอในการนำมวลชน เราเห็นได้ชัดถ้ากลับไปศึกษาการต่อต้านเผด็จการประยุทธ์ ในช่วงแรกมีการเน้นนักศึกษากลุ่มเล็กๆ ที่ออกมาประท้วงและอ้างความเป็นอิสระ ตัวอย่างของคนหนึ่งที่เคลื่อนไหวแบบนี้คือ รังสิมันต์ โรม ที่ปัจจุบันเป็นสส.พรรคก้าวไกล ต่อมามีการรวมกลุ่มเพื่อจัดการชุมนุมที่ใหญ่ขึ้น แต่ไม่มีการสร้างเครือข่ายแกนนำที่มาจากการเลือกตั้งของมวลชน แกนนำจึงถูกตรวจสอบไม่ได้และเปลี่ยนไม่ได้ ไม่มีการประชุมแบบ “สภาประชาชน” เพื่อถกแนวทาง มีการมองแบบเพ้อฝันว่าพลังคนหนุ่มสาวเป็น “พลังบริสุทธ์” ไม่เหมือนขบวนการเสื้อแดงก่อนหน้านั้น ผลคือไม่มีการตั้งใจขยายมวลชนไปสู่กลุ่มอื่นๆ ในสังคม เช่นคนเสื้อแดง และที่สำคัญที่สุดไม่มีการขยายมวลชนไปสู่ขบวนการแรงงาน คนที่อายุมากกว่าคนหนุ่มสาวจำนวนมากเลยมีแนวโน้มที่จะมองว่ามันเป็นการต่อสู้ของ “เขา” ไม่ใช่การต่อสู้ของ “เราทุกคน” แน่นอนมีคนในวัยทำงานจำนวนมากที่สนับสนุนคนหนุ่มสาว แต่การสนับสนุนกับการเข้าร่วมมันต่างกัน และเมื่อแกนนำคนหนุ่มสาวเริ่มถูกจับเข้าคุก หลายคนก็สงสาร แต่ก็ไม่มีการจัดการประท้วงที่มีพลังโดยคนในวัยทำงาน

สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปจากการประท้วงของมวลชน คือการเสนอแนวทางโดยพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ ทีเขียนแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะอวดว่าพวกเรา “รู้หมด” หรือมี “แนวทางที่ถูกต้องเสมอ” แต่อย่างน้อยถ้าพรรคสังคมนิยมปฏิวัติมีสมาชิกเพียงพอที่จะเข้าไปร่วมอยู่ใจกลางของการประท้วง ร่วมนำ ร่วมถกเถียง เราจะสามารถนำบทเรียนที่เราจดจำไว้จากไทยและที่อื่นมาเสนออย่างเป็นระบบได้ แทนที่การนำจะเป็นแค่ความเห็นปัจเจกอย่างกระจัดกระจาย สิ่งที่เราคงเสนอตอนนั้นคือความสำคัญของการขยายพลังมวลชน โดยเฉพาะการปลุกระดมขบวนการแรงงานในสหภาพแรงงานต่างๆ ให้ออกมาประท้วงร่วมกับมวลชนบนท้องถนน และเมื่อกรรมาชีพออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับมวลชนอื่น ก็จะเริ่มมีการสร้างความมั่นใจที่จะนัดหยุดงานในเรื่องประเด็นการเมืองได้

การนัดหยุดงานเป็นพลังสำคัญ เพราะมีผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจ แต่ต้องมีการค่อยๆ สร้างกระแสและความมั่นใจ

อย่างไรก็ตามในขบวนการแรงงานไทย นักจัดตั้งส่วนใหญ่เน้นแต่เรื่องปากท้องผ่านความคิดแบบ “ลัทธิสหภาพ” จึงไม่มีการจัดตั้งแนวสังคมนิยมที่เน้นความคิดในเรื่องการเมืองภาพกว้างควบคู่กับเรื่องปากท้อง และไม่มีการเน้นความสำคัญของแกนนำรากหญ้าที่จะนำตนเองอีกด้วย

ปัญหาของการที่พรรคสังคมนิยมปฏิวัติเล็กเกินไปที่จะลงไปปลุกระดมในขบวนการสหภาพแรงงาน ทำให้ขบวนการแรงงานไม่มีความสัมพันธ์กับมวลชนคนหนุ่มสาว เราเห็นชัดในสองตัวอย่างที่จะยกมาคือ หนึ่งนักสหภาพแรงงานที่เป็นนักสู้จำนวนหนึ่งไปฝากความหวังกับพรรคก้าวไกลสายแรงงาน โดยที่ไม่ข้ามพ้นแนวคิดลัทธิสหภาพ คือมองว่าพรรคอย่างก้าวไกลในรัฐสภาจะ “ช่วย” กรรมาชีพในเรื่องปากท้อง ไม่มีการปลุกระดมเรื่องการเมืองโดยทั่วไปเลย

ตัวอย่างที่สองคือคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งไปใช้แนวคิดอนาธิปไตยเพื่อจัดตั้ง “สหภาพแรงงานคนทำงาน” โดยคิดว่าจะเป็นทางลัดไปสู่การนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อข้อเรียกร้องทางการเมือง แต่ทางลัดนี้กลายเป็นทางตัน การที่บางคนในสหภาพนี้ประกาศเรียกร้องให้มีการนัดหยุดงานทั่วไปในโซเชียลมีเดีย หลังจากที่สว.ไม่ทำตามมติเสียงประชาชน โดยที่คนเหล่านั้นไม่มีการวางแผนสร้างพลังใดๆ เพื่อให้การนัดหยุดงานทั่วไปเกิดได้จริง เป็นตัวอย่างของแนวทางที่นำไปสู่ทางตัน

บางคนอาจรู้สึกขำ เวลาพวกเรากล่าวถึงพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ และเขาอาจมองอย่างผิดๆ ว่าพวกเราคลั่งเรื่องการปฏิวัติในลักษณะนามธรรมแบบไร้เดียงสา แต่ โรซา ลัคแซมเบอร์ค นักปฏิวัติสังคมนิยมเยอรมัน เคยกล่าวไว้ในบทความ “ปฏิรูปหรือปฏิวัติ” ว่าเราชาวปฏิวัติ จะต้องเป็นนักปฏิรูปที่ขยันที่สุด คือเราจะไม่หันหลังให้กับการต่อสู้ประจำวันเลย

ประเทศไทยอาจไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปฏิวัติตอนนี้ แต่ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของนักปฏิวัติฝ่ายซ้ายในการเคลื่อนไหวทุกวัน จะแตกต่างและมีพลังมากกว่าวิธีของพวกปฏิรูปเสมอ

ยุทธวิธีของนักปฏิวัติมักจะตั้งคำถามกับประชาชนว่า “รัฐบาล” กับ “รัฐ” ต่างกันอย่างไร เพราะแนวคิดปฏิรูปเป็นการเสนอให้เปลี่ยนรูปแบบรัฐบาล โดยคงไว้รัฐเดิม แต่รัฐมันมากกว่าแค่รัฐบาล ในระบบทุนนิยมมันเป็นอำนาจที่กดทับชนชั้นกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจน เพื่อประโยชน์ของชนชั้นนายทุน รัฐมีอำนาจในเวทีนอกรัฐสภาผ่านตำรวจ ทหาร ศาลและคุก นายทุนใหญ่มีอิทธิพลกับรัฐนี้และในสื่อมวลชน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง ทหารชั้นผู้ใหญ่ก็เป็นด้วย

รัฐบาลเพียงแต่เป็นคณะกรรมการบริหารที่ต้องปกครองในกรอบที่วางไว้โดยชนชั้นปกครอง การเลือกตั้งในรัฐสภาทุนนิยมดีกว่าเผด็จการทหารเพราะมีพื้นที่เสรีภาพมากกว่า แต่การเลือกตั้งในระบบรัฐสภาไม่อาจทำให้คนชั้นล่างเป็นใหญ่ในสังคมได้ และชนชั้นปกครองจะกีดกันมติประชาชนด้วยวิธีต่างๆ เสมอ ถ้าเขาคิดว่ามันท้าทายผลประโยชน์ของเขา มันมีตัวอย่างมากมายจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือที่อื่น

นักการเมืองที่เน้นรัฐสภามักจะวิ่งตามเสียงประชาชน แทนที่จะเป็นนักปลุกระดมให้ประชาชนเปลี่ยนความคิด และแรงดึงดูดจากระบบรัฐสภามักจะนำไปสู่ความคิดแบบฉวยโอกาสที่ทอดทิ้งอุดมการณ์ภายใต้คำขวัญว่า “อุดมการณ์กินไม่ได้”

แนวคิดปฏิวัติในการสู้กับเผด็จการทหาร จะเน้นมวลชนบนท้องถนนและพลังการนัดหยุดงาน แต่แนวปฏิรูปจะชวนให้ประชาชนไปยื่นหนังสือกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยในรัฐสภา และจะมองว่าการนัดหยุดงานเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองเป็นเรื่อง “ผิด” หรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ และเราจะเห็นว่าพรรคปฏิรูปอย่างพรรคก้าวไกลหรือเพื่อไทย จะไม่ปลุกระดมให้มวลชนลงถนนหรือนัดหยุดงาน แต่จะนั่งคิดกันในวงประชุมว่าจะใช้กลไกของรัฐสภาอย่างไรเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ซึ่งแปลว่าจะมีการพิจารณาว่าควรจะประนีประนอมในส่วนไหนด้วย

ที่สำคัญคือ ระบบรัฐสภาทุนนิยมอย่างในไทยหรือในตะวันตก เป็นพื้นที่อำนาจของชนชั้นปกครองและเป็นพื้นที่ที่กรรมาชีพหรือคนธรรมดามีอำนาจน้อย ระบบรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง ศาล ฯลฯ คอยควบคุมให้คนที่ถูกส่งเข้าสภาต้องน้อมรับกติกาของเขา แค่ดูเรื่องเล็กอย่างการแต่งกายในรัฐสภาไทยก็เห็นชัด สส. เข้าสภาไม่ได้ถ้าไม่ใส่สูท ซึ่งไม่ใช่การแต่งกายปกติประจำวันของประชาชนธรรมดาในเมืองร้อนแบบไทย

ปัญหาของการเน้นรัฐสภายิ่งเป็นเรื่องใหญ่มากขึ้นเมื่อมีการออกแบบระบบรัฐสภาที่ขาดกลไกประชาธิปไตยอย่างในไทยตอนนี้

โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยตั้งข้อสังเกตว่า มีคนจำนวนมากที่คิดว่าการปฏิรูปเป็นการพยายามเปลี่ยนสังคมที่ใช้วิธีสันติ และการปฏิวัติคือ “ความรุนแรง” แต่เส้นทางการปฏิรูปกับเส้นทางปฏิวัติ เป็นถนนคนละสายที่นำไปสู่สังคมที่แตกต่างกัน การปฏิรูปจะเน้นการรักษาระบบและเปลี่ยนแปลงอะไรเล็กๆน้อยๆ ส่วนการปฏิวัติเป็นการพลิกสังคมและขั้วอำนาจ แค่ตัวอย่างของแนวคิดต่างๆ ว่าด้วยการแก้ปัญหากฎหมาย 112 ก็ทำให้เห็นชัด

สำหรับปัญหาเฉพาะหน้าในไทยตอนนี้ เราชาวสังคมนิยมต้องสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยในการเผชิญหน้ากับเผด็จการ ไม่ว่าจะในหรือนอกรัฐสภา เราต้องสมานฉันท์กับฝ่ายประชาธิปไตยกลุ่มต่างๆ เสมอ แต่ในขณะเดียวกันเราต้องไม่กลัวที่จะเสนอยุทธวิธีปฏิวัติ ที่เน้นพลังมวลชนบนท้องถนนและพลังการนัดหยุดงาน โดยค่อยๆ อธิบายขั้นตอนการเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนั้นเราต้องพยายามสร้างองค์กรสังคมนิยมของเราให้โตขึ้น

ใจ อึ๊งภากรณ์