ปรองดองของทหารคือการบังคับให้ยอมจำนน

ใจ อึ๊งภากรณ์

กระบวนการที่ทหารเผด็จการเลือกที่จะเรียกว่า “การปรองดอง” ไม่ใช่การสร้างสันติภาพ ความสงบ หรือประชาธิปไตยแต่อย่างใด มันเป็นการบังคับให้ฝ่ายประชาธิปไตยยอมจำนนต่อโจรผู้ปล้นประชาธิปไตยต่างหาก ปรองดองของประยุทธ์มือเปื้อนเลือด คือการ “ดองเผด็จการ” ให้อยู่ต่ออีกยี่สิบปี

นายพลเผด็จการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนายพล “หน้าหมู” หรือ ไอ้ยุทธ์ หรือทาสรับใช้ของมัน อ้างว่าทหารเป็นกลางระหว่างสองฝ่ายที่ขัดแย้งกัน นั้นคือคำหลอกลวงของพวกที่โกหกเป็นสันดานเท่านั้นเอง

ทหารจะเป็นกลางได้อย่างไรในเมื่อทหารเป็นผู้ก่อรัฐประหารเพื่อล้มรัฐบาลทักษิณที่มาจากการเลือกตั้งในปี ๒๕๔๙

ทหารจะเป็นกลางได้อย่างไรในเมื่อมันนั่งอมยิ้มปล่อยให้ “พันธมิตรต้านประชาธิปไตย” ยึดทำเนียบและยึดสนามบิน โดยไม่สลายม็อบแต่อย่างใด

ทหารจะเป็นกลางได้อย่างไรในเมื่อทหารก่อตั้งรัฐบาลอภิสิทธ์ในค่ายทหาร ทั้งๆที่ประชาธิปัตย์ไม่เคยชนะการเลือกตั้งเลย

ทหารจะเป็นกลางได้อย่างไรในเมื่อทหารเป็นผู้เข่นฆ่าเสื้อแดงที่ออกมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งในปี ๒๕๕๓

24879_385522464924_537184924_3646967_92917_n

ทหารจะเป็นกลางได้อย่างไรในเมื่อคนอย่างไอ้ยุทธ์ประกาศว่าประชาชนไม่ควรเลือกพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี ๒๕๕๔

ทหารจะเป็นกลางได้อย่างไรในเมื่อทหารนั่งอมยิ้มไม่ทำอะไร เมื่อพวกสลิ่มและพระสงฆ์ฟาสซิสต์อย่าง “ไอ้โจรอิสระ” ใช้ความรุนแรงในการล้มกระบวนการเลือกตั้งในปี ๒๕๕๗ แถมไอ้ยุทธ์กับ “ไอ้โจรอิสระ” เป็นเพื่อนซี้กันด้วย

1328008185

ทหารจะเป็นอิสระได้อย่างไร ในเมื่อไอ้ยุทธ์ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่มาจากการเลือกตั้ง

154917704__705502c

ทหารจะเป็นกลางได้อย่างไร ในเมื่อเผด็จการชุดนี้ใช้กฏหมายเถื่อน 112 ในการขังคุกคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำลายประชาธิปไตยของทหาร มันจะเป็นกลางได้อย่างไรในเมื่อทหารขยัน “ปรับทัศนคติ” ของฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อให้คล้อยตามความคิดเผด็จการ และการไล่ล่านักประชาธิปไตยยังเกิดขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง

ทหารจะเป็นกลางได้อย่างไรในเมื่อสถาบันกาฝากอันนี้ มีประวัติอันยาวนานในการทำลายประชาธิปไตยในประเทศไทย และการกอบโกยผลประโยชน์เพื่อตนเองผ่านการคอร์รับชั่น

วิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ เป็นวิกฤตระหว่างพวกที่อยากทำลายประชาธิปไตย และพวกที่ชื่นชมประชาธิปไตย และทหารเป็นส่วนสำคัญของฝ่ายที่ต้องการทำลายประชาธิปไตย ยิ่งกว่านั้นวิกฤตการเมืองนี้มีรากฐานมาจากการที่คนบางส่วน เช่นพวกชนชั้นกลาง ทหาร ข้าราชการอนุรักษนิยม และเอ็นจีโอ ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เพราะมองว่าเสียงส่วนใหญ่เป็นเสียงของผู้ที่ไม่มีวุฒิภาวะในการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง

ชัยชนะของพรรคการเมืองฝ่ายทักษิณ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบพรรคเหล่านี้ เป็นชัยชนะจริง เพราะถูกพิสูจน์มาหลายรอบจนฝ่ายเผด็จการต้องใช้วิธีรัฐประหารของทหารหรือของศาลเตี้ยในการล้มรัฐบาล นี่คือสาเหตุที่พวกปฏิกูลการเมืองทั้งหลาย ตั้งหน้าตั้งตาเปลี่ยนระบบการเมือง ผ่าน ”สภาลากลิ้นเลียทหาร” และองค์กรไม่เป็นกลางทั้งหลาย เพื่อลดความสำคัญของเสียงประชาชนลง และเพิ่มอำนาจของทหารและพวกอนุรักษ์นิยมภายใต้ “ยุทธ์ศาสตร์แช่แข็งประเทศไทย20ปี”

วิกฤตการเมืองไทยปัจจุบันไม่ได้มาจากนักการเมืองเลว มันมาจากการที่ทหารเสือกในระบบการเมือง และพวกสลิ่มทั้งหลายไม่มองว่าตัวเองต้องเคารพกติกาประชาธิปไตยแต่อย่างใด

สรุปแล้วไอ้ที่พวกมันเรียกว่า “ปรองดอง” เป็นแค่การบังคับให้ฝ่ายประชาธิปไตยยอมจำนนต่อแผนทำลายประชาธิปไตย 20 ปีของมัน มันเป็นการบังคับให้ปรองดองด้วยกระบอกปืน โดยทหารหวังจะสร้างภาพลวงตาว่าจัดการเลือกตั้งได้ แต่เราก็รู้อยู่ว่ามันจะเป็นการเลือกตั้งที่เสียงประชาชนมีค่าน้อยกว่าความเห็นของทหาร มันจะไม่ใช่การเลือกตั้งเสรี

แล้วถ้าเราต้องการความสงบสุขและการปรองดองจริง ซึ่งประชาชนจำนวนมากคงต้องการ มันจะมีหน้าตาแบบไหน?

ถ้าจะมีการปรองดองเพื่อสร้างประชาธิปไตย และความสงบ มันมีเงื่อนไขสำคัญดังนี้คือ

  1. ทหารต้องประกาศถอนตัวออกจากการเมืองและกลับเข้ากรมกอง นายพลที่มีส่วนในการก่อรัฐประหารจะต้องลาออกจากการเป็นทหารและสัญญาต่อประชาชนว่าจะไม่เล่นการเมือง ต้องมีการลดงบประมาณทหาร และนำวิธีการบริหารกองทัพโดยพลเรือนที่เป็นผู้แทนประชาชนเข้ามาใช้
  2. ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ม็อบสุเทพ และสลิ่มชนชั้นกลาง จะต้องปฏิญาณตนต่อหน้าประชาชนว่าจะและความสงบ ยอมรับการเลือกตั้งและผลการเลือกตั้ง แน่นอนประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ค้าน ประท้วง หรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ แต่จะต้องไม่เรียกร้องให้มีการทำรัฐประหารเมื่อไม่ชอบผลการเลือกตั้ง
  3. จะต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญทหาร และกลับมาใช้รัฐธรรมนูญปี ๔๐ เป็นการชั่วคราวก่อนที่จะปรับแก้ไขให้ดีขึ้นโดยประชาชน ควรจัดการเลือกตั้งเสรีที่โปร่งใสภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ โดยที่กรรมการเลือกตั้งมาจากกลุ่มการเมืองทุกฝ่าย อาจต้องให้มีผู้สังเกตการณ์จากประเทศอื่นที่เป็นประชาธิปไตยมาให้หลักประกันว่ามันเป็นการเลือกตั้งที่สะอาด
  4. จะต้องมีการปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน รวมถึงคนที่โดน 112 และหยุดดำเนินคดีการเมืองทุกประเภท พร้อมกับการยกเลิกกฏหมาย112 และกฏหมายที่เผด็จการร่างออกมาเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

มองแล้ว ในสภาพปัจจุบัน 4 ข้อข้างบนก็คงเป็นแค่ความฝัน เพราะถ้าจะมีการปรองดองที่นำไปสู่ประชาธิปไตยและความสงบ ฝ่ายขบวนการประชาธิปไตยจะต้องเข้มแข็งพอที่จะบังคับให้มีการปรองดองที่ไม่ใช่การยอมจำนนต่อเผด็จการ นั้นคือบทเรียนจากอดีตในไทยและจากทั่วโลกด้วย

จะวางแผนสู้ หรือจะอยู่ต่อเป็นทาส?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในต้นปี ๖๐ มันชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเผด็จการวางแผนแช่แข็งการเมืองไทยระยะยาว และการแช่แข็งนี้รวมถึงการแช่แข็งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมด้วย อย่างไรก็ตามตั้งแต่รัฐประหารแรกในปี ๒๕๔๙ พลเมืองที่รักประชาธิปไตยได้ออกมาต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการด้วยวิธีการต่างๆ หลายคนต้องสละชีพหรือสละเสรีภาพ ดังนั้นเราควรแสดงความเคารพต่อเขาเหล่านั้นด้วยการวางแผนสู้รอบต่อไป

ถ้าเราไม่อยากอยู่เป็นทาสตลอดไป เราควรทบทวนวิธีการที่แต่ละกลุ่มใช้ เพื่อออกแบบวางแผนแนวสู้ใหม่ที่เหมาะสม

ในประการแรกเราต้องร่วมกันตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ ผมจะตั้งคำถามและเสนอคำตอบของผม สหายคนอื่นอาจมีคำถามและคำตอบที่ต่างออกไป นั้นคือจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยน แต่การแลกเปลี่ยนดังกล่าวจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้ากระทำในอินเตอร์เน็ดหรือโซเชียลมีเดียแบบปัจเจก เราต้องตั้งวงคุยต่อหน้าต่อตาในไทย การแลกเปลี่ยนจะไร้ค่าด้วยถ้าไม่มีเป้าหมายในการจัดขบวนการเคลื่อนไหว และท้ายสุดการแลกเปลี่ยนจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ดังนั้นคำถามแรกที่เราต้องถามคือ “เราต้องการเห็นสังคมไทยที่มีหน้าตาแบบไหน?”

บางคนอาจตอบว่าแค่อยากให้กลับไปสู่ยุคมักษิณก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยาก็พอ แต่สำหรับผม ผมต้องการเห็นสังคมที่ก้าวหน้ากว่านั้นมาก เพราะในยุคทักษิณมีการเข่นฆ่าและละเมิดสิทธิมนุษยชนในสงครามยาเสพติดและในปาตานี ยังมีกฏหมาย112 ทหารยังมีบทบาทสูงเกินไปในเรื่องการเมือง และยังมีความเหลื่อมล้ำสูง สภาพความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ไม่ดีพอ ผมอยากเห็นไทยมีรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ครบวงจร และสร้างบนพื้นฐานการเก็บภาษีก้าวหน้าสูงๆ จากคนรวย ผมอยากเห็นการยกเลิกกฏหมาย 112 นั้นคือแค่จุดเริ่มต้นพื้นฐานของการสร้างประชาธิปไตย ซึ่งควรจะนำไปสู่การยกเลิกการขูดรีดและการกดขี่อื่นๆ ในที่สุด ถ้าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเราต้องมีพรรคสังคมนิยมที่เน้นผลประโยชน์คนธรรมดา สู้เพื่อผลประโยชน์กรรมาชีพและเกษตรกรรายย่อย เพราะเราจะไปฝากความหวังไว้กับนักการเมืองพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ฝากความหวังกับกษัตริย์ใหม่ก็ไม่ได้ และแน่นอนมันไม่เกิดเองถ้าเรานิ่งเฉย

ทำไมการต่อสู้ในยุคนี้เกือบจะไม่มีเลย? คำตอบมีสองส่วน ส่วนแรกคือมีการจงใจทำลายขบวนการเสื้อแดง โดยที่แกนนำ นปช. จงใจแช่แข็งการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบ และทักษิณก็บอกให้ “รอ” ประสบการณ์จากทั่วโลกสอนให้เรารู้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมไหนที่ไม่เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเคยมีสมาชิกเป็นแสนหรือเป็นล้าน ก็จะเน่าตาย หมดสภาพ หรือถอยหลังลงคลอง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเสื้อแดงแล้ว ประเด็นคือถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้เราจะทำอะไรต่อ? นั้งบ่นในวงเหล้า หรือตั้งใจทบทวนแนวทางเพื่อสู้ในรอบใหม่?

24879_385730269924_537184924_3652887_7350322_n

ข้อสรุปจากความล้มเหลวของเสือแดงคือ เราต้องเน้นการนำร่วมจากล่างสู่บนที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่การนำของผู้ใหญ่ที่มีผลประโยชน์ที่ต่างกับมวลชน เราควรดึงขบวนการกรรมาชีพและคนหนุ่มสาวมาร่วม เราไม่ควรสู้แบบยึดถนนตั้งหลักเป็นเดือน แต่ควรประท้วงใหญ่สั้นๆ และควรมีการสร้างความเข้มแข็งในการนัดหยุดงาน เพื่อใช้เป็นอาวุธทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือเราต้องชัดเจนว่าเราต้องการเห็นสังคมแบบไหน ถ้าเราจะปลดแอกตนเองต้องร่วมกันสู้ ต้องมองไปข้างๆ เพื่อหาเพื่อน ไม่ใช่มัวแต่ไปมองข้างบน

NewDemocracy

ในยุคหลังเสื้อแดงมีคนหนุ่มสาวและคนอื่นจำนวนหนึ่งที่กล้าหาญ ออกมาสู้กับเผด็จการประยุทธ์ แต่คราวนี้พวกเขาหันหลังให้กับขบวนการเคลื่อนไหวมวลชน เน้นการสู้แบบปัจเจก และอาศัยการทำข่าวเท่านั้น ผลที่น่าสลดใจคือคนดีๆ อย่างไผ่ดาวดิน ก็ไปติดคุกและปัจเจกคนอื่นโดนกลั่นแกล้งอย่างต่อเนื่อง ปัญหาคือไม่มีขบวนการมวลชนภายนอกคุกที่สามารถเรียกร้องด้วยพลังให้เขาถูกปล่อยตัวหรือเดินต่อไปสู่การล้มเผด็จการ

ท่านจำการลุกฮือ ๑๔ ตุลาได้ไหม? มวลชนครึ่งล้านคนออกมาชุมนุมหลังจากที่นักกิจกรรมโดนเผด็จการจับ และในที่สุดเผด็จการก็ถูกล้มไปสำเร็จ

14October732

ขอพูดตรงๆ ครับ การต่อสู้ในรูปแบบปัจเจกของคนกล้าหาญกลุ่มเล็กๆ ที่ตั้งตัวเป็นวีรชน ก็เหมือนยุงกัดสำหรับเผด็จการทหาร ไม่เหมือนการท้าทายเผด็จการของมวลชนเสื้อแดงในอดีต เรารู้เพราะในตัวอย่างคนเสื้อแดงพวกเผด็จการต้องนำรถถังและทหารติดปืนมาเข้นฆ่าประชาชน

การต่อสู้แบบปัจเจกที่ปฏิเสธการจัดตั้งและปฏิเสธพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในสเปนเมื่อไม่นานมานี้ก็เงียบไป ถ้าคนบางส่วนในกลุ่มผู้ประท้วงไม่จัดตั้งพรรคซ้าย “โพเดมอส” คงไม่มีอะไรเหลือ

การลุกฮือของมวลชนในตะวันออกกลางสามารถล้มเผด็จการป่าเถื่อนได้ ไม่มีใครเขาออกมาเป็นกลุ่มเล็กๆ มีแต่ออกมาเป็นแสน แต่ปัญหาใหญ่ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในอียิปต์ คือ “ล้มเผด็จการแล้วจะนำอะไรมาแทนที่?” คำถามนี้จะถูกตั้งขึ้นและตอบโดยองค์กรทางการเมืองเสมอ พรรคการเมืองนั้นเอง ในกรณีอียิปต์มีแต่พรรคมุสลิมที่ไม่ต้องการเปลี่ยนอะไรมากมาย พร้อมจะทำงานกับทหาร และพร้อมจะใช้แนวเสรีนิยมกลไกตลาดที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำ จึงเปิดช่องโหว่ให้เผด็จการกลับมาผ่านการทำรัฐประหารและการเลือกตั้งปลอม

cpt2

ในไทยหลัง ๑๔ ตุลา คำถาม “ล้มเผด็จการแล้วจะนำอะไรมาแทนที่?” ก็ถูกตอบโดยสอง “องค์กรทางการเมือง” กลุ่มรักเจ้าอนุรักษ์นิยม รีบออกมาเพื่อพยายามสร้างเสถียรภาพของการปกครอง ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็มีอีกคำตอบหนึ่งคือ ต้องสู้ต่อไปเพื่อสิ่งที่เขามองด้วยความผิดพลาดว่าเป็น “สังคมนิยม” พคท. เสนอให้เราออกจากเมืองไปเข้าป่า แต่ประวัติศาสตร์พิสูจน์ไปแล้วว่าการหันหลังให้กับมวลชนคนจนและมวลชนผู้ทำงานในเมือง โดยการจับอาวุธ เป็นข้อผิดพลาดที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ แต่อย่างน้อย ๑๔ ตุลาเคยพิสูจน์ว่ามวลชนล้มเผด็จการได้

สรุปแล้วสิ่งที่เราน่าจะทำตอนนี้คือ

1.    ตั้งวงคุยอย่างจริงจังเพื่อทบทวนแนวการต่อสู้ที่ผ่านมา และถกเถียงแลกเปลี่ยนว่าเราต้องการสังคมแบบไหน

2.    จากวงคุยและกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ไปท้าทายเผด็จการโดยตรง เราควรจะรวมกลุ่มคนที่เห็นตรงกันว่าต้องการสังคมที่ก้าวหน้ากว่ายุคทักษิณ เพื่อตั้งพรรคสังคมนิยมใต้ดิน พรรคควรเน้นการศึกษา การเคลื่อนไหวร่วมกับกรรมาชีพและนักศึกษา และกิจกรรมเช่นการช่วยเหลือนักโทษการเมืองทุกคนและคนอื่นที่เป็นเหยื่อของทหาร โดยเฉพาะในปาตานี

3.    ท่ามกลางการทำกิจกรรมประจำวัน ควรมีการศึกษาแนวคิดทางการเมืองต่างๆ โดยไม่ลืมเป้าหมายระยะยาวที่จะล้มเผด็จการและสร้างสังคมใหม่

การตั้งพรรคหรือการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองแต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะมันจะช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวต้านเผด็จการเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม และมันจะเป็นเครือข่ายโครงสร้างองค์กรที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วได้เมื่อเกิดการลุกฮืออย่างจรึงจัง

เรื่องนี้ไม่ง่าย แต่ในขณะเดียวกันมันไม่ยากเกินความสามารถของคนธรรมดาด้วย ใครที่บอกว่า “มันยากแต่ฉันจะพยายามทำ” คือคนที่ไม่ต้องการเป็นทาสตลอดกาล

 

ยุคต้านกระแสหลักทางการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทั่วโลกในยุคนี้ หลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่เมื่อ 9 ปีก่อน และหลังจากที่พลเมืองจำนวนมากในประเทศต่างๆ ต้องประสบความเดือดร้อนมหาศาลจากนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลกระแสหลักที่คลั่งแนวเสรีนิยมกลไกตลาด จนมีการลดรายได้กันอย่างถ้วนหน้า ปลดคนออกจากงาน และตัดสวัสดิการต่างๆ ฯลฯ ประชาชนใน สหรัฐอเมริกา ยุโรป และที่อื่น เริ่มแสดงความไม่พอใจอย่างยิ่งกับการเมืองกระแสหลักของทุนนิยม

ในสหรัฐมีการ “ถ่มน้ำลายทางความคิด”ใส่ ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคพรรคเดโมแครท เพราะพลเมืองจำนวนมากมองว่าเขาคือตัวแทนโดยตรงของนายทุน 1% ที่คุมทรัพยากรทั้งหมดของประเทศและปล่อยให้ประชาชนเดือดร้อน สถานการณ์แบบนี้เปิดโอกาสให้นักการเมืองขวาจัดเลวทรามอย่าง โดนัลด์ ทรัมพ์ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีได้ จริงๆ แล้วต้องถือว่าทรัมพ์ไม่ได้ชนะ แต่ฮิลารี่เป็นผู้แพ้มากกว่า

ในอังกฤษ พลเมืองจำนวนมาก หันไปลงคะแนนเสียงในประชามติ เพื่อให้อังกฤษออกจากอียู โดยเฉพาะในพื้นที่ที่กรรมาชีพยากจนเดือดร้อนจากนโยบายรัดเข็มขัด มันเป็นการประท้วงการเมืองกระแสหลักเช่นกัน แต่ไม่ได้เป็นการแทคะแนนให้ฝ่ายขวาเหมือนในสหรัฐ

ในอิตาลี่ ในประชามติเมื่อต้นเดือนธันวาคม ประชาชนลงคะแนนเสียงค้านรัฐบาลที่ต้องการปรับเปลี่ยนระบบการเมือง เรื่องหลักสำหรับคนส่วนใหญ่ไม่ใช่รายละเอียดของสิ่งที่รัฐบาลเสนอ แต่เป็นการประท้วงการเมืองกระแสหลักเช่นกัน และมันนำไปสู่การเพิ่มวิกฤตให้กับอียูอีก เพราะฝ่ายค้านที่อาจชนะการเลือกตั้งในอนาคต เกลียดชังอียู ในขณะเดี๋ยวกันมีวิกฤตหนี้เสียของธนาคารอิตาลี่ อนาคตของเงินสกุลยุโรจริงไม่แน่นอน

พวกเราที่เป็นมาร์คซิสต์ อธิบายไปหลายครั้งแล้วว่าวิกฤตแห่งความศรัทธาในการเมืองกระแสหลัก จะมีผลในการเพิ่มคะแนนนิยมให้กับฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายขวาก็ได้ แล้วแต่ว่าแต่ละฝ่ายมีการจัดตั้งและเคลื่อนไหวทางการเมืองมากน้อยเพียงใด

นักการเมืองฟาซิสต์ในเนเธอร์แลนด์
นักการเมืองฟาซิสต์ในเนเธอร์แลนด์

ในสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมพ์ จากฝ่ายขวา ได้ประโยชน์จากการต้านการเมืองกระแสหลัก ในฟิลิปปินส์ นักการเมืองอันธพาลฝ่ายขวา โรดริโก ดูเตอร์เต ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเช่นกัน [ดู http://bit.ly/2hisH9g ] ในออสเตรียเกือบจะมีการเลือกนักการเมืองฟาสซิสต์มาเป็นประธานาธิบดีและในเนเธอร์แลนด์ กับฝรั่งเศส พรรคฟาสซิสต์ได้คะแนนนิยมสูงขึ้นตามลำดับ

หัวหน้าพรรคนาซีฝรั่งเศส
หัวหน้าพรรคนาซีฝรั่งเศส

ในขณะเดียวกันในกรีซ ฝ่ายซ้ายชนะการเลือกตั้งในขณะที่การเมืองสเปนเอียงซ้ายมานาน ส่วนในพรรคแรงงานอังกฤษนักการเมืองแนวสังคมนิยมชื่อ เจรมี คอร์บิน ถูกเลือกเป็นผู้นำ

คอร์บิน
คอร์บิน

ในบางประเทศ เช่นไอสแลนด์ พรรคแปลกๆ ที่มีภาพ “ใหม่” เช่นพรรคโจรสลัด หรือในอิตาลี่ พรรคห้าดาว ดูเหมือนจะมีคะแนนเพิ่มขึ้น แต่พรรคเหล่านี้ไม่ค่อยมีจุดยืนที่ชัดเจน

พรรคโจรสลัด
พรรคโจรสลัด

ปรากฏการณ์อันหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทั้งในอังกฤษและสหรัฐ รัฐบาลใหม่ ซึ่งเป็นรัฐบาลฝ่ายขวา เกิดความขัดแย้งชั่วคราวกับผลประโยชน์กลุ่มทุน เพราะนักการเมืองและพรรคของเขาต้องพยายามเอาใจประชาชนจำนวนมากที่ไม่พอใจกับสถานการณ์ปัจจุบัน คือพลเมืองไม่พอใจกับนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาด และไม่พอใจกับการเมืองกระแสหลัก และด้วยเหตุที่นักการเมืองฝ่ายขวาต่างจากนายทุน ทั้งๆ ที่มีความคิดตรงกัน ในแง่ที่นักการเมืองต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง พรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ และ โดนัลด์ ทรัมพ์ ในสหรัฐ จึงพยายามพูดเอาใจประชาชน ด้วยการเสนอนโยบายกีดกันการค้าเสรี นโยบายที่ดูเหมือนเริ่มหันหลังให้กับการรัดเข็มขัดของเสรีนิยมใหม่ หรือนโยบายเพื่อออกจากอียูในกรณีอังกฤษ(ซึ่งขัดกับประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่) มันนำไปสู่พฤติกรรม “หน้าไหว้หลังหลอก” ของนักการเมืองฝ่ายขวาเหล่านี้ เพราะลึกๆ แล้วทั้งพรรคอนุรักษ์นิยมอังกฤษ และ โดนัลด์ ทรัมพ์ เป็นคนของกลุ่มทุนใหญ่

ในขณะที่ โดนัลด์ ทรัมพ์ อ้างว่าปกป้องกรรมาชีพที่ถูกละเลย มันกลับแต่งตั้งคนที่ต่อต้านระบบค่าจ้างขั้นต่ำ สิทธิสตรี และการแก้ปัญหาโลกร้อน เข้ามาเป็นรัฐมนตรี และ ทรัมพ์ เองเป็นมหาเศรษฐีอยู่แล้ว

สิ่งที่น่ารังเกียจและเป็นอันตรายมากในยุคนี้คือ นักการเมืองฝ่ายขวาที่อยู่ในกระแสหลัก มักจะพยายามเอาใจคนที่ไม่พอใจกับระบบ ด้วยการปลุกกระแสเกลียดสีผิวและคนต่างชาติ เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นความไม่พอใจและเปลี่ยนเป้าจากนายทุนไปเป็นแพะรับบาปที่เป็นคนมีสีผิว ปัญหาคือแนวคิดแบบนี้เพิ่มคะแนนนิยมให้ฟาสซิสต์ ที่น่าเสียดายคือนักการเมืองซ้ายอ่อนๆ ในพรรคแรงงานหรือพรรคสังคมนิยมปฏิรูป มักจะหลงเชื่อว่าต้องคล้อยตามความคิดปฏิกิริยาอันนี้ เพื่อชนะการเลือกตั้ง ซึ่งไม่จริงถ้าเขากล้าสู้

ยุคนี้เป็นยุคที่พิสูจน์ว่าฝ่ายซ้ายที่ “ใจไม่ถึง” เพราะไม่อยากพลิกแผ่นดินล้มระบบ มักจะถูกกดดันอย่างแรงให้ยอมจำนนต่อผลประโยชน์กลุ่มทุน รัฐบาลไซรีซาในกรีซเป็นตัวอย่างที่ดี และต้นเหตุของการ “ใจไม่ถึง” ของนักการเมืองพวกนี้ นอกจากจะมาจากความคิดกระแสปฏิรูปที่หลีกเลี่ยงการปฏิวัติแล้ว ยังมาจากการที่ไม่ยอมให้ความสำคัญกับพลังมวลชนนอกรัฐสภาในการต้านอิทธิพลของกลุ่มทุนด้วย

“ว่าด้วยทุน” ของคาร์ล มาร์คซ์ กับฝ่ายซ้ายไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทั้งๆ ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อเกือบ 90 ปีก่อนหน้านี้ แต่ตลอดเวลาที่พรรคมีบทบาทสำคัญในการนำการต่อสู้กับเผด็จการ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ หนังสือสำคัญของ คาร์ล มาร์คซ์ ที่วิเคราะห์ระบบทุนนิยมอย่างละเอียด ไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยจนถึงปี ๒๕๔๒ หลังจากที่ พคท. ล่มสลายไปสิบกว่าปี

สาเหตุสำคัญที่อธิบายปรากฏการณ์นี้คือ ตลอดเวลาที่ พคท. ยังดำรงอยู่ พรรคใช้แนว “สตาลิน-เหมา” ที่ตรงข้ามกับทฤษฏีมาร์คซิสต์ และในขณะที่พวกแนว “สตาลิน” ใช้ศัพท์ของฝ่ายซ้ายมาร์คซิสต์อย่างต่อเนื่อง แต่เนื้อหาและความหมายของคำพูดและคำเขียนของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก ตั้งแต่ยุคสตาลิน กลับหัวหลับหางกับความหมายตามทฤษฏีมาร์คซิสต์

“สังคมนิยม” หรือ ระบบ “คอมมิวนิสติ์” ในความหมายมาร์คซิสต์คือระบบที่มาจากการปลดแอกตนเองของชนชั้นกรรมาชีพ ในระบบนี้การแบ่งแยกทางชนชั้นจะหายไป รัฐจะสลายไป และแม้แต่การปกครองก็หายไป ทั้งนี้เพราะกรรมาชีพทุกคนในสังคมจะร่วมกันกำหนดอนาคตในทุกแง่ และจะร่วมกันกำหนดว่าเราต้องผลิตอะไรเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ระบบของนายทุน การกดขี่ขูดรีด และการแสวงหากำไรจะสิ้นสุดลง อย่าลืมว่าระบบทุนนิยม และแม้แต่การแบ่งแยกทางชนชั้น ไม่ได้มีมาตลอดเวลาที่มนุษย์อยู่บนโลกจากอดีตถึงปัจจุบัน

แต่สตาลินทำในสิ่งตรงข้าม หลังจากที่เขายึดอำนาจในทศวรรษ1930 และทำลายการปฏิวัติปี 1917 ของพรรคบอลเชวิค และหลังจากที่เขาเข่นฆ่าผู้นำบอลเชวิคทั้งหมด สตาลินก็หันมาสร้างระบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์เหนือชนชั้นกรรมาชีพ รัฐถูกทำให้เข้มแข็งขึ้น ระบบทุนนิยมถูกนำมาใช้ในรูปแบบ “ทุนนิยมรวมศูนย์โดยรัฐ” และกรรมาชีพรัสเซียถูกขูดรีดมูลค่าส่วนเกินอย่างโหดร้าย เพื่อผลิตอาวุธแข่งกับตะวันตก

eac06f701dc8810152d86a9d327877d2

ในรัสเซีย และประเทศต่างๆ ของยุโรปตะวันออก การอ่านและเข้าใจหนังสือ “ว่าด้วยทุน” โดยกรรมาชีพธรรมดาจะเป็นเรื่องอันตรายในสายตาชนชั้นปกครอง เพราะกรรมชีพจะเข้าใจว่าตนถูกขูดรีดในระบบชนชั้น ไม่ต่างจากกรรมาชีพในทุนนิยมของตะวันตกเลย

เหมาเจ๋อตุง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ สตาลิน เมื่อเดินหน้ายึดอำนาจทางการเมืองในจีน ก็ยิ่งเสริมการบิดเบือนแนวคิดมาร์คซิสต์เพิ่มขึ้น โดยเสนอว่ากรรมาชีพไม่ใช่พลังหลักในการสร้างสังคมนิยม เหมา เสนอว่าชัยชนะของพรรคจะต้องมาจากกองทัพชาวนาที่นำโดยปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ ยิ่งกว่านั้น เหมา อธิบายว่าขั้นตอนแรกของการต่อสู้จะต้องเป็นการสถาปนารัฐชาติในระบบทุนนิยมโดยรัฐ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นขั้นตอน “ประชาชาติประชาธิปไตย” ทั้งๆ ที่เป็นเผด็จการแท้ๆ  ส่วนสังคมนิยมเป็นเรื่องของอนาคตอันห่างไกล

ในไทย พคท. ลอกแบบแนวคิดของเหมามาหมด และสร้างนิยายว่าไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นของสหรัฐและกึ่งศักดินาของชนชั้นปกครองไทย ดังนั้น พคท. เน้นการ “ปลดแอกประเทศ” และการสร้าง “ประชาชาติประชาธิปไตย” ผ่านการสามัคคีระหว่างทุกชนชั้น รวมถึงการสามัคคีชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ ทั้งๆ ที่สองชนชั้นนี้เป็นศัตรูกัน ในความเป็นจริงไทยเป็นทุนนิยมมาตั้งแต่การปฏิวัติล้มระบบศักดินาของรัชกาลที่ ๕ และไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐแต่อย่างใด อำนาจของสหรัฐในภูมิภาคนี้มีลักษณะของ “จักรวรรดินิยม” ซึ่งดำรงอยู่ในระบบโลกจนถึงปัจจุบัน แต่มันไม่ใช่อำนาจของประเทศที่ล่าอาณานิคมแบบที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสเคยทำ

แนวคิดชาตินิยมล้วนๆ ของ พคท. แปลว่าการศึกษาการต่อสู้ทางชนชั้น การขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน หรือการเข้าใจธาตุแท้ของระบบทุนนิยม เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับแนวทางของพรรค ดังนั้นแกนนำของพรรคไม่ต้องการให้ใครแปลหนังสือ “ว่าด้วยทุน” เป็นภาษาไทย

ยิ่งกว่านั้นแนวคิด “เหมา” ของ พคท. มีลักษณะที่ต่อต้านการเป็นปัญญาชน ไม่เหมือนกับแนวมาร์คซิสต์ที่สนับสนุนให้กรรมาชีพพัฒนาตนเองเป็น “ปัญญาชนอินทรีย์” ตามที่ กรัมชี เคยพูดถึง ในค่ายป่าของ พคท. สหายต่างๆ มีโอกาสอ่านแต่สรรนิพนธ์ของ “ประธานเหมา”

cpt2

ซัง ตะวันออก อดีตนักศึกษาที่เข้าป่า เล่าว่า “หนังสือในห้องสมุดมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นบทแปล และหนังสือภาพ (ไชน่าพิคทอเรียล-แปลอังกฤษเป็นไทยเฉพาะคำบรรยาย) หนังสือการ์ตูนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่น “ปู่โง่ย้ายภูเขา” “ศึกษาแบบอย่างหมอเบธูน” “ศึกษาจิตใจจางซือเต๋อ” “วีรสตรีหลิวหูหลาน” ฯลฯ หนังสือทฤษฎีลัทธิมาร์คซ์แทบจะไม่มีเลย อย่าง “ว่าด้วยทุน” “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์”  หรือ “การสร้างพรรคกรรมาชีพของเลนิน” ซึ่งถ้าใครไม่เคยอ่านก่อนเข้าป่าช่วงที่มีหนังสือแนวซ้ายพิมพ์ออกมาหลัง ๑๔ ตุลา ก็อย่าหวังว่าจะได้อ่านอีกเลย” (หนังสือ “การเมืองไทยในทัศนะลัทธิมาร์คซ์” ใจ อึ๊งภากรณ์ และคณะ ๒๕๔๓ สำนักพิมพ์ป.ร. บทที่ 8)

วันวา วันวิไล ในหนังสือ “ตะวันตกที่ตะนาวศรี” (www.2519.net) เล่าว่า “ห้องสมุดเป็นเพียงเพิงเล็กๆ … ส่วนมากเป็นสรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตุง …. ด้วยเหตุนี้พวกเราทุกคนจึงมีปัญญาเล็กๆ …รู้แต่เรื่องปฏิวัติ เรื่องอื่นไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การปกครอง กฏหมาย เรื่องราวของต่างประเทศ เศรษฐกิจ การศึกษา และสังคม”

อย่างไรก็ตาม ก่อนช่วง ๖ ตุลา ปัญญาชนไทยบางคน ที่ไม่ได้สังกัด พคท. ได้เคยอ่าน “ว่าด้วยทุน” จากฉบับภาษาอังกฤษ สุภา ศิริมานนท์ เป็นตัวอย่างที่ดี และเขาได้รับอิทธิพลจาก เจ. เอฟ. ฮัตเจส ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ฝ่ายซ้ายจากอังกฤษ ที่อาจารย์ปรีดีเชิญมาสอนลัทธิมาร์คซ์และลัทธิเศรษฐศาสตร์การเมืองอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในการพูดถึงแนวมาร์คซิสต์ ฮัตเจสสัน มักจะวิจารณ์แนวเผด็จการของสตาลิน

สุภา ศิริมานนท์ ค้านพวกนักวิชาการที่อ้างอยู่เรื่อยว่าแนวมาร์คซิสต์ใช้ไม่ได้ในโลกสมัยใหม่ โดยการอธิบายว่าแนวมาร์คซิสต์มองสองด้านตลอด และมองในลักษณะที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ ดังนั้นระบบการวิเคราะห์แบบมาร์คซิสต์สามารถปรับตัวให้ทันสมัยตลอดเวลา

หนังสือ “ว่าด้วยทุน” ของ คาร์ล มาร์คซ์ เป็นงานที่วิวัฒนาการตลอดชีวิตของมาร์คซ์ มันไม่เคยเป็นผลงานสำเร็จรูป เพราะ มาร์คซ์ ไม่เคยหยุดวิเคราะห์และเรียนรู้ และเขาเป็นคนที่จบอะไรไม่เป็น ปิดเล่มไม่ได้ เพราะมักจะสนใจประเด็นปลีกย่อยไปเรื่อยๆ และปรับปรุงงานเก่าอย่างต่อเนื่อง ลักษณะแบบนี้ของ มาร์คซ์ สร้างความเครียดให้กับ เองเกิลส์ เพื่อนรักและผู้ร่วมงานของเขาเป็นอย่างมาก เพราะเองเกิลส์รับหน้าที่ตีพิมพ์ผลงานของ มาร์คซ์

มาร์คซ์ มองว่าทุนนิยมเป็น “ความสัมพันธ์” ระหว่างมนุษย์ในชนชั้นต่างๆ ที่มีความแปลกแยกห่างเหินสองชนิดพร้อมกันคือ (1) ความแปลกแยกระหว่างกรรมาชีพผู้ทำงาน กับระบบการผลิตที่อยู่ภายใต้การควบคุมของนายทุน และ(2) ความแปลกแยกระหว่างนายทุนแต่ละคนหรือหน่วยงาน ที่แข่งขันกันในตลาด

มาร์คซ์ ศึกษาระบบทุนนิยมเพื่อหาทางล้มทำลายมัน เป้าหมายหลักของมาร์คซ์ก็เพื่อให้กรรมาชีพสามารถสร้างสังคมนิยมได้ ดังนั้น “ว่าด้วยทุน” เป็นงานที่ผสมทฤษฏีกับการปฏิบัติเสมอ (ดู http://bit.ly/2fOSurV )

1366103357

คนไทยคนแรกที่แปล “ว่าด้วยทุน” ของคาร์ล มาร์กซ์  เป็นภาษาไทย คือ เมธี เอี่ยมวรา ในปี ๒๕๔๒ โดยเล่มหนึ่งและเล่มสองพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ธีรทรรศน์ น่าเสียดายที่ เมธี เอี่ยมวรา ไม่ได้แปลเล่มที่สามของมาร์คซ์ อย่างไรก็ตามงานสองเล่มของ เมธี เอี่ยมวรา เปิดโอกาสให้นักเคลื่อนไหวและนักศึกษาสามารถเข้าถึง “ว่าด้วยทุน” มากขึ้น

ก่อนหน้านี้ นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในขบวนการแรงงาน สามารถใช้หนังสือของ คาร์ล มาร์กซ์ ชื่อ “แรงงาน ค่าจ้าง และเงินทุน” (เช่นฉบับสำนักพิมพ์พรรคสัจจธรรมมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี ๒๕๓๙) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ว่าด้วยทุน” หนังสือเล่มเล็กเล่มนี้ถูกใช้เพื่อศึกษาทฤษฏีมูลค่าแรงงานและการขูดรีด

ในปี ๒๕๓๘ ผมได้ย่อและเรียบเรียงงาน “ว่าด้วยทุน” ทั้งสามเล่มของ คาร์ล มาร์คซ์ เป็นภาษาไทย เพื่อให้ผู้สนใจเข้าใจงานนี้ดีขึ้น แต่งานนี้เรียกว่า “งานแปล” ไม่ได้เพราะเป็นฉบับย่อเพื่อการศึกษาเท่านั้น อ่านได้ที่นี่ http://bit.ly/129xlhF หรือ http://bit.ly/2fP0lFL

%e0%b8%a7%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%94%e0%b9%89%e0%b8%a7%e0%b8%a2%e0%b8%97%e0%b8%b8%e0%b8%99-das-kapital1

พัฒนาการล่าสุดของการแปลหรือเรียบเรียง “ว่าด้วยทุน” เป็นภาษาไทย คืองานของ บุญศักดิ์ แสงระวี ซึ่งเรียบเรียงและย่อทั้งสามเล่มของ คาร์ล มาร์คซ์ ในปี ๒๕๕๙ (สำนักพิมพ์ชุมศิป์ธรรมดา) สามเล่มนี้อ่านง่ายกว่างานของ เมธี เอี่ยมวรา และคงจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยกับ “ปัญญาชนอินทรีย์” ที่ยืนอยู่เคียงข้างคนจน

ความฝันสำหรับอนาคต

ใจ อึ๊งภากรณ์

ท่ามกลางความมืดหมองในยุคเผด็จการปัจจุบัน และท่ามกลางการวางแผนของพวกทหารและฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่จะแช่แข็งความเจริญทางการเมืองในประเทศไทย เราต้องกล้าและมั่นใจในความฝันว่าเราจะสามารถร่วมกันสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ แต่เราไม่ควรฝันแบบโง่ๆ ไม่ควรหวังว่าจะมีผู้ใหญ่ที่ไหนมาทำให้ หรือฝันว่ามันจะเกิดเอง โดยที่เราไม่ลงแรงเคลื่อนไหว

อันโตนิโอ กรั่มชี่ นักมาร์คซิสต์อิตาลี่ เสนอว่าเราต้องมองเป้าหมายการต่อสู้ระยะยาวด้วยความฝันในแง่ดี แต่มองอุปสรรค์ระยะสั้นด้วยปัญญาในแง่ร้าย คือเราไม่จำเป็นต้องหลอกลวงตัวเราเองและคนอื่น ว่าการต่อสู้ระยะสั้นจะง่าย แต่ถ้าเราไม่มีความฝันเลย ไม่มีความหวังเหลืออยู่เลย เราก็จะเป็นทาสตลอดกาล

spd_20110409155625_b

ในเรื่องความฝันไปสู่การปฏิวัติพลิกแผ่นดิน กุหลาบ สายประดิษฐ์ (นามปากา “ศรีบูรพา”) ฝ่ายซ้ายไทยในอดีต เขียนไว้ในหนังสือ “แลไปข้างหน้า” ว่าหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ “อำนาจที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณกาลว่าเป็นอำนาจที่จะอยู่คู่ฟ้าไม่อาจเปลี่ยนและทำลายได้นั้น ในที่สุดก็ล้มครืนลงต่อหน้าต่อตาเขาทั้งหลาย และการเปลี่ยนแปลงนั้นก็ได้กระทำโดยมือของมนุษย์ธรรมดานั้นเอง” สรุปแล้ว “ไม่มีสิ่งใดที่ศักดิ์สิทธิ์เกินไปจนมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงมันได้ ” นี่คือคำสำคัญที่นักเคลื่อนไหวคนหนุ่มสาวในสังคมไทยปัจจุบันควรจดจำและนำมาใช้ในการต่อสู้ โดยในประการแรกไม่ลืมว่าในไทยเคยมีการปฏิวัติพลิกแผ่นดิน หรือการล้มเผด็จการทหารมาหลายครั้ง และสอง เราควรนึกถึงตัวอย่างของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ใครๆ บอกเราว่าแตะไม่ได้ในปัจจุบัน เพื่อกล้าเสนอและคิดว่าในเมื่อสิ่งเหล่านี้สร้างโดยมนุษย์แต่แรก มันก็ถูกมนุษย์ธรรมดาล้มหรือเปลี่ยนไปได้

ในเนื้อเรื่องของหนังสือ “แลไปข้างหน้า” กุหลาบ ชวนให้เราถามต่อไปว่าความคิดเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์มันเกิดมาจากไหนและรับใช้ใคร เช่นในกรณีที่เด็กยากจนป่วย และคนอย่าง “คุณลมัย” มองว่า “เมื่อมันถึงที ก็ต้องปล่อยให้มันตายไป …มันไม่มีทำเนียมที่บ่าวจะใช้แพทย์ร่วมกับนาย” ….กุหลาบ สรุปหลังจากนั้นว่า “ไม่มีใครที่ซักถามคุณลมัยว่าประเพณีอันดีงามของเขาก่อรูปมาได้อย่างไร และมีใครบ้างที่ต้องการเชิญมันไว้ให้ค้ำฟ้า” ในยุคปัจจุบันหลังจากที่เรามีระบบรักษาพยาบาลถ้วนหน้า “30 บาท” ผู้ที่เสนอว่าเราควรเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อพัฒนามันให้เป็นระบบรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพสูงขึ้น จะถูกประณามโดยพวกปฏิกิริยาที่คลั่งกลไกตลาดเสรี กับ “เศรษฐกิจพอเพียง” ว่ามันจะทำลายแรงบันดาลใจให้คนขยันทำงาน ทุกวันนี้พวกเผด็จการที่ปล้นสิทธิเสรีภาพของเราไป กำลังพยายามที่จะหมุนนาฬิกากลับและเริ่มเก็บค่ารักษาพยาบาลในระบบ “ร่วมจ่าย” ในขณะที่มันเองกอบโกยความร่ำรวยอย่างไม่รู้จักพอ

ปัญหาอันหนึ่งที่คนก้าวหน้าในไทยมักจะเกรงกลัวคือปัญหาการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ และการวิจารณ์ลัทธิชาตินิยม อันนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะมีการใช้กฏหมาย 112 อย่างป่าเถื่อนเหี้ยมโหด แต่เราไม่ควรปล่อยให้เผด็จการครอบงำความคิดในหัวสมองของเรา จนเรากลัว “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” จอมปลอมแบบไร้วิทยาศาสตร์ ถ้าเราหยุดนิ่งสักพัก และหันมาใช้สติปัญญาในการวิเคราะห์ เราจะพบว่าสถาบันกษัตริย์ไทยมีการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่มาสามครั้งในรอบแค่ 150 ปีที่ผ่านมา เช่นจากลักษณะศักดินา มาเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แล้วมาเป็นกษัตริย์ใต้ระบบรัฐธรรมนูญ และยิ่งกว่านั้นถ้าย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์สมัยจอมพลป. หรือช่วงหลัง ๖ ตุลา ๒๕๑๖ ซึ่งในทางประวัติศาสตร์ไม่นานมานี้เอง จะพบว่าในยุคเหล่านั้น สถาบันนี้ไม่ได้รับความชื่นชมจากประชาชนแต่อย่างใด

ในเรื่องลัทธิชาตินิยม เราควรใช้เวลานึกคิดว่า “ชาติ” ที่เขาบังคับให้เราเคารพ เป็นชาติภายใต้การครอบครองของใคร และธงชาติไทยมีสัญลักษณ์ของพลเมืองดำรงอยู่หรือไม่

สมควรแล้วหรือที่เราจะต้องห้ามตัวเองไม่ให้ฝันว่ารูปแบบการปกครองในไทยจะต่างออกไปจากปัจจุบัน? โดยเฉพาะรูปแบบสาธารณรัฐ และการไม่คลั่งชาติ การเสนอว่าผู้นำการเมืองทุกระดับควรมาจากการเลือกตั้ง การเสนอว่าความสามารถไม่ได้ถ่ายทอดทางสายเลือดแบบอัตโนมัติหยาบๆ และการเสนอว่าผลประโยชน์คนธรรมดาตรงข้ามกับผลประโยชน์ชนชั้นปกครองในชาติเดียวกัน นอกจากจะตรงกับข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และความเชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพในโลกสมัยใหม่แล้ว ยังเป็นการนำทางไปสู่สังคมที่มีประชาธิปไตยและการใช้สติปัญญามากขึ้นอีกด้วย

sri_burapha_02

ในเรื่องสถาบันกษัตริย์ กุหลาบ ก็มีคำแนะนำจากหนังสือ “แลไปข้างหน้า” เช่นกัน: “สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าก็เหมือนกัน แต่เดิมท่านเป็นขุนนางชั้นหลวง … และแต่เดิมทีเดียวท่านชื่อด้วง … ดูซิเธอ … พระเจ้าแผ่นดินหรือขุนนางท่านก็มาจากคนธรรมดาเหมือนอย่างเราๆ ทั้งนั้น

แต่อย่าลืมด้วยว่าสถานะของสถาบันกษัตริย์ไทย และความศักดิ์สิทธิ์ของชาติ เป็นสถานะหลอกลวง ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยทหาร เพื่อให้รับใช้เผด็จการ ดังนั้นเราจะต้องคิดกันว่าจะกำจัดอิทธิพลของทหารออกจากสังคมได้อย่างไร

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2g8nWkX