พรรคการเมืองที่ต้านเผด็จการควรสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

ใจ อึ๊งภากรณ์

[ท่านใดที่อ่านผ่าน Facebook อาจอ่านได้ง่ายขึ้นถ้าเข้าไปอ่านในบล็อก ]

การที่นักการเมืองอย่าง วัฒนา เมืองสุข และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปเยี่ยมและให้กำลังใจแกนนำ “คนอยากเลือกตั้ง” ที่โดนขังหลังจากการชุมนุม เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

images-771303392988.33234804_1679739312111511_4525595980254412800_n

แต่พรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนว่าต้านเผด็จการ และจะลบผลพวงของเผด็จการประยุทธ์ จะต้องทำมากกว่านี้ เพราะในอนาคต เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น การเลือกตั้งดังกล่าวจะเป็น “ละครประชาธิปไตย” ภายใต้กรอบเผด็จการทหารที่ต้องการสืบทอดอำนาจไปข้างหน้าอีก 20 ปี

ทั้งรัฐธรรมนูญทหาร แผนการเมืองในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของทหาร การแต่งตั้งสว. การแต่งตั้งตุลาการ การเขียนกฏหมายเลือกตั้ง และการแต่งตั้ง กกต.ฯลฯ จะมีผลในการทำให้การเลือกตั้งไม่เสรี และไม่เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย เพราะจะมีการกำหนดว่าพรรคการเมืองสามารถเสนอนโยบายอะไรบ้าง และจะมีการมัดมือรัฐบาลในอนาคตที่มาจากการเลือกตั้ง

ดังนั้นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทหาร และการลบผลพวงของเผด็จการประบุทธ์ จะเป็นเรื่องที่ “ผิดกฏหมาย” ตามคำนิยามของเผด็จการ แต่ทั้งๆ ที่ผิดกฏหมายเผด็จการ มันเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะมีความชอบธรรมสูงตามมาตรฐานประชาธิปไตย และการได้มาซึ่งประชาธิปไตยและเสรีภาพในทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ล้วนแต่ผ่านกระบวนการของการฝืนกฏหมายทั้งสิ้น

อย่าลืมว่าเผด็จการของ “ประยุทธ์มือเปื้อนเลือด” ชอบอ้างว่าทำตามกฏหมายเสมอ ก็แน่นอนล่ะ!กฏหมายของมัน มันกับพรรคพวกล้วนแต่ร่างเองออกเองทั้งนั้น

ประเด็นสำคัญคือ ถ้าพรรคการเมืองที่คัดค้านเผด็จการชนะละครการเลือกตั้งในอนาคต จะเอาพลังที่ไหนมาฝืนกฏหมายเผด็จการ? คำตอบคือต้องผสมความชอบธรรมจากการชนะการเลือกตั้ง กับพลังของขบวนการมวลชนนอกรัฐสภา เพื่อไปคานเครื่องมือของเผด็จการ

สรุปแล้วพรรคการเมืองเหล่านี้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายมวลชนที่จะนำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย แต่เรายังไม่เห็นว่าพรรคไหนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย มีแต่การให้ความสำคัญกับการหาเสียงสำหรับละครการเลือกตั้งในอนาคตอย่างเดียว

การไปเยี่ยมและให้กำลังใจกับแกนนำการประท้วงที่ถูกจับเป็นเรื่องดี แต่มันต้องมีการพัฒนาไปสู่การไปร่วมประท้วงด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างในการชักชวนมวลชนเข้ามาเพิ่ม ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่ายและชวนให้มวลชนออกมาอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนฝ่ายทหารจะจับตาดูพรรคการเมืองอย่างใกล้ชิด แต่บางทีมันต้องมีการแบ่งงานกันทำในหมู่สมาชิกและแกนนำของพรรค

33424580_1680606478691461_2432532333853671424_o

ในมุมกลับนักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องประชาธิปไตยในยุคนี้ จะต้องไม่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมจากพรรคภายใต้ข้ออ้างว่าจะ “รักษาความบริสุทธิ์” แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องยอมให้กลุ่มหรือพรรคเข้ามาครอบงำ ดังนั้นการนำและแผนการทำงานต้องมาจากมติประชาธิปไตยภายในองค์กร ซึ่งดูเหมือนว่ายังไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจนแบบนี้

นอกจากนี้การพูดถึง “ความบริสุทธิ์” มันเป็นการสร้างภาพลวงตาพอๆ กับคนที่อ้างว่าหนุ่มสาวที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เป็นคน “บริสุทธิ์” และมันเป็นการดูถูกคนอื่นๆ เป็นล้านๆ ที่กล้าแสดงจุดยืนทางการเมืองกับพรรคการเมืองว่าเป็นคน “สกปรกที่เสียความบริสุทธ์”

ถ้าเราดูประวัติของการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย เช่นการสร้างขบวนการแรงงาน ขบวนการชาวนา หรือการสร้างเสื้อแดง จะเห็นว่ามีการกระตุ้นและประสานงานโดยพรรคการเมือง

ในช่วง ๑๔ ตุลา จะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และในกรณีเสื้อแดงก็เป็นพรรคของทักษิณ

ในยุคนี้การสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยต้องทำแบบไม่เล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งแปลว่าต้องมีการสร้างแนวร่วมระหว่างหลายกลุ่ม ไม่ใช่คุมโดยพรรคใดหรือกลุ่มใดอย่างผูกขาด ต้องมีการเปิดกว้างยอมรับหลากหลายมุมมองภายใต้จุดยืนร่วมสำคัญๆ เกี่ยวกับการลบผลพวงของเผด็จการ

บทเรียนอันหนึ่งที่สำคัญสำหรับยุคนี้มาจากขบวนการเสื้อแดง ที่เคยเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย มันมีสองบทเรียนที่สำคัญคือ หนึ่ง ถ้าไม่มีพรรคคอยประสานงานและกระตุ้นให้เกิดมันก็ไม่เกิดแต่แรก สอง การที่พรรคของทักษิณนำขบวนการเสื้อแดงมีผลทำให้เสื้อแดงถูกแช่แข็งและทำลายโดยนักการเมืองของทักษิณได้ เมื่อพรรคมองว่าไม่ควรเคลื่อนไหวต่อทั้งๆ ที่สังคมตกอยู่ภายใต้เผด็จการ

จริงๆ ประสบการณ์ทั่วโลกสอนให้เรารู้ว่า พรรคที่จะให้ความสนใจกับการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างจริงจัง จากล่างสู่บน มักเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่มีฐานในขบวนการสหภาพแรงงานและคนชั้นล่างโดยทั่วไป และจะเป็นพรรคที่ไม่ได้หมกมุ่นกับรัฐสภาจนลืมเรื่องอื่นๆ อีกด้วย แต่พรรคการเมืองแบบนี้ยังไม่ถูกสร้างขึ้นมาในไทยอย่างจริงจัง

 

[หลายภาพถ่ายโดย สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ แต่เขาไม่มีส่วนในการเขียนบทความนี้  ซึ่งเป็นความเห็นของผู้เขียนคนเดียว]

คนไทยไม่ต้องไปหลงปลื้มราชวงศ์อังกฤษ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในโอกาสงานแต่งงานราคาแพงของเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน มาร์เคิล เราควรจะ “ตาสว่าง” เรื่องความแย่ความสิ้นเปลือง และความล้าหลังของราชวงศ์อังกฤษ

คนไทยบางคนอาจเกลียดหรือไม่พอใจพฤติกรรมของราชวงศ์ไทยจนอาจหลงปลื้มราชวงศ์อังกฤษ เพราะที่อังกฤษพลเมืองวิจารณ์ราชวงศ์ได้ ไม่มีกฏหมาย 112 และมีหลายกลุ่มการเมืองที่ต้องการยกเลิกระบบกษัตริย์และไม่ถูกดำเนินคดี นอกจากนี้ถ้าทหารอังกฤษลงมายุ่งการเมือง พลเมืองที่มีการจัดตั้งจะโต้ตอบทันที จึงไม่มีกลุ่มทหารที่จะใช้กฏหมายแบบ 112

คำถามสำคัญคือ “ไม่ว่าจะประเทศใด ทำไมต้องมีกษัตริย์หรือราชินีแต่แรก?” คำตอบคือไม่จำเป็นเลย และที่แย่ที่สุดคือตำแหน่งกษัตริย์ขัดกับหลักประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง เพราะไม่มีการเลือกตั้ง ผู้ดำรงตำแหน่งได้ตำแหน่งแต่แรกผ่านสายเลือด และพวกนี้ได้รับเงินสนับสนุนมหาศาลจากภาษีประชาชน โดยไม่เคยทำงานอย่างที่คนธรรมดาต้องทำเลย ยิ่งกว่านั้นความร่ำรวยของราชวงศ์มีอยู่ควบคู่กันไปกับความยากจนของประชาชนจำนวนมาก

อย่างที่นักปฏิวัติอเมริกาชื่อ ทอมมัส เพน เคยเขียน “การเป็นกษัตริย์เป็นเรื่องง่าย แค่มีร่างมนุษย์ก็เพียงพอ แต่ช่างซ่อมเครื่องจักรต้องมีฝีมือและความรู้ด้วย”

วัตถุประสงค์ของชนชั้นปกครองต่างๆ ในการปกป้องสถาบันกษัตริย์คือ เป็นตัวอย่างที่ใช้ย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าบางคนเกิดมาสูงและคนส่วนใหญ่เกิดมาต่ำ และเขาต้องการให้เราเชื่อว่ามันเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ”

ในกรณีงานแต่งงานราคาแพงของแฮร์รี่และเมแกน พวกนี้ประโคมว่า “จ่ายเอง” แต่คำถามคือเงินส่วนตัวที่ใช้นี้มาจากไหน ก็มาจากภาษีประชาชนนั้นเองในรูปแบบเงินเดือนของคนที่ไม่เคยทำงาน ยิ่งกว่านั้นการจัดระบบความปลอดภัยผ่านตำรวจ มาจากภาษีประชาชนโดยตรง และคาดว่าสำหรับงานแต่งงานนี้ต้องใช้งบประมาณ 32ล้านปอนด์

บางคนปลื้มที่ราชินีเอลิซาเบธโดนกดดันจากสังคมจนอาสาที่จ่ายภาษีในบางส่วนของรายได้ แต่เขาไม่ได้จ่ายทั้งหมด

ราชินีเอลิซาเบธได้รับเงินจากประชาชนผู้เสียภาษี 345ล้านปอนด์ต่อปี และสมาชิกราชวงศ์อื่นๆ ได้ปีละ19.1ล้านปอนด์ ขณะที่พยาบาลในโรงพยาบาลได้รับแค่ 2หมื่นปอนด์ต่อปีสำหรับการทำงานหนัก นอกจากนี้เอลิซาเบธไปแบมือขอเงินจากประชาชนผู้เสียภาษีอีก 370ล้านปอนด์ เพื่อซ่อมแซมวังของตนเอง แต่ประชาชนอังกฤษจำนวนมากมีความยากลำบากในการหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และไม่แพงเกินไป

ถ้ายกเลิกระบบกษัตริย์ในอังกฤษจะประหยัดเงินเพื่อสร้างบ้าน สร้างโรงเรียน จ้างครู และจ้างพยาบาลเพิ่มขึ้นได้

The-Queen-waving-to-the-camera-in-black-and-white-592170

2018-04-22_20-13-07 THE ROYAL FAMILY'S NAZI CONNECTION

นอกจากนี้แล้วจุดยืนทางการเมืองของพวกราชวงศ์อังกฤษ เป็นจุดยืนขวาจัด และหลายคนเหยียดคนผิวดำด้วย มีภาพจากอดีตที่แสดงให้เห็นว่าพ่อแม่และญาติของเอลิซาเบธ สอนให้เขายกแขนแสดงความปลื้มกับฮิตเลอร์และพวกนาซีก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง อดีตกษัตริย์เอดเวอร์ดเป็นเพื่อนกับฮิตเลอร์โดยตรง และเจ้าชายแฮรี่ก็เคยแต่งชุดนาซีไปงานเลี้ยง “เพราะคิดว่าตลก”

ฟิลลิปสามีของเอลิซาเบธ เป็นคนที่ขึ้นชื่อว่าเหยียดสีผิวอย่างรุนแรง และลูกชาย เจ้าชายชาร์ลส์ เคยบอกคนผิวดำที่เกิดที่อังกฤษว่าหน้าตาไม่เหมือนคนอังกฤษ ยิ่งกว่านั้นชาร์ลส์พยายามกดดันรัฐมนตรีในทุกรัฐบาลโดยเขียนจดหมายไปแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ซึ่งผิดรัฐธรรมนูญ

ราชวงศ์อังกฤษไม่มีอะไรดี เพียงแต่ว่าความเข้มแข็งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและสหภาพแรงงานที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมานาน ทำให้พลเมืองอังกฤษมีเสรีภาพมากกว่าพลเมืองไทยเท่านั้น และมันไม่ใช่เสรีภาพที่พวกข้างบนให้มาแต่อย่างใด

อิสราเอล:รัฐไซออนนิสต์มือเปื้อนเลือด

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทุกคนที่รักความเป็นธรรมต้องประณามอิสราเอลที่ใช้ความรุนแรงสุดขั้วในการถล่มชาวปาเลสไตน์ที่กาซา อิสราเอลใช้สไนเปอร์และกระสุนจริงฆ่าชาวปาเลสไตน์ที่ประท้วงโดยไร้อาวุธตรงจุดชายแดน คาดว่าเสียชีวิต 58 คน รวมถึงเด็กด้วย และมีผู้บาดเจ็บ 2,700 คน

32294158_10214101991536875_4303459507201114112_n

การยิงผู้ประท้วงที่ไร้อาวุธแบบนี้ ไม่ต่างจากอาชญากรรมที่คนอย่างประยุทธ์กระทำกับเสื้อแดงในไทย

และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อิสราเอลทำลายชีวิตของชาวปาเลสไตน์ภายใต้ความคิด “ไซออนนิสต์” สุดขั้ว

แต่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้ทรัมพ์ มีส่วนสำคัญในการก่ออาชญากรรมของอิสราเอลด้วย เพราะย้ายสถานทูตไปที่เมืองเยรูซาเล็ม ทั้งๆ ที่เมืองนี้ถูกสหประชาชาติแบ่งเป็นสองซีก คือซีกปาเลสไตน์กับซีกอิสราเอล และรัฐบาลส่วนใหญ่ทั่วโลกมองว่าไม่สมควรที่จะเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล

32458048_10214124661383607_1280988826554073088_n
ภาพสร้างเพื่อประชดการเปิดสถานทูตสหรัฐใหม่โดยลูกสาวทรัมพ์

สหรัฐกับอิสราเอลร่วมกันก่ออาชญากรรมครั้งนี้ และสหรัฐถือหางให้อิสราเอลตลอด

น้ำมันในตะวันออกกลางเป็นสิ่งที่จักรวรรดินิยมต้องการควบคุมเป็นอย่างยิ่งในปลายศตวรรษที่ 20 และในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อังกฤษทำข้อตกลงกับผู้ปกครองเมือง เมกกะ ชื่อ ชาริฟ ฮุเซน เพื่อยุให้กบฏต่ออาณาจักรเตอร์กี โดยที่อังกฤษสัญญาว่าเขาจะได้ครองพื้นที่อาหรับทั้งหมด รวมถึงปาเลสไตน์ด้วย แต่ในขณะเดียวกันอังกฤษสัญญากับพวก “ไซออนนิสต์” ว่าจะยกปาเลสไตน์ให้คนยิวจากยุโรป เพราะอังกฤษอยากให้ ไซออนนิสต์ เป็นตัวป่วนและสร้างอุปสรรค์กับการปลดแอกตนเองของชาวอาหรับ ทั้งนี้เพราะอังกฤษกลัวว่าชาวอาหรับจะเอาน้ำมันในพื้นที่ของตนเองมาเป็นทรัพยากรของชาติ แทนที่จะให้บริษัทต่างชาติครอบครอง

รัฐบาลอังกฤษแก้ปัญหาสำหรับตนเอง โดยการถอนตัวออกจากปาเลสไตน์ และปล่อยให้กองกำลังไซออนนิสต์ยึดพื้นที่จำนวนมาก โดยเข่นฆ่าชาวบ้านปาเลสไตน์อย่างโหดร้ายป่าเถื่อน ในที่สุดมีการสถาปนา “รัฐอิสราเอ็ล” ขึ้น เพื่อดูแลผลประโยชน์ตะวันตก โดยที่มหาอำนาจต่างๆ สนับสนุน การตั้งรัฐอิสราเอ็ลทำให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากกลายเป็นผู้หลี้ภัยที่ต้องจากบ้านเกิดไป ในไม่ช้าอิสราเอ็ลกลายเป็น “สุนัขเฝ้าพื้นที่ตะวันออกกลาง” ให้ตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐ แต่สถานการณ์นี้ไม่ได้สร้างความสงบแต่อย่างใด

สิ่งที่เราควรเข้าใจแต่แรกคือนี่ไม่ใช่การกระทำของ “คนยิว” ทุกคน เราควรรู้อีกว่าคนยิวส่วนใหญ่ในโลกไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศอิสราเอ็ล หรือสนับสนุนการกระทำของรัฐอิสราเอ็ลแต่อย่างใด ในยุคนี้ยิวส่วนใหญ่ในโลกไม่เห็นด้วยกับความโหดร้ายของอิสราเอ็ล

ไซออนนิสต์” แนวคลั่งชาติปฏิกิริยาสุดขั้ว

ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองและการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิวโดยพวกนาซีในเยอรมัน ซึ่งทำให้ชาวยิวกว่า 6 ล้านคนถูกเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน แนวคิดคลั่งเชื้อชาติแบบ ไซออนนิสต์ ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในแวดวงชาวยิวนัก กระแสหลักในหมู่คนยิวยุโรปคือแนวสังคมนิยมและแนวมาร์คซิสต์ เพราะทั้ง มาร์คซ์ ตรอทสกี และโรซา ลัคแซมเบอร์ค ล้วนแต่เป็นยิว และพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายของยิวก็แพร่หลายไปทั่ว สายมาร์คซิสต์มองว่าชาวยิวถูกรังแกในยุโรปในลักษณะแพะรับบาปของชนชั้นนายทุนที่ต้องการเบี่ยงเบนการต่อสู้ทางชนชั้น เหมือนกับที่รัฐบาลไทยสร้างพี่น้องคนพม่าขึ้นมาเป็นแพะรับบาปในไทย ดังนั้นทางออกในการปกป้องยิวและทางออกเพื่อปลดแอกผู้ถูกกดขี่ขูดรีดทั้งหลายเป็นทางออกเดียวกัน คือกรรมาชีพทุกเชื้อชาติต้องสามัคคีต่อสู้กับนายทุนทุกเชื้อชาติ

ยิวสาย ไซออนนิสต์ คือพวกฝ่ายขวาชาตินิยมจัด พวกนี้ต่อต้านการต่อสู้ทางชนชั้นของกรรมาชีพ และมองว่ายิวอยู่กับคนอื่นอย่างสันติไม่ได้เพราะเขาเชื่อว่าเชื้อชาติที่ต่างกันย่อมฆ่ากันหรือขัดแย้งกันเสมอ ดังนั้นเขาเสนอว่าวิธีการปกป้องชาวยิวคือต้องสร้างชาติ “บริสุทธิ์” ของตนเองขึ้นมา สิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่งคือความพ่ายแพ้ของฝ่ายซ้ายและกรรมาชีพในเยอรมัน นำไปสู่ชัยชนะของนาซีในยุค ฮิตเลอร์ และการสังหารชาวยิวถึง 6 ล้านคน เหตุการณ์นี้มีผลในการหนุนกระแสฝ่ายขวา “ไซออนนิสต์” แทนแนวมาร์คซิสต์ จนมีการก่อตั้งประเทศอิสราเอ็ลหลังสงครามโลก ปัญหาสำคัญคือ รัฐอิสราเอ็ลถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ที่มีคนอื่นอาศัยอยู่ คือพื้นที่ที่ชาวปาเลสไตน์และชาวยิวอาศัยร่วมกัน ดังนั้นรัฐเชื้อชาติเดียวที่ถูกสร้างขึ้นต้องอาศัยการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านเกิด

เราควรสมานฉันท์กับชาวปาเลสไตน์

การต่อสู้อันยาวนานของชาวปาเลสไตน์เป็นการต่อสู้ที่ควรให้กำลังใจกับผู้ถูกกดขี่ทุกคนทั่วโลก เพราะเป็นการต่อสู้ที่ไม่เคยยอมแพ้ทั้งๆ ที่เผชิญหน้ากับกำลังอาวุธของอิสราเอ็ลที่เหนือกว่าเสมอ และอิสราเอ็ลได้รับการหนุนหลังโดยจักรสรรดินิยมอเมริกา เราทุกคนควรจะสนับสนุนชาวปาเลสไตน์อย่างเต็มที่ เพราะในรอบ 70 กว่าปีที่ผ่านมาอำนาจจักรวรรดินิยมตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ อังกฤษ หรือฝรั่งเศส ได้อาศัยสมุนรับใช้ในตะวันออกกลางในรูปแบบประเทศอิสราเอ็ล เพื่อสร้างความปั่นป่วนในหมู่ชาวอาหรับ จักรวรรดินิยมจะได้ควบคุมแหล่งน้ำมันที่สำคัญที่สุดในโลกเพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนใหญ่

200ปี คาร์ล มาร์คซ์

มาร์คซ์เสียชีวิตและถูกฝังที่ลอนดอนในปี 1883 ในงานศพของมาร์คซ์มีคนมาร่วมแค่สิบกว่าคน แต่ในไม่ช้าความคิดของเขากลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่จะขับเคลื่อนคนเป็นล้านๆ ทั่วโลก ในการต่อสู้เพื่อปลดแอกมนุษย์ อย่างไรก็ตามในเวลาที่ผ่านมามีหลายคนที่พยายามฝังมาร์คซ์อีกรอบ โดยอ้างว่าความคิดเขาหมดยุค และสังคมต่างๆ “ข้ามพ้น” ประเด็นชนชั้นไปแล้ว ในไทยคนที่พูดแบบนี้ยังมีอยู่ เช่น อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เวลาพูดถึงพรรคอนาคตใหม่ หรือคนที่เป็นอดีตนักเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้วมาเปลี่ยนจุดยืนหลังการล่มสลายของพรรค

marx200-motiv

พอเรามาถึงปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบ200ปีแห่งการเกิดของมาร์คซ์ สื่อกระแสหลักถูกบังคับให้หันมาสนใจชีวิตและงานของเขา เพราะพลเมืองในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ได้หันมาศึกษาแนวความคิดมาร์คซิสต์อีกครั้ง สาเหตุใหญ่คือความล้มเหลวของแนวคิดเสรีนิยมกลไกตลาดท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจหลายรอบ ความเสื่อมศรัทธาในพรรคการเมืองกระแสหลัก สงครามที่ก่อตัวเป็นประจำ และการขยายตัวของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวย สรุปแล้วระบบทุนนิยมไม่ได้แก้ปัญหาของมนุษย์แต่อย่างใด

ในวัยหนุ่มที่เยอรมัน มาร์คซ์เป็นแค่นักประชาธิปไตยธรรมดา แต่ในไม่ช้าเขาเริ่มเข้าใจว่าการปฏิวัติอังกฤษ อเมริกา และฝรั่งเศส ไม่ได้เปลี่ยนแปลงโลกอย่างถอนรากถอนโคนพอที่จะปลดแอกมวลมนุษย์ มันเป็นการปฏิวัติที่เปลี่ยนผู้กดขี่จากชนชั้นหนึ่งไปสู่ชนชั้นใหม่คือนายทุน มาร์คซ์สรุปว่าถ้าจะปลดแอกมนุษย์อย่างจริงจัง ต้องมีการเปลี่ยนสภาพทางวัตถุในชีวิตประจำวันของทุกคน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเศรษฐศาสตร์การเมือง เขาจึงใช้เวลาในการศึกษานักเศรษฐศาสตร์การเมืองเด่นๆ อย่างเช่นอดัม สมิท และเดวิด ริคาร์โด ผลงานอันยิ่งใหญ่ของมาร์คซ์คือหนังสือ “ว่าด้วยทุน” ที่อธิบายหัวใจของระบบทุนนิยมเพื่อที่จะหาทางโค่นล้มมัน และสร้างสังคมใหม่ที่เน้นความสมานฉันท์และการร่วมมือกันแทนการแย่งชิงแข่งขันและขูดรีด (ดูรายละเอียดหนังสือ “ว่าด้วยทุน”ที่นี่ https://bit.ly/2iWRQtY )

มาร์คซ์เข้าใจดีว่าระบบทุนนิยมมีพลังมหาศาลในการพัฒนาระบบการผลิต และเขาเขียนเรื่องนี้ใน “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” (ดู https://bit.ly/2ItmKqm ) แต่ในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” มาร์คซ์อธิบายกลไกภายในของระบบทุนนิยมที่ทำให้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เขาเริ่มด้วยบทที่กล่าวถึงการผลิต “สินค้า” แต่แทนที่จะคล้อยตามพวกนักเศรษฐศาสตร์การเมืองกระแสหลัก ที่หลงเชื่อว่าสินค้าและการแลกเปลี่ยนในตลาดสามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ มาร์คซ์อธิบายว่าทุนนิยมเป็นสังคมที่ไร้เสรีภาพและเต็มไปด้วยการขูดรีด

ในระบบทุนนิยมปัจจัยการผลิตต่างๆ อยู่ในมือของบริษัทต่างๆ ซึ่งเอาตัวรอดได้ถ้ามีการขายผลผลิต กลไกของระบบถูกผลักดันโดยการแข่งขันระหว่างบริษัทต่างๆ เพื่อเอาชนะคู่แข่ง ในการแข่งขันดังกล่าวการแสวงหาและขยายกำไรเป็นเรื่องชี้ขาด มาร์คซ์ใช้และพัฒนาทฤษฏีของ สมิท กับ ริคาร์โด เพื่อชี้ให้เห็นว่ากำไรดังกล่าวเกิดขึ้นจากการทำงานของกรรมาชีพธรรมดา แต่มูลค่าของกำไรนี้ถูกนายทุนขโมยไปจากกรรมาชีพ และกลไกของทุนนิยมช่วยปกปิดการขโมยหรือการขูดรีดจากสายตาของมนุษย์ กรรมาชีพคนงานอาจดูผิวเผินว่าเป็นแรงงาน “เสรี” ต่างจากทาสในสมัยก่อน แต่ในความเป็นจริงพลเมืองส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือกในการเลี้ยงชีพนอกจากการยอมจำนนต่อการขูดรีดของนายทุน สภาพเช่นนี้มาจากการที่พวกเรามีแต่ความสามารถในการทำงานเท่านั้น ที่เราจะไปแลกกับปัจจัยในการเลี้ยงชีพ

ในระยะแรกๆ ของระบบทุนนิยมในตะวันตก มาร์คซ์อธิบายว่าแรงงานถูกผลักออกจากที่ดินด้วยความรุนแรง เพื่อบังคับให้เป็นคนงานในโรงงานต่างๆ แต่ในกรณีทุนนิยมที่เกิดขึ้นในส่วนอื่นของโลกหลังจากนั้น เช่นในไทย เราจะเห็นได้ว่าแรงงานถูกดึงเข้าเมืองเพราะไม่สามารถเลี้ยงชีพจากที่ดินได้ ผลที่ได้มาไม่ต่างกันนัก

ถ้าบริษัททุนจะเอาตัวรอดได้ ระบบการแข่งขันบังคับให้กลุ่มทุนต้องขูดรีดลูกจ้าง สะสมทุนที่มาจากกำไรที่ลูกจ้างสร้าง และนำทุนดังกล่าวไปลงทุนต่อ ปรากฏการณ์นี้ทำให้ทุนนิยมขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะมีการลงทุนในเครื่องจักรมากขึ้นทุกวันแทนการขยายการจ้างงานในอัตราเดียวกัน การลงทุนแบบนี้มีผลทำให้อัตรากำไรลดลง อัตรากำไรคือกำไรเมื่อเทียบกับสัดส่วนปริมาณการลงทุนทั้งหมด (ดู https://bit.ly/2HZwn0y )

ในรายการที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คุยกับแรงงาน เขาอธิบายว่าบริษัทกลุ่มทุน “ต้อง” สร้างกำไรก่อนที่จะขึ้นค่าจ้างได้ แต่เขาไม่อธิบายว่ากำไรดังกล่าวมาจากการทำงานของลูกจ้างแต่แรก ไม่ได้มาจากการกระทำของเจ้าของบริษัทแต่อย่างใด และการที่เขายอมรับ “ความศักดิ์สิทธิ์” ของกระบวนการสร้างกำไร แสดงว่าธนาธรยอมรับว่าต้องมีการขูดรีดแรงงาน แรงงานไม่มีวันที่จะมีเสรีภาพได้ และวิกฤตเศรษฐกิจกับความเหลื่อมล้ำย่อมมีต่อไปอย่างต่อเนื่อง อันนี้เป็นมุมมองสามัญของคนที่ไม่ใช่นักสังคมนิยม

มาร์คซ์อธิบายการทำงานของระบบทุนนิยมเพื่อให้พวกเราสามารถล้มมันได้ในที่สุด เขาอธิบายว่านายทุนดึงคนงานเข้ามาทำงานในสถานประกอบการ โดยที่แต่ละคนต้องพึ่งพาอาศัยเพื่อนร่วมงานในการทำงาน มันไม่ใช่กิจกรรมของปัจเจก สิ่งนี้ทำให้กรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นในการต่อสู้กับนายทุนถ้ารวมตัวกันและสามัคคีได้ ยิ่งกว่านั้น การทำงานร่วมกัน และการใช้พลังจากความสามัคคี เป็นหน่ออ่อนของสังคมใหม่ได้ มันเป็นรากฐานของระบบสังคมนิยมที่คนธรรมดาควบคุมการผลิตและจัดการให้กิจกรรมต่างๆ ในสังคมกระทำไปเพื่อตอบสนองความต้องการแท้ของมนุษย์ แทนที่จะทำไปเพื่อการแข่งขันระหว่างกลุ่มทุนและการขูดรีด

สังคมนิยมของมาร์คซ์ เป็นระบบประชาธิปไตยเต็มตัว ต่างโดยสิ้นเชิงจากระบบเผด็จการ “สตาลิน-เหมา” ที่เคยมีในรัสเซียและยังมีในจีน และต่างโดยสิ้นเชิงจากระบบประชาธิปไตยครึ่งใบที่พบในประเทศทุนนิยมตะวันตกรวมถึงประเทศที่มีรัฐสวัสดิการด้วย (ดู https://bit.ly/2IaUXrh )

มาร์คซ์เขียนเสมอว่า “การปลดแอกมนุษย์ต้องเป็นการกระทำของชนชั้นกรรมาชีพเอง” แต่ถ้าจะมีพลังพอที่จะยึดอำนาจมาเป็นของคนส่วนใหญ่ได้ กรรมาชีพจะต้องสามัคคีข้ามเชื้อชาติ สีผิว หรือเพศ และที่สำคัญพอๆ กันคือต้องมีการจัดตั้งทางการเมืองในรูปแบบพรรคปฏิวัติ

[บทความนี้อาศัยเนื้อหาจากบทความของ Alex Callinicos ในหนังสือพิมพ์ Socialist Worker]

มาเลเซียเปลี่ยนรัฐบาลแต่ทุกอย่างเหมือนเดิม

ใจ อึ๊งภากรณ์

ชัยชนะของพรรคฝ่ายค้านในมาเลเซียคือชัยชนะจอมปลอม เพราะถึงแม้ว่าพรรค U.M.N.O. ที่เคยปกครองประเทศมาตั้งแต่มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษเป็นฝ่ายแพ้ แต่มหาธีร์คนที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของพรรค U.M.N.O. ระหว่างปี 1981 ถึง 2003

รัฐบาลของนาจิบ ราซัค แพ้การเลือกตั้งเพราะมีเรื่องอื้อฉาวคอร์รับชั่น แต่ในสมัยที่มหาธีร์เป็นนายกก่อนหน้านี้รัฐบาลก็มีเรื่องอื้อฉาวและมีการแจกผลประโยชน์ให้พรรคพวกเช่นกัน นอกจากนี้มหาธีร์มีประวัติในการปกครองแบบกึ่งเผด็จการโดยจับนักการเมืองฝ่ายค้านเข้าคุกหลายครั้ง

รัฐบาลใหม่ของพรรคแนวร่วม Pakatan Harapan มีข้อตกลงว่ามหาธีร์จะเป็นนายกสองปี หลังจากนั้น อันวาร์ อิบราฮิม จะขึ้นมาสู่ตำแหน่งแทน อันวาร์ เป็นอดีตนักการเมืองคนโปรดของมหาธีร์ในพรรค U.M.N.O. ก่อนที่จะทะเลาะกับมหาธีร์และถูกจำคุกภายใต้ข้อหาเท็จเรื่องการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย

สรุปแล้วผลการเลือกตั้งมาเลเซียเป็นแค่ละครเปลี่ยนเก้าอี้ของนักการเมืองกระแสหลักที่เคยผูกพันกับพรรค U.M.N.O. ส่วนพรรคอื่นๆ ในแนวร่วมก็ผลัดกันกิน

สำหรับสหายเราในพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย P.S.M. ปรากฏว่าพรรคไม่ได้ที่นั่งในรัฐสภาเลย ในอดีตพรรคเคยมีข้อตกลงกับฝ่ายค้านเลยชนะที่นั่งบ้าง ปีนี้พรรคไม่ยอมทำข้อตกลงกับฝ่ายค้านเพราะนำโดยคนอย่างมหาธีร์

มหาเลเซียไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มใบ เพราะมีการออกแบบระบบการเลือกตั้งตามเชื้อชาติ และมีการใช้กฏหมายความมั่นคงภายในเพื่อข่มขู่นักการเมืองฝ่ายค้านเสมอ

นโยบายการเมืองเชื้อชาติมีวัตถุประสงค์ในการระงับการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของคนชั้นล่าง รัฐบาลมาเลเซียใช้ประเด็นเชื้อชาติเป็น “หน้ากากบังหน้า” เพื่อให้ความชอบธรรมกับตนเอง โดยอ้างว่ารัฐบาลผสมของแนวร่วมชาติเป็นตัวแทนของทุกเชื้อชาติ ขณะที่ในความเป็นจริงมันเป็นแนวร่วมระหว่างนายทุนเอกชน (นายทุนจีนและอินเดีย) กับนายทุนข้าราชการ (นายทุนมาเลย์) และการเมืองชนชั้นถูกปราบปรามตั้งแต่ยุคอาณานิคมจนถึงปัจจุบัน

ความคิดเรื่องการเมืองเชื้อชาติเป็นเครื่องมือที่รัฐต่างๆ ใช้เพื่อแก้ปัญหาความไม่พอใจหรือปัญหาข้อกังวลของประชาชนที่มาจากโครงสร้างสังคมแบบชนชั้น

การจลาจลปี ค.ศ. 1969 ถูกอ้างเสมอเพื่อให้ความชอบธรรมกับนโยบายการเมืองแบบเชื้อชาติ แต่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าการจลาจลครั้งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เพราะก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ มีการเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนั้นคะแนนเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลเช่น U.M.N.O. กับพรรคนายทุนจีน M.C.A. ลดลง พรรคที่ได้คะแนนเพิ่มเป็นพรรคที่มีความเกี่ยวข้องกับคนชั้นล่าง ทั้งๆที่บางพรรคยังอาจอยู่ในกรอบเชื้อชาติเป็นส่วนใหญ่ ในสถานการณ์แบบนี้องค์กรเยาวชนของ U.M.N.O. เป็นผู้ก่อความรุนแรงก่อน โดยเข้าไปโจมตีชาวจีนเพื่อปลุกกระแสความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ซึ่งกลายเป็นข้ออ้างของรัฐที่จะประกาศภาวะฉุกเฉินและปราบปรามพรรคฝ่ายค้าน

ตั้งแต่ปี 1969 ชนชั้นปกครองมาเลเซียใช้นโยบายชาตินิยม-เชื้อชาติเพื่อสร้างฐานสนับสนุนในหมู่ชาวนาและกรรมาชีพเชื้อสายมาเลย์ โดยพยายามสร้างภาพปลอมว่าคัดค้านนายทุนจีนและนายทุนต่างชาติ และในขณะเดียวกันมีการปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สังกัดชนชั้น

หลังการเลือกตั้งทั่วไปรอบปัจจุบันไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานอะไรว่าพรรคแนวร่วม Pakatan Harapan จะเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มีประชาธิปไตยเต็มใบแต่อย่างใด

อ่านเพิ่มเรื่องการเมืองมาเลเซีย

ฝรั่งเศสพฤษภา 1968 ทุกอย่างเป็นไปได้! แต่การเมืองเป็นเรื่องชี้ขาด

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในปีค.ศ. 1968 การประท้วงของนักศึกษาฝรั่งเศสเรื่องสภาพหอพักในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในปารีส ลามไปสู่การต่อสู้ทั่วไปของนักศึกษากับตำรวจปราบจลาจลที่ติดอาวุธ นักศึกษาเป็นหัวหอกในการต่อสู้กับกฏระเบียบและความคับแคบในสถาบันการศึกษาและในสังคมทั่วไป

2.-May

March

ในที่สุดรัฐบาลสั่งให้ตำรวจปราบจลาจล CRS ทุบตีนักศึกษาอย่างป่าเถื่อน ตำรวจปราบจลาจลจึงถูกเรียกว่าเป็นพวกนาซี ภายใต้คำขวัญ “CRS: SS!!”

altbfqyzbbby

มันกลายเป็นการท้าทายโครงสร้างอำนาจเก่าในสังคมภายใต้ประธานาธิบดีฝ่ายขวา “เดอร์โกล” จนฝรั่งเศสอยู่ในภาวะ “ปฏิวัติ” เพราะในวันรุ่งขึ้น เมื่อนักสหภาพแรงงาน เห็นความรุนแรงของตำรวจ ก็ประกาศนัดหยุดงานทั่วประเทศ 9 ล้านคน มีการยึดโรงงาน และขังฝ่ายบริหารเพื่อ “สอบสวน” ในโรงงานต่างๆ มีการเรียนแบบการยึดโรงงานจากยุคอดีตปี 1936 แต่ในปริมาณที่ใหญ่กว่า เช่นการยึดโรงงานผลิตเครื่องบิน “ซุด เอวิเอชอง” ในเมือง น่านท์ เป็นต้น ผู้บัญชาการตำรวจฝรั่งเศสถึงกับสารภาพว่า “เมื่อกรรมกรนัดหยุดงานทั่วไป มันอันตรายมากสำหรับรัฐบาล” การนัดหยุดงานทั่วไปครั้งนี้นับว่าใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ทุนนิยมโลกตอนนั้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่นักวิชาการหอคอยงาช้างหลายคนเคยวิเคราะห์ว่าชนชั้นกรรมาชีพหมดสภาพ!!

e5df280fd4f47a93e653cf5ba9562dab
กรรมาชีพโรงงานรถยนต์เรโนนัดหยุดงาน

รัฐบาลฝ่ายขวาของ “เดอร์โกล” อัมพาตเป็นเวลาสองสัปดาห์ “เดอร์โกล” เองหนีไปอยู่ค่ายทหารฝรั่งเศสในเยอรมัน แต่แทนที่พรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำสหภาพแรงงานจะผลักดันการปฏิวัติไปข้างหน้า องค์กรเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการเบี่ยงเบนการต่อสู้จากเรื่องการเมืองไปเป็นเรื่องปากท้องเฉพาะหน้าเท่านั้น ในที่สุดมีการทำสัญญากับรัฐบาลว่าจะขึ้นเงินเดือนคนงานและยุบรัฐสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมีผลในการยุติการประท้วงของสหภาพแรงงานทั่วประเทศ สรุปแล้วในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำสหภาพแรงงานกลัวการปฏิวัติและต้องการที่จะปกป้องระบบทุนนิยม

การลุกขึ้นสู้หรือยุติการต่อสู้ของกรรมาชีพ เป็นเรื่องชี้ขาดว่าการกบฏของนักศึกษาจะประสบผลสำเร็จหรือไม่

la-lutte-continue-paris-may-1968-street-poster-t-shirt-4

อย่างไรก็ตามการกลับมาของการต่อสู้ทางชนชั้น นำไปสู่การรื้อฟื้นความคิดมาร์คซิสต์ในหมู่คนรุ่นใหม่ทั่วโลก นอกจากนี้กระแสการต่อสู้ มีผลในการเปลี่ยนวัฒนธรรม ดนตรี และค่านิยมต่างๆ และมีการกระตุ้นการต่อสู้ของกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกกดขี่ในสังคมทั่วโลกอีกด้วย เช่นคนผิวดำ คนพื้นเมืองอเมริกา เกย์กะเทยทอมดี้ และสตรี

กระแสสู้ของนักศึกษาทั่วโลกไม่ได้ยุติหลังปี 1968 เพราะในปี 1970 มีการประท้วงของนักศึกษาสหรัฐทั่วประเทศ และมีการยึดมหาวิทยาลัยต่างๆ หลังจากที่ทหารยิงนักศึกษาตายที่มหาวิทยาลัย เคนท์ สเตด ขณะที่นักศึกษาประท้วงต่อต้านการขยายสงครามเวียดนามสู่กัมพูชา

ในประเทศไทยนักศึกษาเป็นหัวหอกในการล้มเผด็จการทหาร ถนอม ประภาส ณรงค์ ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และในปีเดียวกันนักศึกษากรีซเริ่มออกมาสู้ โดยยึดวิทยาลัย โบลิเทคนิค กลางเมืองอาเทนส์ ซึ่งนำไปสู่การล้มเผด็จการทหารกรีซในที่สุด นอกจากนี้มีการเดินขบวนของนักศึกษาในอินโดนีเซีย และในเยอรมันตะวันตก

แต่หลัง 1968 ศูนย์กลางการต่อสู้ส่วนใหญ่ย้ายไปที่ขบวนการแรงงาน เช่นในอิตาลี่ปี 1969 หรือในสเปนบทบาทสำคัญของกรรมาชีพ ตั้งแต่ปี 1970 ทำให้เผด็จการ “ฟรังโก” อ่อนแอลง และในอังกฤษการนัดหยุดงานทำให้รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมถูกล้ม

ทั่วโลกชนชั้นปกครองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เอง แต่ต้องพึ่งพรรคแรงงาน พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย พรรคคอมมิวนิสต์ และสภาแรงงานต่างๆ ซึ่งยอมร่วมมือเพื่อช่วยดับไฟของการปฏิวัติ โดยในหลายประเทศมีการทำข้อตกลงระหว่างพรรคฝ่ายซ้ายกับพรรคฝ่ายขวา

ในลาตินอเมริกา มีการลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาและแรงงานเช่นกัน ใน อาเจนทีนา มีการยึดเมือง คอร์โดบาและใน ชิลี มีการยึดที่ดินของเจ้าของที่ดินรายใหญ่ แต่กระแสนี้ถูกต้อนเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ใน อาเจนทีนา มีการรณรงค์ให้อดีตเผด็จการประชานิยม เพรอน กลับมาแก้สถานการณ์ แต่แก้ไม่ได้ และเมื่อ เพรอน เสียชีวิต ทหารฝ่ายขวาก็ทำรัฐประหารป่าเถื่อน โดยเข่นฆ่านักกิจกรรมฝ่ายซ้ายหลายหมื่นคน ซึ่งไม่ต่างจากเหตุการณ์ ๖ ตุลา ที่ไทย

ใน ชิลี กระแสการต่อสู้นำไปสู่ชัยชนะของ ซัลวาดอร์ อาเยนเดย์ ผู้แทนพรรคสังคมนิยม ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ฝ่ายขวา นายทุน ทหาร และสหรัฐอเมริกาไม่พอใจ และคอยหาทางล้มรัฐบาลด้วยการปิดกิจกรรมการขนส่ง และการพยายามทำรัฐประหาร ซึ่งในระยะแรกถูกคนงานรากหญ้าต้านสำเร็จผ่านการสร้าง “สภาคนงาน” (คอร์ดอนเนย์ Cordones) ในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ คล้ายกับสภาคนงานในรัสเซียปี 1917 อย่างไรก็ตาม พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยม ชักชวนให้กรรมาชีพสลายการต่อสู้ เพื่อเอาใจทหารและฝ่ายขวา โดยหลงเชื่อว่าจะทำให้รัฐบาลอยู่ต่อได้ ยิ่งกว่านั้นมีการนำนายทหารชั้นผู้ใหญ่ อย่างเช่น ออร์กัสโต พิโนเช เข้ามาในคณะรัฐมนตรี แต่สามเดือนหลังจากนั้นในปี 1973 พิโนเช ยึดอำนาจ ฆ่าประธานาธิบดี และจับคุมเข่นฆ่านักสังคมนิยมและนักสหภาพแรงงานหลายพันคน

ในขณะที่พรรคปฏิรูปและสภาแรงงานในยุโรปตะวันตกพยายามกล่อมขบวนการแรงงานให้หลับนอนและเลิกสู้ ฝ่ายขวาในลาตินอเมริกายุติการต่อสู้ของแรงงานผ่านการปราบปรามอย่างนองเลือด

มีที่หนึ่งที่ประกายไฟจาก 1968 ลุกเป็นเปลวอีกครั้ง คือในประเทศปอร์ตุเกส ซึ่งมีรัฐบาลเผด็จการฟาสซิสต์มาเกือบห้าสิบปี ในกลางทศวรรษ 1970 ปอร์ตุเกสกำลังแพ้สงครามในอาณานิคมอัฟริกา และทหารระดับล่างไม่พอใจกับการต่อสู้ ดังนั้นในเดือนเมษายน 1974 มีรัฐประหารและนายพลฝ่ายขวาขึ้นมาแทนเผด็จการ “ไคทาโน” รัฐประหารนี้นำไปสู่การนัดหยุดงานตามโรงต่อเรือขนาดใหญ่ และพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใต้ดินพรรคเดียวที่มีการจัดตั้งอย่างดี ก็พยายามตั้งตัวเป็นศูนย์กลางการเจรจาและการถ่วงดุลอำนาจระหว่างผู้นำกองทัพฝ่ายขวา กับขบวนการแรงงาน แต่ทำไม่ได้ เริ่มมีกลุ่มทหารระดับล่างและคนงานฝ่ายซ้ายที่อยากไปไกลกว่าพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อทำการปฏิวัติ อย่างไรก็ตามองค์กร “ซีไอเอ” ของสหรัฐ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมัน และนายทหารปฏิรูปของปอร์ตุเกส สามารถเปลี่ยนทิศทางการปฏิวัติปอร์ตุเกสไปสู่ประชาธิปไตยรัฐสภาทุนนิยมได้ โดยที่พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ทำอะไรเลย

บทสรุปสำคัญจากยุค 1968 คือต้องมีการสร้างพรรคปฏิวัติฝ่ายซ้ายใหม่ ที่ไม่ยอมประนีประนอมกับทุนและพร้อมจะสามัคคีพลังกรรมาชีพกับการตื่นตัวของนักศึกษาและคนหนุ่มสาว

ภารกิจการสร้างพรรคแบบนี้ยังเป็นภารกิจสำคัญของเราในยุคนี้

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2i294Cn

และ https://bit.ly/2IeFt9a