อุปสรรคในการขยายตัวของจีน

[ท่านใดที่อ่านผ่าน Facebook อาจอ่านได้ง่ายขึ้นถ้าเข้าไปอ่านในบล็อก ]

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนในอัตราเฉลี่ยปีละ 10% ทำให้จีนกลายเป็นประเทศส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเศรษฐิจจีนโตเป็นอันดับสองของโลก แต่การขยายตัวดังกล่าวไม่ได้เกิดจากพลวัตของกลไกตลาดเสรีอย่างที่ทฤษฏีเสรีนิยมมักจะทำนาย แต่มาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐต่างหาก ทั้งในส่วนของรัฐวิสาหกิจและนโยบายของรัฐที่ควบคุมและกำกับธุรกิจเอกชน

135591304_14710448465461n

ในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังวิกฤต 2008-9 33% มาจากการขยายตัวของจีน และตั้งแต่ปี 1978 จำนวนกรรมาชีพจีนก็เพิ่มขึ้น 5 แสนล้านคน ซึ่งชนชั้นนี้มีพลังซ่อนเร้นที่จะท้าทายเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์

ในแผนเศรษฐกิจ “สร้างในจีน 2025” มีการพยายามพัฒนาเทคโนโลจีสมัยใหม่ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งดึงนักวิทยาศาสตร์ชั้นดีจากทั่วโลก เมื่อสิบปีก่อนจีนไม่มีรถไฟความเร็วสูง แต่ตอนนี้มีเส้นทางรถไฟสำหรับรถไฟความเร็วสูงมากที่สุดในโลก แต่รัฐบาลสหรัฐกำลังพยายามสร้างอุสรรคกับการพัฒนาเทคโนโลจีของจีน โดยห้ามไม่ให้บริษัทอเมริการร่วมมือด้วย

1017225341

ทุนนิยมจีนไม่สามารถหลุดพ้นจากข้อจำกัดและปัญหาของระบบทุนนิยมอย่างที่คาร์ล มาร์คซ์เคยอธิบายในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” กลุ่มทุนรัฐของจีนต้องแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดทั่วโลก ซึ่งแปลว่าต้องมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผู้นำจีนได้จัดการให้มีการลงทุนเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการผลิตทั้งหมดของประเทศ ถ้าเทียบกับประเทศตะวันตกอัตราการลงทุนเท่ากับเพียง 20% ของผลผลิต แต่การลงทุนที่ขยายตัวเรื่อยๆ มีผลในการเพิ่มการลงทุนในเครื่องจักรในอัตราที่สูงกว่าการลงทุนในการจ้างงาน และเนื่องจากกำไรมาจากการจ้างงาน ผลคืออัตรากำไรต่อการลงทุนมีแนวโน้มจะลงลงอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้ทำให้จีนเสี่ยงกับวิกฤตเศรษฐกิจ ในหลายส่วนของเศรษฐกิจจีน เช่นในการพัฒนาสาธารณูปโภคหรือการขนส่ง ประสิทธิภาพในการผลิตและผลกำไรจะต่ำ รัฐวิสาหกิจจีนได้รับ 33% ของการลงทุนทั้งหมด แต่มีส่วนในการผลิตแค่ 10% ของมูลค่าทั้งหมดของชาติ

รัฐวิสาหกิจยังมีความสำคัญสำหรับรัฐบาลในการเป็นฐานเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์ในหมู่ผู้บริหาร และในการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคและการขนส่ง ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้รัฐวิสาหกิจมีความสำคัญในการรักษาไม่ให้คนงานตกงานในภูมิภาคที่ยากจนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอีกด้วย

กลุ่มทุนใหญ่ของจีนส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งนับเป็น 80% ของมูลค่าทั้งหมดในตลาดหุ้น และภายใต้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง บริษัทเอกชน IT ขนาดใหญ่ เช่น Tencent กับ Ali Baba ถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดโดยรัฐ และถูกบังคับให้ลงทุนในรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้กิจกรรม “กึ่งธนาคาร” หรือ “ธนาคารเงา” ของบริษัทเอกชนถูกควบคุม เพื่อไม่ให้ระบบธนาคารล้มเหลวและเพื่อพยายามลดปริมาณทุนจีนที่ไหลออกนอกประเทศ ในขณะเดียวกันรัฐบาลพยายามชักชวนให้ทุนเอกชนลงทุนในระบบขนส่งระหว่างจีนกับตลาดในทวีปต่างๆ ของโลกอีกด้วย

แต่เนื่องจากอำนาจทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์มีลักษณะกระจายสู่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมากขึ้น ประสิทธิภาพของรัฐบาลกลางจึงมีข้อจำกัด

ระบบธนาคารของจีนมีปัญหาเรื้อรัง และการที่รัฐบาลจีนใช้การลงทุนของรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโลก 2008-9 สร้างความเสี่ยงสำหรับอนาคต เพราะระดับหนี้ของกลุ่มทุนจีนสูงมาก คืออยู่ในระดับ 160% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในระบบไฟแนนส์ระดับหนี้สูงกว่านี้อีก และประมาณหนึ่งในสามของหนี้ เป็นหนี้เสีย ปรากฏการณ์ฟองสบู่กำลังเกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย

ชนชั้นปกครองจีนต้องการให้เศรษฐกิจขยายตัว แต่มาตรการที่เขาใช้มาในอดีตทำให้อัตราหนี้พุ่งสูง และการเพิ่มเงินกู้เพื่อการลงทุนมีผลในการขยายการผลิตและเพิ่มกำไรน้อยลงทุกวัน นอกจากนี้เสถียรภาพของเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ที่ครองประเทศมานานเป็นแหล่งเพาะโรคระบาดแห่งการคอร์รับชั่น ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถกำจัดได้ทั้งๆ ที่ประกาศเป็นนโยบายสำคัญ

ในขณะเดียวกันแหล่งแรงงานราคาถูกในชนบทเริ่มหายไปเนื่องจากถูกดึงเข้าไปในเมืองหมดแล้ว ในสถานการณ์การขาดแรงงาน ชนชั้นกรรมาชีพเริ่มเข้าใจอำนาจต่อรองของตนเองที่เพิ่มขึ้น เราเห็นการนัดหยุดงานเพื่มขึ้นในอตสาหกรรมรถยนต์ และล่าสุดครู กับ คนขับรถบรรทุกทั่วประเทศก็มีการประท้วงหยุดงาน

22889682_1502271242.6035

นอกจากปัญหาเศรษฐกิจภายในแล้ว “สงครามการค้า” และความตึงเครียดทางทหาร ระหว่างจีนกับสหรัฐ ก็เพิ่มความเสี่ยง

ถ้าในอนาคตพรรคคอมมิวนิสต์ไม่สามารถจะประกันฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประชาชน การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยอาจระเบิดขึ้นอีก เพราะข้อตกลงกับประชาชนในรูปแบบ “การแลกสภาพไร้ประชาธิปไตยกับการพัฒนาประเทศ” กำลังจะถูกท้าทาย นี่คือสาเหตุที่เราเห็นรัฐบาลพยายามใช้มาตรการเผด็จการมากขึ้น โดยเฉพาะในสื่อและภายในพรรค

[บทความนี้อาศัยเนื้อหาจากบทความของ Adrian Budd ในวารสาร Socialist Review]

สื่อเปิดโปงเบื้องหลัง อีลอน มัสก์ นายทุนหน้าเลือดที่ชอบเบ่งอำนาจ

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวการอาละวาดผ่านทวิตเตอร์ของนายทุนเศรษฐี อีลอน มัสก์ ด้วยการใส่ร้าย  เวิร์น อันสเวิร์ธ นักดำน้ำอังกฤษที่ร่วมทีมกู้ภัย “หมูป่า” ว่าเป็นคนที่ชอบละเมิดเด็กเล็ก โดยไม่มีหลักฐานอะไรเลย สาเหตุเพราะทีมนักดำน้ำทั้งไทยและต่างประเทศสรุปว่าเรือดำน้ำขนาดเล็กของ มัสก์ ไม่เหมาะสมที่จะกู้ทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำได้ สาเหตุที่ไม่เหมาะสมคือมันผ่านบางจุดในถ้ำที่มีทางโค้งและช่องแคบไม่ได้

skynews-vern-unsworth-elon-musk_4363298

ก่อนหน้านี้ มัสก์ ก็ออกมาด่าอดีตผู้ว่าราชการเชียงราย ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ว่าไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญพอที่จะออกมาพูดว่าเรือดำน้ำของ มัสก์ ใช้ไม่ได้ในกรณีถ้ำนางนอน

ข้อสรุปของหลายคน รวมถึงนักดำน้ำอังกฤษ ว่า อีลอน มัสก์ เข้ามายุ่งในเรื่องการกู้เด็กออกมาจากถ้ำ ก็เพื่อโฆษณาตนเองเท่านั้น น่าจะมีน้ำหนัก เพราะ มัสก์ ควรจะดีใจโดยไม่มีเงื่อนไขที่เด็กทุกคนและโค้ชออกมาได้อย่างปลอดภัย เหมือนคนไทยและชาวโลกนับล้านๆ แต่ มัสก์ กลับโกรธและไม่พอใจที่ข้อเสนอของตนเองถูกขัดด้วยเหตุผลและปัญญา

ก่อนหน้านี้ องค์กรข่าว Center for Investigative Reporting (CIR) ของสหรัฐ ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ได้รายงานถึงสภาพการทำงานในโรงงานรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ของ มัสก์ ว่ามีปัญหาเรื่องความปลอดภัยแบบเรื้อรัง [รายงานภาษาอังกฤษอ่านได้ที่นี่ https://bit.ly/2qGLpgf ]

CIR รายงานว่าอดีตหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัยของบริษัทพยายามยกเรื่องอุบัติเหตุและความปลอดภัยขึ้นมาคุยกับฝ่ายบริหาร แต่ไม่มีใครสนใจ อัตราอุบัติเหตุในโรงงานของ Tesla สูงกว่าอัตราเฉลี่ยในโรงงานประกอบรถยนต์ทั่วไปของสหรัฐ คือประมาณ 8.1-8.8 ต่อคนงาน 100 คน ในปี 2017 และ2016 เทียบกับอัตรา 6.2-6.7 ในโรงงานของบริษัทอื่น และที่ Tesla มีอัตราอุบัติเหตุร้ายแรงเกือบสองเท่าอัตราเฉลี่ยของอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐ ยิ่งกว่านั้นในปี 2017 หลังจากที่มีการวิจารณ์บริษัทเรื่องความปลอดภัย Tesla พยายามปกปิดอัตราจริงผ่านการไม่รายงานหลายเหตุการณ์ ซึ่งถือว่าผิดกฏหมาย

Economy Manufacturing

ปัญหาความปลอดภัยในโรงงาน Tesla มีหลายเรื่อง เช่นปัญหาสารเคมี การถูกเครื่องจักรบาด การถูกชนโดยรถยกชิ้นส่วน การถูกไฟดูด และการโดนเหล็กหลอมลวก CIR กล่าวว่าสภาพภายในโรงงานมีลักษณะวุ่นวายไร้ระเบียบและอุปกรณ์ยกเครื่องยนต์บางครั้งไม่ได้ถูกทดสอบก่อนนำมาใช้

อดีตลูกจ้างในทีมความปลอดภัยหลายคนสรุปกับ CIR ว่าบริษัทเร่งผลิตรถยนต์ โดยไม่ยอมพิจารณาความปลอดภัยของคนงาน ครั้งหนึ่งอดีตหัวหน้าฝ่ายความปลอดภัย ได้เตือนฝ่ายบริหารว่าในโรงงานมีความเสี่ยงว่าจะเกิดเหตุการณ์ระเบิดได้ แต่เขาถูกโต้ตอบว่าทุกอย่างต้องขึ้นกับเป้าหมายตัวเลขในการผลิตเป็นหลัก

CIR เปิดโปงว่าบรรยากาศที่มาจากวิธีบริหารแบบเผด็จการของ มัสก์ ภายในโรงงาน ทำให้ไม่ค่อยมีใครกล้าเถียงกับ มัสก์ และซีอีโอคนนี้ขึ้นชื่อว่าไม่ชอบกฏระเบียบและป้ายต่างๆ ที่จะเพิ่มความปลอดภัย บ่อยครั้งคนงานถูกกดดันให้ทำงานวันละ 12 ชม. สัปดาห์ละ 6 วัน เพื่อเพิ่มอัตราการผลิต

หนังสือพิมพ์ The Guardian ของอังกฤษรายงานเมื่อกลางเดือนมิถุนายนปีนี้ว่า มัสก์ ชอบสร้างภาพว่าตนเองห่วงใยลูกจ้าง แต่ในรูปธรรมไม่ทำตามคำพูด นสพ. Guardian มองว่า มัสก์ เป็นคนขี้อวด และบ่อยครั้งสิ่งที่เขาพูดไม่เป็นความจริง บริษัทของเขามีปัญหาเรื่องการละเมิดทางเพศและการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานสีผิวและเพศ ทั้งๆ ที่ มัสก์ ชอบประกาศว่าเขาต่อต้านสิ่งเหล่านี้ และการเร่งอัตราการผลิตทำให้ลูกจ้างคนหนึ่งพูดออกมาว่าบางวันต้องเลือกระหว่างการพักเพื่อไปกินอาหารกับการเข้าห้องน้ำ [บทความภาษาอังกฤษดูได้ที่นี่ https://bit.ly/2K2hnjq ]

ในบทความอีกชิ้นหนึ่งของ The Guardian จากเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว มีการรายงานว่ามีความพยามที่จะนำสหภาพแรงงานประกอบรถยนต์เข้ามาในโรงงานของ Tesla เนื่องจากปัญหาต่างๆ เช่นเรื่องความปลอดภัยและการบังคับให้คนงานทำโอที และเราไม่ควรแปลกใจที่ มัสก์ พยายามต้านสหภาพด้วยการใส่ร้ายต่างๆ นาๆ เดิมโรงงานแห่งนี้เคยเป็นของบริษัท GM และตอนนั้นมีสหภาพแรงงาน แต่เมื่อขายให้ Tesla และรับคนงานเข้ามาใหม่ ปรากฏว่าไม่มีสหภาพแรงงาน [บทความภาษาอังกฤษดูได้ที่นี่ https://bit.ly/2ljDiDj ]

ทั้งหมดนี้คือเบื้องหลังนายทุนเศรษฐีหน้าเลือดที่ชื่อ อีลอน มัสก์ และเราคงโล่งใจที่มันไม่มีบทบาทในการนำเด็กๆ ออกมาจากถ้ำ

 

 

รัฐไทยให้ความสำคัญกับพลเมืองน้อยเกินไป

ใจ อึ๊งภากรณ์

[เพื่อความสะดวกในการอ่าน เชิญไปอ่านที่บล็อกโดยตรง]

จากการพูดคุยกับมิตรสหายและการอ่านความเห็นของเพื่อนในโซเชียลมีเดีย ผมได้เรียนรู้และมีข้อสรุปบางอย่างจากกรณีที่ทีมหมูป่าติดอยู่ในถ้ำ และกรณีนักท่องเที่ยวจีนที่เสียชีวิตจากเรือล่มที่ภูเก็ต มันมีหลายประเด็นซ้อนกัน

ผมจะไม่ลงรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับน้ำใจของอาสาสมัครนับร้อย ทั้งไทยและต่างประเทศ ที่ร่วมมือกันเพื่อนำเด็กๆ ออกจากถ้ำ เพราะเป็นเรื่องที่ชัดเจนและใครๆ ก็ทราบกันทั่วโลก แต่จะขอสำรวจประเด็นปัญหาที่มาจากรัฐไทย

ในประการแรกเราจะเห็นว่าเรื่อง “ความปลอดภัยของพลเมือง” เป็นเรื่องรอง (มากๆ) ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นมาตรการเพื่อรักษาความปลอดภัยเด็กๆ หรือความปลอดภัยในการท่องเที่ยว ผมจะไม่โทษโคชของทีมหมูป่า เพราะจะเป็นเพียงการซ้ำเติมความเจ็บปวดของคนนี้ ซึ่งแน่นอนเขาสรุปทบทวนอะไรจากเหตุการณ์ได้เอง และมันไม่ใช่เรื่องความรับผิดชอบปัจเจกด้วย มันเป็นเรื่องความรับผิดชอบของสังคมและรัฐ แต่ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าในประเทศตะวันตกคนที่ทำงานกับเด็กๆ ในกิจกรรมต่างๆ ต้องผ่านการฝึกฝนในเรื่องความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด กฏระเบียบต่างๆ เรื่องความปลอดภัยมีมากมาย และนอกจากนี้ถ้ามีแหล่งเที่ยวที่อาจเป็นภัยเมื่อฝนตกหนัก มันจะมีประตูกั้นไม่ให้คนเข้าไปในยามที่ไม่ปลอดภัย

สำหรับความปลอดภัยในการเดินเรือ หรือความปลอดภัยบนท้องถนน สังคมไทยมีมาตรฐานต่ำมาก เพราะไม่มีกฏระเบียบที่เคร่งครัด ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบเพียงพอ มีแต่ตำรวจที่คอยดักเก็บส่วย ไม่มีระบบคมนาคมมวลชนที่ปลอดภัย ไม่มีวันหยุดเพียงพอสำหรับคนทำงาน คนเลยเดินทางหนาแน่นในวันสงกรานต์ฯลฯ

การที่เรือล่มที่ภูเก็ต ก็เป็นเพราะไม่มีการประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ และไม่มีการคุมลักษณะของเรือท่องเที่ยวและทดสอบระบบความปลอดภัยอย่างดี จึงปล่อยให้บริษัทท่องเที่ยวหากำไรผ่านพฤติกรรมที่ไม่ปลอดภัย

ปัญหามาจากการที่รัฐไทยไม่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของประชาชนธรรมดาเลย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก นักท่องเที่ยว คนงานก่อสร้าง คนงานในโรงงานต่างๆ หรือพลเมืองทั่วไปในชีวิตประจำวัน เพราะรัฐไทยเน้นความสำคัญของคนชั้นสูงเป็นหลักเท่านั้น

การที่รัฐไทยจะให้ความสำคัญกับพลเมืองธรรมดา ย่อมมาจากพลังประชาชน เราหวังพึ่งผู้นำใจดีไม่ได้

ในประการที่สองรัฐไทยไม่มีการพัฒนาโครงสร้างและหน่วยงานต่างๆ ของสังคมเพื่อปกป้องพลเมือง ไม่มีองค์กรกู้ภัยที่นำโดยทีมคนในท้องถิ่นอย่างเป็นระบบ ทุกอย่างมักกระจุกที่ส่วนกลาง เราขาดอุปกรณ์ต่างๆ และเราไม่ควรต้องอาศัยทหารในเรื่องนี้ เพราะทหารธรรมดาไม่ได้ถูกฝึกในเรื่องการกู้ภัย และนายพลระดับสูงที่คุมกองทัพก็ไม่สนใจผลประโยชน์ของพลเมืองธรรมดาเลย หน่วยกู้ภัยควรจะเป็นหน่วยพลเรือนที่มีความเชี่ยวชาญเสมอ

เราไม่มีระบบรถพยาบาลสาธารณะในทุกท้องถิ่นที่สามารถวิ่งไปมาทุกวันในขณะที่รถคันอื่นต้องหยุดและหลีกทางให้ เรามีแต่ตำรวจที่คอยบังคับให้รถธรรมดาหลีกทางหรือหยุดจอดเพื่อให้คนชั้นสูงเดินทางไปมาเท่านั้น

ลักษณะความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ ฐานะในสังคม และทางเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่รัฐไทยส่งเสริมมานาน และการทำรัฐประหาร การดูถูกคนจนและคนส่วนใหญ่โดยผู้นำรัฐกับคนชั้นกลาง แปลว่าไม่มีการให้ความสำคัญกับสิทธิพลเมืองธรรมดาที่จะได้รับการบริการอย่างดีจากรัฐและสังคม ไทยเลยไม่มีระบบรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้าและครบวงจร ซึ่งอาศัยงบจากการเก็บภาษีคนรวยและกลุ่มทุนในอัตราก้าวหน้า

หลายคนได้ชมบทบาทของผู้ว่าฯจังหวัดในการประสานงานการนำเด็กหมูป่าออกจากถ้ำ และก็มีเหตุผลในการชม แต่ถ้าฟังการแถลงข่าวจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้รับอิทธิพลจากสังคมที่เหลื่อมล้ำ คือพูดขอบคุณ “ความห่วงใย” ของคนชั้นสูง ในขณะที่คนธรรมดาในไทยและทั่วโลกเป็นล้านๆ คนก็ห่วงใยติดตามสถานการณ์มาตลอด และอาสาสมัครคนธรรมดาที่มาช่วยงาน ก็ลงมือทำจริง เช่นชาวบ้านที่ซักผ้าให้นักดำน้ำเป็นต้น แต่สังคมไทยบังคับให้ต้องเริ่มต้นพูดถึงคนชั้นสูงและละเลยพลเมืองธรรมดา

ในประการที่สาม แนวคิดชาตินิยมในไทย สร้างอคติกับคน “ต่าง” ไม่ว่าจะเป็นอคติกับนักท่องเที่ยวจีนหรือเจ้าของกิจกรรมที่เป็นคนจีน หรือเรื่องการที่ไม่ยอมให้สัญชาติกับคนเป็นล้านๆ ที่อาศัยอยู่ในไทย รวมถึงเด็กบางคนและโคชในทีมหมูป่าอีกด้วย

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเรียกร้องให้รัฐบาลมอบสัญชาติให้ทุกคนที่ไร้สัญชาติแต่พักอยู่ในไทย

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยกันรณรงค์ให้คนในสังคมไทยเลิกการเหยียดสีผิวหรือเชื้อชาติของคนอื่น และเลิกใช้คำที่ไม่เคารพคนต่าง

แนวคิดชาตินิยม ที่เน้น “ชาติ ศาสนา กษัตริย์” เป็นการกล่อมเกลาพลเมืองโดยทหารเผด็จการ นักการเมือง นายทุน สื่อกระแสหลัก และระบบการศึกษา เพื่อให้พลเมืองธรรมดาเคารพคนชั้นสูง แต่ละเลยเพื่อนมนุษย์คนส่วนใหญ่ มันนำไปสู่การใช้งบประมาณสำหรับกองทัพ กับคนชั้นสูงในขณะที่ละเลยคนส่วนใหญ่ มันนำไปสู่การมองว่าชาติไทยเป็นของ “ผู้ใหญ่ที่ปกครองเรา” และมันนำไปสู่การกราบไหว้คนข้างบน ในกรณีทีมหมูป่า ยังนำไปสู่การเห่อเศรษฐีต่างประเทศที่อยากดังเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวอีกด้วย เหมือนกับที่คนจำนวนมากเคารพอำนาจเงินของเศรษฐีไทย

ถ้าเราจะค่อยๆ แก้ปัญหาดังกล่าว เราจะต้องร่วมกันสร้างทั้งประชาธิปไตยและระบบสังคมนิยม เพื่อให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน และเพื่อให้สังคมเราเน้นความสำคัญของชีวิตพลเมือง ผ่านการทำงานเพื่อส่วนรวม

บางคนเสนอว่าน้ำใจ ความสามัคคี และมิตรภาพของคนที่เกี่ยวข้องกับการนำเด็กๆ ออกจากถ้ำ แสดงว่าคนไทยสามัคคีกันได้เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง แต่นั้นเป็นข้อเสนอของคนที่อยากให้เรายอมจำนนต่อเผด็จการและการทำลายประชาธิปไตย แท้จริงแล้วน้ำใจ ความสามัคคี และมิตรภาพของทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการนำเด็กๆ ออกจากถ้ำ แสดงให้เห็นว่าเราสามารถสร้างสังคมใหม่ได้ภายใต้ประชาธิปไตยและความเท่าเทียม

คลื่นการต่อสู้สากลยุค 1968 และความสำคัญของมวลชน

ใจ อึ๊งภากรณ์

[ท่านใดที่อ่านผ่าน Facebook อาจอ่านได้ง่ายขึ้นถ้าเข้าไปอ่านในบล็อก ]

ในบทความก่อนหน้านี้ผมเขียนถึงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 1968 ที่เริ่มต้นในฝรั่งเศส และการหักหลังการต่อสู้โดยพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคสังคมนิยม และสภาแรงงาน ในบทความนี้ผมอยากจะเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับคลื่นการต่อสู้สากลที่เกิดขึ้น และความสำคัญของการสามัคคีมวลชนนักศึกษากับกรรมาชีพ

ช่วงนี้เป็นช่วงครบรอบ 50 ปี แห่งคลื่นการต่อสู้อันยิ่งใหญ่ที่เปลี่ยนโลกเรา ส่วนหนึ่งของคลื่นนี้คือการล้มเผด็จการทหารไทยในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

      นักปฏิวัติมารคซิสต์หญิงจากเยอรมันชื่อ โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยเสนอว่า “การปฏิวัติครั้งก่อน มักกำหนดกรอบการต่อสู้เพื่อการปฏิรูปยุคต่อไป”

ถ้าเราย้อนกลับไปคิดถึงคลื่นการปฏิวัติสมัยปฏิวัติรัสเซีย 1917 เราจะเห็นว่ามันเปิดประเด็นการปฏิรูปเรื่อง รัฐสวัสดิการ และการปฏิรูปสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย ผ่านการยกเลิกระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือผ่านการปลดแอกประเทศจากการเป็นอาณานิคม และที่สำคัญคือมันนำไปสู่การสร้างขบวนการคอมมิวนิสต์ทั่วโลก

ในกรณีคลื่นปฏิวัติ 1968 มันนำไปสู่การต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศและสิทธิเชื้อชาติสีผิว เช่นสิทธิทำแท้งเสรี สิทธิคนรักเพศเดียวกัน สิทธิในการแต่งกายและเพศสัมพันธ์ของเยาวชน และสิทธิของคนเพื่อที่จะไม่ได้รับการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานสีผิวหรือชาติพันธ์ นอกจากนี้มันเปิดประเด็นการต่อสู้กับเผด็จการทหารในรัฐสมัยใหม่ และการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมยุคใหม่ที่ไม่ใช่ระบบอาณานิคม และที่น่าตื่นเต้นอีกคือการต่อสู้ที่เกิดขึ้นกับระบบอาวุโสที่ผู้ใหญ่ควบคุมค่านิยมและกติกาของสังคม

1968 สำคัญเพราะ เป็นการกบฏของคนชั้นล่างและคนหนุ่มสาวในโลกตะวันตกและในโลกคอมมิวนิสต์พร้อมกัน เป็นการเปิดโปงพิสูจน์ธาตุแท้ของการประนีประนอม ทรยศ หักหลังของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน ซึ่งนำไปสู่การสร้างซ้ายใหม่ตามแนวตรอทสกี เหมา และอนาธิปไตยในหลายประเทศ

ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิด “1968” คือ

  1. การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว การขยายจำนวนนักศึกษาภายใต้สถานการณ์ที่คนรุ่นใหม่ไม่พอใจกับการควบคุมสังคมแบบเดิม และชนชั้นกรรมาชีพไม่พอใจที่จะเสียสละต่อไป  พวกเขาต้องการส่วนแบ่งเพิ่มอย่างเป็นธรรม  ในไทยการต่อสู้ของกรรมกรเพื่อขึ้นค่าแรงหลังจากที่แช่แข็งไว้สิบกว่าปี ช่วยให้เกิด ๑๔ ตุลา ในฝรั่งเศสประเด็นแบบนี้ทำให้นักศึกษาและกรรมาชีพเป็นแนวร่วมที่มีพลัง
  2. การต่อต้านการทำสงครามของสหรัฐในเวียดนาม โดยที่นักศึกษาไม่พอใจความป่าเถื่อนของสหรัฐ และเคารพความกล้าหาญของนักรบเวียดนาม
  3. สงครามเวียดนาม และภาระการสร้างอาวุธในสงครามเย็น เริ่มทำลายเศรษฐกิจสหรัฐ และนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ ซึ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชน

ในประเทศ เชคโกสโลวาเกีย นักศึกษาและปัญญาชน เป็นหัวหอกในการประท้วงระบบการปกครองเผด็จการแนว “สตาลิน” ของพรรคคอมมิวนิสต์ มีการบังคับให้เปลี่ยนผู้นำประเทศ โดยเอา “Dubcek”  ขึ้นมาแทนผู้นำเก่า มีการขยายสิทธิเสรีภาพ   แต่ก่อนที่ขบวนการจะสุกงอม รัสเซียส่งกองทัพและรถถังเข้ามาปราบปราม

ใน โปแลนด์ นักศึกษาประท้วงการเซนเซอร์สื่อ  มีการปิดทุกมหาวิทยาลัยโดยนักศึกษา และร้องเพลงอินเตอร์เนเชนัล พร้อมกับตะโกนว่า “เชคโกสโลวาเกีย จงเจริญ!!!”  นักศึกษาต้องรบกับตำรวจ  ในที่สุดสามารถกดดันให้รัฐบาลต้องปฏิรูปบ้าง และในระยะยาวนำไปสู่การต่อสู้ของกรรมกรในปี 1970 ซึ่งเป็นต้นกำเนิดสหภาพแรงงานอิสระ Solidarity

ในญี่ปุ่น  นักศึกษาเป็นแสนประท้วงทั่วประเทศหลายเดือน  คนหนุ่มสาวไม่พอใจกับความคับแคบ และระบบอาวุโสในสังคมญี่ปุ่น  หลายคนตื่นเต้นกับ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ในจีน  มีการจับฝ่ายบริหารในมหาวิทยาลัยมาขังหลายวันเพื่อ “สอบสวน”  มีการใช้ไม้กระบองและท่อเหล็กตีกับตำรวจ  และนักศึกษาแพทย์เรียกร้องให้ตัวเองมีสิทธิ์ในการกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอน

JapStud1

     ในมหาวิทยาลัย Berkeley ที่สหรัฐ นักศึกษาเสนอหลักสูตรใหม่ที่ไม่มีการสอบ เพราะอยากเรียนเพื่อรู้ ไม่ใช่เรียนเพื่อสอบ

ในประเทศจีน คนหนุ่มสาวตื่นตัว ไม่พอใจกับการคอร์รัปชั่นของผู้ใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ถูก “เหมาเจ๋อตุง” หลอกใช้ในการต่อสู้กับคู่แข่งของเขาในระดับสูงของพรรค จึงเกิด “การปฏิวัติวัฒนธรรม”

ในเยอรมัน นักศึกษาจาก “สันนิบาตินักศึกษาสังคมนิยม” SDS ขยายสมาชิกผ่านการจัดกลุ่มศึกษามาร์คซิสต์เพื่อวิจารณ์พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (SPD) ที่ทำแนวร่วมกับพรรคอนุรักษ์นิยม (CDU) จนประชาชนหมดทางเลือกทางการเมือง มีการเคลื่อนไหวต้านสงครามเวียดนาม และผู้นำสำคัญของนักศึกษายุคนั้นคือ “Rudi Dutschke”

ในอิตาลี่นักศึกษาก็ตื่นตัวไม่น้อย พรรคคอมมิวนิสต์ PCI ซึ่งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันตก พยายามควบคุมนักศึกษาเพื่อไม่ให้ไฟของการต่อสู้ลามไปสู่ขบวนการแรงงาน ทั้งนี้เพราะพรรค PCI ต้องการพิสูจน์ “ความรับผิดชอบ” ต่อชนชั้นนายทุน เพื่อหวังทำแนวร่วมกับพรรคนายทุนในรัฐสภา

ในสเปนซึ่งตอนนั้นปกครองโดยเผด็จการนายพลฟรังโก มีการปิดทุกมหาวิทยาลัยท่ามกลางกระแสประท้วงต้านฐานทัพสหรัฐ ในไทยก็มีการประท้วงฐานทัพสหรัฐเช่นกัน

ในเม็กซิโกนักศึกษา  3 แสนคนพร้อมประชาชน เดินขบวนประท้วงเผด็จการของ “พรรคสถาบันปฏิวัติ” ที่ครองอำนาจมาตั้งแต่การปฏิวัติปี 1910  ตอนนั้นเม็กซิโกกำลังจะจัดงานแข่งกีฬาโอลิมปิค  ในที่สุดนักศึกษาถูกรัฐบาลปราบปรามอย่างหนัก ตายหลายร้อย และถูกจับเป็นพัน แต่ในการแข่งกีฬาครั้งนั้น นักวิ่งเหรียญทองและเหรียญเงินผิวดำจากอเมริกาสองคน ยืนขึ้นชูกำปั้นถุงมือดำ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังคนผิวดำ (Black Power) ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งในกรรมการกิฬาโอลิมปิค

10318769_10152419982244925_2015312474_n

     ในกรีช หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ในไทย นักศึกษากรีชออกมาชุมนุมไล่เผด็จการทหาร โดยตะโกนคำว่า “Thailand Thailand!!!”

ในเวียดนามในช่วงตรุสเวียดนามปี 1968 กองกำลังแนวร่วมปลดแอกชาติ หรือที่เรียกกันว่า “เวียดกง” ยึดสถานทูตอเมริกากลางเมืองไซ่ง่อนในเวียดนามใต้ และยิงปืนออกมา เหตุการณ์นี้ถ่ายทอดสดออกไปทั่วโลก ทำให้ชนชั้นปกครองอเมริการู้ตัวว่าไม่สามารถชนะสงครามได้ และให้กำลังใจกับนักศึกษาสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย ที่ชุมนุมต่อต้านสงคราม ในไม่ช้าคนผิวดำอย่างนักมวยชื่อ “โมหัมหมัด อาลี” ก็ออกมาฝืนกฎหมาย ปฏิเสธการถูกเกณฑ์เป็นทหาร โดยอธิบายว่า ‘คนเวียดนามไม่เคยเรียกผมว่า “ไอ้มืด” ผมจะไม่ไปรบในสงครามคนผิวขาว’ และทุกฐานทัพของอเมริกาทั่วโลกมีกลุ่มทหารกบฏที่ไม่พอใจกับสงครามพร้อมกับกลุ่มศึกษาทางการเมืองและหนังสือพิมพ์ของตนเอง

ขบวนการกบฏต่อชนชั้นปกครองในสหรัฐอเมริกามีสองซีกคือ นักศึกษาที่ต่อต้านสงครามเวียดนาม และคนผิวดำที่ต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติ ในที่สุดมีการตั้งพรรคเสือดำ (Black Panther Party) เพื่อจับอาวุธสู้กับรัฐเหยียดผิว นอกจากนี้มีการสร้างขบวนการรักเพศเดียวกัน แต่ปัญหาใหญ่ในสหรัฐ คือการไม่ทำแนวร่วมกับขบวนการแรงงาน จึงขาดพลัง

ในอังกฤษและไอร์แลนด์มีการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของชาวแคทอลิคในไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งส่งผลให้สตรีวัยสาวฝ่ายซ้ายได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส. ในอังกฤษเองมีการผลักดันสิทธิทำแท้งเสรี และพัฒนาขบวนการสิทธิสตรีผ่านแนวร่วมกับสหภาพแรงงาน

เมื่อพิจารณาเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ในไทย ชนชั้นปกครองและนักวิชาการกระแสหลัก จะบิดเบือนประวัติศาสตร์จนไม่มีการเชื่อมโยงกับกระแสการต่อสู้สากลเลย มีแต่การสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ที่เน้นบทบาทคนชั้นบน และลดบทบาทกรรมกรและนักศึกษา การต่อสู้ในช่วงนั้นเป็นสิ่งที่กำหนดกรอบการต่อสู้เพื่อปฏิรูปการเมืองปัจจุบัน  เช่นข้อเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วม และความเป็นธรรมทางสังคมโดยการสร้างรัฐสวัสดิการ  และ ๑๔ ตุลา เป็นต้นกำเนิดของการรื้อฟื้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และการตั้งคำถามกับบทบาทสถาบันกษัตริย์

ความพ่ายแพ้ในไทยช่วง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และช่วงป่าแตก มาจากข้อผิดพลาดของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ไม่สนับสนุนการต่อสู้ในเมืองเป็นหลัก แล้วพานักศึกษาหลงทางภายใต้การควบคุมของพรรคจนกระทั้งป่าแตกและพรรคล่มสลาย

บทเรียนสำคัญจากคลื่น 1968 คือความสำคัญของมวลชนนักศึกษาในการเป็นหัวหอกการต่อสู้ แต่หัวหอกอย่างเดียวไม่พอ เพราะถ้าไม่มีการทำแนวร่วมกับมวลชนของขบวนการแรงงานกระแสการต่อสู้จะอ่อนแอ และถ้าไปฝากความหวังกับผู้นำ หรือพรรค ที่พาเราไปประนีประนอมกับชนชั้นปกครอง การกบฏจะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง นี่บทสรุปสำคัญจากการแช่แข็งการต่อสู้ของเสื้อแดงโดยพรรคเพื่อไทยและทักษิณ มีหลายคนที่ไม่เข้าใจประเด็นเหล่านี้และหันไปเน้นการประท้วงเชิงสัญญลักษณ์ของคนกลุ่มเล็กๆ แต่ถ้าเราจะเปลี่ยนสังคมเราต้องสร้างขบวนการที่ใหญ่โตพอที่จะท้าทายอำนาจรัฐ

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2i294Cn

และ https://bit.ly/2IeFt9a

วชิราลงกรณ์แสดงความโลภเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ใจ อึ๊งภากรณ์

[ท่านใดที่อ่านผ่าน Facebook อาจอ่านได้ง่ายขึ้นถ้าเข้าไปอ่านในบล็อก ]

การรวม “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” และ “ทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน” กับ “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ภายใต้ชื่อของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ไม่ใช่การรวบ “สมบัติของชาติ” มาเป็นของนายวชิราลงกรณ์ เพราะการปล้นสมบัติแห่งชาติเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหลายปี แต่มาตรการนี้แสดงถึงความโลภของกษัตริย์รัชกาลที่ ๑๐

[ดู https://bit.ly/2ykQJNs , https://bbc.in/2LTUvPN ]

ทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ไทย มาจากการใช้อำนาจบังคับด้วยความรุนแรงมาตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์ คือกษัตริย์ศักดินาใช้แรงงานบังคับและการผูกขาดผลประโยชน์การค้าเพื่อสะสมความร่ำรวยบนสันหลังประชาชน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่๕ มีการล้มระบบศักดินาและเปลี่ยนไปเป็นระบบทุนนิยมแทน ทรัพย์สินของกษัตริย์ หรือ “กรมพระคลังข้างที่” ก็แปรไปเป็นลักษณะธุรกิจแบบทุนนิยมที่ขูดรีดประชาชนในรูปแบบใหม่ พร้อมกับการรีดไถภาษีอีกด้วย

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทรัพย์สมบัติของกษัตริย์เกิดหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ เพราะ “กรมพระคลังข้างที่” ถูกลดบทบาทมาเป็น “สำนักงานพระคลังข้างที่” และอยู่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง คือกลายเป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่สมบัติของกษัตริย์

แต่สภาพเช่นนี้อยู่ได้ไม่นาน เพราะในปี ๒๔๙๑ รัฐบาลของควง อภัยวงศ์ จากพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มนิยมเจ้า ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้เป็นองค์กรนิติบุคคล คือปล้นโอนจากทรัพย์สมบัติของชาติกลับไปเป็นของกษัตริย์ อย่างไรก็ตามมีการสร้างภาพหลอกลวงว่า “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” อิสระจากสมบัติส่วนตัวของกษัตริย์และไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

ในปีค.ศ. 2012 Simon Montlake ในนิตยสาร Forbes ได้ตั้งคำถามว่า “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” คืออะไรกันแน่? มันไม่ใช่ส่วนหนึ่งของสำนักพระราชวัง มันไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ และมันไม่ใช่บริษัทเอกชน แต่มันมีลักษณะพิเศษ Montlake สรุปว่า “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” คือธุรกิจของราชวงศ์เพื่อสืบทอดสมบัติสู่สมาชิกรุ่นต่อไปของครอบครัวในอนาคต [ดู https://bit.ly/2yknoCQ ]

ในความเป็นจริงตั้งแต่สมัยกษัตริย์ภูมิพล การบริหาร “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” อยู่ในมือของกษัตริย์อย่างผูกขาด เพราะกษัตริย์แต่งตั้งผู้บริหารทั้งหมดยกเว้นรัฐมนตรีคลังที่เข้ามานั่งเป็นประธานแต่ไม่มีอำนาจอะไร และกำไรต่างๆ ไม่ได้กลับเข้าคลังแต่อย่างใด แต่อยู่กับกษัตริย์โดยที่การบริหารสำนักงานมักจะปิดลับ พูดง่ายๆ “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ถือได้ว่าเป็นสมบัติของกษัตริย์ นี่คือสาเหตุที่นิตยสาร Forbes คำนวณความร่ำรวยของภูมิพลโดยบวก “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” และ “ทรัพย์สินส่วนพระองค์”

นอกจากนี้ “ทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน” ที่บริหารและเป็นเจ้าของวังบางแห่ง ก็ไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริงอีกด้วย

ดังนั้นการรวม “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” และ “ทรัพย์สินส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน” กับ “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ภายใต้ชื่อของวชิราลงกรณ์ไม่ใช่การรวบ “สมบัติของชาติ” มาเป็นของนายวชิราลงกรณ์แต่อย่างใด

แต่มันเป็นการคุมสมบัติทั้งหมดโดยวชิราลงกรณ์ เพื่อกีดกันอิทธิพลของคนรุ่นก่อนที่เคยบริหารทรัพย์สินเหล่านี้และจงรักภักดีต่อภูมิพล ซึ่งวชิราลงกรณ์ไม่ไว้ใจพวกนี้เท่าไร นอกจากนี้มันเป็นการกีดกันผลประโยชน์ของคนอื่นในครอบครัวหรือในเครือข่ายราชวงศ์เพื่อไม่ให้เข้ามาแย่งส่วนแบ่ง

แน่นอนมันบ่งบอกถึงความโลภทรัพย์ของกาฝากกษัตริย์วชิราลงกรณ์ แน่นอนมันแสดงให้เห็นว่าวชิราลงกรณ์ไม่สนใจวิธีการเนียนๆ ที่ภูมิพลเคยใช้ในการคุมทรัพย์ แน่นอนวชิราลงกรณ์มีนิสัยส่วนตัวที่น่ารังเกียจ แต่มันไม่ได้เป็นการปล้นสิ่งที่เคยเป็นของส่วนรวมเพราะมันถูกปล้นมาตั้งแต่ยุคก่อน และเราไม่ควรนำประเด็นนี้มาผูกกับความเพ้อฝันของบางคนที่มองว่าวชิราลงกรณ์เป็นคนที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศอีกด้วย วชิราลงกรณ์เป็นแค่ประมุขที่ไร้อำนาจ อำนาจแท้อยู่ที่ทหารและนายทุน แต่วชิราลงกรณ์เป็นประมุขราคาแพง เป็นคนที่รวยที่สุดในประเทศ เป็นกษัตริย์ที่รวยเป็นอันดับต้นๆของโลก ทั้งๆ ที่ตอนนี้เริ่มยอมจ่ายภาษีในทุกส่วนของสมบัติ เพราะเมื่อก่อน “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” ไม่ต้องจ่ายภาษีเลย

เผด็จการทหารและการสืบทอดอำนาจเผด็จการ 20 ปีผ่านยุทธศาสตร์แห่งชาติ คืออุปสรรคหลักในการสร้างประชาธิปไตย

มันมีบทสรุปเดียวจากปรากฏการณ์เรื่อง “สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” คือในอนาคตเราจะต้องยกเลิกสถาบันกษัตริย์ และยึดทรัพย์สมบัติทั้งหมดกลับมาเป็นของประชาชน เพื่อสร้างชีวิตที่ดีสำหรับพลเมืองทุกคน