กฏหมาย 112 ไร้ความชอบธรรมโดยสิ้นเชิง เราต้องรณรงค์ให้ยกเลิก

ใจ อึ๊งภากรณ์

กฏหมาย 112 เป็นกฏหมายที่ทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยสิ้นเชิง และสังคมใดที่เราไม่สามารถพูดอะไรบางอย่างได้เกี่ยวกับการเมือง หรือบุคคลสาธารณะ ไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย

ยิ่งกว่านั้นสังคมใดที่ฆาตกรมือเปื้อนเลือดอย่างประยุทธ์ ทำรัฐประหารตั้งตัวเป็นนายกรัฐมนตรีเถื่อน แล้วลอยนวล เหมือนฆาตกรรัฐไทยอื่นๆ แล้วมาจำคุกคนที่เห็นต่างแต่ไม่เคยใช้ความรุนแรงนั้น ต้องถือว่าเป็นสังคมทรามที่ขาดความยุติธรรมพื้นฐาน

กฏหมาย 112 มันแก้ไขไม่ได้ มันต้องถูกยกเลิก

การแก้กฏหมาย 112 ให้สำนักงานหนึ่งเป็นผู้ฟ้องแต่ฝ่ายเดียว ควบคู่กับการลดโทษ ไม่สามารถแก้ปัญหาว่า 112 เป็นกฏหมายที่ปิดปากประชาชน ใช้กระบวนการลับในศาล และทำให้การพูดความจริงเป็นสิ่งที่ผิดได้ ตรงนี้จะเห็นว่า 112 ต่างจากกฏหมายหมิ่นประมาทธรรมดา

ข้อเสนอของ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้แค่แก้ไขมาตรา 112 จะไม่แก้ปัญหา ประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกไม่มีกฏหมายนี้

ประเด็นคือทำไมต้องมีกฏหมายเพื่อปกป้องความศักดิ์สิทธิ์จอมปลอมของนายภูมิพล? ถ้าเขามีผลงานที่น่ายกย่องจริงก็คงไม่ต้องมีกฏหมายแบบนี้เลย

คำถามที่คนไทยควรมีสิทธิ์ถามในยุคนี้คือ

  1. เมื่อทหารทำรัฐประหาร หรือฆ่าประชาชนผู้รักประชาธิปไตย โดยอ้างว่าทำเพื่อปกป้องกษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทำไมประมุขไม่ออกมาวิจารณ์ทหารและปกป้องรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย? มันเป็นคำถามเรื่องบทบาทหน้าที่ของประมุข มันเป็นคำถามที่มีความชอบธรรม และเป็นคำถามที่เรายังไม่ได้รับคำตอบในประเทศไทย สาเหตุสำคัญคือกษัตริย์ถูกทหารใช้เป็นเครื่องมือ กษัตริย์ภูมิพลไม่มีอำนาจเหนือทหาร ทหารต่างหากที่มีอำนาจเหนือกษัตริย์ และใช้กษัตริย์เพื่อทำลายประชาธิปไตย ดังนั้นระบบที่อ้างกันว่าเป็น “ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข” เป็นเพียงเผด็จการอำมาตย์ที่แอบอ้างกษัตริย์ผู้ไร้อุดมการณ์ประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง
  2. เวลาประมุขเสนอลัทธิเศรษฐกิจพอเพียง มันเป็นข้อเสนอให้แช่แข็งความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนในสังคมใช่ไหม? และเป็นข้อเสนอจากบุคคลคนหนึ่งที่รวยที่สุดในประเทศใช่ไหม? คำถามแบบนี้ถูกตั้งขึ้นกับนักการเมืองเศรษฐีฝ่ายขวาในตะวันตกทุกวัน เมื่อเขาเสนอแนวเสรีนิยมกลไกตลาด มันเป็นส่วนหนึ่งของการถกเถียงทางเศรษฐศาสตร์ และเป็นคำถามที่มีความชอบธรรมเช่นกัน แต่ถ้าถามในไทยก็จะโดน 112 ดังนั้นจะเห็นว่าระบบกษัตริย์และกฏหมาย 112 มีไว้แช่แข็งความเหลื่อมล้ำด้วย
  3. ทำไมเราต้องใช้ราชาศัพท์กับประมุขและทุกคนในครอบครัว? และทำไมต้องปิดการจราจรให้กับเขาเมื่อเขาเดินทาง? โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่รถพยาบาลฉุกเฉินไม่เคยได้รับ “อภิสิทธิ์พิเศษ” แบบนี้ เราควรถามคำถามนี้ถ้าอยากสร้างวัฒนธรรมพลเมืองประชาธิปไตย แต่ถ้าถามแค่นี้ก็จะติดคุกในไทย

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ หนึ่งในพวกประจบสอพลอเลียทหาร และหนึ่งในพวกปฏิกูลประเทศไทย อ้างโกหกว่าจะทำให้คนไทยเป็นพลเมืองแทนราษฎร แต่สิ่งเหล่านั้นไม่มีวันเกิดได้ถ้าไม่ยกเลิกกฏหมาย 112 และทำลายเผด็จการทหาร

และถ้าเราจะเพิ่มเสรีภาพความเท่าเทียมในไทย เพื่อให้ประชาชนเป็นพลเมืองเต็มรูปแบบ คือไม่มีใครอยู่เหนือเรา ก็ต้องยกเลิกระบบกษัตริย์ไปด้วย

ธรรมกายหรือพุทธะอิสระ?

ใจ อึ๊งภากรณ์

คำตอบง่ายๆคือไม่เอาทั้งสองฝ่าย ทั้งธรรมกายและพระฟาสซิสต์พุทธะอิสระ เป็นพวกล้าหลัง งมงายในเรื่องไร้สาระ แสวงหาอำนาจและความร่ำรวย และเป็นอุปสรรค์ในการปลดแอกชีวิตพลเมืองไทย

แต่ใครอยากจะงมงายตามพวกนี้ในชีวิตประจำวัน ก็เป็นเรื่องส่วนตัวถ้าไม่มีผลกระทบต่อชาวบ้าน เช่นการทำลายการเลือกตั้งหรืออะไรแบบนั้น และในกรณีแบบนั้นก็มีกฏหมายธรรมดาที่มาลงโทษอันธพาลได้ ถ้าสังคมไม่อยู่ในสภาพไร้ความยุติธรรมใต้กะลาของเผด็จการทหาร

นักมาร์คซิสต์มีประวัติอันยาวนาน ในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชนที่จะเลือกนับถือศาสนาที่หลากหลาย สำหรับเราศาสนาควรเป็นเรื่องส่วนตัว ต้องแยกออกจากรัฐ ไม่ควรมีกฏหมายใดๆ หรือรัฐธรรมนูญใดๆ มาบังคับกติกาของการนับถือศาสนา และไม่ควรมีการบังคับสอนศาสนา หรือบังคับสวดมนต์ในโรงเรียน สตรีควรมีสิทธิ์บวชเป็นพระโดยไม่ต้องขออนุญาติใคร ถ้าจะมี “วันพระ” ก็ไม่ควรเป็นเรื่องที่ใช้บังคับใคร วันสำคัญทางศาสนาของบางคน ก็ควรได้รับการเคารพเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นวันของศาสนาไหน ในบัตรประชาชนหรือเอกสารอื่นๆ ไม่ควรถามว่านับถือหรือไม่นับถือศาสนาไหน ในสังคมไม่ควรให้ผู้ที่อ้างศาสนามากำหนดศีลธรรมของประชาชน เช่นการเสนอห้ามทำแท้งเพื่อควบคุมร่างสตรีเป็นต้น

การมีองค์กรของศาสนาพุทธ ที่มากำหนดควบคุมศาสนา โดยเชื่อมกับอำนาจรัฐ ไม่เคยเป็นหลักประกันว่าศาสนาจะ “ดี” ทุกวันนี้เราก็เห็นพวกมารพวกโจรห่มผ้าเหลือง เช่นสุเทพมือเปื้อนเลือด หรือพระฟาสซิสต์ที่เรียกตัวเองว่าพุทธะอิสระ ในอดีตเราก็เห็นพระฟาสซิสต์กิตติวุฑโฒที่ยุให้คนฆ่านักศึกษาในช่วง ๖ ตุลา

เสรีภาพในการนับถือศาสนา เป็นเรื่องที่ควรจะมีในสังคมประชาธิปไตย เสรีภาพในความศรัทธา และเสรีภาพในการแสดงออกก็เช่นกัน ดังนั้นเราต้องพิจารณารวมกับสิทธิเสรีภาพในการชื่นชมระบบสาธารณะ เสรีภาพในการเสนอให้ยกเลิกระบบกษัตริย์ และเสรีภาพในการวิจารณ์ผู้ถือตำแหน่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ นายกรัฐมนตรี หรือผู้พิพากษาและศาล

สำหรับนักมาร์คซิสต์ การวิเคราะห์ศาสนาของเรามีความละเอียดอ่อนและแหลมคม คาร์ล มาร์คซ์ มองว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างศาสนาและสร้าง “พระเจ้า” พระพุทธรูป หรือ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ขึ้นมาเอง และมนุษย์เป็นคนลงมือเขียนคัมภีร์ด้วย สำหรับ มาร์คซ์ ธาตุแท้ของศาสนาคือวิธีการนำศาสนาไปปฏิบัติของคนจำนวนมาก ซึ่งมีลักษณะหลากหลาย โดยไม่ได้ถูกระบุไว้ในคัมภีร์ใด เพราะทุกคัมภีร์มีการตีความที่แตกต่างกัน

แน่นอนศาสนากลายเป็นเครื่องมือสำคัญของชนชั้นปกครอง คำสอนของศาสนาถูกเปล่งออกมาจากปากผู้ปกครองที่พยายามสอนให้เราสยบยอมและเชื่อฟัง ในขณะเดียวกันศาสนาอาจเป็นธงนำในการต่อสู้ของคนที่ถูกกดขี่

คนไทยจำนวนมากยังงมงายในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีการยกมือไหว้พระ ไหว้รูปปั้นพระพุทธรูปหรือเทวดาฮินดู ไหว้ต้นไม้ ไหว้รูปปั้นคนที่ตายไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือสามัญชน นี่คือภาพที่สะท้อนว่าสังคมไทยแย่ เหลื่อมล้ำ และเต็มไปด้วยการกดขี่ขูดรีด และศาสนาพุทธจะเน้นว่าเราต้องแก้ปัญหาที่ตัวเราเอง แทนที่จะรวมตัวกันแก้ไขสังคมและโค่นล้มชนชั้นปกครอง

มาร์คซ์เคยเขียนว่า “ความทุกข์ของมนุษย์ที่มีรูปแบบออกมาทางศาสนาคือความทุกข์จริง ศาสนาคือการประท้วงต่อความทุกข์จริงในโลก คือการถอนหายใจของผู้ถูกกดขี่ คือหัวใจในโลกที่ไร้หัวใจ คือวิญญาณในสภาพไร้วิญญาณ” แต่ มาร์คซ์ เขียนต่อว่า “ศาสนาคือฝิ่นของประชาชน” มันให้ความอบอุ่นจอมปลอมนั้นเอง

มาร์คซ์ อธิบายต่อว่า “การยกเลิกศาสนาที่สร้างความสุขจอมปลอม ต้องทำผ่านการต่อสู้เรียกร้องให้ทุกคนมีความสุขแท้จริงในชีวิต การเรียกร้องให้คนเลิกงมงายในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ต้องเป็นการเรียกร้องให้ยกเลิกสภาพสังคมที่ทำให้คนจำเป็นต้องงมงาย และการวิจารณ์ศาสนาต้องเป็นการวิจารณ์สังคมที่ทำให้มนุษย์น้ำตาคลอด้วยความทุกข์”

เมื่อเราสร้างโลกใหม่ในอนาคต มนุษย์จะเข้าถึงเนื้อแท้ของตนเอง และมีจิตสำนึกที่สะท้อนความจริงทางวิทยาศาสตร์ และในโลกนั้นศาสนาจะค่อยๆ จางหายไปท่ามกลางโลกที่มีหัวใจ วิญญาณ ศักดิ์ศรีและความอบอุ่น แต่สิ่งเหล่านั้นเกิดไม่ได้ถ้าเราไม่มีเสรีภาพ ดังนั้นเราต้องร่วมใจกันต่อต้านเผด็จการ

นักสังคมนิยมกับการทำงานในสหภาพแรงงาน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถ้าเราจะเปลี่ยนแปลงสังคมและร่วมกันปลดแอกตนเองจากอำนาจเผด็จการ เราต้องสนใจ “พลัง” ที่เราจะต้องใช้ในการเผชิญหน้ากับกองทัพ ตำรวจ นายทุน และส่วนอื่นๆ ของอำมาตย์

ที่แล้วมาในไทย จะมีการใช้สองวิธีการในการต่อสู้คือ การจับอาวุธในยุคพรรคคอมมิวนิสต์ (พคท.) และการเน้นมวลชนบนท้องถนนในช่วง ๑๔ ตุลา พฤษภา ๓๕ และในสมัยที่เสื้อแดงชุมนุม แต่ทั้งสองรูปแบบการต่อสู้นี้มีจุดอ่อนและนำไปสู่ความพ่ายแพ้ อย่างไรก็ตามการเน้นพลังมวลชนบนท้องถนน เป็นก้าวสำคัญที่เราคงต้องใช้ในอนาคต ส่วนการจับอาวุธนั้นมีปัญหามากเพราะฝ่ายตรงข้ามมีอาวุธมากกว่าเรา และมันเป็นรูปแบบการต่อสู้ที่ดึงมวลชนจำนวนมากเข้ามาร่วมไม่ได้ ซึ่งเราจะเห็นปัญหานี้จากสมัย พคท. และในปัจจุบันเมื่อเราพิจารณากองกำลังในปาตานี

การอาศัยพลังมวลชนของเสื้อแดงสำคัญมาก แต่มีจุดอ่อนสองประการคือ 1.แกนนำมาจากฝ่ายทักษิณที่ต้องการประนีประนอมมากกว่าที่จะสู้ และ 2.ไม่มีการอาศัยพลังกรรมาชีพผู้ทำงานแต่อย่างใด

ชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงานมีพลังซ่อนเร้นมหาศาล เพราะมูลค่าทุกบาทที่ผลิตขึ้นในสังคมมากจากการทำงานของกรรมาชีพ และมันรวมไปถึงระบบขนส่ง ระบบธนาคาร การผลิตแจกจ่ายไฟฟ้า การบริการสาธารณะสุข และการบริการในระบบการศึกษาด้วย มันไม่ใช่แค่เรื่องการผลิตต่างๆ ในโรงงานเท่านั้น

หลายครั้งในประเทศอื่นมีการอาศัยพลังชนชั้นกรรมาชีพในการเปลี่ยนสังคม หรือแม้แต่ในการกดดันต่อสู้ทางการเมือง เช่นการปฏิวัติรัสเซีย การล้มมูบารักในอียิปต์ การสร้างรัฐสวัสดิการและประชาธิปไตยในยุโรป และการสร้างประชาธิปไตยในเกาหลีใต้

ดังนั้นนักสังคมนิยมจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องการนำทางการเมือง ด้วยการสร้างพรรคที่อิสระจากนายทุนและชนชั้นสูง และการอาศัยพลังของชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงาน มันแปลว่านักสังคมนิยมต้องทำงานในสหภาพแรงงานทั่วประเทศ เพราะสหภาพแรงงานเป็นส่วนที่ก้าวหน้าที่สุดของชนชั้นกรรมาชีพ

อย่างไรก็ตามเวลานักสังคมนิยมทำงานในสหภาพแรงงาน มันไม่ควรจะเป็นในรูปแบบการ “ลงไปช่วยคนงาน” เพราะนั้นคือวิธีการของ เอ็นจีโอ ที่มองว่าตนเองเป็น “พี่เลี้ยง” ที่จะช่วยคนงาน “ที่อ่อนแอและน่าสงสาร”

นักสังคมนิยมควรเป็นส่วนหนึ่งของกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน เราควรทำงานในสถานที่ทำงานต่างๆ และปลุกระดมจากภายใน ในระยะแรกเราอาจต้องทำงานจากภายนอก แต่ในช่วงนั้นต้องเน้นการสร้างนักสังคมนิยมที่เป็นกรรมาชีพ เพื่อให้เขาทำงานในสหภาพและสถานที่ทำงานของเขาเอง

แน่นอนนักสังคมนิยมจะต้องมีส่วนในการสร้างความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน และต้องมีส่วนในการสนับสนุนการประท้วงเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาปากท้อง เช่นเรื่องค่าจ้าง โบนัส และสภาพการจ้างอื่นๆ แต่ถ้าทำแค่นั้น เราก็เป็นแค่ “นักสหภาพแรงงาน” และผู้ที่เป็นแค่ “นักสหภาพแรงงาน” จะมองว่าองค์กรจัดตั้งหลักคือสหภาพแรงงาน ไม่ใช่พรรคซ้ายสังคมนิยม และเราจะก้าวข้ามปัญหาภายในรั้วสถานที่ทำงานเพื่อไปสนใจสังคมภายนอกไม่ได้

เมื่อนักสหภาพแรงงานใช้แนวคิดที่เน้นแต่องค์กรสหภาพ ซึ่งเรียกว่า “ลัทธิสหภาพ” มันจะต้องมีการประนีประนอมกับสมาชิกทุกคนในสถานที่ทำงาน ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงจะมีจุดยืนและแนวคิดที่หลากหลาย บางคนจะอนุรักษ์นิยมรับแนวคิดนายทุนและชนชั้นปกครอง บางคนอาจอยากต่อรองต่อสู้เพื่อเรื่องปากท้อง และอีกส่วนหนึ่งอาจอยากเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น ถ้าเราสู้แบบ “ลัทธิสหภาพ” เราจะต้องประนีประนอมกับทั้งสามส่วน ซึ่งแปลว่าการนำของเราจะไม่ก้าวหน้า ไม่เลยขอบเขตของสังคมปัจจุบันแต่อย่างใด

ดังนั้นเวลานักสังคมนิยมทำงานในสหภาพแรงงาน เราต้องเน้นการปลุกระดมทางการเมืองเสมอ และต้องเน้นการพยายามดึงสมาชิกสหภาพที่ก้าวหน้าที่สุด เข้ามาเป็นสมาชิกพรรคซ้าย พร้อมๆ กับการต่อสู้เรื่องปากท้อง

การปลุกระดมทางการเมืองแปลว่าต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อของพรรค และผ่านกลุ่มศึกษาของพรรค ซึ่งต่างจากกลุ่มศึกษาของสหภาพที่เน้นแต่เรื่องปากท้อง การศึกษาทางการเมืองของพรรคต้องครอบคลุมการวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทยและสังคมต่างประเทศ ต้องเรียนบทเรียนจากประวัติศาสตร์ไทยและทั่วโลก ต้องศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ ต้องศึกษาธาตุแท้ของชนชั้นและของรัฐ

การศึกษาแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทย เพราะในสมัย พคท. ก็มีการเน้นการศึกษาแบบนั้น ไม่ว่าผมอาจมีข้อถกเถียงกับแนวการเมืองของ พคท. มากน้อยแค่ไหน แต่มันเป็นการศึกษาทางการเมืองเพื่อจัดตั้งพรรค ซึ่งหลังการล่มสลายของ พคท. นักปฏิบัติการต่างๆ พากันหันหลังให้เรื่องนี้ เพื่อทำงานแบบพี่เลี้ยงในรูปแบบ เอ็นจีโอ ที่ปฏิเสธเรื่องการเมืองเพื่อเน้นประเด็นปากท้องอย่างเดียว นี่คือที่มาของความอ่อนแอของขบวนการแรงงานไทยในปัจจุบัน และมันเป็นผลทำให้ขบวนการประชาธิปไตยอ่อนแอไปด้วย นี่คือสิ่งที่เราต้องลงมือแก้ไข

กรีซกับไทย บทเรียนในความล้มเหลวของยิ่งลักษณ์

ใจ อึ๊งภากรณ์

สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันในประเทศกรีซ มีบทเรียนสำหรับประเทศไทย เพราะมันชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยของยิ่งลักษณ์ พลาดโอกาสสำคัญในการทำลายอำนาจของฝ่ายเผด็จการ หลังการเลือกตั้งปี ๒๕๕๔

หลังจากชัยชนะของพรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” ในการเลือกตั้งกรีซ มีการตั้งรัฐบาลและรุกสู้กับกลุ่มทุนใหญ่ของ “อียู” ทันที รัฐมนตรีการคลัง ยานิส วารูฟาคิส เปิดประเด็นในการโต้กับอียู โดยประกาศว่า “ไตรภาคีเสรีนิยม” หมดความสำคัญไป ไตรภาคีของนายทุนอันนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยธนาคารกลางอียู ไอเอ็มเอฟ และกรรมการบริหารอียู เป็นตัวหลักในการสั่งการให้รัฐบาลกรีซในอดีตต้องตัดงบประมาณ และทำลายชีวิตประชาชน ทั้งนี้เพื่อจ่ายเงินคืนให้ธนาคารและกลุ่มทุนใหญ่โดยเฉพาะในเยอรมัน นอกจากนี้รัฐบาลพรรคไซรีซาก็ประกาศว่าจะรับคนที่เคยถูกปลดออกจากงานกลับเข้าทำงาน และจะแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเร่งด่วน

แน่นอนเราไม่สามารถเพ้อฝันไปได้ว่ารัฐบาลไซรีซาในกรีซจะปฏิวัติยกเลิกทุนนิยมเพื่อสร้างสังคมนิยม และเราต้องเข้าใจว่า ยานิส วารูฟาคิส, อาเลกซิส ซีพรัส และทีมพรรคไซรีซา คงจะประนีประนอมบ้างกับกลุ่มทุนใหญ่ในอียู แต่ที่สำคัญคือในขณะที่ไซรีซาเปิดศึกกับกลุ่มทุนอียูและนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด  ที่เป็นพิษภัยกับประชาชนคนทำงาน มีมวลชนจำนวนมากออกมาชุมนุมกลางเมืองอาเทนส์ เพื่อสนับสนุนจุดยืนรัฐบาล และหลายส่วนของมวลชนคงต้องการกดดันให้รัฐบาลทำตามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้ในช่วงหาเสียงอีกด้วย นอกจากนี้เราก็ควรใช้สติ ระแวงว่าพรรคไซรีซาอาจพยายามลดการเคลื่อนไหวของมวลชนในอนาคต แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดและยังไม่มีการประนีประนอม

ประเด็นสำคัญสำหรับเรา ในการพิจารณาการพลาดโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ของรัฐบาลเพื่อไทยคือ รัฐบาลไซรีซามีความชอบธรรมที่กลุ่มทุนใหญ่ไม่สามารถจะปฏิเสธได้ เขาได้รับการเลือกตั้งจากเสียงประชาชนส่วนใหญ่จำนวนมาก มันเป็นการเปล่งเสียงโดยประชาชนว่าเขาไม่ต้องการที่จะอยู่ภายใต้เผด็จการของไตรภาคีทุนอียูอีกต่อไป และมีการหนุนในรูปธรรมโดยการชุมนุมอีกด้วย รัฐบาลไซรีซาจึงสามารถเจรจาจากจุดยืนที่มีความเข้มแข็งได้

ถ้าเราพิจารณาท่าทีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์หลังชนะการเลือกตั้งแบบขาดลอย เราจะเห็นว่าต่างจากท่าทีไซรีซาโดยสิ้นเชิง เพราะไม่มีการประกาศรุกสู้ทันที ไม่มีการปลดประยุทธ์ทั้งๆ ที่นายทหารคนนี้แทรกแซงการเลือกตั้งในลักษณะที่ผิดหน้าที่ นอกจากนี้ไม่มีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญเผด็จการทันที และไม่มีการนำอภิสิทธิ์ สุเทพ ประยุทธ์ และอนุพงษ์มาขึ้นศาลในข้อหาฆ่าประชาชน คือไม่มีการใช้โอกาสของความชอบธรรมมหาศาลที่มาจากการชนะการเลือกตั้ง และที่สำคัญไม่มีการเปิดไฟเขียวให้เสื้อแดงออกมาชุมนุมเพื่อหนุนรัฐบาล ตรงกันข้ามมีแต่การเปิดไฟแดงเพื่อแช่แข็งขบวนการเสื้อแดง พร้อมกันนั้นก็มีแต่การหมอบคลานต่อคนอย่างเปรมและประยุทธ์

อาจมีบางคนที่พูดว่าพรรคเพื่อไทยสู้กับเผด็จการไม่ได้ “เพราะนายภูมิพลสั่งการทหารและมีอำนาจล้นฟ้า” แต่ความเชื่อนี้ไม่ตรงกับความจริง กษัตริย์ภูมิพลไม่เคยมีอำนาจหรือแม้แต่ความกล้าหาญที่จะนำอะไร เขาเป็นเพียง “ธง” ที่ทหารและอำมาตย์ส่วนอื่นใช้เพื่อเป็นข้ออ้างในการทำลายประชาธิปไตยเท่านั้น เขาเป็นหุ่นเชิดของทหาร

แม้แต่ในเรื่องเล็กๆ พรรคเพื่อไทยก็ไม่ทำเหมือนพรรคไซรีซา เพราะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังกรีซไม่ยอมผูกเนคไท เหมือนนักการเมืองกระแสหลัก และในวันแรกของการทำงาน ยานิส วารูฟาคิส ขับรถมอร์เตอร์ไซค์เข้ากระทรวง ส่วนนักการเมืองเพื่อไทยทั้งหลายก็แต่งตัวและปฏิบัติเหมือนนักการเมืองกระแสหลักมาตลอด

พฤติกรรมของพรรคเพื่อไทยไม่น่าแปลก เพราะมันเป็นพรรคของนายทุนใหญ่ที่ไม่ต้องการโค่นล้มระบบอำมาตย์ และไม่ต้องการให้มวลชนสู้อย่างถึงที่สุดเพื่อสร้างประชาธิปไตย ท้ายสุดฝ่ายเผด็จการก็ได้โอกาส ทุกอย่างจบลงด้วยรัฐประหารรอบสอง และกระบวนการปฏิกูลการเมืองที่หมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคก่อน ๑๔ ตุลา

ข้อสรุปที่เราควรจะนำไปคิดต่อคือ เราสามารถเผชิญหน้ากับฝ่ายกลุ่มทุนใหญ่ หรือฝ่ายเผด็จการทหาร ที่ดูเหมือนมีอำนาจล้นฟ้า แต่เราต้องอาศัยการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และเราต้องพร้อมจะระดมมวลชนนอกรัฐสภาเพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามเราทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถ้านักประชาธิปไตยไทยยังยึดติดกับพรรคการเมืองของทักษิณ หรือการเคลื่อนไหวกระจัดกระจายของกลุ่มอิสระที่ไม่ยอมสร้างพรรคมวลชนของคนชั้นล่าง

รัฐบาลฝ่ายซ้ายในชีลีผ่านกฎหมาย “การศึกษาฟรีสำหรับทุกคน”!

ข้อมูลจาก OECD ทำให้เห็นว่าประเทศชิลีเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ติด 1 ใน 34 ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงสุด ค่าเล่าเรียนจากโรงเรียนมัธยมสู่มหาวิทยาลัยนั้นแพงที่สุดติดอันดับโลก นักศึกษาที่เข้าไปได้เมื่อจบออกมามีปัญหาในการหาเงินมาชดใช้หนี้ นอกจากโรงเรียนเอกชนของบรรดาชั้นชั้นนำ คุณภาพการสอนโดยทั่วไปนั้นก็ถือว่าแย่ ติดอันดับท้ายๆ ของโลก

การเปลี่ยนแปลงมาจากไหน?

การเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้เริ่มจากนักการเมือง หรือ ข้าราชการ นักเรียนนักศึกษา คือ ผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เริ่มขึ้นในปี 2006 จาก “การปฏิวัตินกเพนกวิน” ชื่อดังกล่าวได้มาจากชุดนักศึกษาสีดำกับสีขาว ที่นักเรียนใส่เพื่อประกาศว่า “การศึกษาคือสิทธิมนุษยชน” เป้าหมายหลักของขบวนการคือ “ระบบการศึกษาฟรี” ตอนต้นๆ ของขบวนการนักศึกษาประสบความสำเร็จบ้างเล็กๆ น้อยๆ ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันที่จับต้องได้

Toma_de_la_Universidad_de_Chile

พลังของนักศึกษาระเบิดขึ้นมาอีกครั้ง พฤษภาคม 2011 นักศึกษายึดมหาวิทยาลัยเป็นเวลา 8 เดือน ส่งผลสะเทือนและกระเพื่อมพลังการเคลื่อนไหวกระจายออกไปในระดับประเทศ การเคลื่อนไหวที่เต็มไปด้วยความดุเดือดรอบนี้กินระยะเวลา 3 ปี ในจุดที่กระแสขึ้นสูงสุด ประมาณว่านักเรียนนักศึกษากว่า 800,000 คนหลั่งไหลเข้าสู่ท้องถนน ประชาชนชาวชิลีมากกว่า 81% ให้การสนับสนุนนักศึกษา ผู้นำนักศึกษาคนสำคัญ ๆ อย่างเช่น Camila Vallejo ตอนนี้เป็น ส.ส. พรรคคอมมิวนิสต์ ในรัฐสภา และแกนนำคนอื่นที่ถูกเลือกเป็น ส.ส. คือ Giorgio Jackson, Gabriel Boric and Karol Cariola

student-leaders

การประท้วงขนาดใหญ่ของนักศึกษาในรอบหลายเดือน เรียกร้องให้มีการปฏิวัติการศึกษาอย่างถอนรากถอนโคน โดยเฉพาะการแปรรูประบบการศึกษา ที่เน้นการทำกำไร ระบบดังกล่าวนำเข้ามาโดยเผด็จการนายพลปิโนเช่

2011_student_UCH_protests_in_Chile

 

ความเข้มแข็งขอบขบวนการนักศึกษาได้กำหนดทิศทางของการเลือกตั้งในปี 2013 และส่งผลให้พรรคสังคมนิยมชนะการเลือกตั้ง มิชเชลล์ บาเชเลส(Michelle Bachelet) กลายมาเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของชิลี เธอให้คำมั่นสัญญาว่าจะยกเลิกนโยบายความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่เป็นมรดกตกทอดมาจาก เผด็จการปิโนเช่ในช่วง 1973-1990 เธอกล่าวต่อไปว่าเธอมุ่งมั่นจะลดความเหลื่อมล้ำ ระหว่างคนจนกับคนรวยลง

Chilean presidence

ในที่สุด ระบบการศึกษาที่เน้นกลไกตลาดก็ได้ปิดฉากลง ไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมารัฐสภาชิลีได้ออกกฎหมายที่ถือว่าสำคัญที่สุดอันหนึ่งในประวัติศาสตร์ชิลี คือ การยกเลิกการเก็บค่าเล่าเรียนในระบบการศึกษา การศึกษาจะต้องเป็นของทุกคน ซึ่งจะเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2016

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ประธานาธิบดี มิชเชลล์ บาเชเลส  ประกาศแผนการปฏิรูปการศึกษาโดยยกเลิกระบบการคัดเลือกที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นมรดกล้าหลังของนายพลเผด็จการปิโนเช่ นอกจากนี้ ประธานาธิบดีประกาศต่อไปว่า “เราต้องการครูคุณภาพ กับ ระดับเงินเดือนที่ดี ระบบการจ้างงานที่มีมาตรฐาน พวกเราต้องการให้โรงเรียนอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ และ พวกเราคิดว่าสิ่งที่สำคัญมากที่สุด คือ ไม่ควรมีใครถูกทิ้งไว้นอกรั้วมหาวิทยาลัย” เพราะการศึกษาต้องเป็นของทุกคน”

ประธานาธิบดี มิชเชลล์ ได้ยกเครื่องระบบภาษี มีการเก็บภาษีจากทุนใหญ่ ซึ่งจะทำให้ให้รัฐมีเงินเพิ่มอย่างมหาศาล 8.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และ เงินดังกล่าวจะถูกมาสร้างระบบการศึกษาเพื่อทุกคน ขณะนี้รัฐสภาชิลีกำลังผ่านกฎหมายตัวใหม่ที่เพิ่มอำนาจให้กับสหภาพแรงงาน

แปลและเรียบเรียงจาก : http://reut.rs/1tkVe1Z , http://bit.ly/1CeZGQn

 

น่าเสียดายที่ทักษิณไม่ใช่พวก “ล้มเจ้า”

ใจ อึ๊งภากรณ์

ตามข่าวที่ตำรวจและทหาร เข้าจับกุม นายหัสดิน อุไรไพรวัน ผู้ต้องสงสัยว่าเป็น “บรรพต” ผู้เผยแพร่คลิปเสี่ยงที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิด ม. 112 ปรากฏว่าฝ่ายทำลายประชาธิปไตยกำลังทำงานหนัก เพื่อโยงเรื่องนี้ให้ถึงทักษิณ โดยมีการพูดถึงท่อน้ำเลี้ยงจาก “นายทุนใหญ่”

ก่อนหน้านี้สำนักข่าวสลิ่มก็โกหกอย่างหน้าด้าน เพื่อป้ายร้าย ศ.ธเนศวร์ เจริญเมือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่าเป็นบรรพต

ฝ่ายทำลายประชาธิปไตยพยายามมานาน ก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยา ที่จะเสนอว่าทักษิณเป็นพวก “ล้มเจ้า” ถึงขนาดที่มีการอ้างว่าทักษิณอยากเป็นประธานาธิบดี

แต่มันเป็นที่น่าเสียดายที่ทักษิณไม่ใช่ “คนล้มเจ้า” แต่อย่างใด

ในความจริงชนชั้นปกครองไทย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายทหาร ข้าราชการอนุรักษ์นิยม หรือฝ่ายทักษิณ ก็ล้วนแต่เชิดชูกษัตริย์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือหาความชอบธรรมให้ตนเอง

ทักษิณ ยืนยันอยู่ตลอดว่าเขารักและจงรักภักดีต่อ ภูมิพลและเจ้าฟ้าชาย และในอดีตรัฐบาลของเขาก็มีส่วนสำคัญในการรณรงค์ให้คนใส่เสื้อเหลืองทุกวันจันทร์และจัดงานฉลอง 60ปี

ในหมู่ปัญญาชน “แดง” บางส่วน การวิเคราะห์ที่อาศัยกรอบการมองสังคมไทยตาม แนวสตาลิน-เหมา ของ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เสนอว่าไทยเป็น “กึ่งศักดินา” ดังนั้นเขามักจะมองว่าความขัดแย้งที่นำไปสู่รัฐประหารล่าสุด สองรอบ เป็นความขัดแย้งระหว่างนายทุนสมัยใหม่(ทักษิณ) กับระบบ “กึ่งศักดินา” ของกษัตริย์ภูมิพล โดยที่กษัตริย์เป็นผู้นำทางการเมืองที่สำคัญ

มุมมองแบบนี้จะต้องอาศัยข้อสรุปว่าการปฏิวัตินายทุนหรือที่บางคนเรียกว่า “กระฎุมพี” ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จหรือยังไม่สมบูรณ์ในประเทศไทย   มันเป็นมุมมองที่เสนอการปฏิวัตินายทุนและขั้นตอนของประวัติศาสตร์ในลักษณะกลไก และไม่เป็นความจริง

การปฏิวัตินายทุนของไทยทำไปภายใต้การนำของรัชกาลที่ห้า และหลังจากนั้นกษัตริย์ก็แปรตัวเป็นนายทุนใหญ่ ซึ่งเป็นอยู่ทุกวันนี้ และหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ กษัตริย์ไทย โดยเฉพาะนายภูมิพล ไม่มีอำนาจทางการเมืองเลย ความขี้ขลาดของนายภูมิพลในทุกเรื่อง ก็ยิ่งทำให้เขาถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยทหารอย่างต่อเนื่อง

ภายใต้ระบบทุนนิยม การมีสถาบันกษัตริย์ มีประโยชน์เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการย้ำว่าบางคนเกิดสูง บางคนเกิดต่ำ ความคิดแบบนี้อำนวยความสะดวกในการขูดรีดคนส่วนใหญ่ภายใต้ประชาธิปไตยครึ่งใบของทุนนิยม นี่คือสถานการณ์ในไทยและในยุโรปด้วย

การที่ทักษิณรักเจ้า เกี่ยวข้องกับการที่เขาไม่ยอมนำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะเขาสนใจแต่ที่จะกลับเข้ามาร่วมแบ่งอำนาจกับฝ่ายอำมาตย์และทหาร และไม่ต้องการให้มีการลุกขึ้นสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยหรือสาธารณรัฐ แต่พวกเราฝ่ายประชาธิปไตย จะต้องพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อสร้างรัฐไทยใหม่

ความเสื่อมของระบบกษัตริย์ไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

งานสวดและเผาศพ “นายพลอากาศ” หมาเลี้ยงเจ้าฟ้าชาย ที่จัดอย่างฟุ่มเฟือย ผิดเพี้ยน เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของสภาพเสื่อมโทรมของราชวงศ์และระบบกษัตริย์ไทย

สังคมไทยเป็นสังคมที่ใช้คำว่า “หมา” เป็นคำด่า แต่ภายใต้ระบบอำมาตย์ “หมา” ของกษัตริย์มีความสำคัญมากกว่าประชาชนธรรมดา อย่าลืมว่าพลเมืองจำนวนมากคงต้องกระตือรือร้นที่จะหาเงินมาจากหลายส่วน เพื่อจัดงานศพให้ญาติรักของตนเอง การจัดงานศพให้หมา จึงเป็นการตบหน้าประชาชนคนจน โดยคนที่อยากจะเป็นกษัตริย์คนต่อไป

ในงานเลี้ยงหรูหราอลังการราคาแพง ที่เชิญแขกระดับสูงจากต่างประเทศมาร่วม เจ้าฟ้าชายก็ปล่อยให้ไอ้หมาฟูฟู วิ่งไปมาบนโต้อาหารและแพร่เชื้อโรคโดยการเลียจานแขกผู้มีเกียรติ ในขณะเดียวกันคนจนในประเทศไทยต้องกินอาหารสำเร็จรูปราคาถูก

อย่าลืมว่ากษัตริย์ภูมิพลหามิตรภาพจากเพื่อมนุษย์ไม่ได้ ได้แต่รักหมา อย่าลืมว่าเวลาพวกประจบสอพลอกราบไหว้นายภูมิพล เขาต้องกราบไหว้หมาด้วย และที่สำคัญคือกษัตริย์คนนี้ที่พร้อมจะดำรงตำแหน่งประมุข และรวยที่สุดในโลก ไม่เคยออกมาปกป้องประชาธิปไตย และไม่เคยตำหนิทหารที่เข่นฆ่าประชาชน

ตั้งแต่สมัย ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ผ่านรัฐประหาร ๑๙ กันยา จนถึงปัจจุบัน พวกเผด็จการที่ปล้นอำนาจประชาชน และด่าดูถูกประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนจน และที่ด่านโยบายช่วยคนจนว่าเป็น “ประชานิยม” บ้าง “โกง” บ้าง พวกนี้ใช้สถาบันกษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรมกับการกระทำของตนเอง

ทักษิณก็ไม่ต่าง นายทุนใหญ่ก็เหมือนกัน เพราะล้วนแต่ใช้กษัตริย์เพื่อสร้างภาพให้ตนเองและเพื่อให้เราเชื่อว่าบางคนเกิดสูง บางคนเกิดต่ำ การกดขี่ขูดรีดในระบบทุนนิยมจะได้ราบรื่นมากขึ้น

พฤติกรรมของเจ้าฟ้าชายเกี่ยวกับการเผยแพร่ภาพเปลือยของแฟนตนเอง พฤติกรรมของพี่น้องหรือแม่ของเขาในการสนับสนุนสลิ่ม และการรณรงค์เชิดชูสถาบันกษัตริย์อย่างบ้าคลั่ง พร้อมกับการใช้กฏหมาย 112 ปราบปรามประชาชนที่รักประชาธิปไตยโดยเผด็จการประยุทธ์ เป็นจุดสุดยอดความเสื่อม

มันทำให้นึกถึงวันท้ายๆ ของราชวงศ์รัสเซีย ที่มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับพระเพี้ยน “รัสปูติน” และความโหดร้ายโง่เขลาของกษัตริย์นิโคลัส ที่ส่งประชาชนไปตายในสงครามโลกโดยเปล่าประโยชน์

1000509261001_1095804066001_bio-top250-rasputin-stpetersburg

ในโลกจริงไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นตามแผนใหญ่ของพระเจ้าที่ไหน ไม่มีอะไรที่เกิดโดยอัตโนมัติ เราจึงไม่ทราบว่าราชวงศ์ไทยและระบบเผด็จการจะอยู่ต่ออีกนานแค่ไหน แต่เราความมุ่งหน้าตั้งความหวังว่าในอนาคตอันใกล้ ประชาธิปไตยจะเบิกบาน ในระบบสาธารณรัฐ

ศาสนา งมงายหรือปลดแอกมนุษย์?

ใจ อึ๊งภากรณ์

นักมาร์คซิสต์สังคมนิยมยึดถือแนวคิด “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” แทนความเชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ การวิเคราะห์โลกของเรากระทำไปเพื่อปฏิบัติการในการเปลี่ยนระบบ เราต้องการทำลายการกดขขี่ขูดรีดและเผด็จการ นี่คือสาเหตุที่เราไม่นับถือศาสนา และไม่เห็นด้วยกับปรัชญาศาสนา เพราะศาสนาพาคนไปตั้งความหวังไว้กับอำนาจเบื้องสูงที่จับต้องไม่ได้ และมักจะเป็นคำสอนที่ถกเถียงด้วยไม่ได้อีกด้วย คือต้องเชื่อฟังและศรัทธาอย่างเดียว

ในยุคนี้มักจะมีการพูดกันถึงบทบาทศาสนาอิสลามเวลามีเหตุการณ์ก่อการร้าย หรือเมื่อมีการทำสงครามในตะวันออกกลาง และแน่นอนพวกที่เหยียดเชื้อชาติในยุโรปและสหรัฐ และพวกที่ให้ความชอบธรรมกับการทำสงครามของรัฐบาลตะวันตก มักจะตั้งใจบิดเบือนเบื้องหลังการต่อสู้โต้ตอบกลับมาของกลุ่มมุสลิมบางกลุ่ม และหลายคนที่อ้างว่าเป็นคนฝ่ายซ้าย โดยเฉพาะในฝรั่งเศส มักจะคล้อยตามกระแสหลักฝ่ายขวา และร่วมในการด่าชาวมุสลิม โดยใช้ข้ออ้างว่าฝ่ายซ้ายคัดค้านทุกศาสนา แต่นั้นเป็นการมองโลกแบบแข็งทื่อและกลไก

เราอาจเห็นสถานการณ์แบบนี้ในไทยด้วย เมื่อบางคนวิจารณ์กลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐไทยในปาตานี

ในมุมกลับฝ่ายซ้ายอีกพวกหนึ่ง จะคล้อยตามความเชื่อของมวลชนและไม่กล้าวิจารณ์ศาสนาเลย ตัวอย่างที่ดีคือองค์กร “ละบังอังมาซา” ในฟิลิปปินส์ ที่ไปร่วมขบวนแห่ของคนงานชาวคริสต์เมื่อสันตะปาปามาเยี่ยมฟิลิปปินส์ โดยไม่มีการวิจารณ์จุดยืนต้านสิทธิทำแท้ง จุดยืนเชิดชูครอบครัวอนุรักษ์นิยม หรือจุดยืนค้านการคุมกำเนิดของสำนักคริสต์สายแคทอลิค ในไทยนักเคลื่อนไหวบางคนอาจไม่กล้าวิจารณ์ศาสนาพุทธหรือศาสนาอิสลาม เมื่อมีการเสนอแนวคิดศาสนาที่กดทับเสรีภาพ

สำหรับนักมาร์คซิสต์ การวิเคราะห์ศาสนาของเรามีความละเอียดอ่อนและแหลมคม

คาร์ล มาร์คซ์ มองว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างศาสนาและสร้าง “พระเจ้า” หรือ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ขึ้นมาเอง และมนุษย์เป็นคนลงมือเขียนคัมภีร์ด้วย แต่เราไม่สามารถจำกัดความศาสนาใดศาสนาหนึ่งจากสิ่งที่เขียนในคัมภีร์ได้ การถกเถียงกันระหว่างคนที่ตีความคัมภีร์แตกต่างกันเป็นเรื่องไม่มีวันจบ และในความเป็นจริงศาสนาต่างๆ จงใจให้มีการตีความหลากหลาย เพื่อเอาใจทุกคนเพื่อขยายอิทธิพล คือเอาใจคนรวยและคนจนพร้อมกัน หรือให้ความชอบธรรมกับชนชั้นปกครองและเห็นใจความทุกข์ของคนที่ถูกปกครองพร้อมกัน สำหรับ มาร์คซ์ ธาตุแท้ของศาสนาคือวิธีการนำศาสนาไปปฏิบัติของคนจำนวนมาก ซึ่งมีลักษณะหลากหลาย

แน่นอนศาสนากลายเป็นเครื่องมือสำคัญของชนชั้นปกครอง คำสอนของศาสนาถูกเปล่งออกมาจากปากผู้ปกครองที่พยายามสอนให้เราสยบยอมและเชื่อฟัง และสำหรับผู้ถูกกดขี่คำสอนของศาสนาบ่อยครั้งกลายเป็นการสยบยอมต่อชนชั้นปกครอง เพราะคิดว่าเป็นผลกรรมของชาติก่อน หรือไม่ก็ลิขิตของพระเจ้า

ในขณะเดียวกันศาสนาอาจเป็นธงนำในการต่อสู้ อย่างที่เราเห็นในกรณีศาสนาอิสลามในตะวันออกกลาง หรือปาตานี โดยเฉพาะเวลาศัตรูเป็นคนต่างศาสนาหรือไม่นับถือศาสนา แต่คำถามสำคัญคือ การต่อสู้ภายใต้ธงอิสลามที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ จะปลดแอกมนุษย์ได้มากน้อยเพียงใด หรือจะเป็นเพียงการเปลี่ยนชนชั้นปกครองโดยไม่มีการกำจัดการกดขี่ขูดรีดเลย

คนไทยจำนวนมากยังงมงายในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีการยกมือไหว้พระ ไหว้รูปปั้นพระพุทธรูปหรือเทวดาฮินดู ไหว้ต้นไม้ ไหว้รูปปั้นคนที่ตายไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือสามัญชน นี่คือภาพที่สะท้อนว่าสังคมไทยแย่ เหลื่อมล้ำ และเต็มไปด้วยการกดขี่ขูดรีด และศาสนาพุทธจะเน้นว่าเราต้องแก้ปัญหาที่ตัวเราเอง แทนที่จะรวมตัวกันแก้ไขสังคมและโค่นล้มชนชั้นปกครอง

มันเป็นเรื่องสำคัญที่ฝ่ายซ้ายต้องเข้าใจว่าทำไมมวลชนที่ถูกกดขี่ถึงเชื่อในศาสนา เพราะมันไม่ใช่ “ความโง่” แต่อย่างใด มาร์คซ์เคยเขียนว่า “ความทุกข์ของมนุษย์ที่มีรูปแบบออกมาทางศาสนาคือความทุกข์จริง ศาสนาคือการประท้วงต่อความทุกข์จริงในโลก คือการถอนหายใจของผู้ถูกกดขี่ คือหัวใจในโลกที่ไร้หัวใจ คือวิญญาณในสภาพไร้วิญญาณ” แต่ มาร์คซ์ เขียนต่อว่า “ศาสนาคือฝิ่นของประชาชน” มันให้ความอบอุ่นจอมปลอมนั้นเอง

แทนที่ชาวมาร์คซิสต์จะเน้นการเถียงกับคนที่งมงายในศาสนา เราจะต้องเน้นการต่อสู้กับสภาพสังคมที่ย่ำแย่อันเป็นสาเหตุที่ทำให้คนต้องพึ่งศาสนาแต่แรก

มาร์คซ์ อธิบายว่า “การยกเลิกศาสนาที่สร้างความสุขจอมปลอม ต้องทำผ่านการต่อสู้เรียกร้องให้ทุกคนมีความสุขแท้จริงในชีวิต การเรียกร้องให้คนเลิกงมงายในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ต้องเป็นการเรียกร้องให้ยกเลิกสภาพสังคมที่ทำให้คนจำเป็นต้องงมงาย และการวิจารณ์ศาสนาต้องเป็นการวิจารณ์สังคมที่ทำให้มนุษย์น้ำตาคลอด้วยความทุกข์”

เราจะยืนอยู่เคียงข้างผู้ที่นับถือศาสนาถ้าเขาถูกกดขี่ และโดยเฉพาะในกรณีที่เขาลุกขึ้นสู้เพื่อเสรีภาพและความยุติธรรม แต่เราจะไม่กลัวที่จะวิจารณ์ศาสนาด้วย