Category Archives: Politics

บทวิเคราะห์ทางการเมือง

พคท. ไม่เคยเป็นพรรคมาร์คซิสต์

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นพรรคมวลชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อคนชั้นล่าง ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับพรรคการเมืองในรัฐสภาที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ และยิ่งกว่านั้นนักต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่าเขาสู้เพื่อสังคมใหม่ที่ดีกว่าสังคมที่ดำรงอยู่ เราจึงต้องให้ความเคารพกับเขาในฐานะฝ่ายซ้ายรุ่นพี่ อย่างไรก็ตาม พคท. ไม่เคยเป็นพรรคมาร์คซิสต์ เพราะเป็นพรรคแนวเผด็จการสตาลิน-เหมา จะขออธิบายรายละเอียด

พคท. ต้านการปฏิวัติ ๒๔๗๕

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในไทยเกิดขึ้นในยุคที่สตาลินเคยเรียกว่า “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” การเสนอว่าโลกอยู่ใน “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” แปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ทุกแห่งต้องไม่รวมมือกับใครที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ มีสามวัตถุประสงค์คือ (1) เป็นการปกปิดหรือแก้ตัวจากความผิดพลาดของสตาลินที่เคยเสนอให้คอมมิวนิสต์ไว้ใจ เชียงไกเชค ในจีน หรือพวกผู้นำแรงงานข้าราชการในอังกฤษ (2) เป็นการสร้างบรรยากาศ “ปฏิวัติ” เพื่อรณรงค์ให้คนงานในรัสเซียทำงานเร็วขึ้นด้วยความรักชาติ และ (3) เป็นการตรวจสอบพิสูจน์ว่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนไหนในต่างประเทศพร้อมจะ “หันซ้ายหันขวา” ตามคำสั่งของ สตาลิน เพื่อให้มีการกำจัดคนที่ไม่เชื่อฟัง และในที่สุด สตาลิน สามารถสร้างขบวนการคอมมิวนิสต์สากลให้เป็นเครื่องมือของรัสเซียได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ดังนั้นผู้ปฏิบัติการของ พคท. ได้ผลิตและแจกใบปลิวโจมตีคณะราษฎรว่าเป็น “คณะราษฎรปลอม” ที่ ”ร่วมมือกับรัชกาลที่ ๗” ทั้งๆ ที่ ปรีดี พนมยงค์ เป็นฝ่ายสังคมนิยมปฏิรูปที่ต่อต้านระบบกษัตริย์ (ดูหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ)

คำวิจารณ์ของ พคท. ไม่ต่างจากการวิจารณ์พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมันว่าเป็น “ฟาสซิสต์แดง” ผลคือมันทำให้คอมมิวนิสต์ในไทยโดดเดี่ยวตนเองจากคนก้าวหน้าในคณะราษฎรไประยะหนึ่ง และในเยอรมันมันนำไปสู่ชัยชนะของฮิตเลอร์

ต่อมาในปี ๒๔๘๐ มีการยกเลิกนโยบายซ้ายสุดขั้วของสตาลิน เพื่อหันขวาไปสู่การสร้างแนวร่วมกับรัฐบาลและพรรคนายทุนที่พอจะดูเป็นมิตร โดยไม่เลือกหน้าเลย การหันขวาแบบนี้ก็สอดคล้องกับการที่สตาลินเริ่มกลัวอำนาจของเยอรมันภายใต้ฮิตเลอร์ ดังนั้นในปี ๒๔๘๔ คอมมิวนิสต์ในไทยจึงลงมือสร้างแนวร่วมกับ “นายทุนชาติ”

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนนี้กลายเป็นนโยบายหลัก และมีการให้เหตุผลว่าไทยเป็นสังคม “กึ่งศักดินากึ่งเมืองขึ้น” ที่ไม่อาจปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมได้ทันที เพราะต้องผ่านขั้นตอนปฏิวัติกู้ชาติเพื่อสร้างทุนนิยม ซึ่งเป็นสูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน แนวนี้เคยมีการเสนอในไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๓ สองปีก่อนที่จะหันซ้ายสู่“ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” คือหันขวา หันซ้าย และกลับมาหันขวาอีกครั้ง

สูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการปฏิวัติรัสเซียภายใต้การนำของ เลนินและทรอตสกี้ ในปี 1917 เพราะมีการกระโดดข้ามจากสังคมภายใต้ระบบฟิวเดิลไปสู่สังคมนิยม และตรงกับแนวคิด “ปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้และ คาร์ล มาร์คซ์

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในยุคที่สฤษดิ์กำลังแย่งอำนาจกับจอมพลป. ในปี ๒๕๐๐ วารสาร “ปิตุภูมิ” ของพรรคคอมมิวนิสต์เสนอว่า “สฤษดิ์เป็นขุนพลที่รักชาติและมีแนวโน้มไปทางประชาธิปไตย” และในปีนั้นผู้ปฏิบัติการของพรรคเข้าร่วมกับพรรคชาติสังคมของสฤษดิ์

เพียงหนึ่งปีหลังจากนั้น เมื่อสฤษดิ์ทำรัฐประหารรอบสอง พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเปลี่ยนการวิเคราะห์จอมพลสฤษดิ์ไปเป็นการมองว่า สฤษดิ์เป็น “ฟาสซิสต์ของฝ่ายศักดินา” โดยไม่มีคำอธิบายแต่อย่างใด แต่ที่แน่นอนคือสฤษดิ์ได้ลงมือปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อย่างหนัก

“ว่าด้วยทุน” ของคาร์ล มาร์คซ์ ที่ พคท. ไม่สนใจแปลเป็นไทย

พคท. ถูกสถาปนาขึ้นเมื่อเกือบ 100 ปีก่อนหน้านี้ แต่ตลอดเวลาที่พรรคมีบทบาทสำคัญในการนำการต่อสู้กับเผด็จการ โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ หนังสือสำคัญของ คาร์ล มาร์คซ์ ที่วิเคราะห์ระบบทุนนิยมอย่างละเอียด ไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเลย เราต้องรอจนถึงปี ๒๕๔๒ หลังจากที่ พคท. ล่มสลายไป

สาเหตุสำคัญที่อธิบายปรากฏการณ์นี้คือ ตลอดเวลาที่ พคท. ยังดำรงอยู่ พรรคใช้แนว “สตาลิน-เหมา” ที่ตรงข้ามกับทฤษฎีมาร์คซิสต์ พวกแนว “สตาลิน-เหมา” ทั่วโลกใช้ศัพท์ของฝ่ายซ้ายมาร์คซิสต์อย่างต่อเนื่อง แต่เนื้อหาและความหมายของคำพูดและคำเขียนของพรรค กลับหัวหลับหางกับความหมายเดิมทั้งสิ้น

“สังคมนิยม” หรือ ระบบ “คอมมิวนิสติ์” ในความหมายมาร์คซิสต์คือระบบที่มาจากการปลดแอกตนเองของชนชั้นกรรมาชีพ ในระบบนี้ในที่สุดการแบ่งแยกทางชนชั้นจะหายไป รัฐจะสลายไป และแม้แต่การปกครองก็หายไป ทั้งนี้เพราะกรรมาชีพทุกคนในสังคมจะร่วมกันกำหนดอนาคตในทุกแง่ และจะร่วมกันกำหนดว่าเราต้องผลิตอะไรเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ระบบของนายทุน การกดขี่ขูดรีด และการแสวงหากำไรจะสิ้นสุดลง อย่าลืมว่าระบบทุนนิยม และแม้แต่การแบ่งแยกทางชนชั้น เป็นสิ่งใหม่ ไม่ได้มีตลอดเวลาในประวัติศาสตร์มนุษย์

สตาลินทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับแนวมาร์คซิสต์หลังจากที่เขายึดอำนาจในทศวรรษ1930 และทำลายการปฏิวัติปี 1917 ของพรรคบอลเชวิค และหลังจากที่เขาเข่นฆ่าผู้นำบอลเชวิคทั้งหมด สตาลินหันมาสร้างระบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์เหนือชนชั้นกรรมาชีพ รัฐถูกทำให้เข้มแข็งขึ้น ระบบทุนนิยมถูกนำมาใช้ในรูปแบบ “ทุนนิยมรวมศูนย์โดยรัฐ” และกรรมาชีพรัสเซียถูกขูดรีดมูลค่าส่วนเกินอย่างโหดร้าย เพื่อผลิตอาวุธแข่งกับตะวันตก การอ่านและโดยเฉพาะการเข้าใจหนังสือ “ว่าด้วยทุน” จึงเป็นเรื่องอันตรายเพราะกรรมาชีพจะเข้าใจว่าตนถูกขูดรีดในระบบชนชั้น ไม่ต่างจากกรรมาชีพในตะวันตกเลย

เหมาเจ๋อตุง ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ สตาลิน เมื่อเดินหน้ายึดอำนาจทางการเมืองในจีน ก็ยิ่งเสริมการบิดเบือนแนวคิดมาร์คซิสต์เพิ่มขึ้น โดยเสนอว่ากรรมาชีพไม่ใช่พลังหลักในการสร้างสังคมนิยม เหมา เสนอว่าชัยชนะของพรรคจะต้องมาจากกองทัพชาวนาที่นำโดยปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์ และเหมา อธิบายเพิ่มว่าขั้นตอนแรกของการต่อสู้จะต้องเป็นการสถาปนารัฐชาติในระบบทุนนิยมโดยรัฐ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็นขั้นตอน “ประชาชาติประชาธิปไตย” แต่มันเป็นเผด็จการแท้ๆ  ส่วนสังคมนิยมเป็นเรื่องของอนาคตอันห่างไกล

ในไทย พคท. ลอกแบบแนวคิดของเหมามาหมด และสร้างนิยายชาตินิยมว่าไทยเป็นกึ่งเมืองขึ้นของสหรัฐและกึ่งศักดินาของชนชั้นปกครองไทย ดังนั้น พคท. เน้นการ “ปลดแอกประเทศ” และการสร้าง “ประชาชาติประชาธิปไตย” ผ่านการสามัคคีระหว่างทุกชนชั้น รวมถึงการสามัคคีชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ ทั้งๆ ที่สองชนชั้นนี้เป็นศัตรูกัน ในความเป็นจริงไทยเป็นทุนนิยมมาตั้งแต่การปฏิวัติล้มระบบศักดินาของรัชกาลที่ ๕ และไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐแต่อย่างใด อำนาจของสหรัฐในภูมิภาคนี้มีลักษณะของ “จักรวรรดินิยม” ซึ่งดำรงอยู่ในระบบโลกจนถึงปัจจุบัน แต่มันไม่ใช่อำนาจของประเทศที่ล่าอาณานิคมแบบที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสเคยทำ

แนวคิด “เหมา” ของ พคท. มีลักษณะที่ต่อต้านการเป็นปัญญาชน ไม่เหมือนกับแนวมาร์คซิสต์ที่สนับสนุนให้กรรมาชีพพัฒนาตนเองเป็น “ปัญญาชนอินทรีย์” ตามที่ กรัมชี เคยพูดถึง ในค่ายป่าของ พคท. สหายต่างๆ มีโอกาสอ่านแต่สรรนิพนธ์ของ “ประธานเหมา”

ซัง ตะวันออก อดีตนักศึกษาที่เข้าป่า เล่าว่า “หนังสือในห้องสมุดมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นบทแปล และหนังสือภาพ (ไชน่าพิคทอเรียล-แปลอังกฤษเป็นไทยเฉพาะคำบรรยาย) หนังสือการ์ตูนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่น “ปู่โง่ย้ายภูเขา” “ศึกษาแบบอย่างหมอเบธูน” “ศึกษาจิตใจจางซือเต๋อ” “วีรสตรีหลิวหูหลาน” ฯลฯ หนังสือทฤษฎีลัทธิมาร์คซ์แทบจะไม่มีเลย

วันวา วันวิไล ในหนังสือ “ตะวันตกที่ตะนาวศรี” เล่าว่า “ห้องสมุดเป็นเพียงเพิงเล็กๆ … ส่วนมากเป็นสรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตุง …. ด้วยเหตุนี้พวกเราทุกคนจึงมีปัญญาเล็กๆ …รู้แต่เรื่องปฏิวัติ เรื่องอื่นไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง การปกครอง กฎหมาย เรื่องราวของต่างประเทศ เศรษฐกิจ การศึกษา และสังคม”

อย่างไรก็ตาม ก่อนช่วง ๖ ตุลา ปัญญาชนไทยบางคน ที่ไม่ได้สังกัด พคท. ได้เคยอ่าน “ว่าด้วยทุน” จากฉบับภาษาอังกฤษ สุภา ศิริมานนท์ เป็นตัวอย่างที่ดี

กำเนิดลัทธิสตาลิน

ลัทธิสตาลินมีต้นกำเนิดจากความล้มเหลวของการปฏิวัติรัสเซียซึ่งเริ่มเห็นชัดเจนประมาณปี ค.ศ. 1928 ก่อนหน้านั้นผู้นำการปฏิวัติรัสเซียในยุคแรกๆ สมัยปี ค.ศ. 1917 เช่น เลนิน กับ ทรอตสกี ทราบดีว่าการปฏิวัติในประเทศด้อยพัฒนาอย่างรัสเซีย ต้องอาศัยการขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศพัฒนาในยุโรปตะวันตก เพื่อที่จะนำพลังการผลิตที่ก้าวหน้ากว่ามาสร้างสังคมนิยมในรัสเซีย การสร้างสังคมนิยมในความเห็นของนักมาร์คซิสต์ จึงไม่ใช่การสร้างระบบใหม่ภายในขอบเขตของชาติเดียวในระยะยาว แต่เป็นการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกกับระบบทุนนิยมโลกทั้งระบบ ซึ่งแปลว่าต้องใช้แนวสากลนิยมแทนชาตินิยม

ความล้มเหลวของการปฏิวัติในเยอรมันในยุคเลนิน เป็นเหตุให้สังคมนิยมในรัสเซียเกิดวิกฤติการณ์ระหว่างปี ค.ศ. 1921-1922   โดยที่ เลนิน ได้ให้ข้อสังเกตว่า “สงครามโลกและสงครามกลางเมืองรวมทั้งความยากจนต่างๆนาๆทำให้ชนชั้นกรรมาชีพในประเทศเราหายไป” และเลนินยังยอมรับอีกว่า “รัฐของเราเป็นรัฐชนชั้นกรรมาชีพที่ถูกแปรรูปเพี้ยนไปเป็นรัฐราชการ” สรุปแล้วถ้าพลังกรรมาชีพอ่อนแอลง จะไม่สามารถสร้างสังคมนิยมได้ ในขณะที่จำนวนกรรมาชีพในรัสเซียลดลงถึง 43% อิทธิพลของกลุ่มข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ที่อยู่ภายใต้การนำของ สตาลิน ก็เพิ่มขึ้นมาแทนที่

การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญที่สุดของสตาลินคือเรื่องเกี่ยวกับแนวทางการสร้าง “สังคมนิยมในประเทศเดียว” ซึ่งประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1924 เนื่องจากนโยบายชาตินิยมที่ใช้พัฒนารัสเซียของสตาลินหันหลังให้การต่อสู้ของกรรมาชีพในประเทศอื่น นโยบายต่างประเทศของสตาลินก็เปลี่ยนไปด้วย แทนที่จะพยายามปลุกระดมให้กรรมาชีพในประเทศอื่นปฏิวัติ  สตาลินกลับหันมาเน้นนโยบายการทูตแบบกระแสหลักเดิมที่แสวงหาแนวร่วมและมิตรกับรัสเซียโดยไม่คำนึงถึงประเด็นชนชั้นเลย มีการเสนอว่ากรรมาชีพและชาวนาควรสร้างแนวร่วมสามัคคีกับนายทุนเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมและระบบขุนนางหรือศักดินา  ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับแนวมาร์คซิสต์จะเห็นว่าขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง

กำเนิดของลัทธิเหมา

ในประเทศจีนพรรคคอมมิวนิสต์จีนก่อนยุคสตาลินเคยเล็งเห็นว่าชนชั้นกรรมาชีพเป็นชนชั้นหลักในการปฏิวัติ โดยที่เหมาเจ๋อตุงเป็นผู้นำคนหนึ่งของพรรคที่เคยทำงานในหมู่กรรมกร สมัยนั้นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เกือบทั้งหมดเป็นกรรมกรในเมืองสำคัญๆที่ ติดทะเลของจีน อย่างไรก็ตามหลังจากที่สตาลินขึ้นมามีบทบาทในขบวนการคอมมิวนิสต์สากล มีการเสนอว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนควรสร้างแนวร่วมถาวรกับขบวนการกู้ชาติของนายทุนจีนที่มีชื่อว่าพรรคก๊กมินตั๋ง โดยมีคำสั่งให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เข้าไปสมัครเป็นสมาชิกก๊กมินตั๋ง และยกรายชื่อสมาชิกพรรคทั้งหมดให้ผู้นำก๊กมินตั๋ง

แต่หลักจากที่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนสลายตัวเข้าไปในพรรคก๊กมินตั๋ง ปรากฏว่าผู้นำฝ่ายขวาของก๊กมินตั๋ง โดยเฉพาะเชียงไกเชค ลงมือจัดการกวาดล้างปราบปรามไล่ฆ่าพวกคอมมิวนิสต์ในเมืองต่างๆ จนเกือบไม่เหลือใคร เหมาเจ๋อตุงซึ่งไม่เคยคัดค้านแนวของสตาลินและใช้นโยบายแบบสตาลินในยุคหลังๆตลอด จึงต้องหนีไปทำการสู้รบในชนบท  หลังจากนั้นเหมาเจ๋อตุง จึงสร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นมารองรับการปฏิบัติงานในชนบทที่เกิดขึ้นไปแล้ว  กล่าวคือใช้การอ้างว่าการสู้รบในชนบทโดยใช้ชาวนาเป็นหลัก เหมาะกับสภาพสังคมจีนที่มีชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่ ซึ่งสิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับข้ออ้างอันนี้ของเหมาก็คือ ที่รัสเซียในปี ค.ศ. 1917 สังคมมีชาวนาเป็นคนส่วนใหญ่เช่นกัน แต่เลนินและพรรคบอลเชวิคก็ยังคงเน้นความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพตามแนวมาร์คซิสต์ตลอด

แนวการต่อสู้แบบ “ชนบทล้อมเมือง” ของเหมาจึงถูกนำมาใช้ในไทย ทั้งๆ ที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไทยเกิดขึ้นในเมืองเสมอ และในข้อเขียนต่างๆของเหมาเจ๋อตุง เราจะพบอิทธิพลของสายความคิดสตาลินตลอด เช่นในเรื่องการเน้นลัทธิชาตินิยมเหนือความขัดแย้งทางชนชั้น

เสื้อแดงเสื้อเหลือง

แนวความคิดสตาลินเหมาเป็นรากกำเนิดของการที่ “สหายเก่า” จาก พคท. แตกแยกระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง ประเด็นหลักคือความคิดที่เสนอว่าทำแนวร่วมกับใครก็ได้ และการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมต้องรอไปถึงชาติหน้า พวกที่เป็นเสื้อเหลืองหลอกตัวเองว่าการทำแนวร่วมกับพวกเชียร์เจ้าและทหารเป็นนโยบายรักชาติที่ต่อต้านเผด็จการนายทุนอย่างทักษิณ พวกที่เป็นเสื้อแดงก็มองว่าต้องทำแนวร่วมกับนายทุน “ชาติ” อย่างทักษิณ เหมือนที่เคยทำแนวร่วมกับสฤษดิ์

มาร์คซิสต์ปัจจุบัน

พวกเราใน “สังคมนิยมแรงงาน” จะเคารพความพยายามและความเสียสละของสหายเก่าในสมัยที่ พคท. ยังอยู่ แต่เราจะไม่มีวันปกป้องแนวคิด สตาลิน-เหมา ของ พคท. เราจะขยันในการรื้อฟื้นแนวมาร์คซิสต์ในโลกสมัยใหม่ เพิ่มการต่อสู้ทางชนชั้น และสร้างพรรคปฏิวัติ โดยอาศัยองค์ความรู้ของ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ทรอตสกกี้ โรซา ลักแซมเบอร์ค กับ กรัมชี่

ใจ อึ๊งภากรณ์

คนหนุ่มสาวควรอัดฉีดความกล้าหาญสู่ขบวนการแรงงานและผู้รักประชาธิปไตยทั่วไป

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทุกคนที่รักประชาธิปไตยคงจะปลื้มและได้ความหวังจากการประท้วงเผด็จการรอบใหม่โดยนักศึกษาและคนหนุ่มสาว ถือได้ว่าเป็นการรื้อฟื้นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอีกครั้ง

50129529371_4a1c52db15_k
ภาพจากประชาไท

ในแง่สำคัญๆ เราต้องดูภาพกว้างในระดับสากลของการต่อสู้ครั้งนี้ และต้องไม่มองว่าเป็นแค่เรื่องไทยๆ ซึ่งแปลว่าต้องดูบทเรียนจากทั่วโลกและประวัติศาสตร์ไทยพร้อมๆ กัน

ในยุคสองปีที่ผ่านมา ทั่วโลก เราเห็นปรากฏการณ์ของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ “ไม่กลัวใคร” ออกมาประท้วงเรื่องปัญหาโลกร้อน และเรื่องการกดขี่คนผิวดำในขบวนการ Black Lives Matter ซึ่งการประท้วงในช่วงการระบาดของโควิดผูกพันกับวิกฤตความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่มาจากโควิด การประท้วงล่าสุดในไทยก็ไม่ต่างออกไป มันผูกพันกับการที่เผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์พยายามใช้โควิดในการเพิ่มอำนาจให้ตนเองในการปราบปรามประชาชน นอกจากนี้มันผูกพันกับความแย่ๆ ในสังคมไทยที่เริ่มเห็นชัดมากขึ้น เช่นการอุ้มฆ่าผู้เห็นต่าง การใช้อำนาจเพื่อสร้างสองมาตรฐาน โดยเฉพาะในระบบศาล การเชิดชูกษัตริย์เลวที่ใครๆ เกลียดชัง และการปล่อยให้ความยากจนและความเดือดในสังคมเพิ่มขึ้นขณะที่ทหารและนายทุนใหญ่ใช้ชีวิตอย่างสบาย ฯลฯ

นักมาร์คซิสต์ตั้งแต่สมัยมาร์คซ์กับเองเกิลส์มองว่าในสังคมมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนชั้นล่างแค่ขบวนการเดียว และการเคลื่อนไหวนี้ท้าทายเบื้องบนเสมอ แต่ขบวนการนี้มีหลายแขนหลายขาตามยุคต่างๆ ซึ่งแต่ละแขนขาเชื่อมกับลำตัวหลักเสมอ เช่นขบวนการคนผิวดำ ขบวนการนักศึกษา ขบวนการต้านสงคราม ขบวนการต้านโลกร้อน ขบวนการสิทธิสตรี และขบวนการเกย์และเลสเปี้ยนฯลฯ ล้วนแต่มีมีสายเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น เพราะเกิดจากปัญหาของระบบทุนนิยม มันมีการเรียนรู้จากกัน และขบวนการเหล่านี้ก็มีทั้งขาขึ้นและขาลง มีลักษณะเข้มแข็งขึ้นและอ่อนแอลงตามคลื่นที่เหมือนกันอีกด้วย ดังนั้นการวาดภาพว่าขบวนการเหล่านี้เป็นขบวนการที่แยกส่วนจากกัน จึงเป็นภาพเท็จ

50129748457_498a0855f4_k
ภาพจากประชาไท

ด้วยเหตุนี้เราต้องมองว่าการลุกฮือของนักศึกษาคนหนุ่มสาวในรอบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไม่เชื่อมโยงกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในอดีต เช่นขบวนการ ๑๔ ตุลา ขบวนการพรรคคอมมิวนิสต์ ขบวนการเสื้อแดง และการออกมาประท้วงของแต่ละกลุ่มหลังรัฐประหารของประยุทธ์

Lumpoon2
ภาพจากประชาไท

แต่สิ่งที่สำคัญและอาจว่า “ใหม่” ก็ได้คือความ “ไม่กลัว” ของคนหนุ่มสาว คือขณะนี้กล้ามากกว่าคนที่ผ่านการต่อสู้มาและมีบาดแผลจากอดีต

a3_0

ประเด็นสำคัญคือคนหนุ่มสาวยุคนี้ต้องช่วยกันอัดฉีดความกล้าหาญเข้าสู่ขบวนการแรงงาน ชนชั้นกรรมาชีพ และประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่อยู่ในวัยทำงาน และสิ่งนี้ทำได้เพราะคนจำนวนมากไม่พอใจอย่างยิ่งกับเผด็จการรัฐสภาปัจจุบัน แต่เขาอาจแค่ขาดความมั่นใจในการออกมาต่อสู้

ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับขบวนการแรงงานและชนชั้นกรรมาชีพ? คำตอบง่ายๆ คือเรื่องอำนาจทางเศรษฐกิจที่มาจากการนัดหยุดงาน

ในเดือนที่ผ่านมาเราเห็นการนัดหยุดงานของคนงานผิวขาวและผิวดำร่วมกันในสหรัฐอเมริกา ภายใต้ข้อเรียกร้อง Black Lives Matter ซึ่งเสริมพลังให้กับกระแสต้านการเหยียดสีผิว ในรอบสิบปีที่ผ่านมาทั่วโลกการล้มเผด็จการหรือท้าทายเผด็จการที่มีพลังมักจะมีขบวนการสหภาพแรงงานเข้าร่วมด้วย

และนี่เป็นสาเหตุที่เราต้องมีพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่พร้อมจะปลุกระดมการเมืองภาพกว้างในขบวนการกรรมาชีพ ไม่ใช่พูดแต่เรื่องปากท้องอย่างเดียว แต่พรรคแบบนี้ก็ต้องได้รับการอัดฉีดความ “ไม่กลัวใคร” จากคนหนุ่มสาวเช่นกัน

อย่าลืมว่าการล้มเผด็จการทหารในช่วง ๑๔ ตุลา อาศัยทั้งการมีพรรคฝ่ายซ้าย (พคท.) และการที่นักศึกษาสามารถออกมาต่อสู้ร่วมกับประชาชนผู้ทำงานจำนวนมาก

อ่านเพิ่ม

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน – จุดยืนมาร์คซิสต์   https://bit.ly/2UpOGjT

การลุกฮือของมวลชนทั่วโลก 2019 https://bit.ly/2OxpmVr

นักเคลื่อนไหวไทยควรร่วมต้านปัญหาโลกร้อน https://bit.ly/2ZWipnF

 

ทำไมคอมมิวนิสต์ไทยต้านการปฏิวัติ ๒๔๗๕

ใจ อึ๊งภากรณ์

หนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก ธง แจ่มศรี เต็มไปด้วยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย เช่นการที่ผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรคส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายเวียดนาม “เวียดเกียว” ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึง ธง แจ่มศรี บวกกับคนเชื้อสายจีนในกรุงเทพฯ

แต่ปัญหาใหญ่ของหนังสือเล่มนี้คือขาดการวิเคราะห์ในบริบทของขบวนการคอมมิวนิสต์สากล โดยเฉพาะการวิเคราะห์แนวลัทธิสตาลิน และไม่มีการประเมินข้อดีข้อเสียของพรรคอีกด้วย มันเป็นแค่หนังสือ “บอกเล่า”

CPT Stalin

พรรคคอมมิวนิสต์ในไทยกำเนิดขึ้นราวๆ ปี ๒๔๗๓ (1930) ในยุคที่สตาลินขึ้นมาปกครองรัสเซียอย่างเบ็ดเสร็จ ดังนั้นพรรคไทยจึงทำตามคำสั่งของขบวนการคอมมิวนิสต์สากลภายใต้สตาลินตลอด

การปฏิวัติ ๒๔๗๕ ในไทยเกิดขึ้นใน“ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” ที่สตาลินเสนอ ดังนั้นผู้ปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ผลิตและแจกใบปลิวโจมตีคณะราษฏรว่าเป็น “คณะราษฏรปลอม” ที่ ”ร่วมมือกับรัชกาลที่ ๗” ทั้งๆ ที่ ปรีดี พนมยงค์ เป็นฝ่ายสังคมนิยมปฏิรูปที่ต่อต้านระบบกษัตริย์ (ใต้ธงปฏิวัติหน้า188) คำวิจารณ์ของคอมมิวนิสต์ไทย ไม่ต่างจากการวิจารณ์พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมันว่าเป็น “ฟาสซิสต์แดง” ผลคือมันทำให้คอมมิวนิสต์ในไทยโดดเดี่ยวตนเองจากคนก้าวหน้าในคณะราษฎรไประยะหนึ่ง และในเยอรมันมันนำไปสู่ชัยชนะของฮิตเลอร์

การเสนอว่าโลกอยู่ใน “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” และการมองว่าพรรคคอมมิวนิสต์ทุกแห่งต้องโดดเดี่ยวตนเอง ไม่รวมมือกับฝ่ายปฏิรูป มีสามวัตถุประสงค์คือ (1) เป็นการปกปิดหรือแก้ตัวจากความผิดพลาดที่เคยเสนอให้คอมมิวนิสต์ไว้ใจ เชียงไกเชค หรือพวกผู้นำแรงงานข้าราชการในอังกฤษ (2) เป็นการสร้างบรรยากาศ “ปฏิวัติ” เพื่อรณรงค์ให้คนงานในรัสเซียทำงานเร็วขึ้นด้วยความรักชาติ และ (3) เป็นการตรวจสอบพิสูจน์ว่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนไหนในต่างประเทศพร้อมจะ “หันซ้ายหันขวา” ตามคำสั่งของ สตาลิน เพื่อให้มีการกำจัดคนที่ไม่เชื่อฟัง และในที่สุด สตาลิน สามารถสร้างขบวนการคอมมิวนิสต์สากลให้เป็นเครื่องมือของรัสเซียได้อย่างเบ็ดเสร็จ

ในยุคนั้นคอมมิวนิสต์ในไทยพยายามสร้าง “สหภาพแรงงานแดง” ภายใต้คอมมิวนิสต์ แทนที่จะสร้างสหภาพแรงงานที่รวมคนงานทุกคนเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวแบบ “แดงเอียงซ้าย” ตามแนว “ยุคที่สามของการปฏิวัติรอบใหม่” ที่สตาลินเสนอ

ต่อมาในปี ๒๔๘๐ (1935) มีการยกเลิกนโยบาย “แดงเอียงซ้าย” เพื่อหันขวาอีกครั้งไปสู่การสร้างแนวร่วมกับรัฐบาลและพรรคนายทุนที่พอจะดูเป็นมิตร โดยไม่เลือกหน้าเลย การหันขวาแบบนี้ก็สอดคล้องกับนโยบายของสตาลินเช่นกัน เพราะสตาลินเริ่มกลัวอำนาจของเยอรมันภายใต้ฮิตเลอร์ ดังนั้นในปี ๒๔๘๔ (1941) คอมมิวนิสต์ในไทยจึงลงมือสร้างแนวร่วมกับ “นายทุนชาติ”

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนนี้กลายเป็นนโยบายหลัก และมีการให้เหตุผลว่าไทยเป็นสังคม “ศักดินากึ่งเมืองขึ้น” ที่ไม่อาจปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมได้ทันที เพราะต้องผ่านขั้นตอนปฏิวัติกู้ชาติเพื่อสร้างทุนนิยม ซึ่งเป็นสูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน จริงๆ แนวนี้เริ่มมีการเสนอในไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๓

สูตร “ขั้นตอนการปฏิวัติสองขั้นตอน” ของสตาลิน ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการปฏิวัติรัสเซียภายใต้การนำของ เลนินและตรอทสกี้ ในปี 1917 เพราะมีการกระโดดข้ามจากสังคมภายใต้ระบบฟิวเดิลไปสู่สังคมนิยม และตรงกับแนวคิด “ปฏิวัติถาวร” ของตรอดสกี้และมาร์คซ์

นโยบาย “แนวร่วมข้ามชนชั้น” กับฝ่ายนายทุนของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในยุคที่สฤษดิ์กำลังแย่งอำนาจกับจอมพลป. ในปี ๒๕๐๐ (1957) วารสาร “ปิตุภูมิ” ของพรรคคอมมิวนิสต์เสนอว่า “สฤษดิ์เป็นขุนพลที่รักชาติและมีแนวโน้มไปทางประชาธิปไตย” และในปีนั้นผู้ปฏิบัติการของพรรคเข้าร่วมกับพรรคชาติสังคมของสฤษดิ์ (ใต้ธงปฏิวัติหน้า358)

เพียงหนึ่งปีหลังจากนั้น เมื่อสฤษดิ์ทำรัฐประหารรอบสอง พรรคคอมมิวนิสต์ไทยเปลี่ยนการวิเคราะห์จอมพลสฤษดิ์ไปเป็นว่า สฤษดิ์เป็น “ฟาสซิสต์ของฝ่ายศักดินา” โดยไม่มีคำอธิบายแต่อย่างใด แต่ที่แน่นอนคือสฤษดิ์ได้ลงมือปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์อย่างหนัก

การฝากความหวังไว้กับแนวร่วมข้ามชนชั้นกับนายทุนแบบนี้ ตามด้วยการถูกปราบอย่างหนัก เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินในช่วงนั้นในตะวันออกกลาง ในอินโดนีเซีย และเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นในปี 1926 เมื่อคอมมิวนิสต์จีนทำแนวร่วมกับ เชียง ไกเชก จากพรรคก๊กมินตั๋งแล้วโดนฆ่าทิ้งเกือบหมด

สำหรับไทยมันกลายเป็นหนึ่งข้ออ้างในการหันไปใช้ยุทธศาสตร์ชนบทล้อมเมือง เหมือนกับข้ออ้างของเหมาเจ๋อตุงในจีน โดยที่พรรคไทยไม่มีการทบทวนสรุปข้อบกพร่องของนโยบายพรรคแต่อย่างใด

นโยบายชนบทล้อมเมืองของพรรคไทยเริ่มมีการพูดถึงตั้งแต่ปี ๒๔๙๓ (1950) แต่ลงมือทำกันอย่างจริงจังในปี ๒๕๐๔ (1961) ในยุคนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนกลายเป็นผู้ปกป้องแนวลัทธิสตาลินหลังจากที่สตาลินตายและผู้นำรัสเซียเริ่มตั้งคำถามกับเผด็จการสตาลิน

นโยบาย “ชนบทล้อมเมือง” นำไปสู่การที่พรรคคอมมิวนิสต์ไทยละเลยหน้าที่ที่จะนำการต่อสู้กับเผด็จการทหารในกรุงเทพฯ ในการลุกฮือ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ และนำไปสู่การละเลยที่จะปกป้องนักศึกษากับกรรมกรในเหตุการณ์ ๖ ตุลา สามปีหลังจากนั้น ส่วนการสู้รบในชนบทนำไปสู่ความพ่ายแพ้ในที่สุดเนื่องจากละเลยการต่อสู้ในเมือง ความเป็นเผด็จการภายในพรรค และการพึ่งพาแนวสตาลิน-เหมาของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ข้อเสียของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย คือการเดินตามแนวสตาลินโดยไม่ใช้แนวมาร์คซิสต์ และไม่ศึกษาข้อเขียนของเลนินกับตรอทสกี้หรือนักมาร์คซิสต์อื่นๆ เช่นกรัมชี่ หรือโรซา ลัคแซมเบอร์ค ข้อเสียนี้รวมถึงปัญหาแนว เหมาเจ๋อตุง ในเรื่องชนบทล้อมเมือง และปัญหาแนวร่วมข้ามชนชั้นกับนายทุน

ข้อดีของพรรค ซึ่งนักกิจกรรมในยุคปัจจุบันควรนำไปศึกษาคือ มีการเน้นการจัดตั้งในช่วงแรกในหมู่กรรมาชีพและนักศึกษา มีการให้ความสำคัญกับการตั้งกลุ่มศึกษาและห้องสมุด มีการใช้การต่อสู้ในรัฐสภาและนอกรัฐสภาพร้อมกัน และมีการให้ความสำคัญกับการผลิตหนังสือพิมพ์เพื่อนำมาขาย โดยมีเป้าหมายในการขยายสมาชิกพรรค

ดังนั้นผมจึงแนะนำให้นักเคลื่อนไหวในยุคนี้ โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ไปหาอ่านหนังสือ “ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ

20191220_194854

 

อ่านเพิ่ม

ประวัติศาสตร์โลกในมุมมองมาร์คซิสต์ ฉบับสังเขป Chris Harman แปลและเรียบเรียงโดย ใจ อึ๊งภากรณ์  https://bit.ly/2i294Cn

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้อถกเถียงทางการเมือง โดย ใจ อึ๊งภากรณ์ https://bit.ly/1sH06zu

ปัญหาของลัทธิสตาลินในขบวนการคอมมิวนิสต์สากลและผลกระทบต่อพรรคไทย https://bit.ly/2Mj3bSy

ใต้ธงปฏิวัติ ประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (๒๕๕๗) โดย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ ตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก ธง แจ่มศรี (๒๕๖๒)

 

ประชาธิปไตยศักดิ์สิทธิ์กว่ากษัตริย์

ใจ อึ๊งภากรณ์

พวกไดโนเสาร์ที่เอะอะโวยวายจะใช้กฏหมายเถื่อน 112 กับพลเมืองผู้รักประชาธิปไตยตลอดเวลา ชอบอ้างว่ากษัตริย์เป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์ในขณะที่มันเหยียบย่ำสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเสมอ การกล่าวหาผู้เผยแพร่รูปถ่าย “แฟลชม็อบ” #ไม่ถอยไม่ทน ที่สกายวอล์ก โดยพวกคลั่งเจ้า เป็นเพียงข้ออ้างในการคัดค้านการต้านเผด็จการของมวลชน

FUD

แท้จริงแล้วประชาธิปไตยต่างหากที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งอัปมงคลสำหรับสังคม แต่ทหาร ชนชั้นปกครอง และชนชั้นกลางฝ่ายอนุรักษ์นิยม มักจะทำลายประชาธิปไตยของเราในนามของกษัตริย์

แต่ไหนแต่ไร กษัตริย์เป็นสิ่งอัปมงคลสำหรับคนธรรมดาในสังคม ในยุคอดีต การที่กษัตริย์นำการต่อสู้ และรบในสงคราม ไม่ใช่เพื่อรักษาเสรีภาพของคนส่วนใหญ่แม้แต่นิดเดียว ในยุคศักดินากษัตริย์มันทำสงครามเพื่อแย่งชิงทรัพยากรสำคัญกับกษัตริย์ในเมืองอื่นๆ ทรัพยากรนี้คือมนุษย์ มีการกวาดต้อนคนเข้ามาเพื่อเป็นทาสเป็นไพร่ให้กับตนเองและพรรคพวก สรุปแล้วคนอย่างพระนเรศวร หรือกษัตริย์อื่นในยุคศักดินา ทำสงครามเพื่อแย่งคนมาขูดรีดบังคับให้ทำงานสร้างมูลค่าให้พวกมันเอง แต่พวกที่หลงเชื่อนิยายของชนชั้นปกครองจะมองว่าพวกที่กวาดต้อนคนมาขูดรีดได้มากที่สุดคือ “มหาราช”

สำหรับประชาชนธรรมดาในยุคนั้น เวลาพวกเจ้ายกทัพมาใกล้หมู่บ้านตนเอง มันเป็นสิ่งน่ากลัว เพราะจะแย่งคนไปเป็นเมียน้อยหรือทาส และทำลายสภาพชีวิตของชาวบ้าน ชาวบ้านจะมักจะหนีเข้าป่า

พอเข้าสู่ยุคทุนนิยมในสมัยรัตนโกสินทน์ การขูดรีดประชาชนเริ่มเปลี่ยนไปจากการบังคับแรงงานไปเป็นการขูดรีดทางการเงิน กษัตริย์ตั้งตัวเป็นนายทุนใหญ่และขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากแรงงาน โดยจ่ายค่าจ้างน้อยกว่ามูลค่าที่คนงานผลิต นอกจากนี้มีการรีดไถเกษตรกรผ่านการเก็บค่าเช่าที่ดินที่กษัตริย์ประกาศว่า “เป็นของตนเอง” และมีการรีดไถพ่อค้าแม่ค้าและคนอื่นด้วยการเก็บภาษี

มูลค่าที่กษัตริย์สะสมมา ไม่ได้นำไปพัฒนาสังคมแต่อย่างใด แต่ใช้ในการสร้างความสุขให้กษัตริย์และพรรคพวก นี่คือสาเหตุที่คณะราษฎร์ต้องเร่งสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เช่นโรงเรียน และเร่งพัฒนาสังคม หลังการปฏิวัติ๒๔๗๕

ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากที่กษัตริย์หมดอำนาจทางการเมือง สถาบันกษัตริย์ถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับเผด็จการทหารและนายทุน การสร้างกษัตริย์ให้เป็น “กาฝากในคราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์”สำหรับชนชั้นปกครองในยุคภูมิพล กระทำไปเพื่อให้พลเมืองธรรมดาหลงคิดว่ามันเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” ที่บางคนเกิดสูงบางคนเกิดต่ำ แต่ในความเป็นจริงมันเป็นแค่ “ธรรมชาติของโจร” เท่านั้น

บทบาทกษัตริย์ในยุคภูมิพลกลายเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะภูมิพลไม่เคยกล้าทำอะไรเพื่อปกป้องประชาธิปไตยหรือพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนเลย ภูมิพลไร้ความสามารถที่จะเป็นผู้นำ เขาเป็นคนอ่อนแอที่กลายเป็นเครื่องมือเบ็ดเสร็จของเผด็จการ และยังหน้าด้านสอนให้พลเมือง “รู้จักพอเพียง” ในขณะที่ตนเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในประเทศ และความร่ำรวยดังกล่าวมาจากการขูดรีดประชาชนไทยและการฉวยโอกาสได้ประโยชน์จากยุคเผด็จการด้วย แต่ทหารเผด็จการและนายทุนเชิดชูให้กาฝากภูมิพลเป็น “คนดี” และเป็น “มหาราช”

เราทราบดีว่าภูมิพลไม่เคยทำอะไรที่เป็นประโยชน์อย่างจริงจังกับประชาชน เพราะแค่มาตรการในห้าปีแรกของรัฐบาลทักษิณก็ทำให้ประชาชนชื่นชม และฝ่ายรักเจ้าเริ่มไม่พอใจ อิจฉาริษยาทักษิณ แต่ทักษิณไม่ใช่เทวดา เขาเป็นนักการเมืองนายทุน และต้องการใช้สถาบันกษัตริย์เพื่อประโยชน์ตนเองด้วย

thaiking-728x486ก
วชิราลงกรณ์ทำลายภาพลักษณ์ของสังคมไทย

พอถึงยุค วชิราลงกรณ์ สถานภาพของสถาบันกษัตริย์ตกต่ำที่สุดอันเนื่องมาจากพฤติกรรมของวชิราลงกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมต่อสตรี หรือการกอบโกยทรัพย์สินเพิ่มเติมโดยไม่รู้จักพอ วชิราลงกรณ์ กลายเป็นตัวตลกในสื่อทั่วโลก และเป็นที่เกลียดชังในหมู่คนไทยที่กล้าคิดเองจำนวนมาก

การใช้กฏหมาย 112 ขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน แต่การใช้ 112 กับอดีตกษัตริย์ที่ตายไปแล้วยิ่งกลายเป็นเรื่องเหลวไหล อีกหน่อยการวิจารณ์พระเจ้าเหาคงเป็นเรื่องผิดกฏหมาย!!

Republic

เราไม่ควรยอมให้เผด็จการรัฐสภายุบพรรคอนาคตใหม่ และในขณะเดียวกันเราไม่ควรยอมให้ใครโดนกฏหมาย 112 อีกต่อไป กฏหมายนี้ต้องถูกยกเลิกเพื่อสร้างประชาธิปไตย

ทำไมพรรคแรงงานอังกฤษแพ้การเลือกตั้ง

ใจ อึ๊งภากรณ์

คำอธิบายเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งที่อังกฤษของพวกกระแสหลักหรือบุคคลที่ขี้เกียจวิเคราะห์การเมืองอย่างเป็นระบบ จะไม่อธิบายความจริงเกี่ยวกับสังคมอังกฤษเลย การพูดว่าประชาชนยังชื่นชมกับแนวการเมืองอนุรักษ์นิยม หรือการเสนอว่ากรรมาชีพงมงาย หรือการเสนอว่าพรรคแรงงานกับ เจเรมี คอร์บิน “ซ้ายเกินไป” เป็นการวิเคราะห์ผิวเผินที่ไม่ตรงกับโลกจริงแต่อย่างใด

นโยบายที่พรรคแรงงานเสนอภายใต้ ‎เจเรมี คอร์บิน เป็นนโยบายที่ก้าวหน้าที่สุดในรอบสี่สิบปี มีการเสนอว่าต้องลงทุนเพิ่มในระบบรักษาพยาบาล หลังจากที่ถูกตัดภายใต้นโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม มีการเสนอให้ตัดค่าโดยสารรถไฟ แก้ปัญหาคนไร้บ้าน แก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นรูปธรรม มีการเสนอให้นำสาธารณูปโภคกลับมาเป็นของรัฐเพื่อลดค่าน้ำค่าไฟและเพื่อควบคุมปัญหาโลกร้อน มีการเสนอให้สร้างงานในขณะที่ลดการเผาเชื้อเพลิงคาร์บอน มีการเสนอให้เก็บภาษีเพิ่มจากคนส่วนน้อยที่เป็นคนรวย และนโยบายดังกล่าวโดยรวมแล้วเป็นที่ถูกใจของประชาชนเพราะเป็นนโยบายที่สร้างประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่

เราทราบว่านโยบายดังกล่าวเป็นที่นิยมของคนจำนวนมากเพราะพรรคแรงงานได้คะแนนเสียงทั้งหมด 10.3 ล้านเสียง และเขตเลือกตั้งส่วนใหญ่ตามเมืองใหญ่ๆ ที่มีกรรมาชีพมากมาย เช่น London, Liverpool, Manchester, Birmingham และ Bristol ล้วนแต่เป็น “เขตแดง” ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม อย่างที่เราทราบกัน พรรคอนุรักษ์นิยมได้คะแนนทั้งหมด 13.9 ล้านเสียง และได้ที่นั่งมากขึ้นจนได้เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา

ทำไมพรรคแรงงานแพ้?

ในการเลือกตั้งอังกฤษปีนี้พรรคแรงงานแพ้เพราะถ้าเปรียบเทียบกับปี 2017 พรรคแรงงานไม่ยอมเคารพผลของประชามติเรื่องการออกจากอียูและเอียงไปในทางอยู่ต่อในอียู ยิ่งกว่านั้นพรรคหันมาเสนอว่าต้องมีประชามติรอบใหม่ ซึ่งเป็นการเอนไปทางขวาเพื่อเอาใจชนชั้นกลาง

uk-divide-2

คนที่อยู่ในเขตทางเหนือและตะวันออกของอิงแลนด์ ที่อาศัยในชุมชนกรรมาชีพที่อุตสาหกรรมโดนทำลาย รู้สึกโดนทอดทิ้งโดยอียูและรัฐบาลกลางของอังกฤษมานาน ในปี 2016 เขาจึงทุ่มเทคะแนนเพื่อออกจากอียู

ในการเลือกตั้งปี 2017 เขายังเชื่อว่านโยบายซ้ายของ คอร์บิน จะปรับปรุงชีวิตของเขาได้ เพราะพรรคแรงงานยืนยันว่าจะเคารพผลประชามติที่จะออกจากอียู แต่เมื่อพรรคแรงงานในการเลือกตั้งปีนี้ไม่ยอมเคารพความไม่พอใจของเขากับอียู และดูเหมือนจะเอาใจคนชั้นกลางทางใต้มากกว่าที่จะฟังปัญหาของเขาในการเลือกตั้งรอบนี้ เขาเริ่มหมดความเชื่อมั่นในนโยบายของพรรคแรงงาน และคนจำนวนหนึ่ง คือประมาณ 10% ของคนที่เคยลงให้พรรคแรงงาน จึงผิดหวังอย่างหนักและหันไปลงคะแนนให้พรรค Brexit กับพรรคอนุรักษ์นิยม ซึ่งคนที่เปลี่ยนข้างในเขตต่างๆ ทางเหนือและตะวันออกมีจำนวนเพียงพอที่จะทำให้พรรคอนุรักษ์นิยมชนะ แต่เราควรเข้าใจด้วยว่าพวกนี้ให้จอห์นสัน”ยืม”เสียงของเขาชั่วคราวเท่านั้นเพื่อให้อังกฤษออกจากอียู

อีกปัญหาหนึ่งของพรรคแรงงาน ถ้าเทียบกับปี 2017 คือวิธีหาเสียงของคอร์บิน เพราะในปี 2017 มีการชุมนุมใหญ่ตามเมืองต่างๆ และคอร์บินก็มาปราศัยให้คนจำนวนมาก มันสร้างกระแสและความตื่นเต้น แต่ปีนี้พรรคตัดสินใจที่จะหาเสียงในกรอบกระแสหลักแทน

Jeremy-Corbyn-12.12.2019

การที่ฝ่ายขวาในพรรคแรงงานเอง โจมตีคอร์บินอย่างต่อเนื่องโดยไม่แคร์ว่าพรรคจะแพ้หรือชนะการเลือกตั้ง ก็เป็นประเด็น การกล่าวหาเท็จว่าคอร์บินเกลียดยิวเพราะสนับสนุนชาวปาเลสไตน์เป็นตัวอย่างที่ดี และการที่ทีมของคอร์บินไม่ยอมรุกสู้ตีคำกล่าวหากลับไปก็เป็นปัญหา

แน่นอนสื่อกระแสหลักก็รุมโจมตีพรรคแรงงาน แต่นั้นเป็นเรื่องปกติและเกิดในปี 2017 มันจึงไม่อธิบายอะไรมากนัก ในแง่หนึ่งการที่คนจะเชื่อสื่อของนายทุนหรือไม่ขึ้นอยู่กับความมั่นใจในตนเอง และความมั่นใจนั้นมีความสัมพันธ์กับระดับการต่อสู้และการนัดหยุดงานในสังคม ปัญหาคือระดับการนัดหยุดงานในอังกฤษช่วงนี้ค่อนข้างต่ำ

มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สื่อกระแสหลักแห่งหนึ่งตั้งข้อสงสัยว่า บอริส จอห์นสัน อาจเป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายของสหราชอาณาจักร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองสกอตแลนด์ ต่างจากอิงแลนด์มากพอสมควร

สกอตแลนด์เป็นประเทศเล็กในส่วนเหนือของสหราชอาณาจักร มีประชากรแค่ 5.4 ล้านคน เมือเทียบกับ 66.4 ล้านคนทั่วอังกฤษ และในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ในสกอตแลนด์ไม่ได้สนับสนุนพรรคอนุรักษ์นิยม แต่บ่อยครั้งถูกบังคับให้อยู่ในประเทศที่มีรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม หลังจากที่มีการกระจายอำนาจบางส่วนไปสู่รัฐสภาสกอตแลนด์เราจะเห็นนโยบายทางสังคมที่เน้นความยุติธรรมเท่าเทียมมากกว่าในอิงแลนด์ แต่อำนาจของรัฐสภาสกอตแนด์มีจำกัด จึงเกิดกระแสให้มีประชามติให้แยกดินแดนขึ้นในปี 2014 ฝ่ายที่อยากแยกดินแดนแพ้ 44.7% ต่อ 55.3% ซึ่งถือว่าสูสีกัน

การที่อิงแลนด์ลงคะแนนส่วนใหญ่ที่จะออกจากอียูในขณะที่สกอตแลนด์ลงคะแนนให้อยู่ต่อ บวกกับการที่รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมตั้งรัฐบาลมาอีกหลายรอบ ทำให้พรรคชาตินิยมกอตแลนด์ (SNP) ชนะเกือบทุกที่นั่งในสกอตแลนด์ในการเลือกตั้งรอบนี้ และผลการเลือกตั้งให้ความชอบธรรมกับการเรียกร้องให้จัดประชาตืรอบที่สอง เพื่อแยกประเทศ แต่ทั้งพรรคอนุรักษ์นิยมกับพรรคแรงงานสกอตแลนด์คัดค้านการแยกดินแดน

ถ้าประชาชนสกอตแลนด์สามารถแยกประเทศได้ มันจะเป็นเรื่องดี เพราะมันจะทำให้สหราชอาณาจักรในฐานะจักรวรรดินิยมเก่า ที่เกาะติดสหรัฐอเมริกาและร่วมก่อสงครามกับสหรัฐ หมดพลังไป และในการเลือกตั้งปีนี้พรรคในไอร์แลนด์เหนือที่ต้องการออกจากสหราชอาณาจักรและรวมประเทศกับไอร์แลนด์ใต้ได้ที่นั่งมากที่สุดเป็นครั้งแรก

การพังทลายของสหราชอาณาจักร ถ้าเกิดขึ้นจริง จะสร้างวิกฤตให้ชนชั้นปกครองอังกฤษและรัฐบาลจอห์นสันเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะเกิดอีกรอบในอนาคต และการที่พรรคอนุรักษ์นิยมไม่สามารถให้อะไรที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ สร้างวิกฤตให้กับรัฐบาลจอห์นสันได้ แต่มันมีเงื่อนไขสำคัญคือต้องมีการยกระดับการต่อสู้นอกรัฐสภา โดยเฉพาะการนัดหยุดงานและการลงถนนของคนที่ประท้วงปัญหาโลกร้อน สิ่งเหล่านี้เราเห็นในฝรั่งเศสและประเทศอื่นๆ

ในภาพรวมเราจะเห็นว่าอังกฤษอยู่ในสภาพวิกฤตการเมืองมาตั้งแต่ปี 2010 เพราะผลของนโยบายรัดเข็มขัดที่ตามหลังวิกฤตเศรษฐกิจ มันทำลายเสถียรภาพของระบบการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง และวิกฤตการเมืองนี้มีลักษณะเดียวกับวิกฤตการเมืองที่ทำให้คนลุกฮือสู้ในหลายประเทศของโลก เพียงแต่มันออกมาในลักษณะที่แตกต่างกันเท่านั้น

(อ่านเพิ่มเรื่องการลุกฮือของมวลชนทั่วโลก 2019 https://bit.ly/2OxpmVr )

“เข้าทางเผด็จการ” ข้ออ้างของคนที่ไม่อยากเปลี่ยนสังคม

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้ คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ เป็นคนล่าสุดที่พูดทำนองว่าการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภาหรือบนท้องถนนจะเป็นการ “เข้าทางเผด็จการ” ดังนั้นพรรคอนาคตใหม่จะไม่สร้างขบวนการมวลชนแบบนั้น และก่อนหน้านี้จะมีหลายคนพูดในแนวนี้เหมือนกัน ทั้งหมดก็เพื่อคัดค้านการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อล้มเผด็จการรัฐสภาชุดปัจจุบันของประยุทธ์

แต่ในโลกจริง การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงทั้งไทยและต่างประเทศ มาจากการเคลื่อนไหว และการนัดหยุดงาน ไม่เคยมาจากการเล่นละครในรัฐสภาภายใต้กติกาเผด็จการ

จะขอยกตัวอย่างรูปธรรมมาจากปีที่ผ่านมา

ที่เลบานอนการประท้วงของมวลชนที่สามัคคีกลุ่มเชื้อชาติศาสนา ประสพความสำเร็จในการกดดันให้นายกรัฐมนตรี ซาอีด ฮ่รีริ ลาออกและสร้างวิกฤตให้กับรัฐบาลและชนชั้นปกครองที่ผูกขาดแช่แข็งระบบการเมือง นี่หรือคือการเคลื่อนไหวที่ “เข้าทางเผด็จการ” ?

f7ef7923de30459bba3228c2f8a88069_18
ประท้วงที่เลบานอน “เข้าทางเผด็จการ” ?

ในซูดาน การประท้วงของมวลชนอย่างต่อเนื่องสามารถล้มเผด็จการของ อัล บาเชียร์ และกดดันให้คณะทหารที่เข้ามาแทนที่ยอมเจรจากับผู้แทนฝ่ายค้าน ยอมเสนอแนวทางไปสู่การสร้างสันติภาพและประชาธิปไตย และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วพรรคการเมืองของอดีตหัวหน้าเผด็จการ อัล บาเชียร์ ก็ถูกยุบ นอกจากนี้กฏหมายความมั่นคงที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของเผด็จการก็ถูกยกเลิกไป นี่หรือคือการเคลื่อนไหวที่ “เข้าทางเผด็จการ” ?

download-0
ประท้วงที่ซูดาน “เข้าทางเผด็จการ” ?

ที่แอลจีเรีย หลังจากมวลชนออกมาประท้วงและมีการนัดหยุดงานของกรรมาชีพ โดยเฉพาะกรรมาชีพในภาครัฐ ซึ่งรวมอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ชนชั้นปกครองแอลจีเรียถูกบังคับให้เขี่ยประธานาธิบดีเผด็จการ บูเตฟลิกา ผู้นำที่ประชาชนเกลียดชัง ออกจากตำแหน่ง หลังจากนั้นก็สัญญาว่าจะมีการเลือกตั้ง แต่มวลชนไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งที่จัดขึ้นโดยชนชั้นปกครองเดิมและทหารในเดือนนี้จะเป็นการเลือกตั้งเสรี จึงมีการประท้วงอย่างต่อเนื่องเพื่อกดดันให้รัฐบาลลาออกและทหารถอนตัวออกจากการเมือง นี่หรือคือการเคลื่อนไหวที่ “เข้าทางเผด็จการ” ?

_109496398_algeriacrowds
ประท้วงที่แอจีเรีย “เข้าทางเผด็จการ” ?

ในประเทศเอกวาดอร์ การประท้วงของมวลชนที่ไม่พอใจกับนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐบาลตามแผนไอเอ็มเอฟ สามารถบังคับให้รัฐบาลหนี้ออกจากเมืองหลวงและยกเลิกนโยบายดังกล่าว  นี่หรือคือการเคลื่อนไหวที่ “เข้าทางเผด็จการ” ?

PA-46149521.max-760x504
ประท้วงที่เอกวาดอร์ “เข้าทางเผด็จการ” ?

ผมไม่ได้เสนอว่าเราควรเคลื่อนไหวแบบโง่ๆ “หัวชนฝา” โดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์และความพร้อมของมวลชน แต่คนที่ตอบโต้ผมแบบปัญญาอ่อนว่าผมควรจะกลับไทยเพื่อนำการเคลื่อนไหวนั้น เป็นคนที่ไม่สนใจความจริงว่าผมในฐานะผู้ลี้ภัย 112 จะโดนจับทันทีที่เข้าประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือพวกนี้ไม่มีข้อเสนออะไรในรูปธรรมเพื่อล้มเผด็จการ คือไม่เสนอทางเลือกอื่นที่ต่างจากการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม สรุปแล้วเราต้องยอมจำนน

_109611660_859054da-32fb-443d-92d5-fd9d8c637b8c
อิรัก การประท้วงเดือนนี้สามารถไล่นายกรัฐมนตรีให้ลาออกได้ “เข้าทางเผด็จการ” ?

ทั่วโลกในขณะนี้มีขบวนการมวลชนที่ลงถนนเพื่อล้มรัฐบาลหรือกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลง เช่นในชิลี ฮ่องกง สาธารณรัฐเช็ก เฮติ กินี อิหร่าน และล่าสุดมีประท้วงใหญ่และนัดหยุดงานที่ฝรั่งเศส และเรากำลังรอดูผล

แน่นอนในการเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่มีหลักประกันอัตโนมัติว่าการต่อสู้จะชนะหรือไม่ถูกปราบ และไม่มีหลักประกันอัตโนมัติว่าชัยชนะของมวลชนจะเป็นชัยชนะถาวรถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวที่เข้มแข็งต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่ประเด็นสำคัญคือ ไม่มีตัวอย่างรูปธรรมจากที่ไหนในโลกที่ระบอบเผด็จการถูกล้มหรือยกเลิกผ่านการเล่นละครในรัฐสภาภายใต้กติกาของเผด็จการ

_105677294_89beebc0-321d-4a57-8f5e-f320b98271d3
กาตาลูญญา

ตัวอย่างของข้อเสียของการ “รอให้เผด็จการตายเอง” และปฏิรูปผ่านรัฐสภา เห็นได้จากประเทศชิลีและสเปน เพราะในสองประเทศนี้รัฐธรรมนูญที่ได้มาจากกระบวนการนี้เป็นรัฐธรรมนูญยุคเผด็จการ ซึ่งตอนนี้มีการลุกฮือต่อต้านที่ชิลี และในสเปนชนชั้นปกครองพยายามใช้รัฐธรรมนูญเพื่อปราบปรามฝ่ายที่ชนะประชามติเพื่อสร้างประเทศอิสระใน กาตาลูญญา/คาทาโลเนีย พูดง่ายๆคือ กติกาเผด็จการที่ถูกฝังลึกในรัฐธรรมนูญหรือระบบการเมืองเป็นอุปสรรค์ในการสร้างประชาธิปไตยในภายหลัง

การเงียบเฉยและยอมจำนนต่างหากที่เข้าทางเผด็จการ

อ่านเพิ่ม

ซูดานกับแอลจีเรีย    https://bit.ly/36SxEj5

การลุกฮือของมวลชนทั่วโลก 2019 https://bit.ly/2OxpmVr

จากคาทาโลเนียถึงปาตานี https://bit.ly/2qgGE0U

ศาลเตี้ยออกฤทธิ์เผด็จการอีกครั้ง

ใจ อึ๊งภากรณ์

การที่ศาล(เตี้ย)รัฐธรรมนูญ ที่แต่งตั้งโดยเผด็จการประยุทธ์ สั่งปลด ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ด้วยเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด มันเป็นแค่อีกตัวอย่างหนึ่งของกลไกต่างๆ ที่เผด็จการทหารสร้างขึ้นเพื่อต่อยอดอำนาจของทหารในระบบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้ผู้นำเผด็จการ” หรือระบอบ “เผด็จการรัฐสภา”

Dt-n4cyVYAA7HNH

เมื่อสองอาทิตย์ก่อน iLaw รายงานถึง 10 สาเหตุที่ประยุทธ์ไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งได้ [ดู https://prachatai.com/journal/2019/11/85125 ] มีการกล่าวถึงการที่ประยุทธ์ไม่ใช่สส. การที่เผด็จการประยุทธ์คุมอำนาจตลอดเวลาที่มีการเลือกตั้ง การที่ทหารเขียนกติกาเอง การที่ทหารแต่งตั้งศาลและกกต. และการสร้างอุปสรรค์ทั้งหลายให้กับพรรคฝ่ายค้าน ยิ่งกว่านั้นในที่สุดพรรคทหารได้คะแนนเสียงและที่นั่งน้อยกว่าพรรคที่ต้านทหารอีกด้วย

นอกจากนี้ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าทหารกำลังข่มขู่ผู้เห็นต่างด้วยวิธีผิดกฏหมาย [ดู https://prachatai.com/journal/2019/11/85172 ] แต่ในยุค “เผด็จการรัฐสภา” ทหารทำอะไรก็ได้ไม่ต้องสนใจกฏหมาย

คำถามสำคัญที่พวกเราจะต้องชูขึ้นมาคือ ทำไมฝ่ายประชาธิปไตยถึงอ่อนแอ?

เพราะการที่เผด็จการประยุทธ์สามารถสืบทอดอำนาจด้วยกลไกและองค์กรต่างๆ ของมัน ไม่ได้เป็นเรื่องชี้ขาดว่าสังคมเราจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ และนิยายหลอกเด็กว่ากษัตริย์ปัญญาอ่อนวชิราลงกรณ์มีอำนาจล้นฟ้า เพียงแต่เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นในการต่อสู้ เพื่อเป็นคำแก้ตัวสำหรับคนที่หมดแนวทางในการต่อสู้ [ดู https://bit.ly/2GcCnzj ]

เรื่องชี้ขาดที่ทำให้เผด็จการประยุทธ์ยังคงดำรงอยู่ได้ คือความอ่อนแอของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยนอกรัฐสภา

ความอ่อนแอนี้ไม่ได้มาจากการปราบปรามของฝ่ายเผด็จการเป็นหลัก แต่มาจากการที่แกนนำทางการเมืองของพรรคต่างๆ ที่ต้านทหาร ไม่ต้องการสนับสนุนและสร้างขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าว เช่นการที่ทักษิณแช่แข็งขบวนการเสื้อแดงเพื่อหวังประนีประนอมกับฝ่ายทหาร และการที่พรรคอนาคตใหม่ไม่เคยสนใจที่จะทำอะไรนอกจากการเล่นละครในรัฐสภาหรือการพูดถึงกฏหมายและรัฐธรรมนูญ

สิ่งเหล่านี้สำคัญเพราะมันมีผลในการลดความมั่นใจของคนธรรมดาที่จะเคลื่อนไหว

การเคลื่อนไหวที่ผมพูดถึงไม่ใช่การออกรบแบบหัวชนฝาเพื่อพลีชีพ แต่มันเป็นการสร้างเครือข่ายและเคลื่อนไหวของมวลชนแบบที่ใช้สติปัญญา

การที่ธนาธรตอนนี้มีแค่สถานภาพของพลเมืองนอกรัฐสภา เป็นโอกาสทองที่เขาจะเริ่มสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

75239188-c826-496f-8fd6-1d593349dff2

แต่ธนาธรจะทำหรือไม่? เพราะเขาเป็นแค่นักการเมืองนักธุรกิจที่เคยสนับสนุนการเคลื่อนไหวในอดีต ในฐานะนักธุรกิจเขาเน้นผลประโยชน์กลุ่มทุนเหนือผลประโยชน์ของสหภาพแรงงานและกรรมาชีพ และพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้รณรงค์เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบหรือครบวงจร เขาแค่แสดงความจริงใจในการต้านทหารเผด็จการ

ผู้เขียนหวังว่าธนาธรจะเปลี่ยนใจและหันมารณรงค์สร้างขบวนการเคลื่อนไหวที่มีพลัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราไปรอหรือตั้งความหวังว่าเขาจะทำไม่ได้ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีมวลชนต้องสร้างจากล่างสู่บน โดยพลเมืองรากหญ้าที่เป็นกรรมาชีพและเกษตรกร อย่างที่เขาทำกันในขณะนี้ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก [ดู https://bit.ly/2OxpmVr ]

อ่านเพิ่ม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในไทย https://bit.ly/2BYxAyd

 

ทำไมเราต้องหมอบคลานต่อกษัตริย์ทารก?

ใจ อึ๊งภากรณ์

พฤติกรรมของวชิราลงกรณ์ในสองอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่มีการปลดเมียน้อยและมหาดเล็ก ไม่ใช่พฤติกรรมของคนที่มีวุฒิภาวะสมจะเป็นเป็นประมุข และไม่ใช่พฤติกรรมของคนที่เป็นผู้นำที่มีอำนาจ แต่มันแสดงถึงนิสัยเอาแต่ใจตัวเองในรูปแบบเด็กทารกเกเรของวชิราลงกรณ์ ทั้งๆ ที่เขาอายุถึง 67 ปี

ก่อนหน้านี้วชิราลงกรณ์ปลดอดีตเมียไปหลายคนและแสดงท่าทีแย่ๆ ต่อสตรีเหล่านี้ ต่อมาเมื่อขึ้นมาเป็นกษัตริย์ก็แต่งตั้งเมืยหลักและเมียน้อยในตำแหน่งเว่อร์ๆ ทั้งๆ ที่ผู้หญิงเหล่านั้นไม่มีความสามารถอะไรพิเศษนอกจากจะเป็นนางบำเรอให้วชิราลงกรณ์

ใครๆ ที่ตามข่าวอื้อฉาวของกษัตริย์ไทยคงจะนึกถึงภาพเด็กเล็กๆ ที่พยายามให้คนรอบข้างเอาแต่ใจตัวเองและอาละวาด โยนของเล่น เมื่อไม่ได้ดังใจ

cb01-temper-tantrum

ชนชั้นปกครองไทย โดยเฉพาะทหาร แต่รวมถึงภูมิพลผู้เป็นพ่อ สิริกิติ์ผู้เป็นแม่ และนายทุนกับนักการเมืองกระแสหลัก ได้มีส่วนร่วมในการเอาใจทารกวชืราลงกรณ์ตลอดชีวิตอันไร้ค่าของเขา จนทำให้กษัตริย์ทารกคนนี้ “เสียเด็ก”

กษัตริย์ทารกวชิราลงกรณ์แสดงความโลภและพยายามกวาดกองทุนต่างๆ เกี่ยวกับกษัตริย์ มาเป็นของตัวเองในลักษณะส่วนตัว และพยายามบังคับให้กองทหารหลายหน่วยมาดูแลตัวเขา แต่นั้นไม่ใช่อาการของคนที่มีอำนาจแท้ในสังคม มันเป็นอาการของเด็กทารกที่ต้องการของเล่นเพิ่ม เพราะอำนาจแท้ที่จะขัดใจวชิราลงกรณ์หรือปกครองประเทศอยู่ที่อิ่น คืออยู่กับทหารและนายทุน

2019-05-04T072632Z-948315276-RC1EE0951570-RTRMADP-3-THAILAND-KING-CORONATION

การเอาใจวชิราลงกรณ์ไม่ใช่เพราะเขามีอำนาจอะไรหรอก มันเป็นเพราะพวกทหารและฝ่ายเผด็จการอื่นๆ มองว่าสถาบันกษัตริย์ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกล่อมเกลาให้พลเมืองก้มหัวให้ชนชั้นปกครอง และยอมรับความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและเศรษฐกิจ ที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย พูดง่ายๆ กษัตริย์เป็นเครื่องมือของทหารและนายทุน (ดู https://bit.ly/2GcCnzj )

คนที่มีอำจาจจริงในสังคมมักจะไม่ทำตัวเป็นเด็กทารกเกเรที่เอาแต่ใจตนเองอย่างเปิดเผย คนที่มีอำนาจจริงในสังคมคงจะมีวุฒิภาวะในการนำทั้งๆ ที่อาจเป็นคนชั่ว คนที่มีอำนาจทางการเมืองคงเข้าใจเรื่องการสร้างภาพที่ช่วยครองใจประชาชน และคนที่มีอำนาจจริงจะไม่อาศัยในต่างประเทศเป็นหลัก เพราะต้องคอยคุมและรักษาอำนาจของตนเอง

ในยุคสงครามเย็นการอ้างถึงกษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิที่ใช้ต่อต้านแนวสังคมนิยมที่ต้องการสร้างความเท่าเทียม ในยุคปัจจุบันมันกลายเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารและการแทรกแซงการเมืองและสังคมโดยทหาร สาเหตุเข้าใจได้ง่าย เพราะกองทัพไม่มีความชอบธรรมอะไรในเรื่องประชาธิปไตย และความยุติธรรม หรือการพยายามสร้างสังคมที่ก้าวหน้า ทันสมัย และเท่าเทียม ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพลเมืองไทยจำนวนมาก กองทัพไม่มีความชอบธรรมในการปลดแอกประเทศเหมือนในประเทศเพื่อนบ้าน และกองทัพไทยมีประวัติอันยาวนานในการปราบปรามประชาชน กองทัพจึงต้องใช้กษัตริย์เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรม และต้องคอยรณรงค์ส่งเสริมกษัตริย์

โดยทั่วไปแล้วการเชิดชูสถาบันกษัตริย์แบบนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นที่ยังมีสถาบันล้าหลังอันนี้ แต่ในประเทศยุโรปจะไม่ทำโดยทหารเผด็จการเพราะพลเมืองมีการต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยมานาน ในไทยพลเมืองก็สู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยเช่นกัน แต่สิ่งที่ขาดไปคือการต่อสู้ทางการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพที่สามารถเน้นเรื่องความเท่าเทียมทางชนชั้นบ้าง และกดดันให้ฝ่ายชนชั้นนายทุนยอมแบ่งอำนาจบางส่วนให้คนธรรมดาเพื่อสร้างเสถียรภาพสำหรับรัฐนายทุนและระบบขูดรีด ในไทยกระแสทางการเมืองและการจัดตั้งทางการเมืองของชนนชั้นกรรมาชีพยังอ่อนแอเกินไป ดังนั้นลัทธิที่เน้นอภิสิทธิ์ของคนชั้นสูงยังมีอิทธิพลสูงในสังคมเรา

สภาพเช่นนี้เปลี่ยนได้ถ้าเราสร้างพรรคการเมืองที่มีฐานอำนาจในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ และสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมนอกรัฐสภา

แต่ภาพที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ของสังคมไทยหลังการทำรัฐประหารและการสร้างเผด็จการรัฐสภา คือภาพของระบบการเมืองที่ชำรุด คือภาพของรัฐสภาที่ไร้ความหมาย คือภาพของสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ คือภาพของสังคมที่ถูกแช่แข็งไม่ให้พัฒนาไปในลักษณะสมัยใหม่ …. และเป็นภาพที่ผู้มีอำนาจบังคับและชวนให้เราไปหมอบคลานต่อกษัตริย์ทารก

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/36rj3KS  และ   https://bit.ly/2Lptg4d

 

รัฐประหาร ๑๙ กันยา ทำลายความก้าวหน้าของสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

รัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ เป็นจุดเริ่มต้นของการแช่แข็งสังคมไทย และการทำลายความก้าวหน้าที่คนจำนวนมากเคยหวังว่าจะเกิดขึ้นหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐

ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา มีการหมุนนาฬิกากลับสู่ความหล้าหลังของเผด็จการทหาร และมีการเสียเวลา เสียโอกาส ที่จะพัฒนาสังคมไทยให้ทันสมัยและมีความเป็นธรรม เราเสียโอกาสที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ เราเสียโอกาสที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วมของพลเมือง เราเสียโอกาสที่จะพัฒนาระบบการศึกษา และเราเสียโอกาสที่จะพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคและการคมนาคม และสภาพเช่นนี้ยังดำรงอยู่ทุกวันนี้ภายใต้เผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์

19 กย

ใครบ้างในไทยมีส่วนในการทำลายความก้าวหน้าของสังคม?

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ ประกอบไปด้วย ทหาร ข้าราชการชั้นสูง องค์มนตรี นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์  พวกเจ้าพ่อทางการเมือง พวกนายทุนใหญ่ และนายธนาคารหลายส่วน โดยที่แนวร่วมนี้มักอ้างความชอบธรรมโดยพูดถึงการปกป้องสถาบันกษัตริย์

กษัตริย์ภูมิพลเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มนี้มานานและไม่เคยปกป้องประชาธิปไตยกับเสรีภาพ แต่ภูมิพลไม่เคยมีอำนาจทางการเมืองของตัวเอง

นอกจากนี้พวกที่สนับสนุนการทำลายสังคมผ่านการทำรัฐประหาร มีพวกสลิ่มชนชั้นกลางและกลุ่มเอ็นจีโอหลายกลุ่ม

สิ่งที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมนี้ไม่พอใจคือ การขึ้นมาเป็นรัฐบาลของไทยรักไทยที่เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมือง โดยที่ไทยรักไทยทำสัญญาทางสังคมกับประชาชนว่าจะมีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นรูปธรรม เช่นนโยบาย “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” นโยบาย “กองทุนหมู่บ้าน” และนโยบายที่พักหนี้เกษตรกร ซึ่งรัฐบาลไทยรักไทยนำมาทำจริงๆ หลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง เป้าหมายของไทยรักไทยคือการพัฒนาเศรษฐกิจกับสังคมไทย เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ และรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่มองว่าคนจนควรจะเป็น “ผู้ร่วมพัฒนา” โดยไม่มองว่าคนจนเป็น “ภาระ” หรือเป็น “คนโง่” สรุปแล้ว ไทยรักไทย สามารถทำแนวร่วมประชาธิปไตยกับประชาชนส่วนใหญ่ และครองใจประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน ผ่านนโยบายที่จับต้องได้ อย่างไรก็ตาม พรรคไทยรักไทย ไม่ใช่พรรคสังคมนิยม หรือพรรคของคนจนหรือกรรมาชีพ เพราะเป็นพรรคของนายทุนใหญ่ และเป็นพรรคที่มองว่าทุนนิยมไทยจะได้ประโยชน์จากการดึงประชาชนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทางเศรษฐกิจ

นโยบายเศรษฐกิจของ ไทยรักไทย คือนโยบาย “คู่ขนาน” (Dual Track) ที่ใช้เศรษฐศาสตร์แนวเคนส์ (Keynesianism) ในระดับรากหญ้า คือใช้งบประมาณของรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานในระดับหมู่บ้านหรือชุมชน และใช้นโยบายตลาดเสรี (Neo-liberalism) ในระดับชาติ เช่นการเซ็นสัญญาค้าเสรีและการพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ถึงแม้ว่าแนวเศรษฐกิจแบบนี้เคยมีการใช้ในประเทศอื่นในยุคต่างๆ และไม่ใช่อะไรที่ประดิษฐ์ใหม่ และเป็นนโยบายที่พยายามแก้ปัญหาจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวและธนาคารต่างๆ ไม่ยอมปล่อยกู้ นักวิชาการอนุรักษ์นิยมของไทยจำนวนมากไม่เข้าใจหรือจงใจไม่เข้าใจ และประกาศว่ารัฐบาลใช้แนวเศรษฐกิจ “ระบอบทักษิณ”  (Taksinomics) เหมือนกับว่านายกทักษิณเป็นคนบ้าที่เสนอนโยบายเพ้อฝันแบบแปลกๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เคยชินมานานกับการมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผ่านเครือข่าย “ผู้มีอิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญ” เช่นทหาร องค์มนตรี เจ้าพ่อ และนายทุนใหญ่ หรือผ่านระบบการเลือกตั้งที่ใช้เงินซื้อเสียงอย่างเดียว โดยไม่มีการเสนอนโยบายอะไรเป็นรูปธรรม และไม่มีการให้ความสนใจกับคนจนแต่อย่างใด เช่นกรณีนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคชาติไทย เป็นต้น พวกนี้ไม่พอใจที่ทักษิณและไทยรักไทยมีอำนาจทางการเมืองผ่านสัญญาทางสังคมกับประชาชนส่วนใหญ่ เขาไม่พอใจที่รัฐบาลมีการนำกิจการใต้ดินหลายอย่างมาทำให้ถูกกฎหมาย เขาไม่พอใจที่มีการใช้งบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ประชาชน แทนที่จะทุ่มเทงบประมาณเพื่อทหาร และคนชั้นสูงอย่างเดียว ดังนั้นเขาและนักวิชาการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนเขา มักจะวิจารณ์นโยบายรัฐบาลว่า “ขาดวินัยทางการคลัง” ตามนิยามของพวกกลไกตลาดเสรีที่เกลียดชังสวัสดิการรัฐ แต่ในขณะเดียวกันเวลาพวกนี้มีอำนาจก่อนและหลังรัฐบาลทักษิณ เขาไม่เคยมองว่าการเพิ่มงบประมาณทหาร “ขาดวินัยทางการคลัง” แต่อย่างใด

วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชั้นปกครองไทย คือ “วัฒนธรรมคอกหมู” ที่มีการร่วมกันหรือพลัดกันกินผลประโยชน์ที่มาจากการขยันทำงานของประชาชนชั้นล่างล้านๆ คน พวกอำมาตย์อนุรักษ์นิยมเคยชินกับระบบนี้ เขาเคยชินกับรัฐบาลพรรคผสมที่อ่อนแอและมีการพลัดเปลี่ยนรัฐมนตรีเพื่อพลัดกันกิน พวกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เคยชินกับการใช้อิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญในการร่วมกินด้วย เขาจึงไม่พอใจและเกรงกลัวเวลานายทุนใหญ่ที่เป็นนักการเมืองอย่าง ทักษิณ ชินวัตร สามารถครองใจประชาชนและเริ่มมีอำนาจสูงกว่าอภิสิทธิ์ชนคนอื่นๆ โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตย ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่า เวลาพวกอนุรักษ์นิยม คนชั้นกลาง หรือพันธมิตรฯเสื้อเหลือง พูดถึง “การคอร์รับชั่น”  “การผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์” “การมีผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “การใช้อำนาจเกินหน้าที่” ของทักษิณ เขาไม่ได้พูดถึงการเอารัดเอาเปรียบประชาชนธรรมดาที่มีมานาน หรือการที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมเท่าที่ควร หรือการโกงกินของนักการเมืองทุกพรรค หรือของทหาร เขาหมายถึงปัญหาเฉพาะหน้าของพวกอภิสิทธิ์ชนที่เริ่มถูกเขี่ยออกจากผลประโยชน์ในคอกหมูมากกว่า นี่คือสาเหตุที่เขาทำรัฐประหาร เขาอยากหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุค “ประชาธิปไตยคอกหมู” ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๓๙ นั้นเอง การปฏิกูลการเมืองภายใต้เผด็จการประยุทธ์ก็เป็นเช่นนี้

ความไม่พอใจของแนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม ที่ก่อตัวขึ้นมาเพื่อทำลายรัฐบาลไทยรักไทย ไม่สามารถนำไปสู่การคัดค้านไทยรักไทยด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นสำเร็จ พวกนี้จะต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาที่เสนอประโยชน์กับคนจนมากกว่าที่ไทยรักไทยเคยเสนออีก คือต้องเสนอให้เพิ่มสวัสดิการและเร่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ ด้วยการเพิ่มงบประมาณรัฐและการเก็บภาษีจากคนรวย นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เกลียดชังอย่างถึงที่สุด เพราะพวกนี้เป็นพวกคลั่งนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้ว หรือนโยบาย “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ดังนั้นเขาจึงหันมาเกลียดชังอำนาจการลงคะแนนเสียงของพลเมืองส่วนใหญ่ และตัดสินใจว่ามีทางเดียวเท่านั้นที่จะจัดการกับรัฐบาลไทยรักไทย คือต้องทำรัฐประหาร และมีการพยายามโกหกว่า “ประชาชนที่เลือกรัฐบาลทักษิณเป็นคนโง่ที่ขาดการศึกษา”

FI-fists_0

ตราบใดที่เราไม่รื้อฟื้นขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นำโดยพลเมืองระดับรากหญ้าและกรรมาชีพ เพื่อสร้างอำนาจประชาชนนอกรัฐสภา เราจะไม่มีทางหลุดพ้นจากความหล้าหลังที่มาจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา

ในไทย ศาลกับความยุติธรรม ไม่เกี่ยวข้องกัน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ศาลในไทยเป็นเครื่องมือรับใช้เผด็จการมานาน มันไม่เกี่ยวอะไรกับ “ความยุติธรรม” และเนื่องจากศาลไม่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม ชนชั้นปกครองไทยมีความจำเป็นที่จะสร้างกลไกเพื่อปกป้องศาลจากการถูกตรวจสอบโดยประชาชนตามแนวประชาธิปไตย

กฏหมายหมิ่นศาลกลายเป็นเครื่องมือเพื่อกีดกันการตรวจสอบศาล และเป็นเครื่องมือในการทำลายเสรีภาพในการแสดงออก เพราะเผด็จการของรัฐไทยในยุคนี้ต้องการที่จะทำให้ศาลมีสถานภาพเหมือน “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้” ไม่ต่างเลยจากการใช้กฏหมาย 112 เพื่อปิดปากประชาชนไม่ให้ตรวจสอบประมุขและตรวจสอบการใช้ประมุขโดยทหารและชนชั้นปกครองไทยส่วนอื่น

ศาลเตี้ย

ตัวอย่างของ สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล นักวิจัย ที่ถูกหมายเรียกเพราะแสดงความเห็นเรื่องคดีเลือกตั้งและการถือหุ้นสื่อ เป็นตัวอย่างที่ดีของการที่ศาลพยายามปิดปากไม่ให้ประชาชนแลกเปลี่ยนถกเถียงเรื่องคดี ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งถ้าจะสร้างความยุติธรรมในสังคมผ่านกระบวนการประชาธิปไตย

ในประเทศประชาธิปไตย “การหมิ่นศาล” ไม่เกี่ยวกับการวิจารณ์ศาล แต่เกี่ยวกับการไม่ทำตามคำตัดสินของศาลหรือการสร้างเหตุวุ่นวายภายในศาลในขณะที่กำลังพิจารณาคดี แต่เนื่องจากไทยไม่มีประชาธิปไตยหรือความยุติธรรม เราไม่จำเป็นต้องก้มหัวให้ศาลเลย

อีกคดีหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าศาลกับความยุติธรรมไม่เกี่ยวข้องกันคือคดีฆาตกรรมที่เกาะเต่า ศาลฎีกาพิพากษายืนประหารชีวิต ซอลิน และ เวพิว จำเลยชาวพม่า ซึ่งเป็นแพะรับบาปแทนพวกมาเฟียบนเกาะที่หลายคนสงสัยว่าเป็นผู้ร้ายที่แท้จริง นอกจากนี้มีการวิจารณ์การทำงานของตำรวจไทยภายใต้แรงกดดันให้หาคนร้ายโดยเร็วจากรัฐบาล โดยที่ตำรวจไม่ปกป้องสถานที่เกิดเหตุเพื่อหาหลักฐานตามวิธีการวิทยาศาสตร์

ใครๆ ก็ทราบดีว่าในสังคมไทย ตำรวจไม่เคยจับคนร้ายที่ใช้ความรุนแรงกับนักประชาธิปไตย ไม่เคยแก้ปัญหาการอุ้มฆ่า และมักจะอยู่ภายใต้อำนาจ “ผู้มีอิทธิพล” ดังนั้นการหาแพะรับบาป โดยเฉพาะในหมู่คนต่างชาติจากประเทศเพื่อบ้าน เป็นวิธีการปกติของตำรวจไทย

ในบริบทนี้ การรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารยิ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับประเทศไทย

ในสังคมชนชั้นของระบบทุนนิยมทั่วโลก ศาลเป็นเครื่องมือร่วมกับทหารและตำรวจในการบังคับผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองและปกป้องรัฐ แต่ในสังคมที่มีการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ และมีการขยายพื้นที่ประชาธิปไตย ศาลถูกแรงจากสังคมบังคับให้ต้องมีความโปร่งใสและต้องพิสูจน์ต่อสังคมว่าสร้างความยุติธรรม ระบบลูกขุนที่ประกอบไปด้วยประชาชนธรรมดา ก็เกิดจากแรงกดดันอันนี้ อย่างไรก็ตามก็ยังมีบางกรณีที่ศาลตัดสินคดีผิดและหันหลังให้กับความยุติธรรม แต่กรณีแบบนี้น้อยกว่าในไทยมาก

ในสังคมไทยการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรณีการตายของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ในค่ายทหารเป็นแค่ตัวอย่างล่าสุด และการฟอกความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐก็เกิดขึ้นผ่านสื่อ ผ่านทหารในรัฐสภา และผ่านการใช้ “ภาคประชาชน” จอมปลอม เช่น คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

67535340_2408292259228649_7345892156457877504_n

คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ออกมาพูดว่าทหารไม่ได้ทำร้าย อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ไม่ใช่องค์กรภาคประชาชน หรือองค์กรที่อิสระจากอำนาจรัฐและทหารแต่อย่างใด มันเป็นองค์กรที่แต่งตั้งขึ้นมาโดยทหารที่กดขี่ชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี

การสร้างความยุติธรรม แยกออกไม่ได้จากการสร้างสิทธิเสรีภาพกับประชาธิปไตย แยกออกไม่ได้จากการรื้อทิ้งรัฐธรรมนูญทหาร และแยกออกไม่ได้จากความจำเป็นที่จะรื้อถอนศาล ยกเลิกกฏหมายเผด็จการ และรื้อถอนอำนาจทหาร แต่สิ่งเหล่านี้อาศัยแค่รัฐสภาหรือกลุ่มนักวิชาการไม่ได้ ต้องมีการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อประชาธิปไตยนอกรัฐสภา