ยาเสพติดไม่ควรผิดกฏหมาย

ใจ อึ๊งภากรณ์

การที่ ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม หาทางยกเลิก ‘เมทแอมเฟตามีน’ จากบัญชียาเสพติดที่ผิดกฏหมาย เป็นนโยบายที่ดี ถ้าเราดูแค่ในระดับผิวเผิน แต่แน่นอน เราไม่ควรไว้ใจรัฐบาลเผด็จการว่าจะทำในสิ่งที่ถูกต้องในเรื่องนี้ ผมจะขออธิบายรายละเอียดด้วยเหตุผล

ในประการแรก ยาเสพติดทุกชนิดไม่ควรเป็นเรื่องผิดกฏหมาย แต่นโยบายของรัฐบาลต่างๆ ในอดีตเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นนโยบายที่ออกแบบเพื่อสร้างภาพและดึงคะแนนนิยม ซึ่งมีผลในด้านลบทั้งสิ้น เพราะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน และเพิ่มความตายและความเสี่ยง ไม่ได้แก้ปัญหาแต่อย่างใด ถ้าจะแก้ปัญหาการใช้ยาเสพติด ต้องมีการแก้ต้นเหตุของการใช้ยาแต่แรก เช่นปัญหาการทำงานล่วงเวลาหลายชั่วโมง หรือความห่างเหินแปลกแยกของพลเมืองในสังคมทุนนิยม ที่ทำให้คนมองตนเองเหมือนไร้ค่า ทำให้คนสิ้นหวัง และทำให้หลายคนขาดความอบอุ่น

นอกจากนี้ต้องมีการวิเคราะห์ปัญหาเป็นวิทยาศาสตร์ และแก้ปัญหาด้วยมนุษยธรรม ไม่ใช่ปลุกระดมให้ประชาชนกลัว “ยาบ้า” เหมือนกลัวผี

รัฐบาล ไทยรักไทย และพวกทหาร รวมถึงเปรม เคยมีนโยบายการใช้ความรุนแรงสุดขั้วกับปัญหายาเสพติดในไทย ที่เห็นชัดที่สุดคือการที่ “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ของรัฐบาล ไทยรักไทย ทำให้เกิดการฆ่าวิสามัญ 3000 กว่าศพ ซึ่งส่วนใหญ่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐไทยเอง โดยเฉพาะทหารกับตำรวจ มันขัดกับหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน เพราะไม่มีการพิสูจน์ความผิดในศาลเลย นอกจากนี้แล้ว นโยบายรุนแรงของรัฐบาล ไม่มีผลอะไรเลยต่อผู้ค้ายารายใหญ่ที่เป็นนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล หรือนายทหารกับตำรวจตำแหน่งสูงๆ เพราะคนที่ถูกฆ่าตายหรือโดนจับเป็นผู้น้อยทั้งสิ้น

ในประการที่สอง ปัญหาที่สำคัญของนโยบายรัฐบาลต่างๆ ในอดีต คือมีการใช้สองมาตรฐานกับยาหรือสารเคมีที่สร้างความมึนเมาและอาจเสพแล้วติดได้ เพราะมีการแยกว่า สุรา บุหรี่ หรือกาแฟ เป็น “ยาถูกกฏหมาย” ที่เป็นแหล่งสำคัญของการเก็บภาษีโดยรัฐ ในขณะที่ยาแอมเฟตามีน กัญชา และเฮโรอีน เป็นยา “ผิดกฏหมาย” ซึ่งการจำแนกยาออกเป็นสองชนิดดังกล่าว ไม่ได้กระทำบนพื้นฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพิษภัยของมัน การเสพสุราและบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำลายสุขภาพของพลเมืองไทย ดูได้จากสถิติกระทรวงสาธารณสุขเรื่องสาเหตุการตายก่อนวัยชราดังนี้

  • โรคเอดส์ ชาย17%     หญิง 10%
  • อุบัติเหตุบนท้องถนน ชาย 9%      หญิง  3%
  • โรคปอด หัวใจ เส้นโลหิต ฯลฯ ซึ่งเกี่ยวกับสุราและบุหรี่ ชาย 17%   หญิง 12%
  • ยาเสพติดผิดกฏหมาย ชาย  2%   หญิง ต่ำกว่า 1%

ในประการที่สาม ถ้าจะลดภัยของยาเสพติดจะต้องใช้นโยบาย “ลดความเสี่ยง” (Harm Reduction) สำหรับทุกคนที่ใช้ยา ซึ่งตรงกันข้ามกับบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวทั่วสังคม บรรยากาศความกลัวทำให้คนที่ติดยาไม่สามารถไปขอความช่วยเหลือได้ เพราะกลัวถูกฆ่าหรือถูกจับ การที่ยาผิดกฏหมายทำให้ยาราคาแพงขึ้น ซึ่งทำให้ผู้เสพอาจต้องขายยามากขึ้นเพื่อหารายได้ หรือต้องไปก่ออาชญากรรม

การทำให้ยาเสพติดไม่ผิดกฏหมายเฉยๆ โดยไม่มีนโยบายลดความเสี่ยงประกอบ และไม่แก้ต้นเหตุแห่งการใช้ยา จะไม่มีผลอะไร

ในหลายประเทศการลดภัยจากยาเสพติดอาศัยการใช้มาตรการการแจกเข็มฉีดยาสะอาดฟรี และการแจกจ่ายยาที่บริสุทธิ์ในจำนวนจำกัดโดยรัฐ เพื่อปกป้องและดูแลผู้ติดยา เหมือนการดูแลคนป่วย

นอกจากนี้เมื่อยาเสพติดไม่ผิดกฏหมาย ทุกคนในสังคมจะสามารถพูดคุยและศึกษาเรียนรู้รายละเอียดเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของยาชนิดต่างๆ ได้อย่างเปิดเผย โดยเฉพาะวัยรุ่นที่อยากทดลองใช้ยาบ้าง มันนำไปสู่จิตสำนึกที่ช่วยให้เขาป้องกันตัวเองด้วยหลักวิทยาศาสตร์ได้ และเขาจะสามารถแยกแยะระหว่างยาหรือวิธีการใช้ยาที่อันตราย กับการใช้ยาที่ไม่ค่อยเสี่ยง แต่เรื่องนี้ต้องอาศัยการเพิ่มสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในทุกระดับ รวมถึงในโรงเรียนอีกด้วย วันรุ่นต้องถูกชักชวนให้คิดเองเป็น ไม่ใช่หมอบคลานและรับฟังแต่คำสั่งจากผู้ใหญ่

ผมเดาว่าการที่ ไพบูลย์ คุ้มฉายา หาทางยกเลิก เมทแอมเฟตามีน จากบัญชียาเสพติดที่ผิดกฏหมาย ก็คงเป็นเพราะรู้อยู่ในใจว่าการใช้ความรุนแรงในการปราบยามันไม่สำเร็จ แล้วไม่ต้องการให้รัฐบาลทหารถูกวิจารณ์ว่าล้มเหลว นอกจากนี้อาจอยากลดจำนวนนักโทษในคุกเพื่อประหยัดงบรัฐ แต่จะจริงแค่ไหนผมไม่รู้

แต่ในเรื่องการใช้นโยบายลดความเสี่ยงในการใช้ยาเสพติดทุกชนิด และการเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนผ่านการลดชั่วโมงการทำงานและการเพิ่มรายได้ อย่างที่ผมเขียนไว้ข้างบน เราไม่ควรไปหวังอะไรทั้งสิ้นจากเผด็จการทหารชุดนี้ เพราะมันไม่สนใจที่จะเพิ่มการใช้งบประมาณรัฐเพื่อบริการพลเมืองส่วนใหญ่ ตรงกันข้ามเผด็จการมีการพยายามแช่แข็งอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และมีการพยายามทำลายระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง และเพื่อที่จะได้เพิ่มงบประมาณให้กับทหารและงบประมาณที่ใช้ในพิธีกรรมสำหรับอภิสิทธ์ชน รัฐบาลเผด็จการนี้ไม่สนใจจะลดความเหลื่อมล้ำหรือสร้างรัฐสวัสดิการแต่อย่างใด

นอกจากนี้นายทหารส่วนใหญ่ไม่เคยพยายามแก้ปัญหาใดๆ ด้วยมนุษยธรรม หรือด้วยการเพิ่มสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแก้ปัญหายาเสพติด

ดังนั้นทั้งๆ ที่การทำให้เมทแอมเฟตามีนไม่ผิดกฏหมายเป็นมาตรการที่ดี แต่ในยุคเผด็จการชุดนี้ มาตรการอื่นๆ ที่ต้องใช้ควบคู่กับนโยบายนี้จะไม่เกิดขึ้น

ดูรายละเอียดเพิ่ม https://youtu.be/VyPbBxrAu7c

วิกฤตพรรคซ้ายในลาตินอเมริกา

ใจ อึ๊งภากรณ์

ขณะนี้ ในหลายประเทศของลาตินอเมริกา มีวิกฤตของพรรคการเมืองซ้ายแบบ “ปฏิรูป” ที่เน้นแต่การชนะการเลือกตั้งในรัฐสภา โดยที่ไม่มีการโค่นอำนาจเก่าเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐ ไม่มีการรณรงค์สร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน และไม่สร้างพรรคปฏิวัติที่อาศัยอำนาจรากหญ้าจากล่างสู่บน

วิกฤตของพรรคฝ่ายซ้ายเหล่านี้ สร้างภัยให้กับคนยากจนและกรรมาชีพเป็นอย่างมาก เพราะเป็นโอกาสในการกลับมาของพรรคฝ่ายขวาท่ามกลางการเดินขบวนประท้วงของชนชั้นกลาง “สลิ่ม” ที่เกลียดชังคนจนและประชาธิปไตยที่เอื้อประโยชน์ให้คนจน

สลิ่มในบราซิล
สลิ่มในบราซิล

ในหลายประเทศของลาตินอเมริกา พรรคฝ่ายซ้ายเคยชนะการเลือกตั้งและลงมือใช้รายได้ของประเทศในการพัฒนาชีวิตของคนจน รายได้ดังกล่าว ในประเทศอย่างบราซิล มาจากการส่งออกวัตถุดิบ เช่นแร่ธาตุ ให้ประเทศจีน ซึ่งจีนในช่วงนั้นมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประเทศอย่างเวนเนสเวลา เคยรับรายได้ระดับสูงจากการค้าน้ำมัน นโยบายช่วยคนจนของหลายรัฐบาลในลาตินอเมริกา เป็นที่ชื่นชมของประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะในอดีตรัฐบาลฝ่ายขวาที่มาจากการเลือกตั้ง หรือเผด็จการทหาร ไม่เคยสนใจปัญหาความยากจนของคนส่วนใหญ่เลย หลายประเทศเคยถูกปกครองอย่างโหดร้ายโดยแก๊งอำมาตย์ที่ประกอบไปด้วยนายทุนใหญ่ คนรวย และทหาร

แต่ทุกวันนี้เศรษฐกิจจีนกำลังอ่อนตัวลงและจีนซื้อวัตถุดิบน้อยลง พร้อมกันนั้นปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก บวกกับนโยบายการกดราคาเพื่อทำลายคู่แข่งของประเทศซาอุ ทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำ เศรษฐกิจบราซิลเข้าสู่วิกฤตการหดตัวอย่างหนัก และอเจนทีนากับเวเนสเวลามีระดับเงินเฟ้อที่น่ากลัวมาก

เมื่อรัฐบาลของหลายประเทศในลาตินอเมริกาประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แทนที่จะยึดทรัพย์และระบบการผลิตจากคนรวยและกลุ่มทุน กลับใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่รัดเข็มขัดตัดสวัสดิการให้ประชาชน ซึ่งทำให้ขบวนการแรงงานและคนจนจำนวนมากไม่พอใจ แต่ในขณะเดียวกันมันเป็นโอกาสทองของพวกฝ่ายขวาและชนชั้นกลาง ที่จะออกมาประท้วงด้วย

แม้แต่ในประเทศ โบลิเวีย รัฐบาลของ อีโว มอราเลส ที่เคยก้าวหน้า ก็หักหลังขบวนการประชาชนพื้นเมืองท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทเหมืองแร่และน้ำมันเข้ามาลงทุนและทำลายป่า

ปัญหาใหญ่อีกอันหนึ่งในประเทศเหล่านี้คือ นักการเมืองฝ่ายซ้ายที่เคยเป็นนักสู้ หรือในกรณีของ ลูลา อดีตประธานาธิบดีบราซิล ซึ่งเคยเป็นนักสหภาพแรงงานในโรงงานรถยนต์ เมื่อเข้าไปมีอำนาจทางการเมืองโดยไม่เปลี่ยนโครงสร้างรัฐ และไม่มีพลังมวลชนรากหญ้าที่คอยตรวจสอบตัวเอง เริ่มแปรธาตุไปเป็นพวกอภิสิทธิ์ชนเหมือนกับที่นักการเมืองฝ่ายขวาและนายทุนใหญ่เป็นอยู่ พวกนี้จึงหันไปใช้ชีวิตเหมือนพวกคนรวย และหากินแบบคอร์รับชั่น บางครั้งนักการเมืองฝ่ายซ้ายปฏิรูปเหล่านี้ อาจยิ่งโกงกินอย่างเปิดเผยมากกว่าฝ่ายขวาบางคน เพราะไม่ได้มาจากตระกูลร่ำรวยที่สะสมทรัพย์ผ่านการขูดรีดประชาชนหรือการโกงกินในอดีตเหมือนฝ่ายขวา แต่เขาอยากมีวิถีชีวิตเหมือนกัน

ทั่วโลกระบบทุนนิยมเป็นระบบที่เต็มไปด้วยการโกงกิน การคอร์รับชั่น และการเอารัดเอาเปรียบขูดรีดคนอื่น ถ้านักการเมืองฝ่ายซ้ายไม่พยายามล้มทุนนิยม ก็จะปรับตัวเข้าหาระบบแทน

ปัญหาการโกงกินไม่ได้มาจาก “นิสัย” หรือ “ธรรมชาติ” มนุษย์ หรือปัญหาของการเป็นฝ่ายซ้ายแต่อย่างใด มันมาจากการที่ขาดขบวนการมวลชนที่จะมาตรวจสอบ เพราะเน้นการเป็นผู้แทนที่จะ “ทำอะไรให้ประชาชน” และมันมาจากรูปแบบการเมืองของฝ่ายปฏิรูปที่ไม่เน้นการปฏิวัติล้มระบบชนชั้นโดยพลังมวลชนที่ร่วมกันนำ

รัฐบาลพรรคซ้ายหลายแห่งเคยอาศัยกระแสการต่อสู้ของมวลชน เพื่อชนะการเลือกตั้ง แต่พอได้อำนาจทางการเมืองก็พยายามลดบทบาทมวลชน ในเวนเนสเวลา การสร้างพรรคสังคมนิยมของ ฮูโก ชาเวส ไม่ได้สร้างเพื่อส่งเสริมการปฏิวัติจากล่างสู่บน แต่สร้างเพื่อควบคุมมวลชนแทน ดังนั้นในหลายประเทศ เมื่อรัฐบาลฝ่ายซ้ายหักหลังประชาชน หรือทำให้คนส่วนใหญ่ผิดหวัง ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนทำงานและคนจนอ่อนแอกว่าที่เคยเป็น

ยิ่งกว่านั้น ในเมื่อชนชั้นกลางสลิ่มกับนักการเมืองฝ่ายขวาออกมาเคลื่อนไหว นักสหภาพแรงงานและคนจน ติดกับดักที่มาจากความต้องการที่จะคัดค้านฝ่ายขวาและปกป้องสิ่งที่รัฐบาลฝ่ายซ้ายเคยทำให้ แต่ในขณะเดียวกันต้องการประท้วงรัฐบาลฝ่ายซ้ายด้วย

สหภาพแรงงานสนับสนุน ลูลา
สหภาพแรงงานสนับสนุน ลูลา

ในประเทศบราซิล รัฐบาลพรรคแรงงานของประธานาธิบดี เดลมา รุสเซฟ และตัว “ลูลา” เอง กำลังถูกกล่าวหาว่าคอร์รับชั่นท่ามกลางการเดินขบวนของฝ่ายขวา อีกข้อกล่าวหาหนึ่งคล้ายๆ ของไทยคือฝ่ายขวาไม่พอใจกับนโยบายประชานิยมและอ้างว่ารัฐบาลใช้งบประมาณในลักษณะ “ผิดกฏหมาย” แต่นักการเมืองฝ่ายขวาที่ปลุกระดม “สลิ่ม” บราซิล ก็ถูกกล่าวหาว่าคอร์รับชั่นมากกว่าประธานาธิบดีหลายเท่า และคนที่เข้ามารับตำแหน่งชั่วคราวในขณะที่ เดลมา รุสเซฟ ถูกบังคับพัก ขณะที่มีการสืบสวน ก็โดนข้อกล่าวหาเช่นกัน ล่าสุดพรรคพวกของประธานาธิบดีเฉพาะกาลถูกจับว่าวางแผนล้ม รุสเซฟ เพื่อกีดกันไม่ให้พวกเขาโดนสืบสวนเรื่องคอร์รับชั่นเอง

ในเวนเนสเวลา ฝ่ายขวากำลังประท้วงกดดันรัฐบาลของ นิโคลัส เมดูโร และในอาเจทีนา คริสตีนา เคอร์ชเนอร์ นักการเมืองซ้ายอ่อนๆ แพ้การเลือกตั้งเมื่อไม่นานมานี้ และหลายคนมองว่าเขามีปัญหาคอร์รับชั่น อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีฝ่ายขวาคนใหม่ โมริซิโอ แมครี ก็โดนเรื่องอื้อฉาวจากการเปิดโปงการเลี่ยงภาษีใน “ปานามาเปเปอร์ส”

บทเรียนสำคัญจากสิบปีที่ผ่านมาของการเมืองลาตินอเมริกา คือฝ่ายซ้ายต้องสร้างพรรคปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนระบบอย่างถอนรากถอนโคน ต้องเน้นขบวนการมวลชนโดยเฉพาะกรรมาชีพ แทนที่จะตั้งความหวังกับผู้แทนในรัฐสภาเป็นหลัก และนอกนี้จากฝ่ายซ้ายและขบวนการแรงงานต้องมีจุดยืนที่อิสระจากพรรคฝ่ายซ้ายปฏิรูปที่มักจะหักหลังคนจนเสมอ

อ่านเรื่องเวนเนสเวลา: http://bit.ly/24YHhDL

บอยคอตหรือโหวดโน?

ใจ อึ๊งภากรณ์

การเลือกว่าเราจะลงคะแนนไม่รับ “รัฐอธรรมนูญทหาร” (โหวดโน) หรืองดออกเสียง (บอยคอต) ในประชามติที่จะจัดขึ้นในอนาคต เป็นเรื่องยุทธวิธีเท่านั้น อย่างที่พวกเราหลายคนเข้าใจดี มันเป็นยุทธวิธีในยุทธศาสตร์การต่อต้านเผด็จการ

ผมขอเรียกเศษกระดาษของเผด็จการว่า “รัฐอธรรมนูญ” เพราะมันไม่ใช่รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยเลย [ดู  http://bit.ly/25jnpk3  ]

ทั้งสองฝ่ายในการถกเถียงว่าจะงดออกเสียงหรือกาช่อง “ไม่รับ” มีจุดยืนเหมือนกันคือต่อต้านเผด็จการและรังเกียจ รัฐอธรรมนูญ โสโครกของไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือด ตรงนี้มันชัดเจน และทั้งสองฝ่ายจริงใจในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วย

แต่การเลือกยุทธวิธีที่ดีที่สุดในครั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณาประเด็นปัญหาจากมุมมองการเมือง และมันมียุทธวิธีที่ดีที่สุดเพียงวิธีเดียวคือกาช่อง“ไม่รับ”… จะขออธิบายเหตุผล

syylar7hxfydosf3li4l

คนที่เน้นการต่อสู้เชิงสัญลักณ์แบบปัจเจก จะพิจารณาเรื่องนี้จากจุดยืนของ “ความบริสุทธิ์” คือจะเสนอเหตุผลว่าการไปลงคะแนนเสียงไม่เอารัฐอธรรมนูญทหาร เป็นการยอมรับกติกาของเผด็จการ หรือเป็นการ “ถือหางทหาร” เขาจะถามต่อไปว่า ถ้าปรากฏว่าคนส่วนใหญ่ไปลงคะแนนรับรัฐอธรรมนูญ เราก็จะพ่ายแพ้ถึงขนาด “ต้อง” ยอมรับมติเสียงส่วนใหญ่หรือไม่? พวกนี้เลยเสนอว่าเราต้องงดออกเสียงหรือบอยคอตประชามติครั้งนี้

พอพวกที่เน้นความเป็นปัจเจกแบบนี้จะนั่งเฉยอยู่บ้าน ไม่ไปร่วมกิจกรรมการเมืองที่ทหารจัดไว้ เขาจะรู้สึกดีในตัวเอง เพราะสามารถรักษาความขาวสะอาด และไม่ว่าประชามติจะออกมาอย่างไร เขาก็จะอมยิ้มมั่นใจในความถูกต้องของแนวทางตนเองในรูปแบบปัจเจก

แต่การมั่นใจในความถูกต้องของแนวทางตนเองแบบนามธรรม มันไม่เคยนำไปสู่ชัยชนะในการต่อสู้ทางสังคมเลย เพราะการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคมทุนนิยมปัจจุบันต้องอาศัย “พลัง” และ “อำนาจ” มันอาศัยเหตุผลและศีลธรรมก็จริง เพราะเราต้องชักชวนคนจำนวนมากให้มาทางเดียวกับเราด้วยเหตุผลและศีลธรรม แต่การโบกธงของศีลธรรมหรือความถูกต้องอย่างเดียว ไม่สามารถเอาชนะพลังและอำนาจของชนชั้นปกครองได้เลย สิ่งที่จะใช้ได้ในการเผชิญหน้ากับอำนาจของทหาร หรืออำนาจของรัฐที่กดขี่เรา คือพลังมวลชนกับกระแสมวลชน และเราต้องใช้พลังนั้นในสังคม บนท้องถนน และในสถานที่ทำงานซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจ

พูดง่ายๆ ถ้าไม่มีมวลชน เราชนะไม่ได้

ดังนั้นสำหรับนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่เน้นพลังมวลชนแทนจุดยืนปัจเจก เราจะเลือกยุทธวิธีที่สามารถครองใจมวลชนได้ดีที่สุด

ในขณะนี้การเคลื่อนไหวของมวลชนผู้รักประชาธิปไตยในไทยอ่อนแอพอสมควร เหตุผลมาจากการ “สลาย” เสื้อแดงโดยทักษิณและพรรคเพื่อไทย บวกกับการที่นักเคลื่อนไหวจำนวนมากที่ไม่ได้เดินตามทักษิณ ไม่ยอมจัดตั้งมวลชนอย่างจริงจัง แต่ตอนนี้เรามีโอกาสที่จะร่วมกันแสดงว่าเราปฏิเสธทหารผ่านประชามติ

ประชามติที่กำลังจะจัดขึ้น เป็นการเสี่ยงทางการเมืองของคณะทหารโจรมากพอสมควร เขาต้องการสร้างภาพว่าจะปรึกษาประชาชน และสร้างภาพว่าในอนาคตจะมีการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่เป็นการเลือกตั้งปลอม แต่เขากังวลว่าประชาชนจะคว่ำรัฐอธรรมนูญอัปลักษณ์อันนี้ ดังนั้นเราต้องใช้โอกาสนี้เพื่อพยายามคว่ำรัฐอธรรมนูญและตบหน้าทหาร

มันมีประเด็นเดียวเท่านั้นที่สำคัญในการเลือกว่าเราจะโหวดโนหรือบอยคอต ประเด็นนี้คือเรื่องของกระแสในหมู่คนส่วนใหญ่ที่รักประชาธิปไตย เราต้องยึดติดกับกระแสนี้ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยหรือ นปช. จะมีส่วนในกระแสนี้หรือไม่

การนำจุดยืนของพรรคเพื่อไทยหรือ นปช. มาเป็นข้ออ้างในการบอยคอตนั้นฟังไม่ขึ้น และเป็นการเล่นพรรคเล่นพวกที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่เลย แท้จริงแล้วเราควรดีใจที่แกนนำเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทยมีส่วนในการสร้างกระแสไม่รับรัฐอธรรมนูญเลวฉบับนี้ นานๆ ที่สององค์กรนี้จะมีจุดยืนถูกต้อง

เวลาเราพิจารณาว่ากระแสตอนนี้เป็นอย่างไรในหมู่คนที่รักประชาธิปไตยทั่วประเทศ เราต้องยอมรับว่าการชวนให้คนไปลงคะแนนไม่รับรัฐอธรรมนูญมีกระแสแรงกว่าการบอยคอตหลายพันเท่า เราจึงต้องเลือกเส้นทางนี้

Untitled

เราต้องเป็นส่วนของกระแสไม่รับรัฐอธรรมนูญทหารครับ!

บางคนอาจสงสัยว่าการต่อสู้ทางชนชั้นเกี่ยวอะไรกับประชามติ มันเกี่ยวข้องแน่นอนและถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว ปรากฏการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือสังคมทุกชนิดเกี่ยวกับการต่อสู้ทางชนชั้นทั้งนั้น

การที่พวกนายพลและอภิสิทธิ์ชน ใช้อำนาจของกระบอกปืนและความรุนแรงเพื่อกีดกันไม่ให้คนส่วนใหญ่มีสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย เป็นการปราบปรามคนส่วนใหญ่ในสังคมโดยชนชั้นนายทุนในระบบทุนนิยม  ชนชั้นนายทุนหรือชนชั้นปกครองนี้ มีสมาชิกจากหลายส่วน มีทหาร นายทุนใหญ่ ข้าราชการชั้นสูงฯลฯ และชนชั้นนี้อาจไม่สามัคคีกันไปทั้งหมด อาจมีนายทุนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับแนวทางของคนส่วนใหญ่ในชนชั้นปกครองก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในวิกฤตการเมืองไทยปัจจุบันคือ ชนชั้นปกครองซีกอนุรักษ์กำลังใช้อำนาจเพื่อปิดกั้นโอกาสและอิทธิพลทางการเมืองของคนทำงานในเมืองและในชนบท ซึ่งเป็นกรรมาชีพและผู้ประกอบการรายย่อย ส่วนซีกสมัยใหม่ของชนชั้นปกครองที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเผด็จการปัจจุบัน ต้องการควบคุมเราด้วยระบบรัฐสภาและการสร้างภาพว่าเรามีส่วนร่วมเท่านั้นเอง เขาไม่ต้องการให้คนส่วนใหญ่เป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง

ท้ายสุดถ้าทหารมันสามารถ โกง ข่มขู่ หรือชักชวน หรือทำทั้งสามอย่างพร้อมกัน จนผลประชามติออกมารับรัฐอธรรมนูญของมัน เราจะทำอย่างไร? ง่ายมากครับ หลังจากที่เราเสียใจสักห้านาที เราต้องสู้ต่อไปเพื่อคัดค้านเผด็จการและระบบการเลือกตั้งจอมปลอมที่มันอยากนำเข้ามาใช้ เราจะไม่มีวันยอมรับกติกาของโจรไม่ว่าประชามติจะออกมาอย่างไร การรณรงค์ให้โหวดโนเป็นเพียงรอบหนึ่งในสงครามระยะยาวเพื่อประชาธิปไตย

โมฮัมมัด อาลี นักมวยผู้มีจิตสำนึกทางการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

คนเวียดนามไม่เคยเรียกผมเป็น นิกเกอร์

 นี่คือคำพูดอันมีชื่อเสียงของนักมวยแชมป์โลกชื่อโมฮัมมัด อาลี และคำว่า “นิกเกอร์” เป็นคำหยาบคายเหยียดสีผิวที่คนผิวขาวหลายคนใช้เรียกคนผิวดำ ในไทยคนไทยจำนวนหนึ่งก็ใช้คำว่า “ไอ้มืด”  ในลักษณะเหยียดสีผิวเช่นกัน

ในปี 1967 โมฮัมมัด อาลี เอ่ยคำพูดดังกล่าวออกมาเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลถามเขาว่า ทำไมเขาฝ่าฝืนกฎหมายและไม่ยอมถูกเกณฑ์ทหารไปรบในเวียดนาม ในคลิปวิดีโอข้างใต้ อาลี อธิบายว่าเขาจะไม่เดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปทำสงครามฆ่าพี่น้องคนผิวคล้ำๆ หรือคนจนที่อดอยากต้องลุยโคลน  “คนเหล่านี้ไม่เคยเรียกผมว่านิกเกอร์ ไม่เคยลงประชาทัณฑ์ฆ่าพวกผม ไม่เคยเผาบ้านพวกผม ไม่เคยข่มขืนแม่ของพวกเรา ผมจะไปยิงพวกนี้เพื่ออะไร? เพื่อมหาอำนาจอเมริกาหรือ? ผมไม่ไปหรอก ลากผมเข้าคุกเลย!” และในคลิปเดียวกัน เมื่อเถียงกับนักศึกษาผิวขาวฝ่ายขวาเรื่องการไม่ยอมไปรบที่เวียดนาม เขาอธิบายว่าคนจีน คนญี่ปุ่น คนเวียดนามไม่ใช่ศัตรูของเขา “ศัตรูของผมคือคนผิวขาว พวกคุณไม่เคยสนับสนุนสิทธิเสรีภาพสำหรับคนผิวดำอย่างผม แล้วคุณจะให้ผมไปรบเพื่อพวกคุณหรือ?”

ดูวิดีโอ https://youtu.be/vd9aIamXjQI

ในยุคนั้นคนผิวดำหลายคนไม่เห็นด้วยกับการไปรบเพื่อรับใช้รัฐบาลสหรัฐทีกดขี่ตัวเองมาตลอด และเริ่มมีการตื่นตัวและสร้างองค์กรเคลื่อนไหวของคนผิวดำ เช่นพรรคเสือดำ นอกจากนี้ทหารสหรัฐผิวดำที่ไปรบที่เวียดนาม เมื่อกลับมาท่ามกลางการกบฏของกองทัพ ก็กลายเป็นพลังสำคัญในการต่อสู้ของคนผิวดำเพื่อสิทธิเสรีภาพอีกด้วย ปี ค.ศ. 1968 เป็นปีที่มีกระแสการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของคนผิวดำและคนอื่นๆ ทั่วโลก

อ่านเพิ่ม: http://bit.ly/1UBwfkT

อาลี เปลี่ยนชื่อจากชื่อภาษาอังกฤษ และหันไปนับถือศาสนาอิสลาม เพราะเขามองว่าพวกที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นพวกที่กดขี่คนผิวดำมานาน นักต่อสู้เพื่อคนผิวดำ “มัลคอม เอกส์” ก็ทำเช่นกัน และในยุคนั้นพรรคเสือดำก็จับอาวุธเพื่อปกป้องคนผิวดำจากความรุนแรงของตำรวจอีกด้วย

โมฮัมมัด อาลี ปราศรัยในการประชุมองค์กร "มุสลิมดำ"
โมฮัมมัด อาลี ปราศรัยในการประชุมองค์กร “มุสลิมดำ”

อ่านเพิ่ม: http://bit.ly/1U4JADz

 

มัลคอม เอกส์
มัลคอม เอกส์
มัลคอม เอกส์ กับ โมฮัมมัด อาลี
มัลคอม เอกส์ กับ โมฮัมมัด อาลี

คนผิวดำในสหรัฐเดิมถูกกวาดต้อนมาจากอัฟริกา แล้วถูกขายเป็นทาสเพื่อทำงานในไร่ฝ้ายและไร่อ้อย มันทำให้เราเข้าใจได้ว่าระบบทุนนิยมของสหรัฐสร้างขึ้นมาบนรากฐานการกดขี่ขูดรีดทาสผิวดำ ต่อมาหลังจากที่มีการเลิกทาส คนผิวดำยังถูกกดขี่มาตลอด และไม่มีสิทธิเสรีภาพเหมือนคนผิวขาวทั้งๆที่สหรัฐอ้างตัวเป็นศูนย์กลางของ “โลกเสรี” ในยุคสงครามเย็น การอ้างตัวเป็นโลกเสรีของสหรัฐเป็นข้ออ้างในการกดขี่ประเทศอื่นอีกด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่สหรัฐทำสงครามอันป่าเถื่อนในเวียดนามเพื่อยับยั้งการปลดปล่อยตัวเองของประชาชนเวียดนาม

ขณะที่ประชาชนตะวันตกในยุโรปและสหรัฐกำลังลุกขึ้นสู้ “แนวร่วมปลดแอกแห่งชาติเวียดนาม” หรือ “เวียดกง” บุกเข้าไปในสถานทูตสหรัฐกลางเมืองไซ่ง่อนและยิงปืนออกมาสู้กับทหารอเมริกันในการลุกฮือ “ตรุษเวียดนาม” การรุกสู้ของเวียดกงครั้งนี้ เป็นสัญญาณสำคัญที่ส่งไปทั่วโลก เพื่อพิสูจน์ว่าสหรัฐไม่สามารถเอาชนะกองทัพอาสาสมัครของประเทศยากจนเล็กๆในเอเชียได้ สัญญาณนี้เป็นเครื่องเตือนใจและให้กำลังใจกับผู้ถูกกดขี่ทั่วโลกว่าการรวมตัวต่อสู้ของ “ผู้น้อย” ทั้งหลายเอาชนะยักษ์ใหญ่ได้ และคนหนุ่มสาวไทยก็เรียนบทเรียนนี้เช่นกัน เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เกิดขึ้น แค่ 5 ปีหลังจากนั้น และเป็นแรงบันดาลใจต่อไปให้กับนักศึกษาอินโดนีเซียในการเผชิญหน้ากับเผด็จการซูฮาร์โต และนักศึกษาในประเทศกรีซอีกด้วย

โมฮัมมัด อาลี เป็นที่เคารพรักใคร่ของประชาชนผู้ถูกกดขี่ทุกสีผิวทั่วโลก เพราะเขาเป็นคนผิวดำที่ไม่ยอมก้มหัวจำนนต่อระบบทุนนิยมและอำนาจรัฐที่เหยียดสีผิว เขาให้กำลังใจกับผู้ถูกกดขี่ทั้งหลาย และเป็นส่วนหนึ่งของกระแสรุกสู้ในยุคนั้นด้วย

ถ้าท่านเคารพ โมฮัมมัด อาลี และมองว่าเขาเป็นแบบอย่างที่ดี ท่านต้องชักชวนให้เพื่อนๆ คนไทยเลิกใช้คำหยาบคายเหยียดเชื้อชาติ เช่น “ไอ้มืด” “แขก” “ญวน” “เจ๊ก” หรือ “ฝรั่ง” และท่านต้องชักชวนเพื่อนฝูงมิตรสหายให้เลิกดูถูกคนงานข้ามชาติ คนมุสลิม หรือผู้ลี้ภัยอีกด้วย