อายุเกษียณ และบำเหน็จ บำนาญ ในมุมมองมาร์คซิสต์

ประเด็นอายุเกษียณเป็นเรื่องที่นำไปสู่การต่อสู้ทางชนชั้นที่ดุเดือดในฝรั่งเศสเมื่อเดือนเมษายนหลังจากที่ประธานาธิบดีมาครงใช้มาตรการเผด็จการเพื่อผ่านกฎหมายยืดเวลาเกษียณโดยไม่ผ่านรัฐสภา การต่อสู้ในฝรั่งเศสลามไปสู่ประเด็นอื่น เช่นเรื่องประชาธิปไตยที่ขาดตกบกพร่องมานาน และเรื่องอื่นที่มีความไม่พอใจสะสมอยู่ เช่นเรื่องวิกฤตค่าครองชีพและผลกระทบจากโควิดอีกด้วย

เป็นที่น่าเสียดายที่การต่อสู้รอบนั้นไม่นำไปสู่การล้มรัฐบาล และการตั้งรัฐบาลฝ่ายซ้าย ด้วยเหตุที่ผู้นำแรงงานหมูอ้วนระดับชาติพยายามประนีประนอมเสมอ เพราะกลัวการต่อสู้ของมวลชนจะทำลายความสงบของสังคมทุนนิยมและฐานะของผู้นำแรงงานเหล่านั้น

แต่มันไม่ใช่แค่รัฐบาลฝรั่งเศสเท่านั้นที่ต้องการยืดเวลาทำงานของเรา รัฐบาลทั่วโลกในระบบทุนนิยมต้องการจะทำเช่นนั้น และแอบอ้างว่าเป็นการ “ปฏิรูป” ระบบบํานาญบําเหน็จ  ทั้งๆ ที่เป็นการพยายามที่จะ “ทำลาย” สวัสดิการของเรา

การใช้คำว่า“ปฏิรูป” ในลักษณะที่ไม่ซื่อสัตย์  ไม่ต่างจากพวกที่เป่านกหวีดเรียกทหารมาทำรัฐประหารแล้วอ้างว่าจะ “ปฏิรูป” ระบบการเมืองไทย สรุปแล้วเมื่อไรที่ชนชั้นปกครองและนักวิชาการกับนักข่าวที่รับใช้นายทุนพูดถึงการ “ปฏิรูป” เขาหมายถึงการทำลายสิทธิและสภาพชีวิตของกรรมาชีพเสมอ

สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจคือบำเหน็จและบํานาญ เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่กรรมาชีพคนทำงานสะสมและออมในชีวิตการทำงาน มันไม่ใช่ของขวัญที่นายจ้างหรือรัฐมอบให้เราฟรีเลย ดังนั้นการยืดอายุเกษียณก่อนที่จะมีสิทธิ์ได้บำเหน็จบํานาญถือว่าเป็นการตัดค่าจ้างหรือขโมยค่าจ้างของเรา เพราะเราถูกบังคับให้ทำงานนานขึ้นเพื่อสวัสดิการเท่าเดิม

ขณะนี้อายุเกษียณในประเทศตะวันตกกำลังถูกยืดออกไปจากที่เคยเป็นอายุ 60 ไปเป็น 67 ในสหรัฐ กรีซ เดนมาร์ก อิตาลี่ 66 ในอังกฤษกับไอร์แลนด์ และ65.7 ในเยอรมัน

ในสเปนรัฐบาลไม่ขยายอายุเกษียณ แต่เรียกเก็บเงินสมทบบำเหน็จบำนาญจากหนุ่มสาวที่เริ่มทำงานแทน มันก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการตัดค่าจ้างหรือขโมยค่าจ้างของกรรมาชีพเช่นกัน และในประเทศอื่นๆ เช่นอังกฤษมีการตัดระดับสวัสดิการที่คนงานพึงจะได้หลังเกษียณ

สำหรับเราชาวมาร์คซิสต์ เรามองว่าในระบบทุนนิยมหลังจากที่เราทำงานและถูกขูดรีดมาตลอดชีวิตการทำงาน กรรมาชีพควรมีสิทธิ์ที่จะเกษียณและรับบำเหน็จบํานาญในระดับที่ปกป้องคุณภาพชีวิตที่ดี มันไม่ต่างจากเรื่องการรณรงค์เพื่อค่าจ้างที่อยู่ในระดับที่พอเหมาะกับคุณภาพชีวิตที่ดี

ยิ่งกว่านั้น เราชาวมาร์คซิสต์เข้าใจว่าในระบบทุนนิยม ค่าจ้างบวกกับบำเหน็จบำนาญ ไม่เคยเท่ากับมูลค่าที่เรามีส่วนในการผลิต เพราะนายทุน ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือฝ่ายรัฐ ขโมย “มูลค่าส่วนเกิน” ไปในระบบการขูดรีดแรงงาน เพื่อเอาไปเป็น “กำไร”

การขูดรีดดังกล่าวเกิดขึ้นในทุกภาคของเศรษฐกิจ เพราะคนทำงานในภาคบริการ เช่นพนักงานโรงพยาบาล หรือครูบาอาจารย์มีส่วนในทางอ้อมที่จะเพิ่มมูลค่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ผ่านการดูแลสุขภาพคนงาน หรือการเพิ่มฝีมือความสามารถผ่านการศึกษา คนที่ทำงานในภาคขนส่งก็เช่นกัน เพราะอุตสาหกรรมจะขายสินค้าไม่ได้ และไม่มีคนงานมาทำงานถ้าไม่มีระบบขนส่ง

ในขณะที่มีการยืดอายุเกษียณออกไปตอนนี้ ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาอายุขัยหรืออายุคาดเฉลี่ยของพลเมืองในประเทศพัฒนาได้ลดลง หลังจากที่เคยเพิ่ม สาเหตุมาจากโควิด และนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการต่างๆ ของรัฐบาลที่ใช้นโยบายเสรีนิยมใหม่เพื่อกู้คืนเงินที่รัฐเคยนำไปอุ้มธนาคารในวิกฤตเศรษฐกิจ คือมีการพยายามดึงรายได้รัฐที่เคยอุดหนุนกลุ่มทุนกลับมาจากคนทำงานและคนจน

ในประเทศพัฒนาอายุขัยของประชาชนลดลงจาก 72.5 ในปี 2019 เหลือ 70.9 ในปี 2021 ซึ่งหมายความว่าการยืดอายุเกษียณออกไปถึง 67 แปลว่ากรรมาชีพโดยเฉลี่ยจะตายภายใน 4 ปีหลังเกษียณ

ยิ่งกว่านั้นมันมีความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนคนจนกับคนรวย เช่นในอังกฤษคนที่อาศัยอยู่ในย่านยากจนจะตายก่อนคนที่อาศัยในย่านร่ำรวยถึง 8 ปี

อย่างไรก็ตามพวกที่รับใช้ชนชั้นนายทุนจะอ้างว่าตอนนี้ระบบทุนนิยม “ไม่สามารถ” จ่ายบำเหน็จบำนาญในระดับเดิมได้ โดยมีการใช้คำแก้ตัวว่า (1) สัดส่วนคนชราในสังคมเพิ่มในขณะที่คนในวัยทำงานลดลง (2) อายุขัยหรืออายุคาดเฉลี่ยของพลเมืองยาวขึ้น คือโดยเฉลี่ยเราตายช้าลงนั้นเอง ดังนั้นเรา “ต้อง” ทำงานนานขึ้น และ(3) ถ้าไม่เปลี่ยนระบบบำเหน็จบำนาญ รัฐบาลจะรักษา “วินัยทางการคลัง” ยากขึ้น

ในขณะเดียวกันพวกคลั่งกลไกตลาดเสรีที่เชียร์การยืดอายุการทำงานหรือการตัดบำเหน็จบำนาญ ไม่เคยพูดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมเลย ไม่เคยเสนอว่าเราควรจะเพิ่มความเสมอภาค มีแต่จะเชียร์การทำลายมาตรฐานชีวิตของคนจนคนทำงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม

คำแก้ตัวของชนชั้นปกครองฟังไม่ขึ้น

(1)  ในเรื่องสัดส่วนคนชราในสังคมที่เพิ่มขึ้นในขณะที่คนในวัยทำงายลดลง ถ้ามีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผ่านการลงทุน คนในวัยทำงานจะสามารถพยุงคนชราได้ ในยามปกติทุนนิยมจะมีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องได้ และแค่การขยาย GDP (ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ)  เพียง 1% อย่างต่อเนื่อง ก็เพียงพอที่จะอุ้มคนชราได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่ทุนนิยมมักมีวิกฤตเสมอเพราะมีการลดลงของอัตรากำไร ดังนั้นบ่อยครั้งการลงทุนจะไม่เกิดขึ้น อันนี้เป็นข้อบกพร่องใหญ่ของทุนนิยมและกลไกตลาดเสรี ซึ่งแก้ได้ถ้าเรายกเลิกทุนนิยมและนำการวางแผนการผลิตโดยกรรมาชีพมาใช้แทนในระบบสังคมนิยม

นอกจากนี้ในทุกประเทศการชะลอของอัตราเกิดที่ทำให้สัดส่วนคนชราเพิ่มขึ้นเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น เพราะในที่สุดสัดส่วนนั้นจะคงที่และไม่เปลี่ยนอีก

มาตรการชั่วคราวอันหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหานี้คือการเปิดพรมแดนต้อนรับคนงานจากที่อื่นเพื่อเข้ามา แต่ทุกรัฐบาลต้องการรณรงค์แนวคิดชาตินิยมเหยียดเชื้อชาติสีผิว เพื่อแบ่งแยกกรรมาชีพไม่ให้รวมตัวกัน ดังนั้นรัฐบาลต่างๆ ในระบบทุนนิยมจะมีปัญหาในการยกเลิกพรมแดนหรือต.ม.ที่ควบคุมคนเข้าเมือง

(2) ในเรื่องอายุขัยหรืออายุคาดเฉลี่ยของพลเมืองที่ยาวขึ้นนั้น (ยกเว้นในยุคนี้ในตะวันตก) สิ่งแรกที่เราต้องฟันธงคือมันเป็นสิ่งที่ดีที่พลเมืองเริ่มมีอายุยืนนานขึ้น แต่ชนชั้นนายทุนมองว่าเป็นเรื่องแย่ เขาต้องการให้เราทำงานตลอดชีวิตแล้วพอเกษียณก็ตายไปเลย คือใช้เราแล้วก็ทิ้งไปเลย ไม่มีการเคารพพลเมืองว่าเป็นมนุษย์แม้แต่นิดเดียว ส่วนนักมาร์คซิสต์สังคมนิยมจะมองว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อรับใช้และถูกขูดรีดอย่างเดียว เราต้องการให้มนุษย์สามารถใช้เวลาในชีวิตที่ยาวขึ้นเพื่อขยายคุณภาพชีวิตและเพื่อให้เราสามารถมีกิจกรรมที่สร้างความสุขให้กับเรา การขยายอายุเกษียณมันสวนทางกับสิ่งนี้

(3) ในเรื่องข้ออ้างว่าถ้าไม่เปลี่ยนระบบบำเหน็จบำนาญ รัฐบาลจะรักษา “วินัยทางการคลัง” ยากขึ้นนั้น การรักษา “วินัยทางการคลัง” เป็นศัพท์ที่ฝ่ายขวาใช้เสมอเวลาพูดถึงค่าใช้จ่ายของรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ พวกนั้นเคยไม่มีการพูดถึงปัญหาจากค่าใช้จ่ายในเรื่องงบประมาณทหาร หรืองบประมาณที่ใช้เลี้ยงคนชั้นสูงให้มีชีวิตหรูหรา

“วิกฤตของกองทุนบำเหน็จบำนาญ” ที่นักการเมืองและนักวิชาการเสรีนิยมพูดถึง ไม่ได้มาจากการที่มีคนชรามากเกินไปแต่อย่างใด แต่มาจากการที่รัฐบาลและบริษัทลดงบประมาณที่ควรใช้ในการสนับสนุนกองทุนดังกล่าว และไม่ยอมเก็บภาษีในอัตราสูง เพราะเป้าหมายรัฐบาลในระบบทุนนิยมคือการเพิ่มอัตรากำไรโดยทั่วไป

ประเด็นเรื่องคนชราเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการแบ่งมูลค่าในสังคมที่คนทำงานสร้างขึ้นมาแต่แรก  บำเหน็จบำนาญเป็นเงินเดือนที่รอจ่ายหลังเกษียณ ไม่ใช่เงินของรัฐหรือนายทุน แนวคิดเสรีนิยมต้องการจะรุกสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ชนชั้นนายทุน และจะพูดเสมอว่าเราตัดงบประมาณทหารหรืองบเลี้ยงดูอภิสิทธิ์ชนไม่ได้ และการเพิ่มภาษีให้กับนายทุนและคนรวยก็เช่นกัน พวกนี้จะพูดว่าถ้าเพิ่มภาษีให้นายทุนเขาจะหมดแรงจูงใจในการลงทุน แล้วแรงจูงใจในการทำงานของเราหายไปไหน?  ถ้านายทุนไม่พร้อมจะทำประโยชน์ให้สังคม เราควรจะยึดทรัพย์เขาเพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ไปเอาใจพวกหน้าเลือดที่ขูดรีดเรา

ในสหรัฐอเมริกากับยุโรประดับรายได้ของคนธรรมดา แย่ลงเรื่อย ๆ และคนงานส่วนใหญ่ต้องทำงานเพิ่มอีกหลายวันต่อปี แต่ในขณะเดียวกันสัดส่วนมูลค่าการผลิตที่ตกกับผู้บริหารและเจ้าของทุนมีการเพิ่มขึ้นมหาศาล

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่นำไปสู่การล้มละลายของธนาคาร ข้อแก้ตัวใหม่ที่รัฐบาลต่างๆ ใช้ คือ “ปัญหาหนี้สินของรัฐ” แต่เขาไม่ซื่อสัตย์พอที่จะยอมรับว่าหนี้ของภาครัฐมาจากการอุ้มธนาคารที่ล้มละลายจากการปั่นหุ้นในตลาดเสรี หรือมาจากการล้มละลายของธนาคารเมื่อมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางเพื่อหวังลดเงินเฟ้อผ่านการขู่กรรมาชีพว่าจะตกงานถ้าเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม ในความเป็นจริงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ช่วยลดเงินเฟ้อในยุคปัจจุบันที่มาจากการผลิตที่ต้องหยุดไปในช่วงโควิด หรือจากผลของสงครามในยูเครน การขึ้นดอกเบี้ยเป็นนโยบาย “มั่ว” ของคนที่ไม่เข้าใจเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมและนึกได้แค่ว่าถ้าก่อให้เกิดการหดตัวของเศรษฐกิจเงินเฟ้อจะลดลง

ดังนั้นพวกนี้พร้อมจะให้คนธรรมดาแบกรับภาระวิกฤตที่นายธนาคารและนายทุนสร้างแต่แรก ในขณะเดียวกันพวกนายทุนและนักการเมืองก็ขยันดูแลตนเอง โดยรับประกันว่าพวกเขาจะได้บำเหน็จบำนาญหลายร้อยเท่าคนธรรมดาเมื่อตนเองเกษียณ

ในไทย

อายุเกษียณในไทยคือ 60ปี ซึ่งเหมือนกับมาเลเซีย และใกล้เคียงกับของ อินโดนีเซีย (58) บังกลาเทศ (59) และศรีลังกา (55) สิงคโปร์ (63) เวียดนาม (61)

อายุขัยของคนไทยตอนนี้อยู่ที่ 72.5 ปีสำหรับชาย และ78.9 ปีสำหรับหญิง แต่นอกจากจะมีความเหลื่อมล้ำแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจนเหมือนที่อื่นๆ ในโลกทุนนิยมแล้ว อายุสุดท้ายโดยเฉลี่ยของการยังมีสุขภาพที่ดีในไทยคือ  68 ปีสำหรับชาย และ 74 ปีสำหรับหญิง พูดง่ายๆ กรรมาชีพไทยที่เป็นชายจะมีสุขภาพที่ดีพอที่จะดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพแค่ 8 ปีหลังเกษียณ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่มีทรัพย์สินพอที่จะสามารถหยุดงานตอนอายุ 60 ได้อีกด้วย

ถ้าจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในไทย ก่อนอื่นต้องมีการสร้างรัฐสวัสดิการที่มีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร รวมถึงบำเหน็จบำนาญสำหรับวัยชรา เพื่อให้คนเกษียณมีชีวิตอยู่ได้ด้วยศักดิ์ศรี โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาคนในครอบครัว หรือพึ่งตนเองท่ามกลางความยากจน ในอดีตคนชราจำเป็นต้องพึ่งพาลูกหลาน แต่ลูกหลานก็ไม่ค่อยมีรายได้เพียงพอที่จะดูแลตนเองและครอบครัวอยู่แล้ว

เมื่อพูดถึง “รัฐสวัสดิการ” เรามักจะได้ยินพรรคการเมืองที่อ้างว่าจะสร้าง แต่ในความเป็นจริงเขาหมายถึงแค่สวัสดิการแบบแยกส่วนและเพื่อคนที่ต้องพิสูจน์ความจน ไม่ใช่แบบถ้วนหน้า ครบวงจร “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ที่อาศัยการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยและกลุ่มทุน

สิ่งสำคัญที่ต้องแก้ไขในสังคมไทยคือปัญหารายได้ของคนชราปัจจุบัน ดังนั้นการเสนอว่าพลเมืองต้องจ่ายประกันสังคมครบหลายๆ ปีก่อนที่จะได้รับสวัสดิการไม่ใช่ทางออกในระยะสั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพัฒนาคือระบบบำเหน็จบำนาญสำหรับนายทุนน้อยอย่างเช่นเกษตรกรในชนบท คือต้องมีระบบบำเหน็จบำนาญที่ใช้กองทุนของรัฐผ่านการเก็บภาษีจากคนรวย เพื่อให้พลเมืองทุกคน ทั้งในเมืองและในชนบทมีชีวิตที่ดีในวัยเกษียณ

นอกจากนี้ต้องมีการปรับเพิ่มค่าแรงให้สูงขึ้น เพื่อให้พอเพียงสำหรับประชาชนทุกคน และเพื่อให้ทุกคนสามารถออมและจ่ายเงินสมทบทุนประกันสังคมได้อีกด้วย ซึ่งหมายความว่าเราต้องร่วมรณรงค์ให้สหภาพแรงงานมีเสรีภาพ อำนาจต่อรอง และความมั่นคงมากขึ้น และต้องมีการสร้างพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพเอง ไม่ใช่ไปหวังพึ่งพรรคการเมืองที่นำโดยนายทุนแต่มีผู้แทนจากแรงงานสองสามคนเป็นเครื่องประดับอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศยากจน ประเทศไทยมีกลุ่มทุนใหญ่ มีเศรษฐีและอภิสิทธิ์ชนที่มีทรัพย์สินในระดับเศรษฐีสากล มีกองทัพที่ใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อฆ่าประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย หรือเพื่อทำรัฐประหารทำลายประชาธิปไตย นี่คือสาเหตุที่สังคมเรามีความเหลื่อมล้ำสูง

พวกที่ปกครองเรามักเรียกร้องให้เรา “สามัคคี” และ “รักชาติ” และเรียกร้องให้เราหมอบคลานก้มหัวให้อภิสิทธิ์ชนหรือผู้ใหญ่ แต่เขาเองไม่เคยเคารพพลเมืองในสังคม ไม่เคยมองว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิ์ใช้ชีวิตในระดับที่ดี โดยเฉพาะในวัยชรา