การปฏิวัติทางสังคม กับการปฏิวัติทางการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

นักมาร์คซิสต์แยกการปฏิวัติ “เปลี่ยนระบอบ” ออกเป็นสองชนิดคือ การปฏิวัติทางสังคม กับการปฏิวัติทางการเมือง

การปฏิวัติทั้งสองรูปแบบนี้ไม่เกี่ยวกับการทำรัฐประหารของทหาร อย่างเช่นที่ประยุทธ์มือเปื้อนเลือดทำไปเมื่อปี ๕๗ เพราะนั้นเป็นแค่การยึดรัฐบาลโดยอันธพาลที่มีปัญญาจำกัด และเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครองอยู่แล้ว มันไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรใหญ่ๆ

นักมาร์คซิสต์ชาวอเมริกาชื่อ แฮล ดเรเพอร์ เคยอธิบายว่าการปฏิวัติทางการเมือง เป็นการปฏิวัติภายในกรอบของระบบเศรษฐกิจสังคมที่ดำรงอยู่ โดยที่มีการยึดอำนาจรัฐจากคนที่เคยคุมอำนาจรัฐในอดีต รูปแบบรัฐอาจเปลี่ยน แต่โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไม่เปลี่ยน

การยึดอำนาจรัฐมันยิ่งใหญ่กว่าแค่การยึดรัฐบาล ซึ่งทหารไทยทำเป็นประจำตามสันดาน

แต่ที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าการปฏิวัติทางการเมืองคือ การปฏิวัติทางสังคม เพราะมันจะเปลี่ยนทั้งรูปแบบรัฐและลักษณะเศรษฐกิจสังคม มีการเปลี่ยนลักษณะการผลิต โดยมีการถ่ายเทอำนาจสู่ชนชั้นใหม่

ตัวอย่างของการปฏิวัติสังคมก็เช่นการปฏิวัติทุนนิยมที่เกิดขึ้นในอังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลแลนด์ มันปูทางไปสู่การพัฒนาของระบบทุนนิยมที่เข้ามาแทนที่ระบบขุนนางฟิวเดิล มันนำไปสู่การผลิตแบบอุตสาหกรรมและความสำคัญของเมืองสมัยใหม่ มันนำไปสู่หรือมาควบคู่กับแนวคิดทางการเมืองใหม่ๆ เช่นแนวเสรีนิยม และในบางกรณีมันนำไปสู่ระบบประชาธิปไตยในที่สุด แต่นั้นไม่ใช่ผลงานของนายทุนผู้นำการปฏิวัติ มันเป็นผลงานของชนชั้นกรรมาชีพที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพภายในระบบทุนนิยมต่างหาก

การปฏิวัติทางสังคมอาจเป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจสังคม ที่ค่อยเกิดขึ้น จนมีการปะทะกับระบบเก่า เช่นในกรณีฝรั่งเศส หรืออาจปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจสังคมไปเป็นทุนนิยม อย่างเช่นในกรณีอังกฤษ

ตัวอย่างที่ดีที่สุดของการปฏิวัติทางการเมืองในยุคปัจจุบัน คือการลุกฮือที่ล้มระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ “แบบสตาลิน” ในยุโรปตะวันออกราวๆ ปี 1989 เพราะมันแค่เปลี่ยนจาก “ทุนนิยมโดยรัฐ” ไปเป็น “ทุนนิยมตลาดเสรี” และที่สำคัญคือคนที่ยึดรัฐมักจะเกี่ยวข้องกับ หรือเป็นคนๆเดียวกันกับ ชนชั้นปกครองคอมมิวนิสต์เก่า ในยุโรปตะวันออกพวกอภิสิทธิ์ชนเหล่านี้ที่พัฒนาจากอดีตเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ถูกเรียกว่า “คนมีชื่อ” และพวกนี้หรือญาติพี่น้องของเขามักจะแปรตัวไปเป็นนายทุนใหญ่ และนักการเมืองนายทุน แต่ที่สำคัญคือมีการล้มและทำลายระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์แบบสตาลิน

ในการปฏิวัติทางการเมือง คนที่ถูกกดขี่ขูดรีดในระบบเก่า ก็จะยังเป็นคนที่ถูกขูดรีดในระบบใหม่ พูดง่ายๆ กรรมาชีพในระบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ ก็ยังเป็นกรรมาชีพในระบบทุนนิยมตลาดเสรี ไม่ว่าจะมีประชาธิปไตยหรือไม่ บ่อยครั้งสิทธิเสรีภาพของประชาชนอาจดีขึ้นหลังการปฏิวัติทางการเมืองก็ได้ แต่พลังการผลิตยังอยู่ในมือของคนส่วนน้อย

บ่อยครั้งการปฏิวัติทางสังคมจะเชื่อมโยงกับการปฏิวัติทางการเมือง ในกรณีอังกฤษการปฏิวัติทางสังคมที่ล้มระบบฟิวเดิลและตัดหัวกษัตรย์เกิดขึ้นในปี 1640 แต่ตามมาด้วยการปฏิวัติทางการเมืองในปี 1688 ที่เปลี่ยนลักษณะรัฐและลดบทบาทกษัตริย์อย่างถาวร ในกรณีสหรัฐอเมริกา การต่อสู้ที่เอาชนะอังกฤษและนำไปสู่อิสรภาพในปี 1776 เป็นแค่ขั้นตอนแรกของการยึดอำนาจรัฐจากอังกฤษ คือการปฏิวัติทางการเมืองนั้นเอง แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนเศรษฐกิจสังคมไปเป็นทุนนิยม เพราะตอนนั้นมีหลายระบบซ้อนกันที่อเมริกา เช่นระบบเกษตรกรรายย่อยอิสระ ระบบทาส และหน่ออ่อนของระบการผลิตอตสาหกรรม แต่ชัยชนะของรัฐทางเหนือของอเมริกาในสงครามกลางเมือง 1861-65 เป็นชัยชนะของนายทุนเหนือพวกเจ้าของทาสในรัฐทางใต้ มันคือขั้นตอนที่สองและเป็นการปฏิวัติทางสังคมที่สถาปนาทุนนิยมในสหรัฐ

การลุกฮือ “อาหรับสปริง” ล้มเผด็จการก็จริง แต่ไม่สามารถพัฒนาต่อไปสู่การปฏิวัติทางสังคมที่จะสถาปนาสังคมนิยมแทนทุนนิยมได้ ในกรณีอียิปต์ดูเหมือนถอยหลังลงคลอง มีแต่ตูนิเซียที่มีระบบการเมืองใหม่

ในยุคหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส การปฏิวัติทางสังคมที่นำไปสู่การสถาปนาทุนนิยมและรัฐทุนนิยม มักจะไม่นำโดยนายทุนที่ลุกขึ้นสู้กับระบบเก่า เพราะชนชั้นปกครองในระบบเก่าอาจมองว่าถ้าไม่ปฏิวัติตนเองกับจัดการล้มระบบเก่า จะไปไม่รอด มีสองตัวอย่างที่น่าสนใจคือไทยกับญี่ปุ่น ในกรณีญี่ปุ่นการปฏิวัติทางสังคมที่ปูทางไปสู่ทุนนิยมคือ “การปฏิวัติเมจี่” นำโดยชนชั้นปกครองเก่าที่แปรตัวไปเป็นชนชั้นนายทุนเพื่อพัฒนาความสมัยใหม่ของชาติ ในไทยการปฏิวัติล้มระบบศักดินาของรัชกาลที่ ๕ ก็เช่นกัน มันเป็นการปฏิวัติทางสังคมที่เปิดทางไปสู่ทุนนิยม โดยที่กษัตริย์ไทยแปรตัวไปเป็นนายทุนใหญ่ในระบอบทุนนิยมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ไทยมีความสมัยใหม่ ในทั้งสองกรณีมันมีการยึดรัฐและเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจสังคมโดยชนชั้นใหม่ แต่ตัวบุคคลไม่เปลี่ยน เพราะบุคคลเหล่านั้นเปลี่ยนสภาพทางชนชั้นแทน

ถ้าในอนาคตมวลชนล้มเผด็จการทหารได้และเปลี่ยนประเทศไทยไปเป็นสาธารณรัฐ มันจะไม่เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมจากทุนนิยมที่ดำรงอยู่ปัจจุบันไปเป็นอย่างอื่น มันจะเป็นแค่การปฏิวัติทางการเมือง แต่ในพื้นที่เสรีภาพที่เพิ่มขึ้น เราจะต้องเตรียมตัวปฏิวัติทางสังคมต่อไปสู่สังคมนิยมได้

ศาสนาพุทธไม่ควรเป็นศาสนาประจำชาติ

ใจ อึ๊งภากรณ์

มันน่าเบื่อเหลือเกินที่กลุ่มพระสงฆ์ออกมาพูดซำแล้วซ้ำอีก ว่าศาสนาพุทธควรถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญว่าเป็นศาสนาประจำชาติ การมีเผด็จการครองเมืองที่ทำลายสิทธิเสรีภาพของพลเมืองที่จะคิดเองยังไม่พออีกหรือ? การที่ทุกวันนี้คนติดคุกเพราะไม่รักใครสักคน หรือเพราะวิจารณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมยังไม่พออีกหรือ? จะต้องมีการบังคับให้ความเชื่อชนิดหนึ่งสำคัญกว่าความคิดอื่นไปทำไม?

ลัทธิคลั่ง “ชาติ ศาสนา กษัตริย์” เป็นลัทธิสุดขั้วที่เผด็จการใช้ในการกดขี่พลเมืองประเทศนี้มานานเกินไป มันน่าจะหมดยุคนานแล้ว ความคิดเรื่อง “เสรีภาพ ประชาธิปไตย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” น่าจะเป็นความคิดกระแสหลักในสังคมเราแทน

มันอาจจริงที่คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้มองว่าตนเองนับถือศาสนาพุทธ อันนี้ไม่มีใครเถียงด้วยได้และมันปรากฏให้เห็นชัด แต่ต่อจากนั้นก็คงมีการถกเถียงกันว่าศาสนาพุทธที่แต่ละคนนับถือมันเป็นแบบไหน ภาพความขัดแย้งในคณะสงฆ์เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายในศาสนาพุทธ และเป็นสิ่งที่เกิดจากผลประโยชน์และความขัดแย้งทางการเมือง

ถ้าพูดถึงการนับถือศาสนาพุทธในไทยแล้ว บางคนเข้าพิธีศาสนาบ่อย บางคนบวช บางคนอาจศรัทธาในศาสนาในลักษณะเงียบๆ ไม่เข้าพิธี ไม่เข้าวัด และบางคนอาจไม่เคยคิดถึงศาสนาเลย นอกจากนี้ก็จะมีคนที่ไม่นับถือศาสนาเลย ซึ่งในสังคมทันสมัยที่อิงวิทยาศาสตร์ เสรีภาพ และเหตุผล ย่อมมีมากขึ้นทุกที

การประกาศว่าศาสนาพุทธ “ต้อง” เป็นศาสนาประจำชาติ มันมีข้อบกพร่องเสียหายสองอย่างคือ

(1) มันเป็นการกีดกันพลเมืองที่มีความเชื่อในศาสนาอิสลาม คริสต์ ฮินดู หรือความคิดอื่นๆ ที่รวมไปถึงปรัชญาที่ปฏิเสธศาสนาด้วย มันสร้างพลเมืองสองระดับ คนที่อยู่ในกระแส กับคนที่อยู่นอกกระแส และมันจะนำไปสู่ความขัดแย้งกับคนที่มีความเชื่อที่ไม่ใช่พุทธ เช่นในปาตานีเป็นต้น หรือจะนำไปสู่การช่วงชิงกันเพื่อนิยามศาสนาพุทธ “ที่ถูกต้อง” อีกด้วย

การพูดเรื่องศาสนาที่ “ถูกต้อง” เป็นการพูดโกหกตอแหล คาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบายว่าศาสนาบริสุทธ์ไม่มีจริง เพราะศาสนาขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของมนุษย์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำเขียนศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์บางคนเขียนขึ้นในอดีต

ทุกวันนี้เราเห็นคนอย่าง “กลุ่มพิทักษ์พุทธศาสนา” ที่เชียงใหม่ ที่ออกมาคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ซึ่งเป็นการเหยียดเชื้อชาติและวัฒนธรรมของคนที่ไม่ใช่ชาวพุทธ ในภาคเหนือกลุ่มชนชาวจีนที่นับถืออิสลามมีมานานจากสมัยที่มีเส้นทางค้าขายโบราณ แต่พวก “กลุ่มพิทักษ์พุทธศาสนา” พูดเหมือนเขาไม่ใช่พลเมืองของสังคมเรา ในที่สุดถ้าความคิดแบบนี้ขยายตัวก็จะเกิดขบวนการพระสงฆ์ที่นำอันธพาลไปฆ่าคนมุสลิมอย่างที่เราเห็นที่พม่า ดังนั้นเราต้องคัดค้าน

(2) การประกาศว่ารัฐธรรมนูญต้องระบุว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เป็นการผูกศาสนาไว้กับรัฐ ในอดีตรัฐไทยภายใต้เผด็จการทหารพยายามจะคุมพระสงฆ์ด้วยการรวมศูนย์อำนาจ มันไม่ใช่เพื่อพัฒนาศาสนาแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ และรัฐไทยพยายามตลอดที่จะกำหนดว่าพุทธศาสนาที่ “ถูกต้อง”คืออะไร หรือใครบ้างที่จะมีสิทธิห่มผ้าเหลือง

ความแตกแยกในหมู่สงฆ์ที่เราเห็นตอนนี้ก็เป็นเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ทั้งสิ้น ในอดีตรัฐไทยพยายามที่จะประโคมว่าพระสงฆ์ไม่ควรยุ่งในการเมือง แต่มันเป็นภาพหลอกลวง เพราะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ หรือก่อนหน้านั้นอีก พระสงฆ์กับการเมืองเกี่ยวข้องกันเสมอ รัฐไทยพยายามสร้างภาพว่าพระที่ “ดี” ต้องคล้อยตามผู้มีอำนาจ และในปัจจุบัน พุทธอิสระ พระฟาสซิสต์คนโปรดของประยุทธ์ ก็ดูเหมือนมีสิทธิพิเศษ

ผมไม่สนใจหรอก ถ้าพระสงฆ์จะตีกันและแย่งชิงอะไรกัน ถ้าไม่มีผลกระทบกับพลเมืองส่วนใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันผมก็ต้องสารภาพว่าผมชอบเห็นพระสงฆ์เผชิญหน้ากับทหาร แต่นั้นเป็นเพียงอารมณ์ที่ไม่คิดมาก

สำหรับนักประชาธิปไตย หรือนักสังคมนิยม ศาสนาควรจะเป็นเรื่องส่วนตัว แยกออกจากรัฐโดยสิ้นเชิง ใครจะศึกษาศรัทธาในแนวคิดแบบไหนก็เป็นเรื่องของเขา ถ้าคนที่นับถืออะไรจะมารวมตัวกันตั้งสมาคมหรือองค์กรทางศาสนา เพื่อสร้างวัดหรือประกอบพิธี เขาก็ควรมีสิทธิ์ ไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐ แต่ไม่ควรมีการบังคับสวดมนต์ในโรงเรียน และไม่ควรมีการระบุว่าพลเมืองนับถืออะไรในบัตรประจำตัวแต่อย่างใด

รัฐธรรมนูญมีไว้ทำไม?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 19 ฉบับ ซึ่งไม่นับร่างรัฐธรรมนูญอีก ดูเหมือนยิ่งร่างรัฐธรรมนูญไปมากแค่ไหน การเมืองก็ยิ่งถอยหลังลงคลองมากขึ้น ร่างไปก็ฉีกไป จนรัฐธรรมนูญกลายเป็นเศษกระดาษขยะที่ปลิวไปตามลม ดังนั้นนอกจากเราต้องตั้งคำถามในยุคนี้ว่าทหารมีไว้ทำไม เราต้องตั้งคำถามอีกว่า “รัฐธรรมนูญมีไว้ทำไม?” หรือ “เราจำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญหรือไม่?”

หลายคนอาจพูดแบบกำปั้นทุบดินว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุด” แต่ผมขอถามต่อว่า “แล้วยังไง?”

บ่อยครั้งหลังการทำรัฐประหาร มันมีช่วงที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ บ่อยครั้งเมื่อเรามีรัฐธรรมนูญ ผู้มีอำนาจก็ไม่สนใจ ละเมิดรัฐธรรมนูญแบบหน้าตาเฉย หรือฉีกรัฐธรรมนูญด้วยปืน นอกจากนี้บ่อยครั้งมีการถกเถียงกันในการตีความมาตราต่างๆ ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นมันไม่น่าจะเป็นเอกสารศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด

เราต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญเลวๆ อย่างที่พวกปฏิกูลกำลังร่างอยู่ทุกวันนี้ เป็นวิธีแสวงหาความชอบธรรมในการยืดเวลาและแช่แข็งอิทธิพลของเผด็จการ เราจึงต้องออกมาวิจารณ์ แต่ไม่ว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญเลวแค่ไหน เราก็ยังต่อสู้กับเผด็จการได้

หลายคนที่หลง “คลั่งรัฐธรรมนูญ” จะคิดว่าการมีรัฐธรรมนูญดี ทำให้ประเทศมีเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่มันไม่จริง แน่นอนการมีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยดีกว่าการมีรัฐธรรมนูญทหาร แต่สิ่งที่ก่อให้เกิดสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยไม่ใช่รัฐธรรมนูญ พลังมวลชนที่จัดตั้งในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และพรรคการเมืองของประชาชน มีอำนาจที่สำคัญกว่าในการขยายและปกป้องพื้นที่ประชาธิปไตย

ทุกครั้งที่คนจำนวนมากออกมาประท้วงเผด็จการ ทุกครั้งที่ชาวบ้านประท้วงเรื่องที่ทำกิน ทุกครั้งที่สหภาพแรงงานชุมนุมหรือนัดหยุดงาน ทุกครั้งที่ประชาชนไม่พอใจกับราคาผลผลิตทางเกษตร ต้องถือว่าเป็นการ “ออกกำลังกาย” หรือ “ฝึกฝน” ในกิจกรรมขยายและปกป้องพื้นที่ประชาธิปไตย กิจกรรมเหล่านี้สำคัญกว่าการมีรัฐธรรมนูญหลายเท่า แต่แน่นอนการมีรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้เป็นนามธรรมเรื่องสิทธิเสรีภาพต่างๆ เป็นสิ่งที่อาจให้กำลังใจกับผู้ที่เคลื่อนไหว เพราะอ้างมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญได้

ปัญหาของการทำลายประชาธิปไตยในประเทศไทย ไม่ได้มาจากการที่เราไม่มีรัฐธรรมนูญที่ดีพอ ปัญหาหลักมาจากการที่ชนชั้นปกครองและชนชั้นกลางไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนต่างหาก เรานำรัฐธรรมนูญกระดาษไปสู้กับอำนาจพวกนี้ไม่ได้ เราต้องนำอำนาจที่มาจากพลังมวลชนมาเป็นอาวุธแทน

แล้วถ้าเราไม่มีรัฐธรรมนูญเราจะอยู่ได้ไหม?

ผู้เขียนไม่อยากจะยกตัวอย่างของประเทศอังกฤษที่ไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาอ้าง ดังนั้นจะเอ่ยถึงบทความในอดีตของ อาจารย์ นิธิ เรื่อง “รัฐธรรมนูญชาวบ้าน”

ในบทความนี้ อ. นิธิ เสนอว่าในสังคมไทยมีรัฐธรรมนูญสองฉบับ คือฉบับทางการเป็นลายลักษณ์อักษร กับฉบับของชาวบ้าน รัฐธรรมนูญฉบับชาวบ้านที่เขากล่าวถึงนี้ เป็นเรื่องของวัฒนธรรมทางการเมือง เป็นเรื่องของประเพณีในการบริหารจัดการสังคม มันเป็นสิ่งที่คนธรรมดาใช้เป็นแนวคิดในหัว ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อะไรถูกอะไรผิด อะไรมีความเป็นธรรมอะไรไม่มีความยุติธรรม หรืออะไรเป็นประชาธิปไตยและอะไรไม่ใช่

พูดง่ายๆ ก็คือ พลเมืองส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ชีวิตหรือประพฤติตัวตามแนวประชาธิปไตย ใครๆ ก็รู้ว่าประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้งที่ไม่สกปรก ใครๆ ก็รู้ว่าการเมืองที่เป็นประโยชน์คือการเมืองที่ยกระดับความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ขึ้นมา ใครๆ ก็รู้ว่าการเรียกร้องสิทธิเป็นเรื่องที่ชอบธรรมถ้าไม่ไปละเมิดสิทธิพื้นฐานของพลเมืองอื่น ใครๆ ก็รู้ว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง แต่แน่นอนในสังคมคงจะมีการถกเถียงกันเรื่องรายละเอียดต่างๆ และในที่สุดก็ต้องลงมติกันเมื่อตกลงกันไม่ได้

คิดไปคิดมาผู้เขียนอดถามต่อไปไม่ได้ว่าเราจำเป็นต้องมีชนชั้นปกครองหรือ? เราต้องมีพวกใส่เครื่องแบบติดอาวุธในสังคมเราจริงหรือ? เราจำเป็นต้องมี “การปกครอง” จริงหรือ? จริงๆ แล้วเป้าหมายระยะยาวของทั้งนักมาร์คซิสต์แบบเลนิน และนักอนาธิปไตย คือการยกเลิกการปกครองและการยกเลิกรัฐไปเลย ( http://bit.ly/1QPRCP6 ) …. แต่เรายังไม่ถึงจุดนั้น

เจตนาในการเขียนบทความนี้คืออยากชวนให้คิดและถกเถียงกันว่าเราจะให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญแค่ไหน และเราต้องทำอะไรบ้างเป็นรูปธรรม เพื่อขยายและปกป้องพื้นที่ประชาธิปไตย

ทหารมีไว้ทำไมหรือ? ทหารเป็นปรสิตที่มีไว้เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของพวกนายพล

 

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชวนให้เราร่วมคิดกันว่า “ทหารมีไว้ทำไม” (ดู http://bit.ly/1RTFpdw )ผู้เขียนก็จะขอร่วมแจมด้วย ถ้าไอ้ยุทธ์มือเปื้อนเลือดมองว่าผมเป็นหนึ่งใน “หมา” ที่จะมาพูดเรื่องนี้ ผมไม่ตกใจ เพราะหมายังดีกว่าฆาตกรหัวทึบใส่เครื่องแบบที่คอยชวนให้เราไปกราบไหว้หมา

ทหารไม่ได้เป็น “รัฐอิสระภายในรัฐ” อย่างที่หลายคนมอง เพราะกองกำลังพิเศษติดอาวุธนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ แยกไม่ออกจากรัฐ เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครอง ในกรณีไทยก็เป็นแบบนี้

เราต้องเข้าใจว่ารัฐทุนนิยมเป็นสิ่งที่นักมาร์คซิสต์เรียกว่า “เผด็จการของชนชั้นนายทุน” คือมีเครื่องมือกดขี่ขูดรีดพลเมืองทั่วไปครบมือ แต่เนื่องจากสังคมชนชั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ชนชั้นปกครองมักจะใช้ยุทธวิธีหลากหลายในการคุมประชากร ในประเทศตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รูปแบบการปกครองมักเป็นรูปแบบประชาธิปไตยทุนนิยม ซึ่งดีกว่าเผด็จการเบ็ดเสร็จแน่นอนเพราะมีพื้นที่เสรีภาพพอสมควร และในพื้นที่นั้นเราสามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น แต่อย่าลืมว่าในยุค 1930 รัฐในเยอรมันและอิตาลี่ หันมาใช้เผด็จการฟาสซิสต์ ดังนั้นทุกอย่างมันไม่ได้คงที่ตลอดเวลา

รัฐทุนนิยมมีสองด้านเสมอ คือด้านยิ้มที่เปิดพื้นที่ประชาธิปไตย และด้านโกรธที่ใช้กองกำลังจัดการกับเรา

ในไทยชนชั้นปกครองทุนนิยมประกอบไปด้วยนายทุน ข้าราชการชั้นสูง และนายทหารชั้นสูง และชนชั้นนี้มีกษัตริย์เป็นสัญญลักษณ์เพื่อพยายามสร้างความสามัคคีข้ามชนชั้น คือมีไว้สร้างภาพว่าเราทุกคนคิดเหมือนกัน ให้ทุกคนรักชาติ ศาสนา กษัตริย์ แต่สัญญลักษณ์นี้ก็มีสองด้านเช่นกัน เพราะถ้าไม่รักก็ปราบด้วย 112 และวิธีอื่น

เวลาพวกนายพลหัวทึบชอบตะคอกว่า “ทหารคือรั้วของชาติ” ในความจริงคนที่อยู่ในรั้วนั้นมีแค่พวกชนชั้นปกครอง พวกเราพลเมืองธรรมดาอยู่นอกรั้ว ทหารมีบทบาทสำคัญในการปราบเราเพื่อประโยชน์ชนชั้นปกครอง และมีบทบาทในการปกป้องผลประโยชน์ของพวกมันเองเมื่อถูกท้าทายจากชนชั้นปกครองของประเทศอื่น คือในยุคสงคราม แต่ในกรณีไทยกองทัพไม่เคยสามารถรบกับกองทัพประเทศอื่นได้เลย คือเป็นกองทัพของพวกมือไม้อ่อน เวลาญี่ปุ่นบุกไทยตอนสงครามโลกครั้งที่สองก็ยอมแพ้ทันที เวลาจักรวรรดินิยมอังกฤษกับฝรั่งเศสท้าทายรัฐทุนนิยมใหม่ของไทยในยุครัชกาลที่๕ ก็หมดสภาพทันที ต้องมีการเจรจาต่อรองและแบ่งผลประโยชน์ระหว่างกรุงเทพฯ กับลอนดอนและปารีส

เวลานายพลหัวทึบตะคอกอีกว่าทหารปกป้องเราจากโจร เราคงต้องหัวเราะ เพราะโจรใหญ่สุดในสังคมไทยคือทหาร ไม่ว่าจะเป็นการปล้นสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย การฆ่าประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว หรือการค้ายาเสพติดและของเถื่อนอื่นๆ ทหารเป็นตัวหลักเสมอ

ทั้งๆ ที่ไอ้ยุทธ์มันพองตัวเหมือนคางคกเพื่ออวดว่าตนเอง “กู้ชาติ” จากวิกฤต มันก็แค่กู้สถานการณ์เพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครองเท่านั้น มันมีรถถังและอาวุธก็จริง แต่ถ้ากลุ่มส่วนใหญ่ในหมู่ชนชั้นปกครองไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารของมัน มันก็ทำไม่ได้ หรือถ้าทำก็อยู่ไม่ได้นาน

ถ้ามองไปที่พม่า หลายคนชอบพูดว่ากองทัพพม่า ที่เรียกว่า “ตะมะดอ” (Tatmadaw) เป็น “รัฐอิสระภายในรัฐ” แต่มันก็ไม่ใช่อีก มันเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่ชนชั้นปกครองพม่าแตกแยกอ่อนแอและพวกนายพลขึ้นมาเป็นแกนนำของชนชั้นปกครองเท่านั้น เผด็จการทหารเป็นเพียงใบหน้าหนึ่งของรัฐทุนนิยม แต่กรณีไทยไม่สุดขั้วเท่าพม่า

ในขณะที่นายทุน ข้าราชการชั้นสูง และพวกนายพลตกลงกันว่าทหารควรเข้ามาคุมอำนาจสักพักหนึ่ง เพื่อตัดแปลงระบบการเมืองให้ผิดเพี้ยนไปจากประชาธิปไตย ผ่านการปฏิกูลการเมือง เราต้องเข้าใจว่านายพลต่างๆ ก็เป็นมนุษย์เช่นกัน คิดเองเป็น และสมาชิกของชนชั้นปกครองก็แข่งกันและร่วมมือกันในขณะเดียวกัน เหล่ามนุษย์ใส่เครื่องแบบจะโลภทั้งทรัพย์และอำนาจ ดังนั้นงบประมาณในการซื้ออาวุธและรักษากองทัพเป็นแหล่งหากินสำคัญเสมอ ถ้าไม่ปกครองประเทศก็สามารถเบ่งอำนาจเพื่อหากินกับการขายของเถื่อนหรือนั่งบนกรรมการบริหารสื่อหรือรัฐวิสาหกิจ และการมีอำนาจทางการเมืองเป็นโอกาสในการกินเพิ่ม

สรุปแล้วทหารไทยไม่มีประโยชน์อะไรเลยสำหรับพลเมืองทั่วไป มันเป็นองค์กรที่ช่วยทำให้ระบบการเมืองล้าหลัง และในแง่ที่คล้ายปรสิต มันเป็นทั้งพิษภัยต่อพวกเรา และสูบทรัพยากรสำคัญจากสังคม

แล้วเราต้องทำอะไรกับปรสิต??