สหภาพแรงงานกับพรรคการเมือง บทเรียนสากล

ในบทความนี้จะพิจารณาสองประเด็นสำคัญในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานกับพรรคการเมือง ประเด็นแรกคือการแยกหน้าที่กันในความคิดของสายซ้ายปฏิรูป และประเด็นที่สองคือบทเรียนจากความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองนายทุนกับสหภาพแรงงาน

ในโลกทุนนิยม แนวคิดซ้ายสังคมนิยมแบบปฏิรูป จะส่งเสริมความคิดว่า “การเมือง” กับ “เศรษฐกิจ” แยกกัน โดยที่สหภาพแรงงานมีหน้าที่ต่อสู้เพื่อเพิ่มค่าจ้างและพัฒนาสภาพการจ้างผ่านการนัดหยุดงาน ประท้วง หรือเจรจา ในขณะที่พรรคการเมืองของแรงงานเช่น “พรรคแรงงาน” หรือ “พรรคสังคมนิยม” มีหน้าที่ผลักดันการเมืองในรัฐสภาที่จะเป็นประโยชน์ต่อแรงงาน

ในรูปธรรมมันหมายความว่าผู้นำแรงงานระดับชาติจะปฏิเสธการนัดหยุดงานเพื่อรณรงค์ในเรื่องการเมือง คือจะไม่เห็นด้วยกับการนัดหยุดงานเพื่อล้มรัฐบาล หรือการนัดหยุดงานในประเด็นเฉพาะทางการเมืองเช่นการขยายหรือปกป้องสิทธิทำแท้ง การต่อต้านสงคราม หรือการสนับสนุนผู้ลี้ภัยและต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติสีผิว จริงอยู่ผู้นำแรงงานอาจส่งเสริมให้สมาชิกสหภาพแรงงานไปประท้วงกับขบวนการอื่นๆ ในเรื่องการเมือง เพื่อส่งต่อเรื่องให้นักการเมืองในรัฐสภา แต่จะไม่สนับสนุนการนัดหยุดงานเพื่อเป้าหมายทางการเมืองโดยตรง ซึ่งการนัดหยุดงานเป็นการแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพที่มีประสิทธิภาพสูงเพราะไปเกี่ยวข้อกับระบบเศรษฐกิจ

เราเห็นผลพวงของความคิดนี้ในกรณีคลื่นการนัดหยุดงานในอังกฤษ และในฝรั่งเศสในปีนี้ คือผู้นำสหภาพแรงงานกำหนดวันหยุดงานเป็นวันๆ ไป ไม่เสนอให้นัดหยุดงานทั่วไปโดยไม่มีกำหนดเลิกจนกว่ารัฐบาลจะยอมจำนนหรือลาออก ทั้งนี้เพราะผู้นำแรงงานมองว่ามันเลยขอบเขตหน้าที่ของสหภาพแรงงาน และเขากลัวอีกว่าถ้ามีการนัดหยุดงานทั่วไปการนำการต่อสู้จะมาจากแรงงานรากหญ้าไฟแรง แทนที่ผู้นำเดิมจะควบคุมได้ ยิ่งกว่านั้นในกรณีพรรคแรงงานของอังกฤษ ซึ่งมีบทบาทมากกว่าพรรคสังคมนิยมในฝรั่งเศส หัวหน้าพรรคแรงงานอังกฤษห้ามไม่ให้สส.ไปสนับสนุนการนัดหยุดงานใดๆ เพราะพรรคตั้งเป้าไว้ที่จะเอาใจนายทุน

ในกรณีที่มีการนัดหยุดงานทั่วไปจริงๆ มันมักจะไม่ผ่านขั้นตอนทางการ และมักจะ “ผิดกฎหมาย” และมักจะนำโดยคณะกรรมการระดับรากหญ้าของสหภาพแรงงานที่อาจเป็นฝ่ายซ้ายปฏิวัติ และตลอดเวลาที่มีการต่อสู้แบบนี้ผู้นำแรงงานเดิมจะพยายามกล่อมให้คนงานกลับเข้าทำงานและปล่อยให้นักการเมืองในสภาเข้ามาแก้ปัญหา

ในแง่หนึ่งรัฐทุนนิยมทั่วโลกก็จะมองว่าสหภาพแรงงานไม่ควรนัดหยุดงานเพื่อเป้าหมายทางการเมือง และมักจะมีการออกกฎหมายห้ามการกระทำแบบนี้ ซึ่งเราเห็นในไทยและในประเทศตะวันตก

สำหรับนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ เรามองว่าเรื่องการเมืองกับเรื่องเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ เรามองว่ารัฐสภาในระบบทุนนิยมไม่ใช่จุดสูงสุดของประชาธิปไตย แต่เป็นพื้นที่ทางการเมืองที่ถูกออกแบบเพื่อปกป้องสภาพสังคมทุนนิยมและการกดขี่ขูดรีดของชนชั้นนายทุนที่เป็นแค่ 1%ของประชากร คือมันปกป้องรัฐของชนชั้นนายทุนที่มีไว้กดขี่ชนชั้นกรรมาชีพและประกอบไปด้วยทหาร ตำรวจ ศาลกับคุก ดังนั้นเรามองว่าถ้าการต่อสู้จะยกระดับให้สูงขึ้น การต่อสู้ทางเศรษฐกิจกับการเมืองต้องรวมกันเป็นสิ่งเดียวกัน คือชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเริ่มสร้างองค์กรบริหารสังคมแบบใหม่ที่กรรมาชีพมีบทบาทโดยตรง ตัวอย่างที่ดีคือสภาคนงาน แบบโซเวียตในปีแรกๆ ของการปฏิวัติรัสเซีย 1917 หรือสภาคนงานที่เกิดขึ้นในอิหร่านท่ามกลางการปฏิวัติ1979 หรือสภาประสานงานกรรมาชีพในชิลีที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อพยายามต่อต้านรัฐประหารในปี1973

ความสำคัญเกี่ยวกับสภาคนงานแบบที่พูดถึงนี้คือ มันเป็นหน่ออ่อนของการบริหารสังคมแบบใหม่ภายใต้ประชาธิปไตยของกรรมาชีพซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม แต่ก่อนที่จะถึงจุดนั้นเราจะต้องเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการนัดหยุดงานทางการเมืองและการสร้างเครือข่ายนักเคลื่อนไหวแบบรากหญ้าพร้อมกับสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่ไม่เน้นรัฐสภา

ในประเด็นที่สองคือ เรื่องบทเรียนจากความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองนายทุนกับสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับนักเคลื่อนไหวแรงงานที่หวังทำงานภายในพรรคก้าวไกล บทเรียนแรกมาจากอังกฤษเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่มีการสร้างพรรคแรงงาน และผู้แทนของสหภาพแรงงานมักจะทำงานภายในพรรค “เสรีนิยม” ซึ่งเป็นพรรคนายทุน การทำงานภายในพรรคนี้ไม่ให้ประโยชน์อะไรเลย จึงมีการสรุปกันว่าต้องสร้างพรรคแรงงานขึ้น

แต่ตัวอย่างที่ชัดเจนมากในยุคนี้คือความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงานกับพรรคเดโมแครตในสหรัฐ ความสัมพันธ์นี้มีมายาวนานในขณะที่พรรคของสหภาพแงงานหรือพรรคแรงงานไม่มี ดังนั้นเวลามีการเลือกตั้งในสหรัฐจะมีทางเลือกให้ประชาชนระหว่างแค่สองพรรคของนายทุนเท่านั้น คือระหว่างพรรคเดโมแครตกับพรรคริพับลิกัน และผู้นำสหภาพแรงงานจะชวนให้สมาชิกเลือกพวกเดโมแครต ส่วนหนึ่งคือการตั้งความหวังจอมปลอมว่าพรรคเดโมแครตจะไม่ขวาตกขอบเหมือนริพับลิกัน อีกส่วนหนึ่งมาจากประวัติศาสตร์เมื่อยุค 1930 ที่รัฐบาลพรรคเดโมแครตใช้นโยบายเอาใจสหภาพแรงงานและนายทุนพร้อมกันเพื่อลดความขัดแย้งทางชนชั้นท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ในเรื่องหลักๆ ปัจจุบัน นโยบายของทั้งสองพรรคมักจะไม่ต่างกันมากนัก เช่นในเรื่องการทำสงคราม เรื่องจักรวรรดินิยม เรื่องกลไกตลาดเสรีกับการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจ หรือในเรื่องการไม่ยอมสร้างรัฐสวัสดิการ

บทเรียนสำคัญสำหรับยุคนี้คือการที่ประธานาธิบดีไบเดิน ออกคำสั่งยกเลิกการนัดหยุดงานของคนงานรถไฟสหรัฐในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยอ้างว่าจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ  ในที่สุดสหภาพแรงงานต้องไปยอมรับข้อตกลงกับบริษัทเดินรถไฟที่แย่มาก เพราะไม่มีการให้สวัสดิการล่าป่วย และบังคับขึ้นเงินเดือนแค่ 24% ในช่วง 4 ปี โดยที่ระดับเงินเฟ้อกำลังพุ่งสูง ที่น่าสลดใจยิ่งกว่านั้นคือ อเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ-คอร์เทซ กับพรรคพวกที่เป็น “ฝ่ายซ้าย” ภายในพรรคเดโมแครต ก็ไปยกมือสนับสนุนไบเดินในการกดขี่เสรีภาพของสหภาพแรงงาน

บทเรียนนี้ชี้ให้เราเห็นว่าพรรคการเมืองของนายทุนในที่สุดจะสนับสนุนผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนเสมอ ไม่ว่าจะมีผู้แทนที่อ้างว้าเป็นฝ่ายซ้ายหรือนักสหภาพแรงงานสี่ห้าคนภายในพรรคก็ตาม

การเรียกร้องสิทธิที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานและสิทธิที่จะนัดหยุดงาน โดยไม่มีข้อจำกัดจากรัฐ และการเรียกร้องค่าจ้างและสวัสดิการที่สูงขึ้นจนเท่ากับมาตรฐานคนชั้นกลาง เป็นสิ่งจำเป็นในไทย แต่สำหรับพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะมีผู้แทนสายแรงงานอยู่ในพรรค ซึ่งยังเป็นคนส่วนน้อยมาก คำถามคือพรรคนายทุนพรรคนี้จะสนับสนุนผลประโยชน์ของแรงงานถ้ามันไปขัดกับผลประโยชน์ของนายทุนจริงหรือ?

ความสำคัญของแนวคิด “ปฏิวัติถาวร” ของทรอตสกี้ในยุคปัจจุบัน

ทฤษฎีการปฏิวัติถาวรของ ลีออน ทรอตสกี้ ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวปฏิบัติของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินเหมา รวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ไม่ใช่แค่เรื่องประวัติศาสตร์แต่ยังมีความสำคัญกับการต่อสู้ทั่วโลกในปัจจุบัน สาเหตุหลักคือมันนำไปสู่การเน้นบทบาทหลักของชนชั้นกรรมาชีพ และเป้าหมายที่จะปฏิวัติสังคมนิยม

ในช่วงแรกๆ ของยุคทุนนิยม นักปฏิวัติมาร์คซิสต์ (รวมทั้งมาร์คซ์ และเองเกิลส์เอง) คิดว่าชนชั้นนายทุนจะเป็นแนวร่วมกับชนชั้นกรรมาชีพในการล้มระบบล้าหลังแบบขุนนางฟิวเดิลที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศต่างๆ ของยุโรป เช่นเยอรมันหรือรัสเซีย แต่หลังจากความล้มเหลวของการปฏิวัติทั่วยุโรปในปี 1848 ความขี้ขลาดและจุดยืนปฏิกิริยาอนุรักษ์นิยมของชนชั้นนายทุนก็ปรากฏให้เห็นชัด ดังนั้นการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 เป็นการปฏิวัติครั้งสุดท้ายของชนชั้นนายทุนที่มีความก้าวหน้า เพราะหลังจากนั้นชนชั้นนายทุนจะกลัวชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมสมัยนั้น ชนชั้นนายทุนกลัวกรรมาชีพมากกว่าความเกลียดชังที่นายทุนมีต่อขุนนางเก่า ฉะนั้นชนชั้นนายทุนจะไม่สนับสนุนการปฏิวัติใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดการปลุกระดมให้ชนชั้นกรรมาชีพลุกฮืออย่างเด็ดขาด มาร์คซ์ผิดหวังกับชนชั้นนายทุนในปี 1848 และสรุปว่าหลัง1848เป็นต้นไป ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเป็นผู้นำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมเองโดยไม่หวังอะไรจากนายทุน มาร์คซ์เป็นคนแรกที่เขียนว่ากรรมาชีพต้อง “ปฏิวัติถาวรไปเลย!”

แต่การปฏิวัติในขั้นตอนแรกควรจะนำไปสู่สังคมแบบไหน? ประชาธิปไตยทุนนิยม(เผด็จการของชนชั้นนายทุน) หรือประชาธิปไตยสังคมนิยม(เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ)?

มาร์คซ์ มีความเห็นว่าในเมื่อชนชั้นกรรมาชีพนำและทำการปฏิวัติเอง กรรมาชีพไม่น่าจะหยุดอยู่แค่ขั้นตอนทุนนิยมประชาธิปไตย (หรือที่บางคนเรียกว่า “ประชาชาติประชาธิปไตย”) เพราะกรรมาชีพจะยังอยู่ในสภาพที่ถูกกดขี่ขูดรีดต่อไป  ดังนั้นควรจะผลักดันการปฏิวัติประชาธิปไตยทุนนิยมให้เลยไปถึงการปฏิวัติสังคมนิยม “อย่างถาวร”          

มาร์คซ์เขียนว่า “ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นที่จะเป็นผู้ต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับทุนนิยม จนได้รับชัยชนะ… และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อชนชั้นกรรมาชีพเข้าใจผลประโยชน์ของชนชั้นตัวเองอย่างชัดเจน สร้างพรรคการเมืองอิสระของกรรมาชีพเอง และไม่หลงเชื่อคำแนะนำจากพวกนายทุนประชาธิปไตยสองหน้า ที่เสนอว่ากรรมาชีพไม่ต้องมีพรรคของตนเอง… คำขวัญของกรรมาชีพจะต้องเป็น ‘ปฏิวัติให้ถาวรไปเลย!’”

กรรมาชีพไทยหลายคนเวลาอ่านข้อเขียนข้างบนของมาร์คซ์ อาจจะนึกถึงการต่อสู้ของกรรมาชีพเพื่อล้มเผด็จการในช่วง๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๕ หรือยุคเสื้อแดง เพราะเป้าหมายในการต่อสู้กับเผด็จการในไทย ไม่เคยเป็นเรื่องการปฏิวัติสังคมนิยมเลย

ก่อนการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 เลนิน ได้เคยมีจุดยืน(ที่เขียนไว้ในหนังสือ “สองยุทธวิธีของสังคมนิยมประชาธิปไตย”) ว่าการปฏิวัติที่กำลังจะเกิดต้องนำโดยชนชั้นกรรมาชีพที่ทำแนวร่วมกับชาวนา แต่ในขั้นตอนแรก เนื่องจากความล้าหลังของประเทศรัสเซียที่มีชาวนา 130 ล้านคน เมื่อเทียบกับกรรมาชีพแค่ 3 ล้านคน การปฏิวัติจะสถาปนาระบบประชาธิปไตยทุนนิยมก่อน แล้วค่อยทำการปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมในภายหลัง แต่ในปี 1917 ใน “วิทยานิพนธ์ เมษายน 1917” ของเลนิน เขาเปลี่ยนใจและหันมาเสนอว่าการปฏิวัติที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องนำไปสู่ขั้นตอนของสังคมนิยมทันที ซึ่งตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเดือนตุลาคม 1917 ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเลนินหันมาสนับสนุนจุดยืน “การปฏิวัติถาวร” ของมาร์คซ์

ผู้นำการปฏิวัติรัสเซียคนสำคัญอีกคนที่เป็นเพื่อนร่วมสู้อย่างสนิทของเลนิน คือ ลีออน ทรอตสกี้ เขาเสนอการปฏิวัติถาวรตามแนวคิดของมาร์คซ์ มาตั้งแต่ปี 1906 ก่อนที่เลนินจะเสนอ “วิทยานิพนธ์ เมษายน 1917” 11ปี สาเหตุสำคัญที่ทรอตสกี้มองว่าประเทศด้อยพัฒนาอย่างรัสเซียสามารถก้าวกระโดดข้ามขั้นตอนการพัฒนาทุนนิยมในรูปแบบที่อังกฤษหรือฝรั่งเศสเคยผ่านนั้น ก็เพราะทุนนิยมได้ขยายไปเป็นระบบโลกและเข้ามามีอิทธิพลหลักในประเทศล้าหลังทั่วโลก แต่การเข้ามามีลักษณะร่วมกับทุนนิยมทั่วโลกและในขณะเดียวกัน “ต่างระดับ” ตัวอย่างเช่นการที่รัสเซียประกอบไปด้วยเกษตรกรจำนวนมากที่อยู่ในสภาพล้าหลังแต่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าพอๆ กับสหรัฐอเมริกาเป็นต้น แต่ถ้าการปฏิวัติถาวรจะสำเร็จในประเทศล้าหลัง ต้องมีการขยายการต่อสู้ไปในระดับสากล

พวก “เมนเชวิค” ซึ่งเป็นพรรคปฏิรูปในรัสเซียสมัย 1917 ยังคงเชื่อว่าการปฏิวัติรัสเซียต้องหยุดอยู่ที่ขั้นตอนประชาธิปไตยทุนนิยมและไม่ก้าวข้ามไปสู่สังคมนิยม ดังนั้นเมนเชวิคจะสนับสนุนนักการเมืองนายทุนและการทำสงครามกับเยอรมันต่อไป ในขณะที่บอลเชวิคของเลนินและทรอตสกี้ยุติสงครามและล้มรัฐสภาของนายทุนเพื่อสร้างสภาคนงานแทน

ความสำคัญของทฤษฎีการปฏิวัติถาวรสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน คือสามารถอธิบายได้ว่าทำไมกรรมาชีพไทยต่อสู้ในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา กับ พฤษภา ๓๕ แต่ไม่เคยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเท่าใดนัก และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ทฤษฎีนี้ชี้ให้ชนชั้นกรรมาชีพเห็นว่าในการต่อสู้ในอนาคต ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องมีองค์กร และแนวความคิดที่เป็นอิสระจากแนวของชนชั้นอื่นโดยเฉพาะนายทุน และท้ายสุดชนชั้นกรรมาชีพมีภาระที่จะต้องต่อสู้เพื่อการปฏิวัติถาวรที่นำไปสู่ระบบสังคมนิยมอย่างไม่หยุดยั้ง

หลังจากที่การปฏิวัติรัสเซียล้มเหลวหลังจากที่เลนินเสียชีวิต เพราะขยายในลักษณะสากลไปสู่เยอรมันและประเทศพัฒนาอื่นๆ ไม่ได้ พร้อมกันนั้นก็สตาลินขึ้นมามีอำนาจและทำลายความก้าวหน้าที่มาจากการปฏิวัติจนหมดสิ้น เพื่อสร้างระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ”ในรัสเซีย สตาลินเรียกระบบนี้ว่า “สังคมนิยมในประเทศเดียว” และใช้แนวชาตินิยมแทนแนวสากลนิยม ต่อจากนั้นสตาลินเสนอกับพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นเมืองขึ้นตะวันตกหรือด้อยพัฒนา ว่าต้องตั้งเป้าไว้เพื่อหยุดที่ขั้นตอนประชาธิปไตยทุนนิยมหรือ “ประชาชาติประชาธิปไตย” ซึ่งแปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ต่างๆ ต้องทำแนวร่วมกับชนชั้นายทุน “ที่รักชาติ” แทนนที่จะสู้เพื่อปฏิวัติสังคมนิยม

สาเหตุที่สตาลินหันกลับมาเสนอจุดยืนของพวกเมนเชวิค หรือจุดยืนเก่าที่เลนินทอดทิ้งไป ก็เพื่อหวังผูกไมตรีกับประเทศทุนนิยมตะวันตก หรืออย่างน้อยเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับประเทศเหล่านั้น เพราะในความเห็นของเขาความมั่นคงของรัสเซียสำคัญกว่าการปฏิวัติสังคมนิยมในระดับสากล

สตาลิน เป็นผู้ที่ขึ้นมามีอำนาจในรัสเซียบนซากศพของความล้มเหลวในการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ เขาเป็นตัวแทนของชนชั้นข้าราชการที่ต้องการสร้างรัสเซียให้เป็นใหญ่โดยการขูดรีดกดขี่แรงงานและชาวนาภายใต้เผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่สตาลินพยายามปกปิดความคิดของทรอตสก้ที่พยายามทะนุถนอมแนวมาร์คซิสต์หลังจากที่เลนินเสียชีวิตไป  สตาลินจำต้องฆ่าทรอตสกี้และลบใบหน้าของเขาออกจากรูปถ่ายต่างๆ ที่ถ่ายในสมัยการปฏิวัติ 1917

ในประเทศจีนพรรคคอมมิวนิสต์ก็คล้อยตามแนวของสตาลิน พรรคคอมมิวนิสต์ไทย(พ.ค.ท.) ซึ่งถือนโยบายตามแนวคิดของ สตาลิน และ เหมาเจ๋อตุง ก็เสนอว่าการปฏิวัติในประเทศไทยในขั้นตอนแรก จะต้องเป็นการปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยทุนนิยม (ประชาชาติประชาธิปไตย) และชนชั้นกรรมาชีพจะต้องสร้างแนวร่วมและประนีประนอมกับชนชั้นนายทุนน้อย และชนชั้นนายทุนชาติ  พคท. ถึงกับทำแนวร่วมกับจอมเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในช่วงหนึ่งก่อนที่จะถูกสฤษดิ์ปราบ

ปัจจุบันนี้ยังมีนักเคลื่อนไหวไม่น้อยในไทยที่เชื่อแนวนี้อยู่ โดยเฉพาะคนเดือนตุลาที่เคยเข้าไปในพรรคไทยรักไทยและยอมรับการนำของนายทุนอย่างทักษิณ  การพิสูจน์ว่าสายสตาลิน-พคท.ผิดพลาด ตั้งอยู่บนฐานความเป็นจริงในสังคมไทย เพราะเราต้องถามว่านโยบายนี้ให้อะไรกับกรรมาชีพไทย?

มรดกของทรอตสกี้และเลนินเสนอว่าในประเทศที่มีการพัฒนาของระบบทุนนิยมที่ล้าหลัง  โดยเฉพาะประเทศเมืองขึ้นหรือกึ่งเมืองขึ้น ทฤษฎีการปฏิวัติถาวรมีความสำคัญตรงที่ทำให้เห็นว่าการสร้างประชาธิปไตยและเอกราชที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ภายใต้การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อสังคมนิยมเท่านั้น แต่พคท.นิยามความคิดแบบนี้ว่าเป็น “ลัทธิแก้” และเสนอว่าไทยเป็นประเทศ “กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา” ซึ่งในปัจจุบันมีคนหนุ่มสาวบางกลุ่มที่ยังเชื่อว่าไทยเป็นประเทศที่ปกครองโดยศักดินา

เราต้องเข้าใจว่าประเทศไทยในยุค พคท.ไม่ได้เป็นประเทศกึ่งเมืองขึ้นแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่จักรวรรดินิยมอเมริกามีอิทธิพลสูงในสมัยสงครามเย็น การเป็นมหาอำนาจจักรวรรดินิยมหลังสงครามโลกครั้งที่สองต่างจากการเป็นเจ้าอาณานิคมในอดีต เพราะไม่ต้องมีการยึดพื้นที่เพื่อปกครอง และในเรื่องที่เสนอว่าไทยเป็นประเทศกึ่งศักดินา เราควรเข้าใจว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ระบบศักดินาได้ถูกทำลายไปแล้วเพื่อสร้างรัฐทุนนิยมสมัยใหม่ภายใต้กษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์

การทำความเข้าใจกับเรื่องนี้สำคัญในปัจจุบัน เพราะมีผลต่อยุทธศาสตร์การต่อสู้ เพราะพวกที่มองว่าประเทศปกครองโดยระบบศักดินามักจะพร้อมที่จะจับมือกับนายทุนหรือนักการเมืองนายทุน ไม่ว่าจะเป็นทักษิณหรือนักการเมืองพรรคก้าวไกล ในขณะที่ไม่สนใจที่จะสร้างฐานการต่อสู้ในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ และพวกนี้มักจะยอมรับแนวชาตินิยมและเสรีนิยมอีกด้วย

หลังจากที่ทรอตสกี้เสียชีวิตเพราะถูกลูกน้องของสตาลินฆ่า เราเริ่มเห็นการปฏิวัติปลดแอกประเทศในอดีตอณานิคมของตะวันตกในเอเชียและอัฟริกา แต่ไม่ว่าประเทศอิสระใหม่ๆจะเรียกตัวเองเป็นสังคมนิยมหรือไม่ สภาพความเป็นจริงคือชนชั้นกรรมาชีพไม่ได้ขึ้นมาปกครองประเทศ และระบบที่ประเทศเหล่านั้นใช้มีลักษณะคล้ายๆ ระบบทุนนิยมโดยรัฐของรัสเซีย คือเน้นรัฐวิสาหกิจและพรรคนำที่เป็นเผด็จการเหนือกรรมาชีพและชาวนา

โทนี่ คลิฟ นักมาร์คซิสต์ชาวยิวจากปาเลสไตนที่ไปลี้ภัยในอังกฤษ ได้เสนอแนวคิดเรื่องการปฏิวัติถาวรชนิด “หันเห” เขาอธิบายว่าสาเหตุที่กรรมาชีพในประเทศด้อยพัฒนาอาจจะยังไม่คิดปฏิวัติคงหาได้ไม่ยาก การครอบงำจากความคิดหลักในสังคม การที่กรรมาชีพเหล่านี้ยังผูกพันกับสังคมอดีตของชนบท การที่เขาเป็นคนไร้ประสบการณ์ในการต่อสู้แบบกรรมกร และระดับการศึกษา ทั้งหมดล้วนแต่เป็นอุปสรรคในการรวมตัวอย่างเอกภาพของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งความอ่อนแอตรงนี้มักนำไปสู่ความอ่อนแออีกระดับหนึ่ง คือกรรมาชีพจะไปพึ่งการนำจากคนที่ไม่ใช่กรรมาชีพ ตัวอย่างเช่นสหภาพแรงงานอาจถูกนำโดย “คนภายนอก” ที่มีการศึกษา หรือในบางประเทศสหภาพแรงงานบางแห่งจะพึ่งพิงรัฐ ซึ่งก่อให้เกิด “ลัทธิสหภาพ”

อีกสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้กรรมาชีพในประเทศด้อยพัฒนาอ่อนแอก็คือ แนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมา ซึ่งลดความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ และลดความสำคัญของการต่อสู้ทางชนชั้น เพื่อเชิดชูลัทธิชาตินิยม และการประนีประนอมระหว่างชนชั้นใน “แนวร่วมรักชาติ”

ในกรณีที่ชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถรวมตัวเป็นพรรคปฏิวัติที่เข้มแข็งได้ กลุ่มชนชั้นกลุ่มอื่น โดยเฉพาะปัญญาชนที่เสนอตัวนำชาวนาหรือคนยากจน จะสามารถยึดอำนาจในประเทศด้อยพัฒนาและสถาปนา “ระบบทุนนิยมโดยรัฐ” แทนระบบสังคมนิยม และในการสถาปนาระบบทุนนิยมโดยรัฐเขาจะสามารถเริ่มแก้ปัญหาของการเป็นเมืองขึ้นและปัญหาของความล้าหลังของระบบการผลิตในประเทศของเขาด้วย  นี่คือการปฏิวัติถาวรประเภท “หันเห” เพราะเป็นการปฏิวัติแก้ความล้าหลังที่ไม่ได้มานำโดยชนชั้นกรรมาชีพ ไม่มีการล้มทุนนิยม และสิ่งที่ได้มาจากการปฏิวัติแบบนี้ไม่ใช่สังคมนิยมที่ปลดแอกกรรมาชีพจากการถูกขูดรีดแรงงาน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการปฏิวัติในประเทศจีน คิวบา หรือเวียดนาม

หัวใจสำคัญของทฤษฎีปฏิวัติถาวรที่ ลีออน ตรอทสกี เสนอ ยังใช้ได้อยู่ คือกรรมาชีพต้องต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นตนเองอย่างไม่หยุดยั้งหรือประนีประนอม และต้องต่อสู้เพื่อการปฏิวัติสังคมนิยมทั่วโลก  เพราะถ้าไม่มีการต่อสู้ในรูปแบบนี้ชนชั้นกรรมาชีพจะไม่มีวันปลดแอกตัวเอง และเราจะวนเวียนอยู่ในความเหลื่อมล้ำและวิกฤตของทุนนิยมโลก

สองคำถามสำคัญสำหรับทุกคนที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อล้มเผด็จการในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอียิปต์กับตูนีเซียในยุคอาหรับสปริง อิหร่านในสมัยล้มพระเจ้าชาร์หรือแม้แต่ในการลุกฮือปีนี้  หรือซูดานหรือศรีลังกาในยุคปัจจุบัน….. คือ (1)จะสู้เพื่อเป้าหมายอะไร? และ(2)จะอาศัยพลังในการล้มเผด็จการมาจากส่วนไหนของสังคม?

คำถามแรกท้าทายคนที่มองว่าควรล้มเผด็จการเพื่อให้มีแค่ประชาธิปไตยรัฐสภาแบบทุนนิยม คือตั้งความหวังไว้กับนักการเมืองกระแสหลักและรัฐสภา ซึ่งจะจบลงด้วยการประนีประนอมกับพวกทหารหรือนักการเมืองอนุรักษ์นิยม และคงไว้ระบบที่กดขี่ขูดรีดประชาชนส่วนใหญ่

คำถามที่สองจะท้าทายคนที่มองว่าพลังหลักในการปลดแอกสังคมคือคนชั้นกลาง ประเทศจักรวรรดินิยมเสรีนิยม หรือพรรคการเมืองกระแสหลักในรัฐสภา แทนที่จะมองว่าพลังหลักในการปลดแอกคนส่วนใหญ่คือชนชั้นกรรมาชีพ และคนที่เห็นด้วยกับแนวพลังกรรมาชีพจะต้องลงมือสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมที่มีรากฐานตั้งอยู่ในหมู่กรรมาชีพ

ทุกคนที่พึ่งผ่านการต่อสู้กับเผด็จการประยุทธ์ในไทย คงเข้าใจความสำคัญของสองคำถามนี้ สรุปแล้วคุณจะพอใจกับการจมอยู่ในระบบรัฐสภาที่ถูกตีกรอบโดยเผด็จการทหาร ซึ่งอย่างมาก ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงบ้าง จะแค่นำไปสู่สภาพสังคมในยุคที่ทักษิณเคยเป็นผู้นำประเทศ… หรือคุณจะพยายามต่อสู้เพื่อสังคมที่ก้าวหน้ากว่านี้? สังคมนิยมนั้นเอง

ใจ อึ๊งภากรณ์