การจัดตั้งสหภาพแรงงานควรเน้น รากหญ้าหรือผู้นำ?

สำหรับเราชาวมาร์คซิสต์ เรามองว่ากรรมาชีพมีพลังซ่อนเร้นในการเปลี่ยนแปลงสังคม รวมถึงการปฏิวัติล้มทุนนิยมเพื่อสร้างสังคมนิยมอีกด้วย ดังนั้นเราให้ความสำคัญเสมอกับการเคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานและการสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน แทนที่จะเน้นไปที่รัฐสภา เอ็นจีโอ หรือชนชั้นกลาง

พลังของชนชั้นกรรมาชีพมาจากการที่กรรมาชีพทำงานอยู่ใจกลางระบบการผลิตและระบบการบริการในเศรษฐกิจทุนนิยมสมัยใหม่ เมื่อคนงานหรือพนักงานนัดหยุดงาน จะทำให้มีการยุติการผลิต และยุติการบริการ(การขนส่ง การค้าขายสินค้า การดูแลกรรมาชีพในสถานพยาบาล และการศึกษาสำหรับกรรมาชีพรุ่นใหม่) นายทุนหรือผู้บริหารเข้ามาทำงานแทนไม่ได้เพราะเป็นคนส่วนน้อยและอาจไม่มีฝีมือเพียงพออีกด้วย

การรวมตัวกันจัดตั้งของกรรมาชีพแบบพื้นฐานคือสหภาพแรงงาน นี่คือสาเหตุที่เรา และฝ่ายตรงข้าม(รัฐกับนายทุน) ให้ความสำคัญกับสหภาพแรงงานเสมอ ฝ่ายเราพยายามหาทางสร้างความเข้มแข็งของสหภาพ ส่วนฝ่ายตรงข้ามพยายามสร้างอุปสรรคให้กับการทำงานของสหภาพแรงงานด้วยกฎหมายและการปราบปราม ฝ่ายเราพยายามสร้างจิตสำนึกของกรรมาชีพให้เข้าใจผลประโยชน์ของชนชั้นเรา ส่วนฝ่ายตรงข้ามพยายามป้อนความคิดชาตินิยมที่พาคนทำงานไปหลงเชื่อว่าทุกชนชั้นในประเทศมีผลประโยชน์เหมือนกันและเราควรก้มหัวให้นายทุนกับเจ้าหน้าที่รัฐ ความขัดแย้งในความคิดดังกล่าวเห็นชัดในวันแรงงานสากล วันที่ 1 พฤษภาคม เพราะจะเห็นสหภาพ “เหลือง” ที่เชิดชูผู้นำประเทศและคนชั้นสูง และเรียกวันนั้นว่า “วันแรงงานแห่งชาติ” ในขณะที่สหภาพแรงงานก้าวหน้าจะเน้นข้อเรียกร้องที่เป็นประโยชน์กับกรรมาชีพทั้งในประเทศและในระบบทุนนิยมสากล

การทำงานทางการเมืองในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ เพื่อเสริมพลังการต่อสู้และจิตสำนึกทางชนชั้น จะมีประสิทธิภาพสูง ถ้าพวกเรามีองค์กรการเมืองสังคมนิยม ที่สามารถเข้าไปทำงานในสหภาพแรงงานได้ และเชื่อมโยงทุกประเด็นในสังคมได้

ในเรื่องการจัดตั้งและรณรงค์ให้กรรมาชีพในสหภาพแรงงานต่อสู้อย่างเข้มแข็ง นักมาร์คซิสต์ตั้งแต่ยุค โรซา ลัคแซมเบอร์ค ถึงปัจจุบัน จะเน้นความสำคัญของนักเคลื่อนไหวรากหญ้าเสมอ และจะเน้นความสำคัญของการอัดฉีดการเมืองฝ่ายซ้ายเข้าไปในขบวนการแรงงานผ่านผู้ปฏิบัติการของพรรคปฏิวัติสังคมนิยม แทนที่จะปล่อยให้นักสหภาพแรงงานจมอยู่กับ “ลัทธิสหภาพ” ที่พูดแต่เรื่องปากท้องภายในรั้วสถานประกอบการและละเลยการเมืองภาพกว้าง นอกจากนี้การพยายามช่วงชิงการนำในสหภาพแรงงานโดยพรรคการเมืองกระแสหลักอย่างเช่นพรรคก้าวไกล เป็นเพียงการเสนอว่านักสหภาพแรงงานควรเน้นประเด็นปากท้องเท่านั้น และปล่อยให้สส.ของพรรคที่ไม่ใช่คนงานเน้นเรื่องการเมืองแทน

งานของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค เกี่ยวกับขบวนการต่อสู้ของแรงงานคือหนังสือเล่มเล็กที่ชื่อว่า “การนัดหยุดงานทั่วไป” ซึ่งวิเคราะห์กระแสการนัดหยุดงานทั่วไปในรัสเซียในปี 1905 ที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับเศรษฐกิจปากท้อง

“ลัทธิสหภาพ” ส่วนใหญ่คือแนวคิดที่มองว่าขบวนการแรงงานไม่ควรสนใจการเมือง แต่ควรเคลื่อนไหวเรื่องปากท้องเท่านั้น อย่างไรก็ตามมีบางกลุ่มที่ใช้แนวลัทธิสหภาพที่ต่อสู้ทางการเมืองที่กว้างกว่าแค่ประเด็นปากท้อง แต่เขาปฏิเสธความสำคัญของการสร้างพรรคสังคมนิยมในการปลุกระดมภายในขบวนการแรงงาน เขาจึงใช้องค์กรสหภาพแรงงานเพื่อการเคลื่อนไหว แต่ปัญหาคือสหภาพแรงงานประกอบไปด้วยคนงานที่มีความคิดหลากหลาย จากซ้ายไปสู่ขวา ไม่ใช่องค์กรทางการเมืองที่มีเอกภาพ

สาเหตุที่มาร์คซิสต์เน้นการเคลื่อนไหวรากหญ้า ก็เพราะเรามองว่ากรรมาชีพต้องปลดแอกตนเองจากการขูดรีดในระบบทุนนิยม ไม่ใช่ไปตั้งความหวังกับพรรคการเมืองในรัฐสภา นักวิชาการ หรือองค์กรเอ็นจีโอ แต่ที่สำคัญมากคือการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ของการแปรตัวของผู้นำแรงงานเต็มเวลาระดับชาติไปเป็น “ผู้นำแรงงานข้าราชการ”

ผู้นำแรงงานแบบข้าราชการคือผู้นำที่ทำงานเต็มเวลา มีเงินเดือนสูงกว่าสมาชิกสหภาพธรรมดา และไม่ต้องทำงานซ้ำซากแบบลูกจ้างของนายทุนในสถานที่ทำงาน ตัวอย่างที่ดีคือผู้นำสภาแรงงาน หรือผู้นำแรงงานที่กลายเป็นสส.ในรัฐสภา

การแปรตัวของผู้นำแรงงานแบบนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากนิสัยใจคอหรือจุดยืนทางการเมืองที่ปกพร่อง แต่มาจากสภาพทางวัตถุของเขาในสังคม คือผู้นำเหล่านี้ได้ก้าวพ้นสภาพความยากลำบากและความเครียดของลูกจ้างธรรมดาในสถานที่ทำงาน เขาเริ่มมีสภาพชีวิตและรายได้พอๆ กับหัวหน้างานหรือแม้แต่นายจ้างหรือนักการเมือง ดังนั้นเขามองว่าเขาเป็น “นักเจรจามืออาชีพ” หรือเป็น “นักแก้ปัญหามืออาชีพให้แรงงาน” แทนที่จะมองว่าตนเองเป็นนักปลุกระดมการต่อสู้

เวลามีข้อพิพาทในสถานที่ทำงาน เขาจะเข้าไปเพื่อไกล่เกลี่ย เพราะนอกจากจะมองว่าเป็นหน้าที่ของเขาแล้ว เขาให้ความสำคัญกับโครงสร้างสหภาพ และไม่อยากให้องค์กรสหภาพเสี่ยงภัยจากการต่อสู้ยาวนานหรือการต่อสู้อย่างดุเดือด

แน่นอนในโลกจริงมันไม่ขาวกับดำเสมอ เช่นอาจมีผู้นำสหภาพแรงงานเต็มเวลาที่ปลุกให้คนงานนัดหยุดงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง แต่ในขณะเดียวกันจะพยายามคุมการนัดหยุดงานเพื่อไม่ให้ออกนอกกรอบกฎหมายหรือขยายตัวเป็นการต่อสู้ที่ดุเดือดรุนแรง สรุปแล้วผลประโยชน์ของผู้นำข้าราชการแตกต่างและขัดแย้งกับผลประโยชน์สมาชิกธรรมดา

นอกจากนี้มีผู้นำแรงงานบางคนที่ยังไม่ถึงกับเป็นผู้นำเต็มเวลา หรือผู้นำระดับชาติ แต่เริ่มแสดงอาการของข้าราชการ

ในประเทศไทย ในสมัยที่พรรคคอมมิวนิสต์สนใจขบวนการแรงงานในช่วง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน “กลุ่มย่าน” ซึ่งเป็นรูปแบบที่เน้นการจัดตั้งรากหญ้าและการจัดตั้งที่ให้ความสำคัญกับการเมือง ทุกวันนี้ก็ยังมีกลุ่มย่านหลายแห่งที่ได้มรดกตกทอดจากยุคนั้น แต่สมัยนี้นักสหภาพมักจะเน้นเรื่องปากท้อง โดยไม่คุยกันถึงเรืองใหญ่ๆ ของสังคมในแวดวงองค์กร เช่นเรื่องสิทธิทางเพศ ปัญหาสงคราม ปัญหางบทหาร ปัญหากฎหมาย 112 ความสำคัญในการปฏิเสธแนวชาตินิยม ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาวิกฤตทุนนิยม หรือแนวทางในการต่อต้านเผด็จการฯลฯ

สหภาพแรงงานกลุ่มย่าน เป็นการรวมตัวกันของสหภาพแรงงานของบริษัทต่างๆ ที่มีสหภาพแรงงานเฉพาะของบริษัท และเป็นการสร้างเครือข่ายสมานฉันท์ข้ามรั้วโรงงาน ส่วนใหญ่มักจะมีประชาธิปไตยภายในสูงกว่าสภาแรงงาน แต่พอขบวนการแรงงานเริ่มพัฒนาและขยายตัว สภาพความเป็นข้าราชการของผู้นำจะเริ่มปรากฏขึ้น โดยเฉพาะถ้าเราพูดถึงสมาพันธ์แรงงานที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรสากล หรือองค์กรที่ถูกสร้างขึ้นโดยเอ็นจีโอ

ในยุคนี้ในประเทศต่างๆ เช่นสหรัฐ อังกฤษ เยอรมัน เป็นต้น คัมภีร์การจัดตั้งแรงงานของ เจน แมคอาเลวีย์  [Jane McAlevey “No Shortcuts”,2016] กำลังฮิตในสายแรงงาน โดยเฉพาะในหมู่ผู้นำแรงงานระดับสูง และมีการจัดการอบรมออนไลน์ของเขาในหลายๆ ภาษา ซึ่งคงมีองค์กรแรงงานสากลหรือเอ็นจีโอที่ต้องการนำรูปแบบการจัดตั้งนี้มาใช้ในไทย และจัดการอบรมสำหรับนักสหภาพแรงงานไทย

การศึกษาแนว แมคอาเลวีย์ และเปรียบเทียบกับแนวมาร์คซิสต์ มีประโยชน์ในการสร้างความชัดเจนเรื่องโครงสร้างทางชนชั้นที่ดำรงอยู่ภายในสหภาพแรงงาน และวิธีปลุกระดมแรงงานรากหญ้าของมาร์คซิสต์

เราต้องเข้าใจว่ารูปแบบของ แมคอาเลวีย์ต่อต้านการต่อสู้ทางชนชั้นที่อาจจะพัฒนาไปสู่การปฏิวัติล้มทุนนิยมเพราะเขายึดติดกับกรอบกฎหมายและหันหลังกับพรรคการเมืองสังคมนิยม

แนวการจัดตั้งของเขาพัฒนามาจากสหรัฐอเมริกาในบริบทของการที่สหภาพแรงงานเสียสมาชิกไปมากพอสมควร และผู้นำแรงงานต้องการจะฟื้นฟูขบวนการ แต่มันนำไปสู่ข้อถกเถียงในหมู่นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในตะวันตก

แมคอาเลวีย์  มีการวิเคราะห์อำนาจและอิทธิพลภายในสถานที่ทำงานและเสนอว่าสหภาพแรงงานระดับชาติควรจ้างนักจัดตั้งมืออาชีพ เพื่อเข้าไปสร้างสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะในสถานประกอบการที่ยังไม่มีสหภาพ

แมคอาเลวีย์  เสนอว่านักจัดตั้งมืออาชีพต้องพยายามทำความรู้จักกับลูกจ้าง ค้นหา “ผู้นำธรรมชาติ” และแต่งตั้งผู้นำเหล่านั้นเพื่อเป็นผู้นำของสหภาพในระดับสถานประกอบการ หลังจากนั้นต้องมีการ “ทดสอบพลัง” ของสหภาพผ่านการรณรงค์ในประเด็นปากท้องที่ยังไม่ถึงขั้นการนัดหยุดงาน ในที่สุดพอมีสมาชิกมากขึ้นและสมาชิกลงคะแนนเสียงท่วมท้นเพื่อนัดหยุดงานก็ลงมือต่อรองกับนายจ้าง

แต่ในมุมมองฝ่ายซ้าย รูปแบบการจัดตั้งของ แมคอาเลวีย์  มีปัญหามากพอสมควร เพราะมีลักษณะกลไกมาก และเน้นบทบาทผู้นำระดับสูงที่เป็นข้าราชการ

  1. มีการเสนอว่าการจัดตั้งในระดับล่างและเพิ่มบทบาทผู้นำธรรมชาติ นำไปสู่การที่ผู้นำแรงงานข้าราชการกับผู้นำระดับรากหญ้ามีจุดยืนและผลประโยชน์เหมือนกัน มันเป็นรูปแบบการจัดตั้งที่เอียงไปสนับสนุนผู้นำระดับสูง
  2. แกนนำ “ธรรมชาติ” ที่เขาเสนอในสถานประกอบการ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของสมาชิก แต่มาจากการแต่งตั้งโดยผู้จัดตั้งมืออาชีพ ดังนั้นแกนนำระดับล่างไม่สามารถท้าทายผู้นำข้าราชการระดับสูงได้ และไม่สามารถทำงานในรูปแบบที่อิสระจากผู้นำข้าราชการถ้าจำเป็น นอกจากนี้มันเป็นการมองข้ามผู้นำที่เป็นนักเคลื่อนไหวมานานและมีประสบการณ์สูง ทั้งๆ ที่อาจไม่ได้เข้าอบรมกับนักวิชาการหรือเอ็นจีโอ
  3. มีการลดความสำคัญของการเมืองถึงขนาดที่มีการพูดทำนองว่าแกนนำแบบ “ผู้นำธรรมชาติ” ไม่ควรจะมาจากนักเคลื่อนไหว แต่ควรจะเป็นคนที่มีอิทธิพลกับเพื่อนร่วมงานมากกว่า การลดบทบาทการเมืองและไม่พูดถึงพรรคฝ่ายซ้ายขัดแย้งกับการที่ แมคอาเลวีย์  อ้างว่าเขานำรูปแบบการจัดตั้งมาจากองค์กร CIO ในสหรัฐที่ต่อสู้กับนายจ้างในยุค 1930 เพราะ จริงๆ แล้ว CIO สร้างโดยนักเคลื่อนไหวพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสายทรอตสกี้ในสมัยนั้น โดยมีการเน้นการเมืองภาพกว้างและประเด็นชนชั้นเป็นหลัก
  4. การเสนอว่าสมาชิกต้องลงคะแนนเสียง “ท่วมท้น” (90%)ก่อนที่จะนัดหยุดงาน เปิดโอกาสให้ผู้นำแรงงานข้าราชการห้ามการนัดหยุดงานถ้าคะแนนเสียงไม่ถึง (90%)   และยิ่งกว่านั้นเป็นการเข้าข้างฝ่ายรัฐและนายจ้างที่ต้องการขัดขวางการหยุดงาน และสำหรับนักกิจกรรมแรงงานที่รู้จักประวัติศาสตร์ เป็นการปกปิดวิธีขยายการนัดหยุดงานจากกลุ่มเล็กๆ ไปสู่กลุ่มใหญ่ๆ ผ่านการประท้วงและเรียกร้องให้เพื่อนร่วมงานในแผนกอื่นๆ ออกมาร่วมต่อสู้
  5. แนวการจัดตั้งรูปแบบนี้ไม่ช่วยในการสร้างการนัดหยุดงานที่มีข้อเรียกร้องทางการเมือง เช่นการนัดหยุดงานไล่เผด็จการหรือการนัดหยุดงานประท้วงการก่ออาชญากรรมของรัฐ
  6. ความกลไกของรูปแบบนี้เป็นอุปสรรคในการสร้างกระแสนัดหยุดงานสมานฉันท์กับกรรมาชีพกลุ่มอื่นที่กำลังต่อสู้กับรัฐหรือนายจ้าง หรือการนัดหยุดงานที่ผิดกฎหมายแรงงานที่นายทุนร่างขึ้นมา

ถ้าเราศึกษาประวัติการต่อสู้ของกรรมาชีพในไทย จะพบว่านักปฏิบัติการคอมมิวนิสต์มีบทบาทสำคัญในการสร้างกระแสนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อต้านการเก็บภาษีหัวจากคนงานเชื้อสายจีนในปี ๒๔๕๓ และการนัดหยุดงานประท้วงของคนงานท่าเรือในปี ๒๔๘๙ เพื่อประท้วงการส่งเสบียงไปให้พรรคก๊กมินตั๋งที่กำลังรบกับพรรคคอมมิวนิสต์ในจีน นอกจากนี้ระหว่างปี ๒๕๐๐กับ ๒๕๐๑ การนัดหยุดงานกดดันให้รัฐบาลยอมรับสหภาพแรงงาน สิทธิในการนัดหยุดงาน และการกำหนดวันแรงงานสากล ๑ พฤษภาคมให้เป็นวันหยุด การนัดหยุดงานดังกล่าวล้วนแต่เป็นการนัดหยุดงานทางการเมือง

รูปแบบของ แมคอาเลวีย์  ตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับแนวทางจัดตั้งของมาร์คซิสต์ เพราะเราจะเน้นความจำเป็นที่จะมีเครือข่ายนักสหภาพแรงงานระดับรากหญ้า ที่สามารถนำการต่อสู้อิสระจากผู้นำแรงงานข้าราชการในกรณีที่ผู้นำเหล่านั้นขัดขวางการต่อสู้ และเราจะเน้นความสำคัญของการใช้การเมืองสังคมนิยมในการนำการต่อสู้ทางชนชั้นอีกด้วย เราจะไม่มีวันแยกการเมืองออกจากเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง

ใจ อึ๊งภากรณ์