ต้นกำเนิดปัญหาการค้ามนุษย์อยู่ที่นโยบายรัฐไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

เราควรเข้าใจว่าคดีการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาที่พึ่งมีการตัดสินลงโทษคนจำนวนหนึ่ง เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่การกระทำของทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐ และนักการเมืองมาเฟียเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นเพราะมีต้นกำเนิดจากนโยบายของรัฐไทย

ภาพจากเนชั่นทีวี

ในรายละเอียดเกี่ยวกับคดีนี้ การที่พล.ท.มนัส คงแป้น ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ผู้ทรงคุณวุฒิของหน่วยทหารพิเศษภายใต้ กอ.รมน. เป็นจำเลยสำคัญ ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่ามีนายทหารและนายตำรวจระดับสูงอีกกี่คนที่เกี่ยวข้องหรืออย่างน้อยรับรู้เรื่องนี้ มีคนภายในรัฐบาลเผด็จการกี่คนที่เกี่ยวข้องและรับรู้แต่ไม่ทำอะไร? และอย่าลืมว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าชุดสอบสวนในคดีนี้ ต้องหลบหนีไปขอหลี้ภัยในออสเตรเลีย เพราะถูกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลขู่ฆ่า

ตลอดเวลาที่คดีดำเนินอยู่ พยานต่างๆ ถูกข่มขู่ โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ปกป้องใคร โดยเฉพาะพยานชาวโรฮิงญา และการให้การของพล.ท.มนัส เป็นการให้การลับ ที่อ้าง “ความมั่นคง” เป็นสาเหตุ ประเด็นคือเจ้าหน้าที่รัฐกับศาลต้องการปกปิดอะไร?

ในภาพรวมเรื่องต้นกำเนิดของการค้ามนุษย์ ในประการแรกเราต้องดูบทบาทของ กอ.รมน. ที่รับผิดชอบในการปฏิบัติการ “ผลักดันและส่งต่อ” ผู้หลี้ภัยชาวโรฮิงญา เพื่อส่งเพื่อนมนุษย์หลายพันชีวิตไปตายหรือเป็นเหยื่อกลางทะเล นี่คือนโยบายโหดร้ายที่สุดที่ไร้ความเมตตา หรือความเคารพต่อเพื่อมนุษย์โดยสิ้นเชิง

แนน่อนนโยบายชาตินิยมแย่ๆ ของรัฐบาลพม่า ภายใต้การนำของอองซานซูจี ที่กอดคอกับอำนาจเผด็จการทหารพม่า มีส่วนสำคัญในการขับไล่ชาวโรฮิงญาออกจากพม่า แต่นั้นไม่ควรเป็นข้อแก้ตัวสำหรับคนไทย

สิ่งที่อยู่เบื้องหลังนโยบาย “ผลักดันและส่งต่อ”  คือการที่รัฐไทยไม่เคยยอมรับสภาพผู้หลี้ภัยของคนจากประเทศอื่นเลย รัฐบาลไทยไม่ยอมเซ็นสัญญาระหว่างประเทศของสหประชาชาติปีค.ศ. 1951 ที่ว่าด้วยสถานภาพผู้หลี้ภัย และรัฐบาลไทยไม่มีกฏหมายเพื่อคุ้มครองเพื่อนมนุษย์ที่หนีเข้ามาในไทยเพราะถูกรังแกและข่มขู่ ดังนั้นผู้ลี้ภัยจำนวนมาก ถ้าไม่ถูดผลักออกไปตาย ก็จะถูกกักไว้ในค่าย โดยไม่มีสิทธิในการเลี้ยงชีพ และไม่มีโอกาสที่จะอยู่ในไทยอย่างถาวรหรือโอนสัญชาติเป็นพลเมืองไทยได้เลย

สภาพเช่นนี้เป็นโอกาสทองสำหรับอาชญากรที่ต้องการหากำไรจากการค้ามนุษย์ หรือการรีดไถเงินจากคนที่โชคร้ายจนต้องหนีออกจากประเทศของตนเอง

มันเป็นเรื่องที่พลเมืองไทยทุกคนที่รักความเป็นธรรม มองว่าตนเองมีศีลธรรม หรือเป็นชาวพุทธ จะต้องอับอายขายหน้าในท่าทีของรัฐไทย

และอย่าลืมว่ามีคนไทยผู้รักประชาธิปไตยจำนวนหนึ่ง ที่อาศัยสัญญาระหว่างประเทศของสหประชาชาติปีค.ศ. 1951 เพื่อลี้ภัยจากเผด็จการ เพื่อไปอยู่อย่างปลอดภัยในต่างประเทศ และในที่สุดก็ได้สัญชาติของประเทศเหล่านั้นด้วย

แต่ในภาพรวมเรื่องมันยังโยงไปถึงภาพกว้างของลัทธิการเมืองชาตินิยมด้วย การที่ชนชั้นปกครองไทยโดยเฉพาะทหารเผด็จการ แต่รวมถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วย คอยพยายามล้างสมองพลเมืองไทยให้ “รักชาติ” ตลอดเวลา มีผลในการสร้างบรรยากาศของการเหยียดเชื้อชาติอื่น มันเป็นลัทธิที่ชวนให้เรารักชาติของชนชั้นปกครอง แทนที่เราจะรักเพื่อนมนุษย์ที่เป็นทั้งคนไทยและคนเชื้อชาติอื่นๆ

อย่างไรก็ตามการ “ล้างสมอง” ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ชนชั้นปกครองทำได้ เพราะพลเมืองธรรมดาไม่โง่ และที่สำคัญคือ ถ้ามีกลุ่มคนที่กล้าเถียงกับหรือคัดค้านแนวคิดกระแสหลักของชนชั้นปกครอง พลเมืองธรรมดาจจะต้องคิดต่อและเลือกข้าง ปัญหาคือในไทย กลุ่มการเมือง ขบวนการเคลื่อนไหว หรือสหภาพแรงงาน ไม่ค่อยมีการให้ความสำคัญกับการต้านลัทธิชาตินิยมเท่าที่ควร

ปัญหานี้ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้หลี้ภัยด้วย มันมีผลต่อการปฏิบัติของรัฐไทยต่อแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน คือรัฐไทยใช้นโยบายข่มขู่ ดูถูก ปราบ และออกนโยบายในการขึ้นทะเบียนแรงงานจากประเทศอื่น เพื่อให้เขาอยู่ในสภาพที่ไร้ความมั่นคงเสมอ เป้าหมายคือให้แรงงานเหล่านั้นถูกขูดรีดเอารัดเอาเปรียบง่ายขึ้น เราเห็นตัวอย่างล่าสุดดจากกฏหมายแรงงานข้ามชาติของเผด็จการทหาร

ประเด็นสำคัญที่พลเมืองไทยควรเข้าใจคือ ตราบใดที่คนส่วนใหญ่ในประเทศ ไม่คัดค้านการเหยียดเชื้อชาติ หรือการไม่เคารพสิทธิของผู้ลี้ภัย คนไทยจะยังเป็นทาสของชนชั้นปกครองต่อไป และไม่สามารถสู้เพื่อปลดแอกตนเองได้ เพราะยังงมงายอยู่ในลัทธิชาตินิยมล้าหลัง ที่สอนให้เราจงรักภักดีต่อชนชั้นปกครอง

 

วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ปี ๒๕๔๐ และผลกระทบทางการเมือง

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

วิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ที่ก่อตัวขึ้นในปี ๒๕๔๐ มีผลกระทบกับสังคมไทยไม่น้อย และเป็นต้นกำเนิดของวิกฤติการเมืองไทยที่ยังดำรงอยู่ถึงวันนี้

ในระยะสั้นธนาคารโลกรายงานว่าในปี ๒๕๔๓ จำนวนคนจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจนมีทั้งหมด 13 ล้านคน ในต้นปี ๒๕๔๑ อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับโดยเฉลี่ยลดลง 12.6% และ ชั่วโมงการทำงานลดลง 4.4% ซึ่งมีผลทำให้รายได้จริงของพลเมืองลดลงถึง 19.2% สภาพเช่นนี้ถูกสะท้อนในความไม่พอใจของคนงานหลายส่วน และโรงงานแห่งหนึ่งถูกเผาเพื่อเป็นการประท้วงนายจ้าง

เมื่อรัฐบาล ชวลิต ยงใจยุทธ ต้องลดค่าเงินบาท และปิดบริษัทไฟแนนส์ที่ล้มละลาย ม็อบคนรวยที่หวงเงินออมและทรัพย์สินของตนเอง ก็ออกมาปิดถนนสีลมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก พวกนี้ไม่ได้ถูกตำรวจไล่ตีเหมือนม็อบคนงานที่เคยปิดถนนบางนา-ตราดเพื่อประท้วงนายจ้าง และคนรวยบางคนไม่เคยมีประสบการณ์ในการไปร่วมม็อบซึ่งต้องทนแดดทนฝน เขาจึงต้องพาคนรับใช้มาบริการน้ำเย็นให้

ในขณะเดียวกันกษัตริย์ภูมิพล เศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศ ก็ออกมาพยุงชนชั้นปกครอง โดยเสนอแนว “เศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อโยนความผิดให้ประชาชนธรรมดาที่กษัตริย์มองว่า “ไม่รู้จักพอ” แต่ในความจริงประชาชนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยมีพอ คนที่ไม่รู้จักพอคือพวกนายทุน เศรษฐี และคนรวยต่างหาก

สำนักแนวคิดเศรษฐกิจชุมชนของนักวิชาการและเอ็นจีโอบางส่วน มีส่วนคล้ายคลึงกับแนวพอเพียง เพราะจุดเด่นคือเน้นว่าวิกฤติเศรษฐกิจเกิดจาก “ลัทธิบริโภคนิยม” และพูดถึง “การบริโภคในระดับเกินควร” เราต้องมองว่าแนวนี้เป็นแนวปฏิกิริยาที่ตรงข้ามกับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยที่ยังยากจน มันเป็นความฝันที่จะหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุคที่ไม่เคยมีในอดีต และเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นเพื่อไม่ให้เราโทษการกระทำของนักธุรกิจคนรวยกลุ่มเล็กๆ ที่นำเศรษฐกิจไปสู่ความหายนะ

ในการอธิบายต้นเหตุของวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” เราไม่ควรไปให้ความสำคัญกับพวกปัญญาอ่อนที่โทษรัฐบาลชวลิต หรือคนที่มองว่า “ความเป็นไทย” และการคอร์รับชั่นแบบไทยๆ เป็นต้นเหตุ และไม่ควรให้ความสำคัญกับแนวพอเพียง แต่มันมีสำนักความคิดทางเศรษฐกิจหลายสำนักที่พยายามอธิบายสาเหตุของวิกฤติที่เราควรศึกษา

สำนัก “เสรีนิยม” เสนอว่าการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจตั้งแต่ยุครัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของ อานันท์ ปันยารชุน หรือก่อนหน้านั้นอีกภายใต้ ชาติชาย ชุณหวัณ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้ โดยดึงการลงทุนเข้ามา และลดการควบคุมธนาคาร พวกเสรีนิยมอย่างเช่น อัมมาร สยามวาลา มองว่าเป็นเรื่องดี แต่มีการวิจารณ์ว่าการกำกับดูแลไม่มีประสิทธิภาพพอ ดังนั้นสำนักนี้เสนอว่าถ้าจัดระบบการควบคุมการลงทุนให้ดีขึ้นจะแก้ปัญหาได้ นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมคนอื่น อย่างเช่น รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ หรือ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ ก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้

นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมฝ่ายขวาตกขอบบางคน สรุปว่าวิกฤติเศรษฐกิจไทยเกิดจากการที่คนงานไทยมีค่าแรงสูงเกินไปจนไทยแข่งขันในตลาดโลกต่อไปไม่ได้ พีเทอร์ วอร์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลีย เสนอว่าค่าแรงของคนงานไทย “สูงเกินไป” ทั้งๆ ที่คนงานไทยยากจนและมีรายได้ต่ำกว่านักวิชาการทุกคน ดังนั้นรัฐบาลประชาธิปัตย์ของ ชวน หลีกภัย จึงกดค่าแรงขั้นต่ำไม่ให้มีการปรับขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ ในขณะเดียวกันมีการใช้งบประมาณรัฐเพื่อปกป้องเงินออมของคนรวย

โดยรวมสำนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมมักจะเสนอว่าปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจไทยมาจากการที่มีการเปิดเสรีไม่พอในระยะยาว เขามักเสนอเป็นประจำให้เร่งรีบเปิดเสรีมากขึ้นเพื่อให้กลไกตลาดกำหนดทุกอย่างโดยไม่มีการแทรกแซงจากรัฐแต่อย่างใด แต่ในรูปธรรมนักเสรีนิยมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ขององค์กร ไอเอ็มเอฟ หรือนักเศรษฐศาสตร์ไทย ก็ล้วนแต่หน้าไหว้หลังหลอกในเรื่องบทบาทของรัฐทั้งสิ้น เพราะขณะที่เสนอให้มีการลดบทบาทรัฐในเรื่องสวัสดิการหรือการควบคุมมาตรฐานการจ้าง ก็เสนอให้รัฐเข้ามาใช้ภาษีประชาชนเพื่ออุ้มระบบหนี้เสียของสถาบันการเงินเอกชน

สำนัก “ชาตินิยม-เคนส์” เสนอว่าการเปิดประเทศมากเกินไปทำให้เกิดการพึ่งพาระบบโลกาภิวัตน์มากเกินควร วอลเดน เบโล จากฟิลิปปินส์ มีความเห็นว่ารูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ “หาทางลัด” ของไทยที่เน้นการลงทุนจากภายนอกเพื่อผลิตส่งออกสู่ตลาดโลก มีข้อเสียที่ก่อให้เกิดวิกฤติเพราะพึ่งพาทุนจากต่างประเทศและระบบตลาดเสรีในโลกภายนอกมากเกินไป ดังนั้น เบโล จึงเสนอให้รัฐไทยควบคุมการเคลื่อนย้ายทุนและระดมทุนภายในมาใช้ในการเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจสำนักความคิดชาตินิยมกู้ชาติต้องถือว่ามีเสียงมากที่สุดในหมู่พวกที่คัดค้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น “กลุ่มบัณฑิตไทย” “โครงการหนังสือวิถีทรรศน์” “กลุ่มบางจาก” หรือ “เสรีไทยใหม่” นักเขียนที่มีชื่อเสียงในกลุ่มเหล่านี้มีคนอย่าง ยุค ศรีอาริยะ ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กัญญา ลีลาลัย และ พิทยา ว่องกูล พวกนี้เสนอให้ปิดประเทศระดมทุนจากภายในเป็นหลัก นโยบายแบบนี้ซึ่งอาจเคยใช้พัฒนาประเทศได้ในยุคอดีต ที่มีการเคลื่อนย้ายทุนและการแข่งขันทั่วโลกน้อยกว่าปัจจุบัน ล้มเหลวและใช้ไม่ได้อีกแล้ว กรณีนโยบายของรัฐบาลคอมมิวนิสต์สายสตาลินของประเทศในยุโรปตะวันออกและจีนเป็นตัวอย่างที่ดีของความล้มเหลวของแนวนี้

ในหมู่พวกกู้ชาติที่สุดขั้วที่สุดมีการเสนอว่าวิกฤตินี้เป็นแผนร้ายของสหรัฐอเมริกาที่จะทำลายเศรษฐกิจเอเซีย แต่ข้อเสนอนี้ไม่มีน้ำหนักแต่อย่างใดในเมื่อผู้นำสหรัฐเองเกรงกลัวผลกระทบของวิกฤติเอเซียที่อาจมีกับเศรษฐกิจสหรัฐ

พวกชาตินิยมเหล่านี้ไม่ปฏิเสธระบบทุนนิยมเลย และเสนอให้สร้างระบบทุนนิยมของ “ประชาชนไทย”เพื่อสกัดกั้นนายทุนต่างชาติ แต่ในรูปธรรมแนวนี้ให้ประโยชน์กับนายทุนไทยมากกว่าชนชั้นอื่นทุกชนชั้น ดังนั้นในการพยายามปลุกระดมมวลชนที่ไม่ใช่นายทุน สำนักชาตินิยมจำต้องหยิบยกนิยายจากอดีตเพื่อสร้างความงมงายในหมู่ประชาชน เช่นมีการเอ่ยอ้างถึงบทบาทของพระนเรศวรหรือพระเจ้าตากสินในการกู้ชาติ

ข้อเสนอของสองสำนักคิดหลักข้างต้น มีข้อเสียคือ เพียงแต่มองปัญหาเฉพาะหน้าและอาการของวิกฤติในระบบทุนนิยมเท่านั้น ไม่สามารถเจาะลึกถึงสาเหตุหรือต้นปัญหาของวิกฤติไทยได้ การมองปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อหารายละเอียดปลีกย่อยของวิกฤติหนึ่งไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเข้าสู่วิกฤติเป็นประจำ ทั้งๆ ที่อาจมีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกันในยุคต่างๆ เช่นในประเทศที่มีการควบคุมการลงทุนโดยรัฐ หรือประเทศที่มีการเปิดเสรีภายใต้การตรวจสอบก็ยังเกิดวิกฤติได้ ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นสำนักแนวคิดที่เน้นแต่ปัญหาที่มาจากการหลั่งไหลเข้าออกของทุนโดยไม่มีการควบคุมดูแล ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมในเศรษฐกิจไทยมีการทุ่มเทเงินในภาคอสังหาริมทรัพย์แต่แรก จนเกิดสภาพฟองสบู่ และทำไมพอถึงจุดๆ หนึ่งมีการถอนทุนออกจากประเทศไทยอย่างรวดเร็ว

สำนักเสรีนิยมมีข้ออ่อนด้อยมหาศาลเพราะไม่มีมาตรการอะไรเลยที่จะใช้แก้ปัญหาวิกฤติเรื้อรังของระบบทุนนิยมตลาดเสรี นอกเหนือจากการเพิ่มอัตราการขูดรีดแรงงานเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่น

ในรูปธรรมแนวทางปิดประเทศและระดมทุนภายในเป็นแนวที่ยังไม่ปฏิเสธระบบทุนนิยม ดังนั้นประเทศที่ใช้นโยบายแบบนี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยเฉพาะประเทศเล็กๆ อย่างไทยที่มีตลาดและทรัพยากรจำกัด การระดมทุนจากภายในประเทศแทนที่จะอาศัยทุนมหาศาลและเทคโนโลจีที่เคลื่อนไหวอยู่รอบโลกในยุคนี้ เป็นแนวทางที่สร้างความเสียเปรียบกับประเทศเพราะการระดมทุนในรูปแบบนี้ใช้ต้นทุนสูง ค่าใช้จ่ายสูง ไม่สามารถใช้เทคโนโลจีที่ทันสมัยที่สุด และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเป็นแนวที่อาศัยการระดมทุนจากการขูดรีดแรงงานที่ยากจนภายในประเทศในอัตราสูงขึ้น

สำนักมาร์คซิสต์ อธิบายว่ากลไกการทำงานของระบบทุนนิยม ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญที่มาจากการแข่งขันกอบโกยกำไรในระบบตลาด ทำให้เกิดสองเหตุการณ์ที่นำไปสู่วิกฤติคือ (1)แนวโน้มการลดลงของอัตรากำไร ที่มาจากการแข่งขันกันลงทุนในตลาดเสรี ซึ่งมีผลทำให้การลงทุนในเครื่องจักรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับการลงทุนในการจ้างงาน และในที่สุดนำไปสู่การชะลอการลงทุนใหม่ในภาคการผลิตหรือภาคบริการ (2)การผลิตล้นเกินในตลาดและการลงทุนล้นเกินในขณะที่ความต้องการแท้ของมนุษย์ยังมีอยู่

ในวิกฤตต้มยำกุ้ง การลดลงของอัตรากำไรในภาคอุตสาหกรรมส่งออกของไทย และการผลิตล้นเกินในตลาดโลก ทำให้มีการแสวงหากำไรจอมปลอมจากการปั่นหุ้นและการปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ จนเกิดปรากฏการณ์ฟองสบู่

แนวโน้มการลดลงของอัตรากำไรที่ก่อให้เกิดการย้ายการลงทุนไปสู่การปั่นหุ้นในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ จะเห็นจากงานวิจัยของ เจมส์ กลาสแมน เพราะตั้งแต่ปี ๒๕๓๓ อัตรากำไรในภาคอุตสาหกรรมไทยเริ่มลดลงจากหน่วยอัตราส่วน 0.53 เหลือ 0.37 ในปี ๒๕๓๙ และถ้าพิจารณาภาพรวมระยะยาวของเศรษฐกิจไทยจะพบว่าสัดส่วนมูลค่าผลผลิตต่อต้นทุนในประเทศไทยลดลงจาก 0.83 ในปี ๒๕๑๓ เหลือแค่ 0.65 ในปี ๒๕๓๙ ซึ่งสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของราคาการลงทุนในเครื่องจักร

รายงานเศรษฐกิจของบริษัทเอกชนในเครือธนาคารกสิกรไทยและรายงานของธนาคาร “ไอเอนจีแบริ่งส์” ก็สนับสนุนข้อเสนอว่ามีการผลิตล้นเกินและการลดลงของอัตรากำไรอย่างทั่วถึง เช่นในภาคน้ำมัน โทรคมนาคม เหล็ก และกระดาษเป็นต้น

เมื่อเราสำรวจเหตุผลของวิกฤติเศรษฐกิจไทยที่ถูกเสนอโดยสำนักแนวความคิดต่างๆ และมาเปรียบเทียบกับแนวมาร์คซิสต์ แทนที่ลัทธิการเมืองและเศรษฐกิจของมาร์คซ์จะหมดสมัย จะเห็นได้ว่าลัทธิของฝ่ายทุนนิยมต่างหากที่ไม่สามารถอธิบายโลกปัจจุบันและวิกฤติของทุนนิยมได้

ทางออกสำหรับกรรมาชีพไทยที่มุมมองมาร์คซิสต์เคยเสนอคือ ในระยะสั้นจะต้องร่วมต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่นการต่อสู้เพื่อยับยั้งการตกงาน การต่อสู้เพื่อยับยั้งการกดค่าแรง หรือการต่อสู้เพื่อยับยั้งการทำลายสวัสดิการ แต่ในระยะยาว ถ้าเราจะแก้ปัญหาที่มาจากระบบทุนนิยมเราต้องเริ่มการต่อสู้เพื่อนำระบบสังคมนิยมเข้ามาแทนทุนนิยม เราต้องเริ่มการต่อสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐมาเป็นของมวลชนกรรมาชีพ แทนที่จะปล่อยให้อยู่ในกำมือของนายทุนและนายทหารผู้เป็นคนส่วนน้อยของสังคม การต่อสู้เปลี่ยนแปลงสังคมทุกครั้งต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงเสมอ เราต้องรู้จักประเมินพลังแท้ของฝ่ายเรา และต้องเลือกเครื่องมือในการเปลี่ยนสังคม สำหรับนักลัทธิมาร์คซ์ เครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงสังคมคือชนชั้นกรรมาชีพ และพรรคสังคมนิยม ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจคือ เราจะทำอย่างไรให้ชนชั้นกรรมาชีพไทยเข้มแข็ง และเราจะจัดตั้งพรรคอย่างไร

นโยบายแก้ปัญหาจากวิกฤติต้มยำกุ้งของรัฐบาลไทยรักไทย หลังชัยชนะของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งปี ๒๕๔๔ รัฐบาลทักษิณได้ใช้แนวเศรษฐกิจผสมเพื่อแก้ปัญหา คือในระดับที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกมีการใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด แต่รัฐนำการลงทุนภายในเพื่อพัฒนาเทคโนโลจีและสาธารณูปโภคให้ทันสมัย รวมถึงการสร้างระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า เพื่อเพิ่มความสามารถของเศรษฐกิจไทยในการแข่งขัน และเพื่อพัฒนาระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ในขณะเดียวกันในระดับชุมชนและหมู่บ้าน มีการลงทุนโดยรัฐในการสร้างงาน นี่คือสิ่งที่ไทยรักไทยเรียกว่า “นโยบายเศรษฐกิจคู่ขนาน” คือผสมแนวเสรีนิยมกับแนว “เคนส์รากหญ้า”

นโยบายดังกล่าวมีส่วนในการช่วยฟื้นเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน มันเป็นมาตรการเฉพาะหน้า แต่มันไม่ใช่การแก้ปัญหาเรื้อรังของระบบทุนนิยมทั่วโลกที่มีปัญหาวิกฤติเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามผลของการใช้นโยบายดังกล่าวสร้างคะแนนนิยมให้กับทักษิณและพรรคไทยรักไทยจนส่วนอื่นๆ ของชนชั้นปกครองไทย โดยเฉพาะฝ่ายอนุรักษ์นิยม และคนชั้นกลางส่วนใหญ่ เริ่มไม่พอใจกับการเมืองประชาธิปไตยแบบใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับเสียงของเกษตรกรและกรรมาชีพ ผ่านการพัฒนาระดับความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ และในที่สุดก็นำไปสู่วิกฤติการเมืองและการปกครองภายใต้เผด็จการทหาร

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2t6CapR  เรื่องวิกฤติเศรษฐกิจต้อมยำกุ้ง (บทที่ 12)  http://bit.ly/2v6ndWf   เรื่องวิกฤติทุนนิยมตามแนวคิดมาร์คซิสต์ และ http://bit.ly/2tWNJ3V เรื่องแนวเสรีนิยม

ลักษณะสำคัญของระบบศักดินาไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

คำว่า “การเมือง” ในภาษาไทยชี้ให้เห็นว่าระบบรัฐของไทยในอดีตไม่ใช่ระบบที่ใช้หน่วยการปกครองของ “ประเทศ” แต่ใช้หน่วยการปกครองในรูปแบบเมืองแทน ฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่า “ประเทศไทย” ไม่เคยมีก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕  มีแต่เมือง สุโขทัย เชียงใหม่ อยุธยา นครศรีธรรมราช หรือ กรุงเทพฯ และ “พระเจ้าแผ่นดินไทย” ก็ไม่มีก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ อีกด้วย   มีแต่พระเจ้าแผ่นดินของ อยุธยา หรือ กรุงเทพฯ สรุปได้ว่าสุโขทัยไม่เคยเป็นเมืองหลวงของ “ประเทศไทย”

หลายคนเข้าใจผิดว่าการปกครองในยุคศักดินาไทยเป็นการปกครองที่มีพระเจ้าแผ่นดินที่มีอำนาจเข้มแข็ง แต่ที่จริงแล้วระบบศักดินามีองค์ประกอบสามองค์ประกอบที่ทำให้พระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจจำกัดคือ

(๑) ระบบการปกครองแบบศักดินาไม่มีข้าราชการ เพราะระบบข้าราชการไทยตั้งขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๕  ฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินในยุคศักดินาต้องอาศัยการกระจายอำนาจในการปกครองไปสู่ขุนนาง มูลนาย และเจ้าหัวเมือง

(๒) การที่ระบบการผลิตอาศัยการเกณฑ์กำลังงานโดยมูลนายและขุนนาง มีส่วนทำให้พระเจ้าแผ่นดินต้องแบ่งอำนาจทางเศรษฐกิจการผลิตกับมูลนายและขุนนาง

(๓) อำนาจของเมืองเมืองหนึ่ง เช่นอยุธยา หรือ กรุงเทพฯ ในระบบศักดินา จะลดลงกับความห่างจากตัวเมือง เพราะเมืองห่างๆ ไม่จำเป็นต้องกลัวการส่งกองกำลังมาปราบปรามเท่ากับเมืองที่อยู่ใกล้ศูนย์กลาง   นอกจากนี้เมืองห่างๆ หรือ “หัวเมือง”ของเมืองอำนาจศูนย์กลางเมืองหนึ่ง อาจเป็น “หัวเมือง”ของเมืองอำนาจศูนย์กลางอีกเมืองหนึ่งพร้อมๆ กันได้ เช่นเวียงจันทน์อาจขึ้นกับกรุงเทพฯและฮานอยพร้อมๆ กันก็ได้ ระบบการแผ่อำนาจแบบวงกลมซ้อนๆ นี้ มีนักวิชาการเคยเรียกว่าระบบ Mandala หรือ Galactic Polity – ระบบดวงดาวที่หมุนรอบดวงอาทิตย์

ฉะนั้นระบบการปกครองแบบศักดินาไม่เหมือนกับการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีพระเจ้าแผ่นดินครองอำนาจอย่างรวมศูนย์

ในอดีตและปัจจุบันพวกฝ่ายซ้ายไทยส่วนใหญ่คิดว่าระบบการผลิตแบบศักดินาอาศัยการถือครองที่ดินโดยขุนนางและพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อเป็นเครื่องมือหลักในการบังคับให้ประชาชนส่วนใหญ่ทำงานส่งผลผลิตให้ผู้ปกครอง ซึ่งเหมือนกับระบบฟิวเดิลในยุโรป  แต่แท้ที่จริงแล้วระบบศักดินาไทยไม่มีการคำนึงถึงการถือครองที่ดินเลย มีแต่การเกณฑ์แรงงานบังคับในลักษณะทาสและไพร่แทน

ทำไมถึงไม่มีการถือครองที่ดินของกษัตริย์หรือขุนนางในระบบศักดินาไทย

๑) ไม่มีการกำหนดเขตที่ดินและชื่อขุนนางผู้ครอบครองเขตที่ดินเหล่านั้นในรูปแบบใดๆเลย เช่น เอกสาร แผนที่ เสากำหนดเขต หรือชื่อขุนนางที่ตรงกับชื่อท้องถิ่นของเขา

๒) ที่ดินในดินแดนพื้นที่ทวีปเอเซียตะวันออกเฉียงใต้มีมากมาย มากกว่าความต้องการของประชากรซึ่งสามารถถางป่าได้ตลอด  ฉะนั้นสิ่งที่ขาดแคลนไม่ใช่ที่ดิน แต่คือกำลังแรงงาน และเมื่อมีการทำสงครามจะไม่มีการยึดที่ดินแต่จะกวาดต้อนเชลยศึกมาเป็นกำลังแรงงานบังคับแทน

๓) การขาดกำลังแรงงานเป็นปัญหาเรื่อยมาจนถึงช่วงการพัฒนาระบบทุนนิยม ฉะนั้นจึงมีการนำคนงานจีนเข้ามาทำงานรับจ้างเป็นจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหานี้ และรูปแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย เกิดขึ้นในเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ พม่าด้วย (ในกรณีพม่าและมาเลเซียจะใช้คนงานอินเดียด้วย)

๔) ระบบมูลนายเป็นระบบเกณฑ์แรงงาน มีการสักไพร่บนร่างกายเพื่อระบุว่าไพร่นี้เป็นแรงงานของใคร ถ้าการครองที่ดินเป็นวิธีการควบคุมการผลิต จะรู้ว่าไพร่ไหนเป็นของใครจากพื้นที่ที่ดินที่เขาอาศัยอยู่

๕) กฏหมายเกี่ยวกับการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่เคยมีในสมัยศักดินา ฉะนั้นรัชกาลที่๕ จึงต้องออกกฏหมายนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เมื่อยกเลิกระบบไพร่และระบบทาส นอกจากนี้การที่พระเจ้าแผ่นดินประกาศว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดในยุคศักดินา ไม่มีความหมายมากนัก เพราะไม่สามารถใช้การครอบครองที่ดินเพื่อสร้างผลประโยชน์ได้ เช่นขายให้คนอื่น หรือกู้เงินโดยเอาที่ดินเป็นหลักประกัน และพระเจ้าแผ่นดินไม่สามารถไล่ไพร่ที่ไม่ทำตามคำสั่งออกจากที่ดินของตนเองได้ เพราะที่ดินอื่นไม่มี  ฉะนั้นเราต้องถือว่าไพร่หรือชาวนาเป็น “เจ้าของ” ที่ดินที่ตนเองใช้ในทางปฏิบัติ ถึงแม้ว่าความเป็น “เจ้าของ” ไม่มีความหมายเหมือนทุกวันนี้

๖) ยศศักดิ์ในระบบศักดินา ที่กำหนดขั้นของบุคคลในสังคมตามการถือครองที่ดินน่าจะไม่มีความหมายที่เกี่ยวกับที่ดินจริง เพราะแม้แต่ขอทานและทาสก็มียศที่ดิน ๕ ไร่ตามยศศักดิ์ และคนที่มีที่ดิน ๕ ไร่ ไม่น่าจะเป็นขอทานหรือทาส

ระบบศักดินาไทย ทั้งในแง่ของระบบเศรษฐกิจ และระบบการปกครอง สิ้นสุดลงหลังการปฏิวัติทุนนิยมของรัชกาลที่ ๕

อ่านบทความเต็มที่ http://bit.ly/2ry7BvZ

การเปลี่ยนผ่านจากศักดินาสู่ทุนนิยมในไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

 การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จากยุคศักดินาสู่ยุคทุนนิยมในไทยและที่อื่น เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ใช้ความเร็วแตกต่างกัน บางครั้งจะเป็นการวิวัฒนาการที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะเวลาปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงค่อยๆ เกิดขึ้น แต่พอการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถึงจุดที่นำไปสู่วิกฤต ที่โครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองแก้ไขไม่ได้ ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นในรูปแบบการปฏิวัติ กระบวนการแบบนี้ นักมาร์คซิสต์เรียกว่า “ความขัดแย้งระหว่างโครงสร้างพื้นฐาน (Base) กับโครงสร้างส่วนบน(Super Structure)”

ท่ามกลางระบบศักดินา ที่ดำรงอยู่ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มหาอำนาจตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลผ่านการค้าขาย และผ่านการแข่งขันทางอำนาจกับผู้ปกครองเมืองต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจัยสำคัญอันนี้ทำให้ระบบทุนนิยมเริ่มแทรกซึมเข้ามาในไทย แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่าในยุคนั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่าประเทศไทย เพราะระบบศักดินาเป็นระบบเมือง ไม่ใช่ระบบประเทศพอระบบทุนนิยมโลกเข้ามาสัมผัสกับเศรษฐกิจไทย คนไทยสามกลุ่มสามารถพัฒนาตัวเองเป็นนายทุนได้อย่างรวดเร็ว  คนไทยสามกลุ่มนี้คือ กษัตริย์  พ่อค้าเชื้อสายจีน และ ข้าราชการ ในกรณีข้าราชการเกิดขึ้นหลัง ๒๔๗๕ ดังนั้นเราไม่ควรมองว่าสังคมไทยล้าหลังถึงขนาดที่พัฒนาเป็นระบบทุนนิยมไม่ได้

อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เสนอข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์และวรรณคดี ที่ชี้ให้เห็นว่าในต้นยุครัตนโกสินทร์ อิทธิพลของระบบการผลิตแบบทุนนิยมได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญยิ่งคือมีแนวโน้มที่จะค้าขายสินค้าที่อาศัยแรงงานในกระบวนการผลิตมากขึ้น ในขณะที่รายได้จากการควบคุมระบบการค้าขายอย่างผูกขาดลดลง ฉะนั้นแนวโน้มที่สำคัญคือ มีการลงทุนในการจ้างแรงงานและการผลิตสินค้ามากขึ้น และการขูดรีดส่วนเกินจากการผลิตดังกล่าวก็เพิ่มขึ้น     เช่นในสมัยรัชกาลที่ ๒ ภาษีที่เก็บจากการผลิตเท่ากับ 40% ของรายได้ทั้งหมดของรัฐ

หลังจากที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ในสมัยรัชกาลที่๔ เซ็นสัญญาการค้าเสรีกับอังกฤษที่เรียกว่า “สัญญาเบาริ่ง” ในปีพ.ศ. ๒๓๙๘  ระบบทุนนิยมโลกเริ่มที่จะมีอิทธิพลเหนือเศรษฐกิจไทยมากขึ้นทุกที  ระบบการค้าเสรีสร้างทั้งปัญหาและโอกาสกับกษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ปกครอง

“ปัญหา” คือรายได้ที่เคยได้จากการควบคุมการค้าอย่างผูกขาดย่อมหมดไป  แต่ในขณะเดียวกันการเชื่อมเศรษฐกิจไทยกับตลาดโลกให้ใกล้ชิดมากขึ้น มีผลในการ “สร้างโอกาส”มหาศาลสำหรับผู้ปกครอง ที่สามารถลงทุนในการผลิตข้าวเพื่อขายในตลาดโลก  จะเห็นได้ว่าระหว่างช่วงพ.ศ. ๒๔๑๒/๒๔๑๗ และช่วงพ.ศ. ๒๔๑๘/๒๔๒๒ การผลิตข้าวเพื่อส่งออกไปขายในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 93% ในสภาพเช่นนี้ระบบศักดินาไทยที่อาศัยการเกณฑ์แรงงานในระบบการเมืองที่กระจายอำนาจ กลายเป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ดังนี้คือ

(๑) ถ้าจะมีการลงทุนในการผลิตข้าวเพื่อขายในตลาดโลก จะต้องใช้กำลังแรงงานในการขุดคลองชลประทานและการปลูกข้าวมากขึ้น และแรงงานนั้นจะต้องมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม แรงงานเกณฑ์ที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเครื่องจูงใจ มักจะไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน และมีจำนวนไม่พอ จะเห็นได้ว่าถ้าจะแก้ปัญหานี้ได้ ผู้ปกครองไทยต้องเปลี่ยนระบบแรงงานจากแรงงานบังคับไปเป็นแรงงานรับจ้าง และต้องนำแรงงานรับจ้างเสริมเข้ามาจากประเทศจีนอีกด้วย นอกจากนั้นชนชั้นปกครองเริ่มใช้ระบบสัญญาเช่าที่ดิน และการแจกกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบทุนนิยม เพื่อกระตุ้นให้เกิดเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตเองเพื่อส่งให้ตลาดทุนนิยม

ที่รังสิตมีระบบคลองชลประทานที่ตัดเป็นระบบอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างชัดเจน คลองชลประทานที่ขุดขึ้นที่รังสิต ขุดโดยแรงงานรับจ้าง การลงทุนในการสร้างที่นาเหล่านี้เป็นการลงทุนโดยบริษัทหุ้นส่วนในระบบทุนนิยมเพื่อการผลิตส่งออก ไม่ใช่การผลิตแบบพึ่งตนเองแต่อย่างใด ผู้ที่ลงทุนคือญาติใกล้ชิดของกษัตริย์และนายทุนต่างชาติ

(๒) เนื่องจากมหาอำนาจทุนนิยมตะวันตกกำลังยึดดินแดนรอบๆ เขตอิทธิพลของเมืองกรุงเทพฯ กษัตริย์กรุงเทพฯ จึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดเขตแดนที่เรียกว่า “ประเทศไทย” ขึ้นมาเป็นครั้งแรก และจำต้องหาทางสถาปนาระบบการปกครองใหม่ในรูปแบบรวมศูนย์ที่ไม่พึ่งการแบ่งอำนาจกับมูลนาย ขุนนาง และเจ้าหัวเมือง  และที่สำคัญคือการปกครองในรูปแบบใหม่จะต้องเอื้ออำนวยให้ระบบการผลิตทุนนิยมพัฒนาได้ดี ฉะนั้นจะต้องมีระบบเงินตรา ระบบธนาคาร ภาษากลาง ระบบข้าราชการ ตำรวจ และกองทัพแห่งชาติที่เกณฑ์โดยรัฐรวมศูนย์  และจะต้องมีกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์ที่ดินและกิจการทางธุรกิจทั้งหลาย  สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในยุคการปกครองของรัชกาลที่ ๕

การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยดังกล่าวต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับการปฏิวัติสังคม และความขัดแย้งที่นำไปสู่การปฏิวัติสังคมไทยในครั้งนั้นมาจากสามแหล่ง คือ (๑)การขยายตัวของระบบทุนนิยมโลกที่เข้ามาเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมในดินแดนไทย (๒)ความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างกษัตริย์กับเจ้าขุนมูลนาย และความขัดแย้งกับคู่แข่งของรัชกาลที่๕ในราชวงศ์ (ดูงานของ อ.กุลลดา เกษบุญชู-มี๊ด)  และ (๓)ความไม่พอใจของไพร่ที่จะทำงานภายใต้ระบบแรงงานบังคับ

ถ้ารัฐใหม่ที่รัชกาลที่ ๕ สร้างขึ้น ไม่ใช่รัฐในระบบศักดินา รัฐนี้เป็นรัฐของระบบการผลิตแบบไหน? ในอนาคตผมจะอธิบายว่าทำไมรัฐนี้เป็นรัฐทุนนิยมรัฐแรกของไทย และทำไมระบบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ต้องถือว่าเป็นการปกครองในระบบทุนนิยมชนิดหนึ่ง

อ่านบทความเต็มที่ http://bit.ly/2ry7BvZ

 

๒๔๗๕ การปฏิวัติที่ยังไม่สำเร็จ? สู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์? เก็บตกจากข้อถกเถียงที่เยอรมัน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในวันที่ ๒๔ มิถุนายนที่ผ่านมานี้ มีการจัดเสวนาที่เมืองโคโลน ประเทศเยอรมัน ในหัวข้อ “๒๔๗๕ การปฏิวัติที่ยังไม่สำเร็จ? สู่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์?” ….จึงมาเล่าสู่กันฟัง และในตอนท้ายจะกล่าวถึงข้อถกเถียงกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ แอนดรู  แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์

ผมเปิดประเด็นด้วยการเล่าว่า อารัมภบทของรัฐธรรมนูญมีชัย โกหกว่ารัชกาลที่ ๗ “ยกประชาธิปไตยให้ประชาชน” ในความเป็นจริงกษัตริย์คนนี้ต้องถูกโค่นด้วยการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และเหตุการณ์นี้ไม่ใช่ “รัฐประหาร” อย่างที่พวกอนุรักษ์นิยมอ้าง แต่เป็นการปฏิวัติสังคมที่ได้รับการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมจากประชาชนไทยจำนวนมาก

ถ้าการปฏิวัติ ๒๔๗๕ “ยังไม่สำเร็จ” มันไม่สำเร็จในแง่ของการสร้างประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ไม่ใช่เพราะไม่สามารถล้มระบบศักดินาหรือระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบบศักดินาถูกทำลายโดยรัชกาลที่๕ และระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกล้มในการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และหลังจากกบฏบวรเดชในปี ๒๔๗๖ ซึ่งถูกปราบโดยคณะราษฎร ฝ่ายเจ้าเลิกฝันถึงการคืนสู่อำนาจ

กษัตริย์รัชกาลที่ ๙ ร่ำรวย และเสพสุขบนหลังประชาชนก็จริง มีคนเชิดชูและหมอบคลานเข้าหาก็จริง แต่กษัตริย์คนนี้ไร้อำนาจโดยสิ้นเชิง และถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยทหารและชนชั้นนำอื่นๆ เช่นนักการเมืองนายทุน ฯลฯ การเชิดชูกษัตริย์แบบบ้าคลั่งที่เกิดขึ้น กระทำไปเพื่อให้ความชอบธรรมกับการกระทำของทหารและชนชั้นนำคนอื่นเท่านั้น

รัชกาลที่ ๑๐ ยิ่งอ่อนแอกว่าพ่อของเขา และไม่สนใจเรื่องการเมืองและสังคมไทยเลย วชิราลงกรณ์ ต้องการเสพสุขที่เยอรมันอย่างเดียว ที่ขอแก้รัฐธรรมนูญก็เพื่อควบคุมเรื่องส่วนตัวในวังเท่านั้น

ถ้าการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ยังไม่สำเร็จในแง่ของการสร้างประชาธิปไตย สาเหตุสำคัญมาจากการที่อาจารย์ปรีดี ผู้ก่อตั้งคณะราษฏร์ ไม่เข้าใจความสำคัญของการสร้างพรรคการเมืองของมวลชน และไปพึ่งอำนาจทหารมากเกินไปในการปฏิวัติ นี่คือที่มาของอำนาจทหารในระบบการเมืองไทย ในภายหลังเมื่ออาจารย์ปรีดีมาทบทวนความผิดพลาด เขาเคยเขียนว่าในยุคที่เขามีอำนาจ เขาไม่ค่อยเข้าใจการเมืองอย่างเพียงพอ แต่เมื่อเขาเริ่มเข้าใจมากขึ้นเขาเสียอำนาจไปแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการปฏิวัติ ๒๔๗๕ ไม่ใช่การ “ชิงสุกก่อนห่าม” แต่อย่างใด ในยุคนั้นและยุคนี้ประชาชนไทยต้องการและพร้อมที่จะมีประชาธิปไตย

ผู้ที่ทำให้เป้าหมายการสร้างประชาธิปไตยหลัง ๒๔๗๕ ไม่ประสบผลสำเร็จ คือทหารเป็นหลัก และบ่อยครั้งทหารที่ก่อรัฐประหารได้รับการสนับสนุนจากนายทุนและพวกสลิ่มชนชั้นกลางอีกด้วย

ถ้าตอนนี้เราอยู่ในยุค “สู่อำนาจสมบูรณ์” มันไม่ใช่อำนาจสมบูรณ์ของกษัตริย์ แต่เป็นการสร้าง “อำนาจสมบูรณ์” ของทหารต่างหาก ซึ่งดูได้จากรัฐธรรมนูญทหาร และการใช้มาตรา 44 ในเรื่องการเมืองและสังคมแบบนี้ นายวชิราลงกรณ์ไม่เคยแสดงความเห็นหรือความสนใจแม้แต่นิดเดียว

อำนาจของทหารที่เผด็จการประยุทธ์ต้องการจะแช่แข็งและสืบทอดไปเรื่อยๆ เห็นได้จากรัฐธรรมนูญดังนี้

  1. มีการคงไว้บทบาทและยืดวาระการทำงานของคณะทหารเผด็จการ คสช. ออกไปหลังการเลือกตั้ง โดยให้มีส่วนสำคัญในการกำหนด “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ที่ผูกพันกับ “นโยบายรัฐ” ในหมวดที่ 6 “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” นี้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดและแช่แข็งนโยบายของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพื่อไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีเสรีภาพที่จะกำหนดนโยบายเองตามความต้องการของประชาชน นอกจากนี้มันเป็นการเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญจับผิด ถอดถอนนักการเมือง หรือ “วีโต้” นโยบายของรัฐบาลที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความเองว่า “ไม่ตรงกับยุทธศาสตร์แห่งชาติ”
  2. มาตรา 5 และ 272 ให้อำนาจกับพวกเผด็จการในการเลือกนายกที่ไม่ใช่สส.
  3. เผด็จการทหารมีอำนาจแต่งตั้งวุฒิสภาทั้ง200คน, กกต., และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งวุฒิสภาและศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนกกต.มีอำนาจในการสั่งเปลี่ยนนโยบายของพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับความคิดของทหารอนุรักษ์นิยม
  4. ระบบการเลือกตั้งและจัดจำนวนสส. ให้ประโยชน์กับพรรคขนาดกลางอย่างพรรคประชาธิปัตย์
  5. มีการห้ามไม่ให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน ที่พวกสลิ่มเรียกว่า “ประชานิยม”
  6. การแก้รัฐธรรมนูญฉบับทหารอันนี้ ถ้ายึดตามกติกาของผู้ร่าง เกือบจะไม่มีโอกาสแก้ได้เลย แต่พวกทหารเผด็จการฉีกรัฐธรรมนูญตามอำเภอใจ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ที่ประชาชนมีส่วนในการร่างมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
  7. ถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ แล้วจะเห็นว่ามีการลดความสำคัญของสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  8. มีการทำลายมาตรฐานการบริการพลเมืองโดยรัฐ โดยเฉพาะในเรื่องสาธารณสุข พูดง่ายๆ มีการเสนอนโยบายที่ทำลายระบบบัตรทอง หรือที่เคยเรียกกันว่า “30 บาทรักษาทุกโรค”
  9. ในเรื่องการศึกษา มีการตัดสิทธิ์เรียนฟรีในระดับ ม.ปลาย

ดังนั้นประเทศของเรากำลังเดินถอยหลังไปสู่ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบภายใต้ตีนทหาร

เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร? ประวัติศาสตร์ไทยและต่างประเทศสอนให้เรารู้ว่าถ้าประชาชนจะปลดแอกตนเองจากเผด็จการ ต้องมีการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนที่รักประชาธิปไตยพร้อมกับการสร้างพรรคมวลชนของคนธรรมดา เช่นกรรมาชีพกับเกษตรกรรายย่อย ไม่มีผู้ใหญ่ที่ไหนที่จะยกสิทธิเสรีภาพให้เรา แต่ในขณะนี้แกนนำเสื้อแดงและทักษิณได้แช่แข็งขบวนการเสื้อแดงจนหมดสภาพไปแล้ว ดังนั้นเราต้องเริ่มต้นใหม่ในการสร้างขบวนการประชาธิปไตย

ประเด็นถกเถียงกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ แอนดรู  แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ ในงานเสวนานี้

เพื่อความยุติธรรมต่อ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ แอนดรู  แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ กรุณาไปค้นโดยตรงว่าเจ้าตัวทั้งสองมีความเห็นอย่างไรครับ…

  1. เรื่อง “อำนาจ” กษัตริย์ภูมิพล ผมเสนอมาตลอดว่ากษัตริย์ภูมิพลไม่มีอำนาจสั่งการอะไรและเป็นแค่เครื่องมือของทหาร ยิ่งกว่านั้นกษัตริย์ภูมิพลเป็นคนที่ไม่มีความกล้าที่จะพูดหรือเสนออะไรเอง มักคล้อยตามกระแสผู้มีอำนาจจริงเช่นทหารเสมอ [ดู http://bit.ly/2s0KHd4 ]ตรงนั้นหลายคนเริ่มเห็นด้วยมากขึ้น ส่วน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่าต้องมอง “อำนาจ” กษัตริย์ภูมิพลในลักษณะที่ไม่ใช่อำนาจสั่งการใคร และไม่ใช่อำนาจที่จับต้องได้ แต่เป็นอำนาจในลักษณะลัทธิความคิดที่ได้รับการยอมรับในสังคม แต่ผมมองว่าการพูดแบบนี้มันนามธรรมและเป็นการพูดลอยๆ พิสูจน์อะไรไม่ได้ จับต้องไม่ได้ และในที่สุดไม่มีความหมายเลย ผมนิยามว่าเป็นทฤษฏี “อำนาจแบบไสยศาสตร์” ต่างโดยสิ้นเชิงกับแนวคิดวิทยาศาสตร์ที่ติดดินและจับต้องได้ ผมมองว่าสมศักดิ์ เสนอความคิดแบบนี้เพราะไม่สามารถให้ตัวอย่างอำนาจกษัตริย์ภูมิพลเป็นรูปธรรม แต่ต้องการเชื่อต่อไปว่ามีอำนาจ สมศักดิ์มีจุดอ่อนในการปกป้องข้อเสนอของเขาเพราะนอกจากจะพิสูจน์อะไรเป็นรูปธรรมไม่ได้แล้ว ยังโจมตีผมแบบส่วนตัวว่า “ไม่เข้าใจสังคมไทย” ในทำนองที่ชวนคนมองว่าผมไม่ใช่คนไทยแท้ทำนองนั้น ซึ่งเป็นการโจมตีที่ไม่ตรงกับสภาพชีวิตผมที่เติบโตในไทยและมีพ่อเป็นคนไทย และมีลักษณะแบบเหยียดเชื้อชาติผมอีกด้วย มันไม่ใช่ข้อถกเถียงที่ใช้ปัญญาเลย

  1. สมศักดิ์เสนอว่าในสังคมไทยเริ่มมีความเห็นร่วมกันทั้งสังคมที่เชิดชูกษัตริย์ภูมิพล ตั้งแต่พฤษภา 35 และให้เหตุผลว่าคนเชื้อสายจีนในเมืองต้องการพิสูจน์ความเป็นไทยและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมร่วมกับคนไทย คนจีนจึง “ต้องการสิ่งที่จะยึดมั่นได้” และนี่คือที่มาของอำนาจกษัตริย์ ซึ่งถ้าจริงก็คงมีอำนาจแบบ “อำนาจแบบไสยศาสตร์” ลอยๆ ในเวลาแค่สิบกว่าปีเองก่อนป่วยและหมดสภาพ แต่ปัญหาของแนวคิด สมศักดิ์ นี้คือ เขามองแค่สังคมคนชั้นกลาง มองข้ามคนส่วนใหญ่ในสังคมที่เป็นกรรมาชีพไทย คนลาว คนล้านนา คนเขมร คนมาลายู ฯลฯ ซึ่งไม่ได้ต้องการพิสูจน์อะไรแบบนั้น พูดง่ายๆ คือสำหรับ สมศักดิ์ ชนชั้นกลาง ซึ่งผมมองว่าเป็นสลิ่มต้านประชาธิปไตย เป็นกลุ่มคนที่สำคัญที่สุด ยิ่งกว่านั้นการที่มีกระแสเชิดชูกษัตริย์หลังปี 35 นั้นมันเกี่ยวกับการที่ พคท. ล่มสลายไปและแนวคิดการเมืองพคท. และแนวคิดซ้ายอ่อนลงมากกว่าอะไรอื่น มันเป็นชัยชนะทางความคิดชั่วคราวในสงครามจุดยืนที่กรัมชี่เคยพูดถึงมากกว่า และมันเป็นความพยายามของชนชั้นปกครองที่จะทำลายแนวคิดซ้ายในยุคที่เปิดกว้างให้มีการเลือกตั้งและประชาธิปไตย

 

  1. สมศักดิ์เสนอมานานแล้วว่าเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงควรเลิกด่ากัน เพื่อสร้างฉันทามติร่วมที่ยอมรับกันได้เกี่ยวกับประชาธิปไตย เขาพูดเหมือนกับว่ามวลชนทั้งสองฝ่ายด่ากันเหมือนคนเชียร์ทีมฟุตบอลที่เป็นคู่แข่งกันเท่านั้น นี่เป็นมุมมองที่ไร้ประเด็นการเมืองโดยสิ้นเชิง เพราะความแตกแยกระหว่างเหลืองกับแดงมันมีพื้นฐานจากจุดยืนต่อนโยบายรัฐบาลทักษิณที่ช่วยยกระดับคนจนด้วยระบบสาธารณสุขถ้วนหน้า และการลงทุนเพื่อพัฒนาชีวิตคนชนบทและคนจนในเมือง โดยที่รัฐบาลสมัยนั้นมองว่าพลเมืองทุกคนควรมีหุ้นส่วนในการพัฒนาชาติ ไม่ใช่แค่คนรวยและคนชั้นกลาง ดังนั้นฉันทามติร่วมทางการเมืองคงไม่มีทางเกิดได้ และในทุกประเทศทั่วโลกก็มีความคิดที่ขัดแย้งกันเสมอในเรื่องท่าทีต่อความเหลื่อมล้ำและนโยบายเศรษฐกิจการเมือง ในเรื่องนี้ สมศักดิ์ ไม่ให้เกียรติมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวเสื้อแดงว่าคิดเองเป็นและไม่ใช่แค่ขี้ข้าทักษิณ และสมศักดิ์ไม่เคยมองว่าขบวนการมวลชนมีความสำคัญในการเปลี่ยนสังคม ในอดีตเขาเคยวิจารณ์ผมที่ลงไปทำงานกับกรรมาชีพไทยด้วย

  1. ในความเห็นผม ทั้ง สมศักดิ์ และ แอนดรู แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ หมกมุ่นกับนายวชิราลงกรณ์ โดยที่ แอนดรู มองว่า “ใครๆ ก็รู้ว่าสั่งถอนหมุดคณะราษฏร์” ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานอะไรเลย[ดู http://bit.ly/2oVf9Uu และ http://bit.ly/2quNSZx ] แอนดรู แสนอว่าคนไทยจำนวนมาก “ไม่เคยยอมรับการปฏิวัติ 2475” ซึ่งขัดกับหลักฐานประวัติศาสตร์ (กรุณาอ่านหนังสือของ ณัฐพล ใจจริง) และเขาอธิบายว่า “ความเป็นไทย” ทำให้คนไทยพร้อมจะหมอบคลาน ซึ่งไม่ตรงกับความจริงเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหลายๆ รอบที่คนไทยเข้าร่วม ในแง่หนึ่งมันดูถูกพลเมืองไทยจำนวนมาก  แต่นั้นคงไม่ใช่เจตนา ส่วนการที่ สมศักดิ์ หมกมุ่นกับ วชิราลงกรณ์ และภูมิพล นำไปสู่การมองแต่พวกเจ้าเพื่อความสนุก จนไม่มีความกระตือรือร้นที่จะเสนอแนวทางการล้มเผด็จการทหาร และมรดกเผด็จการอย่างเป็นรูปธรรมเลย และไม่สนใจการจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวเลย การมองแต่เรื่องเจ้าๆ ทำให้คนอัมพาต โดยเฉพาะเวลาเชื่อว่าเจ้ามีอำนาจ เพราะมองไม่ออกว่าจะล้มอย่างไร ต่างโดยสิ้นเชิงกับคนที่กำลังพยายามเคลื่อนไหวในไทยทุกวันนี้ เพื่อคัดค้านทหารในเรื่องปากท้องและเรื่องรูปธรรมหลายๆ เรื่อง ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายการสร้างกระแสล้มเผด็จการ

 

ทั้งหมดนี้เป็นการถกเถียงทางการเมืองระหว่างสามคนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นในประเทศไทย หวังว่าที่นำเสนอให้อ่านครั้งนี้จะช่วยชวนให้ท่านผู้อ่านคิดต่อและมีความเห็นของตนเอง