ปัญหาลัทธิสหภาพในขบวนการแรงงานไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานสากล แนว “ลัทธิสหภาพ” (Syndicalism) จะเน้นการเคลื่อนไหวผ่านองค์กรสหภาพแรงงานอย่างเดียว แนวนี้มีรูปแบบหลากหลายที่ซับซ้อน พวกที่มองว่าควรเคลื่อนไหวในเรื่องปากท้องอย่างเดียวและไม่กล่าวถึงการเมือง คือพวกลัทธิสหภาพฝ่ายขวา ซึ่งในไทยได้รับอิทธิพลพอสมควรจากการปกครองของเผด็จการทหาร ที่พยายามห้ามไม่ให้สหภาพแรงงานสนใจเรื่องการเมือง

แต่ในขณะเดียวกันมีลัทธิสหภาพฝ่ายซ้าย ซึ่งอาจเป็นฝ่ายซ้ายปฏิวัติด้วย พวกนี้มองว่าการเมืองกับเศรษฐกิจปากท้องแยกออกจากกันไม่ได้ และเขาอาจต้องการปฏิวัติล้มทุนนิยม อย่างไรก็ตามเขาจะต่างจากแนวมาร์คซิสต์ของ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ตรอดสกี้ โรซา ลัคแซมเบอร์ค และกรัมชี่ ตรงที่เขาไม่เห็นด้วยกับการสร้างพรรคปฏิวัติ ดังนั้นแทนที่จะสร้างพรรคเขามองว่าสหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมได้ นี่คือการเมืองของนักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานฝ่ายซ้ายในไทยส่วนใหญ่

ขบวนการแรงงานไทยขาดนักเคลื่อนไหวสังคมนิยมที่จะทำงานเป็นระบบ ในบางแห่งมีนักต่อสู้ที่อยากเห็นแรงงานสู้จริง แต่นักสู้แรงงานเหล่านี้เลือกใช้ “ลัทธิสหภาพฝ่ายซ้ายปฏิวัติ” เขาจะส่งเสริมการนัดหยุดงาน และการจัดตั้งกลุ่มย่านข้ามรั้วโรงงาน แต่จะไม่เห็นด้วยกับการนำ “การเมืองภาพกว้าง” ที่ “ไม่เกี่ยวกับแรงงาน” เข้าสู่ขบวนการแรงงาน เช่นเรื่องสิทธิสตรี สิทธิคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศ ปัญหาภาคใต้ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาในระบบการศึกษา หรือประเด็นการเมืองสากลปัจจุบัน หรือแม้แต่วิธีการตั้งพรรคการเมืองที่อิสระจากนายทุนเป็นต้น

ประสบการณ์จากขบวนการแรงงานและขบวนการสังคมนิยมทั่วโลกในอดีตและปัจจุบัน สอนให้เราเข้าใจปัญหาของการใช้สหภาพแรงงานเป็นองค์กรต่อสู้อย่างเดียว โดยไม่สร้างพรรค คือในประการแรกเขาไม่สามารถจัดตั้งกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนงาน เช่นนักศึกษา คนกลุ่มน้อย หรือคนที่อยากรณรงค์เรื่อง 112 เป็นต้น มันนำไปสู่การเน้นประเด็นการเมืองปากท้องอย่างเดียวด้วย ทั้งๆ ที่ในนามธรรมอาจกล่าวถึง “เลนิน” หรือโจมตีระบบทุนนิยม

ในประการที่สององค์กรสหภาพแรงงานต้องการรับทุกคนในสถานที่ทำงานเข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งแน่นอนรวมถึงคนที่มีความคิดฝ่ายขวาตามชนชั้นปกครองและคนที่ยังขี้เกียจคิดอีกด้วย และแกนนำของสหภาพจะต้องปกป้องความสามัคคีภายในสหภาพระดับหนึ่ง เพราะกลัวว่าจะแพ้การเลือกตั้งและหลุดจากตำแหน่งในสหภาพ จึงไม่สามารถถกเถียงแนวคิดอย่างตรงไปตรงมาได้ตลอดเวลา ไม่เหมือนพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่ทำงานภายในสหภาพ

ในประการที่สาม ถ้านักลัทธิสหภาพแบบนี้แพ้การเลือกตั้ง หรือถูกเลิกจ้างเขาอาจจะไม่มีองค์กรเหลือเลย ประเด็นนี้เป็นปัญหาด้วยเวลาคนงานไม่มีความมั่นใจในการต่อสู้ หรือไม่ยอมนัดหยุดงานในช่วงหนึ่ง ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางการเมืองลดลง ไม่เหมือนพรรคปฏิวัติที่ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องได้ โดยเฉพาะการจัดกลุ่มศึกษาและการรณรงค์ในเรื่องต่างๆ

ในประการสุดท้ายสหภาพแรงงานไม่สามารถยึดอำนาจรัฐได้ เพราะเป็นองค์กรที่สร้างขึ้นมาเพื่อต่อรองกับนายจ้างในระบบทุนนิยม ไม่สามารถประสานการทำงานระหว่างทุกซีกทุกส่วนของสังคมที่ก้าวหน้าเพื่อยึดอำนาจรัฐ

ปัญหาการพึ่งพรรคนายทุนของพวกลัทธิสหภาพ

ผลสำคัญอันหนึ่งของการใช้ลัทธิสหภาพแทนการสร้างพรรค คือการไปพึ่งพรรคนายทุนอย่างพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคไทยรักไทยในอดีต แต่แรงงานไม่ควรหลงเลือก “นายใหม่” แบบนี้

99569

ในแวดวงนักสหภาพแรงงานมักจะมีการตั้งคำถามกันว่า “จะอยู่อย่างเป็นทาส หรือจะร่วมกันต่อสู้?” การที่แรงงานไม่สร้างพรรคของกรรมาชีพเอง และคอยเดินตามก้นพรรคนายทุน ไม่ว่าจะเป็นพรรคนายทุนหน้าเก่าอย่างไทยรักไทย/เพื่อไทย หรือพรรคนายทุนหน้าใหม่อย่างอนาคตใหม่ แปลว่ากรรมาชีพจะอยู่อย่างเป็นทาสและเป็นแค่ “กบเลือกนาย” ตลอด  แรงงานต้องมีศักดิ์ศรีมากกว่านั้น

แนวสังคมนิยมมาร์คซิสต์กับขบวนการแรงงานไทย

นักสังคมนิยมควรเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน เราควรทำงานในสถานที่ทำงานต่างๆ และปลุกระดมจากภายในและภายนอก

พรรคกรรมาชีพ

ในทุกสหภาพแรงงานจะมีคนสามกลุ่มใหญ่ๆ ถ้าแบ่งตามแนวความคิด กลุ่มแรกเป็นพวกที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมและหมอบคลานต่อนายทุนกับผู้มีอำนาจ กลุ่มที่สองเป็นพวกที่มีความคิดกบฏอยากต่อสู้กับนายจ้างและความไม่เป็นธรรม อาจมีความคิดสังคมนิยม หรืออย่างน้อยต้องการประชาธิปไตยแท้ และกลุ่มที่สาม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ จะมีความคิดที่ผสมแนวจากทั้งสองขั้วหรืออาจยังไม่มีโอกาสที่จะคิดอะไรมาก หน้าที่ของนักสังคมนิยมคือการพยายามดึงกลุ่มตรงกลางที่ประกอบไปด้วยคนส่วนใหญ่ ให้เปลี่ยนความคิดมาเป็นฝ่ายซ้าย

ถ้าจะชักชวนและดึงกรรมาชีพส่วนใหญ่ให้เห็นด้วยกับฝ่ายซ้าย มันต้องมีการจัดตั้งในองค์กรทางการเมือง พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมนั้นเอง

0cf37-gramsci

นักปฏิวัติมาร์คซิสต์อิตาลี่ชื่อ อันโตนิโอ กรัมชี่ เคยอธิบายว่านักปฏิบัติการของพรรคสังคมนิยมไม่สามารถชักชวนให้คนงานมาเป็นฝ่ายซ้าย ถ้ามัวแต่ป้อนทฤษฏีและแนวคิดเหมือนการป้อนอาหารให้เด็ก มันต้องมีการเคลื่อนไหวคนถึงจะเริ่มตาสว่าง ดังนั้นนักสังคมนิยมจะต้องร่วมต่อสู้เคลื่อนไหว และพูดถึงทฤษฏีทางการเมืองที่ช่วยอธิยายแนวทางในการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรมเสมอ

พรรคกรรมาชีพที่ควรจะถูกสร้างขึ่นในไทยตอนนี้ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ในประการแรกมันควรจะเป็นพรรคสังคมนิยมที่ให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานในชนชั้นกรรมาชีพ แต่ในขณะเดียวกันบ่อยครั้งต้องอาศัยคนหนุ่มสาวที่เป็นนักศึกษาไฟแรง หรือ “เตรียมกรรมาชีพ” นั้นเอง เพราะคนหนุ่มสาวแบบนี้มีเวลาที่จะศึกษาและอ่าน และไม่เหนื่อยเกินไปจากการทำงานหนัก ควรมีปัญญาชนเข้าร่วมด้วย แต่ที่สำคัญคือต้องมีการสร้างกรรมาชีพให้นำตนเอง ที่คิดเอง เป็นปัญญาชนกรรมาชีพ และช่วยสอนคนอื่นได้ และสมาชิกส่วนใหญ่ควรจะเป็นคนทำงานที่เคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานของตนเอง

แน่นอนพรรคจะต้องอิสระจากอิทธิพลของชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นจะต้องอิสระจากนายทุนและมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของคนชั้นกรรมาชีพ พรรคจึงก็ต้องมีจุดยืนต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด นโยบายที่นำไปสู่การกดค่าแรง หรือแนวคิดชาตินิยมที่มองว่าเราต้องสามัคคีกับนายทุนและทหารเป็นต้น

ความชัดเจนของจุดยืนพรรค ไม่ได้มีไว้เพื่ออวดความบริสุทธิ์ แต่มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายความคิดและปลุกระดมในหมู่มวลชนภายนอกพรรค จุดยืนของพรรคต้องมาจากการถกเถียงกันอย่างเสรีภายในพรรค โดยไม่มีใครที่เป็นอภิสิทธิ์ชน แต่พอถกเถียงกันแล้ว เมื่อมีการลงมติ ลูกพรรคควรจะทำตามมติเสียงส่วนใหญ่

พรรคจะต้องผสมผสานสองยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันคือ ต้องร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องปากท้อง เข้ากับเรื่องการเมืองภาพกว้าง

[อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2MBfQzc ]

 

หุ่นยนต์จะทำให้เกิดระบบการผลิตที่ไร้คนงานหรือไม่?

ใจ อึ๊งภากรณ์

สมัยนี้มักมีบางคนที่เสนอว่าในยุคเทคโนโลจีหุ่นยนต์ การผลิตต่างๆ จะไม่อาศัยคนงานอีกต่อไป และกรรมาชีพจะถูกปลดออกจากงานจนสูญพันธุ์หรืออ่อนแอ คนอีกส่วนหนึ่งเสนอว่าในสภาพเช่นนี้มนุษย์ทุกคนจะไม่ต้องทนทุกข์ทรมานในการไปทำงานหรือการทำงานบ้าน

ข้อเสนอเหล่านี้ ซึ่งกลายป็นกระแสในสื่อมวลชน ล้วนแต่เป็นการพูดเกินเหตุ

AIMan

ในประการแรกมันเป็นการพูดเกินเหตุเพราะการนำเทคโนโลจีสมัยใหม่เข้ามาในระบบการผลิตของทุนนิยม เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ในขั้นตอนแรกมีการนำพลังงานน้ำ และไอน้ำเข้ามาในการทอผ้าในโรงงานอุตสาหกรรมที่เมืองแมนเชสเตอร์ ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลจีแบบนี้นำไปสู่การทำลายอาชีพของ “ช่างฝีมือ” ที่ทอผ้าด้วยมือที่บ้าน จนเกิดขบวนการทุบเครื่องจักร Luddites แต่ในที่สุดเทคโนโลจีใหม่ๆ ก็เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

02Insider-Rudy-1-facebookJumbo
ระบบ “เหล็กร้อน”

ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ ซึ่งเคยเป็นอาชีพแรกของผม ตอนที่ผมทำงานในปี 1978 การพิมพ์วารสารวิชาการยังใช้ระบบ “เหล็กร้อน” หรือ “ตัวพิมพ์แบบร้อน” คือคนจัดหน้าจะใช้เครื่องคล้ายๆ เครื่องพิมพ์ดีด ซึ่งเชื่อมกับระบบหลอมโลหะที่ผลิตแม่พิมพ์ แต่ในเวลาไม่กี่ปีมีการนำระบบคอมพิวเตอร์และการถ่ายรูปมาสร้างแม่พิมพ์สมัยใหม่ ในยุคนั้นคนงานในออฟฟิสส่วนใหญ่จะใช้เครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ประจำโต๊ะอย่างที่มีในปัจจุบัน

Open-plan-Phil-Whitehouse-Flickr-2017020604562217

ในอดีตการทำงานต่างๆ ในออฟฟิส โรงพยาบาล หรือสถานที่การศึกษามักจะใช้ปากกากับกระดาษ แต่ตอนนี้แม้แต่งานในโรงพยาบาลของพยาบาลมักจะเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ที่เข็นไปหาคนไข้

ประเด็นสำคัญคือ การวิวัฒนาการของเทคโนโลจีสมัยใหม่ ที่เปลี่ยนลักษณะการทำงาน และลดจำนวนคนงานหรือเพิ่มผลผลิตในหลายสาขา ตั้งแต่สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม มันต่างจากการนำหุ่นยนต์เข้ามาหรือไม่ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพที่เทียบเท่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมจริงหรือ? ผมว่าไม่ใช่ เพราะมันก็แค่ต่อยอดเทคโนโลจีคอมพิวเตอร์เพื่อยกระดับขึ้นอีกขั้นเท่านั้น

00chinaford6-superJumbo

ในประการที่สองนายทุนผลิตอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีคนงาน หุ่นยนต์ทำงานไม่ได้ถ้าไม่มีคนงานคอยคุม และคนงานต้องสร้างและซ่อมหุ่นยนต์เหล่านี้ แน่นอนมันเป็นโอกาสที่นายจ้างจะลดคนงานและผลิตสินค้าเร็วขึ้นในปริมาณสูงขึ้น แต่มันยังต้องมีการผลิตไฟฟ้า ขนส่งเครื่องหุ่นยนต์ไปสู่โรงงาน และก่อสร้างโรงงาน

นอกจากนี้งานในภาคบริการ เช่นโรงพยาบาล สถานที่การศึกษา ร้านค้า โรงแรม ร้านอาหาร หรือระบบไฟแนนส์กับธนาคาร ก็ยังต้องอาศัยมนุษย์

ที่สำคัญคือการลดจำนวนคนงานในสถานที่ต่างๆ เป็นสิ่งที่จะทำให้คนงานแต่ละคนมีอำนาจต่อรองกับนายจ้างสูงขึ้น เพราะถ้ามีการจัดตั้งโดยสหภาพแรงงาน คนงานแค่สิบคนอาจทำให้ระบบการผลิตยุติได้ผ่านการนัดหยุดงาน

นอกจากนี้ถ้ามีการลดปริมาณงานที่คนต้องทำลง อันเนื่องจากการใช้หุ่นยนต์ จนทุกคนในสังคมไม่ต้องทำงานเต็มเวลาอีกต่อไป กรรมาชีพและสหภาพแรงงานต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ตัดชั่วโมงการทำงานให้ทุกคนโดยไม่ตัดค่าจ้างเลย เพราะนายทุนไม่มีวันอาสาที่จะทำอย่างนี้ นายทุนจะพึงพอใจที่จะจ้างคนงานน้อยลงและให้ที่เหลือตกงานและยากจน ดังนั้นมันอาจเป็นเวทีใหม่สำหรับการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อแย่งผลผลิตและมูลค่าในสังคม และในกรณีไทยชัวโมงการทำงานสูงเกินไปอยู่แล้ว นอกจากนี้รายได้ของคนธรรมดาต่ำเกินไป มันต้องมีการต่อสู้ที่นำโดยพรรคสังคมนิยมเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์จากคนข้างบนที่เป็นคนส่วนน้อย 1%

ในประการที่สาม การตัดจำนวนคนงานและการลงทุนเพิ่มในหุ่นยนต์จะทำให้บริษัทแข่งขันได้ดีขึ้น แต่มันเป็นเรื่องชั่วคราว เพราะในระยะยาวเมื่อบริษัทคู่แข่งลงทุนในเทคโนโลจีแบบเดียวกัน มันจะมีผลทำให้อัตรากำไรลดลง เนื่องจากกำไรมาจากความแตกต่างระหว่างค่าจ้างกับราคาสินค้า กำไรมาจากการขูดรีดแรงงาน หุ่นยนต์สร้างกำไรไม่ได้ มันได้แต่ช่วยคนงานให้ทำงานในลักษณะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่ออัตรากำไรลดลงเศรษฐกิจก็จะเวียนเข้าสู่วิกฤตอีก เพราะนายทุนจะลังเลใจในการลงทุนและอาจสร้างภาวะฟองสบู่อีกด้วย เหมือนกับที่เกิดเป็นประจำในระบบทุนนิยมอยู่แล้ว

 

ทำไมเครื่องจักรสร้างกำไรไม่ได้

สำหรับคนที่ไม่เชื่อว่าเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์สร้างกำไรไม่ได้ จะขออธิบายเพิ่มโดยอาศัยทฤษฏีมูลค่าแรงงานของมาร์คซ์…. (อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2zozGbS )

มูลค่าทั้งปวงในโลกมาจากการทำงานของมนุษย์ในการแปรทรัพยากรธรรมชาติเป็นผลผลิตหรือสินค้า มูลค่าของสินค้าจะสะท้อนเวลาหรือปริมาณการทำงานของมนุษย์ในการผลิตสินค้าดังกล่าว นี่คือสิ่งที่ทำให้เราสามารถรู้ได้ว่าสินค้าอย่างปากกาแลกเปลี่ยนกับสินค้าอย่างหนังสือในปริมาณแค่ไหน

ราคาของเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ที่นายทุนลงทุนซื้อ จะสะท้อนปริมาณแรงงานที่ใช้ในการผลิตเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ และปริมาณแรงงานในอดีตที่ใช้ในการผลิตเครื่องมือที่ใช้ประกอบการผลิต เวลานายทุนใช้เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ในการผลิตสินค้า ราคาของเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์จะค่อยๆ ถูกระบายไปในราคาของสินค้าและผู้ซื้อสินค้าจะจ่าย เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ที่นายทุนซื้อ สร้างกำไรหรือทำให้นายทุนขาดทุนไม่ได้

แต่เครื่องจักรหรือหุ่นยนต์สามารถช่วยให้ลูกจ้างทำงานในลักษณะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสำคัญสำหรับการแข่งขันในระบบตลาด

กำไรมาจากข้อแตกต่างระหว่างราคาขายของสินค้ากับเงินค่าจ้างที่จ่ายให้ลูกจ้าง หลังหักค่าวัตถุดิบรวมถึงสัดส่วนของราคาเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ นี่คือ “มูลค่าส่วนเกิน” ที่น่ายทุนขูดรีดมาจากแรงงาน

ดังนั้นกำไรมาจากการ “ขูดรีด” การทำงานของลูกจ้าง ไม่ได้มาจากเครื่องจักรซึ่งทำอะไรเองไม่ได้ถ้าไม่มีมนุษย์ นี่คือสาเหตุที่นายจ้างและรัฐของนายทุนพยายามกีดกันการนัดหยุดงาน การนัดหยุดงานทำให้การผลิตยุติและนายทุนจะไม่ได้กำไร

ส่วนเรื่องปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่มาจากการลดลงของอัตรากำไรเนื่องจากการลงทุนในเครื่องจักรที่สูงขึ้น เชิญอ่านที่นี่ https://bit.ly/2v6ndWf

 

สรุปแล้ว ในยุคเทคโนโลจีหุ่นยนต์ การผลิตต่างๆ จะไม่นำไปสู่สภาพที่ไร้คนงาน และการสูญพันธุ์หรือความอ่อนแอของกรรมาชีพ อย่างไรก็ตามสหภาพแรงงานควรจะต่อสู้กับนายทุน เพื่อให้ผลของเทคโนโลจีใหม่ ที่ลดจำนวนคนงาน มีผลดีกับประชาชนในการลดชั่วโมงการทำงานอย่างถ้วนหน้าพร้อมกับการรักษารายได้ที่ดี

สภาพกรรมาชีพในสหรัฐ

ใจ อึ๊งภากรณ์

กรรมาชีพในสหรัฐอเมริกาไม่ได้สูญพันธ์หรือไร้อำนาจต่อรองอย่างที่นักวิชาการและสื่อกระแสหลักเสนอ แต่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของระบบทุนนิยม ที่มีมาตั้งแต่กำเนิดของระบบนี้ รูปแบบและสภาพการทำงานได้เปลี่ยนไป

ในสหรัฐอเมริกากรรมาชีพทั้งหมดนับเป็นสัดส่วน 63% ของประชากร โดยที่ชนชั้นกลางมีประมาณ 36% และนายทุนใหญ่ 1%

โดยทั่วไปสถานที่ทำงานใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเกิดจากการที่กลุ่มทุนในอุตสาหกรรมประเภทหนึ่งรวมกันเป็นบริษัทที่โตขึ้น สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่มีการนำระบบรับเหมาช่วงเข้ามาสำหรับหลายกิจกรรมที่เชื่อมกับการผลิต เพราะระบบรับเหมาช่วงทำให้เกิดบริษัทยักษ์ใหญ่เฉพาะทางอีกด้วย

ในโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนคนงานลดลง แต่สาเหตุหลักไม่ใช่เพราะกลุ่มทุนย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่มีค่าจ้างต่ำอย่างที่ประธานาธิบดีทรัมป์และคนอื่นชอบอ้าง สาเหตุหลักมาจากการที่นายทุนผลักดันการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งทำให้ลดคนงานแต่เพิ่มผลผลิต ซึ่งมีผลทำให้การขูดรีดแรงงานหนักขึ้น สภาพการทำงานแย่ลง และกำไรของนายทุนเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันความหนาแน่นของทุนที่ใช้ลงทุนในสถานที่ทำงานแต่ละแห่งจะเพิ่มขึ้น

us-auto-workers-on-line

วิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มอัตราการขูดรีดมีหลายวิธี แต่ที่สำคัญคือการผลิตรูปแบบใหม่ที่ตัดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองออก ผ่านระบบที่เรียกว่าการผลิต “ลีน” (Lean Production) เช่นการเปลี่ยนกะทำงานในบริษัทประกอบรถยนต์ “จีเอ็ม” ที่เปลี่ยนกะทำงานจากวันละ 8 ชม. 5 วันต่อสัปดาห์ (จันทร์ถึงศุกร์) ไปเป็นการทำงานวันละ 10 ชม. 4 วันต่อสัปดาห์ โดยนับวันเสาร์-อาทิตย์เป็นวันธรรมดาและไม่จ่ายค่าโอที

การเปลี่ยนกะทำงานแบบนี้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มกำไรให้นายทุน และมีการปรับเปลี่ยนกะทำงานในภาคบริการเช่นในโรงพยาบาลอีกด้วย

พร้อมกันนั้นจะมีระบบสอดแนมตรวจสอบการทำงานของคนงานทุกคน โดยใช้เทคโนโลจี “ไอที” สมัยใหม่ ซึ่งหมายความว่าคนงานจะพักผ่อนลำบากและถูกติดตามตลอดเวลา ซึ่งวิธีการนี้ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ระบบการขนส่ง และแม้แต่ในโรงพยาบาล

Nurses

ในกรณีโรงพยาบาล เวลาพยาบาลใช้คอมพิวเตอร์บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับคนไข้ หัวหน้างานสามารถดูว่าดูแลคนไข้กี่คนในระยะเวลาเท่าไร หรือสำหรับคนทำงานแอดมินในโรงพยาบาล หัวหน้างานสามารถตรวจสอบว่ารับโทรศัพท์บ่อยแค่ไหนหรือทำงานอื่นเร็วแค่ไหน ในกรณีคนทำงานในโกดัง จะมีระบบตรวจสอบว่าเคลื่อนย้ายสินค้ากี่ชิ้นในเวลาเท่าไร

การเปลี่ยนแปลงของสภาพการทำงานแบบนี้ทำให้คุณภาพชีวิตของกรรมาชีพแย่ลงและเพิ่มความเครียด

อีกวิธีที่นายทุนใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตคือระบบ “ทันเวลาพอดี” (Just In Time) คือในโรงงานต่างๆ จะลดต้นทุนโดยที่ไม่ต้องลงทุนเก็บชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตนานเกินไป ชิ้นส่วนจะถูกส่งมาให้ทันการผลิตในช่วงสั้นๆ และในโกดังที่ป้อนการผลิตในโรงงานต่างๆ หรือป้อนห้างร้าน จะมีระบบ “เข้าออกในวันเดียวกัน” (Cross-Docking) คือรถบรรทุกจะส่งของให้โกดัง และโกดังจะส่งต่อสู่เป้าหมายปลายทางในวันเดียวกัน

ระบบนี้มีผลทำให้กรรมาชีพมีพลังต่อรองสูงขึ้น เพราะถ้าส่วนหนึ่งนัดหยุดงาน ระบบการผลิต หรือการค้าขายจะหยุดทันทีเพราะไม่มีชิ้นส่วนหรือสินค้าสำรอง มันทำให้เราเห็นว่าในยุคนี้มี “สายประกอบการ” ทั้งภายในสถานประกอบการ และภายนอกที่เชื่อมกับระบบโกดังและการขนส่งอีกด้วย นอกจากนี้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีคนงานน้อยลง คนงานแต่ละคนมีความสำคัญและอำนาจต่อรองสูงขึ้น

ภาคอุตสาหกรรมแยกไม่ออกจากภาคบริการ เพราะพึ่งพาซึ่งกันและกัน ในขณะที่คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมลดลง คนงานในภาค “โลจิสติก” (logistics) เพิ่มขึ้น เช่นคนงานในโกดัง และคนงานขนส่งสินค้า คาดว่าทั่วประเทศคนงานในภาคนี้มีถึง 4 ล้านคน

workers-compensation-logistics-warehouse

ในชานเมืองใหญ่ๆ เช่นเมือง Chicago, Los Angeles หรือ New York มี “กลุ่มโลจิสติก” ขนาดใหญ่ที่เชื่อมกับโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทขายของทางอินเตอร์เน็ด และห้างร้านขนาดใหญ่ และที่เมือง Chicago กลุ่มโลจิสติกมีการจ้างคนงานสองแสนคนในโกดัง ตัวเลขนี้ไม่รวมคนที่ขับรถขนส่งสินค้า

xpo_equipment_on-road-city1

นอกจากโลจิสติกแล้ว ภาคบริการประกอบไปด้วยคนทำงานในสถานการศึกษา ธนาคารกับไฟแนนส์ การขนส่งมวลชน และโรงพยาบาล คาดว่าลูกจ้างในโรงพยาบาลมีถึง 4.4 ล้านคน และที่สำคัญคือภาคบริการนี้ไม่สามารถย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศอื่นได้เนื่องจากลักษณะงานบวกกับความเข้มข้นของการลงทุน

e5c7613e79b239ed68390596044f9745

ลักษณะของงานในภาคบริการ มักจะเป็นงานที่จ่ายค่าจ้างต่ำและโอกาสที่จะเลื่อนขั้นสำหรับลูกจ้างจะมีน้อย นอกจากนี้มีการใช้คนงานในลักษณะยืดหยุ่น คือส่วนหนึ่งไม่ได้มีชั่วโมงการทำงานที่เต็มเวลาหรือมั่นคง ซึ่งบ่อยครั้งคนงานจะเป็นคนอายุน้อยที่พึ่งจบการศึกษา หรืออาจเป็นสตรีที่ต้องการงานไม่เต็มเวลาเพื่อเลี้ยงลูก แต่ทั้งๆ ที่มีการประโคมข่าวว่า “ในยุคนี้งานประจำกำลังหายไปหมด” ตัวเลขจริงชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนการทำงานแบบที่ไร้ความมั่นคง (Precarious Work) ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเท่าไร คือคงอยู่ที่ 15% ของกำลังงานทั้งหมดในช่วง10ปีระหว่าง1995-2005 แต่จำนวนคนงานทั้งหมดเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้คนงานที่ไร้ความมั่นคง และคนงานที่มีงานประจำเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กัน

ในภาพรวมมันไม่ได้มีส่วนหนึ่งของประชาชนที่ขาดความมั่นคงตลอดไป แต่คนงานทุกคนอาจมีประสบการณ์ของการทำงานที่ขาดความมั่นคงในช่วงหนึ่งของชีวิต และเนื่องจากสหรัฐไม่มีรัฐสวัสดิการ ประชาชนสูงอายุหลังเกษีณ เป็นผู้ที่ขาดความมั่นคงมากพอสมควร

38591-full

ความเหลื่อมล้ำในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 1980 คือคน 10% ที่รวยที่สุดเพิ่มส่วนแบ่งทรัพย์สินจาก 30% ในปี1970 เป็น 50% ในปี2005 ความเหลื่อมล้ำนี้สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงาน คือถ้าวัดสัดส่วน “กำไรต่อค่าจ้าง” จะเห็นว่าเพิ่มจาก 21 ในปี 1975 เป็น 36 ในปี 2011 ตัวเลขนี้ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราการขูดรีดส่วนเกินจากกรรมาชีพโดยนายทุน

6.6.16portsphoto

สำหรับโอกาสที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานและส่งเสริมการต่อสู้ทางชนชั้น การมีสถานที่ทำงานที่ใหญ่ขึ้น และมีการลงทุนสูงขึ้น และลักษณะของระบบโลจิสติก เป็นโอกาสทอง เพราะทำให้ก่อตั้งสหภาพแรงงานง่ายขึ้นและคนงานมีอำนาจต่อรองสูงขึ้น แต่เงื่อนไขทางวัตถุแบบนี้ไม่พอที่จะทำให้เพิ่มการต่อสู้ทางชนชั้นได้ สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กันคืองานการจัดตั้งภายในสหภาพแรงงานในระดับรากหญ้า พร้อมกับการจัดตั้งทางการเมืองที่อิสระจากพรรคเดโมแครต ในอดีตผู้นำแรงงานระดับสูงไม่ยอมนำการต่อสู้และมัวแต่ไปตีสนิทกับนักการเมืองพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของนายทุนอย่างชัดเจน และถ้าเราเข้าใจว่า ทรัมป์ ไม่ได้ชนะเพราะได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ของกรรมาชีพ แต่ชนะเพราะกรรมาชีพจำนวนมากไม่ยอมออกมาลงคะแนนเสียงเลยในวันเลือกตั้ง เพราะเบื่อหน่ายกับสองพรรคใหญ่และสภาพความเหลื่อมล้ำในสังคม เราจะเห็นว่าในยุคนี้นักเคลื่อนไหวมีโอกาสที่จะก่อตั้งพรรคสังคมนิยมหรือพรรคแรงงานเพื่อจัดตั้งคนงานในสถานที่ทำงานให้ออกมาต่อสู้

[ข้อมูลส่วนใหญ่ในบทความนี้มาจากหนังสือ “On New Terrain. How Capital is Reshaping the Battleground of Class War. โดย Kim Moody – Haymarket Books, Chicago 2017. ]

frontcover-f_large-2fb8dd7e1e725035417e691ea490dc17