ระหว่างตากสินกับอ.ปรีดี ใครกู้ชาติกันแน่?

พวกที่อ้างว่าอยู่ข้างประชาธิปไตยหลายคน โดยเฉพาะบางคนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย จะอวยกษัตริย์ตากสินเพราะไม่ชอบราชวงศ์ปัจจุบัน และใช้ข้ออ้างว่าตากสิน “กู้ชาติ” ดังนั้นเป็นคุณประโยชน์กับคนไทย แต่นั้นเป็นการเข้าใจประวัติศาสตร์ผิด เป็นการกลืนคำโกหกของชนชั้นปกครองไทยเรื่องกษัตริย์ และไม่ใช้กรอบคิดทางชนชั้นในการวิเคราะห์เลย

ผู้ที่สู้เพื่อกู้ชาติจริง ไม่ใช่ตากสินและกษัตริย์อื่นๆ ที่รบเพื่ออำนาจที่จะขูดรีดประชาชน แต่เป็น อ.ปรีดี กับคณะราษฎรในการปฏิวัติปี ๒๔๗๕

เป้าหมายการปฏิวัติ ๒๔๗๕ คือ

1.จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง

2.จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก

3.จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

4.จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่

5.จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น

6.จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

จะเห็นได้ว่าคณะราษฎรก่อการปฏิวัติ๒๔๗๕ เพื่อล้มระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กดขี่ประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตย เสรีภาพกับความเท่าเทียม และล้มอำนาจที่เคยประนีประนอมและยอมจำนนต่อจักรวรรดินิยมตะวันตกในอดีต ในความคิดของคณะราษฎรมันเป็นการปฏิวัติกู้ชาติ และในความคิดอ.ปรีดี มันเป็นการปฏิวัติกู้ชาติของฝ่ายซ้าย

ที่สำคัญคือ “ชาติไทย” ไม่เคยมีก่อนการปฏิวัติทุนนิยมของรัชกาลที่๕ ที่ยกเลิกระบบศักดินา ดังนั้นกษัตริย์ตากสินจะ “กู้ชาติ” ไม่ได้

ตากสินขูดรีดไพร่ทาสเป็นพิเศษเพื่อสร้างเมืองใหม่ที่ธนบุรี สิ่งที่แรงงานบังคับต้องสร้างคือวังต่างๆ การเกณฑ์แรงงานครั้งนั้นสร้างความไม่พอใจกับคนชั้นล่างไม่น้อย และอาจกลายเป็นข้ออ้างหนึ่งในการยึดอำนาจของรัชกาลที่๑ การย้ายเมืองหลักไปอยู่ธนบุรีซึ่งใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เพื่อควบคุมการค้าทางทะเลอย่างผูกขาดและเพื่อขูดรีดภาษีเพื่อประโยชน์ตนเอง

ไม่มีกษัตริย์ไหนในไทยหรือในโลกที่มีคุณประโยชน์กับประชาชนธรรมดา การ “กู้ชาติ” ของกษัตริย์ที่บางคนพูดถึงเป็นแค่สงครามแย่งพื้นที่กันระหว่างมาเฟียสมัยศักดินา แย่งกันเพื่อมีอำนาจและสะสมความร่ำรวยบนสันหลังไพร่กับทาส บ่อยครั้งสงครามกระทำไปเพื่อกวาดต้อนคนไปใช้ แทนที่จะจ้างคน แต่พอถึงยุครัชกาลที่๕ ระบบแรงงานบังคับแบบนี้ใช้ในโลกทุนนิยมสมัยใหม่ยากขึ้นทุกวัน (เชิญอ่านรายละเอียดในหนังสือใหม่ของผม “มาร์กซิสต์วิเคราะห์สังคมไทย” ที่กำลังพิมพ์อยู่)

การฆ่าตากสินโดยทองด้วงกับพวก ซึ่งทำให้ทองด้วงตั้งตัวเป็นรัชกาลที่หนึ่งได้ เป็นแค่รัฐประหารแย่งอำนาจตามสันดานกษัตริย์ทั่วโลกในยุคก่อนไม่ว่าจะในไทย อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือที่อื่น และมีการโกหกกันว่าตากสิน “บ้า” ตากสินตายอย่างไรเป็นเรื่องถกเถียงกัน แต่ในยุคที่ผมเรียนหนังสือที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ก่อน๑๔ตุลา ครูบอกว่าโดนทุบด้วยท่อนจันทน์ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะให้เราเข้าใจว่า “ถึงแม้จะบ้าก็ต้องเคารพ” ทำนองนั้น ครูคนเดียวกันในภายหลังสอนเราเรื่องปฏิวัติ ๒๔๗๕ และร้องไห้เพราะสงสารรัชกาลที่๗!!

ชาวบ้านธรรมดาๆ เกลียดสงครามมาก ไม่ใช่ว่าแห่กันไปรบ “เพื่อชาติ” เพราะเวลากองทัพไหนมาใกล้บ้านเขา ทหารก็จะทำตัวเป็นโจร ไม่ว่าจะเป็นกองทัพฝ่ายใดก็ตาม นอกจากนี้มีการเกณฑ์ชาวบ้านไปรบ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิต แต่แน่นอนทำให้ไม่สามารถทำการเพาะปลูกเลี้ยงครอบครัวได้ บ่อยครั้งชาวบ้านจะหนีเข้าป่าเวลามีทหารมาใกล้บ้าน บางครั้งมีการป้ายหน้าลูกสาวด้วยขี้ควายเพื่อไม่ให้โดนข่มขืน คนที่ถูกเกณฑ์เป็นไพร่ก็พยายามหนีตลอดเวลาด้วย

พวกที่อ้างว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยแต่อวยกษัตริย์ตากสิน ทำตัวเหมือนไม่รู้จะอยู่ยังไงถ้าไม่มีผู้ใหญ่ให้กราบไหว้ เป็นพวกที่ไม่มีความมั่นใจว่าพลเมืองผู้น้อยสามารถปลดแอกตนเองได้ จึงไม่ให้ความสำคัญกับม็อบหรือเยาวชนที่ออกมาต่อสู้กับเผด็จการ แต่ฝากความหวังไว้กับทักษิณและนักการเมือง “ผู้ใหญ่” อื่นๆ ในที่สุดไม่ต่างจากพวกที่เคยโบกมือให้ทหารทำรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แทนที่จะพยายามสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของคนธรรมดา

กรรมาชีพในอาชีพใหม่ๆของศตวรรษนี้รวมตัวกันสู้ได้หรือไม่?

[แนะนำหนังสือ “Nothing to lose but our chains.” โดย เจน ฮาร์ดี้]

ในยุคนี้เรามักจะได้ยินคำพูดของคนที่มองว่า “ชนชั้นกรรมาชีพกำลังหายไป” หรือ “พลังการต่อสู้ของกรรมาชีพอ่อนตัวลง” หรือ “สภาพการทำงานที่มั่นคงกำลังสูญหายไป” คำพูดเหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางการพัฒนาของเทคโนโลจีอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลจีดิจิตอล หรือท่ามกลางการขยายตัวของวิธีการทำงานแบบใหม่อย่างเช่น “แรงงานแพลตฟอร์ม”

ในหนังสือ “ไม่มีอะไรจะเสียนอกจากโซ่ตรวนของเรา” เจน ฮาร์ดี้ ได้รายงานผลการวิจัยเรื่องสภาพการทำงานในอังกฤษในยุคปัจจุบัน พร้อมกับฉายภาพวิธีการต่อสู้ของแรงงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาหลายประเด็นปัญหา และความเชื้อเท็จเรื่องการทำงานในศตวรรษที่21

ประเด็นหนึ่งที่เจน ฮาร์ดี้ พิจารณาคือเรื่องสภาพการทำงานที่ไร้ความมั่นคง และเต็มไปด้วยความยืดหยุ่น ซึ่งมีการอ้างกันว่าเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหายในระบบทุนนิยมสมัยใหม่ โดยเฉพาะภายใต้ “เสรีนิยมใหม่” แต่เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์การทำงานแล้ว จะพบว่าการทำงานที่ไร้ความมั่นคงมีมาตลอด ตั้งแต่กำเนิดของทุนนิยม และสัดส่วนการทำงานที่มั่นคงเมื่อเทียบกับการทำงานที่ไร้ความมั่นคง มักขึ้นลง โดยถูกกำหนดจากระดับการต่อสู้ของสหภาพแรงงาน ความต้องการของนายจ้างที่จะลงทุนในการจ้างงานที่มีประสิทธิภาพ และกระแสทางการเมือง ข้อสรุปคือไม่มีข้อมูลที่รองรับความเชื่อว่าทุนนิยมสมัยใหม่สร้างงานที่ไร้ความมั่นคงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และไม่มีข้อมูลใดๆ ที่สนับสนุนความเชื่อว่าชนชั้นกรรมาชีพกำลังลดลงแต่อย่างใด

ในอังกฤษจำนวนกรรมาชีพเพิ่มขึ้นจาก 26 ล้านในปี 1997 เป็น 33 ล้านในปี 2020 ทั่วโลกก็เป็นในลักษณะแบบนี้หมดด้วย

นอกจากนี้การทำงานแบบไร้ความมั่นคงอาจเกิดขึ้น ทั้งๆที่มีสัญญาการจ้างงานที่ชัดเจน คือความไม่มั่นคงอาจมาจากระดับค่าแรงที่ต่ำเกินไปที่จะเลี้ยงชีพเป็นต้น ซึ่งประเด็นนี้มีมานาน

คนงานสร้างเกม

บ่อยครั้งความเชื่อที่ไม่ตรงกับความจริง มักเกิดจากความเข้าใจผิดว่า “มูลค่าส่วนเกิน” เกิดจากการทำงานของกรรมาชีพในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ซึ่งนักมาร์คซิสต์ไม่เคยเสนอว่าเป็นอย่างนั้น ในความเป็นจริงมูลค่าส่วนเกินเกิดขึ้นในทุกภาคของเศรษฐกิจ และเราจะเห็นชัดเมื่อเราพิจารณาภาพรวมของระบบทุนนิยม คือเกิดจากการผลิต การขนส่ง การค้า ระบบธนาคาร การพัฒนาการศึกษา และจากระบบสาธารณสุขด้วย ไม่ได้เกิดณจุดเดียว และยิ่งกว่านั้นมาร์คซิสต์ไม่เคยแยกการทำงานด้วยกล้ามเนื้อออกจากการทำงานด้วยสมอง การทำงานทั้งสองอย่างเกิดขึ้นพร้อมกันและคู่ขนานกันเสมอ และข้อเสนอของบางคน รวมถึงพวกอนาธิปไตยในอิตาลี่ ว่าระบบเศรษฐกิจที่ “ไร้น้ำหนัก” (คืออาศัยการทำงานแบบความคิดเป็นหลัก) กำลังเข้ามาแทนที่ระบบการผลิตสินค้านั้น เป็นความเข้าใจผิด เพราะแม้แต่คนงานไอที ที่ผลิตโปรแกรมหรือแอพหรือเกม ก็ผลิตสินค้าที่จับต้องได้

ในไทยนักวิชาการสายแรงงานบางคนเชื้อผิดๆ ว่า “การขูดรีด” เกิดขึ้นแค่ในกรณีที่มีการจ้างงานแบบไม่เป็นธรรมเท่านั้น แต่ในความจริง “การขูดรีด” เกิดจากการขโมยมูลค่าส่วนเกินจากการทำงานของกรรมาชีพโดยนายจ้างหรือรัฐ มันเกิดขึ้นในทุกที่และเป็นกำเนิดของ “กำไร” ซึ่งมาร์คซ์อธิบายไว้ใน “ทฤษฏีมูลค่าแรงงาน”

แน่นอนระบบทุนนิยมเป็นระบบที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การทำงานในภาคหนึ่งอาจหายไปหรือลดลง เช่นในภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่การทำงานในภาคใหม่หรือในรูปแบบใหม่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ในอังกฤษยุคสมัยนี้คนงานในภาคการศึกษาและภาคสวัสดิการของรัฐ เพิ่มขึ้นมาก แต่อุตสาหกรรมก็ยังมีอยู่ ระบบสาธารณสุขของรัฐ (NHS) มีลูกจ้างทั้งหมด 1.5 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรที่มีลูกจ้างมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก มันสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

ส่วนเรื่องหุ่นยนต์ในระบบการผลิตนั้น ไม่มีข้อมูลว่าทำให้การจ้างงานในภาพรวมลดลง มันอาจลดลงในกิจการหนึ่ง แต่ไปเพิ่มที่อื่น เช่นการเพิ่มขึ้นของแรงงานในคลังสินค้ายักษ์ของบริษัทอเมซอนเป็นต้น นอกจากนี้ในการผลิตรถยนต์ บางบริษัทเริ่มลดจำนวนหุ่นยนต์ลง เพราะไม่ยืดหยุ่นและฉลาดเท่าแรงงานมนุษย์

การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของการทำงานในระบบทุนนิยมไม่ได้ทำลายโอกาสที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อสู้กับนายจ้างแต่อย่างใด มันแค่เปลี่ยนรูปแบบของสหภาพแรงงาน หรือเปลี่ยนกองหน้าของขบวนการแรงงานเท่านั้น

และสิ่งที่ เจน ฮาร์ดี้ เน้นในหนังสือเล่มนี้คือ “ไม่มีที่ไหนที่จัดตั้งสหภาพแรงงานไม่ได้” มันขึ้นอยู่กับว่านักปฏิบัติการสายแรงงานพร้อมจะลงมือจัดตั้งหรือไม่

สิ่งนี้ถูกพิสูจน์จากประวัติศาสตร์ขบวนการแรงงานสากล และจากกรณีศึกษาของ เจน ฮาร์ดี้ เอง คือเขาเข้าไปสำรวจการจัดตั้งสหภาพแรงงานและการต่อสู้กับนายจ้างในกิจการต่างๆ เช่น กลุ่มพนักงานทำความสะอาดที่ทำงานให้กับบริษัทเอาท์ซอร์สหรือรับเหมาช่วง กลุ่มคนงานหญิงรายได้ต่ำ แรงงานแพลตฟอร์ม แรงงานที่เขียนโปรแกรมสำหรับเกมคอมพิวเตอร์ ครูบาอาจารย์ หรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในคลังสินค้า และ ฮาร์ดี้ พบว่าในทุกสถานที่ทำงานเหล่านี้ มีความพยายามที่จะจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง บางแห่งอาจประสบความสำเร็จมาก บางแห่งอาจน้อย แต่ไม่มีที่ไหนที่จัดตั้งไม่ได้ และไม่มีที่ไหนที่คนไม่พยายามออกมาต่อสู้

แม้แต่ในไทยเรายังเห็นการจัดตั้งสหภาพแรงงานในคนงานไรเดอร์ ที่ถือว่าเป็นคนงานแพลตฟอร์ม เช่นกรณี “สหภาพไรเดอร์” ที่พึ่งต่อรองเรื่องสภาพการจ้างงานกับบริษัท ลาลามูฟ อีซี่แวน คนงานประเภทนี้ทั่วโลกกำลังเคลื่อนไหวเพื่อพัฒนามาตรฐานการจ้างงาน โดยที่บริษัทต่างๆ อ้างว่าคนงานแพลตฟอร์มเป็น “ผู้ประกอบการเอง” หรือเป็น “ผู้มีหุ้นส่วนในบริษัท” ทั้งๆ ที่เป็นลูกจ้างชัดๆ ข้ออ้างของบริษัทกระทำไปเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายสวัสดิการใดๆ และเพื่อผลักภาระจากการทำงานที่ไม่มีความมั่นคงไปสู่ลูกจ้าง

ภาพจากสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

ในอังกฤษสหภาพแรงงานของคนทำงานแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้ทำการประท้วง หยุดงาน และใช้กระบวนการศาลเพื่อบังคับให้บริษัทต้องยอมรับว่าเป็นลูกจ้าง ที่สหรัฐและอังกฤษสหภาพแรงงานทำอาหารในร้านฟาสท ฟูดอย่างเช่นแมคโดนัลด์ หรือในบาร์ ก็กำลังจัดตั้งสหภาพแรงงานเช่นกัน

ในกรณีที่รัฐกับนายจ้างจับมือกันและใช้กฎหมายเพื่อทำให้การนัดหยุดงานยากขึ้น การต่อสู้ก็ยังทำได้ในหลายระดับตั้งแต่การนัดหยุดงานถูกกฎหมาย การนัดหยุดงานผิดกฎหมาย การขู่ว่าจะหยุดงาน การลงคะแนนเสียงเรื่องว่าจะหยุดงานหรือไม่ หรือการประชุมกลางแจ้งเพื่อกดดันนายจ้างเป็นต้น

สำหรับวิธีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เจน ฮาร์ดี้ กล่าวถึง “รูปแบบการจัดตั้ง” (Organising Model) ที่นำเข้ามาในอังกฤษจากขบวนการแรงงานสหรัฐ เพื่อเปลี่ยนทิศทางสหภาพแรงงานจากแค่การบริการสมาชิก มาเป็นการจัดตั้งเพื่อเพิ่มพลังต่อรอง รูปแบบนี้อาศัยหลักการ 3 ประการคือ 1.แสวงหาผู้นำระดับรากหญ้าธรรมชาติ 2.เชื่อมโยงคนทำงานกับชุมชน และ 3.ทดสอบว่าผู้นำรากหญ้าสามารถทำให้คนส่วนใหญ่สนับสนุนการต่อสู้ได้หรือไม่ ผ่านการล่ารายชื่อเป็นต้น ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นเรื่องสามัญสำนึก แต่ถ้าใช้ในลักษณะที่ตามสูตรแบบกลไกอาจมีปัญหา เพราะผู้นำรากหญ้าบ่อยครั้งเกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ เราไม่สามรถกำหนดล่วงหน้าได้ และเราอาจไม่จำเป็นต้องรอให้คนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานถึงขั้นพร้อมจะสู้ เพราะการออกมาสู้ของของกลุ่มหนึ่งแผนกหนึ่ง อาจกระตุ้นให้คนอื่นออกมาสู้ได้

เจน ฮาร์ดี้ สรุปว่าการจัดตั้งสหภาพแรงงานและการนัดหยุดงานหรือการประท้วงที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เกิดขึ้นผ่านแกนนำที่เชื่อมโยงกับคนงานรากหญ้าอย่างใกล้ชิดและมีโครงสร้างสหภาพที่อำนวยให้คนงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ตลอดเวลา และบ่อยครั้งการมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในสหภาพ ช่วยทำให้การต่อสู้เข้มแข็งมากขึ้น

ฮาร์ดี้ เสนอต่อว่าในสถานการณ์สังคมที่การต่อสู้ทางการเมืองเกิดขึ้น เช่นการต่อสู้กับการเหยียดสีผิวของขบวนการ Black Lives Matter และการประท้วงเรื่องโลกร้อน หรือถ้าจะยกตัวอย่างจากไทยก็คือการต่อสู้กับเผด็จการ บทบาทของนักสังคมนิยมที่เป็นสมาชิกพรรค และเป็นนักเคลื่อนไหวในสถานที่ทำงาน สามารถเชื่อมโยงโลกภายนอกรั้วสถานประกอบการ กับการต่อสู้ภายในได้ และสามารถนำกระแสอันมีพลังของการต่อสู้ทางการเมือง เข้ามาสร้างเป็นพลังการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานได้อีกด้วย พูดง่ายๆ การนำการเมืองภาพกว้างเข้ามาในสหภาพแรงงานและสถานที่ทำงาน ช่วยเสริมพลังการต่อสู้ของกรรมาชีพได้ ซึ่งข้อสรุปอันนี้ของ ฮาร์ดี้ ตรงกับสิ่งที่ โรซา ลัดคแซมเบอร์ค เคยเสนอในหนังสือ “การนัดหยุดงานทั่วไป”

ตัวอย่างของการจัดตั้งกรรมาชีพในภาคการทำงานใหม่ๆ หรือในสถานที่ทำงานที่ไม่เคยมีสหภาพแรงงานมาก่อน ไม่ได้อาศัยการพยายามสร้าง “สหภาพแรงงานแดง” หรือ “สหภาพแรงงานปฏิวัติ” อย่างที่พวกลัทธิสหภาพอนาธิปไตยเสนอแต่อย่างใด เพราะการสร้างสหภาพแรงงานแบบนั้นจะไม่สามารถจัดตั้งคนส่วนใหญ่ได้เลย เพราะคนทำงานในสถานที่ต่างๆ มักจะมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน แต่การจัดตั้งสหภาพแรงงานและการนำการต่อสู้ในภาคการทำงานใหม่ๆ ถ้าจะมีพลังจริงๆ จะต้องอาศัยนักปฏิวัติสังคมนิยมที่จัดตั้งในพรรค และพร้อมจะปลุกระดมเพื่อนร่วมงานต่างหาก

[ Jane Hardy (2021) “Nothing to lose but our chains.” Pluto Press]

ใจ อึ๊งภากรณ์