15ปีรัฐประหาร๑๙กันยา -สังคมถอยหลัง

รัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ เป็นจุดเริ่มต้นของการแช่แข็งสังคมไทย และการทำลายความก้าวหน้าที่คนจำนวนมากเคยหวังว่าจะเกิดขึ้นหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐

ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีการหมุนนาฬิกากลับสู่ความหล้าหลังของเผด็จการทหาร และมีการเสียเวลา เสียโอกาส ที่จะพัฒนาสังคมไทยให้ทันสมัยและมีความเป็นธรรม เราเสียโอกาสที่จะสร้างรัฐสวัสดิการ เราเสียโอกาสที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วมของพลเมือง เราเสียโอกาสที่จะพัฒนาระบบการศึกษา และเราเสียโอกาสที่จะพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคและการคมนาคม และสภาพเช่นนี้ยังดำรงอยู่ทุกวันนี้ภายใต้เผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์

และที่สำคัญคือ เมื่อสังคมเผชิญวิกฤตโควิด ประชาชนจำนวนมากต้องเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ และป่วยล้มตาย เพราะความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลเผด็จการ

ใครบ้างในไทยมีส่วนในการทำลายความก้าวหน้าของสังคม?

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ ประกอบไปด้วย ทหาร ข้าราชการชั้นสูง องค์มนตรี นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์  พวกเจ้าพ่อทางการเมือง พวกนายทุนใหญ่ และนายธนาคารหลายส่วน โดยที่แนวร่วมนี้มักอ้างความชอบธรรมโดยพูดถึงการปกป้องสถาบันกษัตริย์

กษัตริย์ภูมิพลเป็นเครื่องมือของคนกลุ่มนี้มานานและไม่เคยปกป้องประชาธิปไตยกับเสรีภาพ แต่ภูมิพลไม่เคยมีอำนาจทางการเมืองของตัวเอง

นอกจากนี้พวกที่สนับสนุนการทำลายสังคมผ่านการทำรัฐประหาร มีพวกสลิ่มชนชั้นกลางและกลุ่มเอ็นจีโอหลายกลุ่ม

สิ่งที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมนี้ไม่พอใจคือ การขึ้นมาเป็นรัฐบาลของไทยรักไทยที่เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมือง โดยที่ไทยรักไทยทำสัญญาทางสังคมกับประชาชนว่าจะมีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นรูปธรรม เช่นนโยบาย “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” นโยบาย “กองทุนหมู่บ้าน” และนโยบายที่พักหนี้เกษตรกร ซึ่งรัฐบาลไทยรักไทยนำมาทำจริงๆ หลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง เป้าหมายของไทยรักไทยคือการพัฒนาเศรษฐกิจกับสังคมไทย เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ และรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่มองว่าคนจนควรจะเป็น “ผู้ร่วมพัฒนา” โดยไม่มองว่าคนจนเป็น “ภาระ” หรือเป็น “คนโง่” สรุปแล้ว ไทยรักไทย สามารถทำแนวร่วมประชาธิปไตยกับประชาชนส่วนใหญ่ และครองใจประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน ผ่านนโยบายที่จับต้องได้ อย่างไรก็ตาม พรรคไทยรักไทย ไม่ใช่พรรคสังคมนิยม หรือพรรคของคนจนหรือกรรมาชีพ เพราะเป็นพรรคของนายทุนใหญ่ และเป็นพรรคที่มองว่าทุนนิยมไทยจะได้ประโยชน์จากการดึงประชาชนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทางเศรษฐกิจ

นโยบายเศรษฐกิจของ ไทยรักไทย คือนโยบาย “คู่ขนาน” (Dual Track) ที่ใช้เศรษฐศาสตร์แนวเคนส์ (Keynesianism) ในระดับรากหญ้า คือใช้งบประมาณของรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานในระดับหมู่บ้านหรือชุมชน และใช้นโยบายตลาดเสรี (Neo-liberalism) ในระดับชาติ เช่นการเซ็นสัญญาค้าเสรีและการพยายามแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ถึงแม้ว่าแนวเศรษฐกิจแบบนี้เคยมีการใช้ในประเทศอื่นในยุคต่างๆ และไม่ใช่อะไรที่ประดิษฐ์ใหม่ และเป็นนโยบายที่พยายามแก้ปัญหาจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวและธนาคารต่างๆ ไม่ยอมปล่อยกู้ นักวิชาการอนุรักษ์นิยมของไทยจำนวนมากไม่เข้าใจหรือจงใจไม่เข้าใจ และประกาศว่ารัฐบาลใช้แนวเศรษฐกิจ “ระบอบทักษิณ”  (Taksinomics) เหมือนกับว่านายกทักษิณเป็นคนบ้าที่เสนอนโยบายเพ้อฝันแบบแปลกๆ เพื่อประโยชน์ส่วนตน

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เคยชินมานานกับการมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผ่านเครือข่าย “ผู้มีอิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญ” เช่นทหาร องค์มนตรี เจ้าพ่อ และนายทุนใหญ่ หรือผ่านระบบการเลือกตั้งที่ใช้เงินซื้อเสียงอย่างเดียว โดยไม่มีการเสนอนโยบายอะไรเป็นรูปธรรม และไม่มีการให้ความสนใจกับคนจนแต่อย่างใด เช่นกรณีนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคชาติไทย เป็นต้น พวกนี้ไม่พอใจที่ทักษิณและไทยรักไทยมีอำนาจทางการเมืองผ่านสัญญาทางสังคมกับประชาชนส่วนใหญ่ เขาไม่พอใจที่รัฐบาลมีการนำกิจการใต้ดินหลายอย่างมาทำให้ถูกกฎหมาย เขาไม่พอใจที่มีการใช้งบประมาณรัฐเพื่อประโยชน์ประชาชน แทนที่จะทุ่มเทงบประมาณเพื่อทหาร และคนชั้นสูงอย่างเดียว ดังนั้นเขาและนักวิชาการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนเขา มักจะวิจารณ์นโยบายรัฐบาลว่า “ขาดวินัยทางการคลัง” ตามนิยามของพวกกลไกตลาดเสรีที่เกลียดชังสวัสดิการรัฐ แต่ในขณะเดียวกันเวลาพวกนี้มีอำนาจก่อนและหลังรัฐบาลทักษิณ เขาไม่เคยมองว่าการเพิ่มงบประมาณทหาร “ขาดวินัยทางการคลัง” แต่อย่างใด

วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชั้นปกครองไทย คือ “วัฒนธรรมคอกหมู” ที่มีการร่วมกันหรือพลัดกันกินผลประโยชน์ที่มาจากการขยันทำงานของประชาชนชั้นล่างล้านๆ คน พวกอำมาตย์อนุรักษ์นิยมเคยชินกับระบบนี้ เขาเคยชินกับรัฐบาลพรรคผสมที่อ่อนแอและมีการพลัดเปลี่ยนรัฐมนตรีเพื่อพลัดกันกิน พวกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เคยชินกับการใช้อิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญในการร่วมกินด้วย เขาจึงไม่พอใจและเกรงกลัวเวลานายทุนใหญ่ที่เป็นนักการเมืองอย่าง ทักษิณ ชินวัตร สามารถครองใจประชาชนและเริ่มมีอำนาจสูงกว่าอภิสิทธิ์ชนคนอื่นๆ โดยใช้กระบวนการประชาธิปไตย ดังนั้นเราต้องเข้าใจว่า เวลาพวกอนุรักษ์นิยม คนชั้นกลาง หรือพันธมิตรฯเสื้อเหลือง พูดถึง “การคอร์รับชั่น”  “การผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์” “การมีผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ “การใช้อำนาจเกินหน้าที่” ของทักษิณ เขาไม่ได้พูดถึงการเอารัดเอาเปรียบประชาชนธรรมดาที่มีมานาน หรือการที่ประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมเท่าที่ควร หรือการโกงกินของนักการเมืองทุกพรรค หรือของทหาร เขาหมายถึงปัญหาเฉพาะหน้าของพวกอภิสิทธิ์ชนที่เริ่มถูกเขี่ยออกจากผลประโยชน์ในคอกหมูมากกว่า นี่คือสาเหตุที่เขาทำรัฐประหาร เขาอยากหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุค “ประชาธิปไตยคอกหมู” ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๓๙ นั้นเอง การปฏิกูลการเมืองภายใต้เผด็จการประยุทธ์ก็เป็นเช่นนี้

ความไม่พอใจของแนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม ที่ก่อตัวขึ้นมาเพื่อทำลายรัฐบาลไทยรักไทย ไม่สามารถนำไปสู่การคัดค้านไทยรักไทยด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นสำเร็จ พวกนี้จะต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาที่เสนอประโยชน์กับคนจนมากกว่าที่ไทยรักไทยเคยเสนออีก คือต้องเสนอให้เพิ่มสวัสดิการและเร่งพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ ด้วยการเพิ่มงบประมาณรัฐและการเก็บภาษีจากคนรวย นโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เกลียดชังอย่างถึงที่สุด เพราะพวกนี้เป็นพวกคลั่งนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้ว หรือนโยบาย “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ดังนั้นเขาจึงหันมาเกลียดชังอำนาจการลงคะแนนเสียงของพลเมืองส่วนใหญ่ และตัดสินใจว่ามีทางเดียวเท่านั้นที่จะจัดการกับรัฐบาลไทยรักไทย คือต้องทำรัฐประหาร และมีการพยายามโกหกว่า “ประชาชนที่เลือกรัฐบาลทักษิณเป็นคนโง่ที่ขาดการศึกษา”

ตราบใดที่เราไม่รื้อฟื้นขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อประชาธิปไตย ที่นำโดยพลเมืองระดับรากหญ้าและกรรมาชีพ เพื่อสร้างอำนาจประชาชนนอกรัฐสภา เราจะไม่มีทางหลุดพ้นจากความหล้าหลังที่มาจากรัฐประหาร ๑๙ กันยา

ตราบใดที่เราไม่สร้างพรรคสังคมนิยมเพื่อปลุกระดมความคิดทางการเมืองที่เข้าข้างกรรมาชีพผู้ทำงานและคนจน และที่เน้นการทำงานทางการเมืองในขบวนการแรงงาน โดยหวังให้ให้ชนชั้นกรรมาชีพสำแดงพลังในรูปแบบการนัดหยุดงานเพื่อล้มเผด็จการ เราจะต้องอยู่กับเผด็จการอีกนาน

อย่างน้อยสุด ผู้รักประชาธิปไตยทุกคน ต้องหาทางรวมตัวกันเพื่อปกป้องปลดปล่อยคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่ติดคดีกฎหมายเถื่อนอันเนื่องมาจากการปกครองของเผด็จการ

ใจ อึ๊งภากรณ์

พระสงฆ์ฝ่ายซ้ายในลาว

ในการต่อสู้เพื่อปลดแอกประเทศลาว “ขบวนการปะเทดลาว” เลือกที่จะใช้ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือในการต่อสู้โดยนำพระสงฆ์มาเป็นแนวร่วม ในขณะที่ฝ่ายขวาและรัฐบาลกษัตริย์ไม่สามารถใช้ศาสนาพุทธในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ได้

ประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรลืมในกรณีลาวคือ พุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนลาวลุ่มเป็นส่วนใหญ่ มีชาติพันธ์อื่นๆ ในประเทศลาวอีกมากมายที่ไม่นับถือพุทธ แต่นับถือผีสางนางไม้หรือบรรพบุรุษ ซึ่งแปลว่าขบวนการปะเทดลาวต้องหาวิธีการอื่นในการสร้างความชอบธรรมในหมู่ชนชาติอื่นๆที่ไม่ใช่วิธีการของศาสนาพุทธ และก็ทำได้สำเร็จ เพราะกลุ่มชาติพันธ์หลายกลุ่มเป็นกำลังต่อสู้สำคัญของขบวนการปะเทดลาว วิธีการอื่นที่กล่าวถึงคือการยกเลิกการดูถูกชาติพันธ์ที่ไม่ใช่ลาวลุ่มว่าต่ำต้อยกว่า เช่นการยกเลิกใช้คำดูถูกว่าเขาเป็น “ข้า”

ทำไมขบวนการปะเทดลาวได้เปรียบเหนือรัฐบาลกษัตริย์ฝ่ายขวาในการใช้พุทธศาสนา?

ในประการแรกฝรั่งเศสไม่ได้พัฒนาประเทศในยุคอาณานิคม ลาวจึงเป็นประเทศยากจนที่ขาดโรงเรียน หนทางในการรับการศึกษาของลูกคนจน (ที่เป็นชาย) คือการบวชเป็นพระ ดังนั้นวัดลาวจึงเต็มไปด้วยพระสงฆ์หนุ่มๆ ที่เป็นลูกคนจน ส่วนลูกคนรวยสามารถไปเรียนในโรงเรียนเอกชนแพงๆ ได้ พระสงฆ์จำนวนมากจึงเข้าใจดีว่าสังคมเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและฝ่ายขวากับกษัตริย์ไม่ยอมแก้ปัญหานี้

ในประการที่สองเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสเชิดชูเจ้าลาวเพื่อเป็นเครื่องมือแต่ไม่ให้ความสำคัญกับศาสนาพุทธ เพราะมองว่าศาสนาคริสต์ดีกว่า พอมาถึงยุคสงครามกับสหรัฐ ขบวนการปะเทดลาวสามารถอ้างได้ว่าสหรัฐทิ้งระเบิดทำลายหมู่บ้านและวัดวาอารามอีกด้วย และสหรัฐเป็นอำนาจต่างชาติที่ทำแนวร่วมอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายขวาและพวกเจ้าลาว ดังนั้นขบวนการปะเทดลาวกลายเป็นฝ่ายที่ปกป้องวัฒนธรรมพุทธของลาว

ฝ่ายคอมมิวนิสต์ลาวทำงานจัดตั้งพระสงฆ์ได้ เพราะพระสงฆ์หันมาสนใจการเมืองและสังคมท่ามกลางสงคราม มีการจัดกลุ่มศึกษาสำหรับพระและประชาชนธรรมดาในวัดเพื่อถกเถียงเรื่องปัญหาต่างๆ จนมีการตั้งคำถามในหมู่พระสงฆ์เองว่าทำไมพระสงฆ์ไม่มีบทบาทในการทำงานสร้างมูลค่าที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

สาเหตุสุดท้ายที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้เปรียบในการใช้ศาสนาพุทธคือรัฐบาลฝ่ายขวาในยุคปี ค.ศ. 1960 พยายามออกระเบียบเพื่อควบคุมคณะสงฆ์และทำให้เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งสร้างความไม่พอใจมาก ในขณะที่ขบวนการปะเทดลาวปล่อยพระสงฆ์ให้ปฏิบัติตนและคิดอย่างเสรี

การที่พระสงฆ์จำนวนมากสนับสนุนขบวนการปะเทดลาวแปลว่าขบวนการนี้มีเครือข่ายและนักปฏิบัติการตามวัดวาอารามทั่วลาว

ถึงแม้ว่า “ขบวนการปะเทดลาว” อ้างว่าเป็นคอมมิวนิสต์ตามแนว “มาร์คซิสต์” แต่เราจะเห็นว่ามีการใช้ศาสนาพุทธเป็นส่วนสำคัญของลัทธิการเมือง ทั้งในช่วงที่ต่อสู้เพื่อยึดอำนาจรัฐและในช่วงที่ยึดอำนาจรัฐได้แล้ว ในแง่หนึ่งเราไม่ควรแปลกใจอะไร เพราะขบวนการคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่น หลังปี ค.ศ. 1930 ล้วนแต่ใช้ลัทธิสตาลิน แทนลัทธิมาร์คซ์ แต่การใช้ลัทธิสตาลินบ่อยครั้งนำไปสู่การต่อต้านศาสนาโดยพรรคหรือโดยรัฐบาลหลังจากที่ยึดอำนาจรัฐได้แล้ว ประเด็นที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องปรัชญาว่าสนับสนุนหรือต่อต้านศาสนา เพราะลัทธิสตาลินเป็น “ปรัชญาปลอม” ก็ว่าได้ เนื่องจากมีการอ้างว่าใช้แนวคิดมาร์คซิสต์แต่ในทางปฏิบัติทำในสิ่งตรงข้าม ดังนั้นการคัดค้านหรือสนับสนุนศาสนาของพรรคที่ใช้แนวสตาลินกลายเป็นเรื่องของการคำนวณอย่างไร้อุดมการณ์ว่าศาสนาหรือองค์กรศาสนาเป็นคู่แข่งหรือควรนำมาเป็นแนวร่วม

ใจอึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม

ใจ อึ๊งภากรณ์ (๒๕๕๒) “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ข้อถกเถียงทางการเมือง” สำนักพิมพ์ประชาธิปไตยแรงงาน https://bit.ly/3hf6LMP

Martin Stuart-Fox (1996) Buddhist kingdom Marxist state. White Lotus.  

อนุรัตน์ ฝันถึงภูมิ (๒๕๔๘) “การสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของ ส.ป.ป. ลาว ระหว่าง 1975-2003” วิทยานิพนธ์ปริญญาโท ภาคปกครองคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ