ภูมิใจที่เคยเป็นเสื้อแดง ภูมิใจที่จุดยืนตรงข้ามกับ “สลิ่ม”

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในยุคนี้มีนักประชาธิปไตยดีๆ บางคน ออกมาพูดว่าเราไม่ควรใช้คำว่า “สลิ่ม” แล้ว และเราควรจะก้าวพ้นความแตกแยกในสังคมที่เกิดขึ้นตั้งแต่เสื้อเหลืองออกมากวักมือเรียกให้ทหารทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา นอกจากนี้นักประชาธิปไตยบางคนก็พูดทำนองว่า “อย่ามาพูดเรื่องเสื้อแดงอีก” และมีการพยายามที่จะปฏิเสธว่าคนเสื้อแดงออกมาร่วมในการประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือที่เชียงใหม่ เมื่อเดือนที่แล้ว

ในแง่หนึ่งผมเข้าใจความรู้สึกของคนที่อยากลดความตึงเครียดในสังคม แต่ข้อเสนอที่พวกนี้เอ่ยถึงข้างบน มันพาคนไปเข้าสู่เกมหรือโรดแมปของทหารเผด็จการ

เราควรเข้าใจว่าทหารเผด็จการ นอกจากจะต้องการสืบทอดอำนาจไปนานหลังการเลือกตั้ง ผ่าน “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” แผนใหญ่ของเขาคือการบังคับปรองดองจอมปลอมบนเงื่อนไขของพวกเผด็จการ และพวกชนชั้นกลางที่เกลียดชังประชาธิปไตย (พวก “สลิ่ม” นั้นเอง)

สิ่งที่ทหารเผด็จการต้องการคือ อยากให้นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยหดหู่ หมดกำลังใจ จนพร้อมจะประนีประนอมกับฝ่ายเผด็จการ และยอมรับประชาธิปไตยครึ่งใบ กับ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ”

นี่คือสาเหตุที่เขากำลังปราบปรามนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่โกหกว่าสิทธิมนุษยชนเป็น “วาระแห่งชาติ” เขาอยากจะทำลายขบวนการประชาธิปไตยที่กำลังก่อตัวขึ้นทุกวันนี้ภายใต้การนำของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เพราะถ้าสามารถทำลายกระแสนี้ได้ อุปสรรคสำคัญที่จะมีการเลือกตั้งภายใต้ระบบประชาธิปไตยครึ่งใบก็จะหายไป

UnemducatedPeopleReuters

แน่นอนเราไม่ควรรังเกียจคนที่เคยเป็นสลิ่มที่กลับใจสำนึกผิดและอยากจะร่วมกับขบวนการประชาธิปไตยในยุคนี้ แต่การจับมือกับคนที่ไม่สำนึกผิด ที่มองว่าไทยมีประชาธิปไตย “มากเกินไป” หรือคนที่อวยเผด็จการ หรือคนที่มองว่าพลเมืองไทยส่วนใหญ่ที่ยากจน “โง่” “ขายเสียง” และ “ไม่ควรมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ในการเลือกรัฐบาล” จะเป็นการยอมจำนนต่อแผนของเผด็จการ นอกจากนี้การจับมือกับคนคลั่งชาติที่มองว่าเขาพระวิหาร “เป็นของไทย” และพร้อมจะเห็นสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องไร้สาระแบบนี้ ก็มีปัญหาเช่นกัน ถ้าเขาไม่กลับใจสำนึกผิด

ผมไม่มีปัญหากับการถกเถียงกับสลิ่ม เพื่อให้เขาเปลี่ยนจุดยืน ใครมีเวลาว่างก็เชิญทำ แต่การประนีประนอมกับจุดยืนของสลิ่มจะไม่นำไปสู่ประชาธิปไตยแต่อย่างใด นอกจากนี้การประนีประนอมแบบนั้น จะเป็นการทอดทิ้งเพื่อนเราที่ติดคุกในกรณี 112 อีกด้วย

ในหัวข้อบทความนี้ผมพูดถึงความภูมิใจที่ “เคย” เป็นเสื้อแดง ผมใช้คำว่า “เคย” ไม่ใช่เพราะผมเปลี่ยนจุดยืนแต่อย่างใด แต่เพราะตอนนี้เสื้อแดงหมดพลังในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม สาเหตุหลักคือการที่ทักษิณและพรรคพวกของเขาใน นปช. จงใจแช่แข็งและทำลายขบวนการจนมันหมดสภาพ

ในเรื่องเสื้อแดง ทุกคนควรยอมรับว่าการที่มีเสื้อแดงหลายคนไปร่วมในการชุมนุม “คนต้องการเลือกตั้ง” ทำให้มวลชนมีจำนวนมากขึ้น แถมมีการจัดป้ายอย่างเป็นระบบอีกด้วย บางครั้งผมสงสัยว่านักประชาธิปไตยบางคนอยากจับมือและเอาใจ “สลิ่ม” มากกว่าเสื้อแดงอีก แต่ขบวนการเสื้อแดงเคยเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

ผมไม่เคยสนับสนุนทักษิณ แต่ในยุคเผด็จการผมยินดีทำแนวร่วมกับคนที่รักทักษิณหรือยิ่งลักษณ์ บางคนอาจคิดว่าถ้านักประชาธิปไตยหรือเสื้อแดงหมดรักในทักษิณ หรือก้าวพ้นทักษิณ เราอาจจับมือกับเสื้อเหลืองหรือ “สลิ่ม” ได้ คนที่คิดแบบนี้เป็นคนที่วิเคราะห์วิกฤตไทยแบบตื้นเขิน เพราะมองว่ามันคล้ายๆ ความขัดแย้งระหว่างคนที่เชียร์ทีมฟุตบอล์สองสี ไม่มีการทำความเข้าใจเนื้อหาทางการเมืองที่เป็นรากฐานความขัดแย้งเลย

โดยรวมแล้วพวกสลิ่มชนชั้นกลางเป็นคนที่คัดค้านการใช้งบประมาณรัฐในการพัฒนาสภาพชีวิตของคนทำงานธรรมดาๆ ในเมืองและในชนบท พวกนี้คัดค้านนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยรักไทย เขาคัดค้านกองทุนหมู่บ้านเพื่อสร้างงาน เขาคัดค้านโครงการประกันราคาข้าวสำหรับเกษตรกร ฯลฯ

จุดยืนแบบนี้คือจุดยืนทางชนชั้น และสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐศาสตร์การเมืองที่บูชากลไกตลาดเสรี หรือนโยบาย Neo-liberal ของฝ่ายขวาทั่วโลกที่ชื่นชมระบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” เขามองว่าคนจนควรเจียมตัวในความยากจน และโกหกสังคมกับตัวเองว่าเขาเองร่ำรวยเพราะ “การขยันทำงาน” และคนจน “ขี้เกียจหลังยาว” นี่คือจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาลเผด็จการทหารที่ชอบใช้คำว่า “การรักษาวินัยทางการคลัง” เพื่อคักค้านการใช้เงินรัฐเพื่อพัฒนาชีวิตคนส่วนใหญ่ และแน่นอนพวกนี้ไม่เคยคัดค้านการใช้งบประมาณรัฐเพื่อเพิ่มงบประมาณทหาร งบประมาณพวกอภิสิทธิ์ชน หรือการลดภาษีให้คนรวย [ดู http://bit.ly/2tWNJ3V ]

buffalo_sm

เรื่องแบบนี้คือรากฐานความขัดแย้งระหว่างเสื้อแดงกับสลิ่ม และการปิดหูปิดตาไม่ยอมสนใจ จะไม่นำไปสู่สังคมที่สงบ มันจะนำไปสู่สังคมที่มองไม่เห็นหัวคนส่วนใหญ่ต่างหาก

ทำไมพรรค“โพเดมอส” (Podemos) ไม่ใช่รูปแบบที่เหมาะกับไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ. ปิยบุตร แสงกนกกุล ดูเหมือนตามข้อมูลการเมืองสากลไม่ทัน เพราะพึ่งมาค้นพบพรรค“โพเดมอส” ในช่วงขาลง แล้วเสนอว่าเป็นทางออกสำหรับประเทศไทย [ดู http://bit.ly/2BTZgU8 ]

เหตุผลที่ อ.ปิยบุตรชื่นชม “โพเดมอส” มีดังนี้

  1. อ.ปิยบุตรอ้างว่า “การเมืองไทยไม่ได้มีอุดมการณ์ขวา-ซ้ายแบบยุโรป” อย่างไรก็ตามประเด็น ขวา-ซ้าย มันเป็นเรื่องชนชั้น ไม่ใช่วัฒนธรรม ในไทยมีชนชั้นให้เห็นอย่างชัดเจน และความขัดแย้งระหว่างเหลืองกับแดงเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับชนชั้นอีกด้วย
  2. อ.ปิยบุตรเสนอว่า “การเมืองไทยอยู่ในสภาวะแยกขั้วสิบกว่าปีแล้ว” ดังนั้นควรข้ามพ้นความขัดแย้งนี้ พูดง่าย เขาเสนอว่าคนรักประชาธิปไตยควรประนีประนอมกับคนที่เกลียดประชาธิปไตย ผลคือประชาธิปไตยครึ่งใบ
  3. อ.ปิยบุตรเสนอว่า โพเดมอส มีรูปแบบใหม่ แต่ในความเป็นจริงมันกลายเป็นพรรคที่ขาดประชาธิปไตยภายในและในกรณีการเรียกร้องอิสภาพของคาทาโลเนีย โพเดมอส เข้าข้างรัฐสเปนและพวกอนุรักษ์นิยมฝ่ายขวา

ขออธิบายเพิ่มว่า โพเดมอส มีปัญหาอะไรบ้างมาสองสามปีแล้วดังนี้

ในขณะที่พรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” ในกรีซ หักหลังประชาชนและยอมจำนนต่อกลุ่มทุนใหญ่ของสหภาพยุโรป โดยการยอมรับนโยบายเสรีนิยมรัดเข็มขัดที่ทำลายชีวิตของคนจนและกรรมาชีพ เราเห็นพรรค “โพเดมอส” (Podemos) ในสเปนขยับไปทางขวาภายในไม่กี่เดือนของการตั้งพรรคเมื่อสามปีก่อน และออกมาสนับสนุนจุดยืนแย่ๆ ของแกนนำ “ไซรีซา” คำถามง่ายๆ สำหรับไทยคือ เราต้องการเห็นพรรคที่ทรยศต่อผลประโยชน์ของคนจนหรือไม่?

เราต้องย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของการพยายามทดลองสร้างพรรคซ้ายใหม่ในยุโรปและที่อื่นๆ ในยุคนี้ ความพยายามดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อพรรคกระแสหลักทางซ้าย คือพรรคสังคมนิยมสายปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็น “พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย” หรือ “พรรคแรงงาน” ในทุกประเทศของยุโรป หันไปรับนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดและการรัดเข็มขัดที่ให้ประโยชน์กับกลุ่มทุน นอกจากนี้มีการหันหลังให้กับการปฏิรูประบบหรือการปกป้องรัฐสวัสดิการ เรื่องมันแหลมคมยิ่งขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 และทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากซ้ายหรือขวา ก็ยอมรับนโยบายที่ทำลายมาตรฐานชีวิตของกรรมาชีพ เพื่อพยุงและเพิ่มกำไรของกลุ่มทุนและธนาคารต่างๆ ผลคือการเพิ่มอัตราว่างงาน และการตัดสวัสดิการ แต่ในขณะเดียวกันมีการเพิ่มรายได้และทรัพย์สินให้กับคนรวย นี่คือสาเหตุที่เกิด “สูญญากาศในการเมืองฝ่ายซ้าย”

ในขณะเดียวกันความไม่พอใจของชนชั้นกลางและนายทุนน้อยต่อสภาพเศรษฐกิจ ทำให้คะแนนนิยมพรรคกระแสหลักทางขวาลดลงด้วย ซึ่งเกิด “สูญญากาศในการเมืองฝ่ายขวา” ด้วย มันเป็นสภาพอันตรายเพราะพวกฟาสซิสต์เข้ามาฉวยโอกาสได้ง่ายขึ้น

ในสเปนวิกฤตเศรษฐกิจเกิดเมื่อฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์แตก ซึ่งในไม่ช้าอัตราว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาวพุ่งขึ้นถึง 60% และงานที่มีให้ทำก็เป็นงานแย่ๆ ที่จ่ายค่าจ้างต่ำ ปรากฏการณ์แบบนี้นำไปสู่การลุกฮือยึดพื้นที่กลางเมืองใหญ่ๆ เพื่อคัดค้านการรัดเข็มขัดของรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมและของพรรคสังคมนิยมปฏิรูปที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแทนที่ในภายหลัง

การยึดพื้นที่กลางเมืองของพวกคนหนุ่มสาว “อินดิกนาดอส” (Indignados) ซึ่งแปลว่า “พวกที่โกรธเคือง” เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความหวังให้กับคนที่อยากต้านแนวเสรีนิยม แต่ความคิดทางการเมืองที่อยู่เบื้องหลังขบวนการนี้จะเป็นแนวอนาธิปไตย คือคัดค้านพรรคการเมือง ปฏิเสธระบบ และเลือกใช้ประชาธิปไตยทางตรงของรากหญ้าผ่านการมีส่วนร่วมในจตุรัสต่างๆ หรือพื้นที่กลางเมือง อย่างไรก็ตามการมีส่วนร่วมแบบนี้ยากลำบากสำหรับคนที่ต้องไปทำงานทุกวัน

เนื่องจาก “อินดิกนาดอส” เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ไร้การจัดตั้งในรูปแบบพรรค มันย่อมมีขาขึ้นและขาลงเป็นปกติ ตอนนี้มันหมดสภาพแล้ว

ในปลายปี 2014 กลุ่มนักวิชาการที่นำโดย พาบโล อิกเลซีอัส (Pablo Iglesias) ได้ตัดสินใจก่อตั้งพรรค “โพเดมอส” โดยอาศัยสมาชิกคนหนุ่มสาวที่เคยร่วมในขบวนการ “อินดิกนาดอส” มีการเรียนบทเรียนสำคัญจากการลุกฮือแบบกระจัดกระจายตามแนวอนาธิปไตยว่ามันไม่มีเสถียรภาพในการต่อสู้ เขาจึงร่วมกันสรุปว่า “ขบวนการต้องมีพรรค” ต่อมาในการเลือกตั้งยุโรปและเลือกตั้งท้องถิ่นของสเปน พรรคนี้ได้สส.ในสภายุโรปกับผู้แทนในสภาท้องถิ่นมาหลายคน

ถึงแม้ว่าการตั้งพรรคใหม่นี้เป็นพัฒนาการทางการเมืองที่ดี แต่มันมีปัญหาที่ตามมาเนื่องจากการปฏิเสธความสำคัญของชนชั้น แกนนำของพรรค “โพเดมอส” มองว่าเขา “ก้าวพ้นการแบ่งแยกระหว่างซ้ายกับขวา” ไปแล้ว ซึ่งในรูปธรรมแนวความคิดโพสธ์โมเดอร์นอันนี้แปลว่าพรรคพยายามปกปิดความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างนายทุนกับกรรมาชีพที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกวันท่ามกลางวิกฤตและนโยบายรัดเข็มขัด คำว่า “ฝ่ายซ้าย” หมายถึงกลุ่มคนที่ยืนเคียงข้างกรรมาชีพและคนจน และคำว่า “ฝ่ายขวา” หมายถึงกลุ่มคนที่ยึดนโยบายที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มทุนและคนรวย สรุปแล้วพรรค “โพเดมอส” มีจุดยืนที่ไม่ชัดเจนว่าสนับสนุนผลประโยชน์กรรมาชีพกับคนจน หรือสนับสนุนกลุ่มทุนและคนรวย คือพรรคพยายามเอาใจคนชั้นกลางและกรรมาชีพคนจนพร้อมกัน แต่ไม่สนใจนำการต่อสู้ของกรรมาชีพในรูปธรรมเลย และมีการดึงนักธุรกิจมาร่วมอีกด้วย

เราต้องการพรรคที่ไม่สนับสนุนผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ที่ยากจนในไทยหรือไม่?

อีกปัญหาหนึ่งของพรรค “โพเดมอส” คือการขาดประชาธิปไตยภายในในรูปธรรม เพราะในนามธรรมพรรคประกาศว่าอาศัยประชาธิปไตยทางตรง แต่เวลาลงคะแนนเสียงอาศัยการกดรับหรือไม่รับผ่านอินเตอร์เน็ดและโซเชียล์มีเดีย ผลในรูปธรรมคือไม่มีความชัดเจนว่าใครเป็นสมาชิกพรรค และคนชื่อดังที่สามารถออกความเห็นในสื่อต่างๆ ได้ดี มักจะได้ประโยชน์ มันเป็นการมีส่วนร่วมจอมปลอมที่ทำให้พรรคใช้นโยบายนำ “จากบนลงล่าง” มากขึ้น และพาบโล อิกเลซีอัส กลายเป็นหัวหน้าที่ถูกตรวจสอบไม่ได้และมีพฤติกรรมเผด็จการ

สรุปแล้วภายในไม่กี่เดือนพรรค “โพเดมอส” มีการแปรธาตุไปเป็นพรรคกระแสหลักที่ยอมรับเงื่อนไขของกลุ่มทุนมากขึ้น และเป็นพรรคที่นำโดยหัวหน้าโดยไม่มีประชาธิปไตยภายใน

ล่าสุด เมื่อคาทาโลเนียออกมาประกาศว่าอยากจะแยกตัวออกจากสเปนและตั้งสาธารณรัฐใหม่ “โพเดมอส” ก็ไปเข้าข้างรัฐสเปนและนักการเมืองอนุรักษนิยมฝ่ายขวาที่ต้องการปกป้องรัฐเดิมที่เคยสร้างในสมัยเผด็จการฟรังโก

อีกเรื่องที่เราต้องพิจารณาคือการเลือกตั้งในอนาคต เพราะเผด็จการได้ออกแบบระบบเลือกตั้งที่จำกัดเสรีภาพของพรรคการเมืองภายใต้ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” มันแปลว่าการเน้นพรรคการเมืองที่สนใจแต่การเลือกตั้งในยุคนี้จะมีปัญหามาก ในระยะสั้นเราต้องการพรรคที่ทำงานกับนักเคลื่อนไหวรากหญ้า แทนที่จะไว้ใจระบบการเลือกตั้งภายใต้แผนเผด็จการ เราต้องเรียกร้องการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยจริง แต่ในช่วงที่ไม่มี พรรคควรเคลื่อนไหวในการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน

ด้วยเหตุนี้การเสนอว่า “โพเดมอส” เป็นรูปแบบที่ดีสำหรับประเทศไทยโดย อ.ปิยบุตร เป็นการเสนอที่จะพาคนไปสู่ทางตัน และเป็นการมองข้ามผลประโยชน์ของคนชั้นล่างในไทย ทั้งเกษตรกรและกรรมาชีพ ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม ยิ่งกว่านั้นเป็นการมักง่ายไม่ศึกษาข่าวสากลที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ที่ตลกร้ายก็คือพรรคไทยรักไทยของทักษิณเคยเป็นพรรคที่พยายาม “ก้าวพ้นความขัดแย้งทางชนชั้น” โดยสร้างแนวร่วมระหว่างนายทุนใหญ่กับเกษตรกรรายย่อยและกรรมาชีพ

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2E8aTbL

 

การให้กำลังใจนักกิจกรรมที่โดนรังแก ไม่เพียงพอ

ใจ อึ๊งภากรณ์

การเชียร์หรือให้กำลังใจนักกิจกรรม “เดินมิตรภาพ” และ “MBK 39” หรือผู้ถูกกล่าวหา 39 คนจากการร่วมกิจกรรม “นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้งฯ” เป็นเรื่องดี แต่ไม่เพียงพอ…

ก่อนอื่นผมต้องออกตัวว่าในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองในต่างประเทศ การที่ผมเขียนเรื่องนี้แบบนี้ มันง่ายมาก เพราะผมไม่สามารถทำอะไรอย่างเป็นรูปธรรมภายในประเทศไทยได้เลย และผมเข้าใจดีว่าการจัดตั้งมวลชนและการไปร่วมเคลื่อนไหวไล่เผด็จการมันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผมเคยพยายามเริ่มทำในอดีต

อย่างไรก็ตาม ผมเป็นห่วงเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในสองประเด็นใหญ่คือ

ในประการแรก เราเห็นนักกิจกรรมดีๆ ในอดีต เช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข หรือไผ่ดาวดิน และคนอื่นๆ อีกมากมาย ที่โดนเผด็จการทหารจับเข้าคุก โดยที่ขาดพลังมวลชนที่จะออกมากดดันให้เขาถูกปล่อยตัว สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่คนหลายหมื่นคน อาจมากกว่านั้นด้วยซ้ำ อยากจะเห็นการปล่อยนักโทษการเมืองทันที ประเด็นไม่ใช่ว่าไม่มีใครสนใจหรือแคร์ ประเด็นคือเรายังไม่สร้างเครื่องมือในการกดดันเผด็จการด้วยพลังอย่างแท้จริง

ในประการที่สอง ผมเป็นห่วงว่าการวนซ้ำในวิธีการเคลื่อนไหวที่เน้นแต่ตัวแทนไม่กี่คนที่ออกมาเคลื่อนไหว อย่างที่เราเห็นหลังจากที่เสื้อแดงหมดสภาพ จะไม่สามารถไล่เผด็จการประยุทธ์ และไม่สามารถทำลายมรดกการเมืองประชาธิปไตยครึ่งใบที่เผด็จการตั้งใจให้อยู่นานเป็นสิบๆ ปี

การที่ “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา ออกมาพูดว่าพร้อมจะเข้าคุกถ้าตำรวจยกเลิกข้อกล่าวหากับคนอื่นที่ถูกหมายเรียกจากตำรวจ อาจเป็นเจตนาส่วนตัวที่ดี แต่มันเป็นยุทธวิธีที่หันหลังให้มวลชนและการร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของมวลชน มันเป็นการนำทุกอย่างมาผูกกับตัวเองในลักษณะวีรชนปัจเจก

แนวทางแบบนี้ไม่มีวันประสบความสำเร็จในการล้มเผด็จการ และผู้หญิงที่เคยกล้าหาญคนหนึ่งในพม่า ชื่อ อองซานซูจี ก็เคยใช้วิธีนี้เช่นกัน มันจบลงด้วยการสลายพลังมวลชน และในที่สุดอองซานซูจีก็ตัดสินใจแทนประชาชนพม่าและประนีประนอมกับทหารเผด็จการ และที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือเขามีส่วนในการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวโรฮิงญาอีกด้วย

40078893482_d345d539d6_b

ผมเห็นคนโพสต์ภาพนักเคลื่อนไหว 13 คนที่เคยโดนจับในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ เพราะแจกใบปลิวเรียกร้องประชาธิปไตย จนการกระทำของทหารนำไปสู่การลุกฮือไล่เผด็จการครั้งยิ่งใหญ่ในวันที่ ๑๔ เดือนเดียวกัน

คนที่โพสต์ภาพนี้ พยายามเปรียบเทียบเหตุการณ์ในปี ๒๕๑๖ กับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยหวังว่าจะมีการลุกฮือไล่เผด็จการประยุทธ์ในไม่ช้า ผมเข้าใจความรู้สึกแบบนี้ และถ้าใช้อารมณ์คิด ผมก็มีความหวังเดียวกัน แต่พอใช้ปัญญาคิดมันไม่ง่ายแบบนั้น

ประเด็นที่สำคัญคือ ในปี ๒๕๑๖ มีการจัดตั้งขบวนการนักศึกษาและขบวนการแรงงานอย่างเป็นระบบโดยนักกิจกรรมฝ่ายซ้าย สิ่งนี้ทำให้มีการปลุกระดมมวลชนให้ออกมา 5 แสนคนกลางกรุงเทพฯ ซึ่งถ้าเทียบกับปัจจุบันก็คงเท่ากับมวลชนเป็นล้านๆ ในสมัยนี้

27798264_353664365041999_7619343842983816625_o

การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและน่าชื่นชม แต่ในยุคนี้เรายังไม่มีการจัดตั้งนักศึกษาหรือกรรมาชีพคนทำงาน ตามสถานที่ทำงาน อย่างเป็นระบบ แถมนักกิจกรรมหลายคนจงใจหันหลังให้กับการจัดตั้งมวลชนด้วย

รังสิมันต์ โรม พูดถูกเวลาเขาบอกว่าการใช้อินเตอร์เน็ดติดตามการเคลื่อนไหวไม่พอ ต้องออกมาชุมนุมจริงๆ ประเด็นที่ท้าทายเราทุกคนคือ เราจะจัดตั้งอย่างไรถึงจะเป็นจริงได้?

ถ้าไม่มีการจัดตั้งมวลชน เพื่อให้มีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีพลัง เราไม่สามารถทำอะไรได้อย่างจริงจัง ภาระของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเรียกร้องการเลือกตั้ง หรือการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในลักษณะนามธรรมเท่านั้น เพราะก่อนที่เราจะร่วมกันปลดแอกสังคมจากเงามืดของเผด็จการ ต้องมีการไล่คณะเผด็จการ ยกเลิกรัฐธรรมนูญทหาร ยกเลิก “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ”ที่จะจำกัดเสรีภาพในการเลือกตั้ง และยกเลิกผลพวงทั้งหมดของพวกที่ก่อรัฐประหารสองครั้ง

ในประเทศอื่น การกดดันเผด็จการให้ปล่อยนักโทษการเมือง ก็ไม่ต่างจากไทย ในอียิปต์การเคลื่อนไหวและการนัดหยุดงานทำให้เผด็จการเกรงกลัวจนมีการปล่อยนักโทษการเมืองบางคนเมื่อเดือนที่แล้ว ตัวอย่างจากประเทศอื่นมีอีกมากมาย

บางคนอาจสงสัยว่า ถ้ามวลชนมีพลังจริง ทำไมเสื้อแดงไม่สามารถล้มเผด็จการได้ ซึ่งเป็นคำถามสำคัญที่เราต้องช่วยกันตอบ สำหรับผม ผมจะอธิบายว่าการมีมวลชนสร้างพลังก็จริง แต่ถ้าพลังนั้นไม่ถูกนำไปใช้ในทิศทางที่จะทำให้เกิดผล มันก็ล้มเหลวได้ เสื้อแดงล้มเหลวเพราะเน้นการชุมนุมยืดเยื้อ ไม่มีการเชื่อมโยงกับขบวนการแรงงานและคนหนุ่มสาวอย่างจริงจัง ไม่มีการนัดหยุดงานเพื่อเพิ่มพลัง และในที่สุดขบวนการเสื้อแดงก็ถูกพรรคพวกของทักษิณแช่แข็งจนหมดสภาพ ซึ่งสะท้อนว่าไม่มีการนำตนเองที่อิสระจากนักการเมืองอย่างทักษิณอย่างเพียงพอ สรุปแล้วการเมืองของการนำเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

ในอดีตการเมืองของนักเคลื่อนไหวยุค ๑๔ ตุลา อิสระจากนักการเมืองกระแสหลัก แต่พอเข้าสู่วิกฤต ๖ ตุลา สามปีหลังจากนั้น การเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ใช้ในการนำนักเคลื่อนไหวในยุคนั้น ถูกพิสูจน์ว่าบกพร่อง เพราะไม่คิดจะสู้กับเผด็จการในเมืองและไม่มีการวางแผนจะให้มีการนัดหยุดงานทั่วไป ทั้งๆ ที่ขบวนการแรงงานและขบวนการนักศึกษาในสมัยนั้นอยู่ในสภาพที่จะสามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ เราต้องขยันในการศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้

สรุปแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้กับเผด็จการยุคนี้คือ การสร้างพลังมวลชน และการให้ความสำคัญกับการเมืองที่จะนำการต่อสู้ได้

อ่านเพิ่มเรื่องการจัดตั้ง http://bit.ly/2C8wzD5

การล้มละลายของบริษัท “คอริเลี่ยน” ในอังกฤษ พิสูจน์อีกครั้งว่าเอกชนไม่มีประสิทธิภาพในการบริการประชาชน

 

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อเดือนที่แล้วบริษัทยักษ์ใหญ่ “คอริเลี่ยน” ล้มละลายในอังกฤษ บริษัทนี้เริ่มต้นเป็นบริษัทก่อสร้าง แต่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในยุคที่มีการเปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาให้บริการแทนรัฐในโรงพยาบาล โรงเรียน ห้องสมุด หรือระบบคมนาคม มีการใช้ระบบเหมาช่วงเพื่อจ้างเจ้าหน้าที่ในอัตราเงินเดือนต่ำ เพื่อทำหน้าที่ต่างๆ แทนลูกจ้างของรัฐที่เคยทำงานบริการ มีการทำสัญญา “รัฐ-เอกชน” (PFI) เพื่อก่อสร้างตึกใหม่ของโรงพยาบาล โดยที่ภาคเอกชนลงทุนในการก่อสร้าง และรัฐต้องจ่าย “ค่าเช่า” ในระบบนี้จำนวนเงินที่รัฐต้องจ่ายให้เอกชนสูงกว่าการลงทุนโดยตรงจากรัฐถึง 40% และค่าบริการโครงการต่างๆ หลังจากการก่อสร้างเส็จสิ้น ก็สูงกว่าการจ้างพนักงานโดยตรงทั้งๆ ที่เอกชนตัดค่าแรงและสวัสดิการ สาเหตุเพราะมีการกินกำไรตลอด แต่รัฐบาลต่างๆ ในอดีต ต้องการลดหนี้รัฐที่คำนวณจากการกู้เงินโดยตรง และรัฐบาลต้องการเพิ่มบทบาทเอกชน และตัดค่าแรงในสังคม ตามลัทธิคลั่งกลไกตลาดของพวกเสรีนิยมสุดขั้ว

 

บริษัทอย่าง “คอริเลี่ยน” มักจะชิงสัญญาจากรัฐเมื่อมีการเปิดประมูล เพราะมีการตีราคาต่ำกว่าคู่แข่งผ่านการตัดค่าแรงและลดคุณภาพการทำงาน ในที่สุดยุทธศาสตร์นี้ทำให้บริษัทล้มละลายและคนงานสี่หมื่นสามพันคนต้องเกร็งกลัวกับการตกงานและการถูกตัดเงินบำนาญ ในขณะเดียวกัน ซีอีโอ ของบริษัทบางคนที่รีบลาออกก่อนการล้มละลายสามารถกอบโกยเงินโบนัสเป็นล้าน และสุดท้ายคาดกันว่ารัฐอังกฤษและประชาชนธรรมดาที่เสียภาษีจะต้องก้าวเข้ามาอุ้มกิจกรรมที่ “คอริเลี่ยน” เคยทำ

 

คอริเลี่ยน ไม่ใช่บริษัทเดียวที่มีปัญหา บริษัท “คาพิตา” และ “เชอร์โค” ซึ่งมีบทบาทคล้ายๆ คอริเลี่ยน คือเข้ามาให้บริการแทนรัฐ ก็มีวิกฤตเช่นกัน ในกรณี “คาพิตา” มีหมอและพยาบาลตามคลินิคชุมชนที่ไม่ได้รับเงินเดือนตรงเวลา ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในภาครัฐ

 

การคลั่งกลไกตลาดและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วยวิธีต่างๆ ในอังกฤษ สร้างปัญหามากมายสำหรับระบบรถไฟ ระบบสาธารณสุข และระบบการศึกษา ประสบการณ์ของการใช้บริษัทเอกชนในการบริการแทนรัฐ ทำให้คุณภาพการบริการตกต่ำลง เพราะเน้นการจ่ายเงินเดือนต่ำและการขูดรีดกำไร

 

การวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ค้นพบว่าองค์กรรัฐที่แปรรูปเป็นบริษัทเอกชนในภาคโทรคมนาคม พลังงาน และรถไฟ ของอังกฤษ ไม่ได้มีประสิทธิภาพเหนือกว่ารัฐวิสาหกิจ และการวิจัยรูปแบบเดียวกันเกี่ยวกับยุโรปก็มีข้อสรุปเหมือนกัน แม้แต่ธนาคารโลกก็รายงานว่าในประเทศกำลังพัฒนาไม่มีหลักฐานอะไรเลยว่าลักษณะการเป็นเจ้าของระหว่างรัฐกับเอกชน มีผลต่อประสิทธิภาพขององค์กรแต่อย่างใด

[ http://bit.ly/2BctqBC ]

 

พรรคแรงงานในอดีตภายใต้นายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ มีนโยบายส่งเสริมสัญญา “รัฐ-เอกชน” ไม่ต่างจากรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของนายทุน แต่ในยุคนี้หลังการเลือก เจเรมี คอร์บิน เข้ามานำพรรคแรงงาน และหลังจากกระแสในสังคมเรียกร้องให้มีการนำบริษัทเอกชนกลับมาเป็นของรัฐ จุดยืนของพรรคแรงงานก็เปลี่ยนไป

จอห์น แมคดอนเนล “รัฐมนตรีเงา”ทางด้านการคลังของพรรคแรงงานอังกฤษ ที่ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ เจเรมี คอร์บิน ได้ออกมาประกาศว่ากรณี “คอริเลี่ยน” พิสูจน์ว่าลัทธิสุดขั้วที่เชื่อว่า “เอกชนดีกว่าเสมอ” หมดยุคไปแล้ว ถ้าพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งในโอกาสหน้าจะมีการนำการบริการของเอกชนกลับมาเป็นของรัฐ

 

ในไทยนักวิชาการจำนวนมากมัก โดยเฉพาะใน “สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” (ทีดีอาร์ไอ) และตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จะท่องสูตร “เอกชนดีกว่า” และ “เอกชนมีประสิทธิภาพมากกว่า” โดยไม่เปิดหูเปิดตาดูความจริง และผมจะไม่แปลกใจเลยถ้านักวิชาการขี้เกียจทั้งหลายภายใต้กะลา จะท่องสูตรเท็จนี้และสอนลัทธิคลั่งกลไกตลาดในมหาวิทยาลัยต่อไป

 

ต้นกำเนิดของนิยาย “กลไกตลาดมีประสิทธิภาพในการให้บริการมากกว่าภาครัฐ” ในยุคนี้ เริ่มต้นจากการฟื้นตัวของเสรีนิยมในทศวรรษที่ 70 นำโดยนักคิดเช่น มิลตัน ฟรีดแมน และนำมาปฏิบัติโดยนักการเมืองเช่น มาร์กาเรต ฮิลดา แทตเชอร์ ในอังกฤษ หรือ โรนัลด์ เรแกน ในสหรัฐ แต่เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่ามันเป็นลัทธิที่ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลยกับคนส่วนใหญ่ในสังคม

 

นิยายอันนี้เป็นความพยายามอย่างหยาบๆ ที่จะลดบทบาทรัฐ เพื่อลดการเก็บภาษีจากคนรวย และเพิ่มกำไรให้ภาคเอกชนผ่านการตัดเงินเดือนและสวัสดิการ แต่ไม่มีข้อมูลจากที่ไหนในโลกที่ยืนยันประโยชน์ของความเชื่อนี้เลย ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายต่อหัวในระบบสาธารณะสุขแบบอิงเอกชน ที่เน้นการประกันตน แทนการเก็บภาษีในระบบถ้วนหน้าของรัฐ มักจะสูงกว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวในระบบรัฐสวัสดิการเสมอ ระบบสาธารณะสุขของสหรัฐอเมริกาที่ใช้ระบบเอกชนเป็นหลัก แพงกว่าระบบอังกฤษสองเท่า เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายต่อหัว และไม่ครอบคลุมคนจนหลายล้านคน ซึ่งหมายความว่าในด้านประสิทธิภาพของการให้บริการกับผู้มีประกัน และประสิทธิภาพในการดูแลประชากร ระบบกลไกตลาดของอเมริกาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ถ้าเปรียบเทียบคุณภาพและประสิทธิภาพของระบบสาธารณะสุขสหรัฐกับระบบของประเทศอื่น จะพบว่าสหรัฐอยู่ในอันดับที่ 70 ของโลก ในขณะที่ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ หรืออย่างน้อยระบบถ้วนหน้าที่บริหารโดยรัฐอยู่ในอันดับ1 ถึง 25

 

พวกสำนักเสรีนิยมกลไกตลาดชอบเสนอว่ารัฐไม่ควรแทรกแซงตลาด ไม่ควรปกป้องการผลิตในกรอบรัฐชาติ จึงเสนอให้มีการค้าเสรี และรัฐไม่ควรลงมาทำหน้าที่แทนนายทุนเอกชนอีกด้วย อีกประเด็นที่สำคัญคือพวกนี้มองว่าควรสร้างความ “ยืดหยุ่น” ในตลาดแรงงาน คือไม่ควรมีการปกป้องมาตรฐานการทำงานและไม่ควรมีสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง พูดง่ายๆ พวกเสรีนิยมเป็นพวกที่เข้าข้างนายทุน และมองว่าแรงงานควรได้รับค่าจ้างสวัสดิการน้อยที่สุดเพื่อเพิ่มกำไรให้นายทุนมากที่สุด

 

แต่สำนักเสรีนิยมกลไกตลาดนี้มีจุดอ่อนสำคัญอีกสองประการคือ

  1. ทั้งๆที่พูดว่าปฏิเสธบทบาทนำของรัฐ แต่ในรูปธรรมมีการใช้รัฐในการต่อรองทางเศรษฐกิจตลอด โดยเฉพาะในรูปแบบการสร้างกำลังทหารเพื่อทำสงคราม

 

  1. มีการเลือกปฏิบัติเสมอ เช่นสนับสนุนให้รัฐอุ้มธุรกิจเอกชนในยามวิกฤต แต่มองว่ารัฐไม่ควรช่วยคนจนเพราะจะไปทำลาย “วินัยทางการคลัง” หรือมีการมองว่าควรเปิดตลาดการค้าเสรีในกรณีที่นายทุนของชาติตัวเองเข้มแข็งกว่าคู่แข่ง แต่ในกรณีที่อ่อนแอควรมีมาตรการจำกัดนายทุนต่างชาติเป็นต้น

 

การอ้างว่ากลไกตลาดเสรีสร้างประสิทธิภาพสูงสุดถูกพิสูจน์ว่าไม่จริงมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นในกรณีการก่อให้เกิดวิกฤตจากการแข่งขัน เช่นวิกฤตเศรษฐกิจเอเซียปี พ.ศ. ๒๕๓๙ หรือวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี ค.ศ. 2008 ที่เกิดจากฟองสบู่ sub-prime ซึ่งในทุกกรณีภาครัฐต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการอุ้มบริษัทที่ใกล้ล้มละลาย ล่าสุดกรณีของบริษัท “คอริเลี่ยน” ก็พิสูจน์ปัญหาของการเน้นบริษัทเอกชน  สรุปแล้วกลไกตลาดไม่สามารถบริการและตอบสนองความต้องการพื้นฐานของคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมโลกได้เลย

 

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2tWNJ3V