สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ค.ศ.1914

ใจ อึ๊งภากรณ์

วันที่ 28 กรกฏาคมปีนี้ เป็นวันครบรอบ 100  ปีแห่งการเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามนี้เป็นสงคราม “ทุนนิยมสมัยใหม่” ที่ใช้อาวุธอุตสาหกรรมและทำลายชีวิตทหารนุ่มถึง 10 ล้านคน มันเป็นสงครามทางชนชั้น เพราะชนชั้นปกครองในประเทศมหาอำนาจของยุโรป ผลักให้ชนชั้นกรรมาชีพประเทศต่างๆ ไปฆ่ากันเอง และมันเป็นสงคราม “ทุนนิยมสมัยใหม่” ในอีกด้านหนึ่งที่สำคัญด้วย คือเกิดจากการปะทะกันระหว่างประเทศต่างๆ ภายใต้ระบบที่เราเรียกว่า “จักรวรรดินิยม”

PhotographingTheFirstWorldWar_FrankHurley_05 article-2226235-01A9D2BF000004B0-479_964x704

 

ต้นกำเนิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

การที่ระบบจักรวรรดินิยมโลกนำไปสู่การยึดครองพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก และในที่สุดนำไปสู่สงครามระหว่างมหาอำนาจจักรวรรดินิยมเอง เริ่มชัดเจนตั้งแต่ 1904 เมื่อรัสเซียพยายามขยายอาณาจักรไปทางตะวันออกเข้าสู่จีน และเผชิญหน้ากับญี่ปุ่นที่กำลังขยายไปทางตะวันตกเข้าสู่เกาหลี นอกจากนี้มีการปะทะกันระหว่างเยอรมันกับฝรั่งเศสในอัฟริกาเหนือ เพื่อหาอาณานิคม

แต่ภูมิภาคอันตรายที่สุดคือแถบยุโรปตะวันออกหรือ “บอลคาน” เพราะมหาอำนาจใหญ่ๆ เข้ามาแย่งกันอุปถัมภ์รัฐเล็กๆ เช่น เซอร์เบีย กรีซ มอนตาเนโกร บัลแกเรีย ฯลฯ ซึ่งกำลังทำสงครามแย่งชิงซากเก่าของอาณาจักร “ออตตามันเตริก” สถานการณ์อันตรายแบบนี้ มัดความขัดแย้งในพื้นที่เข้ากับความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจใหญ่ จนเป็นชะนวนที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

บ่อยครั้งนักวิชาการที่ไม่วิเคราะห์อะไรลึกๆ จะให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่จุดไฟของสงคราม เช่นการลอบยิงเจ้าชายเฟอร์ดิแนนของออสเตรีย แต่รากฐานต้นกำเนิดของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มาจากการแย่งชิงพื้นที่ อิทธิพล และ อำนาจ ระหว่างมหาอำนาจทุนนิยม จนทุกฝ่ายยอมอะไรไม่ได้ ในเรื่องนี้นักมาร์คซิสต์รัสเซียชื่อ เลนิน เข้าใจดี

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ค.ศ.1914-1918

ในเดือนสิงหาคม 1914 หลังจากที่สงครามเกิดขึ้น คนจำนวนมากในยุโรปคลั่งชาติและหลงคิดว่าฝ่ายของตนเองจะชนะในไม่กี่เดือน ในเมืองต่างๆ ประชาชนออกมาชุมนุมสนับสนุนสงครามด้วยความสนุกสนาน เหมือนกับจะแห่กันไปงานวัด หรือไปดูมวย

ในแง่สำคัญ บรรยากาศการเฉลิมฉลองสงคราม ไม่ได้เป็นการคลั่งชาติไปทั้งหมด ทั้งๆ ที่พวกคลั่งชาติมีจริง ลีออน ตรอทสกี นักปฏิวัติรัสเซีย อธิบายว่าบรรยากาศนี้มาจากการที่ชีวิตคนส่วนใหญ่ในยุคนั้น เต็มไปด้วยการทำงานซ้ำซากน่าเบื่อ โดยไร้ความหวัง สงครามที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นโอกาสที่จะผจญภัยครั้งใหญ่ คนจำนวนมากเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นคงไม่ทำให้ชีวิตแย่ลง เพราะมันแย่กว่านี้ไม่ได้ …. แต่ในไม่ช้าเขาจะเรียนรู้ความจริง

ในแง่ส่วนตัว คุณตาของผม เออเนสต์ วิแซน สมิท ก็เป็นชายหนุ่มคนหนึ่งที่แห่ไปรบด้วยความรักชาติ และทั้งๆ ที่เขาเห็นสภาพความโหดร้ายทารุณของสงคราม ซึ่งบัณทึกไว้ในสมุดบัณทึกที่อยู่ในมือของผม แต่เขายังไม่หายรักชาติตามกระแสการเมืองอนุรักษ์นิยมของเขา อย่างไรก็ตามคุณยายผมกลับเกลียดสงครามอย่างถึงที่สุด และประกาศจุดยืนสันติวิธีตั้งแต่ช่วงนั้น

คุณตาผมอาจไม่ค่อยมีจิตสำนึกทางการเมืองที่ลึกซึ้งเท่าไร แต่นักสังคมนิยมทั่วยุโรปหลายคนต่อต้านสงครามตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตามทั้งๆ ที่ผู้นำพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในยุโรป เคยมีจุดยืนคัดค้านสงคราม การที่เขามองว่าเป้าหมายคือการ “ได้อำนาจรัฐ” ผ่านการชนะการเลือกตั้งในรัฐสภาทุนนิยม มันทำให้เขามองว่า “รัฐ” เป็นรัฐของประชาชนทุกคน และทุกคนต้องจงรักภักดีต่อรัฐของตนเอง ในที่สุดเกือบทุกพรรคหันมาสนับสนุนการทำสงครามที่ฆ่ากันเอง นักสังคมนิยมบางคนสามารถเคลื่อนไหวคัดค้านสงครามในกลุ่มผู้ใช้แรงงานของ อังกฤษ เยอรมัน และรัสเซีย แต่ผู้นำอย่าง เคาท์สกี ในเยอรมัน หรือ เคียร์ ฮาร์ดี ในอังกฤษ เงียบเฉยทั้งๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับสงคราม

มีแต่นักสังคมนิยมปฏิวัติมาร์คซิสต์เท่านั้น ที่ต่อต้านสงครามจากวันแรกถึงวันสุดท้าย ตัวอย่างที่ดีคือ เลนิน, ตรอทสกี, โรซา ลัคแซมเบอร์ค, คาร์ล ลีบนิค, เจมส์ คอนโนลี่ และ จอห์น แมคคลีน เป็นต้น

สงครามนี้กลายเป็นสงครามยืดเยื้อที่ป่าเถื่อนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ยุคนั้น มีการใช้อาวุธและระเบิดที่สร้างในโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และทหารเป็นแสนๆ เผชิญหน้ากันในสนามเพลาะ ในการรบกันที่ “เวอร์ดัน” ทหารสองล้านคนเผชิญหน้ากันและตายไปครึ่งหนึ่งภายในห้าเดือน ในการรบกันที่ลุ่มแม่น้ำ “ซอม” ในปี 1916 คาดว่าตายไปอีกหนึ่งล้าน โดยที่ทหารอังกฤษตายสองหมื่นคนในวันแรกของการรบ

สงครามนี้มีผลกระทบกับสังคมในประเทศต่างๆ อย่างมาก ทุกแห่งขาดแรงงาน ทั้งในภาคเกษตรและในโรงงาน เพราะมีการเกณฑ์ผู้ชายไปรบจำนวนมาก มีการดึงผู้หญิงเข้าไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งในระยะยาวทำให้สตรีมีความมั่นใจที่จะเรียกร้องสิทธิสตรีมากขึ้นเพราะทำงานพึ่งตนเองได้ เริ่มมีการขาดอาหารและสินค้าพื้นฐาน และราคาข้าวของก็พุ่งขึ้นสูง ในไม่ช้าคุณภาพชีวิตของกรรมกร เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อยแย่ลงอย่างน่าใจหาย ในเยอรมันค่าแรงดิ่งลง 50% แต่ผู้นำสหภาพแรงงานในประเทศต่างๆ พยายามยับยั้งการนัดหยุดงาน เพื่อสนับสนุนสงคราม

สำหรับเกษตรกรคนจนจากหมู่บ้านห่างไกลในชนบททั่วยุโรป การที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารและประสบการณ์ของสงคราม เปิดหูเปิดตาถึงสภาพสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะความคิดทางการเมืองเรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือ “สังคมนิยม”

พอถึงปลายปี 1915 ต้นปี 1916 เริ่มมีการต่อสู้และการกบฏของคนชั้นล่าง สตรีในเมืองอุตสาหกรรม กลาสโก ทางเหนือของอังกฤษ ไม่ยอมจ่ายค่าเช่า และสตรีในหลายเมืองของเยอรมันประท้วงการขาดแคลนอาหาร ในโรงงานอุตสาหกรรมของอังกฤษ เยอรมัน ฮังการี่ และออสเตรีย ช่างฝีมือชายในโรงเหล็ก ที่ไม่ได้ถูกเกณฑ์เป็นทหาร เพราะเขาเป็นคนงาน “จำเป็น” ในอุตสาหกรรมอาวุธ เริ่มนัดหยุดงาน โดยที่ผู้นำหลายคนเป็นนักสังคมนิยม ในขณะเดียวกันเริ่มมีนักเขียนและศีลปินคนชั้นกลางที่ออกมาวิจารณ์สงคราม

ในสนามรบ คนที่แห่กันไปรบในยุคแรกๆ เริ่มรู้ว่าสงครามมันป่าเถื่อนและโหดร้ายแค่ไหน ความตื่นเต้นแปรไปเป็นความเย็นชาที่ยอมรับสถานการณ์ แต่พอเวลาผ่านไป และทหารราบธรรมดามีประสบการณ์ของสงคราม และเห็นว่าสภาพความเป็นอยู่ของเขา แตกต่างจากพวกนายพลชั้นสูงที่เสพสุข ก็เริ่มมีการกบฏในกองทัพ

ตั้งแต่วันคริสต์มาสปี 1914 ทหารธรรมดาจากทั้งสองฝ่าย ประกาศหยุดยิงและออกมาคุยกัน ซึ่งสร้างความไม่พอใจในระดับสูงอย่างมาก พอถึงคริสต์มาสปี 1916 นายพลอังกฤษสั่งให้ผู้บังคับบัญชาในสนามรบยิงทหารเยอรมันที่ออกมาจากหลุมเพลาะ เพื่อไม่ให้คุยกับทหารอังกฤษ แต่ในเดือนเมษายนปี 1917 ทหารฝรั่งเศส 68 กองพล ครึ่งหนึ่งของกองทัพฝรั่งเศส กบฏและไม่ยอมออกรบหลังจากที่สหายเขาตายไป 250,000 คนจากการรุกสู้ มีการชักธงแดงขึ้นและร้องเพลงอินเตอร์นาชอนแนล์ แต่รัฐบาลฝรั่งเศสปราบทหารกบฏอย่างรุนแรง โดยประหารชีวิตทหารไป 49 นาย ในปีเดียวกันมีการกบฏของทหารอิตาลี่ 50,000 คน และทหารอังกฤษ 100,000 คน ในกรณีหลังนายพลอังกฤษจัดการกับการกบฏด้วยการยอมรับข้อเรียกร้องบางอย่าง ตามด้วยการประหารชีวิตผู้นำการกบฏ และมีการปกปิดเหตุการณ์นี้ในสื่อมวลชน

การปฏิวัติรัสเซีย 1917

ไม่มีใครสามารถทำนายล่วงหน้าว่าจะเกิดการปฏิวัติในรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ 1917 แม้แต่ เลนิน ก็พูดเสมอว่ารุ่นเขา “คงไม่เห็นการปฏิวัติ” แต่การปฏิวัติที่เกิดขึ้นเป็นผลพวงของสงครามโดยตรง เช่นสภาพเศรษฐกิจที่แย่ลง และการที่ทหารราบธรรมดาถูกส่งไปตายเหมือนผักเหมือนปลา และบ่อยครั้งขาดอาวุธหรือแม้แต่รองเท้า การปฏิวัติรอบแรกในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นการล้มระบบเผด็จการกษัตริย์ซาร์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของความทุกข์ยากของประชาชน

สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปในรัสเซียในเดือนตุลาคม 1917 มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่แล้วมาในการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 หรือในการลุกฮือที่ฝรั่งเศสปี 1848 และ 1871 คนงานกับคนจนในปารีสเป็นพลังสำคัญ แต่ถูกแย่งอำนาจไปโดยชนชั้นนายทุนหรือถูกปราบปรามอย่างหนัก ในรัสเซียครั้งนี้ สภาของชนชั้นกรรมาชีพ ทหาร และเกษตรกรรายย่อย สามารถยึดอำนาจรัฐในประเทศที่มีประชากร 160 ล้านคน ภายใต้การนำของพรรคสังคมนิยมบอล์เชวิคของ เลนิน มันเป็นการพิสูจน์ว่าเราสามารถสร้างระบบสังคมนิยมโลกได้

เยอรมันลุกเป็นไฟ ตามด้วยการกบฏในประเทศอื่น

กระแสปฏิวัติในยุโรประเบิดขึ้นแค่หนึ่งปีหลังจากการปฏิวัติรัสเซีย ในปี 1918     เมื่อกองทัพเรือเยอรมันถูกสั่งให้บุกอังกฤษ ทหารเรือกบฏไม่ยอมไปตายฟรี มีการเดินขบวนของทหารเรือติดอาวุธร่วมกับคนงานท่าเรือที่เมือง เคียล์ หลังจากนั้นมีการตั้งกรรมการทหาร ในเมือง บเรเมน, แฮนโนเวอร์, โคโลน, ไลป์ซิก, ดเรสเดน และเมืองอื่นๆ อีกมากมาย ทหารกับคนงานยึดเมือง ใน มิวนิค มีการประกาศตั้งสาธารณรัฐโซเวียดของแคว้น บาวาเรีย ซึ่งอยู่ได้หลายเดือน ส่วนในเมืองหลวง เบอร์ลิน ทหารติดอาวุธร่วมกับกรรมาชีพถือธงแดงในการเดินขบวน และนักสังคมนิยมอย่าง คาร์ล ลีบนิค ก็ปรากฏตัวที่ระเบียงพระราชวังและประกาศว่ามีการก่อตั้ง “สาธารณรัฐสังคมนิยม” และเริ่มกระบวนการ “ปฏิวัติโลก” ซึ่งทำให้กษัตริย์ไคเซอร์ต้องหนีออกนอกประเทศทันที

ต่อมามีการตั้งคณะสภากรรมาชีพและทหาร ซึ่งแต่งตั้งรัฐบาลปฏิวัติอันประกอบไปด้วยสองพรรคสังคมนิยม แต่พรรคเหล่านั้นนำโดยคนที่ไม่ใช่นักปฏิวัติ พรรค SPD เดิมสนับสนุนสงคราม เพราะเป็นพรรคปฏิรูปที่ต้องการปกป้องรัฐเก่ามาตลอด ส่วนพรรค USP ประกอบไปด้วยผู้นำที่คัดค้านสงครามและเอียงซ้ายมากกว่าพวก SPD แต่ก็ยังสองจิตสองใจเรื่องการปฏิวัติ คือแกว่งไปแกว่งมาระหว่างการปฏิวัติกับการปฏิรูประบบเดิม มีแต่ “กลุ่มสันนิบาตสปาร์ตาคัส” ของ โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค เท่านั้นที่ชัดเจนว่าต้องปฏิวัติสังคมนิยม แต่กลุ่มนี้พึ่งแยกตัวออกจากพวกพรรคปฏิรูปก่อนหน้านี้ไม่นาน เลยขาดมวลชนและประสบการณ์

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของเยอรมันจากพรรค SPD จับมือทันทีกับพวกนายพลเก่าเพื่อ “สร้างความสงบเรียบร้อย” และการสร้างความสงบเรียบร้อยสำหรับระบบทุนนิยม แปลว่าต้องจัดการกับนักปฏิวัติ อย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค กับ คาร์ล ลีบนิค ด้วยการฆ่าทิ้ง

ในปลายเดือนธันวาคม 1918 รัฐมนตรีมหาดไทย นอสก์ จากพรรค SPD ตัดสินใจสร้างกองกำลังทหารรับจ้าง “ไฟรคอพส์” ที่ประกอบไปด้วยพวกอนุรักษ์นิยมคลั่งชาติ เพื่อตระเวนไปทั่วเยอรมันและปราบปรามทำลายขบวนการแรงงานและนักสังคมนิยม บางหน่วยของกองกำลังนี้เริ่มใช้ธงสวัสติกะ ซึ่งต่อมากลายเป็นสัญญลักษณ์นาซี

ปัญหาของนักสังคมนิยมปฏิวัติเยอรมันคล้ายกับปัญหาในส่วนอื่นของยุโรป เพราะพรรคสังคมนิยมทั้งหลาย ไม่เคยต้องเผชิญหน้ากับการลุกฮือของมวลชนที่ตั้งคำถามรูปธรรมในโลกจริงว่าจะปฏิวัติหรือปฏิรูป ในช่วงนี้นักปฏิวัติในรัสเซียพยายามสร้างองค์กรสากล เพื่อตั้งพรรคปฏิวัติที่แยกตัวออกจากพรรคปฏิรูปในทุกประเทศของยุโรปและที่อื่น แต่มันใช้เวลาและสายเกินไปที่จะช่วยพยุงหรือหนุนการปฏิวัติในรัสเซียได้

ในเดือนเมษายน 1919 กรรมาชีพและคนตกงานพยายามยึดรัฐสภาในประเทศออสเตรีย และในฮังการี่มีการยึดอำนาจโดยฝ่ายสังคมนิยมและประกาศตั้ง “รัฐโซเวียด” แต่ในทั้งสองกรณีการลุกฮือถูกหักหลังโดยพรรคสังคมนิยมปฏิรูปที่พูดซ้ายแต่ปฏิบัติตรงข้าม

ในกองทัพอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐ มีการกบฏต่อผู้บังคับบัญชา และในอังกฤษ สหรัฐ คานาดา เกิดกระแสนัดหยุดงานอย่างดุเดือด แม้แต่ตำรวจในบางพื้นที่ของอังกฤษก็ยังหยุดงานในสเปน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ มีการนัดหยุดงานและยึดเมืองต่างๆ แต่ถูกรัฐบาลปราบปรามอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน

ในอิตาลี่ ระหว่างปี 1919 กับ 1920 มีการนัดหยุดงานทั่วไปและตั้งคณะกรรมการโรงงานโดยกรรมาชีพ เพื่อคุมโรงงาน กระแสนี้ได้รับการสนับสนุนโดยนักมาร์คซิสต์อย่าง อันโตนิโอ กรัมชี่ และหนังสือพิมพ์ “ระเบียบใหม่” ของเขา แต่การต่อสู้ของกรรมาชีพ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขยายไปสู่การปฏิวัติ ถูกหักหลังโดยพรรคสังคมนิยมที่ปลีกตัวออกไม่สนับสนุน และโดยผู้นำสหภาพแรงงานระดับสูง ที่มองว่าต้องสู้แต่ในเรื่อง “ปากท้อง” เท่านั้นความล้มเหลวของการปฏิวัติลุกฮือในอิตาลี่สร้างความหดหู่ พร้อมกันนั้นนายกรัฐมนตรีพรรคเสรีนิยมตัดสินใจสนับสนุนให้ มุสโสลีนี สร้างขบวนการฟาสซิสต์ขึ้นมาด้วยทุนจากรัฐและนายทุนใหญ่ เพื่อคานฝ่ายซ้ายและนักปฏิวัติ พอถึงปลายปี 1922 มุสโสลีนี  สามารถยึดอำนาจและสร้างรัฐเผด็จการฟาสซิสต์ได้สำเร็จ

การกบฏในอาณานิคม

ประชาชนในอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก ไม่เคยยินยอมพอใจกับการถูกปกครอง อินเดียเป็นอาณานิคมที่สำคัญที่สุดของอังกฤษ ขบวนการกู้ชาติเริ่มก่อตัวในรูปแบบ “พรรคคองเกรสของชาติอินเดีย” หรือที่เรียกสั้นๆว่า “คองเกรส” ซึ่งมีแกนนำเป็นชนชั้นกลางกับนายทุนพื้นเมือง ในยุคนั้นชนชั้นสูงพื้นเมืองแยกเป็นสองส่วนระหว่างพวกที่ต้องการร่วมมือกับอังกฤษ และพวกที่ต้องการเอกราช

มหาตมะคานธี เป็นทนายความชนชั้นกลางที่กลับมาจากอัฟริกาใต้ในปี 1915 และทั้งๆ ที่ มหาตมะคานธี ขึ้นชื่อภายหลังว่าต่อต้านการใช้ความรุนแรง ตอนนั้นเขาสนับสนุนการทำสงครามของอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และใกล้ชิดกับนายทุนพื้นเมืองอินเดียที่ต้องการให้ พรรคคองเกรส ปกป้องตลาดภายในอินเดียที่จะเป็นอิสระในอนาคต เพื่อประโยชน์ของนายทุน

ระหว่าง 1918-1920 มีคลื่นการนัดหยุดงานของกรรมาชีพ โดยเฉพาะคนงานสิ่งทอในเมือง มุมบาย และมีการประท้วงความอดอยากในเมืองหลักๆ ของอินเดีย รัฐบาลอังกฤษโต้ตอบและปราบปรามการเคลื่อนไหวเหล่านี้อย่างรุนแรง ซึ่งเพิ่มความโกรธแค้นของมวลชน ในปี 1920 มีการนัดหยุดงาน 200 ครั้งโดยคนงานทั้งหมด 1.5 ล้านคน

ไอร์แลนด์ เป็นอาณานิคมที่เก่าแก่ที่สุดของอังกฤษ ในปี 1916 มีการลุกฮือจับอาวุธกบฏต่ออังกฤษในเมือง ดับลิน การกบฏครั้งนี้ประกอบไปด้วยสององค์กรหลักคือ “ขบวนการสาธารณรัฐ” ของคนชั้นกลางนำโดย พาดเดรก เพียร์ส และ “กองทัพพลเมืองไอร์แลนด์” ซึ่งเป็นกองกำลังกรรมาชีพเพื่อปกป้องการนัดหยุดงาน กองกำลังนี้นำโดยนักสังคมนิยมไอร์แลนด์ชื่อ เจมส์ คอนโนลี่ และถึงแม้ว่าการกบฏนี้ล้มเลวเพราะมีความผิดพลาดในการวางแผน และผู้นำจำนวนมากถูกประหารชีวิต แต่มันกลายเป็นประกายไฟที่จุดการต่อสู้รอบใหม่ในไอร์แลนด์ และจุดการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมทั่วโลก

ที่ อียิปต์ ในปี 1919 มีการทำแนวร่วมระหว่างพวกกู้ชาติชนชั้นกลางและขบวนการแรงงาน เพื่อต่อสู้กับอังกฤษ และเมื่ออังกฤษเสนอการปฏิรูปเล็กๆ น้อย “พรรควาฟด์” ของพวกชนชั้นกลาง ก็ประนีประนอมกับอังกฤษและหักหลังขบวนการแรงงาน ต่อมาพอ “พรรควาฟด์” ห่างเหินจากมวลชนแรงงาน อังกฤษก็จัดการปราบปรามจนพรรคหมดสภาพ

ในปี 1911 ที่จีน มีการกบฏของทหารต่อราชวงศ์ชิง (แมนชู) และมีการประกาศตั้งสาธารณรัฐภายใต้ประธานาธิบดี ซุนยัดเซน แต่รัฐบาลล้มภายในหนึ่งเดือนและนายพลในกลุ่มอำนาจเก่าขึ้นมาเป็นเผด็จการแทน ประเทศจีนถูกแยกเป็นเขตต่างๆ ภายใต้ขุนศึกหรืออำนาจต่างชาติ ต่อมาในวันที่ 4 พฤษภาคม 1919 มีข่าวจากการประชุมแวร์ไซในฝรั่งเศส ว่าฝ่ายที่ชนะสงครามโลกได้ประกาศยกพื้นที่จีนที่เคยปกครองโดยเยอรมันให้ญี่ปุ่น คำประกาศนี้ถือว่าเป็นการหักหลังชาวจีน     นักศึกษาเป็นผู้จุดประกายการปฏิวัติ โดยมีปัญญาชนเข้าร่วม และคนจำนวนมากได้รับอิทธิพลจาก “พรรคก๊กมินตั๋ง” ของ ซุนยัดเซน ในขณะเดียวกันการปฏิวัติรัสเซียส่ร้างอิทธิพลให้มวลชนอีกส่วนหนึ่งหันมาสนใจความคิดสังคมนิยมมาร์ซิสต์ซึ่งสอดคล้องกับการรุกสู้ของชนชั้นกรรมาชีพจีน มีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์

ในปี 1922 คนเดินเรือ 2,000 คนที่ฮ่องกงเริ่มนัดหยุดงาน และลามไปสู่การนัดหยุดงานทั่วไปของคนงานฮ่องกง 120,000 คน และทั้งๆ ที่ผิดกฏหมาย การนัดหยุดงานครั้งนี้ได้รับชัยชนะ ต่อมาในปี 1924 ซุนยัดเซน ตั้งรัฐบาลกู้ชาติที่เมือง กวางตุ้ง ซึ่งอาศัยการร่วมมือกันกับกองกำลังคนงานของพรรคคอมมิวนิสต์ ในปี 1925 มีการนัดหยุดงานทั่วไปที่เมือง เซี่ยงไห้ และฮ่องกง โดยมีข้อเรียกร้องชาตินิยมและข้อเรียกร้องปากท้อง ใน เซี่ยงไห้ กรรมกรกลายเป็นอำนาจหลักในการบริหารเมืองชั่วคราว

ในปี 1926 กองกำลังของ ก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์ ยกทัพจาก กวางตุ้ง ไปทางเหนือเพื่อยึด ฮูเบ และฮูนัน โดยผู้นำกองทัพคือนายพล เชียงไกเชค ในเดือนมีนาคมกองทัพของ เชียงไกเชค มาถึง เซี่ยงไห้ และภายในเมืองมีการลุกฮือของกรรมาชีพและนัดหยุดงานทั่วไป เชียงไกเชคและพรรคก๊กมินตัง ซึ่งเป็นพวกชนชั้นนายทุนพื้นเมือง พร้อมจะใช้ขบวนการแรงงานและพวกคอมมิวนิสต์ในการยึดเมือง แต่พอกรรมาชีพมอบอำนาจให้ เชียงไกเชค เรียบร้อยแล้ว มีการปล่อยอันธพาลฝ่ายขวาไปฆ่าคอมมิวนิสต์และนักสหภาพแรงงานอย่างป่าเถื่อนจนไม่เหลือซาก

สรุป

สงครามที่เราเห็นในโลกสมัยใหม่ ไม่ได้เกิดจากความขัดแย้ง “ธรรมชาติ” ของมนุษย์ แต่เกิดจากการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มทุนต่างๆ ที่อาศัยรัฐของเขา ในการทำสงครามทั่วโลก ถ้าจะยุติสงครามอย่างจริงจัง เราต้องล้มระบบทุนนิยม และสร้างระบบใหม่แห่งความสมานฉันท์ระหว่างกรรมาชีพทุกชนชาติ อย่างไรก็ตามการปฏิวัติล้มทุนนิยมย่อมไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะมีโอกาสทองของวิกฤตการเมืองหรือการลุกฮือของมวลชนมากแค่ไหน ถ้าเราไม่ลงมือสร้างพรรคปฏิวัติของกรรมาชีพ และถ้าเราไม่ต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับแนวคิดชาตินิยมที่พาคนจำนวนมากไปจงรักภักดีกับชนชั้นนายทุนในแต่ละประเทศ

ลัทธิเศษกระดาษของคณะทหาร

ใจ อึ๊งภากรณ์

คณะทหารเถื่อนของไทยมองว่าถ้านำเศษกระดาษ ที่มีการ “ตัดแปะ” บางประโยค มาทำให้ “ศักดิ์สิทธิ์” แล้วประชาชนไทยจะเชื่อว่าเป็น “กฏหมายหรือรัฐธรรมนูญ”

ลองนึกภาพ….มีคณะโจรไปปล้นบ้านคน แล้วหาเศษกระดาษมาเขียนว่า “ทุกอย่างที่เราทำมันมีความชอบธรรม”

ถามว่าใครในประเทศไทยจะเชื่อว่ามีความชอบธรรม นอกจากพวกประจบสอพลอ?

ใน “รัดทำนูน” ฉบับทหารอันนี้ ไม่มีอะไรมาก ประเด็นที่หนึ่งคือประยุทธ์ยืนยันว่ามันเป็นใหญ่เหนือทุกอย่าง ประเด็นที่สองที่สองคือนิรโทษกรรมให้ผู้ทำรัฐประหาร และความชั่วทุกอย่างที่ทำไปแล้วและจะทำในอนาคต ประเด็นที่สามคือจะไม่มีการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้

แล้วลงท้ายด้วยตลกร้ายว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย”

น่าสมเพช

อนาคตการเมืองบราซิลหลังฟุตบอล์โลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

รัฐบาลบราซิลเคยหวังว่าการทุ่มเทงบประมาณมหาศาลกับการจัดบอล์โลก จะนำไปสู่การปลุกกระแสชาตินิยม โดยเฉพาะถ้าทีมบราซิลชนะ และกระแสชาตินิยมดังกล่าวจะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมให้กับรัฐบาลพรรคกรรมกร (PT) และประธานาธิบดี ดิลมา รุสเซฟ เพราะในเดือนตุลาคมจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะจัดงานแข่งบอล์โลก ประชาชนจำนวนมากก็ออกมาประท้วงค่าใช้จ่าย และประท้วงการที่รัฐบาลไม่ยอมพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และระบบสาธารณสุข จนประธานาธิบดี ดิลมา ต้องออกมาประกาศจัดประชามติเรื่องการปฏิรูประบบ และสัญญาว่าจะเพิ่มงบประมาณการขนส่งและระบบสาธารณสุข และหลังจากความพ่ายแพ้ของทีมบราซิล ความไม่พอใจในรัฐบาลคงเพิ่มขึ้น

ถ้าเราจะเข้าใจกระแสความไม่พอใจรัฐบาลในบราซิล เราต้องเข้าใจว่ามันมาจากสองขั้วทางการเมือง คือมาจากทางซ้ายและมาจากทางขวา

ฝ่ายขวาไม่พอใจรัฐบาลพรรคแรงงานมานาน ตั้งแต่ชัยชนะของประธานาธิบดี “ลูลา” ในปี 2002 และฝ่ายขวามีอิทธิพลในสื่อมวลชน เพราะนายทุนสื่อมักจะต่อต้านรัฐบาล ในปัจจุบันพวกฝ่ายขวาและชนชั้นกลางบราซิล มักจะยกเรื่อง “การคอร์รับชั่น” มาจุดประกายการประท้วง ซึ่งการโกงกินในหมู่นักการเมืองพรรคแรงงานมีจริง แต่มันเป็นข้ออ้างง่ายๆ แบบนามธรรม ของฝ่ายขวาทั่วโลกเสมอ และมันไม่มีหลักประกันว่านักการเมืองฝ่ายค้านจะไม่โกงกิน

พรรคแรงงานบราซิลมีต้นกำเนิดในยุค 1970 สมัยที่ยังมีเผด็จการทหาร ในตอนต้นมีสมาชิก 8 แสน และเป็นแนวร่วมกับสภาแรงงาน CUT ที่มีสมาชิก 20 ล้าน ข้อเรียกร้องหลักตอนนั้นจะเป็นเรื่องประชาธิปไตยและเรื่องปากท้อง โดยที่พรรคแรงงานถือว่าเป็นพรรคซ้ายก้าวหน้า

ขบวนการเกษตรกรไร้ที่ดิน MST ก็เป็นแนวร่วมหลวมๆ แต่ 85% ของประชากรบราซิลอาศัยในเมือง ดังนั้นสหภาพแรงงานมีความสำคัญมากกว่าขบวนการเกษตรกร

หลังจากที่เผด็จทหารการหมดไปในช่วง 1980 พรรคแรงงานเริ่มเดินเข้ากรอบการเมืองกระแสหลัก และเสนอนโยบายแบบพรรคสังคมนิยมปฏิรูปอ่อนๆ คือเลิกเป็นพรรคสังคมนิยมก้าวหน้า ในช่วง 1990 มีการยอมรับแนวเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาดตามกระแสทั่วโลก มีการโจมตีฝ่ายซ้ายภายในพรรค และเน้นเอาใจชนชั้นกลาง

ในปี 2002 “ลูลา” อดีตผู้นำสหภาพแรงงานเหล็ก เปลี่ยนจากการใส่เสื้อยืด ไปเป็นการใส่สูท เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองเป็นนักการเมืองในกรอบ และลูลาก็ชนะการเลือกตั้งภายใต้การหาเสียงว่าจะบริหารเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด

พรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน และในขณะที่เอาใจนายทุนใหญ่ และเพิ่มความร่ำรวยให้กับคนมั่งมี ก็มีการกระจายรายได้ไปสู่คนจนบ้าง มีการจัดสวัสดิการและเพิ่มค่าแรงด้วย นอกจากนี้มีการขยายมหาวิทยาลัยให้ลูกคนจนเข้าเรียน แต่ในรูปธรรมรัฐบาลจัดงบประมาณไม่เพียงพอ จึงมีปัญหาเรื่องคุณภาพและคนจนต้องจ่ายค่าเรียนด้วย ในยุคนี้ฐานะของสตรีและคนผิวดำก็ดีขึ้นบ้าง

การกระตุ้นพลังซื้อของคนชั้นล่าง เป็นวิธีที่รัฐบาลจะเอาใจนายทุนที่ผลิตสินค้าเพื่อขายภายในประเทศ และเป็นการช่วยคนจนด้วยพร้อมๆ กัน

ในช่วงหลังๆ ฐานเสียงของพรรคมักจะเป็นคนจนกับคนหนุ่มสาว ส่วนคนชั้นกลางมองว่ารัฐบาลไม่ได้ช่วยอะไร

หลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 บราซิลได้ผลกระทบมากพอสมควร ความหวังของคนชั้นล่างที่จะเห็นการพัฒนาของชีวิตอย่างต่อเนื่อง เริ่มจางหายไป และคนชั้นกลางก็ไม่พอใจอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

ปัญหาสำคัญคือ ในเมื่อพรรคหรือองค์กรของฝ่ายซ้ายสังคมนิยมเล็กและอ่อนแอ ฝ่ายซ้ายไม่สามารถจะเสนอทางเลือกที่ดีกว่าพรรคแรงงานในลักษณะที่คนจำนวนมากจะเชื่อถือได้ ฝ่ายขวาและชนชั้นกลางจึงมีอิทธิพลในหมู่คนที่ไม่พอใจรัฐบาล แต่ถ้าฝ่ายซ้ายจะสกัดกั้นไม่ให้รัฐบาลนายทุนเข้ามาบริหารประเทศในอนาคต ฝ่ายซ้ายจะต้องชัดเจนเรื่องความสัมพันธ์กับพรรคแรงงาน จะต้องกล้าวิจารณ์พรรคแรงงาน และต้องขยันสร้างแนวร่วมกับขบวนการแรงงานในสภาแรงงาน เพื่อเสนอทางเลือกที่ดีกว่าพรรคแรงงานสำหรับคนส่วนใหญ่

การปฏิวัติอียิปต์ ปัญหาการนำ

ในงาน “มาร์คซิสม์ 2014” ผู้แทนของ “องค์กรสังคมนิยมปฏิวัติอียิปต์” เล่าให้นักสังคมนิยมอังกฤษฟังถึงปัญหาการนำทางการเมือง ที่เปิดโอกาสให้ทหารทำรัฐประหารและชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี

รากกำเนิดของปัญหา เริ่มตั้งแต่การล้ม มูบารัก เพราะในตอนนั้นทั้งๆ ที่กระแสการชุมนุมถูกเริ่มต้นโดยนักปฏิวัติและคนหนุ่มสาว เมื่อดูเหมือนว่า มูบารัก จะแพ้ และอาจมีการลามไปสู่การล้มรัฐเก่าของชนชั้นปกครอง พวกสายปฏิรูปก็ก้าวเข้ามา ในขณะเดียวกันกลุ่มปฏิวัติต่างๆ เล็กเกินไปที่จะแข่งแนวกับพวกนี้ได้

องค์กรทางการเมืองที่เป็นสายปฏิรูปเหล่านี้มีสองกลุ่มคือ พรรคมุสลิม และฝ่ายซ้ายเก่าที่ออกแนวชาตินิยม ซึ่งรวมถึงพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย พวกนี้อยากเห็น มูบารัก ออกไป แต่ไม่เคยสู้อย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญคือ พอ มูบารัก ถูกล้ม เขาเข้ามาเพื่อระงับกระแสปฏิวัติ สิ่งที่เขาต้องการคือการมีส่วนร่วมในรัฐผ่านการเลือกตั้ง โดยไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง เขาเลยหันมาปกป้องรัฐ

ในสภาพเช่นนี้ ฝ่ายปฏิกิริยาในอียิปต์ เช่นพรรคพวกเก่าของ มูบารัก และพวกทหาร ก็เริ่มวางแผนเพื่อทำการปฏิวัติซ้อนและกลับคืนสู่อำนาจ ในช่วงแรกพวกนี้ปลด มูบารัก เพื่อการสังเวยและให้เป็นแพะรับปาบแทนพวกเขา เพราะมองเห็นว่าการลุกฮือต้านรัฐบาลมีพลังมาก โดยเฉพาะเมื่อคนงานทั่วประเทศนัดหยุดงาน

หลังจากที่พรรคมุสลิมชนะการเลือกตั้ง และ มูรซี่ ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีใหม่ พรรคมุสลิมก็เริ่มจับมือกับทหารและสหรัฐอเมริกา และหันมาปราบปรามนักสังคมนิยมแนวปฏิวัติ กลุ่มคนหนุ่มสาว และสหภาพแรงงานที่กล้าต่อสู้ ดังนั้นจะเห็นว่าระหว่างปี 2011 ถึง 2013 ความขัดแย้งหลักกลายเป็นการปะทะกันระหว่างสายปฏิรูปกับสายปฏิวัติ แต่ที่น่าเสียดายคือคนหนุ่มสาวสายปฏิวัติ ยกเว้น“องค์กรสังคมนิยมปฏิวัติอียิปต์” ปล่อยให้ขบวนการแรงงานถูกปราบและข่มขู่โดยที่ไม่ทำอะไร ทั้งนี้เพราะกลุ่มคนหนุ่มสาวที่เคยไปชุมนุมที่จตุรัส ทาห์เรีย ไม่เข้าใจเรื่องชนชั้นและความสำคัญของขบวนการแรงงาน

สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความห่างเหินระหว่างแรงงานกับสายปฏิวัติส่วนใหญ่ และนำไปสู่สภาพที่พรรคมุสลิมทำหน้าที่ปราบสายปฏิวัติแทนพวกอำนาจเก่า

ดังนั้นเมื่อประชาชนเป็นล้านๆ เริ่มไม่พอใจกับนโยบาย “ไม่เปลี่ยนอะไร” ของประธานาธิบดี มูรซี่ และการใช้อำนาจเผด็จการของเขา ฝ่ายอำนาจเก่าก็ถือโอกาสเขี่ยพรรคมุสลิมออกไป พวกนี้ฉวยโอกาสไฮแจกขบวนการต้านรัฐบาลแล้วทำรัฐประหาร ที่น่าเสียดายด้วยคือฝ่ายซ้ายปฏิรูปที่ออกแนวชาตินิยม ก็ออกมาเชียร์ทหาร และมีผู้นำสหภาพแรงงานบางคนเข้าไปร่วมมือกับทหารด้วย

ทหารและกลุ่มอำนาจเก่า “ใช้แล้วทิ้ง” พวกสายปฏิรูปทั้งหลาย และปราบปรามพรรคมุสลิมอย่างหนัก จนในที่สุดสามารถใช้กลไกเลือกตั้งเพื่อให้นายพล ซีซิ ขึ้นมาเป็นประธานาธบดีได้ พวกประจบสอพลอก็พากันชื่นชมนายพลคนนี้ว่าเป็น “ท่านผู้นำที่เซ็กซี่ที่สุดในโลก”

ในอียิปต์ตอนนี้มีนักโทษการเมือง 41,000 คน และหลายคนกำลังจะถูกประหารชีวิต มีการทรมานนักโทษในคุกด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงพ่ายแพ้ชั่วคราวของการปฏิวัติ มันมีสิ่งที่เป็นความหวังสามประการคือ ปัญหาปากท้องและความเหลื่อมล้ำที่นำไปสู่การลุกฮือล้ม มูบารัก ยังไม่ถูกแก้ไขเลย ขบวนการแรงงานยังมีพลัง และคนหนุ่มสาวที่สนับสนุนแนวปฏิวัติสังคมนิยมก็เพิ่มขึ้น

ภารกิจหลักของนักสังคมนิยมปฏิวัติในช่วงนี้ คือการสร้างพรรคปฏิวัติเพื่อเสนอการนำที่จะล้มอำนาจเก่า และการจับมือเชื่อมโยงกับขบวนการแรงงาน มันเป็นภารกิจที่ต้องค่อยๆ ทำภายใต้สภาวะเผด็จการเพื่อรอวันข้างหน้า และเพื่อหวังว่าเมื่อมีการลุกฮืออีกครั้ง สายปฏิวัติจะมีอิทธิพลมากกว่าพวกที่พาสังคมไปยอมจำนน

ทำไมทหารอยากได้เรือดำน้ำ?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถ้าเราศึกษาเรื่อง “จักรวรรดินิยม” จากอดีตถึงปัจจุบัน เราจะเข้าใจว่ามันเป็นระบบรัฐต่างๆ ทั่วโลก ที่มีบางรัฐที่เข้มแข็งกว่ารัฐอื่น ทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านการทหาร และ “รัฐใหญ่” ที่มีอำนาจมักจะใช้อำนาจนั้นเพื่อบังคับข่มขู่ “รัฐเล็ก” นอกจากนี้ในอดีตมีการยึดดินแดนไปเลย แต่ตอนนี้หันมาเน้นการเบ่งอำนาจเพื่อบังคับนโยบายที่เป็นประโยชน์กับมหาอำนาจมากกว่า

มหาอำนาจรุ่นแรกคืออังกฤษ และที่น่าสนใจคืออังกฤษอาศัยกองทัพเรือเป็นเครื่องมือหลักในการปกป้องเส้นทางขนส่งสินค้า และเพื่อใช้เรือรบเป็น “ฐานทัพเคลื่อนที่พร้อมปืนใหญ่” ในการข่มขู่ประเทศอื่นทั่วโลก และอังกฤษอาศัยการที่ตนเองเป็นมหาอำนาจในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด เพื่อการผลิตอาวุธเหนือรัฐอื่น

ต่อมาเยอรมันและสหรัฐเริ่มสร้างกองทัพเรือเพื่อแข่งกับอังกฤษ และนี่เป็นสาเหตุสำคัญของการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และสงครามโลกครั้งที่สองหลังจากนั้น

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐกลายเป็นมหาอำนาจหลักที่มีกองทัพเรือที่ใหญ่ที่สุด คู่แข่งสำคัญตอนนั้นคือรัสเซีย แต่พอสงครามเย็นยุติลง และอำนาจรัสเซียลดลง สหรัฐกลายเป็นมหาอำนาจที่มีกองทัพเรือเหนือทุกประเทศ

แต่ในยุคปัจจุบัน การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะในจีน นำไปสู่การที่จีนขึ้นมาเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมากที่สุดในโลก ซึ่งการที่จีนต้องการวัตถุดิบมากมายจากอัฟริกาและลาตินอเมริกา นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทวีปเหล่านั้น มีการหันหน้าไปหาจีน แทนที่จะมองยุโรปหรือสหรัฐ

เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัว และคนทำงานธรรมดาก็ไม่ได้มีชีวิตที่ดีเท่าไร แต่รัฐบาลเผด็จการจีนเร่งเพิ่มงบประมาณทหารมหาศาล จีนต้องการสร้างกองทัพเรือที่ยิ่งใหญ่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของตนเอง ทั้งในเส้นทางการเดินเรือ เพื่อขนส่งวัตถุดิบที่จีนต้องการ และในภูมิภาคเอเชียปาซิฟิกดดยทั่วไป ซึ่งการพัฒนาทางการทหารของจีนกำลังนำไปสู่การ “ชนกัน” กับสหรัฐ นอกจากนี้นำไปสู่การปะทะกับญี่ปุ่น เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เกี่ยวกับหมู่เกาะในแถบนี้

ในญี่ปุ่นสถานการณ์ดังกล่าวเพิ่มกระแสชาตินิยมสุดขั้วในพื้นที่การเมือง

นี่คือสาเหตุที่คณะทหารไทย ที่ไม่ต้องปรึกษารัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ตัดสินใจใช้เงินภาษีประชาชน เพื่อเพิ่มงบประมาณทหาร และพัฒนากองทัพเรือให้มีเรือดำน้ำ ในขณะที่ตัดงบสาธารณสุข เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม และวางแผนไม่ขึ้นค่าจ้างในระดับที่ควร แต่เราต้องเข้าใจด้วยว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในไทยก็มีนโยบายคล้ายๆ กันเกี่ยวกับกองทัพเรือ

การแข่งขันกันระหว่างรัฐต่างๆ ในระบบจักรวรรดินิยม ไม่เคยสอดคล้องกับผลประโยชน์ประชาชนผู้ทำงานเลย เพราะเราจะเป็นผู้จ่ายและผู้ไปตาย ในขณะที่คนข้างบนกอบโกยผลประโยชน์เสมอ นี่คือบทเรียนจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่งถึงปัจจุบัน และเป็นสาเหตุที่เราต้องมองปัญหาสังคมจากแง่ชนชั้น แทนที่จะเน้นลัทธิชาตินิยม

เราคงต้องรื้อถอนโครงสร้างศาสนา

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในการสร้างประชาธิปไตย เราคงจะต้องรื้อถอน ยกเลิก หรือปฏิรูปหลายองค์กรหลายสถาบันที่เป็นอุปสรรค์ต่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย แน่นอนสถาบันหลักที่ต้องรื้อถอนคือทหาร แต่สถาบันและโครงสร้างของศาสนาพุทธคงต้องได้รับการปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคนด้วย

คนห่มผ้าเหลืองที่ใช้ชื่อหรูว่า “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์” ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ออกมาพูดชมเชยและให้กำลังใจคณะทหารเถื่อน ที่ยึดอำนาจจากประชาชน และยังพูดอีกว่าประยุทธ์มือเปื้อนเลือดมีคุณสมบัติที่ดีที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี

“พระ” ประจบสอพลอเลียเผด็จการคนนี้ ยังหน้าด้านพูดอีกว่าประชาชนควรใช้ศีล5 ในการปรองดองตามคำสั่งประยุทธ์

“สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์” คงลืมไปแล้วมั้งว่าศีล5ประกอบไปด้วยอะไร

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี งดเว้นจากฆ่า แต่ประยุทธ์มันมือเปื้อนเลือดจากการฆ่าเสื้อแดง 90 คน

๒. อทินนาทานา เวรมณี งดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้ แต่ประยุทธ์ขโมยประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของพลเมืองไทยไป

๓. กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

๔. มุสาวาทา เวรมณี งดเว้นจากการกล่าวเท็จ แต่ประยุทธ์โกหกว่า “ต้อง” ทำรัฐประหาร “เพื่อแก้ปัญหา” ในขณะที่ทหารเป็นตัวปัญหาแต่แรก

๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี งดเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

สรุปแล้วประยุทธ์ เจ้านายของ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์” กระทำผิดศีลข้อ 1,2 และ 4

ตั้งแต่ยุคเผด็จการสฤษดิ์ในอดีต มีการทำให้องค์กรศาสนาเป็นเครื่องมือรับใช้เผด็จการและอำมาตย์ ดังนั้นในการสร้างประชาธิปไตยเราคงต้องรื้อถอนองค์กรศาสนา ยกเลิกตำแหน่งพระสังฆราช และแยกศาสนาพุทธออกจากรัฐ ให้ทุกศาสนาเป็นเรื่องความศรัทธาส่วนตัว

เราต้องสู้กับเผด็จการทหาร คสช. ผ่านเรื่องปากท้อง

ในเมื่อกระแสการออกมาคัดค้านรัฐประหาร และคณะเผด็จการ คสช. ลดลง ผ่านการข่มขู่และปราบปรามนักเคลื่อนไหวจำนวนมาก ขั้นตอนการต่อสู้รอบปัจจุบันต้องขยับไปเป็นเรื่องการรณรงค์คัดค้านนโยบายเลวๆ ของ คสช. เพื่อสร้างกระแสความไม่พอใจและเพิ่มความมั่นใจให้กับนักประชาธิปไตย

ในหนังสือ “การนัดหยุดงานทั่วไปของมวลชน” โรซา ลัคแซมเบอร์ นักมาร์คซิสต์เยอรมัน-โปแลนด์ เขียนถึงการเชื่อมโยงระหว่างประเด็นปากท้องและการเมืองภาพใหญ่ เขาเสนอว่าทั้งสองเรื่องนี้สลับไปสลับมาและหนุนการสร้างกระแสซึ่งกันและกันเสมอ ที่สำคัญคือหน้าที่หลักของนักเคลื่อนไหวที่มีการจัดตั้งเป็นพรรคหรือองค์กร คือการปลุกระดมเรื่องปากท้อง และการเชื่อมทุกประเด็นให้เข้ากับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสังคมนิยม

ในไทยตอนนี้ คนก้าวหน้าควรจัดตั้งกันเป็นองค์กร และเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายแย่ๆ ของ คสช. และแนวร่วมของมันที่ต้านประชาธิปไตย ซึ่งแต่ละนโยบายให้ประโยชน์กับชนชั้นปกครองและคนรวยอย่างเห็นชัดๆ การเคลื่อนไหวแบบนี้จะทำให้เราทุกคนเห็นภาพชัดเจนว่า “ประชาธิปไตยเป็นเรื่องปากท้อง” มันเป็นการต่อสู้เพื่อ “ประชาธิปไตยที่กินได้”

ในรูปธรรม มันหมายความว่าชาวประชาธิปไตยต้องคัดค้านนโยบายที่พึ่งออกมา เช่น

1. ข้อเสนอให้ประชาชนต้อง “ร่วมจ่าย” ถึง 50% ของค่ารักษาพยาบาล และการที่คณะทหารกำลังเตรียมตัวทำลายนโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค”

2. ข้อเสนอให้งดขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสำหรับคนทำงาน ซึ่งจะทำลายความหวังว่าคนจนจะมีรายได้เพียงพอ

3. ข้อเสนอให้ กกต. สามารถตัดทิ้งเซ็นเซอร์นโยบายของพรรคการเมืองในอนาคต ถ้ามีการเลือกตั้งอีกรอบ โดยเฉพาะนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน

4. ข้อเสนอถอยหลังลงคลองให้งดการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ผ่านการงดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น

5. นโยบายที่จะนำ “ความคิดประยุทธ์” มาบรรจุในหลักสูตรการศึกษาตามโรงเรียนต่างๆ

นอกจากนี้เราต้องจับตาดูว่าคณะทหารเถื่อนจะเสนอ “การปฏิรูปแบบปฏิกูล” อะไรบ้าง ซึ่งจะนำไปสู่การลดพื้นที่ประชาธิปไตยในทุกแง่อย่างแน่นอน

สนับสนุนชาวปาเลสไตน์

ทุกคนที่รักความเป็นธรรมต้องประณามอิสราเอลที่ใช้ความรุนแรงสุดขั้วในการถล่มชาวปาเลสไตน์อีกครั้งที่กาซา

น้ำมันและเลือด ประวัติศาสตร์ปาเลสไตน์

น้ำมันในตะวันออกกลางเป็นสิ่งที่จักรสรรดินิยมต้องการควบคุมเป็นอย่างยิ่ง มหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐในยุคนี้ เป็นผู้หนุนสร้าง อิสราเอ็ล ให้เป็น “สุนัขเฝ้าพื้นที่ตะวันออกกลาง” สหรัฐทำงานอย่างใกล้ชิดกับ อิสราเอ็ล โดยให้เงินช่วยเหลือทางทหารมหาศาล อิสราเอล จึงคอยทำสงครามต่อต้านกลุ่มชาวอาหรับที่จะคัดค้านผลประโยชน์ของสหรัฐอย่างต่อเนื่อง และขยายดินแดนของตนเองโดยขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกไป ในขณะเดียวกันสหรัฐกลายเป็นผู้อุปถัมภ์ผู้นำทรราชอาหรับ เช่น กษัตริย์ซาอุ และพวกเผด็จการในประเทศอื่นๆ

“ไซออนนิสต์” (Zionist) แนวคลั่งชาติปฏิกิริยาสุดขั้ว

ยิวสาย ไซออนนิสต์ คือพวกฝ่ายขวาชาตินิยมจัด พวกนี้มองว่ายิวอยู่กับคนอื่นอย่างสันติไม่ได้เพราะเขาเชื่อว่าเชื้อชาติที่ต่างกันย่อมฆ่ากันหรือขัดแย้งกันเสมอ ดังนั้นเขาเสนอว่าต้องสร้างชาติ “บริสุทธิ์” ของตนเองขึ้นมา จริงๆ แล้วแนวคิดนี้ใกล้เคียงกับแนวคิดของพวกฟาสซิสต์หรือนาซีที่แสวงหาเชื้อชาติ “บริสุทธิ์” โดยการฆ่าคนยิวในยุโรป บางคนอาจแปลกใจเมื่อค้นพบว่านักการเมืองต่างๆ ในพรรครัฐบาลปัจจุบันของอิสราเอ็ลสืบทอดความคิดจากกลุ่มฟาสซิสต์ ทั้งๆ ที่ฟาสซิสต์ในยุโรป เกลียดชังและฆ่ายิว แต่จริงๆ แล้วนี่คือลักษณะสองด้านของเหรียญเดียวกันของพวกฝ่ายขวา

รัฐไซออนนิสต์ อิสราเอ็ล ถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ที่มีคนอื่นอาศัยอยู่ คือพื้นที่ที่ชาวปาเลสไตน์และชาวยิวเคยอาศัยร่วมกัน ดังนั้นรัฐเชื้อชาติเดียวที่ถูกสร้างขึ้นต้องอาศัยการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านเกิด และการฆ่าชาวปาเลสไตน์ตลอด

เราต้องสมานฉันท์กับชาวปาเลสไตน์

การต่อสู้อันยาวนานของชาวปาเลสไตน์เป็นการต่อสู้ที่ควรให้กำลังใจกับผู้ถูกกดขี่ทุกคนทั่วโลก เพราะเป็นการต่อสู้ที่ไม่เคยยอมแพ้ทั้งๆ ที่เผชิญหน้ากับกำลังอาวุธของอิสราเอ็ลที่เหนือกว่าเสมอ และได้รับการหนุนหลังโดยจักรสรรดินิยมอเมริกา

ในประเทศไทยเราควรทำอะไรบ้าง? เราควรคัดค้านความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับ อิสราเอ็ล ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในระดับรัฐบาล สถาบันการศึกษา หรือธุรกิจ และเราควรจะทำความเข้าใจและให้ข้อมูลกับกรรมาชีพและคนจนที่คิดจะไปหางานทำในอิสราเอ็ล เพราะผืนแผ่นดินอิสราเอ็ลเปื้อนเลือดของพี่น้องชาวปาเลสไตน์มานานพอแล้ว

การปฏิวัติฝรั่งเศส

โดย C. H.

ในปีค.ศ. 1789 กษัตริย์หลุยส์ที่ 16 เรียกให้มีการประชุมของ “สามสภา” (สภาพระ สภาขุนนาง และสภาสามัญชน) เพื่อหาทางเก็บภาษีเพิ่มเพื่อจ่ายหนี้ของรัฐบาล แต่ผู้แทนของสภาสามัญชน ซึ่งประกอบไปด้วยคนระดับกลางๆ ไม่ยอมก้มหัวให้พวกชั้นสูง และเมื่อกษัตริย์สั่งให้ปิดการประชุม เขาก็ย้ายไปประชุมในสนามเทนนิสและประกาศตั้งเป็น “สภาแห่งชาติ”   พวกคนชั้นกลางในระยะแรกมองว่าต้องแค่ “ปฏิรูป” การปกครองโดยคงไว้ระบบกษัตริย์ พวกนี้ขัดขวางการขยายสิทธิในการเลือกตั้งไปสู่คนธรรมดาระดับล่างด้วย เริ่มมีการก่อตั้งสมาคมต่างๆ เพื่อถกเถียงแลกเปลี่ยนการเมือง เช่นสมาคม จัคโคบิน ซึ่งมีผู้นำสำคัญชื่อ โรบสเบียร์     แต่ท่ามกลางวิกฤตการเมืองและความขัดแย้ง พวกคนจนในเมือง (sans-culottes) กับเกษตกรยากจน ไม่ได้เพิกเฉย มีการร่วมตัวกันและปลุกระดมมวลชนระดับล่างให้ออกมาต่อสู้ โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวว่ากษัตริย์จะทำรัฐประหารเพื่อปราบปรามสภาแห่งชาติ ในโอกาสนั้นมวลชนชั้นล่างบุกเข้าไปยึดป้อม บาสเตียล ที่เป็นคุกและคลังแสงอาวุธ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ 14 ก.ค.

หลังจากนั้นไม่นาน มวลชนสตรีจากย่านยากจนในเมืองปารีส ซึ่งไม่พอใจกับปัญหาข้าวของขาดแคลนและราคาแพง ออกมาเดินขบวนและชักชวนให้ผู้ชายติดอาวุธสองหมื่นคน ร่วมกันเดินไปที่วังแวร์ไซ เพื่อจับกษัตริย์และลากกลับมาที่ปารีส     ในปี 1791 ความไม่พอใจของคนชั้นล่างกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมเพิ่มขึ้น และขณะที่คนจำนวนมากเข้าแถวเพื่อลงชื่อเรียกร้องให้ตั้งสาธารณรัฐ “กองกำลังแห่งชาติ” ภายใต้การนำของคนชั้นกลาง ก็กราดยิงประชาชนตายไปห้าสิบศพ การปราบปรามของฝ่ายชนชั้นกลางที่สองจิตสองใจเกี่ยวกับระบบกษัตริย์ไม่ได้ผล มีการลุกฮือรวมตัวกันของคนจนในเมืองและคนชั้นกลางที่ต้องการปฏิวัติอย่างถอนรากถอนโคน แกนนำตอนนี้กลายเป็นคนอย่าง โรบสเบียร์ และในที่สุดสภาใหม่ ที่ได้รับการเลือกตั้งจากพลเมืองชายทุกคน ก็ประกาศก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสผ่านการยกเลิกและประหารชีวิตกษัตริย์ และการยกเลิกระบบฟิวเดิล     การปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้จบลงเร็วๆ มีการเดินหน้าบ้าง ถอยหลังบ้าง ผลของการปฏิวัติเปิดทางให้มีการพัฒนาระบบทุนนิยมเต็มใบ และผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือนายทุนใหญ่ซึ่งไม่เคยมีความกล้าหาญที่จะนำการปฏิวัติแต่แรก พวกนายทุนจัดการกับคนก้าวหน้าอย่างโรบสเบียร์ แล้วจึงหันไปพึ่งเผด็จการกองทัพภายใต้การนำของนายทหารหนุ่มชื่อ นโปเลียน โบนาพาร์ท

พวกฝ่ายขวาประจบสอพลอเลียทหาร เผยธาตุแท้ที่เกลียดคนจน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ตอนนี้เราเริ่มเห็นสลิ่มประจบสอพลอเลียทหาร คลานออกมาเสนอนโยบายหมุนนาฬิกากลับ ให้สังคมถอยหลังลงคลอง

(1) แพทย์สลิ่ม ปลัดสาธารณสุข เดินหน้าทำลาย “30 บาทรักษาทุกโรค” เสนอให้ประชาชนจ่ายค่าพยาบาลถึงครึ่งหนึ่งเอง และไม่ยอมอนุมัติเบิกจ่ายยาสำคัญสำหรับโรคไวรัสตับอักเสบ และมะเร็ง

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนนี้ เคยออกแถลงการณ์ในนามประชาคมสาธารณสุข เรียกร้องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ลาออกและเร่งปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ตามแนวม็อบสุเทพ

(2) เลขาธิการ ป.ป.ช. เตรียมขอหารือ กกต. เสนอออกระเบียบหรือกฎหมายให้ทุกพรรคส่งแผนการดำเนินโครงการที่ชัดเจนให้ กกต. ตรวจสอบก่อนหาเสียง พูดง่ายๆ ทุกพรรคต้องนำนโยบายมาให้คณะกรรมการสลิ่มตรวจสอบก่อนการเลือกตั้ง พวกต้านประชาธิปไตยเกลียดชังนโยบายของไทยรักไทยที่ใช้งบประมาณรัฐเพื่อให้ประโยชน์กับประชาชนคนจนมานาน

(3) นักเศรษฐศาสตร์ TDRI เสนอว่าไม่ควรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก เหมือนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เคยทำ (ดูโพสธ์ของผมก่อนหน้านี้)

พวกคลั่งกลไกตลาดเสรีนิยม “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” เหล่านี้ มองว่าการใช้งบประมาณรัฐ ที่มาจากการเก็บภาษี เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนจน เป็นเรื่อง “ผิด” แต่การที่ทหารจะเพิ่มงบประมาณให้ตัวเอง เป็นเรื่องดี มีประโยชน์ต่อประเทศชาติ

เรื่องแบบนี้เข้าใจได้ง่าย ถ้าเราศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองพื้นฐาน และสิ่งที่น่าสังเกตคือ แนวเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมกลไกตลาด (neo-liberal) ไปได้ดีกับระบบเผด็จการ