เช กูวารา นักสู้เพื่อสังคมนิยม หรือ “วีรชนเอกชน”เพ้อฝัน ?

ใจ อึ๊งภากรณ์

คนส่วนใหญ่จากรุ่น ๑๔ ตุลา หรือคนที่คลุกคลีกับฝ่ายซ้าย คงรู้จักชื่อและใบหน้าของ เช กูวารา สหายนักสู้ของ คัสโตร ในประเทศคิวบา และคนที่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับ เช ก็อาจเคยเห็นใบหน้าของเขาบนโปสเตอร์ที่ขายตามตลาดและบนเสื้อยืดหรือแม้แต่บนหลังรถบรรทุกในเมืองไทย

che_guevara_1474x774

เช กูวารา เกิดที่ประเทศอาเจนตีนาในทวีปอเมริกาใต้เมื่อปี 1928 และเริ่มสนใจการเมืองในขณะที่เขาไปเที่ยวประเทศกวาตามาลา เพราะในช่วงนั้นสหรัฐเข้ามาแทรกแซงการเมืองกวาตามาลาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทผลไม้สหรัฐ โดยที่สหรัฐสนับสนุนการยึดอำนาจของทหารที่ล้มรัฐบาลชาตินิยมซึ่งกำลังพยายามนำธุรกิจกล้วยหอมส่งออก ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของประเทศ มาเป็นของรัฐ แทนที่จะเป็นของบริษัทต่างชาติ

เช กูวารา มองตัวเองว่าเป็นนักเคลื่อนไหว “มาร์คซิสต์” และมีนักต่อสู้คนรุ่นหลังหลายกลุ่มที่ถือเอา เช เป็นวีรบุรุษ

เราสามารถเรียนบทเรียนอะไรบ้างจากแนวทางการต่อสู้ของเช?

castro-che-afp-wb

เช ได้เข้าร่วมในปฏิวัติยึดอำนาจในประเทศคิวบาภายใต้การนำของ คัสโตร ในปี 1959 โดยที่เขาอาศัยยุทธศาสตร์การสู้รบแบบกองโจร รัฐบาลเก่าของคิวบาที่ถูกล้มเป็นรัฐบาลน้ำเน่าที่ไม่มีใครสนับสนุนเนื่องจากมีการโกงกินสุดยอดของนักการเมือง อย่างไรก็ตามในยุคก่อนการปฏิวัติคิวบา พรรคคอมมิวนิสต์คิวบา ได้สนับสนุนรัฐบาลน้ำเน่านี้ โดยหวังผลประโยชน์ทางการเมือง ฉนั้นในสมัยนั้น เช และ คัสโตร ไม่ได้สนใจพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาหรือชนชั้นกรรมาชีพในเมืองมากเท่าไร แต่เลือกใช้วิธีการยึดอำนาจของกองกำลังที่มาจากนักศึกษาและชาวนาที่ไม่มีที่ดินซึ่งตั้งขึ้นในเขตภูเขาห่างไกลจากเมือง แนวทางการต่อสู้แบบนี้ไม่ใช่แนวมาร์คซิสต์ เพราะไม่ได้อาศัยพลังชนชั้นกรรมาชีพเลย

ยุทธศาสตร์แบบกองโจรที่ เช และ คัสโตร นำมาใช้มีผลกระทบกับแนวความคิดของเขา เพราะเขามักจะมองกลไกของการสู้รบว่าสำคัญกว่าความคิดทางการเมือง อย่างไรก็ตามจุดมุ่งหมายหลักของการปฎิวัติคิวบาคือการปลดปล่อยคิวบาจากอิทธิพลของจักรวรรดินิยมอเมริกา ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจคิวบาต้องพึ่งการปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลเป็นหลัก และสหรัฐอเมริกาสามารถควบคุมการผลิตดังกล่าวอย่างผูกขาด

เมื่อรัฐบาลใหม่ของ คัสโตร ขึ้นมามีอำนาจ สหรัฐได้พยายามปิดกั้นเศรษฐกิจของประเทศเพื่อเป็นแรงกดดันให้รัฐบาลใหม่ยอมจำนนต่อผลประโยชน์สหรัฐ แต่รัฐบาล คัสโตร ตัดสินใจนำธุรกิจหลักของประเทศมาเป็นของรัฐแทนที่จะยอมจำนน และได้เร่งพัฒนาระบบการศึกษาและสาธารณสุขของประชาชนเพื่อหวังพึ่งตนเองแทนสหรัฐ

การนำระบบการผลิตภายในประเทศมาเป็นของรัฐมีผลทำให้ คัสโตร กับ เช ต้องสร้างความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาซึ่งมีอิทธิพลในหมู่คนงานในเมือง จุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์ก็เพื่อที่จะใช้ฐานอำนาจและองค์กรนี้ในการควบคุมเศรษฐกิจ และเพื่อที่จะใช้พรรคคอมมิวนิสต์เป็นกลไกในการควบคุมแรงงาน เพราะกลุ่มนักรบของ เช และคัสโตร เป็นกลุ่มเล็กที่ขาดบุคคลากร ฉนั้นในที่สุด คัสโตร ที่เคยเรียกตัวเองว่านักต่อสู้ชาตินิยม ก็เริ่มเรียกตัวเองว่าเป็น “คอมมิวนิสต์”

เช เป็นนักต่อสู้กล้าหาญที่รักความเป็นธรรม แต่ถึงแม้ว่าเขาจะเรียกตัวเองว่าเป็นมาร์คซิสต์ ความคิดและวิธีการที่เขาเลือกใช้ไม่ตรงกับแนวความคิดมาร์คซิสต์แต่อย่างใด เช ให้ความสำคัญกับการกระทำของวีรชนคนกลุ่มน้อยแทนที่จะอาศัยพลังมวลชนและการต่อสู้ทางชนชั้น เขาเขียนว่า “เราได้พิสูจน์ว่าคนกลุ่มเล็กๆที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ถ้าไม่กลัวตาย สามารถชนะกองทัพอันเข้มแข็งได้” เงื่อนไขที่สำคัญในการต่อสู้ ในสายตาของ เช คือกลไกการต่อสู้และความมั่นใจของนักสู้ โดยที่ไม่ต้องให้ความสำคัญกับสภาพการเมืองและสังคม ความคิดอัตวิสัยแบบนี้เป็นความคิดแบบ “จิตนิยมปลุกระดม” ซึ่งตรงข้ามกับความคิดวัตถุนิยมของมาร์คซ์ เพราะมองความกล้าหาญและความมั่นใจของนักสู้เป็นหลัก และไม่ให้บทบาทในการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพเลย

ในที่สุดยุทธศาสตร์การต่อสู้แบบวีรชนเอกชนของ เช นำเขาและสหายไปสู่ความพ้ายแพ้ในประเทศคองโกและในที่สุดนำเขาไปสู่ความตายในประเทศโบลีเวียในปี 1967

เราสดุดีความกล้าหาญและความจริงใจของ เช ได้ และเราชมการให้ความสำคัญกับการต่อสู้ในระดับสากลได้อีกด้วย แต่เราควรจะเข้าใจว่าแนวทางการจับอาวุธของวีรชนคนกลุ่มเล็กๆ ของ เช ไม่สามารถสร้างสังคมใหม่ที่เป็นสังคมนิยมได้ และทุกวันนี้คิวบาก็ไม่ใช่สังคมนิยม แต่เป็นเผด็จการภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์แนวสตาลิน

อ่านเพิ่มเรื่องคิวบาในบทความเรื่องลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp

สังคมนิยมและความรุนแรง  กรณีศึกษาจากประเทศชิลี

ใจ อึ๊งภากรณ์

หลายคนตั้งข้อกล่าวหากับนักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ว่าชอบใช้ความรุนแรงในการเปลี่ยนสังคม และเขาเสนอต่อไปว่าน่าจะใช้สันติวิธีแทน กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศชิลีเมื่อวันที่ 11 เดือนกันยายน 1973  เป็นกรณีที่ทุกคนน่าจะศึกษา

ประเทศชิลีเป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ที่มีฉายาว่าเป็น “อังกฤษ” แห่งอเมริกาใต้ ทั้งนี้เพราะเคยมีระบบประชาธิปไตยแบบทุนนิยมที่มั่นคงมาร้อยกว่าปี

allende

ในปี 1970 ประธานาธิบดี ซัลวาดอร์ อาเยนเดย์ แห่งพรรคสังคมนิยม ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านั้นพรรครัฐบาลล้วนแต่เป็นพรรคของนายทุน

พรรคสังคมนิยมชิลีเป็นพรรคของกรรมาชีพที่พยายามเปลี่ยนสังคมโดยสันติวิธี พรรคนี้พยายามอาศัยกลไกรัฐสภาในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม เพื่อหวังครองอำนาจรัฐ และเมื่อพรรคสังคมนิยมชนะการเลือกตั้ง ใครๆก็เชื่อว่าคงจะสร้างสังคมนิยมได้โดยสันติวิธี

ชัยชนะของพรรคสังคมนิยมชิลีเกิดขึ้นกลางกระแสการต่อสู้ของคนชั้นล่างที่ดุเดือด ก่อนวันเลือกตั้งมีการนัดหยุดงาน 5295 ครั้ง และเกษตรกรกับคนยากจนก็ออกมาเคลื่อนไหวด้วย

allende_foto.png_1718483346

หลังจากที่ได้รับชัยชนะ ประธานาธิบดี อาเยนเดย์  ประกาศว่า “เราจะทำการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อสร้างระบบสังคมนิยม” นอกจากนี้เขาสัญญาว่าจะปฏิรูปที่ดินและเอาบริษัทเอกชนชั้นนำ 150 บริษัทมาเป็นของรัฐ แต่เขาเตือนต่อไปว่าทุกส่วนของสังคมจะต้องร่วมมือกัน และชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเสียสละเพื่อสร้างแนวร่วมกับนายทุนโดยการสลายการเคลื่อนไหว และลดข้อเรียกร้อง เพราะถ้าไม่ทำแบบนั้นนายทุนจะไม่ร่วมมือ

ในปีแรกของรัฐบาลใหม่ รายได้จริงของกรรมาชีพเพิ่มขึ้น จำนวนคนตกงานลดลง โรงงาน 90 แห่ง และที่ดิน 30% ของประเทศถูกนำมาเป็นของรัฐ และเศรษฐกิจก็ขยายตัวอย่างน่าชื่นชม

สิ่งที่รัฐบาลใหม่สามารถทำเพื่อกรรมาชีพชิลี ไม่ได้อาศัยการล้มระบบทุนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามก็ต้องนับว่ายังเป็นประโยชน์กับคนธรรมดามากพอสมควร แต่มาตรการ “ค่อยเป็นค่อยไป” ของรัฐบาล อาเยนเดย์  ไม่เป็นที่พอใจกับนายทุนเลย ฉนั้นนายทุนชิลีพยายามทำลายเศรษฐกิจด้วยการถอนทุนหรือหยุดการลงทุน และนายทุนสหรัฐพยายามห้ามไม่ให้ชิลีกู้เงินจากต่างประเทศอีกด้วย ในขณะเดียวกันสหรัฐส่งเงินไปช่วยนายทหารของกองทัพชิลี

เนื่องจาก อาเยนเดย์  ไม่ต้องการปฏิวัติยกเลิกระบบทุนนิยม ในที่สุดเขาต้องเลือกยอมประนีประนอมกับเงื่อนไขของนายทุน ในขั้นตอนแรกก็มีการชลอมาตรการที่เป็นประโยชน์กับกรรมาชีพ ต่อจากนั้นก็มีการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายทหารและตำรวจในการ “รักษาความสงบ”

แต่การประนีประนอมของรัฐบาลต่อฝ่ายทุนมิได้ทำให้นายทุนร่วมมือมากขึ้นแต่อย่างใด นายทุนเข้าใจดีว่ากรรมาชีพกับนายทุนร่วมมือกันไม่ได้  ฉนั้นเมื่อรัฐบาลยอมประนีประนอม นายทุนกลับมองว่าเป็นการแสดงความอ่อนแอ จึงทำให้ฝ่ายทุนรุกสู้ต่อไปด้วยการ “ปิดงาน” ไม่ยอมปล่อยรถ ของนายทุนขนส่ง ซึ่งมีผลทำให้ประชาชนขาดอาหารและสิ่งจำเป็น

กรรมาชีพพื้นฐานชิลีไม่ได้ยกธงขาวยอมแพ้ง่ายๆ คนงานพื้นฐานในเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ได้รวมตัวกันสร้างสภาคนงานย่านอุตสาหกรรม (“คอร์โดเนส์”) เพื่อยึดรถบรรทุกจากนายทุนแล้วนำมาขนส่งสินค้าเอง ในที่สุดคนงานได้รับชัยชนะ

แต่แทนที่ประธานาธิบดี อาเยนเดย์  จะสนับสนุนการกระทำของกรรมาชีพพื้นฐาน เขากลับมองว่าเป็นการสร้างความไม่สงบซึ่งอาจนำไปสู่การปฏิวัติ ดังนั้น อาเยนเดย์  จึงสั่งให้ทหารและตำรวจสลายสภาคนงาน และที่แย่สุดคือการกระทำครั้งนั้นได้รับความเห็นชอบจากพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินของประเทศชิลีที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกด้วย

หลังจากนั้นชิลีก็เข้าสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ร้ายแรงขึ้นเป็นลำดับ ทุกครั้งที่ฝ่ายทุนพยายามยึดอำนาจโดยอาศัยกองทัพ คนงานพื้นฐานและนายทหารชั้นล่างบางคนจะออกมาปกป้องรัฐบาลและเรียกร้องให้รัฐบาลแจกอาวุธให้คนงาน แต่รัฐบาลไม่ยอมฟังเพราะมัวแต่ประนีประนอมกับนายทุนและนายทหารชั้นผู้ใหญ่

06_Devine_B
นายพลออร์กัสโต พิโนเช

ยิ่งกว่านั้นมีการนำนายทหารชั้นผู้ใหญ่ อย่างเช่น ออร์กัสโต พิโนเช เข้ามาในคณะรัฐมนตรี

arton1546

ในที่สุด ในวันที่ 11 เดือนกันยายน 1973 กองทัพชิลีภายใต้นายพล พิโนเช ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจและจับสมาชิกพรรคสังคมนิยม พรรคคอมมิวนิสต์ และนักสหภาพหลายพันคน ด้วยความโหดร้ายป่าเถื่อนอย่างถึงที่สุด อาเยนเดย์และแกนนำฝ่ายซ้ายทั้งหมดที่หนีออกนอกประเทศไม่ได้ก็ถูกฆ่าตาย

Chilean-troops-make-arres-010

สรุปแล้ว ระบบสังคมนิยม ซึ่งเป็นระบบประชาธิปไตยทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ สร้างไม่ได้ถ้าอาศัยรัฐสภาและการประนีประนอมกับทหารหรือชนชั้นปกครอง เพราะฝ่ายตรงข้ามพร้อมจะใช้ความรุนแรงอย่างถึงที่สุด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเขาเสมอ

 

๖ ตุลา ถึง เผด็จการรัฐสภาของประยุทธ์ ภาพความป่าเถื่อนของชนชั้นปกครองไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

จาก กรณี “ถังแดง” ในสมัยสงครามเย็น ผ่านเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ถึงการกราดยิงเสื้อแดง การจงใจฆ่าชาวมาเลย์มุสลิมที่ตากใบ และการอุ้มฆ่าทนายสมชาย นีละไพจิตร  สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ สหายภูชนะ สหายกาสะลอง และบิลลี่ ชนชั้นปกครองไทยมือเปื้อนเลือดจาก “อาชญากรรมรัฐ” ซ้ำแล้วซ้ำอีกและเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้เพราะสังคมไทยมีวัฒนธรรมลอยนวลของอาชญากรระดับสูงมานาน

ยิ่งกว่านั้นทุกวันนี้เราถูกปกครองโดยรัฐบาลที่มีอาชญากรประยุทธ์เป็นหัวหน้าอีกด้วย

bloody prayut

การปราบปรามนักศึกษาและประชาชนฝ่ายซ้ายที่ธรรมศาสตร์ ในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นผลพวงของการลุกฮือล้มเผด็จการในวันที่ ๑๔ ตุลา สามปีก่อนหน้านั้น และรากฐานการลุกฮือของนักศึกษา กรรมาชีพ และเกษตรกรสมัยนั้น มาจากความเหลื่อมล้ำทางอำนาจการเมืองกับฐานะทางเศรษฐกิจ และสภาพสังคมที่ถูกแช่แข็งไว้ภายใต้เผด็จการ สฤษดิ์ ถนอม ประภาส คือไม่มีการพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย ไม่มีการปรับค่าจ้าง ไม่มีการพัฒนาสภาพการจ้างงาน และไม่มีการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรในชนบท ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจก็ขยายตัว นั้นคือสาเหตุที่มวลชนในสมัย ๖ ตุลา ชื่นชมแนวสังคมนิยมในหลากหลายรูปแบบ เพราะสังคมนิยมคือแนวคิดที่ต้องการล้มเผด็จการขุนศึกและนายทุน และแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำพร้อมๆ กัน

120126_155008_01

ทุกครั้งที่ประชาชนไทยต้องการเดินหน้าเพื่อพัฒนาสังคมไทย ชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยมก็พร้อมจะใช้ความรุนแรงในการปิดกั้นสร้างอุปสรรค์ และชนชั้นกลางที่ได้อภิสิทธิ์ในสังคม ก็พร้อมที่จะสนับสนุนเผด็จการเสมอ ในกรณี ๖ตุลา พวกนี้ก่อม็อบเพื่อฆ่านักศึกษาและฝ่ายซ้าย และในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาก็มีการก่อม็อบสลิ่มเพื่อทำลายประชาธิปไตยเช่นกัน

วิกฤตการเมืองและสภาพไร้ประชาธิปไตยภายใต้ “เผด็จการรัฐสภา” ของประยุทธ์ในปัจจุบัน มาจากการที่ชนชั้นปกครองซีกอนุรักษ์นิยมพร้อมจะใช้ความรุนแรงเพื่อขัดขวางความเจริญของสังคมและการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงานและเกษตรกรรายย่อย

เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องชนชั้น และใครที่ปฏิเสธความสำคัญของชนชั้นในสังคมปัจจุบัน ไม่มีวันเสนอทางออกจากปัญหานี้ได้

ประเด็นคือเราจะกำจัดวัฒนธรรมลอยนวลของอาชญากรรัฐอย่างไร?

จะพึ่งศาลและระบบยุติธรรมหรือ? ระบบตุลาการไทยถูกออกแบบเพื่อมีหน้าที่รับใช้ผู้มีอำนาจรัฐฝ่ายเดียว ไม่มีบทบาทในการสร้างความยุติธรรมหรือสิทธิเสรีภาพของพลเมืองแต่อย่างใด เราเห็นตัวอย่างมากมายในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมาของการใช้ศาลเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองของทหารเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือการเลือกยุบพรรคการเมืองบางพรรค

จะอาศัยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือ? เราทราบดีว่าพวกเผด็จการพร้อมจะละเมิดรัฐธรรมนูญเสมอ และพร้อมจะฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งเมื่อทำรัฐประหาร นอกจากนี้การแก้รัฐธรรมนูญในยุคนี้เป็นไปไม่ได้ถ้าเราเล่นตามกติกาทหาร เพราะวุฒิสภาและศาลคอยปกป้องผลประโยชน์ของทหารตลอด

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ไร้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนโดยสิ้นเชิง รากฐานปัญหาอยู่ที่การมองว่าคนไทย ไม่ใช่ “พลเมือง” ที่เท่าเทียมกัน แนวความคิดว่าบางคน “สูง” บางคน “ต่ำ” ถูกผลิตซ้ำโดยพฤติกรรมของทหาร นักการเมือง และนายทุน ทหารระดับนายพลจึงมองว่าตนเองสามารถเข่นฆ่าประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยได้ตามอำเภอใจ นอกจากนี้การเรียกทหารระดับสูงในสื่อว่า “บิ๊ก” และการใช้คำว่า “ท่าน” นำหน้าพวกอาชญากรรัฐ เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมหมอบคลาน

สภาพเช่นนี้แก้ไขได้ด้วยวิธีเดียว นั้นคือการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมนอกรัฐสภา ที่ประกอบไปด้วยคนหนุ่มสาว นักสหภาพแรงงาน และกลุ่มเกษตรกร มันต้องเป็นขบวนการของคนชั้นล่างที่นำกันเอง เพราะการละเมิดสิทธิมนุษยชนมันเป็นการละเมิดสิทธิของคนทำงานและคนจนเสมอ พวก “ผู้ใหญ่” หรือชนชั้นกลางที่มีเส้น ไม่ได้มีประสบการณ์ของการถูกลิเมิดสิทธิและการถูกเอารัดเอาเปรียบแบบนี้

ในประเทศต่างๆ ของยุโรป ในเกาหลีใต้ ในญี่ปุ่น และในหลายประเทศของลาตินอเมริกา การกำจัดวัฒนธรรมการลอยนวลหลังอาชญากรรมรัฐ และการสร้างมาตรฐานสิทธิมนุษยชน มาจากการต่อสู้เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยโดยขบวนการเคลื่อนไหวแบบนี้ที่อาศัยพลังทางเศรษฐกิจของสหภาพแรงงาน ดังนั้นตราบใดที่เราไม่เน้นการต่อสู้ทางชนชั้นของมวลชนแบบนี้ เราจะไม่สามารถกำจัดวัฒนธรรมลอยนวล และเราจะไม่สามารถขยายพื้นที่ประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนได้

อ่านเพิ่ม

มาร์คซิสต์วิเคราะห์ปัญหาสังคมไทย https://bit.ly/3112djA

เหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙  https://bit.ly/2cSml2g

 

เหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ไม่ได้เกิดจากคำสั่งของคนเดียว

ใจ อึ๊งภากรณ์

ถ้าเราเข้าใจสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกสังคมไทยและวิกฤตที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๑๙ จะเห็นว่ายุคนั้นเป็นยุคตงามขัดแย้งอย่างหนักในสงครามเย็น มีการปะทะกันทางอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายซ้ายที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความยุติธรรม และฝ่ายขวาที่เป็นทั้งสมาชิกของชนชั้นปกครองและผู้ที่สนับสนุนชนชั้นนี้

ถ้าเราพิจารณาบรรยากาศการปะทะกันระหว่างซ้ายกับขวา เราจะเข้าใจว่าชนชั้นปกครองไทย ทั้งชนชั้น มีความต้องการที่จะกำจัดขบวนการนักศึกษาและฝ่ายซ้าย เราจึงต้องสรุปว่า ๖ ตุลา เป็นการพยายามทำลายขบวนการสังคมนิยมในประเทศไทยโดยชนชั้นปกครองไทยทั้งชนชั้น ไม่ใช่การกระทำขององค์กร สถาบัน หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ เกือบทุกคนในชนชั้นปกครองไทยได้มีส่วนในการก่อให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดในเวลาหลายเดือนก่อนที่จะเกิดเหตุ ไม่ว่าจะผ่านการปลุกระดม ตั้งกองกำลังนอกระบบ หรือการวางแผนทำรัฐประหาร

อย่างไรก็ตามส่วนต่างๆ ของชนชั้นปกครองไทยมีมุมมองที่อาจแตกต่างกันไปเกี่ยวกับวิธีการที่ควรจะใช้ในการสกัดขบวนการฝ่ายซ้ายไทย ฉะนั้นเราไม่ควรมองว่ามีการวาง “แผนใหญ่” เพียงแผนเดียว และมีการพยายามก่อเรื่องต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อฉวยโอกาสในการปราบปรามฝ่ายซ้าย

นักวิชาการและนักข่าวต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุคแรกๆ หลัง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มีการถกเถียงกันถึงบทบาทของพระราชวังในเหตุการณ์นี้ นักวิชาการส่วนใหญ่อธิบายว่ากิจกรรมของกษัตริย์ภูมิพลและราชวงศ์มีส่วนเสริมให้เกิดวิกฤตกาลในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ โดยวิธีการต่างๆ เช่น การสนับสนุนขบวนการลูกเสือชาวบ้าน และการไปเยี่ยมพระถนอมที่วัดบวรนิเวศน์ในปลายเดือนกันยายนอย่างเปิดเผยเป็นต้น

คนส่วนใหญ่ในแวดวงชนชั้นปกครองในยุคนั้นเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องใช้ความรุนแรงและการปฏิบัตินอกกรอบของระบบประชาธิปไตยในการสกัดกั้นขบวนการ “สังคมนิยม” ซึ่งในสายตาของเขารวมถึงคนที่มีแนวคิดเสรีประชาธิปไตยด้วย ดังนั้นเกือบทุกส่วนของชนชั้นนำเห็นชอบกับการตั้งองค์กรลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง นวพล และกลุ่มนอกระบบอื่นๆ ถึงแม้ว่าบางส่วนอาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง และบางส่วนอาจคาดไม่ถึงว่าจะเกิดอะไรขึ้นในที่สุด

เมื่อระยะเวลาผ่านไป “กลุ่มนอกระบบ” บางกลุ่มกลายเป็นเครื่องมือเฉพาะของซีกหนึ่งของชนชั้นนำเท่านั้น และสิ่งนี้ก่อให้เกิดความแตกแยกแย่งชิงผลประโยชน์กันในหมู่ชนชั้นปกครองเอง ผู้ที่วางแผนก่อรัฐประหารในวันที่ ๖ ตุลา แต่ถูก“คณะปฏิรูปการปกครอง” ตัดหน้าชิงทำรัฐประหารก่อน คือฝ่ายที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดกับกลุ่มนอกระบบทั้งหลาย

พรรคชาติไทย (เช่น ประมาณ อดิเรกสาร และชาติชาย ชุณหะวัณ) ซีกขวาของพรรคประชาธิปัตย์ (เช่นธรรมนูญ เทียนเงิน กับ สมัคร สุนทรเวช) และนายทหารที่ใกล้ชิดกับอดีตเผด็จการจอมพลถนอม-จอมพลประภาส ได้วางแผนก่อเรื่องเพื่อเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารมาตั้งแต่กลางปี ๒๕๑๙ และการนำจอมพลประภาส และจอมพลถนอมกลับเข้ามาในเมืองไทยเป็นส่วนหนึ่งของแผนนี้ แต่กลุ่มที่ยึดอำนาจจริงๆ ในบ่ายวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ภายใต้ชื่อของ “คณะปฏิรูปการปกครอง” ไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน เป็นกลุ่มของนายทหารที่ไม่เห็นด้วยกับเครือข่าย ถนอม-ประภาส แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทั้งสองกลุ่มมัส่วนในการก่อให้เกิดเหตุการณ์นองเลือด

ถึงแม้ว่าการปราบปรามในเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม เป็นการกระทำต่อขบวนการนักศึกษาเป็นหลัก แต่เป้าหมายโดยรวมน่าจะเป็นการทำลาย “ฝ่ายซ้าย” ในประเทศไทยดังที่ พลตรีประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทยในยุคนั้นเคยชูคำขวัญ “ขวาพิฆาตซ้าย” สิ่งหนึ่งที่ฝ่ายขวา โดยเฉพาะคนชั้นกลาง ต้องการคือการหยุดยั้งการประท้วงต่างๆ ของนักศึกษา กรรมกร และชาวนา ที่เขามองว่าก่อความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม

นอกจากความต้องการที่จะทำลายฝ่ายซ้ายโดยตรงแล้ว ผู้นำกองทัพส่วนใหญ่คิดว่าไทยมี “ประชาธิปไตยมากเกินไป” ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้ามา ดังนั้นต้องลงมือปราบปรามพวกประชาธิปไตยด้วยทุกวิธีทาง

เป็นเรื่องดีที่มีการศึกษาเรื่อง ๖ ตุลา แต่ประเด็นหลักสำหรับยุคปัจจุบันคือ เราจะทำอย่างไรเพื่อยุติอาชญากรรมของรัฐไทยที่กระทำอย่างต่อเนื่องจนถึงยุคนี้

6 Oct

อ่านเพิ่ม “อาชญากรรมรัฐในวิกฤติการเปลี่ยนแปลง” คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  เขียนโดย ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ (๒๕๔๔) ISBN 9748858626  https://bit.ly/2dC7Fk2 และ  https://bit.ly/2cSml2g

การปฏิวัติชาตินิยมของเหมาเจ๋อตุง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ผู้นำจีนเคยอ้างเสมอว่าการปฏิวัติของ เหมาเจ๋อตุง ในปี 1949 เป็นการปฏิวัติ “สังคมนิยม” และพรรคคอมมิวนิสต์ของไทยเราก็เคยเชื่อทำนองนี้เหมือนกัน แต่ในการปฏิวัติของ เหมาเจ๋อตุง ชนชั้นกรรมาชีพจีนไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใดเลย

แท้จริงแล้วการปฏิวัติจีน เป็นการปฏิวัติชาตินิยม ที่อาศัยกองกำลังชาวนาแต่นำโดยปัญญาชนที่เป็นแกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์

mao-zedong-1

ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนมักอ้างว่าสาเหตุที่การปฏิวัติจีนอาศัยกองทัพของชาวนา ก็เพราะจีนแตกต่างจากประเทศในยุโรปตรงที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวนา แต่เหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้น

ในรัสเซียสมัยปฏิวัติสังคมนิยมที่นำโดยชนชั้นกรรมาชีพในปี 1917 รัสเซียเป็นประเทศด้อยพัฒนา มีชาวนาถึง 160 ล้านคน และกรรมาชีพเพียง 3 ล้านคน (จีนในปี 1918 มีกรรมาชีพถึง 11 ล้านคน) แต่ เลนิน เข้าใจดีว่าชาวนาสร้างสังคมนิยมไม่ได้  เพราะชาวนาเสมือนผู้ประกอบการรายย่อยแบบปัจเจกชน ที่ไม่ต้องการรวมพลังการผลิตของทุนนิยมสมัยใหม่ไว้ภายใต้การควบคุมของส่วนรวม

e473d155df92683097a487b44f77dc23_w479_h293

นอกจากนี้การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนหันมาใช้กองทัพของชาวนาก็เพราะความผิดพลาดของพรรคเอง ที่ไปรวมตัวเข้ากับพรรค ก๊กมินตั๋ง ของนายทุนจีน ซึ่งจบลงด้วยการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างโหดร้ายป่าเถื่อนในปี 1927 ความผิดพลาดนี้มาจากนโยบายการสร้างแนวร่วมกับนายทุนของสตาลินในรัสเซียที่เสนอต่อพรรคคอมมิวนิสต์ในต่างประเทศ

หลังจากที่ถูกปราบ พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้เหมาจึงตัดสินใจหนีออกจากเมืองไปหาชาวนา ถ้าเปรียบเทียบกับพรรค บอลเชอร์วิค ของเลนิน  จะเห็นได้ว่า เลนินปฏิเสธแนวร่วมกับนายทุนตลอด    และเมื่อพรรคของเลนินถูกปราบปราม จะไม่หนีออกไปหาชาวนา แต่จะหลบซ่อนอยู่กับกรรมาชีพตามเมืองหรือบางครั้งหนีออกนอกประเทศ

ในวันที่ 11 มกราคม 1949 เพียง 9 เดือนก่อนชัยชนะ ของเหมาในจีน พรรคจีนมีคำสั่งกับกรรมาชีพดังนี้

“เราหวังว่ากรรมกรและพนักงานต่างๆ คงจะทำงานต่อไปอย่างปกติ เจ้าหน้าที่ของพรรคก๊กมินตั๋งในทุกระดับและตำรวจ จะต้องทำหน้าที่ต่อไปและเชื่อฟังคำสั่งจากกองทัพปลดแอก…”

maozedong1949.xinhua

ข้อสรุปคือ การปฏิวัติจีนในปี 1949 เป็นการปฏิวัติแบบ “ชาตินิยมกู้ชาติ” ไม่ใช่การปฏิวัติสังคมนิยม และหลังการปฏิวัติ ผู้ครองอำนาจจริงคือผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะชนชั้นกรรมาชีพและชาวนาไม่มีส่วนในการปกครองตนเองเลย ที่เห็นได้ชัดคือ หลังการปฏิวัติจีนไม่มีการตั้ง “สภาคนงาน” หรือแม้แต่ “สภาชาวนา”  กลไกในการปกครองตนเองจึงไม่มี ลักษณะแท้ของรัฐจีนคือ เผด็จการของพรรคข้าราชการเหนือประชาชน

การปฏิวัติยึดอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สำเร็จได้เพราะพรรคนายทุนจีนในพรรคก๊กมินตั๋ง หมดสภาพ และญี่ปุ่นพึ่งแพ้สงคราม

ชัยชนะของ เหมาเจ๋อตุง นำไปสู่การปลดแอกจีนจากมหาอำนาจจักรวรรดินิยม ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกาเกรงกลัวว่า “คอมมิวนิสต์” จะยึดโลก     และที่สำคัญคือชัยชนะของ เหมาเจ๋อตุง เปิดประตูให้มีการพัฒนาประเทศภายใต้ระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ซึ่งในที่สุดทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจอย่างที่เห็นทุกวันนี้

แต่สำหรับกรรมาชีพและเกษตรกรจีน การกดขี่ขูดรีดยังไม่สิ้นสุด

ทุนนิยมโดยรัฐในจีน

หลังการปฏิวัติ การบริโภคของประชาชนผู้ยากจน มีความสำคัญน้อยกว่าการผลิตเพื่อสะสมทุนโดยรัฐ ซึ่งเห็นได้จากข้อมูลสัดส่วนของรายได้ชาติที่นำไปลงทุนในอุตสาหกรรม ในปี 1952 การลงทุนใช้รายได้ของชาติประมาณ 15.7% และปี 1956 ใช้ ถึง 22.8 %  และการลงทุนในการผลิตอาวุธใช้ 18.1% ของรายได้ชาติในปี 1952 และในปี 1955 เพิ่มถึง 16.2% ในเมื่อจีนมีภาระในการลงทุนทางอุตสาหกรรมและการลงทุนทางทหารสูง แน่นอนรายได้ของกรรมาชีพย่อมเพิ่มช้ากว่าอัตราการผลิต ซึ่งถือว่าการขูดรีดแรงงานในยุคนี้ค่อนข้างสูง

ถ้าเราตรวจดูข้อมูลที่เปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานของกรรมาชีพกับรายได้ของคนงาน จะเห็นว่าอัตราการขูดรีดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 1953, 1954 และ 1955 ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น 13%, 15% และ 10% แต่ค่าแรงเพิ่มแค่ 5%, 2.6% และ 0.6% ตามลำดับ

การขูดรีดชาวนายิ่งหนักกว่าการขูดรีดแรงงานอุตสาหกรรมอีก  ระหว่างกรกฎาคม 1954 ถึง มิถุนายน 1955 รัฐได้เก็บภาษีในรูปแบบข้าวสารและผลิตผลอื่นๆ 52 ล้านต้น หรือ 30% ของผลิตผลเกษตรทั้งหมดของชาติ

ในระบบทุนนิยมโดยรัฐ รัฐข้าราชการพรรคคอมมิวนิสต์ เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมและการผลิตอาวุธ เพื่อสร้างจีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจ ในขณะที่กรรมาชีพและเกษตรกรถูกขูดรีดอย่างหนักเพื่อการสะสมทุนดังกล่าว ระบบนี้ไม่ใช่สังคมนิยม แต่เป็นรูปแบบหนึ่งของทุนนิยม

ความผิดพลาดของ เหมา หลังการปฏิวัติ

เหมาเจ๋อตุง อาจนำการปฏิวัติชาตินิยมจีนถึงจุดสำเร็จ แต่ในการบริหารประเทศภายหลัง เหมาไร้ประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง ในปี 1958 เหมาเสนอให้แก้ปัญหาความด้อยพัฒนาของจีนด้วยวิธีทาง “จิตใจ” เหมาเสนอให้มีการ “ก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่” เพื่อให้จีนทันตะวันตกภายใน5-7ปี!! ไม่มีการคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจจีนแต่อย่างใด วิธีการที่เหมาใช้คือการรณรงค์ให้คนงานทำงานวันละ 18 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด ยกเลิกการพักกินข้าว บังคับให้ชาวนาทำนาร่วม และสร้างเตาหลอมเหล็กในทุกหมู่บ้าน ผลของการ “ก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่” คือเศรษฐกิจจีนพัง คนอดตาย 20 ล้านคน และในที่สุดผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์พยายามกีดกันไม่ให้เหมามีบทบาทในการนำอีก

แต่เหมาไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ในปี 1966 เหมาจึงหันมาปลุกระดมคนหนุ่มสาวไฟแรงที่ไม่พอใจกับเจ้าหน้าที่คอมมิวนิสต์ซึ่งเริ่มมีลักษณะแบบขุนนาง มีการตั้งกองกำลังแดง และมีการเชิดชูเหมาเหมือนพระเจ้า ผลของ “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสงครามภายในพรรคคอมมิวนิสต์ คือเกิดสงครามกลางเมืองทั่วประเทศ เศรษฐกิจยิ่งทดถอย และในที่สุดผู้นำจีนต้องใช้กองทัพในการปราบปรามกองกำลังแดงและคนหนุ่มสาว คาดว่าตายเป็นหมื่นและคนหนุ่มสาว 17 ล้านคนถูกส่งไป “อบรมใหม่” ในชนบท เรื่องราวของยุคสมัยนั้นหาอ่านได้ในหนังสือหลายเล่มเช่นเรื่อง หงษ์ป่า

chinese-red-guards

เหมาอาจชนะการปฏิวัติวัฒนธรรมชั่วคราว แต่เมื่อเหมาตายในปี 1976 พรรคพวกของเขา ที่เรียกกันภายหลังว่า “แก๊งสี่คน” ก็ถูกกำจัดไปและ เติ้ง เสี่ยว ผิง ก็ขึ้นมามีอำนาจ สองปีต่อมามีการประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ คือหันหน้าเข้าสู่กลไกตลาดเสรีนั้นเอง

ปัจจุบันจีนเป็นประเทศทุนนิยมตลาดเสรีภายใต้เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์

tiananmen-square

ในปี 1989 หลังกำแพงมืองเบอร์ลินถูกพังทลาย สงครามเย็นก็สิ้นสุดลงท่ามกลางการล่มสลายของเผด็จการคอมมิวนิสต์แนวสตาลินในรัสเซียและยุโรปตะวันออก นักศึกษาและกรรมาชีพจีนที่ไม่พอใจกับสภาพความเป็นอยู่มานานจึงได้กำลังใจและออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน  มีการร้องเพลง “แองเตอร์นาซิอองนาล” ของฝ่ายสังคมนิยม ซึ่งสะท้อนว่านักศึกษาส่วนหนึ่งผิดหวังกับรัฐบาลจีนที่ไม่สร้างสังคมนิยมจริงๆ ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน แต่เผด็จการพรรคคอมิวนิสต์ใช้กำลังทหารปราบปรามนักศึกษาและกรรมาชีพอย่างรุนแรง

image

กรรมาชีพจีนในสมัยนี้

ระหว่างปี 1978 และ 2015 คนรวยที่สุด10% ในจีน เพิ่มการครองสัดส่วนของรายได้ชาติ จาก 27% เป็น41% ในขณะที่คนธรรมดาที่จนที่สุด 50% ของประเทศ ครองสัดส่วนของรายได้ชาติลดลง จาก 27% เหลือเพียง 15% ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่าทุนนิยมกลไกตลาดเสรีในจีนมีผลในการเพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างถึงที่สุด

ในยุคปัจจุบัน กรรมาชีพจีนมีประมาณ 800 ล้านคน ซึ่งกระจุกอยู่ตามเมืองสำคัญๆ เขตอ่าวแม่น้ำไข่มุก มีประชากร 69 ล้านคน เขตนี้เป็นศูนย์กลางการผลิตของบริษัทไอที และการประกอบรถยนต์ โดยที่เชื่อมโยงกับระบบไฟแนนส์และท่าเรือของฮ่องกง เศรษฐกิจในเขตนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนโตกว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย และมีการดึงเกษตรกรจากชนบทมาเป็นกรรมาชีพเป็นล้านๆ คน

China-Inequality

อย่างไรก็ตามทั้งๆ ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ความเหลื่อมล้ำในถูมิภาคนี้สูงมาก และคนงานใหม่ที่อพยพเข้ามาจากชนบท 63.8% ต้องทำงาน 7 วันโดยไม่มีวันหยุด โดยชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์เฉลี่ยประมาณ 56 ชั่วโมง

สภาพเช่นนี้นำไปสู่การฆ่าตัวตายในโรงงาน Foxconn แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือนำไปสู่การต่อสู้ของกรรมาชีพ ในหนึ่งปีที่ผ่านมามีการนัดหยุดงานเกิดขึ้น 1,100 ครั้ง เกือบครึ่งหนึ่งในภาคก่อสร้าง และนักศึกษาจีนจาก 20 มหาวิทยาลัยก็มาสนับสนุนช่วยคนงานทั้งๆ ที่มักโดนปราบปรามจากรัฐ

headley_chinaprotests_rtr2uqft

อนาคตของการสร้างเสรีภาพ ความเท่าเทียม และประชาธิปไตยในจีน อยู่ในมือของกรรมาชีพและนักศึกษา