ปัญหาดอกเบี้ยสูง ปัญหาจากแนวคิดเสรีนิยมที่ปกป้องกำไร

ใจ อึ๊งภากรณ์

ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยระดับชาติ และธนาคารพาณิชย์ต้องทำตาม เพราะถ้าธนาคารพาณิชย์ไม่ทำคนก็จะย้ายเงินฝากไปที่อื่น สาเหตุที่ธนาคารแห่งประเทศไทยขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็เพื่อพยุงราคาเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลล่า เพราะธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางอื่นในตะวันตกเพิ่มอัตราดอกเบี้ยแต่แรก เขาทำเพื่อขู่กรรมาชีพไม่ให้เรียกร้องค่าจ้างเพิ่มในวิกฤตเงินเฟ้อ เงินเฟ้อครั้งนี้เกิดจากสายส่งสินค้าติดขัดจากโควิด สินค้าจึงขาดตลาด และบริษัทฉวยโอกาสขึ้นราคา นอกจากนี้ผลของสงครามยูเครนทำให้ราคาน้ำมันเพิ่ม

ถ้าค่าเงินบาทลดลง สินค้านำเข้าจะแพงขึ้น หนี้ที่เป็นหนี้สกุลเงินต่างประเทศจะแพงขึ้น แต่สินค้าส่งออกจะถูกลง อาจขายได้เพิ่มขึ้น

ธนาคารกลางในตะวันตกจงใจทำให้เกิดการหดตัวของเศรษฐกิจจากการขึ้นดอกเบี้ย จนเสี่ยงต่อวิกฤต เพื่อให้กรรมาชีพกลัวตกงานถ้าเรียกร้องค่าจ้างมากเกินไป แต่พวกนายธนาคารและนักการเมืองตะวันตกมันใช้ข้ออ้างแบบงมงายเท็จของพวกแนวเสรีนิยมว่าการเพิ่มดอกเบี้ยจะทำให้เงินเฟ้อลดลง ซึ่งไม่จริงไม่มีหลักฐาน มันอ้างว่าการเรียกร้องค่าจ้างสูงทำให้เกิดเงินเฟ้อซึ่งในกรณีปัจจุบันก็ไม่จริงด้วย ที่มันขึ้นดอกเบี้ยมีเป้าหมายเดียวคือเพื่อกดค่าแรงและปกป้องกำไร

ประเด็นคือกรรมาชีพไทยควรมีข้อเรียกร้องอะไรบ้าง 1.ให้มีการเก็บภาษีพิเศษจากกำไรของธนาคารพาณิชย์ที่มาจากสภาพดอกเบี้ยสูง 2.ควรเคลื่อนไหวเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ 3.ควรนำธนาคารพาณิชย์มาเป็นของส่วนรวม 4.ควรมีการควบคุมราคาสินค้า และรัฐบาลควรเก็บภาษีจากคนรวยเพื่อใช้ในการลดราคาข้าวของจำเป็น ควรตัดงบประมาณทหารและงบสำหรับชนชั้นนำด้วย แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อขบวนการแรงงานเข้มแข็งมากขึ้นและมีการอัดฉีดการเมืองฝ่ายซ้ายเข้าไป

เราจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงในการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมหรือไม่?

การต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ โดยเฉพาะการจับอาวุธของฮามาส ตั้งคำถามใหญ่เกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุดที่จะใช้ในต่อสู้กับจักรวรรดินิยม

“จักรวรรดินิยม” คือระบบการแข่งขันระหว่างรัฐต่างๆ ในโลก โดยที่บางรัฐมีอำนาจมากและบางรัฐมีอำนาจน้อยกว่า นอกจากนี้จักรวรรดินิยมคือการที่รัฐกับกลุ่มทุนใหญ่ผนวกกันจนพึ่งพาซึ่งกันและกัน ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองจักรวรรดินิยมตะวันตกได้สร้างและส่งเสริมรัฐอิสราเอล เพื่อเป็นยามเฝ้าแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลาง โดยที่อิสราเอลมีบทบาทในการจัดการกับขบวนการชาตินิยมอาหรับ รวมถึงขบวนการของชาวปาเลสไตน์ ที่อาจท้าทายผลประโยชน์ของอำนาจตะวันตก ทุกวันนี้สหรัฐและอำนาจตะวันตกอื่นๆ เป็นผู้สนับสนุนรัฐอิสราเอลด้วยอาวุธ เงินทุน และวิธีทางการทูตโดยไม่แคร์ว่าอิสราเอลจะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ ไม่แคร์ว่าอิสราเอลจะป่าเถื่อนแค่ไหน

ก่อนที่สหรัฐจะมีอิทธิพลสูงสุดในตะวันออกกลาง เหตุการณ์สำคัญที่ท้าทายอำนาจของอังกฤษในพื้นที่คือการกบฏของชาวปาเลสไตน์ต่ออำนาจเจ้าอาณานิคมอังกฤษในช่วง 1930

ดังนั้นการต่อสู้ของฮามาสในยุคนี้คือการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมที่อยู่เบื้องหลังความโหดร้ายของรัฐไซออนิสต์อิสราเอล เราต้องชัดเจนด้วยว่า “ยิว” คือเชื้อชาติ แต่ความเป็น “ไซออนิสต์” ของผู้นำอิสราเอลเป็นแนวคิดทางการเมืองที่นำไปสู่การเหยียดเชื้อชาติอื่น ยิวส่วนใหญ่ในโลก ที่ไม่อยู่ในอิสราเอล ไม่ได้สนับสนุนแนวคิดนี้และความรุนแรงของอิสราเอล

ในขณะที่จักรวรรดินิยมตะวันตกเชียร์ให้อิสราเอลเผชิญหน้ากับขบวนการชาตินิยมอาหรับ มหาอำนาจตะวันตกเองก็ขยันชักชวน ขู่ และซื้อตัวผู้นำปฏิกิริยาของรัฐอาหรับในตะวันออกกลาง เช่นในอียิปต์ จอร์แดน และซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น

ชาวมาร์คซิสต์สังคมนิยมสนับสนุนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์โดยไม่มีเงื่อนไข เรามองว่าขบวนการอย่างฮามาสมีสิทธิ์ที่จะใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ เราไม่ได้อ้างตัวเป็นกลางแต่อย่างใด เราทราบดีว่าการอ้างตัวเป็นกลางหรือการพูถึงสันติวิธี ในรูปธรรม แปลว่าเราจะปล่อยให้อิราเอลใช้ความป่าเถื่อนโหดร้ายต่อไปและลอยนวล แต่คำถามสำคัญคือ การจับอาวุธต่อสู้กับอิสราเอล เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดหรือไม่?

ถ้าจะตอบคำถามนี้เราต้องกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้กับจักรวรรดินิยมในที่อื่นของโลกในอดีต

เวียดนาม

เวียดนามเป็นประเทศที่ถูกประเทศจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาถล่มในสงครามที่พยายามปิดกั้นไม่ให้ชาวเวียดนามมีเสรีภาพที่จะกำหนดอนาคตของตนเอง มันเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจรัสเซียกับสหรัฐใน “สงครามเย็น” และมันเกิดขึ้นทั้งๆ ที่โฮจิมินห์เคยขอความช่วยเหลือจากสหรัฐในการต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส สหรัฐเลือกที่จะเข้าข้างฝรั่งเศสเพราะฝรั่งเศสมีความสำคัญกว่าเวียดนามในเรื่องผลประโยชน์ของสหรัฐโดยเฉพาะในยุโรป

ในสงครามที่สหรัฐก่อในเวียดนามมีการทิ้งระเบิดเวียดนามเหนืออย่างเป็นระบบด้วยเครื่องบินบี52จากสนามบินในประเทศไทยและที่อื่น และมีการส่งทหารไปรบมากกว่า 5 แสนคน ในขณะที่ขบวนการปลดแอกแห่งชาติเวียดนามมีอาวุธและทรัพยากรจำกัด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในเทศกาลตรุษเวียดนาม หรือTết ปี 1968 ขบวนการเวียดกงและกองทัพเวียดนามเหนือได้ลุกฮือในเมืองต่างๆ ของเวียดนามใต้และสามารถยึดสถานทูตสหรัฐกลางเมืองไซ่ง่อนพร้อมกับยิงปืนออกมาจากตึกสถานทูต และทั้งๆ ที่การลุกฮือครั้งนั้นจบลงด้วยความพ่ายแพ้ทางทหาร แต่มันกลายเป็นชัยชนะทางการเมือง เพราะชนชั้นปกครองสหรัฐเห็นภาพชัดเจนว่ากองทัพสหรัฐไม่สามารถชนะในระยะยาวได้

ที่สำคัญคือการลุกฮือครั้งนั้นเกิดขึ้นในบริบทของขบวนการต้านสงครามที่ยิ่งใหญ่ในสหรัฐและอังกฤษ ซึ่งให้กำลังใจกับขบวนการปลดแอกเวียดนาม นอกจากนี้สถานการณ์นี้ทำให้นายทหารธรรมดาของสหรัฐในเวียดนามหมดกำลังใจที่จะสู้ต่อไป และมองว่ามันเป็นสงครามที่ไร้ความยุติธรรม มีการกบฏของทหารต่อพวกนายพล มีการจัดประชุมทางการเมืองตามค่ายทหารและบนเรือรบสหรัฐในทุกภูมิภาคทั่วโลก และมีการจัดตั้งกลุ่มทหารรากหญ้าต้านสงครามที่มีหนังสือพิมพ์ทำเองถึง 245 กลุ่ม หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับมีชื่อกวนประสาทที่ท้าทายผู้บังคับบัญชาและรัฐบาลทั้งสิ้น เช่น “ปฏิบัติการฆ่าผู้บังคับบัญชา” “เสียงของพวกจรจัด” (ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของพรรคเสือดำ) “ก่อกวนผู้ใหญ่” “โปเตมคิน” (ชื่อเรือรบรัสเซียที่ทหารเรือก่อกบฏในยุคปฏิวัติ) “ฆ่าเพื่อสันติภาพ” หรือ “กองทัพจัญไร” ฯลฯ

GI Resistance During the Vietnam War

อาชญากรสงคราม เฮนรี คิสซิงเจอร์ ที่พึ่งตายไปเมื่อไม่นานมานี้ เคยพูดถึงสงครามเวียดนามว่า “เราทำสงครามทางทหาร ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามทำสงครามทางการเมือง”

แอลจีเรีย

แอลจีเรียเคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส โดยที่ฝรั่งเศสส่งคนฝรั่งเศสไปยึดที่ดินของชาวพื้นเมือง มันมีส่วนคล้ายรัฐอิสราเอลในแง่นี้ แต่คนฝรั่งเศสยังเป็นคนส่วนน้อยในประเทศ

ในปี 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สองมีการประท้วงต่อต้านระบบอาณานิคม ฝ่ายกองทัพฝรั่งเศสและพวกคนฝรั่งเศสที่ไปขโมยที่ดินของคนพื้นเมืองก็โต้ตอบด้วยความโหดร้านป่าเถื่อน คาดว่ามีชาวแอลจีเรียเสียชีวิต 40,000 คน

ฝ่ายฝรั่งเศสใช้ข้ออ้างว่าฝ่ายแอลจีเรียมักจะสู้ด้วยความรุนแรงเพื่อให้ความชอบธรรมกับการปราบปรามสุดขั้ว แต่ ฟรานซ์ ฟานอง นักเขียนฝ่ายซ้ายที่ทำงานเป็นหมอที่แอลจีเรียในยุคนั้นเขียนว่า “มันชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่รัฐฝรั่งเศสพูดแต่ภาษาเดียวคือความรุนแรงดิบ”

ในปี 1955 ขบวนการปลดแอกแอลจีเรีย FLN ประกาศทำสงครามเต็มที่ โดยมีกองกำลัง 2 หมื่น เผชิญหน้ากับทหารฝรั่งเศส 5 แสนนาย ในปีต่อไปฝรั่งเศสแต่งตั้งนายพลแมซูเพื่อควบคุมความมั่นคงในเมืองหลวง แมซูจัดการปราบปรามการนัดหยุดงานทั่วไป 8 วันที่เกิดขึ้นด้วยความรุนแรงสุดขั้ว แต่ไม่สามารถทำลายกระแสต้านฝรั่งเศสได้

ในปี 1958 นายพลฝรั่งเศสขู่จะทำรัฐประหารล้มรัฐบาลฝรั่งเศสเพราะเกรงว่ารัฐบาลจะประนีประนอมกับขบวนการชาตินิยมแอลจีเรีย ท่ามกลางวิกฤตนี้ชนชั้นปกครองนำ ชาร์ล เดอ โกล กลับมาและเพิ่มอำนาจเผด็จการของตำแหน่งประธานาธิบดี

ต่อมาในปี 1960 สภาแรงงาน UGTU ที่สังกัดกับองค์กรปลดแอกชาติ FLN นัดหยุดงานทั่วไป 4 วันและรัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มเจรจาที่จะถอนตัวออกจากแอจีเรียและให้อิสรภาพ

อินเดีย

กระแสต้านการปกครองของอังกฤษมีมานาน แต่ในปี 1934 กรรมาชีพอินเดีย 220,000 คนนัดหยุดงานเพื่อประท้วงการยึดครองประเทศโดยเจ้าอาณานิคม ต่อมาในปี 1942 มหาตมาคานธีมีส่วนในการสร้างขบวนการ “ออกจากอินเดีย” เพื่อไล่อังกฤษ ขบวนการนี้ใช้วิธี การเดินขบวน และการนัดหยุดงาน เป็นหลัก แต่ยังมีการโจมตีอังกฤษด้วยอาวุธบ้าง อังกฤษก็พยายามปราบปรามขบวนการนี้ด้วยความรุนแรง

เหตุการณ์สำคัญที่ผลักดันอังกฤษให้ถอนตัวออกจากอินเดียเกิดขึ้นในปี 1946 เมื่อทหารเรือชาวอินเดียบนเรือรบ 78 ลำ และฐานทัพบนบก 20 แห่ง ก่อการกบฏต่ออังกฤษ และชักธงสามสีขึ้นบนเรือต่างๆ คือธงฮินดู ธงมุสลิม และธงแดงสังคมนิยม มีการสนับสนุนจากนักศึกษาและกรรมาชีพที่นัดหยุดงานสมานฉันท์กับทหารเรือ มันนำไปสู่การที่อังกฤษเข้าใจอย่างชัดเจนว่าจะยึดครองอินเดียต่อไปไม่ได้ และมันเกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศต่างๆ จากการปกครองของเจ้าอาณานิคมทั่วโลก อย่างไรก็ตาม มหาตมาคานธี และชวาหะร์ลาล เนห์รู ไม่เห็นด้วยกับการกบฏของทหารเรือและกระแสนัดหยุดงานที่เกิดขึ้น เพราะเกรงกลัวว่าจะไปไกลกว่าที่นักการเมืองสองคนนี้ต้องการ คือนำไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยมแทนที่จะหยุดอยู่แค่อิสรภาพภายใต้ระบบทุนนิยม ทั้งคานธี และเนห์รู ใกล้ชิดกับชนชั้นนายทุนอินเดีย

ก่อนที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากอินเดีย อังกฤษทิ้ง”ระเบิดทางสังคม”แบบที่สร้างความแตกแยกอย่างรุนแรงระหว่างฮินดูกับมุสลิม โดยการเสนอให้แบ่งแยกประเทศเป็นอินเดียกับปากีสถาน เพื่อเอาใจผู้นำอนุรักษ์นิยมของสองพื้นที่ การสร้างความแตกแยกของอังกฤษในเรื่องศาสนานำไปสู่การฆ่าฟันกันจนคาดว่าล้มตายไป 3.2 ล้านคน

สิ่งที่เราต้องเข้าใจคือกระแสมวลชนและการนัดหยุดงานของคนชั้นล่าง ได้พยายามสร้างความสมานฉันท์ระหว่างเชื้อชาติและศาสนาที่ต่างกัน แต่กระแสนี้โดนเบรกโดยคนอย่างคานธีและเนห์รู ถ้าไม่โดนเบรกการแบ่งประเทศอาจไม่เกิดขึ้น แต่ทั้งอังกฤษและชนชั้นปกครองใหม่ของอิเดียกับปากีสถาน ไม่ต้องการให้คนชั้นล่างสามัคคีกันเพื่อต่อต้านสังคมทุนนิยม

แอฟริกาใต้ และโปรตุเกส

ในแง่หนึ่งสังคมแอฟริกาใต้ภายใต้การปกครองของคนผิวขาว มีส่วนคล้ายอิสราเอสในแง่ที่ชนชั้นปกครองมากจากกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาและขโมยที่ดินของคนพื้นเมือง และจักรวรรดินิยมตะวันตกก็หนุนหลัง แต่มีส่วนต่างที่สำคัญคือ สังคมแอฟริกาใต้ภายใต้การปกครองของคนผิวขาวจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานของคนผิวดำที่เป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศ ส่วนในกรณีอิสราเอลชนชั้นปกครองไซออนิสต์พยายามทุกวิธีทางที่จะกีดกันและผลักดันชาวปาเลสไตน์ออกไป และถ้าขาดแรงงานของชาวยิวภานในประเทศก็จะดึงชาวปาเลสไตนเข้ามาทำงานตอนกลางวันแต่บังคับให้กลับออกไปหลังเลิกงาน นอกจากนี้มีการดึงแรงงานเข้ามาจากประเทศอื่น เช่นไทยเป็นต้น

การปลดแอกชาวผิวดำในแอฟริกาใต้ เกิดจากพลังการประท้วงนัดหยุดงานของกรรมาชีพผิวดำในสหภาพแรงงานต่างๆ และการประท้วงอย่างดุเดือดของนักศึกษาตามโรงเรียนต่างๆ มันไม่ได้มาจากมาตรการคว่ำบาตรอ่อนๆ ของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งมีผลน้อยมากและมักถูกฝ่าฝืนโดยกลุ่มทุนใหญ่

ในทางใต้ของทวีปแอฟริกา โปรตุเกสเคยมีอาณานิคมสองแห่ง คือประเทศโมซัมบิก กับเองโกลา และแอฟริกาใต้ภายใต้คนผิวขาว มีส่วนในการเป็น “ตำรวจ” ในการช่วยปราบปรามขบวนการกู้ชาติในสองประเทศนี้ ไม่ต่างจากบทบาทของอิสราเอลในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตามเกิดการปฏิวัติขึ้นในโปรตุเกสในปี 1974 ซึ่งมาจากความไม่พอใจของคนหนุ่มสาวกับเผด็จการฟาสซิสต์ที่ปกครองประเทศมานานและการที่ทหารเกณฑ์ไม่พอใจที่จะต้องไปรบกับขบวนการกู้ชาติในโมซัมบิก กับแองโกลา ที่สำคัญคือการปฏิวัติครั้งนี้นำไปสู่อิสรภาพสำหรับประเทศที่เป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส

ข้อสรุปสำคัญ

สิ่งที่นำไปสู่ชัยชนะของขบวนการปลดแอกประเทศต่างๆ คือขบวนการมวลชน กับการนัดหยุดงาน ที่ได้รับการสนับสนุนสมานฉันท์โดยประชาชนในประเทศอื่น การต่อสู้ด้วยอาวุธมีความสำคัญ แต่ชัยชนะมักจะมาจากทั้งสามส่วนรวมกัน และที่สำคัญคือเรื่องชนชั้น เพราะชนชั้นบนมักพยายามเบรกการต่อสู้จากล่างสู่บน ซึ่งในกรณีปาเลสไตน์เห็นชัดจากการหักหลังชาวปาเลสไตน์โดยผู้นำอียิปต์ จอร์แดน และซาอุดีอาระเบีย

ชนชั้นกรรมาชีพปาเลสไตน์อ่อนแอเกินไปที่จะเอาชนะอิราเอลเอง ถ้าไม่มีใครช่วย ชัยชนะของชาวปาเลสไตน์ต้องมาจากการต่อสู้ของกรรมาชีพในประเทศรอบข้างกับชนชั้นปกครองของตนเองในขณะที่ชูเรื่องการปลดแอกปาเลสไตน์ นอกจากนี้ชัยชนะของชาวปาเลสไตน์จะเกิดจากความสมานฉันท์ของเราทุกคนกับการต่อสู้ของเขา ไม่ว่าเขาจะสู้ด้วยอาวุธหรือไม่

ใจ อึ๊งภากรณ์

การเปลี่ยนแปลงสังคม-จากบนลงล่าง หรือล่างสู่บน?

ผู้ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม นักเคลื่อนไหว นักปฏิวัติ หรือนักปฏิรูป จะต้องพิจารณาเสมอว่าพลังที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาจากไหน และในโลกจริง ทั้งในอดีตและปัจจุบัน คำถามหลักคือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดจากผู้ใหญ่ “ข้างบน” หรือจากมวลชนคนชั้นล่าง

ไม่เชื่อก็ลองดูว่าการกล่าวถึงประวัติศาสตร์มีลักษณะอย่างไร ประวัติศาสตร์คือการบรรยายกับวิเคราะห์เหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงสังคมในยุคต่างๆ ถ้าดูประวัติศาสตร์กระแสหลัก ส่วนใหญ่จะพูดถึงว่าคนใหญ่คนโต กษัตริย์ หรือนายพล หรือมหาอำนาจ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยไม่กล่าวถึงบทบาทคนข้างล่างเลย ไม่พูดถึงการกบฏของชาวบ้านหรือคนจน ไม่พูดถึงการเลื่อนไหวของมวลชน หรือการที่คนธรรมดาหรือทหารธรรมดาเลิกศรัทธาในผู้นำแล้วเกิดอะไรขึ้น ฯลฯ

การทำลายระบบศักดินาในสังคมไทย เกิดจากการนำของกษัตริย์รัชกาลที่๕ โดยมีการยกเลิกระบบทาส ไพร่ และอำนาจเจ้าขุนมูลนาย และยกเลิกอำนาจเจ้าหัวเมืองผ่านการสร้างรัฐทุนนิยมรวมศูนย์เป็นครั้งแรก แต่มันไม่ใช่ว่ากษัตริย์รัชกาลที่๕ อยู่ดีๆ ก็คิดจะยกเลิกระบบศักดินาโดยไม่มีบริบทอะไร เราต้องเข้าใจว่าระบบศักดินาเข้าสู่วิกฤตเพราะทาสกับไพร่หนีพื้นที่เพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับเกณฑ์แรงงาน เราต้องเข้าใจว่าแรงงานจีนที่ถูกดึงเข้ามามีอำนาจต่อรองในเรื่องค่าจ้างสูง เพราะไทยขาดแคลนแรงงานรับจ้าง ดังนั้นมีการขยายแรงงานรับจ้างพื้นเมืองเพื่อลดค่าแรง

การขยายของพื้นที่ประชาธิปไตยในทุกสังคม ไม่เคยมาจากความคิด “ก้าวหน้า ใจดี” ของผู้นำ แต่มาจากการเลื่อนไหว เรียกร้องของมวลชนที่ไม่พอใจในยุคต่างๆ

การปฏิรูปสังคม ไม่ได้มาจากการเลือกนักการเมืองก้าวหน้าเข้าสู่สภาอย่างเดียว แต่มันต้องมีกระแสสังคมจากเบื้องล่างที่เรียกร้องการปฏิรูป ดังนั้นการที่ช่วงนี้ไม่มีการเคลื่อนไหวของมวลชนคนหนุ่มสาวหรือกรรมาชีพในไทย ไม่มีแรงกดดันให้เปลี่ยนสังคม แปลว่าพรรคเพื่อไทยเลือกที่จะไปจับมือกับเผด็จการและเป็นปากเสียงให้ทหาร และพรรคก้าวไกลไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนอะไรสำคัญๆ ในรัฐสภา

สำหรับเราชาวมาร์คซิสต์ เราเน้นเสมอว่าการเปลี่ยนแปลงสังคม รวมถึงการปฏิวัติสังคมนิยม ต้องเป็นการกระทำของมวลชนชั้นล่างเสมอ โดยเฉพาะกรรมาชีพ ไม่มีผู้ใหญ่เบื้องบนที่จะทำให้

แต่สำหรับกระแสความคิดหลักในสังคม คนส่วนใหญ่ที่ได้รับอิทธิพลจากสื่อมวลชนหรือสถาบันการศึกษา ย่อมมองไปที่การเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่าง เชื่อในการปฏิรูปภายในกรอบสังคมเก่า ไม่ใช่การปฏิวัติ

ในเรื่อง “การเมือง” กระแสหลักมองไม่ออกว่ามีแนวทางอื่นนอกจากรัฐสภา “การเมือง” จึงเป็นเรื่องที่นักการเมือง สส. และพรรคในรัฐสภาผูกขาด มันเป็นการหวังการเปลี่ยนแปลงจากเบื้องบน มันไม่ใช่การกระทำของคนธรรมดาชั้นล่าง มาร์คซิสต์ไม่ได้ปฏิเสธการลงสมัครรับเลือกตั้งในสภาในทุกกรณี แต่อย่างที่ เลนิน เคยอธิบาย เราลงสมัครเพื่อใช้รัฐสภาเป็นเวทีโฆษณาชวนเชื่อ ไม่ใช่เพื่อหวังตั้งรัฐบาลในกรอบรัฐเก่า

ในเรื่องการสร้างพรรคการเมือง คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่ามีพรรคแล้วทำไมไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบรัฐสภาทุนนิยม บ่อยครั้งเพราะหลงคิดว่า “รัฐ” ถูกทำให้ “เป็นกลาง” ได้ ถ้ามี สส. เพียงพอ มุมมองแบบนี้เป็นมุมมองที่ปิดหูปิดตากับระบบชนชั้นในสังคมทุนนิยม และมองไม่ออกว่าเราสามารถสร้างสังคมใหม่ที่ไม่ใช่ทุนนิยมได้ผ่านการเคลื่อนไหว การสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อประสานการต่อสู้ของมวลชนในประเด็นต่างๆ เพื่อปลุกระดมกรรมาชีพ เพื่อสร้างระบบการศึกษาสำหรับนักเคลื่อนไหว และเพื่อเป็นแหล่งความทรงจำของชนชั้นกรรมาชีพ ประสบการณ์ในโลกสอนให้เรารู้ว่าการปฏิวัติที่พยายามล้มทุนนิยมและสร้างสังคมนิยมเช่นคอมมูนปารีส1871 หรือการปฏิวัติรัสเซีย1917 ย่อมต้องอาศัยการทำลายรัฐเก่าที่ควบคุมโดยนายทุน และสร้างรัฐใหม่ของกรรมาชีพ ถ้าไม่ทำอย่างนั้นในที่สุดความพยายามที่จะสร้างสังคมใหม่ก็จะถูกละลายไปท่ามกลางอำนาจนายทุน ตัวอย่างเช่นการปฏิวัติคิวบา หรือการตั้งรัฐบาลฝ่ายซ้ายในเวนเนซุเอลาหรือกรีซ เพราะในทุกกรณีผู้นำประเทศเหล่านั้นต้องก้มหัวให้กระแสทุนนิยม

มีฝ่ายซ้ายในหลายประเทศ เช่นมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และในประเทศต่างๆ ของยุโรป ที่มองอย่างผิดๆ ว่าคิวบา กับ เวเนซุเอลา เป็นสังคมนิยม ทั้งๆ ที่ไม่มีการเปลี่ยนสังคมจากการปฏิวัติกรรมาชีพจากล่างสู่บน และมีฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่ง ที่เคยตั้งความหวังกับพรรคไซรีซาในประเทศกรีซเมื่อชนะการเลือกตั้ง ก่อนที่จะหักหลังประชาชนโดยการน้อมรับนโยบายรัดเข็มขัด นี่คือบทเรียนสำคัญสำหรับฝ่ายซ้ายว่าทำไมเราต้องเน้นความคิด “ล่างสู่บน” และเน้นมวลชนกรรมาชีพในการเปลี่ยนแปลงสังคม

ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่าง คนที่ยึดมั่นในความคิดแบบนี้มักมองว่าการนัดหยุดงาน หรือการประท้วงของมวลชน เป็นเหตุการณ์ “ไม่สงบ” หรือ “ไม่ปกติ” ดังนั้นมีการลดความสำคัญของมวลชน และตั้งความหวังกับระบบที่เป็นทางการ ตัวอย่างใกล้ตัวเราคือการที่มวลชนคนหนุ่มสาวที่ต้านเผด็จการทหาร ในที่สุดก็ไปตั้งความหวังว่าการเปลี่ยนแปลงที่เขาต้องการจะเกิดจากพรรคการเมืองในรัฐสภา เช่นพรรคก้าวไกลเป็นต้น แต่มันย่อมจบลงด้วยความผิดหวังและการที่ไม่มีการปกป้องนักเคลื่อนไหวที่ติดคดีติดคุกจากการเรียกร้องประชาธิปไตย สาเหตุที่เป็นอย่างนี้ไม่ใช่เพราะคนหนุ่มสาวไม่อยากชนะ หรือถูกซื้อตัว แต่เป็นเพราะเขาเคลื่อนไหวภายใต้แนวคิดปฏิรูปสังคมจากบนลงล่าง ซึ่งเป็นแนวคิดกระแสหลักในสังคม

การใช้การเคลื่อนไหวของมวลชนในการหวังปฏิรูปผ่านรัฐสภา ก็เกิดขึ้นในกรณีพรรคไซรีซาในประเทศกรีซด้วย เพราะหลังจากที่ตั้งรัฐบาลได้ก็มีการพยายามยุติการเคลื่อนไหว

แนวคิดสตาลิน-เหมา

คนที่เคยเรียกตัวเองว่า “คอมมิวนิสต์” ทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นคนที่อาศัยแนวคิดสตาลิน-เหมา ตัวอย่างที่ดีในไทยคือคนที่ได้รับอิทธิพลจาก พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) แต่นอกจาก พคท. เป็นพรรคที่พวกแกนนำมักจะสั่งการจากบนลงล่างแล้ว แนวคิดของพรรค และของพรรคสายสตาลิน หรือสายเหมา อื่นๆ เป็นแนวคิดที่หวังสร้างสังคมนิยม “จากบนลงล่าง”

แนวคิดสตาลิน-เหมาจริงๆ แล้วไม่ใช่แนว “มาร์คซิสต์” และมีการบิดเบือนมรดกของเลนินหรือทรอตสกี้เสมอ ในกรณีประเทศในเอเชีย อาฟริกา หรือลาตินอเมริกา พวก “คอมมิวนิสต์” เหล่านี้เน้นนโยบายชาตินิยมเหนือการต่อสู้ทางชนชั้นตลอด จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติจีน การปฏิบัติเวียดนาม การปฏิวัติคิวบา หรือการต่อสู้ของ พคท. ทุกพรรคเน้นการสร้างชาติและสู้กับจักรวรรดินิยมเสมอ ในทุกกรณีมีการลดความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพและการต่อสู้ทางชนชั้น เช่นในจีนมีการสั่งให้กรรมาชีพทำงานต่อไปในสถานที่ทำงาน และในไทยมีการหันหลังให้กับเมืองเพื่อจับอาวุธในป่า

มันเป็นการพยายามยึดรัฐทุนนิยมเก่ามาใช้ ไม่ใช่ล้มรัฐและสร้างรัฐกรรมาชีพใหม่ผ่านสภาคนงานหรือสภาโซเวียด มันจบลงด้วยการสร้างเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ” ในรูปแบบเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์เหนือชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกร และเมื่อเวลาผ่านไปก็มีการแปรตัวไปเป็นเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ที่บริหารเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีกลไกตลาดและมีนายทุนเอกชนกับนายทุนรัฐร่วมกัน สิ่งเหล่านี้เราเห็นทุกวันนี้ในจีน คิวบา ลาว หรือเวียดนาม

แนวคิดสตาลิน-เหมา เป็นแนวคิดที่แก้ตัวว่า “ระบบสังคมนิยมสร้างไม่ได้ในประเทศยากจน” พวกนี้เสนอว่าต้องสร้างทุนนิยมก่อน มันเป็นสิ่งที่เราชาวมาร์คซิสต์เรียกว่า “แนวขั้นตอน” ซึ่งขัดกับแนวคิด “ปฏิวัติถาวร” ของมาร์คซ์ กับ ทรอตสกี้

การปฏิวัติถาวรเสนอว่าในโลกสมัยใหม่ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่1 ระบบทุนนิยมพัฒนาไปทั่วโลกในลักษณะที่ทำให้ทุกแห่งเป็นทุนนิยม แต่มีรูปแบบต่างระดับ เราเห็นตรงนี้ในไทยตั้งแต่สมัยสร้างรัฐรวมศูนย์ในยุครัชกาลที่๕ ดังนั้นภารกิจสำคัญของนักปฏิวัติสังคมนิยมในประเทศอย่างไทย คือการเดินหน้าในการพยายามปฏิวัติสังคมนิยม ไม่ใช่การพยายามสร้างทุนนิยมตลาดเสรีผ่านแนวร่วมกับนายทุน นักเคลื่อนไหวหนุ่มสาวในรอบสิบปีที่ผ่านมาหลงคิดว่าไทยยังเป็นสังคม “กึ่งศักดินา” ตามแนวคิด พคท. ทั้งๆ ที่ ระบบศักดินาหมดไปนานแล้ว ยิ่งกว่านั้นมีการมองว่าอำนาจหลักอยู่ที่กษัตริย์ แทนที่จะเข้าใจว่าอำนาจเผด็จการหลักอยู่ในมือทหารและนายทุน ไม่มีการวิเคราะห์ว่าภาพอำนาจของกษัตริย์ถูกสร้างขึ้นโดยทหารกับนายทุน

การมองว่าเรายังต้องสู้กับศักดินา ตามสูตรเก่าของ พคท. แปลว่าผู้ที่เห็นด้วยกับแนวนี้มักทำแนวร่วมกับนายทุนที่เขาหลอกตัวเองว่า “ก้าวหน้า” อย่างที่ พคท. เคยทำ เราเห็นชัดในกรณีที่นักเคลื่อนไหวไปตั้งความหวังกับพรรคการเมืองของนายทุนอย่างพรรคก้าวไกล

สิ่งที่ไปควบคู่กับการเน้นการเปลี่ยนแปลงจากบนลงล่างแบบนี้คือแนวชาตินิยม ซึ่งผูกขาดความคิดของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยจนคนไม่ตั้งคำถามกับการยืนเคารพธงชาติ ไม่ตั้งคำถามว่าธงนี้ ที่เป็นสัญลักษณ์ของชาติ หมายถึงชาติของชนชั้นไหน มีการหลอกตัวเองว่าแค่เอา “ย” ออกจาก “ไทย” เพื่อเป็น “ไท” สามารถแปลความหมายไปเป็น “เสรีภาพ”  ได้

นอจากนี้ยุทธศาสตร์การจับอาวุธ เพื่อ”ปลดแอก” ประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของการเน้นการเปลี่ยนแปลงจาก “บนลงล่าง” และปฏิเสธแนวมวลชนจาก “ล่างสู่บน” เพราะเป้าหมายคือการยึดรัฐเก่า และวิธีการที่เน้นกองกำลังจับอาวุธจำเป็นต้องมีการปิดลับและกีดกันการมีส่วนร่วมของคนจำนวนมาก และคนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าเป็นทหารในกองกำลังได้เพราะต้องทำงานเลี้ยงชีพ มันเป็นยุทธวิธีที่เน้นการกระทำของคนส่วนน้อยที่มีอาวุธ

ความสำคัญของการสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยม

ทรอตสกี้เคยอธิบายว่า “พลังในการเปลี่ยนสังคมของมวลชนเปรียบเสมือนไอน้ำจากหม้อที่กำลังเดือด แต่ถ้าไม่มีพรรคเป็นลูกสูบที่ให้ทิศทางกับพลังดังกล่าว ไอน้ำก็จะระเหยหมดไป” พูดง่ายๆ การเปลี่ยนแปลงจากล่างสู่บนโดยกรรมาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการปฏิวัติไปสู่สังคมนิยม ต้องอาศัยพรรคด้วย ทั้งๆ ที่มวลชนมีความสำคัญยิ่ง

ถ้าไม่มีพรรค ถ้าไม่มีการจัดตั้งสมาชิก ไม่มีการประชุมเพื่อศึกษาทฤษฎีและประเด็นในการต่อสู้ ไม่มีนสพ. เพื่อเป็นสื่อของพรรค เวลามวลชนเผชิญหน้ากับรัฐที่มีอำนาจรวมศูนย์และการจัดตั้งสื่อและระบบการศึกษาอย่างเป็นระบบ มันก็จะเหมือนเอากล้วยเน่า นิ้มๆ ไปพยายามพังกำแพงอิฐ

ใน วันที่ 25 ธันวาคม 1917 หลังจากข่าวการปฏิวัติรัสเซียไปถึงเกาะต่างๆ ของอินโดนีเซีย นักปฏิวัติเชื้อสายดัตช์ชื่อ Sneevliet  ซึ่งมีส่วนในการริเริ่มก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย ได้ประกาศว่า “ที่ไหนมีทุนนิยม ที่นั้นย่อมปฏิวัติสังคมนิยมได้”

หลายคนที่คล้อยตามกระแสหลักในสังคม มักจะอวดว่า “สังคมนิยมหมดยุค” โดยปิดหูปิดตาถึงวิกฤตต่างๆ ของระบบทุนนิยมปัจจุบันที่กำลังท้าทายความสามารถของมนุษย์ที่จะมีชีวิตต่อไปบนโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิกฤตโลกร้อนที่ทำลายการเกษตรและสร้างพายุกับภัยแล้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตโรคระบาดที่มาจากการขยายระบบเกษตรอุตสาหกรรมสู่เขตป่าเขา และไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจกับการแข่งขันที่ก่อให้เกิดสงครามและกดฐานะประชาชนลงสู่ระดับยากจน ถ้าเราไม่ล้มระบบทุนนิยม มันจะทำลายสังคมมนุษย์ท่ามกลางความป่าเถื่อน

ทั่วโลกในขณะนี้ ระบบทุนนิยมเข้าไปครอบงำทุกสังคม เราไม่ต้องหลงคิดว่าเรายังอยู่ในสังคมศักดินา เราสามารถทำงานวางแผนที่จะสร้างสังคมนิยมได้ แต่เราต้องให้ความสำคัญกับมวลชน การสร้างพรรค และการเปลี่ยนแปลงสังคมจากล่างสู่บนเสมอ

ใจ อึ๊งภากรณ์

การต่อสู้ของผู้ถูกกดขี่ เทียบกับความรุนแรงของผู้กดขี่ไม่ได้

เมื่อไม่นานมานี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ซึ่งเคยเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่าเราไม่ควรกล่าวถึงเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ว่าเป็น “อาชญากรรมรัฐ” หรือถ้าจะใช้คำว่าอาชญากรรมก็ต้องใช้กับแนวทางต่อสู้แบบจับอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)ด้วย

เราชาวมาร์คซิสต์คงไม่แปลกใจกับความเสื่อมทางการเมืองของนักวิชาการบางคนที่เคยมีภาพว่า “ก้าวหน้า” สมศักดิ์ไม่ใช่คนแรกและคงไม่ใช่คนสุดท้ายที่ออกอาการแบบนี้ แต่หัวใจของเรื่องคือการที่เขาไม่แยกแยะระหว่างการใช้ความรุนแรงของรัฐกับการใช้ความรุนแรงของประชาชนชั้นล่างเพื่อป้องกันตัวจากรัฐ พูดง่ายๆ ไม่มีการใช้จุดยืนทางชนชั้นในการทำความเข้าใจกับความรุนแรงเลย

ถ้าเราศึกษาหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของ เลนิน เราจะเข้าใจว่า “รัฐทุนนิยม” มีไว้เพื่อใช้ “อำนาจพิเศษสาธารณะ” ในการกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกร โดยยึดผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนเป็นหลัก “ชนชั้นนายทุน” ประกอบไปด้วยนายทหารชั้นสูง ข้าราชการชั้นสูง คนที่มีตำแห่งสูงในสังคม และนายทุนเอกชน นอกจากนี้เราต้องเข้าใจว่ารัฐมันมากกว่าแค่รัฐบาลอีกด้วย

“อำนาจพิเศษสาธารณะ” ของรัฐที่ชาวมาร์คซิสต์พูดถึง อาศัยวิธีควบคุมสังคมสองวิธี

(๑) ปราบปราม โดยใช้อำนาจดิบของความรุนแรง ผ่านกองกำลังทหาร ตำรวจ ศาล และคุก

(๒) หลอกลวง คือ การสร้างระเบียบและความชอบธรรมกับการปกครองของรัฐนายทุน ให้ผู้ถูกปกครองยอมรับอำนาจรัฐ และวิธีที่สำคัญคือการวางตัวของรัฐให้ห่างเหินแปลกแยกจากสังคม เพื่อให้ดูเหมือนว่า “เป็นกลาง”

การหลอกลวงดังกล่าวช่วยให้คนเข้าใจผิดว่าความรุนแรงของรัฐ และความรุนแรงของคนชั้นล่างเหมือนกัน หรือหลงคิดว่าการใช้ความรุนแรงของรัฐมีความชอบธรรม

ตากใบและ ๖ ตุลา คือสองกรณีของอาชญากรรมรัฐไทย

ในวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๗ กองกำลังติดอาวุธของรัฐไทยได้สลายการชุมนุมของชาวบ้านที่ตากใบจังหวัดนราธิวาส ชาวบ้านที่มาประท้วงหน้าส.น.ตำรวจในวันนั้นประกอบไปด้วย ชาย หญิง และเด็ก สาเหตุที่มาประท้วงก็เพื่อให้ตำรวจปล่อยตัวชาวบ้านที่ถูกจับในข้อหานำอาวุธไปให้พวกกบฏ ชาวบ้านกลัวว่าผู้ที่ถูกตำรวจจับจะหายตัวไปหรือถูกซ้อมตามเคย และคนเหล่านั้นจะไม่ได้รับความยุติธรรม

อาชญากรรมรัฐไทยที่ตากใบ

นอกจากจะมีการใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำใส่ผู้ประท้วงและใช้ก๊าซน้ำตาแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐได้ยิงกระสุนปืนใส่ชาวบ้านตาย 6 คน บาดเจ็บอีกมากมาย ในขณะที่ฝ่ายชาวบ้านไม่มีอาวุธแต่อย่างใด หลังจากที่สลายการชุมนุมดังกล่าว ทหารและตำรวจก็บังคับให้ชายทุกคนนอนลงกับพื้น ถูกถอดเสื้อ ถูกเตะตี แล้วมีการมัดมือไว้ข้างหลัง ต่อมาทหารก็โยนชายเหล่านั้นขึ้นรถทหารที่ไม่มีหลังคา มีการบังคับให้นอนทับกันหลายชั้น ชายเหล่านั้นไม่ได้กระทำความผิดอะไรทั้งสิ้น แค่มาประท้วงตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย หลังจากนั้นชายหนุ่มที่โดนจับถูกนำไปส่งที่ค่ายอิงคยุทธิ์ ซึ่งใช้เวลาเดินทางกลางแดดหลายชั่วโมง พอรถทหารถึงค่ายอิงคยุทธิ์ปรากฏว่ามีคนตายนอนอยู่ข้างล่างในรถทหารหลายคัน ตายทั้งหมด 78 ศพ ดังนั้นเราต้องสรุปว่าเป็นการ “จงใจฆ่าประชาชน” โดยรัฐไทย

หลังเหตุการณ์ที่ตากใบครั้งนั้นนายกรัฐมนตรีทักษิณออกมาชมทหารและตำรวจ และรัฐบาลก็โกหกว่าคนที่เสียชีวิตไป ตายเพราะ “อุบัติเหตุ”

ในความจริง กองกำลังของรัฐไทยติดอาวุธครบมือ ได้ล้อมการชุมนุมที่ยังสงบอยู่ มีการปิดล้อมไม่ให้คนหนี การสลายการชุมนุมกระทำไปเพื่อจับคนและลงโทษโดยไม่ขึ้นศาล และเพื่อสร้างความกลัวกับชาวปาตานีไม่ให้เขากล้าออกมาประท้วงอย่างสันติอีก และไม่ให้เขากล้าลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน สิ่งที่อยู่เบื้องหลังที่สำคัญสำหรับรัฐไทยคือไม่ต้องการที่จะให้ชาวปาตานีกำหนกอนาคตของตนเอง เพราะเสี่ยงกับการแบ่งแยกดินแดนซึ่งจะทำให้รัฐไทยดูอ่อนแอ และขัดกับผลประโยชน์ชนชั้นปกครองไทย

เหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เป็นความรุนแรงของรัฐไทยที่กระทำต่อคนหนุ่มสาวที่ต้องการประชาธิปไตยและต้องการสร้างความเป็นธรรมในสังคม ผู้ที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่พอใจที่เผด็จการถนอมกลับมาเมืองไทยหลังเหตุการณ์นองเลือด ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เพราะในปี ๒๕๑๖ ถนอมเคยสั่งให้ทหารกราดยิงนักศึกษาที่ไม่ได้ถืออาวุธ

ในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ กองกำลังของรัฐไทยติดอาวุธครบมือได้ล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และระดมกำลังบุกเข้าไปปราบ ฆ่าฟัน และสลายการชุมนุมของนักศึกษาที่ชุมนุมกันอย่างสันติ การกระทำครั้งนั้นไม่ได้ทำเพื่อ “รักษาความสงบ” เพราะการชุมนุมมันสงบอยู่แล้ว การกระทำไม่ได้ทำเพื่อสลายการชุมนุมและให้คนกลับบ้าน เพราะกองกำลังของรัฐปิดช่องทางทั้งหมดที่พอจะหนีออกจากธรรมศาสตร์ได้ บางคนที่หนีลงแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างนักศึกษาพยาบาลหญิง ก็ถูกยิงทิ้งกลางแม่น้ำ ดังนั้นการสลายการชุมนุมกระทำเพื่อทำลายขบวนการนักศึกษาต่างหาก

นักการเมืองฝ่ายขวาหลายคนอ้างว่าในช่วงก่อน ๖ ตุลา ประเทศไทยมีประชาธิปไตย “มากเกินไป” เพราะมีการประท้วงและนัดหยุดงานบ่อย แต่ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ต้องหลี้ภัยในอังกฤษหลังเหตุการณ์ อธิบายว่าสิทธิเสรีภาพในการประท้วงตามหลักการประชาธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็นถ้าสังคมจะมีความเป็นธรรม “การปรับสถานการณ์ต่างๆ ในสังคมให้ดีขึ้น (เช่นการปฏิรูปที่ดิน ฯลฯ) เกิดขึ้นท่ามกลางความวุ่นวาย การกดดันให้นายจ้างหัวแข็งลงมาเจรจากับลูกจ้างทำได้อย่างไรถ้าไม่นัดหยุดงาน? การกดดันให้รัฐบาลออกมาแก้ไขปัญหาชาวบ้านที่มีกับบริษัทเหมืองแร่ทำได้อย่างไรถ้าไม่ประท้วง?”

ในวันที่ ๖ ตุลาคม ข้างนอกธรรมศาสตร์มีม็อบอันธพาล ประกอบไปด้วย ลูกเสือชาวบ้าน นวพล และกระทิงแดง ซึ่งก่อความรุนแรงเสริม มีการทุบตีนักศึกษา แขวนคอ มีการเผาทั้งเป็น และการทำความโหดร้ายป่าเถื่อนอื่นๆ กลุ่มอันธพาลเหล่านี้ โดยเฉพาะลูกเสือชาวบ้าน ได้รับการสนับสนุนก่อนหน้านั้นจากรัฐบาล ตำรวจตระเวนชายแดน และชนชั้นนำของรัฐไทย เราจึงพูดได้ว่าเป็นม็อบจัดตั้งของรัฐ ไม่ใช่ประชาชนธรรมดา

ถึงแม้ว่าการปราบปรามในเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม เป็นการกระทำต่อขบวนการนักศึกษาเป็นหลัก แต่เป้าหมายโดยรวมน่าจะเป็นการทำลาย “ฝ่ายซ้าย” ในประเทศไทยดังที่ พลตรีประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทยในยุคนั้นเคยชูคำขวัญ “ขวาพิฆาตซ้าย”       ในแง่หนึ่งเราอาจมองได้ว่าการทำลายขบวนการนักศึกษาในวันที่ ๖ ตุลาคม เป็นการทำลายขบวนการในสังคมไทยที่มีเจตนาและความสามารถเพียงพอที่จะนำมวลชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่เป็นธรรม หรือการสร้าง ”สังคมนิยม” เราไม่ควรลืมว่าองค์กรนักศึกษาเป็นแกนนำสำคัญที่ล้มเผด็จการทหารและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตั้งแต่ก่อนยุค ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เสียอีก

หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ นักศึกษาจำนวนมากพยายามเข้าป่าไปร่วมกับ พคท. ในการต่อสู้กับเผด็จการทหาร นักศึกษาจำนวนมากในยุคนั้น ปลื้มกับแนวคิดของ พคท. แต่คนที่เป็นสมาชิก พคท. มีน้อยมาก เพราะการเข้าเป็นสมาชิกเป็นเรื่องยุ่งยากและใช้เวลา พร้อมกันนั้น พคท. ไม่ไว้ใจนักศึกษาว่าจะทำตามคำสั่งของพรรค และ พคท. ไม่สนใจที่จะสู้กับรัฐบาลในกรุงเทพฯ จึงมีการถอนสมาชิกออกจากเมืองก่อนเหตุการณ์ ในขณะเดียวกันนักศึกษาต้องการสังคมนิยมที่มีประชาธิปไตย เห็นได้จากการที่ขบวนการนักศึกษามีส่วนในการถกเถียงกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในตอนท้ายๆ ก่อนที่จะพากันออกจากป่า เพราะนักศึกษาไม่พอใจกับสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นความเผด็จการของพรรค

สรุปแล้วรัฐไทยก่อความรุนแรงในวันที่ ๖ ตุลา เพื่อปกป้องสภาพสังคมที่ไร้ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางสังคม แต่เต็มไปด้วยผลประโยชน์สำหรับชนชั้นปกครองซึ่งเป็นคนส่วนน้อย

สภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำยังดำรงอยู่ทุกวันนี้ และหลัง ๖ตุลา มีการเสริมความรุนแรงของรัฐผ่านรัฐประหารและการปราบปรามผู้ประท้วงเช่นในปี ๒๕๓๕ และการปราบเสื้อแดง

ความรุนแรงของชนชั้นปกครองต่างจากความรุนแรงของชนชั้นล่าง เทียบกันไม่ได้

ความรุนแรงของชนชั้นปกครองกระทำกับคนชั้นล่าง เพื่อปกป้องอำนาจเผด็จการ ผลประโยชน์ทางชนชั้น และรัฐของตนเสมอ มันเป็นความรุนแรงที่ทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนน้อยที่กดขี่ขูดรีดคนส่วนใหญ่ ไม่ได้กระทำเพื่อรักษาความสงบหรือพัฒนาสังคมแต่อย่างใด มันเป็นความรุนแรงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย และยังทำในลักษณะที่โหดร้ายทารุณที่สุด โดยมองว่าชีวิตประชาชนเหมือนเป็นผักเป็นปลา ดังนั้นเราจึงเรียกได้ว่าเป็นอาชญากรรมรัฐ

ปาเลสไตน์กับอิสราเอล ความรุนแรงของชาวปาเลสไตน์เทียบกับความรุนแรงของจักรวรรดินิยมไม่ได้

ความรุนแรงของชาวปาเลสไตน์ที่ต้องการปลดแอกตนเอง เทียบกับความรุนแรงของรัฐอิสราเอลไม่ได้ เช่นเดียวกับกรณีรัฐกับประชาชน ฝ่ายหนึ่งเป็นชาวปาเลสไตน์ที่โดนไล่ออกจากพื้นที่และถูกกักไว้ใน “คุกเปิด” แห่งฉนวนกาซา โดยที่อิสราเอลควบคุมทุกอย่างและทิ้งระเบิดฆ่าฟันพลเรือนตามใจชอบมาอย่างต่อเนื่อง ชาวปาเลสไตน์เป็นผู้ถูกกดขี่ อีกฝ่ายคือรัฐอิสราเอลที่เป็นเครื่องมือของจักรวรรดินิยมตะวันตกเพื่อควบคุมตะวันออกกลาง รัฐอิสราเอลมีอาวุธทันสมัยที่สุดครบมือที่สหรัฐ อังกฤษ และประเทศในยุโรปส่งไปให้ และในเวทีสากลอิสราเอลได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกตลอด รวมถึงการออกข่าวเท็จในสื่อมวลชนที่มักป้ายสีชาวปาเลสไตน์เสมอ

ดังนั้นเราจะต้องสนับสนุนการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์โดยไม่มีเงื่อนไข แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นแค่กองเชียร์ให้กลุ่มอามาส

พลังมวลชนกับพลังจากการจับอาวุธ

เราชาวมาร์คซิสต์มองว่าในการต่อสู้กับผู้กดขี่ การปลุกระดมมวลชนและการนัดหยุดงานมีประสิทธิภาพมากกว่าการเข้าป่าจับอาวุธ หรือการลอบยิงเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เราจะไม่มีวันประณามผู้ถูกกดขี่ที่จำใจจับอาวุธหรือใช้ความรุนแรงเพื่อโต้ตอบกองกำลังของรัฐหรือจักรวรรดินิยม ไม่ว่าเราจะพูดถึง พคท. กองกำลังปลดแอกแห่งชาติของเวียดนาม กองกำลังของชาวปาเลสไตน์ หรือกองกำลังในปาตานีที่สู้รบกับรัฐไทย ทั้งนี้เพราะเราเลือกข้างทางชนชั้นเสมอ การอ้างความ “เป็นกลาง” โดยบางคน ไม่ได้เป็นกลางแต่อย่างใด เพราะในรูปธรรมมันนำไปสู่การปล่อยให้ผู้กดขี่ทำตามใจชอบเสมอ

เราเข้าข้าง พคท. แต่เราไม่กลัวที่จะวิจารณ์แนวทางของคอมมิวนิสต์สาย “สตาลิน-เหมา” ซึ่งเป็นความพยายามที่จะทำการปฏิวัติชาตินิยมเท่านั้น ระหว่าง BRN หรือองค์กรอื่นในปาตานีที่สู้รบกับรัฐไทยเพื่อแบ่งแยกดินแดน เราเข้าข้างฝ่ายที่ต้านรัฐไทยด้วยอาวุธ เพราะเราสนับสนุนสิทธิ์ของประชาชนที่จะปกครองตนเอง และการปกป้องรัฐไทยไม่ตรงกับผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในปาตานีและประเทศไทยโดยรวม แต่แน่นอนคนไทยถูกกล่อมเกลาในลัทธิชาตินิยมจนหลายคนไม่เข้าใจเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามเรามองว่าเสรีภาพจริงจะมาจากการเคลื่อนไหวของมวลชนแทนการจับอาวุธ เพราะมันเป็นการกระทำของคนจำนวนมาก

ในกรณีปาเลสไตน์ เสรีภาพจะเกิดจากการลุกฮือของมวลชนปาเลสไตน์และในประเทศรอบข้าง เพื่อต่อสู้กับชนชั้นปกครองของตนเองและจักรวรรดินิยมตะวันตกพร้อมกัน ดังนั้นนอกจากเราจะวิจารณ์ฮามาสในเรื่องสิทธิทางเพศแล้ว เรายังวิจารณ์นโยบายการทำแนวร่วมกับผู้นำในประเทศอาหรับด้วย

ใจ อึ๊งภากรณ์

บทเรียนจากชิลีปี 1973

วันที่ 11 เดือนกันยายนที่ผ่านมา คือวันครบรอบ 50 ปีของรัฐประหารโหด ที่กองทัพชิลีร่วมกับสหรัฐอเมริกา ใช้ในการโค่นล้มรัฐบาลสังคมนิยมประชาธิปไตยของประธานาธิบดี ซัลบาดอร์ อาเยนเด หลังจากรัฐประหารครั้งนั้นมีการกวาดล้างฆ่า ทรมาน และจำคุกนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายจำนวนมาก และมีการริเริ่มใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วภายใต้เผด็จการทหารฝ่ายขวาของนายพลปิโนเชต์

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศชิลีเมื่อปลายเดือนกันยายน 1973  เป็นกรณีที่ทุกคนน่าจะศึกษา

ประเทศชิลีเป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ที่เคยมีฉายาว่าเป็น “อังกฤษแห่งอเมริกาใต้” ทั้งนี้เพราะเคยมีระบบประชาธิปไตยแบบทุนนิยมที่มั่นคงมาร้อยกว่าปี โดยที่พรรคการเมืองฝ่ายขวาของนายทุนตั้งรัฐบาลมาตลอด แต่ในปี 1970 ประธานาธิบดี ซัลบาดอร์ อาเยนเด แห่งพรรคสังคมนิยม ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

พรรคสังคมนิยมชิลีเป็นพรรคของกรรมาชีพที่พยายามเปลี่ยนสังคมโดยการปฏิรูปทุนนิยม พรรคนี้พยายามอาศัยกลไกรัฐสภาในระบบประชาธิปไตย เพื่อหวังครองอำนาจรัฐ และเมื่อพรรคสังคมนิยมชนะการเลือกตั้ง ใครๆ ก็เชื่อว่าคงจะสร้างสังคมนิยมได้โดยไม่ต้องมีการปฏิวัติ

ชัยชนะของพรรคสังคมนิยมชิลีเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการต่อสู้ของคนชั้นล่างที่ดุเดือด ก่อนวันเลือกตั้งมีการนัดหยุดงาน 5,295 ครั้ง และเกษตรกรกับคนยากจนก็ออกมาเคลื่อนไหว  เพราะประชาธิปไตยรัฐสภาของชิลี ที่มีการผูกขาดโดยพรรคฝ่ายขวาของนายทุน ไม่เคยสนใจปัญหาความยากจน การตกงาน และความเหลื่อมล้ำในสังคมเลย

หลังจากที่ได้รับชัยชนะ ประธานาธิบดี อาเยนเด ประกาศว่า “เราจะทำการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อสร้างระบบสังคมนิยม” นอกจากนี้เขาได้สัญญาว่าจะปฏิรูปที่ดินและเอาบริษัทเอกชนระดับชั้นนำ 150 บริษัทมาเป็นของรัฐ แต่เขาเตือนต่อไปว่าทุกส่วนของสังคมจะต้องร่วมมือกัน และชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเสียสละเพื่อสร้างแนวร่วมกับนายทุนโดยยุติการเคลื่อนไหว และลดข้อเรียกร้อง เพราะถ้าไม่ทำแบบนั้นนายทุนจะไม่ร่วมมือด้วย

ในปีแรกของรัฐบาลใหม่ รายได้จริงของกรรมาชีพเพิ่มขึ้น จำนวนคนตกงานลดลง โรงงาน 90 แห่ง และที่ดิน 30% ของประเทศ ถูกนำมาเป็นของรัฐ และเศรษฐกิจก็ขยายตัวอย่างน่าชื่นชม

สิ่งที่รัฐบาลใหม่สามารถทำเพื่อกรรมาชีพชิลี ไม่ได้อาศัยการล้มระบบทุนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามก็ต้องนับว่ายังเป็นประโยชน์กับคนธรรมดามากพอสมควร แต่มาตรการ “ค่อยเป็นค่อยไป” ของรัฐบาล อาเยนเด สร้างความไม่พอใจกับนายทุน ดังนั้นนายทุนชิลีพยายามทำลายเศรษฐกิจด้วยการถอนทุนออกนอกประเทศและหยุดการลงทุน นอกจากนี้นายทุนสหรัฐพยายามห้ามไม่ให้ชิลีกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาอีกด้วย ในขณะเดียวกันสหรัฐยังส่งเงินไปช่วยอุดหนุนนายทหารของกองทัพชิลี

เนื่องจาก อาเยนเด ไม่ต้องการปฏิวัติยกเลิกระบบทุนนิยม ในที่สุดเขาต้องเลือกยอมประนีประนอมกับเงื่อนไขนายทุน ในขั้นตอนแรกก็มีการชะลอมาตรการที่เป็นประโยชน์กับกรรมาชีพ ต่อจากนั้นก็มีการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายทหารและตำรวจในการ “รักษาความสงบ” มีการนำนายพลอย่างปิโนเชต์เข้ามาในคณะรัฐมนตรีอีกด้วย

แต่การประนีประนอมของรัฐบาลต่อฝ่ายทุนมิได้ทำให้นายทุนร่วมมือมากขึ้นแต่อย่างใด นายทุนเข้าใจดีว่ากรรมาชีพกับนายทุนร่วมมือกันไม่ได้  ฉนั้นเมื่อรัฐบาลยอมประนีประนอม นายทุนกลับมองว่าเป็นการแสดงความอ่อนแอ จึงทำให้ฝ่ายทุนรุกสู้ต่อไปด้วยการพยายามทำลายเศรษฐกิจ นายทุนบริษัทขนส่งไม่ยอมปล่อยรถออกไปวิ่ง ซึ่งมีผลทำให้ประเทศขาดแคลนอาหารและสนค้าจำเป็นสำหรับประชาชน

อย่างไรก็ตามกรรมาชีพพื้นฐานชิลีไม่ยกธงขาวยอมแพ้ง่ายๆ คนงานพื้นฐานในเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ได้รวมตัวกันสร้างสภาคนงานย่านอุตสาหกรรม(“คอร์โดเนส์”) เพื่อยึดรถบรรทุกจากนายทุนแล้วนำมาขนส่งแจกจ่ายสินค้าเอง และในที่สุดคนงานได้รับชัยชนะ

สภา “คอร์โดเนส์” ซึ่งเป็นสภาคนงานที่สร้างขึ้นกันเองเพื่อประสานการต่อสู้ เป็นหน่ออ่อนที่มีลักษณะคล้ายๆ สภาโซเวียดในการปฏิวัติรัสเซีย1917 หรือสภาคนงานที่เกิดขึ้นในการปฏิวัติอิหร่านปี 1979 ปรากฏการณ์แบบนี้แสดงให้เราเห็นว่าท่ามกลางการต่อสู้ของกรรมาชีพ มักจะมีการสร้างองค์กรการต่อสู้ที่ประสานงานระหว่างสหภาพแรงงานและสถานที่ทำงานต่างๆ

แต่แทนที่ประธานาธิบดี อาเยนเด จะสนับสนุนการกระทำของกรรมาชีพพื้นฐาน เขากลับมองว่าเป็นการสร้างความ “ไม่สงบ” ซึ่งอาจนำไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยมของกรรมาชีพ อาเยนเด จึงสั่งให้ทหารและตำรวจสลายสภาคนงานเหล่านั้น และการกระทำครั้งนั้นได้รับความเห็นชอบจากพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินของประเทศชิลีที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกด้วย

หลังจากนั้นชิลีก็เข้าสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ร้ายแรงขึ้นเป็นลำดับ ในช่วงแรกทุกครั้งที่ฝ่ายทุนพยายามยึดอำนาจโดยอาศัยกองทัพ คนงานพื้นฐานและนายทหารชั้นล่างบางคนจะออกมาปกป้องรัฐบาลและเรียกร้องให้รัฐบาลแจกอาวุธให้คนงาน แต่รัฐบาลไม่ยอมฟัง และพยายามบอกให้กรรมาชีพสลายการเคลื่อนไหว เพราะมัวแต่ประนีประนอมกับนายทุนและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แทนที่จะเลือกข้างกรรมาชีพ เกษตรกรและคนจน

ในที่สุด เมื่อ 11 กันยายน 1973 กองทัพชิลีได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจและจับสมาชิกพรรคสังคมนิยม พรรคคอมมิวนิสต์ และนักสหภาพจำนวนมาก มีการทิ้งระเบิดทำเนียบของประธานาธิบดี แต่แทนที่ อาเยนเด จะหนีออกนอกประเทศหรือยอมถูกจับ เขาเลือกที่จะตายในทำเนียบแทน

ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารในชิลี นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายมีการเตือนกันถึงภัยที่จะมาจากกองทัพและฝ่ายขวา โดยมีการเขียนสโลแกนบนผนังตึกว่า “อย่าลืมอินโดนีเซีย” ซึ่งเป็นความพยายามที่จะกล่าวถึงการทำรัฐประหารโหดของนายพลซุฮาร์โตในปี 1965 ที่ทำลายรัฐบาลชาตินิยมที่พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเคยสนับสนุน

ในอินโดนีเซียผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ประกาศในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ว่าการต่อสู้ทางชนชั้นต้องมีความสำคัญน้อยกว่าการต่อสู้เพื่อชาติ  ทั้งๆ ที่อินโดนีเซียในช่วงนั้นได้รับเอกราชจากฮอลแลนด์เรียบร้อยไปแล้ว ตันมะละกาอดีตหัวหน้าพรรคเคยเรียกร้องให้ประชาชนสนับสนุนรัฐบาลแนวร่วมที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากทุกชนชั้นและกองทัพ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีซูการ์โน  และพรรคมักจะเน้นความสำคัญของการเสียสละของฝ่ายแรงงานต่อผลประโยชน์ของชาติ ในปี 1957 หลังจากที่กรรมาชีพยึดธุรกิจของฮอลแลนด์มาบริหารเอง พรรคยอมให้กองทัพอินโดนีเซียเข้ามายึดกิจการเหล่านั้นคืนจากสหภาพแรงงาน  และในช่วงปี ค.ศ. 1960-1962 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ยอมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของแรงงาน เพราะพรรคทำแนวร่วมสนับสนุนประธานาธิบดีซูการ์โนและไม่อยากสร้างความขัดแย้ง

รัฐประหาร 1965 ในอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและอังกฤษ ทำให้นักเคลื่อนไหวคอมมิสนิสต์ถูกฆ่าตายเกือบ 1 ล้านคน ก่อนหน้านั้นพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเคยเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในโลกในหมู่ประเทศที่อยู่ภายนอกเครือข่ายรัสเซีย-จีน และมีสมาชิกถึง 20 ล้านคน มันเป็นบทเรียนราคาแพงจากการประนีประนอมกับฝ่ายทุนและทหาร

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชิลีปี 1973 ไม่ใช่เหตุการณ์เฉพาะของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ใครที่ไม่สนใจประวัติการต่อสู้สากลจะไม่มีวันเข้าใจการเมืองของประเทศตนเอง นอกจากสหรัฐอเมริกามีความต้องการที่จะทำลายแนวสังคมนิยมทั่วโลกแล้ว สถานการณ์ที่นำไปสู่การขึ้นมาของฝ่ายซ้ายในชิลี เป็นส่วนหนึ่งของการลุกฮือของคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นเพื่อพยายามปลดปล่อยตัวเองจากสังคมอนุรักษ์นิยมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อล้ำ ตัวอย่างเช่นการลุกฮือที่ปารีสในปี 1968

ประมาณสองอาทิตย์หลังจากที่รัฐบาล อาเยนเด ถูกทำลายในชิลี นักศึกษาและกรรมาชีพไทยได้ลุกขึ้นทำลายระบบเผด็จการทหารของ ถนอม ประภาส ณรงค์ และหลังจากนั้นเป็นเวลาสามปีก็มีระบบประชาธิปไตยทุนนิยมเกิดขึ้นในไทย มีการขยายตัวของแนวคิดฝ่ายซ้ายและคนที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็เพิ่มขึ้น มีการนัดหยุดงานและการเคลื่อนไหวของเกษตรกร แต่ในขณะเดียวกัน นายทุนไทยและทหารก็ไม่พอใจในสิทธิเสรีภาพและข้อเรียกร้องต่างๆ ของกรรมาชีพและชาวนาในช่วงนั้น เขาจึงวางแผนทำลายประชาธิปไตยด้วยความเหี้ยมโหดในรัฐประหารวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  เพียงสามปีหลังจากที่นายทุนชิลีทำรัฐประหาร ปัญหาคือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหันหลังให้กับกรรมาชีพในเมือง เพื่อไปทำสงครามกับรัฐบาลไทยในป่า แทนที่จะปลุกระดมเตรียมตัวให้มีการล้มฝ่ายขวาในกรุงเทพฯ

ทุกวันนี้ในชิลี กาเบรียล บอริก อดีตนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2021 ท่ามกลางกระแสการประท้วงของคนหนุ่มสาว กำลังประนีประนอมกับฝ่ายขวาตามสูตรนักปฏิรูป ประชาชนคนจนจำนวนมากกำลังเดือดร้อนแต่รัฐบาลไม่มีข้อเสนออะไรที่เป็นประโยชน์กับเขาเลย บอริก เริ่มประนีประนอมกับฝ่ายนายทุนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งด้วยซ้ำ เริ่มใส่สูทและตัดผมให้สั้นลง และในการปราศรัยหลังชนะการเลือกตั้ง ก็ประกาศว่าจะเป็นประธานาธิบดีของประชาชน “ทุกคนทุกชนชั้น” ไม่ใช่แค่ของกรรมาชีพ คนจน หรือผู้ถูกกดขี่ นับว่าล้าหลังกว่านโยบายของ อาเยนเด ในอดีต

บทเรียนจากชิลี 50 ปีมาแล้ว คือ

  1. ชนชั้นนายทุนจะไม่มีวันยอมยกผลประโยชน์ให้ชนชั้นกรรมาชีพและเคารพประชาธิปไตย แต่จะใช้ความรุนแรงปกป้องผลประโยชน์ตัวเองตลอด
  2.  การประนีประนอม เรียกร้องให้กรรมาชีพกับคนจนเสียสละ เพียงแต่สร้างความอ่อนแอให้กับฝ่ายเรา โดยที่ไม่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเลิกคุกคาม
  3. พวกสังคมนิยมปฏิรูป ในที่สุดต้องเลือกระหว่างการปกป้องระบบทุนนิยมกับการเดินหน้าสร้างสังคมใหม่ ในรูปธรรมเขาอาจพร้อมจะใช้กองกำลังของรัฐทุนนิยมสลายการเคลื่อนไหวของกรรมาชีพ
  4.  ทั้ง ชิลี ไทย และ อินโดนีเซีย แสดงถึงความสำคัญของเครือข่ายกรรมาชีพรากหญ้า และพลังของกรรมาชีพที่จะเปลี่ยนสังคมถ้าไม่ถูกหักหลังหรือสั่งให้สยบยอมโดยคนที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายซ้าย”
  5. ชิลีและที่อื่นพิสูจน์ว่าการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ เพื่อเชื่อมโยงการต่อสู้ของกรรมาชีพ มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อพรรคปฏิรูป และพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมา ไม่ยอมนำการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพ

เพื่อไทยไม่ได้ผูกขาดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการ

เพื่อเป็นการแก้ตัวกับพฤติกรรมฉวยโอกาสทางการเมือง ภูมิธรรม เวชยชัย เสนอว่าพรรคเพื่อไทย “ต้องสลายขั้วเพื่อข้ามพ้นวิกฤต” แต่วิกฤตการเมืองไทยไม่ได้จำกัดอยู่ที่พวกเขาที่อยู่ในรัฐสภาเท่านั้น ความเกลียดชังเผด็จการและการปล้นอำนาจจากประชาชนมันฝังอยู่ในใจประชาชนธรรมดาไม่น้อย โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่

พรรคปฏิวัติสังคมนิยมควรเป็น “ความทรงจำของชนชั้นกรรมาชีพ” เพื่อเข้าใจปัญหาปัจจุบัน ดังนั้นถ้าเราจะเข้าใจเรื่องการแบ่งขั้วและความขัดแย้ง เราต้องย้อนกลับไปดูที่มาของความขัดแย้ง ซึ่งระเบิดขึ้นก่อนและหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ปี๒๕๔๙

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา ที่ล้มรัฐบาลไทยรักไทยของทักษิณ ประกอบไปด้วย ทหาร ข้าราชการชั้นสูง องค์มนตรี นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์  พวกเจ้าพ่อทางการเมือง และพวกนายทุนใหญ่อย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล และนายธนาคารต่างๆ คนชั้นสูงที่มักจะคล้อยตามทหารมาตลอด ก็ไม่ได้คัดค้านด้วย นอกจากนี้พวกเอ็นจีโอ ที่อ่อนหัดทางการเมืองเพราะจงใจปฏิเสธทฤษฎี และโกรธรัฐบาลไทยรักไทยเนื่องจากรัฐบาลแก้ปัญหาบางอย่างให้ประชาชนดีกว่าเอ็นจีโอ ก็สนับสนุนรัฐประหาร

สิ่งที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมนี้ไม่พอใจคือ การขึ้นมาเป็นรัฐบาลของไทยรักไทยได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมือง โดยที่ไทยรักไทยทำสัญญาทางสังคมกับประชาชนว่าจะมีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นรูปธรรม เช่นนโยบาย “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” นโยบาย “กองทุนหมู่บ้าน” และนโยบายที่พักหนี้เกษตรกร ซึ่งรัฐบาลไทยรักไทยนำมาทำจริงๆ หลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง เป้าหมายของไทยรักไทยคือการพัฒนาเศรษฐกิจกับสังคมไทยให้ทันสมัย เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ และรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่มองว่าคนจนควรจะเป็น “ผู้ร่วมพัฒนา” โดยไม่มองว่าคนจนเป็น “ภาระ” หรือเป็น “คนโง่” สรุปแล้ว ไทยรักไทย สามารถทำแนวร่วมประชาธิปไตยกับประชาชนส่วนใหญ่ และครองใจประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน อย่างไรก็ตาม พรรคไทยรักไทย ไม่ใช่พรรคสังคมนิยม เพราะเป็นพรรคของนายทุนใหญ่ และเป็นพรรคที่มองว่าทุนนิยมไทยจะได้ประโยชน์จากการดึงประชาชนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทางเศรษฐกิจ

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เคยชินมานานกับการมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผ่านเครือข่าย “ผู้มีอิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญ” เช่นทหาร องค์มนตรี เจ้าพ่อ และนายทุนใหญ่ หรือผ่านระบบการเลือกตั้งที่ใช้เงินซื้อเสียงอย่างเดียว โดยไม่มีการเสนอนโยบายอะไรเป็นรูปธรรม และไม่มีการให้ความสนใจกับคนจนแต่อย่างใด พวกนี้ไม่พอใจที่ทักษิณและไทยรักไทยมีอำนาจทางการเมืองผ่านสัญญาทางสังคมกับประชาชนส่วนใหญ่

วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชั้นปกครองไทย คือ “วัฒนธรรมคอกหมู” ที่มีการร่วมกันหรือพลัดกันกินผลประโยชน์ พวกนี้เคยชินกับรัฐบาลพรรคผสมที่อ่อนแอและมีการพลัดเปลี่ยนรัฐมนตรีเพื่อพลัดกันกิน พวกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่นทหาร หรือโจรเจ้าพ่อ ก็เคยชินกับการใช้อิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญในการร่วมกินด้วย เพราะรัฐบาลอ่อนแอ

ความไม่พอใจของแนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม ที่ก่อตัวขึ้นมาเพื่อทำลายรัฐบาลไทยรักไทย ไม่สามารถคัดค้าน ไทยรักไทย ด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นสำเร็จ พวกนี้จะต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาที่เสนอประโยชน์กับคนจนมากกว่าที่ไทยรักไทยเคยเสนออีก ดังนั้นเขาจึงหันมาเกลียดชังอำนาจการลงคะแนนเสียงของพลเมืองส่วนใหญ่ และตัดสินใจว่ามีทางเดียวเท่านั้นที่จะจัดการกับรัฐบาลไทยรักไทย คือต้องทำรัฐประหาร และมีการพยายามโกหกว่า “ประชาชนที่เลือกรัฐบาลในการเลือกตั้งเป็นคนโง่ที่ขาดการศึกษา” ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ใช้ร่วมกับสื่อ นักวิชาการและเอ็นจีโอ ในกรณีเอ็นจีโอมีการโกหกว่า “คนจนเข้าไม่ถึงข้อมูล”

เราไม่ควรมองว่าประชาชนรากหญ้าที่เลือก ไทยรักไทย เป็นแค่ผู้รับประโยชน์จากรัฐบาล แต่เราต้องเข้าใจว่าประชาชนเริ่มเคยชินและเข้าใจมากขึ้นว่าเขามีพลังในตัวเขาเองด้วยในการเลือกรัฐบาล ซึ่งความเข้าใจอันนี้นำไปสู่การสร้างขบวนการเสื้อแดง

ในช่วงนั้นทักษิณสามารถดึงคนอย่าง ภูมิธรรม และอดีตสหายพรรคคอมมิวนิสต์คนอื่นหลายคน เข้ามาทำงานให้ไทยรักไทย เพื่อช่วยออกแบบนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน โดยที่ภูมิธรรมจะมองว่าการต่อสู้ของ พคท. ในอดีตไม่มีประโยชน์ และอวดว่าพวกเขา “ยึดอำนาจรัฐได้แล้ว โดยไม่ต้องกินเผือกกินมัน” อย่างที่นักสู้ในป่าเคยต้องทำ

แนวของ พคท. มีปัญหาจริง เพราะสู้ในชนบท และหันหลังให้เมืองและชนชั้นกรรมาชีพ ตามแนวเผด็จการสตาลิน-เหมา แต่ในที่สุดแนวทางการเมืองของคนอย่างภูมิธรรมก็ไม่ได้นำไปสู่การปลดแอกประชาชน มันดูเหมือนจบลงตอนนี้กับการ “เลียรัฐเผด็จการของทหาร โดยไม่ต้องกินเผือกินมัน” แทน

พวกอดีต พคท. ที่เข้าไปทำงานกับไทยรักไทย และพวกอดีต พคท. ในองค์กรเอ็นจีโอ เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกันคือ ทั้งสองกลุ่มปฏิเสธแนวเดิมของ พคท. แต่ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน คนอย่างภูมิธรรมไปจับมือกับนายทุนใหญ่ในพรรคนายทุนเพื่อหวังมีอิทธิพลทางการเมือง ในขณะที่กลุ่มเอ็นจีโอหันหลังกับการท้าทายอำนาจรัฐ ปฏิเสธพรรคการเมืองและทฤษฎี และแปรตัวไปเป็นนักกิจกรรมที่รับทุนมาทำงานกับประชาชน คนอย่างภูมิธรรมจะอ้างว่าเป็นผู้แทนของประชาชนที่ยึดอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง ในขณะที่เอ็นจีโออ้างว่าตัวเองเป็น “ภาคประชาชน” ที่ไม่ใช่รัฐ แต่แนวทางของทั้งสองกลุ่มนำไปสู่ทางตัน

เราต้องไม่ลืมว่ารัฐบาล ไทยรักไทย และนายกทักษิณไม่ได้เป็นเทวดา รัฐบาลนี้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในสงครามปราบยาเสพติด ที่คาดว่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ยังไม่ได้ขึ้นศาล ถูกเจ้าหน้าที่รัฐฆ่าตายเกือบสามพันคน  นอกจากนี้การฆ่าประชาชนมือเปล่าที่ตากใบ และ กรือแซะ ในปาตานี เป็นการก่ออาชญากรรมต่อประชาชนเช่นกัน

การฉวยโอกาสของพรรคการเมืองของทักษิณก็ไม่ได้เริ่มวันนี้ ในอดีตในปี ๒๕๕๐ มีการเชิญสมัคร สุนทรเวช นักการเมืองขวาจัดปฏิกิริยาที่มีบทบาทในเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (หลังเปลี่ยนชื่อจากไทยรักไทย และก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นพรรคเพื่อไทย) และสมัครก็ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปีต่อไป นอกจากนี้มีการพยายามดึงคนในราชวงศ์มาเล่นการเมืองอีกด้วย

นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดของ ไทยรักไทย ซึ่งใช้คู่ขนานกับนโยบายที่ใช้งบประมาณรัฐ เช่นการเซ็นสัญญาค้าเสรีที่เพิ่มราคายาสำหรับประชาชน เป็นการทำลายประโยชน์ของระบบสามสิบบาทรักษาทุกโรค และเพิ่มภาระให้รัฐเพื่อผลประโยชน์บริษัทยาข้ามชาติ และการขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน ก็เป็นนโยบายที่ขัดกับประโยชน์คนจนอีกด้วย เพราะเปลี่ยนรัฐวิสาหกิจไปเป็นบริษัทเอกชนที่สนใจแต่กำไรแทนการบริการและพัฒนาสังคม

หลังรัฐประหาร ๒๕๔๙ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นไป ขบวนการเสื้อแดงได้ก่อตัวเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และที่สำคัญคือประกอบไปด้วยประชาชนรากหญ้าที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และส่วนใหญ่มีการนำตนเองผ่านการตั้งกลุ่มในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ  และมีการเรี่ยรายเงินด้วยวิธีต่างๆ จากคนในพื้นที่ และที่น่าสนใจคือมวลชนคนเสื้อแดงประกอบไปด้วยผู้หญิงจำนวนมาก

แน่นอนคนส่วนใหญ่ที่เป็นเสื้อแดงเป็นผู้ที่ชื่นชมนายกทักษิณ แต่ส่วนใหญ่มันไม่ใช่การชื่นชมแบบหลงใหลหรือแบบผู้ได้รับอุปถัมภ์ เขาชื่นชมทักษิณและไทยรักไทย เพราะรัฐบาล ไทยรักไทย เคยให้ประโยชน์หลายอย่างกับประชาชนที่จับต้องได้ และการที่ประชาชนเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายชัดเจนที่เป็นประโยชน์กับตน เป็นหลักการประชาธิปไตยเบื้องต้น ไม่ใช่ “ระบบอุปถัมภ์” อย่างที่สื่อกระแสหลัก หรือสลิ่มชอบโกหก

การที่คนเสื้อแดงจำนวนมากชื่นชมทักษิณ ไม่ได้แปลว่าทักษิณชักใยหรือควบคุมขบวนการเสื้อแดง ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นหัวหน้า ทั้งๆ ที่เสื้อแดงอาจได้เงินทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งจากทักษิณ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่นักวิชาการและนักข่าวที่คิดแบบกลไกไม่สามารถเข้าใจได้ ทักษิณมีความสัมพันธ์กับคนเสื้อแดงในเชิงวิภาษวิธี คือทักษิณมีความสำคัญ แต่ทักษิณไม่ได้คุมขบวนการอย่างเบ็ดเสร็จ และมันมีความไม่พอใจขัดแย้งอื่นกับเผด็จการทหารในระดับล่างอีกด้วย

เราต้องเข้าใจภาพรวม การเปิดศึกกับเผด็จการทหารของเสื้อแดงเป็น “สงครามคู่ขนาน” คือมีความขัดแย้งของพวกนักการเมืองข้างบน และมีความไม่พอใจของประชาชนรากหญ้าธรรมดาที่นักการเมืองเคยถูกดูและถูกมองข้ามมานาน ซึ่งผสมกับความมั่นใจมากขึ้นในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนรากหญ้า

ภูมิธรรมและเพื่อไทยให้ความสนใจกับความขัดแย้งแรก แต่ไม่สนใจความไม่พอใจของประชาชนรากหญ้า หรือเขาหวังว่าตนจะสามารถนำประชาชนส่วนใหญ่ให้ไปก้มหัวกับอำนาจเผด็จการได้ พรรคเพื่อไทยกำลังพยายามเปิดทางเพื่อหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุค “วัฒนธรรมคอกหมู” ในระบบการเมือง และทำหน้าที่เป็น “พรรคนายหน้าของเผด็จการ” มันเป็นการสยบยอมภายใต้อำนาจเผด็จการที่ทหารใช้เวลา 17 ปีในการสร้าง โดยต้องผ่านการเลือกตั้งและรัฐประหารรอบต่างๆ และการทำข้อตกลงกับทักษิณในที่สุด ทักษิณเองก็คงพึงพอใจในการกลับไทยและการได้ทรัพย์สมบัติคืน

พวกเขาจะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับนักเคลื่อนไหว มันไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ประชาชนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยอาจเริ่มท้อ หรืออาจโกรธแค้นมากขึ้นก็ได้ เรานักสังคมนิยมมีหน้าที่ในการชักชวนให้เขามองว่าในรูปธรรมการต่อสู้กับเผด็จการยังเป็นไปได้

สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องชัดเจนคือ สส. และ สมาชิกของพรรคก้าวไกลอาจไม่พอใจที่โดน สว. และเพื่อไทยกีดกัน แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเขาจะนำการต่อสู้ของมวลชนนอกรัฐสภาแต่อย่างใด ถ้าเขามีกิจกรรมนอกรัฐสภาบ้าง เราก็ต้องสนับสนุนในฐานะแนวร่วม แต่เราไม่ควรไปตั้งความหวังอะไรกับพรรคก้าวไกลเลย

เราต้องขยายอิทธิพลของขั้วประชาธิปไตยในหมู่คนหนุ่มสาวและในหมู่กรรมาชีพที่เป็นนักสหภาพแรงงาน เพื่อที่จะสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน มันคงจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนที่ถูกมองว่าเป็น “ผู้นำ” ได้สยบยอมต่ออำนาจเผด็จการภายใต้คำแก้ตัวไปแล้ว คนจำนวนมากอาจจะสับสน ยอมไปก่อน หรือเบื่อความขัดแย้ง แต่เราต้องชัดเจนว่าปัญหาอำนาจและกติกาเผด็จการไม่ได้หายไปจากสังคมแม้แต่นิดเดียว

อีกปัญหาหนึ่งสำหรับเรา โดยเฉพาะในยุคที่นักสังคมนิยมยังน้อยอยู่ และภาระสำคัญคือการขยายสมาชิกและอิทธิพล คือเราต้องเดินหน้าสร้าง “เตรียมพรรค” ด้วยการปลุกระดม จัดกลุ่มศึกษา และเคลื่อนไหวพร้อมๆ กัน  สิ่งที่ต้องระวังสำหรับกลุ่มเล็กๆคือการพยายามหาทางลัดผ่านการประนีประนอมทางความคิด หรือการหันหลังให้กับการเคลื่อนไหวเพื่ออยู่อย่างสะดวกสบายบริสุทธิ์ในหอคอยงาช้าง

รัฐสภาคือกับดัก มวลชนนอกสภาคือคำตอบ

ในช่วงนี้มีคนตั้งคำถามว่า “เลือกตั้งไปทำไม?” หลังจากที่เห็น สว. กีดกันมติประชาชน คำตอบสั้นๆ คือเผด็จการทหารหลังก่อรัฐประหารในปี ๒๕๕๗ จำเป็นต้องสร้างภาพว่าประเทศมีประชาธิปไตยเพื่อลดการต่อต้านจากประชาชน แต่เขาออกแบบระบบดังกล่าวเพื่อจำกัดเสียงประชาชนมาตั้งแต่แรก

องค์กร iLaw (ไอ ลอว์) อธิบายว่า “ตลอดระยะเวลามากกว่าสามปีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ามาบริหารประเทศ (หลังรัฐประหาร) คสช.ได้สร้างกลไกทางการเมืองต่างๆ เพื่อเข้ามาทำหน้าที่วางแผนขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่คสช.เห็นว่าจะไม่ทำให้ประเทศไทยกลับไปล้มเหลวแบบเดิม” โดยที่ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” ประกอบไปด้วยทหารที่ร่วมก่อรัฐประหาร พวกนี้อ้างว่าอยากจะ “ปรองดอง” แต่แท้จริงคืออยากจะนำแนวคิดของทหารอนุรักษ์นิยมมาครอบสังคมไทย นอกจากนี้ คสช. พูดถึง “ความล้มเหลวแบบเดิม” แต่นั้นก็เป็นแค่การให้ความชอบธรรมกับตนเองในการทำลายระบบประชาธิปไตยผ่านรัฐประหาร ผลพวงสำคัญที่เราเห็นทุกวันนี้คือระบบสว.แต่งตั้งที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีและออกเสียงในเรื่องอื่นๆ กับรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างเอง

มันไม่มีอะไรลึกลับ ไม่มีอะไรที่พูดถึงไม่ได้ ใครที่สนใจการเมืองจริงๆ และไม่แกล้งลืมอดีตเพื่อตั้งความหวังลมๆ แล้งๆ กับการเลือกตั้งที่ผ่านมา จะเห็นว่าทหารคือศัตรูหลักของประชาธิปไตย

สำหรับฝ่ายเรา การที่มวลชนคนหนุ่มสาวฝากความหวังไว้กับพรรคอนาคตใหม่แทนที่จะขยายพลังมวลชนนอกรัฐสภา ถูกพิสูจน์โดยประวัติศาสตร์ไปแล้วว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาด ที่ผู้เขียนฟันธงแบบนี้ ไม่ได้เป็นการดูถูกปัญญาของมวลชน และไม่ได้เป็นการโอ้อวดว่าผู้เขียนไม่เคยตัดสินใจผิด ทุกคนต้องพัฒนาตนเองผ่านการลองผิดลองถูก แต่ที่สำคัญคือเราเรียนบทเรียนจากความผิดพลาดของขบวนการทั้งในไทยและในต่างประเทศหรือไม่

ย้อนกลับไปดูการต่อสู้ของมวลชนคนหนุ่มสาวที่มีจุดสูงสุดในปี ๒๕๖๓ เราคงจำได้ว่ามีมวลชนออกมาต่อต้านเผด็จการทหารในกรุงเทพฯและเมืองอื่นเป็นแสน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่กระแสมวลชนนี้อ่อนตัวลงและถูกเบี่ยงเบนไปสู่การตั้งความหวังกับพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยในระบบรัฐสภา ทั้งๆ ที่ทหารเผด็จการเป็นผู้ออกแบบระบบรัฐสภาปัจจุบันเพื่อไม่ให้เรามีประชาธิปไตยเสรี

แน่นอนการออกมาสู้บนท้องถนนซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยไม่มียุทธศาสตร์ในการขยายและเพิ่มพลัง นำไปสู่ความหดหู่และการเสียกำลังใจของนักต่อสู้ไม่น้อย ตอนแรกมีความพยายามที่จะใช้รูปแบบการชุมนุมที่สร้างสรรค์ เช่นการใช้เป็ดพลาสติกเป็นต้น แต่มันไม่ได้เพิ่มพลังของการประท้วง ความท้อแท้ก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีการจับแกนนำและยัดข้อหา 112  ต่อมามีการประท้วงแบบปัจเจกที่เกิดจากการที่คนมองทางออกในการต่อสู้ไม่ออก ดังนั้นการหันไปพึ่งพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยในรัฐสภาเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่เราต้องวิจารณ์ด้วยจิตใจสมานฉันท์

การที่นักเคลื่อนไหวหันไปพึ่งพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล เป็นอาการที่มาจากความอ่อนแอในการนำมวลชน เราเห็นได้ชัดถ้ากลับไปศึกษาการต่อต้านเผด็จการประยุทธ์ ในช่วงแรกมีการเน้นนักศึกษากลุ่มเล็กๆ ที่ออกมาประท้วงและอ้างความเป็นอิสระ ตัวอย่างของคนหนึ่งที่เคลื่อนไหวแบบนี้คือ รังสิมันต์ โรม ที่ปัจจุบันเป็นสส.พรรคก้าวไกล ต่อมามีการรวมกลุ่มเพื่อจัดการชุมนุมที่ใหญ่ขึ้น แต่ไม่มีการสร้างเครือข่ายแกนนำที่มาจากการเลือกตั้งของมวลชน แกนนำจึงถูกตรวจสอบไม่ได้และเปลี่ยนไม่ได้ ไม่มีการประชุมแบบ “สภาประชาชน” เพื่อถกแนวทาง มีการมองแบบเพ้อฝันว่าพลังคนหนุ่มสาวเป็น “พลังบริสุทธ์” ไม่เหมือนขบวนการเสื้อแดงก่อนหน้านั้น ผลคือไม่มีการตั้งใจขยายมวลชนไปสู่กลุ่มอื่นๆ ในสังคม เช่นคนเสื้อแดง และที่สำคัญที่สุดไม่มีการขยายมวลชนไปสู่ขบวนการแรงงาน คนที่อายุมากกว่าคนหนุ่มสาวจำนวนมากเลยมีแนวโน้มที่จะมองว่ามันเป็นการต่อสู้ของ “เขา” ไม่ใช่การต่อสู้ของ “เราทุกคน” แน่นอนมีคนในวัยทำงานจำนวนมากที่สนับสนุนคนหนุ่มสาว แต่การสนับสนุนกับการเข้าร่วมมันต่างกัน และเมื่อแกนนำคนหนุ่มสาวเริ่มถูกจับเข้าคุก หลายคนก็สงสาร แต่ก็ไม่มีการจัดการประท้วงที่มีพลังโดยคนในวัยทำงาน

สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปจากการประท้วงของมวลชน คือการเสนอแนวทางโดยพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ ทีเขียนแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะอวดว่าพวกเรา “รู้หมด” หรือมี “แนวทางที่ถูกต้องเสมอ” แต่อย่างน้อยถ้าพรรคสังคมนิยมปฏิวัติมีสมาชิกเพียงพอที่จะเข้าไปร่วมอยู่ใจกลางของการประท้วง ร่วมนำ ร่วมถกเถียง เราจะสามารถนำบทเรียนที่เราจดจำไว้จากไทยและที่อื่นมาเสนออย่างเป็นระบบได้ แทนที่การนำจะเป็นแค่ความเห็นปัจเจกอย่างกระจัดกระจาย สิ่งที่เราคงเสนอตอนนั้นคือความสำคัญของการขยายพลังมวลชน โดยเฉพาะการปลุกระดมขบวนการแรงงานในสหภาพแรงงานต่างๆ ให้ออกมาประท้วงร่วมกับมวลชนบนท้องถนน และเมื่อกรรมาชีพออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับมวลชนอื่น ก็จะเริ่มมีการสร้างความมั่นใจที่จะนัดหยุดงานในเรื่องประเด็นการเมืองได้

การนัดหยุดงานเป็นพลังสำคัญ เพราะมีผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจ แต่ต้องมีการค่อยๆ สร้างกระแสและความมั่นใจ

อย่างไรก็ตามในขบวนการแรงงานไทย นักจัดตั้งส่วนใหญ่เน้นแต่เรื่องปากท้องผ่านความคิดแบบ “ลัทธิสหภาพ” จึงไม่มีการจัดตั้งแนวสังคมนิยมที่เน้นความคิดในเรื่องการเมืองภาพกว้างควบคู่กับเรื่องปากท้อง และไม่มีการเน้นความสำคัญของแกนนำรากหญ้าที่จะนำตนเองอีกด้วย

ปัญหาของการที่พรรคสังคมนิยมปฏิวัติเล็กเกินไปที่จะลงไปปลุกระดมในขบวนการสหภาพแรงงาน ทำให้ขบวนการแรงงานไม่มีความสัมพันธ์กับมวลชนคนหนุ่มสาว เราเห็นชัดในสองตัวอย่างที่จะยกมาคือ หนึ่งนักสหภาพแรงงานที่เป็นนักสู้จำนวนหนึ่งไปฝากความหวังกับพรรคก้าวไกลสายแรงงาน โดยที่ไม่ข้ามพ้นแนวคิดลัทธิสหภาพ คือมองว่าพรรคอย่างก้าวไกลในรัฐสภาจะ “ช่วย” กรรมาชีพในเรื่องปากท้อง ไม่มีการปลุกระดมเรื่องการเมืองโดยทั่วไปเลย

ตัวอย่างที่สองคือคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งไปใช้แนวคิดอนาธิปไตยเพื่อจัดตั้ง “สหภาพแรงงานคนทำงาน” โดยคิดว่าจะเป็นทางลัดไปสู่การนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อข้อเรียกร้องทางการเมือง แต่ทางลัดนี้กลายเป็นทางตัน การที่บางคนในสหภาพนี้ประกาศเรียกร้องให้มีการนัดหยุดงานทั่วไปในโซเชียลมีเดีย หลังจากที่สว.ไม่ทำตามมติเสียงประชาชน โดยที่คนเหล่านั้นไม่มีการวางแผนสร้างพลังใดๆ เพื่อให้การนัดหยุดงานทั่วไปเกิดได้จริง เป็นตัวอย่างของแนวทางที่นำไปสู่ทางตัน

บางคนอาจรู้สึกขำ เวลาพวกเรากล่าวถึงพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ และเขาอาจมองอย่างผิดๆ ว่าพวกเราคลั่งเรื่องการปฏิวัติในลักษณะนามธรรมแบบไร้เดียงสา แต่ โรซา ลัคแซมเบอร์ค นักปฏิวัติสังคมนิยมเยอรมัน เคยกล่าวไว้ในบทความ “ปฏิรูปหรือปฏิวัติ” ว่าเราชาวปฏิวัติ จะต้องเป็นนักปฏิรูปที่ขยันที่สุด คือเราจะไม่หันหลังให้กับการต่อสู้ประจำวันเลย

ประเทศไทยอาจไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปฏิวัติตอนนี้ แต่ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของนักปฏิวัติฝ่ายซ้ายในการเคลื่อนไหวทุกวัน จะแตกต่างและมีพลังมากกว่าวิธีของพวกปฏิรูปเสมอ

ยุทธวิธีของนักปฏิวัติมักจะตั้งคำถามกับประชาชนว่า “รัฐบาล” กับ “รัฐ” ต่างกันอย่างไร เพราะแนวคิดปฏิรูปเป็นการเสนอให้เปลี่ยนรูปแบบรัฐบาล โดยคงไว้รัฐเดิม แต่รัฐมันมากกว่าแค่รัฐบาล ในระบบทุนนิยมมันเป็นอำนาจที่กดทับชนชั้นกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจน เพื่อประโยชน์ของชนชั้นนายทุน รัฐมีอำนาจในเวทีนอกรัฐสภาผ่านตำรวจ ทหาร ศาลและคุก นายทุนใหญ่มีอิทธิพลกับรัฐนี้และในสื่อมวลชน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง ทหารชั้นผู้ใหญ่ก็เป็นด้วย

รัฐบาลเพียงแต่เป็นคณะกรรมการบริหารที่ต้องปกครองในกรอบที่วางไว้โดยชนชั้นปกครอง การเลือกตั้งในรัฐสภาทุนนิยมดีกว่าเผด็จการทหารเพราะมีพื้นที่เสรีภาพมากกว่า แต่การเลือกตั้งในระบบรัฐสภาไม่อาจทำให้คนชั้นล่างเป็นใหญ่ในสังคมได้ และชนชั้นปกครองจะกีดกันมติประชาชนด้วยวิธีต่างๆ เสมอ ถ้าเขาคิดว่ามันท้าทายผลประโยชน์ของเขา มันมีตัวอย่างมากมายจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือที่อื่น

นักการเมืองที่เน้นรัฐสภามักจะวิ่งตามเสียงประชาชน แทนที่จะเป็นนักปลุกระดมให้ประชาชนเปลี่ยนความคิด และแรงดึงดูดจากระบบรัฐสภามักจะนำไปสู่ความคิดแบบฉวยโอกาสที่ทอดทิ้งอุดมการณ์ภายใต้คำขวัญว่า “อุดมการณ์กินไม่ได้”

แนวคิดปฏิวัติในการสู้กับเผด็จการทหาร จะเน้นมวลชนบนท้องถนนและพลังการนัดหยุดงาน แต่แนวปฏิรูปจะชวนให้ประชาชนไปยื่นหนังสือกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยในรัฐสภา และจะมองว่าการนัดหยุดงานเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองเป็นเรื่อง “ผิด” หรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ และเราจะเห็นว่าพรรคปฏิรูปอย่างพรรคก้าวไกลหรือเพื่อไทย จะไม่ปลุกระดมให้มวลชนลงถนนหรือนัดหยุดงาน แต่จะนั่งคิดกันในวงประชุมว่าจะใช้กลไกของรัฐสภาอย่างไรเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ซึ่งแปลว่าจะมีการพิจารณาว่าควรจะประนีประนอมในส่วนไหนด้วย

ที่สำคัญคือ ระบบรัฐสภาทุนนิยมอย่างในไทยหรือในตะวันตก เป็นพื้นที่อำนาจของชนชั้นปกครองและเป็นพื้นที่ที่กรรมาชีพหรือคนธรรมดามีอำนาจน้อย ระบบรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง ศาล ฯลฯ คอยควบคุมให้คนที่ถูกส่งเข้าสภาต้องน้อมรับกติกาของเขา แค่ดูเรื่องเล็กอย่างการแต่งกายในรัฐสภาไทยก็เห็นชัด สส. เข้าสภาไม่ได้ถ้าไม่ใส่สูท ซึ่งไม่ใช่การแต่งกายปกติประจำวันของประชาชนธรรมดาในเมืองร้อนแบบไทย

ปัญหาของการเน้นรัฐสภายิ่งเป็นเรื่องใหญ่มากขึ้นเมื่อมีการออกแบบระบบรัฐสภาที่ขาดกลไกประชาธิปไตยอย่างในไทยตอนนี้

โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยตั้งข้อสังเกตว่า มีคนจำนวนมากที่คิดว่าการปฏิรูปเป็นการพยายามเปลี่ยนสังคมที่ใช้วิธีสันติ และการปฏิวัติคือ “ความรุนแรง” แต่เส้นทางการปฏิรูปกับเส้นทางปฏิวัติ เป็นถนนคนละสายที่นำไปสู่สังคมที่แตกต่างกัน การปฏิรูปจะเน้นการรักษาระบบและเปลี่ยนแปลงอะไรเล็กๆน้อยๆ ส่วนการปฏิวัติเป็นการพลิกสังคมและขั้วอำนาจ แค่ตัวอย่างของแนวคิดต่างๆ ว่าด้วยการแก้ปัญหากฎหมาย 112 ก็ทำให้เห็นชัด

สำหรับปัญหาเฉพาะหน้าในไทยตอนนี้ เราชาวสังคมนิยมต้องสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยในการเผชิญหน้ากับเผด็จการ ไม่ว่าจะในหรือนอกรัฐสภา เราต้องสมานฉันท์กับฝ่ายประชาธิปไตยกลุ่มต่างๆ เสมอ แต่ในขณะเดียวกันเราต้องไม่กลัวที่จะเสนอยุทธวิธีปฏิวัติ ที่เน้นพลังมวลชนบนท้องถนนและพลังการนัดหยุดงาน โดยค่อยๆ อธิบายขั้นตอนการเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนั้นเราต้องพยายามสร้างองค์กรสังคมนิยมของเราให้โตขึ้น

ใจ อึ๊งภากรณ์

เดินหน้ารื้อถอนโครงสร้างเผด็จการ

[ แถลงการณ์ องค์กรสังคมนิยมแรงงาน ]

เดินหน้ารื้อถอนโครงสร้างเผด็จการ

ฉันทามติของประชาชน ๒๕ ล้านเสียง กำลังจะถูกทำลายด้วยอำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ถูกสร้างขึ้นโดยคณะรัฐหารปี ๒๕๕๗ ท่ามกลางบรรยากาศที่ห่างไกลจากการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี มันเป็นเพียงเครื่องมือซักฟอกให้กับชนชั้นปกครองให้สามารถสืบทอดอำนาจเผด็จการบนผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนต่อไป

การเลือกตั้งที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะเลือกตั้งท่วมท้นด้วยคะแนนสูงถึง ๖๔% ของผู้มาใช้สิทธิ์ แต่กลับไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้โดยง่าย มันได้พิสูจน์ให้เห็นธาตุแท้ของโครงสร้างอำนาจรัฐที่อยู่นอกเหนืออำนาจประชาชน ทั้งที่แฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญที่ถูกสร้างขึ้นด้วยอำนาจเผด็จการ ทั้งที่เกาะกุมนอกรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะ ส.ว. องค์กรอิสระ กองกำลังติดอาวุธ กลุ่มทุนขนาดใหญ่

ด้วยเหตุนี้ ได้แสดงให้ประชาชนเห็นว่าการเดินเข้าคู่หาเลือกตั้งไม่เพียงพอที่จะก่อร่างสร้างสังคมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิ์เสียงของประชาชนได้ ประชาชนจำเป็นต้องออกเดินทางกันอีกครั้ง “บนท้องถนน” เพื่อทำลายโครงสร้างเผด็จการดังกล่าว ถึงจะนำพาไปสู่การปฏิรูปได้อย่างแท้จริง ซึ่งปรากฎแล้วในอดีตที่ผ่านมา เช่น เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕

ขบวนการประชาชนต้องรุกไปข้างหน้ากดดันพรรคการเมืองทุกพรรค เฉพาะหน้าต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเพิ่มอำนาจประชาชนให้มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง ยกเลิกองค์กรอิสระที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ยกเลิกวุฒิสภา ยกเลิกนายกรัฐมนตรีที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนำระบบลูกขุนมาใช้ในการพิจารณาคดี เก็บภาษีคนรวยเพิ่ม สร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ทั่วถึง เท่าเทียม ฯลฯ

นอกจากนั้นต้องยกเลิกกฎหมายมาตรา ๑๑๒ ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองโจมตี ปราบปราม ฝ่ายประชาธิปไตย ต้องปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข นำตัวทหารนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหารและเข่นฆ่าประชาชนมาลงโทษ

เรื่องเหล่านี้ไม่สามารถกระทำผ่านรัฐสภาภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐเผด็จการได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยการสนับสนุนจากพลังมวลชนมหาศาล โดยเฉพาะบทบาทของขบวนการกรรมาชีพ ที่มีอำนาจแฝงที่มีพลังในระบบทุนนิยมคือ “การนัดหยุดงานทั่วไป”

สังคมใหม่ที่เป็นไปได้

๑๒ ก.ค. ๖๖

ก้าวไกลยึดอำนาจรัฐหรือแค่ชนะเลือกตั้ง?

หลังจากที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งมากกว่าพรรคอื่นๆ และมีสส.ที่มาจากการเลือกตั้งมากที่สุด ถ้าสามารถฝ่าอุปสรรคของมรดกเผด็จการ คือสว.แต่งตั้ง บางคนอาจคิดว่าก้าวไกลสามารถยึดอำนาจรัฐได้แล้ว แต่นั้นคือแค่ความฝัน

ทักษิณ ชินวัตร

ในอดีตเมื่อพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี ๔๐ อดีตฝ่ายซ้ายที่เคยเข้าป่ากับพรรคคอมมิวนิสต์และต่อมาเข้าไปในพรรคไทยรักไทยภายหลังป่าแตก จะพูดว่าเขาสามารถ “ยึดอำนาจรัฐได้ โดยไม่ต้องกินเผือกกินมัน” ซึ่งหมายความว่าพรรคไทยรักไทยยึดอำนาจรัฐผ่านการครองใจประชาชนและชนะการเลือกตั้ง แทนที่จะต้องเข้าป่าไปกินเผือกกินมันในกองทัพปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่การล้มรัฐบาลไทยรักไทย และรัฐบาลเพื่อไทยผ่านการทำรัฐประหารพิสูจน์ว่าเรื่องนี้ซับซ้อนมากกว่าที่พวกนั้นคิด

หลังชัยชนะของพรรคก้าวไกล คงจะมีคนไม่น้อยที่มองว่าพวกเราชาวมาร์คซิสต์ หรือที่เขาด่าว่าพวก “ซ้ายสุดโต่ง” มัวแต่ย่ำอยู่กับที่ในขณะที่ยึดอำนาจรัฐไม่ได้ แล้วมาวิจารณ์ความสำเร็จของพรรคก้าวไกล

บทความนี้เขียนก่อนที่จะมีการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีหรือการตั้งรัฐบาล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่า พิธา จะได้เป็นนายยกหรือไม่ พรรคก้าวไกลไม่ได้ยึดอำนาจรัฐ

ถ้าสว.ปิดกั้นสิทธิของ พิธา ที่จะเป็นนายกมันอาจทำให้บางคนเข้าใจอำนาจรัฐชัดขึ้น แต่คนที่ยังตั้งความหวังกับระบบรัฐสภาจะมองว่าถ้ารัฐบาลใหม่สามารถยกเลิกอำนาจของสว.ในอนาคต มันจะเปิดทางให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยยึดอำนาจรัฐได้

ถ้าเราศึกษาหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของ เลนิน และ “สงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส” ของมาร์คซ์ เราจะเข้าใจว่า ในทุกสังคมของทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการทหาร และไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรปตะวันตก หรือไทย มันมีชนชั้นปกครองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งดำรงอยู่ ซึ่งดูเหมือนขัดกับหลักประชาธิปไตย ดังนั้นแค่การเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น หรือการเลือกพรรคที่ก้าวหน้าหรือพรรคที่ใช้แนวสังคมนิยมเข้ามาคุมรัฐสภา จะไม่นำไปสู่สังคมใหม่แห่งเสรีภาพแต่อย่างใด และการปฏิรูปสังคม ไม่ว่าจะดีและเป็นประโยชน์แค่ไหน ไม่สามารถเปลี่ยนอำนาจรัฐภายใต้ทุนนิยมได้

เลนิน กล่าวถึงงานของ มาร์คซ์ และ เองเกิลส์ ซึ่งเป็นนักมาร์คซิสต์ “รุ่นครู” ของเขา   เพื่อชี้ให้เห็นว่า “รัฐ” มันมากกว่าแค่ “รัฐบาล” เพราะรัฐประกอบไปด้วย “อำนาจพิเศษสาธารณะ” ซึ่งอาศัยวิธีควบคุมสังคมสองวิธีคือ (1) อาศัยกองกำลังและการปราบปรามอย่างรุนแรง ซึ่ง เองเกิลส์ และ เลนิน เรียกว่า “องค์กรพิเศษของคนติดอาวุธ” นั้นคือ ทหาร ตำรวจ ศาล และคุก (2) อาศัยการสร้างระเบียบและความชอบธรรมกับการปกครองของรัฐ เพื่อให้ผู้ถูกปกครองยอมรับอำนาจเผด็จการของรัฐ และวิธีที่สำคัญคือการวางตัวของรัฐให้ห่างเหินแปลกแยกจากสังคม เพื่อให้ดูเหมือน “ลอยอยู่เหนือสังคมและเป็นกลาง” ในขณะที่คุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบ เพราะถ้ารัฐไม่สร้างภาพแบบนี้มาปิดบังความจริงที่รัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองฝ่ายเดียว ประชาชนจะไม่ให้ความจงรักภัคดี การควบคุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบดังกล่าว กระทำผ่านการพยายามผูกขาดแนวคิดในโรงเรียน ศาสนา และสื่อ จนเราอาจไม่รู้ตัวว่าเราถูกควบคุมกล่อมเกลาทางความคิด

รัฐจะส่งเสริมให้มีการออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นปกครอง โดยมีศาลคอยสนับสนุน และในสถานที่ทำงานทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือภาครัฐ มันมีเผด็จการของนายทุนกับผู้บริหาร แถมสื่อมวลชนหลักมักจะสะท้อนจุดยืนของชนชั้นปกครอง เพราะนายทุนมีอิทธิพลครอบงำสื่อ และทุกอย่างถูกทำให้ดูเหมือนเป็น “ธรรมชาติ”

รัฐทุนนิยมมีไว้เพื่อกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกร โดยยึดผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนเป็นหลัก ตรงนี้เราไม่ควรสับสนว่า “ชนชั้นนายทุน” คือแค่นักธุรกิจเท่านั้น เพราะชนชั้นนายทุนประกอบไปด้วยนายทหารชั้นสูง ข้าราชการชั้นสูง นักการเมืองระดับรัฐมนตรี ชนชั้นนำ และนายทุนเอกชน เขาคือชนชั้นปกครอง และ “รัฐ” เป็นเครื่องมือของเขา ไม่ว่าเราจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่

บ่อยครั้งในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม อำนาจเหนือประชาธิปไตยของชนชั้นปกครองถูกใช้อย่างเนียนๆ เพื่อปกปิดความเป็นเผด็จการของทุนนิยม เช่นการที่ศาลออกมาตัดสินว่านโยบายก้าวหน้าของบางรัฐบาลขัดกับรัฐธรรมนูญ หรือการที่กลุ่มทุนใหญ่ใช้อำนาจเผด็จการในการถอนทุนเมื่อไม่พอใจนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล มันมีการสร้างความชอบธรรมกับสิ่งเหล่านี้

เองเกิลส์ อธิบายว่ารัฐไหนสร้างภาพหลอกลวงว่าเป็นกลางได้ดีที่สุด รัฐนั้นสามารถควบคุมประชาชนได้อย่างแนบเนียน ตัวอย่างที่ดีคือการอ้างว่าศาลในประเทศตะวันตกเป็นองค์กร “อิสระ” แต่ในความเป็นจริงมันแค่อิสระจากการตรวจสอบควบคุมของประชาชนเท่านั้น แถมมีกฎหมายหมิ่นศาลอีกด้วย นักวิชาการที่รับใช้ชนชั้นปกครอง มักเสนอตลอดว่า “รัฐเป็นกลาง” ไม่เข้าข้างใคร และด่าแนวมาร์คซิสต์ว่า “ตกยุค”

ในอดีตและปัจจุบันรัฐไทยเผยธาตุแท้ว่าเป็นรัฐเผด็จการและเป็นศัตรูของประชาชน แต่ในขณะเดียวกันมักจะมีความพยายามที่จะสร้างภาพว่ารัฐไทยเป็นกลางได้ถ้าแค่ปฏิรูปความผิดปกติบางอย่างเท่านั้น

ในโลกจริงมันมีประเทศไหนในระบบทุนนิยม ที่ผู้บริหารทุนใหญ่ทุกคนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือลูกจ้างในบริษัท? มันมีที่ไหนที่นายพลในกองทัพมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือพลทหารธรรมดา? มันมีที่ไหนที่ประชาชนธรรมดาสามารถมีส่วนร่วมเต็มที่ในการพิพากษาคดีต่างๆ? มันมีที่ไหนที่มีกฎหมายซึ่งทำลายความเหลื่อมล้ำผ่านการจ่ายเงินเดือนให้ทุกคนในอัตราเท่ากัน? มันมีที่ไหนที่มีกฎหมายที่ระบุว่านายทุนไม่มีความชอบธรรมในการกอบโกยกำไรบนสันหลังคนทำงาน?

การเข้าใจรัฐสำคัญมากต่อประเด็นว่าทำไมเราไม่สามารถสร้างสังคมนิยมผ่านรัฐสภาทุนนิยมได้ แต่สำหรับกรณีพรรคไทยรักไทย/พรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคเสรีนิยมของชนชั้นนายทุน แค่การปฏิรูปสังคมภายใต้กติกาของรัฐทุนนิยมก็จะทำได้ยากเมื่อซีกหนึ่งของชนชั้นปกครองต้องการจะสร้างอุปสรรค เพราะอำนาจรัฐไม่ได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาเลย มันมาจากอำนาจเงียบนอกรัฐสภาอย่างเช่นอำนาจผู้นำกองทัพ นายทุนใหญ่ หรือข้าราชการ

บ่อยครั้งเวลาพรรคการเมืองที่ต้องการปฏิรูปสังคม ลงสมัครรับเลือกตั้ง มักจะมีการประนีประนอมกับกติกาของรัฐและส่วนของชนชั้นปกครองซีกอนุรักษ์นิยม โดยมีการอ้างว่าเป็นการใช้ “การเมืองในโลกจริง” พูดง่ายๆ มันเป็นการปรับตัวให้เข้ากับรัฐ แทนที่จะยึดอำนาจรัฐ และในที่สุดมันจบลงด้วยการยอมรับว่ามันมีขอบเขตในการปฏิรูปสังคมที่รัฐบาลไม่สามารถก้าวข้ามได้ ตัวอย่างที่ดีคือการยกเลิกกฎหมาย 112

การปฏิรูปรัฐ จึงไม่ใช่แค่การผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้มีการยอมรับผลของการเลือกตั้งเท่านั้น การกำจัดอำนาจเผด็จการของรัฐทุนนิยมต้องอาศัยการปฏิวัติรัฐเก่าในทุกแง่ เพื่อสร้างรัฐใหม่ของประชาชนผู้ทำงาน หรือที่เรียกว่า “รัฐกรรมาชีพ” ซึ่ง มาร์คซ์ เคยอธิบายว่าองค์ประกอบของรัฐเก่านั้นมันไม่หายไปง่ายๆ เพราะมันเป็น “งูเหลือมที่รัดสังคมไว้อย่างแน่นแฟ้น” ต้องใช้ “ไม้กวาดแห่งการปฏิวัติ” ถึงจะแกะมันออกได้ และต้องสร้างรัฐใหม่ที่มีองค์ประกอบใหม่ขึ้นมาแทน

อำนาจที่จะปฏิวัติรัฐเก่าจะมาจากไหน? แน่นอนประชาชนที่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งในลักษณะปัจเจกไม่มีอำนาจพอ สส.ในรัฐสภาที่ยกมือสนับสนุนนโยบายต่างๆ ก็มีอำนาจไม่พอ ดังนั้นการสร้างรัฐใหม่จึงต้องอาศัยพลังมวลชน นี่คือสาเหตุที่รัฐกรรมาชีพในอดีต สมัยคอมมูนปารีส หรือการปฏิวัติรัสเซีย หรือการพยายามปฏิวัติในอิหร่านหรือซูดาน ล้วนแต่อาศัยสถาบันการเมืองแบบใหม่ที่เน้นมวลชน เช่นสภาคนงานหรือสภามวลชนชั้นล่าง อำนาจของมวลชนแบบนี้สามารถผลักดันนโยบายก้าวหน้าให้เกิดขึ้นจริงได้ ตัวอย่างเช่นการยกเลิกกรรมสิทธิ์ของนายทุนหรือเจ้าของที่ดินรายใหญ่ การยกเลิกหนี้สิน การยกเลิกค่าเช่าบ้าน การยกเลิกนายจ้าง การสร้างความเท่าเทียมอย่างเต็มที่ระหว่างเพศ หรือการสร้างกองกำลังของประชาชนแทนกองทัพเดิมฯลฯ

และสำหรับพรรคก้าวไกล ถ้าจะสามารถปฏิรูปสังคมไทยในหลายๆ แง่ที่ผู้สนับสนุนต้องการ ก็ต้องมีการอาศัยพลังมวลชนและองค์กรของมวลชนระดับรากหญ้าอีกด้วย เพื่อคานอำนาจเงียบของรัฐไทย

ใจอึ๊งภากรณ์

อายุเกษียณ และบำเหน็จ บำนาญ ในมุมมองมาร์คซิสต์

ประเด็นอายุเกษียณเป็นเรื่องที่นำไปสู่การต่อสู้ทางชนชั้นที่ดุเดือดในฝรั่งเศสเมื่อเดือนเมษายนหลังจากที่ประธานาธิบดีมาครงใช้มาตรการเผด็จการเพื่อผ่านกฎหมายยืดเวลาเกษียณโดยไม่ผ่านรัฐสภา การต่อสู้ในฝรั่งเศสลามไปสู่ประเด็นอื่น เช่นเรื่องประชาธิปไตยที่ขาดตกบกพร่องมานาน และเรื่องอื่นที่มีความไม่พอใจสะสมอยู่ เช่นเรื่องวิกฤตค่าครองชีพและผลกระทบจากโควิดอีกด้วย

เป็นที่น่าเสียดายที่การต่อสู้รอบนั้นไม่นำไปสู่การล้มรัฐบาล และการตั้งรัฐบาลฝ่ายซ้าย ด้วยเหตุที่ผู้นำแรงงานหมูอ้วนระดับชาติพยายามประนีประนอมเสมอ เพราะกลัวการต่อสู้ของมวลชนจะทำลายความสงบของสังคมทุนนิยมและฐานะของผู้นำแรงงานเหล่านั้น

แต่มันไม่ใช่แค่รัฐบาลฝรั่งเศสเท่านั้นที่ต้องการยืดเวลาทำงานของเรา รัฐบาลทั่วโลกในระบบทุนนิยมต้องการจะทำเช่นนั้น และแอบอ้างว่าเป็นการ “ปฏิรูป” ระบบบํานาญบําเหน็จ  ทั้งๆ ที่เป็นการพยายามที่จะ “ทำลาย” สวัสดิการของเรา

การใช้คำว่า“ปฏิรูป” ในลักษณะที่ไม่ซื่อสัตย์  ไม่ต่างจากพวกที่เป่านกหวีดเรียกทหารมาทำรัฐประหารแล้วอ้างว่าจะ “ปฏิรูป” ระบบการเมืองไทย สรุปแล้วเมื่อไรที่ชนชั้นปกครองและนักวิชาการกับนักข่าวที่รับใช้นายทุนพูดถึงการ “ปฏิรูป” เขาหมายถึงการทำลายสิทธิและสภาพชีวิตของกรรมาชีพเสมอ

สิ่งแรกที่เราต้องเข้าใจคือบำเหน็จและบํานาญ เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่กรรมาชีพคนทำงานสะสมและออมในชีวิตการทำงาน มันไม่ใช่ของขวัญที่นายจ้างหรือรัฐมอบให้เราฟรีเลย ดังนั้นการยืดอายุเกษียณก่อนที่จะมีสิทธิ์ได้บำเหน็จบํานาญถือว่าเป็นการตัดค่าจ้างหรือขโมยค่าจ้างของเรา เพราะเราถูกบังคับให้ทำงานนานขึ้นเพื่อสวัสดิการเท่าเดิม

ขณะนี้อายุเกษียณในประเทศตะวันตกกำลังถูกยืดออกไปจากที่เคยเป็นอายุ 60 ไปเป็น 67 ในสหรัฐ กรีซ เดนมาร์ก อิตาลี่ 66 ในอังกฤษกับไอร์แลนด์ และ65.7 ในเยอรมัน

ในสเปนรัฐบาลไม่ขยายอายุเกษียณ แต่เรียกเก็บเงินสมทบบำเหน็จบำนาญจากหนุ่มสาวที่เริ่มทำงานแทน มันก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการตัดค่าจ้างหรือขโมยค่าจ้างของกรรมาชีพเช่นกัน และในประเทศอื่นๆ เช่นอังกฤษมีการตัดระดับสวัสดิการที่คนงานพึงจะได้หลังเกษียณ

สำหรับเราชาวมาร์คซิสต์ เรามองว่าในระบบทุนนิยมหลังจากที่เราทำงานและถูกขูดรีดมาตลอดชีวิตการทำงาน กรรมาชีพควรมีสิทธิ์ที่จะเกษียณและรับบำเหน็จบํานาญในระดับที่ปกป้องคุณภาพชีวิตที่ดี มันไม่ต่างจากเรื่องการรณรงค์เพื่อค่าจ้างที่อยู่ในระดับที่พอเหมาะกับคุณภาพชีวิตที่ดี

ยิ่งกว่านั้น เราชาวมาร์คซิสต์เข้าใจว่าในระบบทุนนิยม ค่าจ้างบวกกับบำเหน็จบำนาญ ไม่เคยเท่ากับมูลค่าที่เรามีส่วนในการผลิต เพราะนายทุน ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือฝ่ายรัฐ ขโมย “มูลค่าส่วนเกิน” ไปในระบบการขูดรีดแรงงาน เพื่อเอาไปเป็น “กำไร”

การขูดรีดดังกล่าวเกิดขึ้นในทุกภาคของเศรษฐกิจ เพราะคนทำงานในภาคบริการ เช่นพนักงานโรงพยาบาล หรือครูบาอาจารย์มีส่วนในทางอ้อมที่จะเพิ่มมูลค่าการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ผ่านการดูแลสุขภาพคนงาน หรือการเพิ่มฝีมือความสามารถผ่านการศึกษา คนที่ทำงานในภาคขนส่งก็เช่นกัน เพราะอุตสาหกรรมจะขายสินค้าไม่ได้ และไม่มีคนงานมาทำงานถ้าไม่มีระบบขนส่ง

ในขณะที่มีการยืดอายุเกษียณออกไปตอนนี้ ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาอายุขัยหรืออายุคาดเฉลี่ยของพลเมืองในประเทศพัฒนาได้ลดลง หลังจากที่เคยเพิ่ม สาเหตุมาจากโควิด และนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการต่างๆ ของรัฐบาลที่ใช้นโยบายเสรีนิยมใหม่เพื่อกู้คืนเงินที่รัฐเคยนำไปอุ้มธนาคารในวิกฤตเศรษฐกิจ คือมีการพยายามดึงรายได้รัฐที่เคยอุดหนุนกลุ่มทุนกลับมาจากคนทำงานและคนจน

ในประเทศพัฒนาอายุขัยของประชาชนลดลงจาก 72.5 ในปี 2019 เหลือ 70.9 ในปี 2021 ซึ่งหมายความว่าการยืดอายุเกษียณออกไปถึง 67 แปลว่ากรรมาชีพโดยเฉลี่ยจะตายภายใน 4 ปีหลังเกษียณ

ยิ่งกว่านั้นมันมีความเหลื่อมล้ำระหว่างชุมชนคนจนกับคนรวย เช่นในอังกฤษคนที่อาศัยอยู่ในย่านยากจนจะตายก่อนคนที่อาศัยในย่านร่ำรวยถึง 8 ปี

อย่างไรก็ตามพวกที่รับใช้ชนชั้นนายทุนจะอ้างว่าตอนนี้ระบบทุนนิยม “ไม่สามารถ” จ่ายบำเหน็จบำนาญในระดับเดิมได้ โดยมีการใช้คำแก้ตัวว่า (1) สัดส่วนคนชราในสังคมเพิ่มในขณะที่คนในวัยทำงานลดลง (2) อายุขัยหรืออายุคาดเฉลี่ยของพลเมืองยาวขึ้น คือโดยเฉลี่ยเราตายช้าลงนั้นเอง ดังนั้นเรา “ต้อง” ทำงานนานขึ้น และ(3) ถ้าไม่เปลี่ยนระบบบำเหน็จบำนาญ รัฐบาลจะรักษา “วินัยทางการคลัง” ยากขึ้น

ในขณะเดียวกันพวกคลั่งกลไกตลาดเสรีที่เชียร์การยืดอายุการทำงานหรือการตัดบำเหน็จบำนาญ ไม่เคยพูดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมเลย ไม่เคยเสนอว่าเราควรจะเพิ่มความเสมอภาค มีแต่จะเชียร์การทำลายมาตรฐานชีวิตของคนจนคนทำงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม

คำแก้ตัวของชนชั้นปกครองฟังไม่ขึ้น

(1)  ในเรื่องสัดส่วนคนชราในสังคมที่เพิ่มขึ้นในขณะที่คนในวัยทำงายลดลง ถ้ามีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผ่านการลงทุน คนในวัยทำงานจะสามารถพยุงคนชราได้ ในยามปกติทุนนิยมจะมีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่องได้ และแค่การขยาย GDP (ผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ)  เพียง 1% อย่างต่อเนื่อง ก็เพียงพอที่จะอุ้มคนชราได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่ทุนนิยมมักมีวิกฤตเสมอเพราะมีการลดลงของอัตรากำไร ดังนั้นบ่อยครั้งการลงทุนจะไม่เกิดขึ้น อันนี้เป็นข้อบกพร่องใหญ่ของทุนนิยมและกลไกตลาดเสรี ซึ่งแก้ได้ถ้าเรายกเลิกทุนนิยมและนำการวางแผนการผลิตโดยกรรมาชีพมาใช้แทนในระบบสังคมนิยม

นอกจากนี้ในทุกประเทศการชะลอของอัตราเกิดที่ทำให้สัดส่วนคนชราเพิ่มขึ้นเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น เพราะในที่สุดสัดส่วนนั้นจะคงที่และไม่เปลี่ยนอีก

มาตรการชั่วคราวอันหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหานี้คือการเปิดพรมแดนต้อนรับคนงานจากที่อื่นเพื่อเข้ามา แต่ทุกรัฐบาลต้องการรณรงค์แนวคิดชาตินิยมเหยียดเชื้อชาติสีผิว เพื่อแบ่งแยกกรรมาชีพไม่ให้รวมตัวกัน ดังนั้นรัฐบาลต่างๆ ในระบบทุนนิยมจะมีปัญหาในการยกเลิกพรมแดนหรือต.ม.ที่ควบคุมคนเข้าเมือง

(2) ในเรื่องอายุขัยหรืออายุคาดเฉลี่ยของพลเมืองที่ยาวขึ้นนั้น (ยกเว้นในยุคนี้ในตะวันตก) สิ่งแรกที่เราต้องฟันธงคือมันเป็นสิ่งที่ดีที่พลเมืองเริ่มมีอายุยืนนานขึ้น แต่ชนชั้นนายทุนมองว่าเป็นเรื่องแย่ เขาต้องการให้เราทำงานตลอดชีวิตแล้วพอเกษียณก็ตายไปเลย คือใช้เราแล้วก็ทิ้งไปเลย ไม่มีการเคารพพลเมืองว่าเป็นมนุษย์แม้แต่นิดเดียว ส่วนนักมาร์คซิสต์สังคมนิยมจะมองว่ามนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อรับใช้และถูกขูดรีดอย่างเดียว เราต้องการให้มนุษย์สามารถใช้เวลาในชีวิตที่ยาวขึ้นเพื่อขยายคุณภาพชีวิตและเพื่อให้เราสามารถมีกิจกรรมที่สร้างความสุขให้กับเรา การขยายอายุเกษียณมันสวนทางกับสิ่งนี้

(3) ในเรื่องข้ออ้างว่าถ้าไม่เปลี่ยนระบบบำเหน็จบำนาญ รัฐบาลจะรักษา “วินัยทางการคลัง” ยากขึ้นนั้น การรักษา “วินัยทางการคลัง” เป็นศัพท์ที่ฝ่ายขวาใช้เสมอเวลาพูดถึงค่าใช้จ่ายของรัฐที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ พวกนั้นเคยไม่มีการพูดถึงปัญหาจากค่าใช้จ่ายในเรื่องงบประมาณทหาร หรืองบประมาณที่ใช้เลี้ยงคนชั้นสูงให้มีชีวิตหรูหรา

“วิกฤตของกองทุนบำเหน็จบำนาญ” ที่นักการเมืองและนักวิชาการเสรีนิยมพูดถึง ไม่ได้มาจากการที่มีคนชรามากเกินไปแต่อย่างใด แต่มาจากการที่รัฐบาลและบริษัทลดงบประมาณที่ควรใช้ในการสนับสนุนกองทุนดังกล่าว และไม่ยอมเก็บภาษีในอัตราสูง เพราะเป้าหมายรัฐบาลในระบบทุนนิยมคือการเพิ่มอัตรากำไรโดยทั่วไป

ประเด็นเรื่องคนชราเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการแบ่งมูลค่าในสังคมที่คนทำงานสร้างขึ้นมาแต่แรก  บำเหน็จบำนาญเป็นเงินเดือนที่รอจ่ายหลังเกษียณ ไม่ใช่เงินของรัฐหรือนายทุน แนวคิดเสรีนิยมต้องการจะรุกสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ชนชั้นนายทุน และจะพูดเสมอว่าเราตัดงบประมาณทหารหรืองบเลี้ยงดูอภิสิทธิ์ชนไม่ได้ และการเพิ่มภาษีให้กับนายทุนและคนรวยก็เช่นกัน พวกนี้จะพูดว่าถ้าเพิ่มภาษีให้นายทุนเขาจะหมดแรงจูงใจในการลงทุน แล้วแรงจูงใจในการทำงานของเราหายไปไหน?  ถ้านายทุนไม่พร้อมจะทำประโยชน์ให้สังคม เราควรจะยึดทรัพย์เขาเพื่อคนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ไปเอาใจพวกหน้าเลือดที่ขูดรีดเรา

ในสหรัฐอเมริกากับยุโรประดับรายได้ของคนธรรมดา แย่ลงเรื่อย ๆ และคนงานส่วนใหญ่ต้องทำงานเพิ่มอีกหลายวันต่อปี แต่ในขณะเดียวกันสัดส่วนมูลค่าการผลิตที่ตกกับผู้บริหารและเจ้าของทุนมีการเพิ่มขึ้นมหาศาล

ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่นำไปสู่การล้มละลายของธนาคาร ข้อแก้ตัวใหม่ที่รัฐบาลต่างๆ ใช้ คือ “ปัญหาหนี้สินของรัฐ” แต่เขาไม่ซื่อสัตย์พอที่จะยอมรับว่าหนี้ของภาครัฐมาจากการอุ้มธนาคารที่ล้มละลายจากการปั่นหุ้นในตลาดเสรี หรือมาจากการล้มละลายของธนาคารเมื่อมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางเพื่อหวังลดเงินเฟ้อผ่านการขู่กรรมาชีพว่าจะตกงานถ้าเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม ในความเป็นจริงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ช่วยลดเงินเฟ้อในยุคปัจจุบันที่มาจากการผลิตที่ต้องหยุดไปในช่วงโควิด หรือจากผลของสงครามในยูเครน การขึ้นดอกเบี้ยเป็นนโยบาย “มั่ว” ของคนที่ไม่เข้าใจเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมและนึกได้แค่ว่าถ้าก่อให้เกิดการหดตัวของเศรษฐกิจเงินเฟ้อจะลดลง

ดังนั้นพวกนี้พร้อมจะให้คนธรรมดาแบกรับภาระวิกฤตที่นายธนาคารและนายทุนสร้างแต่แรก ในขณะเดียวกันพวกนายทุนและนักการเมืองก็ขยันดูแลตนเอง โดยรับประกันว่าพวกเขาจะได้บำเหน็จบำนาญหลายร้อยเท่าคนธรรมดาเมื่อตนเองเกษียณ

ในไทย

อายุเกษียณในไทยคือ 60ปี ซึ่งเหมือนกับมาเลเซีย และใกล้เคียงกับของ อินโดนีเซีย (58) บังกลาเทศ (59) และศรีลังกา (55) สิงคโปร์ (63) เวียดนาม (61)

อายุขัยของคนไทยตอนนี้อยู่ที่ 72.5 ปีสำหรับชาย และ78.9 ปีสำหรับหญิง แต่นอกจากจะมีความเหลื่อมล้ำแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจนเหมือนที่อื่นๆ ในโลกทุนนิยมแล้ว อายุสุดท้ายโดยเฉลี่ยของการยังมีสุขภาพที่ดีในไทยคือ  68 ปีสำหรับชาย และ 74 ปีสำหรับหญิง พูดง่ายๆ กรรมาชีพไทยที่เป็นชายจะมีสุขภาพที่ดีพอที่จะดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพแค่ 8 ปีหลังเกษียณ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่มีทรัพย์สินพอที่จะสามารถหยุดงานตอนอายุ 60 ได้อีกด้วย

ถ้าจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในไทย ก่อนอื่นต้องมีการสร้างรัฐสวัสดิการที่มีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร รวมถึงบำเหน็จบำนาญสำหรับวัยชรา เพื่อให้คนเกษียณมีชีวิตอยู่ได้ด้วยศักดิ์ศรี โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาคนในครอบครัว หรือพึ่งตนเองท่ามกลางความยากจน ในอดีตคนชราจำเป็นต้องพึ่งพาลูกหลาน แต่ลูกหลานก็ไม่ค่อยมีรายได้เพียงพอที่จะดูแลตนเองและครอบครัวอยู่แล้ว

เมื่อพูดถึง “รัฐสวัสดิการ” เรามักจะได้ยินพรรคการเมืองที่อ้างว่าจะสร้าง แต่ในความเป็นจริงเขาหมายถึงแค่สวัสดิการแบบแยกส่วนและเพื่อคนที่ต้องพิสูจน์ความจน ไม่ใช่แบบถ้วนหน้า ครบวงจร “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ที่อาศัยการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าจากคนรวยและกลุ่มทุน

สิ่งสำคัญที่ต้องแก้ไขในสังคมไทยคือปัญหารายได้ของคนชราปัจจุบัน ดังนั้นการเสนอว่าพลเมืองต้องจ่ายประกันสังคมครบหลายๆ ปีก่อนที่จะได้รับสวัสดิการไม่ใช่ทางออกในระยะสั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพัฒนาคือระบบบำเหน็จบำนาญสำหรับนายทุนน้อยอย่างเช่นเกษตรกรในชนบท คือต้องมีระบบบำเหน็จบำนาญที่ใช้กองทุนของรัฐผ่านการเก็บภาษีจากคนรวย เพื่อให้พลเมืองทุกคน ทั้งในเมืองและในชนบทมีชีวิตที่ดีในวัยเกษียณ

นอกจากนี้ต้องมีการปรับเพิ่มค่าแรงให้สูงขึ้น เพื่อให้พอเพียงสำหรับประชาชนทุกคน และเพื่อให้ทุกคนสามารถออมและจ่ายเงินสมทบทุนประกันสังคมได้อีกด้วย ซึ่งหมายความว่าเราต้องร่วมรณรงค์ให้สหภาพแรงงานมีเสรีภาพ อำนาจต่อรอง และความมั่นคงมากขึ้น และต้องมีการสร้างพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพเอง ไม่ใช่ไปหวังพึ่งพรรคการเมืองที่นำโดยนายทุนแต่มีผู้แทนจากแรงงานสองสามคนเป็นเครื่องประดับอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศยากจน ประเทศไทยมีกลุ่มทุนใหญ่ มีเศรษฐีและอภิสิทธิ์ชนที่มีทรัพย์สินในระดับเศรษฐีสากล มีกองทัพที่ใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อฆ่าประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย หรือเพื่อทำรัฐประหารทำลายประชาธิปไตย นี่คือสาเหตุที่สังคมเรามีความเหลื่อมล้ำสูง

พวกที่ปกครองเรามักเรียกร้องให้เรา “สามัคคี” และ “รักชาติ” และเรียกร้องให้เราหมอบคลานก้มหัวให้อภิสิทธิ์ชนหรือผู้ใหญ่ แต่เขาเองไม่เคยเคารพพลเมืองในสังคม ไม่เคยมองว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิ์ใช้ชีวิตในระดับที่ดี โดยเฉพาะในวัยชรา

leftwing