การปฏิวัติรัสเซีย 1917

ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1917 ซึ่งตามปฏิทินรัสเซียสมัยนั้นตรงกับวันสตรีสากล ท่ามกลางความป่าเถื่อนของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง คนงานสตรีจากโรงงานสิ่งทอทั่วเมือง เพทโทรกราด (เซนต์ปิเตอร์สเบอร์ค) ออกมาเดินขบวนแสดงความไม่พอใจกับราคาสินค้า ความอดอยาก และการขาดแคลนขนมปัง แม้แต่พวกพรรคสังคมนิยมใต้ดินอย่าง “บอลเชวิค” กับ “เมนเชวิค” ตอนนั้น ยังไม่กล้าออกมาเรียกร้องให้คนงานเดินขบวนเลย แต่คนงานหญิงนำทางและชวนคนงานชายในโรงเหล็กให้ออกมาร่วมนัดหยุดงานด้วยกัน

ในวันต่อมาคนงานครึ่งหนึ่งในเมือง เพทโทรกราด ออกมาประท้วง และคำขวัญเปลี่ยนไปเป็นการคัดค้านสงคราม การเรียกร้องขนมปัง และการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของกษัตริย์ซาร์ ในขั้นตอนแรกรัฐบาลพยายามใช้ตำรวจติดอาวุธเพื่อปราบคนงาน แต่ไม่สำเร็จ ต่อจากนั้นมีการสั่งทหารให้เข้ามาปราบ แต่ทหารระดับล่างเปลี่ยนข้างไปอยู่กับฝ่ายปฏิวัติหมด และเมื่อมีการสั่งให้ส่งทหารเข้ามาจากนอกเมือง ก็มีการกบฏและเปลี่ยนข้างเช่นกัน ในวันที่สี่คนงานกับทหารติดอาวุธร่วมเดินขบวนโบกธงแดง และเมื่อกษัตริย์ซาร์พยายามเดินทางกลับเข้าเมือง เพทโทรกราด เพื่อ “จัดการ” กับสถานการณ์ คนงานรถไฟก็ปิดเส้นทาง จนรัฐบาลกษัตริย์และซาร์ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะลาออก

แต่เมื่อกษัตริย์และรัฐบาลลาออก ใครจะมาแทนที่? ตอนนั้นมีองค์กรคู่ขนานสององค์กรที่มีบทบาทคล้ายๆ รัฐบาลคือ (1) รัฐสภา Duma ที่ประกอบไปด้วยส.ส.ฝ่ายค้านที่เลือกมาจากระบบเลือกตั้งที่ให้สิทธิ์พิเศษกับคนมีทรัพย์สิน (2) สภา โซเวียด ที่มีผู้แทนของคนงานกับทหาร และเป็นสภาที่ต้องจัดการประสานงานการบริหารเมืองและการแจกจ่ายอาหารในชีวิตประจำวัน

สภาโซเวียด

ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐสภา Duma สามารถตั้ง “รัฐบาลชั่วคราว” ของคนชั้นกลางได้ เพราะสภาโซเวียดยินยอม แต่พอถึงเดือนตุลาคม สภาโซเวียดเป็นผู้ก่อตั้งรัฐบาลใหม่ของชนชั้นกรรมาชีพ

สภาโซเวียด

ในการปฏิวัติอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา ชนชั้นนายทุนและผู้มีทรัพย์สิน มีส่วนในการล้มอำนาจเก่า ทั้งๆ ที่เริ่มลังเลใจหลังจากที่การปฏิวัติเริ่มก้าวหน้าสุดขั้วมากขึ้น แต่ในการปฏิวัติรัสเซีย ชนชั้นนายทุนเข้ากับอำนาจเก่าของกษัตริย์ซาร์ตลอด เพราะกลัวพลังของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยม

ในเดือนกุมพาพันธ์ พรรคสังคมนิยมสองพรรค คือพรรคบอลเชวิค กับพรรคเมนเชวิค ยังเชื่อว่าการปฏิวัติต้องเป็นเพียงการปฏิวัตินายทุน โดยที่ เมนเชวิค มองว่าชนชั้นกรรมาชีพต้องช่วยนายทุน แต่ บอลเชวิค มองว่ากรรมาชีพต้องนำการปฏิวัติ ดังนั้น บอลเชวิค อย่าง สตาลิน กับ มอลอทอฟ จาก เมนเชวิค และนักสังคมนิยมจำนวนมาก เสนอให้สภาโซเวียดสนับสนุนรัฐบาลชั่วคราวของพวกชนชั้นกลาง ในขณะที่กรรมกรพื้นฐานไม่พอใจและไม่ไว้ใจรัฐบาลใหม่ ในช่วงนั้น ทั้ง เลนิน และตรอทสกี ซึ่งมีความคิดว่ากรรมาชีพต้องยึดอำนาจรัฐและปฏิวัติสังคมนิยม ยังอยู่นอกประเทศ

การบริหารของรัฐบาลชั่วคราวของคนชั้นกลาง ภายใต้นักสังคมนิยมปฏิรูปชื่อ คาเรนสกี้ กลายเป็นที่ไม่พอใจของมวลชน ทั้งในหมู่ทหารที่เป็นลูกหลานเกษตรกร เกษตรกรเอง และคนงานกรรมาชีพ เพราะรัฐบาลนี้ต้องการทำสงครามต่อและไม่ยอมแก้ไขปัญหาอะไรเลย

ทหารรัสเซียกับเยอรมันกอดกันฉลองการยุติสงครามโดยบอลเชวิค

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนี้ สมาชิกพรรคสังคมนิยม “เมนเชวิค” ส่วนใหญ่สนับสนุนสงคราม ในขณะที่พรรคสังคมนิยม “บอลเชวิค” ของ เลนิน คัดค้านสงคราม เลนิน เสนอมาตลอดว่าเป้าหมายในการเคลื่อนไหวของพรรค ไม่ใช่เพื่อไปสนับสนุนปัญญาชนฝ่ายซ้าย หรือผู้นำสหภาพแรงงานในระบบรัฐสภาทุนนิยม แต่เพื่อที่จะสร้างเครือข่ายนักปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพที่จะล้มระบบทุนนิยม นี่คือสาเหตุที่พรรคบอลเชวิคได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากในหมู่กรรมกรเมือง เพทโทรกราด ซึ่งเป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมทันสมัย และในบางแห่งมีโรงงานขนาดใหญ่กว่าในสหรัฐอเมริกาอีก

มีอีกพรรคหนึ่งที่มีความสำคัญในยุคนั้นคือ “พรรคปฏิวัติสังคม” ซึ่งไม่ใช่พรรคมาร์คซิสต์ แต่เติบโตมาจากแนวลุกฮือของนักสู้ชนชั้นกลางกลุ่มเล็กๆ เดิมพรรคนี้มีฐานเสียงในชนบทในหมู่เกษตรกรยากจน แต่เมื่อแกนนำพรรคไปสนับสนุนสงครามและรัฐบาลชั่วคราวของคนชั้นกลาง โดยไม่แก้ไขปัญหาในชนบท เริ่มมีสมาชิกพรรคจำนวนมากแยกตัวออกไปตั้ง “พรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้าย”

เลนินเดินทางกลับถึงรัสเซีย

ในตอนแรกพรรคบอลเชวิคเต็มไปด้วยความสับสนเพราะแกนนำ อย่าง สตาลิน ไปสนับสนุนรัฐบาลชั่วคราวของคนชั้นกลาง ในขณะที่คนงานรากหญ้าไม่พอใจ แต่เมื่อ เลนิน เดินทางกลับเข้าสู่รัสเซีย และเริ่มโจมตีนโยบายเก่าของแกนนำบอลเชวิค เริ่มเรียกร้องให้โซเวียดล้มรัฐบาล และเริ่มรณรงค์ต่อต้านสงครามอย่างเป็นระบบ พรรคบอลเชวิคก็ขยายฐานเสียงในเมือง เพทโทรกราด อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่พรรคปฏิวัติสังคมมีเสียงข้างมากในสภาโซเวียด พอถึงวันประชุมใหญ่ครั้งที่สองในวันที่ 25 ตุลาคม 1917 (ตามปฏิทินรัสเซียสมัยนั้น) ปรากฏว่าพรรคบอลเชวิคได้ 53% ของผู้แทน และพรรคปฏิวัติสังคมซีกซ้ายได้อีก 21% รวมเป็น 74% ของผู้แทนที่ต้องการปฏิวัติสังคมนิยม

เลนินกับตรอทสกี้

ก่อนที่จะถึงจุดนั้น มีการเดินหน้าถอยหลัง เช่นช่วงเดือนกรกฏาคมมีการลุกฮือของทหารและคนงานที่ถูกรัฐบาลชั่วคราวปราบ และแกนนำบอลเชวิคถูกจำคุกหรือต้องหลบหนี ต่อมานายพล คอร์นิลอฟ พยายามทำรัฐประหารเพื่อก่อตั้งเผด็จการทหารฝ่ายขวา แต่พรรคบอลเชวิคออกมาปกป้องและทำแนวร่วมกับรัฐบาลชั่วคราว เพื่อยับยั้งรัฐประหารจนสำเร็จ ในขณะเดียวกัน การที่บอลเชวิคเป็นอำนาจสำคัญที่สุดในการสู้กับรัฐประหารฝ่ายขวา ทำให้รัฐบาลชั่วคราวหมดสภาพไป พร้อมกันนั้นในชนบท เกษตรกรยากจนไม่รอใคร ตัดสินใจยึดที่ดินมาแจกจ่ายกันเอง นี่คือสภาพสังคมที่สุกงอมกับการปฏิวัติสังคมนิยม

ทหารแดงยึดถนนต่างๆ ในเมือง

การปฏิวัติเดือนตุลาคม ต่างจากการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อ 8 เดือนก่อน เพราะไม่มีความวุ่นวาย ยิงกันน้อยมาก และไม่มีใครตาย สาเหตุไม่ใช่เพราะ “เป็นการทำรัฐประหาร” อย่างที่นักประวัติศาสตร์บางคนอ้าง แต่เป็นเพราะเป็นการปฏิวัติโดยมวลชนที่มีการประสานกัน ผ่านองค์กรที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากคนงาน ทหารเกณฑ์ และเกษตรกร องค์กรนี้ชื่อ “คณะกรรมการทหารปฏิวัติของโซเวียดเมือง เพทโทรกราด” องค์กรปฏิวัตินี้ ซึ่งมีผู้แทนส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคบอลเชวิค สามารถตัดสินใจด้วยความชอบธรรม เพราะมวลชนเลือกมาในระบบที่ถอดถอนผู้แทนได้เสมอ และเมื่อมีคำสั่งจากองค์กรนี้ มวลชนทุกฝ่ายก็จะทำตาม เพราะเป็นองค์กรของมวลชน ซึ่งต่างจากรัฐบาล “ชั่วคราว” โดยสิ้นเชิง

สมาชิกพรรคบอลเชวิคแจกใบปลิว

สิ่งที่เกิดขึ้นในรัสเซียในเดือนตุลาคม 1917 มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่แล้วมาในการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 หรือในการลุกฮือที่ฝรั่งเศสปี 1848 และ 1871 คนงานกับคนจนในปารีสเป็นพลังสำคัญ แต่ถูกแย่งอำนาจไปโดยชนชั้นนายทุนหรือถูกปราบปรามอย่างหนัก ในรัสเซียครั้งนี้ สภาของชนชั้นกรรมาชีพ ทหาร และเกษตรกรรายย่อย สามารถยึดอำนาจรัฐในประเทศที่มีประชากร 160 ล้านคน มันเป็นการพิสูจน์ว่าเราสามารถสร้างระบบสังคมนิยมโลกได้

อย่างไรก็ตามแกนนำการปฏิวัติสังคมนิยม อย่าง เลนิน หรือ ตรอทสกี เข้าใจดีว่าเขาเผชิญหน้ากับปัญหามหาศาล รัสเซียเป็นประเทศล้าหลังที่มีความก้าวหน้ากระจุกอยู่ที่แค่เมือง เพทโทรกราด เกษตรกรจำนวนมากของรัสเซียไม่ได้สนับสนุนการปฏิวัติสังคมนิยมเพราะอุดมการณ์ แต่เขาสนับสนุนการปฏิวัติเพราะมันนำไปสู่การกระจายที่ดินไปสู่เกษตรกร ซึ่งไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดในการปฏิวัติทุนนิยมที่ฝรั่งเศส ดังนั้นถ้าการปฏิวัติสังคมนิยมนี้จะได้รับการสนับสนุนยาวนานถาวรจากเกษตรกร ต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกร แต่สิ่งนี้ทำไม่ได้ในรัสเซีย โดยเฉพาะในช่วงที่มีความเสียหายจากสงคราม ถ้าจะทำ ต้องทำผ่านการขยายการปฏิวัติไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นเยอรมัน ซึ่งในประเทศต่างๆ ของยุโรปตะวันตกก็มีการลุกฮือกบฏและต่อต้านสงครามมากพอสมควร

เลนิน ฟันธงไปเลยว่าถ้าไม่มีการปฏิวัติในเยอรมัน การปฏิวัติรัสเซียจะไปไม่รอด ในต้นปี 1918 มีการลุกฮือนัดหยุดงานโดยคนงาน ห้าแสนคน ในอุตสาหกรรมเหล็กของ ออสเตรีย และเยอรมัน แต่คนงานเหล่านี้ไปหลงไว้ใจผู้นำพรรคสังคมนิยมปฏิรูป SPD และผลคือผู้นำเหล่านั้นหักหลังคนงาน โรซา ลัคแซมเบอร์ ซึ่งตอนนั้นติดคุกอยู่ เพราะต้านสงคราม เขียนว่า “ผู้นำพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยเป็นพวกขี้ขลาดที่แย่ที่สุด เพราะพร้อมจะนิ่งเฉยปล่อยให้รัสเซียตาย”

การที่แกนนำพรรค SPD เยอรมันหักหลังคนงานและทำลายกระแสนัดหยุดงาน ซึ่งอาจขยายไปเป็นการปฏิวัติได้ เป็นการเปิดโอกาสให้นายพลเยอรมันส่งทหารบุกเข้าไปยึดพื้นที่ยูเครน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของรัสเซีย นอกจากนี้กองทัพของอังกฤษ ฝรั่งเศส เชค และญี่ปุ่น บุกเข้าไปยึดส่วนต่างๆ ของรัสเซียเช่นกัน และในไม่ช้าพรรคเมนเชวิค และพรรคปฏิวัติสังคม ภายในรัสเซียเอง ก็เริ่มจับอาวุธเพื่อทำลายการปฏิวัติ ในสภาพเช่นนี้พรรคบอลเชวิคต้องตัดสินใจใช้มาตรการเด็ดขาด ทั้งในลักษณะเผด็จการและในลักษณะการทหาร เพื่อเอาชนะศัตรู

อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติสังคมนิยมไม่ได้พ่ายแพ้ต่อกองทัพและศัตรูเหล่านี้ เพราะคนจนส่วนใหญ่ในรัสเซียสนับสนุนการปฏิวัติและพร้อมจะสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเขา ลีออน ตรอทสกี สามารถรวบรวมคนงานและทหารเพื่อก่อตั้ง “กองทัพแดง” ที่เอาชนะ “กองทัพขาว” ทั้งหลายได้ แต่ชัยชนะของนักปฏิวัติรัสเซียเป็นชัยชนะราคาแพง

การที่ต้องระดมพลเพื่อสร้างกองทัพแดง และเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ในสภาพที่เศรษฐกิจย่ำแย่ หมายความว่าพลังการผลิตของชนชั้นกรรมาชีพสูญหายไป เพราะโรงงานต่างๆ ต้องปิด และกองกำลังแดงกับพรรคคอมมิวนิสต์ (พรรคบอลเชวิคเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์) กลายเป็นอำนาจที่ลอยอยู่เหนือสังคม และตลอดเวลา แกนนำพรรครอและหวังว่าจะมีการปฏิวัติในประเทศอุตสาหกรรมตะวันตก เพื่อมาช่วยกู้สถานการณ์ในรัสเซีย แต่ในที่สุดเขาต้องผิดหวัง

สภาพแบบนี้เปิดทางให้ สตาลิน สามารถยึดอำนาจได้หลังจากที่เลนินตาย และสตาลินก็เดินหน้าทำลายสิทธิเสรีภาพและสังคมนิยมในรัสเซียอย่างถอนรากถอนโคน แต่การสร้างเผด็จการของสตาลินจำต้องอาศัยการโกหกหลอกลวงอันยิ่งใหญ่ เพราะมีการอ้างว่ารัสเซียยังเป็นสังคมนิยม ทั้งๆ ที่ชนชั้นกรรมาชีพถูกกดขี่ขูดรีดอย่างหนักในระบบใหม่ที่เขาสร้างขึ้นซึ่งเป็นเผด็จการ “ทุนนิยมโดยรัฐ” นอกจากนี้มีการสร้างรูปปั้นเลนินทั่วประเทศ เพื่อสร้างภาพเท็จว่าแนวของสตาลินคือแนวเดียวกับเลนิน มีแค่ตรอทสกี้เท่านั้นที่พยายามรักษาอุดมการณ์เดิมของการปฏิวัติ แต่ในที่สุดเขาก็โดนคนของสตาลินตามไปฆ่าที่เมคซิโก

ทุกวันนี้การปฏิวัติล้มระบบทุนนิยมเพื่อสร้างสังคมนิยมเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง ถ้ามนุษย์จะปลดแอกตนเอง ในปัจจุบันชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกขยายตัวอย่างรวดเร็วและเป็นพลังสำคัญในการสร้างสังคมนิยม แต่สังคมนิยมจะสร้างได้ก็ต่อเมื่อไม่จำกัดอยู่ในประเทศเดียว ต้องมีการขยายไปสู่ประเทศพัฒนาหลายๆ ประเทศทั่วโลก