วิกฤตขยะพลาสติกรกโลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทุกๆ ปีมีการผลิตพลาสติกเท่ากับน้ำหนักมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ และคาดว่าในปี 2050 จะมีพลาสติกในทะเลมากกว่าปลา นักวิจัยบางคนเสนออีกว่าคนที่กินอาหารทะเลเป็นประจำจะกลืนเศษพลาสติกเล็กๆ จากปลาหมื่นกว่าชิ้น ซึ่งเรายังไม่ทราบว่าจะมีผลอะไรต่อสุขภาพ

Plastic-Pollution-kills-another-Whale-1
ปลาวาฬกลืนพลาสติกจนตาย

ปัญหาขยะพลาสติกได้กลายเป็นวิกฤตสำหรับสิ่งแวดล้อมและความอยู่ดีกินดีของมนุษย์และสัตว์โดยทั่วไป ทั้งนี้เพราะผลผลิตพลาสติกใช้เวลาเป็นศตวรรษก่อนที่มันจะเน่าเปื่อย และเพราะการผลิตพลาสติกในรอบ 50 ปี เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล

เมื่อสมัยผมเป็นเด็ก น้ำอัดลมมักจะขายในขวดแก้วที่ดื่มแล้วส่งกลับไปที่โรงงานเพื่อใช้ต่อไปอีกหลายครั้ง แต่ในยุคนี้ทุกวินาทีโรงงานอุตสาหกรรมของโลกผลิตขวดพลาสติก 16,000 ขวด และบริษัทโคคาโคลาบริษัทเดียวผลิตขวดพลาสติกหนึ่งแสนล้านขวดต่อปี เพราะการผลิตขวดพลาสติกเพื่อใช้ครั้งเดียวถูกกว่าการใช้ขวดแก้วที่ต้องนำไปล้าง

เมื่อสมัยผมเป็นเด็ก เวลาเราจะซื้ออาหารที่ขายกันหน้าปากซอยไปกินที่บ้าน เราจะใช้ปิ่นโตที่ยกไปที่ร้านแล้วให้เขาเติมอาหารลงไป แต่ในยุคนี้เราจะซื้ออาหารในถุงพลาสติกแทน และถุงพลาสติกเป็นสิ่งที่สร้างปัญหาขยะเช่นกัน

4238772540_49e76baa05_b-640x427

การค้นพบวิธีผลิตพลาสติกผูกพันกับการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันอย่างใกล้ชิด เพราะพลาสติกเป็นผลผลิตจากการกลั่นน้ำมัน การขยายตัวของการผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และมีทั้งคุณและโทษต่อสังคม ในด้านประโยชน์การผลิตพลาสติกในรูปแบบต่างๆ ทำให้สามารถพัฒนาเทคโนโลจีทางการแพทย์ได้ และเป็นวัตถุที่มีประโยชน์ในเครื่องมือไฟฟ้า ฯลฯ อย่างไรก็ตามการขยายตัวของการผลิตขวด หลอด และถุงพลาสติกชนิดที่ใช้แล้วทิ้ง กลายเป็นวิกฤตสำหรับเราในยุคนี้

กระแสต่อต้านขยะพลาสติกทำให้บริษัทใหญ่และรัฐบาลในบางประเทศปรับตัว เช่นในหลายประเทศของยุโรปมีการพยายามยกเลิกการให้ถุงพลาสติกในร้านค้า หรือลดปริมาณการขายกาแฟในถ้วยพลาสติกเป็นต้น บางแห่งมีการเก็บขยะพลาสติกไปรีไซเคิลหรือไปแปรรูปผ่านการหลอมและใช้ใหม่ แต่ในความเป็นจริง บริษัทใหญ่ใช้พลาสติกที่มาจากการรีไซเคิลแค่ 6.6% ของการผลิตเท่านั้น เพราะการผลิตขวดพลาสติกใหม่ราคาถูกกว่าการรีไชเคิล ยิ่งกว่านั้นราคาขยะพลาสติกตกต่ำลงจนไม่คุ้มค่าสำหรับบริษัทต่างๆ ที่จะขนไปรีไซเคิล ดังนั้นมีการนำไปฝังดินหรือทิ้งในทะเลแทน

038e996cbd633e061281082d28da26cd

เรื่องเงินเรื่องทองเป็นหัวใจของเรื่อง เพราะในระบบทุนนิยม รูปแบบการผลิตทุกอย่างถูกกำหนดจากปริมาณกำไรที่กลุ่มทุนจะได้ ถ้าการผลิตถุงหรือขวดพลาสติกสร้างกำไรมากกว่าการลดพลาสติก กลุ่มทุนจะทำต่อไปไม่ว่าจะสร้างปัญหาอะไรให้กับชาวโลก

นี่คือสาเหตุที่วิธีการแก้ปัญหาพลาสติกไม่ได้อยู่ที่พฤติกรรมของปัจเจก เพราะไม่ว่าเราจะหาทางลดการใช้พลาสติกและเพิ่มการรีไซเคิลในชีวิตประจำวันของเราแค่ไหน บริษัทใหญ่จะผลิตพลาสติกมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาอยู่ที่เรื่องของการยึดอำนาจการผลิตมาเป็นของประชาชนในรูปแบบประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพราะการยึดอำนาจดังกล่าวจากกลุ่มทุนใหญ่เอกชน จะนำไปสู่การผลิตสิ่งของในรูปแบบที่ไม่สร้างปัญหา เช่นการหาทางผลิตพลาสติกที่รีไซเคิลได้จริงๆ หรือที่เปื่อยภายในเวลาอันสั้น ถ้าเราจำเป็นต้องใช้พลาสติกจริงๆ มันจะนำไปสู่การรีไชเคิลหรือกระบวนการผลิตที่คำนึงถึง “ราคา” ของการปกป้องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่การคำนึงถึงกำไรเฉพาะหน้า และนอกจากนี้มันจะนำไปสู่การกลับมาใช้ขวดแก้วหรือปิ่นโตได้

แต่การยึดอำนาจการผลิตมาเป็นของประชาชน กระทำไม่ได้ภายใต้ระบบทุนนิยม เพราะทุนนิยมกดดันให้บริษัทต่างๆ แข่งขันกันในตลาดเพื่อเพิ่มกำไรเฉพาะหน้าเสมอ ดังนั้นเราต้องปฏิวัติล้มทุนนิยมและระบบกลไกตลาดถึงจะสำเร็จ ซึ่งแปลว่าเราต้องรณรงค์สร้างพรรคการเมืองสังคมนิยม โดยเฉพาะในแวดวงชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงาน เพราะกรรมาชีพมีอำนาจเศรษฐกิจซ่อนเร้น

นอกจากนี้การแก้ปัญหาพลาสติกกระทำไปโดยการเน้นประเด็นปัญหาเดียวแบบแยกส่วนไม่ได้ เพราะการผลิตพลาสติกเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงคาร์บอนเช่นน้ำมัน ซึ่งการเผาเชื้อเพลิงดังกล่าวกำลังสร้างปัญหาโลกร้อนที่ต้องแก้ไขโดยการผลิตพลังงานจากแหล่งอื่นเช่นแสงแดดหรือลม

Medium_plastic-pollution_03

ปัญหาพลาสติกเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำยากจนอีกด้วย และไม่ใช่แค่ในเรื่องการเก็บขยะหรือการที่คนจนต้องอาศัยใกล้ๆ แหล่งขยะพลาสติก เพราะถ้าเราจะลดการใช้ถุง แก้ว หรือขวดพลาสติก เราต้องต่อสู้เพื่อลดชั่วโมงการทำงานของคนส่วนใหญ่ และเพิ่มค่าจ้างอีกด้วย เราทุกคนจะได้มีโอกาสนั่งดื่มหรือกินอาหารในร้านที่ใช้จานหรือแก้วที่ล้างได้ หรืออย่างน้อยไม่เหนื่อยเกินไปจากการทำงานจนขี้เกียจใช้ปิ่นโต

อย่างไรก็ตามทั้งๆ ที่การแก้ปัญหาใหญ่ๆ ของโลก เช่นเรื่องพลาสติกหรือโลกร้อน ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบถอนรากถอนโคน นั้นไม่ได้แปลว่าเราควรนิ่งเฉยเพื่อรอวันปฏิวัติ แต่เราต้องรณรงค์ในเรื่องแบบนี้และต้อสู้เพื่อการปฏิรูปเล็กๆ น้อยๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นเราจะไม่มีวันปฏิวัติสังคมได้