แกนนำ นปช.บางส่วนมองว่า ภาระหลักของ นปช. คือการเป็นกองเชียร์ให้พรรคเพื่อไทยและทักษิณ และการสนับสนุนเป้าหมายของทักษิณและยิ่งลักษณ์ในการนำสังคมไทยคืนสู่ความปรองดอง ทำลายความฝันของเสื้อแดงในการปฏิรูปสังคมไทยและสามารถหักหลังวีรชนได้
โดย ยังดี โดมพระจันทร์
•จากแถลงการณ์ รสช. ตำนานรัฐประหาร ถึงแถลงการณ์ คปค.
การลุกขึ้นต่อต้านของประชาชนที่เห็นว่าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)ยึดอำนาจมาโดยไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และเป็นการรักษาอำนาจด้วยการเสียสัตย์เพื่อชาติ สุดท้ายก็นำไปสู่ความขัดแย้งและการใช้กำลังปราบปรามประชาชน โดย สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีผู้สืบทอดอำนาจ รสช. ขณะนั้นสั่งให้ทหารติดอาวุธสงครามดาหน้าออกมาไล่ยิงประชาชนกลางถนนราชดำเนิน เมื่อ 17 -18 พฤษภา 2535 เป็นเหตุการณ์นองเลือดที่ประชาชนบาดเจ็บ ล้มตาย และสูญหาย ที่ใครๆเรียกกันต่อมาว่า เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
คณะ รสช. หรือในชื่อเต็ม คือ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เป็นคณะรัฐประหารภายใต้การนำของพลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลบุฟเฟ่คาร์บิเน็ต มีการทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐบาลอย่างมหาศาล โดยเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 11 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หลังจากที่ประเทศไทยได้ว่างเว้นการรัฐประหารมานานถึง 15 ปีนับจากการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 โดยพลเรือเอก สงัด ยอมรับว่าได้เป็นหุ่นเชิดของก่อการรัฐประหารอย่างไม่เต็มใจ ก่อนที่จะส่งทอดอำนาจทั้งหมดที่ยึดมาให้ นายกฯหอย ธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งเป็นรัฐบาลขวาตกขอบที่สร้างชื่อเหม็นเน่าไปทั่วโลก โดยปัจจุบันนายธานินทร์คนนี้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี
คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) ประกาศชี้แจงเหตุผลการเข้ายึดอำนาจในปี 2534 ตามแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พอสรุปได้ว่า……
“ประการแรก พฤติการณ์การฉ้อราษฎร์บังหลวง
คณะผู้บริหารประเทศ ได้ฉวยโอกาสอาศัยอำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ทางการเมืองแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองและพรรคพวก อย่างรุนแรงที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ประการที่ 2 ข้าราชการการเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มแหงข้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริต
จากการที่ข้าราชการการเมืองได้เข้าไปมีบทบาทและอำนาจสูงสุดในแต่ละส่วนราชการ จึงได้ถือโอกาสนี้สร้างบารมีทางการเมือง หาสมัครพรรคพวกเพื่อเป็นฐานคะแนนเสียง เพื่อแสวงหาประโยชน์ให้ตนเองและพรรคพวก จึงทำให้ช้าราชการประจำผู้ซื่อสัตย์สุจริตที่ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง รับราชการไม่เจริญก้าวหน้าถูกข่มเหงรังแก
ประการต่อมา การทำลายสถาบันทางทหาร
สถาบันทางทหารเป็นสถาบันข้าราชการประจำเพียงสถาบันเดียวที่ไม่ยอมตกอยู่ใต้อิทธิพลทางการเมืองของนักการเมือง พรรคการเมือง ถึงแม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบัจะได้ใช้ความพยายามนานัปการ เพื่อบีบบังคับทำลายเอกภาพ ความรัก ความสามัคคีภายในกองทัพอย่างต่อเนื่องตลอดมาก็ตาม
และประการสุดท้าย การบิดเบือนคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
เมื่อปี 2525 ประมาณ 9 ปีเศษก่อนหน้านี้ พลตรี มนูญ รูปขจร และพรรคพวก (เพื่อนนายทหารรุ่นเดียวกับ จำลอง ศรีเมือง) ได้บังอาจคบคิดวางแผนทำลายล้างราชวงศ์จักรี เพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไปสู่แบบที่ตนเองและคณะกำหนดไว้ การวางแผนการชั่วร้ายดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้สำเร็จ พลตรี มนูญฯ และพรรคพวก จำนวนถึง 43 คน ถูกจับกุมในที่สุด และได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มคณะบุคคลที่มีอิทธิพลทางการเมืองให้ได้รับการประกันตัว จนสามารถก่อการปฏิวัติได้อีกถึง 3 ครั้ง
นอกจากนั้นยังได้รับการอุ้มชูจาก พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ให้ได้รับการเติบโตในอาชีพรับราชการทหารจนเป็นนายทหารชั้นนายพลโดยรวดเร็ว ทั้งที่กระทำผิดโทษฐานก่อการกบฏและต้องคดีลอบสังหารบุคคลสำคัญโดยเฉพาะคดีล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ พลเอก ชาติชาย ก็พยายามที่จะเบี่ยงเบนความเป็นจริงและโยนความผิดให้ผู้อื่น ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้แก่พี่น้องประชาชน ผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง การกระทำอันแสดงออกถึงความไม่จงรักภักดีเช่นนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเหล่าทหารไม่สามารถจะอดทน อดกลั้นได้อีกต่อไป จึงได้ร่วมปรึกษาหารือกันทั้ง 3 เหล่าทัพ รวมทั้งฝ่ายพลเรือนและตำรวจ เข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ….”
การรัฐประหารครั้งนี้เช่นเดียวกับทุกครั้งที่ได้มีการออกแถลงการณ์ และประกาศของคณะรสช. เพื่อชี้แจงเหตุการณ์ การแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งและบางฉบับก็มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งมีทั้งที่ประกาศใช้เป็นกฎหมายใหม่ การยกเลิก การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติและการออกคำสั่งทางกฎหมาย ซึ่งมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 56 ฉบับ ซึ่งใช้เสมือนกฎหมายสูงสุดแทนที่รัฐธรรมนูญได้ทันที่ โดยไม่ต้องให้สภาผู้แทนราษฎรมานั่งถกเถียง เสนอเป็นวาระ รับหลักการ แปรญัตติ อะไรทั้งสิ้น
•รัฐประหารทุกครั้งเพียง “เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์”
ส่วนในวันที่ 19 กันยายน 2549 ระบุเวลาไว้ด้วยว่า 23.50 น. แถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. โดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งต่อมาก็ออกตัวว่าไม่ได้คิดวางแผนทำรัฐประหารมาก่อน แต่ถูกใช้มาอีกที และเปิดเผยบุคคลที่อยู่เบื้องหลังไม่ได้ ถึงตายไปก็บอกไม่ได้ ในตอนที่กระทำการนั้น คณะ คปค.อ้างว่ามีเหตุผลให้ต้องรัฐประหารโดยย่นย่อดังนี้คือ
“…. แถลงการณ์ฉบับที่ 1 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข รัฐบาลรักษาการปัจจุบัน (หมายถึงรัฐบาลของอดีตนายกฯทักษิณ) ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติ ประชาชนส่วนใหญ่ เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบ หมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง
คปค.ขอยืนยันว่า ไม่มีเจตนาเข้ามาเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินเสียเอง แต่จะได้คืนอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขกลับคืนสูงปวงชนชาวไทยโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อธํารงรักษาไว้ซึ่งความสงบสุข และความมั่นคงของชาติรวมทั้งเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยทุกคน….”
ชนวนเหตุของรัฐประหารปี 2534 มาจากการโยกย้ายข้าราชการทหาร ที่ผลประโยชน์ขัดกัน และสร้างวาทกรรมว่า การรัฐประหารมาจากเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ถูกใช้ทุกครั้ง ในการทำรัฐประหาร เช่นเดียวกับการรัฐประหาร 2549 แทบไม่ต่างกัน ที่ผ่านมา เราเห็นได้ชัดเจนว่าทหารคือตัวเเสดงนำที่เป็นอุปสรรคชัดเจนของการพัฒนาประชาธิปไตย ยิ่งเมือ 19 พฤษภาที่ผ่านมาในปีนี้ เป็นโอกาสครบรอบ 3 ปีเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อปี 2553 รัฐบาลพลเรือนที่มีทหารคอยอุ้มคล้ายกับรัฐบาลหอยของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร สร้างสถิติใหม่ใช้ทหารออกมาสังหารประชาชนกลางเมืองมากที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ ภายใต้วาทกรรมกระชับพื้นที่ ยกกำลังทหารติดอาวุธออกมากว่าห้าหมื่นนาย พร้อมเบิกกระสุนมาใช้กว่าสองแสนนัด
เหตุการณ์ความตายของประชาชนกลางเมืองหลวงในปี 53 ไม่ได้ต่างไปจากการตายของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาปี 35 ความตายทุกเหตุการณ์ใหญ่เหล่านี้ รวมทั้งการตายของประชาชนที่ตากใบเเละ กรือเซะได้สะท้อนให้เห็นว่า 40 ปีที่ผ่านมา ที่เราบอกกันว่าสังคมไทยได้เดินทางเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่เลย กลุ่มนายทหารจากกองทัพบกที่ใช้การรัฐประหารเป็นเครื่องมือในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจทั้งจากทหารด้วยกัน หรือรัฐบาลพลเรือน
ขณะที่การรัฐประหารของ รสช.เมื่อปี 2534 ไม่สามารถสืบทอดอำนาจได้ยาวนาน เพราะประชาชนรู้ทัน โดยเฉพาะคนเมือง ชนชั้นกลาง ทหารตกเป็นจำเลยของสังคม ต้องยุติบทบาทในการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองกลับเข้ากรมกองกลายเป็นทหารอาชีพ แต่พฤษภา 2553 เหตุการณ์ยังไม่จบ นักวิชาการอิสระศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ผู้ที่อยู่ในทั้งสองเหตุการณ์ กล่าวว่า “ สามปีที่ผ่านมาอย่างน้อยที่สุดมีสิ่งที่ดีขึ้น ก็คือคนจำนวนมาก มองเห็นปัญหาการเมืองไทยไม่ใช่มีแค่การเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ว่ามีปัญหาสถาบันการเมืองหรือว่าองค์กรทางการเมืองจำนวนมากที่อยู่เหนือการเลือกตั้ง ถึงตอนนี้สถาบันนี้ยังไม่ได้ถูกแตะต้อง แต่การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันการเมืองนี้มีทิศทางมากขึ้น กระบวนการนี้เป็นกระบวนการประวัติศาสตร์ที่เปิดขึ้นครั้งแรกอย่างไม่เคยมีมาก่อน สำคัญคือสำนึกทางการเมืองไปไกลกว่าปี 2535 และปี 2516 ”
นี่คือข้อน่าสังเกตที่อาจเรียกได้ว่าประชาชนตาสว่างแล้ว ต่างออกมาเรียกร้องว่าอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องเหนือสถาบันการเมืองอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่ถูกแทรกแซง ถูกกระทำชำเราเอาง่ายๆ และเป็นประชาชนที่ตื่นตัวขึ้นในทุกภาค ไม่จำเพาะประชาชนในเมืองหลวง
•ตอกย้ำกันอีกทีว่าใน พศ.นี้ มวลชนตาสว่างขึ้นมากแล้ว
อาจกล่าวได้ว่าการเมืองไทยได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารของคณะ รสช.ในปี พ.ศ. 2534 มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งในตอนแรกสังคมไทยขณะนั้นอาจไม่รู้สึกว่าเกิดผลกระทบขึ้นมากนัก เพราะการรัฐประหารถือเป็นวิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยในอดีต ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้ง และสังคมไทยก็ยอมรับที่จะอยู่กับผู้ชนะผู้ที่ต้องการต่อสู้ทำได้แค่หลบหนีลงสู่ใต้ดิน หรือเข้าป่าไป หรือไม่ก็หนีไปต่างประเทศ เนื่องจากภาวะความหวาดกลัวในอำนาจทหารที่มีความเด็ดขาด บรรยากาศการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนต่างกัน ยิ่งภายหลังเหตุการณ์ล้อมปรามนักศึกษาในธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทำลายการต่อสู้ของฝ่ายซ้าย และแนวคิดสังคมนิยมลงจนราบคาบอย่างโหดเหี้ยม ทำให้พลังของนักศึกษาประชาชนในการเรียกร้องประชาธิปไตยก็ลดน้อยลงเป็นอันมาก
ใจ อึ๊งภากรณ์ นักสังคมนิยมกล่าวว่า “ ในสงครามของเสื้อแดงกับอำมาตย์หลังรัฐประหาร 19 กันยา ก็มีสองสงครามคู่ขนานเช่นกัน คือประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่พร้อมจะเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ร่วมกันสร้างขบวนการเสื้อแดงและออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ไม่มีการแทรกแซงโดยอำมาตย์ ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือผู้มีอำนาจอื่นๆ และท่ามกลางการต่อสู้ มีการตื่นตัวมากขึ้นจนคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เริ่มมองสังคมไทยจากมุมมองชนชั้น อย่างน้อยก็มองว่า มีสองฝ่ายหลักคือ “เรา” ที่เป็น “ไพร่” กับ “เขา” ที่เป็น อำมาตย์กับพรรคประชาธิปัตย์ และสลิ่มฟาสซิสต์ คนเสื้อแดงเหล่านี้ต้องการให้มีการเปลี่ยนสังคมไทย ต้องการให้ยกเลิกกฏหมายเผด็จการอย่าง 112 ต้องการให้ปฏิรูปกองทัพไม่ให้แทรกแซงการเมือง ต้องการให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้วย และเขาเสียสละเลือดเนื้อเพื่อสิ่งเหล่านี้….”
สำหรับสงครามเสื้อแดง แกนนำ นปช.บางส่วนมองว่า ภาระหลักของ นปช. คือการเป็นกองเชียร์ให้พรรคเพื่อไทยและทักษิณ และการสนับสนุนเป้าหมายของทักษิณและยิ่งลักษณ์ในการนำสังคมไทยคืนสู่ความปรองดอง ทำลายความฝันของเสื้อแดงในการปฏิรูปสังคมไทยและสามารถหักหลังวีรชนได้ ไม่น่าจะทำให้เราแปลกใจมากเกินไป ถ้าเราเข้าใจว่า เสื้อแดงก้าวหน้าบกพร่องในการสร้างองค์กรทางการเมืองที่อิสระจาก นปช. ถ้าจะมีการเปลี่ยนสังคมอย่างถอนรากถอนโคน ซึ่งจะนำไปสู่เสรีภาพแท้ได้ การเปลี่ยนสังคมดังกล่าวต้องเป็นการกระทำของมวลชนส่วนใหญ่เองจากล่างสู่บน ตอกย้ำกันอีกทีว่าใน พศ.นี้ มวลชนตาสว่างขึ้นมากแล้ว ถึงคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะยังหลับไหล และได้ปลื้มกับผู้ว่า กทม.ที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่พลังคนเสื้อแดงอิสระจะไม่หยุดนิ่ง การเปิดโปงตัวเองของศาลตลกอย่างล่อนจ้อน การละเลยต่อนักโทษการเมืองของพรรคเพื่อไทย และการพยายามผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทุกฝ่ายของ นปช. ในปีนี้จะยิ่งกระตุ้นเร่งเร้าให้ดวงตาของไพร่เบิกกว้างขึ้น