ชนชั้นกลางคือมวลชนหลักของขบวนการฟาสซิสต์

ทุกวันนี้เราเห็นบทบาทของชนชั้นกลางในการทำลายประชาธิปไตยอย่างชัดเจน
ท่าทีและพฤติกรรมของชนชั้นกลางนี้ ควรจะปิดปากอย่างถาวร พวกที่เคยอ้างถึงความก้าวหน้าของชนชั้นกลางในการสร้างประชาธิปไตย
เช่นหลังเหตุการณ์พฤษภา ๒๕๓๕ คนอย่าง เอนก เหล่าธรรมทัศน์
เคยเชิดชูชนชั้นกลางในบทความ “ม็อบมือถือ” นอกจากนี้กระแสหลักฝ่ายขวาทั่วโลก
มักมองอย่างผิดๆ ว่า “ประชาสังคม” อันประกอบไปด้วยชนชั้นกลางและเอ็นจีโอ
เป็นพลังหลักในการสร้างประชาธิปไตยอีกด้วย



การอธิบายขบวนการฟาสซิสต์ของตรอทสกี้

ในยุคที่ขบวนการฟาสซิสต์ของฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจเผด็จการในเยอรมัน
นักมาร์คซิสต์รัสเซีย ชื่อ ลีออน ตรอทสกี้
ได้อธิบายว่าทำไมชนชั้นกลางเป็นมวลชนหลักของพวกฟาสซิสต์[1]
     ตรอทสกี้
เขียนว่า “
ขบวนการฟาสซิสต์จัดตั้งชนชั้นกลางที่อยู่เหนือกรรมาชีพ…
ชนชั้นกลางที่เต็มไปด้วยความเกรงกลัวว่าจะจมลงไปเป็นคนงานท่ามกลางการล่มสลายของเศรษฐกิจ
มันจัดตั้งชนชั้นนี้ในรูปแบบกองทัพ โดยอาศัยเงินทุนจากทุนใหญ่และความเห็นชอบจากรัฐ
เพื่อทำลายทุกส่วนของขบวนการแรงงาน จากซีกปฏิวัติถึงซีกที่อนุรักษ์นิยมที่สุด
     ตรอทสกี้อธิบายว่าทำไมเราไม่ควรเรียกกลุ่มฝ่ายขวาทุกกลุ่มว่าเป็น
“ฟาสซิสต์” โดยไม่ตรวจสอบพิจารณาให้ดีก่อน… “ระบบฟาสซิสต์ไม่ใช่เผด็จการธรรมดา
การทำลายองค์กรจัดตั้งของกรรมาชีพไม่พอ
ต้องมีการทำลายความอิสระทั้งปวงของกรรมาชีพด้วย
และชนชั้นนายทุนชนชั้นเดียวไม่มีพลังเพียงพอที่จะกำจัดการจัดตั้งของกรรมาชีพได้ เลยต้องอาศัยพลังมวลชนฟาสซิสต์ของชนชั้นกลางด้วย
…. แต่วิธีการนี้เต็มไปด้วยภัยสำหรับนายทุนใหญ่
เพราะถึงแม้ว่านายทุนใหญ่พร้อมจะใช้พวกฟาสซิสต์เขาก็เกรงกลัวและเหยียดหยามมันในเวลาเดียวกัน
……
ชนชั้นนายทุนใหญ่ชอบฟาสซิสต์เหมือนคนปวดฟันชอบให้หมอฟันถอนฟัน ….มันเป็นความจำเป็น
         ชนชั้นกลางที่เป็นฟาสซิสต์คือ
“ผู้ประกอบการรายย่อยที่ใกล้จะล้มละลาย
ลูกหลานของเขาที่จบมหาวิทยาลัยและไม่มีงานทำพวกนี้ยินดีรับฟังข้อเสนอของพวกสร้างวินัยด้วยกองกำลัง
….ข้อเสนอของพวกนี้คืออะไร? ในประการแรกต้องบีบคอผู้ที่อยู่ข้างใต้
ชนชั้นกลางที่ก้มหัวต่อนายทุนใหญ่หวังจะกู้ศักดิ์ศรีทางสังคมด้วยการปรามชนชั้นกรรมาชีพและคนจน
นิยายเก่าๆ
(เรื่องเทวดา) ที่ลอยอยู่เหนือความจริงคือแหล่งที่พึ่งของพวกนี้
การเริ่มต้นใหม่ที่กล้าหาญของฟาสซิสต์ต้องอาศัยวิธีคิดที่ย้อนยุคย้อนสมัย ชนชั้นกลางหรือนายทุนน้อยมอมเมาตนเองในนิยายเกี่ยวกับความเลิศของเชื้อชาติตนเอง
(หรือชาติศาสนาพระมหากษัตริย์)”
     “ในยามที่อาวุธ ปกติในรูปแบบตำรวจและทหารของเผด็จการชนชั้นนายทุน
พร้อมกับฉากบังหน้าของระบบประชาธิปไตยรัฐสภา ไม่สามารถคุมสังคมให้อยู่ในสภาพสมดุลได้
ยุคของการปกครองแบบฟาสซิสต์ก็มาถึง ระบบทุนนิยมใช้ระบบฟาสซิสต์เพื่อปลุกระดมความบ้าคลั่งของชนชั้นกลางและชนชั้นกรรมาชีพจรจัดที่ตกงาน
มวลมนุษย์นับไม่ถ้วนทั้งหลายที่ถูกระบบการเงินของทุนนิยมกดดันจนหาทางออกไม่ได้นั้นเอง
นายทุนเรียกร้องผลงานสมบูรณ์ด้วยวิธีการของสงครามกลางเมืองเพื่อสร้างสันติภาพทางชนชั้นเป็นปีๆ
การปกครองแบบฟาสซิสต์ใช้ชนชั้นกลางเป็นไม้กระบองใหญ่เพื่อพังทลายทุกอย่างที่เป็นอุปสรรค”
     “หลังจากชัยชนะของฟาสซิสต์
ทุนการเงินจะรวบอำนาจทั้งหมดในกำมือเหล็ก จะควบคุมทุกสถาบัน ทุกองค์กร
ทุกบทบาทของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอำนาจอธิปไตย การบริหาร หรือระบบการศึกษา
ทุกส่วนของรัฐและ กองทัพ เทศบาล มหาวิทยาลัย โรงเรียน สื่อมวลชน สหภาพแรงงานและแม้แต่สหกรณ์จะตกอยู่ภายใต้การควบคุม
เมื่อรัฐหนึ่งแปรตัวเป็นรัฐฟาสซิสต์
ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงแค่รูปแบบของรัฐบาลเท่านั้น
แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีการสลายองค์กรต่างๆ ของชนชั้นกรรมาชีพให้สิ้นซากไป
ต้องมีเครือข่ายอำนาจรัฐที่ฝังรากลึกลงไปในทุกระดับของมวลชน เพื่อให้ชนชั้นกรรมาชีพแปรสภาพไปเป็นอะไรที่ไร้การจัดตั้งอิสระอย่างสิ้นเชิง
นั้นคือประเด็นหลักของระบบฟาสซิสต์”
    
ประเด็นที่เราต้องเข้าใจจากงานเขียนของตรอทสกี้คือ
ขบวนการฟาสซิสต์ที่เคยยึดอำนาจรัฐได้ในวิกฤตเศรษฐกิจโลกก่อนสงครามโลกครั้งที่สองนั้น
เป็นผลพวงของทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ
และเป็นความพยายามของนายทุนและฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่จะปราบการลุกฮือของขบวนการแรงงานและขบวนการสังคมนิยม
ในยุคที่การต่อสู้ทางชนชั้นรุนแรงถึงขั้นวิกฤต
การปกครองแบบฟาสซิสต์เป็นที่พึ่งสุดท้ายของชนชั้นนายทุน
และองค์กรฟาสซิสต์มีหน้าที่หลักในการทำลายความเข้มแข็งของชนชั้นกรรมาชีพโดยอาศัยยุทธศาสตร์       “ม็อบชนม็อบ”
โดยที่รากฐานขบวนการสร้างจากกลุ่มชนชั้นกลางหรือนายทุนน้อยและคนตกงาน
     ตำรากระแสหลักมักจะอ้างว่า ฮิตเลอร์
ได้รับการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย
แต่ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจพรรคนาซีได้เสียงสูงสุด 37%
ซึ่งน้อยกว่าคะแนนเสียงของพรรคสังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์รวมกัน
     ในปี 1932 ฮิตเลอร์
เรียกร้องให้ประธานาธิบดี ฮินเดนเบอร์ก ของเยอรมัน แต่งตั้งเขาเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ฮินเดนเบอร์กปฏิเสธ 
อย่างไรก็ตามพอถึงต้นปี 1933 ทั้งๆ ที่พรรคนาซีกำลังอ่อนแอลง ฮินเดนเบอร์ก
ตัดสินใจแต่งตั้ง ฮิตเลอร์ เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อยับยั้งการขยายตัวของอิทธิพลแนวคิดสังคมนิยม
     ถ้าเราจะเข้าใจการขึ้นมามีอำนาจของฮิตเลอร์
เราจะต้องดูประวัติศาสตร์เยอรมันตั้งแต่ปี 1918 ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1
และหนึ่งปีหลังจากการปฏิวัติรัสเซีย 
ในช่วงนั้นกรรมาชีพเยอรมันเกือบจะยึดอำนาจได้สำเร็จ
แต่ล้มเหลวเพราะขาดพรรคปฏิวัติที่มีประสบการณ์ ต่อมาในปี 1923
มีความพยายามที่จะปฏิวัติอีกครั้ง แต่ถูกพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยหักหลังและปราบปราม
นี่คือสถานการณ์ของเยอรมันก่อนที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ  วิกฤตินี้ท้าทายสังคมเยอรมันอย่างยิ่ง คือตั้งคำถามทางเลือกว่า
จะเดินหน้าสู่สังคมนิยมตามความหวังของกรรมาชีพ
หรือจะถอยหลังเข้าสู่ความป่าเถื่อนของพวกนาซี
    

นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปัจจุบันในไทย

สถานการณ์ปัจจุบันในไทย
ไม่ใช่สถานการณ์ที่มีวิกฤตเศรษฐกิจร้ายแรง
และนายทุนไม่ได้เกรงกลัวพลังของกรรมาชีพหรือฝ่ายสังคมนิยม อย่างไรก็ตาม ในหลายแง่มุม
ชนชั้นกลางไทยที่เข้าร่วมกับสุเทพเพื่อตั้งม็อบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
มีพฤติกรรมและความเชื่อความคลั่งคล้ายๆ ยุคฟาสซิสต์ในสมัยก่อน
และพวกนี้ก็เกลียดชังกรรมาชีพและเกษตรกรคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้เขาอยากเห็นเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย


ชนชั้นกลางขาดจุดยืนที่ชัดเจน

นักมาร์คซิสต์จำแนกชนชั้นตามความสำพันธ์กับระบบการผลิต
เพราะระบบการผลิตเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ทุกคนดำรงชีวิตในโลกได้
และความสัมพันธ์กับระบบนี้ที่แตกต่างกัน นำไปสู่อำนาจที่แตกต่างกันในสังคม
        ชนชั้นกลางในสังคมเรา เป็น กลุ่มชนชั้นมีความหลากหลายและกระจัดกระจาย
มีทั้งชนชั้นกลางเก่าที่กำลังลดลง และชนชั้นกลางใหม่ที่กำลังเพิ่มขึ้น
       คนชั้นกลางเป็นคนที่ไม่ใช่นายทุน
และไม่ใช่ลูกจ้างระดับธรรมดา เช่นเกษตรกรผู้ผลิตเองรายย่อย พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย
ผู้ประกอบการเอง หัวหน้างาน
และผู้บริหารที่เป็นลูกจ้างนายทุนแต่มีอำนาจให้คุณให้โทษ
       ชนชั้นกลางเป็นกลุ่มชนชั้นที่ไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ
บางส่วนขยายจำนวน บางส่วนเริ่มมีน้อยลงเพราะล้มละลาย
และชนชั้นนี้มีปัญหาในการรวมตัวกัน เพราะไม่เป็นปึกเป็นแผ่น มีผลประโยชน์ต่างกัน
และอาจเป็นคู่แข่งกันด้วย นี่คือสาเหตุที่ชนชั้นกลางต้องไปเกาะติดกับชนชั้นที่มีอำนาจมากกว่า
เช่นชนชั้นนายทุนหรืออำมาตย์ แต่บางครั้งในอดีตอาจเคยเกาะติดกับชนชั้นล่างเมื่อมีการต่อสู้แบบ
๑๔ ตุลา ดังนั้นจุดยืนทางการเมืองของชนชั้นกลางจะไม่คงที่
       ชนชั้นกลางเก่า หรือเกษตรกรรายย่อย กำลังล้มละลาย
และคนส่วนใหญ่ในสังคมสมัยใหม่กลายเป็นกรรมาชีพหรือลูกจ้าง ส่วนที่กำลังขยายตัวและเป็นมวลชนหลักของสุเทพ
คือ “ชนชั้นกลางสมัยใหม่” ซึ่งประกอบไปด้วยนายทุนน้อยผู้ประกอบการเอง
ผู้บริหารในธุรกิจเอกชน หัวหน้างาน และข้าราชการระดับบริหาร

สรุป

ม็อบสุเทพยังไม่ถือว่าเป็นม็อบฟาสซิสต์
แต่ในขณะเดียวกันเป็นม็อบคนชั้นกลางที่พร้อมจะเป็นอันธพาลเพื่อทำลายประชาธิปไตยตั้งแต่สมัยพันธมิตรฯ
นี่คือบทบาทแท้ของชนชั้นกลางไทยในวิกฤตการเมืองที่เริ่มต้นในยุครัฐประหาร ๑๙ กันยา
     ที่สำคัญคือ
เราไม่สามารถหวังว่าพรรคเพื่อไทย หรือสถาบันต่างๆของรัฐ
จะปราบปรามม๊อบคนชั้นกลางที่กำลังคุกคามสิทธิเสรีภาพของเราได้
เพราะพวกนี้ในที่สุดเป็นพวกเดียวกัน หรืออย่างน้อยเกรงใจกัน
     ถ้าเราจะปกป้องประชาธิปไตย
คนชั้นล่างระดับรากหญ้าจะต้องรวมตัวกันและใช้พลังมวลชนเพื่อเผชิญหน้ากับกระแสที่มาจากม็อบคนชั้นกลางที่มีจำนวนน้อยกว่าเรา
และเราต้องพร้อมจะกดดันพรรคเพื่อไทยที่ไปประนีประนอมกับอำมาตย์ตลอด
แต่การใช้พลังมวลชนของเราต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เราต้องเลือกเวทีและสนามรบ
ต้องเน้นการจัดตั้งในหมู่คนทำงาน โดยเฉพาะในสหภาพแรงงานในสถานประกอบการต่างๆ
และเราต้องแสดงพลังในชุมชนของเราด้วย
ไม่ใช่วิ่งเข้าไปตบตีฆ่าฟันม็อบสุเทพโดยไร้ปัญญา

     การนั่งแช่แข็งตนเอง ตามคำแนะนำของ นปช.
หรือพรรคเพื่อไทย จะจบลงด้วยเผด็จการครองเมือง




[1]
Fascism,
Stalinism and the United Front. พิมพ์ครั้งแรกระหว่าง 1930-1933

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s