"โฉมหน้าศักดินาไทย" ของจิตรภูมิศักดิ์

โฉมหน้าศักดินาไทย” ของจิตรภูมิศักดิ์

หนังสือ
“โฉมหน้าศักดินาไทย” ของจิตรภูมิศักดิ์
เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ปลุกใจการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในยุคหลัง ๑๔ ตุลา
เพราะเป็นหนังสือที่กล้าประณามความป่าเถื่อน การกดขี่ และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
โดยที่ไม่ติดกรอบนิยายรักผู้นำชั้นสูงของชนชั้นปกครอง
นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามของจิตรที่จะวิเคราะห์ประวัติศาสตร์สังคมไทยอย่างเป็นระบบจากมุมมองของผู้ถูกกดขี่ขูดรีด
ก่อนหน้านั้นหนังสือประวัติศาสตร์ไทยส่วนใหญ่เป็นแนวของชนชั้นปกครอง
ในขณะที่ฝ่ายซ้ายไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
หรือปัญญาชนไม่สังกัดพรรค อย่างเช่น
   สุภา ศิริมานนท์ สมัคร บุราวาศ
หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์
ยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ไทยจากมุมมองมาร์คซิสต์แต่อย่างใด
ดังนั้นงานของจิตรชิ้นนี้และชิ้นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ภูมิภาคนี้เป็นงานบุกเบิกที่สำคัญอย่างยิ่ง



     อย่างไรก็ตาม เราต้องกล้าฟันธงไปว่า
ด้วยเหตุที่จิตรมีข้อจำกัดหลายประการ หนังสือ “โฉมหน้าศักดินาไทย”
เป็นหนังสือที่วิเคราะห์ระบบศักดินาไทยอย่างผิดพลาด
และไม่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาความเข้าใจของเราในยุคนี้ได้
     จิตร ภูมิศักดิ์ วิเคราะห์ระบบศักดินาไทย
หรือระบบก่อนทุนนิยมในไทย ว่าเป็นระบบ “อำนาจในการครอบครองที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิต”
จิตรมองว่าระบบศักดินาเริ่มจากระบบกระจายอำนาจทางการเมืองและลงเอยด้วยการรวบอำนาจ
  โดยที่พระเจ้าแผ่นดินกลายเป็นเจ้าของที่ดินทั้งปวงและปกครองในลักษณะ
“สมบูรณาญาสิทธิราชย์”
     ในความเป็นจริง
ระบบศักดินาไทยเป็นระบบที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเลย
เพราะการครอบครองที่ดินไม่มีความหมายสำหรับการควบคุมปัจจัยการผลิต
ในเมื่อเมืองสยามมีที่ดินล้นฟ้า
ถ้าดูตัวเลขความหนาแน่นของประชากรแล้วจะเข้าใจ 
เพราะในค.ศ.
1904 คาดว่ามีประชาชนแค่ 11 คนต่อ 1
ตารางกิโลเมตรในไทย ซึ่งเทียบกับ
73 คนในอินเดีย และ 21
คนในอินโดนีเซีย การเกณฑ์แรงงานบังคับในลักษณะทาสและไพร่และการทำสงครามเพื่อกวาดต้อนเชลยศึกจึงเป็นวิธีการหลักในการควบคุมปัจจัยการผลิตแทนการถือครองที่ดิน
นอกจากนี้กฏหมายเกี่ยวกับการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่เคยมีในสมัยศักดินา
และรัชกาลที่ ๕ ต้องร่างกฏหมายนี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อยกเลิกระบบไพร่และระบบทาส
ดังนั้นการที่พระเจ้าแผ่นดินประกาศว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดในยุคศักดินาไม่มีความหมายมากนัก
เพราะไม่สามารถใช้การครอบครองที่ดินเพื่อสร้างผลประโยชน์ได้ เช่นขายให้คนอื่น
หรือกู้เงินโดยเอาที่ดินเป็นหลักประกัน และยศศักดิ์ในระบบศักดินา
ที่กำหนดขั้นของบุคคลในสังคมตามการถือครองที่ดิน
น่าจะไม่มีความหมายที่เกี่ยวกับที่ดินโดยตรง
เพราะแม้แต่ขอทานและทาสก็มียศที่ดิน ๕ ไร่ตามยศศักดิ์ และคนที่มีที่ดิน ๕ ไร่
ไม่น่าจะเป็นขอทานหรือทาส
     ระบบศักดินาไม่ใช่ระบบเดียวกับระบบฟิวเดอล
และไม่ใช่ระบบเดียวกับระบบทาสของยุโรปด้วย
แต่เป็นระบบก่อนทุนนิยมในสังคมส่วนหนึ่งของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
สาระสำคัญคือมีการปกครองแบบกระจายอำนาจ มีการควบคุมแรงงานบังคับ และมีการใช้ทาส นอกจากนี้ศักดินาไม่ใช่ระบบเดียวกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์
เพราะระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่๕
 
และเป็นระบบการปกครองรวมศูนย์ภายในกรอบรัฐชาติ
ที่ใช้แรงงานรับจ้าง เพื่อตอบสนองการสะสมทุน พูดง่ายๆ
สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นรูปแบบรัฐทุนนิยมรูปแบบแรกของไทย
    
รากฐานของปัญหาในการวิเคราะห์ระบบศักดินาของจิตรคือ
เขานำขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ก่อนทุนนิยมที่ มาร์คซ์ เคยเสนอสำหรับยุโรปตะวันตก
มาสวมกระบวนการประวัติศาสตร์ของไทยในลักษณะกฏเหล็กอย่างกลไก ดังนั้นสำหรับจิตร
ระบบศักดินาคือระบบเดียวกันกับระบบฟิวเดอลในยุโรป และเป็นระบบที่วิวัฒนาการมาจาก
“ยุคทาส”
 แต่ มาร์คซ์
ไม่เคยเสนอเลยว่าขั้นตอนของประวัติศาสตร์ก่อนทุนนิยมจะเหมือนกันทั่วโลก
เพราะระบบทุนนิยมเป็นระบบแรกที่มีการสร้างมาตรฐานร่วมแบบโลกาภิวัฒน์
คือเป็นระบบแรกในประวัติศาสตร์มนุษย์ที่ทำให้ทุกส่วนของโลกคล้ายคลึงกันไปหมดในด้านเศรษฐกิจ
การเมือง และสังคม
     การต่อสู้กับปัญหาความกลไกในแนวคิดของฝ่ายซ้ายไทย
ผูกพันอย่างใกล้ชิดกับอิทธิพลของแนวความคิดสตาลิน-เหมา
ถ้าเราไม่วิเคราะห์แนวสตาลิน-เหมาและอิทธิพลของมันผ่าน พ.ค.ท.
เราจะไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมนักสู้ผู้กล้าหาญอย่างจิตร ภูมิศักดิ์
ที่พยายามวิเคราะห์สังคมไทยเพื่อเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น สามารถตกหลุมของความกลไกได้

     จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นปัญญาชนไทยที่เรียกได้ว่า
ล้ำหน้าในยุคสมัยของเขา เพราะเขาเสนอสิ่งที่แตกต่างห่างไกลจากความคิดของคนส่วนใหญ่ในขณะนั้น
เขากลายเป็นแกะดำของชาวจุฬาฯ เขาต้านระบบ
SOTUS ตั้งคำถามกับศาสนาพุทธและความชอบธรรมของชนชั้นสูง
จนถูกจับโยนบก แต่เขาก็มิได้สะทกสะท้าน
จิตใจของจิตรภูมิศักดิ์จึงน่าเอาเป็นเยี่ยงอย่างในความกล้าหาญในความเสียสละและความแน่วแน่
จิตรหล่อหลอมตัวเองในสงครามประชาชน
ผลงานของจิตรมีอยู่หลายหลากในต่างแขนงทั้งการเมือง ศาสนา วรรณคดีและศิลปะ
ไม่น่าเชื่อว่าในชั่วชีวิตคนคนหนึ่งที่เสียชีวิตก่อนวัยจะมีงานเขียนที่ผลิตขึ้นมาได้มากมายและมากด้วยคุณค่าเช่นนี้  เมื่อเราให้ความเคารพต่อ จิตร ภูมิศักดิ์
นักปฎิวัติที่ศรัทธาต่อพรรคที่เขาเชื่อว่าเป็นลัทธิมาร์คซ์ในขณะนั้น 
เราก็ควรจะใช้มุมมองลัทธิมาร์คซ์มาวิเคราะห์งานของเขา 

จากหนังสือ  รื้อฟื้นการต่อสู้  ซ้ายเก่าสู่ซ้ายใหม่ไทยใจ
อึ๊งภากรณ์ และนุ่มนวล ยัพราช บรรณาธิการสำนักพิมพ์
ประชาธิปไตยแรงงาน (๒๕๔๗)

Leave a comment