Tag Archives: ประชาธิปไตย

รัฐบาลเพื่อไทยช่วยทหารทำให้สังคมไทยป่าเถื่อนด้วยการใช้ 112

โดย ใจ อึ๊งภากรณ์

การใช้กฎหมาย112 เพื่อปราบปรามคนหนุ่มสาวที่ต่อต้านระบบทุกวันนี้ สะท้อนความป่าเถื่อนของชนชั้นปกครองไทย

ระบบการปกครองในปัจจุบันเป็นระบบเผด็จการทหาร/นายทุน ที่ใช้กษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรมอย่างต่อเนื่อง ชนชั้นปกครองจึงสร้างภาพเท็จว่ากษัตริย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปฏิรูปไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันมันไม่ใช่ว่าไทยปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่อย่างใด สถาบันกษัตริย์มีไว้เพื่อค้ำจุนอำนาจทหารที่มาจากการทำลายประชาธิปไตยด้วยการทำรัฐประหาร หรือแม้แต่รัฐบาลนายทุนที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ข้อจำกัดของประชาธิปไตยทุนนิยม

ประโยชน์ของกษัตริย์สำหรับชนชั้นปกครองในระบบทุนนิยมคือ กษัตริย์เป็นสัญลักษณ์ที่แช่แข็งความเหลื่อมล้ำในสังคม มันสื่อว่ามีคน “เกิดสูง” และ “เกิดต่ำ” สื่อว่าความไม่เท่าเทียมนี้เป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” และสื่อว่าเราควรก้มหัวให้คน “เกิดสูง”

ปรสิตอังกฤษ

ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ยังมีสถาบันปรสิตนี้ เช่นอังกฤษ เดนมาร์ก หรือญี่ปุ่น ทั้งๆ ที่ไม่มีการใช้กฎหมาย 112 และทหารไม่มีบทบาททางการเมือง ชนชั้นนายทุนใช้กษัตริย์เพื่อย้ำความคิดอภิสิทธิ์ชนแบบนี้ เขามองว่าประชาชนควรรับรู้ว่าการที่คนรวยกอบโกยผลประโยชน์ต่างๆ แซงคิวต่างๆ และหลีกเลี่ยงภาษี ท่ามกลางความเดือดร้อนของคนธรรมดาที่จ่ายค่าน้ำค่าไฟไม่ได้ เป็นสถานการณ์ปกติตามธรรมชาติ และเขาพยายามอธิบายว่าเราทำอะไรเพื่อเปลี่ยนสังคมไม่ได้

นอกจากนี้สถาบันกษัตริย์ทั่วโลกมีบทบาทสำคัญในการโฆษณาชวนเชื่อให้รักชาติด้วยลัทธิชาตินิยม ลัทธินี้โกหกว่าประชาชนทุกคนในประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกัน และเราไม่ควรเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ควรเกลียดชังชนชั้นนายทุนที่กดขี่ขูดรีดเรา แนวคิดนี้โกหกด้วยว่ากษัตริย์ “เป็น กลาง” และ “อยู่เหนือความขัดแย้งต่างๆ”

ความเชื่อดังกล่าวเป็นเรื่องเท็จโดยสิ้นเชิง เพราะผลประโยชน์นายทุนหรือคนรวย ตรงกันข้ามกับผลประโยชน์พลเมืองส่วนใหญ่เสมอ ตัวอย่างที่ดีคือนโยบายรัดเข็มขัดที่รัฐบาลมักอ้างว่าทำไป “เพื่อชาติ” แต่จริงๆ เป็นการรัดเข็มขัดคนส่วนใหญ่เพื่อเพิ่มกำไรและผลประโยชน์ให้กับนายทุน นอกจากนี้การทำสงคราม “เพื่อชาติ” กลายเป็นการบังคับพลีชีพของคนจนเพื่อประโยชน์ของคนรวย

นักวิชาการส่วนใหญ่ในไทย มักมองข้ามบทบาทหน้าที่สำคัญอันนี้ของสถาบันกษัตริย์ในโลกทุนนิยมปัจจุบัน เพราะเชื่อนิยายว่า “สังคมไทยไม่เหมือนที่อื่น” หรือหลงเชื่อว่าเราอยู่ในระบบที่กษัตริย์มีอำนาจจริง ไม่ค่อยมีใครพยายามทำความเข้าใจกับบทบาทสถาบันกษัตริย์ในระบบทุนนิยมสมัยใหม่เลย มีแต่การดูภาพผิวเผินเท่านั้น

ในไทยกษัตริย์รัชกาลที่ ๙ เคยร่ำรวย และเสพสุขบนหลังประชาชนก็จริง มีคนเชิดชูและหมอบคลานเข้าหาก็จริง แต่กษัตริย์คนนี้ไร้อำนาจโดยสิ้นเชิง และถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยทหารและชนชั้นนำอื่นๆ เช่นนักการเมืองนายทุน ดังนั้นการเชิดชูกษัตริย์แบบบ้าคลั่งที่เกิดขึ้น กระทำไปเพื่อให้สร้างภาพว่าเป็นเทวดา และ กฎหมาย 112 มีไว้เพื่อสร้างความกลัวที่จะวิจารณ์

ในวิดีโอสัมภาษณ์นายภูมิพลเป็นภาษาอังกฤษเมื่อหลายปีก่อน นายภูมิพลพูดแบบอ้อมๆ ว่ามี “คนอื่น” คอยควบคุมบทบาทตัวเองและกำหนดสภาพการเมือง จนตนเองทำอะไรไม่ได้

รัชกาลที่ ๑๐ ยิ่งอ่อนแอกว่าพ่อของเขา และไม่สนใจเรื่องการเมืองและสังคมไทยเลย วชิราลงกรณ์ ต้องการเสพสุขอย่างเดียว และพฤติกรรมแย่ของเขาที่เขาไม่พยายามปกปิดทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจ

หลัง การปฏิวัติ ๒๔๗๕ สถาบันกษัตริย์มีบทบาทน้อยมากในสังคมไทย จนมาถึงการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากนั้นสฤษดิ์ ผู้นำทหารและพลเรือนที่ตามมา และพรรคพวกที่นิยมเจ้า ก็ค่อยๆ เชิดชูกษัตริย์มากขึ้นทุกวัน จนมีการสร้างภาพว่าเสมือนเทวดา บางคนถึงกับร้องไห้เมื่อเห็นภาพนายภูมิพลผูกเชือกรองเท้าตัวเอง

แต่การนำกษัตริย์กลับมาให้มีบทบาทสำคัญในไทยตั้งแต่ยุคสฤษดิ์ มีวัตถุประสงค์เดียวกับที่อื่น คือวัตถุประสงค์ในการรณรงค์แนวคิดอนุรักษ์นิยมอย่างที่ได้กล่าวถึงข้างบน มันไม่ใช่การ “ถวายอำนาจคืนให้กษัตริย์” ในช่วงแรกๆ กษัตริย์มีความสำคัญในการเป็นสัญลักษณ์ที่ต่อต้านแนวคิดคอมมิวนิสต์ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะในช่วงสงครามเย็น ต่อมากษัตริย์มีความสำคัญในการให้ความชอบธรรมกับการปกครองของนายทุน เช่นในสมัยทักษิณ หรือการปกครองแบบเผด็จการทหาร ทหารมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะอ้างว่าตนปกป้องกษัตริย์เวลายึดอำนาจ เพื่อปกปิดว่าจริงๆ แล้ว เขาทำรัฐประหารเพื่อผลประโยขน์ของตนเอง ซึ่งต่างจากรัฐบาลพลเรือน ที่สามารถอ้างความชอบธรรมจากนโยบายต่างๆ ที่เสนอกับประชาชนในการเลือกตั้งตามระบบประชาธิปไตย ทหารไม่มีความชอบธรรมจากระบบประชาธิปไตยเลยจึงต้องอ้างกษัตริย์

จะเห็นได้ว่าการเชิดชูกษัตริย์ให้เหมือนเทวดา ไม่ได้แปลว่ากษัตริย์มีอำนาจจริง มันเป็นเพียงการเชิดชูลัทธิกษัตริย์เพื่อแช่แข็งความเหลื่อมล้ำในสังคม พูดง่ายๆ สถาบันกษัตริย์ไทยไม่เคยมีอำนาจหลัง ๒๔๗๕ แต่มีบทบาทหน้าที่ในทางลัทธิความคิด เพื่อประโยชน์ของนายทุนและทหาร การสร้างภาพลวงตาว่ากษัตริย์เป็นเทวดาที่มีอำนาจล้นฟ้า (และมันเป็นภาพลวงตาเพราะเราก็รู้กันว่าเทวดาไม่มีจริง) เป็นไปเพื่อทำให้พลเมืองเกรงกลัวและไม่กล้าท้าทายระบบชนชั้นที่ดำรงอยู่

ดังนั้นเวลาพวกผู้นำทหารปัจจุบันหรือนักการเมืองพลเรือนหมอบคลานต่อวชิราลงกรณ์ มันเป็นการเล่นละครเพื่อหลอกประชาชนว่าวชิราลงกรณ์สั่งการทุกอย่าง ทั้งๆ ที่ผู้มีอำนาจจริงกำลังหมอบคลานต่อผู้ที่ไม่มีอำนาจเลย

ข้อเขียนนี้ ถ้าผู้เขียนเขียนในไทยก็จะโดนปิดปากด้วยกฎหมายเถื่อน112 ทั้งนี้เพราะชนชั้นปกครองไทยไม่กล้าให้ประชาชนถกเถียงแลกเปลี่ยนเรื่องกษัตริย์ด้วยการใช้สติปัญญา

แล้วทำไมประชาชนจำนวนมากถึงเชื่อนิยายของชนชั้นปกครอง? ทำไมเขาครองใจคนได้?

จริงๆ แล้วมันไม่ต่างจากคำถามว่าทำไมคนถึงเชื่อกันว่า “ตลาด” มีพลังหรือชีวิตของมันเองที่เราต้องจำนนต่อ ทั้งๆ ที่ตลาดเป็นแค่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือความเชื่อว่า “เงิน” มีค่าในตัวมันเองทั้งๆ ที่มันเป็นแค่ตัวแทนของมูลค่าจริงๆ ของสิ่งของที่มนุษย์สร้างขึ้นมาจากการทำงาน

มันเหมือนกับปัญหาว่าทำไมคนถึงลืมว่ามนุษย์สร้างพระพุทธรูปด้วยมือของตนเอง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาและคำสอน แต่คนกลับหันมาเชื่อว่าพระพุทธรูปมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์วิเศษ

ในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” มาร์คซ์เสนอว่าการขโมยผลงานของกรรมาชีพ โดยนายทุน ในระบบการผลิต ทำให้กรรมาชีพขาดความเป็นมนุษย์แท้ มีผลทำให้มนุษย์มองโลกในทางกลับหัวกลับหางคือ เงินกลายเป็นของจริง ในขณะที่การขูดรีดหายไปกับตา และมูลค่าหรือประโยชน์ในการใช้สอยกลายเป็นเพียงเรื่องข้างเคียง เพราะมูลค่าแลกเปลี่ยนถูกทำให้ดูสำคัญกว่า

นักมาร์คซิสต์ จอร์ช ลูคักส์ และ คาร์ล มาร์คซ์ อธิบายว่ามนุษย์เชื่อในสิ่งที่ไม่เป็นจริง คือเชื่อแบบกลับหัวกลับหาง ในกรณีที่มนุษย์ขาดความมั่นใจ มันไม่ใช่เรื่องความโง่หรือการมีหรือไม่มีการศึกษาแต่อย่างใด มันเป็นเรื่องผลของอำนาจต่อความมั่นใจของเราต่างหาก อำนาจการกดขี่ขูดรีดของนายทุน เช่นการที่ทุกวันเราต้องยอมจำนนไปทำงานให้นายทุน หรือต้องก้มหัวให้อำนาจรัฐ มีผลในการกล่อมเกลาให้เรามองว่าตัวเราเองไร้ค่ากว่าพวก “ผู้ใหญ่” หรือนายทุน และชวนให้เรามองว่าเราไร้ความสามารถ เราเลยเชื่อพวกนั้นง่ายขึ้น ดังนั้นชนชั้นปกครองสามารถสร้างภาพลวงตา กลับหัวกลับหาง เรื่องอำนาจแท้ในสังคมไทยได้ เพื่อไม่ให้คนเห็นว่าอำนาจจริงอยู่ที่ทหารและนักธุรกิจ และภาพลวงตานี้ผลิตซ้ำด้วยกฎหมายเผด็จการ 112 ที่ปิดปากเราด้วย ซึ่งเป็นการซ้ำเติมความกลัวเพื่อทำลายความมั่นใจของเราอีก

ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “สภาวะแปลกแยก” (Alienation) คือแปลกแยกจากความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีของเราทุกคน และแปลกแยกจากความจริง

แต่ ลูคักส์ เสนอว่าต่อว่าเมื่อเรารวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เพื่อออกมาต่อสู้กับเผด็จการ ความกล้าในการคิดเองและวิเคราะห์โลกเองก็จะเกิดขึ้น และเราจะเลิกเชื่อนิยายงมงายของชนชั้นปกครอง เราเริ่มเห็นสิ่งนี้หลังจากที่มีการประท้วงต้านเผด็จการที่นำโดยคนหนุ่มสาว แต่พวกเราต้องเดินทางให้สุดทาง คือเปิดตาในเรื่องนิยายภาพลวงตาเกี่ยวกับอำนาจกษัตริย์ด้วย

การเดินให้สุดทางในแง่ความคิดเป็นเรื่องสำคัญในรูปธรรม เพราะมันจะทำให้เราชัดเจนว่าศัตรูหลักของเราตอนนี้คือทหารกับนายทุน กษัตริย์เพียงแต่เป็นศัตรูของเราในลักษณะความคิด ทหารกับนายทุนเป็นศัตรูหลักเพราะคุมอำนาจรัฐ

บทเรียนจากชิลีปี 1973

วันที่ 11 เดือนกันยายนที่ผ่านมา คือวันครบรอบ 50 ปีของรัฐประหารโหด ที่กองทัพชิลีร่วมกับสหรัฐอเมริกา ใช้ในการโค่นล้มรัฐบาลสังคมนิยมประชาธิปไตยของประธานาธิบดี ซัลบาดอร์ อาเยนเด หลังจากรัฐประหารครั้งนั้นมีการกวาดล้างฆ่า ทรมาน และจำคุกนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายจำนวนมาก และมีการริเริ่มใช้นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดสุดขั้วภายใต้เผด็จการทหารฝ่ายขวาของนายพลปิโนเชต์

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศชิลีเมื่อปลายเดือนกันยายน 1973  เป็นกรณีที่ทุกคนน่าจะศึกษา

ประเทศชิลีเป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ที่เคยมีฉายาว่าเป็น “อังกฤษแห่งอเมริกาใต้” ทั้งนี้เพราะเคยมีระบบประชาธิปไตยแบบทุนนิยมที่มั่นคงมาร้อยกว่าปี โดยที่พรรคการเมืองฝ่ายขวาของนายทุนตั้งรัฐบาลมาตลอด แต่ในปี 1970 ประธานาธิบดี ซัลบาดอร์ อาเยนเด แห่งพรรคสังคมนิยม ชนะการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

พรรคสังคมนิยมชิลีเป็นพรรคของกรรมาชีพที่พยายามเปลี่ยนสังคมโดยการปฏิรูปทุนนิยม พรรคนี้พยายามอาศัยกลไกรัฐสภาในระบบประชาธิปไตย เพื่อหวังครองอำนาจรัฐ และเมื่อพรรคสังคมนิยมชนะการเลือกตั้ง ใครๆ ก็เชื่อว่าคงจะสร้างสังคมนิยมได้โดยไม่ต้องมีการปฏิวัติ

ชัยชนะของพรรคสังคมนิยมชิลีเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการต่อสู้ของคนชั้นล่างที่ดุเดือด ก่อนวันเลือกตั้งมีการนัดหยุดงาน 5,295 ครั้ง และเกษตรกรกับคนยากจนก็ออกมาเคลื่อนไหว  เพราะประชาธิปไตยรัฐสภาของชิลี ที่มีการผูกขาดโดยพรรคฝ่ายขวาของนายทุน ไม่เคยสนใจปัญหาความยากจน การตกงาน และความเหลื่อมล้ำในสังคมเลย

หลังจากที่ได้รับชัยชนะ ประธานาธิบดี อาเยนเด ประกาศว่า “เราจะทำการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อสร้างระบบสังคมนิยม” นอกจากนี้เขาได้สัญญาว่าจะปฏิรูปที่ดินและเอาบริษัทเอกชนระดับชั้นนำ 150 บริษัทมาเป็นของรัฐ แต่เขาเตือนต่อไปว่าทุกส่วนของสังคมจะต้องร่วมมือกัน และชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเสียสละเพื่อสร้างแนวร่วมกับนายทุนโดยยุติการเคลื่อนไหว และลดข้อเรียกร้อง เพราะถ้าไม่ทำแบบนั้นนายทุนจะไม่ร่วมมือด้วย

ในปีแรกของรัฐบาลใหม่ รายได้จริงของกรรมาชีพเพิ่มขึ้น จำนวนคนตกงานลดลง โรงงาน 90 แห่ง และที่ดิน 30% ของประเทศ ถูกนำมาเป็นของรัฐ และเศรษฐกิจก็ขยายตัวอย่างน่าชื่นชม

สิ่งที่รัฐบาลใหม่สามารถทำเพื่อกรรมาชีพชิลี ไม่ได้อาศัยการล้มระบบทุนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามก็ต้องนับว่ายังเป็นประโยชน์กับคนธรรมดามากพอสมควร แต่มาตรการ “ค่อยเป็นค่อยไป” ของรัฐบาล อาเยนเด สร้างความไม่พอใจกับนายทุน ดังนั้นนายทุนชิลีพยายามทำลายเศรษฐกิจด้วยการถอนทุนออกนอกประเทศและหยุดการลงทุน นอกจากนี้นายทุนสหรัฐพยายามห้ามไม่ให้ชิลีกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาอีกด้วย ในขณะเดียวกันสหรัฐยังส่งเงินไปช่วยอุดหนุนนายทหารของกองทัพชิลี

เนื่องจาก อาเยนเด ไม่ต้องการปฏิวัติยกเลิกระบบทุนนิยม ในที่สุดเขาต้องเลือกยอมประนีประนอมกับเงื่อนไขนายทุน ในขั้นตอนแรกก็มีการชะลอมาตรการที่เป็นประโยชน์กับกรรมาชีพ ต่อจากนั้นก็มีการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายทหารและตำรวจในการ “รักษาความสงบ” มีการนำนายพลอย่างปิโนเชต์เข้ามาในคณะรัฐมนตรีอีกด้วย

แต่การประนีประนอมของรัฐบาลต่อฝ่ายทุนมิได้ทำให้นายทุนร่วมมือมากขึ้นแต่อย่างใด นายทุนเข้าใจดีว่ากรรมาชีพกับนายทุนร่วมมือกันไม่ได้  ฉนั้นเมื่อรัฐบาลยอมประนีประนอม นายทุนกลับมองว่าเป็นการแสดงความอ่อนแอ จึงทำให้ฝ่ายทุนรุกสู้ต่อไปด้วยการพยายามทำลายเศรษฐกิจ นายทุนบริษัทขนส่งไม่ยอมปล่อยรถออกไปวิ่ง ซึ่งมีผลทำให้ประเทศขาดแคลนอาหารและสนค้าจำเป็นสำหรับประชาชน

อย่างไรก็ตามกรรมาชีพพื้นฐานชิลีไม่ยกธงขาวยอมแพ้ง่ายๆ คนงานพื้นฐานในเขตอุตสาหกรรมต่างๆ ได้รวมตัวกันสร้างสภาคนงานย่านอุตสาหกรรม(“คอร์โดเนส์”) เพื่อยึดรถบรรทุกจากนายทุนแล้วนำมาขนส่งแจกจ่ายสินค้าเอง และในที่สุดคนงานได้รับชัยชนะ

สภา “คอร์โดเนส์” ซึ่งเป็นสภาคนงานที่สร้างขึ้นกันเองเพื่อประสานการต่อสู้ เป็นหน่ออ่อนที่มีลักษณะคล้ายๆ สภาโซเวียดในการปฏิวัติรัสเซีย1917 หรือสภาคนงานที่เกิดขึ้นในการปฏิวัติอิหร่านปี 1979 ปรากฏการณ์แบบนี้แสดงให้เราเห็นว่าท่ามกลางการต่อสู้ของกรรมาชีพ มักจะมีการสร้างองค์กรการต่อสู้ที่ประสานงานระหว่างสหภาพแรงงานและสถานที่ทำงานต่างๆ

แต่แทนที่ประธานาธิบดี อาเยนเด จะสนับสนุนการกระทำของกรรมาชีพพื้นฐาน เขากลับมองว่าเป็นการสร้างความ “ไม่สงบ” ซึ่งอาจนำไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยมของกรรมาชีพ อาเยนเด จึงสั่งให้ทหารและตำรวจสลายสภาคนงานเหล่านั้น และการกระทำครั้งนั้นได้รับความเห็นชอบจากพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลินของประเทศชิลีที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลอีกด้วย

หลังจากนั้นชิลีก็เข้าสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ร้ายแรงขึ้นเป็นลำดับ ในช่วงแรกทุกครั้งที่ฝ่ายทุนพยายามยึดอำนาจโดยอาศัยกองทัพ คนงานพื้นฐานและนายทหารชั้นล่างบางคนจะออกมาปกป้องรัฐบาลและเรียกร้องให้รัฐบาลแจกอาวุธให้คนงาน แต่รัฐบาลไม่ยอมฟัง และพยายามบอกให้กรรมาชีพสลายการเคลื่อนไหว เพราะมัวแต่ประนีประนอมกับนายทุนและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แทนที่จะเลือกข้างกรรมาชีพ เกษตรกรและคนจน

ในที่สุด เมื่อ 11 กันยายน 1973 กองทัพชิลีได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจและจับสมาชิกพรรคสังคมนิยม พรรคคอมมิวนิสต์ และนักสหภาพจำนวนมาก มีการทิ้งระเบิดทำเนียบของประธานาธิบดี แต่แทนที่ อาเยนเด จะหนีออกนอกประเทศหรือยอมถูกจับ เขาเลือกที่จะตายในทำเนียบแทน

ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารในชิลี นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายมีการเตือนกันถึงภัยที่จะมาจากกองทัพและฝ่ายขวา โดยมีการเขียนสโลแกนบนผนังตึกว่า “อย่าลืมอินโดนีเซีย” ซึ่งเป็นความพยายามที่จะกล่าวถึงการทำรัฐประหารโหดของนายพลซุฮาร์โตในปี 1965 ที่ทำลายรัฐบาลชาตินิยมที่พรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเคยสนับสนุน

ในอินโดนีเซียผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ประกาศในช่วงต้นทศวรรษ 1960 ว่าการต่อสู้ทางชนชั้นต้องมีความสำคัญน้อยกว่าการต่อสู้เพื่อชาติ  ทั้งๆ ที่อินโดนีเซียในช่วงนั้นได้รับเอกราชจากฮอลแลนด์เรียบร้อยไปแล้ว ตันมะละกาอดีตหัวหน้าพรรคเคยเรียกร้องให้ประชาชนสนับสนุนรัฐบาลแนวร่วมที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากทุกชนชั้นและกองทัพ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีซูการ์โน  และพรรคมักจะเน้นความสำคัญของการเสียสละของฝ่ายแรงงานต่อผลประโยชน์ของชาติ ในปี 1957 หลังจากที่กรรมาชีพยึดธุรกิจของฮอลแลนด์มาบริหารเอง พรรคยอมให้กองทัพอินโดนีเซียเข้ามายึดกิจการเหล่านั้นคืนจากสหภาพแรงงาน  และในช่วงปี ค.ศ. 1960-1962 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ยอมสนับสนุนการเคลื่อนไหวของแรงงาน เพราะพรรคทำแนวร่วมสนับสนุนประธานาธิบดีซูการ์โนและไม่อยากสร้างความขัดแย้ง

รัฐประหาร 1965 ในอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและอังกฤษ ทำให้นักเคลื่อนไหวคอมมิสนิสต์ถูกฆ่าตายเกือบ 1 ล้านคน ก่อนหน้านั้นพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซียเคยเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในโลกในหมู่ประเทศที่อยู่ภายนอกเครือข่ายรัสเซีย-จีน และมีสมาชิกถึง 20 ล้านคน มันเป็นบทเรียนราคาแพงจากการประนีประนอมกับฝ่ายทุนและทหาร

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชิลีปี 1973 ไม่ใช่เหตุการณ์เฉพาะของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ใครที่ไม่สนใจประวัติการต่อสู้สากลจะไม่มีวันเข้าใจการเมืองของประเทศตนเอง นอกจากสหรัฐอเมริกามีความต้องการที่จะทำลายแนวสังคมนิยมทั่วโลกแล้ว สถานการณ์ที่นำไปสู่การขึ้นมาของฝ่ายซ้ายในชิลี เป็นส่วนหนึ่งของการลุกฮือของคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นเพื่อพยายามปลดปล่อยตัวเองจากสังคมอนุรักษ์นิยมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อล้ำ ตัวอย่างเช่นการลุกฮือที่ปารีสในปี 1968

ประมาณสองอาทิตย์หลังจากที่รัฐบาล อาเยนเด ถูกทำลายในชิลี นักศึกษาและกรรมาชีพไทยได้ลุกขึ้นทำลายระบบเผด็จการทหารของ ถนอม ประภาส ณรงค์ และหลังจากนั้นเป็นเวลาสามปีก็มีระบบประชาธิปไตยทุนนิยมเกิดขึ้นในไทย มีการขยายตัวของแนวคิดฝ่ายซ้ายและคนที่สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยก็เพิ่มขึ้น มีการนัดหยุดงานและการเคลื่อนไหวของเกษตรกร แต่ในขณะเดียวกัน นายทุนไทยและทหารก็ไม่พอใจในสิทธิเสรีภาพและข้อเรียกร้องต่างๆ ของกรรมาชีพและชาวนาในช่วงนั้น เขาจึงวางแผนทำลายประชาธิปไตยด้วยความเหี้ยมโหดในรัฐประหารวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  เพียงสามปีหลังจากที่นายทุนชิลีทำรัฐประหาร ปัญหาคือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยหันหลังให้กับกรรมาชีพในเมือง เพื่อไปทำสงครามกับรัฐบาลไทยในป่า แทนที่จะปลุกระดมเตรียมตัวให้มีการล้มฝ่ายขวาในกรุงเทพฯ

ทุกวันนี้ในชิลี กาเบรียล บอริก อดีตนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายที่ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2021 ท่ามกลางกระแสการประท้วงของคนหนุ่มสาว กำลังประนีประนอมกับฝ่ายขวาตามสูตรนักปฏิรูป ประชาชนคนจนจำนวนมากกำลังเดือดร้อนแต่รัฐบาลไม่มีข้อเสนออะไรที่เป็นประโยชน์กับเขาเลย บอริก เริ่มประนีประนอมกับฝ่ายนายทุนตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งด้วยซ้ำ เริ่มใส่สูทและตัดผมให้สั้นลง และในการปราศรัยหลังชนะการเลือกตั้ง ก็ประกาศว่าจะเป็นประธานาธิบดีของประชาชน “ทุกคนทุกชนชั้น” ไม่ใช่แค่ของกรรมาชีพ คนจน หรือผู้ถูกกดขี่ นับว่าล้าหลังกว่านโยบายของ อาเยนเด ในอดีต

บทเรียนจากชิลี 50 ปีมาแล้ว คือ

  1. ชนชั้นนายทุนจะไม่มีวันยอมยกผลประโยชน์ให้ชนชั้นกรรมาชีพและเคารพประชาธิปไตย แต่จะใช้ความรุนแรงปกป้องผลประโยชน์ตัวเองตลอด
  2.  การประนีประนอม เรียกร้องให้กรรมาชีพกับคนจนเสียสละ เพียงแต่สร้างความอ่อนแอให้กับฝ่ายเรา โดยที่ไม่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามเลิกคุกคาม
  3. พวกสังคมนิยมปฏิรูป ในที่สุดต้องเลือกระหว่างการปกป้องระบบทุนนิยมกับการเดินหน้าสร้างสังคมใหม่ ในรูปธรรมเขาอาจพร้อมจะใช้กองกำลังของรัฐทุนนิยมสลายการเคลื่อนไหวของกรรมาชีพ
  4.  ทั้ง ชิลี ไทย และ อินโดนีเซีย แสดงถึงความสำคัญของเครือข่ายกรรมาชีพรากหญ้า และพลังของกรรมาชีพที่จะเปลี่ยนสังคมถ้าไม่ถูกหักหลังหรือสั่งให้สยบยอมโดยคนที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายซ้าย”
  5. ชิลีและที่อื่นพิสูจน์ว่าการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ เพื่อเชื่อมโยงการต่อสู้ของกรรมาชีพ มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อพรรคปฏิรูป และพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมา ไม่ยอมนำการต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพ

เพื่อไทยไม่ได้ผูกขาดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับเผด็จการ

เพื่อเป็นการแก้ตัวกับพฤติกรรมฉวยโอกาสทางการเมือง ภูมิธรรม เวชยชัย เสนอว่าพรรคเพื่อไทย “ต้องสลายขั้วเพื่อข้ามพ้นวิกฤต” แต่วิกฤตการเมืองไทยไม่ได้จำกัดอยู่ที่พวกเขาที่อยู่ในรัฐสภาเท่านั้น ความเกลียดชังเผด็จการและการปล้นอำนาจจากประชาชนมันฝังอยู่ในใจประชาชนธรรมดาไม่น้อย โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่

พรรคปฏิวัติสังคมนิยมควรเป็น “ความทรงจำของชนชั้นกรรมาชีพ” เพื่อเข้าใจปัญหาปัจจุบัน ดังนั้นถ้าเราจะเข้าใจเรื่องการแบ่งขั้วและความขัดแย้ง เราต้องย้อนกลับไปดูที่มาของความขัดแย้ง ซึ่งระเบิดขึ้นก่อนและหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ปี๒๕๔๙

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมที่สนับสนุนการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา ที่ล้มรัฐบาลไทยรักไทยของทักษิณ ประกอบไปด้วย ทหาร ข้าราชการชั้นสูง องค์มนตรี นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์  พวกเจ้าพ่อทางการเมือง และพวกนายทุนใหญ่อย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล และนายธนาคารต่างๆ คนชั้นสูงที่มักจะคล้อยตามทหารมาตลอด ก็ไม่ได้คัดค้านด้วย นอกจากนี้พวกเอ็นจีโอ ที่อ่อนหัดทางการเมืองเพราะจงใจปฏิเสธทฤษฎี และโกรธรัฐบาลไทยรักไทยเนื่องจากรัฐบาลแก้ปัญหาบางอย่างให้ประชาชนดีกว่าเอ็นจีโอ ก็สนับสนุนรัฐประหาร

สิ่งที่แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยมนี้ไม่พอใจคือ การขึ้นมาเป็นรัฐบาลของไทยรักไทยได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางการเมือง โดยที่ไทยรักไทยทำสัญญาทางสังคมกับประชาชนว่าจะมีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นรูปธรรม เช่นนโยบาย “สามสิบบาทรักษาทุกโรค” นโยบาย “กองทุนหมู่บ้าน” และนโยบายที่พักหนี้เกษตรกร ซึ่งรัฐบาลไทยรักไทยนำมาทำจริงๆ หลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง เป้าหมายของไทยรักไทยคือการพัฒนาเศรษฐกิจกับสังคมไทยให้ทันสมัย เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยเฉพาะหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ และรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่มองว่าคนจนควรจะเป็น “ผู้ร่วมพัฒนา” โดยไม่มองว่าคนจนเป็น “ภาระ” หรือเป็น “คนโง่” สรุปแล้ว ไทยรักไทย สามารถทำแนวร่วมประชาธิปไตยกับประชาชนส่วนใหญ่ และครองใจประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจน อย่างไรก็ตาม พรรคไทยรักไทย ไม่ใช่พรรคสังคมนิยม เพราะเป็นพรรคของนายทุนใหญ่ และเป็นพรรคที่มองว่าทุนนิยมไทยจะได้ประโยชน์จากการดึงประชาชนส่วนใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นทางเศรษฐกิจ

แนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม เคยชินมานานกับการมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผ่านเครือข่าย “ผู้มีอิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญ” เช่นทหาร องค์มนตรี เจ้าพ่อ และนายทุนใหญ่ หรือผ่านระบบการเลือกตั้งที่ใช้เงินซื้อเสียงอย่างเดียว โดยไม่มีการเสนอนโยบายอะไรเป็นรูปธรรม และไม่มีการให้ความสนใจกับคนจนแต่อย่างใด พวกนี้ไม่พอใจที่ทักษิณและไทยรักไทยมีอำนาจทางการเมืองผ่านสัญญาทางสังคมกับประชาชนส่วนใหญ่

วัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชั้นปกครองไทย คือ “วัฒนธรรมคอกหมู” ที่มีการร่วมกันหรือพลัดกันกินผลประโยชน์ พวกนี้เคยชินกับรัฐบาลพรรคผสมที่อ่อนแอและมีการพลัดเปลี่ยนรัฐมนตรีเพื่อพลัดกันกิน พวกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เช่นทหาร หรือโจรเจ้าพ่อ ก็เคยชินกับการใช้อิทธิพลนอกรัฐธรรมนูญในการร่วมกินด้วย เพราะรัฐบาลอ่อนแอ

ความไม่พอใจของแนวร่วมเผด็จการอนุรักษ์นิยม ที่ก่อตัวขึ้นมาเพื่อทำลายรัฐบาลไทยรักไทย ไม่สามารถคัดค้าน ไทยรักไทย ด้วยวิธีประชาธิปไตยได้ เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นสำเร็จ พวกนี้จะต้องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาที่เสนอประโยชน์กับคนจนมากกว่าที่ไทยรักไทยเคยเสนออีก ดังนั้นเขาจึงหันมาเกลียดชังอำนาจการลงคะแนนเสียงของพลเมืองส่วนใหญ่ และตัดสินใจว่ามีทางเดียวเท่านั้นที่จะจัดการกับรัฐบาลไทยรักไทย คือต้องทำรัฐประหาร และมีการพยายามโกหกว่า “ประชาชนที่เลือกรัฐบาลในการเลือกตั้งเป็นคนโง่ที่ขาดการศึกษา” ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ใช้ร่วมกับสื่อ นักวิชาการและเอ็นจีโอ ในกรณีเอ็นจีโอมีการโกหกว่า “คนจนเข้าไม่ถึงข้อมูล”

เราไม่ควรมองว่าประชาชนรากหญ้าที่เลือก ไทยรักไทย เป็นแค่ผู้รับประโยชน์จากรัฐบาล แต่เราต้องเข้าใจว่าประชาชนเริ่มเคยชินและเข้าใจมากขึ้นว่าเขามีพลังในตัวเขาเองด้วยในการเลือกรัฐบาล ซึ่งความเข้าใจอันนี้นำไปสู่การสร้างขบวนการเสื้อแดง

ในช่วงนั้นทักษิณสามารถดึงคนอย่าง ภูมิธรรม และอดีตสหายพรรคคอมมิวนิสต์คนอื่นหลายคน เข้ามาทำงานให้ไทยรักไทย เพื่อช่วยออกแบบนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจน โดยที่ภูมิธรรมจะมองว่าการต่อสู้ของ พคท. ในอดีตไม่มีประโยชน์ และอวดว่าพวกเขา “ยึดอำนาจรัฐได้แล้ว โดยไม่ต้องกินเผือกกินมัน” อย่างที่นักสู้ในป่าเคยต้องทำ

แนวของ พคท. มีปัญหาจริง เพราะสู้ในชนบท และหันหลังให้เมืองและชนชั้นกรรมาชีพ ตามแนวเผด็จการสตาลิน-เหมา แต่ในที่สุดแนวทางการเมืองของคนอย่างภูมิธรรมก็ไม่ได้นำไปสู่การปลดแอกประชาชน มันดูเหมือนจบลงตอนนี้กับการ “เลียรัฐเผด็จการของทหาร โดยไม่ต้องกินเผือกินมัน” แทน

พวกอดีต พคท. ที่เข้าไปทำงานกับไทยรักไทย และพวกอดีต พคท. ในองค์กรเอ็นจีโอ เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกันคือ ทั้งสองกลุ่มปฏิเสธแนวเดิมของ พคท. แต่ด้วยวิธีที่แตกต่างกัน คนอย่างภูมิธรรมไปจับมือกับนายทุนใหญ่ในพรรคนายทุนเพื่อหวังมีอิทธิพลทางการเมือง ในขณะที่กลุ่มเอ็นจีโอหันหลังกับการท้าทายอำนาจรัฐ ปฏิเสธพรรคการเมืองและทฤษฎี และแปรตัวไปเป็นนักกิจกรรมที่รับทุนมาทำงานกับประชาชน คนอย่างภูมิธรรมจะอ้างว่าเป็นผู้แทนของประชาชนที่ยึดอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง ในขณะที่เอ็นจีโออ้างว่าตัวเองเป็น “ภาคประชาชน” ที่ไม่ใช่รัฐ แต่แนวทางของทั้งสองกลุ่มนำไปสู่ทางตัน

เราต้องไม่ลืมว่ารัฐบาล ไทยรักไทย และนายกทักษิณไม่ได้เป็นเทวดา รัฐบาลนี้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในสงครามปราบยาเสพติด ที่คาดว่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ยังไม่ได้ขึ้นศาล ถูกเจ้าหน้าที่รัฐฆ่าตายเกือบสามพันคน  นอกจากนี้การฆ่าประชาชนมือเปล่าที่ตากใบ และ กรือแซะ ในปาตานี เป็นการก่ออาชญากรรมต่อประชาชนเช่นกัน

การฉวยโอกาสของพรรคการเมืองของทักษิณก็ไม่ได้เริ่มวันนี้ ในอดีตในปี ๒๕๕๐ มีการเชิญสมัคร สุนทรเวช นักการเมืองขวาจัดปฏิกิริยาที่มีบทบาทในเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน (หลังเปลี่ยนชื่อจากไทยรักไทย และก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นพรรคเพื่อไทย) และสมัครก็ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปีต่อไป นอกจากนี้มีการพยายามดึงคนในราชวงศ์มาเล่นการเมืองอีกด้วย

นโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดของ ไทยรักไทย ซึ่งใช้คู่ขนานกับนโยบายที่ใช้งบประมาณรัฐ เช่นการเซ็นสัญญาค้าเสรีที่เพิ่มราคายาสำหรับประชาชน เป็นการทำลายประโยชน์ของระบบสามสิบบาทรักษาทุกโรค และเพิ่มภาระให้รัฐเพื่อผลประโยชน์บริษัทยาข้ามชาติ และการขายรัฐวิสาหกิจให้เอกชน ก็เป็นนโยบายที่ขัดกับประโยชน์คนจนอีกด้วย เพราะเปลี่ยนรัฐวิสาหกิจไปเป็นบริษัทเอกชนที่สนใจแต่กำไรแทนการบริการและพัฒนาสังคม

หลังรัฐประหาร ๒๕๔๙ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เป็นต้นไป ขบวนการเสื้อแดงได้ก่อตัวเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และที่สำคัญคือประกอบไปด้วยประชาชนรากหญ้าที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และส่วนใหญ่มีการนำตนเองผ่านการตั้งกลุ่มในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ  และมีการเรี่ยรายเงินด้วยวิธีต่างๆ จากคนในพื้นที่ และที่น่าสนใจคือมวลชนคนเสื้อแดงประกอบไปด้วยผู้หญิงจำนวนมาก

แน่นอนคนส่วนใหญ่ที่เป็นเสื้อแดงเป็นผู้ที่ชื่นชมนายกทักษิณ แต่ส่วนใหญ่มันไม่ใช่การชื่นชมแบบหลงใหลหรือแบบผู้ได้รับอุปถัมภ์ เขาชื่นชมทักษิณและไทยรักไทย เพราะรัฐบาล ไทยรักไทย เคยให้ประโยชน์หลายอย่างกับประชาชนที่จับต้องได้ และการที่ประชาชนเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายชัดเจนที่เป็นประโยชน์กับตน เป็นหลักการประชาธิปไตยเบื้องต้น ไม่ใช่ “ระบบอุปถัมภ์” อย่างที่สื่อกระแสหลัก หรือสลิ่มชอบโกหก

การที่คนเสื้อแดงจำนวนมากชื่นชมทักษิณ ไม่ได้แปลว่าทักษิณชักใยหรือควบคุมขบวนการเสื้อแดง ไม่ได้แปลว่าเขาเป็นหัวหน้า ทั้งๆ ที่เสื้อแดงอาจได้เงินทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งจากทักษิณ ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่นักวิชาการและนักข่าวที่คิดแบบกลไกไม่สามารถเข้าใจได้ ทักษิณมีความสัมพันธ์กับคนเสื้อแดงในเชิงวิภาษวิธี คือทักษิณมีความสำคัญ แต่ทักษิณไม่ได้คุมขบวนการอย่างเบ็ดเสร็จ และมันมีความไม่พอใจขัดแย้งอื่นกับเผด็จการทหารในระดับล่างอีกด้วย

เราต้องเข้าใจภาพรวม การเปิดศึกกับเผด็จการทหารของเสื้อแดงเป็น “สงครามคู่ขนาน” คือมีความขัดแย้งของพวกนักการเมืองข้างบน และมีความไม่พอใจของประชาชนรากหญ้าธรรมดาที่นักการเมืองเคยถูกดูและถูกมองข้ามมานาน ซึ่งผสมกับความมั่นใจมากขึ้นในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนรากหญ้า

ภูมิธรรมและเพื่อไทยให้ความสนใจกับความขัดแย้งแรก แต่ไม่สนใจความไม่พอใจของประชาชนรากหญ้า หรือเขาหวังว่าตนจะสามารถนำประชาชนส่วนใหญ่ให้ไปก้มหัวกับอำนาจเผด็จการได้ พรรคเพื่อไทยกำลังพยายามเปิดทางเพื่อหมุนนาฬิกากลับไปสู่ยุค “วัฒนธรรมคอกหมู” ในระบบการเมือง และทำหน้าที่เป็น “พรรคนายหน้าของเผด็จการ” มันเป็นการสยบยอมภายใต้อำนาจเผด็จการที่ทหารใช้เวลา 17 ปีในการสร้าง โดยต้องผ่านการเลือกตั้งและรัฐประหารรอบต่างๆ และการทำข้อตกลงกับทักษิณในที่สุด ทักษิณเองก็คงพึงพอใจในการกลับไทยและการได้ทรัพย์สมบัติคืน

พวกเขาจะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับนักเคลื่อนไหว มันไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ประชาชนที่ต้องการเห็นประชาธิปไตยอาจเริ่มท้อ หรืออาจโกรธแค้นมากขึ้นก็ได้ เรานักสังคมนิยมมีหน้าที่ในการชักชวนให้เขามองว่าในรูปธรรมการต่อสู้กับเผด็จการยังเป็นไปได้

สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องชัดเจนคือ สส. และ สมาชิกของพรรคก้าวไกลอาจไม่พอใจที่โดน สว. และเพื่อไทยกีดกัน แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเขาจะนำการต่อสู้ของมวลชนนอกรัฐสภาแต่อย่างใด ถ้าเขามีกิจกรรมนอกรัฐสภาบ้าง เราก็ต้องสนับสนุนในฐานะแนวร่วม แต่เราไม่ควรไปตั้งความหวังอะไรกับพรรคก้าวไกลเลย

เราต้องขยายอิทธิพลของขั้วประชาธิปไตยในหมู่คนหนุ่มสาวและในหมู่กรรมาชีพที่เป็นนักสหภาพแรงงาน เพื่อที่จะสร้างขบวนการเคลื่อนไหวของมวลชน มันคงจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนที่ถูกมองว่าเป็น “ผู้นำ” ได้สยบยอมต่ออำนาจเผด็จการภายใต้คำแก้ตัวไปแล้ว คนจำนวนมากอาจจะสับสน ยอมไปก่อน หรือเบื่อความขัดแย้ง แต่เราต้องชัดเจนว่าปัญหาอำนาจและกติกาเผด็จการไม่ได้หายไปจากสังคมแม้แต่นิดเดียว

อีกปัญหาหนึ่งสำหรับเรา โดยเฉพาะในยุคที่นักสังคมนิยมยังน้อยอยู่ และภาระสำคัญคือการขยายสมาชิกและอิทธิพล คือเราต้องเดินหน้าสร้าง “เตรียมพรรค” ด้วยการปลุกระดม จัดกลุ่มศึกษา และเคลื่อนไหวพร้อมๆ กัน  สิ่งที่ต้องระวังสำหรับกลุ่มเล็กๆคือการพยายามหาทางลัดผ่านการประนีประนอมทางความคิด หรือการหันหลังให้กับการเคลื่อนไหวเพื่ออยู่อย่างสะดวกสบายบริสุทธิ์ในหอคอยงาช้าง

รัฐสภาคือกับดัก มวลชนนอกสภาคือคำตอบ

ในช่วงนี้มีคนตั้งคำถามว่า “เลือกตั้งไปทำไม?” หลังจากที่เห็น สว. กีดกันมติประชาชน คำตอบสั้นๆ คือเผด็จการทหารหลังก่อรัฐประหารในปี ๒๕๕๗ จำเป็นต้องสร้างภาพว่าประเทศมีประชาธิปไตยเพื่อลดการต่อต้านจากประชาชน แต่เขาออกแบบระบบดังกล่าวเพื่อจำกัดเสียงประชาชนมาตั้งแต่แรก

องค์กร iLaw (ไอ ลอว์) อธิบายว่า “ตลอดระยะเวลามากกว่าสามปีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ามาบริหารประเทศ (หลังรัฐประหาร) คสช.ได้สร้างกลไกทางการเมืองต่างๆ เพื่อเข้ามาทำหน้าที่วางแผนขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่คสช.เห็นว่าจะไม่ทำให้ประเทศไทยกลับไปล้มเหลวแบบเดิม” โดยที่ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” ประกอบไปด้วยทหารที่ร่วมก่อรัฐประหาร พวกนี้อ้างว่าอยากจะ “ปรองดอง” แต่แท้จริงคืออยากจะนำแนวคิดของทหารอนุรักษ์นิยมมาครอบสังคมไทย นอกจากนี้ คสช. พูดถึง “ความล้มเหลวแบบเดิม” แต่นั้นก็เป็นแค่การให้ความชอบธรรมกับตนเองในการทำลายระบบประชาธิปไตยผ่านรัฐประหาร ผลพวงสำคัญที่เราเห็นทุกวันนี้คือระบบสว.แต่งตั้งที่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีและออกเสียงในเรื่องอื่นๆ กับรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างเอง

มันไม่มีอะไรลึกลับ ไม่มีอะไรที่พูดถึงไม่ได้ ใครที่สนใจการเมืองจริงๆ และไม่แกล้งลืมอดีตเพื่อตั้งความหวังลมๆ แล้งๆ กับการเลือกตั้งที่ผ่านมา จะเห็นว่าทหารคือศัตรูหลักของประชาธิปไตย

สำหรับฝ่ายเรา การที่มวลชนคนหนุ่มสาวฝากความหวังไว้กับพรรคอนาคตใหม่แทนที่จะขยายพลังมวลชนนอกรัฐสภา ถูกพิสูจน์โดยประวัติศาสตร์ไปแล้วว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาด ที่ผู้เขียนฟันธงแบบนี้ ไม่ได้เป็นการดูถูกปัญญาของมวลชน และไม่ได้เป็นการโอ้อวดว่าผู้เขียนไม่เคยตัดสินใจผิด ทุกคนต้องพัฒนาตนเองผ่านการลองผิดลองถูก แต่ที่สำคัญคือเราเรียนบทเรียนจากความผิดพลาดของขบวนการทั้งในไทยและในต่างประเทศหรือไม่

ย้อนกลับไปดูการต่อสู้ของมวลชนคนหนุ่มสาวที่มีจุดสูงสุดในปี ๒๕๖๓ เราคงจำได้ว่ามีมวลชนออกมาต่อต้านเผด็จการทหารในกรุงเทพฯและเมืองอื่นเป็นแสน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่กระแสมวลชนนี้อ่อนตัวลงและถูกเบี่ยงเบนไปสู่การตั้งความหวังกับพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยในระบบรัฐสภา ทั้งๆ ที่ทหารเผด็จการเป็นผู้ออกแบบระบบรัฐสภาปัจจุบันเพื่อไม่ให้เรามีประชาธิปไตยเสรี

แน่นอนการออกมาสู้บนท้องถนนซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยไม่มียุทธศาสตร์ในการขยายและเพิ่มพลัง นำไปสู่ความหดหู่และการเสียกำลังใจของนักต่อสู้ไม่น้อย ตอนแรกมีความพยายามที่จะใช้รูปแบบการชุมนุมที่สร้างสรรค์ เช่นการใช้เป็ดพลาสติกเป็นต้น แต่มันไม่ได้เพิ่มพลังของการประท้วง ความท้อแท้ก็เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีการจับแกนนำและยัดข้อหา 112  ต่อมามีการประท้วงแบบปัจเจกที่เกิดจากการที่คนมองทางออกในการต่อสู้ไม่ออก ดังนั้นการหันไปพึ่งพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยในรัฐสภาเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่เราต้องวิจารณ์ด้วยจิตใจสมานฉันท์

การที่นักเคลื่อนไหวหันไปพึ่งพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล เป็นอาการที่มาจากความอ่อนแอในการนำมวลชน เราเห็นได้ชัดถ้ากลับไปศึกษาการต่อต้านเผด็จการประยุทธ์ ในช่วงแรกมีการเน้นนักศึกษากลุ่มเล็กๆ ที่ออกมาประท้วงและอ้างความเป็นอิสระ ตัวอย่างของคนหนึ่งที่เคลื่อนไหวแบบนี้คือ รังสิมันต์ โรม ที่ปัจจุบันเป็นสส.พรรคก้าวไกล ต่อมามีการรวมกลุ่มเพื่อจัดการชุมนุมที่ใหญ่ขึ้น แต่ไม่มีการสร้างเครือข่ายแกนนำที่มาจากการเลือกตั้งของมวลชน แกนนำจึงถูกตรวจสอบไม่ได้และเปลี่ยนไม่ได้ ไม่มีการประชุมแบบ “สภาประชาชน” เพื่อถกแนวทาง มีการมองแบบเพ้อฝันว่าพลังคนหนุ่มสาวเป็น “พลังบริสุทธ์” ไม่เหมือนขบวนการเสื้อแดงก่อนหน้านั้น ผลคือไม่มีการตั้งใจขยายมวลชนไปสู่กลุ่มอื่นๆ ในสังคม เช่นคนเสื้อแดง และที่สำคัญที่สุดไม่มีการขยายมวลชนไปสู่ขบวนการแรงงาน คนที่อายุมากกว่าคนหนุ่มสาวจำนวนมากเลยมีแนวโน้มที่จะมองว่ามันเป็นการต่อสู้ของ “เขา” ไม่ใช่การต่อสู้ของ “เราทุกคน” แน่นอนมีคนในวัยทำงานจำนวนมากที่สนับสนุนคนหนุ่มสาว แต่การสนับสนุนกับการเข้าร่วมมันต่างกัน และเมื่อแกนนำคนหนุ่มสาวเริ่มถูกจับเข้าคุก หลายคนก็สงสาร แต่ก็ไม่มีการจัดการประท้วงที่มีพลังโดยคนในวัยทำงาน

สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปจากการประท้วงของมวลชน คือการเสนอแนวทางโดยพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ ทีเขียนแบบนี้ไม่ใช่ว่าจะอวดว่าพวกเรา “รู้หมด” หรือมี “แนวทางที่ถูกต้องเสมอ” แต่อย่างน้อยถ้าพรรคสังคมนิยมปฏิวัติมีสมาชิกเพียงพอที่จะเข้าไปร่วมอยู่ใจกลางของการประท้วง ร่วมนำ ร่วมถกเถียง เราจะสามารถนำบทเรียนที่เราจดจำไว้จากไทยและที่อื่นมาเสนออย่างเป็นระบบได้ แทนที่การนำจะเป็นแค่ความเห็นปัจเจกอย่างกระจัดกระจาย สิ่งที่เราคงเสนอตอนนั้นคือความสำคัญของการขยายพลังมวลชน โดยเฉพาะการปลุกระดมขบวนการแรงงานในสหภาพแรงงานต่างๆ ให้ออกมาประท้วงร่วมกับมวลชนบนท้องถนน และเมื่อกรรมาชีพออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับมวลชนอื่น ก็จะเริ่มมีการสร้างความมั่นใจที่จะนัดหยุดงานในเรื่องประเด็นการเมืองได้

การนัดหยุดงานเป็นพลังสำคัญ เพราะมีผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจ แต่ต้องมีการค่อยๆ สร้างกระแสและความมั่นใจ

อย่างไรก็ตามในขบวนการแรงงานไทย นักจัดตั้งส่วนใหญ่เน้นแต่เรื่องปากท้องผ่านความคิดแบบ “ลัทธิสหภาพ” จึงไม่มีการจัดตั้งแนวสังคมนิยมที่เน้นความคิดในเรื่องการเมืองภาพกว้างควบคู่กับเรื่องปากท้อง และไม่มีการเน้นความสำคัญของแกนนำรากหญ้าที่จะนำตนเองอีกด้วย

ปัญหาของการที่พรรคสังคมนิยมปฏิวัติเล็กเกินไปที่จะลงไปปลุกระดมในขบวนการสหภาพแรงงาน ทำให้ขบวนการแรงงานไม่มีความสัมพันธ์กับมวลชนคนหนุ่มสาว เราเห็นชัดในสองตัวอย่างที่จะยกมาคือ หนึ่งนักสหภาพแรงงานที่เป็นนักสู้จำนวนหนึ่งไปฝากความหวังกับพรรคก้าวไกลสายแรงงาน โดยที่ไม่ข้ามพ้นแนวคิดลัทธิสหภาพ คือมองว่าพรรคอย่างก้าวไกลในรัฐสภาจะ “ช่วย” กรรมาชีพในเรื่องปากท้อง ไม่มีการปลุกระดมเรื่องการเมืองโดยทั่วไปเลย

ตัวอย่างที่สองคือคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งไปใช้แนวคิดอนาธิปไตยเพื่อจัดตั้ง “สหภาพแรงงานคนทำงาน” โดยคิดว่าจะเป็นทางลัดไปสู่การนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อข้อเรียกร้องทางการเมือง แต่ทางลัดนี้กลายเป็นทางตัน การที่บางคนในสหภาพนี้ประกาศเรียกร้องให้มีการนัดหยุดงานทั่วไปในโซเชียลมีเดีย หลังจากที่สว.ไม่ทำตามมติเสียงประชาชน โดยที่คนเหล่านั้นไม่มีการวางแผนสร้างพลังใดๆ เพื่อให้การนัดหยุดงานทั่วไปเกิดได้จริง เป็นตัวอย่างของแนวทางที่นำไปสู่ทางตัน

บางคนอาจรู้สึกขำ เวลาพวกเรากล่าวถึงพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ และเขาอาจมองอย่างผิดๆ ว่าพวกเราคลั่งเรื่องการปฏิวัติในลักษณะนามธรรมแบบไร้เดียงสา แต่ โรซา ลัคแซมเบอร์ค นักปฏิวัติสังคมนิยมเยอรมัน เคยกล่าวไว้ในบทความ “ปฏิรูปหรือปฏิวัติ” ว่าเราชาวปฏิวัติ จะต้องเป็นนักปฏิรูปที่ขยันที่สุด คือเราจะไม่หันหลังให้กับการต่อสู้ประจำวันเลย

ประเทศไทยอาจไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปฏิวัติตอนนี้ แต่ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของนักปฏิวัติฝ่ายซ้ายในการเคลื่อนไหวทุกวัน จะแตกต่างและมีพลังมากกว่าวิธีของพวกปฏิรูปเสมอ

ยุทธวิธีของนักปฏิวัติมักจะตั้งคำถามกับประชาชนว่า “รัฐบาล” กับ “รัฐ” ต่างกันอย่างไร เพราะแนวคิดปฏิรูปเป็นการเสนอให้เปลี่ยนรูปแบบรัฐบาล โดยคงไว้รัฐเดิม แต่รัฐมันมากกว่าแค่รัฐบาล ในระบบทุนนิยมมันเป็นอำนาจที่กดทับชนชั้นกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจน เพื่อประโยชน์ของชนชั้นนายทุน รัฐมีอำนาจในเวทีนอกรัฐสภาผ่านตำรวจ ทหาร ศาลและคุก นายทุนใหญ่มีอิทธิพลกับรัฐนี้และในสื่อมวลชน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นปกครอง ทหารชั้นผู้ใหญ่ก็เป็นด้วย

รัฐบาลเพียงแต่เป็นคณะกรรมการบริหารที่ต้องปกครองในกรอบที่วางไว้โดยชนชั้นปกครอง การเลือกตั้งในรัฐสภาทุนนิยมดีกว่าเผด็จการทหารเพราะมีพื้นที่เสรีภาพมากกว่า แต่การเลือกตั้งในระบบรัฐสภาไม่อาจทำให้คนชั้นล่างเป็นใหญ่ในสังคมได้ และชนชั้นปกครองจะกีดกันมติประชาชนด้วยวิธีต่างๆ เสมอ ถ้าเขาคิดว่ามันท้าทายผลประโยชน์ของเขา มันมีตัวอย่างมากมายจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือที่อื่น

นักการเมืองที่เน้นรัฐสภามักจะวิ่งตามเสียงประชาชน แทนที่จะเป็นนักปลุกระดมให้ประชาชนเปลี่ยนความคิด และแรงดึงดูดจากระบบรัฐสภามักจะนำไปสู่ความคิดแบบฉวยโอกาสที่ทอดทิ้งอุดมการณ์ภายใต้คำขวัญว่า “อุดมการณ์กินไม่ได้”

แนวคิดปฏิวัติในการสู้กับเผด็จการทหาร จะเน้นมวลชนบนท้องถนนและพลังการนัดหยุดงาน แต่แนวปฏิรูปจะชวนให้ประชาชนไปยื่นหนังสือกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยในรัฐสภา และจะมองว่าการนัดหยุดงานเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองเป็นเรื่อง “ผิด” หรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ และเราจะเห็นว่าพรรคปฏิรูปอย่างพรรคก้าวไกลหรือเพื่อไทย จะไม่ปลุกระดมให้มวลชนลงถนนหรือนัดหยุดงาน แต่จะนั่งคิดกันในวงประชุมว่าจะใช้กลไกของรัฐสภาอย่างไรเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้าม ซึ่งแปลว่าจะมีการพิจารณาว่าควรจะประนีประนอมในส่วนไหนด้วย

ที่สำคัญคือ ระบบรัฐสภาทุนนิยมอย่างในไทยหรือในตะวันตก เป็นพื้นที่อำนาจของชนชั้นปกครองและเป็นพื้นที่ที่กรรมาชีพหรือคนธรรมดามีอำนาจน้อย ระบบรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง ศาล ฯลฯ คอยควบคุมให้คนที่ถูกส่งเข้าสภาต้องน้อมรับกติกาของเขา แค่ดูเรื่องเล็กอย่างการแต่งกายในรัฐสภาไทยก็เห็นชัด สส. เข้าสภาไม่ได้ถ้าไม่ใส่สูท ซึ่งไม่ใช่การแต่งกายปกติประจำวันของประชาชนธรรมดาในเมืองร้อนแบบไทย

ปัญหาของการเน้นรัฐสภายิ่งเป็นเรื่องใหญ่มากขึ้นเมื่อมีการออกแบบระบบรัฐสภาที่ขาดกลไกประชาธิปไตยอย่างในไทยตอนนี้

โรซา ลัคแซมเบอร์ค เคยตั้งข้อสังเกตว่า มีคนจำนวนมากที่คิดว่าการปฏิรูปเป็นการพยายามเปลี่ยนสังคมที่ใช้วิธีสันติ และการปฏิวัติคือ “ความรุนแรง” แต่เส้นทางการปฏิรูปกับเส้นทางปฏิวัติ เป็นถนนคนละสายที่นำไปสู่สังคมที่แตกต่างกัน การปฏิรูปจะเน้นการรักษาระบบและเปลี่ยนแปลงอะไรเล็กๆน้อยๆ ส่วนการปฏิวัติเป็นการพลิกสังคมและขั้วอำนาจ แค่ตัวอย่างของแนวคิดต่างๆ ว่าด้วยการแก้ปัญหากฎหมาย 112 ก็ทำให้เห็นชัด

สำหรับปัญหาเฉพาะหน้าในไทยตอนนี้ เราชาวสังคมนิยมต้องสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยในการเผชิญหน้ากับเผด็จการ ไม่ว่าจะในหรือนอกรัฐสภา เราต้องสมานฉันท์กับฝ่ายประชาธิปไตยกลุ่มต่างๆ เสมอ แต่ในขณะเดียวกันเราต้องไม่กลัวที่จะเสนอยุทธวิธีปฏิวัติ ที่เน้นพลังมวลชนบนท้องถนนและพลังการนัดหยุดงาน โดยค่อยๆ อธิบายขั้นตอนการเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมกันนั้นเราต้องพยายามสร้างองค์กรสังคมนิยมของเราให้โตขึ้น

ใจ อึ๊งภากรณ์

เดินหน้ารื้อถอนโครงสร้างเผด็จการ

[ แถลงการณ์ องค์กรสังคมนิยมแรงงาน ]

เดินหน้ารื้อถอนโครงสร้างเผด็จการ

ฉันทามติของประชาชน ๒๕ ล้านเสียง กำลังจะถูกทำลายด้วยอำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ถูกสร้างขึ้นโดยคณะรัฐหารปี ๒๕๕๗ ท่ามกลางบรรยากาศที่ห่างไกลจากการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี มันเป็นเพียงเครื่องมือซักฟอกให้กับชนชั้นปกครองให้สามารถสืบทอดอำนาจเผด็จการบนผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนต่อไป

การเลือกตั้งที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะเลือกตั้งท่วมท้นด้วยคะแนนสูงถึง ๖๔% ของผู้มาใช้สิทธิ์ แต่กลับไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้โดยง่าย มันได้พิสูจน์ให้เห็นธาตุแท้ของโครงสร้างอำนาจรัฐที่อยู่นอกเหนืออำนาจประชาชน ทั้งที่แฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญที่ถูกสร้างขึ้นด้วยอำนาจเผด็จการ ทั้งที่เกาะกุมนอกรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะ ส.ว. องค์กรอิสระ กองกำลังติดอาวุธ กลุ่มทุนขนาดใหญ่

ด้วยเหตุนี้ ได้แสดงให้ประชาชนเห็นว่าการเดินเข้าคู่หาเลือกตั้งไม่เพียงพอที่จะก่อร่างสร้างสังคมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิ์เสียงของประชาชนได้ ประชาชนจำเป็นต้องออกเดินทางกันอีกครั้ง “บนท้องถนน” เพื่อทำลายโครงสร้างเผด็จการดังกล่าว ถึงจะนำพาไปสู่การปฏิรูปได้อย่างแท้จริง ซึ่งปรากฎแล้วในอดีตที่ผ่านมา เช่น เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕

ขบวนการประชาชนต้องรุกไปข้างหน้ากดดันพรรคการเมืองทุกพรรค เฉพาะหน้าต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเพิ่มอำนาจประชาชนให้มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง ยกเลิกองค์กรอิสระที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ยกเลิกวุฒิสภา ยกเลิกนายกรัฐมนตรีที่ไม่ผ่านการเลือกตั้ง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมนำระบบลูกขุนมาใช้ในการพิจารณาคดี เก็บภาษีคนรวยเพิ่ม สร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ทั่วถึง เท่าเทียม ฯลฯ

นอกจากนั้นต้องยกเลิกกฎหมายมาตรา ๑๑๒ ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองโจมตี ปราบปราม ฝ่ายประชาธิปไตย ต้องปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข นำตัวทหารนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหารและเข่นฆ่าประชาชนมาลงโทษ

เรื่องเหล่านี้ไม่สามารถกระทำผ่านรัฐสภาภายใต้โครงสร้างอำนาจรัฐเผด็จการได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยการสนับสนุนจากพลังมวลชนมหาศาล โดยเฉพาะบทบาทของขบวนการกรรมาชีพ ที่มีอำนาจแฝงที่มีพลังในระบบทุนนิยมคือ “การนัดหยุดงานทั่วไป”

สังคมใหม่ที่เป็นไปได้

๑๒ ก.ค. ๖๖

ก้าวไกลยึดอำนาจรัฐหรือแค่ชนะเลือกตั้ง?

หลังจากที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงในการเลือกตั้งมากกว่าพรรคอื่นๆ และมีสส.ที่มาจากการเลือกตั้งมากที่สุด ถ้าสามารถฝ่าอุปสรรคของมรดกเผด็จการ คือสว.แต่งตั้ง บางคนอาจคิดว่าก้าวไกลสามารถยึดอำนาจรัฐได้แล้ว แต่นั้นคือแค่ความฝัน

ทักษิณ ชินวัตร

ในอดีตเมื่อพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี ๔๐ อดีตฝ่ายซ้ายที่เคยเข้าป่ากับพรรคคอมมิวนิสต์และต่อมาเข้าไปในพรรคไทยรักไทยภายหลังป่าแตก จะพูดว่าเขาสามารถ “ยึดอำนาจรัฐได้ โดยไม่ต้องกินเผือกกินมัน” ซึ่งหมายความว่าพรรคไทยรักไทยยึดอำนาจรัฐผ่านการครองใจประชาชนและชนะการเลือกตั้ง แทนที่จะต้องเข้าป่าไปกินเผือกกินมันในกองทัพปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่การล้มรัฐบาลไทยรักไทย และรัฐบาลเพื่อไทยผ่านการทำรัฐประหารพิสูจน์ว่าเรื่องนี้ซับซ้อนมากกว่าที่พวกนั้นคิด

หลังชัยชนะของพรรคก้าวไกล คงจะมีคนไม่น้อยที่มองว่าพวกเราชาวมาร์คซิสต์ หรือที่เขาด่าว่าพวก “ซ้ายสุดโต่ง” มัวแต่ย่ำอยู่กับที่ในขณะที่ยึดอำนาจรัฐไม่ได้ แล้วมาวิจารณ์ความสำเร็จของพรรคก้าวไกล

บทความนี้เขียนก่อนที่จะมีการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีหรือการตั้งรัฐบาล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่า พิธา จะได้เป็นนายยกหรือไม่ พรรคก้าวไกลไม่ได้ยึดอำนาจรัฐ

ถ้าสว.ปิดกั้นสิทธิของ พิธา ที่จะเป็นนายกมันอาจทำให้บางคนเข้าใจอำนาจรัฐชัดขึ้น แต่คนที่ยังตั้งความหวังกับระบบรัฐสภาจะมองว่าถ้ารัฐบาลใหม่สามารถยกเลิกอำนาจของสว.ในอนาคต มันจะเปิดทางให้พรรคฝ่ายประชาธิปไตยยึดอำนาจรัฐได้

ถ้าเราศึกษาหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” ของ เลนิน และ “สงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส” ของมาร์คซ์ เราจะเข้าใจว่า ในทุกสังคมของทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการทหาร และไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ยุโรปตะวันตก หรือไทย มันมีชนชั้นปกครองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งดำรงอยู่ ซึ่งดูเหมือนขัดกับหลักประชาธิปไตย ดังนั้นแค่การเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น หรือการเลือกพรรคที่ก้าวหน้าหรือพรรคที่ใช้แนวสังคมนิยมเข้ามาคุมรัฐสภา จะไม่นำไปสู่สังคมใหม่แห่งเสรีภาพแต่อย่างใด และการปฏิรูปสังคม ไม่ว่าจะดีและเป็นประโยชน์แค่ไหน ไม่สามารถเปลี่ยนอำนาจรัฐภายใต้ทุนนิยมได้

เลนิน กล่าวถึงงานของ มาร์คซ์ และ เองเกิลส์ ซึ่งเป็นนักมาร์คซิสต์ “รุ่นครู” ของเขา   เพื่อชี้ให้เห็นว่า “รัฐ” มันมากกว่าแค่ “รัฐบาล” เพราะรัฐประกอบไปด้วย “อำนาจพิเศษสาธารณะ” ซึ่งอาศัยวิธีควบคุมสังคมสองวิธีคือ (1) อาศัยกองกำลังและการปราบปรามอย่างรุนแรง ซึ่ง เองเกิลส์ และ เลนิน เรียกว่า “องค์กรพิเศษของคนติดอาวุธ” นั้นคือ ทหาร ตำรวจ ศาล และคุก (2) อาศัยการสร้างระเบียบและความชอบธรรมกับการปกครองของรัฐ เพื่อให้ผู้ถูกปกครองยอมรับอำนาจเผด็จการของรัฐ และวิธีที่สำคัญคือการวางตัวของรัฐให้ห่างเหินแปลกแยกจากสังคม เพื่อให้ดูเหมือน “ลอยอยู่เหนือสังคมและเป็นกลาง” ในขณะที่คุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบ เพราะถ้ารัฐไม่สร้างภาพแบบนี้มาปิดบังความจริงที่รัฐเป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองฝ่ายเดียว ประชาชนจะไม่ให้ความจงรักภัคดี การควบคุมสถาบันต่างๆ ด้วยอำนาจเงียบดังกล่าว กระทำผ่านการพยายามผูกขาดแนวคิดในโรงเรียน ศาสนา และสื่อ จนเราอาจไม่รู้ตัวว่าเราถูกควบคุมกล่อมเกลาทางความคิด

รัฐจะส่งเสริมให้มีการออกกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้กับชนชั้นปกครอง โดยมีศาลคอยสนับสนุน และในสถานที่ทำงานทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือภาครัฐ มันมีเผด็จการของนายทุนกับผู้บริหาร แถมสื่อมวลชนหลักมักจะสะท้อนจุดยืนของชนชั้นปกครอง เพราะนายทุนมีอิทธิพลครอบงำสื่อ และทุกอย่างถูกทำให้ดูเหมือนเป็น “ธรรมชาติ”

รัฐทุนนิยมมีไว้เพื่อกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกร โดยยึดผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนเป็นหลัก ตรงนี้เราไม่ควรสับสนว่า “ชนชั้นนายทุน” คือแค่นักธุรกิจเท่านั้น เพราะชนชั้นนายทุนประกอบไปด้วยนายทหารชั้นสูง ข้าราชการชั้นสูง นักการเมืองระดับรัฐมนตรี ชนชั้นนำ และนายทุนเอกชน เขาคือชนชั้นปกครอง และ “รัฐ” เป็นเครื่องมือของเขา ไม่ว่าเราจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่

บ่อยครั้งในระบบประชาธิปไตยทุนนิยม อำนาจเหนือประชาธิปไตยของชนชั้นปกครองถูกใช้อย่างเนียนๆ เพื่อปกปิดความเป็นเผด็จการของทุนนิยม เช่นการที่ศาลออกมาตัดสินว่านโยบายก้าวหน้าของบางรัฐบาลขัดกับรัฐธรรมนูญ หรือการที่กลุ่มทุนใหญ่ใช้อำนาจเผด็จการในการถอนทุนเมื่อไม่พอใจนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล มันมีการสร้างความชอบธรรมกับสิ่งเหล่านี้

เองเกิลส์ อธิบายว่ารัฐไหนสร้างภาพหลอกลวงว่าเป็นกลางได้ดีที่สุด รัฐนั้นสามารถควบคุมประชาชนได้อย่างแนบเนียน ตัวอย่างที่ดีคือการอ้างว่าศาลในประเทศตะวันตกเป็นองค์กร “อิสระ” แต่ในความเป็นจริงมันแค่อิสระจากการตรวจสอบควบคุมของประชาชนเท่านั้น แถมมีกฎหมายหมิ่นศาลอีกด้วย นักวิชาการที่รับใช้ชนชั้นปกครอง มักเสนอตลอดว่า “รัฐเป็นกลาง” ไม่เข้าข้างใคร และด่าแนวมาร์คซิสต์ว่า “ตกยุค”

ในอดีตและปัจจุบันรัฐไทยเผยธาตุแท้ว่าเป็นรัฐเผด็จการและเป็นศัตรูของประชาชน แต่ในขณะเดียวกันมักจะมีความพยายามที่จะสร้างภาพว่ารัฐไทยเป็นกลางได้ถ้าแค่ปฏิรูปความผิดปกติบางอย่างเท่านั้น

ในโลกจริงมันมีประเทศไหนในระบบทุนนิยม ที่ผู้บริหารทุนใหญ่ทุกคนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือลูกจ้างในบริษัท? มันมีที่ไหนที่นายพลในกองทัพมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือพลทหารธรรมดา? มันมีที่ไหนที่ประชาชนธรรมดาสามารถมีส่วนร่วมเต็มที่ในการพิพากษาคดีต่างๆ? มันมีที่ไหนที่มีกฎหมายซึ่งทำลายความเหลื่อมล้ำผ่านการจ่ายเงินเดือนให้ทุกคนในอัตราเท่ากัน? มันมีที่ไหนที่มีกฎหมายที่ระบุว่านายทุนไม่มีความชอบธรรมในการกอบโกยกำไรบนสันหลังคนทำงาน?

การเข้าใจรัฐสำคัญมากต่อประเด็นว่าทำไมเราไม่สามารถสร้างสังคมนิยมผ่านรัฐสภาทุนนิยมได้ แต่สำหรับกรณีพรรคไทยรักไทย/พรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคเสรีนิยมของชนชั้นนายทุน แค่การปฏิรูปสังคมภายใต้กติกาของรัฐทุนนิยมก็จะทำได้ยากเมื่อซีกหนึ่งของชนชั้นปกครองต้องการจะสร้างอุปสรรค เพราะอำนาจรัฐไม่ได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาเลย มันมาจากอำนาจเงียบนอกรัฐสภาอย่างเช่นอำนาจผู้นำกองทัพ นายทุนใหญ่ หรือข้าราชการ

บ่อยครั้งเวลาพรรคการเมืองที่ต้องการปฏิรูปสังคม ลงสมัครรับเลือกตั้ง มักจะมีการประนีประนอมกับกติกาของรัฐและส่วนของชนชั้นปกครองซีกอนุรักษ์นิยม โดยมีการอ้างว่าเป็นการใช้ “การเมืองในโลกจริง” พูดง่ายๆ มันเป็นการปรับตัวให้เข้ากับรัฐ แทนที่จะยึดอำนาจรัฐ และในที่สุดมันจบลงด้วยการยอมรับว่ามันมีขอบเขตในการปฏิรูปสังคมที่รัฐบาลไม่สามารถก้าวข้ามได้ ตัวอย่างที่ดีคือการยกเลิกกฎหมาย 112

การปฏิรูปรัฐ จึงไม่ใช่แค่การผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้มีการยอมรับผลของการเลือกตั้งเท่านั้น การกำจัดอำนาจเผด็จการของรัฐทุนนิยมต้องอาศัยการปฏิวัติรัฐเก่าในทุกแง่ เพื่อสร้างรัฐใหม่ของประชาชนผู้ทำงาน หรือที่เรียกว่า “รัฐกรรมาชีพ” ซึ่ง มาร์คซ์ เคยอธิบายว่าองค์ประกอบของรัฐเก่านั้นมันไม่หายไปง่ายๆ เพราะมันเป็น “งูเหลือมที่รัดสังคมไว้อย่างแน่นแฟ้น” ต้องใช้ “ไม้กวาดแห่งการปฏิวัติ” ถึงจะแกะมันออกได้ และต้องสร้างรัฐใหม่ที่มีองค์ประกอบใหม่ขึ้นมาแทน

อำนาจที่จะปฏิวัติรัฐเก่าจะมาจากไหน? แน่นอนประชาชนที่ไปหย่อนบัตรเลือกตั้งในลักษณะปัจเจกไม่มีอำนาจพอ สส.ในรัฐสภาที่ยกมือสนับสนุนนโยบายต่างๆ ก็มีอำนาจไม่พอ ดังนั้นการสร้างรัฐใหม่จึงต้องอาศัยพลังมวลชน นี่คือสาเหตุที่รัฐกรรมาชีพในอดีต สมัยคอมมูนปารีส หรือการปฏิวัติรัสเซีย หรือการพยายามปฏิวัติในอิหร่านหรือซูดาน ล้วนแต่อาศัยสถาบันการเมืองแบบใหม่ที่เน้นมวลชน เช่นสภาคนงานหรือสภามวลชนชั้นล่าง อำนาจของมวลชนแบบนี้สามารถผลักดันนโยบายก้าวหน้าให้เกิดขึ้นจริงได้ ตัวอย่างเช่นการยกเลิกกรรมสิทธิ์ของนายทุนหรือเจ้าของที่ดินรายใหญ่ การยกเลิกหนี้สิน การยกเลิกค่าเช่าบ้าน การยกเลิกนายจ้าง การสร้างความเท่าเทียมอย่างเต็มที่ระหว่างเพศ หรือการสร้างกองกำลังของประชาชนแทนกองทัพเดิมฯลฯ

และสำหรับพรรคก้าวไกล ถ้าจะสามารถปฏิรูปสังคมไทยในหลายๆ แง่ที่ผู้สนับสนุนต้องการ ก็ต้องมีการอาศัยพลังมวลชนและองค์กรของมวลชนระดับรากหญ้าอีกด้วย เพื่อคานอำนาจเงียบของรัฐไทย

ใจอึ๊งภากรณ์

มาร์คซิสต์กับการเลือกตั้งในไทย

สังคมนิยมที่ไม่มีการเลือกตั้งเสรีเป็นสังคมนิยมจอมปลอม ตัวอย่างที่ดีคือเผด็จการแนวสตาลิน-เหมาในรัสเซียสมัยก่อนหรือในจีนทุกวันนี้ แต่การเลือกตั้งในระบบทุนนิยมไม่ได้เป็นการเลือกตั้งเสรีจริง เพราะชนชั้นนายทุนสามารถคุมรัฐและเศรษฐกิจได้ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง การเลือกตั้งในระบบทุนนิยมไม่เคยทำให้กรรมาชีพประชาชนชั้นล่างเป็นใหญ่ในแผ่นดินได้ เพราะถ้าพรรคการเมืองของแรงงานชนะการเลือกตั้งได้ ชนชั้นนายทุนสามารถกดดันและทำลายรัฐบาลนั้นผ่านกลไกเผด็จการได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ อิทธิพลผ่านสื่อนายทุน หรือการใช้เครื่องมือเผด็จการของรัฐเช่นทหารตำรวจหรือศาล อาวุธเหล่านี้ใช้ในการคัดค้านนโยบายก้าวหน้าของรัฐบาลได้ และสิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นประจำใน“ประชาธิปไตยเสรีนิยม”ของประเทศตะวันตก ตัวอย่างเช่นรัฐบาลไซรีซาในกรีสที่โดนบังคับให้ยอมจำนนต่อนโนยบายรัดเข็มขัดของอียู ทั้งๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและแสดงจุดยืนผ่านประชามติ อีกตัวอย่างหนึ่งคือการทำลายผู้นำพรรคแรงงานฝ่ายซ้าย เจเรมี คอร์บิน ในอังกฤษก่อนที่จะสามารถชนะการเลือกตั้งได้

การเลือกตั้งในไทยที่ใช้กติกาของทหารเผด็จการ และรัฐธรรมนูญเผด็จการ ก็ยิ่งไม่ใช่การเลือกตั้งเสรีเลย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของ สว.ที่แต่งตั้งโดยทหารหรือระบบเลือกตั้งที่ถูกออกแบบเพื่อให้ประโยชน์กับพรรคทหาร

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้จริงได้ สิ่งที่พิสูจน์เรื่องนี้คือการที่จะไม่มีการยกเลิกกฎหมาย 112 ไม่ว่าพรรคกระแสหลักพรรคไหนชนะการเลือกตั้ง กฏหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตย ไม่ใช่เพราะเราอยู่ใน “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” อย่างที่บางคนเชื่อ กฏหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตยเพราะทหารและฝ่ายปฏิกิริยาใช้กฎหมายนี้เพื่อโจมตีใครที่อยากจะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น โดยใช้ข้ออ้างเท็จว่าข้อเสนอของฝ่ายก้าวหน้า “ผิด” กฎหมาย อีกสาเหตุหนึ่งที่กฎหมาย 112 มีบทบาทในการปิดกั้นประชาธิปไตย คือการที่กฎหมายนี้สร้างมาตรฐานว่าประชาชนไม่มีสิทธิ์ในการตรวจสอบบุคคลสาธารณะ นอกจากนี้มันนำไปสู่การตีความกฎหมายหมิ่นศาลว่าประชาชนไม่สามารถวิจารณ์หรือตรวจสอบศาลได้อีก

ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล ไม่มีข้อเสนอให้ยกเลิกกฎหมาย 112 หรือเปลี่ยนกฎหมายหมิ่นศาล และไม่มีข้อเสนอว่าศาลควรจะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนอีกด้วย มีแต่พรรคสามัญชนที่กล้าพูดถึง112อย่างจริงจัง

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้จริงได้ เพราะจะไม่นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริงได้ และสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและอำนาจ เป็นสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้เต็มที่ แม้แต่การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ทำบนพื้นฐานความจำเป็นที่จะมีชีวิติที่ดีของประชาชนไม่ได้ เพราะพรรคการเมืองกระแสหลักมักจะพิจารณาความเห็นของนายทุนเสมอ แต่นายทุนเป็นแค่ 1% ของประชาชน

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาโลกร้อนและผลกระทบต่อประชาชนได้ เพราะการที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงคาร์บอนได้ในสังคมทุนนิยม ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกลุ่มทุนใหญ่ 1% ของประชาชน และการตัดสินใจของรัฐบาลในประเทศมหาอำนาจจักรวรรดินิยม ซึ่งถ้าดูแนวโน้มแล้วพวกนี้ไม่สนใจจะแก้ปัญหาโลกร้อนเลย สนใจแต่กำไรกลุ่มทุนอย่างเดียว ปัญหาฝุ่นละอองก็เช่นเดียวกัน ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่จะแก้อย่างจริงจัง

ไม่มีรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองไหน ที่จะลงทุนอย่างจริงจังในระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงคาร์บอน โดยที่ระบบขนส่งมวลชนนั้นใช้ได้ทั่วประเทศ ในทุกเมืองทุกอำเภอ และที่สำคัญคือมีคุณภาพความสะดวกสบาย และเก็บค่าเดินทางในอัตราที่คนจนใช้ได้ หรือไม่ก็ไม่เก็บค่าเดินทางเลยเพราะอาศัยภาษีก้าวหน้ามาเป็นรายได้แทน ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะลงทุนในระบบรถไฟความเร็วสูงสำหรับประชาชนทุกคนรวมถึงคนจน เพื่อเลิกใช้เครื่องบินสำหรับการเดินทางภายในประเทศ

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่มาจากโควิด เพราะรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคกระแสหลักพรรคไหน จะไม่มีวันตัดงบทหารและขึ้นภาษีให้กับคนรวยและกลุ่มทุนในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำเงินไปสร้างรัฐสวัสดิการและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้เท่าเทียมกับระบบสาธารณสุขที่คนรวยใช้ และจะไม่มีวันนำโรงพยาบาลเอกชนและคลินิกเอกชนมาเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนรวม นอกจากนี้จะไม่มีระบบจ่ายค่าจ้างในระดับพอเหมาะสำหรับทุกคนที่ต้องหยุดงานอยู่กับบ้านเมื่อติดโควิด

จริงอยู่ มีหลายพรรค เช่นพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล ที่พูดถึงรัฐสวัสดิการ แต่ในรูปธรรมไม่มีข้อเสนอใดๆ ทั้งสิ้นที่มีความหมาย

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่สามารถแก้ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกวัน เพราะจะไม่เก็บภาษีจากคนรวยและกลุ่มทุนเพื่อตัดค่าไฟค่าเชื้อเพลิง หรือออกมาตรการเพื่อไม่ให้มีการขึ้นราคาข้าวของที่เป็นสิ่งจำเป็น

การเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงจะไม่นำไปสู่การลดชั่วโมงการทำงานของกรรมาชีพจนอยู่ในระดับที่คนส่วนใหญ่จะมีเวลาเพื่อพัฒนาตนเองหรือแสวงหาความสุขในชีวิตเพิ่มขึ้น

ไม่มีรัฐบาลใด ไม่ว่าจะประกอบไปด้วยพรรคการเมืองไหนที่จะมีมาตรการอย่างจริงจังในการลดการกดขี่คนงานข้ามชาติ ลดการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดเพศ หรือให้สิทธิเสรีภาพในการกำหนดอนาคตตนเองสำหรับประชาชนในปาตานี

การเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึงจะไม่นำไปสู่การปล่อยนักโทษการเมืองทุกคนทันที และไม่นำไปสู่การปฏิรูประบบยุติธรรม ลดจำนวนนักโทษในคุก

จริงๆ ปัญหาใหญ่ๆ ของประชาชนคนทำงานธรรมดา ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม มีอีกมากมาย เช่นเรื่องอิทธิพลกลุ่มทุนในชนบท ปัญหาที่ดิน หรือระบบการศึกษาที่ล้าหลังและเป็นเผด็จการเป็นต้น

แต่เวลาเราพูดว่าเราเป็นนักปฏิวัติสังคมนิยม มันไม่ได้แปลว่าเราไม่สนใจการเลือกตั้งในระบบทุนนิยม หรือการต่อสู้เล็กๆ น้อยๆ ประจำวัน ตรงกันข้าม นักปฏิวัติอย่าง โรซา ลัคแซมเบอร์ค หรือ เลนิน หรือแม้แต่ คาร์ล มาร์คซ์ จะลงมือร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่ออิสรภาพ หรือเพื่อสวัสดิการภายใต้ระบบทุนนิยม เพราะถ้าเราไม่สู้ในเรื่องแบบนี้ เราไม่มีวันฝึกฝนสร้างพลังมวลชนเพื่อเดินหน้าสู่การพลิกสังคมในการปฏิวัติได้

ดังนั้นนักสังคมนิยมจะปกป้องสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้ง และจะมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งอีกด้วย

ในช่วงที่มีการเลือกประชาชนจำนวนมากและสื่อมวลชนจะพูดคุยกันเรื่องการเมือง เราจึงต้องร่วมพูดคุยเรื่องการเมืองกับมวลชน

แน่นอนในวันเลือกตั้งเราต้องเรียกร้องให้ประชาชนเลือกพรรคที่คัดค้านพรรคทหารและไม่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับเผด็จการประยุทธ์ แต่การกาช่องในบัตรเลือกตั้งมันใช้เวลาแค่ 1 นาที ประชาธิปไตยมันต้องเป็นกิจกรรมของประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้เวลามากกว่าแค่ 1 นาที และการกาช่องบนบัตรเลือกตั้งมันไม่สร้างพลังให้กับประชาชน มันยกอำนาจไปให้นักการเมืองในรัฐสภาแทน และปล่อยให้นายทุนกับทหารมีอิทธิพลต่อไปในสังคม

เวลาเราเสนอว่าประชาชนควรเลือกพรรคที่คัดค้านพรรคทหารและไม่เคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับเผด็จการประยุทธ์ มันไม่ได้แปลว่าเราจะไม่วิจารณ์พรรคกระแสหลักอย่างเช่นพรรคเพื่อไทยหรือพรรคก้าวไกล เราต้องใช้ช่วงนี้ในการยกประเด็นเรื่อง กฎหมาย112 การปฏิรูปศาล การปฏิรูประบบการศึกษา การตัดงบทหาร ความจำเป็นที่จะมีรัฐสวัสดิการ ความจำเป็นที่จะเก็บภาษีก้าวหน้าในระดับสูงจากคนรวยและกลุ่มทุน วิกฤตโลกร้อน ปัญหาฝุ่นละออง ปัญหาโควิดกับระบบสาธารณสุข ความสำคัญของสิทธิทางเพศ สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิของประชาชนในปาตานี และการที่ต้องมีการลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจังฯลฯ

และเราจะต้องอธิบายว่าในการจัดการกับเรื่องเหล่านี้ในที่สุดเราต้องปฏิวัติล้มระบบทุนนิยม

แต่ “การปฏิวัติ” ไม่ใช่ละครหรือเกมเด็กเล่นของคนที่แค่อยากชูธงแดง ใส่หมวกดาวแดง หรือท่องสูตรจากหนังสือ แต่ในขณะเดียวกันไม่ยอมร่วมการเคลื่อนไหวของมวลชนอย่างเป็นรูปธรรม

ประเด็นสำคัญคือ ถ้าพรรคการเมืองที่คัดค้านเผด็จการชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลใหม่ จะเอาพลังที่ไหนมาฝืนกฎหมายเผด็จการ? คำตอบคือต้องผสมความชอบธรรมจากการชนะการเลือกตั้ง กับพลังของขบวนการมวลชนนอกรัฐสภา เพื่อไปคานเครื่องมือของเผด็จการ พรรคการเมืองเหล่านี้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายมวลชนที่จะนำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่ายและชวนให้มวลชนออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่เรายังไม่เห็นว่าพรรคไหนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย มีแต่การให้ความสำคัญกับการหาเสียงสำหรับละครการเลือกตั้งในอนาคตอย่างเดียว และนักเคลื่อนไหวก็หันกลับมาให้ความสำคัญกับกิจกรรมปัจเจกเช่นการอดอาหารแทน

ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เราจะค้นพบว่ารัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ มาจากกระแสมวลชนที่ล้มเผด็จการทหารในปี ๒๕๓๕ และหลังจากนั้นเราก็มีรัฐบาลที่เสนอการปฏิรูปสังคมในทางที่ดีบ้าง เช่นการเริ่มต้นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่หลังจากนั้นมวลชนฝ่ายเหลืองก็ขึ้นมาคัดค้านประชาธิปไตยและเรียกให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองในปี ๒๕๔๙ แต่กระแสมวลชนเสื้อแดงบังคับให้ต้องมีการเลือกตั้งอีกที่พรรคเพื่อไทยชนะในปี ๒๕๕๔ ต่อมารัฐประหารของประยุทธ์เกิดขึ้นได้เพราะยิ่งลักษณ์กับทักษิณแช่แข็งขบวนการเสื้อแดงจนหมดสภาพ และไปหาทางประนีประนอมในรัฐสภา ซึ่งไม่สำเร็จ

ในยุครัฐบาลประยุทธ์มีการเคลื่อนไหวของมวลชนจำนวนมากที่ออกมาไล่เผด็จการ แต่ปัญหาการจัดตั้งที่กระจัดกระจายเน้นความอิสระจอมปลอม การตั้งความหวังกับพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภา และการที่ไม่ขยายการต่อสู้ไปสู่กรรมาชีพและสหภาพแรงงาน นำไปสู่ความพ่ายแพ้และการที่นักต่อสู้ใจกล้าจำนวนมากต้องติดคุก

จะเห็นว่าการเคลื่อนไหวของมวลชนเป็นเรื่องชี้ขาดในการเมืองเสมอ ถ้าเราไม่หันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อหาบทสรุปจากอดีต และรื้อฟื้นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของมวลชนอย่างจริงจัง เผด็จการจะสามารถสืบทอดอำนาจไปได้อีกนาน และความสิ้นหวังของประชาชนจะกลายเป็นยาพิษที่ทำให้คนยอมรับสภาพเช่นนี้

พรรคการเมืองที่เน้นการลงสมัครรับเลือกตั้งมักจะกล้าๆ กลัวๆ ในการเสนอสิ่งที่ขัดแย้งกับกระแสหลักหรือผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจต่างๆ และมักจะมีการเสนอว่าต้องหาทางดึงคะแนนเสียงจากคนที่มีแนวคิด “กลางๆ” อันนี้เป็นความจริงไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล พรรคแรงงงานในยุโรป หรือพรรคกรรมชีพในบราซิล เราเรียกพรรคเหล่านี้ว่า “พรรคปฏิรูป”

เป็นที่น่าเสียดายที่นักเคลื่อนไหวต่อสู้ในอดีต แห่กันไปเข้าพรรคปฏิรูปดังกล่าว โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลในไทย ในที่สุดแทนที่เขาจะเปลี่ยนสังคมได้อย่างจริงจัง ระบบรัฐสภาจะเปลี่ยนตัวเขาเองในขณะที่เขาแปรตัวไปเป็นนักการเมืองมืออาชีพ

มันมีวิธีเดียวที่จะจัดการกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างการลงสมัครรับเลือกตั้งกับการเคลื่อนไหวรณรงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลง นั้นคือคนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงจะต้องพยายามสร้างหน่ออ่อนของพรรคปฏิวัติสังคมนิยม และต้องสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ไปเน้นอย่างใดอย่างหนึ่ง

แนวคิดของ เลนิน เสนอว่าพรรคปฏิวัติสังคมนิยมต้องเป็นตัวแทนของผู้ถูกกดขี่ทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกกดขี่ทางเพศ กดขี่ในเรื่องศาสนา กดขี่ทางเชื้อชาติ หรือคนที่ถูกกดขี่จากความพิการ พรรคจะต้องยืนอยู่เคียงข้างคนจนในประเทศอื่นและผู้ลี้ภัยอีกด้วย สาเหตุสำคัญคือมันจะช่วยในการสร้างความสามัคคีในหมู่คนชั้นล่าง การกดขี่ทุกรูปแบบที่เราเห็นในสังคมปัจจุบัน มาจากกลไกต่างๆ ของระบบทุนนิยมทั้งสิ้น และประชาธิปไตยแท้จริงเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการกำจัดการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย

ยิ่งกว่านั้นสังคมนิยมต้องสร้างผ่านการต่อสู้ของมวลชนกรรมาชีพจากล่างสู่บน พลังกรรมาชีพมาจากการที่อยู่ใจกลางระบบเศรษฐกิจทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม การบริการ หรือแม้แต่การเกษตร ดังนั้นพรรคสังคมนิยมปฏิวัติต้องให้ความสำคัญกับชนชั้นกรรมาชีพเสมอ

เราต้องให้ความสำคัญกับนักศึกษาและคนหนุ่มสาวอีกด้วย เพราะเขามักจะไฟแรง พร้อมจะอ่านและเรียนรู้ และที่สำคัญคือเขาเป็น “เตรียมกรรมาชีพ”

ทุกวันนี้ในไทยภายใต้สังคมทุนนิยม เราเผชิญหน้ากับวิกฤตร้ายแรงที่ท้าทายชีวิตของพวกเรา คือวิกฤตสิทธิเสรีภาพ วิกฤตค่าครองชีพ วิกฤตจากภัยสงคราม วิกฤตโควิด และวิกฤตสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือวิกฤตเหล่านี้ล้วนแต่เกี่ยวข้องกัน เพราะต้นกำเนิดคือระบบทุนนิยม ดังนั้นการเคลื่อนไหวแบบแยกส่วนประเด็นเดียวในรูปแบบเอ็นจีโอไม่ใช่ทางออก

เราต้องสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและถกเถียงกันเรื่องแนวทางการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนระบบ เราต้องเคลื่อนไหวเป็นกลุ่มไม่ใช่ปัจเจก พรรคเป็นสะพานที่ดึงประเด็นปัญหาต่างๆ ของทุนนิยมเข้าด้วยกัน และพรรคมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้ร่วมกันสู้กับทุกปัญหา แต่ถ้าพรรคจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ เราต้องสร้างและขยายพรรคอย่างต่อเนื่อง เราต้องร่วมกันพัฒนาการศึกษาทางการเมืองเพื่อให้เรามั่นใจมากขึ้น และเราต้องร่วมกันสร้างและพัฒนาสื่อของเราอีกด้วย

ใจอึ๊งภากรณ์

ปัจเจกหรือมวลชน?

คนที่ออกมาสู้แบบปัจเจกมีความจริงใจ กล้าหาญ และเสียสละจริง แต่การต่อสู้แบบปัจเจกมีปัญหาที่เราต้องวิจารณ์ มันเป็นการเอาตัวเองมาแทนมวลชน ในที่สุดจะล้มเหลว ทำแบบมหาตมา คานธี  ที่อดอาหารแทนการปลุกพลังมวลชน คิดว่าความชอบธรรมมีพลัง แต่หันหลังให้พลังแท้ของกรรมาชีพที่จะไล่เจ้าอาณานิคมหรือล้มเผด็จการได้ มันเป็นกลยุทธ์ที่หลงคิดว่าการกระทำที่สร้างข่าวจะปลุกกระแสมวลชนโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องทำงานจัดตั้ง

ถ้าเราเห็นใจและอยากสมานฉันท์กับผู้ที่สู้แบบปัจเจก เราต้องกลับมาพิจารณาการสร้างขบวนการมวลชนที่มีพลัง ขบวนการคนหนุ่มสาวที่ต่อสู้มาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างการปลุกระดมมวลชนเป็นแสน มันเกิดขึ้นท่ามกลางความไม่พอใจต่อสภาพสังคม แต่การต่อสู้ครั้งนั้น ไม่สนใจจัดตั้งพลังกรรมาชีพ เน้นความชอบธรรม เน้นสัญลักษณ์ เน้นการสร้างเครือข่ายหลวมๆ และชูตัวบุคคลที่เป็นแกนนำ ทั้งๆ ที่ประกาศว่าไร้ผู้นำ

แค่ชื่นชมการต่อสู้ จิตใจกล้าหาญ ของนักสู้ปัจเจก ไม่พอ ต้องหาทางฟื้นขบวนการมวลชน และต้องเดินออกห่างจากการเน้นการต่อสู้แบบปัจเจกชน บางครั้งอาจจะปลุกระดมคนได้บ้างชั่วคราว แต่พอกระแสลง จะไม่เหลือองค์กรที่สามารถรักษาระดับการต่อสู้ระยะยาวได้ต่อไป นั้นคือสาเหตุที่เราเน้นการจัดตั้งพรรคฝ่ายซ้ายพร้อมกับการสร้างมวลชนเสมอ

เราต้องลดความโรแมนติกในการต่อสู้แบบปัจเจกลง และเลิกการออกมาแสดง “ความเคารพ” เฉยๆ ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยโศกนาฏกรรมของนักต่อสู้กล้าหาญที่เลือกแนวทางปัจเจกเพราะมองไม่ออกว่าจะเดินหน้าอย่างไร

ใจ อึ๊งภากรณ์

เบื้องหลังการกบฏที่อิหร่าน

การต่อสู้รอบล่าสุดของประชาชนอิหร่านที่ระเบิดขึ้นในเดือนกันยายน ต้องเผชิญหน้ากับการปราบปรามที่โหดร้ายป่าเถื่อนจากฝ่ายรัฐ คาดว่าผู้ประท้วงเสียชีวิตเกือบสี่ร้อยคน รวมถึงเด็ก และถูกจับอีกหลายร้อย นอกจากนี้รัฐบาลประกาศประหารชีวิตผู้ถูกจับอีกด้วย แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ยิ่งกว่านั้นในต้นเดือนตุลาคมกระแสกบฏลามไปสู่บางส่วนของกรรมาชีพในอุตสาหกรรมน้ำมัน มีการนัดหยุดงาน ปิดถนน และตะโกนด่าผู้นำสูงสุด อะลี คอเมเนอี ล่าสุดคนงานโรงเหล็กในเมือง อิสฟาฮาน ก็นัดหยุดงาน

นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมออกมาประท้วงอย่างคึกคัก ส่วนใหญ่นำโดยนักศึกษาหญิง ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีการทุบผนังที่ใช้แยกนักศึกษาหญิงออกจากชาย

บนท้องถนนเวลามีการประท้วงมีการปัดผ้าโพกหัวพวกพระตกลงบนพื้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการย่อยปิดร้านค้าประท้วงอีกด้วย

การประท้วงรอบนี้เริ่มต้นจากการฆ่า มาห์ซา อามินี โดยตำรวจในขณะที่เขาถูกขังในคุกตำรวจ เขาเป็นหญิงสาวชาวเคิร์ดวัยเพียง 22 ปี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ “ตำรวจศีลธรรม” จับกุมตัว เนื่องจากเธอไม่ได้สวมฮิญาบในลักษณะ “ถูกต้อง” ตามระเบียบอนุรักษ์นิยม

โพลที่สำรวจความเห็นของประชาชน ทั้งที่เคร่งศาสนาและไม่เคร่งศาสนา พบว่า 70% ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลบังคับให้สวมฮิญาบ ดังนั้นการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่ระหว่างคนที่เคร่งศาสนากับคนที่ไม่เคร่งศาสนา แต่เป็นการต่อสู้ของประชาชนกับชนชั้นนำของประเทศ

ในไม่ช้าความไม่พอใจของประชาชนขยายจากเรื่อง มาห์ซา อามินี ไปสู่การต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ต่อต้านการที่สังคมไร้เสรีภาพ และประท้วงปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังของประชาชนในวิกฤตค่าครองชีพที่เกิดขึ้นทั่วโลก คนที่ออกมาชุมนุมบนท้องถนนเป็นนักศึกษาและคนหนุ่มสาวที่เกลียดชังกฎหมายเผด็จการและไม่พอใจกับการที่จะตกงานและยากจนในอนาคต การต่อสู้ครั้งนี้จึงเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและเพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ

ในรอบหลายปีที่ผ่านมามีการประท้วงขนาดใหญ่โดยกรรมาชีพเรื่องค่าครองชีพ การตกงาน และการตัดสวัสดิการ ซึ่งในการต่อสู้ของกรรมาชีพนี้ ไม่ได้จำกัดไว้แค่เรื่องปากท้องแต่เป็นการประท้วงรัฐบาลอีกด้วย ปีที่แล้วคนงานในอุตสาหกรรมน้ำมันนัดหยุดงานทั่วประเทศ แต่คนงานที่ประท้วงตอนนี้และตอนนั้นส่วนใหญ่เป็นคนงานที่มีสัญญาการจ้างชั่วคราว และทำงานซ่อมแซมโครงสร้างของอุตสาหกรรม ไม่ใช่คนงานหลักในใจกลางอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งเคยปิดการผลิตน้ำมันในการปฏิวัติปี 1979 การต่อสู้ครั้งนี้จะมีพลังมากขึ้นถ้าชนชั้นกรรมาชีพในใจกลางเศรษฐกิจออกมาร่วมด้วย

ก่อนหน้านี้ในเดือนพฤษภาคม เมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะยุติการอุดหนุนราคาอาหาร มีการประท้วงบนท้องถนนของประชาชนหลายพัน รัฐบาลอ้างว่าไม่สามารถพยุงราคาได้เพราะค่าอาหารพุ่งขึ้นเนื่องจากวิกฤตโลก โดยเฉพาะวิกฤตอาหารในตลาดโลกที่เกิดจากสงครามในยูเครน สภาพย่ำแย่ของประชาชนมาจากอีกสองสาเหตุด้วยคือ การปิดกั้นเศรษฐกิจอิหร่านโดยสหรัฐอเมริกา และการใช้นโยบายตลาดเสรีของรัฐบาลอิหร่านในรอบสิบปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามวิดีโอที่เปิดเผยความรุนแรงของตำรวจบนท้องถนนทำให้ประชาชนจำนวนมากโกรธแค้น แม้แต่ในคุกเอวินในกรุงเตหะรานก็มีการต่อสู้ คุกนี้เป็นคุกสำหรับนักโทษการเมืองที่ขังปัญญาชน นักศึกษา และนักต่อสู้ผู้หญิง แต่การปราบปรามของฝ่ายรัฐคงจะมีผลทำให้หลายคนกลัว อย่างไรก็ตามคนบนท้องถนนจำนวนมากมองว่าต้องต่อสู้ต่อไปเพื่อล้มรัฐบาล แต่กระแสนี้อาจเปลี่ยนได้

นักการเมืองฝ่าย “ปฏิรูป” บางคนแนะให้รัฐบาลประนีประนอมเพื่อจำกัดและลดการประท้วง แต่ดูเหมือนรัฐบาลคิดจะปราบท่าเดียว

นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในอิหร่านรายงานว่า ทั้งๆ ที่สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกพยายามฉวยโอกาสแทรกแซงความวุ่นวายในอิหร่าน พร้อมขู่ว่าจะช่วยล้มรัฐบาล และออกมาพูดสนับสนุนผู้ประท้วง แต่ประชาชนจำนวนมากไม่ได้หลงคิดว่าสหรัฐกับตะวันตกเป็นเพื่อนของประชาชนที่ต่อสู้กับเผด็จการแต่อย่างใด เขาจำหรือเข้าใจบทบาทตะวันตกในอดีตได้ดี ยิ่งกว่านั้นท่าทีของสหรัฐและตะวันตกเปิดโอกาสให้รัฐบาลอิหร่านโกหกว่าการประท้วงถูกจัดตั้งจากต่างประเทศ ซึ่งไม่มีความจริง

ถ้าจะเข้าใจการต่อสู้รอบนี้ เข้าใจบทบาทของจักรวรรดินิยมตะวันตก และเข้าใจที่มาของชนชั้นปกครองอิหร่านในยุคปัจจุบัน เราต้องศึกษาการปฏิวัติ 1979

ประวัติศาสตร์การปฏิวัติอิหร่าน

ในปี1979 มีการปฏิวัติเกิดขึ้นในประเทศอีหร่าน      ก่อนหน้านั้นอีหร่านปกครองโดยกษัตริย์เผด็จการที่เรียกว่า “พระเจ้าชาห์” พระเจ้าชาห์ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาผู้เป็นจักรวรรดินิยมรายใหญ่และตอนนั้นประเทศอีหร่านเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่องค์กรสายลับ “ซีไอเอ” ของสหรัฐในตะวันออกกลาง ทั้งนี้เพราะสหรัฐพยายามปกป้องผลประโยชน์เรื่องน้ำมันในตะวันออกกลางมาตลอด ซึ่งเห็นชัดในกรณีรัฐประหารปี 1953 ที่ล้มนายกรัฐมนตรี โมฮัมหมัด โมซัดเดฆ ซึ่งมีสหรัฐหนุนหลัง รัฐประหารนี้เกิดจากการที่ โมซัดเดฆ พยายามนำบริษัทน้ำมันมาเป็นของรัฐเพื่อประโยชน์ของประเทศ ผลของรัฐประหารคือการขึ้นมาของเผด็จการพระเจ้าชารห์

เนื่องจากพระเจ้าชาห์มีองค์กรตำรวจลับ “ซาวัค” ที่โหดร้ายทารุน และมีกองทหารสมัยใหม่ที่มีกำลังถึง 7 แสนคน เขามักอวดดีว่า “ไม่มีใครล้มกูได้”  แต่ในขณะที่อีหร่านเป็นประเทศที่มีรายได้จากการผลิตน้ำมันสูง ประชาชนกลับยากไร้ หมู่บ้าน87%ในประเทศในไม่มีโรงเรียน และเกือบจะไม่มีหมู่บ้านไหนเลยที่มีสถานพยาบาล      80%ของประชากรอ่านหนังสือไม่ได้อีกด้วย                 

ในปี 1977 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่มักเกิดกับทุนนิยมเป็นระยะๆ ปรากฏว่ามีการนัดหยุดงานทั่วไป มีการตั้งสหภาพแรงงานใหม่ที่อิสระจากอิทธิพลของตำรวจ “ซาวัค” และมีการประท้วงทุกรูปแบบ เช่นมีคนเข้าฟังกวีอ่านกลอนต่อต้านรัฐบาลถึง 2 หมื่นคน 

พอถึงกันยายนปี 1978 มีประชาชนออกมาชุมนุมต้านกษัตริย์ชาห์ 2 ล้านคนในเมืองเตหะราน กรรมาชีพส่วนที่สำคัญที่สุดของอีหร่านคือคนงานสูบและกลั่นน้ำมัน เขาก็นัดหยุดงาน พนักงานสื่อมวลชนมีการดับรายการวิทยุโทรทัศน์คืนละหนึ่งชั่วโมง พนักงานรถไฟไม่ยอมให้ตำรวจและนายทหารชั้นผู้ใหญ่ขึ้นรถไฟ กรรมกรท่าเรือไม่ยอมขนสินค้ายกเว้นอาหารและยา   สรุปแล้ว ถึงแม้ว่ากรรมาชีพยังเป็นคนส่วนน้อยของสังคมอีหร่านตอนนั้น แต่เป็นส่วนที่มีพลังมากที่สุดและเป็นส่วนที่ใช้พลังบีบระบบเศรษฐกิจจนพระเจ้าชาห์ต้องหนีออกนอกประเทศ

ฝ่ายค้าน

ปัญหาของการปฏิวัติอีหร่านในปี 1979 เป็นปัญหาเดียวกับการปฏิวัติในยุคปัจจุบันทุกครั้ง คือล้มรัฐบาลแล้วจะเอาอะไรมาแทนที่?   ตอนนั้นฝ่ายค้านมีสามพวกคือ

1.พวกฝ่ายซ้ายที่เน้นการต่อสู้แบบติดอาวุธ ซึ่งมีบทบาทน้อยมากเพราะไม่สนใจบทบาทมวลชน หรือกรรมาชีพ

2.พวกพระศาสนาอิสลามที่ต่อต้านรัฐบาลเก่าเพราะขัดแย้งทางผลประโยชน์กัน พวกนี้ได้เปรียบฝ่ายซ้ายเพราะรัฐบาลพระเจ้าชาห์ไม่ค่อยกล้าปราบปรามสถาบันศาสนาโดยตรง มัสยิดจึงกลายเป็นแหล่งจัดตั้งของพระฝ่ายค้านได้ดี กลุ่มพระเหล่านี้มีฐานสนับสนุนในพวกนายทุนน้อยในตลาดตามเมืองต่างๆ แต่พร้อมจะทำงานกับนายทุนใหญ่

3.ฝ่ายซ้าย “พรรคทูเดย” แนวคอมมิวนิสต์สายสตาลิน ที่ต้องการทำแนวร่วมรักชาติกับพวกพระ ตามแนวปลดแอก “ประชาชาติประชาธิปไตย” แทนที่จะสู้เพื่อล้มทุนนิยม

กรรมาชีพตั้งสภาคนงาน “ชอร่า”

เมื่อกรรมาชีพอีหร่านเริ่มรู้พลังของตนเอง ก็มีการตั้งสภาคนงานในรูปแบบเดียวกับ “โซเวียด” ของรัสเซีย แต่ในอีหร่านเขาเรียกว่า “ชอร่า” ซึ่งสภาคนงานนี้ถือได้ว่าเป็นหน่ออ่อนของรัฐชนชั้นกรรมาชีพได้ แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือฝ่ายซ้ายในอีหร่านไม่เข้าใจความสำคัญของพลังกรรมาชีพในการสร้างสังคมใหม่ เขามองว่าอีหร่าน “ยังไม่พร้อมที่จะปฏิวัติสังคมนิยม” และ “ต้องสร้างประชาธิปไตยทุนนิยมก่อน” ตามสูตรแนวคิดลัทธิสตาลิน ฝ่ายซ้ายจึงสนับสนุนและสร้างแนวร่วมกับพวกพระศาสนาอิสลาม เพื่อ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ในการต่อต้านรัฐบาลเก่า  แต่พวกพระอิสลามไม่สนใจที่จะล้มระบบทุนนิยมเลย เขาต้องการปกป้องทุนนิยมในรูปแบบชาตินิยมผสมอิสลามเท่านั้น และพวกพระพยายามทุกวิธีทางที่จะทำลายสภาคนงาน“ชอร่า”ที่ถูกตั้งขึ้น ซึ่งรวมถึงการใช้ความรุนแรงด้วย

ในที่สุด ทั้งๆที่กรรมาชีพมีพลังสูง และทั้งๆที่กรรมาชีพออกมาประท้วงถึง 1.5 ล้านคนในวันแรงงานสากลปี 1979 ฝ่ายพระอิสลามที่นำโดย อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี ก็ขึ้นมาเป็นใหญ่ได้

ทรอตสกี กับ “การปฏิวัติถาวร”

ลีออน ทรอตสกี นักปฏิวัติรัสเซียที่เป็นคู่สหายของเลนิน เคยเสนอตั้งแต่ปี 1905 ว่าในประเทศล้าหลังถึงแม้ว่าจะมีกรรมาชีพน้อยกว่าชาวนา แต่กรรมาชีพจะต้องไม่พอใจกับการสถาปนาระบบประชาธิปไตยทุนนิยมในกรณีที่มีการล้มเผด็จการ และจะต้องยกระดับการต่อสู้ให้เลยขั้นตอนนี้ไปสู่สังคมนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าหากหยุดอยู่แค่ขั้นตอนทุนนิยม กรรมาชีพจะไม่ได้อะไรเลย และจะยังถูกกดขี่ขูดรีดต่อไป นี่คือการต่อสู้ที่เรียกว่าการ “ปฏิวัติถาวร” และในการต่อสู้แบบนี้กรรมาชีพจะต้องรบกับระบบทุนนิยมและนายทุนอย่างถึงที่สุด ไม่ใช่สร้างแนวร่วมกับนายทุน แต่ในขณะเดียวกันกรรมาชีพจะต้องสร้างแนวร่วมกับชาวนายากจนในชนบท

ถึงแม้ว่าการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 จะเป็นไปตามที่ทรอตสกีเสนอ แต่บรรดาพรรคคอมมิวนิสต์ในยุคหลังๆ เช่นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือฝ่ายซ้ายในอีหร่าน ก็ล้วนแต่ปฏิเสธการปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมอย่างต่อเนื่องทั้งสิ้น และหันมาเสนอการสร้างแนวร่วมกับนายทุนชาติเพื่อสร้างประชาธิปไตยของนายทุนแทน การปฏิเสธการปฏิวัติถาวรมาจากการที่สตาลินยึดอำนาจในรัสเซีย ทำลายสังคมนิยม และเปลี่ยนแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก

อีหร่าน 1979    ไทย ๑๔ ตุลา

แนวทางชาตินิยมต้านจักรวรรดินิยมที่ปฏิเสธบทบาทหลักของชนชั้นกรรมาชีพ และเสนอให้สู้เพื่อได้มาแค่ขั้นตอนประชาธิปไตยนายทุน แทนที่จะต่อสู้อย่างไม่ขาดขั้นตอนไปสู่สังคมนิยม เป็นแนวทางที่เราได้รับการสั่งสอนมาในเมืองไทยอย่างกว้างขวาง แนวนี้เป็นแนวที่เปิดโอกาสให้นายทุนไทยฉวยโอกาสครอบงำการเมืองไทยหลังการล้มเผด็จการทุกครั้ง โดยเฉพาะหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ซึ่งเกิดขึ้นหกปีก่อนการปฏิวัติอิหร่าน แนวนี้นำกรรมาชีพไทยไปเป็นทาสรับใช้นายทุนไทย เช่นเดียวกับแนวทางที่นำกรรมาชีพอีหร่านไปสู่การเป็นทาสของนายทุนอิสลามและความพ่ายแพ้ในปี 1979

บทเรียนที่สำคัญที่สุดคือ (1)กรรมาชีพไม่ควรฝากความหวังไว้กับชนชั้นอื่นเลย ไม่ควรสร้างแนวร่วมกับนายทุนชาติ เพื่อสู้กับจักรวรรดินิยมและสร้างประชาธิปไตยทุนนิยมอย่างเดียว นายทุนชาติไม่ใช่มิตร แต่เป็นผู้ขูดรีด และประชาธิปไตยทุนนิยมไม่มีวันยกเลิกการขูดรีดดังกล่าว (2) ฝ่ายซ้ายต้องเน้นพลังมวลชนกรรมาชีพในการต่อสู้ และเข้าใจแนว “ปฏิวัติถาวร”

ปัจจุบัน

ถ้ากรรมาชีพอิหร่านเข้ามามีบทบาทในเวทีการเมืองอีกครั้ง จะต้องต่อสู้โดยไม่หลงเชื่อว่าประชาธิปไตยนายทุนจะเพียงพอ หรือพึ่งพามิตรจอมปลอมในรูปแบบรัฐบาลตะวันตก กรรมาชีพและนักสังคมนิยมอิหร่านจะต้องผลักดันการต่อสู้เพื่อเพิ่มอำนาจของกรรมาชีพในสังคมและมุ่งสู่สังคมนิยม ต้องเดินตามแนว “ปฏิวัติถาวร” เพราะในอดีตสิ่งที่กรรมาชีพได้จากการต่อสู้เสียสละในปี 1979 คือเผด็จการจากมัสยิดที่กดขี่ขูดรีดแรงงาน และกดขี่สตรีที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

ฝ่ายซ้ายในไทยและที่อื่นจะต้องสนับสนุนการต่อสู้ของชาวอิหร่าน พร้อมกับคัดค้านการปิดกั้นทางเศรษฐกิจของตะวันตก เพราะผู้ที่จะปลดแอกสังคมคือคนอิหร่านเอง

จีนกับสหรัฐ ความขัดแย้งจักรวรรดินิยม เราไม่ควรเลือกข้าง

การเยือนเกาะไต้หวันเมื่อต้นเดือนสิงหาคมของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และนักการเมืองที่สำคัญที่สุดเป็นอันดับสามของสหรัฐ เป็นการตั้งใจที่จะยั่วยุท้าทายประเทศจีนท่ามกลางความขัดแย้งจักรวรรดินิยม

สำหรับเราชาวมาร์คซิสต์ คำว่า “จักรวรรดินิยม” ที่ เลนิน เคยนิยามว่าเป็น “ขั้นตอนสูงสุดของระบบทุนนิยม” ไม่ได้หมายถึงแค่ประเทศใดประเทศเดียว ทั้งๆ ที่เรามักจะได้ยินคำว่า “จักรวรรดินิยมสหรัฐ” แต่จักรวรรดินิยมเป็น “ระบบ” คือเป็นระบบความขัดแย้งระหว่างรัฐทุนนิยมทั่วโลก โดยที่บางประเทศ ประเทศมหาอำนาจ จะมีอำนาจสูง และประเทศเล็กๆจะมีอำนาจน้อย อำนาจดังกล่าวมาจากความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและทางทหารซึ่งนำไปสู่อำนาจทางการทูตด้วย

เรื่องเศรษฐกิจกับการทหารแยกออกจากกันไม่ได้ สิ่งที่ เลนิน เคยอธิบายไว้คือ เวลาทุนนิยมพัฒนา กลุ่มทุนใหญ่กับรัฐมักจะผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น เพราะกลุ่มทุนในประเทศหนึ่งๆ มักจะอาศัยอำนาจทางทหารและการเมืองของรัฐเพื่อปกป้องผลประโยชน์ และในขณะเดียวกันรัฐต้องอาศัยพลังทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนและการเก็บภาษีจากกลุ่มทุนดังกล่าวเพื่อเป็นรายได้ของรัฐ สถานการณ์แบบนี้ยังดำรงอยู่ในโลกสมัยใหม่ ทั้งๆ ที่มีบริษัทข้ามชาติที่ทำธุรกิจทั่วโลก แต่จริงๆ แล้วบริษัทข้ามชาติยิ่งต้องพึ่งพาอาศัยรัฐในการปกป้องผลประโยชน์เวลาทำธุรกิจข้ามพรมแดนท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างบริษัทต่างๆ มันไม่ใช่ว่าบริษัทข้ามชาติสามารถหนีพรมแดนรัฐชาติหรือรัฐชาติมีความสำคัญน้อยลง อย่างที่นักวิชาการบางคนเสนอ

จักรวรรดินิยมจึงเป็นระบบหรือเครือข่ายการแข่งขันกันทั่วโลกระหว่างรัฐ-ทุนประเทศหนึ่งกับรัฐ-ทุนอื่นๆ และจะออกมาในรูปแบบการพยายามเอาชนะคู่แข่งทางเศรษฐกิจและทหาร บางครั้งจึงเกิดสงคราม ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมระบบทุนนิยมเป็นต้นกำเนิดของสงครามเสมอ

มหาอำนาจในโลกปัจจุบัน มีสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรปในอียู จีน และรัสเซีย และมีประเทศมหาอำนาจย่อยๆ อีกมากมาย ซึ่งแต่ละประเทศก็จะพยายามสร้างอำนาจต่อรองของตนเองในการแข่งขันทั่วโลก ชนชั้นนำอังกฤษยังฝันว่าอังกฤษเป็นมหาอำนาจ แต่แท้จริงถ้าอังกฤษจะมีอิทธิพลในโลกก็ต้องเกาะติดสหรัฐเหมือนลูกน้อง เราเห็นสภาพแบบนี้ในสงครามอิรัก และประเทศเจ้าอาณานิคมเก่าอื่นๆ เช่นฝรั่งเศสหรือฮอลแลนด์ก็ต้องรวมตัวกับเยอรมันในสหภาพยุโรป (อียู)ถึงจะมีอำนาจในเวทีโลกได้

หลายคนเข้าใจผิดว่าจักรวรรดินิยมมีแค่สหรัฐอเมริกา แต่จีนกับรัสเซียก็เป็นมหาอำนาจในระบบจักรวรรดินิยมด้วย และทั้งจีนกับรัสเซียเป็นประเทศทุนนิยมที่กดขี่ขูดรีดแรงงานของตน และสร้างกองทัพเพื่อข่มขู่ประเทศอื่นๆ ไม่ต่างจากสหรัฐ ดังนั้นเราชาวมาร์คซิสต์จะไม่มีวันเข้าข้างประเทศหรือชนชั้นปกครองของจีน หรือรัสเซีย โดยหลงคิดว่าการต้านสหรัฐโดยรัสเซียหรือจีนเป็นสิ่ง “ก้าวหน้า” มันไม่ใช่เลย คนที่คิดแบบนี้เป็นแค่คนที่ต้องการพึ่งนักเลงกลุ่มหนึ่งเพื่อต่อต้านนักเลงอีกกลุ่มเท่านั้น มันไม่นำไปสู่เสรีภาพหรือการปลดแอกแต่อย่างใด และมันเป็นการมองข้ามพลังของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อไปเชียร์ชนชั้นปกครอง

กลับมาเรื่องความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนและเรื่องเกาะไต้หวัน เมื่อแนนซี เพโลซี ตั้งใจท้าทายจีนด้วยการเยือนเกาะไต้หวัน จีนก็โต้ตอบด้วยการประกาศว่าถ้าจีนอยากบุกยึดเกาะไต้หวัน จีนก็ทำได้เสมอ นอกจากนี้มีการสำแดงพลังกันทั้งสองฝ่ายด้วยการส่งเครื่องบินรบและเรือรบไปท้าทายอีกฝ่ายในเชิงสัญลักษณ์ และสหรัฐพยายามสร้างแนวร่วมทางทหารเพื่อต้านจีน (The Quad) ที่ประกอบไปด้วยออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น กับสหรัฐ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็น “นาโต้เอเชีย”

รัฐบาลสหรัฐเริ่มหันไปให้ความสนใจกับเอเชียอีกครั้งหลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงตั้งแต่ยุคของโอบามา โอบามาเปลี่ยนนโยบายระหว่างประเทศโดยการหันไปทางตะวันออก และกำหนดให้ 60% ของกองกำลังทหารสหรัฐหันหน้าไปทางจีน

ถ้าเราเข้าใจนโยบายของสหรัฐตรงนี้เราจะเข้าใจได้ว่าในกรณีสงครามยูเครน สหรัฐกับนาโต้หนุนรัฐบาลยูเครนด้วยอาวุธ เพื่อทำลายหรือลดอำนาจของรัสเซีย โดยที่เป้าหมายหลักอยู่ที่การพิสูจน์ความเข้มแข็งของสหรัฐและนาโต้ให้จีนดู นั้นคือสิ่งที่สะท้อนว่าระบบจักรวรรดินิยมมันครอบคลุมโลกและเชื่อมโยงจุดต่างๆ เข้าด้วยกัน และความก้าวร้าวของสหรัฐทั้งในยุโรปและเอเชียตอนนี้ มาจากความกลัวของสหรัฐว่าอำนาจทางเศรษฐกิจกำลังลดลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น สหรัฐจึงพึ่งอำนาจทางทหารมากขึ้น

ในทศวรรษที่80 จีนเป็นเศรษฐกิจที่เล็กถ้าเทียบกับส่วนอื่นๆ ของโลก คือแค่2%ของเศรษฐกิจโลก แต่การขยับสู่กลไกตลาดและการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน นำไปสู่การขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในอุตสาหกรรมส่งออก 60% เป็นทุนเอกชน แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ บ่อยครั้งเศรษฐีใหญ่ของจีนเป็นลูกหลานญาติพี่น้องของผู้ดำรงตำแหน่งสูงในพรรคคอมมิวนิสต์อีกด้วย ในปี 2011 ชนชั้นปกครองจีนแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาที่ประกอบไปด้วยเศรษฐีรวยที่สุด70คน ในขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำในสังคมก็พุ่งสูงขึ้น มันไม่ใช่ว่ากรรมาชีพจีนคุมการเมืองหรือรัฐแต่อย่างใด

การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเปิดโอกาสให้รัฐบาลขยายกำลังทหารและอาวุธอย่างรวดเร็วจ จาก20พันล้านดอลลาร์ในปี 1989 เป็น 266พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 แต่งบประมาณทางทหารของจีนเทียบเท่าแค่ 1/3ของงบประมาณสหรัฐ จีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินแค่ 2 ลำ ในขณะที่สหรัฐมี 11 ลำ

ตอนนี้จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกและเป็นอำนาจทางทหารที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองด้วย เราจึงไม่แปลกใจที่ชนชั้นปกครองสหรัฐมองว่าจีนคือคู่แข่งหลักในเวทีโลกซึ่งเป็นเวทีจักรวรรดินิยม พร้อมกันนั้นสหรัฐและแนวร่วมก็เปิดศึกทางการทูตด้วยการวิจารณ์จีนในเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่นกรณีชาวอุยกูร์หรือกรณีฮ่องกง และทั้งๆ ที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนในสองกรณีนี้จริง แต่สหรัฐและประเทศตะวันตกไม่เคยจริงใจในการปกป้องสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด ดูได้จากการที่ตำรวจสหรัฐฆ่าคนผิวดำ หรือการที่สหรัฐปกป้องและสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของอิสราเอลเป็นต้น

ถ้าดูกรณีไทย การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทำลายประชาธิปไตยของพวกทหารเผด็จการ อาจถูกวิจารณ์อย่างอ่อนๆจากสหรัฐ แต่ล้วนแต่เป็นเรื่องนามธรรม เพราะรัฐบาลสหรัฐยังร่วมมือทางทหารกับไทย ส่วนเผด็จการจีนก็ไม่สนใจเรื่องแบบนี้ ทั้งจีนกับสหรัฐสนใจจะดึงรัฐบาลไทยมาเป็นพรรคพวกมากกว่าเรื่องอุดมการณ์

อย่างไรก็ตามในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ รัฐและกลุ่มทุนทั้งแข่งขันและร่วมมือกันพร้อมๆ กัน มาร์คซ์ เคยเขียนเรื่องความขัดแย้งดังกล่าวว่าพวกนายทุนเป็น “พี่น้องที่ตีกันอย่างต่อเนื่อง”

ในด้านเศรษฐกิจ ไต้หวันผูกพันกับจีนโดยที่ไต้หวันเป็นแหล่งผลิตชิปคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุด และชิ้นส่วนดังกล่าวใช้ในการประกอบคอมพิวเตอร์ที่จีน เพื่อส่งออกให้ตะวันตกและส่วนอื่นของโลก และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของจีนไปสู่สหรัฐมีความสำคัญกับทั้งจีนและสหรัฐ ยิ่งกว่านั้นเงินรายได้ของจีนจากการส่งออกก็ถูกนำไปลงทุนในสหรัฐอีกด้วย นอกจากนี้ทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งสำคัญระหว่างจีนกับสหรัฐ เป็นเส้นทางขนส่งที่สำคัญมากสำหรับเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจของประเทศตะวันตก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่จีนกับสหรัฐผูกพันกันทางเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่ได้แปลว่าไม่มีความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และทหาร และไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิดสงคราม ไม่ได้แปลว่าโลกไม่ได้เสี่ยงจากการปะทะกันทางอาวุธ เพราะถ้าเกิดสถานการณ์ที่เพิ่มความตึงเคลียดและทั้งสองฝ่ายไม่ยอมถอยโดยมองว่าอีกฝ่ายจะขยายอิทธิพลและท้าทายผลประโยชน์ของฝ่ายตัวเอง อย่างที่เราเห็นในกรณียูเครน ก็เกิดสงครามได้ และสงครามดังกล่าวเสี่ยงกับการขยายไปสู่สงครามนิวเคลียร์อีกด้วยเพราะจะเป็นสงครามระหว่างมหาอำนาจโดยตรง

มันไม่จบอยู่ที่ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความขัดแย้งเรื่องเกาะต่างๆ และพื้นที่ทะเล และรัฐบาลต่างๆ กำลังสะสมอาวุธอย่างเร่งด่วน เราเห็นว่าในไทยกองทัพเรือประกาศว่าจะต้องซื้อเรือดำน้ำเพื่อแข่งกับประเทศรอบข้าง

แล้วเรื่องไต้หวัน เราจะเข้าใจประเด็นการเมืองและหาจุดยืนอย่างไร?

ในปี 1949 เหมาเจ๋อตุงนำการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไปสู่ชัยชนะ แต่การปฏิวัติครั้งนั้นไม่ใช่การปฏิวัติสังคมนิยมแต่อย่างใด เพราะไม่ได้นำโดยชนชั้นกรรมาชีพเลย นำโดยกองทัพแดงแทน มันเป็นการปฏิวัติ “ชาตินิยม” ที่ปลดแอกจีนจากอิทธิพลของญี่ปุ่นและตะวันตก และมันนำไปสู่การสร้างระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ”

เจียง ไคเชก กับ ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์

หลังการปฏิวัติจีนพรรคก๊กมินตั๋ง (หรือ “กั๋วหมินต่าง”) ของเจียง ไคเชก คู่ขัดแย้งของพรรคคอมมิวนิสต์ ได้หนีไปอยู่บนเกาะไต้หวันและปกครองเกาะด้วยเผด็จการทหาร ตอนนั้นกองทัพจีนยังไม่เข้มแข็งพอที่จะยึดเกาะ และในช่วงสงครามเย็นสหรัฐอเมริกาก็เข้ามาหนุนเจียง ไคเชก แต่เวลาผ่านไปหลายสิบปี การต่อสู้ของกรรมาชีพและประชาชนในไต้หวันท่ามกลางการพัฒนาเศรษฐกิจ สามารถล้มเผด็จการและขยายพื้นที่ประชาธิปไตยได้สำเร็จ และกรรมาชีพเริ่มมีสิทธิเสรีภาพพอๆ กับประเทศทุนนิยมตะวันตก

อย่างไรก็ตามเกาะไต้หวันและประชาชนกลายเป็นเหยื่อของความขัดแย้งระหว่างจีนที่อ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และสหรัฐที่ต่อต้านการขยายตัวของจีน แน่นอนประชาชนในไต้หวันเป็นคนเชื้อสายจีน แต่ถ้ารัฐบาลจีนเข้ามายึดเกาะ สิทธิเสรีภาพที่เคยได้มาจากการต่อสู้ของประชาชนก็จะถูกทำลายโดยเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคการเมืองกระแสหลักของไต้หวันแบ่งเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายที่มองว่าน่าจะค่อยๆ รวมชาติกับจีน และฝ่ายที่ต้องการให้ไต้หวันเป็นประเทศอิสระ อย่างไรก็ตามทั้งสองพรรคนี้ไม่ได้ยึดถือประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพเป็นหลัก และที่สำคัญคือถ้าไต้หวันจะเป็นประเทศอิสระก็จะเป็นอิสรภาพจอมปลอมภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ

ทางออกสำหรับประชาชนและกรรมาชีพไต้หวันจากการเป็นเหยื่อของความขัดแย้งจักรวรรดินิยม คือกรรมาชีพและนักสังคมนิยมไต้หวันจะต้องสมานฉันท์กับกรรมาชีพบนแผ่นดินใหญ่จีนในการต่อสู้กับชนชั้นปกครองจีน เพื่อสร้างสังคมใหม่ที่ไม่ใช่ทุนนิยม โดยไม่หวังพึ่งสหรัฐอเมริกา ทุกวันนี้กรรมาชีพจีนอยู่ในสภาพความขัดแย้งทางชนชั้นกับรัฐบาลจีนอย่างต่อเนื่องในยุคปัจจุบัน

ท่ามกลางความขัดแย้งจักรวรรดินิยมระหว่างจีนกับสหรัฐ ฝ่ายซ้ายทั่วโลกมีจุดยืนที่แตกต่างกัน แบ่งได้เป็นสามจุดยืนคือ

  1. พวกที่แก้ตัวแทนจีน โดยอ้างว่าจีน “ก้าวหน้า” กว่าสหรัฐ อ้างว่าจีนยังเป็นสังคมนิยม และอ้างว่าจีนไม่ใช่จักรวรรดินิยม พวกนี้เป็นพวกที่ปิดหูปิดตาถึงลักษณะทุนนิยมของจีน การกดขี่ขูดรีดกรรมาชีพของชนชั้นปกครองจีน และการที่รัฐบาลจีนเบ่งอำนาจกับฮ่องกง ทิเบต ไต้หวัน ฝ่ายซ้ายพวกนี้เป็นพวกที่เลือกเข้าข้างโจรกลุ่มหนึ่งเพื่อต่อต้านโจรอีกกลุ่มหนึ่ง โดยลืมว่าพลังหลักที่จะผลักดันสังคมให้ก้าวหน้าและล้มทุนนิยมคือชนชั้นกรรมาชีพ จีนไม่เคยเป็นสังคมนิยม และเมื่อทุนนิยมโดยรัฐพัฒนาเศรษฐกิจจีนได้ ก็มีการหันหน้าออก เน้นกลไกตลาด และใช้พลังทางเศรษฐกิจเพื่อบุกเข้าไปแข่งขันในตลาดโลก ซึ่งอาศัยการขูดรีดแรงงานหนักขึ้น
  2. พวกฝ่ายซ้ายที่เชียร์ตะวันตก เพราะมองว่า “ไม่แย่เท่าจีน” พวกนี้มองแค่เปลือกภายนอกของระบบประชาธิปไตย และสภาพแรงงานในตะวันตกเท่านั้น ซึ่งแน่นอนการมีประชาธิปไตย สิทธิแรงงาน และรัฐสวัสดิการในบางประเทศ (ไม่ใช่สหรัฐ) เป็นเรื่องสำคัญที่จับต้องได้ แต่แค่นั้นไม่พอที่จะทำให้เรา “เลือกนาย” จากชนชั้นปกครองตะวันตก และเราต้องไม่ลืมด้วยว่าสหรัฐเป็นมหาอำนาจตะวันตกที่มีกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งนำไปสู่การก่อสงครามจักรวรรดินิยมโดยสหรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ซึ่งกองทัพดังกล่าว หรือแนวร่วมทหารของนาโต้ ไม่เคยมีประโยชน์อะไรเลยกับกรรมาชีพในตะวันตก ตรงกันข้ามมันนำไปสู่การเพิ่มงบประมาณทางทหารในขณะที่มีการตัดงบประมาณสาธารณสุขหรือรัฐสวัสดิการ และมันนำไปสู่การเกณฑ์กรรมาชีพไปล้มตายในสงครามเพื่อผลประโยชน์ของนายทุน
  3. ฝ่ายซ้ายที่ยังไม่ลืมจุดยืนมาร์คซิสต์และจุดยืนสากลนิยม จะมองว่าความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจจักรวรรดินิยม โดยที่จีนขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ในโลกปัจจุบัน นักมาร์คซิสต์มองว่ากรรมาชีพไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะฝ่าย “ของเรา” คือกรรมาชีพในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐ ยุโรป หรือไทย และชนชั้นกรรมาชีพโลกนี้มีพลังซ่อนเร้นที่จะล้มระบบทุนนิยมและระบบจักรวรรดินิยม

ในระบบจักรวรรดินิยมปัจจุบัน ในรอบ20ปีที่ผ่านมา แทนที่เราจะเห็นแค่สหรัฐเบ่งอำนาจกับประเทศเล็กๆ เราเห็นความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจโดยตรง ซึ่งเสี่ยงกับการเกิดสงครามใหญ่มากขึ้นอย่างน่ากลัว แต่ที่สำคัญคือความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจจักรวรรดินิยมมีต้นกำเนิดจากวิกฤตของระบบทุนนิยมที่มีหลายรูปแบบเช่น วิกฤตโลกร้อน วิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาเงินเฟ้อ

เราชาวสังคมนิยมจะต้องขยันในการเปิดโปงและวิจารณ์ระบบทุนนิยมและระบบจักรวรรดินิยม ต้องเข้าใจและเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ เพื่อปลุกระดมมวลชนให้เห็นภาพจริงและออกมาต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของกรรมาชีพทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านสงคราม การสนับสนุนการนัดหยุดงานเพื่อค่าจ้างเพิ่ม การประท้วงโลกร้อน การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และในที่สุดการต่อสู้เพื่อล้มทุนนิยมและสร้างสังคมนิยม ภาระงานอันยิ่งใหญ่นี้ย่อมทำไม่ได้ถ้าเราไม่พยายามสร้างพรรคปฏิวัติ

ใจ อึ๊งภากรณ์