มนุษย์กับประวัติศาสตร์ภูมิอากาศโลก

ใจ อึ๊งภากรณ์ เรียบเรียงจากบทความของ Camilla Royle

การดำรงอยู่ของมนุษย์ในรอบหมื่นกว่าปีหลังยุคน้ำแข็งอยู่ในสมัย “โฮโลซีน” ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศน์ที่ค่อนข้างคงที่ถ้าเทียบกับยุคก่อน แต่ในปัจจุบันนักธรณีวิทยาเริ่มนิยามยุคปัจจุบันว่าเป็นยุค “แอนโทรโปซีน” ซึ่งหมายถึงสมัยที่การกระทำของมนุษย์มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก อย่างที่ไม่เคยเป็นในอดีต

การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหา “โลกร้อน” ที่มาจากการที่มนุษย์ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกซ์ไซด์ จากการเผาเชื้อเพลิงคอร์บอน เป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ เช่นการละลายของน้ำแข็งในขั้วโลก การเพิ่มกรดในทะเล การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์และระบบนิเวศน์ ซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบต่อเรา ต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และต่อระบบการเกษตร มันมากกว่าแค่ “วิกฤต” เพราะมันจะไม่หายไปด้วยตัวมันเอง และอาจอยู่กับโลกตลอดไป

ประเด็นสำคัญที่นักมาร์คซิสต์จะต้องเน้นคือ มันเป็นปัญหาของทุนนิยม และระบบที่ “การสะสมเพื่อกำไร”เป็นพระเจ้าที่ครองสังคมมนุษย์ อย่างที่ คาร์ล มาร์คซ์ เคยอธิบาย

จริงๆ แล้วการเสนอว่าวิถีชีวิตของมนุษย์มีผลต่อภูมิอากาศและระบบนิเวศน์โลก เป็นข้อเสนอที่เริ่มจากนักวิทยาศาสตร์โซเวียตในปี 1945 โดยที่ Aleksei Pavlov และ Vladimir Vernadsky พูดถึงมนุษย์ว่ากลายเป็น “พลังทางธรณี”

ในหมู่คนที่เป็นห่วงและสนใจปัญหาโลกร้อน มีนักเคลื่อนไหวบางคนที่เสนอว่ายุค “แอนโทรโปซีน” เกิดขึ้นตั้งแต่มนุษย์เริ่มเดินบนโลก ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงวิกฤตทางธรณีวิทยาที่กำลังเกิดจากระบบทุนนิยม มันนำไปสู่ทางตัน เพราะโทษมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ชนชั้นใด ว่ามีส่วนร่วมในการก่อปัญหา และมีข้อเสนอเดียวคือเราในฐานะปัจเจกต้องลดการบริโภค ในขณะที่มนุษย์จำนวนมากบริโภคไม่พอ มันเป็นคำอธิบายที่โทษ “ธรรมชาติมนุษย์” และเสนอว่าเราต้องหาวิธีทางเทคนิคเพื่อแก้ปัญหา นอกจากนี้มันมาจากมุมมองว่ามนุษย์เป็นพลังพิเศษที่แยกออกจากธรรมชาติของโลกได้ มันเป็นแนวคิดประเภท “หลังสมัยใหม่” หรือ “หลังยุคการเมือง” ที่ปฏิเสธความคิดทางการเมือง

แต่นักมาร์คซิสต์ตั้งแต่ยุคมาร์คซ์ จะใช้ “วิภาษวิธี” มองภาพรวมของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม โดยเข้าใจว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ธรรมชาติมีผลกระทบต่อเรา และเรามีผลกระทบต่อธรรมชาติเสมอ [ http://bit.ly/2aj5st3 %5D

นักวิจารณ์คนสำคัญของฝ่ายซ้ายในปัจจุบันที่พูดถึงปัญหายุค “แอนโทรโปซีน” คือ Andreas Malm (อันเดรอัส มาล์ม) จากมหาวิทยาลัยลุนด์ในประเทศสวีเดน มาล์ม เสนอว่ายุค “แอนโทรโปซีน” เริ่มจากการใช้ถ่านหินและเครื่องจักรไอน้ำ ซึ่งทิศทางการพัฒนาในการปฏิวัติอุตสาหกรรมทุนนิยมนี้ ได้รับผลโดยตรงจากการต่อสู้ทางชนชั้น และการที่นายทุนต้องการจะควบคุมปัจจัยการผลิต เขาเน้นว่าปัญหาโลกร้อนคือปัญหาทางการเมือง และมนุษย์ทุกคนไม่ได้ก่อให้มันเกิดขึ้น เราต้องโทษชนชั้นที่ควบคุมระบบการผลิตมากกว่า [http://bit.ly/1IJYR4J]

แต่จุดอ่อนของ มาล์ม คือเขามองแค่สังคมมนุษย์ แต่ไม่ให้ความสนใจกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเท่าที่ควร เราต้องหาทางวิเคราะห์ทั้งสองเรื่องพร้อมกัน

แน่นอน ระบบทุนนิยมปัจจุบันเกิดขึ้นจากการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมในระบบทุนนิยม แตกต่างจากความสัมพันธ์ในยุคก่อนทุนนิยม เพราะในปัจจุบันกลไกตลาดบังคับให้กลุ่มทุนต่างๆ แข่งขันกันเพื่อสะสมทุนมากขึ้นตลอดเวลา ในระบบนี้คนธรรมดาทั่วโลกไม่สามารถวางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองเพื่อมนุษย์ และไม่สามารถวางแผนการผลิตในรูปแบบที่จะไม่นำไปสู่การทำลายโลกได้

พูดง่ายๆ ระบบนิเวศน์และภูมิศาสตร์ปัจจุบัน มีลักษณะพิเศษอันเนื่องมาจากระบบทุนนิยม ดังนั้นเราควรมองว่ายุคทุนนิยมและยุค “แอนโทรโปซีน” เป็นเรื่องเดียวกัน และเราไม่ควรลืมว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์

นักวิทยาศาสตร์หลายคนกำลังเตือนเราว่าถ้าเราไม่รีบเปลี่ยนแปลงสภาพของ ยุค “แอนโทรโปซีน” มนุษย์เองอาจสูญพันธ์ หรืออย่างน้อยข้อดีของโลกที่พัฒนาและมีอารยะธรรมอาจหายไปหมด มันแปลว่าเราจะต้องเคลื่อนไหวล้มระบบทุนนิยม เพื่อปลดแอกมนุษย์จากสังคมชนชั้น และเพื่อปกป้องโลกกับระบบนิเวศน์พร้อมกัน

สำหรับนักนิเวศวิทยาฝ่ายซ้ายอย่าง John Bellamy Foster เราจะต้อง “ปฏิวัติระบบนิเวศน์” และ “ปฏิวัติระบบทุนนิยม” อย่างเร่งด่วน

[บทความนี้เรียบเรียงจากบทความของ Camilla Royle http://bit.ly/2aGcSun %5D