เก็บตกจากสัมนาปารีส กรัมชี่ กับ การสร้างฉันทามติในสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในงานสิบปีรัฐประหาร ๑๙ กันยาที่ปารีส มีประเด็นข้อตกเถียงที่น่าสนใจหลายประการ ผู้เขียนจะขอสรุปบางประเด็นตามความสนใจและมุมมองของผู้เขียนเอง แต่คนที่อยากศึกษาประเด็นเหล่านี้อย่างรอบด้านควรไปพยายามอ่านความเห็นของคนอื่นด้วย โดยเฉพาะคนที่มองต่างมุมกับผม

อ. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อธิบายว่าในช่วงประมาณ 20 ปีก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยา สังคมไทยค่อนข้างจะไร้ข้อขัดแย้งทางการเมือง คือมี “ฉันทามติ” ภายใต้แนวคิดรักเจ้า

ตรงนี้น่าจะเป็นการ “สรุป” ภาพรวม เพราะสำหรับประชาชนมาเลย์มุสลิม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในปาตานี มันคงจะไม่มีฉันทามติแบบนี้เลย แต่ผมจะขอข้ามประเด็นนี้ไป

จริงๆ แล้วสำหรับนักมาร์คซิสต์ “ฉันทามติ” ทางการเมืองและสังคมไม่เคยมีในสังคมใดเลย เพราะมันมีความขัดแย้งทางชนชั้นเสมอ ซึ่งบางครั้งเปิดเผย และบางครั้งซ่อนเร้น การที่ความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ระหว่างนายทุนกับกรรมาชีพ หรือคนรวยกับคนจน จะระเบิดออกมาหรือดูเหมือนเงียบไป มันขึ้นอยู่กับความมั่นใจในการเคลื่อนไหวของคนชั้นล่าง และการปราบปรามหรือการเอาใจคนชั้นล่างโดยชนชั้นปกครอง สภาพเศรษฐกิจก็มีส่วนด้วย

ภาพของ “ฉันทามติ” ที่ อ.สมศักดิ์พูดถึงในไทยนี้ ผมอธิบายว่ามาจากความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และการที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวจนประชาชนจำนวนมากมีชีวิตที่ดีขึ้นบ้าง ทั้งๆ ที่อาจได้ประโยชน์ตรงนี้น้อยกว่าพวกนายทุน คนรวย หรือชนชั้นกลาง

ทั้งๆ ที่ อ.สมศักดิ์ มองว่าในประชาธิปไตยตะวันตกมี “ฉันทามติ” ทางการเมือง แต่ในความเป็นจริงมีการแบ่งแยกการเมืองระหว่างสายแรงงานกับสายนายทุนมาตลอด และท่ามกลางปัญหาที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 มีกระแสไม่พอใจกับการเมืองกระแสหลักมากมาย จนเกิดการแยกขั้วอย่างรุนแรง ในบางประเทศฝ่ายซ้ายใหม่เพิ่มคะแนนนิยม ในบางประเทศพรรคฟาสซิสต์ก็มาแรง และแนวสุดขั้วเหล่านี้ไม่ได้เห็นด้วยกับระบบประชาธิปไตยกระแสหลักเท่าไร ยิ่งกว่านั้นฝ่ายชนชั้นปกครองยุโรปก็ไม่เคารพประชาธิปไตย กรณีกรีซเป็นตัวอย่างที่ดี แม้แต่ในอังกฤษมีนายพลขู่ว่าถ้านักการเมืองฝ่ายซ้าย เจเรอมี คอร์บิน เป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพรรคแรงงาน อาจมีรัฐประหารเกิดขึ้น

ในอังกฤษและประเทศอื่นๆ ของยุโรป จะมีคนที่เห็นต่างกันอย่างรุนแรงในหลายเรื่อง เช่นเรื่องสหภาพยุโรป รัฐสวัสดิการ การทำสงคราม นโยบายรัดเข็มขัด หรือท่าทีต่อผู้ลี้ภัย ในสหรัฐก็ไม่ต่างออกไป นี่คือสาเหตุที่คะแนนนิยมนักการเมืองนอกกรอบมาแรงในยุคนี้ และนี่คือสาเหตุที่ประชาชนจำนวนมากในสหรัฐไม่เคยไปลงคะแนนเสียงในวันเลือกตั้งด้วย เพราะมองว่ามันไม่เปลี่ยนอะไร

ดังนั้นความขัดแย้งทางสังคมที่เราเห็นทุกวันนี้ในไทยเป็นเรื่องธรรมดา

ในประเทศสเปน ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเดือดร้อนสูงจากนโยบายรัดเข็มขัด เพราะคนจำนวนมากตกงาน พรรคฝ่ายซ้ายใหม่ Podemos วิวัฒนาการมาจากการประท้วงของคนหนุ่มสาวในจัตุรัสต่างๆ กลางเมือง [ดู http://bit.ly/293hWr1 ] แกนนำของพรรคนี้พยายามเสนอว่าเขาจะสร้าง “ฉันทามติ” ใหม่ โดยข้ามพ้นความเป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวา ยิ่งกว่านั้นพวกนี้จะอ้าง กรัมชี่ ซึ่งเป็นนักมาร์คซิสต์อิตาลี่ เพื่อให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่ตนเองเสนอ แต่มันเป็นการบิดเบือนกรัมชี่

กรัมชี่ เดิมเสนอความคิดเรื่อง hegemony หรือ “การครองความเป็นใหญ่ในสังคม” เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่ความคิดของชนชั้นปกครองกลายเป็นที่ยอมรับทั่วไป และมีข้อเสนอว่าฝ่ายชนชั้นกรรมาชีพและแนวร่วม ควรสร้างพลังเพื่อครองความเป็นใหญ่ทางความคิดและต้านความคิดของชนชั้นปกครอง และในเรื่องนี้กรัมชี่จะเน้นเรื่องชนชั้นและความขัดแย้งทางชนชั้นเสมอ ที่สำคัญคือ กรัมชี่ ไม่ได้เสนอความคิดนี้เพื่อสร้างสันติภาพในสังคมภายใต้ฉันทามติที่สร้างความสามัคคีระหว่างชนชั้นที่ขัดแย้งกัน และเขาต้องการเห็นชนชั้นกรรมาชีพเป็นใหญ่ในสังคมเพื่อสร้างสังคมนิยม

แต่แกนนำพรรค Podemos ปฏิเสธเรื่องชนชั้น และผลพวงของชนชั้น…คือความเป็น “ซ้าย” หรือ “ขวา” คือไม่พูดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับกรรมาชีพ เช่นรัฐสวัสดิการ สิทธิแรงงาน การเพิ่มฐานะความเป็นอยู่ของคนจนผ่านการขึ้นภาษีกับคนรวย หรือการต่อต้านคำสั่งจากกลุ่มอำนาจในสหภาพยุโรป ฯลฯ และวิธีการที่เขาใช้ในการบริหารพรรคคือการนำแบบเผด็จการภายในพรรค ทั้งนี้เพื่อกีดกันไม่ให้กระแสรากหญ้าที่เคยมีสามารถกำหนดนโนบายได้ แกนนำเท่านั้นจึงมีสิทธิ์กำหนดนโยบายที่คลุมเครือไม่มีรายละเอียดแต่ฟังดูดี

ที่นี้ อ.สมศักดิ์ ก็อ้าง กรัมชี่ ในลักษณะเหมือนกันกับ Podemos คือเสนอว่าเราควรสร้าง “ฉันทามติ” ร่วมกันกับพวกชนชั้นกลางสลิ่ม คือข้ามพ้นความขัดแย้งทางชนชั้นในไทยที่ปรากฏออกมาในรูปแบบความขัดแย้งเรื่องประชาธิปไตยระหว่างแดงกับเหลือง นอกจากนี้ อ.สมศักดิ์ ก็มองว่าแนวคิดมาร์คซิสต์เป็นเรื่องที่มาล้อกันได้ในที่ประชุมเพื่อพยายามให้คนที่มองต่างมุมถูกมองว่าเป็นตัวตลก ดูเหมือนอาจารย์ข้ามพ้นความคิดมาร์ซิสต์ไปแล้ว

การสร้าง “ฉันทามติ” ระหว่างสลิ่มชนชั้นกลางกับคนเสื้อแดงในไทย ในบริบทที่ไม่มีการสร้างพลังของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย ย่อมจบลงด้วยการประนีประนอมกับฝ่ายที่เกลียดประชาธิปไตยเพราะเกลียดคนจน ผลที่ออกมาคือประชาธิปไตยครึ่งใบเท่านั้น อ.สมศักดิ์ จริงใจในความพยายามที่จะหาทางไปสู่สันติภาพในไทย และจริงใจในการรักประชาธิปไตย แต่เนื่องมาจากเขาไม่เคยสนใจและไม่เคยมั่นใจในพลังมวลชน เขาจึงถึงทางตัน

อีกคนหนึ่งที่ดูเหมือนอยากคุยกับฝ่ายตรงข้าม เพราะไม่มุ่งสร้างขบวนการมวลชนคือ รังสิมันต์ โรม [ดู http://bit.ly/2dizkuE %5D

วิธีสร้างประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพในไทยที่ยั่งยืน คือการสร้างพลังมวลชนในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย พร้อมๆ กับการสร้างพรรคซ้ายที่เน้นผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมาชีพ เกษตรกรรายย่อย และคนจน และถ้าพลังของขบวนการนี้เข้มแข็งพอเมื่อไร เราจะกดดันให้ชนชั้นกลางหลายส่วน หันมาสนับสนุนเราได้ภายใต้เงื่อนไขของเรา ไม่ใช่ภายใต้เงื่อนไขของพวกที่เกลียดประชาธิปไตย ชนชั้นกลางไม่เคยเป็นกลุ่มก้อนที่มั่นคงและสามัคคี แต่เป็น “กลุ่มชนชั้น” ที่กระจัดกระจาย และจุดยืนทางการเมืองมักแกว่งไปมาเสมอ ยุคหนึ่งสนับสนุนเผด็จการ ยุคหนึ่งสนับสนุนคนชั้นล่าง ขึ้นอยู่กับพลังของสองชนชั้นที่อยู่เหนือและใต้ชนชั้นของเขา

พลังการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องสร้างบนรากฐานขบวนการเสื้อแดงเก่า ประชาชนสิบล้านคนที่ปฏิเสธรัฐธรรมนูญทหาร และนักศึกษาก้าวหน้า ที่สำคัญคือต้องสร้างขบวนการที่มีการนำอิสระจากอิทธิพลของพรรคเพื่อไทยและทักษิณ

14480594_10207643228419481_7044129971385575274_o

การสร้างขบวนการดังกล่าวจะใช้เวลา และตราบใดที่ยังอ่อนแออยู่ ระดับการต่อต้านเผด็จการจะไม่สูง ซึ่งแปลว่าคำพูดของ อ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักประชาธิปไตยอีกคนหนึ่ง ที่พูดในงานสัมมนาที่ปารีส และเสนอว่า “สังคมไทยใกล้จะระเบิด” คงไม่เป็นอย่างนั้นจริง

นอกจากเรื่อง “ฉันทามติ” แล้ว การมองข้ามพลังของมวลชน มักพาคนไปหลงเชื่อว่ากษัตริย์ไทยมีอำนาจทางการเมือง อ.สมศักดิ์ มองต่างมุมกับผมว่ากษัตริย์เป็นแค่คนที่ถูกทหารใช้ [ดู http://bit.ly/1OtUXBm   http://bit.ly/2cAODfC  http://bit.ly/2cnQepl  ]

เขาเสนอว่า “อำนาจ” เป็นเรื่องซับซ้อน เขาเสนอว่าคนที่ไม่มีใครวิจารณ์ได้มีอำนาจสูง แต่กษัตริย์ไม่ต้องออกคำสั่งอะไรอย่างตรงไปตรงมา ผมก็เลยเถียงกลับไปว่า “พระเจ้า” ก็เหมือนกัน แต่นอกจากพระเจ้าไม่มีจริงแล้ว และอำนาจพระเจ้าจึงไม่มีจริง แต่พระเจ้าก็ยังเป็นสิ่งที่นักการเมืองและชนชั้นปกครองใช้เป็นเครื่องมือที่ให้ความชอบธรรมกับตนเอง

ในเรื่องที่ผมปฏิเสธแนวคิดเรื่อง “รัฐพันลึก”  [ ดู http://bit.ly/2a1eP01 ]  มีคนไทยคนหนึ่งถามผมเพิ่มเติมและผมก็อธิบายให้ฟังตามที่เคยเขียนไว้ แต่ภาพหนึ่งที่ อ.สมศักดิ์ฉายที่ปารีส ในเรื่องจำนวนรัฐประหารของประเทศไทย ทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่าข้อมูลอีกชิ้นหนึ่งที่ท้าทายทฤษฏีรัฐพันลึกคือ ในอดีตมีหลายครั้งที่พวกทหารทำรัฐประหารกันเองอันเนื่องจากความแตกแยกในกองทัพ นี่ไม่ใช่ลักษณะของการมีรัฐพันลึกแต่อย่างใด

สุดท้ายนี้ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบ อ.สมศักดิ์ และ อ.ปวิน ที่ปารีส และผมหวังว่าทั้งสองท่านจะมีความสุขต่อไปในชีวิตที่อาจลำบากเพราะความกล้าหาญของเขา ผมหวังด้วยว่าทั้งสองท่านคงจะเข้าใจว่าที่ผมเถียงด้วยในบทความนี้ ไม่ได้สะท้อนอคติส่วนตัวแต่อย่างใด ประชาธิปไตยไทยจะรุ่งเรืองได้ก็ต่อเมื่อมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างเสรีในเรื่องความคิดได้