Tag Archives: เสื้อแดง

บทเรียนจากความพ่ายแพ้ชั่วคราว

นักสังคมนิยมมาร์คซิสต์ต้องพยายามพูดความจริงเรื่องสภาพการเมือง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่พวกเราต้องการฟังหรือไม่ ความจริงที่เราต้องพูดตอนนี้คือ การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยรอบปัจจุบันที่นำโดยคนหนุ่มสาวมาถึงจุดพ่ายแพ้นานแล้ว ซึ่งความพ่ายแพ้นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะแกนนำไม่กล้าหาญและไม่พร้อมจะเสียสละแต่อย่างใด

เพื่อให้ความพ่ายแพ้นี้เพียงแต่เป็นความพ่ายแพ้ชั่วคราว เราจะต้องมาสรุปบทเรียนจากการต่อสู้ที่ผ่านมา ในอนาคตเราจะได้รื้อฟื้นการต่อสู้กับเผด็จการรอบใหม่โดยมีความหวังว่าจะได้รับชัยชนะ

จากจุดสูงสุดของการต่อสู้ที่นำโดยคนหนุ่มสาวในเดือนสิงหาคม/กันยายน ๒๕๖๓ ที่มีมวลชนออกมาประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสนามหลวงเป็นหมื่นเป็นแสน ปัจจุบันเราเห็นแกนนำคนหนุ่มสาวหลายสิบคนติดคุกหรือติดคดีร้ายแรงโดยเกือบจะไม่มีการประท้วงใดๆ และถ้ามีก็แค่เป็นการประท้วงเชิงสัญลักษณ์เท่านั้นหรือไม่ก็เป็นการออกมารำลึกถึงอาชญากรรมของรัฐทหารต่อคนเสื้อแดง หรือผู้ประท้วงในเหตุพฤษภา ๓๕

ก่อนอื่นเราต้องทบทวนดูภาพระยะยาวของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและวิกฤตการเมืองในไทยตั้งแต่การก่อรัฐประหารต่อรัฐบาลทักษิณเมื่อ ๑๙ กันยา ๒๕๔๙ ซึ่งเป็น “รัฐประหารเพื่อคนรวย”

รัฐประหารครั้งนั้นนำไปสู่วิกฤตการเมืองที่ยังไม่จบ และเป็นการเปิดศึกทางชนชั้นของชนชั้นนายทุนอนุรักษ์นิยมและอภิสิทธิ์ชน ต่อชนชั้นกรรมาชีพและเกษตรกร และการโต้กลับของคนเสื้อแดง และในที่สุดของคนหนุ่มสาว ก็ถือว่าเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นเช่นกัน

แต่การต่อสู้ทางชนชั้นที่เกิดขึ้นไม่ใช่การต่อสู้ทางชนชั้นที่ “บริสุทธิ์” เพราะบ่อยครั้งในโลกจริงการต่อสู้ทางชนชั้นบริสุทธิ์ไม่ได้เกิดขึ้น แต่มีเรื่องซับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง

การต่อสู้ทางชนชั้นในวิกฤตการเมืองไทยปัจจุบัน เกิดขึ้นหลังจากที่นักการเมืองนายทุนชื่อทักษิณ ชินวัตร พยายามนำคนระดับล่างเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการเมืองประชาธิปไตย เพื่อให้เป็นฐานเสียงของพรรคไทยรักไทย นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน และการปลดหนี้เกษตรกร ล้วนแต่เป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์กับกรรมาชีพและเกษตรกร ในกรณีกรรมาชีพการที่ญาติพี่น้องของเขาได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องติดหนี้ มีประโยชน์มาก ทั้งๆ ที่กรรมาชีพเองมีประกันสังคมของตนอยู่แล้ว

แต่นโยบายของรัฐบาลไทยรักไทยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ชีวิตคนชั้นล่างดีขึ้นเท่านั้น มันเป็นนโยบายที่ทักษิณและพรรคพวกมองว่าจะประตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง และที่สำคัญคือจะทำให้สังคมทุนนิยมไทยพัฒนาและทันสมัย เพื่อการแข่งขันในตลาดโลกที่ดีขึ้น การพัฒนาโครงสร้างระบบคมนาคมที่พวกล้าหลังคัดค้าน ก็เป็นส่วนหนึ่งด้วย มันเป็นนโยบายที่ให้ประโยชน์กับนายทุนสมัยใหม่

นโยบายเหล่านี้สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งกับชนชั้นนายทุนอนุรักษนิยม ซึ่งรวมพวกทหารระดับสูง มันสร้างความไม่พอใจกับชนชั้นกลางสลิ่มอีกด้วย พวกนี้พึงพอใจมานานกับสังคมล้าหลังที่กีดกันคนธรรมดา ไม่ให้มีส่วนร่วมหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากรูปแบบการพัฒนาในอดีต ในกรณีสลิ่ม เขาไม่กล้าพูดตรงๆ ในเรื่องนี้ จึงต้องงัดเรื่อง “คอรัปชั่น” ขึ้นมาเป็นข้ออ้าง ทั้งๆ ที่ชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมกับทหาร มีประวัติอันยาวนานในการโกงกินหรือใช้อิทธิพล อาจมากกว่าทักษิณอีก และพวกสลิ่มมักจะเงียบเรื่องอาชญากรรมรัฐที่รัฐบาลทุกรัฐบาลในอดีตรวมถึงไทยรักไทยเคยทำไว้ ส่วนฝ่ายทหารเผด็จการก็มักจะอ้างว่าปกป้องสถาบันสูงสุดเพื่อให้ความชอบธรรมกับตนเองเสมอ

การที่ชนชั้นกลางสลิ่มสนับสนุนเผด็จการพิสูจน์ว่าทฤษฎีการพัฒนาประชาธิปไตยของพวกเสรีนิยมที่เน้นชนชั้นกลางใช้ไม่ได้

นโยบายของทักษิณและพรรคพวกทำให้ฐานเสียงของไทยรักไทยและพรรคการเมืองอย่างเช่นเพื่อไทย มีความมั่นคงจนพรรคอนุรักษ์นิยมเช่นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่สามารถแข่งได้ มันไม่มีวิธีที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะเอาชนะถ้าไม่โบกมือเรียกทหาร

เราจะเห็นได้ว่าการต่อสู้ทางชนชั้นในวิกฤตนี้เป็นการต่อสู้ทางชนชั้นที่บิดเบี้ยว เพราะฝ่ายคนชั้นล่างยอมรับการนำจากนายทุนอย่างทักษิณ และหลังจากที่ทักษิณต้องออกจากประเทศ ก็มีเศรษฐีนายทุนอีกคนหนึ่งคือธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เข้ามามีบทบาท สาเหตุสำคัญที่นายทุนได้รับการยอมรับแบบนี้ คือการล่มสลายก่อนหน้านั้นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) และกระแสฝ่ายซ้ายโดยทั่วไป มันจึงมีสุญญากาศทางการเมืองของฝ่ายซ้าย

สุญญากาศของฝ่ายซ้ายมีผลทำให้พวกล้าหลังเสื้อเหลืองสามารถสร้างอิทธิพลในสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบางแห่งได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การก่อตั้งของขบวนการเสื้อแดง ถึงการขึ้นมาของขบวนการคนหนุ่มสาวในภายหลัง การต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยนำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญๆ กับสถาบันต่างๆในสังคมไทย ตั้งแต่สถาบันสูงสุดไปถึงศาลและกองทัพ และนำไปสู่การตั้งคำถามกับระเบียบวินัยต่างๆ จากยุคเผด็จการ เช่นทรงผมนักเรียนเป็นต้น

และสิ่งที่เราไม่ควรลืมคือฝ่ายทหารเผด็จการกับพรรคพวกต้องใช้เวลาถึง 13 ปีหลังรัฐประหาร ๑๙กันยา เพื่อเปลี่ยนกติกาการเมืองก่อนที่มันจะครองอำนาจผ่านการเลือกตั้งจอมปลอมได้

จุดเด่นของขบวนการประชาธิปไตยในยุคนี้ โดยเฉพาะในยุคเสื้อแดง คือการสร้างขบวนการมวลชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และหลังการล่มสลายของเสื้อแดง ขบวนการคนหนุ่มสาวก็เคยดึงมวลชนออกมาเป็นหมื่นเป็นแสน

แต่เราต้องศึกษาจุดอ่อนที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ในที่สุด

ประเด็นแรกที่เราต้องศึกษาคือยุทธศาสตร์ในการต่อสู้ เพราะทั้งเสื้อแดงกับคนหนุ่มสาว ไม่ว่าเขาจะประกาศอ้างอะไร ก็ล้วนแต่ใช้ยุทธศาสตร์มวลชนสลับกับการตั้งความหวังในรัฐสภาทุนนิยม คือไม่มีเป้าหมายในการ “ล้มระบบ”

ในรูปธรรม การที่นักเคลื่อนไหวบางคนเสนอว่าสถาบันกษัตริย์มีอำนาจเหมือนสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ถือว่าเป็นการเสนอให้ “ล้มระบบ” เพราะนอกจากจะไม่จริงแล้ว ยังเป็นการปล่อยให้ทหาร ผู้มีอำนาจจริง ลอยนวล

ในกรณีเสื้อแดง นักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ต้องการกดดันให้พรรคการเมืองของทักษิณกลับมาเป็นเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาและตั้งรัฐบาลได้ เสื้อแดงจัดตั้งกันเองเป็นส่วนใหญ่ แต่ทักษิณมีอิทธิพลการนำทางการเมืองสูง ทั้งๆ ที่ทักษิณไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้งเสื้อแดง และในหลายช่วงทักษิณก็พยายามบอกเสื้อแดงให้ “นิ่ง” โดยหวังจะประนีประนอมกับชนชั้นปกครองฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ในกรณีขบวนการคนหนุ่มสาว ถึงแม้ว่าหลายคนมองว่าตนเองเป็นพวกอนาธิปไตยหรือฝ่ายซ้าย และไม่ได้ปลื้มนายทุนใหญ่อย่างทักษิณหรือแม้แต่ธนาธร ในที่สุดเมื่อการชุมนุมซ้ำๆ ของมวลชนไปถึงทางตัน คือไม่สามารถเขย่าอำนาจเผด็จการพอที่จะล้มมันได้ ก็หันมาชุมนุมแบบ “สร้างสรรค์” ที่ไร้พลัง เช่นการใช้เป็ดพลาสติกเป็นต้น และเมื่อสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ผลเช่นกันและทางเผด็จการรุกปราบด้วยการใช้กฎหมาย 112 ก็เหลือแค่การตั้งความหวังกับพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทยในรัฐสภา แต่ทั้งสองพรรคนี้ไม่ยอมคัดค้าน 112 ไม่ยอมพูดเป็นรูปธรรมเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่ยอมปลุกมวลชน และมักยอมรับกติกาประชาธิปไตยจอมปลอมของประยุทธ์ ที่มัดมือพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

จุดอ่อนประเด็นที่สองของทั้งเสื้อแดงและขบวนการคนหนุ่มสาว คือไม่ยอมศึกษาพลังทางเศรษฐกิจการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพ จึงไม่มีการลงไปจัดตั้งนักเคลื่อนไหวกรรมาชีพในขบวนการสหภาพแรงงาน เหมือนที่ พคท. และฝ่ายซ้ายอื่นเคยทำ ซึ่งจุดอ่อนนี้ทำให้ไม่มีการนัดหยุดงานเพื่อไล่เผด็จการและเปลี่ยนระบบอย่างที่เราเห็นในประเทศอื่น เช่นฮ่องกง เกาหลีใต้ หรือซูดาน ดังนั้นเรื่องมักจะจบลงที่รัฐสภาแทน และพรรคในรัฐสภาไม่สามารถทำอะไรได้มากและยังอาจโดน “รัฐประหาร” จากทหารหรือศาล ถ้าทำอะไรมากเกินไปอีกด้วย

การหันหลังให้กับขบวนการกรรมาชีพก็เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลเข้าไปดึงนักสหภาพแรงงานเข้ามาในกระบวนการรัฐสภาด้วย แทนที่จะปลุกระดมการต่อสู้ทางชนชั้น

ในเรื่องจุดอ่อนประเด็นที่สาม การที่ขบวนการเสื้อแดงและขบวนการคนหนุ่มสาวไม่มีเป้าหมายในรูปธรรมที่จะล้มระบบ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลย เพราะตอนนั้นและตอนนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองสังคมนิยมปฏิวัติ ที่มีอิทธิพลเพียงพอที่จะเสนอการนำแข่งกับสายความคิดอื่น เช่นสายความคิด “ปฏิรูป” ของพรรคก้าวไกลหรือพรรคกระแสหลักอื่นๆ และแนวคิดอนาธิปไตยอีกด้วย

การที่เราจะสร้างประชาธิปไตยแท้ในไทย ต้องผ่านการ “เปลี่ยนระบบ” โค่นอำนาจอนุรักษ์นิยมของทหารและนายทุน ดังนั้นต้องมีการพิจารณาแนวปฏิวัติสังคมนิยมที่เน้นพลังประชาธิปไตย “จากล่างสู่บน” เราใช้ความคิดของพรรคการเมืองกระแสหลักไม่ได้ เพราะพรรคเหล่านี้จะเน้นการทำงานในกรอบของสังคมที่ดำรงอยู่เสมอ

แนวคิดอนาธิปไตยก็ไม่สามารถท้าทายอำนาจเผด็จการอย่างจริงจังได้อีกด้วย ตัวอย่างรูปธรรมของแนวคิดนี้ในไทยคือ การอ้างโดยแกนนำคนหนุ่มสาวว่า “เราทุกคนคือแกนนำ” และการสร้าง “สหภาพคนทำงาน”

ในกรณีการอ้างว่า “เราทุกคนคือแกนนำ” เป็นการใช้คำขวัญที่หวังดี คือให้คนนำกันเองแทนที่จะให้คนอย่างทักษิณ ธนาธร หรือนักการเมืองกระแสหลักอื่น เข้ามานำ แต่ถ้าไม่มีการจัดตั้งทางการเมืองเพื่อให้มีการนำแบบรากหญ้าอย่างจริงจัง เช่นผ่านการตั้ง “สภาการประท้วง” และการเลือกแกนนำเป็นประจำ มันจะกลายเป็นแค่คำขวัญนามธรรม และในรูปธรรมแกนนำเดิมจะผูกขาดอำนาจ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ และการทำโพลทางอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีการถกเถียงเรื่องแนวทางแบบต่อหน้าต่อตา จะไม่แก้ไขปัญหาการผูกขาดการนำ

การสร้างสหภาพคนทำงาน โดยแนว “ลัทธิสหภาพอนาธิปไตย” เกิดจากความต้องการของคนหนุ่มสาวบางคนที่จะเห็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกระจายลงไปในขบวนการกรรมาชีพ และเขาหวังว่าในอนาคตจะมีการนัดหยุดงานต้านเผด็จการ แต่พวกเขามองว่าในสหภาพแรงงานโดยทั่วไปไม่มีการสร้างกระแสการเมืองก้าวหน้าเพียงพอและสร้างไม่ได้อีกด้วย

สหภาพคนทำงาน ไม่สามารถสร้างสหภาพแรงงานจริงที่ต่อสู้กับนายจ้างในสถานที่ทำงานได้ เพราะคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกต้องมีจุดยืนทางการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งคนส่วนใหญ่ในสถานที่ทำงานแต่ละแห่งไม่ได้มีความคิดแบบนั้น มันจะอ่อนแอกว่าสหภาพแรงงานธรรมดา นอกจากนี้องค์กรนี้ไม่สามารถปลุกระดมกรรมาชีพในสถานที่ทำงานที่มีสหภาพแรงงานอยู่แล้ว เพราะจะชวนให้คนออกจากสหภาพแรงงานเดิม ซึ่งจะไม่สำเร็จและจะสร้างความแตกแยก องค์กร สหภาพคนทำงานจึงไม่ใช่เครื่องมือที่สามารถใช้ในการปลุกระดมความคิดฝ่ายซ้ายในขบวนการแรงงานเพื่อสร้างกระแสนัดหยุดงานทางการเมืองได้ มันใช้แทนการสร้างพรรคไม่ได้

ภาระของเราชาวสังคมนิยมมาร์คซิสต์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คือการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ(หรือเตรียมพรรค)ให้ใหญ่ขึ้น เพื่อจะได้มีอิทธิพลเพียงพอจะที่จะเสนอแนวทางการต่อสู้และช่วยประสานการเคลื่อนไหวระหว่างขบวนการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการแรงงาน ขบวนการต้านเผด็จการ ขบวนการปกป้องนักโทษทางการเมือง ขบวนการสิทธิทางเพศ ขบวนการแก้ปัญหาโลกร้อน และขบวนการของสิทธิชาวบ้าน ฯลฯ เราจะได้เรียนรู้สรุปบทเรียนจากการต่อสู้และเสียสละของนักเคลื่อนไหวที่ผ่านมาในอดีต และนำมาใช้ในการต่อสู้รอบต่อไป เราจะได้รื้อฟื้นการต่อสู้และปกป้องไม่ให้การต่อสู้ของเพื่อนเราในอดีตจบแบบเสียเปล่า

ใจ อึ๊งภากรณ์

“สองไม่เอา”ในยุครัฐประหาร๑๙กันยา

ผมเคยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม “สองไม่เอา” ที่ออกมาต้านรัฐประหาร๑๙กันยา เราเป็น“สองไม่เอา”เพราะเราคัดค้านการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลของทักษิณที่มาจากการเลือกตั้ง เราคัดค้านเผด็จการทหารทุกรูปแบบ แต่เราไม่ได้สนับสนุนทักษิณเพราะเขาก่อความรุนแรงต่อชาวปาตานีและต่อประชาชนอื่นๆ ในสงครามยาเสพติด และทักษิณเป็นนายทุนใหญ่ที่มีผลประโยชน์ทางชนชั้นที่ต่างจากกรรมาชีพและคนจน อย่างไรก็ตามเรามองว่านโยบาย ๓๐ บาท และกองทุนหมู่บ้าน หรือการพักหนี้ชาวนาเป็นเรื่องดี แต่ดีไม่พอ เพราะเราต้องการเห็นรัฐสวัสดิการ และในที่สุดเราอยากได้ระบบสังคมนิยม ซึ่งทักษิณคัดค้าน นอกจากนี้เราไม่เคยจับมือกับเสื้อเหลืองในการค้านทักษิณ เพราะพวกนั้นเป็นพวกอนุรักษ์นิยมรักเจ้า ที่ไม่สนใจสิทธิเสรีภาพกับประชาธิปไตยและพร้อมกันนั้นโบกมือให้ทหารเข้ามาทำรัฐประหาร และสิ่งที่สำคัญคือเราก็ไปร่วมกับเสื้อแดงเมื่อขบวนการนั้นเกิดขึ้น เพราะเสื้อแดงเป็นขบวนการประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดที่ประเทศไทยเคยมี

ขึันเวทีเสื้อแดง

ในยุคนั้นคนอย่าง สศจ. ออกมาวิจารณ์ “สองไม่เอา” อย่างไร้สาระด้วยคำอธิบายที่แสดงให้เห็นว่าไม่เข้าใจความละเอียดอ่อนของการเมือง สศจ.พูดว่าถ้าจะคัดค้านการทำรัฐประหารก็ “ต้อง” สนับสนุนทักษิณ จุดยืนอื่น “ไม่มีเหตุผล” ซึ่งถ้านำตรรกะนี้มาใช้กับสถานการณ์ในอัฟกานิสถานปัจจุบันก็ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งคือสนับสนุนตาลิบันหรือไม่ก็จักรวรรดินิยมสหรัฐ!! หรือถ้าใช้ตรรกะนี้ในเรื่องรัฐประหารของประยุทธ์ ก็ต้องสนับสนุนประยุทธ์หรือไม่ก็สนับสนุนพรรคเพื่อไทย! จุดยืนอื่นๆ “มีไม่ได้”

ในยุคหลังอาจมีกลุ่ม “สองไม่เอา” กลุ่มอื่นๆ เกิดขึ้น บางคนไม่เอาทักษิณ ไม่เอาประยุทธ์ แต่เชียร์พรรคก้าวไกล ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นพรรคนายทุนที่คัดค้านเผด็จการ แต่ไม่ยอมนำการต่อสู้บนท้องถนน หรือการนัดหยุดงาน ซึ่งเป็นสิ่งชี้ขาดว่าเราจะกำจัดเผด็จการได้หรือไม่

ขอย้ำว่าฝ่ายซ้ายมาร์คซิสต์เน้นว่าพลังที่จะกำจัดเผด็จการปัจจุบันอยู่ที่ชนชั้นกรรมาชีพ และภาระสำคัญในยุคนี้คือการสร้างพรรคสังคมนิยมปฏิวัติเพื่อปลุกระดมการต่อสู้บวกกับแนวคิดทางการเมือง และเชื่อมโยงกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ก้าวหน้าต่างๆ การทำแนวร่วมกับคนที่รักประชาธิปไตยและต้องการไล่เผด็จการประยุทธ์เป็นเรื่องสำคัญ แต่ในการทำแนวร่วมเราจะไม่มีวันไปลดความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อเอาใจคนชั้นกลาง หรือยอมให้พรรคการเมืองนายทุนกำหนดทิศทางการต่อสู้ของเรา

ใจ อึ๊งภากรณ์

อ่านเพิ่ม

สังคมนิยมคือเสรีภาพที่แท้จริง https://bit.ly/3pSFUZ4  

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ https://bit.ly/2JBhqDU  

รัฐกับการปฏิวัติ https://bit.ly/3rM2pjN  

แนวคิดมาร์คซิสต์คืออะไร https://bit.ly/3s5eu42  

ข้อเสนอสำหรับการต่อสู้ http://bit.ly/2Y37gQ5  

ทำไมนักมาร์คซิสต์ต้องสร้างพรรค? http://bit.ly/365296t  

สหภาพแรงงานใช้แทนพรรคไม่ได้ https://bit.ly/2V2LBcJ

เดินหน้าต่อไปถึงเส้นชัย!!

ใจ อึ๊งภากรณ์

ต้องยอมรับครับว่าเมื่อเห็นภาพนักศึกษาและประชาชนที่ออกมาประท้วงเผด็จการวันนี้ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมน้ำตาไหลด้วยความดีใจ พวกเรารอวันนี้มานาน

FB_IMG_1597581477208

ผมไม่อยากจะ “แนะนำ” อะไรมากกับ “คณะประชาชนปลดแอก” เพราะเขาพิสูจน์ไปแล้วว่าเขาจัดการประท้วงที่ประสบความสำเร็จสุดยอด แต่ผมมีความหวังว่าการต่อสู้จะไม่จบแค่นี้ ผมหวังว่าจะมีการขยายมวลชน โดยเฉพาะในหมู่นักสหภาพแรงงาน และผมหวังว่าจะมีการชุมนุมอีก และถ้าเป็นไปได้มีการเดินออกจากสถานที่ทำงานด้วย และที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าคือผมหวังว่าจะมีการเรียกร้องขีดเส้นตายให้ยกเลิกทุกข้อหาที่รัฐไปยัดให้แกนนำขบวนการชุมนุมทุกคน

FB_IMG_1597582400786

ในความจริงเพื่อนๆทุกคนที่รักประชาธิปไตยคงทราบว่าเราหยุดตอนนี้ไม่ได้ และการต่อสู้วันนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นที่งดงาม

FB_IMG_1597581301917

ในเรื่องการ “ปฏิรูป” สถาบันกษัตริย์ ผมเข้าใจว่าทำไมนักเคลื่อนไหวที่กล้าพูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะจะอ้างตลอดว่า “ไม่ได้หวังจะโค่นล้มสถาบัน” แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การพูดแบบนี้ถือว่ายังอยู่ในกรอบที่เผด็จการทหารและพวกอนุรักษ์นิยมวางไว้และใช้เพื่อกดขี่คนในสังคม ถ้าเราจะมีเสรีภาพและประชาธิปไตยแท้จริงเราต้องสามารถเสนอการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์โดยไม่ต้องมาแก้ตัวแบบนี้ ยิ่งกว่านั้นเราต้องสามารถเสนอให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไปเลยถ้าเรามีความคิดแบบนั้น

เพื่อนๆ ผู้รักประชาธิปไตยครับ กรุณาอย่าหยุดจนกว่าเผด็จการทหารหมดไปจากสังคมไทยและเรามีเสรีภาพในการแสดงออกเต็มที่

และเพื่อนๆ ที่อยากไปไกลกว่านั้น คืออยากสร้างสังคมที่เท่าเทียมและไร้ชนชั้น กรุณาอย่าหยุดจนกว่าเราจะสามารถสร้างสังคมนิยมในประเทศไทย

 

สหายธง แจ่มศรี และการเมืองแนวลัทธิ “สตาลิน -เหมา” ของ พคท.

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในปลายปี ๒๕๕๒ ทั้งๆ ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สิ้นสภาพการเป็นพรรคนานแล้วตั้งแต่ “ป่าแตก” แต่ได้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่เรียกตัวเองว่าสมาชิก พคท. ซึ่งความขัดแย้งนี้สะท้อนความแตกแยกในสังคมไทยโดยทั่วไประหว่าง “เหลือง” กับ “แดง”

ส่วนหนึ่งของคนที่เรียกตัวเองว่าสมาชิก พคท. ไปเข้าข้างเสื้อเหลือง ชูเจ้า และต้านทักษิณ และอีกส่วน ซึ่งรวมถึง สหายธง แจ่มศรี ออกมาคัดค้านและสนับสนุนเสื้อแดงกับทักษิณ

จุดยืนของ สหายธง แจ่มศรีตรงนี้ ถือว่าก้าวหน้ากว่าอีกซีก เพราะเข้าข้างประชาธิปไตย และมวลชนคนธรรมดาจำนวนมาก โดยเฉพาะคนจน แทนที่จะกอดคอกับทหารเผด็จการและพวกอวยเจ้า

อย่างไรก็ตามจุดยืนของสหายธง แจ่มศรี ไม่ได้มาจากเงื่อนไขการเข้าข้างประชาธิปไตย และมวลชนคนธรรมดาจำนวนมากเป็นหลัก แต่มาจากมุมมองที่แสวงหาแนวร่วมกับนายทุน ตามสูตร “ปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย” ของพรรคคอมมิวนิสต์สายสตาลิน-เหมาทั่วโลก ซึ่งรวมถึงไทยด้วย

ในความเป็นจริงจุดยืนของ พคท. สายเสื้อเหลืองก็เริ่มจากจุดยืนนี้เหมือนกัน แต่มีการทำให้การแสวงหาแนวร่วมกับชนชั้นนายทุน แปรเปลี่ยนผิดเพี้ยนไปยิ่งขึ้น เพื่อเป็นข้ออ้างในการไปจับมือกับพวกเสื้อเหลือง ปรากฏการณ์นี้ไม่แตกต่างจากพวกสายเอ็นจีโอที่ไปเข้ากับเสื้อเหลืองด้วย

การวิเคราะห์สังคมไทยตามแนว เหมาเจ๋อตุง และ สตาลิน ของ พคท. ที่เคยเสนอว่าไทยยังเป็นสังคม “กึ่งศักดินา” ที่มีความขัดแย้งระหว่างศักดินากับนายทุนดำรงอยู่ พร้อมกับการมีลักษณะ “กึ่งเมืองขึ้น” ของสหรัฐอเมริกา นำไปสู่ข้อเสนอของ พคท. ว่าการปฏิวัติไทยในขั้นตอนแรกยังไม่ควรนำไปสู่สังคมนิยม แต่ควรเป็นการปฏิวัติชาตินิยมเพื่อสร้างประชาธิปไตยทุนนิยม ในรูปธรรมมันแปลว่า พคท. พร้อมจะทำแนวร่วมข้ามชนชั้นกับชนชั้นนายทุนไทย เพื่อต้านสิ่งที่เขาเรียกว่าพวกขุนศึกและศักดินา มันมีต้นกำเนิดจากลัทธิสตาลินในรัสเซีย ที่ต้องการให้พรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลกทำแนวร่วมกับนายทุน เพื่อปกป้องเสถียรภาพของรัสเซียด้วยการลดศัตรู มันกลายเป็นแนวกู้ชาติ และมันเป็นข้อเสนอที่ขัดแย้งกับจุดยืนหลักของนักมาร์คซิสต์ อย่างมาร์คซ์ เลนิน หรือตรอทสกี้ เพราะมีการเสนอให้กรรมาชีพและชาวนาร่วมมือกับนายทุนผู้เป็นศัตรู และชะลอการต่อสู้เพื่อสังคมนิยม [ดู “สังคมนิยมจากล่างสู่บน” https://bit.ly/2vbhXCO  เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ข้อถกเถียงทางการเมือง(บทเกี่ยวกับพรรคคอมมิวนิสต์) https://bit.ly/1sH06zu   และ “แนวของตรอทสกี้”  https://bit.ly/2zCPB5h ]

yai1

การปฏิวัติในจีน ลาว เวียดนาม และที่อื่นที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศด้อยพัฒนา จึงมีลักษณะชาตินิยมเป็นหลัก เป้าหมายกลายเป็นการสร้างระบบทุนนิยม และไม่ใช่การปฏิวัติที่นำโดยชนชั้นกรรมาชีพหรือแม้แต่ชาวนาแต่อย่างใด ในรูปธรรมสถานการณ์ทางประวัติศาสตร์ในเรื่องความอ่อนแอของทุนชาติในประเทศเหล่านั้น แปลว่าพรรคคอมมิวนิสต์ต้องเข้ามาเป็น “นายทุนรัฐ” เสียเอง จึงเกิดระบบ “ทุนนิยมโดยรัฐ”ซึ่งในปัจจุบันแปรธาตุไปเป็นทุนนิยมตลาดเสรีภายใต้เผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ในจีน ลาว หรือเวียดนาม

การวิเคราะห์สังคมไทยโดย พคท. ในยุคหลัง ๖ ตุลา มีปัญหามาก เพราะระบบศักดินา ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ สิ้นไปจากสังคมไทยในยุครัชกาลที่ ๕ และประเทศไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐแต่อย่างใด ในความจริงรัฐไทยเป็นรัฐทุนนิยมที่เอื้อกับระบบทุนนิยมไทยในโลกที่มีอำนาจจักรวรรดินิยมดำรงอยู่ คือประเทศใหญ่มีอำนาจมากกว่าประเทศเล็กโดยไม่ต้องนำมาเป็นเมืองขึ้น [ดู “การเปลี่ยนแปลงจากศักดินาสู่ทุนนิยมในไทย” https://bit.ly/2ry7BvZ   และ “การเมืองไทย” https://bit.ly/2t6CapR ]

แต่ปัญหาใหญ่สุดของแนว พคท. คือการที่ไม่นำการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมโดยมีชนชั้นกรรมาชีพเป็นศูนย์กลางการต่อสู้ แต่กลับไปเน้นการสร้างชาติโดยจับมือกับนายทุน

ฝ่ายซ้ายในวิกฤตการเมืองไทยตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา ต้องสนับสนุนคนชั้นล่างในการต่อสู้กับเผด็จการ เพื่อสร้างประชาธิปไตย โดยเน้นผลประโยชน์ของกรรมาชีพ เกษตรกร และคนจนเป็นหลัก และต้องพยายามสร้างพรรคของคนชั้นล่าง ไม่ใช่ไปอวยนักการเมืองนายทุนอย่างทักษิณที่หักหลังการต่อสู้ของเสื้อแดงด้วยการเสนอนิรโทษกรรมเหมาเข่ง หรือการยุติบทบาทของเสื้อแดงเพื่อหวังประนีประนอมกับทหาร และในปัจจุบันมันแปลว่าต้องไม่สร้างความหวังในพรรคนายทุนอย่างพรรคอนาคตใหม่ หรือสร้างความหวังในระบบรัฐสภาภายใต้เผด็จการประยุทธ์ คือต้องเน้นการเคลื่อนไหวของมวลชนนอกสภาเป็นหลัก [ดู “มาร์คซิสต์วิเคราะห์ปัญหาสังคมไทย” https://bit.ly/3112djA ]

20190714-img_9312

สำหรับสหายธง แจ่มศรี เขาไม่เคยทิ้งจุดยืนสามัคคีข้ามชนชั้นแบบสตาลิน-เหมา ทั้งๆ ที่มีการปรับในภายหลังว่าไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอีกแล้วตั้งแต่มีการถอนทหารออกไปในปี ๒๕๑๙

สหายธง แจ่มศรี เคยเขียนในปี๒๕๕๒ ว่า “ผมเห็นว่าปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมทุนนิยมแล้วในด้านเศรษฐกิจ แต่ภาคการเมืองการปกครอง วัฒนธรรมและความคิดของผู้คนในสังคมยังไม่เป็นระบอบประชาธิปไตย…..  หลังเหตุการณ์ ๑๔  ตุลา  ๒๕๑๖  เป็นต้นมา  ศักดินามีบทบาทนำสูงสุดในการบงการรูปแบบการเมืองการปกครองของไทย เช่นรูปแบบการเลือกตั้ง การรัฐประหาร ประชาธิปไตยครึ่งใบเหล่านี้เป็นต้น….. ดังนั้นขณะนี้สังคมไทยถูกปกครองโดย “ราชาธิปไตย” หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราช(ใหม่)”  เพราะได้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่าสถาบันนี้อยู่เหนือรัฐ กลไกรัฐไม่สามารถควบคุมได้ (ไม่มีความเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย) ซึ่งกลุ่มนี้ได้พัฒนาตนเองเป็น “ทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ”

สหายธง แจ่มศรี เสนออีกว่า “ทักษิณ ชินวัตร มีแนวคิดทุนนิยมเสรีใหม่ และเป็นกลุ่มทุนผูกขาดกลุ่มใหม่ที่ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ”

ในความเป็นจริงเราไม่ได้อยู่ในสังคมที่เป็น “ราชาธิปไตย” หรือ “สมบูรณาญาสิทธิราช(ใหม่)”  แต่เราอยู่ในสังคมที่ถูกครอบงำโดยเผด็จการทหารที่จับมือกับนายทุนและพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยม [ดู “อำนาจกษัตริย์” https://bit.ly/2GcCnzj ] นอกจากนี้ ทั้งๆ ที่ สหายธงเสนอว่า “ทุนผูกขาดศักดินาเหนือรัฐ” มีความสัมพันธ์กับทุนโลกาภิวัตน์ แต่เขาวิเคราะห์ทักษิณว่าเป็น “นายทุนเสรีนิยมใหม่” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสับสนเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง เพราะฝ่ายเหลือง ประชาธิปัตย์ และทหารเผด็จการคลั่งกลไกตลาดเสรีมากกว่าทักษิณ ทักษิณใช้กลไกตลาดผสมเศรษฐกิจนำโดยรัฐ เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของคนจน สิ่งที่ไทยรักไทยเรียกว่าเศรษฐกิจคู่ขนาน

D_FxFoOUwAE8FgZ

ข้อดีของ พคท. และจุดยืนของ สหายธง แจ่มศรี ไม่ใช่เนื้อหาการวิเคราะห์สังคมไทยที่ผิดพลาด หรือการเสนอแนวร่วมกับนายทุน แต่เป็นเรื่องการให้ความสำคัญกับการสร้างพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่ไม่จำเป็นต้องสนใจรัฐสภาเป็นหลัก และการที่เขาพยายามเสนอแนวทางในการต่อสู้ผ่านการศึกษาและพัฒนาทฤษฏี เรายังรอวันที่จะมีการสร้างพรรคแบบนั้นขึ้นมาใหม่ในไทย

อย่าฝันเลยว่าเราจะแก้รัฐธรรมนูญ สร้างประชาธิปไตย หรือสร้างความยุติธรรม ถ้าไม่มีขบวนการมวลชน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทุกวันนี้เราเห็นกระบวนการของ “รัฐประหารยาว” ที่ประยุทธ์และแก๊งโจรเริ่มลงมือทำตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การร่วมมือกับสลิ่ม ม็อบสุเทพ และพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อล้มการเลือก ตั้งเปิดประตูให้มีการทำรัฐประหารโดยประยุทธ์ แต่การทำลายประชาธิปไตยครั้งนั้นมันเป็นเพียงการต่อยอดสิ่งที่ทหารเผด็จการ ศาลเตี้ย และพวกสลิ่มเสื้อเหลือง รวมถึงเอ็นจีโอ ได้ทำไว้ก่อนหน้านี้ตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา และ “รัฐประหารยาว” ครั้งนี้ไม่ได้จบลงด้วยการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ เพราะมีการวางกติกาการเลือกตั้ง และสร้างสถาบันของเผด็จการเพิ่มขึ้นให้มีลักษณะถาวร เช่นการแต่งตั้งวุฒิสภากับศาล การออกกฏหมายเพื่อโกงการเลือกตั้ง และการประกาศใช้ยุทธศาสตร์แห่งชาติ ๒๐ ปี

ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเพียงแต่เป็นการเล่นละครของเผด็จการ จะมีหรือไม่มีรัฐบาลใหม่ก็ไม่สำคัญเพราะ คสช. ก็ยังอยู่และปฏิบัติเหมือนเดิม แถมจอมเผด็จการประยุทธ์ก็ออกมาขู่ว่าถ้าไม่พอใจเมื่อไร มันพร้อมจะนำรถถังออกมาเพื่อล้มประดานอีก

423027

จริงๆ แล้วเราไม่ต้องอธิบายให้ใครฟังว่าสภาพการเมืองไทยแย่แค่ไหน เพราะมันเห็นชัด นอกจากการที่แก๊งประยุทธ์ยังครองอำนาจเหมือนเดิมแล้ว เราเห็นจากการทำร้ายคนอย่างจ่านิว หรือการเข่นฆ่าหรือไล่ขู่ฆ่าคนอย่างอาจารย์สุรชัยและผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อบ้าน

คนที่มองไม่ออกว่านี่คือเผด็จการ เป็นคนที่เลือกจะไม่มอง เพราะชื่นชมเผด็จการอยู่แล้ว

แต่ประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยเข้าใจดีว่าเรายังอยู่ภายใต้เผด็จการ ทั้งๆ ที่บางคนเคยปิดหูปิดตาถึงความจริงและเคยฝันว่าการเลือกตั้งจะนำประชาธิปไตยกลับมา

ประเด็นที่เราควรจะคุยกันอย่างจริงจังคือเราจะทำอย่างไร อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจในแผ่นดินแทนคณะทหาร

เวลาเราพิจารณาเส้นทางต่อสู้ เราควรจะคำนึงถึงวิธีการที่ฝ่ายเผด็จการทำลายประชาธิปไตยมาตั้งแต่การชุมนุมของเสื้อเหลืองและการทำรัฐประหาร ๑๙ กันยา

สิ่งที่ชัดเจนคือการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง และการทำลายรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ไม่ได้ทำผ่านรัฐสภา หรือผ่านการใช้กลไกของกฏหมาย หรือกติกาของระบบประชาธิปไตยแต่อย่างใด

ดังนั้นการลบผลพวงของเผด็จการจะอาศัยการใช้ระบบรัฐสภาหรือกฏหมายหรือกติกาที่ฝ่ายเผด็จการออกแบบมาใช้ได้อย่างไร?

มีนักกิจกรรมและนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยไม่น้อย ที่มองว่าเราขาดประชาธิปไตย เสรีภาพ หรือความยุติธรรม แต่พูดเป็นนามธรรมอย่างเดียวว่าจะต้อง “แก้รัฐธรรมนูญ” หรือ “ปฏิรูปกองทัพ” โดยที่ไม่เสนอวิธีการอย่างชัดเจนที่ตรงกับโลกจริง

แล้วจะทำได้อย่างไรถ้าแค่อาศัยสส. ในรัฐสภา และกติกาของเผด็จการ?

คำตอบคือทำไม่ได้ ใครๆ ที่เคยฝันว่าการเลือกตั้งภายใต้กติกาเผด็จการจะเปลี่ยนอะไร ควรจะยอมรับได้แล้วว่ามันถึงทางตันในการใช้รัฐสภาหรือกฏหมายกติกาโจรมาล้มเผด็จการ ควรจะมีการสรุปกันแล้วว่าต้องสร้างพลังนอกรัฐสภาของมวลชนจำนวนมาก

บางคนพูดถึง “ภาคประชาชน” แต่เราต้องชัดเจนว่า “ภาคประชาชน” คือใครและคืออะไร เพราะที่แล้วมาพวกเอ็นจีโอที่เคยช่วยโบกมือเรียกเผด็จการก็ชอบเรียกตัวเองว่า “ภาคประชาชน”

ควรจะพูดให้ชัดว่าต้องมีการลงมือสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่มีมวลชน ตัวอย่างที่ดีในอดีตคือขบวนการเลื้อแดง แต่รอบนี้เราต้องสร้างให้ดีกว่าและไปไกลกว่าเสื้อแดง คือต้องอิสระจากพรรคการเมืองกระแสหลักประเภทที่ต้องการประนีประนอมหรือคอยชะลอการต่อสู้ และต้องเชื่อมโยงกับขบวนการแรงงานและคนรุ่นใหม่ มันควรมีหน้าตาคล้ายๆ ขบวนการประท้วงที่ฮ่องกง (ดูภาพ)

8c28952358d6402da804eb83814f4f27_18

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบนี้มันไม่เกิดขึ้นเอง มันไม่เกิดขึ้นจากความหวังของผม มันไม่เกิดขึ้นจากบทความที่พวกเราเขียน และมันไม่เกิดจากคำประกาศหรือการถกเถียงในโซเชียลมีเดีย มันต้องมีคนตัวจริงคุยกับคนตัวจริงต่อหน้าต่อตา มันต้องมีการประชุม และมันต้องมีการจัดตั้ง

อ่านเพิ่ม “เราจะสู้อย่างไร?” https://bit.ly/2RQWYP4

การจัดตั้งกรรมาชีพไทยในทางการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในอดีตแกนนำเสื้อแดงที่มีรากฐานการกำเนิดมาจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคนายทุน ไม่เคยเห็นความสำคัญของการขยายการจัดตั้งของขบวนการเสื้อแดงสู่ขบวนการแรงงานเลย และการจัดตั้งของนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในขบวนการแรงงานอ่อนแอเกินไปที่จะทำให้สหภาพแรงงานต่างๆ เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยร่วมกับเสื้อแดง ถ้าจัดตั้งได้จะมีการสำแดงพลังทางเศรษฐกิจของแรงงาน ผ่านการนัดหยุดงาน และพิสูจน์ความสำคัญของแรงงานในการต่อสู้กับเผด็จการ สถานการณ์นี้เป็นจุดอ่อนสำคัญของเสื้อแดง และช่วยเปิดโอกาสให้รัฐบาลอภิสิทธิ์และทหารเข่นฆ่าประชาชนที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์เมื่อปี ๒๕๕๓ ในที่สุดมันเปิดโอกาสให้เผด็จการเข้ามาครองเมืองหลายปี

ถ้าเราเปรียบเทียบกับกรณีการประท้วงล้มเผด็จการมูบารักในอียิปต์ เมื่อต้นปี ๒๕๕๔ เราจะเห็นว่าก่อนหน้านั้นหลายปี ขบวนการฝ่ายซ้ายอียิปต์ทำงานใต้ดินเพื่อเสริมสร้างขบวนการสหภาพแรงงานที่อิสระจากรัฐ จนมีกระแสนัดหยุดงานครั้งใหญ่สี่ปีก่อนการประท้วงล้มมูบารัก  ต่อมาการออกมานัดหยุดงานของสหภาพคู่ขนานกับการประท้วงที่จตุรัสทาห์เรีย เป็นเงื่อนไขชี้ขาดที่ทำให้กองทัพอียิปต์ตัดสินใจเขี่ยมูบารักออกไปก่อนที่ประชาชนจะเขี่ยนายพลออกไปด้วยและทำการปฏิวัติสังคม แต่นั้นก็ยังไม่พอ เพราะในที่สุดทหารก็กลับมาครองเมืองอีกรอบ ซึ่งแสดงว่าฝ่ายซ้ายอียิปต์อ่อนแอเกินไปที่จะนำกรรมาชีพในการปฏิวัติล้มระบบ

การล้มเผด็จการของคนผิวขาวในอัฟริกาใต้ใช้พลังกรรมาชีพที่นัดหยุดงานเป็นกำลังหลัก การล้มเผด็จการคอมมิวนิสต์สายสตาลินในโปแลนด์ก็เช่นกัน

นอกจากกรรมาชีพไทยจะไม่มีการจัดตั้งโดยคนเสื้อแดงและไม่มีการนัดหยุดงานเพื่อล้มเผด็จการแล้ว สหภาพแรงงานไทยในรอบสามสิบปีที่ผ่านมา ไม่เคยพยายามตั้งพรรคการเมืองอิสระของกรรมาชีพและเกษตรกรเลย

เวลาที่นักวิชาการหรือนักเคลื่อนไหวแรงงานพูดถึง “ความอ่อนแอ” ของขบวนการแรงงาน เขามักจะชี้ไปที่สัดส่วนของแรงงานที่เป็นสมาชิกสหภาพ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3-4%  หรืออาจมีการพูดถึงการที่มีหลายสภาและสหภาพแรงงานซึ่ง “ขาดเอกภาพ” แต่ทั้งๆ ที่สองเรื่องนี้มีผลบ้างในการกำหนดความเข้มแข็งของแรงงาน มันไม่ใช่ประเด็นหลัก

ประเด็นหลักที่นำไปสู่ความอ่อนแอในขบวนการแรงงานคือ “การเมือง” เพราะการเมืองของขบวนการแรงงานเป็นเข็มทิศที่ชี้ทางไปสู่วิธีการจัดตั้ง และยุทธวิธีในการใช้พลังทางเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของแรงงาน ทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ในอดีตนักสังคมนิยมในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เคยให้ความสำคัญในการจัดตั้งแรงงาน แต่หลังจากที่พรรคเริ่มหันไปเน้นการจับอาวุธในป่า การทำงานสายแรงงานถูกลดความสำคัญลง พอถึงยุค “ป่าแตก” และการล่มสลายของ พคท. ปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวที่มีส่วนในการจัดตั้งแรงงานลดน้อยลงจนเกือบจะไม่เหลือ และ เอ็นจีโอ ก็เข้ามาแทนที่

กลุ่ม “พี่เลี้ยง” เอ็นจีโอ ที่เข้าไป “ช่วย” แรงงานมีแนวโน้มจะเสนอให้คนงานทำตามกฎหมายนายทุนในระบบ “แรงงานสัมพันธ์” และไม่คิดต่อสู้ทางชนชั้นอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่ดีคือองค์กร ACILS/Solidarity Center ซึ่งได้รับทุนจากสหรัฐอเมริกาเพื่อ “พัฒนาแรงงาน” องค์กรนี้ไม่เคยสนับสนุนการนัดหยุดงานเลย ทั้งๆ ที่การนัดหยุดงานเป็นวิธีหลักในการต่อสู้ของแรงงาน อีกองค์กรหนึ่งที่ให้เงินสหภาพแรงงาน คือ มูลนิธิ Friedrich Ebert Stiftung (FES.) ของเยอรมัน แนวคิดของ FES. จะเน้นการแยกบทบาทระหว่างสหภาพแรงงาน ที่เขามองว่าควรต่อสู้เพื่อเรื่องปากท้อง กับพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในรัฐสภา จุดยืนนี้สอดคล้องกับกฏหมายของชนขั้นปกครองไทยที่มองว่าสหภาพแรงงานไม่ควรยุ่งการเมือง ในรูปธรรมผลของแนวคิดแบบนี้คือ ไม่มีการจัดตั้งทางการเมืองในขบวนการแรงงาน และสหภาพแรงงานจะไม่ออกมานัดหยุดงานในประเด็นการเมืองเลย

นอกจากนี้ เอ็นจีโอ มักเน้นการทำงานกับกลุ่มคนงานที่พ่ายแพ้ไปแล้ว ซึ่งถึงแม้ว่าเป็นงานสังคมสงเคราะห์ที่จำเป็นต้องทำ แต่ไม่มีผลในการพัฒนาความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานเลย และที่สำคัญประสบการณ์จากทั่วโลกพิสูจน์ให้เห็นว่าองค์กร เอ็นจีโอ ไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานเท่ากับพรรคการเมืองของฝ่ายซ้าย  เพราะพรรคฝ่ายซ้ายสามารถประสานและเสริมพลังของขบวนการแรงงานในด้านความคิดทางการเมือง เพื่อให้นักสหภาพนำตนเองแทนที่จะพึ่ง “พี่เลี้ยง” และพึ่งเงินจากภายนอก และในกรณีที่สหภาพแรงงานเข้มแข็งจริง จะไม่มีการพึ่งพา เอ็นจีโอ เลย เช่นในเกาหลีใต้ ขบวนการแรงงานเข้มแข็งจนองค์กร เอ็นจีโอ มักจะเป็นฝ่ายมาขอพลังความช่วยเหลือจากสหภาพแรงงาน K.C.T.U.

SKOREA-LABOUR-MAYDAY

ในยุคปัจจุบัน นอกจากผู้นำสภาแรงงานระดับชาติแล้ว องค์กรสภาแรงงานสากลต่างๆ เริ่มพยายามเข้ามาจัดตั้งแรงงานในประเทศไทยมากขึ้น การที่สภาสากลช่วยให้คนงานไทยตั้งสหภาพแรงงานในสถานที่ทำงานที่ไม่มีสหภาพแรงงาน เป็นเรื่องดี แต่ในทางการเมืองสภาแรงงานสากลเหล่านี้จะไม่ส่งเสริมการนัดหยุดงานเพื่อเป้าหมายทางการเมืองเลย และจะไม่มีผลอะไรเลยในการปกป้องผู้นำสหภาพแรงงานในไทยที่ถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้เพราะสภาแรงงานสากลทุกแห่งนำโดยเจ้าหน้าที่ “แรงงานข้าราชการ” ที่ห่างเหินจากขบวนการแรงงานจริงในทุกประเทศ เราจะเห็นว่าในประเทศที่มีสหภาพแรงงานเข้มแข็ง อย่างเช่นในยุโรปตะวันตก หรือเกาหลีใต้ สภาแรงงานสากลเกือบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย

somsak2

ในอดีตความอ่อนแอทางการเมืองของขบวนการแรงงานไทย เปิดช่องให้คนอย่าง สมศักดิ์ โกศัยสุข นำการเมืองปฏิกิริยาของพันธมิตรเสื้อเหลือง เข้ามาในบางส่วนของขบวนการแรงงาน เช่นในรัฐวิสาหกิจรถไฟ และไฟฟ้า และในบางส่วนของย่านอุตสาหกรรมเอกชนในภาคตะวันออกใกล้เมืองระยองเป็นต้น แต่แนวคิดเสื้อเหลืองของสมศักดิ์ ขัดกับผลประโยชน์พื้นฐานของกรรมาชีพไทยโดยสิ้นเชิง เพราะพาคนไปต่อสู้เพื่อสนับสนุนเผด็จการ แทนที่จะสู้เพื่อผลประโยชน์คนจน

นักสังคมนิยมควรเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน ไม่ใช่เป็นปัญญาชนในหอคอยงาช้าง เราควรทำงานในสถานที่ทำงานต่างๆ และปลุกระดมจากภายใน ในระยะแรกเราอาจต้องทำงานจากภายนอก แต่ในช่วงนั้นต้องเน้นการสร้างนักสังคมนิยมที่เป็นกรรมาชีพ เพื่อให้เขาทำงานในสหภาพและสถานที่ทำงานของเขาเอง

cihzjudj5hpnxj92grjmitbujspbiiaoll

แน่นอนนักสังคมนิยมจะต้องมีส่วนในการสร้างความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน และต้องมีส่วนในการสนับสนุนการประท้วงเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาปากท้อง เช่นเรื่องค่าจ้าง โบนัส และสภาพการจ้างอื่นๆ แต่ถ้าทำแค่นั้น เราก็เป็นแค่ “นักสหภาพแรงงาน” และผู้ที่เป็นแค่ “นักสหภาพแรงงาน” จะมองว่าองค์กรจัดตั้งหลักคือสหภาพแรงงาน ไม่ใช่พรรคซ้ายสังคมนิยม และเราจะก้าวข้ามปัญหาภายในรั้วสถานที่ทำงานเพื่อไปสนใจสังคมภายนอกไม่ได้

การปลุกระดมทางการเมืองแปลว่าต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อของพรรค และผ่านกลุ่มศึกษาของพรรค ซึ่งต่างจากกลุ่มศึกษาของสหภาพที่เน้นแต่เรื่องปากท้องหรือกฏหมายแรงงาน การศึกษาทางการเมืองของพรรคต้องครอบคลุมการวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทยและสังคมต่างประเทศ ต้องเรียนบทเรียนจากประวัติศาสตร์ไทยและทั่วโลก ต้องศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ ต้องศึกษาธาตุแท้ของชนชั้นและของรัฐ เราต้องสนใจศิลปะวัฒนธรรม ต้องสนใจวิทยาศาสตร์ และเราต้องพร้อมที่จะร่วมกันค้นหาคำตอบสำหรับปัญหาทุกเรื่องในชีวิตมนุษย์

การศึกษาแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทย เพราะในสมัย พคท. ก็มีการเน้นการศึกษาแบบนั้น ไม่ว่าเราอาจมีข้อถกเถียงกับแนวการเมืองของ พคท. มากน้อยแค่ไหน แต่มันเป็นการศึกษาทางการเมืองเพื่อจัดตั้งพรรค ซึ่งหลังการล่มสลายของ พคท. นักปฏิบัติการต่างๆ พากันหันหลังให้เรื่องนี้ เพื่อทำงานแบบพี่เลี้ยงในรูปแบบ เอ็นจีโอ ที่ปฏิเสธเรื่องการเมืองเพื่อเน้นประเด็นปากท้องอย่างเดียว นี่คือที่มาของความอ่อนแอของขบวนการแรงงานไทยในปัจจุบัน และมันเป็นผลทำให้ขบวนการประชาธิปไตยอ่อนแอไปด้วย นี่คือสิ่งที่เราต้องลงมือแก้ไข

[อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2MBfQzc ]

 

บทส่งท้ายเรื่องเสนอชื่ออุบลรัตน์

ใจ อึ๊งภากรณ์

[บทความนี้ควรอ่านควบคู่กับเรื่อง “ขยะการเมือง” https://bit.ly/2MTBtdV ]

หลังจากที่วชิราลงกรณ์ออกมาห้ามไม่ให้พี่สาวลงเล่นการเมือง เราเห็นปรากฏการณ์ทางการเมืองหลายอย่างที่ท้าทายจุดยืนต่างๆ

ที่ชัดเจนคือในการวิเคราะห์ส่วนใหญ่ นักวิเคราะห์เน้นแต่ดูเรื่องราวของคนข้างบนเหมือนคนติดละครน้ำเน่า แต่ไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามที่สำคัญที่สุดคือ เราจะกำจัดผลพวงของเผด็จการและสร้างประชาธิปไตยแท้จริงอย่างไร?

คนที่มักเดินไปเดินมาโดยเงยหน้ามองแต่ข้างบน บ่อยครั้งมักจะเหยียบขี้หมา

มีบางคนที่อยู่ต่างประเทศออกมาแดสงความเห็นว่า การเสนอชื่ออุบลรัตน์ ถ้าประสพความสำเร็จจะทำให้ “ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เข้มแข็งมากขึ้น พวกนี้ยังไม่ทันเอ่ยปากก็ถูกพิสูจน์ว่าผิด เพราะอุบลรัตน์กับวชิราลงกรณ์มีความคิดต่างกัน

หลายคนที่สนุกกับหมกมุ่นเรื่องราวของชนชั้นสูง และพูดอยู่เรื่อยๆ ว่าวิชราลงกรณ์กำลังสร้าง“ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่” จะพันตัวเองในความขัดแย้งของทฤษฏีตนเอง เพราะพยายามอธิบายทุกอย่างจากมุมมองนี้

คำถามอันหนึ่งคือทำไมวชิราลงกรณ์ถึงออกมาห้ามพี่สาว? บางคนพยายามเสนอว่าอุบลรัตน์คงต้องขอน้องชายก่อน จริงหรือ? บางคนถามว่ากษัตริย์เปลี่ยนใจเพราะอะไร? แต่คำอธิบายง่ายๆ ที่น่าจะเป็นจริงคือ มีคนของประยุทธ์คลานเข้าไป “สั่ง” ให้วชิราลงกรณ์ออกมาห้ามอุบลรัตน์

ทำไมคำอธิบายนี้น่าเชื่อที่สุด? วชิราลงกรณ์ต้องพึ่งทหารเพื่อที่จะเป็นกษัตริย์ ถ้าไม่มีทหารวชิราลงกรณ์จะอ่อนแอถึงที่สุด บวกกับการที่ประชาชนไม่ปลื้มมากนัก ดังนั้นถ้าเขาจะเสพสุขต่อไปท่ามกลางความร่ำรวย เขาต้องทำตามความต้องการของทหาร ภูมิพลก็ไม่ต่างออกไป ได้ความมั่นคงของตำแหน่งเพราะทหาร และทหารก็พร้อมจะใช้เสมอ

ลองคิดดู ประยุทธ์ไม่พอใจมากกับการที่อุบลรัตน์ถูกเสนอชื่อโดยพรรคไทยรักษาชาติ เพราะมันไปท้าทายการผูกขาดอำนาจของเผด็จการทหาร และถ้าให้เลือกโดยไม่ถูกกดดัน ประยุทธ์กับพวกคงไม่ต้องการแชร์อำนาจกับทักษิณ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการเสนอชื่ออุบลรัตน์แต่แรก ทหารจึงมีเหตุผลสูงในการสั่งวชิราลงกรณ์ให้ออกมาห้าม

แต่สำหรับวชิราลงกรณ์ นอกจากการแข่งอีโก้กับพี่สาวว่าใครจะเป็น “นัมเบอร์วัน” แล้ว วชิราลงกรณ์ไม่มีอะไรที่จะต้องกลัวจากทักษิณแต่อย่างใด เพราะทักษิณไม่ใช่พวกล้มเจ้า และมีข่าวว่าเคยจ่ายหนี้การพนันให้วชิราลงกรณ์อีกด้วย ดังนั้นถ้าไม่มีทหารออกมาบอกให้ห้ามพี่สาวก็คงไม่สนใจที่จะออกมา

นอกจากพวกหมกมุ่นในเรื่องข้างบน มีนักวิจารณ์ต่างประเทศบางคนที่หัวเราะดูถูกคนไทยว่าโง่ และทำเป็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องตลกของประเทศที่ไม่เจริญ แต่พวกเหยียดเชื้อชาติเหล่านี้ไม่เคยพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมและการเมืองไทยเลย เราด่ามันได้แต่ไม่ควรไปสนใจ

มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มองว่าพรรคไทยรักษาชาติเล่นเกมเก่งมาก บางคนเสนอคำขวัญ “เดินหมากเดียว กินทั้งกระดาน” แต่แล้ว ภายในไม่กี่ชั่วโมงฝ่ายทหารก็ตีกลับมาด้วยการรุกฆาต บทเรียนคือในการเมืองคนที่หาทางลัดมักจบไม่ดี อย่าลืมว่าไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งครั้งแรกด้วยการทำงานหนักเพื่อครองใจประชาชน ไม่ใช่ด้วยการหาทางลัด

และถ้าจะดูภาพกว้างเราอาจคิดได้ว่าการเสนออุบลรัตน์เป็นความผิดพลาดพอๆ กับการนิรโทษกรรมเหมาเข่ง

อีกบทเรียนหนึ่งคือ “อย่าไปหวังอะไรจากชนชั้นบน” เช่นคนเสื้อแดงไม่ควรตั้งความหวังอะไรเลยกับวชิราลงกรณ์อย่างที่เคยทำ และตอนนี้ควรทบทวนการตั้งความหวังกับทักษิณอีกด้วย และไม่ควรไปหวังอะไรจากอุบลรัตน์ เพราะนั้นเป็นความคิดแบบ “ไทยเป็นทาส” มัวแต่ขอความเมตตาจากคนข้างบน

ขอเน้นว่าถ้าวิธีการของไทยรักษาชาติประสพความสำเร็จ มันจะเป็นแค่การแชร์อำนาจระหว่างทักษิณกับทหาร มันไม่ลบผลพวงของเผด็จการแต่อย่างใด

ดังนั้นเราต้องกลับมาที่ประเด็นหลักคือ เราจะกำจัดผลพวงของเผด็จการและสร้างประชาธิปไตยแท้จริงอย่างไร? ซึ่งเป็นคำถามที่ใครๆ ควรถามแต่แรก และเป็นคำถามสำคัญเพราะเราทราบดีว่าการเลือกตั้งที่จะถึงนี้จะถูกจำกัดเพื่อให้อิทธิพลเผด็จการอยู่ต่อไปอีกนาน และพลเมืองธรรมดาที่อยากเลือกพรรคของทักษิณก็ต้องการประชาธิปไตยแท้

51786591_394346794633035_8835436868259545088_n

มันมีคำตอบเดียวครับ การลบผลพวงของเผด็จการ การกำจัดอิทธิพลของทหารในการเมือง และการสร้างประชาธิปไตยแท้ ต้องทำโดยการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่มีมวลชนมหาศาล ซึ่งพร้อมจะประสานการเคลื่อนไหวร่วมกับพรรคการเมืองที่อยากเห็นประชาธิปไตย จากประวัติศาสตร์ไทยเราทราบว่าขบวนการแบบนี้สร้างได้ และจะประสพความสำเร็จถ้าอิสระจากการนำของคนชั้นสูง

แต่ถ้าใครปฏิเสธโลกจริงอันนี้ และมองว่าพลเมืองไทยไม่มีปัญญาจะกำหนดอนาคตตนเองได้ มันก็ย่อมจบลงด้วยการเสนอชื่อเจ้าเพื่อแข่งกับทหาร หรือการใส่เสื้อเหลืองเพื่อโบกมือต้อนรับรัฐประหาร

 

การจัดการกับอาชญกรรมรัฐไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในวันที่ ๑๔ ตุลาคมปีนี้ พรรคสามัญชน แถลงว่า “ต้องมีการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐที่ผ่านมาทั้งหมด” โดยมีการเสนอว่า

  1. สนับสนุนกระบวนการค้นหาความจริงอย่างรอบด้าน
  2. จัดทำโครงการรำลึกและการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงโดยรัฐอย่างเป็นระบบ
  3. ชดเชยผู้เสียหายจากความรุนแรง
  4. ต้องไม่มีการลอยนวลพ้นผิด จะต้องมีการสอบสวน ลงโทษ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยรัฐ อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

43950273_1942694965809987_568145699913334784_n

ทั้งๆ ที่ผมสนับสนุนทั้งสี่ข้อนี้ มันมีเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ ในเกือบทุกเรื่องตอนนี้ มันมีการค้นหาความจริงโดยขบวนการประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว เช่นกรณีเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เป็นต้น [ดู https://bit.ly/2cSml2g ] และผู้ก่อความรุนแรงรายใหญ่ตายไปหมดแล้ว ส่วนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖, พฤษภาคม ๒๕๓๕, การเข่นฆ่าประชาชนมาเลย์มุสลิมที่ตากใบ, การฆ่าวิสามัญในสงครามยาเสพติด และการเข่นฆ่าเสื้อแดง เราล้วนแต่ทราบข้อมูลว่าใครสั่งการและใครควรรับผิดชอบ มันไม่มีอะไรลึกลับ มันไม่มีประวัติศาสตร์ที่ต้องชำระ

col01210959p1

สำหรับ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ผู้นำเผด็จการที่สั่งฆ่าประชาชนตายไปแล้วสองคน แต่ ณรงค์ กิตติขจร ทรราชคนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบกับการฆ่าประชาชน ยังมีชีวิตอยู่ เขาควรจะถูกนำมาขึ้นศาล

200px-ณรงค์_กิตติขจร

ณรงค์-กิตติขจร-1
ณรงค์ กิตติขจร

นอกจาก ณรงค์ กิตติขจร แล้ว สุจินดา คราประยูร ผู้สั่งการในการฆ่าประชาชนในพฤษภา ๓๕ ก็ควรจะกลายเป็นผู้ต้องหาด้วย ในกรณีการเข่นฆ่าประชาชนมาเลย์มุสลิมที่ตากใบ และการฆ่าวิสามัญในสงครามยาเสพติด ทักษิณ ชินวัตร จะต้องถูกนำมาขึ้นศาล

hqdefault
สุจินดา คราประยูร

A-0208
ทักษิณ ชินวัตร

และล่าสุดในคดีเข่นฆ่าประชาชนเสื้อแดง อนุพงษ์ เผ่าจินดา, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ควรจะถูกนำมาขึ้นศาลเช่นกัน

ฆาตกร

แล้วทำไมไม่กล้าพูดกันตรงๆ ? แน่นอนมันคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ แต่อย่างน้อยต้องมีการเปิดประเด็นเรื่องนี้ให้ชัดเจนเพื่อเป็นเป้าหมาย

ปัญหาคือการพูดถึงการ “ชำระประวัติศาสตร์” สามารถถูกใช้เป็นคำพูดที่ดูดี อยู่เคียงข้างความยุติธรรมและประชาธิปไตย แต่ในรูปธรรมกลายเป็นข้ออ้างในการชะลอการลงมือจัดการกับอาชญากร

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับพรรรคสามัญชน มันเกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่ด้วย เพราะถ้าจะลบผลพวงของรัฐประหารและเผด็จการทหาร สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการนำผู้กระทำความผิดมาขึ้นศาล ซึ่งคงต้องรวมไปถึงคนที่ก่อรัฐประหารด้วย ดังนั้นคงต้องเพิ่มชื่อ สนธิ บุญยรัตกลิน เข้าไปอีกหนึ่งคน

และประเด็นที่ตามมาคือจะนำอำนาจอะไรมาทำ? จะใช้อำนาจอะไรยกเลิกรัฐธรรมนูญทหารและยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี? มันมีอำนาจเดียวที่ชี้ขาดในเรื่องนี้ คืออำนาจของขบวนการมวลชนนอกรัฐสภา

เรื่องแบบนี้พรรคการเมืองที่พูดในลักษณะก้าวหน้าควรจะอธิบายให้ชัดเจนในเรื่อง “อำนาจ” และควรจะพูดว่าพร้อมจะสร้างขบวนการมวลชนหรือไม่ และถ้าไม่พร้อมจะสร้างขบวนการมวลชน คิดว่ายังทำในสิ่งที่ต้องการทำได้หรือไม่ ไม่ใช่พูดว่าจะใช้รัฐสภาจัดการกับผลพวงของเผด็จการโดยไม่คุยเรื่องอุปสรรค์ เพราะถ้าไม่พูดให้ชัดเจน หรือถ้าแอบอยู่หลังคำประกาศว่าจะชำระประวัติศาสตร์ นโยบายต่างๆ ที่ฟังดูดี ก็แค่เป็นคำพูดที่ดูสวยงามแต่ไร้รูปธรรมโดยสิ้นเชิง

 

พรรคการเมืองที่ต้านเผด็จการควรสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

ใจ อึ๊งภากรณ์

[ท่านใดที่อ่านผ่าน Facebook อาจอ่านได้ง่ายขึ้นถ้าเข้าไปอ่านในบล็อก ]

การที่นักการเมืองอย่าง วัฒนา เมืองสุข และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปเยี่ยมและให้กำลังใจแกนนำ “คนอยากเลือกตั้ง” ที่โดนขังหลังจากการชุมนุม เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

images-771303392988.33234804_1679739312111511_4525595980254412800_n

แต่พรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนว่าต้านเผด็จการ และจะลบผลพวงของเผด็จการประยุทธ์ จะต้องทำมากกว่านี้ เพราะในอนาคต เมื่อมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น การเลือกตั้งดังกล่าวจะเป็น “ละครประชาธิปไตย” ภายใต้กรอบเผด็จการทหารที่ต้องการสืบทอดอำนาจไปข้างหน้าอีก 20 ปี

ทั้งรัฐธรรมนูญทหาร แผนการเมืองในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของทหาร การแต่งตั้งสว. การแต่งตั้งตุลาการ การเขียนกฏหมายเลือกตั้ง และการแต่งตั้ง กกต.ฯลฯ จะมีผลในการทำให้การเลือกตั้งไม่เสรี และไม่เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย เพราะจะมีการกำหนดว่าพรรคการเมืองสามารถเสนอนโยบายอะไรบ้าง และจะมีการมัดมือรัฐบาลในอนาคตที่มาจากการเลือกตั้ง

ดังนั้นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทหาร และการลบผลพวงของเผด็จการประบุทธ์ จะเป็นเรื่องที่ “ผิดกฏหมาย” ตามคำนิยามของเผด็จการ แต่ทั้งๆ ที่ผิดกฏหมายเผด็จการ มันเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะมีความชอบธรรมสูงตามมาตรฐานประชาธิปไตย และการได้มาซึ่งประชาธิปไตยและเสรีภาพในทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ล้วนแต่ผ่านกระบวนการของการฝืนกฏหมายทั้งสิ้น

อย่าลืมว่าเผด็จการของ “ประยุทธ์มือเปื้อนเลือด” ชอบอ้างว่าทำตามกฏหมายเสมอ ก็แน่นอนล่ะ!กฏหมายของมัน มันกับพรรคพวกล้วนแต่ร่างเองออกเองทั้งนั้น

ประเด็นสำคัญคือ ถ้าพรรคการเมืองที่คัดค้านเผด็จการชนะละครการเลือกตั้งในอนาคต จะเอาพลังที่ไหนมาฝืนกฏหมายเผด็จการ? คำตอบคือต้องผสมความชอบธรรมจากการชนะการเลือกตั้ง กับพลังของขบวนการมวลชนนอกรัฐสภา เพื่อไปคานเครื่องมือของเผด็จการ

สรุปแล้วพรรคการเมืองเหล่านี้ ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายมวลชนที่จะนำไปสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย แต่เรายังไม่เห็นว่าพรรคไหนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย มีแต่การให้ความสำคัญกับการหาเสียงสำหรับละครการเลือกตั้งในอนาคตอย่างเดียว

การไปเยี่ยมและให้กำลังใจกับแกนนำการประท้วงที่ถูกจับเป็นเรื่องดี แต่มันต้องมีการพัฒนาไปสู่การไปร่วมประท้วงด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างในการชักชวนมวลชนเข้ามาเพิ่ม ต้องมีการลงพื้นที่เพื่อสร้างเครือข่ายและชวนให้มวลชนออกมาอย่างต่อเนื่อง

แน่นอนฝ่ายทหารจะจับตาดูพรรคการเมืองอย่างใกล้ชิด แต่บางทีมันต้องมีการแบ่งงานกันทำในหมู่สมาชิกและแกนนำของพรรค

33424580_1680606478691461_2432532333853671424_o

ในมุมกลับนักเคลื่อนไหวที่เรียกร้องประชาธิปไตยในยุคนี้ จะต้องไม่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมจากพรรคภายใต้ข้ออ้างว่าจะ “รักษาความบริสุทธิ์” แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องยอมให้กลุ่มหรือพรรคเข้ามาครอบงำ ดังนั้นการนำและแผนการทำงานต้องมาจากมติประชาธิปไตยภายในองค์กร ซึ่งดูเหมือนว่ายังไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจนแบบนี้

นอกจากนี้การพูดถึง “ความบริสุทธิ์” มันเป็นการสร้างภาพลวงตาพอๆ กับคนที่อ้างว่าหนุ่มสาวที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เป็นคน “บริสุทธิ์” และมันเป็นการดูถูกคนอื่นๆ เป็นล้านๆ ที่กล้าแสดงจุดยืนทางการเมืองกับพรรคการเมืองว่าเป็นคน “สกปรกที่เสียความบริสุทธ์”

ถ้าเราดูประวัติของการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในไทย เช่นการสร้างขบวนการแรงงาน ขบวนการชาวนา หรือการสร้างเสื้อแดง จะเห็นว่ามีการกระตุ้นและประสานงานโดยพรรคการเมือง

ในช่วง ๑๔ ตุลา จะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และในกรณีเสื้อแดงก็เป็นพรรคของทักษิณ

ในยุคนี้การสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยต้องทำแบบไม่เล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งแปลว่าต้องมีการสร้างแนวร่วมระหว่างหลายกลุ่ม ไม่ใช่คุมโดยพรรคใดหรือกลุ่มใดอย่างผูกขาด ต้องมีการเปิดกว้างยอมรับหลากหลายมุมมองภายใต้จุดยืนร่วมสำคัญๆ เกี่ยวกับการลบผลพวงของเผด็จการ

บทเรียนอันหนึ่งที่สำคัญสำหรับยุคนี้มาจากขบวนการเสื้อแดง ที่เคยเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย มันมีสองบทเรียนที่สำคัญคือ หนึ่ง ถ้าไม่มีพรรคคอยประสานงานและกระตุ้นให้เกิดมันก็ไม่เกิดแต่แรก สอง การที่พรรคของทักษิณนำขบวนการเสื้อแดงมีผลทำให้เสื้อแดงถูกแช่แข็งและทำลายโดยนักการเมืองของทักษิณได้ เมื่อพรรคมองว่าไม่ควรเคลื่อนไหวต่อทั้งๆ ที่สังคมตกอยู่ภายใต้เผด็จการ

จริงๆ ประสบการณ์ทั่วโลกสอนให้เรารู้ว่า พรรคที่จะให้ความสนใจกับการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างจริงจัง จากล่างสู่บน มักเป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่มีฐานในขบวนการสหภาพแรงงานและคนชั้นล่างโดยทั่วไป และจะเป็นพรรคที่ไม่ได้หมกมุ่นกับรัฐสภาจนลืมเรื่องอื่นๆ อีกด้วย แต่พรรคการเมืองแบบนี้ยังไม่ถูกสร้างขึ้นมาในไทยอย่างจริงจัง

 

[หลายภาพถ่ายโดย สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ แต่เขาไม่มีส่วนในการเขียนบทความนี้  ซึ่งเป็นความเห็นของผู้เขียนคนเดียว]

อวสานขบวนการเสื้อแดง?

ใจ อึ๊งภากรณ์

เมื่อไม่นานมานี้ ผมเขียนบทความเรื่อง “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในปัจจุบัน – จุดยืนมาร์คซิสต์” ในบทความนั้นผมเสนอว่า แทนที่เราจะมองว่ามีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหลายๆ ขบวน ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน นักมาร์คซิสต์ตั้งแต่สมัยมาร์คซ์กับเองเกิลส์ มองว่ามันมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนชั้นล่างแค่ขบวนการเดียว การเคลื่อนไหวนี้ท้าทายเบื้องบนเสมอ และหวังขยายพื้นที่เสรีภาพสำหรับคนชั้นล่าง แต่ขบวนการนี้มีหลายแขนหลายขาตามยุคต่างๆ ซึ่งแต่ละแขนขา มีหน้าตาแตกต่างกัน ในขณะที่เชื่อมกับลำตัวหลักข้ามยุคต่างๆ ตลอด

ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในรูปแบบหนึ่ง ไม่เคยคงที่และถาวร แขนหรือขาข้างหนึ่งอาจหมดสภาพไป หรือเมื่อทำหน้าที่เฉพาะหน้าไปแล้วก็เริ่มเสื่อม แต่ในไม่ช้า ตราบใดที่สังคมยังไม่มีเสรีภาพหรือความเท่าเทียม แขนขาใหม่ก็งอกขึ้นมาแทนที่

เสื้อแดงกับขบวนการนักศึกษาและประชาชนจากยุค ๑๔ ตุลาเชื่อมโยงกันแบบนี้ และไม่ว่าใครจะว่ายังไง “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ของนักศึกษาในปัจจุบัน ก็เชื่อมกับสองขบวนการข้างต้น ทั้งในแง่ประเพณี รูปแบบการต่อสู้ องค์ความรู้ที่สะสม และบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้นคนที่ไม่อยากให้เสื้อแดงมาชุมนุมสนับสนุนนักศึกษาใน “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” เป็นคนที่เข้าใจผิด ใจแคบ และค่อนข้างจะเกรงกลัวเสื้อแดงจนออกรสชาติอนุรักษ์นิยม แต่ถึงกระนั้นผมต้องบอกตรงๆ ว่า ขบวนการเสื้อแดงมันหมดสภาพไปแล้ว และสาเหตุหลักคือแกนนำตั้งใจแช่แข็งขบวนการเพื่อยอมจำนนต่อทหาร และการยอมจำนนครั้งนี้กระทำไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองสายทักษิณ เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสรุปว่า การที่เสื้อแดงก้าวหน้าไม่เคยสนใจอย่างจริงจังที่จะสร้างองค์กรเพื่อช่วงชิงการนำจาก นปช. ก็ทำให้มวลชนเสื้อแดงขาดการนำที่เป็นทางเลือก ในสภาพเช่นนี้เสื้อแดงธรรมดาจะขาดความมั่นใจในการออกมาชุมนุมและเกรงกลัวทหาร แต่อย่าลืมว่านักศึกษาไม่ได้กลัวทหารแบบนั้น ดังนั้นเราต้องหาทางร่วมกันข้ามพ้นความกลัว

ขบวนการเสื้อแดง ในลักษณะ “ขบวนการ” อาจถึงจุดอวสาน แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าบุคคลที่เคยเป็นเสื้อแดงจะต้องหมดสภาพ เขาสามารถออกมาเคลื่อนไหวและร่วมสร้างรูปแบบใหม่ของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยร่วมกับนักศึกษาและคนที่ไม่เคยเคลื่อนไหวมาก่อน นั้นคือภาระสำคัญสำหรับยุคนี้ เพราะถ้าเราจะล้มเผด็จการ เราต้องอาศัยพลังมวลชนในที่สุด ประวัติศาสตร์ทั่วโลกสอนให้เรารู้ว่าแค่การออกมาในรูปแบบกลุ่มเล็กๆ เพื่อเคลื่อนไหวเชิงสัญญลักษณ์จะไม่พอในการล้มอำนาจเผด็จการ

คนที่ไม่อยากเห็นคนเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ จะเป็นคนที่ชอบพูดเรื่องนักศึกษาว่าเป็น “พลังบริสุทธิ์” ซึ่งก็คงหมายความว่าเสื้อแดงเป็นพลัง “เปรอะเปื้อน” เพราะเกี่ยวโยงกับทักษิณ ความคิดแบบนี้จะตั้งความหวังเพ้อฝันว่าพวกสลิ่มชนชั้นกลางอาจมาร่วมสนับสนุนนักศึกษาเพื่อล้มอำนาจทหาร ดังนั้นเขาอยากเห็นจุดยืนของ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่” ที่ไม่พูดถึงการเมือง หรือถ้าพูดก็แค่ในลักษณะเบาๆ ที่สลิ่มยอมรับได้ ซึ่งหมายความว่าคงห้ามพูดถึง กฏหมาย 112 นักโทษการเมืองคนอื่นที่ไม่ใช่นักศึกษา การนำอาชญากรรัฐที่ฆ่าประชาชนมาขึ้นศาล โดยเฉพาะทหาร หรือการลบผลพวงทั้งหมดของรัฐประหารสองรอบ สลิ่มจะคัดค้านการเคลื่อนไหวของมวลชนเพื่อล้มเผด็จการทหารด้วย

ในช่วงนี้เราเห็นสลิ่มบางคนมามีบทบาทในการ “ช่วย” นักศึกษา แม้แต่ “อภิสิทธิ์มือเปื้อนเลือด” ก็ออกมาพูดเสือก เราต้องถามว่าเป้าหมายของพวกนี้คืออะไร และที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องกีดกันไม่ให้เขามีบทบาทนำในการกำหนดยุทธ์ศาสตร์สำหรับ “ขบวนการประชาธิปไตยใหม่”

คนเสื้อแดงอาจเกี่ยวโยงกับทักษิณ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นแค่ลูกน้องของทักษิณที่สู้เพื่อทักษิณ คนเสื้อแดงซับซ้อนกว่านี้มาก และเหตุผลสำคัญในการต่อสู้ก็เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตย และการกู้ศักดิ์ศรีพลเมืองของตนเองที่ถูกกดทับมานานในสังคมชนชั้นด้วย

นักศึกษาอาจใส่เสื้อสีขาวตามเครื่องแบบนักศึกษา แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาปลอด “เชื้อโรคแห่งการเมือง” เขาเป็นผลของการเติบโตในสังคมที่มีวิกฤตทางการเมือง

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ สลิ่มและชนชั้นกลางส่วนใหญ่ เป็นศัตรูของประชาธิปไตย เป็นเพื่อนของทหารเผด็จการ ดูถูกพลเมืองส่วนใหญ่ และเคยเคลื่อนไหวเพื่อกวักมือเรียกทหารและทำลายการเลือกตั้ง พวกนี้อยู่คนละฝั่งกับเรา ถ้าเราพยายามประนีประนอมกับสลิ่ม โดยถอยออกห่างจากคนเสื้อแดง เป้าหมายของเราจะกลายเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบเท่านั้น

ท่ามกลางการเห่าหอนโกหกของเผด็จการประยุทธ์มือเปื้อนเลือด ว่าพวกเรา “ไม่จำเป็น” ที่จะคัดค้านรัฐบาลทหารชุดนี้ “เพราะเขาต้องยึดอำนาจเพื่อระงับสงครามกลางเมือง” เราควรเตือนความจำกันบ้าง

ประยุทธ์และทหารเผด็จการอื่นร่วมกันก่อรัฐประหาร ๑๙ กันยา เพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หลังจากนั้นก็เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อเข้าข้างฝ่ายเผด็จการ พอมันต้องจัดการเลือกตั้งอีกเพื่อดูดี ฝ่ายทักษิณก็ชนะอีก มันเลยให้ศาลทำรัฐประหารตุลาการแล้วตั้งรัฐบาล อภิสิทธ์-สุเทพ ในค่ายทหาร ต่อมาเมื่อเสื้อแดงเรียกร้องประชาธิปไตย แก๊งประยุทธ์-อนุพงษ์-อภิสิทธ์-สุเทพ ก็จัดการฆ่าคนที่ไม่มีอาวุธในมือเก้าสิบราย หลังจากนั้นมันจำเป็นต้องยอมให้มีการเลือกตั้งอีก แล้วมันก็แพ้อีกทั้งๆ ที่ประยุทธ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทยก่อนวันเลือกตั้งเป็นประจำ เมื่อปลายปีที่แล้วประยุทธ์ก็นั่งเฉยอมยิ้มปล่อยให้อันธพาลม็อบสุเทพก่อความรุนแรงและทำลายกระบวนการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้นข้ออ้างของประยุทธ์ในการก่อรัฐประหารฟังไม่ขึ้น ไม่ต่างจากข้ออ้างเหลวไหลของผู้ก่อรัฐประหารในอดีตทุกครั้ง

พรรคพวกของประยุทธ์มีแผนระยะยาวในการลดพื้นที่ประชาธิปไตย เขากำลังออกแบบระบบประชาธิปไตยปลอม เพื่อให้ทหารและข้าราชการอนุรักษ์นิยมครองอำนาจต่อไปไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง และพวกสลิ่มชนชั้นกลางก็เห็นด้วยกับโครงการยุคมืดอันนี้

ความหวังสำหรับประชาธิปไตยคือ การสร้างขบวนการมวลชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ประกอบไปด้วยคนที่เคยเป็นเสื้อแดง นักศึกษารุ่นใหม่ และคนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวเลย