สิบปีหลัง ๑๙ กันยา เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

ใจ อึ๊งภากรณ์

สิบปีที่แล้วพวกทหาร สลิ่ม และอำมาตย์อนุรักษ์นิยมได้ริเริ่มกระบวนการในการทำลายประชาธิปไตยไทย ซึ่งมีผลต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่รัฐประหาร ๑๙ กันยา เราต้องประสบวิกฤตทางการเมืองอันเนื่องมาจากการทำรัฐประหารของทหารกับศาลซ้ำแล้วซ้ำอีก รวมถึงการก่อความรุนแรงโดยม็อบคนชั้นกลางและพวกอันธพาลจัดตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ที่ทำลายการเลือกตั้งและสนับสนุนการก่อรัฐประหารดังกล่าว นอกจากทหาร สลิ่ม และอำมาตย์อนุรักษ์นิยมแล้ว นักเคลื่อนไหวเอ็นจีโอ และนักวิชาการเสรีนิยมฝ่ายขวาก็มีส่วนในการสนับสนุนรัฐประหารและการทำลายประชาธิปไตยอีกด้วย

ji

ในรอบสิบปีที่ผ่านมาพวกที่ต้านประชาธิปไตยได้เข่นฆ่าประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอย่างเลือดเย็น โดยพวกฆาตรกรของฝ่ายรัฐลอยนวลเสมอ ในขณะเดียวกันคุกไทยมีนักโทษทางการเมืองในจำนวนที่เราไม่เคยเห็นตั้งแต่การยุติของสงครามเย็น พร้อมกันนั้นในต่างประเทศก็มีคนไทยที่เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวนหนึ่งอย่างที่ไม่เคยมีมานาน กลไกสำคัญอันหนึ่งที่ใช้ในการปราบฝ่ายซ้ายและเสื้อแดงคือกฏหมายเถื่อน 112 ที่ปกป้องผู้ดำรงตำแหน่งสาธารณะและการกระทำทุกอย่างของทหารเผด็จการ

somyot-prueksakasemsuk

ต้นกำเนิดของวิกฤตการเมืองไทยครั้งนี้คือวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ ซึ่งเปิดโปงปัญหาพื้นฐานในสังคมไทย คือการที่สภาพการดำรงอยู่ “ทางวัตถุ” หรือ “ทางเศรษฐกิจสังคม” ของประชาชนส่วนใหญ่ ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับโครงสร้างส่วนบนของสังคมไทยที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แค่ห้าปีก่อนหน้านั้นมีการลุกฮือที่ประสบความสำเร็จในการล้มเผด็จการทหาร แต่การเมืองยังวนเวียนอยู่ในสภาพเดิมๆ

ในหลายปีก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่อย่างที่ควร เพราะผลประโยชน์เกือบทั้งหมดตกอยู่ในมือของชนชั้นนำและนายทุนไม่กี่คน ส่วนชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยเช่นกัน ก็ได้ประโยชน์บ้าง สรุปแล้วหลายแง่ของสังคมไทยถูกแช่แข็งในความล้าหลัง

ในขณะเดียวกันวิถีชีวิตของประชาชนทั่วประเทศเปลี่ยนไป คนที่เลี้ยงชีพในภาคเกษตรลดลงอย่างรวดเร็ว และคนที่เป็นลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและการบริการก็เพิ่มขึ้น แม้แต่คนที่อยู่ในภาคเกษตรของชนบทก็ต้องเสริมรายได้ด้วยการทำงานในกิจกรรมนอกภาคเกษตรในชุมชนตนเองด้วย

สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนมากพอสมควร โดยเฉพาะเวลาเราพิจารณาว่าคนที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายขึ้นไป ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และคนร่นใหม่เริ่มเข้าสู่วัยของการเป็นผู้ใหญ่ แต่ความไม่พอใจดังกล่าวไม่ได้ถูกแสดงออกเพราะหลายคนขาดความมั่นใจ และมองไม่ออกว่าจะแก้สถานการณ์ในรูปธรรมอย่างไร

ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ และเรามีรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีภาพว่ามาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมกับการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยของ ทักษิณ ชินวัตร ประชาชนเริ่มมีความหวังว่าสภาพสังคมจะดีขึ้น มันเป็นประกายไฟที่จุดให้คนจำนวนมากตื่นตัวทางการเมืองภายใต้ความหวังและทางออกที่พอมองเห็นได้

ทักษิณ ชินวัตร กับไทยรักไทย เข้าใจ และพร้อมจะฉวยโอกาสทองในการสร้างการเมืองแบบใหม่บนพื้นฐานโยบายที่เป็นรูปธรรม เพื่อครองใจประชาชน แทนระบบอุปถัมภ์และการซื้อเสียงแบบเดิม นโยบายของไทยรักไทย โดยเฉพาะ “30บาทรักษาทุกโรค” และกองทุนหมู่บ้าน ถูกออกแบบเพื่อทำให้สังคมไทยทันสมัยมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนใหญ่เพิ่มกำไรผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยทั่วไปในสังคม ทักษิณเรียกนโยบายดังกล่าวว่า นโยบายคู่ขนาน คือผสมการลงทุนจากรัฐกับการใช้กลไกตลาดเสรี แต่ศัตรูของไทยรักไทยมักเรียกนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ว่าเป็น “ประชานิยม” เหมือนกับว่าเป็นคำด่า พวกนี้เกลียดชังการใช้รัฐเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เพราะเขานิยมกลไกตลาดเสรีสุดขั้วแบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ที่ให้ประโยชน์กับเขามานาน นอกจากนี้พวกนี้เกลียดชังคนส่วนใหญ่และมองว่าเราเป็น “คนโง่” ที่ไว้ใจไม่ได้และตัดสินใจอะไรเองไม่ได้

สาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่พวกทหาร สลิ่ม และอำมาตย์อนุรักษ์นิยม เริ่มไม่พอใจรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ทั้งๆที่เคยชื่นชมในยุคแรก คือการที่ไทยรักไทยสามารถครองใจประชาชนผ่านนโยบายและสามารถผูกขาดอำนาจจากการชนะการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย พวกนั้นไม่พร้อมหรือไม่สามารถที่จะแข่งทางการเมืองกับไทยรักไทยในระบบการเลือกตั้งได้ เขาจึงหันมาชื่นชมเผด็จการแทน

วิกฤตการเมืองปัจจุบันไม่ได้เกิดจาก “ปัญหาการเปลี่ยนรัชกาล” แต่อย่างใด เพราะกษัตริย์ภูมิพลเป็นคนอ่อนแอมาตลอด ไม่มีอำนาจ และถูกใช้โดยทหารและอำมาตย์ รวมถึงนักการเมืองอย่างทักษิณอีกด้วย ปัจจุบันขณะที่กษัตริย์ภูมิพลป่วยมานานและหมดสภาพในการแสดงออกอะไรมากมาย ก็ไม่มีสุญญากาศทางการเมืองแต่อย่างใด และทุกส่วนของชนชั้นนำมองว่าเจ้าฟ้าชายจะขึ้นมาเป็นกษัตริย์คนต่อไป ยิ่งกว่านั้นเจ้าฟ้าชายจะเป็นคนที่อ่อนแอและถูกใช้ยิ่งกว่าพ่อด้วยซ้ำ เพราะไม่สนใจการเมืองเลย และชนชั้นนำไทยก็ไม่เคารพเท่าไร ดังนั้นการเน้นเรื่อง “ปัญหาการเปลี่ยนรัชกาล” เป็นการเบี่ยงเบนปัญหา และมองสังคมไทยจากมุมองชนชั้นบนเท่านั้น  (ดู http://bit.ly/2cnQepl )

การที่ประยุทธ์ทำรัฐประหารครั้งล่าสุด เปิดให้เราเห็นว่าอำนาจสำคัญที่สุดในการทำลายประชาธิปไตยคือกองทัพ ไม่ใช่กษัตริย์ เพราะกษัตริย์เพียงแต่มีหน้าที่ในการให้ความชอบธรรมกับสิ่งแย่ๆ ที่ทหารทำเท่านั้น แต่อำนาจเผด็จการของทหาร ไม่ใช่ในลักษณะ “รัฐพันลึก” เพราะกองทัพไทยและพวกอำมาตย์แตกแยกกันเสมอและแข่งกันเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ ดังนั้นมีการทำแนวร่วมและเปลี่ยนขั้วกันเป็นประจำ ทฤษฏีรัฐพันลึกเป็นอีกทฤษฏีหนึ่งที่เน้นแต่เบื้องบน เราต้องพิจารณาภาพรวมและการต่อสู้ของประชาชนธรรมดาที่ต้องการประชาธิปไตยและพร้อมจะสู้เสมอ (ดู http://bit.ly/2a1eP01 )

พอมาถึงจุดนี้เราควรทบทวนสถานการณ์ เราต้องไม่ไปหลงใหลในนักการเมืองแบบทักษิณว่าจะสู้เพื่อประชาธิปไตย ทักษิณมีส่วนในการแช่แข็งเสื้อแดง และเขาเป็นนักการเมืองของฝ่ายทุนที่พร้อมจะก่ออาชญากรรมในปาตานีหรือในสงครามยาเสพติด ตรงนี้เขาไม่ต่างจากทหารหรือพรรคประชาธิปัตย์

ข้อเสนอของนักประชาธิปไตยอย่าง อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ว่าเราควรหาทางข้ามพ้นความขัดแย้งในหมู่ประชาชนสองฝ่ายของสังคมไทย เพื่อหาฉันทามติในการกำหนดรูปแบบการเมืองที่ไม่ใช่เผด็จการทหาร เป็นข้อเสนอที่จะไม่สร้างประชาธิปไตยจริงในรูปธรรม เพราะความขัดแย้งทางการเมืองมักดำรงอยู่ในทุกสังคมของโลก และความขัดแย้งดังกล่าว มีรากฐานจากผลประโยชน์ที่ต่างกันทางชนชั้น ทั้งๆ ที่ประเด็นต่างๆ อาจถูกบิดเบือนไปหรือไม่ชัดเจนขาวกับดำ การหาฉันทามติระหว่างคนที่รักประชาธิปไตยในไทยกับพวกสลิ่ม นอกจากจะเป็นความฝันที่เป็นไปไม่ได้แล้ว ยังเป็นข้อเสนอที่จะจบลงโดยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประนีประนอมในที่สุด ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องเป็นฝ่ายประนีประนอม เราจะได้แค่ประชาธิปไตยครึ่งใบ

2551-10-02_%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%a8%e0%b8%b1%e0%b8%81%e0%b8%94%e0%b8%b4%e0%b9%8c-%e0%b9%80%e0%b8%88%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%a1%e0%b8%98%e0%b8%b5%e0%b8%a3%e0%b8%aa%e0%b8%81%e0%b8%b8%e0%b8%a5

ทั้งๆ ที่ อ. สมศักดิ์ เป็นคนจริงใจในการต้านเผด็จการ แต่ความคิดแบบนี้มาจากการที่เขา และคนที่คิดเหมือนเขา ไม่มีความมั่นใจในพลังของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หรือขบวนการกรรมาชีพ เขาจึงไม่มีส่วนในการทำงานเพื่อจัดตั้งมวลชน และต้องหันมาแสวงหาสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นทางลัด แต่มวลชนผู้รักประชาธิปไตยเป็นพลังชี้ขาดในการผลักดันความก้าวหน้าเสมอ

20100328_02_27

เราต้องสร้างความมั่นใจว่าประชาชนสู้เองได้ แต่ถ้าเราไม่สร้างองค์กร ไม่สร้างพรรค ไม่สร้างเครือข่ายมวลชน เราจะไม่มีวันนำตนเองอย่างมีพลัง ที่สำคัญคือเราต้องรู้จักสามัคคีกับคนที่อาจเห็นต่างแต่มีจุดร่วมในการเกลียดเผด็จการและพฤติกรรมของสลิ่ม การเล่นพรรคเล่นพวกเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของเรา เป็นพฤติกรรมของเด็กๆ ที่ต้องเลิก และถ้าเรามัวแต่เคลื่อนไหวในกลุ่มเล็กๆ ในเชิงสัญลักษณ์ โอกาสที่จะล้มเผด็จการจะยิ่งยืดออกไปนานในอนาคต

อย่าลืมว่าคนไทยเคยล้มเผด็จการมาหลายรอบ และคนไทยจำนวนมากมีวัฒนธรรมที่ชื่นชมประชาธิปไตย แน่นอนเราทุกคนก็เคยพบอุปสรรคในการต่อสู้ บ่อยครั้งเช่นหลังผลประชามติ เราต้องยอมรับว่าต้องถอยหนึ่งก้าวเพื่อเดินหน้าสองก้าว และเพื่อชัยชนะของประชาชนชั้นล่าง

อ่านเพิ่ม http://bit.ly/1VTFyio

และบทความภาษาอังกฤษล่าสุดที่เขียนเพื่อเสนอในงาน “เสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน” ที่กรุงปารีส 19/9/2016 ดูได้ที่นี่: http://bit.ly/2bSpoF2  or http://bit.ly/2cmZkAa

One thought on “สิบปีหลัง ๑๙ กันยา เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?”

Comments are closed.