เราเรียนรู้อะไรได้บ้างจากการลุกฮือของมวลชนทั่วโลก

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในรอบเดือนที่ผ่านมามีการประท้วงของมวลชนในหลายประเทศของโลก ในทุกกรณีประเด็นลึกๆ ที่สร้างความโกรธแค้นของมวลชนมีจุดร่วม ทั้งๆ ที่ประกายไฟที่นำไปสู่การประท้วงอาจแตกต่างกัน และไม่มีการประสานกันระหว่างผู้ชุมนุมในประเทศต่างๆ แต่อย่างใด

8c28952358d6402da804eb83814f4f27_18
ฮ่องกง

ในฮ่องกง การประท้วงรอบปัจจุบันมาจากความไม่พอใจกับกฏหมายส่ง “คนร้าย” ข้ามพรมแดน ซึ่งคนจำนวนมากมองว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือโดยเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการปราบปรามคนที่ไม่เห็นด้วยกับเผด็จการจีนในฮ่องกง แต่ถ้าเราสำรวจภาพกว้างและประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าความไม่พอใจในการปกครองที่ไร้ประชาธิปไตยในฮ่องกง ที่ออกแบบมาโดยรัฐบาลอังกฤษกับจีน เป็นกระแสมานานตั้งแต่เหตุการณ์ฆ่าผู้ประท้วงจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และกระแสนี้ก่อให้เกิดขบวนการประชาธิปไตยที่ใช้ร่ม เป็นสัญลักษณ์ ความไร้ประชาธิปไตยในฮ่องกง ตั้งแต่สมัยอังกฤษมาถึงยุคปัจจุบัน เกี่ยวข้องโดยตรงกับการพยายามกดขี่ประชาชนให้สงบท่ามกลางความยากจนและความเหลื่อมล้ำเพื่อขูดรีดส่วนเกินจากกรรมาชีพ และมันสอดคล้องกับเป้าหมายในการขูดรีดแรงงานของเผด็จการจีนด้วย การเมืองกับเศรษฐกิจแยกออกจากกันไม่ได้ [อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2qB7h0l ]

72453624_10156651317591966_7480245532409987072_o
ชิลี

ในชิลี การประท้วงไล่รัฐบาลของนายทุนในปัจจุบัน เป็นการต่อยอดกระแสการประท้วงของนักศึกษาในสมัยรัฐบาลพรรคสังคมนิยม สิ่งที่จุดประกายการประท้วงรอบนี้คือการขึ้นค่าโดยสารในระบบขนส่งมวลชน แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่พลเมืองมานานคือนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาด ที่เพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยเผด็จการทหารมหาโหดของนายพลพิโนเช รัฐบาลปัจจุบันของฝ่ายขวา และรัฐบาลชุดก่อนของพรรคสังคมนิยม ล้วนแต่ใช้นโยบายแบบนี้ ดังนั้นเวลาประชาชนมากกว่าหนึ่งล้านคนประท้วงกลางเมืองหลวงเมื่อไม่นานมานี้ และสหภาพแรงงานมีบทบาทสำคัญในการประท้วงด้วย ประเด็นหลักคือการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาด และผลพวงจากเผด็จการนายพลพิโนเชในอดีต [อ่านเพิ่มเรื่องเผด็จการในชิลี https://bit.ly/2NZAF8i ]

f7ef7923de30459bba3228c2f8a88069_18
เลบานอน

ในเลบานอน การประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาล เริ่มจากการค้านข้อเสนอของรัฐบาลที่จะเก็บภาษีจากการใช้วอตส์แอปป์ แต่ประเด็นลึกๆ ที่สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชนคือนโยบายรัดเข็มขัดที่มาจากลัทธิเสรีนิยมกลไกตลาด บวกกับการที่ระบบการเมืองเลบานอนถูกพรรคการเมืองกระแสหลักแช่แข็งในระบบการเมืองที่แบ่งแยกตามเชื้อชาติศาสนา จนประชาชนธรรมดารู้สึกว่าไม่มีเสรีภาพจริงเพราะผู้นำทางการเมืองจากซีกเชื้อชาติศาสนาต่างๆ ฮั้วกันกดขี่ประชาชนธรรมดา และ 1% ของคนที่รวยที่สุดคุม 50.5% ของทรัพย์สินทั้งหมดของประเทศ

000_1LL3RJ-e1571596008689-640x400

ปรากฏการณ์ในเลบอนอนในขณะนี้ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์สำคัญ เพราะมวลชนออกมาประท้วงท่ามกลางความสามัคคีข้ามเชื้อชาติศาสนา และมีการเน้นประเด็นชนชั้น ในอดีตผู้นำทางการเมืองที่เน้นเชื้อชาติศาสนา และมหาอำนาจต่างชาติ สามารถสร้างความแตกแยกระหว่างพลเมืองกลุ่มต่างๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ตนเองเท่านั้น

นอกจากตัวอย่างที่พึ่งกล่าวถึง ในรอบเดือนที่ผ่านมามีการประท้วงของมวลชนเพื่อขับไล่รัฐบาลใน ปวยร์โตรีโก กินี เอกวาดอร์ เฮติ อิรัก กับแอลจีเรีย และมีการรื้อฟื้นการประท้วงใน อียิปต์ กับซูดาน นอกจากนี้ใน กาตาลุญญา มีการประท้วงของมวลชนที่แสวงหาเสรีภาพจากสเปนเพื่อปกครองตนเอง ในกรณีหลังมวลชนไม่พอใจกับรัฐธรรมนูญยุคเผด็จการที่ยังใช้อยู่และเป็นเครื่องมือในการปราบปรามผู้ที่ต้องการแยกตัวออกจากรัฐสเปน

711aa2a618878ae58d6ab1984c2c1c4fd0ae40f6
กินี

จุดร่วมของการประท้วงที่เกิดขึ้นในยุคนี้ที่พึ่งกล่าวถึง คือการที่ระบบทุนนิยมที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนธรรมดาที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ และพรรคการเมืองกระแสหลัก ทั้งขวาและซ้ายปฏิรูป ไม่ยอมคัดค้านนโยบายเสรีนิยมกลไกตลาดที่สร้างความเหลื่อมล้ำมหาศาล บ่อยครั้งสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือมีลักษณะกึ่งเผด็จการ หรือยังมีผลพวงของเผด็จการฝังลึกอยู่ในสังคม

Haiti
เฮติ

การลุกฮือของมวลชนอาจเกิดในลักษณะที่ไร้การนำทางการเมืองจากฝ่ายซ้าย เช่นในชิลี เพราะพรรคสังคมนิยมปฏิรูปต่างๆ ที่เคยเป็นรัฐบาลไม่ยอมท้าทายโครงสร้างของทุนนิยม และในกรณี บราซิล กับ เวเนสเวลา อาศัยราคาทรัพยากรธรรมชาติเช่นน้ำมันหรือแร่ธาตุที่ขึ้นสูงแบบชั่วคราว เพื่อพยายามแก้ปัญหาความยากจน แต่พอราคาสินค้าส่งออกตกต่ำก็หันไปใช้นโยบายรัดเข็มขัด

บางครั้งในสถานการณ์แบบนี้พรรคการเมืองฝ่ายขวาสุดขั้วสามารถฉวยโอกาสได้ เช่นใน บราซิล กับ อินเดีย แต่การฉวยโอกาสของฝ่ายขวาทำได้ยากเมื่อมวลชนคนธรรมดาออกมาประท้วง เพราะท่ามกลางวิกฤตของทุนนิยมโลก ชนชั้นกรรมาชีพโลกขยายตัวไปเป็นคนส่วนใหญ่ไปแล้วและมีส่วนร่วมในการประท้วง

72369120_2608381949211853_1324092946538037248_o
กาตาลุญญา

งานวิจัยชิ้นใหญ่โดยนักวิชาการชาวนอร์เวย์เกี่ยวกับการประท้วงของมวลชนในรอบ 100 ปีถึงยุคปัจจุบันค้นพบว่าการประท้วงที่มีส่วนร่วมหรือนำโดยสหภาพแรงงานและมวลชนกรรมาชีพมักจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการล้มรัฐบาล ผลักดันการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง และขยายพื้นที่ประชาธิปไตย พูดง่ายๆ มันมีพลังมากกว่าการประท้วงของเกษตรกรหรือชนชั้นกลาง

ผลงานจากการวิจัยนี้ช่วยพิสูจน์ความล้มเหลวของทฤษฏีรัฐศาสตร์กระแสหลักที่ผมเคยวิจารณ์ [ดู https://bit.ly/33yfdhj ]

สิ่งที่เราเห็นในยุคปัจจุบันคือการประท้วงใหญ่ของมวลชน บ่อยครั้งมีส่วนร่วมโดยกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน แต่ขาดการนำทางการเมืองของพรรคซ้ายปฏิวัติที่เสนอแนวทางที่จะล้มรัฐทุนนิยม และข้ามพ้นทุนนิยมไปสู่ระบบใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้

อ่านเพิ่ม:

ลาตินอเมริกา https://bit.ly/2DlwMsp

บราซิล https://bit.ly/36XfDA6

ซูดานกับแอลจีเรีย https://bit.ly/36SxEj5

อียิปต์ ประชาชนเริ่มหายกลัว https://bit.ly/36NCEoO