Tag Archives: พรรคสังคมนิยม

การหักหลังประชาชนกรีซของพรรค “ไซรีซา”

ใจ อึ๊งภากรณ์

 

ในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่กรีซ พรรคฝ่ายซ้าย “ไซรีซา” แพ้การเลือกตั้งหลังจากที่เป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2015

 

0914e64d80be42c19bea83482cac7c3b_18
พรรคนายทุนชนะการเลือกตั้ง

การกลับมาของพรรคนายทุนไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสำหรับผู้ที่ติดตามการเมืองกรีซแต่อย่างใด เพราะ “ไซรีซา” เคยชนะการเลือกตั้งโดยสัญญากับประชาชนว่าจะต่อสู้กับนโยบายรัดเข็มขัดและเสรีนิยมกลไกตลาดที่ทำลายชีวิตกรรมาชีพกรีซ แต่ไปๆมาๆ “ไซรีซา” กลับยอมจำนนต่อคำสั่งของสหภาพยุโรปทุกประการ ซึ่งนำไปสู่การตัดสวัสดิการและงบประมาณรัฐมากกว่าเดิม ถือว่าเป็นการหักหลังประชาชนกรีซอย่างร้ายแรง

 

SW-SUPPORT-GREECE-1067x600

 

การหักหลังประชาชนเริ่มเมื่อต้นเดือนกรกฏาคมปี 2015 เพียง 7 เดือนหลังจากที่ชนะการเลือกตั้ง รัฐบาล “ไซรีซา” ได้จัดประชามติ เพื่อถามประชาชนว่าจะรับเงื่อนไขที่สหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟอยากจะบังคับใช้กับกรีซหรือไม่ ปรากฏว่าประชาชนเกิน 60% ลงคะแนนไม่รับ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ของอียูและไอเอ็มเอฟ เป็นการตัดสวัสดิการมหาศาลและการขึ้นภาษีให้กับคนจน และมีผลกระทบร้ายแรงกับประชาชนจำนวนมากที่เดือดร้อนอยู่แล้ว แต่ประชาชนยังไม่ทันลงคะแนนเสร็จในประชามติ รัฐบาล “ไซรีซา” ก็คลานเข้าไปหาอียูและไอเอ็มเอฟ เพื่อรับเงื่อนไขที่แย่กว่าเดิม

 

a-yanis-17-tsipras-merkel

 

ทำไมพรรคไซรีซาถึงยอมจำนนต่อกลุ่มทุนง่ายๆ แบบนี้? มีสองสาเหตุหลักคือ

 

1. พรรคไซรีซาเป็นพรรคที่หลงเชื่อว่าสหภาพยุโรป(อียู)เป็นสิ่งที่ “ก้าวหน้า” แทนที่จะเข้าใจว่ามันเป็น “สมาคมกลุ่มทุนใหญ่” ที่ยึดถือผลประโยชน์ทุนเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ “ไซรีซา” จึงคิดผิดว่าฝ่ายรัฐบาลและอำนาจทุนในยุโรปจะฟังเหตุผลและพยายามช่วยกรีซ แต่กลุ่มทุนในอียูประกาศตบหน้าประชาชนกรีซว่าเขาไม่สนใจผลการลงคะแนนเสียงในประชามติแต่อย่างใด มันเป็นเผด็จการทุนเหนือประชาธิปไตยกรีซ ที่สำคัญที่สุดคือ “ไซรีซา” ทำทุกอย่างที่จะอยู่ต่อในสกุลเงินยูโร แต่การยึดติดกับสกุลเงินยูโรเป็นการมอบอำนาจทางเศรษฐกิจให้ธนาคารกลางของยุโรปและยอมจำนนต่อเงื่อนไขรัดเข็มขัด ในรอบหลายเดือนรัฐบาล “ไซรีซา” พยายามประนีประนอมกับอียูและไอเอ็มเอฟ และการจัดประชามติก็ทำไปเพื่อต่อรองเท่านั้น แต่มันไม่เคยเพียงพอสำหรับพวกตัวแทนนายทุนเหล่านั้น ความคิดของไซรีซาจึงมีความขัดแย้งในตัวสูง และมันเป็นการตั้งความหวังกับโครงสร้างรัฐกับทุนที่ตนเองหลงคิดว่าก้าวหน้า แทนที่จะฝากความหวังไว้กับกรรมาชีพกรีซและกรรมาชีพในประเทศอื่นๆ ของยุโรป

 

2. พรรคไซรีซาเป็นพรรคที่พัฒนามาจากบางส่วนของพรรคคอมมิวนิสต์ที่รับแนวปฏิรูปในอดีต นอกจากนี้มีนักเคลื่อนไหวในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและฝ่ายซ้ายปฏิวัติบางกลุ่มเข้ามาร่วม ก่อนที่จะชนะการเลือกตั้ง “ไซรีซา” จะมีจุดยืนไม่ชัดเจนระหว่างการปฏิวัติล้มทุนนิยม กับการปฏิรูปประนีประนอมกับทุน คือคลุมเครือเรื่องปฏิวัติกับปฏิรูป ทั้งในประเด็นระบบเศรษฐกิจและระบบรัฐ เพราะมองว่าสภาพโลกปัจจุบันมัน “ข้ามพ้นปัญหาแบบนี้ไปแล้ว” จุดยืนนี้พา “ไซรีซา” ไปให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งและรัฐสภามากเกินไป และละเลยความสำคัญของการเชื่อมโยงกับพลังกรรมาชีพและขบวนการเคลื่อนไหวนอกรัฐสภา ดังนั้น “ไซรีซา” พยายามใช้ผลของประชามติในการเจรจากับอียูเท่านั้น แทนที่จะปลุกระดมและใช้พลังการนัดหยุดงาน หรือการประท้วงนอกสภา เพื่อการจัดระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจและการเมือง และที่สำคัญด้วยคือ สส.ซีกซ้ายภายใน “ไซรีซา” หมดสภาพในการค้านแกนนำพรรคจนหดหู่ และทั้งๆ ที่พวกนี้โดนแกนนำเขี่ยออกจากตำแหน่งใน ครม. แต่ก็ยังเน้นแต่การปกป้องรักษาพรรค หลงคิดว่าจะเปลี่ยนนโยบายพรรคได้จากภายใน และที่สำคัญที่สุดคือละเลยการปลุกระดมขบวนการนอกรัฐสภา มันเป็นบทเรียนสำคัญว่าฝ่ายซ้ายต้านทุนนิยม หรือฝ่ายซ้ายปฏิวัตินั้นเอง จะต้องรักษาองค์กรของตนเองและอิสระจากแนกนำในแนวร่วมใหญ่ ในขณะที่ร่วมสู้กับคนที่อยู่ในแนวร่วมกว้างที่ต้องการต้านนโยบายรัดเข็มขัดหรือเผด็จการของกลุ่มทุน

 

ต้นกำเนิดของวิกฤตกรีซ

วิกฤตหนี้กรีซเกิดจากการปล่อยกู้ให้ประเทศในยุโรปใต้โดยธนาคารเยอรมันและสถาบันการเงินในยุโรปเหนือ มีการปล่อยกู้ให้ธนาคารเอกชนในกรีซ ซึ่งปล่อยกู้ต่อให้ภาคเอกชนอีกที จากมุมมองเยอรมันการปล่อยกู้ก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในยุโรปใต้ซื้อสินค้าจากเยอรมัน ซึ่งมีผลในการกระต้นเศรษฐกิจเยอรมัน ในขณะเดียวกันรัฐบาลเยอรมันก็กดค่าแรงกรรมาชีพเยอรมันและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อประโยชน์กลุ่มทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแบบนี้ของเยอรมันทำให้กรีซและประเทศในยุโรปใต้แข่งขันกับเยอรมันไม่ได้ ส่งออกให้ยุโรปเหนือยากขึ้น ขาดดุลการค้า การเป็นหนี้แบบนี้อาจเป็นเรื่องปกติและมีการพัฒนาวิถีชีวิตของชาวกรีซจากสภาพเดิมที่ยากจนพอสมควร แต่มันกลายเป็นปัญหาใหญ่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ระเบิดขึ้นในขั้นตอนแรกที่สหรัฐเมื่อปี 2008

วิกฤตเศรษฐกิจโลกนี้มาจากการลดลงของอัตรากำไร และการพยายามปั่นหุ้นและหากำไรในภาคไฟแนนส์กับภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการปล่อยกู้ให้คนจนซื้อบ้าน มันเป็นการพนันเพื่อหากำไรแทนที่จะลงทุนในภาคการผลิต

เมื่อเกิดวิกฤตโลก ธนาคารกรีซใกล้ล้มละลาย และรัฐก็เข้ามาอุ้มหนี้ คือแปลงหนี้เอกชนเป็นหนี้สาธารณะ และที่เลวร้ายกว่านั้นคือบริษัทซื้อขายหุ้นก็ขายหนี้กรีซให้ “บริษัทอีแร้ง” ที่หากำไรจากการเก็บหนี้ มีการกดดันให้ดอกเบี้ยเพิ่มทวีคูณไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้หนี้กรีซสูงขึ้นถึงขั้นไม่มีวันจ่ายคืนได้

ในที่สุด ไอเอ็มเอฟ ธนาคารกลางอียู และฝ่ายบริหารอียู ก็บังคับให้รัฐบาลชุดก่อนๆ ของกรีซจ่ายหนี้คืนผ่านการตัดสวัสดิการและการทำลายมาตรฐานชีวิตประชาชน คนตกงานจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันไม่มีการเก็บภาษีหรือทวงหนี้จากคนรวยหรือกลุ่มทุนกรีซ แม้แต่บริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ของเยอรมันที่สร้างและเคยเป็นเจ้าของสนามบินที่กรีซ ก็ไม่ได้จ่ายภาษีเลยแม้แต่นิดเดียว นอกจากนี้บริษัทกรีซหลายแห่งถูกซื้อโดยกลุ่มทุนจากยุโรปเหนือ และบริษัทเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการกู้เงินในอดีตอีกด้วย

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา “เงินช่วยเหลือ” ที่ธนาคารอียูและไอเอ็มเอฟส่งให้กรีซ ไม่เคยถึงมือประชาชนที่ยากลำบากเลย เพราะ 90% ถูกส่งกลับให้ธนาคารในยุโรปเพื่อจ่ายหนี้ต่างหาก และหนี้สินกรีซก็ทวีคูณอย่างต่อเนื่องเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ นับว่า “ยารักษาโรค” ของกลุ่มอำนาจอียูที่ยิ่งทำให้คนไข้อาการหนักขึ้นบนพื้นฐานการยึดผลประโยชน์กลุ่มทุนและความเดือดร้อนของประชาชนธรรมดา มันเป็นเรื่องชนชั้นชัดๆ มันไม่เกี่ยวกับรัฐชาติ

 

นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง Joseph Stiglitz และ Paul Krugman เคยวิจารณ์ว่ามาตรการแบบนี้จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงและคนเดือดร้อนยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ และทั้งสองคนเคยมองว่าประชาชนกรีซควรจะ “โหวตไม่รับ” เงื่อนไขในประชามติ

 

ฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภากรีซ สมาชิกพรรค “ไซรีซา” เอง และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังสองคนนี้ เคยเสนอว่าศูนย์อำนาจในสหภาพยุโรปและไอเอ็มเอฟต้องการที่จะล้มรัฐบาลกรีซที่มาจากการเลือกตั้งหรืออย่างน้อยทำให้หมดสภาพ เพื่อไม่ให้ประชาชนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะสเปน อิตาลี่ ไอร์แลนด์ หรือปอร์ตุเกส ได้กำลังใจในการออกมาต้านนโยบายรัดเข็มขัดตัดสวัสดิการของพวกเสรีนิยม มันเป็นการต่อสู้ทางการเมือง

 

เราจะเห็นได้ชัดว่าอำนาจเผด็จการไปได้สวยกับการบังคับใช้มาตรการกลไกตลาดเสรี

 

athensbudget1
พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมกรีซ

 

สำหรับพรรคกรรมาชีพสังคมนิยม ฝ่ายซ้ายนอกรัฐสภาในกรีซ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วม “แอนตาซียา”เคยมีการเสนอว่าต้องออกจากสกุลเงินยุโรป ชักดาบไม่ยอมจ่ายหนี้ให้ไอเอ็มเอฟ และยึดธนาคารต่างๆ มาเป็นของรัฐ ที่สำคัญคือต้องใช้พลังกรรมาชีพในสหภาพแรงงาน และพลังมวลชนบนท้องถนน ในการเข้ามาควบคุมและบริหารเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชาชน ในระยะสั้นต้องมีการจัดตั้งเตรียมตัวนัดหยุดงานและร่วมสู้กับการรัดเข็มขัด แต่น่าเสียดายที่พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมกรีซเล็กเกินไปที่จะสร้างกระแสการต่อสู้ที่มีพลังเพียงพอ

 

ในช่วงแรกที่ “ไซรีซา” เป็นรัฐบาล มีกลุ่มฝ่ายซ้ายในบางประเทศ เช่นในออสเตรเลีย ที่ฝากความหวังไว้กับ “ไซรีซา” โดยไม่วิเคราะห์สถานการณ์อย่างละเอียด

 

บทเรียนสำคัญจากกรีซคือ การเน้นการเมืองในรัฐสภาอย่างเดียว และการพยายาม “ทำงานในระบบ” มักนำไปสู่การยอมจำนนและหักหลังความฝันของกรรมาชีพผู้ทำงานเสมอ

 

201229195147950734_20

 

ความหวังแท้ของกรรมาชีพกรีซตอนนี้คือการลุกขึ้นสู้ผ่านการนัดหยุดงาน ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว พร้อมกับการสร้างพรรคปฏิวัติสังคมนิยมนอกรัฐสภาให้เข้มแข็งกว่าที่เป็นอยู่

 

เราจะสู้อย่างไร?

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในยุคการโกงการเลือกตั้งโดยเผด็จการทหาร และการสืบทอดอำนาจผ่านการสร้างภาพความเป็น “ประชาธิปไตย” เราจะเห็นว่าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย อย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ไม่ยอมสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อต่อสู้กับอิทธิพลของเผด็จการ มีแต่การพึ่งพาศาลลำเอียง และกระบวนการในรัฐสภาเท่านั้น ในรูปธรรมมันเป็นการยอมจำนนต่อแผนของเผด็จการ

โกงเลือกตั้ง

แต่เมื่อนักประชาธิปไตยบางคนเสนอว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะลงถนน” ก็มีพวกหดหู่ยอมจำนนออกมาวิจารณ์ว่าการลงถนนหรือการประท้วงจะนำไปสู่การปราบปรามโดยฝ่ายตรงข้าม ตกลงถ้าเราฟังพวกนี้เราก็ควรกลับบ้านไปมุดหัวและยอมจำนนเท่านั้น

แน่นอนการออกมาค้านเผด็จการเป็นสิ่งที่อาจมีความเสี่ยงอยู่ มันขึ้นอยู่กับวิธีการต่อสู้ ดังนั้นการตัดสินใจว่าจะสู้อย่างไรต้องมาจากการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในหมู่นักกิจกรรมที่อยู่ในประเทศไทย แต่ที่สำคัญคือ การออกมาคัดค้านเผด็จการไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรงเสมอ มันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่แน่นอนคือ การเลือกที่จะไม่สู้จะไม่มีวันสร้างประชาธิปไตยและทำลายเผด็จการ

การสร้างประชาธิปไตยแท้ในไทย ย่อมอาศัยทั้งขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีมวลชนจำนวนมาก และพรรคการเมืองแบบสังคมนิยมของคนชั้นล่าง ถ้าขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง เราคงจะไม่สำเร็จ

พรรคซ้ายหรือพรรคสังคมนิยมของคนชั้นล่างจำเป็นต้องสร้าง เพราะพรรคของนายทุนไม่สนใจสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

ข้อสรุปจากความล้มเหลวของฝ่ายประชาธิปไตยตอนนี้คือ เราต้องเน้นการนำร่วมกันจากล่างสู่บนที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่การนำของผู้ใหญ่ที่มีผลประโยชน์ที่ต่างกับมวลชน และเราควรดึงขบวนการกรรมาชีพและคนหนุ่มสาวมาร่วมด้วย

เราไม่ควรสู้แบบยึดถนนตั้งหลักเป็นเดือน แต่ควรประท้วงใหญ่สั้นๆ และควรมีการสร้างความเข้มแข็งในการนัดหยุดงาน เพื่อใช้เป็นอาวุธทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือเราต้องชัดเจนว่าเราต้องการเห็นสังคมแบบไหน

ในยุคหลังเสื้อแดงมีคนหนุ่มสาวและคนอื่นจำนวนหนึ่ง ที่กล้าหาญออกมาสู้กับเผด็จการประยุทธ์ แต่บ่อยครั้งพวกเขาหันหลังให้กับการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวมวลชน และไปเน้นการสู้แบบปัจเจก และอาศัยการทำข่าวเท่านั้น ผลที่น่าสลดใจคือคนดีๆ ก็ไปติดคุกและปัจเจกคนอื่นโดนกลั่นแกล้งอย่างต่อเนื่อง

เราจำการลุกฮือ ๑๔ ตุลาได้ไหม? มวลชนครึ่งล้านคนออกมาชุมนุมหลังจากที่นักกิจกรรมโดนเผด็จการจับ และในที่สุดเผด็จการก็ถูกล้มไป ถ้าคนไทยเคยทำได้ในอดีต ตอนนี้ก็ยังทำได้ แต่ต้องมีการวางแผนและการจัดตั้ง

FI-fists_0

การเคลื่อนไหวที่จะมีพลัง ไม่สามารถจัดได้ถ้าเราเพียงแต่ประกาศชวนเชิญประชาชนมาร่วมผ่านสื่อมวลชนหรือโซเชียลมีเดีย ถ้าในอนาคตจะมีการจัดให้มีพลังมากขึ้น คือมีคนมาร่วมจำนวนมาก ควรจะมีการจงใจสร้างเครือข่ายและแนวร่วมอย่างจริงจังกับกลุ่มคนที่มีความคิดคล้ายๆ กัน

ต้องมีการใช้เวลาเพื่อไปคุยกับคนที่มีประวัติในการค้านเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นอดีตคนเสื้อแดง กลุ่มสหภาพแรงงาน กลุ่มนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน หรือกลุ่มนักศึกษาจากสถาบันที่หลากหลาย และควรมีการนัดคุยกันหลายรอบ เพื่อร่วมกันตกลงว่าจะเคลื่อนไหวด้วยกันอย่างไร และเมื่อไร นอกจากนี้ตัวแทนของทุกกลุ่มที่ร่วมกันควรจะถือว่าเป็นแกนนำของแนวร่วมใหม่อันนี้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “การจัดตั้งแบบประชาธิปไตย”

แน่นอนการทำงานแนวร่วมแบบนี้ต้องมีการประนีประนอมกันในการวางแผนแนวปฏิบัติ แต่นั้นไม่ได้แปลว่าจะมีมุมมองในหลายแง่ของการเมืองที่ต่างกันไม่ได้ จริงๆ แล้วการมีหลากหลายมุมมองทางการเมืองเป็นเรื่องดี เพราะจะนำไปสู่การถกเถียงเรื่องการเมืองภาพกว้าง ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการเมืองแบบนี้และช่วยให้ทุกคนมีความคิดที่ชัดเจนมากขึ้น

เราไม่ควรลืมว่าประชาธิปไตยควรจะรวมไปถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิที่จะมีค่าแรงที่เลี้ยงชีพได้ สิทธิของทุกเพศรวมถึงเกย์ ทอม ดี้ กะเทย ฯลฯ สิทธิของชาวมาเลย์มุสลิมในปาตานี สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิในการนับถือศาสนาตามที่ปัจเจกเลือกที่จะนับถือ หรือสิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลและการศึกษาคุณภาพดีอย่างถ้วนหน้าฯลฯ

ฝังอยู่ในข้อเสนอของการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของผม คือความสำคัญของการสร้างพรรคของคนชั้นล่าง ซึ่งผมเขียนเรื่องนี้บ่อย หาอ่านได้ที่นี่ http://bit.ly/2nfpcVA

แต่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยที่เราควรจะมี จะต้องไม่จำกัดไว้ในแวดวงคนที่อยากสร้างพรรคเท่านั้น ต้องกว้างกว่านั้นอีกมาก

การนัดหยุดงานกับพลังในการสร้างเสรีภาพ

ท่ามกลางความมืดมนของเผด็จการที่วางแผนคุมสังคมเราในระยะยาว เราต้องตั้งคำถามว่าพลังไหนในสังคมจะปลดแอกประชาชนและสร้างเสรีภาพ?

การสร้างพลังของขบวนการสหภาพแรงงานในไทย มีความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างเสรีภาพ สังคมเราจะได้ไม่ต้องวนเวียนอยู่กับเผด็จการ การทำรัฐประหาร  และสภาพความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างต่อเนื่องเหมือนไม่มีจุดจบ นี่คือบทเรียนจากประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตก เกาหลีใต้ ลาตินอเมริกา อียิปต์ ซูดาน และแอลจีเรีย

การลงถนนเพื่อประท้วงของมวลชน จะมีพลังมากขึ้นถ้ามีการนัดหยุดงาน การปราบปรามด้วยความรุนแรงของฝ่ายเผด็จการทำได้ยากขึ้นเมื่อเน้นการนัดหยุดงานด้วย

อย่างไรก็ตามขบวนการแรงงานไทยตอนนี้อ่อนแอเกินไป ไร้ประสิทธิภาพในการนำตนเองเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งถูกฝ่ายปฏิกิริยาแทรกแซง และเกือบจะไม่มีการจัดตั้งทางการเมือง บางส่วนของขบวนการมองรัฐบาลทหารว่าเป็น “ผู้อุปถัมภ์” อีกด้วย ที่สำคัญคือควบคู่กับการสร้างพลังของกรรมาชีพ เราไม่สามารถละเว้นการสร้างพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพด้วย ดังนั้นภารกิจสำคัญของเราควรจะเป็นการสร้างพรรคสังคมนิยมของคนหนุ่มสาวมีไฟที่ลงไปทำงานกับขบวนการสหภาพแรงงาน

ทำไมกรรมาชีพมีบทบาทชี้ขาดในการสร้างประชาธิปไตย เสรีภาพ และสังคมนิยม?

ชนชั้นกรรมาชีพตามนิยมของนักมาร์คซิสต์ คือ ทุกคนที่ไร้ปัจจัยการผลิต ดังนั้นลูกจ้างทุกคนที่ไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษถือว่าเป็นกรรมาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรโรงงาน พนักงานปกคอขาว คนขับรถเมล์ พนักงานในภาคบริการ พยาบาล หรือครูบาอาจารย์

ความสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพ เป็นเพราะชนชั้นกรรมาชีพมีอำนาจซ่อนเร้นอยู่สูง เนื่องจากกรรมาชีพเป็นชนชั้นใหม่ที่ระบบทุนนิยมสร้างขึ้นมาในใจกลางของระบบ เศรษฐกิจทุนนิยมต้องอาศัยการทำงานของชนชั้นกรรมาชีพทั้งสิ้น นายทุนนายจ้างและเครื่องจักรต่าง ๆ ไม่สามารถทำงานแทนชนชั้นกรรมาชีพได้ เมื่อกรรมาชีพนัดหยุดงานทั่วประเทศ ทหารและตำรวจปราบยากกว่าการชุมนุมบนท้องถนน

stop dictatorship

สรุปแล้วสิ่งที่เราน่าจะทำตอนนี้คือ

  1. ตั้งวงคุยอย่างจริงจังเพื่อทบทวนแนวการต่อสู้ที่ผ่านมา และถกเถียงแลกเปลี่ยนว่าเราต้องการสังคมแบบไหน โดยใช้ประสบการณ์จากโลกจริงมาเป็นตัวอย่าง
  2. ต้องมีการใช้เวลาเพื่อสร้างเครือข่ายการเคลื่อนไหว และควรมีการนัดคุยกันหลายรอบ เพื่อร่วมกันตกลงว่าจะเคลื่อนไหวด้วยกันอย่างไร และเมื่อไร
  3. ควรเริ่มเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง จากเล็กไปใหญ่ โดยเน้นการดึงมวลชนเข้ามาเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เน้นการลงถนนเป็นครั้งๆ ไม่ใช่ชุมนุมยืดเยื้อ และควรตั้งเป้าให้มีการหยุดงานด้วย
  4. ควรพยายามสร้างพรรคสังคมนิยมของกรรมาชีพ แทนที่จะตั้งความหวังกับพรรคการเมืองของนายทุน

เรื่องนี้ไม่ง่าย แต่ในขณะเดียวกันมันไม่ยากเกินความสามารถของคนธรรมดาด้วย ใครที่บอกว่า “มันยากแต่ฉันจะพยายามทำ” คือคนที่ไม่ต้องการเป็นทาส

การจัดตั้งกรรมาชีพไทยในทางการเมือง

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในอดีตแกนนำเสื้อแดงที่มีรากฐานการกำเนิดมาจากพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคนายทุน ไม่เคยเห็นความสำคัญของการขยายการจัดตั้งของขบวนการเสื้อแดงสู่ขบวนการแรงงานเลย และการจัดตั้งของนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายในขบวนการแรงงานอ่อนแอเกินไปที่จะทำให้สหภาพแรงงานต่างๆ เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยร่วมกับเสื้อแดง ถ้าจัดตั้งได้จะมีการสำแดงพลังทางเศรษฐกิจของแรงงาน ผ่านการนัดหยุดงาน และพิสูจน์ความสำคัญของแรงงานในการต่อสู้กับเผด็จการ สถานการณ์นี้เป็นจุดอ่อนสำคัญของเสื้อแดง และช่วยเปิดโอกาสให้รัฐบาลอภิสิทธิ์และทหารเข่นฆ่าประชาชนที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์เมื่อปี ๒๕๕๓ ในที่สุดมันเปิดโอกาสให้เผด็จการเข้ามาครองเมืองหลายปี

ถ้าเราเปรียบเทียบกับกรณีการประท้วงล้มเผด็จการมูบารักในอียิปต์ เมื่อต้นปี ๒๕๕๔ เราจะเห็นว่าก่อนหน้านั้นหลายปี ขบวนการฝ่ายซ้ายอียิปต์ทำงานใต้ดินเพื่อเสริมสร้างขบวนการสหภาพแรงงานที่อิสระจากรัฐ จนมีกระแสนัดหยุดงานครั้งใหญ่สี่ปีก่อนการประท้วงล้มมูบารัก  ต่อมาการออกมานัดหยุดงานของสหภาพคู่ขนานกับการประท้วงที่จตุรัสทาห์เรีย เป็นเงื่อนไขชี้ขาดที่ทำให้กองทัพอียิปต์ตัดสินใจเขี่ยมูบารักออกไปก่อนที่ประชาชนจะเขี่ยนายพลออกไปด้วยและทำการปฏิวัติสังคม แต่นั้นก็ยังไม่พอ เพราะในที่สุดทหารก็กลับมาครองเมืองอีกรอบ ซึ่งแสดงว่าฝ่ายซ้ายอียิปต์อ่อนแอเกินไปที่จะนำกรรมาชีพในการปฏิวัติล้มระบบ

การล้มเผด็จการของคนผิวขาวในอัฟริกาใต้ใช้พลังกรรมาชีพที่นัดหยุดงานเป็นกำลังหลัก การล้มเผด็จการคอมมิวนิสต์สายสตาลินในโปแลนด์ก็เช่นกัน

นอกจากกรรมาชีพไทยจะไม่มีการจัดตั้งโดยคนเสื้อแดงและไม่มีการนัดหยุดงานเพื่อล้มเผด็จการแล้ว สหภาพแรงงานไทยในรอบสามสิบปีที่ผ่านมา ไม่เคยพยายามตั้งพรรคการเมืองอิสระของกรรมาชีพและเกษตรกรเลย

เวลาที่นักวิชาการหรือนักเคลื่อนไหวแรงงานพูดถึง “ความอ่อนแอ” ของขบวนการแรงงาน เขามักจะชี้ไปที่สัดส่วนของแรงงานที่เป็นสมาชิกสหภาพ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3-4%  หรืออาจมีการพูดถึงการที่มีหลายสภาและสหภาพแรงงานซึ่ง “ขาดเอกภาพ” แต่ทั้งๆ ที่สองเรื่องนี้มีผลบ้างในการกำหนดความเข้มแข็งของแรงงาน มันไม่ใช่ประเด็นหลัก

ประเด็นหลักที่นำไปสู่ความอ่อนแอในขบวนการแรงงานคือ “การเมือง” เพราะการเมืองของขบวนการแรงงานเป็นเข็มทิศที่ชี้ทางไปสู่วิธีการจัดตั้ง และยุทธวิธีในการใช้พลังทางเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ของแรงงาน ทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ในอดีตนักสังคมนิยมในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เคยให้ความสำคัญในการจัดตั้งแรงงาน แต่หลังจากที่พรรคเริ่มหันไปเน้นการจับอาวุธในป่า การทำงานสายแรงงานถูกลดความสำคัญลง พอถึงยุค “ป่าแตก” และการล่มสลายของ พคท. ปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวที่มีส่วนในการจัดตั้งแรงงานลดน้อยลงจนเกือบจะไม่เหลือ และ เอ็นจีโอ ก็เข้ามาแทนที่

กลุ่ม “พี่เลี้ยง” เอ็นจีโอ ที่เข้าไป “ช่วย” แรงงานมีแนวโน้มจะเสนอให้คนงานทำตามกฎหมายนายทุนในระบบ “แรงงานสัมพันธ์” และไม่คิดต่อสู้ทางชนชั้นอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่ดีคือองค์กร ACILS/Solidarity Center ซึ่งได้รับทุนจากสหรัฐอเมริกาเพื่อ “พัฒนาแรงงาน” องค์กรนี้ไม่เคยสนับสนุนการนัดหยุดงานเลย ทั้งๆ ที่การนัดหยุดงานเป็นวิธีหลักในการต่อสู้ของแรงงาน อีกองค์กรหนึ่งที่ให้เงินสหภาพแรงงาน คือ มูลนิธิ Friedrich Ebert Stiftung (FES.) ของเยอรมัน แนวคิดของ FES. จะเน้นการแยกบทบาทระหว่างสหภาพแรงงาน ที่เขามองว่าควรต่อสู้เพื่อเรื่องปากท้อง กับพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในรัฐสภา จุดยืนนี้สอดคล้องกับกฏหมายของชนขั้นปกครองไทยที่มองว่าสหภาพแรงงานไม่ควรยุ่งการเมือง ในรูปธรรมผลของแนวคิดแบบนี้คือ ไม่มีการจัดตั้งทางการเมืองในขบวนการแรงงาน และสหภาพแรงงานจะไม่ออกมานัดหยุดงานในประเด็นการเมืองเลย

นอกจากนี้ เอ็นจีโอ มักเน้นการทำงานกับกลุ่มคนงานที่พ่ายแพ้ไปแล้ว ซึ่งถึงแม้ว่าเป็นงานสังคมสงเคราะห์ที่จำเป็นต้องทำ แต่ไม่มีผลในการพัฒนาความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานเลย และที่สำคัญประสบการณ์จากทั่วโลกพิสูจน์ให้เห็นว่าองค์กร เอ็นจีโอ ไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานเท่ากับพรรคการเมืองของฝ่ายซ้าย  เพราะพรรคฝ่ายซ้ายสามารถประสานและเสริมพลังของขบวนการแรงงานในด้านความคิดทางการเมือง เพื่อให้นักสหภาพนำตนเองแทนที่จะพึ่ง “พี่เลี้ยง” และพึ่งเงินจากภายนอก และในกรณีที่สหภาพแรงงานเข้มแข็งจริง จะไม่มีการพึ่งพา เอ็นจีโอ เลย เช่นในเกาหลีใต้ ขบวนการแรงงานเข้มแข็งจนองค์กร เอ็นจีโอ มักจะเป็นฝ่ายมาขอพลังความช่วยเหลือจากสหภาพแรงงาน K.C.T.U.

SKOREA-LABOUR-MAYDAY

ในยุคปัจจุบัน นอกจากผู้นำสภาแรงงานระดับชาติแล้ว องค์กรสภาแรงงานสากลต่างๆ เริ่มพยายามเข้ามาจัดตั้งแรงงานในประเทศไทยมากขึ้น การที่สภาสากลช่วยให้คนงานไทยตั้งสหภาพแรงงานในสถานที่ทำงานที่ไม่มีสหภาพแรงงาน เป็นเรื่องดี แต่ในทางการเมืองสภาแรงงานสากลเหล่านี้จะไม่ส่งเสริมการนัดหยุดงานเพื่อเป้าหมายทางการเมืองเลย และจะไม่มีผลอะไรเลยในการปกป้องผู้นำสหภาพแรงงานในไทยที่ถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้เพราะสภาแรงงานสากลทุกแห่งนำโดยเจ้าหน้าที่ “แรงงานข้าราชการ” ที่ห่างเหินจากขบวนการแรงงานจริงในทุกประเทศ เราจะเห็นว่าในประเทศที่มีสหภาพแรงงานเข้มแข็ง อย่างเช่นในยุโรปตะวันตก หรือเกาหลีใต้ สภาแรงงานสากลเกือบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย

somsak2

ในอดีตความอ่อนแอทางการเมืองของขบวนการแรงงานไทย เปิดช่องให้คนอย่าง สมศักดิ์ โกศัยสุข นำการเมืองปฏิกิริยาของพันธมิตรเสื้อเหลือง เข้ามาในบางส่วนของขบวนการแรงงาน เช่นในรัฐวิสาหกิจรถไฟ และไฟฟ้า และในบางส่วนของย่านอุตสาหกรรมเอกชนในภาคตะวันออกใกล้เมืองระยองเป็นต้น แต่แนวคิดเสื้อเหลืองของสมศักดิ์ ขัดกับผลประโยชน์พื้นฐานของกรรมาชีพไทยโดยสิ้นเชิง เพราะพาคนไปต่อสู้เพื่อสนับสนุนเผด็จการ แทนที่จะสู้เพื่อผลประโยชน์คนจน

นักสังคมนิยมควรเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน ไม่ใช่เป็นปัญญาชนในหอคอยงาช้าง เราควรทำงานในสถานที่ทำงานต่างๆ และปลุกระดมจากภายใน ในระยะแรกเราอาจต้องทำงานจากภายนอก แต่ในช่วงนั้นต้องเน้นการสร้างนักสังคมนิยมที่เป็นกรรมาชีพ เพื่อให้เขาทำงานในสหภาพและสถานที่ทำงานของเขาเอง

cihzjudj5hpnxj92grjmitbujspbiiaoll

แน่นอนนักสังคมนิยมจะต้องมีส่วนในการสร้างความเข้มแข็งของสหภาพแรงงาน และต้องมีส่วนในการสนับสนุนการประท้วงเรียกร้องเกี่ยวกับปัญหาปากท้อง เช่นเรื่องค่าจ้าง โบนัส และสภาพการจ้างอื่นๆ แต่ถ้าทำแค่นั้น เราก็เป็นแค่ “นักสหภาพแรงงาน” และผู้ที่เป็นแค่ “นักสหภาพแรงงาน” จะมองว่าองค์กรจัดตั้งหลักคือสหภาพแรงงาน ไม่ใช่พรรคซ้ายสังคมนิยม และเราจะก้าวข้ามปัญหาภายในรั้วสถานที่ทำงานเพื่อไปสนใจสังคมภายนอกไม่ได้

การปลุกระดมทางการเมืองแปลว่าต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อของพรรค และผ่านกลุ่มศึกษาของพรรค ซึ่งต่างจากกลุ่มศึกษาของสหภาพที่เน้นแต่เรื่องปากท้องหรือกฏหมายแรงงาน การศึกษาทางการเมืองของพรรคต้องครอบคลุมการวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทยและสังคมต่างประเทศ ต้องเรียนบทเรียนจากประวัติศาสตร์ไทยและทั่วโลก ต้องศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ ต้องศึกษาธาตุแท้ของชนชั้นและของรัฐ เราต้องสนใจศิลปะวัฒนธรรม ต้องสนใจวิทยาศาสตร์ และเราต้องพร้อมที่จะร่วมกันค้นหาคำตอบสำหรับปัญหาทุกเรื่องในชีวิตมนุษย์

การศึกษาแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทย เพราะในสมัย พคท. ก็มีการเน้นการศึกษาแบบนั้น ไม่ว่าเราอาจมีข้อถกเถียงกับแนวการเมืองของ พคท. มากน้อยแค่ไหน แต่มันเป็นการศึกษาทางการเมืองเพื่อจัดตั้งพรรค ซึ่งหลังการล่มสลายของ พคท. นักปฏิบัติการต่างๆ พากันหันหลังให้เรื่องนี้ เพื่อทำงานแบบพี่เลี้ยงในรูปแบบ เอ็นจีโอ ที่ปฏิเสธเรื่องการเมืองเพื่อเน้นประเด็นปากท้องอย่างเดียว นี่คือที่มาของความอ่อนแอของขบวนการแรงงานไทยในปัจจุบัน และมันเป็นผลทำให้ขบวนการประชาธิปไตยอ่อนแอไปด้วย นี่คือสิ่งที่เราต้องลงมือแก้ไข

[อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2MBfQzc ]

 

ปัญหาลัทธิสหภาพในขบวนการแรงงานไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงานสากล แนว “ลัทธิสหภาพ” (Syndicalism) จะเน้นการเคลื่อนไหวผ่านองค์กรสหภาพแรงงานอย่างเดียว แนวนี้มีรูปแบบหลากหลายที่ซับซ้อน พวกที่มองว่าควรเคลื่อนไหวในเรื่องปากท้องอย่างเดียวและไม่กล่าวถึงการเมือง คือพวกลัทธิสหภาพฝ่ายขวา ซึ่งในไทยได้รับอิทธิพลพอสมควรจากการปกครองของเผด็จการทหาร ที่พยายามห้ามไม่ให้สหภาพแรงงานสนใจเรื่องการเมือง

แต่ในขณะเดียวกันมีลัทธิสหภาพฝ่ายซ้าย ซึ่งอาจเป็นฝ่ายซ้ายปฏิวัติด้วย พวกนี้มองว่าการเมืองกับเศรษฐกิจปากท้องแยกออกจากกันไม่ได้ และเขาอาจต้องการปฏิวัติล้มทุนนิยม อย่างไรก็ตามเขาจะต่างจากแนวมาร์คซิสต์ของ มาร์คซ์ เองเกิลส์ เลนิน ตรอดสกี้ โรซา ลัคแซมเบอร์ค และกรัมชี่ ตรงที่เขาไม่เห็นด้วยกับการสร้างพรรคปฏิวัติ ดังนั้นแทนที่จะสร้างพรรคเขามองว่าสหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อสังคมนิยมได้ นี่คือการเมืองของนักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานฝ่ายซ้ายในไทยส่วนใหญ่

ขบวนการแรงงานไทยขาดนักเคลื่อนไหวสังคมนิยมที่จะทำงานเป็นระบบ ในบางแห่งมีนักต่อสู้ที่อยากเห็นแรงงานสู้จริง แต่นักสู้แรงงานเหล่านี้เลือกใช้ “ลัทธิสหภาพฝ่ายซ้ายปฏิวัติ” เขาจะส่งเสริมการนัดหยุดงาน และการจัดตั้งกลุ่มย่านข้ามรั้วโรงงาน แต่จะไม่เห็นด้วยกับการนำ “การเมืองภาพกว้าง” ที่ “ไม่เกี่ยวกับแรงงาน” เข้าสู่ขบวนการแรงงาน เช่นเรื่องสิทธิสตรี สิทธิคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศ ปัญหาภาคใต้ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาในระบบการศึกษา หรือประเด็นการเมืองสากลปัจจุบัน หรือแม้แต่วิธีการตั้งพรรคการเมืองที่อิสระจากนายทุนเป็นต้น

ประสบการณ์จากขบวนการแรงงานและขบวนการสังคมนิยมทั่วโลกในอดีตและปัจจุบัน สอนให้เราเข้าใจปัญหาของการใช้สหภาพแรงงานเป็นองค์กรต่อสู้อย่างเดียว โดยไม่สร้างพรรค คือในประการแรกเขาไม่สามารถจัดตั้งกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนงาน เช่นนักศึกษา คนกลุ่มน้อย หรือคนที่อยากรณรงค์เรื่อง 112 เป็นต้น มันนำไปสู่การเน้นประเด็นการเมืองปากท้องอย่างเดียวด้วย ทั้งๆ ที่ในนามธรรมอาจกล่าวถึง “เลนิน” หรือโจมตีระบบทุนนิยม

ในประการที่สององค์กรสหภาพแรงงานต้องการรับทุกคนในสถานที่ทำงานเข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งแน่นอนรวมถึงคนที่มีความคิดฝ่ายขวาตามชนชั้นปกครองและคนที่ยังขี้เกียจคิดอีกด้วย และแกนนำของสหภาพจะต้องปกป้องความสามัคคีภายในสหภาพระดับหนึ่ง เพราะกลัวว่าจะแพ้การเลือกตั้งและหลุดจากตำแหน่งในสหภาพ จึงไม่สามารถถกเถียงแนวคิดอย่างตรงไปตรงมาได้ตลอดเวลา ไม่เหมือนพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่ทำงานภายในสหภาพ

ในประการที่สาม ถ้านักลัทธิสหภาพแบบนี้แพ้การเลือกตั้ง หรือถูกเลิกจ้างเขาอาจจะไม่มีองค์กรเหลือเลย ประเด็นนี้เป็นปัญหาด้วยเวลาคนงานไม่มีความมั่นใจในการต่อสู้ หรือไม่ยอมนัดหยุดงานในช่วงหนึ่ง ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางการเมืองลดลง ไม่เหมือนพรรคปฏิวัติที่ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องได้ โดยเฉพาะการจัดกลุ่มศึกษาและการรณรงค์ในเรื่องต่างๆ

ในประการสุดท้ายสหภาพแรงงานไม่สามารถยึดอำนาจรัฐได้ เพราะเป็นองค์กรที่สร้างขึ้นมาเพื่อต่อรองกับนายจ้างในระบบทุนนิยม ไม่สามารถประสานการทำงานระหว่างทุกซีกทุกส่วนของสังคมที่ก้าวหน้าเพื่อยึดอำนาจรัฐ

ปัญหาการพึ่งพรรคนายทุนของพวกลัทธิสหภาพ

ผลสำคัญอันหนึ่งของการใช้ลัทธิสหภาพแทนการสร้างพรรค คือการไปพึ่งพรรคนายทุนอย่างพรรคอนาคตใหม่ หรือพรรคไทยรักไทยในอดีต แต่แรงงานไม่ควรหลงเลือก “นายใหม่” แบบนี้

99569

ในแวดวงนักสหภาพแรงงานมักจะมีการตั้งคำถามกันว่า “จะอยู่อย่างเป็นทาส หรือจะร่วมกันต่อสู้?” การที่แรงงานไม่สร้างพรรคของกรรมาชีพเอง และคอยเดินตามก้นพรรคนายทุน ไม่ว่าจะเป็นพรรคนายทุนหน้าเก่าอย่างไทยรักไทย/เพื่อไทย หรือพรรคนายทุนหน้าใหม่อย่างอนาคตใหม่ แปลว่ากรรมาชีพจะอยู่อย่างเป็นทาสและเป็นแค่ “กบเลือกนาย” ตลอด  แรงงานต้องมีศักดิ์ศรีมากกว่านั้น

แนวสังคมนิยมมาร์คซิสต์กับขบวนการแรงงานไทย

นักสังคมนิยมควรเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน เราควรทำงานในสถานที่ทำงานต่างๆ และปลุกระดมจากภายในและภายนอก

พรรคกรรมาชีพ

ในทุกสหภาพแรงงานจะมีคนสามกลุ่มใหญ่ๆ ถ้าแบ่งตามแนวความคิด กลุ่มแรกเป็นพวกที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมและหมอบคลานต่อนายทุนกับผู้มีอำนาจ กลุ่มที่สองเป็นพวกที่มีความคิดกบฏอยากต่อสู้กับนายจ้างและความไม่เป็นธรรม อาจมีความคิดสังคมนิยม หรืออย่างน้อยต้องการประชาธิปไตยแท้ และกลุ่มที่สาม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ จะมีความคิดที่ผสมแนวจากทั้งสองขั้วหรืออาจยังไม่มีโอกาสที่จะคิดอะไรมาก หน้าที่ของนักสังคมนิยมคือการพยายามดึงกลุ่มตรงกลางที่ประกอบไปด้วยคนส่วนใหญ่ ให้เปลี่ยนความคิดมาเป็นฝ่ายซ้าย

ถ้าจะชักชวนและดึงกรรมาชีพส่วนใหญ่ให้เห็นด้วยกับฝ่ายซ้าย มันต้องมีการจัดตั้งในองค์กรทางการเมือง พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมนั้นเอง

0cf37-gramsci

นักปฏิวัติมาร์คซิสต์อิตาลี่ชื่อ อันโตนิโอ กรัมชี่ เคยอธิบายว่านักปฏิบัติการของพรรคสังคมนิยมไม่สามารถชักชวนให้คนงานมาเป็นฝ่ายซ้าย ถ้ามัวแต่ป้อนทฤษฏีและแนวคิดเหมือนการป้อนอาหารให้เด็ก มันต้องมีการเคลื่อนไหวคนถึงจะเริ่มตาสว่าง ดังนั้นนักสังคมนิยมจะต้องร่วมต่อสู้เคลื่อนไหว และพูดถึงทฤษฏีทางการเมืองที่ช่วยอธิยายแนวทางในการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรมเสมอ

พรรคกรรมาชีพที่ควรจะถูกสร้างขึ่นในไทยตอนนี้ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ในประการแรกมันควรจะเป็นพรรคสังคมนิยมที่ให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานในชนชั้นกรรมาชีพ แต่ในขณะเดียวกันบ่อยครั้งต้องอาศัยคนหนุ่มสาวที่เป็นนักศึกษาไฟแรง หรือ “เตรียมกรรมาชีพ” นั้นเอง เพราะคนหนุ่มสาวแบบนี้มีเวลาที่จะศึกษาและอ่าน และไม่เหนื่อยเกินไปจากการทำงานหนัก ควรมีปัญญาชนเข้าร่วมด้วย แต่ที่สำคัญคือต้องมีการสร้างกรรมาชีพให้นำตนเอง ที่คิดเอง เป็นปัญญาชนกรรมาชีพ และช่วยสอนคนอื่นได้ และสมาชิกส่วนใหญ่ควรจะเป็นคนทำงานที่เคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานของตนเอง

แน่นอนพรรคจะต้องอิสระจากอิทธิพลของชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นจะต้องอิสระจากนายทุนและมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของคนชั้นกรรมาชีพ พรรคจึงก็ต้องมีจุดยืนต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด นโยบายที่นำไปสู่การกดค่าแรง หรือแนวคิดชาตินิยมที่มองว่าเราต้องสามัคคีกับนายทุนและทหารเป็นต้น

ความชัดเจนของจุดยืนพรรค ไม่ได้มีไว้เพื่ออวดความบริสุทธิ์ แต่มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายความคิดและปลุกระดมในหมู่มวลชนภายนอกพรรค จุดยืนของพรรคต้องมาจากการถกเถียงกันอย่างเสรีภายในพรรค โดยไม่มีใครที่เป็นอภิสิทธิ์ชน แต่พอถกเถียงกันแล้ว เมื่อมีการลงมติ ลูกพรรคควรจะทำตามมติเสียงส่วนใหญ่

พรรคจะต้องผสมผสานสองยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันคือ ต้องร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องปากท้อง เข้ากับเรื่องการเมืองภาพกว้าง

[อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2MBfQzc ]

 

นโยบายที่น่าขายหน้าของรัฐบาลไทยต่อผู้ลี้ภัยและคนงานข้ามพรมแดน

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในขณะที่ผู้รักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกกำลังแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยของรัฐบาลสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ ที่มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ลี้ภัยจากลาตินอเมริกาที่ต้องการเข้าไปในสหรัฐ และนโยบายของสหภาพอียู ที่มีการปล่อยให้ผู้ลี้ภัยที่ต้องการเดินทางเข้าสู่ยุโรปจมน้ำตายเป็นพันๆ คนในทะเลสืบเนื่องจากนโยบายเหยียดเชื้อชาติสีผิวของอียู เราควรจะมาพิจารณาประวัติอันน่าอับอายขายหน้าของรัฐบาลไทยในเรื่องนี้ด้วย

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาองค์การนิรโทษกรรมสากล ได้รายงานว่ารัฐบาลเผด็จการไทยมีการละเมิดสิทธิของผู้ลี้ภัยอย่างต่อเนื่อง เช่นการจับคุมผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามและเขมรเกือบสองร้อยคน ซึ่งรวมถึงเด็กและหญิงตั้งครรภ์ โดยที่หลายคนถือบัตรผู้ลี้ภัยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ มีการแยกเด็กออกจากพ่อแม่ หลายคนถูกส่งไปศาลแล้วโดนจำคุก บางคนถูกส่งไปที่สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองซอยสวนพลู ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นที่กักกันที่แออัดและไร้มาตรฐานมนุษยธรรมโดยสิ้นเชิง

Bangkok-detention-center-300x225

ปัญหาใหญ่มาจากการที่รัฐบาลไทย ทุกรัฐบาล ไม่ยอมเซ็นรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951และพิธีสารปี 1967 ดังนั้นผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในไทยถูกปฏิบัติเหมือนกับว่าเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฏหมาย เหมือนเป็นอาชญากร และมีหลายกรณีที่รัฐบาลไทยส่งกลับผู้ลี้ภัยทางการเมืองไปสู่คุกและการถูกทำร้ายในประเทศเดิม เช่นตุรกี เขมร และจีน

uyghur-detention-march2014

เมื่อสามปีที่แล้วรัฐบาลไทยส่งผู้ลี้ภัยอุยกูร์หนึ่งร้อยคนกลับประเทศจีน ทั้งๆ ที่เขาต้องการไปอยู่ตุรกีเพื่อหนีความรุนแรงและการกดขี่ของรัฐบาลจีน ซึ่งทำให้ชาวอุยกูร์ในตุรกีแสดงความไม่พอใจไทยด้วยการประท้วงทุบกระจกสถานกลสุลไทย

ล่าสุดคือกรณีของ ฮาคีม อัล อาไรบี และ รวต รุทมนี

សហជីព-1
รวต รุทมนี

รวต รุทมนี ถูกออกหมายจับโดยรัฐบาลเผด็จการของเขมรเพราะมีส่วนในการทำรายการสารคดีที่เปิดโปงการค้ามนุษย์ในเขมร เขาถูกจับโดยตำรวจไทยขณะที่กำลังขอลี้ภัยในสำนักงานวิซาของฮอลแลนด์ หลังจากนั้นเขาถูกส่งกลับเขมร

07bahrain-thailand-jumbo
ฮาคีม อัล อาไรบี

ฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรนที่มีสถานะผู้ลี้ภัยในออสเตรเลีย ถูกควบคุมตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหลังจากที่เขาเดินทางจากออสเตรเลียมาเที่ยวที่ไทยพร้อมกับภรรยา ทั้งๆ ที่ไทยไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับบาห์เรน แต่เผด็จการทหารไทยขู่ว่าจะส่งกลับบาห์เรน ถ้าเป็นเช่นนั้นเขาจะถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรม หรือซ้อมทรมาน เพราะบาห์เรนเป็นเผด็จการโหด กรณีนี้ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากสื่อต่างประเทศและองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร

ROHINGYA-MT-7-622x414-e1423819114649

ผู้ลี้ภัยโรฮิงญา ที่พยายามเข้ามาทางเรือก็โดนทหารและกรมน.ผลักออกไปสู่ทะเลอย่างป่าเถื่อน

2012_Thailand_burmarefugees

ส่วนผู้ลี้ภัยจากสงครามและความรุนแรงของทหารพม่าส่งผลให้คนเป็นแสนเดินข้ามพรมแดนเข้ามาในไทย แต่คนที่อยู่ต่อได้ถูกรัฐบาลไทยกักไว้ในค่ายผู้ลี้ภัยแถบชายแดน โดยที่ไม่มีสิทธิที่จะออกจากค่าย รัฐบาลไม่มีการบริการสาธารณสุข ไม่มีการให้การศึกษากับเด็ก และมีการห้ามไม่ให้ทำงานเลี้ยงชีพ คนที่แอบไปทำงานก็โดนนายจ้างและตำรวจเอาเปรียบเพราะเป็นแรงงาน “ผิดกฏหมาย”

แต่ชาวสังคมนิยมถือว่าผู้ลี้ภัยทุกคนเป็นมนุษย์ เราปฏิเสธคำจำกัดความที่ตราหน้าเพื่อนมนุษย์ว่าผิดกฏหมาย และเราจะไม่ยอมให้พวกชนชั้นปกครองชาตินิยมแบ่งแยกคนธรรมดาตามสีผิวหรือเชื้อชาติ การพูดว่าผู้ลี้ภัยเป็น “ภาระ” กับประเทศไม่เป็นความจริง เพราะถ้าเขาสามารถทำงาน เขาจะร่วมพัฒนาสังคมของเรา การพูดว่าเขาจะมา “แย่งงานคนไทย” ก็ไม่จริงอีกเพราะเขาพร้อมจะทำงานที่คนไทยไม่อยากทำ และเมื่ออายุของประชากรเพิ่มขึ้นสังคมเราก็จะขาดแรงงาน คำพูดแบบนี้ล้วนแต่เป็นการเบี่ยงเบนประเด็นปัญหาของระบบทุนนิยม โดยชนชั้นปกครอง เพื่อให้เรามองไม่เห็นการเอารัดเอาเปรียบและการกอบโกยกำไรของชนชั้นนายทุน สังคมเราไม่ได้ขาดแคลนทรัพยากร เพียงแต่ว่ามันไปกระจุกอยู่ในมือของคนชั้นสูง 5% ของสังคม และถูกใช้ในทางที่ผิด เช่นใช้ซื้ออาวุธให้ทหารที่ฆ่าประชาชนและทำลายประชาธิปไตย หรือถูกใช้เพื่อให้คนชั้นสูงเสพสุขมหาศาลเป็นต้น นี่คือสาเหตุที่เราปฏิเสธการกดขี่เอารัดเอาเปรียบพี่น้องแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในไทยด้วย และเป็นสาเหตุที่เราปฏิเสธลัทธิชาตินิยมและการเคารพธงชาติอีกด้วย เราเคารพเพื่อนมนุษย์และพลเมืองในสังคมเราแทน

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ที่ในยุคนี้กำลังกระตือรือร้นที่จะหาเสียง ไม่ยอมให้ความสำคัญกับเรื่องแบบนี้ จริงอยู่พรรคอนาคตใหม่เคยเสนอว่าจะต้องไม่ผลักชาวโรฮิงญากลับสู่ทะเลและต้อง “ดูแล” แต่เมื่อมีพวกหัวอนุรักษ์นิยมรุมด่า ก็ไม่กล้าที่จะถกเถียงกับความคิดเหยียดเชื้อชาติแบบนี้ ได้แต่เงียบไปหรือพยายามปรับนโยบายคล้อยตามพวกล้าหลัง และที่สำคัญไม่มีการประกาศว่าจะเซ็นรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951 และพิธีสารปี 1967 และไม่มีการเสนอว่าต้องรื้อถอนนโยบายแย่ๆ ของรัฐบาลที่ผ่านมาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ในเรื่องแรงงานข้ามชาติก็มีแต่การพูดว่าจะให้สิทธิเท่าเทียมกับแรงงานไทย แต่นั้นก็เฉพาะคนที่เข้ามาอย่าง “ถูกกฏหมาย” และแรงงานไทยเองก็ขาดสิทธิเสรีภาพในหลายเรื่อง

พรรคการเมืองอย่างอนาคตใหม่ ที่พยายามเล่นการเมืองในระบบเลือกตั้งของเผด็จการทหารไทย ไม่ให้ความสำคัญกับการปลุกระดมคนให้เปลี่ยนความคิด ไม่สนใจที่จะเปลี่ยนกระแสในสังคม เพราะสนใจแต่การตามกระแส สนใจแค่เสียงสนับสนุนซึ่งรวมไปถึงเสียงของคนที่มีความคิดล้าหลัง การไม่พูดถึงกฏหมาย 112 ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของพฤติกรรมแบบนี้

พรรคกรรมาชีพ

นี่คือสาเหตุที่เราจำเป็นต้องมีพรรคสังคมนิยม ที่เน้นการเคลื่อนไหวและการปลุกระดมคนให้เปลี่ยนความคิด เช่นให้เลิกบูชาคนข้างบน เลิกคลั่งชาติ หรือเลิกความคิดอคติต่อสิทธิทางเพศเป็นต้น โดยที่เราจะต้องไม่ยอมจำนนต่อการเมืองรัฐสภาในลักษณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

พรรคของชนชั้นกรรมาชีพ

ใจ อึ๊งภากรณ์

ลีออน ตรอทสกี นักมาร์คซิสต์รัสเซีย เคยเขียนว่า “ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นที่จะเป็นผู้ต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับทุนนิยม จนได้รับชัยชนะ… และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อชนชั้นกรรมาชีพเข้าใจผลประโยชน์ของชนชั้นตัวเองอย่างชัดเจน สร้างพรรคการเมืองอิสระของกรรมาชีพเอง และไม่หลงเชื่อคำแนะนำจากพวกนายทุนน้อยประชาธิปไตยสองหน้าที่เสนอว่ากรรมาชีพไม่ต้องมีพรรคของตนเอง”

ทุกวันนี้มีคนไม่น้อยในไทย ทั้งอดีตฝ่ายซ้ายและอดีตนักเคลื่อนไหวแรงงาน ที่เถียงหน้าดำหน้าแดงว่ากรรมาชีพไทย “ไม่สามารถสร้างพรรคของตนเองได้” ต้องพึ่งนายทุนและชนชั้นกลางตลอดไป เหมือนเด็กที่ต้องพึ่งพี่เลี้ยงและไม่มีวันโต เรื่องนี้มีการถกเถียงกันเมื่อผมเสนอว่านักเคลื่อนไหวในขบวนการแรงงานควรสร้างพรรคของตนเองแทนที่จะพึ่งพรรคอนาคตใหม่

แรงงานกับอนาคตใหม่

บางคนอ้างว่ากรรมาชีพไม่สามารถสร้างพรรคของตนเองได้เพราะกรรมาชีพเปลี่ยนไปเป็นคนส่วนน้อยของสังคมไปแล้ว ซึ่งสะท้อนสองสิ่งเกี่ยวกับคนที่มีความคิดแบบนี้คือ ไม่เข้าใจว่ากรรมาชีพคือใคร และไม่ติดตามข้อมูลจริงในโลกปัจจุบัน

ชนชั้นกรรมาชีพในนิยามเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์คซิสต์ คือลูกจ้าง หรือคนที่ไม่มีปัจจัยการผลิตของตนเองและต้องไปทำงานให้กับคนอื่น ซึ่งนักมาร์คซิสต์เข้าใจดีว่าระบบทุนนิยมและกรรมาชีพมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นกรรมาชีพในโลกสมัยใหม่ประกอบไปด้วยคนงานโรงงาน คนที่ทำงานในภาคบริการ เช่นการขนส่ง ห้างร้านค้า กิจการธนาคารกับไฟแนนส์ และในโรงเรียน มหาวิทยาลัย กับ โรงพยาบาล มันรวมกรรมาชีพที่ใส่ชุดทำงานของโรงงาน และกรรมาชีพที่แต่งตัวเพื่อเข้าไปทำงานในออฟฟิส และถ้าเรานับปริมาณประชาชนในไทยหรือในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จะเห็นว่ากรรมาชีพเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนตลอดเวลา

เรื่องนี้ไม่น่าแปลกเลย เพราะทุนนิยมดำเนินการไม่ได้ถ้าขาดกำไร และกำไรดังกล่าวมาจากการทำงานของกรรมาชีพผู้เป็นลูกจ้างเสมอ นี่คือสาเหตุที่นายทุนและรัฐบาลที่รับใช้นายทุนพยายามหาทุกวิธีทางที่จะสร้างอุปสรรค์กับการนัดหยุดงาน เพราะเมื่อกรรมาชีพนัดหยุดงานก็จะไม่มีการสร้างกำไรเพื่อให้นายทุนขโมยไป

ในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะในไทยหรือที่อื่น กรรมาชีพในรูปแบบที่ผมกล่าวถึง มีการจัดตั้งตัวเองในสหภาพแรงงาน เช่นสหภาพลูกจ้างธนาคาร สหภาพอุตสาหกรรมสิ่งทอ สหภาพครู หรือแม้แต่สหภาพพยาบาล และเมื่อมีการจัดตั้งแบบนี้ การสร้างพรรคการเมืองของกรรมาชีพย่อมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องมีนักเคลื่อนไหวที่เข้าใจความสำคัญของการสร้างพรรคของกรรมาชีพเอง

บางคนที่อ้างว่าพรรคกรรมาชีพ “สร้างไม่ได้” จะอ้าง “วัฒนธรรมของคนงานไทย” ว่าไม่สามารถรวมตัวกันต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ตนเองได้ ต้องคลานตามนายทุนหรือชนชั้นกลางเสมอ ความคิดแบบนี้ไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง เพราะถ้าสร้างสหภาพแรงงานได้ ก็ย่อมสร้างพรรคได้ อย่างที่พึ่งอธิบายไป ในโลกแห่งความเป็นจริงวัฒนธรรมไม่ได้มีวัฒนธรรมเดียวในสังคม แต่มีหลายวัฒนธรรมที่ขัดแย้งกันและดำรงอยู่พร้อมๆ กัน ดังนั้นเราจะเห็นประวัติและวัฒนธรรมของแรงงานไทยที่ลุกขึ้นสู้ เข้าใจผลประโยชน์ของชนชั้นตนเอง และให้ความสำคัญกับการเมืองฝ่ายซ้าย เราเห็นในอดีตยุคพรรคคอมมิวนิสต์ และเราเห็นในปัจจุบัน แต่แน่นอนเขาอาจไม่ใช่คนส่วนใหญ่ พร้อมกันนั้นเราเห็นวัฒนธรรมของนักเคลื่อนไหวสหภาพแรงงานที่บูชาคนข้างบน เชิญนักการเมืองฝ่ายทุนหรือแม้แต่เผด็จการทหารมาพูดในงานของแรงงาน และมองว่าตนเองทำอะไรไม่ได้ถ้าไม่มีผู้ใหญ่ที่มีอำนาจและเงินมาช่วย นั้นคืออีกวัฒนธรรมหนึ่ง

ถ้าจะชักชวนและดึงกรรมาชีพส่วนใหญ่ให้เห็นด้วยกับวัฒนธรรมแรกที่ต่อสู้และพึ่งตนเอง มันต้องมีการจัดตั้งในองค์กรทางการเมืองของฝ่ายซ้าย พรรคกรรมาชีพสังคมนิยมนั้นเอง บ่อยครั้งคนที่อ้างว่าคนงานไทยไม่มีวัฒนธรรมการต่อสู้ มักจะเป็นคนที่ไม่สนใจการจัดตั้งพรรคฝ่ายซ้ายของกรรมาชีพ และเขาก็จะหาข้ออ้างไร้สาระมาหนุนจุดยืนของเขา เช่นการพูดว่าฝ่ายซ้ายคาบคำภีร์ หรือฝ่ายซ้ายไม่รู้จักแรงงาน ซึ่งเป็นคำด่าเหลวไหลของคนที่หมดปัญญาที่จะเถียงโดยใช้เหตุผลและข้อมูลจากโลกจริง ผู้เขียนสามารถฟันธงในเรื่องนี้ได้เพราะมีประสบการณ์โดยตรงจากการพยามสร้างพรรคในสังคมไทย

42864387_1048457538658557_5369240746756931584_n

พรรคกรรมาชีพที่ควรจะถูกสร้างขึ่นในไทยตอนนี้ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ในประการแรกมันควรจะเป็นพรรคสังคมนิยมที่ให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานในชนชั้นกรรมาชีพ แต่ในขณะเดียวกันบ่อยครั้งต้องอาศัยคนหนุ่มสาวที่เป็นนักศึกษาไฟแรง หรือ “เตรียมกรรมาชีพ” นั้นเอง เพราะคนหนุ่มสาวแบบนี้มีเวลาที่จะศึกษาและอ่าน และไม่เหนื่อยเกินไปจากการทำงานหนัก อาจมีปัญญาชนเข้าร่วมด้วย แต่ที่สำคัญคือต้องมีการสร้างกรรมาชีพให้นำตนเอง ที่คิดเอง เป็นปัญญาชนกรรมาชีพ และสอนคนอื่นได้ และสมาชิกส่วนใหญ่ควรจะเป็นคนทำงานที่เคลื่อนไหวในสหภาพแรงงานของตนเอง

คนไทยที่สนใจสร้างพรรคฝ่ายซ้ายหรือพรรคสังคมนิยม ไม่ควรจะไปตั้งเป้าในการสร้างพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งภายใต้อิทธิพลของเผด็จการ หรือภายใต้กรอบ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” แต่อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายในไทย ไม่ควรลังเลที่จะสร้างพรรค ควรเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เลย เพื่อเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้านอกรัฐสภา พูดง่ายๆ “พรรค” กับการเลือกตั้งรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสมอ ดังนั้นพรรคไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนจนกว่าจะตัดสินใจลงแข่งขันในการเลือกตั้ง ภาระแรกเลยคือการสร้างสมาชิกที่เป็นนักเคลื่อนไหว สมาชิกที่แค่จ่ายค่าสมาชิกไม่ค่อยมีประโยชน์

ตัวอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นถึงการมีบทบาทนอกรัฐสภาของพรรค เช่นในการจัดตั้งกรรมาชีพ คนหนุ่มสาว หรือเกษตรกร อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการจับอาวุธของ พคท. หรือการที่ พคท. ไม่มีประชาธิปไตยภายใน

เราจะต้องเข้าใจกันว่าเป้าหมายของพรรคในที่สุด คือการล้มระบบทุนนิยมผ่านการลุกฮือของมวลชน การลุกฮือแบบนี้จะนำไปสู่การปกครองกันเองของกรรมาชีพที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม เพราะตราบใดที่เราไม่ล้มระบบทุนนิยม เราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้ที่มีความเท่าเทียมได้ กรุณาเข้าใจอีกด้วยว่า “สังคมนิยม” ที่กำลังเอ่ยถึงนั้น แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับระบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่พบในจีน เวียดนาม เกาหลีเหนือ หรือในอดีตโซเวียด [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2vbhXCO ]

แน่นอนพรรคจะต้องอิสระจากอิทธิพลของชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมปัจจุบัน ดังนั้นจะต้องอิสระจากนายทุนและมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของคนชั้นกรรมาชีพ ด้วยเหตุนี้เงินทุนของพรรคต้องมาจากสมาชิกที่เป็นคนธรรมดาเท่านั้น และพรรคก็ต้องมีจุดยืนต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด หรือนโยบายที่นำไปสู่การกดค่าแรงเป็นต้น

ความชัดเจนของจุดยืนพรรค ไม่ได้มีไว้เพื่ออวดความบริสุทธิ์ แต่มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายความคิดและปลุกระดมในหมู่มวลชนภายนอกพรรค จุดยืนของพรรคต้องมาจากการถกเถียงกันอย่างเสรีภายในพรรค โดยไม่มีใครที่เป็นอภิสิทธิ์ชน แต่พอถกเถียงกันแล้ว เมื่อมีการลงมติ ลูกพรรคควรจะทำตามมติเสียงส่วนใหญ่

พรรคจะต้องผสมผสานสองยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันคือ ต้องร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องปากท้อง เข้ากับเรื่องการเมืองภาพกว้าง

ถ้าพรรคเน้นแต่การต่อสู้เรื่องปากท้องอย่างเดียว พรรคจะไม่ต่างจากสหภาพแรงงานสามัญ และที่สำคัญคือ พรรคอื่น โดยเฉพาะพรรคของนายทุน จะสามารถครองใจมวลชนจนผูกขาดการวิเคราะห์ประเด็นการเมืองได้ และการวิเคราะห์ดังกล่าวจะกระทำจากมุมมองนายทุนเสมอ ในบริบทสังคมไทย ถ้าพรรคสังคมนิยมไม่สนใจการเมืองด้านกว้างจากจุดยืนคนชั้นล่าง พรรคของคนอย่างทักษิณหรือพรรคอนาคตใหม่จะเข้ามาครองใจคนส่วนใหญ่ได้ง่าย

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าพรรคไม่สนใจประเด็นปากท้อง และไม่ร่วมกับมวลชนนอกพรรคในการต่อสู้เพื่อพัฒนาชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ ก็จะแค่เป็นกลุ่มที่พูดเก่ง แต่ไม่ลงมือทำอะไร ไม่มีวันขยายการต่อสู้ได้ ดังนั้นพรรคจะต้องโฆษณาขยายความคิดและปลุกระดมการต่อสู้พร้อมกัน

การผสมผสานยุทธศาสตร์สองอย่างนี้เข้าด้วยกัน แปลว่าพรรคจะต้องชักชวนให้มวลชนมองภาพกว้างทางการเมืองจากชีวิตประจำวันเสมอ และจะต้องเชื่อมโยงทุกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทุนนิยมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าครองชีพ สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิทางเพศ สิทธิของเชื้อชาติต่างๆ เรื่องประชาธิปไตย และสถานการณ์ในโลกภายนอกประเทศไทยอีกด้วย

ในบริบทสังคมไทย การที่จะสร้างพรรคแบบนี้ควรเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของเครือข่ายต่างๆ ในขบวนการแรงงาน และนักเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์คล้ายๆ กัน การสร้างพรรคสังคมนิยมจะต้องไม่เริ่มต้นจากการคุยกันว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค หรือการเชิญผู้หลักผู้ใหญ่มาร่วม หรือการถกกันเรื่องการลงทะเบียน

ฝรั่งเศสพฤษภา 1968 ทุกอย่างเป็นไปได้! แต่การเมืองเป็นเรื่องชี้ขาด

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในปีค.ศ. 1968 การประท้วงของนักศึกษาฝรั่งเศสเรื่องสภาพหอพักในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในปารีส ลามไปสู่การต่อสู้ทั่วไปของนักศึกษากับตำรวจปราบจลาจลที่ติดอาวุธ นักศึกษาเป็นหัวหอกในการต่อสู้กับกฏระเบียบและความคับแคบในสถาบันการศึกษาและในสังคมทั่วไป

2.-May

March

ในที่สุดรัฐบาลสั่งให้ตำรวจปราบจลาจล CRS ทุบตีนักศึกษาอย่างป่าเถื่อน ตำรวจปราบจลาจลจึงถูกเรียกว่าเป็นพวกนาซี ภายใต้คำขวัญ “CRS: SS!!”

altbfqyzbbby

มันกลายเป็นการท้าทายโครงสร้างอำนาจเก่าในสังคมภายใต้ประธานาธิบดีฝ่ายขวา “เดอร์โกล” จนฝรั่งเศสอยู่ในภาวะ “ปฏิวัติ” เพราะในวันรุ่งขึ้น เมื่อนักสหภาพแรงงาน เห็นความรุนแรงของตำรวจ ก็ประกาศนัดหยุดงานทั่วประเทศ 9 ล้านคน มีการยึดโรงงาน และขังฝ่ายบริหารเพื่อ “สอบสวน” ในโรงงานต่างๆ มีการเรียนแบบการยึดโรงงานจากยุคอดีตปี 1936 แต่ในปริมาณที่ใหญ่กว่า เช่นการยึดโรงงานผลิตเครื่องบิน “ซุด เอวิเอชอง” ในเมือง น่านท์ เป็นต้น ผู้บัญชาการตำรวจฝรั่งเศสถึงกับสารภาพว่า “เมื่อกรรมกรนัดหยุดงานทั่วไป มันอันตรายมากสำหรับรัฐบาล” การนัดหยุดงานทั่วไปครั้งนี้นับว่าใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ทุนนิยมโลกตอนนั้น เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่นักวิชาการหอคอยงาช้างหลายคนเคยวิเคราะห์ว่าชนชั้นกรรมาชีพหมดสภาพ!!

e5df280fd4f47a93e653cf5ba9562dab
กรรมาชีพโรงงานรถยนต์เรโนนัดหยุดงาน

รัฐบาลฝ่ายขวาของ “เดอร์โกล” อัมพาตเป็นเวลาสองสัปดาห์ “เดอร์โกล” เองหนีไปอยู่ค่ายทหารฝรั่งเศสในเยอรมัน แต่แทนที่พรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำสหภาพแรงงานจะผลักดันการปฏิวัติไปข้างหน้า องค์กรเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการเบี่ยงเบนการต่อสู้จากเรื่องการเมืองไปเป็นเรื่องปากท้องเฉพาะหน้าเท่านั้น ในที่สุดมีการทำสัญญากับรัฐบาลว่าจะขึ้นเงินเดือนคนงานและยุบรัฐสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมีผลในการยุติการประท้วงของสหภาพแรงงานทั่วประเทศ สรุปแล้วในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำสหภาพแรงงานกลัวการปฏิวัติและต้องการที่จะปกป้องระบบทุนนิยม

การลุกขึ้นสู้หรือยุติการต่อสู้ของกรรมาชีพ เป็นเรื่องชี้ขาดว่าการกบฏของนักศึกษาจะประสบผลสำเร็จหรือไม่

la-lutte-continue-paris-may-1968-street-poster-t-shirt-4

อย่างไรก็ตามการกลับมาของการต่อสู้ทางชนชั้น นำไปสู่การรื้อฟื้นความคิดมาร์คซิสต์ในหมู่คนรุ่นใหม่ทั่วโลก นอกจากนี้กระแสการต่อสู้ มีผลในการเปลี่ยนวัฒนธรรม ดนตรี และค่านิยมต่างๆ และมีการกระตุ้นการต่อสู้ของกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกกดขี่ในสังคมทั่วโลกอีกด้วย เช่นคนผิวดำ คนพื้นเมืองอเมริกา เกย์กะเทยทอมดี้ และสตรี

กระแสสู้ของนักศึกษาทั่วโลกไม่ได้ยุติหลังปี 1968 เพราะในปี 1970 มีการประท้วงของนักศึกษาสหรัฐทั่วประเทศ และมีการยึดมหาวิทยาลัยต่างๆ หลังจากที่ทหารยิงนักศึกษาตายที่มหาวิทยาลัย เคนท์ สเตด ขณะที่นักศึกษาประท้วงต่อต้านการขยายสงครามเวียดนามสู่กัมพูชา

ในประเทศไทยนักศึกษาเป็นหัวหอกในการล้มเผด็จการทหาร ถนอม ประภาส ณรงค์ ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และในปีเดียวกันนักศึกษากรีซเริ่มออกมาสู้ โดยยึดวิทยาลัย โบลิเทคนิค กลางเมืองอาเทนส์ ซึ่งนำไปสู่การล้มเผด็จการทหารกรีซในที่สุด นอกจากนี้มีการเดินขบวนของนักศึกษาในอินโดนีเซีย และในเยอรมันตะวันตก

แต่หลัง 1968 ศูนย์กลางการต่อสู้ส่วนใหญ่ย้ายไปที่ขบวนการแรงงาน เช่นในอิตาลี่ปี 1969 หรือในสเปนบทบาทสำคัญของกรรมาชีพ ตั้งแต่ปี 1970 ทำให้เผด็จการ “ฟรังโก” อ่อนแอลง และในอังกฤษการนัดหยุดงานทำให้รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมถูกล้ม

ทั่วโลกชนชั้นปกครองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เอง แต่ต้องพึ่งพรรคแรงงาน พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย พรรคคอมมิวนิสต์ และสภาแรงงานต่างๆ ซึ่งยอมร่วมมือเพื่อช่วยดับไฟของการปฏิวัติ โดยในหลายประเทศมีการทำข้อตกลงระหว่างพรรคฝ่ายซ้ายกับพรรคฝ่ายขวา

ในลาตินอเมริกา มีการลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาและแรงงานเช่นกัน ใน อาเจนทีนา มีการยึดเมือง คอร์โดบาและใน ชิลี มีการยึดที่ดินของเจ้าของที่ดินรายใหญ่ แต่กระแสนี้ถูกต้อนเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ใน อาเจนทีนา มีการรณรงค์ให้อดีตเผด็จการประชานิยม เพรอน กลับมาแก้สถานการณ์ แต่แก้ไม่ได้ และเมื่อ เพรอน เสียชีวิต ทหารฝ่ายขวาก็ทำรัฐประหารป่าเถื่อน โดยเข่นฆ่านักกิจกรรมฝ่ายซ้ายหลายหมื่นคน ซึ่งไม่ต่างจากเหตุการณ์ ๖ ตุลา ที่ไทย

ใน ชิลี กระแสการต่อสู้นำไปสู่ชัยชนะของ ซัลวาดอร์ อาเยนเดย์ ผู้แทนพรรคสังคมนิยม ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่ฝ่ายขวา นายทุน ทหาร และสหรัฐอเมริกาไม่พอใจ และคอยหาทางล้มรัฐบาลด้วยการปิดกิจกรรมการขนส่ง และการพยายามทำรัฐประหาร ซึ่งในระยะแรกถูกคนงานรากหญ้าต้านสำเร็จผ่านการสร้าง “สภาคนงาน” (คอร์ดอนเนย์ Cordones) ในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ คล้ายกับสภาคนงานในรัสเซียปี 1917 อย่างไรก็ตาม พรรคคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยม ชักชวนให้กรรมาชีพสลายการต่อสู้ เพื่อเอาใจทหารและฝ่ายขวา โดยหลงเชื่อว่าจะทำให้รัฐบาลอยู่ต่อได้ ยิ่งกว่านั้นมีการนำนายทหารชั้นผู้ใหญ่ อย่างเช่น ออร์กัสโต พิโนเช เข้ามาในคณะรัฐมนตรี แต่สามเดือนหลังจากนั้นในปี 1973 พิโนเช ยึดอำนาจ ฆ่าประธานาธิบดี และจับคุมเข่นฆ่านักสังคมนิยมและนักสหภาพแรงงานหลายพันคน

ในขณะที่พรรคปฏิรูปและสภาแรงงานในยุโรปตะวันตกพยายามกล่อมขบวนการแรงงานให้หลับนอนและเลิกสู้ ฝ่ายขวาในลาตินอเมริกายุติการต่อสู้ของแรงงานผ่านการปราบปรามอย่างนองเลือด

มีที่หนึ่งที่ประกายไฟจาก 1968 ลุกเป็นเปลวอีกครั้ง คือในประเทศปอร์ตุเกส ซึ่งมีรัฐบาลเผด็จการฟาสซิสต์มาเกือบห้าสิบปี ในกลางทศวรรษ 1970 ปอร์ตุเกสกำลังแพ้สงครามในอาณานิคมอัฟริกา และทหารระดับล่างไม่พอใจกับการต่อสู้ ดังนั้นในเดือนเมษายน 1974 มีรัฐประหารและนายพลฝ่ายขวาขึ้นมาแทนเผด็จการ “ไคทาโน” รัฐประหารนี้นำไปสู่การนัดหยุดงานตามโรงต่อเรือขนาดใหญ่ และพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใต้ดินพรรคเดียวที่มีการจัดตั้งอย่างดี ก็พยายามตั้งตัวเป็นศูนย์กลางการเจรจาและการถ่วงดุลอำนาจระหว่างผู้นำกองทัพฝ่ายขวา กับขบวนการแรงงาน แต่ทำไม่ได้ เริ่มมีกลุ่มทหารระดับล่างและคนงานฝ่ายซ้ายที่อยากไปไกลกว่าพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อทำการปฏิวัติ อย่างไรก็ตามองค์กร “ซีไอเอ” ของสหรัฐ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยในเยอรมัน และนายทหารปฏิรูปของปอร์ตุเกส สามารถเปลี่ยนทิศทางการปฏิวัติปอร์ตุเกสไปสู่ประชาธิปไตยรัฐสภาทุนนิยมได้ โดยที่พรรคคอมมิวนิสต์ไม่ทำอะไรเลย

บทสรุปสำคัญจากยุค 1968 คือต้องมีการสร้างพรรคปฏิวัติฝ่ายซ้ายใหม่ ที่ไม่ยอมประนีประนอมกับทุนและพร้อมจะสามัคคีพลังกรรมาชีพกับการตื่นตัวของนักศึกษาและคนหนุ่มสาว

ภารกิจการสร้างพรรคแบบนี้ยังเป็นภารกิจสำคัญของเราในยุคนี้

อ่านเพิ่ม https://bit.ly/2i294Cn

และ https://bit.ly/2IeFt9a

ถ้าจะสร้างรัฐสวัสดิการในไทย ต้องสร้างพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในช่วงปลายปีที่แล้วมีการจัดสัมมนาวิชาการเรื่องรัฐสวัสดิการในไทย เรื่องการเรียกร้องรัฐสวัสดิการในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการเสนอมาตั้งแต่สมัย อ.ปรีดี หลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และในยุครัฐบาลทักษิณประมาณปี ๒๕๕๑ มีการเสนอว่าไทยควรจะเป็นรัฐสวัสดิการโดย “พรรคแนวร่วมภาคประชาชน” ที่มี “กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน” เป็นส่วนสำคัญในการจัดตั้งขึ้นมา ในช่วงต่อจากนั้นองค์กร “เลี้ยวซ้าย” มีการรณรงค์เรื่องนี้ต่อไป [ดู http://bit.ly/2rOzlLy ]

การสร้างรัฐสวัสดิการในอังกฤษ เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองภายใต้รัฐบาลพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมาโดยสหภาพแรงงานอังกฤษ พรรคนี้ได้เสียงข้างมากหลังสงคราม เพราะประชาชนจำนวนมากมองว่าการเสียสละในสงครามจะไม่มีความหมายเลย ถ้าสภาพความเป็นอยู่ของพลเมืองไม่มีการพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างจริงจัง พูดง่ายๆ มันมีกระแสเรียกร้องรัฐสวัสดิการในสังคมที่มาแรง โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพผู้ทำงาน

ก่อนหน้านั้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมีการปฏิวัติสังคมนิยมในรัสเซีย และกระแสการปฏิวัติแพร่กระจายไปสู่ประเทศต่างๆ ในยุโรป มีการนัดหยุดงานทั่วไปในหลายประเทศ และมีการพยายามปฏิวัติสังคมนิยมในเยอรมันอีกด้วย ในช่วงนั้นมีทหารผ่านศึกที่ยังถืออาวุธอยู่ในมือจำนวนมาก

ด้วยเหตุนี้ เวลาสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ชนชั้นปกครองอังกฤษเกรงกลัวพลังของกรรมาชีพจน รัฐมนตรีคนหนึ่งจากพรรคอนุรักษ์นิยมของนายทุนถึงกับพูดในรัฐสภาว่า “ถ้าเราไม่ยอมให้รัฐสวัสดิการพวกนั้นจะปฏิวัติโค่นล้มระบบ”

ในประเทศสวีเดนมีการสร้างรัฐสวัสดิการหลังสงครามโลกครั้งที่สองเช่นกัน และรัฐบาลที่นำรัฐสวัสดิการมาใช้คือรัฐบาลพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยที่มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสหภาพแรงงาน ไม่ต่างจากกรณีอังกฤษ

ในทั้งสองประเทศ สิ่งที่ทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้คือการมีสหภาพแรงงานและขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง และการที่พรรคของคนทำงานได้รับเลือกเป็นรัฐบาลท่ามกลางกระแสเรียกร้องรัฐสวัสดิการ รัฐสวัสดิการไม่ได้เกิดจากความเมตตาของนายทุนหรือรัฐแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่รัฐสวัสดิการมีส่วนช่วยให้นายทุนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ พูดง่ายๆ ถ้ากรรมาชีพและพรรคการเมืองของกรรมาชีพไม่ต่อสู้เพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการมันก็ไม่เกิด

คนที่ปฏิเสธการสร้างพรรคการเมืองในยุคนี้ จะไม่มีวันสร้างรัฐสวัสดิการได้ เพราะจะไม่มีองค์กรทางการเมืองที่มีมวลชนจำนวนมากที่พร้อมใจกันรณรงค์ผลักดันเรื่องนี้ จะมีแต่ปัจเจกชนที่พูดถึงเท่านั้น

คนที่ฝันว่าพรรคการเมืองของฝ่ายทุนจะนำรัฐสวัสดิการแบบอังกฤษหรือสวีเดนเข้ามา ก็จะไม่มีวันสร้างรัฐสวัสดิการเช่นกัน ตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับไทยคือประสบการณ์ของการมีรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลนี้นำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้ามาใช้ก็จริง แต่ไม่มีการขยับไปสู่รัฐสวัสดิการแบบครบวงจร ถ้วนหน้า และที่อาศัยการเก็บภาษีในอัตราสูงหรือก้าวหน้าจากคนรวยกับกลุ่มทุน ทักษิณเองก็เคยปฏิเสธว่าจะสร้างรัฐสวัสดิการ และสาเหตุสำคัญคือไม่ต้องการเก็บภาษีในอัตราสูงจากคนรวยหรือนายทุน ทักษิณเองก็ใช้กลไกต่างๆ ในการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี

คนที่ฝันว่ารัฐบาลปฏิกิริยาของทหารเผด็จการ หรือของพรรคประชาธิปัตย์ จะสร้างรัฐสวัสดิการ เป็นคนที่หลอกตนเองอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะทั้งทหารและพรรคประชาธิปัตย์ต่อต้านการใช้งบประมาณรัฐในการลดความเหลื่อมล้ำหรือการบริการคนส่วนใหญ่ กลุ่มโจรเหล่านี้คัดค้านแม้แต่การปฏิรูประบบสวัสดิการที่รัฐบาลทักษิณเคยทำ เขาเป็นพวกคลั่งกลไกตลาดเสรีและการกอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตนเอง

รัฐสวัสดิการจะไม่เกิดในไทย ถ้าทหารยังคุมอำนาจเผด็จการอยู่ หรือถ้ามีการสืบทอดอำนาจทหารผ่าน “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ของพวกเผด็จการ ดังนั้นคนที่ต้องการเห็นรัฐสวัสดิการต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วย

การที่นักวิชาการในไทยรื้อฟื้นเรื่องรัฐสวัสดิการจากการรณรงค์ที่ผมและพรรคพวกเคยทำก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยา เป็นเรื่องดี แต่มันไม่พอ เพราะในรูปธรรมต้องมีการสร้างพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่มีฐานในขบวนการแรงงาน และสมาชิกของพรรคนี้ต้องลงไปรณรงค์กับสมาชิกสหภาพแรงงานจำนวนมาก เพื่อให้เกิดกระแสเรียกร้องรัฐสวัสดิการในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพไทย มันต้องกลายเป็นประเด็นหลักในการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และมันเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สหภาพแรงงานไทยต้องยุ่งกับการเมืองของชนชั้นตนเองมากกว่าที่เคย

แนวทางการสร้างพรรคของ เลนิน กับบริบทสังคมไทย

ใจ อึ๊งภากรณ์

ทั้งๆ ที่ เลนิน เป็นนักปฏิวัติมาร์คซิสต์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในศตวรรษที่แล้วในประเทศรัสเซีย แต่วิธีการในการสร้างพรรคกรรมาชีพของเขา มีหลายประเด็นที่สำคัญสำหรับสังคมไทยในยุคนี้

ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องแนวคิดของเลนินในเรื่องพรรค ผมจะขอฟันธงว่า คนไทยที่สนใจสร้างพรรคฝ่ายซ้ายของคนชั้นล่างหรือพรรคสังคมนิยม ไม่ควรจะไปตั้งเป้าในการสร้างพรรคเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งภายใต้อิทธิพลของเผด็จการ หรือภายใต้กรอบ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” เพราะกรอบที่เผด็จการกำหนดไว้นี้จะทำให้พรรคสังคมนิยมหรือพรรคของคนชั้นล่างลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ กรอบ“ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” นี้กำหนดมาเพื่อสร้างแค่ประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่อย่างไรก็ตามนักกิจกรรมฝ่ายซ้ายในไทย ไม่ควรลังเลที่จะสร้างพรรค ควรเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เลย เพื่อเคลื่อนไหวในระดับรากหญ้านอกรัฐสภา พูดง่ายๆ “พรรค” กับการเลือกตั้งรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องเดียวกันเสมอ

ตัวอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยชี้ให้เห็นถึงการมีบทบาทนอกรัฐสภาของพรรค เช่นในการจัดตั้งกรรมาชีพ คนหนุ่มสาว หรือเกษตรกร อย่างไรก็ตามผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการจับอาวุธของ พคท. หรือการที่ พคท. ไม่มีประชาธิปไตยภายใน

ผู้ที่สนใจที่จะสร้างพรรคสังคมนิยมในไทย ซึ่งเป็นรูปแบบพรรคของคนชั้นล่างที่ดีที่สุด จะต้องเข้าใจกันว่าเป้าหมายของพรรคในที่สุด คือการล้มระบบทุนนิยมผ่านการลุกฮือของมวลชน การลุกฮือแบบนี้จะนำไปสู่การปกครองกันเองของคนชั้นล่าง เพราะตราบใดที่เราไม่ล้มระบบทุนนิยม เราไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยแท้ที่มีความเท่าเทียมได้ กรุณาเข้าใจอีกด้วยว่า “สังคมนิยม” ที่กำลังเอ่ยถึง แตกต่างโดยสิ้นเชิงกับระบบเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ที่พบในจีน เวียดนาม เกาหลีเหนือ หรือในอดีตโซเวียด [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2vbhXCO]

สำหรับ เลนิน พรรคสังคมนิยมจะต้องสร้างรากฐานในหมู่คนทำงานหรือชนชั้นกรรมาชีพ เพราะชนชั้นนี้มีพลังทางเศรษฐกิจมหาศาลถ้ารู้จักสามัคคีกัน พรรคจะต้องอิสระจากอิทธิพลของชนชั้นที่มีอำนาจในสังคมปัจจุบันอีกด้วย ดังนั้นจะต้องอิสระจากนายทุนและมีจุดยืนในการรักษาผลประโยชน์ของคนชั้นล่างที่เป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมเสมอ ด้วยเหตุนี้เงินทุนของพรรคต้องมาจากสมาชิกที่เป็นคนธรรมดาเท่านั้น และพรรคก็ต้องมีจุดยืนต้านนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมกลไกตลาด หรือนโยบายที่นำไปสู่การกดค่าแรงเป็นต้น

ความชัดเจนของจุดยืนพรรค ไม่ได้มีไว้เพื่ออวดความบริสุทธิ์ แต่มีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายความคิดและปลุกระดมในหมู่มวลชนภายนอกพรรค จุดยืนของพรรคต้องมาจากการถกเถียงกันอย่างเสรีภายในพรรค โดยไม่มีใครที่เป็นอภิสิทธิ์ชน แต่พอถกเถียงกันแล้ว เมื่อมีการลงมติ ลูกพรรคควรจะทำตามมติเสียงส่วนใหญ่

เลนิน มักจะเน้นเสมอว่าพรรคจะต้องผสมผสานสองยุทธศาสตร์เข้าด้วยกันคือ ต้องร่วมต่อสู้เพื่อพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือเรื่องปากท้อง เข้ากับเรื่องการเมืองภาพกว้าง

ถ้าพรรคเน้นแต่การต่อสู้เรื่องปากท้องอย่างเดียว พรรคจะไม่ต่างจากสหภาพแรงงานสามัญ และที่สำคัญคือ พรรคอื่น โดยเฉพาะพรรคของนายทุน จะสามารถครองใจมวลชนจนผูกขาดการวิเคราะห์ประเด็นการเมืองได้ และการวิเคราะห์ดังกล่าวจะกระทำจากมุมมองนายทุนเสมอ ในบริบทสังคมไทย ถ้าพรรคสังคมนิยมไม่สนใจการเมืองด้านกว้างจากจุดยืนคนชั้นล่าง พรรคของคนอย่างทักษิณจะเข้ามาครองใจคนส่วนใหญ่ได้ง่าย และสามารถนำหรือยกเลิกการต่อสู้ได้ตามใจชอบ อย่างที่เราเห็นมาแล้ว

เราควรจะเข้าใจว่า ทั้งๆ ที่พรรคของทักษิณมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แล้วโดนทหารก่อรัฐประหาร แต่ทักษิณและพรรคพวกต้องการจำกัดการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในกรอบที่เป็นประโยชน์กับเขา ผลของการต่อสู้แค่ครึ่งทางแบบนี้ คือความพ่ายแพ้ของฝ่ายประชาธิปไตยในปัจจุบัน [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2hryRoB ]

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าพรรคไม่สนใจประเด็นปากท้อง และไม่ร่วมกับมวลชนนอกพรรคในการต่อสู้เพื่อพัฒนาชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ ก็จะแค่เป็นกลุ่มที่พูดเก่ง แต่ไม่ลงมือทำอะไร ไม่มีวันขยายการต่อสู้ได้ ดังนั้นพรรคจะต้องโฆษณาขยายความคิดและปลุกระดมการต่อสู้พร้อมกัน

การผสมผสานยุทธศาสตร์สองอย่างนี้เข้าด้วยกัน แปลว่าพรรคจะต้องชักชวนให้มวลชนมองภาพกว้างทางการเมืองจากชีวิตประจำวันเสมอ และจะต้องเชื่อมโยงทุกประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมทุนนิยมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าครองชีพ สิทธิของแรงงานข้ามชาติ สิทธิทางเพศ สิทธิของเชื้อชาติต่างๆ เรื่องประชาธิปไตย และสถานการณ์ในโลกภายนอกประเทศไทยอีกด้วย

แนวคิดของ เลนิน เสนอว่าพรรคต้องเป็นตัวแทนของผู้ถูกกดขี่ทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนที่ถูกกดขี่ทางเพศ กดขี่ในเรื่องศาสนา กดขี่ทางเชื้อชาติ หรือคนที่ถูกกดขี่จากความพิการ พรรคจะต้องยืนอยู่เคียงข้างคนจนในประเทศอื่นและผู้ลี้ภัยอีกด้วย สาเหตุสำคัญคือมันจะช่วยในการสร้างความสามัคคีในหมู่คนชั้นล่าง การกดขี่ทุกรูปแบบที่เราเห็นในสังคมปัจจุบัน มาจากกลไกต่างๆ ของระบบทุนนิยมทั้งสิ้น และประชาธิปไตยแท้จริงเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีการกำจัดการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย

นอกจากพรรคจะต้องมีแนวความคิดของตนเอง หรือพูดง่ายๆ มี “ทฤษฏี” ในการเข้าใจสังคม พรรคต้องเรียนรู้จากประวัติศาสตร์และเป็นองค์กรที่เป็น “ความทรงจำ” ของคนชั้นล่าง เพราะถ้าไม่มีความทรงจำแบบนี้ มวลชนต้องเริ่มจากสูญทุกครั้งที่ออกมาเคลื่อนไหว แทนที่จะมีการสรุปบทเรียนจากอดีต

ในบริบทสังคมไทย การที่จะสร้างพรรคแบบนี้ควรเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของเครือข่ายต่างๆ ในขบวนการแรงงาน และนักเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่มีอุดมการณ์คล้ายๆ กัน การสร้างพรรคสังคมนิยมจะต้องไม่เริ่มต้นจากการคุยกันว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค หรือการเชิญผู้หลักผู้ใหญ่มาร่วม หรือการถกกันเรื่องการลงทะเบียน

บทความนี้ในบางส่วนอาศัยความคิดที่เสนอในหนังสือ “Lenin For Today” (2017) โดย John Molyneux. Bookmarks Publications.

สุธาชัยที่ผมรู้จักเป็นนักสังคมนิยม

ใจ อึ๊งภากรณ์

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เป็นนักสังคมนิยมปฏิวัติจนถึงวันตาย นี่คือจุดเด่นของเขาที่ผมปลิ้มที่สุด แน่นอนมนุษย์ทุกคนมีหลายด้าน และสุธาชัยก็คงไม่ต่างออกไป

นอกจากนักสังคมนิยมแล้วเขาเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นเสื้อแดง เป็นนักประวัติศาสตร์ และเป็นคนชอบใส่รองเท้าแตะ เขาคงเป็นอะไรอีกมากมายที่ผมไม่รู้ เพราะเขาคงเป็นมนุษย์เต็มตัวที่มีความหลากหลายรอบด้าน

แต่ในขณะนี้ผมและสหายหลายคงกำลังกังวลว่าความเป็นนักสังคมนิยมปฏิวัติของสุธาชัยกำลังถูกลืมโดยคนที่ต้องการบิดเบือนจุดยืนของเขา บางคนกระทำไปแบบนี้เพื่อให้ความชอบธรรมกับการเปลี่ยนจุดยืนของตนเอง ในขณะที่สุธาชัยจริงๆ แล้วไม่ได้เปลี่ยนจุดยืน

เลนิน ในย่อหน้าแรกของหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” เคยเขียนว่า “ในเวลาที่บรรดานักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่มีชีวิตอยู่ ชนชั้นปกครองและพรรคพวกพากันจองล้างจองผลาญพวกเขามิรู้หยุดหย่อน ต้อนรับคำสอนของพวกเขาด้วยความมุ่งร้ายอย่างป่าเถื่อน และความจงเกลียดจงชังอย่างเข้ากระดูกดำ พร้อมกับรณรงค์ใส่ร้ายป้ายสีอย่างไร้หิริโอตัปปะ ทว่าพอพวกเขาตายไปกลับบังเกิดความพยายามที่จะเนรมิตพวกเขาให้เป็นรูปเคารพที่ไร้พิษสง สวมคราบนักบุญให้กับพวกเขา ขณะเดียวกันก็กลับบั่นทอนสารัตถะแห่งคำสอนปฏิวัติ ทำให้คมปฏิวัติแห่งคำสอนบิ่นทื่อ”

ขณะนี้อาจมีคนที่มีพฤติกรรมต่อสุธาชัย อย่างที่เลนินเคยบรรยาย

ผมรู้จักสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ก่อนที่ผมจะกลับไปสอนหนังสือที่ไทย เพราะผมอ่านหนังสือประวัติศาสตร์การเมืองไทยเล่มหนึ่งของเขา ซึ่งผมจำชื่อไม่ได้แล้ว และผมไม่ได้เอาติดตัวผมไปตอนที่ต้องย้ายบ้านจากไทยกระทันหันเมื่อแปดปีก่อน แต่เมื่อเขาติดต่อกับผมที่อังกฤษตอนนั้น ผมตื่นเต้นที่จะพบเขา และชวนมาที่บ้านที่ออคซ์ฟอร์ด เพื่อมาคุยกัน

สิ่งหนึ่งที่ผมแปลกใจเกี่ยวกับสุธาชัยตอนเขามาเยี่ยมผมเป็นครังแรกคือเขาใส่รองเท้าแตะและมีความเรียบง่ายเป็นกันเอง การใส่รองเท้าแตะในอังกฤษเป็นเรื่องน่าแปลกใจด้วยเพราะอากาศมันหนาว ตอนนั้นเขาเล่าให้ผมฟังว่าเขามาเรียนหรือวิจัยที่อังกฤษและโปรตุเกส และตอนอยู่อังกฤษเขาสมัครเป็นสมาชิก “พรรคสังคมนิยมกรรมาชีพ” (Socialist Workers Party) ที่อังกฤษ ซึ่งเป็นพรรคมาร์คซิสต์สายตรอทสกี้ และผมก็เป็นสมาชิกพรรคนี้มาตั้งแต่ปี 1977 หลังเหตุการณ์ ๖ ตุลา ด้วย เพราะตอนนั้นผมเป็นนักศึกษาที่อังกฤษ ทุกวันนี้ผมก็เป็นสมาชิกพรรคนี้ และพอมาเมืองไทยและมาสอนที่จุฬาฯ ผมก็มีส่วนในการก่อตั้ง “กลุ่มประชาธิปไตยแรงงาน” และ “เลี้ยวซ้าย”

สหายยิ้มกับสหายวิภา

สิ่งที่น่าปลื้มเกี่ยวกับสุธาชัยคือ เขาเป็นนักสากลนิยม อยู่ประเทศไหนก็เข้ากับพวกสังคมนิยมที่นั้น ทั้งๆ ที่สุธาชัยเป็นนักสังคมนิยมแบบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสายเหมาเจ๋อตุง ซึ่งไม่น่าจะเข้ากับสังคมนิยมสายตรอทสกี้ได้ แต่เขามองว่าควรจะสามัคคีฝ่ายซ้ายไปก่อน

เมื่อผมย้ายมาสอนที่รัฐศาสตร์จุฬาฯ ผมได้รู้จักสุธาชัยมากขึ้น เพราะเขาสอนที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน และที่รู้จักกันดีคือผ่านการทำงานร่วมกันในการชำระประวัติศาสตร์เหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลา ๒๕๑๙ สุธาชัยกับผมมีอุดมการณ์ร่วมในเรื่องนี้ เพราะเราทั้งสองเป็นนักสังคมนิยม และเราชัดเจนว่าชนชั้นปกครองไทยก่ออาชญากรรมรัฐ ๖ ตุลา เพื่อพยายามกำจัดแนวสังคมนิยมออกจากสังคมไทย แต่ในเรื่องรายละเอียดว่าสังคมนิยมหมายความว่าอะไร สุธาชัยก็คงเส้นคงวาปกป้องแนวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย รวมถึงแนวเหมาเจ๋อตุง ในขณะที่ผมชัดเจนว่าเป็นแนวตรอทสกี้ หนังสือที่เราผลิตร่วมกันชื่อ “อาชญากรรมรัฐในวิกฤติการเปลี่ยนแปลง” โดยคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙  เขียนโดย ใจ อึ๊งภากรณ์ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ และคณะ (๒๕๔๔)

แนวทางการเมืองของตรอทสกี้จะเน้นพลังชนชั้นกรรมาชีพที่ควรจะเป็นหัวหอกในการต่อสู้ และจะต่อต้านความเป็นเผด็จการของสตาลินอีกด้วย ส่วนแนวทางการเมืองของ พคท. จะเห็นด้วยกับสตาลิน และเน้นกองกำลังติดอาวุธของชาวนา [อ่านเพิ่ม http://bit.ly/2vbhXCO ]

ในช่วงวิกฤตการเมืองไทยหลังรัฐประหาร ๑๙ กันยา ผมกับสุธาชัย และประชาชนนับล้านก็อยู่ฝ่ายเดียวกันอีก คืออยู่ฝ่ายเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย และผมก็ไปฟังเขาพูด และร่วมพูดกับเขาในเวทีเดียวกันหลายครั้ง นั้นเป็นอีกจุดร่วมที่เรามี แต่ในเรื่องของท่าทีต่อทักษิณ ผมกับเขาอาจต่างกันบ้าง เพราะผมไม่เคยสนับสนุนทักษิณ และไม่เคยสนับสนุนพันธมิตร ในช่วงหลังรัฐประหารสุธาชัยสนับสนุนทักษิณแต่ไม่ได้สนับสนุนทักษิณโดยไม่มีเงื่อนไขเพราะก่อนหน้านั้นเขาเคยขึ้นเวทีพันธมิตรก่อนที่จะถอนตัวออก เนื่องจากเขาชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องให้ใช้มาตรา ๗

แต่ในเรื่องการต้านเผด็จการทหารสุธาชัยชัดเจนมาก

หลังถูกทหารของประยุทธ์เรียกเข้าค่ายเพื่อพยายาม “ปรับทัศนคติ” หรือข่มขู่แบบสามัญนั้นเอง สุธาชัยเขียนว่า “ผมก็ยืนยันว่า ผมไม่ได้ต้านรัฐประหารเฉพาะครั้งนี้ การรัฐประหารตั้งแต่ 6 ตุลา 2519 เป็นต้นมา ผมไม่เคยเห็นเลยว่าจะแก้อะไรได้ มีแต่จะยิ่งขยายปัญหามากขึ้นทุกครั้ง ปัญหาบ้านเมืองคลี่คลายด้วยประชาธิปไตยทั้งนั้น”

ผมไม่สามารถอ้างว่าผมรู้จักเขาเป็นส่วนตัวดีกว่าคนอื่นได้ จริงๆ ผมไม่ใช่เพื่อนสนิทของเขา แต่ผมสามารถพูดได้ว่าสุธาชัยเป็นคนมารยาทงดงาม อาจดีกว่าผมด้วย และเขาเป็นคนไม่ถือตัว น่ารัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นที่สำคัญที่สุดคือเขามีอุดมการณ์เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ คือมีอุดมการณ์สังคมนิยม และต่อต้านเผด็จการทหาร

เราเสียสหายคนน่ารักของเราไปอีกคนหนึ่งแล้ว คนรุ่นใหม่คงต้องต่อสู้ต่อไปเพื่อรักษาอุดมการณ์สังคมนิยม ประชาธิปไตย และความเท่าเทียม