Category Archives: Politics

บทวิเคราะห์ทางการเมือง

ท่าทีสหภาพแรงงานก้าวหน้าต่อรัฐประหาร

ท่าทีสหภาพแรงงานก้าวหน้าต่อรัฐประหาร

protest-at-moratuwa

ในช่วงวิกฤตการเมืองที่นำไปสู่การทำรัฐประหารรอบล่าสุด เรามักได้ยินข่าวเกี่ยวกับสหภาพแรงงานบางองค์กรจากรัฐวิสาหกิจ เช่นการบินไทย กฟผ. หรือรถไฟ ที่ปฏิกิริยา สนับสนุนม็อบสุเทพ และเลียก้นทหาร แต่พวกนั้นเป็นเพียงนักสหภาพข้าราชการที่มาจากบางส่วนของรัฐวิสาหกิจเท่านั้น เราจึงไม่ควรเหมารวมว่าแรงงานในภาคส่วนอื่นๆ หรือแม้แต่คนทำงานธรรมดาในรัฐวิสาหกิจไม่ตื่นตัวและรักประชาธิปไตย

“เลี้ยวซ้าย” สัมภาษณ์แกนนำคนหนึ่งของ “กลุ่มคนงานต้านรัฐประหาร” จากย่านโรงงานแถวๆ กรุงเทพฯ

 

รัฐประหารครั้งนี้มีผลกระทบกับสหภาพแรงงานอย่างไร?

“มีผลกระทบแน่นอน กิจกรรมของสหภาพ ต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะบางสหภาพแรงงาน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการเจรจาโบนัสกลางปี ปกติเคยนำคนงานมาชุมนุมกดดันนายจ้างเพื่อให้ได้โบนัสตามที่ สร.เสนอ แต่เมื่อมีรัฐประหาร สหภาพแรงงานกลัว ไม่กล้าออกมากดดันให้ข้อเรียกร้องตนบรรลุเป้าหมาย”

 

นักสหภาพแรงงานฝ่ายประชาธิปไตยมีแผนรับมือกับสถานการณ์ภายใต้เผด็จการทหารอย่างไร?

“แผนรับมือ คือเราก็พยายามต่อต้านกันทุกรูปแบบ ตั้งแต่วันแรกงัดเอาเสื้อต้านรัฐประหารมาใส่กัน กระจายข่าวในเฟส และเตรียมตัวออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการณ์ แต่เราต้องทำแบบหลบๆซ่อนๆ จึงล่าช้า เราแอบแจกแถลงการณ์ในโรงงาน แอบวางตามห้องน้ำในห้างต่างๆ ย่านชานเมืองที่คนงานและคนทั่วไปไช้ และในต่างจังหวัดด้วย

เราไม่อยากถูกจับ เราไม่ต่างจากคนอื่น แต่สถานการณ์บ้านเราก็ต้องเดินหน้าแบบนี้ ไม่มีทางเลือกอื่น มัวกลัวก็คงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้”

 

ภาระข้างหน้าของสหภาพแรงงานควรจะเป็นอย่างไร? เพื่อร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยโดยรวม

“ถึงที่สุดในภายภาคหน้าเราคงต้องเข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยกับส่วนกลาง เพื่อให้เป็นพลังมากยิ่งขึ้น และคงต้องพยายามติดต่อ สร.ในเครือข่ายที่อยู่ ต่างประเทศให้ช่วยกดดันให้ทหารกลับที่เดิม และให้มีเลือกตั้ง ข้อเรียกร้องเราอยู่ในแถลงการณ์ที่แนบมา”

 

คนงานรากหญ้า สมาชิกทั่วไปในสหภาพ แคร์เรื่องรัฐประหารหรือไม่?

คนงานรากหญ้าทั่วไป เข้าใจเรื่องรัฐประหารค่อนข้างดีกว่าผู้นำด้วยซ้ำ เพราะมีบาง สร.ผู้นำเอาข้าวเอาน้ำไปให้ทหาร สมาชิกสหภาพแรงงานออกมาด่า ว่าจะไม่จ่ายเงินค่าสมาชิก และจะไม่ให้ความร่วมมือกับ สร.นั้นอีก หากกรรมการสร.ยังคงมีจุดยืนเช่นนี้ และคนงานหลายคนแจ้งมายังกรรมการบางคนว่าให้ช่วยนำเค้าออกไปเคลื่อนไหวต้านรัฐประหาร

 

กลุ่มคนงานต้านรัฐประหาร

กลุ่มคนงานต้านรัฐประหารจากย่านอุตสาหกรรมใกล้เคียงกรุงเทพฯ ออกแถลงการณ์ “ไม่เอารัฐประหาร” โดยประกาศจุดยืนว่าการทำรัฐประหารครั้งนี้ เป็นการกระทำที่เหยียบย่ำหัวใจผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั้งชาติ เป็นการกระทำที่ทำลายประชาธิปไตย ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และปิดกั้นการรวมตัวของประชาชน ซึ่งรวมถึงเสรีภาพของสหภาพแรงงานที่ในภาวะปกติถูกขัดขวางโดยนายจ้างอยู่แล้ว

กลุ่มคนงานต้านรัฐประหาร ยืนยันว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาขบวนการแรงงานมีส่วนสำคัญในการต่อต้านรัฐประหารและระบบเผด็จการ และหลังรัฐประหารหลายครั้งมีการออกกฎหมายที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพของชนชั้นผู้ทำงาน

กลุ่มคนงานต้านรัฐประหารอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก เมื่อเห็นแรงงานซีกหนึ่งไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มมอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ และ การโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

กลุ่มคนงานต้านรัฐประหารมีจุดยืนห้าข้อดังนี้คือ

  1. เรียกร้องให้ ยกเลิกกฎอัยการศึกทันที
  2. คัดค้านการทำรัฐประหาร
  3. เรียกร้องให้คืนอำนาจให้ประชาชนทันที
  4. เรียกร้องให้ปล่อยตัวประชาชนที่ถูกจับ
  5. คัดค้านการที่ทหารจะนิรโทษกรรมตัวเอง

เชิญอ่านรายละเอียดของแถลงการณ์ที่แนบมาเป็นภาพ….

WDeclaration

ในเมื่อ นปช. หมด สภาพในการนำ เราต้องนำตนเอง ขอเสนอรูปธรรม

ในเมื่อ นปช. หมด สภาพในการนำ เราต้องนำตนเอง ขอเสนอรูปธรรม

ใจ อึ๊งภากรณ์

ภาพและคำพูดของแกนนำ นปช. หลังได้รับการปล่อยตัว น่าจะพิสูจน์อย่างเบ็ดเสร็จว่าแกนนำ นปช. ไม่เหลืออะไรที่จะเรียกได้ว่าเป็น “การนำการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”

10338328_304793299680036_7612601805905138898_n

     พวกเราหลายคนไม่แปลกใจ เพราะตั้งแต่การพูดเชิงรุกสู้ที่ราชประสงค์ในปี 2553 ซึ่งรวมถึงการโม้ถึง “ทหารแตงโม” แต่จบด้วยการยอมจำนน เราก็เห็นชัดว่าไม่มีความสามารถในการนำขบวนการ ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราอยากเห็นคนตายเพิ่ม ไม่ใช่ แต่สิ่งที่เราอยากเห็นคือการเปลี่ยนและขยายยุทธวิธีในการเคลื่อนไหว เช่นการสร้างสายสัมพันธ์กับขบวนการแรงงาน และการวางแผนไปสู่การนัดหยุดงาน การสร้างเครือข่ายเคลือ่นไหวในต่างจังหวัด เพื่อการยึดสถานที่สำคัญเป็นระยะๆ หรือการปิดร้านค้าไม่ไปทำงานในบางเมือง โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีคนเสื้อแดงจำนวนมากเป็นต้น แต่ในปี 2553 และจนถึงทุกวันนี้แกนนำ นปช. เขาไม่ทำ

ตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้รับการเลือกตั้งในปี2554 แกนนำ นปช. มองว่าเสื้อแดงต้องเป็นแค่กองเชียร์ให้รัฐบาลเพื่อไทยเท่านั้น และในขณะที่ยิ่งลักษณ์และทักษิณพยายามจูบปากกับประยุทธ์ และขยับไปสู่การนิรโทษกรรมทหารและนักการเมืองประชาธิปัตย์ที่ฆ่าเสื้อแดง ขยับไปสู่การทอดทิ้งเพื่อนที่ติด 112 ในคุก ขยับไปใช้ 112 เพิ่มขึ้น และไม่ทำอะไรเลยเพื่อปฏิรูปให้การเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แกนนำ นปช. ก็คอยชักชวนให้คนเสื้อแดงนิ่ง ไม่มีการเรียนรู้สรุปบทเรียนจากอดีต ไม่มีการวางแผนสร้างเครือข่ายเพื่อปกป้องประชาธิปไตยแต่อย่างใดเลย มีแต่คำพูดวนซ้ำเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง

เมื่อมีการข่มขู่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ แกนนำ นปช. ก็โอ้อวดว่าถ้ามีรัฐประหาร เขาจะ “ยกระดับการต่อสู้ไปถึงที่สุด” พร้อมกันนั้นก็นิ่งเฉยต่อการคุกคามสังคมโดยม็อบสุเทพ โดยอ้างว่าถ้าออกมาคัดค้านจะทำให้ทหารสามารถทำรัฐประหารได้

แต่การจูบปากทหารในปี 2554 และการนิ่งเฉยตลอดมา ก็ไม่ได้ห้ามไม่ให้รัฐประหารเกิดขึ้น และเมื่อมันเกิดก็เห็นชัดว่า นปช. ไม่มีแผนอะไรที่จะรับมือ ไม่มีการยกระดับการต่อสู้เลย จนตอนนี้ก็ไปยอมแพ้ แต่เสื้อแดงธรรมดาและพลเมืองรักประชาธิปไตยยังไม่แพ้

บางคนอาจเถียงว่า แกนนำ นปช. ไม่มีทางเลือกอื่น “นอกจากจะพาคนไปตาย” จึงต้องยอม เราต้องโต้กลับไปว่า มันมีทางเลือกอีกมากมาย และในรูปธรรมพลเมืองไทยผู้กล้าหาญจำนวนมากได้พิสูจน์ว่ามีทางเลือก

กลุ่มคนที่ประท้วงรัฐประหารอย่างต่อเนื่องในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และที่อื่น พิสูจน์ว่าเราไม่จำเป็นต้องยอมจำนนต่อทหาร และในกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวต้านรัฐประหาร มีนักสหภาพแรงงานร่วมอยู่ด้วย ซึ่งพิสูจน์ว่าการเชื่อมกับแรงงานไม่ใช่แค่ความเพ้อฝัน

จาตุรนต์ ฉายแสง ก็พิสูจน์เป็นรูปธรรมว่า ยิ่งลักษณ์ และคนอื่น ไม่จำเป็นต้องคลานเข้าไปรายงานตัว ซึ่งยิ่งลักษณ์คงได้รับคำแนะนำตรงนั้นจากทักษิณ จาตุรงค์ พิสูจน์ว่าแกนนำมีศักดิ์ศรีได้ และให้กำลังใจผู้รักประชาธิปไตยได้

หลายคนที่หลบหนีลงใต้ดิน เพราะไม่ยอมไปรายงานตัว และอาจหาทางข้ามพรมแดนออกไป ก็พิสูจน์ว่าแนกนำ นปช. บางคน มีทางเลือกอื่นเช่นกัน นอกจากจะยอมแพ้

ท่ามกลางกระบวนการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนสังคมทั่วโลก มันเป็นเรื่องธรรมดาที่แกนนำเก่าหมดสภาพ ถูกพิสูจน์ว่ามือไม่ถึง แล้วมีแกนนำใหม่เข้ามาแทนที่ผ่านการพิสูจน์ความสามารถในรูปธรรม

เสื้อแดงเป็นล้าน และพลเมืองอื่นๆ ที่รักและหวงประชาธิปไตย จะไม่ยอมแพ้ และจะโกรธแค้นกับการทำลายประชาธิปไตยมาอย่างเป็นระบบในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา

ประเด็นคือ พวกเราที่ต้องนำตนเองจะสู้อย่างไร? เพราะทหารมันประกาศแล้วว่ามันจะคุมอำนาจต่อไปยาว และจะปฏิกูลการเมืองในเวลานั้นเพื่อลดเสียงประชาชน

การต่อสู้แบบนำตนเอง นัดเอง มาเอง มีความสำคัญยิ่งในสถานการณ์เฉพาะหน้าปัจจุบัน เพราะทหารปราบยาก แต่เราทุกคนต้องถามตนเองว่าทำต่อไปแบบนี้ได้นานเท่าไร ก่อนที่จะเหนื่อยและเบื่อ?

เราจึงมีความหวังว่าผู้ปฏิบัติการระดับรากหญ้าทั้งหลาย จะหันหน้าเข้าสู่กัน เพื่อสร้างเครือข่ายต้านรัฐประหารในรูปแบบองค์กร ประสานการเคลื่อนไหวและต่อสู้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ในขณะที่คงไว้แกนนำหลากหลาย หลายหัว อย่างที่เขาเคยทำในอียิปต์

ที่สำคัญคือควรมีการนัดคุยกันระหว่างตัวแทนกลุ่มต่างๆ แบบไม่เปิดเผย อย่างต่อเนื่อง เพื่อถกเถียงทำความเข้าใจกับภาพรวมทางการเมือง และเพื่อกำหนดแนวทางการต่อสู้ ซึ่งต้องเชิญกลุ่มอื่นๆ มาร่วมมากขึ้นตลอด ไม่มีการกีดกันใคร ต้องออกไปหาสหภาพแรงงานและกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดต่างๆ โดยมีกติกาการประชุมง่ายๆ เพื่อไม่ให้มีความเป็นอาวุโส ทุกคนเท่าเทียมกัน

สิ่งที่เราน่าจะเข้าใจได้แล้วคือ มันต้องสู้ระยะยาว ต้องมีแผน และต้องมีองค์กรเคลื่อนไหวที่เหมาะสมกับภาระทางสังคมอันนี้

พรรคเสือดำในสหรัฐอเมริกา

พรรคเสือดำในสหรัฐอเมริกา

ใจ อึ๊งภากรณ์

ในเดือนตุลาคม 1966 ที่เมืองโอคแลนด์ รัฐคาลิฟอร์เนีย ฮิววี่ นิวตัน กับ บอบบี้ เสียล์ ได้ก่อตั้ง “พรรคเสื้อดำเพื่อการปกป้องตนเอง” สำหรับคนผิวดำ ต่อมาหกเดือนหลังจากนั้น มีการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ “เสื้อดำ” ฉบับแรก

10312076_10152419982264925_1175205723_n

     พรรคเสื้อดำได้รับมรดกความคิดจากนักเคลื่อนไหวผิวดำชื่อ มัลคอม เอกซ์ ซึ่งถูกยิงตายในปี 1965 คนผิวดำเป็นกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยุคทาสจนถึงทุกวันนี้ และนามสกุลของหลายคนมาจากพวกเจ้าทาส มัลคอม จึงเปลี่ยนนามสกุลตนเองเป็น “X”

มัลคอม เอกซ์ เคยเป็นอันธพาลที่ติดคุก แต่ในคุกเขาไปเข้ากับกลุ่มคนผิวดำที่ต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยที่มีการปฏิเสธศาสนาคริสต์และสังคมของคนผิวขาว หลายคนหันไปรับศาสนาอิสลามและพยายามสร้างสังคมเฉพาะสำหรับคนผิวดำ แนวความคิดที่ปฏิเสธการร่วมมือกับคนผิวขาวทุกคน มีส่วนคล้ายๆ แนวคิดของพวกสิทธิสตรีบางสายที่มองว่าผู้ชายทุกคนกดขี่ผู้หญิงทุกคนและผู้หญิงต้องจัดตั้งแยกจากชาย

มัลคอม เอกซ์ เปลี่ยนแนวคิดจากแนวเดิม โดยเริ่มมองว่าคนผิวดำกับคนผิวขาวในระดับล่างควรร่วมกันต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม เขาเริ่มสนใจแนวคิดสังคมนิยม และเน้นเสมอว่าคนผิวดำมีสิทธิ์ใช้กำลังป้องกันตนเอง ถ้าถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือพวกเหยียดสีผิว มัลคอม เอกซ์ เป็นส่วนหนึ่งของกระแส “พลังดำ” ที่เน้นว่าคนผิวดำจะไม่เป็นเหยื่ออีกต่อไป นักกิฬาผิวดำสองคนที่ได้เหรียญทองในการแข่งโอลิมปิค แล้วชูกำปั้นที่สวมถุงมือดำในพิธีรับเหรียญ ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสนี้ นักมวยชื่อดัง มูฮัมมัด อาลี ที่เปลี่ยนชื่อตนเองจาก “ชื่อทาส” เดิม แล้วหันมานับถืออิสลาม ก็ไม่ยอมไปรบในสงครามเวียดนาม เพราะมองว่าเป็นสงครามของรัฐผิวขาว และคนเวียดนามไม่เคยกดขี่ดูถูกคนผิวดำแบบเขา

ถ้าจะเข้าใจที่มาของพรรคเสื้อดำ เราต้องดูประวัติการต่อสู้ของคนผิวดำหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐทำให้คนผิวดำที่เคยทำงานในชนบทเป็นหลัก ย้ายเข้าไปทำงานในเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ทางเหนือ ซึ่งการรวมตัวกันของคนผิวดำแบบนี้ สร้างความมั่นใจเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ในปี 1955 มีการเปิดประเด็นโดย โรซา พาร์กส์ สตรีผิวดำที่ไม่ยอมนั่งทางด้านหลังของรถเมล์ ซึ่งเป็นส่วนของรถเมล์ที่คนผิวดำเคยถูกบังคับให้นั่ง สังคมสหรัฐในยุคนั้นกดขี่คนผิวดำโดยการบังคับให้ต้องใช้ชีวิตแยกกัน และแน่นอนคนผิวดำได้รับการบริการที่แย่ที่สุดเสมอ การประท้วงของ โรซา พาร์กส์ ซึ่งเป็นผู้หญิงฝ่ายซ้ายที่ใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นการจุดประกายให้เกิด “ขบวนการสิทธิพลเมือง” ที่นำโดยนักศึกษาผิวดำและผิวขาว และมี มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง เป็นแกนนำด้วย ต่อมา มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง เริ่มหันไปสนใจประเด็นอื่นๆ เช่นการคัดค้านสงครามเวียดนามและความเหลื่อมล้ำทางสังคมทุกด้าน แต่เขาไม่ทันพัฒนาความคิดไปถึงสังคมนิยมเพราะถูกยิงตาย

10306828_10152419982239925_1501304398_n10318769_10152419982244925_2015312474_n

     “ขบวนการสิทธิพลเมือง” เน้นการต่อสู้แบบสันติวิธี แต่ทุกครั้งที่ลงบนท้องถนนก็จะต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงสุดขั้วจากตำรวจ นี่คือสาเหตุที่นักกิจกรรมหลายคนเริ่มปฏิเสธแนวสันติวิธี และเสนอให้สู้ด้วยอาวุธเพื่อป้องกันตนเองในกรณีที่ถูกคุกคาม หนึ่งในนั้นคือ สโต๊คลี คอร์ไมเคิล ที่เป็นอดีตนักศึกษาที่เคยใช้สันติวิธี แต่ขึ้นมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของพรรคเสือดำในปี 1968 บ่อยครั้งจะเห็นผู้ปฏิบัติการของพรรคเสือดำถือปืนยาวยืนตรวจสอบพฤติกรรมของตำรวจต่อประชาชนผิวดำในสถานการณ์ประจำวัน พรรคเสือดำนำหนังสือปกแดงของ เหมา เจ๋อ ตุง ไปขายในมหาวิทยาลัย เพื่อหาทุนซื้ออาวุธ และหนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือที่สมาชิกพรรคต้องอ่าน

ในปี 1965,66,67 และ68 มีการลุกฮือของคนผิวดำในเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐ กรณีหลังสุดมีการเผาเมืองต่างๆ เมื่อ มาร์ทิน ลูเทอร์ คิง โดนยิงตาย

ภายในพรรคเสือดำมีการถกเถียงอย่างถึงที่สุดว่าควรจะมีการร่วมมือกับคนผิวขาวหรือไม่ และความขัดแย้งทางความคิดภายในพรรคอันนี้ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง

พรรคเสือดำขยายสมาชิกและสาขาไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีคนงานผิวดำจำนวนมาก และพรรคมีนโยบาย 10 ข้อที่เป็นเป้าหมายในการต่อสู้คือ

1. เสรีภาพสำหรับคนผิวดำ เพื่อให้มีสิทธิ์กำหนดชีวิตตนเอง

2. ต้องมีการสร้างงานสำหรับทุกคน ถ้านายทุนผิวขาวไม่ยอมสร้างงานให้คนผิวดำอย่างทั่วถึง ต้องยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของชุมชนคนผิวดำ

3. รัฐเหยียดสีผิวของอเมริกาต้องยกเลิกการปล้นคนผิวดำ

4. ต้องมีการสร้างบ้านที่อยู่อาศัยให้เพียงพอ ผ่านการสร้างสหกรณ์และการรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ

5. ต้องมีระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กผิวดำ

6. คนผิวดำต้องไม่ถูกเกณฑ์ทหาร

7. ตำรวจต้องยุติความรุนแรงต่อคนผิวดำ และคนผิวดำควรถืออาวุธเพื่อป้องกันตนเอง

8. ให้ปล่อยคนผิวดำออกจากคุก เพราะคุกสหรัฐเต็มไปด้วยคนผิวดำ

9. เมื่อคนผิวดำต้องขึ้นศาล ให้มีคณะลูกขุนที่ประกอบไปด้วยคนผิวดำ

10. คนผิวดำต้องการที่ดิน อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย การศึกษา เครื่องนุ่งห่ม ความยุติธรรม และสันติภาพ และถ้าจำเป็นต้องทำก็ควรมีสิทธิ์แยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกา

ในรูปธรรมมีการพยายามตั้งองค์กรในชุมชนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนจน ซึ่งคาดว่าสามารถเลี้ยงอาหารมื้อเช้าให้เด็กหนึ่งหมื่นคนในเมืองโอคแลนด์

จุดอ่อนมหาศาลของพรรคเสือดำคือ ไม่มีการเชื่อมโยงกับพลังชนชั้นกรรมาชีพ และเน้นการแยกจัดตั้งคนผิวดำกับคนผิวขาว ในแง่หนึ่งมันมาจากความพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์และฝ่ายซ้ายในสหรัฐท่ามกลางการปราบปรามในสงครามเย็น เพราะในอดีตฝ่ายซ้ายในสหรัฐเน้นสามัคคีคนชั้นล่างทุกสีผิว และเน้นการจัดตั้งคนงานในสหภาพแรงงาน การแยกตัวออกจากคนผิวขาวชั้นล่าง เป็นปฏิกิริยาต่อการเหยียดสีผิว โดยไม่มีการใช้แนวชนชั้นในการวิเคราะห์

ในสมัยนั้นมีองค์กรปฏิวัติของคนผิวดำหลายกลุ่มทั่วประเทศ เช่นในเมือง ดีทรอยท์ ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ที่สำคัญที่สุดในสหรัฐในยุคนั้น “สันนิบาตปฏิวัติของคนงานผิวดำ” เข้าไปจัดตั้ง “ขบวนการสหภาพแรงงานปฏิวัติ” ในหลายโรงงานของบริษัท ไครซ์เลอร์ จีเอ็ม และฟอร์ด องค์กรที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ DRUM ที่ย่อมาจาก “ขบวนการสหภาพแรงงานปฏิวัติโรงงานดอช” ดอช เป็นรถยี่ห้อหนึ่งที่ผลิตโดย ไครซ์เลอร์

“ขบวนการสหภาพแรงงานปฏิวัติ” ในเมืองดีทรอยท์ มีลักษณะเป็นสหภาพปฏิวัติสังคมนิยม แต่ใช้แนวลัทธิสหภาพ คือปฏิเสธการสร้างพรรค และใช้สหภาพแรงงานในโรงงานต่างๆ ที่อิสระต่อกัน เพื่อเป็นองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่“ขบวนการสหภาพแรงงานปฏิวัติ” ของเมืองดีทรอยท์ จะจัดตั้งแต่คนผิวดำเท่านั้น ไม่สนใจคนผิวขาวในโรงงานเดียวกัน แนวทางนี้มีจุดอ่อนมหาศาล เพราะไม่นำไปสู่ความสามัคคีของคนงานในโรงงานเดียวกัน แต่มันเป็นผลจากการที่สหภาพแรงงานระดับชาติของคนงานประกอบรถยนต์ UAW ไปจับมือกับนายจ้าง ผู้นำแรงงานก็เป็นหมูอ้วนกินเงินเดือนสูง และไม่ให้ความสนใจกับปัญหาแรงงานผิวดำเลย

พรรคเสือดำถูกทำลายโดยองค์กรติดอาวุธของรัฐ โดยเฉพาะตำรวจและ เอฟบีไอ ในช่วง 1970 มีการกลั่นแกล้งตั้งข้อหาเท็จกับแกนนำพรรค และส่งตำรวจเข้าไปยิงทิ้ง เจ เอดกา ฮูเวอร์ หัวหน้า เอฟบีไอ เคยกล่าวว่าพรรคเสือดำเป็นภัยสูงสุดต่อความมั่นคงของประเทศ ส่วน “ขบวนการสหภาพแรงงานปฏิวัติ” ก็ถูกนายจ้างทำลายหลังจากการนัดหยุดงานไม่สำเร็จ

10327231_10152419982249925_111355901_n

     อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของขบวนการปฏิวัติของคนผิวดำในสหรัฐในยุคนั้น และการลุกฮือต่อสู้ สร้างความหวาดกลัวเป็นอย่างมากในหมู่ชนชั้นนำ ดังนั้นมีการพยายามซื้อตัวคนผิวดำระดับกลาง เพื่อให้มีตำแหน่งทางการในรัฐ มีการแต่งตั้งคนผิวดำเป็นหัวหน้าตำรวจ นายพล ผู้พิพากษา และพนักงานรัฐระดับสูง บางคนมีโอกาสเรียนในมหาวิทยาลัย แต่สำหรับคนผิวดำส่วนใหญ่ เขาถูกทอดทิ้งและปล่อยให้ยากจนลงท่ามกลางสังคมแบบอาชญากรรมและยาเสพติด เราจะเห็นว่า โอบามา ประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของสหรัฐ และนักการเมืองผิวดำอื่นๆ เป็นผลพวงของนโยบายยุคนั้น

สำหรับนักต่อสู้รุ่นใหม่ในปัจจุบันทั่วโลก รวมถึงไทย การศึกษาบทเรียนของการลองผิดลองถูกของพรรคเสือดำและกลุ่มอื่นๆ เป็นประโยชน์สำหรับการต่อสู้ทุกวันนี้

[อ้างอิง http://www.marxists.org/history/usa/workers/black-panthers/

Dan Georgakas & Marvin Surkin (1998) “Detroit: I Do Mind Dying”. Red Words, London]

อียิปต์หลังการรัฐหาร (2)

อียิปต์หลังการรัฐหาร[i]
(2)
 
โดย Philip Marfleet
แปลและเรียบเรียงโดย นุ่มนวล  ยัพราช

วิกฤติของฝ่ายค้าน

ในอียิปต์นั้น มีความพยายามของฝ่ายซ้ายและกลุ่มฝ่ายค้านอื่นๆ ที่จะสร้างแนวร่วมขึ้นมาหลังจากเผด็จการมูบารัคถูกล้มไปแล้ว  แต่แนวร่วมดังกล่าวยังขาดประสิทธิภาพที่จะหาประเด็นร่วมที่สามารถเป็นข้อเรียกร้องยึดเหนี่ยวร่วมกันและมีปัญหาการแข่งการนำ แนวร่วมนี้ไม่สามารถตอบคำถามสำคัญๆ ที่เผชิญหน้าต่อการปฏิวัติได้  อย่างเช่น การขยายพื้นที่ประชาธิปไตย การรับมือกับทหาร หรือ การรับมือกับรัฐบาลมูซี่อย่างเป็นรูปธรรม  ประเด็นการเมืองระหว่างประเทศที่มีความสำคัญๆ เช่น กรณีประเทศปาเลสไตน์ แนวร่วมฝ่ายซ้ายยังขาดเวทีหารือระดับชาติและองค์กรศูนย์กลางที่ทำหน้าที่ประสานงานเพื่อรวมข้อเสนอของส่วนต่างๆ เข้ามาเป็นเนื้อเดียวกัน

ฮาดีม ซาบบาฮี (Hamdeen Sabbahi) เป็นนักการเมืองอิสระในยุคเผด็จการมูบารัค และ มีความใกล้ชิดกับผู้นำสหภาพแรงงานอิสระก้าวหน้า คามอล อะบูอิตา (Kamal Abu-Eita) ในปี 2012 ซาบบาฮี ลงสมัครเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งเกือบชนะ มูซี่ ในรอบที่หนึ่งและได้รับคะแนนสูงกว่าคนของเผด็จการมูบารัค ซาบบาฮี ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างล้นหลามจากคนงานและมวลชนที่สนับสนุนการปฏิวัติ ซาบบาฮี กลายมาเป็นตัวหลักสำคัญในการเป็นฝ่ายค้านในช่วงรัฐบาลมูซี่ โดย ซาบบาฮี ได้สร้างแนวร่วมเพื่อแก้ปัญหาแห่งชาติ (National Salvation Front หรือ NSF) ในยุคที่มูซี่กำลังแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับตนเอง ซาบบาฮี ได้เรียกร้องให้กลุ่มแนวร่วมฝ่ายค้านต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ NSF เพื่อผนึกกำลังต่อต้านพรรคมุสลิมฯ ซาบบาฮี มีบทบาทสำคัญในการดึงและชักชวนให้ฝ่ายค้านต่างๆหันไปจับมือกับทหาร

หลังจากล้มรัฐบาลพรรคมุสลิมฯไปแล้ว หลายส่วนของฝ่ายค้านหันไปพึ่งพาทหารมากขึ้น ภายใต้คำมั่นสัญญาจากนายพล อัลซีซี่ ที่ต้องการสร้างเสถียรภาพและทำลายพรรคมุสลิมฯในทุกรูปแบบ ซึ่งข้อเสนอนี้ถูกต้อนรับโห่ร้องอย่างชื่นชมโดย นักธุรกิจ เครือข่ายอำนาจเก่าจากยุคเผด็จการมูบารัค ชนชั้นกลางและนักปฏิวัติผู้โกรธแค้นชิงชังพรรคมุสลิมฯ

หลังจากช่วงกลางปี 2013 กระแสนัดหยุดงานตกลง 60% ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการประกาศสภาวะฉุกเฉิน การประกาศเคอร์ฟิวส์ และการดักจับไม่เลือกหน้า แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็สะท้อนความอ่อนแอทางการเมืองในหมู่นักสหภาพแรงงานและแรงงานพื้นฐานซึ่งเป็นผลสะท้อนมาจากความอ่อนแอทางการเมืองโดยรวมของฝ่ายค้าน ซึ่งสะท้อนออกมาโดยที่ผู้นำแรงงานก้าวหน้าและกลุ่มเสรีนิยมเข้าไปร่วมมือในรัฐบาลชั่วคราวของรัฐบาลทหาร ภายใต้ข้อเรียกร้อง “เสถียรภาพ เคารพกฎกติตา และ ความสงบสุขทางสังคม” กองทัพได้ฉกฉวยความชอบธรรมทางการเมืองและองค์กรของมวลชนบนท้องถนน สร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง ให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่สามารถ “ทำลายการปฏิวัติ” ได้  โดยอ้างว่าทหารมีบทบาทในการนำและปกป้องการปฏิวัติ

หลังจากรัฐบาลของพรรคมุสลิมฯ ถูกล้มลงไปกองทัพ และซาบบาฮี ได้เบี่ยงเบนประเด็นปัญหาหลักๆที่กำลังเกิดขึ้นในอียิปต์ โดยอธิบายว่าอุปสรรคหลักที่ขัดขวางไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอียิปต์นั้นมีสาเหตุมาจาก “ภัยก่อการร้าย” จากพรรคมุสลิมฯ ฉะนั้นพรรคการเมืองต่างๆที่เหลืออยู่ควรจะสามัคคีกันเพื่อทำลายภัยร้ายแรงดังกล่าว

คามอล อะบูอิตา (Kamal Abu-Eita) ผู้นำแรงงานก้าวหน้าจากสหภาพแรงงานอิสระ ซึ่งมีความใกล้ชิดกับ ซาบบาฮี หลังจากรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานได้ออกแถลงการเรียกร้องให้คนงานเลิกนัดหยุดงาน เพื่อสนับสนุนช่วงรอยต่อของการสร้างชาติอียิปต์ขึ้นมาใหม่ มันเป็นที่ชัดเจนว่า อาบู-อิตา ผู้นำแรงงานอิสระซึ่งครั้งหนึ่งเคยก้าวหน้าได้ทรยศคนงานและหันไปปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มทุน นักลงทุน และ กองกำลังความมั่นคง

หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลของทหารได้ทำการปราบปรามฝ่ายพรรคมุสลิมฯ อย่างป่าเถื่อน มีการตรวจค้น และส่งคนเข้าคุกเป็นพัน บางส่วนของคณะรัฐมนตรีที่ครั้งหนึ่งเคยก้าวหน้าเลือกที่จะเงียบเฉย จากนั้นไม่นานนายพล อัลซีซี่ ได้เพิ่มยศให้ตัวเองเป็นจอมพล กองทัพสามารถฟื้นฟูตัวเองขึ้นมาได้มาจากสองสาเหตุหลัก คือ การใช้โครงสร้างเดิมในยุคเผด็จการมูบารัคที่ยังไม่ถูกทำลายลงไปและพลังบางส่วนของนักปฏิวัติ

ทหารและประชาชน

กองทัพอียิตป์รุ่นแล้วรุ่นเล่ามักจะอ้างความชอบธรรมจาก ประชาชน ชาติ และ การปฏิวัติ ในยุคของ กามอล อับเดล นัสเซอร์ ซึ่งเป็นผู้นำคนแรกหลังจากที่อียิตป์ได้รับเอกราช มีความพยายามทำรัฐหารประหารถึง 18 ครั้ง จาก 1952-1966 นัสเซอร์และกลุ่มทหารยังเตริกเอง ก็ทำรัฐหารต่อรัฐบาลราชวงศ์ที่สนับสนุนจักรวรรดิ์นิยมอังกฤษ ซึ่งกองทัพขณะนั้นก็อ้างว่า “รับใช้ประชาชน” ซึ่งกลายมาเป็นเครื่องมืออันทรงพลัง กองทัพกลายเป็นหัวหอกนำการปฏิวัติภายใต้ข้อเสนอของการมีอำนาจในการปกครองตนเอง นโยบายการปฏิรูปต่างๆ เช่น การปฏิรูปที่ดินถูกนำเสนอว่าเป็นความต้องการของมวลชน ตลอดยุคของนัสเซอร์ กองทัพและรัฐเป็นเงาซึ่งกันและกัน นัสเซอร์เองก็แสดงบทบาทผู้ที่ดูแลผลประโยชน์ของประชนชน

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2011 ที่มีการประท้วงต่อเนื่องและแหลมคม ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2011 เผด็จการมูบารัคถูกล้ม สัปดาห์นั้นมีการต่อสู้อย่างดุเดือดระหว่างมวลชนกับกองกำลังอันธพาล พร้อมๆกับเป็นช่วงที่สภาสูงสุดของกองทัพ (Supreme Council of the Armed Forces, SCAF) พยายามที่จะยึดอำนาจจาก เผด็จการมูบารัค โดยอ้างว่ากองทัพ กำลังปกป้อง ดูแลผลประโยชน์ของประชาชน และ ปกป้องความมั่นคงของชาติ ดูเหมือนความต้องการของกองทัพและประชาชาดูสอดคล้องกัน พวกนายพลก็อ้างความชอบธรรมจากบทบาทในอดีตของกองทัพยุคนัซเซอร์และกลุ่มยังเตริก กลายมาเป็นคำขวัญ “กองทัพและประชนชนคือกำปั้นอันเดียวกัน”

อ่านต่อตอนสุดท้ายฉบับหน้า

แปล และเรียบเรียงจาก : Egypt: after the coup  by Philip Marfleet , 2014, International Socialism, Issues 142 (http://bit.ly/1icp7Fa)

อียิปต์หลังการรัฐหาร (1)

โดย Philip Marfleet  แปลและเรียบเรียงโดย นุ่มนวล  ยัพราช

การที่ทหารขึ้นมามีอำนาจในเดือน กรกฏาคม 2013 นั้นนับเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมากสำหรับนักปฏิวัติอียิปต์ นายพล อับเดล ฟาตตาท เอลซีซี่ (Abdel-Fattah el-Sisi) อ้างว่ากำลังช่วยรื้อฟื้นการปฏิวัติ แต่ในความเป็นจริงนั้นมันเป็นการปฏิวัติซ้อน รูปแบบการปราบปรามอย่างป่าเถื่อนในยุคเผด็จการมูบารัคถูกนำกลับมาใช้เพื่อทำลายการปฏิวัติที่ถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 25 มกราคม 2011 มีการประกาศโทษประหารชีวิตนักกิจกรรมพรรคมุสลิมบราเธอฮูดถึง 529 คนในเวลาเดียวกัน

ขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เคยเบ่งบานในยุคหลังการปฏิวัติกำลังตกอยู่ในวิกฤติ อย่างไรก็ตามการปฏิวัตินั้นยังไม่ถูกทำลายไปเสียทีเดียว ขบวนการแรงงานยังเต็มไปได้ความมีชีวิตชีวาและไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ซึ่งสร้างความกังวัลให้กับกองทัพและพรรคพวกที่ต้องการสถาปนารัฐเผด็จการขึ้นมาใหม่ เพราะมันตอกย้ำว่าปัญหาที่ทำให้เกิดการปฏิวัติขึ้นมาตั้งแต่ต้นนั้นยังไม่ได้รับการถูกแก้ อีกทั้งวิกฤติเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงเพิ่มข้น ในเดือนมกราคมซึ่งเป็นเดือนครบรอบการปฏิวัติ มีการเพิ่มกองกำลังทหารและตำรวจตามจตุรัจต่างๆ อัลซีซี่ ได้ส่งสารไปถึงชาวอียิปต์ว่า “ตอนนี้ทหารคุม” ซึ่งครั้งหนึ่งมวลชนชาวอียิปต์เป็นเจ้าของ อย่างไรก็ตามการนัดหยุดงานอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งประเทศ ภายใต้ข้อเรียกร้องการเพิ่มค่าจ้างและทวงสัญญาต่างๆจากรัฐบาล มีการเรียกร้องให้ถอดถอนพวกผู้จัดการที่ตกค้างมาจากยุคเผด็จการมูบารัคและปัญหาการคอรัปชั่นต่างๆ

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 รัฐบาลของทหารนั้นแตกออกเป็นเสี่ยงๆ รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ตบเท้าลาออกเพราะทนแรงบีบไม่ไหวเพราะกองทัพต้องการเพิ่มระดับการควบคุมขบวนการแรงงาน ซึ่งไม่ยอมลดละเกี่ยวกับข้อเรียกร้องที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง ข้อเรียกร้องแรกของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เพิ่งแต่งตั้ง คือ เรียกร้องให้คนงานเลิกนัดหยุดนัดงาน ประท้วง และยึดโรงงาน เพื่อเปิดทางให้กับกระบวนการสร้างชาติ หัวหอกที่เป็นตัวหลักในคลื่นนัดหยุดงานคลื่นล่าสุด คือ หมอ เภสัชกร พนักงานขนส่งมวลชน ตำรวจ ผู้กินบำเน็จบำนาญ พนักงานไปรษณีย์ คนงานทอผ้า และ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ชนิดต่างๆ

หลังจากรัฐประหารในเดือนกรกฎาคม 2013 นายพลอัลซีซี่ เปิดแนวรบกับขบวนการแรงงานในหลายส่วน แต่ไม่มั่นใจพอที่จะรบกับคนงานรากหญ้าในสถานประกอบการต่างๆ สามารถปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขาได้พร้อมๆกับคนงานรากหญ้ากลายมาเป็นหัวใจสำคัญของการปกป้องการปฏิวัติ จุดนี้คือประเด็นสำคัญสำหรับฝ่ายซ้ายว่าเราจะวิเคราะห์ประเด็นที่ฝ่ายเราถูกทำลาย และ เราจะตอบโต้กลับไปอย่างไร ในขณะที่นักกิจกรรมโดยส่วนใหญ่ยังสับสนกับพัฒนาการล่าสุด การวิเคราะห์ที่แหลมคมตรงกับความเป็นจริงเป็นสิ่งจำเป็น ประเด็นหนึ่งที่จะมองให้ทะลุคือ ความต้องการของกองทัพและนักการเมือง กับ ความเป็นไปได้ของพลังการกดดันจากข้างล่างเพื่อผลักดันการปฏิวัติ

รัฐประหารและระดับการกดขี่

หลังจากเผด็จการมูบารัคล้มลงไปใหม่ๆ สภาสูงสุดของกองทัพ ( Supreme Council of the Armed Forces (SCAF)) ได้ทำข้อตกลงกับพรรคมุสลิมฯ ก่อนการเลือกตั้ง  โดยพรรคมุสลิมฯจะต้องฟื้นฟูสถานการณ์ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุดโดยเฉพาะการควบคุมขบวนการแรงงาน และปกป้องผลประโยชน์ของกองทัพทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ พรรคมุสลิมฯ ถูกพิสูจน์ว่าล้มเหลวในการสร้างเสถียรภาพพร้อมๆกับไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของมวลชนหลังการปฏิวัติได้ สถานการณ์ย่ำแย่เพิ่มขึ้นเมื่อพรรคมุสลิมฯออกนโยบายที่ให้ผลประโยชน์กับพวกพ้องตัวเอง การกระทำดังกล่าวได้สร้างความโกรธแค้นให้กับมวลชนอย่างมาก  ในช่วงต้นปี 2013 จำนวนการนัดหยุดงาน ยึดโรงงานมีจำนวนสูงมากเป็นประวัติศาสตร์ ขบวนการแรงงานอิสระเต็มไปด้วยความมั่นอกมั่นใจ ผนวกกับปัญหาไฟดับ ขาดแคลนเชื้อเพลิง และ ราคาปัจจัยพื้นฐานในการอุปโภคถีบตัวสูงขึ้น อารมณ์ความไม่พอใจทำให้เพิ่มความระอุของการต่อสู้ทางการเมือง แม้กระทั่งตำรวจก็นัดหยุดงาน ในสภาวะการณ์ที่เต็มไปด้วยวิกฤติเช่นนี้ นายพลอัลซีซี่ พยายามที่จะแยกตัวออกมาจากมูซี่ และมองหากลไกใหม่ๆที่จะปกป้องสถาบันหลักๆของรัฐเผด็จการที่เหลืออยู่พร้อมๆ กับพยายามกู้คืนความเสียหายของกลุ่มทุนในอียิปต์โดยรวม

 กลุ่มทางการเมืองในอียิปต์หลังการปฏิวัตินั้นมีอยู่หลายกลุ่ม ประกอบไปด้วยพรรคการเมืองชนิดต่างๆ แนวเสรีนิยม มุสลิม สังคมนิยม  กลุ่มเครือข่ายอำนาจเดิม กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มข้าราชการชั้นสูง กลุ่มศาล โดยเฉพาะกลุ่มหลังๆนี้เกลียดและต้องการทำลายการปฏิวัติ สถานการณ์ทางการเมืองได้ก้าวมาถึงจุดที่กลุ่มต่างๆเหล่านี้และกลุ่ม Tamarod สามารถมีข้อเรียกร้องร่วมกัน คือ “มูซี่ ออกไป!” กลุ่ม ทามารอด (Tamarod แปลว่า การขบถ) เป็นกลุ่มรณรงค์ทางการเมืองมีฐานสำคัญอยู่บนท้องถนน พอ Tamarod เรียกร้องให้มูซี่ลาออก กองทัพก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหวอยู่ข้างหลังTamarod ทันที ในวันที่ 30 มิถุนายน 2013  ซึ่งเป็นวันประท้วงใหญ่ระดับชาติ ภายใต้การผลักดันโดยกลุ่ม Tamarod มีมวลชนเข้าร่วมมหาศาล ถึงตอนนี้กองทัพฉวยโอกาสเข้าแทรกแซงการประท้วงอย่างเปิดเผย โดยกองทัพสั่งให้มูซี่ทำตามคำสั่งของประชาชน ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น มามอล บาด (Mahmoud Badr) ได้ออกมาเรียกร้องให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงเพื่อล้มมูซี่ โดยอ้างว่า “กองทัพมีประวัติศาสตร์อยู่เคียงข้างประชาชน”ถึงตอนนี้ Tamorod หมดสภาพเป็นองค์กรรณรงค์ทางการเมืองแต่กลายมาเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับกองทัพ จากนั้นไม่นาน มามอล และ แนวร่วมฝ่ายค้านก็ได้เข้าไปเจรจากับกองทัพที่สำนักงานใหญ่ของหน่อยสืบข้าราชการลับ กองทัพประสบความสำเร็จในการทำลายความเข้มแข็งของขบวนการปฏิวัติผ่านการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการประท้วง

ขบวนการประท้วงที่ประสบความสำเร็จในช่วงต้นนั้นประกอบไปด้วย ขนาดของมวลชนที่เข้าร่วม ความมีชีวิตชีวา และ การประท้วงที่ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามภายใต้รูปแบบดังกล่าวมันได้ทิ้งปัญหาไว้หลายประการ เช่น การขาดองค์กรทางการเมืองของมวลชนที่มีประสบการณ์สามารถรักษาเป้าหมายการปฏิวัติและผลักดันการปฏิวัติให้ไปข้างหน้าได้ มวลชนและนักวิชาการบางส่วนมองว่าการไม่มีองค์กรนั้นเป็นจุดแข็งของขบวนการปฏิวัติ เพราะการไม่มีองค์กรศูนย์กลางและผู้นำ จะช่วยขยายการเข้ามามีส่วนร่วมของมวลชน ลดช่องว่าที่พรรคการเมืองแบบเดิมจะเข้ามามีอิทธิพล กลุ่มต่างๆ ในขบวนการปฏิวัตินั้นตั้งขึ้นมาเพื่อการรณรงค์ที่เฉพาะเจาะจงไม่เน้นการมีเรียกร้องร่วม เฉกเช่นในรูปแบบของพรรคการเมือง สหภาพแรงงาน หรือ กลุ่มย่าน

แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2011  ขบวนการประท้วงได้เรียกร้องให้สภาพแรงงานเข้าร่วมเพื่อเพิ่มหลักประกันในชัยชนะของการล้มเผด็จการมูบารัค ขบวนการประท้วงขณะนั้นมีความเข้มแข็งมาก คนงานรากหญ้าเริ่มผลักประเด็นไปข้างหน้า ผันประสบการณ์จากการเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองไปสู่การนัดหยุดงานทำให้นายจ้างและรัฐบาลหยุดชะงัก กระแสสูงการนัดหยุดงานในช่วงกลางปี 2013 เพิ่มความกังวลให้ทหารจนต้องออกมาแทรกแซง การที่ Tamarod หมกมุ่นอยู่กับความโกรธแค้นจากการทรยศของพรรคมุสลิมฯ ไปเพิ่มความได้เปรียบให้กับฝ่ายอำนาจเก่าที่เกลียดการปฏิวัต พวกนี้ได้ฉวยโอกาสใช้มวลชนบนท้องถนนเพื่อทำการปฏิวัติซ้อนและทำลายความเข้มแข็งของขบวนการประท้วงในที่สุด (อ่านต่อตอนที่สอง ฉบับหน้า)

บทความนี้ แปลและเรียบเรียงบางส่วนจาก Egypt: after the coup  by Philip Marfleet , 2014, International Socialism, Issues 142 (http://bit.ly/1icp7Fa)

 

ก้าวต่อไปในการต่อสู้

เราขอสดุดีผู้กล้าหาญทุกคนที่ออกมาต่อต้านรัฐประหาร การต่อสู้รอบนี้คงใช้เวลา แต่เราต้องสู้อย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการต่างๆ ที่หลากหลาย ที่สำคัญคือต้องพยายามขยายกระแส ไปสู่ทุกภาคส่วน ต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

แต่เราต้องฉลาดในการต่อสู้ ต้องเข้าใจยุทธวธีที่มีประสิทธิภาพ เพราะแค่การใช้ “อารมณ์” คงอยู่ได้ไม่นาน

การต่อสู้แบบนำตนเอง นัดเอง มาเอง มีความสำคัญยิ่งในสถานการณ์เฉพาะหน้าปัจจุบัน เพราะไม่หวังพึ่งแกนนำ นปช. ที่หมดสภาพในการนำนานแล้ว มันเป็นการแสดงจุดยืนนำตนเอง ไม่พึ่งทักษิณด้วย เพราะทักษิณไม่มีความคิดจะสู้แบบที่จะถอนรากถอนโคนอำนาจทหารหรืออำมาตย์เลย เขาต้องการสู้แบบกดดันให้เขาสามารถกลับมามีบทบาทเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้เราจะสู้แบบ นำตนเอง นัดเอง มาเอง ไปนานๆ ไม่ได้ มันจะค่อยๆ ลดพลังลง ดังนั้นเราต้องหาทางทำงานร่วมกันในรูปแบบองค์กร ประสานการเคลื่อนไหวและต่อสู้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ในขณะที่คงไว้แกนนำหลากหลาย หลายหัว เพราะจะรักษาความเป็นประชาธิปไตยในองค์กร และทำให้ปราบยากขึ้น ที่สำคัญคือควรมีการนัดคุยกันระหว่างตัวแทนกลุ่มต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อถกเถียงทำความเข้าใจกับภาพรวมทางการเมือง เพื่อกำหนดแนวทางการต่อสู้ ต้องเชิญกลุ่มอื่นๆ มาร่วมมากขึ้นตลอด ไม่มีการกีดกันใคร โดยมีกติกาง่ายๆ ในการประชุม เพื่อไม่ให้ใครครอบงำ

เราต้องทำงานเป็นระบบเหมือนฝ่ายตรงข้าม ที่ทหารทำงานร่วมกับองค์กรอิสระ ศาล ม็อบนกหวีด พรรคปชป.กันเป็นอย่างดี

เราต้องให้ความสำคัญในการเชิญกลุ่มสหภาพแรงงานแดงและสหภาพแรงงานที่รักประชาธิปไตยมาร่วม สหภาพแรงงานดังกล่าวต้องพยายามทำความเข้าใจกับสมาชิกว่าทำไมเราต้องสู้แบบ “การเมือง” กับอำนาจเผด็จการ และในอนาคน ถ้าสร้างกระแสได้ เราควรพิจารณาการนัดหยุดงาน แต่ต้องทำงานการเมืองพื้นฐานก่อนอย่างเร่งด่วน

ในช่วงอนาคต เรามองไม่เห็นทางที่คณะรัฐประหารจะใช้ ในการแก้ปัญหาสังคม ในการลดความขัดแย้ง ตามที่เขาอ้าง มันจะแก้ได้ยังไง อันนี้เนื่องมาจากสังคมที่พัฒนาไปมาก มากเสียจนคนรุ่นใหม่ แทบจะนึกภาพไม่ออกว่าสังคมที่มีประชาธิปไตยครึ่งใบ สังคมที่มีการควบคุมสื่อ สังคมที่มีการห้ามคนมีความเห็น มันมีหน้าตาอย่างไร คนจะทนกับสภาพเช่นนี้ได้นานแค่ไหน และคนส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้สนับสนุนทหารและพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด อย่าให้สื่อมวลชนภายใต้ตีนทหารกล่อมให้เราหดหู่ เราต้องมีช่องทางสือแนวคิดระหว่างกันเอง การพบกันเป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญ การใช้โซเชียลมีเดียก็สำคัญ แต่ต้องทำหลายอย่าง ไม่ใช่แค่พึ่งอินเตอร์เน็ต

ในระยะสั้น ทหารอาจจะสร้างภาพว่าคุมสังคมได้ด้วยกระบอกปืน แต่ภายใต้ภาพหลอกลวงนี้ประชาชนโกรธแค้นและไม่ยอมรับทหาร เราอาจไปประท้วงทุกวันไม่ได้ เพราะต้องไปทำงานหรือเรียนหนังสือ แต่เราต้องมีกิจกรรมต่อเนื่อง

ในระยะยาว ทหารจะไม่สามารถแบกความต้องการที่หนักหนาซับซ้อนของประชาชนได้ ความต้องการ ข้อเรียกร้องของทั้งฝ่ายสนับสนุนรัฐประหาร และฝ่ายคัดค้าน จะเพิ่มมากขึ้น ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ ที่มีความขัดแย้งกันอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดทั่วไปในทุกสังคม

และสุดท้าย เราไม่ควรลืมเพื่อน ต้องรณรงค์ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองโดยไว ไม่ใช่ปล่อยให้ถูกลืมและเป็นเหยื่อของการเจรจา อย่างที่พรรคเพื่อไทยเคยทำ

มันเป็นรัฐประหารชัดๆ

สำหรับคนที่คิดว่ามันไม่ใช่รัฐประหาร หรือรัฐประหารครึ่งใบ เพราะทหารไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญหรือล้มรัฐบาล อย่าลืมว่า ทหารมันเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแต่แรกและศาลห้ามแก้ด้วย มันจะไปฉีกทำไม? และตอนนี้รัฐบาลหมดสภาพตั้งแต่รัฐประหารโดยศาล ต้องถือว่าไม่มีรัฐบาลจริง ไม่มีอะไรให้ล้ม

สำหรับคนที่หลงเชื่อว่าทหารจะ “รักษาความสงบ” เพื่อจัดการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตย โปรดทบทวนความคิด เพราะทหารเข้าไปยึดและปิดสื่อ ทหารเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ด ปิดเวป ทหารสั่งเจ้าหน้าที่รัฐให้มารายงานตัว ทหารบุกร้านหนังสือและสั่งให้เอาหนังสือการเมืองออก ครั้งก่อนที่ทหารเคยบุกร้านหนังสือหรือห้องสมุดเพื่อยึดและเผาหนังสือก็คือเหตุการณ์นองเลือด  ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ตอนนี้มีการจับคุมเสื้อแดงบางคน แต่ปล่อยให้อันธพาลม็อบสุเทพ ที่ก่อความไม่สงบแต่แรก และล้มการเลือกตั้งลอยนวล

มีแนวโน้มสูงมาก ที่จะมีนายกแต่งตั้งเพื่อชลอการเลือกตั้งออกไป กกต. เสนอว่าอาจต้องรอสองปีก่อนเลือกตั้ง การปฏิรูปกองทัพ องค์กรอิสระ ศาล จะไม่มีทางเกิดขึ้น

นปช จะยอมรับหรือไม่ เพื่อไทย จะยอมรับหรือไม่ ตรงนี้คิดว่ามีคำตอบแล้วคือคงยอมรับ เพราะเพื่อไทยปลิ้มกับรัฐประหาร และนปช. ก็ไปคุยกับทหาร      คนเสื้อแดง จะยอมรับหรือไม่ ถ้าไม่ แล้วจะสู้อย่างไร  ถ้ายอม ก็คงต้องฝึก อยู่เป็นควายให้เขาเหยียบย้ำ

แต่อย่าลืมว่าสังคมไทยมันเปลี่ยนไปแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการและการ “ปิดกั้นสื่อ” แบบว่านอนสอนง่ายอีกต่อไปแล้ว ประเด็นคือเขารอให้มีการนำ เพื่อปกป้องประชาธิปไตย ดังนั้นอย่ามาอ้างว่าประชาชนยอมจำนน เพื่อปกปิดการยอมจำนนของแกนนำ

 

 

 

สังคมไทยหลังวิกฤตการเมืองรอบนี้

วิกฤตการเมืองรอบนี้ ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์คนอื่นๆ รวมมือกับเครือข่ายพันธมิตรเดิม และองค์กรอิสระ มีกองทัพหนุนหลัง กับฝ่ายประชาธิปไตย ที่นำโดย นปช และพรรคเพื่อไทย ร่วมมือกับฝ่ายประชาธิปไตยอื่นๆ ยิ่งผ่านคืนวันไปนานเท่าไร ภาพของสังคมไทยยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

ภายใต้ ความชัดเจนเช่นว่านั้น ท้ายที่สุดแล้ว มันเป็นภาพชัดเจนแบบที่เราคิด ที่เราเห็นหรือไม่ เมื่อวิกฤตการเมืองครั้งนี้ยุติลง มีฝ่ายแพ้ ชนะ ก็คงต้องลองมาพิจารณาสร้างตัวแบบดู ว่าฝ่ายหนึ่ง ฝ่ายใด ชนะ ภาพสังคมไทยหลังจากนี้จะเป็นเช่นไร ภายใต้ข้อมูลที่เราได้รับรู้กัน ณ ปัจจุบันนี้

ฝ่ายอำมาตย์ ชนะเบ็ดเสร็จ

ฝ่ายอำมาตย์ ประกอบไปด้วยใครบ้าง ท่านทั้งหลายก็พอจะทราบแล้ว แต่จะขอรวบรวมให้เห็นภาพชัดๆ อีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายหนึ่ง ก็นำโดยอดีตทหารฝ่ายขวา ฝ่ายหนึ่งก็นำโดยผู้นำกองทัพ ฝ่ายหนึ่งก็นำโดยข้าราชการเก่า ใหม่ ฝ่ายหนึ่งก็นำโดย องค์กรยุติธรรม ฝ่ายหนึ่งก็นำโดย องค์กรอิสระ ฝ่ายหนึ่งก็นำโดย นักการเมืองประชาธิปัตย์ ฝ่ายหนึ่งก็นำโดย เทคโนแครต ฝ่ายหนึ่งก็นำโดย นักธุรกิจใหญ่น้อย ฝ่ายหนึ่งก็นำโดยฝ่ายวิชาการ ผู้บริหารสถาบันการศึกษา

ทุกหน่วย ทุกองค์กร ของฝ่ายนี้ที่กล่าวมา เราจะพบเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยง อุปถัมภ์ ค้ำชู กันมาโดยตลอด ผ่านการเข้าไปมีอำนาจในองค์กรต่างๆ เหล่านี้ ฝ่ายหนึ่งแต่งตั้ง ฝ่ายหนึ่ง สลับสับเปลี่ยนกันไปมา ทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยกระบวนการทั้งหมด ไม่เกี่ยวข้องใดๆ เลยกับประชาชนพลเมืองของรัฐ ด้วยพวกเขาคิดว่า พลเมืองของรัฐนั้น ยังไม่ฉลาดพอ ยังหลงผิดติดอยู่บ่วงกรรมของความยากจน ที่ผลักดัน ให้วุฒิภาวะในการมีส่วนร่วมของการบริหารบ้านเมือง ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเงิน แต่ข้อกล่าวหานี้ ก็เป็นตลกร้าย เพราะแท้จริงแล้ว เครือข่ายอำมาตย์ต่างหาก ที่ตกอยู่ภายใต้ อำนาจเงิน ต่างแสวงหาอำนาจ เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อจะได้มีอำนาจการเมือง หมุนเป็นวงล้อเช่นนี้

เมื่อฝ่ายนี้ชนะ เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด ก็พอจะคาดเดาได้ว่า สภาพสังคมไทย ก็คงจะเต็มไปด้วย ผู้รากมากดี ออกมาชี้ผิด ชี้ถูก บริหารประเทศ แบบพ่อปกครองลูก แบบผู้ใหญ่ปกครองผู้น้อย การพัฒนากระจุกอยู่ในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ การบริหารสาธารณะเป็นเรื่องสิ้นเปลือง การเมืองแบบแต่งตั้งกลับเขามามีอิทธิพลต่อการบริหารประเทศมากขึ้น ข้าราชการ องค์กรอิสระ เป็นกลุ่มบุคคลที่ควรกราบไหว้ คลานเข่า หาได้เสมอกันกับราษฎร์ไม่ นิยามคนจน ผู้ถูกซื้อ ผู้โง่เขลา ผู้ฟุ้งเฟ้อ ก็จะยังคงมีมนต์ขลังสะกดสังคมอยู่ต่อไป การเมืองและการพัฒนา จะถูกแช่แข็งสำหรับประเทศนี้ต่อไป ภายใต้วินัยการคลัง และแนวคิดเสรีนิยมแบบสุดขั้ว

แล้วถ้าฝ่ายประชาธิปไตย ชนะเบ็ดเสร็จบ้างละ

สังคมไทยจะมีหน้าตาอย่างไร มันคงเป็นภาพที่ใหม่มาก ในหลายๆ บริบท แต่ก็ต้องมาดูกันก่อน ว่าฝ่ายนี้ประกอบไปด้วยใครกันบ้าง ด้านหนึ่ง ก็พรรคเพื่อไทย ด้านหนึ่งก็ นปช ด้านหนึ่งก็นักวิชาการ ด้านหนึ่งก็นักกิจกรรม กลุ่มอิสระต่างๆ

แต่จะผิดหวังกันหรือไม่ ถ้าจะบอกว่า ถ้าฝ่ายนี้ชนะ สังคมก็จะเปลี่ยนไปได้ไม่มาก อาจจะย้อนกลับไปแค่วันคืนเก่าๆ ที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง มีรัฐบาล มีกลุ่มก้อนการเมืองแบบเก่า และมีเศรษฐกิจเสรีนิยมกลไกตลาดแบบเดิมๆ แต่ก็ต้องถือว่าดีว่าอยู่ในระบอบเผด็จการของอำมาตย์ เราคงมีเสรีภาพเพิ่มขึ้นบ้าง

ด้านหนึ่ง ก็ต้องยอมรับความจริง ว่าแนวทางการต่อสู้ครั้งนี้ ถูกนำโดย นปช ที่เป็นเนื้อเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทยในอดีต ก็เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอำมาตย์ เพียงแต่ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย นำแนวคิดเศรษฐกิจเสรีนิยม และแบบเคนส์ มาใช้ ควบคู่กัน อันหมายถึง การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการสร้างโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ลงไปในพื้นที่อื่นๆ นอกเขตเมืองหลวง เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของเงินทุน เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งก็เห็นผลในรอบหลายปีที่ผ่านมา จะไม่ขอกล่าวซ้ำว่ามีอะไรบ้าง

แต่ในส่วนของแนวทางการเมืองแล้ว เพื่อไทย หรือ นปช ไม่มีความก้าวหน้าใดๆ เลย ถึงแม้ว่าอาจจะมีบางคน มีส่วนที่ก้าวหน้า อยู่บ้าง แต่สุดท้ายกระแสแนวคิดการทางการเมืองขององค์กร ก็ถูกนำโดยแนวคิดเสรีนิยมสมัยใหม่ ผสมกับอำนาจนิยมจารีตแบบเดิม

ภาพของสังคมหลังเพื่อไทยชนะ เราก็จะยังเห็นบทบาททหารออกมาครอบงำการเมืองอยู่เช่นเดิม เราก็ยังจะเห็นบทบาทเทคโนแครต และข้าราชการ มีบทบาทอยู่เช่นเดิม เราก็จะเห็นบทบาทกระบวนการยุติธรรมที่ดำรงอยู่เช่นเดิม เพราะเพื่อไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเดิมนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิมนี้ จึงเป็นเรื่องที่กระทบกับผลประโยชน์ อำนาจ ของคนในเพื่อไทยด้วย

ดังเราจะเห็นว่าที่ผ่านมา เพื่อไทยไม่มีทีท่าใด จะสนับสนุนอย่างแข็งขัน ให้เกิดการกระจายอำนาจ ไปสู่ท้องถิ่น ยุบเลิก การปกครองแบบภูมิภาค

ดังเราจะเห็นว่าที่ผ่าน เพื่อไทย ไม่มีการแตะต้องทหาร ที่เป็นหัวใจของโครงสร้างอำมาตย์เลยแม้แต่น้อย ทั้งการดำเนินคดี ทั้งการลดงบประมาณ และการลดอำนาจอื่นๆ

ดังเราจะเห็นว่าที่ผ่านมา เพื่อไทย ไม่มีความพยายาม ที่จะเพิ่มฐานะทางเศรษฐกิจ ให้สังคมเท่าที่ควรจะเป็น โดยการลดความมั่งคั่งของชนชั้นนำ เพื่อเอามาเพิ่มความมั่งคั่งให้สังคม ผ่านการเก็บภาษีก้าวหน้าอัตราสูงๆ จากคนรวยมากๆ ผ่านการจัดรัฐสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพและไปไกลกว่านโยบายประชานิยม

นี่ภาพคร่าวๆ ที่พอจะเดา พอจะแสดงให้ภาพ หลังจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะ แต่ในความเป็นจริงการต่อสู้รอบนี้ เราจะไม่เห็นการชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อันเนื่องมาจาก องค์กรนำของทั้งสองฝ่าย มิใช่คู่ขัดแย้งกันแบบถาวร แต่เป็นเพียงคู่ขัดแย้งกันเฉพาะหน้าสั้นๆ ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมใดๆ มันก็หลีกเลี่ยงที่จะกระทบทั้งสองฝ่ายไม่ได้

ดังนั้น ตัวแปรสำคัญ ของการเปลี่ยนแปลง จึงอยู่ที่ขั้วที่สาม ขั้วก้าวหน้า ที่มิได้อยู่หรือเกี่ยวพันธ์กับโครงสร้างอำนาจเดิมของสังคมไทย จะมีพลัง มีความร่วมมือ มากน้อยแค่ไหน ที่จะผลักสังคมไปข้างหน้าได้ไกล ว่าข้อเสนอของ เพื่อไทย และ นปช ภายใต้บรรยากาศที่มวลชน ที่กำลังตื่นตัว คาดหวัง กับการเปลี่ยนแปลง ที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

 

จะสู้เพื่อประชาธิปไตย หรือจะอยู่แบบทาส?

จะสู้เพื่อประชาธิปไตย
หรือจะอยู่แบบทาส?



ตามที่หลายคนคาด ในที่สุด “ตลก. (ร้าย)
รัฐธรรมนูญ” ก็ก่อรัฐประหารครั้งที่สาม ฝ่ายต้านประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นทหาร
ข้าราชการชั้นสูง นักการเมืองและอันธพาลประชาธิปัตย์
กับพวกชนชั้นกลางล้าหลังคงดีใจ พวกนักวิชาการและแกนนำ เอ็นจีโอ
คงพึงพอใจกับผลงานของตนเอง

     แต่ปัญหาของเรา ชาวประชาธิปไตยคือ เราจะสู้เพื่อประชาธิปไตย
หรือจะอยู่แบบทาส
? ถ้าเราจะสู้ เราพึ่งพาการนำของพรรคเพื่อไทยไม่ได้
และเราต้องการการนำอย่างจริงจังจากฝ่ายเสื้อแดง ไม่ใช่การนำแบบเดิมของ นปช.
ที่กล้าๆ กลัวๆ และนำเราไปสู่การยอมจำนน
คำถามคือเสื้อแดงก้าวหน้าและคนที่รักประชาธิปไตยพร้อมหรือยัง ที่จะรวมกลุ่มท่ามกลางความสามัคคี
และนำตนเองอิสระจากเพื่อไทย